เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 20
  พิมพ์  
อ่าน: 64761 ศัพทาภิธานศิลปะ
pakun2k1d
พาลี
****
ตอบ: 285


ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 13 ก.พ. 08, 17:11

ห้องเรียนนี้สนุก และหิน จริง ๆ ค่ะ  ไม่ว่าเรื่องอะไร คำถามไหน ไม่สามารถตอบสั้น ๆ ง่าย ๆ ได้เลย  ขอบคุณ คุณ(ครู)พพ.ที่ตอบแล้วยังต้องไปทำการบ้านอีก  ขอเวลาย่อยก่อนนะคะ  แว็บหนึ่งของความคิดค่ะว่า  ถ้าเราเป็นนักเรียนแล้วคุณครูให้ไปค้นเรื่องนี้มาส่ง  เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราไปค้นมาผิดพลาดคลาดเคลื่อนแค่ไหน อย่างไร ดิฉันว่าครูโรงเรียนทั่ว ๆ ไปก็ช่วยไม่ได้นะคะ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 13 ก.พ. 08, 18:03

บังอาจ...เอ้ย ผิดอีกแระ บังเอิญไปโต้แย้งนักปราชญ์เข้าให้
ไม่ขยายความ เห็นจะไม่เหมาะสม

ผมเห็นว่า เราจะต้องเข้าใจเบ็ดเสร็จ เรื่องสถูป เจดีย์ ปรางค์ และปราสาทหิน
ให้ชัดเจนสักหน่อย ดังนั้น การแลกเปลี่ยนเรื่องฐาน มาสู่โบสถ์ ก็ตกเหว
กลายเป็นอนุสรณ์สถานไป คงไม่ว่ากัน

ขอให้พิจารณาคำนี้ก่อน
ถูปารหะบุคคล แปลว่าคนผู้ซึ่งสมควรแก่สถูป
เจติยบุคคล แปลว่า คนที่พึงเคารพ
ผมถือเอาสองความหมายนี้ แยก สถูปออกจากเจดีย์
นี่เป็นการวางข้อกำหนดชนิดเข้มงวดนะครับ แต่โดยทั่วไป ในเมื่อชาวเรา 99 ส่วน ยังใช้สองคำนี้
ดั่งคำเดียวกัน ผมก็ขอเป็น 1 ส่วนที่ดี คือเงียบ เมื่อไม่ต้องพูด

แต่มาถึงตรงนี้ ไม่พูดจะทำมิตรสหายงง ขอพูดหลักที่ผมยึดต่อไปเลยละกัน

ปรางค์ คำนี้เป็นคำผูกขึ้นใหม่ มีเฉพาะในภาษาไทย และเป็นไทยอยุธยาซึ่งรัตนโกสินทร์รับสืบมาเสียด้วย
ภาคอื่นไม่มี
อธิบายง่ายๆ ก็พระปรางค์วัดอรุณฯ นั่นแหละ ปรางค์
สถาปัตยกรรมอย่างนี้ ไม่ต้องไปหาที่ใหน มีแค่แถบภาคกลาง
นับย้อนขึ้นไป ก็จบแถวๆ เมืองลพบุรี เก่าสุดคือพระศรีรัตนมหาธาตุที่นั่น เดาว่าก่อนอยุธยาสักชั่วคนเป็นอย่างน้อย

ถ้านับหนึ่งที่พระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี
ลบหนึ่ง เรื่อยลงไป ก็ต้องเข้าเขมร ไม่ใช่ขอมนะครับ คนเขมรที่เป็นเจ้าของเมืองพระนคร เขาไม่รู้จักว่าขอมคืออะไร
ไทยเรา ไปแปะป้ายเอาเอง แล้วกาวก็เหนียวจัง ร้อยปีแล้ว ยังไม่หลุด
ที่เราเรียกภาษาขอม เอาไปให้ใครที่ใหนนอกประเทศ เขาเรียกภาษษเขมรทั้งนั้น
คนโบราณ ท่านคงมีเหตุผล ที่เรียกเขมรว่าขอม ผมไม่รู้เหตุผลนั้น อยากทราบเหมือนกัน แต่เมื่อยังไม่ทราบ
ขอเรียกเขมรก็แล้วกัน

