เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 53458 พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 12 ธ.ค. 07, 15:53

ตั้งใจให้กระทู้นี้เป็นที่รวบรวมพระราชนิพนธ์ที่อาจจะหาอ่านยาก    มีคติธรรมสอนใจ  มีความไพเราะงดงามด้านวรรณศิลป์
ท่านใดที่สนใจก็เชิญร่วมวงด้วยค่ะ
ขอประเดิมด้วย
มงคลสูตร์คำฉันท์

         หนึ่งคือ บ่ คบพาล                     เพราะจะพาประพฤติผิด
หนึ่งคบกะบัณฑิต                                 เพราะจะพาประสพผล
           หนึ่งกราบและบูชา                    อภิบูชะนีย์ชน
ข้อนี้แหละมงคล                                   อดิเรกอุดมดี
          ความอยู่ประเทศซึ่ง                    เหมาะและควรจะสุขี
อีกบุญญะการที่                                   ณ อดีตะมาดล
          อีกหมั่นประพฤติ์ควร                   ณ สะภาวะแห่งตน
ข้อนี้แหละมงคล                                   อดิเรกอุดมดี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 12 ธ.ค. 07, 16:23

     ความได้สดับมาก                และกำหนดสุวาที
อีกศิลปะศาสตร์มี                      จะประกอบมนุญการ
      อีกหนึ่งวินัยอัน                   นรเรียนและเชี่ยวชาญ
อีกคำเพราะบรรสาน                  ฤดิแห่งประชาชน
      ทั้งสี่ประการล้วน                 จะประสิทธิ์มนุญผล
ข้อนี้แหละมงคล                        อดิเรกอุดมดี
      บำรุงบิดามา-                  ตุระด้วยหทัยปรีย์
หากลูกและเมียมี                       ก็ถนอมประหนึ่งตน
      การงานกระทำไป                บ่ มิยุ่งและสับสน
ข้อนี้แหละมงคล                        อดิเรกอุดมดี
      ให้ทาน ณ กาลควร              และประพฤติ์สุธรรมศรี
อีกสงเคราะห์ญาติที่                   ปฏิบัติบำเรอตน
      กอบกรรมะอันไร้                 ทุษะกลั้วและมัวมล
ข้อนี้แหละมงคล                        อดิเรกอุดมดี
     ความงดประพฤติ์บาป            อกุศล บ่ ให้มี
สำรวมวรินทรีย์                          และสุรา บ่ เมามล
     ความไม่ประมาทใน               พหุธรรมะโกศล
ข้อนี้แหละมงคล                         อดิเรกอุดมดี
     เคารพ ณ ผู้ควร                    จะประณตและนอบศีร์
อีกหนึ่งมิได้มี                            จะกระด้างและจองหอง
     ยินดี ณ ของตน                    บ่ มิโลภทยานปอง
อีกรู้คุณาของ                            นรผู้ประคองตน
     ฟังธรรมะโดยกา                   -ละเจริญคุณานนท์
ข้อนี้แหละมงคล                        อดิเรกอุดมดี
     มีจิตตะอดทน                       และสถิต ณ ขันตี
อีกหนึ่ง บ่ พึงมี                         ฤดิดื้อทะนงหาญ
    หนึ่งเห็นคณาเลิด                  สมณาวราจารย์
กล่าวธรรมะโดยกาล                  วรกิจจะโกศล
    ทั้งสี่ประการล้วน                   จะประสิทธิ์มนุญผล
ข้อนี้แหละมงคล                        อดิเรกอุดมดี
    เพียรเผากิเลศล้าง                 มละโทษะยายี
อีกหนึ่งประพฤติดี                      ดุจะพรหมพิสุทธิสรรพ์
    เห็นแจ้ง ณ สี่องค์                  พระอะริยะสัจอัน
อาจนำมนุษผัน                         ติระข้ามทเลวน
    อีกทำพระนิพพา                   - นะประจักษะแก่ชน
ข้อนี้แหละมงคล                        อดิเรกอุดมดี
    จิตใครมิได้ต้อง                     วรโลกะธรรมศรี
แล้วย่อม บ่ พึงมี                       จะประหวั่น ฤา กังวล
    ไร้โศกธุลีสูญ                        และสบาย บ่ มัวมล
ข้อนี้แหละมงคล                        อดิเรกอุดมดี
    เทวามนุษทำ                        วรมงคะลานี้
เป็นผู้ประเสริฐที่                        บ่ มิแพ้ทุกแห่งหน
    ย่อมถึงสวัสดี                        สิริทุกประการดล
ข้อนี้แหละมงคล                        อดิเรกอุดมดี.

