เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 38239 ลิลิตพระลอ
Natalee
อสุรผัด
*
ตอบ: 37



ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 08 ก.พ. 08, 21:29

ร่องรอยของลิลิตพระลอว่าแต่งในสมัยไหน  มองเห็นเค้าเงื่อนได้จาก"ร่าย" ตอนเริ่มต้นเรื่อง

... รอนลาวกาวตาวตัดหัว ตัวกลิ้งกลาดดาษดวน ฝ่ายข้างยวนแพ้พ่าย ฝ่ายข้างลาวประไลย ฝ่ายข้างไทยไชเยศร์ คืนยังประเทศพิศาล สำราญราษฎร์สัมฤทธิ พิพิธราชสมบัติ พิพัฒนมงคล สรพสกลสิมา ประชากรเกษมสุข สนุกทั่วธรณี พระนครศรีอโยธยา มหาดิลกลภ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมยศโยคยิ่งหล้า ฟ้าฟื้นฟึกบูรณ์ ฯ



เห็นด้วยกับการวิเคราะห์ที่เเจ่มเเจ้งของอาจารย์ค่ะ ว่าเค้าเงื่อนค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่ต้นเรื่อง
ซึ่งตอกย้ำความพ่ายแพ้ของหัวเมืองทางเหนือแก่อยุธยา
ก็ต้องกลับมามองว่ารัชสมัยใดที่กษัตริย์อยุธยาจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับหัวเมืองเหนือขนาดนั้น

http://www.oceansmile.com/K/Ayuttaya/KingAyuttaya.htm

เล็งไปที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ผู้เคยครองกรุงศรีอยุธยา แล้วย้ายไปประทับที่พิษณุโลก
เพื่อกำราบหัวเมืองเหนือโดยเฉพาะ ลองตามรอยท่านฉันทิชย์ กระเเสสินธุ์ ในประชุมวรรณคดีไทย ภาคพิเศษ
ที่มีการแกะรอยทวาทศมาส โคลงดั้น หน้า 26 พ.ศ. 2512 ดังนี้ค่ะ

"นักประวัติศาสตร์ทราบกันเเล้วว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้น
หัวเมืองเหนือถูกรุกรานและเป็นขบถ เช่น พระยายุทธิษฐิระ เจ้าเมืองเชลียงเป็นขบถ
นำทัพของพระเจ้าติโลกราชจากเชียงใหม่มาตีเอาเมืองสุโขทัย เมื่อพุทธศักราช 2004
เมื่อตีได้เมืองสุโขทัยเเล้ว ชล่าใจยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลกอีก แต่ไม่สำเร็จ
เพราะชาวพิษณุโลกร่วใจกันต้านทานเข้มเเข็ง พระยายุทธิษฐิระจึงนำพระเจ้าติโลกราช
ไปตีเอาเมืองกำแพงเพชร ที่กำแพงเพชรก็ต่อสู้อย่างทรหด พระเจ้าติโลกราชไม่อาจหักเข้าเมืองได้
ประจวบกับมีศึกฮ่อมาประชิดเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าติโลกราชจึงถอยทัพคืนไป

ทางกรุงศรีอยุธยาได้ให้พระยากลาโหมเป็นเเม่ทัพยกมาตีเอาเมืองสุโขทัยคืนได้
การศึกครั้งนี้เองที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงพระราชดำริว่าหัวเมืองเหนือ
อยู่ห่างกรุงศรีอยุธยามาก เวลามีศึกสงคราม กว่าทัพทางกรุงศรีอยุธยาจะขึ้นไปถึง
หัวเมืองเหนือก็ถูกข้าศึกทำลายแหลกราญไปเสียแล้ว พระองค์จึงเสด็จขึ้นไปเสวยราชย์
ณ เมืองพิษณุโลก เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าศึกมาย่ำยี และหากมีข้าศึกมาประชิดก็สามารถ
ทรงบัญชาการทัพได้ทันที ในโอกาสเดียวกันนั้นพระองค์ก็ได้ทรงอภิเษกให้พระบรมราชาราชโอรส
ครองราชสมบัติ ณ กรุงศรีอยุธยาเเทน..."