สถาปัตยกรรมเขมรนั้น ที่โดเด่นสืบต่อลงมาตั้งแต่สมัยเจนละน้ำ เจนละบก ก็คือการสร้างอาคารหิน
ที่เราเรียกว่า ปราสาทหิน
ปราสาทหิน เป็นต้นเค้าของพระปรางค์ไทย
ส่วนพระสถูปเจดีย์ ที่มีองค์ระฆัง มีปลียอด มีคอระฆัง
ในเขมรมีจำนวนนับได้ถ้วน คือน้อยมาก

มาถึงบันทัดนี้ ขอพักเหนื่อย ถามมิตรสหายก่อนว่า
งง ใหมครับ
บันทึกการเข้า
Natalee
อสุรผัด
*
ตอบ: 37



ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 13 ก.พ. 08, 18:44

จริงอ๊ะเปล่าที่หมายเลข 2 เก่าแก่ที่สุด?

1. สุพรรณฯ
2. ละโว้
3. ราชบุรี


บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 13 ก.พ. 08, 21:31

หมายเลข 1 มีจารึกบอกปีสร้าง
หมายเลข 3 มีร่องรอยจิตรกรรมฝาผนัง บอกอายุ
หมายเลข 1 มีจิตรกรรม แต่อยู่ที่อาคารบริวาร

เปรียบเทียบจากเทคนิคก่อสร้าง
เปรียบเทียบจากวิวัฒนาการแผนผัง
เปรียบเทียบจากวิวัฒนาการของรูปด้าน
และเปรียบเทียบจากร่องรอยของลายประดับ รวมทั้งวิธีการประดับ

ผมเชื่อว่า เรียงอายุตามนี้ครับ
2
3
1
บันทึกการเข้า
Natalee
อสุรผัด
*
ตอบ: 37



ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 13 ก.พ. 08, 21:56

1 น่าจะแก่กว่า 3 ไหมคะ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 13 ก.พ. 08, 23:48

อยากให้สังเกตรูปแบบทางสถาปัตยกรรมอย่างนี้นะครับ
ระบบปรางค์สามองค์ เป็นรูปแบบที่พุทธมหายานของเขมรพัฒนาขึ้นมา
ระบบนี้ สร้างเป็นปรางค์พื้นราบ ยกทั้งหมดอยู่บนฐานไพที(ฮ่า...คุณป้ากุนได้ศัพท์ใหม่อีกแระ)
(ปราสาทเขมร มีสองแบบต่างกันทางคติ คือแบบยกสูง จำลองภูเขา กับแบบพื้นราบ)

หมายเลข 2 เป็นดั่งที่ว่ามานี้ ปรางค์ประธาน ถูกนำด้วยอาคารหลังคาโค้งรูปจั่ว
เรียกว่า มณฑป เชื่อมกับปรางค์ประธานด้วยฉนวนเล็กๆ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับมุขเอกขององค์ปรางค์
สองข้างปรางค์ประธาน เป็นปรางค์บริวาร ซึ่งหักพังหมดแล้ว
รูปแบบเช่นนี้ เรายังพบอีกที่วัดพระพายหลวง กับวัดศรีสวาย เมืองสุโขทัยเก่า

หมายเลข 2 และ 3 เป็นอีกระบบหนึ่ง
เป็นปรางค์เดี่ยว(หมายเลข 3 มีหลายยอด แต่เกาะเป็นกลุ่มที่องค์กลาง ไม่แยกออกเป็นเอกเทศ
ระบบนี้ เราพบมากที่เกาะเมืองอยุธยา เช่นวัดพุทไธสวรรย์ วัดพระราม วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือวัดราชบูรณะ
อายุการสร้างต่อเนื่องเรียงรายกันลงมาตั้งแต่สมัยสร้างกรุง รวมแล้วร้อยกว่าปี

