เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 38241 ลิลิตพระลอ
Natalee
อสุรผัด
*
ตอบ: 37



 เมื่อ 19 ม.ค. 08, 17:58

ซื้อหนังสือคู่มือลิลิตพระลอของคุรุสภามาอ่าน มีคำถามบางประการค่ะ
เป็นไปได้ไหมคะว่าลิลิตพระลอ (ที่ว่ากันว่าแต่งในสมัยอยุธยาตอนต้น)
ได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมแขก เพราะตัวละครหญิงออกก๋ากั่นใช่ที่
ผิดแผกประเพณีรักนวลสงวนตัวของไทยโบราณ
ดูไปก็คล้ายๆ กับกามาสูตรของอินเดียไม่ปาน โดยเฉพาะสองบทนี้ค่ะ

สองนางนำแขกขึ้น.......เรือนสวน
ปัดฟูกปูอาสน์ชวน........ชื่นชู้
สองสมพาสสองสรวล....สองเสพย์
สองฤดีรสรู้...............เล่ห์พร้อมเพรียงกันฯ


เสร็จสองสมพาสแล้ว.....กลกาม
สองอ่อนสองโอนถาม.....ชื่อชู้
สองมาแต่ใดนาม.........ใดบอก ราพ่อ
ให้แก่สองเผือรู้...........ชื่อรู้เมืองสองฯ

ผู้แต่งคือ พระเวทฯ คำแปลบางบทชวนฉงนจริงๆค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 07 ก.พ. 08, 18:08

เหตุผลที่ยกมา  ยังไม่มากพอจะสรุปได้ว่าลิลิตพระลอได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมแขก เพราะตัวละครหญิงออกก๋ากั่นใช่ที่
ผิดแผกประเพณีรักนวลสงวนตัวของไทยโบราณ
สงสัยว่า
๑) วรรณกรรมอินเดียเรื่องไหนที่แสดงว่าตัวละครหญิงก๋ากั่นคะ
๒) ประเพณีรักนวลสงวนตัวของไทยโบราณ  อาจเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การบรรยายตามจินตนาการในวรรณคดีก็อีกเรื่องหนึ่ง
สมุทรโฆษคำฉันท์ อนิรุทธิ์คำฉันท์ ขุนช้างขุนแผน พวกนี้นางเอกได้กับพระเอกก่อนแต่งงานทั้งนั้น

แต่ก็เห็นด้วยข้อหนึ่งว่า สาวเมืองสรองในเรื่องนี้ เปรี้ยวถึงใจกันทั้งลูกสาวท้าวพระยาและนางพี่เลี้ยง  นิยายอีโรติคสมัยนี้ นางเอกยังไม่ใจถึงเท่า  อย่างน้อยก็ต้องรู้จักพระเอกก่อน
ไม่ใช่มาถามชื่อฝ่ายชายกันทีหลัง อย่างนางรื่นนางโรยทำ
บันทึกการเข้า
Natalee
อสุรผัด
*
ตอบ: 37



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 08 ก.พ. 08, 00:21

ขอบพระคุณท่านอาจารย์สำหรับคำตอบค่ะ
ที่คิดว่าลิลิตพระลอได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมแขก เพราะเหตุผลหลายประการ


1) ภาษาในเรื่องเป็นไทยโบราณ แต่มีศัพท์แสงเป็นภาษาสันสกฤตสอดแทรกตลอด เช่น
เผืออยู่ในรมยนคร มโนหรราชธานี บุรีรมยบอกแจ้ง
จะอยู่ด้วยกล้องแกล้ง แต่นี้ฤาไป จากเอยฯ

รมย.... = Sanskrit ‘Romya’ (the beautiful)
มโนหระ = Sanskrit ‘Manohora’ (attractive)
บุรี......= Sanskrit ‘Puri’ (town, city)

2) เรื่องของแขก ตัวละครชอบเดินทางไปค้าขาย เช่น ในเรื่องกามนิต ที่ไปค้าขายที่โกสัมพี
อาชีพคนไทยสมัยก่อน ไม่ค่อยเป็นพ่อค้าวาณิช รอนเเรมไปเรื่อย
แต่เป็นสังคมปักหลัก เพาะปลูกอยู่กับที่

สองนายฟังสองนาง แสร้งบอกพลางบอกชื่อ เผือนี้ชื่อเจ้ารามรัตน์
นัดกันมาจะค้า พลัดมาท่าทางทบ พอประสบเจ้าพราหมณ์ทรงนามศรีเกศ
ใคร่เห็นประเทศมาด้วย พอประสบหน้าสร้อย พี่เเล้จอมสมรฯ

3) เรื่องของแขก บทอัศจรรย์สามารถเป็นหมู่ หนึ่งชายหลายหญิง
ดั่งภาพจากกามาสูตร ข้างล่างนี้ (ปกปิดบางส่วนกันอุจาด) แขกทำได้ไม่รู้อาย
หากเป็นประเพณีไทยเดิม มักแค่สองต่อสองในที่รโหฐาน

เป็นความรู้สึกนึกคิด (เดา) ทั้งหมด หากผิดก็ขออภัยค่ะ






บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 08 ก.พ. 08, 01:01

ขออนุญาตค้านคุณภราดร.... เอ๊ย!!! คุณนาตาลี ครับ


ข้อแรก ภาษาสันสกฤตใช้กันอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิมานมนานกาเลแล้ว
อย่างน้อยก็ก่อนอาณาจักรล้านนาจะเป็นอาณาจักรอยู่หลายศตวรรษ
กษัตริย์โบราณก็มีพระนามเมื่อครองราชย์เป็นภาษาสันสกฤตปนมอญแขมร์อยู่ทุกพระองค์
เช่น พระเจ้าอโนรธาแห่งพุกาม มีพระนามเมื่อครองราชย์ว่า มหาราชาศรีอนิรุทธเทวะ
(อ่านแล้วถ้าไม่ได้คิดตามเผลอๆจะนึกว่ากษัตริย์แขกด้วยซ้ำไป)

ในสังคมที่สามารถผูกชื่อกษัตริย์ด้วยภาษาสันสกฤตได้สวยงามขนาดนี้
คุณNatalee คิดว่าปัญญาชนผู้แต่งวรรณกรรมร้อยกรองจะคุ้นชินกับภาษาสันสกฤตมั้ยครับ ?


