เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9
  พิมพ์  
อ่าน: 51195 สาวน้อยใจถึง
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 29 เม.ย. 08, 12:17

สองคนข้างบนนั้นบ่นอะไรกันคะ  ยิ้มเท่ห์

ถ้าคุณติบอหงุดหงิดอยู่บ้างละก็  ขอแนะนำวิธีให้ทางหนึ่ง คือหัดอ่านระหว่างบรรทัด
ลองถามชาวหน้าพระลานดูก็ได้ว่าเขามีวิธีอ่านอารมณ์ของงานฝีมือแต่ละชิ้นยังไงบ้าง  อ่านระหว่างบรรทัดก็หลักการเดียวกันละค่ะ

คุณอาจจะพบว่า คนที่จิตใจสงบเป็นปกติ   ย่อมสะท้อนออกมาในวิธีเรียบเรียงความคิด และการใช้ถ้อยคำ ให้คนอื่นเห็นได้ว่านี่เป็นถ้อยคำปกติ
คนมีเหตุผลก็พูดและเขียนมีเหตุผล  คนไม่มีเหตุผล อะไรที่เขียนออกมามันก็แย้งกันเองหมด  ไม่ต้องรอคนอื่นมาแย้งเสียด้วยซ้ำ

ถ้าไม่ตั้งใจบิดเบือนเสียอย่าง  ถ้อยคำของคนออกจากปากมาเป็นยังไง  ตัวตนเขาก็เป็นยังงั้น   
คนที่เจ็บปวดทุกข์ทรมาน ย่อมใช้ถ้อยคำอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากสะท้อนความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน
ความทุกข์นี่เหมือนบาป   ของใครของมัน ไม่มีใครบาปแทนใครได้

ถ้ามองเห็นข้อนี้  คุณติบออาจจะหายหงุดหงิด แล้วเปลี่ยนเป็นเวทนา   ภาวนาให้เขารักษาจิตใจให้หายขาดได้ในที่สุด
บันทึกการเข้า
pakun2k1d
พาลี
****
ตอบ: 285


ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 29 เม.ย. 08, 12:46

น้อมรับ "สติ" และ "ปัญญา" ที่อาจารย์เทาชมพูให้ค่ะ
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 29 เม.ย. 08, 23:32

ขอบพระคุณ ในคำเตือนทั้งของท่านอาจารย์เทาชมพูและคุณพิพัฒน์ครับ อายจัง
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 18 มิ.ย. 08, 09:49

       จากนสพ. มติชนวันนี้ คุณสุจิตต์ นำรูปสาวน้อยใจถึง(และอีก ๒ รูป)
มาแสดงและเขียนถึงครับ

         ......อีก 2 ภาพ เป็นรูปสาวอายุ 18 กับหญิงให้นมลูก สาวสยามอายุ 18 “อกรวบเหมือนบวบต้ม”
เพราะอะไร? แสดงว่ามีลูกแล้วใช่ไหม? มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรหรือไง?

http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra02180651&day=2008-06-18&sectionid=0131

หญิงชาวสยามขณะให้นมบุตร และหญิงสาววัย ๑๘ ปี, ค.ศ. ๑๘๖๒ (พ.ศ. ๒๔๐๕)
ถ่ายโดยปิแอร์ โรซิเยร์


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 18 มิ.ย. 08, 10:26

คำบรรยายว่า หญิงสาววัย ๑๘  เดาว่าคงเป็นคำบรรยายภาพ  มาแต่เดิม    คุณสุจิตต์จึงยึดตามนี้
ตามความเห็นส่วนตัว
๑ ผู้หญิงทั้งสองเป็นคนละคนกัน
๒ ทางซ้าย แม่ที่ให้นมลูก  สังขารน่าจะมากกว่าวัย ๑๘  พูดอย่างไม่เกรงใจคือรูปร่างเธอทรุดโทรมโกโรโกโสมาก  ผอม เหี่ยวแห้ง ราวกับสัก ๓๐
น่าจะมีลูกมาแล้วหลายคน   แม่ลูกอ่อนที่เพิ่งมีลูกคนแรก อายุแม่ก็ ๑๘  น่าจะเปล่งปลั่งมีเนื้อมีหนังกว่านี้

แต่ถึงอายุ ๑๘ จริง ก็ไม่มีอะไรควรคู่กับคำว่า "มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร"   เพราะผู้หญิงเมื่อหนึ่งร้อยห้าสิบปีก่อน  โกนจุกไม่เท่าไร แค่ปีสองปี  ก็เป็นสาวออกเรือนได้แล้ว 
ในขุนช้างขุนแผนถึงมีคำบรรยายนางพิมว่า "กำลังสาวราวสิบสี่ปีมะเส็ง"   ตอนพลายแก้วปีนเข้าห้อง ถามอายุอานามกัน เธอบอกว่าอายุ ๑๖ 
ตอนนั้นเธอก็สาวพอที่ขุนช้างจะมาสู่ขอ  แม่ไม่ได้รู้สึกว่าลูกสาวเด็กเกินไป   แต่งงานไปได้แล้ว

