เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3]
  พิมพ์  
อ่าน: 38254 ลิลิตพระลอ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 11 ก.พ. 08, 20:33

รูปที่ ๑ ไม่ใช่ 
รูปที่ ๒ และ ๓  ใช่ค่ะ มาจากเรื่องพระลอ   รูปที่ ๒ ตอนพระลอตามไก่   รูปที่ ๓  ถึงสระบัวยั่วยอพระลอลักษณ์
อีกค.ห.หนึ่ง ร่องรอยของลิลิตพระลอว่าแต่งในสมัยไหน  มองเห็นเค้าเงื่อนได้จาก"ร่าย" ตอนเริ่มต้นเรื่อง

มาจากขุนช้างขุนแผน น่าจะเป็นตอนขุนแผนเข้าห้องนางแก้วกิริยา

อ้างถึง
... รอนลาวกาวตาวตัดหัว ตัวกลิ้งกลาดดาษดวน ฝ่ายข้างยวนแพ้พ่าย ฝ่ายข้างลาวประไลย ฝ่ายข้างไทยไชเยศร์ คืนยังประเทศพิศาล สำราญราษฎร์สัมฤทธิ พิพิธราชสมบัติ พิพัฒนมงคล สรพสกลสิมา ประชากรเกษมสุข สนุกทั่วธรณี พระนครศรีอโยธยา มหาดิลกลภ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมยศโยคยิ่งหล้า ฟ้าฟื้นฟึกบูรณ์ ฯ


มีศึกอยุธยากับเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่งที่ดิฉันเห็นว่าเข้าเค้ามากกว่า คือสมเด็จพระนารายณ์ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๕ แล้วมีชัยชนะ 
ที่คิดว่าเป็นศึกสมัยพระนารายณ์ก็เอาภาษาในลิลิตพระลอวัดอีกละค่ะ   เรารู้ว่าลิลิตยวนพ่ายแต่งเฉลิมพระเกียรติสมัยพระบรมไตรโลกนาถทำศึกกับพระเจ้าติโลกราช
ถ้าเอาภาษามาเทียบดู  ภาษาในยวนพ่าย เก่ากว่าลิลิตพระลอมากค่ะ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 12 ก.พ. 08, 09:43

     รูปที่ ๑ เป็นรูปที่เขียนขึ้นมาคล้ายกับภาพพระเพื่อน พระแพงของอ.จักรพันธุ์ ครับ

และ รูปสุดท้ายเป็นเช่นที่อาจารย์ว่า ขุนแผนชมโฉมนางแก้วกิริยา ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ครับ

      เจ้าร่างน้อยนอนนิ่งบนเตียงต่ำ        คมขำงามแฉล้มแจ่มใส

คิ้วคางบางงอนอ่อนละไม                    รอยไรเรียบรับระดับดี

         นึกถึงดรามาหนักๆ ก็นึกถึงเรื่องกรีก ไทยเรามีเรื่องตำนานพระยากง พระยาพาน ที่ช่างเหมือนกันกับอีดิปุส

บันทึกการเข้า
Natalee
อสุรผัด
*
ตอบ: 37



ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 12 ก.พ. 08, 10:13

ใช่ค่ะ เนื้อเรื่องของ Oedipus the King คล้ายตำนานพระยากง พระยาพาล มากๆ
(พระยาพาลน่าจะใช้ 'ล' สะกด เพราะหมายถึงคนพาล)

ผิดกันที่ Oedipus ต้องคำสาปที่ว่า "You shall kill your father and marry your mother".
และกรรมบันดาลให้ทำผิดครบสูตร คือได้แม่เป็นเมียแล้ว

แต่พระยาพาลแค่ 'เกือบ' ได้แม่เป็นเมีย



สำหรับรูปขุนแผนเข้าห้องนางแก้วกิริยา ดิฉันมองไม่ออกเพราะไม่คิดว่าพ่อแผนของเราจะเหมือน 'ศรราม'
นั่งยิ้มเผล่ ตัวขาวจั๊วะเป็นหยวกกล้วย

ดิฉันจินตนาการว่าขุนแผนแสนสนิทผิวสีทองแดง เหมือนเรื่องขุนศึกอะไรทำนองนั้น
แหม ไม่น่าจะรูปงามยังกับ...'องค์อินทร์ หยาดฟ้ามาสู่ดิน โสภิณดังเดือนดวง'   ให้ตายซีคะ
อาจารย์จักรฯ ท่านจินตนาการไกลไปหน่อย คุณว่ามั้ย




บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 12 ก.พ. 08, 10:36

ตามตำนานใช้ว่าพระยาพานนะครับ ไม่เคยได้ยินฉบับไหนใช้ว่าพระยาพาล

มีเรื่องว่าตอนเกิดใช้พานรับ หน้าผากโดนพานเป็นรอยจึงได้ชื่อว่าพระยาพาน เป็นพล็อตสำคัญในเรื่อง เพราะยังใช้เป็นหมายในการจดจำกันต่อไปอีก

ชื่อบุคคลอื่นที่ปรากฏในตำนานก็เช่น พระยากง ยายหอม ก็ไม่มีวี่แววว่าจะเป็นชื่อแขกแต่อย่างไรด้วยครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 12 ก.พ. 08, 11:28

ลิลิตยวนพ่ายมีลงในอินเทอร์เน็ตไหมคะ  อยากจะเอาตัวอย่างมาเทียบกับลิลิตพระลอเพื่อดูความเก่าของภาษา
หาหนังสือวรรณกรรมสมัยอยุธยาเล่ม ๑ ในตู้หนังสือไม่เจอ  เลยไม่มียวนพ่ายมาลงให้เห็นกัน

พูดถึงความคล้ายกันของตำนานหรือวรรณคดี  ก็มีหลายเรื่องที่ยังชี้เฉพาะไม่ได้ว่าเป็นการถ่ายทอดข้ามอารยธรรม หรือวัฒนธรรมต่างถิ่นหรือเปล่า
หรือเป็นแค่ความบังเอิญ
เช่นพล็อตแม่เลี้ยงใจร้ายกับลูกเลี้ยงสาวที่ถูกกดขี่ข่มเหง แต่ได้ดีในตอนจบ อย่างปลาบู่ทอง และซินเดอเรลลา
พญากงพญาพาน และ Oedipus
รามเกียรติ์กับมหากาพย์ Iliad  ว่าด้วยการลักพามเหสีของกษัตริย์ ที่ก่อสงครามใหญ่ระหว่างสองอาณาจักร
พระลอ และ Romeo and Juliet
บันทึกการเข้า
Natalee
อสุรผัด
*
ตอบ: 37



ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 12 ก.พ. 08, 11:53

1) ตัวอย่างลิลิตยวนพ่าย

พรหมพิศณุบรเมศวร์เจ้า....จอมเมรุ มาศแฮ
ยมเมศมารุตอร.............อาศน์ม้า
พรุณอัคนิกุเพนทรา.........สุรเสพย์
เรืองรวิวรฟ้าจ้า..............แจ่มจันทร


นานาอเนกด้าว.............เดิมกัลป์
จักร่ำจักราพาฬ............เมื่อไหม้
กล่าวถึงตะวันเจ็ด..........อันพลุ่ง
อันพลุ่งน้ำแล้วไข้..........ขอดหาย

เจ็ดปลามันพลุ่งวาบ........เป็นไฟ
วาบจตุราบาย..............แผ่นขว้ำ
แผ่นขว้ำชักไตรตรึงษ์......เป็นเผ้า
เป็นเผ้าแลบล้ำ.............ลีลอง


2) ตัวอย่างทวาทศมาส โคลงดั้น

กรจบบทมาศไท้.......ธาศรี ศากยแฮ
หัตถ์บังคมฟูมไนย.....เลือดย้อย
บวงสรวงสุมาลี.........นานไฝ่ สมแฮ
เดือนใฝ่หาละห้อย.....ใฝ่หา

รายนุชเป็นเนตรล้า.....เป็นองค พี่แม่
จับจึงมาข่มเข็ญ........ขึ้นไส้
รลวงพิไลจง............จักแม่ ดยวแม่
เดือนแปดแปดยามไห้..ร่ำโหย
.
.
.

สหัสสสุริเยศเรื้อง..........รังสี
ผลาญแผ่นไตรภพสรรพ...เศกไม้
กำเดากำดาลตรี...........ภพนาศ
ร้อนไป่ปานน้องไท้........จากจร

เวหาผผ่าวเพี้ยง............พันแสง
เรียมรัญจวนใจจอม........จิ่มหล้า
อาดูรคละแลงแสดง........แสนโศก
แสนพระเมรุไหม้ฟ้า........ไป่ปาน

ถอดความเป็นร้อยแก้ว (โดย อ.เปลื้อง ณ นคร) ว่า

แสงอันร้อนแรงแห่งดวงอาทิตย์นั้น
อาจเผาผลาญภพทั้งสามและสรรพสิ่งให้พินาศไปได้
อันว่าความเร่าร้อนที่ภพทั้งสามเมื่อจะพินาศ
เมื่อถูกแสงพระอาทิตย์เผาผลาญนั้น
ก็ยังไม่เสมอความเร่าร้อนของข้า
ที่บังเกิดยามที่ต้องพลัดพรากจากนางไป

อันท้องฟ้าที่ร้อนราวกับถูกเผาไหม้ด้วยแสงอาทิตย์นั้น
ก็เสมอกับความร้อนของข้า
ผู้มีความรัญจวนใจถึงนาง
ผู้เป็นยอดแห่งโลก
อันความระทมสุดโศกของข้านั้น
แม้เขาพระเมรุตั้งแสน และท้องฟ้าจุถูกพระเพลิงเผาไหม้
ก็ยังไม่เท่าความร้อนในหัวใจของข้า(เมื่อยามที่ต้องพรากจากเจ้า)



3) มีหลายเวบเหมือนกันค่ะ ที่เล่าว่าตำนานพระยาพาล หมายถึงคนพาล
เป็นแค่ตำนาน ก็สงสัยเหมือนกันว่าอันไหนแน่
http://variety.thaiza.com/detail_11924.html
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 12 ก.พ. 08, 12:22

อ้า... ยวนพ่ายที่คุณ Natalee ยกมา โคลงดั้นบทแรกน่ะใช่ แต่อีกสองบทนั่นเป็นโองการแช่งน้ำนะครับ

เข้าใจว่ายังไม่มียวนพ่ายออนไลน์อยู่ ผมพิมพ์ไว้แค่ตอนต้น แค่บทสรรเสริญ ยังไม่เข้าสงคราม ขอแปะไว้แล้วกันครับ เผื่อใครจะมาพิมพ์ต่อ ตัวสะกดตามฉบับบรรณาคารนะครับ ยังไม่ได้สอบทาน

