เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 5
  พิมพ์  
อ่าน: 18604 ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
อ้อยขวั้น
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 04 ม.ค. 01, 09:13

คล้ายๆ กับจะเคยอ่านเจอว่า  คำเต็มๆ คือเกรียกฟืน  ใช่ไหมคะ  ถ้าใช่ก็น่าจะเป็นการผ่าฟืนดุ้นใหญ่ๆ ให้เป็นชิ้นเล็กๆ พอวางในเตาหรือสามเส้าได้  มั้ง!

ส่วนต้นพลูที่กินกับหมากนี่เคยเห็น  หน้าตาน่าจะเป็นไม้เลื้อยตระกูลเดียวกับต้นพริกไทย  ใบก็คล้ายกันแต่ทรงใบออกจะเรียวกว่า

ต้นหมากเป็นไม้ตระกูลปาล์ม  น่าจะเรียกว่า  ทะลาย นะคะ
บันทึกการเข้า
แจ้ง ใบตอง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 04 ม.ค. 01, 13:06

ตะแกรงในเตาเตาถ่าน เรียกว่ารังผึ้งครับ ทำด้วยดินเผา (เตาก็เป็นดินเผาเหมือนกันแต่เอาสังกะสีหุ้มไว้ภายนอก บางเตามีหูหิ้วด้วย) รังผึ้งจะแตกง่าย ร้านขายเตาจึงมักมีรังผึ้งไว้ขายเป็นอะไหล่ด้วย
คำว่าเกรียก ผมกลับบ้านเมื่อตอนปีใหม่ก็ยังได้ยินแม่พูดอยู่  ลอง
เปิดพจนานุกรมฉบับออนไลน์แล้ว "เกรียก" เป็นคำกริยา หมายความว่า เอามีดสับ ผ่า หรือจักชิ้นไม้ให้ฉีกออกไปตามเนื้อไม้ เพื่อให้เป็นซีกเป็นเสี้ยวน้อยๆ เช่น เกรียกฟืน
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 04 ม.ค. 01, 13:31

ขอบคุณคุณอ้อยขวั้นและคุณแจ้งมากค่ะ  ใช่แล้วค่ะ ทะลายหมาก  ทะลายมะพร้าว

สมัยเด็กดิฉันทำอยู่ประจำเลยค่ะ เกรียกฟืน เนี่ยะ  แต่จำไม่ได้ว่าเรียกอะไร  แต่ว่างๆก็ต้องไปสับไม้ฟ้นเป็นชิ้นเล็กๆแบบนี้ใส่ลังใหญ่ไว้  เวลาก่อไฟเรียงถ่ารอบนอก  แล้วจุดขี้ไต้ไว้่ตรงกลาง  แล้วใช้เกรียกฟืนสุม  แล้วค่อยเอาถ่านโรยทับข้างบนอีกที  กว่าจะมีเตาแก๊สใช้ก็เกือบเป็นสาวแล้วค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 04 ม.ค. 01, 14:15

อ่านเรื่องพลูได้ที่นี่ค่ะ

http://www.ittm.or.th/herbals/hrbal02-2.htm' target='_blank'>http://www.ittm.or.th/herbals/hrbal02-2.htm

หน้าตาเป็นยังงี้ค่ะ
http://vcharkarn.com/reurnthai/uploaded_pics/RW264x018.jpg'>
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 04 ม.ค. 01, 14:25

ใน สี่แผ่นดิน  กล่าวถึงพลอยตอนมีความรักครั้งแรกกับพี่เนื่อง   ส่งหมากพลูไปให้ฝ่ายชาย  
ในนี้มีศัพท์หลายคำ ที่สูญไปจากวัฒนธรรมไทยหมดแล้ว
ใครยังจำได้ถึงคุณย่าคุณยาย    หรือพอทราบว่าของพวกนี้เป็นยังไง ช่วยอธิบายด้วยเถอะค่ะ
ทางบ้านดิฉัน ผู้ใหญ่ไม่กินหมาก  เลยนึกไม่ออกค่ะ

