เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5
  พิมพ์  
อ่าน: 18603 ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 06 ม.ค. 01, 10:19

ขอบคุณมากค่ะคุณแก้ว  ที่กรุณาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับสวนพลู

ดิฉันจำได้ว่า  เคยอ่านที่ไหนก็จำไม่ได้แล้วค่ะ  ว่าสมัยจอมพลปอที่ท่านเกิดมารณรงค์ให้คนไทยเป็นเทศ  อย่างจูบภรรยาก่อนไปทำงาน  สวมหมวก  
กินก๊วยเตี๋ยว(สะกดแบบภาษาวิบัติหรือเปล่าก็ไม่ทราบนะคะ)  และเลิกเคี้ยวหมากพลูนี่  พาเอาคนไทยลงแดงกันเป็นแถว  
มใีการเปิดตลาดมือซื้อขายหมากแห้งพลูนาบ  ยังกับในอเมริกาสมัยที่ห้ามขายเหล้ากันน่ะค่ะ  ดิฉันเกิดไม่ทันหรอกค่ะ  แต่ได้ยินผู้ใหญ่ท่านเล่าให้ฟัง  
คอดว่ามันมีผลกับคนในกรุงเท่านั้น  เพราะคนบ้านนอกไกลปืนเที่ยงจริงๆ  ก็ยังมีที่เคี้ยวหมากให้เห็นอยู่อย่างที่ดิฉันไปเห็นที่ร้อยเอ็ดเมื่อสิบปีก่อนมังคะ
บันทึกการเข้า
โสกัน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 07 ม.ค. 01, 23:35

ถามคุณพวงร้อยครับ
(อ่านข้อเขียนเรื่องคุณยายกินหมากที่น้ำหมากเต็มปาก เหมือนเลือดกลบปากของคุณพวงร้อยแล้วชอบครับ)
คงจะเป็นที่มาของสำนวนไทย "แจกหมาก" (ต่อยปาก)

โสกันอยากรู้ที่มาของสำนวนที่ว่า
"ข้าวยากหมากแพง"
"หมาก" นี่หมายถึงหมากที่กินจนปากแดงเถือก หรือ
หมากไม้ (ผลไม้) ครับ
บันทึกการเข้า
สอบวา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 08 ม.ค. 01, 00:12

เข่าขวาชันขึ้นชิดแนบอก เข่าซ้ายแบแนบไปกับพื้น พอได้ที่ยายก็ก้มหน้างุดๆ ตำหมากในตะบันทองเหลืองเสียงดังอยู่ขลุกๆ
แว่วเสียงวิทยุที่ลานบ้านใต้หลังคาจากแว่วมาเบาๆ "คณะเสนีย์บุษปะเกศ ขอเสนอ "ไอ้แปดนิ้วววววว…" เด็กๆ ล้อมวงฟังด้วยใจระทึกว่าวันนี้พระเอกจะเข้าไปช่วยนางเอกที่ถูกขังไว้ได้หรือปล่าว
เสียงขลุกๆ จากตะบันหมากยายเงียบไปแล้ว  ยายกระแทกจุกด้านล่างตะบันหมาก  แล้วค่อยๆ ดันหมากป้อนเข้าปาก  เคี้ยวช้าๆ คราบน้ำหมากจับริมฝีปากยายเป็นเส้นๆ  มือขวาวางตะบันลงในเชี่ยนหมากแล้วค่อยๆพาดบนเข่าด้านที่ชัน  สีหน้ากำซาบรสหมากเต็มที่
"ไอ้หนูเอ๊ย  วิ่งไปดูแม่เอ็งทีซิว่าอาการเป็นไงบ้าง เจียนอยู่เจียนไปหรือหรือยังก็ไม่รู้ แล้วเตรียมข้าวต้มกับปลาย่างเกลือไว้ให้แม่เอ็งด้วยนะ  ไอ้แกละเดี๋ยวตามยายไปท้ายสวนช่วยกันริดใบตองมาเจียนทำตะโก้  แน่ะๆ ไม่ต้องมาลอยหน้าลอยตา เป็นเด็กเป็นเล็กมาจีบปากจีบคอเถียงผู้ใหญ่…"
บันทึกการเข้า
สอบวา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 08 ม.ค. 01, 00:13