เพราะฉะนั้น ๑๘ สมัยนั้นเห็นจะพอๆกับ ๒๘ ในยุค ๒๐๐๘
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 18 มิ.ย. 08, 14:27

ขอบคุณ คุณ SILA ครับ
ถ้าข้อมูลดังกล่าวไม่ผิดพลาด เราจะได้รับข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นมา และทำให้ความเห็นของอาจารย์เทาชมพูที่เคยบอกว่า
การถ่ายรูปหญิงเปลือยเช่นนี้ น่าจะเป็นรสนิยมฝรั่ง ถูกเผงเลยทีเดียว

ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการนี้ คือ Claude Estebe เป็นผู้พบหลักฐานว่า ในปี 1861-1862 มีนักสัตว์ศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Firmin Bocourt
เข้ามาทำการสำรวจในสยาม (เรื่องนี้ ยังไม่พบหลักฐานฝ่ายไทย) เขานำช่างภาพเข้ามาด้วย คือ Pierre Joseph Rossier (1829-1883 หรือ 1898) ชาวสวิส
ดูประวัติในได้ที่
http://en.wikipedia.org/wiki/Pierre_Rossier

หลักฐานเรื่องการเข้ามาของนักสำรวจชุดนี้ คุณคล๊อดพบใน Academie des sciences, Seance du 10 aoet 1863,
cote Y 324, p. 2. (แปลจากฝรั่งเศสได้ความว่า Mr. Bocourt took advantage of the fact that a good artist ((M. Rossier)) was staying
in Bangkok and asked him to make numerous photographs)
แต่ที่คุณคล๊อดระบุในนิทรรศการว่า Rossier เป็นช่างภาพหลวงระหว่าง 1850-1860 นั้นยังน่าสงสัย
เรื่องนี้ต้องหาทางสืบสวนเสียหน่อย

ตามประวัติ เขาเริ่มไปหากินที่อังกฤษราวปี 1855 รับจ้างบริษัท Negretti and Zambra บันทึกรูปสงตรามฝิ่นครั้งที่ 2 ราวปี 1855-57
แต่เดินทางมาไม่ทัน จึงถือโอกาสถ่ายรูปในจีน ญี่ปุ่น ฟิลิบปินส์ และสยาม
(ดูข้อมูลที่นี่ http://en.wikipedia.org/wiki/Negretti_and_Zambra)

ปี 1858 เขาเริ่มถ่ายรูปที่ฮ่องกง ปีรุ่งขึ้น Negretti and Zambra (NZ) พิมพ์รูปถ่ายชุดนี้ 50 รูป มีรูปจากกล้องสองตา (stereographs) รวมอยู่ด้วย
ปีนั้นเองเขาไปถ่ายรูปที่ฟิลิปปินส์ และต่อไปญี่ปุ่น กลายเป็นช่างภาพอาชีพคนแรกที่เข้าประเทศนั้น
เขาเข้าจีนในปี 1860 เพื่อเป็นช่างภาพประจำกองทัพแต่ไม่สำเร็จ ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสต่างจ้างช่างภาพไว้แล้ว
หนึ่งในนั้นคือ Falice Beato (1833/4-1907) ผู้ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นคนสำคัญในประวัติศาสตร์ภาพถ่าย

เมื่อผิดหวังจากจีน Rossier กลับมาหากินที่ญี่ปุ่น และกลายเป็นบิดาแห่งการถ่ายรูปของประเทศนั้น เขารับสอนคนญี่ปุ่นหลายคน
ให้กลายเป็นช่างภาพ น่าแปลกใจที่เขาถูกเรียกว่า "คนอังกฤษ" บางทีอาจเพราะเป็นลูกจ้างบริษัทอังกฤษ และคงจะใช้ภาษานี้ด้วยกระมัง
ประเด็นนี้อาจจะไขความลับในพระราชสาส์นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฉบับหนึ่งได้

ปี 1861 เขารับงานบันทึกภาพให้กับ  Marie Firmin Bocourt (1819 - 1904) นักสัตว์ศาสตร์ ที่ทำงานในสยามระหว่าง 1861-3
http://en.wikipedia.org/wiki/Marie_Firmin_Bocourt
แต่ Rossier อยู๋ในสยามเพียงหนึ่งปี เพราะต้นปี 1862 เขาก็ขายทรัพย์สินทั้งหมดที่ญี่ปุ่น แล้วกลับไปหากินที่บ้านเกิด
ปีนั้นเอง NZ ก็พิมพ์รูปถ่ายชุดแรกของสยามออกจำหน่าย