ในทางสถาปัตยกรรม เราจึงต้องรวม 1 และ 3 อยู่ในช่วงเวลาไกล้เคียงกันครับ
จะให้ระบุชัดก็คือ ก่อนสมัยพระบรมไตรโลกนาถ
เพราะท่านยกเลิกระบบเจ้าฟ้าครองเมือง ดึงมาอยู่ในเมืองหลวงหมด
พระศรีรัตนมหาธาตุทั้งหลายในวัฒนธรรมอยุธยา จึงต้องสร้างในสมัยมีเจ้าฟ้าครองเมือง
มิอาจสร้างในสมัยพระยาครองเมือง

ถามนิดเดียว ตอบยาวไปหน่อย
บันทึกการเข้า
Natalee
อสุรผัด
*
ตอบ: 37



ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 14 ก.พ. 08, 11:22

บางตำราเล่าว่าหมายเลข 1 วัดพระศรีมหาธาตุ ที่สพรรณบุรี สร้างในสมัยสุพรรณภูมิ
หรืออโยธยาน่ะค่ะ ก่อนกำเนิดกรุงศรีซะอีก จริงเท็จอย่างไรไม่ทราบค่ะ
บันทึกการเข้า
pakun2k1d
พาลี
****
ตอบ: 285


ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 14 ก.พ. 08, 12:00

คุณ(ครู)พพ.ค่ะ  คำว่า "ฐานไพที" นำเสนอไว้ล่วงหน้าแล้วนะคะว่า  เป็นฐานที่มีอาคารหลาย ๆ อย่างอยู่บนฐานเดียวกัน  ผิดพลาดประการใดไม่รู้ค่ะ  เพราะได้แต่จำเขามาบอกต่อ  อันนี้เป็นปัญหาของผู้ไม่รู้แล้วอยากรู้อย่างดิฉัน  เพราะไปอ่านอะไรมาก็จะหาความมั่นใจใด ๆ ไม่ได้เลยว่าสิ่งที่รู้มานั่นเชื่อได้ 100 % หรือไม่  ไม่ใช่ความผิดของใครนะคะ  เป็นธรรมชาติของเรื่องไทย ๆ เกือบทุกเรื่องทีเดียว  วางเป็นหลักในใจไว้ว่า  พยายามรู้ให้เยอะว่าใครเขาคิด เชาเชื่ออย่างไร รวบรวมจำแนกไว้ให้เป็นระบบ  คนมาทีหลังจะได้เดินหน้าต่อไปได้เร็วหน่อย  ไม่งั้นก็เดินวกไปวนมาไม่ถึงไหนซะที 

ว่าแล้วคุณ(ครู)พพ.อย่าลืมอธิบายต่อเรื่อง เจดีย์ ปรางค์ สถูป มณฑป นะคะ  กำลังเข้าเค้าทีเดียวค่ะ

ไม่ใช่คุณ(ครู)พพ.ท่านเดียวนะคะ  เชิญผู้รู้ หรือผู้จำเขามารู้ ก็ได้ค่ะ  ช่วยกันเสนอสิ่งที่รู้เยอะ ๆ เผื่อจะช่วยทำให้ความสับสนเป็นความกระจ่างแจ้ง  หรือจะยังคงความสับสนต่อไปก็ไม่เสียหายค่ะ
บันทึกการเข้า
pakun2k1d
พาลี
****
ตอบ: 285


ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 14 ก.พ. 08, 16:14

กลับไปอ่านที่ค้นไว้เรื่อง "ฐานไพที" ดังนี้ค่ะ

   ฐานไพที  มีคำอธิบายไว้ 2 อย่าง  คือ ฐานรูปบัวคว่ำ บัวหงาย  ใช้รองรับเจดีย์  กับที่อาจารย์สันติ  เล็กสุขุม อธิบายไว้ว่า เป็นฐานที่ใช้รองรับสิ่งก่อสร้างหลาย ๆ อย่างรวมกัน (คำอธิบายนี้  ถ้าไม่มีความรู้อะไรมาเลย  ก็จะได้แค่จำตามตัวอักษรเท่านั้นแหละค่ะ)