ลิลิตยวนพ่าย

ศรีสิทธิสวัสดิ ชยัศดุมงคล
วิมลวิบูลย์ อดูลยาดิเรก
เอกภูธรกรกช ทสนัขสมุชิต
วิกสิตสโรโชดม บรมนบอภิวาท
บาทรโชพระโคดม สํนุพระสัทธรรมมงทิตย
บพิตรมหิทธิมเหาฬาร มหานดาธยาศรย
หฤทยวรงค์ ทรงทวดึงษมหาบุรุษลักษณ
อัครอัษโฎษดร บวรสัตมงคล
อนนตญาณอเนก อเศกษาอภิต
อสิตยานุพยญชนพิรญชิต ฉายฉัพพิธรงงษี
พยงรพีพรรณ จันทรโกฏิ
โชติสหรรสชัชวาล วิศาลแสงรุกเร้า
เท้าหกท้องฟ้า หล้าสี่สบ
ดารนพมณฑล สรณาภิวนทนสัทธรรมาคม
อุดํมาภิวันทอรรษฎารยาภิวาพ อาทิยุคขุกเข็ญเป็นกรลีกรลำพร
ธรณิดลจลพิจลต่างต่าง พ่างจะขว้ำทงงสี่หล้า
ฟ้าทงงหกพกหงาย รสายสยบภพมณฑล
ในกษณน้นน บ้นนพรหมพิษณุ
อิศวรอดุลเดช เหตุบพิตรคิดกรุณา
ประชาราษฎร อยยวจพินาศทงงมูล
สูญภพสบสิ่ง ธจิ่งแกล้งแส้งสรวบรวบเอา
อัษเฎามูรรดิมามิศร ด้วยบพิตรเสร็จ
ก็เสด็จมาอุบัติในกระษัตรี ทวีดิวงษอภิชาต
รงับราชรีปู ชูแผ่นดินให้หงาย
ทายแผ่นฟ้าบให้ขว้ำ ล้ำกรัณฑรัตนวัดถวี
ตรีโลกยบให้อูณห หนุนพระพุทธศาสนให้ตรง
ดำรงกษัตรให้กรสานต ประหารทุกขให้กษย
ขยเกษตรให้เกษมเปรมใจราษฎร กำจรยศโยค
ดิลกโลกยอาศรย ชยชยนฤเบนทราทรงเดช
ฦๅล่งดินฟ้าฟุ้งข่าวขจร ฯ

พรหมพิษณุบรเมศเจ้า จอมเมรุ มาศแฮ
ยำเมศมารุตอร อาศนม้า
พรุณคนิกุเพนทรา สูรเสพย
เรืองรวีวรจ้า แจ่มจันทรา ฯ

เอกาทสเทพแส้ง เอาองค์
เปนพระศรีสรรเพชญ ที่อ้าง
พระเสด็จดำรงรักษ ล้ยงโลกย ไส้แฮ
ทุกเทพทุกท้าวไหง้ว ช่วยไชย ฯ

พระมาสลายโศกหล้า เหลือศุข
มาตรยกไตรยภพฤๅ ร่ำได้
พระมาบันเทาทุกข ทุกสิ่ง เสบอยแฮ
ทุกเทศทุกท้าวไท้ นอบเนือง ฯ

พระมายศยิ่งฟ้า ดินชม ชื่นแฮ
มาแต่งไตรรัตนเรือง รอบหล้า
พระมาสมสัภาร เพญโพธิ ไส้แฮ
ใครแข่งใครข้องถ้า ถ่องเอง ฯ

พระมาคฤโฆษเรื้อง แรงบุญ ท่านนา
ทุกท่ววดินบนเกรง กราบเกล้า
พระเสด็จแสดงคุณ ครองโลกย ไส้แฮ
เอกษัตรส้องเฝ้า ไฝ่เห็นขอเห็น ฯ

พระมาเพญโภคพ้น ไพศรพ โสดแฮ
ภูลบ่อเง็นทองทงง บ่อแก้ว
พระมาเกอดเกษมภพ ทังสี่ เสบอยแฮ
มาสำแดงกล้าแกล้ว เกลื่อนรณ ฯ

พระมามล้างท้าวท่วว ธรณี
อันอาจเอากลเอา ฬ่อล้ยง
พระมาก่อภูมี ศวรราช
อันอยู่โดยยุคดิพ้ยง พ่างอารย์ ฯ

พระมาแมนสาธุส้อง ถวายพร เพิ่มแฮ
มาสำแดงชยชาญ ช่ยวแกล้ว
พระมามารบาลบร ทุกทวีป ไส้แฮ
มาสำแดงฤทธิแผ้ว แผ่นดิน ฯ

พระเสด็จแสดงดิพรแกล้ว การยุทธ ยิ่งแฮ
มาสำแดงสิทธิศิลป เลอศล้น
พระมายิ่งแมนรุทธิ เรืองเดช
มาสำแดงยศพ้น แพ่งถมา ฯ

พระมาทุกเทศท้ยน มาคลล
มาผ่านภูวมาผาย แผ่นหล้า
พระมาก่อธรรมา ครองโลกย
มาสืบสีมาข้า ข่มเขญ ฯ

พระมายศโยคพ้น พรหมา
มาพ่างมาพาเปน ปิ่นแก้ว
พระมาทยบทยมสมา ธิปราชญ เพรงแฮ
มาทยบมาทบแผ้ว แผ่นไตร ฯ

เอกัตวเอกาดมล้ำ  เลอกษัตร ท่านฤๅ
เอกทยาศรยแสวง ชอบใช้
เอกาจลดำรงรักษ รองราษฎร์ ไส้แฮ
เอกสัตวเกื้อให้ ส่างศัลย ฯ

ทวิบททวิชาติเชื้อ สุรยวงษ ท่านฤๅ
ทวิคุณาธิกธรรม์ เลอศล้น
ทวีพิธทวีธารทรง สุรยเสพย ไส้แฮ
เทวภาพเทวหกพ้น แว่นไว ฯ

ไตรตรัสไตรเทพเรื้อง ไตรรัตน
ไตรโลกยไตรไตรภพ ท่ววแท้
ไตรไตรปิฎกตรัส ไตรเทพ
ไตรท่ววไตรพิธแปล้ ปล่งชาญ ฯ

ตรีศรีตรีเนตรต้าน ตรีศักดิ ก็ดี
ตรัสท่านตรัสปานตรัส ท่านได้
ไตรตรึงษ์คดีตรัส ไตรถ่อง
ตรีโทษตรีคุณไท้ เลอศฦๅ ฯ

จตุรทฤษฎิธรรมถ่องแจ้ง จตุรา
คมจตุรคุณฤๅ กีดก้นน
จตุราคมารักษ จตุรโลกย
แจ้งจตุรยุคช้นน ช่องกัลป ฯ

จตุรมรรคยลโยคแจ้ง จตุรพิธ เพรอศแฮ
แจ้งจตุรพรรค ฬ่อล้ยง
จตุราพุทธทิศ จตุรเทศ
แจ้งจตุรภักตรพ้ยง พ่างอารย ฯ

จตุโรบาเยศแจ้ง จตุรงค์
แจ้งจตุฤทธิฌาณ ท่ววแท้
จตุราริยสัตยทรง ทายาท
แจ้งจตุรผลแก้ ยวดชาญ ฯ

เบญจาวุทธาษฎรบ้นน เบญจางค
เบญจมารเบญญา ผ่าแผ้ว
เบญจาพิชานาง คฌาเณศ
เบญจนิวรณแร้วร้าง ร่างเหน ฯ

เบญเจนทริเยศบ้นน เบญจา
นันตรียเบญจัก ไปล่เปลื้อง
เบญจปรการณา พิธมารค ก็ดี
เบญจยศน้นนเรื้อง รวดพรหม ฯ

เบญจปรสาทบ้นน เบญจัศ
สกนธเบญจารมภฤๅ ร่ำได้
แจ้งเบญจพยัคณ เลอศนิ ก็ดี
เบญจพิมุดดีท้าวไท้ ถี่แถลง ฯ

ษัฎคุณกษัตรเตรศได้โดยอรรถ ถ่องแฮ้
ษัฎเหตุษัฎพัศดุแจง แจกถ้วน
ษัฎทวารษัฎเคา รพยสาธุ ไส้แฮ
ษัฎนิวรเว้นล้วน เผื่อผล ฯ

ษัฎสารนิยารถรู้ ฤๅมี อยดนา
ษัฎบดลดยงดล คอบเคื้อ
ษัฎพิธรงงษี เสาวภาคย
ษัฎสมยแก้วเกื้อ เกิดเกษม ฯ

สับดานุสรยาฆรไท้ ถาแถลง ถ่องพ่อ
สับดเสกษาเปรม ปราชญแปล้
สับดครหาแสวง สับด่าห
สับดนิรัชแก้ถ้วน ถ่องอรรถ ฯ

สับดนัคสับดพ่าหพร้อง สับดสินธุ
สับดสิทนนดรแจง แจกแจ้ง
สับดทักขิณยล บัดธเนศ ก็ดี
สับดวิสุทธไท้แกล้ง ก่อผล ฯ

อัษฎโลกุดดเรศเรื้อง อัษฎฌาน
อัษฎมงคลใคร ทยบไท้
อัษฎโลภาศดารยัษฎ พิบาก ก็ดี
อัษฎเบญญาได้ ช่ยวชาญ ฯ

อัษฎามิถยาภาคแม้ เมธา ท่ยงแฮ
อัษฎกษิณอานอรรถ กล่าวแก้
อัษฎโลกธรรมา ศรยสาธุ ไส้แฮ
อัษฎมัคธไท้แท้ ท่ยงฌาน ฯ

นพสับดาวาศรู้ รองสบ สิ่งแฮ
นพรูปรยงนพมาน ล่งล้วน
นพโลกุดรจบ คุณโทษ ก็ดี
นพสงษกายแก้ถ้วน ถี่แถลง ฯ

ทสพิธธรรโมชแท้ ทศสกนธ
ทศพัสดุแสดงทศ เกลศกล้วว
ทศกายพลทศ พลภาคย ก็ดี
ทศอศุภหม้ววห้อม ห่อสกนธ ฯ

ทศกุศลใสสาครแท้ ทศธรรม์
ทศกุศลทศกษิณ สืบส้าง
ทศบารมีสรร เพชญก่อ กลพ่อ
ทศโกรธพระเจ้ามล้าง เน่งนอน ฯ

ทศบุญพระแต่งต้งง แสวงสวะ บาปแฮ
ทศนิชรยล ยิ่งผู้
ทศญาณทศพัศดุ ยลโยค ไส้แฮ
ทศรูปพระเจ้ารู้ รอบรยง ฯ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 15 ก.พ. 08, 01:46

เรื่องพญากง-พญาพาน นี้ เคยทราบมาว่า เป็นนิทานที่เอาชื่อตัวละครมาจาก ช่วงชีวิตตอนต้นของพระกฤษณะครับ

ในวัยเยาว์ พระกฤษณะเป็นเด็กเลี้ยงวัว (โคบาล) จึงมีนามเรียกขานพระองค์ว่า บาลกฤษณะ (พาลกฤษณะ) ชื่อนี้ เป็นต้นเค้าของชื่อ "พญาพาน"

ส่วนพญากงนั้น เป็นชื่อของยักษ์ที่ถูกพระกฤษณะปราบ (จำไม่ได้ว่า ชื่ออะไรครับ แต่มีเค้าของคำว่า กง อยู่) ผมลืมเรื่องราวไปหมดแล้วเนื่องจากห่างเอกสารมาหลายปี

ส่วนโครงเรื่องนั้น คล้ายกับ Oedipus เหมือนที่ อ.เทาชมพู กับคุณ Natalee ได้กล่าวไปแล้ว

ผมไม่ทราบเหมือนกันว่า ทางอินเดียเอง มีนิทานที่มีโครงเรื่องคล้ายๆ กันแบบนี้ด้วยหรือเปล่า แต่คุ้นๆ อีกว่า พญากง ฆ่าบิดาตัวเอง เพื่อครองราชย์ (อาจจำผิดนะครับ อิอิ)

