|
pipat
|
ความคิดเห็นที่ 16 เมื่อ 21 ม.ค. 08, 19:20
|
|
ถ้าเคยดูหนัง คืนที่คนตายมีชีวิต สนามบินร่างกุ้งที่ผมเคยไป ได้อารมณ์อย่างนั้นเลย เห็นรูปคุณติบอแล้วต๊กใจ นี่หรูเริ่ดปานนี้เชียวหรือ
ตลาดมืดยังรุ่งเรืองอยูใหมครับ สมัยก่อนเราแลกเงินพม่าเพียงเท่าที่เขาบังคับ แล้วไปขายดอลล่าร์ราคาเพิ่มสองเท่า ที่ตลาดหน้าชเวดากอง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ติบอ
|
ความคิดเห็นที่ 17 เมื่อ 24 ม.ค. 08, 17:14
|
|
เดี๋ยวนี้ตลาดมืดซบเซาลงบ้างแล้วล่ะครับ คุณพิพัฒน์ เพราะเราแลกเงินได้หลายที่ ทั้งกับร้านอาหาร หรือโรงแรมที่พักก็ได้ราคาสูงพอใช้ แต่เวลาไปเดินจับจ่ายซื้อของก็ยังมีหม่องนุ่งโสร่งถามว่า "จั๊ตๆ" อยู่บ่อยๆเหมือนกันครับ
ส่วนสนามบินหลอนๆที่คุณพิพัฒน์พูดถึงนั่น กลายเป็นสนามบินภายในประเทศไปแล้วครับ
ก่อนจะออกไปเดินเล่นกัน นายติบอขอมาเล่าประวัติราชวงศ์พุกามกันคร่าวๆก่อนนะครับ เพราะถ้าไม่เล่า เดี๋ยวคนอ่านจะพากันงงเวลาออกพระนามกษัตริย์พระองค์ต่างๆ
บทที่ 1: กษัตริย์ปรำปราแห่งอริมัทนประเทศ
อย่างที่เล่าไปแล้วว่าโดยปกตินักวิชาการจะกล่าวกันถึงกษัตริย์ที่ครองราชย์หลังสมัยพระเจ้าอนิรุทธลงมา นายติบอก็เลยขออนุญาตเรียกประวัติศาสตร์พุกามก่อนหน้าว่า "สมัยปรำปรา" นะครับ
เพราะที่จริงแล้วพงศาวดารฉบับหอแก้วหรือ ฮมันนายาซเวงดอยี (Hman-nan-ya-zawin-daw-gyi) ได้กล่าวถึงประวัติราชวงศ์พุกามย้อนขึ้นก่อนหน้าพระเจ้าอนิรุธไปราวร้อยปีเศษ โดยเริ่มนับจากพระเจ้า 1.) นยองอู สอรหัน (Nyaung-u Sawrahan) ซึ่งครองราชย์ในช่วง พ.ศ. 1474 - 1507 ไว้ว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์นักบุญ และเล่าประวัติระองค์ไว้ทำนองเดียวกับพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ หรือพระเจ้าแตงหวาน ที่ทำไร่แตงกวามาก่อนแต่ด้วยบุญญาธิการของพระองค์ จึงได้ขึ้นครองราชย์
พระเจ้านยองอู สอรหัน ทรงมีมเหสี 3 องค์ เป็นพี่น้องกัน ในตอนท้ายรัชกาล ขณะที่มเหสี 2 องค์ ทรงครรภ์อยู่ 2.) พระเจ้ากุนษอกยองพยู (Kunhsaw Kyaungbyu) ได้เข้าชิงราชสมบัติของพระองค์ ในปี พ.ศ. 1507 -1529 และทรงอภิเษกมเหสีทั้งสามของพระเจ้านยองอู สอรหัน ขึ้นเป็นมเหสีของพระองค์
ในช่วงปลายรัชสมัยของพระเจ้าพระเจ้ากุนษอกยองพยู เจ้าชายราชโอรสของพระเจ้านยองอู สอรหัน ซึ่งประสูติแต่มเหสีทั้ง 2 ได้แก่ 3.) พระเจ้ากะยิโส (Kyizo) และ 4.)พระเจ้า โสกกะเต (Sokkate) ได้ชิงราชสมบัติของพระเจ้ากุนษอกยองพยู และบังคับให้พระองค์ออกผนวช
และพระเจ้ากะยิโส ได้ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 1529 - 1535 และเมื่อพระเจ้ากะยิโสสวรรคตลง พระเจ้าโสกะเต ก็เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเชษฐาต่างมารดา ในปี พ.ศ. 1535 - 1560