ข้อที่ 2 การรับโครงเรื่องนิทานมาจากต่างประเทศ เป็นเรื่องปกติของคนโบราณครับ
นักวิชาการเคยจัดสัมนาใหญ่ไปเมื่อหลายปีก่อน ว่า ซินเดอร์เรลล่า กับปลาบู่ทองมีโครงเรื่องเหมือนกัน
โครงเรื่องของกามนิต-วาสิษฐี ถือว่าเป็นโครงเรื่องที่ซับซ้อน มีฉากค่อนข้างมาก
ในขณะที่ลิลิตพระลอ นอกจากเมืองสรวง เมืองสรอง กับตำหนักปู่เจ้าสมิงพรายแล้ว
ตั้งแต่อ่านความคิดเห็นของคุณจนตอนนี้ผมพยายามนึกถึงฉากอื่นอยู่ก็ยังนึกไม่ออกอีก

ถ้าจะเหมือนนิทานอินเดีย.... จะเหมือนเรื่องไหนบ้าง ?
และถ้าไม่ใช่ บทเห่ของไทยสมัยอยุธยาตอนปลายเท่าที่รวบรวมได้ในปัจจุบัน
ก็มีหลายบทที่เนื้อเรื่องเล่าถึงการเดินทางไปต่างถิ่นเหมือนกันนะครับ



ข้อสุดท้าย เรื่องบทอัศจรรย์ ลิลิตพระลอโดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าไม่ได้โจ๋งครึ่มครับ
เป็นการใช้โวหารเป็นความเปรียบทุกบท (ผมหาดูก็เจอแค่ช้างมั่ง สิงห์มั่ง สามโลกสั่นสะเทือนมั่ง)
คิดว่าเปรียบเท่านี้คงทำคนฟังสาวๆ ที่ยังไม่เคยผ่านผู้ชายมาก่อน สมัยอยุธยาหน้าแดงได้หลายนาทีแล้วล่ะครับ

จะยกไปเปรียบกับเรื่องโจ่งแจ้งเหมือนคนอินเดียที่ ปัญญาชนลุกขึ้นมาเขียนตำรากามสูตรไว้สอนเรื่องต่างๆ
ตั้งแต่การปฏิบัติตัวระหว่างสามี-ภรรยาในแต่ละชนชั้น ไปจนถึงการปฏิบัติในที่ระโหฐาน
ทำรูปเคารพที่มีอวัยวะเพศที่มิได้ปกปิดไว้ บูชารูปเคารพด้วยการสมสู่
หรือประดับวิหารด้วยรูปสลักจากวรรณกรรมเรื่องกามสูตรไว้ก็ดูจะแตกต่างกันมากนะครับ

ถ้าจะยกเรื่องภาพกากในจิตรกรรมที่แสดงถึงการเสพเมถุน ถึงจะพบบ้างไม่พบบ้างตามแต่ความนิยมในแต่ละรัชกาล
เท่าที่เราเห็นเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน ช่างในภาคกลางส่วนมากท่านก็เขียนให้สื่อไปในทางขบขันมากกว่า
ถ้าพูดถึงช่างล้านนาอาจจะมีบ้าง แต่ก็ไม่ได้เขียนภาพอะไรเกินเลยไปจนได้เห็นภาพการสมสู่จริงๆจังๆ
ซึ่งก็ดูสอดคล้องกับบทอัศจรรย์ของนิทานดี..... หรือผมจะอ่านบทอัศจรรย์กันคนละบทกับคุณNatalee หรือเปล่าครับ ??
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 08 ก.พ. 08, 12:48

ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าผู้แต่งลิลิตพระลอได้อิทธิพลจากวรรณกรรมแขก ด้วยเหตุว่าบทอีโรติคในเรื่องไปคล้ายกับกามสูตรของอินเดีย
เพราะถ้าพูดถึงความก๋ากั่นของฝ่ายหญิง  ก็เป็นได้ตามธรรมชาติของคนเรานี่ละค่ะ  ไม่ต้องไปรับมาไกลถึงอินเดีย

แต่ข้อสังเกตของคุณนาตาลีก็น่าสนใจ  น่าจะหาหลักฐานมาสนับสนุนมากกว่านี้

สิ่งที่ดิฉันสรุปได้ จากการอ่านวรรณคดีเรื่องนี้
๑) คนแต่งเรื่องนี้เป็นใครก็ตาม  มีความรู้ทางภาษาถิ่นเหนือ นำมาปะปนไว้ในเรื่องมากมาย
๒) ผูกเรื่องราวโดยอ้างฉากเมืองแมนสรวงและเมืองสรอง    คนแต่งน่าจะมีความรู้หรือคุ้นเคยกับเมืองในถิ่นเหนืออยู่ไม่น้อย
๓) คำประพันธ์ ใช้ตามแบบอยุธยา  ไม่ใช้คำประพันธ์แบบทางเหนือ
๔) ภาษาที่ใช้เป็นหลัก เป็นภาษาไทยภาคกลาง ศัพท์ต่างๆบอกถึงพื้นความรู้ของกวีที่ได้รับการศึกษาในอยุธยา  ทั้งนี้เทียบได้กับวรรณคดีอื่นๆก่อนหน้านี้ เช่นทวาทศมาส  เห็นว่าแบบแผนความรู้ของกวี คล้ายคลึงกัน
๕) เรื่องนี้แต่งให้คนภาคกลาง(อยุธยา)อ่าน ไม่ใช่คนเหนือ   และไม่ได้แต่งให้ชาวบ้านอ่าน แต่แต่งให้คนระดับเจ้านายในราชสำนักอยุธยา
๖) การผูกโครงเรื่อง สร้างเนื้อเรื่อง ไม่ได้มาจากวรรณคดีอินเดีย อย่างรามเกียรติ์หรือสมุทรโฆษ   แต่แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องเกิดขึ้นในแหลมทองของเรานี่เอง 
๗) คนแต่ง นับถือพุทธศาสนา  แต่มีความเชื่อตำนานไสยศาสตร์ท้องถิ่น เช่นการกล่าวถึงปู่เจ้าสมิงพราย
(ขอให้สังเกตว่า ปู่เจ้า ไม่ใช่ผีหรือเทพยดาทางเหนือ แต่เป็นของไทยภาคกลางนี่เอง  ดูได้จากชื่อ)
๘) บทอัศจรรย์ในเรื่อง ยึดขนบอยุธยาที่นิยมใช้ระบบสัญลักษณ์ในการพรรณนา   แทนการอธิบายตรงไปตรงมา  เพราะถือว่าฝีมือของกวีอยู่ที่การเปรียบเทียบ ไม่ใช่การเล่าตรงๆ