หมายเหตุ สะกดตามพระราชนิพนธ์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 12 ธ.ค. 07, 16:41

ขออธิบายมงคล 38 ประการ ในพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้า มิได้ทรงยึดวัตถุภายนอกว่าเป็นมงคล   แต่ถือการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องดีงาม เป็นมงคล  นำมาซึ่งความสุข และความก้าวหน้าในการดำเนินชีวิต
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ในบทมงคลสูตร  เมื่อตรัสตอบปัญหาเทวดาที่ถามว่า คุณธรรมอันใดที่ทำให้ชีวิตประสบความเจริญหรือมี "มงคลชีวิต"
ทรงสรุปว่ามี ๓๘ ประการได้แก่

๑. การไม่คบคนชั่ว        ๒. การคบคนดีที่รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ    ๓. การบูชาบุคคลอันประเสริฐ สมควรที่จะบูชา 
๔. การอยู่ในถิ่นฐานอันเหมาะสม ๕. เคยทำบุญมาก่อน  ๖. การตั้งตนไว้ถูกต้องเหมาะสม
๗. ความเป็นผู้รอบรู้         ๘. การรอบรู้ในศิลปะ   ๙. มีวินัยที่ดี
๑๐.กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต ๑๑.บำรุงบิดามารดา ๑๒.ดูแลเลี้ยงดูบุตร
๑๓.รับผิดชอบต่อคู่สมรส  ๑๔.ทำงานไม่ให้คั่งค้าง ๑๕.การให้ทาน
๑๖.การประพฤติธรรม      ๑๗.การสงเคราะห์ญาติ ๑๘.ทำงานที่ปราศจากโทษ
๑๙.ละเว้นจากบาป       ๒๐.ไม่ดื่มน้ำเมา         ๒๑.ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
๒๒.มีความเคารพ      ๒๓.มีความถ่อมตน    ๒๔.มีความสันโดษ
๒๕.มีความกตัญญู     ๒๖.การฟังธรรมตามกาลอันควร  ๒๗.มีความอดทน และข่มใจ
๒๘.เป็นผู้ว่าง่าย ไม่ดื้อรั้น  ๒๙.การได้เห็นสมณะ ๓๐.การสนทนาธรรมตามเวลาอันควร
๓๑.การบำเพ็ญตบะ ๓๒.การประพฤติพรหมจรรย์ ๓๓.การมองเห็นอริยสัจ
๓๔.การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ๓๕.มีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ๓๖.มีจิตไม่เศร้าโศก
๓๗.มีจิตปราศจากกิเลส ๓๘.มีจิตผ่องใส
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 13 ธ.ค. 07, 10:09

     ศักระวาคิดมาน่าน้อยจิต              เออยิ่งคิดยิ่งหมองไม่ผ่องใส
เสียแรงสู้เหนื่อยยากลำบากใจ             ไม่มีใครชอบเราเศร้าอุรา
เสียแรงคอยสอดส่องคอยมองเหตุ         มิให้เภทพัยพาลเกิดฉานฉ่า
ชนกลับชังคอยนั่งแต่นินทา                แขนแดงจ้าหน้าดำครำเครียดเอย

     "แดงครวญ" (พระยาพิทักษ์ภูบาล)

ภาพฝีพระหัดถ์ชนิดภาพล้อเส้นหมึก    (พิมพ์ตามการสะกดเดิม ครับ)



บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 13 ธ.ค. 07, 10:33


       พระราชนิพนธ์ บทชวนรักชาติ นี้เป็นที่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว  ครูเอื้อได้ใส่ทำนองเป็นเพลงไร้รัก ไร้ผล

ส่วนบทพระราชนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ   LOVE OF RACE AND FATHERLAND นี้ไม่เป็นที่แพร่หลายเท่า จึงนำมาแสดงไว้เทียบกันครับ
       
       เรานี้เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง                                     Having once been well-born.

ควรคำนึงถึงชาติศาสนา                                             Let us not forget our Race and our Faith;

ไม่ควรให้เสียทีที่เกิดมา                                             Let us not be born in vain

ในหมู่ประชาชาวไทย                                                Amongst a race that is Free!

แม้ใครตั้งจิตคิดรักตัว                                                Any man that has regard for himself

จะมัวนอนนิ่งอยู่ไฉน                                                  How could be remain idle?