ในพระราชสาส์นถึงพระราชินีวิคตอเรีย ตอบรับเครื่องราชบรรณาการที่แฮรี่ ปาร์กทำตกน้ำที่สิงคโปร์
พระจอมเกล้าทรงเล่าว่า กล้องถ่ายรูปนั้น ต้องรอซ่อมนาน จนได้กงศุลอังกฤษ พาชาวสวิสเดนและสุภาพบุรุษชาวอังกฤษมาให้คำแนะนำ จึงใช้การได้
น่าสังเกตว่า ทรงเอ่ยถึงบุคคลสองคน หนึ่งในนั้น จะเป็น Rossier ได้หรือไม่
ปาร์คส์เข้ามาเดือนมีนาคม 2398 อีกปีเศษคือเดือนกรกฏาคม 2400 คณะฑูตชุดพระยามนตรีสุริยวงศ์ ก็ออกเดินทางจากประเทศไทย
เชิญพระบรมสาทิศฉายาลักษณ์หลายพระองค์ออกไป แต่เป็นรูปชนิดแผ่นเงิน daguerreotype แต่กล้องที่จมน้ำเป็นชนิดกระจกเปียก
เพราะเมื่อซ่อมเสร็จ ทรงส่งออกไปถวายพระราชินีเพื่อขอบพระทัยพร้อมคณะฑูตชุดไปฝรั่งเศส 2403
ช่วงเวลา 2398-2403 เทียบคศ. ตรงกับ 1855-1860 เป็นไปได้หรือไม่ที่ Rossier จะเข้ามาเป็นผู้ให้คำแนะนำการซ่อมกล้อง
เราต้องการข้อมูลที่ชัดเจนกว่านี้ ในการตัดสินใจเพราะการนับวันในครั้งนั้นออกจะลักหลั่นกันบางทีผิดไปถึงหนึ่งปี
เพราะการเปลี่ยนระบบปฎิทินในสมัยจอมพลป.

ทีนี้ ก็มาถึงปัญหาสำคัญละครับ ว่า มูโอต์ เจอกับโรสิเย่ร์ได้อย่างไร
มูโฮต์เข้ามาสำรวจ 1858-1860 เสียชีวิตเมื่อ 1861 เราคงเห็นอย่างง่ายๆละ ว่าคู่นี้ ไม่น่าจะเจอกัน


เรื่องนี้มีประเด็นให้ศึกษาต่ออีกแยะครับ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 07 ก.ค. 08, 00:54

วันนี้ได้แวะไปชมนิทรรศการรูปถ่ายโบราณ ที่ทางสถานฑูต และสถาบันฝรั่งเศสนำมาแสดงที่หอศิลปสมเด็จพระนางเจ้าฯ ผ่านฟ้า
น่ายินดีที่มีการนำรูปน่าชมเหล่านี้มาให้ชาวไทยได้รับรู้ แต่เสียดายที่เกือบทั้งหมด เป็นงานจำลอง
(มีงานสมัยใหม่เท่านั้น ที่-เข้าใจว่าจะ-เป็นงานจริง)

ผมจะข้ามไม่กล่าวถึงงานสมัยใหม่ ขอพูดถึงรูปถ่ายสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีผู้หวังดีมาช่วยแก้ไขข้อมูลให้ผม
ถ้าเป็นข้อเท็จจริงที่ยอมรับได้ ผมจะได้แก้ข้อผิดพลาดในงานของตนเอง เป็นสิ่งดีที่ได้รู้ข้อบกพร่องของตนเอง
น่าผิดหวังที่มีข้อมูลประกอบน้อยมาก เข้าใจว่า การนำเสนองานชุดรัชกาลที่ 4 อาจจะมิใช่เป้าหมายหลัก
สูจิบัตรนิทรรศการนั้นทำอย่างสวยงาม (ต้องขอ เขาจึงจะแจกให้นะครับ แต่หมดเสียแล้ว....แย่จัง)
มีกล่าวถึงรูปโบราณไว้อย่างสังเขปว่า