พอเข้าเค้าไหมคะ





บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 08 ก.พ. 08, 22:18

สุโขทัยที่ผมพูดถึงคือตัวเมืองเก่าสุโขทัยที่อยู่ห่างจากแม่น้ำยมมากกว่า ๑๐ กม.ครับคุณ Natalee ไม่ได้หมายถึงจังหวัดสุโขทัยในปัจจุบันซึ่งแทบจะครอบคลุมเมืองหลักในกลุ่มนครรัฐสุโขทัยไว้ทั้งหมดครับ ลำพังสุโขทัยเอง ทำเลยังไม่ได้ดีเท่าเมืองในกลุ่มนครรัฐเดียวกัน การค้าต้องพึ่งพาเส้นทางการค้าทางบกด้วยอย่างแน่นอนครับ

ทีนี้เรื่องสภาพการค้า การค้าทางไกลนั้นถึงจะใช้ระบบจิ้มก้องแบบรัฐต่อรัฐ แต่เห็นได้ว่าในกองเรือที่ส่งไปจิ้มก้องจีน นอกจากส่วนหนึ่งที่เป็นบรรณาการแก่จักรพรรดิ์จีน (ซึ่งจะได้รับตอบแทนกลับมาอย่างเกินคุ้ม) ยังมีส่วนที่ผสมไปขายด้วย นอกจากนี้ยังมีส่วนของขุนนาง และพ่อค้าที่ร่วมไปกับกองเรืออาศัยภารกิจจิ้มก้องเปิดทางสะดวกให้ เห็นได้ว่ามีสารพัดขนาดเลยครับ

ส่วนเส้นทางบก คงต้องไปอ่านบันทึกทูตเปอร์เซียที่เข้ามาในสมัยพระนารายณ์ ขึ้นบกที่หัวเมืองมอญในอ่าวเมาะตะมะ แล้วใช้เส้นทางบกเข้ามาทางกาญจนบุรีโดยมากับกองคาราวานการค้าครับ

ส่วนจะแต่งในยุคไหน ควรต้องอ่าน ๔ เรื่องประกอบกัน ลิลิตพระลอ ทวาทศมาส กำสรวลสมุทร และ ยวนพ่าย
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Natalee
อสุรผัด
*
ตอบ: 37



ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 09 ก.พ. 08, 12:05


ภาษาที่กวีใช้  แม้ในบทเริ่มต้น บอกถึงความชำนาญในรูปศัพท์  การใช้คำ  ประเภทคำประพันธ์  เพราะโคลงในนี้ไม่ใช่โคลงสี่สุภาพอย่างเดียว  แบบอื่นก็มีปนอยู่ด้วย
ต้องระดับมืออาชีพในราชสำนักทีเดียวละค่ะ
ด้วยหลักฐานทั้งหมดนี้ ชี้ไปที่ภูมิหลังของกวีว่าเป็นอยุธยา

แล้ววัฒนธรรมเหนือที่เด่นชัดอยู่ในเรื่องนี้ มาจากไหน?
(โปรดอดใจรอ)


เข้ามาเดาค่ะ อ่านแล้วไม่พบอิทธิพลเหนือที่เด่นชัดเลยค่ะ
อ่านกระเทาะเปลือก 'ลิลิตโองการแช่งน้ำ' ของจิตร ภูมิศํกดิ์ และนิราศหริภุญชัย ของ อ. ประเสริฐ ณ นคร
แล้วรู้สึกว่าทั้งสองเรื่องมีภาษาเหนือปนอยู่มากกว่าลิลิตพระลอโขอยู่

โดยเฉพาะเรื่องแรก เมื่อจิตรแปลความหมายของคำบางคำไม่ออก
ก็ต้องหันไปหาความหมายของคำนั้นๆ ในภาษาลาว
จึงสามารถถอดความออกมาเป็นไทยปัจจุบันได้ แสดงว่าภาษาไทยกลางโบราณ
มีความเชื่อมต่อหรือหยิบยืมคำหลายคำในภาษาเหนือหรือภาษาลาวมาใช้