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ติบอ
|
ความคิดเห็นที่ 18 เมื่อ 26 ม.ค. 08, 01:53
|
|
บทที่ 2 : พระเจ้าอนิรุทธ์
ส่วนพระนางมยอปปยินสี (Myauppyinthi) ซึ่งเป็นอดีตพระมเหสีของพระเจ้า นยองอู สอรหัน อีกองค์หนึ่งนั้น ทรงครรภ์กับพระเจ้า กุนษอกยองพยู ให้กำเนิดพระโอรส คือ 5.) พระเจ้าอนิรุทธ์ (อโนรธา) (1587 - 1620) พระเจ้าอนิรุทธ์ทรงเจริญวัยขึ้นในวัดที่พระบิดาทรงผนวชอยู่ และทรงได้รับการอบรมศิลปศาสตร์ต่างๆ ทั้งอักษรศาสตร์ และพิชัยสงครามมาเป็นอย่างดี
เมื่อเจริญวัยขึ้น พระองค์ได้ยกพล กรีฑาทัพเข้ามายังเมืองพุกาม และแต่งสารท้ารบไปยังพระเจ้าโสกะเต มีใจความว่า พระเจ้าโสกะเตจะยินยอมคืนราชบัลลังก์ให้พระราชบิดาของพระองค์ หรือจะต่อสู้กับพระองค์ พระเจ้าโสกะเตทรงตกลงที่จะทำสงครามกับพระเจ้าอนิรุทธ์ ในที่สุดพระโสกะเตก็ทรงพ่ายแพ้ และ ถูกพระเจ้าอนิรุทธ์สังหาร
พระเจ้าอนิรุทธ์จึงนำราชบัลลังก์ถวายคืนแก่พระราชบิดา แต่พระเจ้ากุนษอกยองพยูทรงมอบราชบัลลังก์คืนให้แก่พระเจ้าอนิรุทธ์ เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระชนมายุมากแล้ว พระเจ้าอนิรุทธ์จึงทรงขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 1587
พระนามของพระเจ้าอนิรุทธ์ที่เป็นที่รู้จัก มีหลายพระนามด้วยกัน ได้แก่ พระเจ้าอนิรุทธ์ พระเจ้าอโนรธา พระเจ้าอโนรธามินสอ หรือพระเจ้าอนุรุธ์ และพระนามภาษาสันสกฤต คือ มหาราชาศรีอนิรุทธเทวะ (Maharaja Sri Aniruddha-deva)
หลังจากที่ทรงปกครองและจัดการปัญหาภายในอาณาจักรพุกามจนมั่นคงแล้ว พระเจ้าอนิรุทธ์ทรงรวบรวมดินแดนต่างๆในเขตลุ่มน้ำอิรวดีเข้าไว้เป็นปึกแผ่น และฟื้นฟูพระพุทธศาสนา โดยการแต่งตั้งคณะทูตเดินทางไปขอพระไตรปิฎกจากพระเจ้ามกุฏ (มนูหะ) จากเมืองสะเทิมมาประดิษฐานไว้ที่พุกาม ฮมันนายาสเวงดอยีเล่าความตอนนี้เอาไว้ว่า พระเจ้ามกุฏทรงตอบปฏิเสธคณะทูตของพระเจ้าอนิรุทธ์ด้วยถ้อยคำดูถูก พระเจ้าอนิรุทธ์จึงส่งขุนศึกคู่ใจ 4 คนลงมาทำสงครามกับพระเจ้ามกุฏ จนได้รับชัยเหนือเมืองสะเทิม ในครั้งนั้น พระเจ้ามกุฏ พระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และชาวสะเทิมจำนวนมากถูกกวาดต้อนมาไว้ที่พุกาม ซึ่งเป็นสาเหตุให้พุกามได้รับวัฒนธรรมมอญ หลายประการ ทั้งทางด้านศาสนา ศิลปะ ภาษา และการเมืองการปกครอง
หลังจากทรงได้เมืองสะเทิมไว้แล้ว พระเจ้าอนิรุทธ์ทรงเดินทางไปยังดินแดนต่างๆ และอ้างสิทธิธรรมในการปกครองอาณาจักรโดยรอบ เช่น อาณาจักรต้าหลี่ทางเหนือ อารากันทางตะวันตก และ ฉานทางตะวันออก จึงทำให้พุกามเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาที่สำคัญ และสามารถติดต่อกับต่างประเทศทั้งจีน และ อินเดียได้ง่าย จนเกิดความมั่นคงทางการค้าขึ้น