คุณ(ครู)พพ.  และท่านอื่น ๆ ว่าอย่างไรค่ะ
บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 14 ก.พ. 08, 19:19

วัดมหาธาตุที่สุพรรณบุรี มีจารึกเป็นลานทองที่เกี่ยวข้องกับการปฏิสังขรณ์ครับ จารึกเหล่านี้ถูกขุดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2456 โดยพระยาสุนทรสงคราม (อี่ กรรณสูตร) ได้ตั้งกองขุดขึ้นมาเป็นทรัพย์สมบัติของราชการ และได้ส่งให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงแปล

โดยจารึกทั้งหมดเป็นลานทอง 3 แผ่น คือ

1.ลานทองเลื่อนสมณศักดิ์
2.ลานทองแต่งตั้งสมณศักดิ์

และชิ้นที่ 3 ที่สำคัญที่สุด กล่าวถึงการซ่อมพระธาตุโดยกษัตริย์พ่อลูก

ลานทอง 1 กล่าวถึงการพระราชทานสมณศักดิ์ให้เจ้านิตรยรัตน เลื่อนเป็นเจ้ารัตนโมลีศรีไตรโลกย เมื่อปีกุน สอบ พ.ศ. แล้วได้ 1986 รัชกาลเจ้าสามพระยา

ลานทอง 2 กล่าวถึง “สมเด็จพระบรมราชาธิบดีศรีมหาจักรพรรดิราช” กับ”พระราเมศวร” มีจิตศรัทธาอนุโมทนาด้วยกับ พุทธฎีกาของพระครูจุฑามณีศรีสังฆราช ในการตั้งมหาเถรสาริบุตรขึ้นเป็นพระมหาเถรปิยทัศศรีสาริบุตร ในปีเถาะ สอบศักราชซึ่งค่อนข้างคลาดเคลื่อนลบเลือนแล้ว น่าจะตรงกับ พ.ศ.1990 ปีสุดท้ายในรัชกาลเจ้าสามพระยา

ลานทอง 3 พบที่ยอดนพศูล

“ขอความสำเร็จจงมี พระราชาแห่งอโยชฌ ผู้ยอดเยี่ยม ที่ประชาชนรู้จักโดยพระนามว่าพระเจ้าจักรพรรดิผู้สูงส่งยอดเยี่ยมพระองค์ใด ทรงให้สร้างพระสถูปนี้ไว้ ณ ที่นี้  บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในพระสถูปองค์นี้ ที่พระจักรพรรดิพระองค์นั้นได้สร้างไว้ ได้ชำรุดทรุดโทรม ไปตามกาลเวลา ต่อมา พระราชโอรสของพระองค์ซึ่งทรงเป็นจอมราชในแผ่นดินทั้งสิ้น ทรงเป็นพระราชาธิราช ทรงให้สร้างอีกตามเค้าเดิม ให้สูงยิ่งกว่าพระสถูปองค์เดิม”

ขอกล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับอายุของพระปรางค์องค์นี้ที่เคยมีผู้เสนอไว้ก่อน

1.คงเดช ประพัฒน์ทอง ผู้แปลจารึกแผ่นที่ 3 กล่าวว่าจากลักษณะรูปอักษร สันนิษฐานว่าน่าจะจารึกขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ 24 ท่านจึงกำหนดไว้ว่า กษัตริย์พ่อลูกนั้น ควรเป็นรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2

2.สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงสันนิษฐานว่า พระบรมราชาธิราชที่ 2 เป็นผู้สร้าง และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเป็นผู้ซ่อม แต่ก็ขัดแย้งกับในจารึก เพราะทั้งสองพระองค์มิได้เป็นพ่อลูกกัน

3.จิตร ภูมิศักดิ์ เสนอว่า คำว่า “จักรพรรดิ” นั้นเป็นชื่อเฉพาะพระองค์ จึงน่าจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาที่ขาดหายไปจากบันทึก แต่ไปปรากฏในเอกสารพม่า ว่ามีกษัตริย์ไทยทรงพระนาม พระจักรพรรดิ ระบุ พ.ศ.1949 ซึ่งไม่มีในเอกสารไทย