หลังนิทรรศการที่พระราชวังแก้วแล้ว มีช่างภาพถูกส่งออกมาเก็บรูปถ่ายแบบสามมิติ ทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งสยาม
บริษัท NZ ก็ส่งโรสซิเย่ร์เข้ามาในปี 2402 และระบุว่าได้ถ่ายรูปพระเจ้าอยู่หัว บุคคลสำคัญ นักแสดง ทหารหญิง....ไว้มากมาย
แต่แล้วในย่อหน้าต่อมา ก็กลับอธิบายต่อว่า โรสซิเย่ร์ได้ถ่ายรูปสำคัญๆ ในสยามเพราะทำงานให้กับแฟร์แมง โบกูรต์
ซึ่งราชสำนักเชิญเข้ามาเก็บข้อมูลธรรมชาติวิทยา เป็นของขวัญแก่ฝรั่งเศสในโอกาสที่คณะฑูตได้ไปเจริญสัมพันธไมตรีมาเมื่อปีที่แล้ว

ข้อความข้างต้นน่าสงสัยยิ่ง จะขอเสนอเป็นข้อๆ ก่อนว่า
1 บริษัทอังกฤษ ส่งโรสซิเย่ร์เข้ามาถ่ายรูปสามมิติ คือ stereotype เพราะคนยุโรปกำลังคลั่งรูปแบบนี้
2 โรสซิเย่ร์ได้ถ่ายรูปสำคัญๆ ไว้มาก ด้วยคุณภาพที่สูง เพราะได้รับจ้างคณะนักธรรมชาติวิทยาฝรั่งเศส
3 คณะนี้ เข้ามาหลังจากมีฑูตไทยไปฝรั่งเศสแล้ว

ที่สงสัยก็คือ ปีที่โรสซิเย่ร์เข้ามา คือ 2402 นั้น ยังไม่มีใครไปฝรั่งเศส จะไปก็ปี 2403
ยิ่งบอกว่าเข้ามาหลังจากคณะฑูตกลับมาหนึ่งปี ก็ต้องเป็น 2405 หรือเร็วกว่านั้น ก็คือ 2404
สรุปว่า ผิดปีไปอย่างไม่น่าเป็นไปได้
นี่ประการที่หนึ่ง

ในนิทรรศการ ได้เชิญพระบรมรูปพระจอมเกล้ามาแสดงด้วยหนึ่งองค์ บอกว่า ถ่ายโดยโรสซิเย่ร์
ผมไม่สามารถสแกนรูปนั้นมาให้ชม จึงขอนำรูปจากที่อื่นมาแทน
เป็นพระบรมรูปประทับกับปืนสั้นและปืนยาว มีหีบหนึ่งใบอยู่บนโต๊ะ และทรงกระบี่ฝรั่งกับผ้าซับพระภักตร์

พระรูปนี้ จะเป็นโรสซิเย่ร์ถ่ายไม่ได้เป็นอันขาด เพราะเป็นพระรูปที่ส่งไปอังกฤษ ได้ลงพิมพ์ใน illustrated london news 17.2.1860
ที่กล้ายืนยันอย่างนั้น ก็เพราะมีพระราชหัตถเลขาระบุว่าถ่ายจากกล้องที่นายแฮรี่ ปาร์ก ทำตกน้ำ
"เครื่องถ่ายรูปนั้น ต้องรออยู่นาน ชาวสยามประกอบการหาสนัดไม่ ต่อมีช่างถ่ายรูปชาวสวิสเดนคนหนึ่งกับอังกฤษอีกคนหนึ่ง
ซึ่งเซอรรอเบิศจอมเบิกกงสุลภามาหา ช่วยแนะนำให้ทำชาวสยามจึ่งทำได้....." ขอเน้นว่าทรงยืนยันว่าชาวสยามทำ
มิได้บอกว่าชาวประเทศใดอื่นทำ คุณเอนก นาวิกมูลเห็นว่าช่างภาพคือนายโหมด
แต่กรมพระนราธิปทรงยืนยันว่าเป็นพระปิ่นเกล้าทรงเป็นช่างภาพ
"พิมพ์พระรูปเดียว ประดิษฐานไว้เบื้องสูงแห่งแท่นพระบรรทม พระที่นั่งอิศเรศรังสรรค์...."(โคลงลิขิตมหามกุฏราชคุณานุสรณ์ ฉบับมีพระรูป)

ทำไมจึงกล้ายืนยันว่าพระรูปนี้ไม่เกี่ยวกับฝรั่งเศส ขอให้ดูที่ปืน และหีบ
และขอให้ดูพระรูปเต็มๆ ที่จะอวดข้างล่าง


บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 07 ก.ค. 08, 00:57

วันนี้ได้แวะไปชมนิทรรศการรูปถ่ายโบราณ ที่ทางสถานฑูต และสถาบันฝรั่งเศสนำมาแสดงที่หอศิลปสมเด็จพระนางเจ้าฯ ผ่านฟ้า
น่ายินดีที่มีการนำรูปน่าชมเหล่านี้มาให้ชาวไทยได้รับรู้ แต่เสียดายที่เกือบทั้งหมด เป็นงานจำลอง
(มีงานสมัยใหม่เท่านั้น ที่-เข้าใจว่าจะ-เป็นงานจริง)