และในปี ค.ศ. 1067 พระเจ้าวิชัยพาหุที่ 1 (Vijayabahu 1) แห่งลังกา ทรงขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าอนิรุทธ์ในการขับไล่โจฬะที่ปกครองลังกาออกไป จึงเป็นสาเหตุให้พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์เจริญรุ่งเรืองในอาณาจักรพุกาม
พระเจ้าอนิรุทธ์เสด็จสวรรคตจากอุบัติเหตุในการล่าสัตว์เมื่อปี พ.ศ. 1620 ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ได้ทรงรวบรวมแผ่นดินอริมัทนประเทศเข้าเป็นปึกแผ่น สร้างความมั่นคงทั้งทางด้านการเมือง-การปกครอง และการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ และทำนุบำรุงพุทธศาสนา จนพุกามเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาแบบเถรวาทของภูมิภาคด้วย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Kurukula
|
ความคิดเห็นที่ 19 เมื่อ 26 ม.ค. 08, 18:13
|
|
เข้ามาให้กำลังใจคุณติบอเล่าต่อจนจบครับ 
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ติบอ
|
ความคิดเห็นที่ 20 เมื่อ 26 ม.ค. 08, 19:04
|
|
บทที่ 3 : เมื่อมอญครองพม่า
6.) พระเจ้าสอลู (พ.ศ. 1620-1627) ทรงปกครองอาณาจักรพุกามต่อจากพระราชบิดา เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ทรงมีพระนามว่า ศรีพัชรภรณ์ตรีภูวติ และยังทรงเป็นที่รู้จักว่า มังลูลาน (Man Lulan) ซึ่งแปลว่าพระราชาหนุ่ม
ฮมันนายาสเวงดอยี หรือ พงศาวดารฉบับหอแก้ว เล่าถึงประวัติของพระองค์ไว้ว่า พระราชาพระองค์นี้มิได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่บ้านเมืองแต่ประการใด ทรงปล่อยให้เหล่าเสนาอำมาตย์เป็นผู้จัดการบ้านเมืองแทนพระองค์ เสนาบดีผู้ใหญ่ในสมัยนี้ คือ จันสิตถา นักรบคู่ใจพระเจ้าอนิรุทธ์
แต่ในภายหลัง พระเจ้าสอลูทรงต้องการจำกัดอำนาจของเสนาบดีผู้นี้ จึงโปรดให้จันสิตถาไปทำราชการในแคว้นห่างไกลออกไป แต่เมื่อมีปัญหาภายในก็จำเป็นต้องขอคำปรึกษาจากจันสิตถาอีก
ตอนปลายรัชกาล งะรมัน (Nga Raman) เจ้าเมืองพะโคก่อกบฎ จับตัวพระเจ้าสอลูเป็นตัวประกัน จันสิตถาซึ่งครองเมืองถิเลง (Htilaing) อยู่ ไม่สามารถยกทัพกลับมาช่วยพระองค์ได้ทัน งะรมันได้สังหารพระเจ้าสอลูที่เมืองพวาสอ (Prantwsa) และพยายามเข้ายึดครองอาณาจักรพุกามแต่จันสิตถาได้เข้าขัดขวาง เหล่าเสนาอำมาตย์ และพระชินอรหันต์จึงได้อัญเชิญจันสิตถาขึ้นครองราชย์สมบัติ เป็น 7.) พระเจ้าจันสิตถา (ค.ศ. 1627-1656)
