เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 40038 "รุ่งเรือง.. เมืองศิลป ๓"
chai1960
มัจฉานุ
**
ตอบ: 67



ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 01 มี.ค. 08, 12:12

กาลเวลากร่อนจางสี...ลวดลาย
ภาพวิจิตรสังขาร์สลาย...หล่นพื้น
ดวงจิตนิ่งเพ่งมองไป...งามสรรพ์...สวรรค์ยา
นิมิตเห็นภาพอดีตฟื้นปลายกนกโง้ง...คมพลัน

น้ำใสแลเห็นก้าน...บัวงาม
ปูปลาแหวกว่ายมา...กุ้งก้าม
ปลาเผือกโหลนหลานทวด...ว่ายอยู่...กลางวัง
เฉกเช่นชีวิตดับกลับฟื้น...ตื่นพลัน


สวัสดีครับคุณ กุรุกุลา คุณ กุ้งแห้งเยอรมัน
แอบชื่นชมผลงานอยู่ครับ... ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า

ประวัติศาสตร์เหมือนสายน้ำมีทั้งช่วงที่ไหลรินฉ่ำใสและช่วงที่ถาโถมทำลาย
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 01 มี.ค. 08, 13:33

วันนี้ว่างครับ เลยมีเวลาเข้ามานั่งเล่นในเรือนไทยได้ตามสบาย อยู่บ้านร้อนเหลือเกิน


ภาพด้านซ้ายที่คุณกุ้งแห้งยกมา คือนันโทปนันทสูตร กล่าวถึงพระมหาโมคคัลลานะทรมาน พญานาคนันโทปนันทะ

เรื่องก็มีอยู่ว่า พระพุทธองค์มีพระประสงค์จะทรมานพญานาคมิจฉาทิฏฐินี้ จึงเสด็จเหาะข้ามยอดวิมานนาคราช


พญานาคนั้นจัดงานเลี้ยงครื้นเครงอยู่ แลเห็นสมณโล้นพาบริวารเหาะข้ามสำนักแห่งตน ฝุ่นคลีจะตกต้องศีรษะ

ก็โมโห กลายร่างเป็นนาคใหญ่ บดบังท้องฟ้าไว้ พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยญาณ เมื่อพระมหาโมคคัลลานะอาสา จึงโปรดให้ทรมานพญานาคนั้น

มหาโมคคัลลานะแสดงฤทธิ์แข่งกับนันโทปนันทะต่างๆนาๆ จนในที่สุดก็แปลงเป็นพญาสุบรรณบิน จับนาคนั้นไว้ได้

นันโทปนันทะก็ถึงไตรสรณคมน์


ครุฑพระโมคคัลลาน์จับนันโทปนันทนาคราชครับ


บันทึกการเข้า
กุ้งแห้งเยอรมัน
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1573



ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 01 มี.ค. 08, 16:27

อยากให้ชมภาพดังในแง่งามอีกภาพของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  หลังเสด็จจำพรรษาเพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดาแล้ว วันที่เสด็จลงคือวันออกพรรษา 
เสด็จลงตรงประตูเมืองสังกัสนคร พระบาทแรกที่ทรงเหยียบพื้นโลกนั้น    ต่อมาได้
กลายเป็นสถานที่ระลึกเรียกว่า  'อจลเจดีย์'   เรียกอย่างไทยเราก็ว่า  'รอยพระพุทธบาท'  ตามตำนานว่าที่นี่เป็น
ที่แห่งหนึ่งซึ่งมีรอยพระพุทธบาทปรากฎอยู่