"พลอยเย็บซองใส่หมากพลูอย่างประณีตบรรจง จนแทบจะสุดสิ้นฝีมือ   เจียนหมากชนิดเปลือกเป็นฝอย จีบพลูยาวใช้ปูนใส่ใบเนียมอบหอมกรุ่น และยาฝอยอบแล้วเช่นเดียวกัน   รุ่งเช้า ก็เอาหมากพลูและยาฝอยที่เตรียมไว้ใส่ซอง  เอาผ้าเช็ดปากใหม่ที่อบควันเทียน และดอกไม้ไว้เหน็บซองพร้อมกับดอกจำปาอีกสามดอก  แล้วก็แอบเอาส่งให้ช้อยในตอนเช้าโดยไม่ยอมพูดจาว่ากระไร"
บันทึกการเข้า
สุรัชน์
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 04 ม.ค. 01, 20:43

ที่อยากเห็นรูปคือตอนที่ทำเป็นกรวยแล้วครับ เออ...ถามต่ออีกนิด ทาปูนด้านไหนครับ ด้านไม่มันใช่ไหมครับ
บันทึกการเข้า
ชานเรือน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 04 ม.ค. 01, 21:51

ดิฉันเคยตำหมากให้คุณยายตอนเด็ก
 แต่ก็จจำได้ลางเลือนเต็มที
เพราะคุณยายแก่เลยไม่ได้กินหมากด้วยการจีบพลูแบบทั่วไป
พอจำได้ว่าเวลาทำบุญบ้าน จะต้องมีจัดพานหมากพลูให้พระผู้ใหญ่
ลักษณะคล้ายที่บรรยายในสี่แผ่นดินค่ะ
ที่เจียนหมากเป็นฝอย ต้องเป็นหมากสดค่ะ
 ถ้าจำไม่ผิด เป็นพราะตกแต่งเปลือกหมากส่วนที่สีเขียวให้เป็นฝอย เพื่อความสวยงาม
 ส่วนที่กินคือส่วนเนื้อในสีแดงค่ะ
 ถ้าเป็นหมากแห้งจะซอยเนื้อส่วนที่แดงให้บางๆ  ตากแดดให้แห้งค่ะ
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 05 ม.ค. 01, 03:33

มาแล้วค่ะ  ขออภัยที่มาตอบช้า  มัวแต่เบี้ยวต้นฉบับไปเล่นย่ี่เกเสียเพลิน  จนทนไม่ไหว  เกรงใจคุณจ้อบอกอใจดีแย่แล้ว  
เลยต้องป่ันต้นฉบับกุดๆให้เสร็จ  แล้วแว่บกลับมาเนี่ยะค่ะ

ว่ากันจากความทรงจำแสนลางเลือนนะคะ  ผิดถูกยังไงไม่แน่ใจ หึหึ  อนิจจัง วัฏสังขารา

ปกติแล้วคนทานหมากที่ไม่มีสาวๆหรือบ่าวไพร่เตรียมให้  ก็ห่อกินทีละคำ  ไม่ต้องมีพิธีรีตรองอะไรมากหรอกค่ะ  หยิบใบพลูป้ายหมาก (เห็นคุณยายป้่ายด้านล่างใบค่ะ คุณสุรัชน์  ไม่ใช่ด้านมัน)  เฉือนหมากสดใส่ แต่ส่วนมากจะใช้หมากแห้งที่หั่นตากเป็นแว่น  เพราะเค้าซื้อเป็นทะลาย  ทิ้งไว้นานไม่ได้มันจะเสีย  ก็ฝานตากแห้งเป็นแว่น  หมากสดนี่เป็นของพิเศษค่ะ  นานๆได้ทานทีนึง  คุณยายใส่เปลือกไม้สีเสียดด้วย  หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ  แล้วก็ห่อเหมือนเมี่ยงคำใส่ปากเคี้ยว  เคี้ยวไปก็คว้ากระป๋องที่ใช้เป็นกระโถน  บ้วนนำ้หมากปรี๊ดๆใส่   ไม่ต้องจีบพลู เจียนหมากกันให้ลำบาก  พอเคี้ยวหมากได้ที่แล้ว  ก็ปั้นยาสูบเป็นก้อนขนาดหัวแม่มือ  อมตามไปด้วย  ท่านว่ามันแก้หมาก "ยัน"  (เดี๋ยวจะเล่าเรื่องหมากยันนะคะ)  พอก้อนยาสูบอมนำ้ลายชุ่มฉำ่ดีแล้ว  ท่านก็เอามาถูฟันสองสามที  พอให้เนียนขี้ฟันดีแล้ว  ก็เอามาจุกไว้ระหว่างริมฝีปากกับฟันบน  ท่่านชอบเหน็บก้อนยาไว้ข้างซ้ายนะคะ  ไม่ทราบว่าต้องเป็นซ้ายตลอดหรือเปล่า  อย่างบทชมโฉมนางประแดะ (ไม่แน่ใจว่าใช่หรือเปล่า)  ที่ว่า "เสวยสลายาจุกพระโอษฐ์อม" น่ะค่ะ