เมื่อขึ้นครองราชย์ พระเจ้าจันสิตถาทรงมีพระนามว่า ศรีตรีภูวทิตย์ธรรมราชา ในจารึกพม่ายังเรียกพระองค์ว่า ถิลุงมัง (T’iluin Man) แปลว่ากษัตริย์แห่งถิเลง แต่เนื่องจากพระเจ้าจันสิตถามิได้มีเชื่อสายของผู้สืบราชบัลลังก์ พระองค์จึงอ้างสิทธิธรรมในการครองราชสมบัติว่าพระองค์ทรงเป็นภาคหนึ่งของพระโพธิสัตว์ และเป็นองค์อวตารของพระวิษณุของชาวพยูอีกด้วย สมัยนี้จึงถือเป็นรัชสมัยที่ศิลปสาสตร์แบบมอญเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในตัมพทวีป
ในรัชสมัยของพระเจ้าจันสิตถา ทรงติดต่อกับต่างประเทศเป็นอย่างมาก ในปี พ.ศ. 1638 พระองค์ทรงส่งคณะทูตและช่างฝีมือเดินทางไปพุทธคยา เพื่อไปซ่อมแซมวัดศรีพัชรัส (Sri Bajras) หรือวัดวัสชราสนะ (Vajrassanas) ซึ่งวัดแห่งนี้เป็นสถานที่พระพุทธองค์ ทรงตรัสรู้ที่ใต้ต้นมหาโพธิ์ พระเจ้าจันสิตถะทรงซื้อที่ดินกัลปนาให้แก่วัด ขุดอ่างเก็บน้ำ สร้างเขื่อน เพื่อประโยชน์ในการปลูกข้าว ถวายตะเกียงเทียนจำนวนมาก และทรงกัลปนาข้าทาสให้กับวัดอีกด้วย
นอกจากนั้นในรัชสมัยพระเจ้าจันสิตถะมีพระสงฆ์นิกายมหายาน จากทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียหลบหนีอิทธิพลอิสลาม เพื่อมาขอความช่วยเหลือจากพระองค์ พระองค์ทรงให้ความช่วยเหลือพระสงฆ์เหล่านี้ โดยการสร้างวัดเล็กๆถวายเป็นที่พำนัก อยู่ระหว่างเจดีย์ชเวซิกองกับหมู่บ้านมินนันถุ (Minnanthu)
ด้านความสัมพันธ์กับจีน ในปี พ.ศ. 1649 ทรงส่งคณะทูตไปยังเมืองไคเฟิง (K’ai feng) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง พระจักรพรรดิจีน จักพรรดิจีนทรงให้การต้อนรับคณะทูตของพุกามเทียบเท่ากับทูตของอาณาจักรโจฬะ
ในรัชสมัยนี้จึงถือได้ว่าประสบความสำเร็จที่ทำให้พุกามเป็นที่รู้จักของดินแดนต่างๆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Kurukula
|
ความคิดเห็นที่ 21 เมื่อ 26 ม.ค. 08, 19:31
|
|
มีจารึกของการซ่อมแซมพุทธคยาสมัยพระเจ้าจันสิทธาอยู่ที่อินเดียด้วยครับ
“รวบรวมสิ่งของมีค่าต่างๆ และส่งเรือไปเพื่อปฏิสังขรณ์ ศรี พัชราสะ (Sri bajras) หรือ ศรีวัชราสนะ เพื่อซื้อที่ดิน ขุดบ่อน้ำ สร้างระบบชลประทานสำหรับนาข้าว สร้างเขื่อน ยังให้ไฟในตะเกียงและเทียนจุดอยู่โดยมิรู้ดับ และพระราชทานกลอง กลองมโหระทึก เครื่องสายและเครื่องให้จังหวะต่างๆ นักขับและชาวละครซึ่งดีกว่าที่เคยมีมาก่อนหน้านี้” และ
“ดังนั้น อนุสรณ์อันยิ่งใหญ่ (Mahavatthu) ซึ่งสร้างโดยพระเจ้าธรรมโศก ซึ่งเก่าแก่และทรุดโทรม พระเจ้าแผ่นได้ทรงปฏิสังขรณ์ให้ยอดเยี่ยมขึ้นกว่าแต่ก่อน” ศรีพัชราสะหรือพุทธคยาในอินเดียถูกทำลายลงด้วยการรุกรานของชนชาติต่างศาสนา ซึ่งอาจเป็นราชวงศ์ Ghaznavid ชาวมุสลิมที่รุกรานพาราณสี (Benares) ในปี พ.ศ.1576-1577 หรือเจ้าชายการณเทวะ (Karnadeva) ซึ่งรุกรานอาณาจักรปาละในแคว้นพิหารในปี พ.ศ.1582