แต่การวางฉากและบทบาทตัวละครที่เล่นบทตอนนี้ เปิดเผยโจ่งแจ้งและอาจหาญผิดขนบอยู่มาก    โปรดดูตอนที่คุณนาตาลียกมา

สองนางนำแขกขึ้น.......เรือนสวน
ปัดฟูกปูอาสน์ชวน........ชื่นชู้
สองสมพาสสองสรวล....สองเสพย์
สองฤดีรสรู้...............เล่ห์พร้อมเพรียงกันฯ

เรือนสวน น่าจะเป็นเรือนปลูกง่ายๆห้องเดียว  ไม่ใช่เรือนใหญ่มีห้องหลายห้องอย่างเรือนหมู่   สองนางที่จูงสองหนุ่มเข้าห้องไปนี้ ก็บรรยายเหมือนว่าอยู่ในห้องเดียวกันหมด ๔ คน
ทำอะไรก็ลงมือทำพร้อมๆกัน  ไม่มีกระมิดกระเมี้ยน    จนเสร็จแล้ว สาวเจ้าถึงค่อยถามชื่อหนุ่มว่าเป็นใคร
นับว่าใจกล้ามาก  จนคุณนาตาลีสงสัย
นึกถึงอนิรุทธ์คำฉันท์ นั้นก็ไม่มีการไต่ถามกันเหมือนกันละค่ะ   จะมองว่าเอามาจากวรรณกรรมแขก คงมองได้ไม่เต็ม ๑๐๐%  แต่อาจมองได้ว่า เรื่องลงเอยกันง่ายๆโดยไม่ต้องถามอะไรกันแม้แต่ชื่อ เป็นวรรณคดีที่คนอยุธยาสมัยกลางรู้จักกันแล้ว ไม่มาตื่นเต้นอะไรมาก

ดิฉันแกะรอยแต่ว่า คนแต่งลิลิตพระลอเป็นใครก็ตาม  มีวัฒนธรรมสองถิ่นในตัวเอง คือถิ่นเหนือและราชสำนักอยุธยา   มีการศึกษาจากอยุธยาจนชำนาญเสียด้วย


บันทึกการเข้า
Natalee
อสุรผัด
*
ตอบ: 37



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 08 ก.พ. 08, 15:22

ขณะที่กำลังหาหลักฐานมาสนับสนุนข้อสังเกต
ดิฉันนึกถึงการเล่นคำของกาพย์เจ้าฟ้ากุ้งซึ่งอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายขึ้นมา
พบว่าเจ้าฟ้ากุ้งทรงนิพนธ์เล่นคำได้คล้ายกับลิลิตพระลอมาก ทั้งบทชมนก ชมไม้
ชมนาง บรรยายฉากใช้คำว่า 'สอง' เหมือนกันเลยค่ะ

อดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่าเจ้าฟ้ากุ้งทรงเคยอ่านลิลิตพระลอแล้วนิพนธ์ล้อบ้างหรือเปล่าหนอ


ปักษีกรีฑาชม...........ภิรมเปรมเกษมสันต์
กลมเกลียวเกี่ยวกรพัน...ผันยั่วเย้าเคล้าคลึงชม

สองสุขสองสังวาส.......แสนสุดสวาทสองสู่สม
สองสนิทนิทรารมณ์…….กลมเกลียวชู้สู่สมสอง

แย้มยิ้มพริ้มพรักตรา…..สาภิรมสมจิตปอง
แสนสนุกสุขสมพอง.....ในห้องแก้วแพรวพรรณราย

ลมพัดกลัดเมฆเกลื่อน..ฟ้าลั่นเลื่อนแลบแสงพราย
วลาหกตกโปรยปราย….สายสินธุ์นองท้องธารา

เหราร่าเริงรื่น............ว่ายเคล้าคลื่นหื่นหรรษา
สองสมกลมกรีฑา.......เปนผาสุกทุกนิรันดร์ฯ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 08 ก.พ. 08, 15:38

ไปหาลิลิตพระลอมาอ่านได้แล้ว จากในเว็บนี้ค่ะ
http://pralor.thaiderm.com/lor1.htm

ขออภัยค่ะ  ที่ว่าบทอัศจรรย์ของนางรื่นนางโรยและนายแก้วนายขวัญ เกิดขึ้นที่เรือนสวน  ความจริงคือเป็นยกสอง  ยกแรกเกิดขึ้นในสระน้ำ

เรียนเรื่องลิลิตพระลอตอนอยู่ปี ๒    แต่พอเรียนมาถึงพระลอตามไก่มาถึงสวนขวัญเมืองสรอง  อาจารย์ผู้สอนก็ข้ามรวดเดียว ไปถึงตอนเจ้าย่าสั่งฆ่าพระลอ
มัวแต่ดีใจที่ประหยัดเวลาไม่ต้องเรียนมากนัก   เมื่อทำงานก็ไม่ได้สอนเรื่องนี้   เลยจำเนื้อเรื่องส่วนกลางเรื่องไม่ได้จนแล้วจนรอด ขอสารภาพไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
ตอนนี้ถึงเวลาปัดฝุ่นความจำอีกครั้ง  น่าจะได้เรื่องได้ราวขึ้นมามากกว่าสมัยเรียน
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 08 ก.พ. 08, 15:45