ผมจะข้ามไม่กล่าวถึงงานสมัยใหม่ ขอพูดถึงรูปถ่ายสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีผู้หวังดีมาช่วยแก้ไขข้อมูลให้ผม
ถ้าเป็นข้อเท็จจริงที่ยอมรับได้ ผมจะได้แก้ข้อผิดพลาดในงานของตนเอง เป็นสิ่งดีที่ได้รู้ข้อบกพร่องของตนเอง
น่าผิดหวังที่มีข้อมูลประกอบน้อยมาก เข้าใจว่า การนำเสนองานชุดรัชกาลที่ 4 อาจจะมิใช่เป้าหมายหลัก
สูจิบัตรนิทรรศการนั้นทำอย่างสวยงาม (ต้องขอ เขาจึงจะแจกให้นะครับ แต่หมดเสียแล้ว....แย่จัง)
มีกล่าวถึงรูปโบราณไว้อย่างสังเขปว่า

หลังนิทรรศการที่พระราชวังแก้วแล้ว มีช่างภาพถูกส่งออกมาเก็บรูปถ่ายแบบสามมิติ ทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งสยาม
บริษัท NZ ก็ส่งโรสซิเย่ร์เข้ามาในปี 2402 และระบุว่าได้ถ่ายรูปพระเจ้าอยู่หัว บุคคลสำคัญ นักแสดง ทหารหญิง....ไว้มากมาย
แต่แล้วในย่อหน้าต่อมา ก็กลับอธิบายต่อว่า โรสซิเย่ร์ได้ถ่ายรูปสำคัญๆ ในสยามเพราะทำงานให้กับแฟร์แมง โบกูรต์
ซึ่งราชสำนักเชิญเข้ามาเก็บข้อมูลธรรมชาติวิทยา เป็นของขวัญแก่ฝรั่งเศสในโอกาสที่คณะฑูตได้ไปเจริญสัมพันธไมตรีมาเมื่อปีที่แล้ว

ข้อความข้างต้นน่าสงสัยยิ่ง จะขอเสนอเป็นข้อๆ ก่อนว่า
1 บริษัทอังกฤษ ส่งโรสซิเย่ร์เข้ามาถ่ายรูปสามมิติ คือ stereotype เพราะคนยุโรปกำลังคลั่งรูปแบบนี้
2 โรสซิเย่ร์ได้ถ่ายรูปสำคัญๆ ไว้มาก ด้วยคุณภาพที่สูง เพราะได้รับจ้างคณะนักธรรมชาติวิทยาฝรั่งเศส
3 คณะนี้ เข้ามาหลังจากมีฑูตไทยไปฝรั่งเศสแล้ว

ที่สงสัยก็คือ ปีที่โรสซิเย่ร์เข้ามา คือ 2402 นั้น ยังไม่มีใครไปฝรั่งเศส จะไปก็ปี 2403
ยิ่งบอกว่าเข้ามาหลังจากคณะฑูตกลับมาหนึ่งปี ก็ต้องเป็น 2405 หรือเร็วกว่านั้น ก็คือ 2404
สรุปว่า ผิดปีไปอย่างไม่น่าเป็นไปได้
นี่ประการที่หนึ่ง

ในนิทรรศการ ได้เชิญพระบรมรูปพระจอมเกล้ามาแสดงด้วยหนึ่งองค์ บอกว่า ถ่ายโดยโรสซิเย่ร์
ผมไม่สามารถสแกนรูปนั้นมาให้ชม จึงขอนำรูปจากที่อื่นมาแทน
เป็นพระบรมรูปประทับกับปืนสั้นและปืนยาว มีหีบหนึ่งใบอยู่บนโต๊ะ และทรงกระบี่ฝรั่งกับผ้าซับพระภักตร์