ก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จลง    เทพเจ้าคือพระอินทร์ได้เนรมิตบันได  ๓  อัน  คือ
บันไดทอง  บันไดเงิน  และบันไดแก้วมณี    บันไดทองสำหรับหมู่เทพลงอยู่ด้านขวา  บันไดเงินอยู่ด้านซ้ายสำหรับท้าวมหาพรหม   และบันไดแก้วมณีอยู่ตรงกลางสำหรับพระพุทธเจ้า   หัวบันไดแต่ละอันพาดที่เขาสิเนรุ 
หมู่คนทางเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าคือหมู่เทพที่ตามส่งเสด็จ  เบื้องซ้ายผู้ถือฉัตรกั้นถวายพระพุทธเจ้าคือท้าวมหาพรหม    ผู้อุ้มบาตรนำเสด็จพระพุทธเจ้าคือพระอินทร์    ผู้ถือพิณบรรเลงคือปัญจสิงขรคนธรรพ์เทพบุตร  มาตุลีเทพบุตร  ถือพานดอกไม้ทิพย์

ชาวพุทธถือกันว่าวันออกพรรษาเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง   จึงนิยมทำบุญตักบาตรกันในวันนี้   
เพราะถือว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์   
เรียกการตักบาตรนี้ว่า  'ตักบาตรเทโว'    ย่อมาจากเทโวโรหณะ  แปลว่า  ตักบาตรเนื่องในวันคล้ายวันพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกนั่นเอง

สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นั้นสำหรับผู้ที่เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ทำบุญเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งดีงาม เป็นสิ่งที่ควรทำ กระทำแล้วก็สั่งสมบุญ สั่งสมเทวธรรม มีหิริ โอตตัปปะด้วย เมื่อละโลกก็จะไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นนี้ ซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าตัดของเขาสิเนรุ ที่ชื่อว่า ดาวดึงส์ เพราะเป็นที่อยู่ของเทพผู้ปกครองภพถึง 33 องค์ โดยมี สมเด็จอมรินทราธิราช หรือพระอินทร์ เป็นประธาน และที่สำคัญมีพระธาตุจุฬามณี ซึ่งทุกวันพระเทวดาจะมาประชุมกันที่สุธรรมาเทวสภา เพื่อรับฟังโอวาทจากท้าวสักกะ

รู้ความหมายแล้ว ดูภาพละเอียดขึ้น งามขึ้น
โทนสีฝาผนังรักษาสีแดง ดำ ทอง ไว้ได้อย่างสวยงาม
...


บันทึกการเข้า
กุ้งแห้งเยอรมัน
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1573



ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 01 มี.ค. 08, 16:40

สระอโนดาตของคุณกุรุกุลา เห็นกุ้งตัวโตมากค่ะ
...
มาดูกันทั้งสระนะคะ


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 01 มี.ค. 08, 18:33

แหม คุณกุ้งแห้งเก็บภาพไว้ทุกช๊อตเลยนะครับ

สระอโนดาตนี้ฝีมือช่างชั้นครู เป็นปรมาจารย์ที่ดูฝีมือออกได้ว่า เขียนครั้งรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก่อนรัชกาลที่ 3 ดังนั้น จึงถือว่าสืบทอดงานฝีมือมาจากสมัยอยุธยาตอนปลายโดยตรง ทำให้เราพอจะจินตนาการได้ว่า จิตรกรรมช่างหลวงครั้งกรุงเก่า งดงามเพียงใด

ครูคนนี้สมเป็นช่างหลวงโดยแท้ เสียดายเราไม่ทราบชื่อท่าน ขนาดวัวกินน้ำ ท่านยังอุตส่าห์ใส่รายละเอียดให้เห็นเงาวัว สะท้อนลงในผืนน้ำ ไม่เคยเห็นที่ใดนอกจากพระที่นั่งแห่งนี้ ต้นไม้บิดไปบิดมาข้างๆ สะท้อนให้เห็นการเล่นไม้ดัด ที่นิยมรุ่งเรืองกันอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปรากฏในเสภาขุนช้างขุนแผนก็หลายที่
บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 01 มี.ค. 08, 18:46

เสด็จลงจากดาวดึงส์ของคุณกุ้งแห้ง เป็นเหตุการต่อเนื่องมาจากภาพแรก (ความคิดเห็นที่ 14)