ข้อที่ว่าคนไทยไม่นิยมทำการค้า ข้อนี้พิจารณาในเชิงสถิติก็อาจจะมีส่วนจริงอยู่บ้าง เพราะสังคมไทยสมัยโบราณทำการผลิตเพื่อบริโภคเป็นหลัก แต่ถ้าจะสรุปไปว่ามีการกล่าวถึงการทำการค้าแล้วจะไม่ใช่ไทย ข้อนี้คงไม่ถูกต้อง เพราะมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงหรือแสดงให้เห็นถึงสภาพการทำการค้าของคนไทยสมัยโบราณ

เอกสารฝรั่งที่เข้ามาสมัยอยุธยาตอนกลางมีการกล่าวถึงการทำการค้าของผู้หญิงไทย ซึ่งสอดคล้องกับระบบไพร่ที่ผู้ชายมักต้องใช้ชีวิตวนเวียนกับการเข้าเกณฑ์เพื่อใช้แรงงานทำการผลิตให้มูลนายสลับกับการผลิตเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือนของตนเอง ผู้หญิงนอกจากมีหน้าที่ส่งข้าวส่งน้ำแล้ว ยังมีหน้าที่แลกเปลี่ยนสินค้าที่ตนเองผลิตได้หรือจัดหาได้กับผู้อื่น ถึงไม่ได้เพื่อความร่ำรวย อย่างน้อยก็เพื่อยังชีพ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถอยู่ได้ด้วยสิ่งที่หาได้ด้วยตนเองเสียทั้งหมดครับ

นอกจากไพร่ที่กล่าวถึงข้างต้นซึ่งเป็นไพร่หลวงและไพร่สม ยังมีไพร่ส่วยที่ทำการจัดหาของให้มูลนายแทนการใช้แรงงาน ไพร่ชนิดนี้ผมคิดว่าเป็นร่องรอยสำคัญอย่างหนึ่งของสภาพการค้าของอยุธยา เพราะของที่ไพร่ส่วยหามาได้ บางส่วนมูลนายอาจจะใช้เอง แต่บางส่วนก็เป็นไปเพื่อการค้า นอกไปจากนี้แล้ว ไพร่ส่วยเองก็ยังอาจจัดการขายส่วนที่เหลือจากการส่งส่วยเพื่อการค้าส่วนตนเองได้อีกด้วย

มองในแง่ประชากรศาสตร์ ขนาดเมืองในสมัยก่อนจะขึ้นกับขนาดพื่นที่เพื่อการเพาะปลูกเป็นหลัก ที่เห็นได้ชัดคือเมืองในภาคเหนือที่จะอยู่ในทำเลที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขา ขนาดของเมืองนั้นขึ้นกับขนาดของที่ราบที่เพาะปลูกได้อย่างชัดเจน อยุธยานั้นมีความอุดมสมบูรณ์มากจนไม่ต้องกังวลถึงเรื่องนี้ แต่สุโขทัยไม่ใช่อย่างนั้น สุโขทัยเป็นเมืองที่ไม่ติดแม่น้ำ ความเจริญของสุโขทัยจึงไม่ได้มาจากความอุดมสมบูรณ์ของที่ราบที่ใช้เพาะปลูก หากแต่ต้องมาจากเหตุผลอื่นซึ่งยังไม่มีข้อสรุปแน่นอน แต่พอจะตีวงแคบลงมาได้ ๒ ประการ คือ
๑ สุโขทัยอาจจะเป็นแหล่งผลิตโลหะ เพื่อขายยังภูมิภาคอื่น
๒ อาจจะเป็นศูนย์กลางการค้า เชื่อมต่อล้านนาและล้านช้างกับเมืองชายฝั่งทะเลอันดามัน
ไม่ว่าจะเป็นเหตุใด สิ่งที่เหมือนกันคือ ทั้งสองเหตุแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของสุโขทัยเจริญได้โดยอาศัยการค้า ความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ "เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย" จึงยย้ำให้เห็นภาพการค้าในเส้นทางบกของสุโขทัยเป็นอย่างดี (หากไม่เชื่อว่าหลัก ๑ ทำในสมัยสุโขทัยก็ยังมีความในหลักอื่นที่คล้ายกันนี้รองรับอยู่ดี)

อยุธยานั้นยิ่งชัดเจน ความขัดแย้งระหว่างอยุธยากับพม่านั้น เป็นเรื่องผลประโยชน์เกี่ยวกับการค้าเป็นหลัก ทั้งเรื่องการชิงหัวเมืองมอญในอ่าวเมาะตะมะ และการชิงหัวเมืองล้านนา ชี้ให้เห็นความสำคัญผลประโยชน์จากการค้าเหล่านี้ โดยเฉพาะหัวเมืองมอญ ที่ไม่ว่าจะเดินทางอย่างไร เลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องใช้คาราวานทางบกในบางตอนของเส้นทาง

ลิลิตพระลอนั้นมีหลายช่วงหลายตอนที่มีความคล้ายกับกำสรวลสมุทร จนน่าสงสัยว่าผู้แต่งอาจจะเป็นคนเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกัน เมื่อพิจารณาการเดินทางของกำสรวลสมุทรซึ่งใช้เรือใบล่องลงไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ลัดเลาะไปทางชายฝั่งตะวันออกจนถึงปลายแหลมสัตหีบแล้วใช้ใบวิ่งตัดอ่าวไทยข้ามไปแถวๆเพชรบุรีแล้วจึงลัดเลาะลงใต้ (ในหลวงเคยทรงเรือใบเวคา ๑ แล่นตัดจากหัวหินไปสัตหีบด้วยพระองค์เอง ใช้เวลา ๑๔ ชม. เป็นเส้นทางเดียวกับที่เส้นทางการค้าทางทะเลในสมัยโบราณนี้เองครับ) สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่ามีความไปได้สูงมากว่ากลุ่มคนผู้แต่งลิลิตพระลอคุ้นเคยดีกับการค้าทางไกล ไม่แตกต่างจากชาวภารตะแต่อย่างใดครับ