พระรูปนี้ จะเป็นโรสซิเย่ร์ถ่ายไม่ได้เป็นอันขาด เพราะเป็นพระรูปที่ส่งไปอังกฤษ ได้ลงพิมพ์ใน illustrated london news 17.2.1860
ที่กล้ายืนยันอย่างนั้น ก็เพราะมีพระราชหัตถเลขาระบุว่าถ่ายจากกล้องที่นายแฮรี่ ปาร์ก ทำตกน้ำ
"เครื่องถ่ายรูปนั้น ต้องรออยู่นาน ชาวสยามประกอบการหาสนัดไม่ ต่อมีช่างถ่ายรูปชาวสวิสเดนคนหนึ่งกับอังกฤษอีกคนหนึ่ง
ซึ่งเซอรรอเบิศจอมเบิกกงสุลภามาหา ช่วยแนะนำให้ทำชาวสยามจึ่งทำได้....." ขอเน้นว่าทรงยืนยันว่าชาวสยามทำ
มิได้บอกว่าชาวประเทศใดอื่นทำ คุณเอนก นาวิกมูลเห็นว่าช่างภาพคือนายโหมด
แต่กรมพระนราธิปทรงยืนยันว่าเป็นพระปิ่นเกล้าทรงเป็นช่างภาพ
"พิมพ์พระรูปเดียว ประดิษฐานไว้เบื้องสูงแห่งแท่นพระบรรทม พระที่นั่งอิศเรศรังสรรค์...."(โคลงลิขิตมหามกุฏราชคุณานุสรณ์ ฉบับมีพระรูป)

ทำไมจึงกล้ายืนยันว่าพระรูปนี้ไม่เกี่ยวกับฝรั่งเศส ขอให้ดูที่ปืน และหีบ
และขอให้ดูพระรูปเต็มๆ ที่จะอวดข้างล่าง



บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 07 ก.ค. 08, 01:07

คงเห็นนะครับ ว่าพระรูปในนิทรรศการนั้น เป็นการตัดส่วนออกมา จากรูปเต็มที่มีเครื่องราชบรรณาการครบถ้วน
ปืนนั้น ทรงได้รับจากพระราชินีวิคตอเรีย เช่นเดียวกับหีบอันงดงาม
เป็นหีบเครื่องเขียน ที่หนังสือพิมพ์ลอนดอนชมเชยมาก ถึงกับเขียนข่าวว่า...."ความงดงามของกระปุกหมึก จะเป็นแรงบันดาลให้....
ทรงจุ้มหมึกพระราชนิพนธ์เรื่องใดออกมาแล้ว อาจจะทำให้พระองค์ทรงเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งยุคก็ได้"
(แผ่นดินพระจอมเกล้า หน้า 245 คำแปลโดยนิจ ทองโสภิต)

นอกจากนั้น เรายังมีพระบรมรูปในชุดที่พระราชทานแก่ฝรั่งเศส มีความละม้ายคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน (ดูพระรูปในกษัตริย์กับกล้อง....ถ้าสนใจ)

สรุปว่า ผู้จัดนิทรรศการนี้ อาจจะทำการบ้านมาไม่สมบูรณ์ จึงเกิดสับสนในเรื่องข้อมูล
หรืออาจจะเป็นอย่างที่เลวร้ายกว่า คือไม่มีการเข้าถึงข้อมูลมากพอ หรือรอบคอบพอ ก็ด่วนสรุปเพื่อหาทางเสริมเกียรติยศให้กับช่างภาพที่ตนสนใจ
(ฮิ...ข้อนี้ ผมก็เป็นครับ.....)

มาถึงข้อสงสัยที่สอง
โรสซิเย่ร์ เข้ามาเพื่อถ่ายรูปสามมิติ
แล้วรูปสามมิติไปใหนกันหมดล่ะ ที่นำมาอวดนั้น มีแต่รูปชนิดเต็มแผ่น ไม่มีแบบสามมิติเลย
ในกระทู้เก่าอีกเรื่องหนึ่ง ผมเคยเชิญพระรูปจากกล้องสามมิติมาให้ชมกันแล้ว
คุณภาพต่ำมาก ไม่ตรงกับที่ระบุในนิทรรศการว่า เป็นงานคุณภาพสูง แปลว่า โรสซิเย่ร์มีกล้องมามากกว่าหนึ่ง กระนั้นหรือ
ผมมีความสงสัย เพราะเท่าที่สอบดูจากกูเกิล ยังไม่เคยเห็นรูปเต็มแผ่นฝีมือโรสซิเย่ร์เลย แม้แต่ในรูปชุดญี่ปุ่น
http://www.old-japan.co.uk/article_rossier.html
แต่จะได้เห็นเมื่อเขากลับไปหากินที่ยุโรปแล้ว อย่างรูปนี้เป็นต้น
http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/6/69/Swiss_priest.jpg

สำหรับคนที่ถ่ายรูปเป็น ขอบอกว่าลายมือต่างจากรูปสาวๆ ที่คุณสุจิตเอามาให้ชมอยู่ไม่น้อย
อย่างไรก็ดี ผมไม่มีความสามารถที่จะเข้าไปลุยค้นคว้าที่ Bibliotheque Nationale de France เจ้าของรูปต้นฉบับเหล่านี้
จึงได้แต่สงสัยว่า นิทรรศการดีๆ อย่างนี้ ทำไมไม่สามารถทำให้ความมึนงงของผม ละลายหายไปได้
คงได้แต่ค้นคว้าก๊อกๆ แก๊กๆ ต่อไป
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 09 ก.ค. 08, 03:51