ซึ่งด้านซ้ายเป็นทรมานนาคนันโทปนันทะ ด้านขวาเป็นยมกปาฏิหาริย์

เป็นธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ตั้งแต่อดีตกาล ที่เมื่อแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้ว จะต้องเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์


ยังไม่พูดถึงยมกปาฏิหาริย์ละกันครับ เราผ่านขึ้นไป "ตาวติงสาโลกมโหฬาร" กันก่อน

ภาพเดิมครับ จะเห็นว่าทางด้านขวามือบน จะเป็นภาพ โปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ทางซ้ายมือของภาพ เป็นพระอินทร์ทูลเชิญ สันดุสิตเทวราช จากสวรรค์ชั้นดุสิตมายังธรรมสภา ณ ดาวดึงส์ (ซึ่งก็คือพระนางมายาที่อุบัติเป็นเทพบุตรนั่นเอง)

พระพุทธเจ้าประทับเป็นประธานอยู่ตรงกลาง ขณะที่ด้านขวาเป็นพระอินทร์สีเขียว ด้านซ้ายเป็นเทวบุตร

เมื่อโปรดพุทธมารดาแล้ว สิ้นพรรษาจึงเสด็จลง ณ เมืองสังกัสสะ

การเสด็จลงจากดาวดึงส์นี้ เป็นตอนยอดนิยมมากของพุทธศิลป์ มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศก

ในประเทศไทย พุทธประวัติตอนนี้ "มีส่วน" ทำให้เกิด พระพุทธรูปลีลา อันเป็นความงามสุดยอดในศิลปะไทย ในจารึกวัดสรศักดิ์ มีคำที่เชื่อว่าหมายถึงพระพุทธรูปลีลา คือ "พระเจ้าหย่อนตีน"

 นายอินทรสรศักดิ์ได้สร้าง "พระมหาเจดีย์มีช้างรอบ ประกอบด้วย"พระเจ้าหย่อนตีน"และพระวิหารและหอพระ”

แต่ก็มิใช่ว่า พระลีลาทุกองค์จะหมายถึง "ลงจากดาวดึงส์"

เอาละครับ กลับมาที่รูปพระเจ้าหย่อนตีน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ดีกว่า

ภาพนี้ฉ่ำไปหมดด้วยสีแดงครับ ขลังเหลือเกิน สังเกตให้ดีจะเห็นว่า มีการวางโครงภาพที่ลื่นไหลเป็นเส้นโค้ง จากทางด้านซ้าย มาขวา

แม้ว่าองค์พระพุทธรูป จะมิได้แสดงอิริยาบถลีลา แต่การใช้เส้นโค้งไหล ก็เสมือนท่านกำลังเลื่อนลอยมาทางนภากาศด้วยญาณชะนั้น
บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 01 มี.ค. 08, 18:59

พระเจ้าหย่อนตีนองค์ดัง ณ วัดตระพังทองหลาง สุโขทัยครับ รูปนี้หมายถึงการลงจากดาวดึงส์จริงๆ

สภาพปัจจุบันเป็น เช่นนี้


บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 01 มี.ค. 08, 19:45

ครูผมสอนว่า พระเจ้าหย่อนตีน เป็นแบบนี้ครับ
น่ากลัวต้องไปแก้ตำราแระ


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 01 มี.ค. 08, 23:03

อิอิ มีคุณพิพัฒน์มาแย้งนี่สนุกขึ้นเยอะเลยครับ

หลายคนก็คิดแบบนี้เหมือนกัน ว่าพระเจ้าหย่อนตีนคือพระประทับนั่งห้อยพระบาท

แต่ผมคิดว่า ในเมื่อจารึกของวัดสรศักดิ์อยู่ในสมัยสุโขทัย แล้วอีกด้านหนึ่งของจารึก (จารึกมี 2 ด้านครับ เขียนด้านหนึ่ง จารด้านหนึ่ง)