อย่างที่ว่าหมากเป็นยากระตุ้นอย่างหนึ่ง  แล้วมันมีรสเผ็ดด้วยค่ะ  ดิฉันเคยลองเคี้ยวครั้งหนึ่ง  จำได้ไม่ลืมเลยว่า  รู้สึกเหมือนมีเข็มเป็นร้อยๆเล่มทิ่มแทงล้ินจนคายแทบไม่ทัน  คุณยายก็หัวเราะนำ้หมากกระเซ็นว่า  นั่นแหละ หมากมัน "ยัน" เอา  จริงเท็จอย่างไรไม่แจ้ง  แต่คิดว่า  คนที่ทนเคี้ยวไปครั้งแรกๆ  คงจะเมามังคะ  แล้วยาสูบมันคงทำให้รสชาติกลมกล่อมขึ้น

แต่เวลาจะไปใส่บาตรถวายพระ  ก็จะจัดพานหมากพลูทำกันสวยเลยค่ะ  คุณยายเป็นมอญจากโพธาราม  มาแต่งกะซินแสช่างทองข้างบ้าน (ดิฉันก็รู้เรื่องทำทองมาหมด  เกือบได้ไปเป็นลูกตะใภ้นายห้างขายทองซะแล้ว  วันหลังจะมาเล่าให้ฟังค่ะ)   โพธารามสมัยก่อนเป็นบ้านป่าเมืองนาค่ะ  เจ้านายไปกันไม่ค่อยจะถึง  ชาวบ้านคนมอญทั้งนั้น  ก็ยังรักษาประเพณีเดิมเหนียวแน่น  สมัยเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย  ท่านตามไปฟันต้นพลูไม่ถึง  เพราะมันบ้านนอกเหลือเกิน  เลยยังมีคนหลงเหลือเคี้ยวหมากกันอยู่

อ้าว เฉไปคุยเรื่องทั่นผู้นำแล้วเพลิน  ไปได้หนังสือมาหลายเล่มเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคนั้นน่ะค่ะ  กลับมาคุยเรื่องเจียนหมาก จีบพลูก่อนดีกว่า