ส่วนเรื่องที่ว่าเจ้าฟ้ากุ้งจะทรงได้รับอิทธิพลจากลิลิตพระลอบ้างหรือไม่นั้น ผมเชื่อว่า "ได้รับ" ครับ เพราะการต่อยอดจากของเก่าเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ทำกันเป็นปกติสำหรับกวีไทยอยู่แล้วครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 08 ก.พ. 08, 16:43

กระทู้อย่างนี้ ไม่ถนัด แต่ดีใจได้ค้านคุณเครซี่ อดใจไม่ไหว
พ่อค้าที่คุณเครซี่ยกตัวอย่างมา เป็นพ่อค้าระดับล่าง อย่างดีก็เป็นมูลนายชั้นล่าง
รับความต้องการของเจ้านายมาอีกทีหนึ่ง

แต่พ่อค้าในลิลิตพระลอนั้น เป็นพ่อค้ามหาศาล
อย่างน้อยก็ระดับที่สองนาง ซึ่งมิใช่อีหนูเล็กน้อย ยอมร่วมวงพิศวาสด้วย
จึงคิดว่า ลิลิตนี้ บอกเล่าถึงเหตุการณ์สมัยพ่อค้ายังมีศักดิใหญ่
ทำให้ผมนึกไปถึงตำนานเรื่องพระเจ้าอู่ทองปลอมเป็นพ่อค้าข้าว
เข้ายึดเมืองอะไรสักเมืองก็จำไม่ได้แล้ว

หมายความว่า ในยุคนั้น พ่อค้าคงจะไปใหนกันทีราวกองทัพย่อยๆ จึงถูกต้อนรับเข้าเมือง
และยึดเมืองได้ ถ้าพ่อค้าอย่างนั้น มาเมืองสรอง ก็คงได้รับการต้อนรับอย่างดีเช่นกัน

ข้อวิเคราะห์ของอาจารย์เทาชมพูมีที่น่าสนใจหลายข้อ
โดยเฉพาะข้อที่ว่า แต่งให้ใครอ่าน เป็นคำถามสำคัญมาก
อยากจะเถียง แต่ยังหาอาวุธเหมาะๆ มือมิได้ จำต้องครุ่นคิดไปพลางก่อน......

ฝากไว้เหอะโอฬาร
บันทึกการเข้า
Natalee
อสุรผัด
*
ตอบ: 37



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 08 ก.พ. 08, 16:49

อยุธยานั้นมีความอุดมสมบูรณ์มากจนไม่ต้องกังวลถึงเรื่องนี้ แต่สุโขทัยไม่ใช่อย่างนั้น สุโขทัยเป็นเมืองที่ไม่ติดแม่น้ำ ความเจริญของสุโขทัยจึงไม่ได้มาจากความอุดมสมบูรณ์ของที่ราบที่ใช้เพาะปลูก หากแต่ต้องมาจากเหตุผลอื่นซึ่งยังไม่มีข้อสรุปแน่นอน

สุโขทัยเป็นเมืองลุ่มแม่น้ำยมค่ะ
ชาวบ้านที่มาหางานในกรุง โดยมากมีอาชีพลงนา จับปลาไหลเก่งด้วยมือเปล่า
บริเวณลุ่มน้ำยม ศรีสัชนาลัย จนถึงทางใต้ลงมาและตะวันออก เช่น ชากังราว ตะพานหิน
เป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำแหล่งใหญ่ของภาคกลางตอนบนทีเดียวเชียว

เมื่อดิฉันไปชมอุทยานประวัติศาสตร์ที่กำแพงเพชร ได้โบรชัวร์เป็นภาพถ่ายทางอากาศที่เขียวขจีสุดหล้า
กูเกิ้ลเอริ์ทคงพอจะช่วยได้มังคะ



ส่วนจารึกที่ว่า 'เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย' สำหรับดิฉันได้ภาพสภาพการค้าในท้องถิ่น
เหมือนตลาดนัด ที่ชาวบ้านร้านตลาดขายของเหลือกินเหลือใช้ ส้มสูกลูกไม้ในเรือกสวนต้นเอง
ไม่ใช่การค้าประเภทรอนแรมต่างบ้านต่างเมืองน่ะค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 08 ก.พ. 08, 18:09

ขอตอบคำถามคุณพิพัฒน์ก่อน
อ้างถึง
ข้อวิเคราะห์ของอาจารย์เทาชมพูมีที่น่าสนใจหลายข้อ
โดยเฉพาะข้อที่ว่า แต่งให้ใครอ่าน เป็นคำถามสำคัญมาก

ข้อนี้ง่าย   กวีบอกไว้ในโคลงบทต้นๆว่า

         สรวลเสียงขับอ่านอ้าง          ใดปาน
ฟังเสนาะใดปูน                            เปรียบได้
เกลากลอนกล่าวกลการ                 กลกล่อม    ใจนา
ถวายบำเรอท้าวไท้                       ธิราชผู้มีบุญ ฯ

ลิลิตพระลอ เป็นเรื่องที่เอาไว้"ขับ" คือเอาไว้อ่านดังๆ อาจจะใช้ทำนองเสนาะ หรือทำนองอื่นใด ไม่รู้
รู้จากโคลงบทนี้ว่า ไม่ใช่ว่าแต่งเอาไว้อ่านในใจเงียบๆอย่างเราอ่านหนังสือกันทุกวันนี้
แต่เป็นเรื่องที่ต้องมีคนเสียงเพราะ   อ่านบทกวีคล่อง    อ่านเรื่องราวนี้ถวายพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อความเพลิดเพลินให้ทรงสดับกวีนิพนธ์
ถวายพระเจ้าแผ่นดินโดยตรงเสียด้วย ไม่ใช่แค่เจ้านายหรือขุนนางใหญ่