ในรัชสมัยนี้ปรากฏว่าพระเจ้าจันสิทธาเคยได้รับรองพระสงฆ์ในพุทธศาสนามหายานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งหลบหนีอิทธิพลของพวกมุสลิมเข้ามาในพุกาม และทรงให้ความช่วยเหลือด้วยการสร้างวัดเล็กๆให้เป็นที่พำนักแก่พระสงฆ์เหล่านี้ วัดนี้อยู่ระหว่างเจดีย์ชเวสิกงกับหมู่บ้านมินนันถุ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ติบอ
|
ความคิดเห็นที่ 22 เมื่อ 26 ม.ค. 08, 19:57
|
|
ขอบคุณหลายๆเด้อ บักตั้ว
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ติบอ
|
ความคิดเห็นที่ 23 เมื่อ 28 ม.ค. 08, 10:26
|
|
บทที่ 4 : อลงอคสิทธู พระโพธิสัตว์แห่งอริมัทนะประเทศ
พระนัดดาของพระเจ้าจันสิ9ถา ทรงปกครองพุกามจากพระองค์ กษัตริย์พระองค์นี้ทรงสืบเชื้อสายมาจากพระโอรสชองพระเจ้าสอลู และพระธิดาของพระเจ้าจันสิตถา
พระนามภาษาสันสกฤตเมื่อทรงครองพุกามนั้น พบในจารึกที่วัด Shwe gu gyi (วัดใหญ่สุวรรณเจดีย์) ทรงพระนามว่า ศรีตรีภูวนาทิตย์บวรธรรมราชา ส่วนพระนามที่รู้จักกัน คือ สิทถุ (Sithu) ซึ่งแปลว่าวีรบุรุษผู้ชนะ หรือ 8.) พระเจ้าอลองคสิทถุ (Alaungsithu) (พ.ศ. 1656 - 1706) เนื่องจากทรงประกาศพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ด้วย (อลอง แปลว่าพระโพธิสัตว์)
กว่า 50 ปีในรัชสมัยของกษัตริ์พระองค์นี้ ศิลปะมอญที่เคยรุ่งเรืองในรัชสมัยแรกๆของอาณาจักร ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นแบบของพุกามมากขึ้น จนถือได้ว่าเป็นจุดรุ่งเรืองสูงสุดของศิลปะพม่าแท้ รัชสมัยของพระองค์ เป็นรัชสมัยที่ทรงสร้างความรุ่งเรืองทาง ศิลปะ วรรณกรรม สถาปัตยกรรม และ การเมืองการปกครอง อย่างแท้จริง
พระเจ้าอลองคสิทธู ทรงเป็นกษัตริย์นักเดินทางไม่แพ้พระอัยกาของพระองค์ เพราะทรงเดินทางไปเยือนดินแดนต่างๆในเขตลุ่มน้ำอริวดี และดินแดนโพ้นทะเล เช่น ชวา สุมาตรา และศรีลังกา
ในทางการเมืองการปกครอง พระองค์สามารถยึดเมืองท่าตะนาวศรีได้ จึงสามารถควบคุมการติดต่อทางทะเลที่บริเวณคอคอดกระได้ เช่น การควบคุมการค้าช้างระหว่างขอม และลังกา จนทำให้อาณาจักรพุกามรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง
ปลารัชสมัยพระเจ้าอลองคสิทธู จัดเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความเสื่อมของมหาอาณาจักรแห่งนี้ เมื่อพระองค์ถูกปลงพระชนม์โดยเจ้าชายพระราชโอรส ตามตำนานเล่าว่าพระเจ้าอลองคสิทธูทรงประชวรพระวาโย สิ้นพระสติ เจ้าชายนรถุ พระราชโอรสจึงให้เชิญพระวรกายไปยังวัดแห่งหนึ่ง เมื่อฟื้นคืนพระสติเจ้าชายนรถุ ทรงใช้ผ้าปูพระแท่น อุดพระนาสิก และพระโอษฐ์ จนพระเจ้าอลองคสิทธูเสด็จสวรรคต