เพราะว่าคนทานหมากใส่ "เครื่อง" ไม่เหมือนกัน  แล้วเครื่องอย่างอื่นมีอะไรบ้างก็จำไม่ได้แล้วค่ะ  ไม่ทราบคุณเทาฯมีข้อมูลมั้ยคะ  เผื่อจะเตือนความจำ  และหมากสดนี่  เค้าไม่หั่นไว้ก่อน  ว่ายางมันจะออกมาทำให้เสียรส  จะหั่นก็เฉพาะจะจับเข้าปากเท่านั้น  เวลาปอกหมากนี่  ที่เรียกว่า "เจียน" หมาก  ก็เพราะ  ลูกหมากสด  มันคล้ายลูกมะพร้าวขนาดจิ๋ว  ขนาดทั้งเปลือกเส้นผ่าศูนย์กลางสัก  1 1/2 - 2 นิ้วได้  แต่เปลือกมันจะหนาประมาณ ครึ่ง ซม ผิวนอกมันๆสีเขียว  ข้างในเข้าไปหน่อยมันเป็น fibrous ไม่เป็นเส้นหยาบขนาดเปลือกมะพร้าวนะคะ  เนื้อมันจะแน่นกว่า  แล้วก็ชั้นในเป็นเนื้อเยื่อเหนียวๆ  แต่บางมากกว่า 1 มม เสียอีก  เค้าไม่บาดลูกหมาก  คือไม่ให้ลูกหมากถูกคมมีด  เพื่อไม่ให้ยางมันออก  เวลาจะ "เจียน" หมาก  จะใช้มีดคมๆ  ฝานผิวตรง equator ของมันให้ใกล้ลูกหมาก  จนเหลือเนื้อเยื่อบางๆ  แล้วจึงหันคมมีดกรีดลงบนเนื้อเยื่อด้วยความชำนาญ  กะให้ขาดตรงที่ติดกับลูกหมากพอดี  แต่จะไม่ตัดเข้าเนื้อหมาก  ทำไม่เป็นตัดเข้าแล้วหมากจะเสีย  กินสดไม่ได้  ต้องเอาไปฝานตากแห้งเป็นหมากแห้งไป  ตากแห้งแล้วยางมันก็เหือด  ไม่เหลือไว้ฝาดปาก  จึงตัดได้ไม่เป็นไร  แต่หมากสด  พอผ่าเปลือกออกครึ่งแล้ว  ก็แกะเปลือกออกขึ้นหนึ่ง  เหลือเนื้อหมากนั่งอยู่ในเปลือกครึ่งซีก  เหมือนปอกมังคุดน่ะค่ะ  ตรงนี้แหละที่เค้าจะตกแต่ง สลักเสลาเปลือกหมากอย่างไรก็ตามแต่ความถนัด  ฝีมือที่แม่พลอยว่า  คือฝีมือที่เจียนได้สนิท  เนื้อหมากไม่ถูกคมมีดน่ะค่ะ  วางจัดเรียงไว้ในช่องหนึ่งของเชี่ยนหมาก  อีกข้างก็เรียงพลูที่จีบใส่ซองไว้แล้ว  

เห็นว่าเค้าจะไม่แตะต้องลูกหมาก  การ "ผ่าหมาก"  เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำค่ะ  ไม่ว่าจะเป็นหมากลูกหรือหมากคน คิกๆๆ

เรื่องของพลูนี่  ที่จีบให้เป็นกรวยนี่  เพื่อให้คนทานใส่เครื่องจากเชี่ยนหมากตามใจชอบน่ะค่ะ  จึงทำเป็นกรวย  แล้วใส่ซองที่ทำด้วยใบตองกลัดด้วยไม้กลัดทางมะพร้าว  เพื่อไม่ให้กรวยพลูคลายตัว  เหมือนไอสกรีมโคนน่ะค่ะ  แต่จะแบนลง  ไม่เป็นกรวยกลมอย่างไอสกรีมโคน   ที่เค้าเจียนพลูก็เพื่อให้ด้านบนของมันเสมอเป็นขอบตรงเวลาจีบเป็นกรวยแล้ว  เค้าเอาพลูเจียน ป้ายปูน ทำเป็นกรวย แล้วเสียบเข้าซอง วางเรียงไว้  พอพร้อมจะทาน ก็เอากรวย มาใส่หมากใส่เครื่อง แล้วห่อเป็นคำเหมือนเมี่ยงใส่เข้าปากเลย

ยาฝอยก็คือยาสูปหั่นฝอยน่ะค่ะ  ดิฉันเคยหั่นใบยาสูบสใัยไปออกชนบท  ไปลองสูบยากะพ่อใหญ่ พ่อตู้ น่ะค่ะ(ด้วยความซุกซน)  ใบยาสูบตากลมกำลังดี จะเหนียว ไม่แห้ง  เวลาซอยต้องซอยด้วยมีดคม  ต้องชำนาญจึงจะซอยให้ฝอยมากๆได้  ถ้าหยาบแล้วมันจะติดดับ ติดดับ เวลาสูบแล้วหงุดหงิดค่ะ   และหากเอายาที่หั่นไม่ฝอยมาอม มันบ่ม่วนปากน่ะค่ะ  ใบเนียมนี่ดิฉันไม่ทราบว่าเป็นอะไร  แต่เข้าใจว่า  ทำให้มันลดความแรงของกลิ่นยาสูบลงไปหน่อย