ุุ---------------------------------

ส่วนเรื่องพระลอนี้ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เคยให้ความเห็นไว้ว่า ราชวงศ์ของพระลอ เป็นลูกหลานของขุนเจือง (พญาเจื๋อง) ที่ได้มาปกครองเมืองแพร่ เรื่องนี้เลยกลายเป็นตำนานเมืองแพร่ ผมไม่ทราบเหมือนกันว่า ทางเอกสารเก่าๆ หรือ นิทานเก่าๆ ของทางเมืองแพร่จะมีการกล่าวถึงเรื่องพระลอด้วยหรือไม่

บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 15 ก.พ. 08, 11:03

คุณธนิต ท่านให้มหาแสงแปลไว้
ถ้าจำไม่ผิด อยู่ในเรื่องพระปฐมเจดีย์ เรื่องพระยากงส์...กระมัง

เรื่องขุนเจื๋องเป็นต้นตระกูลพระลอนี้เห็นจะลับลมคมในไปหน่อย
เอาว่าโครงเรื่องที่ ตัวเอกทิ้งเมียไปหาเจ้าหญิงเมืองอื่น
เพียงเพราะได้ยินคำพรรณา
แล้วลงท้ายตายทั้งหมด

มีปรากฏในที่ใดบ้าง ใครทราบครับ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 15 ก.พ. 08, 13:20

ตอนเรียน อาจารย์เคยบอกว่าเรื่องพระลอ มาจาก" แถนลอ"   จำได้แค่นี้ค่ะ
นึกขึ้นมาได้  ไปหาในกูเกิ้ล   พบว่ามีอาจารย์พูดถึงวรรณกรรมท้องถิ่นเรื่องนี้เหมือนกัน
http://www.thai-folksy.com/L2Qua/L61-90/62-L2Q.htm

ดิฉันลอกข้อความไม่ได้ ต้อง copy ลงทีละส่วน  คุณอาชาผยองทำให้เองหมด เลยขอลบส่วนของดิฉันทิ้งไม่ให้เปลืองหน้านะคะ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 15 ก.พ. 08, 14:18

 พื้นดำอ่านแล้วปวดตา ขออนุญาตคัดลอกมาลงดังนี้นะครับ
   

    วรรณกรรมสองแคว ตอนที่ 62 เรื่อง วรรณกรรมท้องถิ่น : เรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง
    ออกอากาศวันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม 2546 โดย รศ.ดร.ประจักษ์ สายแสง, ดร.ทิวารักษ์ เสรีภาพ

    สืบค้นเพิ่มเติม

    * ดองดึง

       สวัสดีครับท่านผู้ฟังที่เคารพ รายการวรรณกรรมสองแคว กลับมาพบกับท่านอีกครั้งหนึ่ง ผมนายประจักษ์ สายแสง ดำเนินรายการครับ

         ผมได้รับจดหมายและดีใจมากครับ คิดว่าจะไม่ค่อยได้แล้วระยะหลังนะครับ จดหมายนี้เขียนมาถามว่า เอ่อ วรรณกรรมเรื่อง "เจ้าสามลอ" นั้นเป็นประการใด นะถามว่าเจ้าสามลอเนี่ยเป็นเรื่องอะไร แล้วเกี่ยวข้องกับพระลอหรือเปล่า ขอให้โยงดูว่ามันเกี่ยวข้องไหม นั่นเป็นคำถามที่หนึ่ง

         แล้วคำถามที่สอง อันนี้เค้าไม่เรียกคำถามนะอันที่สองเนี่ย ท่านที่เขียนมาเค้าเรียกว่าเป็นคำขอ บอกว่า ขอให้ช่วยพูดถึงเรื่องพระลอ โดยที่อย่าให้เหมือนกับที่ เอ่อ เรียนกันมา

         โอ...อันนี้ก็คงพูดยากนะท่านนะ แต่ก็จะพูดให้ฟังอะนะ ไม่ให้เหมือนที่เรียนคือไม่เอา อ่า.. ไม่พูดว่าเป็นลิลิตมีบทนั้น หมายความอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ ก็พูดได้ครับ เอ้าตกลงเป็นอันสองอย่าง เดี๋ยวผมรับไว้ทั้งสองประการ

         เรื่องแรกก็คือเรื่องของเจ้าสามลอ อ่า อันนี้ เรื่องเจ้าสามลอเนี่ยนะครับ เท่าที่ผมจำได้เนี่ย มีคนเขียนถึงเรื่องนี้อยู่สองท่าน ท่านแรกเนี่ยดูจะเป็นหม่อมเจ้าจันจิรายุ รัชนี เดี๋ยวนี้ท่านสิ้นไปแล้ว ท่านจันนี้ก็เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาลัยเชียงใหม่

         ท่านจันท่านบอกว่าพระลอและเจ้าสามลอนั้นเนี่ยนะ ท่านว่าเป็น เป็นคนคนเดียวกัน และก็เป็นคนคนเดียวกันกับแถนลอ เป็นคนคนเดียวกะแถนลอในเรื่องท้าวฮุ่ง และก็เป็นคนเดียวกันกับขุนลอ ในพงศาวดารล้านช้างด้วย ไม่ใช่ชื่อพ้องกันเท่านั้น แต่เป็นคนคนเดียวกัน นี่ท่านจันท่านว่าอย่างนั้นนะครับ ท่านจันจิรายุ รัชนีท่านว่าอย่างนั้น

         คราวนี้ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เขียนโดย ฮาโรล์ ยัง นะฮะ มิสเตอร์ฮาโรล์ ยัง เขียนเรื่อง เอ่อ เดอะสตอรี่ อ๊อฟเจ้าสามลอแอนด์นางอู่ปิม อ่า ผมอาจจะอ่านตัว ตัวเสียงตัวนี้ไม่ชัดหรือประการใด นางอู่ หรือ อู เนี่ยนะ แต่ผมอ่านอู่นะ อู อู เนี่ย หรือจะเป็นนางโอปิมอะไรก็แล้วแต่เถอะ อู อู เนี่ย หรือจะเป็นนางโอปิมอะไรก็

         แล้วในเรื่องนี้บอกว่า เอ่อเจ้าสามลอเนี่ยเป็นบุคคลมีตัวตนจริง ๆ นะครับ อยู่ในประเทศเมียนม่า เอ่อ อยู่ในพม่าเนี่ยครับเมียนม่า โดยอยู่ในรัฐฉาน อยู่ในรัฐฉานของพม่าอยู่ในชานสเตรสของพม่าเนี่ย

         แล้วก็เจ้าสามลอคนนี้นะครับ เป็นพ่อค้าเมี่ยงท่าน พ่อค้าเมี่ยง เมี่ยงแบบภาคเหนือนะครับ เมี่ยงภาคเหนือเป็นใบเมี่ยงคล้ายเก็บเอาใบเมี่ยงมา แล้วก็ล้างสะอาด จากนั้นเค้าก็ย่ำอย่างดีนะครับ แล้วเอาหมักไว้แล้วก็เป็นใบเมี่ยง มีรสเปรี้ยว ๆ อมขมเล็กน้อย เวลาจะเอามาอมก็อมกับเกลือทะเลอะไรทำนองเนี่ย นั่นนะน่ะ เมี่ยง เมี่ยง ในที่นี้ ไม่ ไม่ได้หมายถึงเมี่ยงคำที่เรา เอ่อ..รับประทานกัน ที่มีใบชะพลูอะไร ไม่ใช่นะครับคนละอย่าง

         เอ้า ๆ ย้อนกลับมาเจ้าสามลอเนี่ยเป็นพ่อค้าเมี่ยง เนี่ยใบเมี่ยงที่อมเนี่ยแหละ ก็บ้านเจ้าสามลอจะอยู่ที่เมือง เมืองก๋วง เอ้อ..หลายคนอ่านเป็นเมือง กึ๋ง นั่นนะ ผมพยายามอ่านเป็นเมืองก๋วง แต่ก็มีคนที่เชี่ยวชาญด้านนี้อ่านเมืองกึ๋งนะ อาจารย์ไปเขียน อาจารย์อ่านก๋วงได้ไง เอ้า เมืองก๋วง หรือเมืองกึ๋งก็แล้วแต่เถอะในรัฐฉานของพม่าเนี่ย

         เจ้าสามลอเนี่ย มักจะเดินทางจากเมืองของตัวเนี่ย ไปทางตะวันตก เพื่อไปซื้อ ไปซื้อเมี่ยงที่เมืองทองพัง ชื่อเมืองทองพัง นี่เอ่อนิสิตคนหนึ่งบอกว่า เขียนอย่างนี้ให้อ่านว่าเมืองตองแปง อาจารย์อย่าไปอ่านว่าเมืองทองพัง ก็ผมว่าเมืองตองแปงกับเมืองทองพังนี่จะต่างกันไหม แต่ผมว่าอ่านเป็นทองพังนั่นน่ะนะฮะ เป็นอันว่าเถอะผมอ่านว่า จากภาษาอังกฤษฉบับนี้น่ะ

         เจ้าสามลอเนี่ย เดินทางจากเมืองก๋วงเนี่ย ไปซื้อเมี่ยงที่เมืองทองพัง จากนั้นจึงเดินทางไปที่เมืองเชียงทอง เมืองเชียงทองก็อันนี้อีกแหละ นิสิตก็บอกว่าเค้าอ่านว่าเมืองกิงต๋องอาจารย์ พอดีคนนี้เค้ามาจากทางแม่ฮ่องสอน เค้าอ่านกิงต๋องอ่ะ อาจารย์ไปอ่านเป็นเมืองเชียงทองได้ไง มันก็คล้ายกันแหละ เมืองเคงตุ้ง เรายังอ่านเชียงตุ้งเลยนะท่านนะ เคงเนี่ย จริง ๆ มันอ่านเป็นเชียงเนี่ยแหละ เนี่ยนะอ่านเป็นเคงอ่ะ

         ผมสรุปก็แล้วกันว่า เจ้าสามลอเนี่ยเดินทางจากเมืองก๋วง ไปซื้อเมี่ยงที่เมืองทองพัง แล้วจากนั้นจึงเดินทางไปที่เมืองเชียงทอง จากนั่นได้ไปพบ อ่า.. นางอูปิมเนี่ย อูปิม โอปิมเนี่ย ไปพบกับนางอูปิมเนี่ย

         ฟังนะ เจ้าสามลอพบกับนางอูปิม อูปิมเป็นนางเอกเรื่องนี้นะท่านนะ ไปพบกัน รักกันมากทีเดียว ก็เลยแต่งงานกับนาง เนี่ยแต่งงานโดยไม่ได้ขออนุญาตแม่นะ เพราะแม่ก็หา หาผู้หญิงไว้ให้อยู่แล้วอ่ะ แต่ปรากฏว่าทำอย่างไรได้ล่ะความรักน่ะ เจ้าสามลอก็ไปพบรักกับนางอูปิมเข้าก็เลยแต่งงานกับอูปิม แล้วก็พานางกลับมาอยู่ด้วยที่เมือง เมืองก๋วงเนี่ยแหละ

         พอกลับมาแค่นั้นแหละครับเกิดเรื่องทันทีเลย แม่ของเจ้าสามลอ แล้วก็คนที่ที่แม่หาไว้ให้เจ้าสามลอสำหรับจะแต่งงานอ่ะ เป็นผู้หญิงสวยทีเดียวเลยล่ะ ชื่อนางอูแปมน่ะ

         นางคนนี้ก็ชื่อเหมือนคนนั้นจริง คนนั้นชื่อนางอูปิม คนนี้ชื่อนางอูแปม นางอูแปมเนี่ย แม่ก็หมายจะให้แต่งงานกับเจ้าสามลอแหละครับ แต่เจ้าสามลอก็ไปแต่งงานกับนางอูปิมซะแล้ว แล้วยังพานางอูปิมกลับมาด้วย