เพ่งไปที่อิทธิพลของวัฒนธรรมเหนือทั้งทาง
1) ภาษา
2) ขนบธรรมเนียม


ด้านภาษา ดิฉันไม่พบภาษาเหนือจังๆ เลยค่ะ เจอแต่สันสกฤต (แน่อยู่แล้ว) และพราหมณ์ เช่น

ราตรีมัวมืดฟ้า............เชิญบพิตรเจ้าหล้า
ลอบขึ้นสมศรี
ภัควดีดวงดอกไม้.........เสด็จออกมารับไท้
ธิราชเข้าไปในฯ

**ภัควดี คำอธิบายศัพท์เขียนว่า เป็นคำเรียก 'พระอุมา' ในที่นี้หมายถึงสองนางราชธิดา

คำอื่นที่พอเข้าเค้าภาษาเหนือ คือแว่นฟ้า

ด้านขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ก็ยังไม่พบวัฒนธรรมเหนือจังๆ เช่นกัน
ตอนจัดงานพระศพ ก็ยังเป็นประเพณีของเจ้านายภาคกลางอยู่ค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 11 ก.พ. 08, 12:25

ถ้าคุณนาตาลีรู้จักลิลิตพระลอ ก็ต้องรู้จักโคลงบทนี้ 
ใครที่เรียนคำประพันธ์ หัดแต่งโคลงสี่สุภาพ ก็จะต้องท่องบทนี้ขึ้นใจ

เสียงลือเสียงเล่าอ้าง                 อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร                  ทั่วหล้า.
สองเขือพี่หลับใหล                 ลืมตื่น ฤๅพี่
สองพี่คิดเองอ้า                      อย่าได้ถามเผือ

เห็นภาษาเหนือแล้วใช่ไหมคะ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 11 ก.พ. 08, 12:51

ข้อนี้เห็นด้วยกับอาจารย์เทาชมพูที่ว่า ลิลิตพระลอใช้คำสรรพนามของทางเหนือ

แต่นอกเหนือไปจากนี้ ผมก็เห็นตรงกันกับคุณ Natalee ครับ ว่าไม่เห็นอิทธิพลทางเหนือที่เด่นชัด

หากเปรียบเทียบกับกำสรวลสมุทรที่สงสัยกันว่าอาจจะเป็นงานยุคเดียวกัน หรืออาจจะเป็นกวีกลุ่มเดียวกัน จะเห็นว่ากำสรวลสมุทรมีคำเขมรแทรกอยู่มาก ในขณะที่ลิลิตพระลอ มีน้อยจนน่าแปลกใจ

เป็นไปได้ว่าลิลิตพระลอเป็นงานยุคหลังกว่ากำสรวล แต่งเมื่ออิทธิพลภาษาเขมรจางลงไปจากราชสำนักอยุธยามากแล้ว เขียนแนว "เลียน" เรื่องล้านนา โดยกวีอยุธยา และต่อยอดจากงานเก่ายุคต้นอยุธยาครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 11 ก.พ. 08, 13:48

ผมเป็นคนโง่วรรณคดี
คำให้การของผม อาจเป็นประโยชน์ครับ
"ควรต้องอ่าน ๔ เรื่องประกอบกัน ลิลิตพระลอ ทวาทศมาส กำสรวลสมุทร และ ยวนพ่าย"

ทวาทศมาส
----อ่านไม่รู้เรื่องเลยครับ
ยวนพ่าย
----อ่านเกือบรู้เรื่อง
กำสรวลสมุทร
----อ่านซำบาย
พระลอ......
ชิลล์ๆ พระนิพนธ์กรมพระปรมาฯ ยังยากกว่าเลยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 11 ก.พ. 08, 14:10