มีคนทักมาเรื่องปีพ.ศ. ปรากฏว่าบวกลบเลขผิดไปหลายปี ต้องขออำไพจริงๆ ต่อไปจะระวังให้มากกว่านี้

สำหรับความสงกะสัยหาไคร่ในใจนั้น ทำผมต้องโทรไปหาซินแปด....หึหึ ชื่อนี้จริงๆ ครับ
ฝ่ายตอบคำถามของหอจดหมายเหตุแห่งชาติฝรั่งเศส เขาเรียกตัวเองว่า SINBAD น่ารักจริง
ถามปุ๊บ เขาตอบกลับปั๊บ บอกว่า ม่ายรู้ฮ่า......
คุณต้องถามคุณคล๊อดเอาเอง ให้ที่อยู่มาพร้อมสรรพ ก็เลยถามไปแล้วเรียบร้อย กำลังนี้ รอคำตอบอยู่ครับ

ถามไปว่า พระบรมรูปที่ท่านบอกว่าฝีมือโรสซิเย่ร์นั้น
หลักฐานฝ่ายไทยบอกว่าเป็นฝีมือช่างไทย ด้วยกล้องที่แฮรี่ ปาร์ก ทำตกน้ำที่สิงค์โปร์....นี่นา

ผมไม่ได้แนบหลักฐานประกอบไป เพราะเขียนประกิตไม่แข็ง หึหึ ถึงแข็งก็ไม่เขียน
ไม่มีความจำเป็น คนที่จะทำงานระดับนานาชาติ และเล่นประวัติศาสตร์รัชกาลที่ 4
ต้องรู้ว่ามิสเตอร์ปาร์ก เดือดร้อนขนาดใหนในการทำงานใหญ่ครั้งแรกแล้วล้มเหลว
เครื่องราชบรรณาการ 40 หีบ เสียหายเกือบหมด จะอ่านเรื่องพวกนี้ได้ที่ใหน ไม่มีใครเขามาปลอกกล้วยเข้าปากกันง่ายๆ ดอก
จริงใหมท่าน ถ้าเรื่องแค่นี้ หาไม่เจอ ก็คงไม่สามารถหาต่อไปว่า ทำไมคุณเอนกจึงยืนยันว่าเป็นฝีมือนายโหมด
ส่วนที่ผมอ้างโคลงลิขิตนั้น ไม่เป็นนักเลงหนังสือจริง ชีวิตนี้จะเคยเห็นโคลงลิขิตมหามกูฎฯ รื้อ
พูดแซวเล่นอย่างนี้ เซียนหนังสืออย่างคุณ wandee คงนึกเอ็นดูบอกว่า ฉันเพิ่งเก็บหนีปลวกไปเมื่อกี้เอง

ผมเองจนใจที่พิมพ์ดีดไม่เก่ง ไม่สามารถคัดพระราชหัตถเลขา และพระราชสาส์นในรัชกาลที่ 4 มาให้อ่านได้
ท่านที่สนใจคงต้องขวนขวายสักหน่อย

พระราชหัตถเลขานั้น กรมศิลป์ทำเป็นซีดีรอม แนบในหนังสือเฉลิมพระเกียรติชุด 200 ปีพระจอมเกล้า
แต่พระราชสาส์นนั้น มีสองภาค ไม่เห็นว่าท่านได้ทำ ในนั้นมีพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับการฉายพระรูปอย่างเห็นภาพ
จำได้ว่า ทรงเล่า....กรุงสยามได้ช่วยช่างจัดการถ่ายรูป....ฯลฯ ประมาณนี้

ดังนั้น ที่จะมาอธิบายกันดื้อๆ ว่าโรสซิเย่ร์เป็นผู้ฉายพระรุป ก็ต้องสู้กันด้วยข้อมูลดูสักตั้ง
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 09 ก.ค. 08, 04:01

ผมยังสงสัยการวินิจฉัยของคุณคล๊อดอีกหลายข้อ อย่างที่บอกว่า เขาฉายสไลด์วนอยู่ชุดใหญ่
ผมเข้าใจเอาเองว่า เป็นการแนะนำงานของโรสซิเย่ร์

รูปที่สงสัยก็คือรูปถ่ายแม่น้ำเจ้าพระยา จากยอดวัดอรุณ มาทางฝั่งท่าเตียน
รูปชุดนี้มีสองชุดที่ถ่ายครั้งรัชกาลที่ 4 ต่างก็เห็นการก่อสร้างที่วัดราชประดิษฐ์