ด้านที่จาร จารเป็นรูป พระพุทธเจ้าลีลาเสด็จลงจากดาวดึงส์ ครับ

อีกประการหนึ่ง พระนั่งห้อยพระบาท ในศิลปะไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 ลงมา มีปางเดียว คือปางรับบาตรพญาวานร หรือป่าเลไลยก์

แล้วผมก็ไม่เคยเห็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ในสมัยสุโขทัย แม้ว่าจะมีมากมายในเมืองพุกามก็ตาม
บันทึกการเข้า
elvisbhu
แขกเรือน
พาลี
****
ตอบ: 215

เป็นคนเขียนรูป


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 02 มี.ค. 08, 10:33

พระนั่งรูปที่คุณพพ.นำมาลง ผมเห็นอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ครับ องค์เดียวกัน แต่จำลองใช่ไหม
บันทึกการเข้า
กุ้งแห้งเยอรมัน
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1573



ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 02 มี.ค. 08, 12:08

อย่าเพิ่งแตกประเด็นได้ไหมคะ คุณผู้ชายทั้งหลาย ขอลุยเรื่องภาพจิตรกรรมในพระที่นั่งฯต่อนะคะ ภาพพระยมกปาฏิหารย์ค่ะ
ถ่ายคนละครั้งแล้วนำมาต่อกัน

..(ลอกมา)
.....ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระดำริจะกระทำพระพุทธปาฏิหารย์  ณ ต้นมะม่วง ที่พระองค์ประทาน เมล็ดให้นายคัณฑะปลูกรักษาไว้ ได้นามว่า คัณฑามพพฤกษ์  และด้วยพุทธานุภาพ ไม้มะม่วงนั้นก็เจริญงอกงาม  บริบูรณ์ด้วยกิ่งก้านสาขา ใบและผลร่วงหล่นอยู่กลาดเกลื่อน ผู้คนทั้งหลายได้บริโภค
เห็นมีรสหวานอร่อยก็ชวนกันเก็บกิน และพากันโกรธแค้นพวกเดียรถีย์นิครนถ์ ที่พากันโค่นต้นมะม่วงที่มีอยู่ในบริเวณนั้นทั้งหมด เมื่อทราบว่าพระบรมศาสดา จะทรงกระทำปาฏิหารย์ที่ต้นมะม่วง ฝูงชนได้ใช้เมล็ดมะม่วงขว้างปาพวกเดียรถีย์ วลาหกเทพบุตรบันดาลให้ลมพายุพัดมณฑปกระจัดกระจายทำลายลง พระอาทิตย์เวลาเที่ยงก็ส่องแสงแผดกล้า ทำให้พวกนิครนถ์หิวกระหาย บอบช้ำลำบากพากันหนีไปทั่วทุกทิศทาง
    ครั้นเวลาบ่ายชายลง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มกระทำยมกปาฏิหารย์ มีพระอาการเป็นคู่ คือ เมื่อพระองค์ ทรงเหาะขึ้นไปในอากาศ  เสด็จพระพุทธลีลาสด้วยปฐวีกสิณบริกรรม แล้วทรงนฤมิตพระพุทธนิมิตจงกรมไปมา บางครั้งทรงนั่งขัดสมาธิปุจฉา พระพุทธนิมิตนั่งขัดสมาธิวิสัชนา บางครั้งทรงไสยาสน์ พระพุทธนิมิตก็ไสยาสน์ เป็นต้น
    ขณะนั้นโลกธาตุก็เกิดมหัศจรรย์หวั่นไหว พระพุทธองค์ได้ทรงยังพระโอภาสให้แผ่ไปในหมื่นจักรวาฬ ทรงพิจารณาอุปนิสัยของเวไนยสัตว์ทั้งปวง แสดงพระธรรมเทศนาโปรดให้ได้บรรลุ  มรรค  ผล  นิพพาน