ก๋งนั้นนานๆ จะกินหมากซักคำ  ส่วนใหญ่จะชอบดูดยาเส้นมวนใบจาก แต่ว่ายายติดกินหมากมาตั้งแต่สมัยยังรุ่น  กินหมากวันละหลายๆ คำ แม้กระทั่งย่างเข้าสู่วัย ๙๔ ปีวัยที่เราเรียกว่า
"ตะบันน้ำกิน" คือทั้งปากไม่เหลือฟันแท้สักซี่  แต่ฟันปลอมก็ช่วยให้ยายเคี้ยวหมากได้อร่อยจนวันสุดท้าย
ภาพเก่าสมัยก่อนค่อยๆผุดขึ้นทีละนิด  ภาพหลานตัวเล็กยามไปเยี่ยมยายในวันปิดเทอมนั้น ชอบขลุกอยู่ใกล้เชี่ยนหมากของยาย  คอยช่วยยายตำหมาก เจียนหมาก จีบพลูอยู่เนืองๆ  ก็เลยพอจะจำความได้
รำลึกนิพนธิ์เรื่องนี้ยาวมาก  พอเขียนเสร็จรู้สึกว่าวัย ๓๖ ในปีนี้  พาลจะกลายเป็นอายุ ๖๓ เหมือนคนแก่รื้อฟื้นเรื่องเก่า
แต่ไปไม่เป็นไรครับ นอกจากเขียนให้ความรู้สำหรับผู้สนใจแล้ว  ส่วนตัวผมถือว่าจะเจียนหมาก จีบพลูไหว้ท่านผู้มีพระคุณทุกท่านไว้ ณ ที่นี้แล้วกัน
สำหรับภาษาเก่าที่ปนอยู่เยอะแยะ  อ่านแล้วขัดตาขัดใจก็ข้ามไปได้เลยครับ
บันทึกการเข้า
สอบวา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 08 ม.ค. 01, 00:20

-------------------------เชี่ยนหมากของยาย--------------------------
เชี่ยนหมากของยายที่คุ้นตามาตั้งแต่ห้าหกขวบจนอายุย่างเข้ายี่สิบหกนั้น  อยู่ในสภาพที่เรียกว่า"สับปะรังเค" เต็มที แต่ว่ายายก็คุ้นมือไม่เคยเปลี่ยน  เชี่ยนหมากเก่าคร่ำเครื่องนี้ทำด้วยไม้ตะแบกนาถากหยาบๆ  มีฝาปะกนกั้นเป็นช่องๆ ช่องเล็กสุดจะทำพอดีกับตัวเต้าปูน ที่ปลายกระจ่าป้ายปูนทองเหลืองนั้นแกะเป็นลายเทพนม ช่องถัดมาใหญ่กว่าเดิมนิดหน่อยยายใช้เก็บกระป๋องยาเส้นสนิมเขรอะ แบ่งเป็นทั้งยาฉุนและยาจืดไว้เป็นเครื่องแกล้มเวลากินกับหมาก  ส่วนช่องเล็กอีกด้านนั้นไว้เก็บของจุกจิกเช่นตลับสีผึ้ง ผงการบูรหรือพิมเสน  ที่ช่วยเพิ่มรสชาดหมากให้อร่อยมากขึ้น
ส่วนช่องใหญ่สุดพื้นที่ประมาณหนึ่งตารางคืบครึ่ง คือกว้างหนึ่งคืบยาวหนึ่งคืบครึ่งนั้น  จะมีครกเล็กๆ ขุดจากไม้มะขามพร้อมสากไม้ไว้ตำหมากที่ใช้หมากแห้ง  ถัดมาก็เป็นเรียงพลูที่คว่ำวางไว้อย่างเป็นระเบียบ มีตะบันทองเหลืองน้ำยางหมากจับเขรอะวางทับไว้กันพลูปลิว มีหมากอ่อนอยู่สองสามลูก  ส่วนกรรไกรหนีบหมากและมีดบางนั้นเสียบอยู่ข้างๆ ซอกครก  นานๆ ครั้งถึงจะมีใบเนียมแนบเข้าสักครั้ง  นั่นหมายถึงลูกหลานที่อยู่ไกลๆ เก็บมาฝาก  ดินกร่อยน้ำเค็มริมน้ำบางปะกงยามหน้าแล้งกับไก่ชนฝูงใหญ่นั้น ไม่เอื้อให้ต้นเนียมขึ้นได้ดีซักเท่าใดนัก
ยายรักเครื่องเชี่ยนชุดนี้มาก  ไม้ตะแบกนาขัดหยาบๆ ไม่แกะลายดูไม่มีราคา แต่ค่าที่ก๋งลงมือทำให้ด้วยสองมือของตัวเอง  คงช่วยให้ชีวิตในยามถือไม้เท้ายอดทอง  กระบองยอดเพชรของก๋งและยายใกล้ชิดกันมากขึ้น
บันทึกการเข้า
สอบวา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 08 ม.ค. 01, 00:25