         ทั้งแม่ทั้งผู้หญิงที่แม่จัดหาไว้ให้ก็โกรธซิครับ ธรรมดาเมื่อโกรธก็หาทางกลั่นแกล้งอยู่ตลอด กลั่นแกล้งนางอย่างนั่นอย่างนี้ นางในที่นี้ก็คือนางอูปิมเนี่ยนะ นางเอกเนี่ยแหละ ถูกกลั่นแกล้ง

         จนครั้งหนึ่งเจ้าสามลอเนี่ยไม่อยู่ เจ้าสามลอไปหาซื้อเมี่ยง เพื่อจะเอาไปขาย ก็เป็นพ่อค้า ก็ปล่อยให้น้องอูปิมเนี่ยอยู่บ้าน อยู่บ้านกับแม่ของตัว อยู่กับเอ่อผู้หญิงที่แม่หาไว้ให้ตัวนั่นแหละครับ พออยู่แค่นั้น พวกนี้เค้าก็พากันกลั่นแกล้ง จนกระทั่งนางอยู่ไม่ได้

         แปลว่าเดือดร้อนแสนสาหัสน่ะ ธรรมดานะครับ คับที่อยู่ได้คับใจอยู่อยาก นางอูปิมก็ไม่อยู่หรอก พอไม่อยู่ก็พาลูกน้อยน่ะ มีลูกแล้วนะ มาอยู่กับเจ้าสามลอจนมีลูก พาลูกน้อยซมซานกลับไปเมืองเดิม เมืองเชียงทอง

         พอกลับไปถึงเมืองเชียงทองแล้ว สองแม่ลูกนี้ก็ตรอมใจตาย โอโห... ตายง่ายตายดายจริง ธรรมดานะครับคนถ้าติ๊งต่างว่าตรอมใจเนี่ย ตายง่ายนะท่านนะ จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าวน่ะ เสียอกเสียใจ ถูกกลั่นแกล้งมา เลยพรากจากสามีหนีมาเองน่ะ แล้วก็มาตายทั้งลูกทั้งแม่

         เมื่อเจ้าสามลอ กลับมาถึงบ้านก็ตกใจรีบตามนางไป ก็ไปพบศพ เออ โศกนาฏกรรมนะเนี่ย ไปพบศพของทั้งภรรยาทั้งลูก เจ้าสามลอก็เสียใจมากเลย เสียใจเลยฆ่าตัวตายตามไปด้วย

         โศกนาฏกรรมเหมือนกันนะเนี่ยนะ เรื่องพระลอเราเกิดจากเจ้าย่า นี่ไม่ใช่ นี่เกิดจากแม่ของตัว จนกระทั่ง เอ่อ... ภรรยากะลูกต้องหนีไป แล้วไปตายทั้งคู่ เจ้าสามลอตามไปพบเข้า พบศพของภรรยา พบศพของลูก ก็เลยฆ่าตัวตามไป

         ก็เป็นเหตุให้เทวดาเนี่ย เทวดาจึง อ่า... บันดาลให้ลูกของเจ้าสามลอ กลายเป็นนก นี่ทำให้เป็นนก นกชนิดหนึ่ง จะชื่ออะไรก็ในเรื่องไม่ได้บอกไว้ นกตัวนี้ร้อง ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็ว่า คด คด อ่า เป็นการประจานย่า และประจานนางอูแปม เนี่ยลูกของเจ้าสามลอกับนางอูปิมเนี่ย ก็ไปกลายเป็นนก ชอบร้องว่า คด คด เป็นการประจานย่าและประจานนางอูแปม

         ส่วนเจ้าสามลอกะนางอูปิมนั้นพอตายไปแล้วก็กลายเป็น ต้นดองดึง ออกดอกออกมา ต้นดองดึง ดอกสวยเนี่ย โอ พอดีอันนี่ ไม่ดู ดู ไม่งั้นก็จะได้พูดถึงว่ามันอยู่ในจีนัสไหน สปี่ชี่ส์ไหนนะเนี่ยนะ

         ดองดึงเนี่ย ต้นสวยก็แล้วกันเถอะครับ หัวมันก็เคยเอาไปดองกินกัน แก้โรคซิฟิริสน่ะ แต่ ปรากฎว่าทางร้อยเอ็ด เอาไปดองกิน แล้วก็ตายกันก็มี คงจะเอาหัวผิดกระมัง

         เอาเป็นอันว่า เจ้าสามลอกับนางอูปิมก็ตาย ตายทั้งคู่ก็กลายเป็นต้นดองดึง แม่ของเจ้าสามลอเมื่อรู้ว่าลูกชายก็ตาย ลูกสะใภ้ที่ตัวเกลียดก็ตาย หลานก็ตายแล้ว ก็เลยไปถามเจ้าทรง ถามร่างทรงดูว่าเจ้าสามลอเนี่ยอยู่ที่ไหนในตอนนี้ ร่างทรงก็ตอบเลยว่าเจ้าสามลอไปเกิดเป็นต้นดองดึงแล้วเกิดพร้อมกับนางอูปิม

         แหม... พอแม่ฟังอย่างงั้นก็โกรธครับ จัดการไปขุดเอาต้นดองดึงเนี่ยมาเผา แต่ปรากฎว่าเทวดาน่ะ ก็ช่วยให้เจ้าสามลอเนี่ยไปเกิดใหม่ ไปจุติใหม่จะเรียกว่าไปเกิดก็ไม่ได้ ไม่มีชีวิตแล้วแหละ ไปเป็นดาวประกายพฤกษ์ ขึ้นตอนเช้าเลย เจ้าสามลอเป็นดาวประกายพฤกษ์ ส่วนนางอูปิมก็กลายเป็นดาวประจำเมือง

         ทั้งคู่นี่คือดาวศุกร์ทั้งคู่แหละครับ พอตอนเย็นเรียกดาวประจำเมือง ตอนเช้าก็เรียกดาวประกายพฤกษ์ ส่วนทางช้างเผือก ก็คือเส้นทางกองวัวต่าง ซึ่งใช่ค้าเมี่ยงของเจ้าสามลอนั่นเอง

         อันนี้เล่าไปเล่ามา มันเลยไปกลายเป็น กลายเป็น ตำนานของดาวประกายพฤกษ์ กับดาวประจำเมือง ซึ่งก็คือดาวพระศุกร์ วีนัส เนี่ยดาวประกายพฤกษ์ขึ้นตอนเช้า ดาวประจำเมืองขึ้นตอนเย็น เป็นดาวศุกร์ทั้งคู่เลยนะครับ ส่วนทางช้างเผือกนั้นเป็นเส้นทางที่ใช้ค้าเมี่ยง เป็นเส้นทาง เป็นเส้นทางเดินทางของเจ้าสามลอ โดยใช้ขบวนวัวต่าง

         เนี่ยเรื่องเจ้าสามลอครับ ก็เป็นโศกนาฎกรรม ความที่ อ่า... อิจฉาริษยากัน และก็ตายไป เป็นเรื่องอย่างนี้ นี่เจ้าสามลอตามที่ผมเก็บความจากเรื่อง the story of เจ้าสามลอ and นางอูปิม ของฮาโรล์ ยัง เป็นอย่างนี้นะครับ ก็คงจะเล่าได้เท่านี้แหละท่าน

         ของฮาโรล์ ยัง คนหนึ่งกับของท่านเอ่อหม่อมเจ้าจันจิรายุ รัชนี ซึ่งบอกว่าพระลอและเจ้าสามลอเป็นคนคนเดียวกัน แต่จากของฮาโรล์ ยัง เป็นคนละคน ก็ไม่เป็นไรหรอก แต่เรื่องมันคล้าย ๆ กันอยู่นะครับ มันจบลงด้วยโศกนาฎกรรมเนี่ย

         คราวนี้ก็จะถึงท่านขอมาเป็นข้อที่สอง ให้พูดถึงเรื่องพระลอ โดยที่ที่พูดเนี่ย ก็ขออย่าให้มันไปอะไรเล่า เป็นเหมือนกับเอาลิลิตมาอ่านอย่างนั่นน่ะนะ

         อ่า...ก็ไม่เป็นไร ถ้าจะพูดเรื่องพระลอในแง่ต่าง ๆ มันก็ได้หลายแง่หลายมุม ในแง่มุมสองที่น่าคิดก็คือว่า ในประเทศไทยเราเนี่ย ในวงของนักวิชาการทางวรรณคดีและทางตำนาน มักจะมีความคิดที่เอ่อ ขัดแย้งกันอยู่ประการหนึ่งก็คือว่า

          "วรรณกรรมเนี่ยทำให้เกิดการสร้างสรรค์หลักฐานประกอบเรื่องของตัวเองขึ้นหรือไม่ หรือว่าเรื่องนั้นมันเกิดขึ้นจริงแล้วมันก่อให้เกิดวรรณกรรมทีหลัง"

         พูดง่าย ๆ ว่า เคยนะครั้งหนึ่งเกิดเรื่องจริง ๆ ขึ้นเรื่องหนึ่ง จากนั้นเรื่องจริง ๆ นั้นกลายเป็นวรรณกรรม หรือว่ามันมีวรรณกรรมขึ้นเรื่องหนึ่ง จากนั้นวรรณกรรมเนี่ยมีอิทธิพลทำให้เกิด หลักฐานต่าง ๆ ทำยังกับว่าวรรณกรรมนั่นมีเรื่องจริง พูดพิงอย่างนี้เป็นทฤษฎี

         เอ้า... พูดง่าย ๆ เลยทีเดียวน่ะครับ ดูว่าวรรณกรรมบางเรื่องนั้น สร้างสถานที่เป็นหลักฐานเล่าประกอบได้มากมาย เช่น วรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ ที่เป็นวรรณคดีไปแล้วเนี่ย ก่อให้เกิดสถานที่มากมาย

         ในเมืองไทยเรา กรุงศรีอยุธยาก็มาจากเมืองอโยธยานะครับ ที่ชลบุรีแถว ๆ บางพระนะครับเลยบางแสนไปหน่อยสัก 9 กิโลเมตรนั่นนะครับ นั่นก็มีห้วยชื่อ ห้วนสุครีพ สุครีพ สุครีพนั่งร้องไห้จนกระทั่งจ้ำตาเนี่ย ก่อให้เกิดเป็นลำห้วยขึ้นนะครับ

         ที่ลพบุรีมีเรื่องของท้าวกกขนาน ท้าวกกขนานเนี่ย ถูกศรของพระรามยิง ถ้าใครเอาน้ำส้มสายชูไปเทราดต้นกกนั้น ท้าวกกขนาน ก็จะมีชีวิตขึ้นมา อาละวาดจับคนกินได้ทั้งเมืองเลย เนี่ยที่ลพบุรีจึงห้ามมีการขายน้ำส้มสายชูในบางวัน เพราะเกรงว่าลูกสาวของท้าวกกขนากเนี่ย จะมาซื้อน้ำส้มสายชูไปรดศรของพระราม ซึ่งถูกปักอยู่ที่อกของท้าวกกขนาก