ซองใส่จำปาก็ทำด้วยใบตองแบบเดียวกับซองพลูเลยค่ะ  เอาใบตองมาเจียนแล้วจีบเป็นกรวย  กลัดด้วยไม้กลัดทางมะพร้าว  ทางมะพร้าวที่กลัด  มันจะบังคับให้กรวยแบนลงได้เองค่ะ  ไม่เหลือเป็นกรวยกลม  แล้วเสียบดอกจำปาได้สี่ห้าดอก  บ้านคุณยายที่บ้านนอกมีต้นจำปาเยอะ  เวลาลูกหลานมาเยี่ยม  เค้าจะเอาดอกจำปามาฝาก  คุณยายชอบเอามาใส่ประดับเชี่ยนหมากค่ะ

เอ ไม่ทราบยังขาดตกหล่นตรงไหนอีก  ยังไงก็ถามมาใหม่ก็แล้วกันนะคะ
บันทึกการเข้า
โสกัน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 05 ม.ค. 01, 08:38

หลายปีเต็มทีมาแล้ว โสกันนั่งหลับๆตื่นๆ บนรถไฟสายอุบลหัวลำโพงและลดกระจกหน้าลงรับลมแรงที่สะบัดเข้ามา  ก็สะดุ้งตกใจเพราะมีรู้สึกมีของเหลวอุ่นๆปะทะเต็มหน้า เอามือปาดออกก็ยิ่งตกใจยิ่งขึ้น เพราะมีอะไรไม่รู้สีแดงฉานเลอะเต็มมือ  โผล่หน้าออกไปนอกหน้าต่าง จึงหายตกใจ เพราะเห็นว่าที่แถวที่นั่งถัดไป มีคุณยายคนหนึ่งเคี้ยวหมากหยับๆ และบ้วนน้ำหมากออกออกหน้าต่าง...
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 05 ม.ค. 01, 09:11

ฮ่าๆๆ  ฟังคุณโสกันแล้วนึกขึ้นมาได้

สิบปีก่อนดิฉันกลับไปเมืองไทย ก็อยากออกไปบ้านนอกอีก  คิดถึงการได้ไปคลุกคลีกับชาวบ้านน่ะค่ะ    
ไม่มีเวลาติดต่อใครเลยไม่ได้วางแผนให้ดีไปล่วงหน้า  ก็ไม่กล้าไปรบกวนคนที่รู้จัก  พอดีไปสระผมที่ร้านใกล้ๆบ้านพี่สาวที่ไปพัก  
เค้าเป็นสาวอีสานสองคนมาเช่าบ้านในหมู่บ้านจัดสรรทำเป็นร้านดัดผม  พอดิฉันไป "เว้าลาว" ด้วยเข้าเค้าก็ดีใจ  คุยไปคุยมา  
ะอทราบว่าดิฉันอยากไปบ้านนอก  ด้วยความแปลกใจ(พี่สาวของดิฉันคิดว่า เสียสติไปแล้วค่ะ)  เค้าก็บอกว่า  
พี่เขยของเค้าจักลับไปเยี่ยมบ้านที่จังหวัดร้อยเอ็ด  เป็นผมู่บ้านเล็กๆมีร้อยหลังคาเรือนได้  ดิฉันก็ตามเค้าไป  แต่พี่สาวให้พาบอดี้การ์ดไปด้วย  
ก็นั่งรถทัวร์ไปลงข้างไฮเวย์ตอนตีห้า  พี่คนนั้นก็ไปตบประตูบ้านเพื่อนปลุกเค้าเอารถมอเตอร์ไซต์ให้ไปส่งที่หมู่บ้าน  ซึ่งอยู่เข้าไปจากถนนอีกสิบกิโล  
แต่ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซต์ไปอีกเกือบชั่วโมงเพราะถนนลูกรังขรุขระมาก  ไปไม่ได้ไกล  แล้วก็ไปพักที่บ้านของสาวร้านดัดผมนั้น  แม่เค้าก็ดีใจมาก  
เพราะเหลืออยู่บ้านคนเดียวกับลูกสาวอีกคน  ที่เป็นภรรยาของพี่คนที่พาไปน่ะค่ะ   ก็เหงามาก  ลูกๆไปทำงานกรุงเทพกันหมด  
พอดีเป็นหน้าเก็บเกี่ยว  ก็ได้ออกไปช่วยเค้าฟาดข้าวในนา