-------------------------หมากหนึ่งคำ กำซาบใจ------------------------------
หยิบพลูจีนขึ้นมาหนึ่งใบ  เจียนปลายใบแหลมและริดก้านพลูออก ปลายใบนั้นแปะซ้อนไว้ตรงกลาง ทำเป็นไส้เวลาเคี้ยวแล้วมันจะดื้อปาก ยิ่งเคี้ยวยิ่งอร่อย
ชาดดีต้องมีสีแดง เวลามาผสมกับปูนขาว นอกจากจะได้สีปูนแดงอย่างที่เห็น รสชาดนี้ช่วยกร่อนฤทธิ์ปูนไม่ให้กัดปากแล้วยังช่วยให้รสหมากดีขึ้น  ป้ายปูนพอประมาณลงไปด้านท้องใบที่ออกเขียวเทา ลายใบจะช่วยจับเนื้อปูนให้ติดใบได้ดี และเวลาจีบพลูนั้นใบจะไม่แตก เจียนเปลือกหมากแล้วฝานหมากสดลงไปหนึ่งเสี้ยว โรยผงการบูรหรือพิมเสนลงไปหนึ่งหยิบมือ  ปิดท้ายด้วยยาฉุน  ห่อเข้าด้วยกัน ยัดลงตะบันแล้วตำ ตำ และตำ พอหมากแหลกก็ส่งเข้าปาก สีหน้ายายยามนี้เป็นสุขนักฝาดยางหมากนั้นจะ "ยัน" อยู่ในปาก  ยิ่งหมากที่หน้าดีๆ และมียางหมากเยิ้มจะยิ่งยันแรง ใส่ไส้ใส่เครื่องดีๆ มีใบเนียมอบด้วย  แม่บอกว่ายายชอบเพราะว่าทั้งดื้อ ทั้งยันทั้งหอม มียาจืดเป็นเครื่องแกล้มคอยขัดฟันเอาคราบฝาดหมากและพลูออก อย่างนี้ยิ่งเคี้ยวแล้วยิ่งอร่อย
แค่ชั่วเคี้ยวหมากแหลก ยายก็จีบหมากพลูเสร็จอีกหนึ่งคำ  คราวนี้ไม่ตำแต่ม้วนเป็นท่อนกลมๆ ใช้ด้ายพันเอาไว้  เหน็บพลูขึ้นทัดหู ถกเขมรแล้วคว้าพร้าเดินลงไปท้ายสวนริมทด ไปตัดดอกจากและใบจาก ระหว่างทางยายก็บ้วนน้ำหมากปริ๊ดๆ รายทาง กว่าจะตัดจากเสร็จหมากที่ทัดหูก็ย้ายไปอยู่ในปากเรียบร้อย
ยามไปไหนไกลๆ ยายจะจีบหมากเป็นม้วนกลม แล้วเก็บไว้ในซองพลู ทำอย่างนี้ไม่ต้องมาเสียเวลาจีบหมากทีละคำ
แต่เมื่อยายย้ายมาอยู่ที่บางเสร่  ยายเคี้ยวหมากไม่อร่อยเหมือนอยู่บางปะกง  ยายบ่นว่าคาวปลาทะเลกับสากลิ่นน้ำเค็มนั้นมันกลบกลิ่นหอมของหมาก เคี้ยวหมากแล้วจืดเร็ว
คาวปลาทะเลมันคงกลบกลิ่นทุ่งข้าวที่คุ้น กระสากลิ่นน้ำเค็มมันกลบกลิ่นน้ำฝนหลังคาจาก
ลมทะเลยิ่งพัดพายายไกลไปจากบ้านเกิดที่ท้องนาริมคุ้งน้ำเต็มที
รสหมากมันไม่กำซาบใจ ยามที่ต้องจากบ้านเกิดมาอยู่ถิ่นไกล ถิ่นที่ไม่เคยคุ้นมาก่อน
บันทึกการเข้า
สอบวา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 08 ม.ค. 01, 00:25