         ไอ้เรื่องอย่างนี้มาจากวรรณกรรม แต่ก็มีสถานที่เกิดขึ้น เรื่องตาม่องล่าย นิทานเรื่องตาม่องล่ายท่านคงนึกได้นะครับ ตาม่องล่ายมีลูกสาว แล้วมีคนไปจีบลูกสาว ตกลงขอแต่งงานกัน ตาม่องล่ายจะจัดให้ลูกสาวแต่งงานกับชายที่ไปจีบ ปรากฏว่าชายที่จีบนั้นเบี้ยวขันหมาก

         นี่สรุปเอานะ เรื่องราวเค้ามากมากกว่านี้ เบี้ยวขันหมากแค่นั้นแหละครับ ตาม่องล่ายแกโมโหที่ลูกสาว แกไม่ได้แต่งงาน แกจับเอาครกเอาสากโยนไป

         ครกสากเค้าใช้สำหรับตำทำขนมจีน เรียกตำขนมจีนนะครับ เอาครกโยนลงไปในทะเล เหวี่ยง ปัง ! ลงไป สากตามลงไปด้วยเป็นของคู่บ้านคู่เมืองกัน ครกไปตกลงที่ที่หนึ่งเกิดเป็นเกาะชื่อเกาะครก สากก็เป็นชื่อเกาะสาก เกาะครกเกาะสากก็อยู่แถว ๆ พัทยานั่นแหละครับ

         พัทยา บางละมุง ออกมาทางเกาะล้าน ออกมาระหว่างสีชังเนี่ย คนที่อยู่ทางบางแสนจะรู้จักเกาะครก เกาะสาก ตาม่องล่ายโยนลงไป

         หลายคนบอกไม่ถึงขนาดนั้น ตาม่องล่ายโยนไปถูกเข้าลูกหนึ่งทางประจวบคีรีขันธ์ เขาทะลุลงไปเลย ชื่อ เขาอกทะลุ โอ... นิทานปนกันพอสมควรเลย

         แล้วจากนั้น ลูกสาวของตาม่องล่ายเนี่ย โมโหที่หนุ่มไม่มาตามสัญญา กระชากหน้าอกของตัว ดึงออกโยนลงไปในทะเลเลยครับ เกิดเป็นเกาะชื่อ เกาะนมสาว นี่ก็น่าดูนะเป็นเกาะนมสาวอีก

         นิทานอย่างนี้ วรรณกรรมอย่างนี้มีขึ้น และมีสถานที่ประกอบมันน่าจะเป็นไปว่า มีวรรณกรรมมาก่อน สถานที่ประกอบตามนั้นก็เป็นได้

         นิทานเรื่องพระร่วงเกือบทุกเรื่องครับ มีวรรณกรรมมาก่อน แล้วมีเรื่องของพระร่วงไปประกอบวรรณกรรม

         แม้แต่เรื่องสังข์ทอง เรื่องสังข์ทองมีอิทธิพลมากท่านดูสิ มีอำเภอตาคลี เล่าเรื่องของเรื่องสังข์ทอง มีเวียงเจ้าเงาะ อยู่ที่อุตรดิตถ์ มีหลุมคลีอยู่ด้วยนะครับ นี่จากวรรณกรรมมามีสถานที่ปรากฏ

         เรื่อง อิเหนา เวลาเราอ่านเรื่องอิเหนาพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เราจะพบว่าฉากของเมืองดาหามันใกล้กับกรุงเทพ ฯ เหลือเกิน สภาพคล้ายกันเมือง

         เหมือนกันเรื่องขุนช้างขุนแผนก็มีนะครับ ฉากบ้านขุนช้าง ตอนที่ขุนแผนปีนขึ้นเรือนขุนช้างนั่นนะ ฉากนั้นคล้ายกับเอ่อเค้าเรียกว่าเป็นสวน สวนหย่อมนะ สวนในพระราชวังของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นี่จากวรรณกรรมจะมีสถานที่ประกอบ

         หรือบ้างก็เป็นเรื่องจริง แล้วมาเกิดเป็นวรรณกรรม เช่น เรื่องตะเลงพ่าย ยวนพ่าย นี่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับยุธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวร ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมาณุชิตชิโนรส ท่านนิพน์ขึ้น

          ส่วนยวนพ่ายไม่ทราบใครแต่ง เป็นเรื่องสงครามระหว่างพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ของเชียงใหม่ กับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถกษัตริย์ของพิษณุโลก

         ทั้ง 2 เรื่องนี้ นั้นเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงก่อน แล้วจึงมาเป็นวรรณกรรมในภายหลัง

         คราวนี้ปัญหาก็อยู่ที่ว่า เรื่องพระลอ ว่าเนี่ยเป็นวรรณกรรมก่อนจึงไปมีสถานที่ประกอบ หรือว่ามีเรื่องเกิดขึ้นจริง ๆ มีสถานที่แล้วจึงมากลายเป็นวรรณกรรม

         ผมตอบยากทั้งคู่เลยครับ เรื่องเกี่ยวกับพระลอนั้น ผมเคยอ่านข้อเขียนของคุณ สุกิจ เอ่อ ประทานโทษผมพูดผิดนะครับ คุณศุภกิจ นิมมานรเทพ นี่ก็เป็นอดีต เอ่อ อดีตรองอธิบดีกรมศุลกากรนี่นะครับ

         ท่านเขียนเอาไว้ ท่านบอกว่า ผู้แต่งคือ เจ้าแสนหลวง ที่เป็นมหาราชของเชียงใหม่ แล้วก็มาอยู่ในราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้นั้นน่ะแต่งเอาไว้ท่านว่าอย่างนั้น

         คราวนี้ถ้าไปอ่านหนังสือซึ่งท่าน ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ท่านเขียนขึ้น ท่านก็บอกว่าเรื่อง ลิลิตพระลอนี้ก็เป็นเรื่องที่กษัตริย์ ของเชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่ ประมาณนั้น 2199 ถึง 2231

         โดยที่นิพนธ์ขึ้น ในขณะที่มาประทับในพระราชสำนัก ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา แล้วท่าน ดร. อุดม ท่านก็เชื่อว่าเรื่องพระลอเนี่ยเป็นเรื่องจริง เรื่องซึ่งเป็นน่าจะเกิดขึ้นประมาณพุทธศักราช 1450 ถึง 1711 ประมาณนี้นะครับ ก็เป็นเรื่องของพระลอกษัตริย์แห่งเมืองแมนสรวง กับพระเพื่อนพระแพงซึ่งอยู่ที่เมืองสอง

         จากนั้นก็มีการถามกันว่า อะ...ถ้าเป็นเรื่องจริงแล้วมาเกิดเป็นวรรณกรรมขึ้น ถ้าเป็นอย่างนั้นขึ้นมาเนี่ย ก็ต้องถามกันอีกว่า แล้วสถานที่ต่าง ๆ ที่มันเป็นเมืองแมนสรวง ที่มันเป็นเมืองสอง ที่มันเป็น ตรงแม่น้ำกาหลงที่พระลอข้ามไปมันเป็นตรงไหน

         โอ... ถ้าถามกันอย่างนี้นะท่านนะ ก็สนุกสนานกันเลยทีเดียว เพราะว่าเราคงจะต้องศึกษาเรื่องพระลอเนี่ยกันอย่างลึกซึ้ง

         เอ่อ... ทางกระทรวงศึกษาธิการ ตีพิมพ์ขึ้นนะครับ ตีพิมพ์ขึ้นแล้วก็ยังมีคำนำอีกด้วยนะครับ ตีพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2516 ฉบับเก่ากว่านั้นก็มีครับ และจากนั้นก็มี คำนำอีกกล่าวว่า

         เรื่องพระลอเป็นนิทานพื้นเมืองทางอาณาเขตล้านนา คือภาคพายัพ นักปราชญ์แต่งเป็นกลอนลิลิต ขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น

         นักปราชญ์ไม่บอกว่าใครแต่ง เป็นกลอนลิลิต ที่จริงน่าจะเรียกว่าเป็นลิลิตธรรมดานี่นะ เพราะลิลิตมันมีโคลงกับร่าย ในนี้บอกกลอนลิลิตแต่งเป็นกลอนลิลิตขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ระหว่างพุธศักราช 1991 ถึง 2076 ที่เขียนเอาไว้ในหนังสืออ่านกวีนิพนธ์ เรื่องลิลิตพระลอ ของกระทรวงศึกษาธิการ

         ลึกซึ้งก็คือ อ่า.. เรื่องพระลออย่างลึกซึ้ง ถ้าวิจารณ์ตามหลักของวรรณคดีอย่างลึกซึ้ง ศึกษาในเชิงของนิรุกติศาสตร์ เรื่องศัพท์ต่างๆ อย่างลึกซึ้ง ศึกษาเสร็จอย่างนี้ก็ได้

         คราวนี้ถ้าอ่านเรื่องนี้แล้ว อยากจะดูว่า มีใครศึกษาเรื่องเอาไว้บ้าง ก็ไม่ยากอะไร ก็ไปดูในหนังสือประชุมวรรณคดีไทยภาค 2 ชื่อเรื่อง พระลอลิลิต ซึ่งอาจารย์ฉันท์ทิพย์ กระแสศิลป์ ท่านแต่ง

         นี่ก็พิมพ์มานานแล้ว อาจารย์ฉันท์ทิพย์ กระแสศิลป์นะครับ ท่านเขียนอย่างนี้ขึ้น เขียนเรื่องนี้ขึ้น แต่ก็พิมพ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ปีพุทธศักราช 2497 พิมพ์มาตั้งแต่ยุคโน้น

         ที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงคำนำนี่กล่าวว่า ไม่ใช่คำนำละนี่ ตอนหลายหน้าทีเดียวที่กล่าวอย่างนี้นะครับ ช่วงแรกๆ อ่ะนะ ไม่ใช่คำนำอันนี้เป็นดูไม่ใช่คำนำ

         อาจารย์ฉันท์ทิพย์ท่านบอก ท้าวฮุ่ง หรือเจือง เรียกเมืองแมนสรวงว่า เมืองกาหลง เพราะเมืองกาหลงหรือเมืองแมนสรวง ตั้งอยู่ใกล้ลุ่มแม่น้ำกาหลง

         เมืองแมนสรวงนั้นเรียกว่าเวียงกาหลง ขอโทษ เมืองกาหลงหรือแมนสรวง ตั้งอยู่ใกล้ลุ่มแม่น้ำกาหลงเรียกเวียงกาหลง ก็เป็นอันว่าท้าวฮุ่ง-ท้าวเจือง เรียกเมืองแมนสรวงว่าเวียงกาหลง นี่เอ้าฬงระวังเดี๋ยวลิ้นจะไปพันกันนะท่านนะ

         ก่อนจะเข้าเขตอำเภอสองซึ่งปัจจุบันนี้เป็นอำเภอ ตรงกันข้ามกับเนินเขาใหญ่ลูกหนึ่ง มองจากเนินเขาก็จะแลเห็น เมืองสองเก่าชัดเจน มีกำแพงเมือง 3 ชั้นปรากฏอยู่ อีกด้านหนึ่งมองไปเห็นท้องนา อีกทางด้านหนึ่งติดลำน้ำสองหรือลำน้ำกาหลง เนี่ยอธิบายถึงเรื่องเมืองสอง

         แล้วยังบอกว่านิยายพระลอเนี่ยเป็นเรื่องจริง อยู่ในสมัยเดียวกันกับขุนเจืองบรมราชาธิราช ราวพุทธศักราช 1616 ถึง 1693 มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวรรณคดี ปรากฏยืนยันหลายแห่ง อาจารย์ฉันท์ทิพย์ท่านว่าอย่างนี้