เมื่อข่าวทราบถึงเจ้าชายมินชินสอ มกุฏราชกุมาร ทรงยกพลกลับเข้าเมืองพุกามเพื่อเข้ามาจัดงานพระศพพระราชบิดา เจ้าชายนรถุ ทรงถวายราชสมบัติคืนแก่พระเชษฐา แต่ก็ลอบปลงพระชนม์ 9.) พระเจ้ามินชินสอ (พ.ศ. 1076 - 1076) ด้วยยาพิษ ระหว่างงานฉลองในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และปราบดาภิเษกขึ้นเป็น 10.) พระเจ้านรถุ (พ.ศ. 1076 - 1078)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ติบอ
|
ความคิดเห็นที่ 24 เมื่อ 28 ม.ค. 08, 12:42
|
|
บทที่ 5 : นรถุ รัชสมัยแห่งความวุ่นวาย
พระเจ้านรถุมีพระนามที่เป็นที่รู้จักคือ อิมตอสยัน (Im Taw Syan) ทรงได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ที่โหดเหี้ยมพระองค์หนึ่ง เนื่องจากทรงประหารคนที่พระองค์หวาดระแวงเป็นจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่พระมเหสีของพระองค์เอง ซึ่งตามตำนานเล่าว่าเป็นธิดาของกษัตริย์ลังกา
และพุกามยังขัดขวางการค้าช้างระหว่าง เขมร กับลังกา ผ่านการควบคุมการค้าข้ามคาบสมุทร ที่พุกามได้ควบคุมไว้ตั้งแต่รัชกาลก่อน
พระเจ้าปรากรมพาหุที่ 1 แห่งลังกา (Prakrambahu) จึงยกทัพเรือมาโจมตีเมืองพะสิมที่ปากแม่น้ำอิรวดี และล่องเรือขึ้นมาถึงอาณาจักรพุกาม จนสามารถจับพระเจ้านรถุและประหารพระองค์ในที่สุด
ชาวพม่าในสมัยหลังจึงเรียกพระองค์ว่า กุลากยา (Kula-Kya) ซึ่งแปลว่ากษัตริย์ที่ถูกปลงพระชนม์โดยชาวอินเดีย (กุลา แปลว่าชาวอินเดีย แต่ในที่นี้หมายรวมถึงลังกาด้วย)
หลังรัชสมัยของพระเจ้านรถุประวัติศาสตร์พุกามมีความสับสนมาก นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าเป็นช่วง ที่ไม่มีกษัตริย์ปกครองเป็นเวลา 9 ปี คือระหว่าง พ.ศ. 1708-1717 แต่ยังมีหลักฐานบางส่วนที่ กล่าวถึงกษัตริย์ที่ปกครองพุกามทรงพระนามว่า 11.) พระเจ้านรเถขะ (Naratheinkha) ซึ่งเป็น พระราชโอรสในพระเจ้านรถุ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ติบอ
|
ความคิดเห็นที่ 25 เมื่อ 28 ม.ค. 08, 15:53
|
|
บทที่ 6 : นรปฏิสิทธุ แสงสุดท้ายแห่งอริมัทนประเทศ
พระราชนัดดาของพระเจ้านรถุได้ขี้นครองราชสมบัติต่อมา ทรงพระนามว่า 12.) พระเจ้านรปฏิสิทธุ (พ.ศ. 1717-1754) หรือพระนามภาษาสันสกฤตว่า ศรีตรีภูวทิตย์บันฑิตธรรมราชานรปติ...ชัยสุระ ส่วนพระนามในจารึกคือ สิทธุ เช่นเดียวกับพระอัยกาของพระองค์ ในรัชกาลนี้ พระเจ้านรปฏิสิทธุทรงสร้างรูปแบบอารยธรรมที่เป็นพม่าชัดเจนขึ้นมา และส่งต่อวัฒนธรรมดังกล่าวให้แก่ชนชาติต่างๆโดยรอบ รวมถึงชาวมอญเดิมด้วย
นอกจากนี้ ยังทรงรับเอาพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามายังพุกาม มีการแต่งตำราทางพุทธศาสนา สร้างวัด และเจติยวิหาร และกัลปนาข้าทาส - ที่ดิน เป็นของวัดเป็นจำนวนมาก