-------------------------------กรุ่นกลิ่นเนียม ----------------------------------
เนียมเป็นไม้ต้นเล็กๆขึ้นเกะกะอยู่ในสวน ต้นไม่สูงนักเห็นจะสูงไม่เกินศอก  จะว่าไปแล้วหน้าตามันเหมือนวัชพืชด้วยซ้ำ  เพียงแต่เป็นวัชพืชที่คนรุ่นก่อนรู้จักใช้ประโยชน์
เนียมแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่อยู่สองประเภท คือเนียมอ้มกับเนียมหอม เนียมอ้มนั้นจะใบใหญ่กว่านิดหน่อย  แต่ว่าเนียมหอมนั้นจะให้กลิ่นที่หอมกว่าและอวลกว่า
ยายปลูกขิงข่าตะไคร้ใบกระเพราและโหระพาไว้เป็นเครื่องทำกับข้าว ถึงแม้ใบจะไม่งามแต่ก็ให้รสจัดจ้านแบบลูกทุ่ง
และยายก็เคยปลูกเนียมไว้เพื่อเป็นเครื่องปรุงหมาก แต่เนียมหอมนั้นปลูกแสนยาก ต้องใส่กะละมังเก่าแล้วใช้ไม้ปักล้อมๆ ไว้ แต่ไม่เคยรอดพ้นปากไก่  ใบเนียมนั้นหน้าตาดูธรรมดาไม่มีกลิ่น แต่ยามไปนาบไฟร้อนๆ กลิ่นหอมของเนียมจะค่อยๆ โชยออกมา  เวลาปรุงยาเส้นนี้จะเอาเนียมนาบไฟ แล้วอบยาเส้นในกระป๋องให้หอมกลมกล่อมมากขึ้น หรือบางทีก็อบไว้ในเต้าปูน  กลิ่นเนียมจะไปลดกลิ่นของใบพลูให้กลมขึ้น เวลาเคี้ยวหมากนั้นกลิ่นเนียมจะกรุ่นอยู่ในปาก
เคยเห็นแม่ใหญ่ที่ภาคอีสาน ใช้เนียมนาบไฟเหน็บไว้ในมวยผม เพื่อให้กลิ่นกรุ่นของเนียมบูชาหัว  คงเช่นเดียวกับแม่อุ๊ยที่ลำปางใช้ดอกกระต่ายหืนซุกไว้ในมุ่นผมตอนเช้าๆ ก่อนไปวัด
บันทึกการเข้า
สอบวา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 08 ม.ค. 01, 00:27