         และท่านอาจารย์ฉันท์ทิพย์ท่านพูดอย่างนี้ ก็เป็นอันว่าท่านเชื่อว่าเรื่องพระลอเนี่ย เป็นเรื่องเกิดจริง มีอยู่จริง แล้วจึงมาเป็นวรรณกรรมในภายหลัง
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 15 ก.พ. 08, 14:19


         คราวนี้หลายท่านก็คงจะนึกถึง เอ่อ ! คุณพระวรเวช พิสิฐนะครับ ท่านสอนวรรณคดีไทยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเนี่ย ท่านเขียนคู่มือลิลิตพระลอเอาไว้ คุณพระวรเวชพิสิฐเขียนคู่มือลิลิตพระลอ เนี่ยก็พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2504 เนี่ยครับ

         ท่านก็บอกว่าพระลอเป็นนิยายประจำถิ่นไทยภาคเหนือ มีเค้าโครงว่าเรื่องเกิดในแคว้นล้านนา ประมาณพุทธศักราช 1116 ถึง 1693 อันนี้ก็เขียนคล้าย ใกล้เคียงกันนะครับ ที่ท่านอาจารย์ฉันท์ทิพย์เขียน บอกท้องที่อันเป็นถิ่นฐานของพระลอนั้น เท่าที่สอบสวนได้ความว่า อยู่จังหวัดแพร่และลำปาง ท่านว่านะเนี่ย

         ถิ่นฐานที่เกิดเรื่องพระลอเนี่ย ท่านบอกอยู่ในจังหวัดแพร่และลำปาง เมืองสอง อันเป็นเมืองของพระเพื่อนและพระแพงนางเอกของเรื่องนั้น ทุกวันนี้ยังเป็นเมืองที่มีชื่ออยู่ในบริเวณลุ่มน้ำยมตอนเหนือของอำเภอร้องกวางจังหวัดแพร่ ปัจจุบันเป็นอำเภอสองไปแล้ว

         และก็เมืองแมนสรวง อันเป็นเมืองของพระลอนั้น ก็คงเป็นเมืองกาหลงที่อยู่ในเขตอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง อันนี้แต่เดิมนะครับ ที่พูดนี้เป็นแต่เดิม 2504 แต่เดี๋ยวนี้เค้าเปลี่ยนอำเภอ เปลี่ยนอะไรกันมาก แต่ไม่เป็นไรเดี๋ยวผมจะเชื่อมโยงนะครับ

         นี่ก็เป็นอันว่า เรื่องพระลอนั้น น่าจะเป็นเรื่องจริงนะ น่าจะเป็นเรื่องจริง แต่อีกคนหนึ่งก็บอกว่ามันจะจริงไม่จริงนี่ก็ต้องสอบสวนกัน คนนั้นคืออาจารย์พีรชาติ ลีลวัฒนางกูร ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันท่านก็ชื่อ ดร.อัครพงศ์ เนี่ยคนเดียวกันเนี่ยนะครับ อยู่คณะศึกษาศาสตร์

         ท่านบอกว่าเรื่องพระลออาจเป็นเพียงนิยายที่กวี "กุ" ขึ้นก็ได้ อาจจะเป็นเพียงนิยายที่กวีกุขึ้น ก็เผอิญเหลือเกิน เพราะว่ามันมีหลักฐานเข้าไป ชี้เข้าเกี่ยวกับเรื่องพระลอ เช่น ซากองเมืองสองมั่ง พระธาตุพระลอมั่ง ก็เลยทำให้คนเข้าใจว่าจะเป็นเรื่องจริง

         นี่ถ้าเราไปดูจากโครงในหนังสือท้าวฮุ่ง ฮุ่ง คำนี้เพราะนะ ฮ-า-ง- ! ฮุ่ง ฮุ่ง เกี่ยว ฮ ของล้านนาทำเป็นเรียกภาคกลางเป็นท้าวรุ่ง รุ่งนี้ครับเปลี่ยนเสียงอุเป็นวะจะเป็นร่วมนะท่านนะ ฮุ่ง รุ่ง ร่วง ใกล้กัน เหมือนกับชื่อของท้าวอีกท้าวหนึ่ง ท้าวเจือง เจือง เสือง ใกล้กันไหมฮะ เสียงจ. เสียงส.นี่

         โคลงในหนังสือท้าวฮุ่งกล่าวว่า พระลอก็คือ แถนลอ นั่นเองอ่ะ เพราะคำว่าแถนก็คือ เทวดา แถน ไทยเรียก แถน จีนเรียก เซียน เป็นคำเดียวกัน ชื่อเทวดา และก็เป็นชื่อของอาณาจักรอ้ายลาว แล้วก็อาณาจักรน่านเจ้า พระลอนี่เป็นกษัตริย์จึงสามารถใช้ชื่อว่า แถนได้

         และก็แถนลอหรือพระลอนี้ อยู่ที่เมืองแมนสรวง ซึ่งมีแม่น้ำกาหลงได้ อาณาเขตนั้นจึงชื่อว่าอาณาจักรกาหลง นี่ปรากฎในเรื่องท้าวฮุ่ง

         ในเรื่องท้าวฮุ่งก็บอกว่า พระลอนี่อยู่ที่เมืองแมนสรวง แมนสรวงนี่มีแม่น้ำกาหลงกั้นเป็นแนวเขตแดนอยู่ เราเลยเรียกว่าอาณาจักรกาหลง อันนี้จากหนังสือโคลง โคลงเรื่องในเรื่องท้าวฮุ่ง

         ทีนี้ เมืองแมนสรวงของพระลอ มันจะอยู่ตรงไหน ถ้าหากว่าเรามีโอกาสอ่านเรื่องราวของ 12 จุไทย ในยุคของพระเจ้าโก๊ะล่อฝง เราคงเคยเรียนมา เรื่องพระเจ้าพีล่อโก๊ะ พระเจ้าโก๊ะล่อฝงเนี่ย บอกว่าพระเจ้าโก๊ะล่อฝงเนี่ย ก็ครองราชสมบัติอยู่ประมาณพุทธศักราช 1289 ถึง 1322 ในแคว้นสิบสองจุไทย

         ในยุคที่พระเจ้าโก๊ะลอฝงครองอยู่นะครับ มีเมืองชื่อเมืองสรวง และเมืองสองในอาณาจักรนี้ด้วย โอ้ ! อันนี้มันจะเป็นอยู่โน่นขึ้นไป ในสิบสองจุไทยละมั้ง เมืองสรวงกับเมืองสองเนี่ย

         คราวนี้ผมมีโอกาสอ่านหนังสือชื่อเชียงใหม่ และภาคเหนือ มีชื่อเสียงพวกเรารู้จักดี เป็นข้อเขียนของนักนักเขียนสารคดีรุ่นเก่า คืออาจารย์บุญช่วย ศรีสวัสดิ์

         คุณบุญช่วย ศรีสวัสดิ์เนี่ยนะครับ เขียนเรื่องเชียงใหม่และภาคเหนือ ในนั้นเขียนว่า เมืองสองโบราณ ตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำสอง ซึ่งชาวบ้านว่าเป็นแม่น้ำกาหลงเดิม ห่างจากตัวเมืองสองปัจจุบัน 2 กิโลเมตร และนอกกำแพงเมืองนี้มีเนินเขาเตี้ย ๆ เรียกว่าดอยพระธาตุพระลอนะครับ

         ท่านที่นั่งรถจากแพร่ไปร้องกวาง จากร้องกวางท่านไป คงไปน่านท่านเลี้ยวซ้าย จะไปอำเภองาว ไปลำปาง และไปพะเยา ก็จะผ่านผ่านเขตของอำเภอสอง ก็จะเห็น เค้าเขียนไว้ว่ามีวัดนะครับ คือ วัดดอยพระธาตุพระลอ

         และยังมีสวน สวนวรรณคดี สวนรุกขชาติวรรณคดีเกี่ยวกับเรื่องพระลอก็มีที่อำเภอสอง ผมอาจจะจำชื่อไม่ชัด แต่ทำนองนี้แหละนะครับ เป็นสวนต้นไม้นี่แหละครับในวรรณคดี

         เออ ! ถ้าฟังดูอย่างนี้ก็น่าคิด ก็เป็นอันว่ามันมีเมืองที่จะต้องพูดกันหลายเมืองแล้ว หนึ่งเมืองสอง สองเมืองแมนสรวง สามเวียงกาหลง ก็ไม่ทราบว่าเวียงกาหลงเนี่ย มันไปเกี่ยวข้องเนื่องจากมีคำว่าแม่น้ำกาหลง หรือว่าเวียงกาหลงนั่นจะเป็นเมืองด้วยในยุคนั้น แต่มันไม่ใช่ชื่อว่าเวียงกาหลง มันชื่ออย่างอื่นก็อาจจะเป็นได้นะครับ

         ในเรื่องของเวียงกาหลงเนี่ยนะครับ ก็มีข้อเขียนของ มหาอำมาตย์ตรีพระยาพระนครพระราม นะฮะ หรือชื่อจริงท่านชื่อ สวัสดิ์ มหากายี ท่านเขียนเรื่องเครื่องถ้วยไทยเอาไว้ ท่านบอกว่า เวียงกาหลงเนี่ย ไม่ห่างจากพระเยาเท่าไรนัก และมีห้วยชื่อห้วยกาหลง ด้วยเหตุนี้จึงคิดว่า เรื่องพระลอนี่น่าจะเป็นเรื่องจริง เพราะมีหลักฐานประกอบเรื่อง มีเวียงกาหลงอยู่

         คำว่าเวียงกาหลงนี้นะท่านนะ ถ้าท่านมีโอกาสนั่งรถจากเชียงใหม่ไปพระเยา หรือจากพระเยามาเชียงใหม่ก็แล้วแต่ ถ้าจากพะเยามาเชียงใหม่เนี่ยท่านจะผ่านอำเภอวังเหนือจังหวัดลำปาง จากพะเยาออกมาแล้วจะไปเชียงใหม่ มาทางเส้นทางสายพระเยา-วังเหนือนะครับ ผ่านจากวังเหนือเข้ามาได้ประมาณ 10 ถึง 12 กิโลเมตรเนี่ยครับ ทางด้านขวามือจะมีตัวเมืองโบราณชื่อเวียงกาหลงนะครับ อยู่ตรงนั้น

         เวียงหลงจะติดอยู่กับแม่ขะจานเนี่ยครับ ท่านคงรู้จักแม่ขะจาน เพราะเป็นที่ที่รถจะไปจอดตรงนั้นเยอะ แม่ขะจานนี้อยู่ตำบลแม่เจดีย์นะครับ อำเภอเวียงป่าเป้า จากแม่เจดีย์ก็จะมีทางมากเชียงใหม่ขึ้นดอยสูง เค้าเรียกว่าดอยแม่นางแก้ว พอลงดอยแม่นางแก้ว ก็เข้าเขตจังหวัดเชียงใหม่ ที่อำเภอดอยสะเก็ดไงครับท่าน พอนึกภาพออกไหมครับ เวียงกาหลงอยู่บนเส้นทางสายนี้ครับ

         เอาง่าย ๆ สายพะเยาแม่ขะจาน ซึ่งถ้าแยกซ้ายก็ไปเชียงใหม่ ถ้าแยกขวาก็ไปเวียงป่าเป้า นะเวียงกาหลงอยู่ทางนั้น จะเป็นเมืองของพระลอจะได้ไหม หรืออย่างไงก็ว่ากันไปอีกทีหนึ่ง