ยิ่งไปกว่านั้น การสร้างศาสนสถานด้วยสถาปัตยกรรมแบบพุกาม ของพระองค์ ในดินแดนห่างไกลต่างๆ ยังเป็นการแผ่ขยายอำนาจของมหาอาณาจักรออกไปภายนอก ซึ่งทำให้ฐานการผลิตของอาณาจักรพุกามกว้างขวางขึ้นอีกด้วย นับได้ว่าเป็นความมั่นคง และมั่งคั่งที่สุดในประวัติศาสตร์พุกาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ติบอ
|
ความคิดเห็นที่ 26 เมื่อ 28 ม.ค. 08, 16:31
|
|
บทที่ 7 : สี่กษัตริย์สุดท้าย และจุดจบแห่งมหาอาณาจักร
13.) พระเจ้านดวงมยา (Nadaungmya) (พ.ศ. 1754-1774) หรือพระเจ้าติโลมินโล (Htilominlo) (พระเจ้าติโลกมงคล) ทรงปกครองอาณาจักรพุกามต่อจากพระราชบิดา ในรัชกาลนี้แทบไม่มีความวุ่นวายทางการเมืองเลย จึงเป็นยุคสมัยของการสร้างวัด และเจดีย์ขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก
จนในท้ายรัชกาลเกิดปัญหาจากการกัลปนาที่ดิน และกำลังพลจำนวนมากให้เป็นข้าวัด (เนื่องจากข้าวัดเหล่านี้ จะไม่ถูกเกณฑ์แรงงานจากหลวง)
ในรัชกาล 14.) พระเจ้ากกยอฉวา(Kyawsawa) (พ.ศ. 1778-1792) จึงเกิดปัญหาจากการที่เงินในท้องพระคลังร่อยหรอลง และสามารถเก็บภาษีได้น้อย เนื่องจากการกัลปนาที่ดิน และแรงงานให้แก่วัดเป็นจำนวนมากในรัชกาลก่อน
พระองค์ทรงแก้ปัญหาโดยการเรียกคืนที่ดินมหาทาน และแรงงานที่ได้บริจาคไป แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จนพระองค์จำเป็นต้องสละราชสมบัติ
พระราชโอรสของพระเจ้ากกยอชวาเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติต่อจากพระบิดา ทรงพระนามว่า 15.) พระเจ้าอุสานะ (Uzana) (พ.ศ. 1792-1799) ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าพระองค์มิได้มีความสามารถแต่อย่างใด จึงโปรดให้มหาอำมาตย์ราชสิงคาล (Yazathingyan) ดูแลบ้านเมืองแทนพระองค์
เมื่อพระเจ้าอุษานะเสด็จสวรรคตจากการคล้องช้าง มหาอัมมาตย์ราชสิงคาลได้เลือกเจ้าชายพระราชโอรส พระองค์เล็กที่สุดของพระเจ้าอุษาณะ ทรงพระนามว่า 16.) พระเจ้านรสีหปติ (Narathihapati) (พ.ศ.1799-1830) ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา ในรัชกาลนี้จึงมีความวุ่นวายจากศึกชิงราชสมบัติหลายครั้ง จนกระทั่งในที่สุด มหาอาณาจักรพุกามก็ตกเป็นเมืองขึ้นของราชวงศ์หยวน ในสมัยพระเจ้ากุบไลข่าน
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|
กุ้งแห้งเยอรมัน
|
ความคิดเห็นที่ 28 เมื่อ 28 ม.ค. 08, 20:56
|
|
ถึงไม่มีรูปก็สนุกมากค่ะ เสียอย่างเดียว ฆ่ากันไปฆ่ากันมา คล้ายๆอยุธยาเลย จะตั้งใจฟังต่อค่ะ รีบมาเล่านะคะ คุณติบอและผู้ช่วย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Kurukula
|
ความคิดเห็นที่ 29 เมื่อ 28 ม.ค. 08, 22:33
|
|
คอมเจ๊ง รูปไปพม่าหายหมดเลยครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|