งานนี้เป็นงานที่โปรดเกล้าฯลงมาให้ทำ   ไม่ใช่เสนอขึ้นไปเอง  ในเมื่อพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาทรงมีพระราชกิจเป็นแบบแผนตายตัวในแต่ละวัน ว่าทรงทำอะไรตอนไหนบ้าง  ไม่ใช่ทรงอยู่ฟรีสไตล์ตามใจชอบ
การอ่าน"ลิลิตพระลอ" ก็คงเป็นเรื่องหนึ่งในหลายๆเรื่อง ที่มีการอ่านถวายในช่วงเวลาช่วงใดช่วงหนึ่ง

พิจารณาจากบันทึกของนิโคลัส แจร์เวส์ ที่เข้ามาสมัยพระนารายณ์ฯ  เล่าว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามโปรดให้อ่านเรื่องประวัติศาสตร์ของบุคคลสำคัญ ถวายตอนตื่นบรรทมช่วงบ่าย
แสดงว่าแบบแผนการ"สดับฟัง" เรื่องอะไรเรื่องหนึ่งที่มีชาวราชสำนักเล่า(หรือขับ) ถวาย   เป็นสิ่งมีเป็นประจำในราชสำนัก  เป็นรสนิยมของกษัตริย์อยุธยา

"ท้าวไท้ธิราชผู้มีบุญ" ในลิลิตเรื่องนี้  ก็คือพระเจ้าแผ่นดินที่โปรดการกวี   ฟังเรื่องพระลอแล้วเพลิดเพลินเจริญใจ จะเป็นองค์เดียวกับพระนารายณ์หรือองค์อื่น ก็ไม่อาจทราบได้
ดูจากหลักฐานแวดล้อม  ผู้แต่ง จึงต้องเป็นกวีคนสำคัญในราชสำนัก แน่นอน   ทรงเชื่อมือขนาดให้แต่งถวายโดยตรง   ท่าทีจะมิใช่มือใหม่   ดูจากฝีมือโคลงก็รู้ว่าเจนจัด    อาจจะแต่งเรื่องอื่นในโอกาสอื่นด้วย 
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 08 ก.พ. 08, 19:11

'เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย'
เป็นถ้อยความสำคัญในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ
คงจำเรื่องนายฮ้อยทมิฬ ของคำพูน บุญทวี ได้ นั่นแหละครับ ร่องรอยสุดท้ายของวลีนี้

การค้าวัวต่างน่าจะเป็นวิธีค้าขายที่ลงทุนสูงสุดในยุคก่อนเรือทะเล
ต้องใช้กลุ่มคนที่มีระบบจัดตั้ง และกระทำการคล้ายกองกำลังติดอาวุธไปในตัว
เจ้าอู่ทองจึงยึดเมืองชัยนาทได้ เพราะท่านคงยกมาทีละกองร้อยอย่างนายฮ้อยทมิฬ

เมื่อมาประสมกับวินิจฉัยอาจารย์เทาฯ เรื่องเป็นบทประพันธ์ที่โปรดให้แต่ง
ก็น่าเชื่อว่า เป็นการเล่าเรื่องย้อนอดีต
เพราะในสมัยอยุธยา ท่านเลิกการค้าที่ลงทุนสูง ตอบแทนต่ำอย่างการค้าระหว่างเมืองแล้ว
ปล่อยให้เจ้าเมืองในพระราชอาณาจักรทำแทน ราชสำนักเก็บภาษีแทน สบายกว่ากันแยะ

เนื้อเรื่องกับผู้ประพันธ์ จึงน่าจะห่างยุคสมัยกัน
ถ้าแต่งสมัยอยุธยา เรื่องก็น่าจะก่อนอู่ทอง หรือประมาณช่วงเวลานั้น
เพราะท่านตีเมืองพระนครได้แล้ว น่าจะเลิกปลอมเป็นพ่อค้า เปลี่ยนเป็นทัพย์กษัตริย์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 08 ก.พ. 08, 19:33

ร่องรอยของลิลิตพระลอว่าแต่งในสมัยไหน  มองเห็นเค้าเงื่อนได้จาก"ร่าย" ตอนเริ่มต้นเรื่อง

ศรีสิทธิฤทธิไชย ไกรกรุงอดุงเดชฟุ้งฟ้า หล้ารรัวกลัวมหิมา รอาอานุภาพ ปราบทุกทิศฤทธิรุกราน ผลาญพระนคร รอนลาวกาวตาวตัดหัว ตัวกลิ้งกลาดดาษดวน ฝ่ายข้างยวนแพ้พ่าย ฝ่ายข้างลาวประไลย ฝ่ายข้างไทยไชเยศร์ คืนยังประเทศพิศาล สำราญราษฎร์สัมฤทธิ พิพิธราชสมบัติ พิพัฒนมงคล สรพสกลสิมา ประชากรเกษมสุข สนุกทั่วธรณี พระนครศรีอโยธยา มหาดิลกลภ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมยศโยคยิ่งหล้า ฟ้าฟื้นฟึกบูรณ์ ฯ

บทยอพระเกียรติบทนำเรื่องบทนี้   ระบุถึงศึกสงครามที่อยุธยาเป็นฝ่ายชนะอีกอาณาจักรหนึ่งหรือสอง
คือระบุฝ่ายข้าศึกว่า "ลาว"  และมีอีกคำว่า "ยวน"
"ยวน" ไม่ใช่เวียตนาม  แต่หมายถึง"โยนก" หรืออาณาจักรล้านนา   ส่วนคำว่า "ลาว" ก็ไม่ใช่ประเทศลาวในปัจจุบัน  แต่คนอยุธยาเรียกคนทางเหนือว่า "ลาว"
ที่แปลกใจก็คือ การเอ่ยถึงในเรื่องนี้ ทำเหมือนจะแบ่งออกเป็น ๒ พวก     เรื่องนี้เอาไว้ก่อนว่าหมายถึงอะไร
ที่แน่ๆคือในรัชกาลที่กวีเจ้าของเรื่องมีชีวิตอยู่  มีสงครามระหว่างอยุธยากับทางเหนือ  รบกันดุเดือดถึงขั้นเลือดท่วมสมรภูมิ   
เป็นสงครามที่กองทัพฝ่ายอยุธยายกขึ้นไปรบถึงที่โน่น  ไม่ใช่ทางโน้นยกลงมา  เพราะมีคำว่า" คืนยังประเทศพิศาล" คือยกทัพไปรบ ได้ชัยชนะก็ยกทัพกลับคืนเมือง