4.หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ได้สันนิษฐานว่า เจ้าสามพระยาเป็นผู้สร้างส่วน สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นผู้ซ่อม

5.ประยูร อุลุชาฎะ หรือ น. ณ ปากน้ำ เสนอว่าสร้างก่อนกรุงศรีอยุธยา เช่นเดียวกับอนุวิทย์ เจริญศุภกุล โดยดูจากโครงสร้างของพระปรางค์ โดยเฉพาะเรื่องไม่สอปูน

6.รศ.ดร. สันติ เล็กสุขุม ได้เสนอว่า ลวดลายปูนปั้น ประดับที่องค์ปรางค์นั้น เป็นลายที่มีอิทธิพลจีน คือลายบัวคอเสื้อ ต่างกับลายกรวยเชิงแบบศิลปะขอม ซึ่งลายบัวคอเสื้อนี้ คล้ายคลึงกับวัดจุฬามณี พิษณุโลก ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้าง ส่วนลายกรวยเชิงแบบขอมนั้น ปรากฏอยู่ก่อนหน้านี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ วัดราชบูรณะ อยุธยา

   ดังนั้นจึงเชื่อว่า วัดนี้สร้างโดยสมเด็จเจ้าสามพระยา พระราชบิดาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ผู้ทรงซ่อม โดยลวดลายปูนปั้นนั้น อาจซ่อมในสมัยกษัตริย์ผู้เป็นลูก ซึ่งความคิดนี้ตรงกับมติของคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี

จากจารึกลานทอง อยู่ในสมัยปลายรัชกาลเจ้าสามพระยา จึงอาจเชื่อได้ว่า เมื่อมีการซ่อมในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงอาจจะนำจารึกนี้มาบรรจุลงไปภายหลัง

ส่วนการสร้างพระปรางค์ของเจ้าสามพระยานั้น เชื่อได้ว่า พระองค์อาจต้องการความชอบธรรมในดินแดนสุพรรณบุรี เพราะพระองค์ครองราชย์ได้ด้วยโชคช่วย เนื่องจากเจ้าอ้ายเจ้ายี่ พระเชษฐา ชนช้างจนสวรรคตทั้งคู่ ดังนั้น การสร้างศาสนสถานเหนือดินแดนที่พระเชษฐาคือเจ้ายี่และพระราชบิดา คือเจ้านครอินทร์ ทรงเคยครองก่อนเสวยราชย์ จึงเป็นเหมือนการแสดงความชอบธรรมในบัลลังก์ ซึ่งก่อนหน้านี้พระองค์ไม่มีสิทธิ์



เจ้าสามพระยาอาจทรงให้สร้างวัดนี้ตั้งแต่ต้นรัชกาล เพื่อประกาศความชอบธรรมในฐานะกษัตริย์แห่งอโยธยาพระองค์ใหม่ เช่นเดียวกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ผู้ทรงมีเชื้อสายสุโขทัยทางพระมารดา ย่อมต้องแสดงพระราชอำนาจในดินแดนสุพรรณภูมิ ขุมกำลังเก่าของขุนหลวงพะงั่ว โดยซ่อมวัดนี้ตั้งแต่ต้นรัชกาลเช่นกัน


ลักษณะเหล่านี้อาจส่อให้เห็นนัยทางการเมือง ของรัฐทั้ง 3 สมัยอยุธยาตอนต้น คือ อโยธยา สุพรรณภูมิ และสุโขทัย ซึ่งมีทั้งความขัดแย้ง และความสัมพันธ์ทางเครือญาติกันอย่างใกล้ชิด เมื่อผู้ปกครองคนใหม่ ไม่มีเชื้อสายของอีกรัฐหนึ่ง พระองค์จึงดูเหมือนคนแปลกหน้าในดินแดนนั้น อาจเกิดความกระด้างกระเดื่องได้