ควรจะร้อนอกร้อนใจ                                                  Each man should be anxious and strive,

เพื่อให้พรั่งพร้อมทั่วตน                                               So that all should be prepared!

ชาติใดไร้รักสมัคสมาน                                               With a nation that is without Love and Unity,

จะทำการสิ่งใดก็ไร้ผล                                                No work undertaken could bear any fruit:

แม้ชาติย่อยยับอับจน                                                 And if the nation is disintegrated and ruined,
                             
บุคคลจะสุขอยู่อย่างไร                                               How may the individuals thereof hope for happiness.
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 13 ธ.ค. 07, 10:43

        บทพระราชนิพนธ์ส่วนต่อจากข้างต้น ครูเอื้อใส่ทำนองใหม่เป็นอีกหนึ่งเพลงชื่อ คำปฏิญาณ ครับ

ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง                                    Should Strangers come and rule over us.

คงจะต้องบังคับขับไส                                     They will surely order and drive us;

เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำกรำไป                                   They will oppress us from morn till night

ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย                                 As is the custom with masters.

เขาจะเห็นแก่หน้าค่าชื่อ                                   Think not that they will have regard for our Position or our Name,

จะนับถือพงศ์พันธุ์นั้นอย่าหมาย                           Nor can we hope that they will respect our Birth:

ไหนจะต้องเหนื่อยยากลำบากกาย                        So, not only should we be weary and burdened,

ไหนจะอายทั่วทั้งโลกา                                    But also should we stand ashamed before the whole world!

เพราะฉะนั้นชวนกันสวามิภักดิ์                            Therefore, comrades, let us be loyal (to our King),

จงรักร่วมชาติศาสนา                                      And be true to our Nation and our Faith;

ยอมตายไม่เสียดายชีวา                                   Let us lay down our lives without regret,

เพื่อรักษาอิสระคณะไทย                                  That we may preserve the Freedom of the Free!
 
สมานสามัคคีให้ดีอยู่                                       Let us stand well united,

จะสู้ศึกศัตรูทั้งหลายได้                                    And we shall surely withstand all foes;

ควรคิดจำนงจงใจ                                          Let us ever be bold, and make up our minds,

เป็นไทยจนสิ้นดินฟ้า                                      To remain Free till the end of Earth and Sky!
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 13 ธ.ค. 07, 19:20

เหตุที่พระราชทานชื่อภาพว่า "แดงครวญ" นั้น  เพราะสารวัดเสือป่านั้นสวมหมวกแดงเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นแต่ไกล  เหมือนสารวัดทหารของกองทัพบกอังกฤษ  และด้วยหมวกแดงที่แลเห็นแต่ไกลจึงไม่มีเสือป่าคนใดอยากจะเข้าใกล้  เพราะกลัวโดนสารวัดจับไปปรับ  เลยเป็นที่มาของแดงครวญครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 14 ธ.ค. 07, 21:33