ทีนี้มีแม่ใหญ่คนหนึ่งในหมู่บ้านขึ้นเรือนมาหา  คือเค้าไม่ค่อยได้เห็นคนกรุง  ก็มานั่งคุยไปๆนำ้หมากกระเซ็น  ดิฉันก็ไม่ได้คิดอะไร  
เพราะเห็นคนกินหมากจนชิน  แต่คุยๆกันไปได้ซักพัก  บอดี้การ์ดของดิฉันก็ดึงตัวออกไปนอกชานเรือน  ตาลีตาเหลือกบอกว่า  
น่าจะพาคุณยายไปหาหมอนะ  ดูสิ่ เลือดไหลท่วมปากเลย  ดิฉันงี้สำลักหัวเราะอยู่ร่วมห้านาที  กว่าจะได้หายใจหายคอออกพูดกันรู้เรื่องได้น่ะค่ะ
บันทึกการเข้า
อ้อยขวั้น
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 05 ม.ค. 01, 15:29

ใบเนียมเป็นใบไม้ที่มีกลิ่นหอมค่ะ  แต่ไม่เคยเห็นเหมือนกันว่าหน้าตาเป็นยังไง

เคยได้ยินคำว่าหมากหน้าหวาน  หมายถึงอะไรหรือคะ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 05 ม.ค. 01, 17:12

ว่ากันว่า รถไฟไทย (รุ่นเก่า ไม่ใช่รถสปรินเตอร์) ที่ทาสีแดงมอๆ ออกแดงเลือดหมู นั้น ทาสีนี้มาตั้งแต่ครั้งกรมรถไฟหลวงสยามเพิ่งตั้งใหม่ๆ เพราะกรมรถไฟหลวงสมัยโน้นเห็นว่า คนไทยกินหมาก ก็ทาสีตู้รถไฟเป็นสีน้ำหมากเสียเลย จะได้เปื้อนแล้วไม่เห็นว่าเปื้อน

ใครเคยทราบเรื่องคนไทยหลอกขายพลูให้ทหารญี่ปุ่นเอาไปผัดกินบ้างครับ สมัยญี่ปุ่นขึ้นเมื่อครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพา มีค่ายทหารญี่ปุ่นเต็มเมืองไปหมด แล้วก็มีคนไทยค้าขายกับญี่ปุ่นอยู่หลายราย เพราะทหารญี่ปุ่นรวย อยากได้อะไรก็ซื้อเอาได้ง่ายๆ ก็กองทัพญี่ปุ่นพิมพ์ธนบัตรไทยใช้เองนี่ครับ
เล่ากันว่า ฝ่ายพลาธิการของญี่ปุ่นคนหนึ่งไปเห็นไอ้เจ้าใบพลู เถาวัลย์อย่างนี้แหละ วางขายอยู่ (หลุดรอดการทำลายสมัย "รัถนิยม" มาได้อย่างไรไม่ทราบ) ก็ส่งภาษาไทยบ้าง ญี่ปุ่นบ้าง ภาษาใบ้บ้าง ถามว่าต้นนี้กินได้ไหม คนไทยคนขายก็บอกว่า โฮ้ย- กินได้ อร่อยดี ญี่ปุ่นเลยเหมาใบพลูไปทั้งกระจาด เอาไปผัดกินในค่าย
ก็แน่ละครับ ต้องทิ้งทั้งกะทะที่ผัดแหละ ใครจะไปกินได้ ...
บันทึกการเข้า
ภูมิ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 05 ม.ค. 01, 18:16