ดังนั้นการแสดงออกถึงพระราชอำนาจด้วยการทำนุบำรุงศาสนา ซึ่งเป็นปัจจัยที่รัฐทั้งสามให้ความสำคัญและนับถือเหมือนๆกัน ดูเหมือนจะเป็นกุศโลบายที่แนบเนียนที่จะเรียกคะแนนนิยมของคนในดินแดนเหล่านั้น
บันทึกการเข้า
Natalee
อสุรผัด
*
ตอบ: 37



ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 14 ก.พ. 08, 20:43

1) ใช่ค่ะ ดิฉันเคยอ่านหนังสือของท่านศิลปินแห่งชาติ อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ
ซึ่งท่านสันนิษฐานว่าวัดพระศรีมหาธาตุสุพรรณบุรีสร้างในสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

2) ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ มีฉบับไหนบ้างไหมเอ่ยที่กล่าวถึงพระธาตุองค์นี้?
(เช่นเดียวกับที่จารึกหลักที่ 1 ยังพูดถึงพระอัฎฐารสน่ะค่ะ)


**เอารูปพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ที่นครชุมมาฝากค่ะ


บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 15 ก.พ. 08, 01:01

1 คุณพ่อของแอ๊ดคาราบาว มีสำเนาที่ถูกต้องของจารึกแผ่นทอง
ศิลปวัฒนธรรมเคยนำมาเผยแพร่ ข้อความรับรองการวินัจฉัยของสันติ

2 การสอดินบอกเทคนิค ไม่บอกอายุ  งานสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ยังสอดินครับ

3 การสร้างพระธาตุเจดีย์ ไม่เกี่ยวกับการเมือง
ยิ่งในแง่ให้ประชาชนยอมรับ ยิ่งไม่น่ายอมรับ เพราะเราไม่เคยพรั่นพรึงต่อพลังประชาชน
ไม่เคยมีกบฏชาวบ้าน ไม่เคยมีการลุกฮือ หรือกองทัพชาวนาโค่นล้มกษัตริย์

ถ้าไม่รับ 3 ข้อข้างต้น จะตีความพระศรีรัตนมหาธาตพระองค์นี้ อย่างไร
ศาสนสถานระดับพระศรีรัตนมหาธาตุ ต้องสร้างโดยกษัตริย์เท่านั้น
คุณเจอพระธาตุพิเศษในเมืองของคุณ คุณต้องถวาย
เหมือนที่เจอพระบรามธาตุเมืองน่าน ก็แห่มาถวายรัชกาลที่ 1

พระศรีรัตนมหาธาตุ มีหลักอยู่ที่สร้างพระปรางค์เป็นประธาน
เป็นวัฒนธรรมอยุธยา ไม่ใช่ก่อนอยุธยา
พบที่ ลพบุรี ชัยนาท เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และเชลียง
ผมเชื่อว่า สร้างก่อนพระบรมไตรรวบอำนาจการปกครอง ยกเลิกเมืองเจ้าฟ้า
เปลี่ยนเป็นจตุสดมภ์

เมืองก่อนอยุธยา เช่นคูบัว อู่ทอง ศรีเทพ หรือศรีวัตสะปุระ ไม่มีพระปรางค์เป็นศรีรัตนมหาธาตุ
มักจะเป็นมหาสถูป

สรุปว่า ยังไม่คล้อยตามคุณกุรุกุลาครับ...ฮิฮิ
บันทึกการเข้า
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 15 ก.พ. 08, 01:31

อิอิ...ได้สองคำเหมือนกันคุณป้ากุน  มหาอุตม์  คือโบสถ์ที่เข้าออกด้านเดียว  และฐานไพที

ประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่สอนให้จดจำเท่านั้น  แต่เป็นวิชาที่สอนให้เรารู้วิธีค้นคว้าด้วยเหตุและผล  อ่านไปยิ่งได้ความรู้ครับ  อยากให้มีนักวิชาการมาวิเคราะห์แถบบ้านผมมั่งจังเลย  เรื่องของหลวงพระบาง  ล้านช้าง  เชียงแสน  ศรีโคตรบูรณ์ ฯลฯ... ฮืม
บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 15 ก.พ. 08, 09:51