----------------------------- หมาก -------------------------------
แต่ก่อนสวนยายนั้นเคยปลูกหมากไว้เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่เพราะว่าสวนรั่ว จะปักกระทู้โคนจากยังไง น้ำเค็มเดือนห้าก็รั่วเข้ามาได้
ในที่สุดสวนหมากของยายก็ล่ม ยายเลยต้องหาซื้อหมากเก็บไว้กิน หมากแต่ละทะลายนั้นมีเป็นร้อยลูก เวลาซื้อก็นับกันเป็นร้อย
แต่เวลาพ่อหรือแม่เอาหมากที่สวนดอนทองไปฝาก  ยายขอบเป็นที่สุด สวนหมากและผลไม้ตั้งแต่ดอนทอง ยันจุกเฌอ สาวชะโงกจนถึงบางคล้า เป็นสวนหมากและผลไม้ที่ขึ้นชื่อของแปดริ้ว
หมากดีต้องมียาง เนื้อเนียนละเอียด แต่ให้จาวเล็ก เวลาเพาะก็ขึ้นยากปลูกยาก ร้อยนึงงอกไม่เท่าไหร่
หมากที่สวนดอนทองของพ่อนั้น เป็นหมากชั้นดี  นอกจากหมากจะยันสนุกปากแล้ว หมากสวนนี้ยังแสดงคารวะที่เขยพึงมีต่อแม่ยาย หมากสวยแสดงว่าเจ้าของต้องดูแลและขยัน ยายคงชอบหมากสวนของพ่อมากเป็นพิเศษด้วยเหตุนี้
หมากลูกกลมๆ เปลือกแข็งและลื่น  เวลาเจียนหมากต้องระวังไม่ให้มีดแฉลบมาบาดมือ ถ้าใช้กรรไกรหนีบหมากก็ไม่ยาก  แต่ยามหลานเอากรรไกรไปเล่น ยายก็จะค่อยๆ เจียนเปลือกหมากด้านนอกออกก่อน พอเจอเปลือกด้านในสีขาวก็ช่วยให้การเจียนหมากไม่ลื่นมือ  ยายจะหั่นออกมาทีละเสี้ยว กินทีก็เจียนออกมาเสี้ยวนึง เปลือกหมากสีขาวตัดกับเนื้อหมากสดสีแดงน้ำตาล ดูแล้วเหมือนไข่เค็ม หมากที่หน้าดีๆ จะให้เนื้อหมากเนียนละเอียด ให้ยางที่เยิ้ม
บันทึกการเข้า
สอบวา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 08 ม.ค. 01, 00:28

-------------------------- หมากสง - หมากค่อม --------------------------------
หมากนั้นต้นเล็กแต่สูงลิบ  ยามออกช่อดอกทีกลิ่นดอกหมากจะตลบไปทั้งสวน ลูกเท่าหัวแม่มือก็ตัดขายส่งต่างประเทศ  แถวตะวันออกกลางกับไต้หวันชอบเคี้ยวหมากขบเผาะแบบนี้  หน้าฝนนั้นเป็นช่วงหมากหน้าอ่อนจะไว้กินสด เวลาเก็บหมากทีต้องไปจ้างคนมาขึ้นและตัดลงมาทั้งทะลาย ถ้าปล่อยให้แก่เกินที่เรียกกันว่าหมากสง  กินสดไม่อร่อย ก็ต้องไปฝานบางๆ ไว้ตากแดด  ถ้าปล่อยให้สุกคาต้นก็จะออกสีเหลืองปนส้มข้น คล้ายสีเปลือกมะพูด
เคยเห็น "ตะวันสีหมากสุก" กันไหม?
หมากนี้เราเรียกกันรวมๆว่าหมาก  ไม่เคยจำแนกพันธุ์เพียงแต่ให้ชื่อว่าสวนไหนๆ เท่านั้น แล้วก็เพาะสืบต่อกันมาเรื่อยๆ
สำหรับต้นเตี้ยที่ปลูกอยู่หลังบ้านตอนนี้เรียกว่าหมากค่อม เป็นสายพันธุ์ที่มาจากด้านอีสาน ต้นเตี้ยแค่เมตรครึ่งก็ให้ลูกแล้ว ตอนนี้ค่าเพียงแค่ไม้ประดับ เวลาติดจั่นก็ให้กลิ่นหอมไปทั้งสวนเหมือนกัน  แต่ยามออกลูกก็ไม่ต้องแหงนคอตั้งบ่า พ่อเห็นต้นหมากเห็นหน้าหมากแล้ว พูดเบาๆ ว่าหมากนี้หน้าดี เห็นแล้วคิดถึงยายคิดถึงย่า
เลยจะเพาะไปลงที่ในสวนดอนทอง แทนหมากสูงที่กำลังโรย
พ่อแก่แล้ว แหงนคอตั้งบ่าไม่ไหว กว่าจะเกษียนราชการก็ทำสวนไม่ไหวแล้ว
บันทึกการเข้า
สอบวา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 08 ม.ค. 01, 00:29