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 02 มี.ค. 08, 12:19

พระพุทธรูปประทับนั่งที่คุณ เอลวิสภู ถามนั้น เป็นศิลปะทวาราวดี มีอยู่ประมาณ 4-5 องค์ครับ เชื่อว่าเดิมประดิษฐานอยู่ ณ วิหารจตุรมุข วัดพระเมรุ (ทุกวันนี้เหลือแต่ซาก ที่ทางแยกเข้าพระปฐมเจดีย์)

องค์หนึ่งอยู่ที่พระปฐมเจดีย์ เรียกกันว่าหลวงพ่อขาว

องค์หนึ่งอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร องค์นี้ที่คุณเอลวิสภูถามครับ เป็นองค์จริง แต่ได้ซ่อมแซมพระหัตถ์เสียใหม่

องค์หนึ่งอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา อยุธยา

ส่วนอีกองค์จำไม่ได้แล้วครับ

นอกจากนี้ ยังมีพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท ขนาดใกล้เคียงกันอีก อย่างน้อย 2 องค์ แต่แกะจากหินสีดำ คงไม่ใช่ชุดเดียวกัน

องค์หนึ่งอยู่ที่วัดหน้าพระเมรุ ส่วนอีกองค์เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ ครับ
บันทึกการเข้า
กุ้งแห้งเยอรมัน
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1573



ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 03 มี.ค. 08, 15:49

ขณะที่ดิฉันเข้าไปในพระที่นั่ง ก็ได้พบคนกลุ่มใหญ่ กำลังถ่ายภาพความสมบูรณ์ของภาพจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติ ตอนสำคัญ คือพระราชพิธีวิวาห์ของพระเจ้าสุทโธธนะ กับพระนางสิริมหามายา
เป็นการลงทุนของเอกชนในเชิงอนุรักษ์ ภาพนี้ จะบันทึกลงในเซรามิค เพื่อถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯของเรา เนื่องจากเป็นภาพที่ใหญ่มาก การถ่ายทำต้องเก็บรายละเอียดแบบสุดยอด จึงมีอุปกรณ์เพียบ..
ตอนแรกดิฉันก็แปลกใจ ว่าเอาไปทำประโยชน์อย่างไร เพื่อการศึกษา หรือการอนุรักษ์..ทางคุณที่ดำเนินการบอกว่าจะอนุรักษ์ภาพนี้ไปได้เป็นร้อยปี โดยเซรามิคคุณภาพดีมากๆ(แต่ก็แตกได้อยู่ดีหละ)
...


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 03 มี.ค. 08, 18:41

ฉากวิวาหะของคิงสุทโธทนะและพระนางมายาในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์นี้ นับว่าเป็นฉากสุดยอดความงามของจิตรกรรมฝาผนังไทยทีเดียว

สมบูรณ์ทั้งการออกแบบ การจัดเค้าโครง และความวิจิตรพิสดารไม่มีที่ติ แสดงให้เห็นความอลังการของพระราชพิธีสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งแต่ขบวนเสด็จของพระนางมายา ทั้งมโหรีกระจับปี่สีซอ

เสียดายไม่มีโฟโตชอป มิฉะนั้นคงใส่รูปได้ใหญ่กว่านี้ครับ


บันทึกการเข้า
กุ้งแห้งเยอรมัน
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1573



ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 03 มี.ค. 08, 20:48

เมื่อเราเรียนวิชาพุทธประวัติ เราทราบว่า พระนางสิริมหามายาเป็นนางที่มีคุณสมบัติเป็นรัตนกัญญา เมื่อกำเนิดพระโอรส คือเจ้าชายสิทธัตถะ ก็มีดอกบัวมารองรับ และท่านสามารถทรงดำเนินได้ทันที ภาพนี้บอกอะไรเราบ้างคะ











บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.042 วินาที กับ 20 คำสั่ง