ใบพลูนี่บ้านผมก็ปลูกอยู่แต่เอาไว้กินห่อกินเป็นเมี่ยง
ใส่อะไรก็ไม่รู้เยอะเเยะเต็มไปหมด  รู้สึกจะมีหมากหั่นเป็นชิ้นเล็กๆด้วย
เหมือนที่คุณพวงร้อยบอก แต่รู้สึกบ้านผมเรียกเมี่ยงนะ
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 05 ม.ค. 01, 22:50

ที่คุณภูมิว่าจะเป็นใบชะพลูหรือเปล่าคะ  มันไม่เหมือนกันนะคะ  ใบชะพลูนี่บางที่เค้าก็อาจจะเรียก ใบพลูได้ มังคะ  แต่ที่แน่ๆที่ห่อ เมี่ยงคำนี่
เป็นใบชะพลูค่ะ  ใบที่ทานกัลหมากก็ เป็นใบพลู

เมี่ยงคำนี่ของโปรดเลยค่ะ  เครื่องก็มี ขิง มะนาว(ทั้งเปลือก) หอมแดง ทั้งสามหั่นลูกเต๋า  แล้วยังมี ถั่วลิสงคั่ว กุ้งแห้ง มะพร้าวซอยคั่วแห้ง  
ใส่ใบชุพลูห่อเป็นกรวย  แล้วหยอดหน้าด้วยนำ้จิ้ม  ที่รู้สึกจำทำจากนำ้ตาลมะพร้าวเคี่ยว ใส่กะปิกับมะพร้าวซอย  รึไงเนี่ยะค่ะ  
คุณยายกับญาติๆชาวมอญทำประจำเลยค่ะ  เลยนึกว่า  อาจจะเป็นของมอญ  แล้วก็ข้าวแช่  และข้าวเกรียบว่าวอีกอย่าง  ที่คงมาจากมอญด้วย
บันทึกการเข้า
ก.แก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 06 ม.ค. 01, 09:49