เรื่องนี้ เหตุการณ์ร่วมสมัย ไม่ใช่เหตุการณ์ในอดีตไกลแน่นอน  น้ำเสียงคนแต่งดูภาคภูมิในชัยชนะของกองทัพอยุธยา  ไม่มีน้ำเสียงโศกสลดเศร้าใจแทนพวกชาวเหนือ   
แน่นอนว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ฟังการขับเรื่องนี้อยู่ก็ต้องภาคภูมิในพระวีรกรรมอยู่มาก  กวีก็เลยสรรเสริญยอพระเกียรติเรื่องนี้ล้วนๆในบทร่าย   ไม่พรรณนาเรื่องอื่น  ทำให้คิดว่าน่าจะเป็นเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นไม่นานนักในรัชกาลนี้เอง

ส่วนพระเจ้าแผ่นดินองค์ไหนของอยุธยายกทัพขึ้นไปทางเหนือ  รบกันดุเดือดเลือดท่วม  จนชนะ ปราบอาณาจักรล้านนาราบคาบ  เป็นเหตุการณ์เกิดก่อนหรืออย่างช้าที่สุดก็สมัยราชวงศ์ปราสาททอง
ต้องขอถามนักประวัติศาสตร์อีกที    ดิฉันยังเช็คไม่ได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 08 ก.พ. 08, 20:45

พิจารณาจากเนื้อเรื่อง กวีผู้แต่งน่าจะได้เค้าโครงมาจากตำนานของอดีตกษัตริย์ทางเหนือสักเรื่องหนึ่ง  มีการผูกเรื่องซับซ้อน  มีตัวละครต่อเนื่องยืดยาวถึงสองชั่วคน  คือรุ่นพ่อของพระลอและพระเพื่อนพระแพง มาจนถึงรุ่นลูก 
แม้เป็นการกล่าวถึงกษัตริย์ แต่ก็ไม่ได้เน้นวีรกรรมอย่างลิลิตก่อนหน้านี้  อย่างเช่นลิลิตยวนพ่าย  แต่กลับไปเน้นเรื่องส่วนตัว คือเรื่องโศกนาฏกรรมจากความรัก
ชวนให้คิดว่าเป็นเค้าโครงที่มีอยู่จริงในตำนานใดตำนานหนึ่งทางเหนือ ที่ไม่ใช่เชียงใหม่    ถ้าหากว่าเป็นเชียงใหม่   หลักฐานเอกสารต่างๆของล้านนาตกทอดมามากพอสมควร น่าจะมีการค้นพบที่มาชัดเจนเสียนานแล้ว 

ขนบการแต่งของกวีไทยที่เห็นอิทธิพลตกทอด มาถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มี ๒ อย่างที่สังเกตได้
๑) นิยมแต่งเรื่องในอดีต  เช่นในชาดก  หรือมาจากวรรณคดีอินเดีย
๒) รายละเอียดที่แทรกในเรื่อง ไม่จำเป็นว่าต้องตรงกับในอดีต  อาจเป็นรายละเอียดร่วมสมัยก็ได้
ตัวอย่างที่เห็นง่ายที่สุดคือเรื่องอิเหนา ในรัชกาลที่ ๒  เนื้อเรื่องเป็นตำนานกษัตริย์ชวาที่ย้อนหลังไปในอดีต  แต่บ้านเมืองหรือขนบธรรมเนียมต่างๆนั้นก็สมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง   

เพราะฉะนั้น   เรื่องพ่อค้าที่พูดกันข้างบนนี้  มีความเป็นไปได้มาก ว่าสะท้อนสังคมสมัยกวีนั่นเองละค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 08 ก.พ. 08, 21:00

ถ้าจะมองภาษาในลิลิตพระลอ ในฐานะร่องรอยให้สาวไปถึงตัวผู้แต่ง ก็เป็นหลักฐานที่ชวนโต้แย้งกันได้มากเอาการ
แทบจะเรียกได้ว่า เป็นวรรรณคดีเรื่องเดียวที่ทิ้งปมชวนฉงนเรื่องภาษา ไม่ซ้ำแบบกับเรื่องใดๆทั้งสิ้น

ก่อนอื่น ขอถามว่าคนแต่งลิลิตพระลอนั้น เป็นชาวอาณาจักรไหนกันแน่  เพราะเรื่องนี้แสดงวัฒนธรรมถึง ๒ อาณาจักร ผ่านทางภาษา
คำตอบของดิฉันคือเป็นชาวอยุธยา   หรืออย่างน้อย ก็มีพื้นการศึกษาจากราชสำนักอยุธยาอย่างแน่นหนา มากกว่าทางเหนือ
เพราะอะไร  ขอให้ย้อนกลับไปดูภาษาตอนต้นเรื่องอีกครั้ง  ขอลอกมาให้เห็นกันเต็มๆค่ะ

ศรีสิทธิฤทธิไชย ไกรกรุงอดุงเดชฟุ้งฟ้า หล้ารรัวกลัวมหิมา รอาอานุภาพ ปราบทุกทิศฤทธิรุกราน ผลาญพระนคร รอนลาวกาวตาวตัดหัว ตัวกลิ้งกลาดดาษดวน ฝ่ายข้างยวนแพ้พ่าย ฝ่ายข้างลาวประไลย ฝ่ายข้างไทยไชเยศร์ คืนยังประเทศพิศาล สำราญราษฎร์สัมฤทธิ พิพิธราชสมบัติ พิพัฒนมงคล สรพสกลสิมา ประชากรเกษมสุข สนุกทั่วธรณี พระนครศรีอโยธยา มหาดิลกลภ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมยศโยคยิ่งหล้า ฟ้าฟื้นฟึกบูรณ์ ฯ