-------------------- จีบพลู ---------------------
พลูจีนใบกว้างให้คำใหญ่  พลูทองหลางใบยาวและแคบกว่า แต่รสจัดจ้านเหลือใจ พลูลิงนก ต้นนี้เป็นพลูป่าไม่รู้ว่าในป่าในดงสมัยก่อนใช้ใบนี้ในการกินหมากกันบ้างหรือปล่าว? ส่วนพลูคาวที่ให้รสขื่นคาวนั้นทางอีสานล้านนาเค้าใช้เป็นเครื่องแกล้มกินกับน้ำพริก กินกับลาบ
ต้นพลูที่สวนในของพ่อที่ญาติคราวก๋งเช่าที่ปลูกค่าเช่าที่ปีละ ๑๒ บาทนั้น เวลาปลูกเค้าก็จะปลูกกันบนร่องมีคูน้ำรอบๆแล้วก็ใช้ไม้ทองหลางทำเป็นค้างให้พลูพันขึ้นไป  ปลูกกันเป็นแถวยาวๆ เวลาเก็บเค้าจะมีปลอกสวมอยู่ที่ปลายนิ้วไว้ริดใบพลู  เสร็จแล้วก็มาเรียงซ้อนๆ กัน ใช้เชือกกล้วยหรือไม่ก็ต้องเลียดผิวไผ่ให้เป็นตอกไว้มัดใบพลูเรียงเข้าด้วยกัน เรียกว่าเรียง หนึ่งเรียงจะมีอยู่ ๒๐ ใบ ใช้น้ำพรมแล้วห่อด้วยใบตองอีกทีจะได้สดและไม่สลบเวลาเจอลม  เวลาซื้อขายกันเค้าก็ซื้อกันเป็นเรียง  
หน้าฝนนั้นใบพลูจะแตกยอดเยอะ  ใบพลูสดจะถูก  ยายจะเก็บใบพลูในสวนหรือไม่ก็ซื้อจากเรือเร่ที่มาจอดริมคลองไว้ที่ละเยอะ เสร็จแล้วจะนึ่งพลูเก็บไว้กินยามหน้าเกี่ยวและหน้าเคยในช่วงฤดูน้ำเค็มหลาก ยายจะค่อยๆ หยิบใบพลูสดนาบไปบนกระทะเหล็กร้อน พอใบตายนึ่งก็จะเก็บมาผึ่ง ก่อนที่จะม้วนใบพลูเสียบไม้เป็นตับๆ  แต่อย่างนี้จะทำให้พลูเป็นรอยไม่สวย ยายก็จะใช้วิธีค่อยๆเรียงเวียนไว้ในไหซอง  นึ่งพลูแบบนี้เก็บไว้กินนานๆ เรียกว่าพลูค้างปี
บันทึกการเข้า
สอบวา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 08 ม.ค. 01, 00:31