         แต่มีข้อสันนิษฐานที่น่าคิดมากเลย ที่สันนิษฐานคล้ายกันไว้ถึง 3 ท่านทีเดียวคือ อาจารย์ฉันท์ทิพย์ กระแสสินธ์ อาจารย์เจือ สตะเวทิน สองท่านนี้ก็เรียกว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในวงของวรรณคดีไทยล่ะนะครับ ในยุคนั้นจะหาใครใหญ่เท่าท่านไม่ได้ จะมีอีกสักท่านก็คืออาจารย์เปลื้อง ณ นครนะครับ

         อาจารย์ฉันท์ทิพย์ กระแสสินธ์กับอาจาย์เจือ สตะเวทิน สองท่านนี้มีความเห็นว่าเมืองแมนสรว อยู่ในเขตอำเภอแม่สรวยจังหวัดเชียงราย ไปโน่นแน่ะครับ ที่แม่สรวยนี้มีเมืองโบราณนะท่านนะ

         เวลาจะไปแม่สรวย อ่ะ ! สมมุติท่านมาจากเชียงราย มาจากเชียงรายท่านก็จับเส้นทาง อ่า... เชียงรายพะเยาเนี่ยลงมา มาถึงสัก 25 กิโลเมตรก็เลี้ยวเข้าอำเภอ เลี้ยวขวาเข้าเขตอำเภอพาน พอผ่านอำเภอพานไปได้ไม่ไกลนัก ก็จะถึงอำเภอแม่สรวยฮะตรงนี้ฮะ ถึงอำเภอแม่สาย จากอำเภอ เส้นทางระหว่างอำเภอพานไปอำเภอเวียงป่าเป้าเชียงรายเนี่ย จะผ่านแม่สรวยตรงนั้นแหละครับ ผ่านแม่สาย

         อำเภอแม่สรวยที่แม่สรวยนี้ มีเมืองโบราณฮะ แล้วเอ่อ อาจารย์ฉันท์ทิพย์ก็ดี อาจารย์เจือ สตะเวทิน ก็ดีรวมทั้งท่านศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ของเราเนี่ย ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ท่านก็เชื่อว่า เมืองแมนสรวงเนี่ย อยู่ที่อำเภอแม่สรวย อยู่เมืองโบราณของแม่สรวย

         อาจารย์ธีรชาติ หรือท่าน ดร.อัครพงษ์ นั้นพูดไว้ดีมาก ท่านบอกว่า คำว่า แม่สรวย กับ แมนสรวง ออกเสียงดี ๆ สิ มันใกล้กันเหลือเกิน แม่สรวย แม่สรวย แม่ ส -รว - ย แ - ม่ - ส - รว - ย แ - ม - น - สรวง มันก็ใกล้กันนะครับ เพราะมันมีเป็นเสียงสระ อวยคล้าย ๆ กันนะครับ "แมนสรวง" "แม่สรวย" จะอยู่ตรงนั้น

         แม่สรวยเป็นเมืองเก่านะท่านนะ แม่แต่ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็เสด็จยกทัพผ่านไปทางนี้ เพราะฉะนั้นถ้าท่านไปที่อำเภอแม่สรวยเนี่ย ระหว่างเส้นทางแม่สรวยจะไปเวียงป่าเป้า ด้านซ้ายมือครับ มีศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นศาลขนาดใหญ่มากทีเดียวครับ บริเวณกว้างขวางทีเดียว บริเวณนั้นเป็นเมืองเก่าครับ แม่สรวยนี่

         นี่ก็ผมจะเอ่อ ได้ ได้ ตรวจสอบเรื่องนี้อีกครึ่งหนึ่งนะครับ โดยจะดูจากวรรณกรรมมุขปาฐะ ว่าเมืองนี้มีประวัติอะไรเป็นมายังไง ก็มีคนเค้าทำเอาไว้ แต่จะลองตรวจสอบดูอีกสักครั้งหนึ่ง

         ก็เป็นอันว่าทั้งอาจารย์ฉันท์ทิพย์ กระแสสินธ์ และก็อาจารย์เจือ สตะเวทิน และท่านศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ท่านก็ว่าเมืองแมนสรวงของพระลอ ในเรื่องลิลิตพระลอเนี่ย จะอยู่ที่เมืองเก่า ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เนี่ยท่านว่าอย่างนั้น

         ส่วน เอ่อ.. แม่น้ำกาหลงนั่น จะอยู่ในเขตพระเยา แม่น้ำกาหลงก็เป็นแม่น้ำสายยาวนะท่านนะ จะอยู่ ก็อยู่หลายที่เหมือนกันนะครับ ค่อย Check กันอีกที ตรวจสอบกันอีกทีว่า เป็นประการใด

         ก็เผอิญเหลือเกิน ก็มีลูกศิษย์เคยถามบอกว่า เอ้า ! ถ้าอย่างนั่นล่ะ เมืองเวียงลอ ล่ะเป็นเมืองของใคร ฟังชื่อดูเวียงลอนี่มันไม่ใช่เล่นนะ เป็นเมืองนะ เวียงลอ เวียงลอนี่อยู่ในเขตอำเภอจุน จังหวัดพระเยา มันก็น่าจะเป็นเมือง แมน แมนสรวงได้นะ เมือง ๆ นี้ เมืองเวียงลอนี่

         แต่ว่าก็มีคนค้านเหมือนกันนะครับ ว่าเมืองเวียลอในอำเภอจุน จังหวัดพระเยา มันไม่น่าจะเป็นเมืองของพระลอได้หรอก เพราะอะไร เพราะว่าเมืองเวียงลอมันอยู่ทางทิศเหนือของเมือง ของเมืองสอง มัน ไม่ได้อยู่ทางทิศตะวันตก เหมือนที่ปรากฏในลิลิตนี่ครับ

         เพราะอะไร เพราะว่าดูแล้วเส้นทางติดต่อของสองเมืองนี้แล้ว จะเห็นว่าผู้เดินทางจากเวียงลอ ไม่จำเป็นต้องข้ามแม่น้ำกาหลงเลย ก็ไปถึงเมืองสองได้ จากเวียงลอนี่ไป ไปเมืองสองไม่ต้องข้ามแม่น้ำกาหลง ก็ถ้าไม่ข้ามแม่น้ำกาหลง จะไปเป็นเมืองแมนสรวงได้ยังไงกันล่ะ ก็จากแมนสรวงนี่ต้องข้ามแม่น้ำกาหลง ข้ามจนกระทั่งถึงกับ พระลอเองนั้นไม่แน่ใจว่าจะเดินทางเป็นประการใด ถึงต้องมีการเสี่ยงน้ำเนี่ย มีเรื่องพระลอเสี่ยงน้ำใช้เพลงลาวครวญประกอบนะเนี่ย (หัวเราะ) เวลาแสดงละครนะท่านนะ

         ก็เป็นอันว่าเมืองเวียงลอที่อำเภอจุนนี่ก็ตกไป ที่ตกไปก็เพราะว่ามันไม่น่าจะมาเป็น มาเป็นเมืองแมนสรวงได้ เพราะเวลาจะไปจากเมืองเวียงลอ ไปที่เมืองสองที่ เอ่อ เมืองแพร่ในเขตของเมืองแพร่เมืองสอง อำเภอสองจังหวัดแพร่นั้น เวลาไปไม่ต้องข้ามแม่น้ำกาหลง นี่ก็ว่ากันไปอย่างนี้ ก็เลยมองดูค่อนข้างจะเข้ามาชัด ๆ อยู่ว่า เมืองแมนสรวงนั้น น่าจะอยู่ที่ น่าจะอยู่ที่ เมืองเก่า ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

         ส่วนเมืองสองของพระเพื่อน-พระแพงนี่ จะอยู่ตรงไหน เมืองสองของพระเพื่อน-พระแพงนี่ ก็ไม่น่าจะมีปัญหานะครับ ถ้าดูอย่างนี้ ก็น่าจะอยู่ที่ในเขตเมืองเก่า ของอำเภอสองจังหวัดแพร่ นี่พูดกันง่ายทีเดียว มันคงอยู่ตรงนี้รอการตรวจสอบ

         แต่การตรวจสอบนั้น ก็คงจะทำไม่ค่อยจะได้อย่างเต็มที่นักหรอก ในเชิงประวัติศาสตร์หรือเชิงวรรณคดี คงจะตรวจสอบโดยอาศัยนิรนัยเอา อนุมานเอาซะมากกว่า ก็พอจะทราบว่าสองเมืองนี้อยู่อย่างนี้

         คราวนี้สองเมืองนี้อยู่ห่างกันขนาดไหน พระลอเดินทางจากเมืองแมนสรวง ไปเมืองสอง ใช้เวลาหลายวันทีเดียว ประมาณเป็นสิบ ๆ วันนะครับ ไปโดยช้าง

         ช้าง นี้วันหนึ่งก็เดินได้ เดินอย่างเติมที่ วันนึงก็เดินประมาณสัก 1 เอ่อ.. หลายเส้น เค้าคิดเส้นเป็นกิโลเมตร ประมาณสัก 15 ถึง 22 กิโลกเมตร ประมาณนั้น ตีซะว่าสัก 18 กิโลเมตร ช้างเดินทางได้วันละ 18 กิโลเมตร สิบวันนี่ก็ลากเส้นตรงผ่านภูเขาไป มันก็เป็นเขตระหว่าง มันก็เป็นเส้นทางระหว่างเมืองแมนสรวงกับเมืองสองได้พอดีเหมือนกันนะ ระหว่างอำเภอแม่สรวยกับอำเภอสองนะครับ

         เป็นไปได้ว่าใช้ช้างเดินทางถึง 10 วัน อันนี้เราก็อย่าไปทำเรื่องพระลอ ให้เป็นเรื่องจริงเรื่องจังกันขึ้นมาทีเดียวล่ะ ก็เป็นไปได้ที่ว่าเมืองอ่า ! เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง มีหลักฐานจริง คือ มีเมืองสอง มีเมืองแมนสรวง เมืองแมนสรวงก็อยู่ในเขตอำเภอ แม่สาย จังหวัดเชียงราย ส่วนเมืองสองก็อยู่ในเขตอำเภอสอง จังหวัดแพร่ ก็ ก็เป็นไปได้ เป็นไปได้ทีเดียวว่าจะเป็นอย่างนี้

         อ่ะ! คราวนี้ถ้าเป็นไปได้ว่ามีสถานที่จริง มาลองตรวจสอบดูชื่อคน ชื่อตัวละคร ไม่เรียกตัวละคร นะชื่อ เอาละชื่อตัวละคร ไม่เรียกตัวละคร ไม่ทราบจะเรียกว่าอะไร ชื่อคน ชื่อตัวละครที่ปรากฏในเรื่องพระลอ

         พระเอกชื่อพระลอ นางเอกชื่อพระเพื่อน-พระแพงนั้น พระลอ พระเพื่อน -พระแพง แล้วก็มีพี่เลี้ยงของพระลอ คือ นายแก้ว - นายขวัญ อันนี้เป็นชื่อที่ใช้กันธรรมดา ใน ในผู้ที่พูดภาษาล้านนา เค้าใช้กันอย่างนี้แหละครับ เชียงใหม่ก็ใช้ได้ชื่อพวกนี้ ชื่อเพื่อน ชื่อแพง ล้านช้างก็ใช้ได้ครับ