ภาษามีวิวัฒนาการ   และยุคสมัย
ใน ๔ เรื่อง ยวนพ่ายเก่าสุด รองลงมาคือกำศรวล  อันดับ ๓ ทวาทศมาส  อันดับ ๔ ลิลิตพระลอ
๓ เรื่อง เป็นโคลงดั้น   ส่วนลิลิตพระลอเรื่องเดียวเป็นโคลงสี่สุภาพและสี่แบบอื่นที่กลืนกับโคลงสี่สุภาพ
แต่งขึ้นเมื่อโคลงสี่สุภาพเป็นที่นิยมแทนที่โคลงดั้นแล้ว

มันคงไม่ปุบปับชนิดเมื่อวันนี้ราชสำนักนิยมโคลงดั้น   วันนี้เปลี่ยนเป็นนิยมโคลงสี่สุภาพ
แต่ใช้ระยะเวลานานพอสมควร กว่าจะ"ปรับ" หรือ" กลาย"จากดั้นเป็นสุภาพ  ด้วยเพิ่มสัมผัสระหว่างบาท และคำท้ายในบาทที่ ๔
อ่านแล้วกลมกลืนรื่นหู เสนาะกว่าโคลงดั้น  ซึ่งสัมผัสน้อยกว่า และจบโคลงแบบห้วนกว่า

การเพิ่มจากสัมผัสน้อยไปหาสัมผัสมาก เป็นวิวัฒนาการของคำประพันธ์ไทย ไม่ใช่เฉพาะแต่โคลง กลอนก็เป็นด้วย
ถ้าเทียบให้เห็นชัดคือกลอนเพลงยาวในรัชกาลที่ ๑ ทั้งของพระเจ้าแผ่นดินและกรมพระราชวังบวรฯ  สัมผัสในยังน้อย   คำในแต่ละบาทก็เว้นจังหวะสองบ้างสามบ้าง  ยังไม่ค่อยเคร่งครัด
แต่พอมาถึงสุนทรภู่ เล่นสัมผัสในแพรวพราว   อ่านแล้วรื่นหูกว่าในการคล้องจอง   เท่านั้นแหละ กลอนแบบเดิมแทบจะหล่นหายไป ไม่มีใครเล่นอีก

ลิลิตพระลอแต่งมาก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์ หรืออย่างน้อยก็สมัยเดียวกัน อาจจะช่วงต้นๆรัชกาล   เพราะอ้างไว้ในจินดามณี แสดงว่าเป็นที่รู้จักกันดีแล้ว

ส่วนวัฒนธรรมเหนือ...ก็เนื้อเรื่องไงล่ะคะ  โธ่  เดี๋ยวมาดูดีกว่าว่าแหวกไปจากอยุธยายังไงบ้าง

บันทึกการเข้า
Natalee
อสุรผัด
*
ตอบ: 37



ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 11 ก.พ. 08, 14:56

สำหรับภาษา ดิฉันมองว่าถ้าเป็นเหนือ ก็ไม่เหนือสุดโต่งอย่างล้านนาโน่น
เป็นแค่ภาคกลางตอนบน หรือเหนือตอนล่าง เท่านั้นค่ะ
เปรียบแล้วเป็นแค่สุโขทัยหรือพิษณุโลก ซึ่งอิทธิพลของภาษากลาง หรืออยุธยายังครอบงำอยู่มาก

สรรพนาม 'เขือ' และ 'เผือ' พบในศิลาจารึกหลักที่หนึ่ง ศูนย์กลางอยู่ที่สุโขทัย
ยังสงสัยว่าสองคำนี้มีการใช้แพร่หลายในวรรณกรรมเหนือจริงๆ หรือไม่

สำหรับปู่เจ้าสมิงพราย ดิฉันก็ไม่เเน่ใจว่าดั้งเดิมเป็นของภาคกลางหรือไม่
แต่เมื่อพิศดูจากข้อความในศิลาจารึกแล้ว มีหลวงปู่เหมือนกัน
"มีพิหาร มีปู่ครู มีทะเลหลวง มีป่าหมาก ป่าพลู มีไร่ มีนา มีถิ่น มีฐาน มีบ้านใหญ่ บ้านราม มีป่าม่วง ป่าขาม ดูงามดังแกล้ง..."