-----------------------------  ใบชะพลู  ----------------------------
ใบชะพลูนั้นคนละอย่างกับใบพลู  แต่ให้รสเผ็ดเหมือนกัน ไม่ได้ใช้กินหมาก แต่ใช้ทำเมี่ยงคำไว้กินเล่น เมี่ยงคำนั้นคนละอย่างกับ "เมี่ยง" ของทางเหนือ และหน้าตาก็ไม่ละม้ายกับเมี่ยงลาวเอาซะเลย
นอกจากจะใช้ห่อเมี่ยงให้เป็นคำๆ ป้อนเข้าปาก แล้วเคี้ยวหยับๆ ดื้อพอละมุนปากแล้ว ใบชะพลูยังใช้ทำกับข้าวอร่อยๆ ได้หลายสำรับ ตั้งแต่เหนือจดใต้ ไปถึงภาคอีสานยันภาคกลาง
ปกติแล้วก๋งจะทำหน้าที่เป็นจุมโพล่ทำกับข้าวแทบจะทุกมื้อ  แต่สมัยที่ยายยังสาวอายุหกสิบนั้น ฝีมือของยายก็เลื่องกันไปทั้งคุ้งน้ำเหมือนกัน
ผมได้ฝีมือการทำกับข้าวเบื้องต้นก็ที่ครัวของยายนี้แหละ  มีก๋งเป็นพี่เลี้ยงและยายเป็นผู้สอนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
เตาไฟที่ยกลอยเหนือพื้นดินที่ชานครัวนั้น แทบจะมีเชื้อไฟหมกขึ้เถ้าอยู่ทั้งวัน เวลาจะหุงข้าวดงข้าวและทำกับข้าวนั้น ก็แค่เขี่ยขี้เถ้าให้ลอดแผ่น "ตะกรับ" ลงไปกองอยู่ใต้ถุน แล้วเกรียกฟืน(คำเก่าของคนแก่บางทีก็ออกเสียงเจียกฟืน) ให้เป็นแผ่นบางๆ วางลงไปบนไฟแดงๆ แค่นี้ก็ก่อไฟเสร็จเรียบร้อย
แกงคั่วหอยขม แกงลูกชิ้นปลากรายถ้าให้อร่อยก็ต้องใส่ใบชะพลูลงไปด้วย จะฉีกหรือหั่นหยาบๆ ก็ดูน่ากิน  และแค่เปลี่ยนใบชะพลูเป็นใบยอ  รสขมของใบยอก็หอมอร่อยไปอีกแบบ
ทำกับข้าวมื้อเย็นเสร็จก็ต้องเก็บฟืนไฟขึ้เถ้าให้เรียบร้อย  เตาไฟในสมัยก่อนนั้นต้องดูให้เรียบร้อย   ถ้าไม่ดูแลปล่อยให้เกิดอุบาทว์พระโสมไม่ว่าหมาอีแดงไปออกลูกที่เตาไฟ หรือปล่อยให้รกจนหนูเข้าไปทำรังใต้เตาไฟ ปลวกไปทำรังหรือปล่อยให้ชื้นจนเห็ดขึ้น อย่างนี้ถือว่าซวยกันทั้งบ้าน  อย่างนี้ก็ต้องเอาเงิน ดอกไม้ ธูปเทียน อาหารคาวหวานและหมากพลู ไปไหว้ทางทิศอีสานเพื่อลบอุบาทว์พระโสม
บันทึกการเข้า
สอบวา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 08 ม.ค. 01, 00:34

----------------------- เมื่อคนไทยกินหมาก ----------------------------
"หมากบ่เคี้ยว ปากเปล่าบ่มีแดง
แม่นสิมีเต็มพาน  กะบ่แดงเองได้"
ผญาอีสานบทนี้บอกถึงคำสอนของคนสมัยก่อนได้ดี เครื่องปรุงหมากของอีสานต่างกับคนภาคกลาง นอกจากเครื่องปกติแล้ว ส่วนใหญ่จะใส่เปลือกสีเสียดหรือแก่นคูนเข้าไปด้วย เพื่อให้หมากอร่อยขึ้น
เชี่ยนหมากของอีสานทรงสูงลายซื่อ และกลายเป็นของเก่าที่คนไล่เก็บสะสม

ไทยเรานั้นรับวัฒนธรรมการกินหมากมาจากอินเดีย ผ่านเข้ามาทางชนชาติมอญ ซึ่งเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมแข็งแรงมาก
และคนไทยได้ดัดแปลงการกินหมากจนเป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นของเราที่หลากหลาย  เป็นทั้งประเพณี วัฒนธรรมและวิถีชีวิต และแต่ละถิ่นก็กินหมากต่างกัน
เครื่องใช้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการกินหมากสวยและแตกต่างกันออกไป
ภาคกลางมีเชี่ยนหมากและตะกร้าหมากยามเดินทางไกลคนภาคใต้ใช้ย่านลิเพามาสานสลับกับไม้ไผ่และหวายน ทำเป็น ฌะหมากไว้ใส่เครื่องปรุงหมากยามเดินทางไกล
ส่วนคนล้านนานั้นกินหมากกันมานาน   ก่อนสมัยพระยามังราย ตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี
นับเนื่องได้กว่าพันปี คนล้านนามีขันหมากที่ทำด้วยเครื่องเขินอย่างดีไว้คอยต้อนรับแขก  แต่หมากของทางล้านนานี้ บางทีก็ใส่ของลงไปด้วย  คนล้านนาเก่าก็เลยต้องเด็ดปลายใบพลูทิ้งทุกครั้งเป็นประเพณีสืบมา
"โลมชาติมิ่งบังอร……….อยู่ซอกซอนเร้นลับแฝง
นำซ่อนสอดหลืบแหล่ง….ในอมเหมี้ยงสุบหมากพลู
"ใบพลู" ยอดจรดจิ้ม……...จ่อจุ๋มจิ๋ม ข่มมนต์ครู
ของฝากลัวะเจ้าชู้…………เสมือนรักจากหทัย
แต่นั้นเป็นต้นมา………….ชาวล้านนาจำใส่ใจ
กินหมาก พลูคราวใด……..ต้องเด็ดปลาย ยอดแหลมทิ้ง
กลายเป็นสิ่งปฏิบัติ………..จำไว้ชัดอย่างจังจริง
เค้าเงื่อนคือยอดหญิง………จามเทวี แต่โบราณ
(กาพย์เจี้ยจามเทวีและวิรังคะ โดยอาจารย์ไกรสีห์ นิมมานเหมินทร์)
บันทึกการเข้า
สอบวา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 08 ม.ค. 01, 00:35