วิศวะกรรมา

อันชาติใดไร้ศานติสงบสุข            ต้องมัวรบราญรอนหาผ่อนไม่
ณ ชาตินั้นนรชนไม่สนใจ              ในศิลปะวิไลสะอาดงาม
แต่ชาติใดรุ่งเรืองเมืองสงบ           ว่างการรบอริพลอันล้นหลาม
ย่อมจำนงศิลปาสง่างาม               เพื่ออร่ามเรืองระยับประดับประดา
อันชาติใดไร้ช่างชำนาญศิลป์        เหมือนนารินไร้โฉมประโลมสง่า
ใครใครเห็นไม่เป็นที่จำเริญตา       เขาจะพากันเย้ยให้อับอาย
ศิลปกรรมนำใจให้สร่างโศก          ช่วยบรรเทาทุกข์ในโลกให้เหือดหาย
จำเริญตาพาใจให้สบาย               อีกร่างกายก็จะพลอยให้สุขสำราญ
แม้ผู้ใดไม่นิยมชมสิ่งงาม              เมื่อถึงยามเศร้าอุราน่าสงสาร
เพราะขาดเครื่องระงับดับรำคาญ    โอสถใดจะสมานซึ่งดวงใจ
เพราะการช่างนี้สำคัญอันวิเศษ      ทุกประเทศนานาทั้งน้อยใหญ่
จึงยกย่องศิลปกรรมนั้นทั่วไป         ศรีวิไลวิลาศดีเป็นศรีเมือง
ใครดูถูกผู้ชำนาญในการช่าง          ความคิดขวางเฉไฉไม่เข้าเรื่อง
เหมือนคนป่าคนไพรไม่รุ่งเรือง        จะพูดด้วยนั้นก็เปลืองซึ่งวาจา
แต่กรุงไทยศรีวิไลทันเพื่อนบ้าน      จึงมีช่างชำนาญวิเลขา
ทั้งช่างปั้นช่างเขียนเพียรวิชา         อีกช่างสถาปนาถูกทำนอง
ทั้งช่างรูปพรรณชำนาญกิจ            ช่างประดิษฐ์รัชดาสง่าผอง
อีกช่างถมลายลักษณ์จำลอง          อีกช่ำชองเชิงรัตนประกร
ควรไทยเราช่วยบำรุงวิชาช่าง        เครื่องสำอางแบบไทยสโมสร
ช่วยบำรุงช่วยไทยให้ถาวร            อย่าให้หย่อนกว่าเขาเราจะอาย
อันผองชาติไพรัชน่าจัดสรร           เป็นหลายอย่างต่างพรรณเข้ามาขาย
เราต้องซื้อหลากหลากเขามากมาย  ต้องใช้ทรัพย์สุรุ่ยสุร่ายเป็นก่ายกอง
แม้พวกเราชาวไทยตั้งใจช่วย         เอออำนวยช่วยไทยให้ทำของ
ช่างคงใฝ่ใจผูกถูกทำนอง              และทำของงามๆขึ้นตามกาล
เราช่วยช่างเหมือนช่วยบ้านเมือง   ได้ประเทืองประเทศไทยให้ไพศาล
สมเป็นเมืองใหญ่โตมโหฬาร         พอไม่อายเพื่อนบ้านจึงจะดี"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 17 ธ.ค. 07, 19:21

พระราชนิพนธ์ "พระร่วง"

อย่าเห็นแก่ตัวมัวพะวง                     ลุ่มหลงริษยาไม่ควรที่   
อย่าต่างคนต่างแก่งกันแย่งดี           อย่าให้ช่องไพรีที่มุ่งร้าย 
แม้เราริษยากันและกัน                    ไม่ช้าพลันจะพากันฉิบหาย
ระวังการยุยงส่งร้าย                     นั่นแหละคือเครื่องทำลายสามัคคี
คณะใดศัตรูผู้ฉลาด                         หมายมาดทำลายให้เร็วรี่
ก็ยุแยกให้แตกสามัคคี                  เช่นกษัตริย์ลิจฉวีวงศ์โบราณ
พราหมณ์ผู้เดียวรับใช้ไปยุแหย่         สาระแนยุญาติให้แตกฉาน
จนเวลาศัตรูอู่ไปราญ                      มัวเกี่ยงกันเสียการเสียนคร
ฉนั้นไซร้ขอไทยจงร่วมรัก              จงร่วมสมัครสโมสร 
เอาไว้เผื่อเผื่อมีไพรีรอญ                 จะได้สู้ดัสกรด้วยเต็มแรง 
ไทยรวมกำลังตั้งมั่น                        จะสามารถป้องกันขันแข็ง 
ถึงแม้ว่าศัตรูผู้มีแรง                        มายุทธแย้งก็จะปะลาศไป 
ขอแต่เพียงไทยเราอย่าผลาญญาติ   ร่วมชาติร่วมจิตเป็นข้อใหญ่ 
ไทยอย่ามุ่งร้ายทำลายไทย              จงพร้อมใจพร้อมกำลังระวังเมือง
ให้นานาภาษาเขานิยม                     ชมเกียรติยศฟูเฟื่อง 
ช่วยกันบำรุงความรุ่งเรือง              ให้ชื่อไทยกระเดื่องทั่วโลกา
ช่วยกันเต็มใจใฝ่ผดุง                       บำรุงทั้งชาติศาสนา 
ให้อยู่จนสิ้นดินฟ้า                       วัฒนาเถิดไทย  ไชโย
บันทึกการเข้า
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 17 ธ.ค. 07, 20:49

เมืองกังวล

เมืองใดไม่มีทหาร              เมืองนั้นไม่นาน...เป็นข้า
เมืองใดไร้จอมพารา           เมืองนั้น ไม่ช้า...นับจน
เมืองใดไม่มีพานิชเลิศ        เมืองนั้น ย่อมเกิดสับสน
เมืองใดไร้ศิลปะโสภณ       เมืองนั้น ไม่พ้นเสื่อมทราม
เมืองใดไม่มีกวีแก้ว           เมืองนั้นไม่แคล้วคนหยาม
เมืองใดไร้นารีงาม             เมืองนั้นสิ้นความภูมิใจ
เมืองใดไม่มีดนตรีเลิศ        เมืองนั้นไม่เพริศพิสมัย
เมืองใดไร้ธรรมอำไพ         เมืองนั้นบรรลัยแน่นอน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 17 ธ.ค. 07, 21:03