ขณะนี้เชื่อว่าว่า 'ลิลิตพระลอ' ได้อิทธิพลของวัฒนธรรมภาคกลางตอนบน หรือเหนือตอนล่าง
ก้ำๆ กึ่งๆ ระหว่างสองถิ่น ค่ะ




บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 11 ก.พ. 08, 15:37

ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่าเป็นเหนือถิ่นไหน
ดิฉันไม่ทันคิดถึงสุโขทัยค่ะ  อ่านตำนานแล้วไปคิดถึงทางอีสานโน่น   หรือไม่ก็เหนือที่เฉียงๆมาทางอีสานตอนบน

ลักษณะเมืองแมนสรวงและเมืองสอง  ที่ต่างคนต่างเป็นใหญ่   ไม่ขึ้นแก่กัน ทำศึกกัน   คล้ายกับการปกครองในแหลมทองสมัยโบราณก่อนสุโขทัย
ที่มีอาณาจักรใหญ่บ้างเล็กบ้างกระจายอยู่ทั่วไป   

เมืองทั้งสองถ้ามีเค้าความเป็นจริง ก็น่าจะไม่ใช่อาณาจักรใหญ่นัก     อยู่ไม่ไกลกันด้วย เพราะแพร่ข่าวถึงกันได้  แสดงว่าการติดต่อคมนาคมเป็นไปถึงกันสะดวก 
การรบกันในรุ่นพ่อของพระลอ  น่าจะเป็นการทำศึกขยายอาณาจักร  เมืองทั้งสองนี้น่าจะมีชายเขตชนกัน แม่น้ำกั้นเขตไว้
ชื่อแม่น้ำกาหลง ก็น่าคิดเหมือนกันว่าเป็นชื่อมาแต่เดิมหรือเปล่า
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 11 ก.พ. 08, 16:29

       ตอนเด็กๆ อ่านพระลอ ถอดความโดย อ.เปลื้อง ณ นคร  ภาพวิจิตรโดยครูเหม เวชกร ยังติดตามาจนปัจจุบันครับ
         สงสัยเรื่องเนื้อเรื่องของพระลอครับ (บ้างว่าอาจเป็นเรื่องทางจังหวัดแพร่ที่มีอำเภอสรอง)
       คือเห็นว่าเป็นวรรณคดีที่เนื้อเรื่อง "แรง" ที่สุด ถ้าให้เป็นผู้สร้างหนังจากวรรณคดีของไทยก็ต้องเลือกเรื่องนี้ครับ
 
         ความยาวของเรื่องพอเหมาะ มีหลายรส แต่ละรสเข้มข้น ทั้ง 'eromantic', fantasy, heavy drama, action
เริ่มจากแนวพาฝัน สองนางได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างก็ฝันใฝ่ใคร่มี ถึงขนาดขอให้ปู่เจ้าทำเสน่ห์ เอื้อให้เป็นฉากโชว์ special effect
ของการสู้กันทางคาถาระหว่างสองเมือง ต่อมาก็เป็น heavy drama ตอนพระลอคลั่ง ทั้งพระชนนี  พระมเหสีรั้งไว้ไม่อยู่
         ฉากรักของทั้งผู้ติดตามพระ นาง และพระ นางที่แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ จบลงด้วยฉากการต่อสู้ที่สวยงามและโหดถึงขนาดตายหมด
         เป็นหนังที่ติดเรท R หรือ NC 17 ครับ 


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 11 ก.พ. 08, 17:22

เสียดายอยู่อย่างหนึ่งว่า การเสียกรุงครั้งที่ ๒ น่าจะทำให้สูญเสียวรรณคดีไปไม่น้อย
จึงไม่มีตัวเทียบให้เห็นว่า "ขนบ" การแต่งเรื่อง dramatic สุดๆ แบบลิลิตพระลอ มีอีกหรือเปล่า
ที่คุณศิลาเอ่ยถึง ตรงกับใจดิฉันหลายอย่าง เช่น
๑)ถ้าเทียบกับเรื่องแต่ง(fiction) เรื่องอื่นๆ ที่มีตัวละคร มีเนื้อเรื่อง อย่างเช่นอนิรุทธคำฉันท์ หรือสมุทรโฆษคำฉันท์     ลิลิตพระลอแหวกไปคนละทางเลย