คาวปลาทะเลมันคงกลบกลิ่นทุ่งข้าวที่คุ้น กระสากลิ่นน้ำเค็มมันกลบกลิ่นน้ำฝนหลังคาจาก
ลมทะเลยิ่งพัดพายายไกลไปจากบ้านเกิดที่ท้องนาริมคุ้งน้ำเต็มที
รสหมากมันไม่กำซาบใจ ยามที่ต้องจากบ้านเกิดมาอยู่ถิ่นไกล ถิ่นที่ไม่เคยคุ้นมาก่อน

ต่อแต่นี้เสียงขลุกๆ ตำหมากโขลกๆ ไม่มีอีกแล้ว มันจางหายไปจากบ้านนานมาแล้ว
และเสียงขลุกๆ ตำหมากโขลกๆ คงค่อยๆ จางหายไปจากเมืองไทยเช่นกัน
คงเหลือไว้แต่เพียงจีบพลูที่ใช้ในงานพิธีมงคล หรือในการไหว้ครูเท่านั้น

คำตอบทั้งหมดที่เขียนขึ้นนี้ แม้จะไม่ได้ลงมือเจียนหมากจีบพลูเป็นคำไว้เคี้ยว  
แต่ก็เป็นเจียนหมาก จีบพลูที่ออกมาจากใจไหว้ผู้มีพระคุณทุกท่าน เขียนให้ย่าให้ยายที่ชอบกินหมากเป็นชีวิตจิตใจ
และเพื่อประโยชน์ของการศึกษาสำหรับเยาวชนไทยทุกคนแล้วกันครับ
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 08 ม.ค. 01, 06:47

กลิ่นดอกหมากใบเนียมโชยข้ามมหาสมุทร มากรุ่นกำจายในนาสิกประสาท   ตาหลับลงก็เห็นหมากพลูที่ยายจีบไว้จะใส่ตะบันหมาก  
เสียงขลุกๆโขลกตะบันบนชานเรือนยังก้องอยู่สองหู ...

อ่านข้อเขียนของคุณสอบวาแล้วเหมือนได้กลับไปสู่อดีตอีกครั้ง   ขอบคุณมากค่ะ  ที่กรุณาเล่ามาอย่างละเอียด  
อ่านแล้วอ่านอีกหลายครั้งก็ซาบซึ้งใจไม่หายค่ะ  วันหลังว่างๆแวะมาเยือนที่ เรือนไทย อีกนะคะ  ยังอยากจะฟังเรื่องความหลังแบบนี้อีกจังค่ะ  เอ
รึว่าเราชักแก่มั่งแล้วซี ฮิฮิ
บันทึกการเข้า
อ้อยขวั้น
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 08 ม.ค. 01, 09:54

คุณสอบวาเขียนเก่งจัง  อ่านแล้วคิดถึงย่าทวด (เป็นผู้ใหญ่ท่านเดียวที่จำได้ว่าเคี้ยวหมาก)

ขุนแผนตัดพ้อนางพิมว่ารักนางพิมมากจนหมากที่เคี้ยวในปากก็ยังคายให้นางพิมได้ใช่ไหมคะ  กลอนเต็มๆ ว่ายังไงนะคะ  ลืมไปแล้ว
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.086 วินาที กับ 19 คำสั่ง