         แพงก็แปลว่า หวง เพื่อนก็ เปิ้น คำเดียวกันนะครับ คำว่าชื่อพระลอนั้นเป็นชื่อที่ใหญ่อยู่แล้ว พระเพื่อน-พระแพง แต่ชื่อที่สงสัยอยู่ขึ้นมามีชื่อแปลก ๆ ไม่น่าจะเป็นชื่อทางล้านนา เช่น ชื่อดาราวดี ชื่อบุญเหลือ ชื่อนางรื่น-นางโรย ท้าวพิชัยพิษณุกร

         ชื่อพวกนี้ไม่น่าจะเป็นชื่อของ อ่า...คนในอาณาจักรทางล้านนาในยุคนั้น เป็นชื่อที่ค่อนข้างจะแปลกประหลาดอยู่ เป็นชื่อ ชื่อแปลก ที่แปลกก็เพราะสมัยนั้นไม่ค่อยจะมี ชื่อลักษณาวดี ไม่ค่อยจะมีหรอกครับ เพราะมันดูผิดแบบแผนที่จะ ตั้งอย่างนี้ แต่ชื่อเพื่อน ชื่อแพง นี่เป็นเองธรรดา ไม่มีอะไรที่น่าสงสัย

         ก็เลยน่าคิดว่า ชื่อต่าง ๆ ที่มาเติมเข้าไป คงเป็นชื่อที่แต่งขึ้นในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ในอาณาจักรอยุธยา ก็ค่อนข้างเป็นชื่อของไทย อยุธยา ไม่ใช่เป็นชื่อของไทยทางเขตของล้านนา มันแต่งขึ้น ก็น่าจะเป็นอย่างนั้นได้

         ถ้าเราเข้าใจหรือเชื่อตามที่คุณศุภกิจ นิมมานเหมินทร์ตามที่ท่าน ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี และก็หลายท่านบอกว่า ผู้ที่แต่งลิลิตพระลอขึ้นคือ พระยาแสนเมือง พระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งเข้ามาอยู่ในอยุธยา

         ถ้าพระเจ้าแสนเมืองแต่งขึ้นเนี่ย พระเจ้าแสนเมืองก็คงจะแต่งครั้งแรก ก็น่าจะเป็นชื่อตัวละครของล้านนาทั้งหมด แต่ต่อมาคงมีการเปลี่ยนแปลง การปรับเปลี่ยน ให้มีชื่อบางชื่อเป็นชื่อของคนทางอยุธยาขึ้นมาบ้างก็ได้ เช่นที่ว่าเมื่อสักครู่นี่ ชื่อนางรื่น-นางโรย

         ชื่อนี้ชื่อรื่น ชื่อโรยเนี่ย โรย เนี่ยหมายถึง รวย นะท่านนะ รื่น-รวย-รื่น-โรย เสียง โอ กับเสียง อวย นี่ โรย - รวย นางรื่น-นางรวย ที่จริงชื่อนี้มันก็เป็นชื่อ ชื่อธรรมดาของภาคกลาง ทางล้านนาไม่ค่อยมีชื่อนี้หรอกครับ

         ชื่อดาราวดีอย่างนี้ ก็ภาคกลาง บุญเหลือนี้ก็ภาคกลาง พิชัยพิษณุกร นี่เป็นชื่ออยุธยา ถ้าชื่อทางโน้นต้องชื่อบัวคำ บัวเกี๋ยงอะไรทำนองนี่แหละครับ เจ้าแสนเมืองมา เจ้าคำฟู อะไรทำนองนั้น เป็นชื่อทางล้านนาครับ แต่ส่วนชื่อ ลอ เพื่อน แพง แก้ว ขวัญ ชื่อนี้ใช้ในล้านนาอยู่แล้ว เป็นศัพท์ที่เป็นชื่อที่เรียกกันโดยทั่วไป

         นี่ก็เป็นจุดที่น่าศึกษาอยู่ว่า เรื่องพระลอนั้นเป็นเรื่องมีจริงอยู่ก่อน แล้วมาเป็นวรรณกรรม หรือว่ามันเป็นเรื่องที่เป็นวรรณกรรม เป็นนิยายเล่ากัน และก็ไปทำชื่อสถานที่ประกอบทีหลัง

         นี่ได้สองประการทีเดียว น่ะ ! มีวิธีคิด สองวิธีคิด หรือว่ามันเป็นแค่นิยายประจำท้องถิ่น ในเมื่อเป็นนิยายประจำท้องถิ่น มันก็ต้องมีชื่อสถานที่ประกอบอยู่ ก็เป็นอย่างนั้น

          ก็เป็นเรื่องที่ผมพยายามจะตอบสนอง ที่ท่านขอร้องมาในข้อที่สองว่า ขอให้พูดถึงเรื่องพระลอ โดยให้พูดแตกต่างจากที่เคยอ่านเคยเรียนมา ผมก็เลยพูดไปในเรื่องของลิลิตพระลอ แต่ออกไปทางการสันนิษฐานว่า เป็นวรรณกรรมมาก่อน แล้วจึงมามีชื่อสถานที่ประกอบ หรือว่าเป็นเรื่องจริง แล้วจึงมากลายเป็นวรรณกรรม ก็เดินได้ทั้งสองสายแหละครับ ว่าจะใช้สายไหนทั้งสองประการนี้

         นี้ก็ถ้าหากว่า เราจะเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เล่า มีสถานที่ประกอบ ก็หมายถึงว่าเป็นวรรณกรรม เป็นเรื่องที่มีคนแต่งขึ้น แต่แต่งขึ้นแล้ว ก็ต่อมาตัวละครแต่ละตัวนี่ดูจะเป็นที่ติดปากและติดใจของคนแถวนั้น ก็เลยสร้างสถานที่ขึ้นประกอบ นี่ก็เป็นเป็นเรื่องที่จะทำได้นะท่านนะ

         ผมยกตัวอย่างในพิษณุโลก อย่างเช่นประวัติของ บึงราชนก บึงราชนกมันก็เป็นบึงอย่างนั้นล่ะครับ แต่ถามว่ามันมีวรรณกรรมอะไรประกอบคำตอบก็คือ มีประชาชนแถวนั้น โอ !...อันนี้ยุคนานมาแล้ว กี่พันปีไม่รู้ ประชาชนแถวนั้นไปกินปลาหมอตัวใหญ่ ขนาดใหญ่ กินเสร็จผิดสำแลงไม่ตาย

         ไอ้ผิดสำแลงที่ว่านี่ ไม่ใช่คนผิดสำแลงธรรมดาหรอกครับ เกิดอาเภทขึ้นด้วยครับ หลังจากที่ผิดสำแลงอาหารเสร็จ ก็เกิดอาเภทล่มไปทั่วเมือง กลายเป็นบึงราชนก

         ล่มทั้งเมืองกลายเป็นบึงราชนก นี่หมายความว่าคนตายหมดทั้งเมืองแล้วตรงนั้นก็ที่ยุบลงไป เกิดแผ่นดินไหวหรืออย่างไร หรือล่มไปทั้งเมืองหมายถึงเกิดโรคระบาด หรือผิดสำแลงอาหารตายไปทั้งเมือง เพราะจะมีปลาหมอใหญ่ขนาดนั้น ต้องมีบึงใหญ่มาก่อนอยู่แถวนั้นแหละ

         เลยสรุปว่าไปเอาปลาหมอจากบึงราชนก มากินปลาหมอยักษ์นะครับ กินเสร็จเลยล่มไปทั้งเมือง หรือว่ามันจะเป็นปลาหมอที่เค้าตัดต่อ DNA มามั๊ง ตัวมันถึงใหญ่ผิดปกติเนี่ย พวกที่ตัดต่อ DNA เนี่ยไม่ว่าจะเป็นพืช เป็นสัตว์นะ ถ้ากินเข้าไป มันจะเกิดผลร้าย เค้ากำลังโต้กันอยู่ เห็นชัด ๆ ก็กรณีของปลาหมอยักษ์นี่ละมั้งที่ล่มลงไป

         คราวนี้ก็จะถามว่า บึงราชนกมีมาก่อนจึงเกิดวรรณกรรมขึ้น หรือ หรืออย่างไร หรือว่ามันมีเรื่องจริง แล้วจึงเกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้น นี่ก็ว่ากันไปอีกที

         ด้วยเหตุนี้ถ้าหากว่าท่านผู้ฟัง เนี่ย เป็นวันอาทิตย์ซะด้วยนะครับ ท่านผู้ฟัง ที่ท่านอาจจะนอนฟังอยู่ก็แล้วแต่เถอะครับ มีความคิดเห็นประการใดเกี่ยวกับเรื่องพระลอเนี่ยนะครับ กรุณาเขียนมาถึงผมได้ครับ นายประจักษ์ สายแสง คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กรุณาเขียนมาที่นี่ก็ คงจะได้มีการสังสรรค์กันทางวิชาการ

         เพราะเรื่องอย่างนี้นั้นเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดสติปัญญา เป็นเรื่องที่ค้นคว้าเกี่ยวกับวัฒนธรรมของเรา ค้นคว้าไปแล้ว ก็ไม่มีพิษมีภัยครับ มีแต่ความแตกฉานทางสติปัญญาทั้งนั้นแหละครับ ก็ ก็ เชิญชวนนะครับ

         อันนี้ท้ายสุดเลย ก็มีคนถามว่าคำว่า "ลอ" แปลว่าอะไร โอ !.. หลาย หลายความหมาย นะครับอยู่ภาษาที่ไหล "ลอ" ล. ลิง เนี่ยชื่อของพระลอเนี่ย พระลอมันเป็นชื่อไทยท่าน หลายท่านไป ไปพะวงว่า เอ !.. มันเหมือนชื่อ โรมิโอ ตัดคำว่า มิโอ ออกก็ "โร" นะ r - o - Ro เป็น "ลอ" ได้ Romeo และ Juliet ซึ่งเป็นเรื่องของเชคเปียร์เค้า แหม! .. มันพ้องกันมั๊ง Romeo ตัด meo ออก เหลือ "Ro" โรเป็นลอเสียง "ร" เป็นเสียง "ล" ธรรมดา

         แล้วหลายคนก็บอกมันเหมือนกับเรื่องท้าวขูลู-นางอั้ว ของอีสาน แล้วทั้งหมดนี้ก็เนี่ย โศกนาฎกรรมมั้ง นั้นขูลู-นางอั้ว ตัด ขู ออก เหลือ ลู กับลอ นี่ก็ใกล้กัน ลอในภาษาโคราช ล้านนานั้นคำว่า ลอ แปลว่าประสมก็ได้ แปลว่าอยู่เยื้องก็ได้

         หลักรอ อันนี้ตำบลหัวรอ หลักรอ รอ เป็นลออีกทีหนึ่ง หลักรอก็ตอกกันไว้ไม่ให้ตลิ่งพังอย่างเช่น เวียงลอนี้ ที่อำเภอจุนเนี่ย มันก็อยู่ใกล้แม่น้ำ และแม่น้ำจะพังเข้าไป เวียงลอ คือ เวียงที่ชลอเอาไว้ ชลอเป็นคำเดียวกัน ตอนหลังจึงเรียกว่ารอ หัวรอก็มี จะเห็นหลักรอก็คือชลอไม่ให้น้ำมันไหลแรงนักนะครับ

         พูดเรื่องพระลอมาตามที่ท่านขอมาทั้ง 3 ข้อ ก็คิดว่าสมควรแก่เวลาครับ กระผมนายประจักษ สายแสง ก็ต้องขอกราบลาท่านผู้ฟังไปก่อน ไว้พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับผม สวัสดีครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: 1 2 [3]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.093 วินาที กับ 19 คำสั่ง