สองเรื่องแรกนั้นเน้นความวิจิตรของการปรุงแต่งฉันท์    มองไปก็เหมือนกับคนแต่งเป็นศาสตราจารย์  แต่งตำราวิชาการประพันธ์
แต่ลิลิตพระลอ คนแต่งไม่ใช่นักวิชาการ  เป็นคนหนุ่มที่ผาดโผนด้วยลีลา จินตนาการและฝีมือ   เรียกว่าเป็นตัวศิลปินมาเอง

๒)เนื้อเรื่อง ไม่ได้เอามาจากชาดก แต่นัยยะเป็นตำนานท้องถิ่นทางเหนือ  ข้อนี้แปลกไปจากเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าสมุทรโฆษ เสือโค หรืออนิรุทธ ที่เอามาจากชาดกและวรรณคดีอินเดีย

๓) ลีลาการแต่ง ถ้าเทียบกับวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนกลาง  อย่างในอนิรุทธคำฉันท์   ในบทอัศจรรย์
จะเห็นว่าคนละเรื่องกันเลย
อนิรุทธคำฉันท์ บรรยายไว้เรียบร้อยสุภาพ ห่างเหินปราศจากอารมณ์ใดๆ  ถ้าเป็นหนังก็ผ่านกรรไกรเซนเซอร์มาได้ไม่มีฉากไหนถูกตัด

           สองสมสองสุขเนื่องใน                  ปรางแก้วแพร้วใส
บัลลังก์รัตนรจิต
          สองท้าวต่างตนต่างพิศ                  เพียรพักตรชมชิด
พระองคอรรถเอวอร
          ตฤบรสสุคนธกำจร                        จรุงใจสองสมร
สำรวลสำราญซ่านเสียว
         สองท้าวแนบเฝือฟั่นเกลียว             คือแท่งพิมพ์เดียว
ประกิตแลชิดเศียรสม

มีบรรยายมาอีกหลายบท   ก็ใจความวนๆกันอยู่ตรงนี้         ไม่มีคืบหน้ากว่านี้
        สองพิศสองเพียรภาคย์                   สองเสวยมลากสองเสวยรมย์
สองท้าวสองแทบชม                              ชมเชยชิดคือตรึงตา

        กวีผู้แต่งตอนนี้ เพลิดเพลินกับการเลือกสรรคำให้ขับแล้วออกมารื่นหู  เน้นการเล่นคำ อย่างคำว่า "สอง"  ถือว่าซ้ำๆกันคือคล้องจอง  เป็นความไพเราะของคำ
พูดอีกทีว่ากวีสนใจความไพเราะของลีลาคำ มากกว่าเนื้อความ  เพราะบทอัศจรรย์ก็แต่งกันได้แค่นี้แหละค่ะ   ไม่แหวกจากนี้
แต่ลิลิตพระลอนั้น"แหวก" ออกมาทั้งการใช้คำ ทั้งเนื้อหา    ไม่มีวรรณคดีเล่มไหนเลย พูดถึงบทอัศจรรย์ระหว่างชายหนึ่งหญิงสอง 
ตั้งแต่สุโขทัยมาจนถึงรัตนโกสินทร์  ไม่มีกวีคนไหนคิดบทนี้ได้แม้แต่คนเดียว 
ส่วนเรื่องมีเพศสัมพันธ์กันง่ายดาย ชนิดไม่ต้องถามชื่อ หรือส่งใครไปแทนตัวก็ได้    รัตนโกสินทร์พอมีบ้าง