อ่านกระทู้นี้แล้วทำให้คิดถึงความหลังเมื่อครั้งยังเยาว์พู้นนนน บ้านเกิดของดิฉันอยู่ในสวนฝั่งธน ย่านตำบลตลาดพลู ในคลองบางน้ำชน
ใกล้กับคลองบางหลวง ที่มีปรากฏเป็นฉากในเรื่องจดหมายจากเมืองไทยและอีกหลาย ๆเรื่องของคุณโบตั๋นน่ะค่ะ  สวนของคุณตาคุณยายเป็นสวนผลไม้ที่อยู่ในแวดวงของสวนพลู
ที่คนปลูกพลูส่วนใหญ่เป็นคนจีนที่ขอถือสวน
ทำสวนพลู (ตอนเด็ก ๆก็เคยสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมจึงเรียกการเช่านี้ว่าถือ ) สวนพลูจะเป็นสวนที่สะอาดและมีระเบียบมาก ต้นพลูจะปลูกเลื้อยขึ้นบนไม้ค้างพลูที่ปักเป็นแถวแนวบนร่องที่ยกไว้สูง มีส่วนกว้างประมาณเมตรครึ่งถึงสองเมตร ปักเป็นแถวคู่กันไปบนยกร่อง  แล้วก็ยังปลูกพืช ผักคลุมดินบนยกร่องและข้างร่องไว้กินและขายได้ด้วย มีร่องเป็นคูน้ำสำหรับรดพลูขนานไปตามแนวยาวของร่องที่ยกไว้ ในความคิดของเด็ก ๆ คนทำสวนพลูขยันมาก เขาจะอยู่ในสวนของเขาตลอดวัน รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ถอนหญ้า ลอกท้องร่อง  สิ่งที่รบกวนเพื่อนบ้านสวนขนัดอื่น ๆคือ เวลาใส่ปุ๋ยที่เป็นปุ๋ยคอก ชาวสวนพลูเขาจะมีหลุมหมักปุ๋ย เหม็นมาก เด็ก ๆ ก็จะกลัวเพราะผู้ใหญ่มักเล่าว่าเขาจะใส่ทรากสุนัขหรือสัตว์ที่ตายแล้วเป็นปุ๋ยได้ลงไปหมักไว้ รวมกระทั่งปุ๋ยชั้นดีจากคนด้วยโดยตักจากส้วมหลุมผสมไว้ เด็ก ๆจะกลัวถูกหมกในหลุมนี้มาก เวลาที่เขารดปุ๋ยจะเหม็นตลอดวัน  ดิฉันชอบไปดูเวลาที่เขาเด็ดพลู เขาจะมีเล็บเหล็กอันเล็ก ๆ
สวมเวลาเก็บพลูจะใช้เล็บนี้สวมที่นิ้วโป้งจิกที่ก้านพลูเหนือขั้วของใบพลู ใส่ในเข่งที่แขวนไว้ที่บันไดเก็บพลู  แล้วตะนี้ก็ต้องเอามาจัดเป็นเรียงเพื่อนำไปขาย ก็จะมีคนมารับจ้างเรียงพลูกัน เวลาเรียงพลูก็จะใช้วิธีจับที่ก้านขั้วของใบพลูจากใบใหญ่ซ้อนตามด้วใบเล็กตามลำดับโดยประมาณน่าจะ ๒๐ ใบ เรียงเสร็จก็จะจัดใส่เข่งนำไปขาย ย่านนี้จึงเรียกตลาดพลูค่ะ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว มีเพียงสวนผลไม้หลงเหลือบ้างเล็กน้อยเท่านั้น  ตอนเด็ก ๆดิฉันชอบดูคุณยายนาบพลู เป็นกรรมวิธีที่สามารถเก็บพลูไว้กินยามขาดแคลนที่ฉลาดมากค่ะ
คือเอากระทะตั้งไฟอ่อนร้อนรุมๆ วางใบพลูลงไป ใช้ผ้าทำลูกประคบนาบพลูกับกระทะจนใบพลูแห้ง แต่ไม่กรอบนะคะ เรียงใส่ใหหรือภาชนะไว้กินได้นานเชียว  คุณอ้อยขวั้นถามถึงหมากหน้าหวานก็คือหมากที่เมื่อผ่าออกมาแล้วยังไม่แก่เกินไป หน้าจะฉ่ำน้ำ สีอ่อนสวยดูนุ่มน่ารับประทาน  ส่วนหมากที่แก่จะเรียกหมากสง คุณยายมักจะหั่นตากแดดจนแห้งเก็บไว้กินได้นานเหมือนกันค่ะ  สิ่งที่หลาน ๆทุกคนจะชอบมากคือการเล่นเชี่ยนหมากของคุณยายค่ะ เพราะมีสารพัดให้ค้นให้เล่น ตั้งแต่กวนเต้าปูน เอาสีผึ้งมาสีปาก
ก้นเศษสตางค์ก้นเชี่ยนหมาก และแม้กระทั่งยุงกัด ก็ยังใช้ปูนนี่แหละค่ะทาตุ่มยุงกันหายคันชะงัดนัก เป็นลมพิษก็ใช้ใบพลูของคุณยาย
ขยี้กับเหล้าโรงทาหายค่ะ
คำว่า pile ของท่าน ม.ล.ปิ่น จะหมายถึงใบพลูที่กองไว้เป็นกองใหญ่ หรือพลูที่เรียงไว้เป็นปึก ๆ หรือเป็นเรียง ๆแล้วก็ไม่ทราบนะคะ ถ้าท่านแยกทีละใบคงนานพอดู
เพื่อนๆที่อยู่แถวซอยสวนพลูคงจะมีบรรยากาศไปอีกแบบนะคะ ตลาดพลูกับซอยสวนพลูอยู่กันคนละแห่งหนตำบลเลยทีเดียว
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.04 วินาที กับ 19 คำสั่ง