โคลง ๔
    o บุญเจ้าจอมโลกเลี้ยง โลกา
ระเรื่อยเกษมสุขพูน           ใช่น้อย
แสนสนุกอโยธยา              ฤๅร่ำ ถึงเลย
ทุกประเทศชมค้อยค้อย      กล่าวอ้างเยินยอ ฯ
    o รู้มลักสรพศาตร์ถ้วน    หญิงชาย
จักกล่าวกลอนพระลอ         เลิศผู้
ไพเราะเรียบบรรยาย          เพราะยิ่ง เพราะนา
สมปี่ลู้เสียงลู้                    ล่อเล้าโลมใจ ฯ
    o สรวลเสียงขับอ่านอ้าง ใดปาน
ฟังเสนาะใดปูน                  เปรียบได้
เกลากลอนกล่าวกลการ       กลกล่อม ใจนา
ถวายบำเรอท้าวไท้             ธิราชผู้มีบุญ ฯ

o กล่าวถึงขุนผู้ห้าว นามท่านท้าวแมนสรวง เป็นพระยาหลวงผ่านเผ้า เจ้าเมืองสรวงมีศักดิ์ ธมีอัคเทพีพิลาศ ชื่อนางนาฎบุญเหลือ ล้วนเครือท้าวเครือพระยา สาวโสภาพระสนม ถ้วนทุกกรมกำนัล มนตรีคัลคับคั่ง ช้างม้ามั่งมหิมา โยธาเดียรดาษหล้า หมู่ทกล้าทหาร เฝ้าภูบาลนองเนือง เมืองออกมากมียศ ท้าวธมีโอรสราชโปดก ชื่อพระลอดิลกล่มฟ้า ทิศตวันออกหล้า แหล่งไล้สีมา ท่านนา ฯ

ร่าย
    o มีพระยาหนึ่งใหญ่ ธไซร้ทรงนามกร พิมพิสาครราช พระบาทเจ้าเมืองสรอง สมบัติหลวงสองราชา มีมหิมาเสมอกัน ทิศตวันตกไท้ท้าว อคร้าวครอบครองยศ ท้าวธมีเอารสราชฦๅไกร ชื่อท้าวพิไชยพิษณุกร ครั้นลูกภูธรธใหญ่ไซร้ ธก็ให้ไปไต่ไปถาม นางนามท้าวนามพระยา ชื่อเจ้าดาราวดี นางมีศรีโสภา เป็นนางพระยาแก่ลูกไท้ ลูกท้าวธได้เมียรัก ลำนักเนตรเสนหา อยู่นานมามีบุตร สุดสวาทกษัตริย์สององค์ ทรงโฉมจันทรงามเงื่อน ชื่อท้าวเพื่อนท้าวแพง จักแถลงโฉมเลิศล้วน งามถี่พิศงามถ้วน แห่งต้องติดใจ บารนี ฯ

ภาษาที่พรรณนามานี้ ๙๙% เป็นภาษาไทยอยุธยา    ไม่ใช่ภาษาเหนือ
ตัวละครเอก คือพระลอ พระเพื่อน พระแพง นั้น ชื่อส่อว่าเป็นภาษาถิ่นเหนือ  แต่ชื่อตัวละครรองลงไปอย่างพระนางบุญเหลือ  นางดาราวดี  แม้แต่ชื่อท้าวพิไชยพิษณุกร ล้วนเป็นภาษาไทยภาคกลางทั้งหมด
ทำไมตัวละครมีชื่อเป็นภาษาถิ่นบ้าง ภาษากลางบ้าง  ถ้าพูดอย่างนักภาษาศาสตร์ก็บอกว่าเป็นภาษาคนละตระกูล
พ่อแม่อยู่ในตระกูลบาลีสันสกฤต  ลูกๆอยู่ในตระกูลภาษาไท
คำตอบก็พอมองเห็นได้ คือตัวละครหลัก น่าจะมาจากชื่อจริงในตำนานของเดิม  แต่ตัวละครประกอบนั้นกวีแต่งเติมขึ้นมา เพราะอยู่ในรายละเอียดที่ตำนานอาจจะไม่มี
ด้วยความเคยชินของกวี  ก็ตั้งชื่อเป็นไทยอยุธยา  บ่งถึงสภาพแวดล้อมของกวีว่าเติบโตมาในวัฒนธรรมอยุธยามากกว่าทางเหนือ

ย้อนกลับไปเรื่องภาษาที่ใช้    มองง่ายๆ ว่าคนเราเวลาเขียนหนังสืออะไรขึ้นมา  ก็จะเลือกภาษาที่เจ้าตัวถนัดที่สุดเป็นหลักการสื่อสาร   
ต่อให้คนนั้นรู้มากกว่า ๑ ภาษา ก็ตาม   แต่ถ้าไม่ถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขให้ใช้ภาษาที่สองละก็  ร้อยทั้งร้อยใช้ภาษาที่หนึ่งมากกว่า

ภาษาที่กวีใช้  แม้ในบทเริ่มต้น บอกถึงความชำนาญในรูปศัพท์  การใช้คำ  ประเภทคำประพันธ์  เพราะโคลงในนี้ไม่ใช่โคลงสี่สุภาพอย่างเดียว  แบบอื่นก็มีปนอยู่ด้วย
ต้องระดับมืออาชีพในราชสำนักทีเดียวละค่ะ
ด้วยหลักฐานทั้งหมดนี้ ชี้ไปที่ภูมิหลังของกวีว่าเป็นอยุธยา

แล้ววัฒนธรรมเหนือที่เด่นชัดอยู่ในเรื่องนี้ มาจากไหน?
(โปรดอดใจรอ)
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.098 วินาที กับ 20 คำสั่ง