ถ้าไปอ่านกาพย์เห่เรื่องกากีของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ จะเห็นว่าลีลาการแต่งในตอนนี้คล้ายกัน  ท่านคงจะได้อิทธิพลมาจาก"ขนบ" การแต่งของกวีในราชสำนักยุคก่อน
ถ้ามีตำราให้เรียน เจ้าฟ้ากุ้งก็คงเรียนจากวรรณคดีพวกนี้ละค่ะ

 
บันทึกการเข้า
Natalee
อสุรผัด
*
ตอบ: 37



ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 11 ก.พ. 08, 17:30

     
         ฉากรักของทั้งผู้ติดตามพระ นาง และพระ นางที่แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ จบลงด้วยฉากการต่อสู้ที่สวยงามและโหดถึงขนาดตายหมด
         
ที่คุณ SILA ยกมาข้างบนนี้ เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมแขก
เพราะเนื้อเรื่องมักเป็นโศกนาฏกรรมที่คล้ายวรรณกรรมแขก หรือยุคกลาง เช่น
1) ตัวเอกทั้งหญิงและชายมีชาติวุฒิ เป็นลูกกษัตริย์ เจ้าเมือง พระน้ำพระยา
2) บูชารักเหนืออื่นใด
3) มี 'กรรมเก่า' บังตา ซึ่งนำไปสู่ความตาย


หันมาดูบทอัจรรย์บ้าง  ของไทยแท้ฝ่ายหญิงได้แต่เป็นผู้รับ เอียงอาย
แต่สำหรับพระเพื่อนพระแพง เป็นฝ่ายรุกไล่ จนพระลออ่อนระโหย โยนผ้ายอมแพ้ ดังบท 533
ซึ่งไปเหมือนคาเเรกเตอร์แขกน่ะค่ะ

๕๒๘ พระเพื่อนสมสมรแล้ว..........ลอราชเชยชมแก้ว
แก่นไท้แพงทอง.....................เล่านา ฯ
๕๒๙ ละบองบรรพหลากเหล้น.......บ เหนื่อย บ ได้เว้น
เหิ่มชู้สมสมร ฯ
๕๓๐ ดุจอัสดรหื่นห้า.................แรงเร่งเริงฤทธิ์กล้า
เร่งเร้งฤๅเยาว์
๕๓๑ ดุจสารเมามันบ้า................งาไล่แทงงวงคว้า
อยู่เคล้าคลุกเอา ฯ
๕๓๒ ประเล้าโลมอ่อนไท้............แก้วพี่เอยเรียมได้
ยากด้วยเยาวมาลย์ ฯ
๕๓๓ เอนดูวานอย่าพร้อง............เชิญพระนุชนิ่มน้อง
อดพี่ไว้เอาบุญ ก่อนเทิญ ฯ

 
 
 
**รูปฝีมือศิลปินแห่งชาติ ท่านจักรพันธุ์ฯ ซึ่งจินตนาการว่าสองสาวเป็นชาวเหนือแต้ๆ



บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 11 ก.พ. 08, 18:41

         เคยเห็นภาพพระเพื่อน พระแพง ของ อ. จักรพันธุ์ เมื่อนานมากแล้วยังติดตา ติดใจ และยังไม่เคยเห็น
ในเน็ทอีกเลยครับ
          ภาพที่คุณนาตาลีแสดงไว้ ไม่ใช่ภาพที่เห็นเป็นภาพของ อ.จักรพันธุ์ ลักษณะภาพของท่านจะเป็นแบบภาพนี้ครับ

พระลอ - นางลักษณาวดี
         


บันทึกการเข้า
Natalee
อสุรผัด
*
ตอบ: 37



ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 11 ก.พ. 08, 19:48

เอ แล้วรูปพวกนี้ล่ะ ใช่ฝีมือท่านศิลปินหรือเปล่าคะ




บันทึกการเข้า
Natalee
อสุรผัด
*
ตอบ: 37



ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 11 ก.พ. 08, 19:52

รูปนี้ไม่ใช่เรื่องพระลอ แต่ไม่ทราบว่าจะตรงกับวรรณคดีเรื่องใดแน่


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.093 วินาที กับ 20 คำสั่ง