ไม่ได้กล่าวถึงคุณพ่อของคุณแอ๊ด คาราบาวไปครับ เพราะถึงท่านมนัสจะมีสำเนาของจารึก แต่ท่านก็คำนวณปีศักราชไม่ตรงกับนักษัตร เลยยกไว้เพียงท่านเดียว

ข้อ 2 ผมไม่ได้เชื่อถือท่านอาจารย์ น. ณ ปากน้ำนะครับ ว่าการกำหนดอายุสอดินไม่สอปูนจะต้องเก่าก่อนอยุธยา เป็นเพียงยกข้อเสนอของนักวิชาการต่างๆมาว่าเขาพูดอะไรกันบ้าง

การสร้างพระธาตุเจดีย์มีนัยทางการเมืองด้วยครับ มิฉะนั้นเราคงไม่เจอพระมหาธาตุเชลียงสูงใหญ่ที่สวรรคโลก หรือวัดศรีสะเกษที่เวียงจันท์รอดพ้นจากไฟมาได้เพราะดันไปหน้าตาเหมือนวัดพระแก้ว

ประเด็นการสร้างมหาธาตุทรงปรางค์ที่สุพรรณบุรีย่อมมีนัยแฝงครับ ก่อนหน้านี้ แทบไม่พบพระเจดีย์ทรงปรางค์ในดินแดนบ้านกาญจน์บุรีศรีสุพรรณเลย เท่าที่นึกออกก็มีวัดขุนแผนที่เมืองกาญจน์ ถ้าคุณพิพัฒน์นึกออกก็กรุณาชี้แนะด้วยครับ อย่างไรปรางค์ก็เป็นสัญลักษณ์ของอาณาจักรอยุธยา


ผมเลิกเชื่อประเด็นอาณาจักรใหญ่โตก่อนอยุธยาไปแล้วครับ มันอาจจะมีบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าเห็นอะไรนิดหน่อยก็บอกว่าเป็นของอโยธยา



อ้อ อีกเรื่องครับ ผมคิดว่าเรื่องกบฏชาวบ้านเป็นเรื่องรุ่นหลังมากๆๆๆ ที่อาณาจักรอยุธยาอิ่มตัวเพราะรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางได้แล้ว แต่นี่เป็นเรื่องสมัยอยุธยาตอนต้น อำนาจแฝงยังมีอยู่ในรัฐต่างๆครับ

ไม่อย่างนั้นเราคงไม่มีกษัตริย์ทรงพระนามว่าขุนหลวงพะงั่ว ที่เอาบัลลังก์ไปจากพระราเมศวรหรอกครับ แล้วยังมีอีกหลายองค์ที่พงศาวดารบอกแค่ ออกมาจากสุพรรณบุรี แล้วถอดกษัตริย์อยุธยาออก ราชวงศ์สุพรรณภูมิก็ยังปรากฏชื่ออยู่ครับ
บันทึกการเข้า
Natalee
อสุรผัด
*
ตอบ: 37



ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 15 ก.พ. 08, 10:39

ก่อนหน้านี้ แทบไม่พบพระเจดีย์ทรงปรางค์ในดินแดนบ้านกาญจน์บุรีศรีสุพรรณเลย เท่าที่นึกออกก็มีวัดขุนแผนที่เมืองกาญจน์ ถ้าคุณพิพัฒน์นึกออกก็กรุณาชี้แนะด้วยครับ อย่างไรปรางค์ก็เป็นสัญลักษณ์ของอาณาจักรอยุธยา


อย่าลืมว่ามีพระเจดีย์ทรงปรางค์องค์ใหญ่อยู่บนเขาที่วัด ไม่ไกลจากบ้านดอนตาเพชรมากนัก
ใบเสมายังอยู่ครบครัน 

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 20
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.093 วินาที กับ 20 คำสั่ง