บทกลอนที่คุณ Bana ยกมา เป็นความไม่สบายใจของนักวิชาการที่ศึกษาพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ หลายต่อหลายคน    โดยเฉพาะตัวเจ้าของบทกลอนเอง
เพราะมีการเข้าใจผิดต่อๆกันมาหลายสิบปีแล้วว่า  ผลงานของเขาถูกนำไปอ้างอิงผิดๆว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

ขอยืนยัน ณ ที่นี้ หลังจากเคยยืนยันมาในกระทู้เก่า   ว่า กลอนบทนี้   เป็นงานประพันธ์ของคุณถนอม อัครเศรณี   หรือ "ศิราณี "นักตอบคอลัมน์ปัญหาหัวใจของไทยรัฐ เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว
ไม่ใช่พระราชนิพนธ์

ขอความกรุณาท่านที่เห็นกลอนบทนี้  ไม่ว่าที่เว็บไซต์ไหนก็ตาม  ระบุว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ 
กรุณาชี้แจงกับเวบมาสเตอร์ให้แก้ไขให้ถูกต้อง ว่าเป็นผลงานของคุณถนอม อัครเศรณี ด้วยนะคะ
ขอขอบคุณมาล่วงหน้า

บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 18 ธ.ค. 07, 09:37


        เมื่อไม่นานมานี้ ได้ชมเทปบันทึกการแสดงคอนเสิร์ทของสี่เหล่าทัพก็มีการเสนอบทเพลง
"เมืองกังวล" ในชุดเพลงปลุกใจ เนื่องจากเนื้อร้องท่อนนำของเพลงที่เพิ่มเติมว่า

          เมืองใดไร้สิ่งอันพึงมี        ย่อมเสื่อมศักดิ์ศรีไร้คุณค่า
พระมหาธีระราชเจ้าจอมปรัชญา     ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า...น่ากังวล

          ทำให้ยิ่งเป็นที่เข้าใจว่าเป็นบทพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ครับ

 
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 18 ธ.ค. 07, 14:28


      ไปค้นบทความที่เก็บไว้ เป็นข้อเขียนในสกุลไทยเมื่อต้นปีนี้ (ม.ค. ๕๐) ตัดตอนเรียบเรียงมาแสดงดังนี้ครับ

แน่วแน่แก้ไขและยืนยันความถูกต้อง   โดย  สุดสงวน

       ..... ได้รับทราบมาจากเพื่อน ยามภาษา หลายคนและหลายครั้งว่า ผู้แต่งที่แท้จริงคือ ถนอม อัครเศรณี
ตอนที่แต่งบทประพันธ์นี้ใช้นามปากกาว่า อัครรักษ์ และบทประพันธ์ชิ้นนี้ ผู้เขียนให้ชื่อว่า หัวใจเมือง

         ผู้ใช้นามว่า บัว ศจิเสวี ก็เคยเข้าใจว่ากลอนบทนี้เป็นพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ โดยเชื่อตาม
หนังสือ สามมุข เคยนำไปลงและลงนามกำกับว่าเป็นบทพระราชนิพนธ์
         แต่พอลงไปแล้ว ก็มีผู้ทักท้วงคือ คุณถนัด นาวานุเคราะห์ ซึ่งเป็นนักเรียนมหาดเล็กทัก (คุณบัว ศจิเสวี-นักค้นคว้าและ
เล่าเรื่องเก่าๆ ที่มีความรู้ดีมากคนหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับ พระราชวงศ์และวังต่างๆ-สุดสงวน) ว่าไม่ใช่พระราชนิพนธ์

        คนสำคัญยิ่งที่ยืนยันอย่างมั่นคงว่าบทกลอนเรื่อง หัวใจเมือง ไม่ใช่บทพระราชนิพนธ์ก็คือ ถนอม อัครเศรณี
ที่เขียนเรื่องไปยืนยันกับ อิงอร * ว่า

          ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับหนังสือและผลงานของนักเขียน ผมได้รับการติดต่อให้เขียนหนึ่งชิ้น
โดยขอให้เป็นลายมือของผมเอง ผมเห็นกลอน หัวใจเมือง ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย จึงเขียนส่งไป
          ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๒๐ อยู่ๆ ผมก็ตกใจเมื่อได้ยินเพลงออกอากาศทางโทรทัศน์และสถานีวิทยุทหารลั่นไปหมด
ที่ตกใจเพราะคำร้องของเพลงนี้ขึ้นต้นว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า พระราชนิพนธ์

         อิงอรเพื่อนรัก คิดดูเอาก็แล้วกัน ถ้าเพื่อนฝูงเป็นตัวผมจะรู้สึกอย่างไร ผมมิได้นิ่งนอนใจ ติดต่อแจ้งให้อาแจ๋วทราบ
(เข้าใจว่าเป็น ครูแจ๋ว-สง่า อารัมภีร-สุดสงวน) และขอให้แก้ความเข้าใจของประชาชนคนฟังเสียให้ถูกต้อง อาแจ๋วก็รับจะเขียนชี้แจง
ในฟ้าเมืองไทยให้ พร้อมกับปรารภว่า ไม่รู้เทปเพลงนี้ออกอากาศได้อย่างไร ผมก็บอกให้อาแจ๋วทำหนังสือแจ้งสถานีโทรทัศน์และวิทยุนั้นๆ
ทราบความจริงเสียแต่ต้น ซึ่งอาแจ๋วก็รับคำ
         ต่อมาปีแล้วปีเล่า ผมก็ยังได้ยินเพลงนี้เป็นครั้งคราว แต่ในระยะหลังจะได้ยินเฉพาะ คำร้องที่เป็นกลอนของผม มาไม่สบายใจหนัก
เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ เป็นวาระคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ผมได้ยินสยามานุสสติ ยกกลอน บทดังกล่าว
ระบุว่าสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า พระราชนิพนธ์ พร้อมอ่านกลอนดังกล่าวแต่ต้นจนจบ
         เพื่อนฝูงคิดดูเถิด บทกลอนของผมเปรียบได้เพียงเศษธุลี เป็นละอองธุลีพระบาทของพระราชนิพนธ์ในพระองค์ท่าน เมื่อเหตุการณ์
ทำให้ประชาชนเกิดความสำคัญผิดพลาดเช่นนี้ ขืนเพิกเฉยไปก็เท่ากับผมปล่อยให้ราคี เกิดขึ้นแปดเปื้อนแก่พระราชนิพนธ์ในพระองค์ท่าน
ด้วยความมิบังควรเช่นนั้นละหรือ

* อิงอร - นามปากกาของ ศักดิ์เกษม หุตาคม นักประพันธ์สำนวนปากกาจุ่มน้ำผึ้ง ผลงานเช่น ดรรชนีนาง, นิทรา-สายัณห์ และ ธนูทอง
บันทึกการเข้า
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 19 ธ.ค. 07, 01:42

ผมก็ได้รับการบอกเล่าเหมือนกันว่า  คุณถนอมเป็นคนแต่ง  แต่ก็ไม่แน่ใจ  จึงนำมาลงลองดูว่าจะมีการทักท้วงหรือไม่  ที่จริงก็เป็นที่เข้าใจกันมาตลอดว่าเป็นพระราชนิพนธ์  ถ้าไม่ถูกต้องจริงๆน่าจะทำให้ชัดเจนกว่านี้  เพราะแม้แต่ในโรงเรียนบางแห่งเองยังสอนกันว่าเป็นพระราชนิพนธ์  ไม่ผิดหรอกครับสำหรับผู้ที่เคยเข้าใจอย่างนั้น  แต่ถ้าไม่ใช่พระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯรัชกาลที่6 จริง  ก็ไม่เสียหายเลยที่จะแก้ไขความเข้าใจกันใหม่แต่อยากให้ชัดเจนกว่าที่เป็น.... ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 20 ธ.ค. 07, 20:20

วิธีแก้ไขคือช่วยกันเผยแพร่ความเข้าใจที่ถูกต้องให้รู้กันแพร่หลายมากกว่านี้
ถ้าใครเจอเว็บไหนยังลงบทกลอนนี้ว่าเป็นพระราชนิพนธ์ ก็ขอให้ช่วยชี้แจงไปยังเวบมาสเตอร์ด้วย
ยกบทความของ "สุดสงวน" ประกอบไปด้วยก็ได้  ตามที่คุณ Bana นำมาลง
ดิฉันก็จะส่งถึงเวบมาสเตอร์ทุกเว็บที่เจอว่ายังลงผิดอยู่ค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 19 คำสั่ง