การกำหนดอายุรูปถ่ายนั้น ทำได้จากข้อมูลในรูปนั้นเอง ข้อมูลที่สำคัญที่สุดก็คือการสร้างวัดราชประดิษฐ์ ซึ่งใช้เวลาเพียง 8 เดือน
นี่เป็นหมุดเวลาที่มั่นคงที่สุด เพราะมีพระราชหัตถเลขาและจารึกบอกวันเวลาแน่นอน
"ด้านหลังพระวิหาร มีซุ้มซึ่งแกะสลักด้วยหินอ่อนทั้งแผ่น ภายในซุ้มเป็นที่ประดิษฐานศิลาจารึก ประกาศในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒ ฉบับ
ฉบับแรกเป็นประกาศสร้างวัดถวายพระสงฆ์ธรรมยุกติกนิกาย ลง พ.ศ. ๒๔๐๗ ฉบับหลังเป็นประกาศงานพระราชพิธีผูกพัทธสีมา ลง พ.ศ. ๒๔๐๘
ข้อความในศิลาจารึกทั้ง ๒ ฉบับ นั้นนับว่ามีความสำคัญซึ่งเป็นมหามรดกล้ำค่า ที่เป็นมหาสมบัติของคณะธรรมยุติกายที่ได้รับพระราชตกทอดมาจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔"
http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watratchapradit.php
http://th.wikipedia.org/wiki/วัดราชประดิษฐ์

ตรงนี้คงบวกเลขไม่ผิดอีก คือโรสซิเย่ร์ออกไปจากเอเชีย เมื่อ 1862/2405 February, in Shanghai, sold cameras and other photographic equipment before embarking for Europe (จากวิกิ) แต่ว่าอีกสองปี 2407 วัดราชประดิฐ์ จึงเริ่มสร้าง

รูปถ่ายใด เห็นการก่อสร้างวัดนี้ ก็เท่ากับติดปฏิทินและอาจจะนาฬิกา ไว้ที่รูป ....555555
หวังใจว่าคนไทยที่เทิดฝรั่ง จะไม่อกแตกตายจากการวินิจฉัยเพี้ยนๆ ครั้งี้นะขอรับ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 13 ก.ค. 08, 21:54

คุณคล๊อดตอบคำถามมาแล้วครับ ทำให้ได้รับความกระจ่างพอสมควร ต้องขอบคุณในความเอาใจใส่ของเขาจริงๆ   
ขอยกมาให้อ่านเล็กน้อยนะครับ

ประการแรก รูปเหล่านี้ ไม่มีชื่อผู้ถ่าย คุณคล๊อดจึงใช้หลักฐานแวดล้อมในการระบุนามช่างภาพ
I found these photographs which were without photographer name but very similar to some in others
museums by Rossier and were actually a dation from the Natural History Museum.

อันเป็นเหตุให้ระบุพระรูปที่ส่งพระนางวิคตอเรีย เป็นฝีมือของโรสสิเย่ร์
The portrait of King Mongkut shown last month in Bangkok was repertoried in the french Museum
in the list of Rossier pictures so I attributed it to Rossier in the exhibition.

ข้อมูลตรงนี้ น่าสนใจมากครับ ที่บอกว่ารอสซิเย่ร์สอนพระเจ้าอยู่หัวของเราถ่ายรูป
F. Bocourt brings back to France in early 1862 a lot of photographs of Siam acquired from
Pierre Rossier who was around 1861-1862 in Siam and probably teached photography
to King Mongkut for whom he bought a set of camera from England.

เขาไม่เชื่อว่านายจิต จะมีความสามารถในการถ่ายรูปในปีนั้น...ราวๆ 1862
I’m not sure if Francis Chit have already a good practise of photography at this time.

และเขาไม่ทราบข้อมูลเรื่องแฮรี่ ปารคส์ ทำกล้องตกน้ำอีกด้วย แปลว่าเขาคงไม่ได้ใช้หนังสือของคุณมอฟเฝ็ต
ในการศึกษาเรื่องรัชกาลที่ 4
About the accidental drop of a camera in Singapour, do you have the datation of this incident ?
เราคนไทยจึงโชคดีกว่า ที่ได้รู้เรื่องนี้ ทั้งจากการค้นคว้าของคุณมอฟเฦ็ต ที่มีการแปลเป็นภาษาไทย
จากพระราชสาส์นในรัชกาลที่ 4 ซึ่งกรมศิลปากรได้รวมพิมพ์ไว้สองภาค และจากหนังสือของอาจารย์ศักดา
สุดท้าย คือบทความที่คุณเอนกเขียนไว้เกี่ยวกับพระบรมรูปองค์นี้.....555555

รวมความว่า เรื่องนี้ยังต้องค้นต่อไป

จบข่าวต้นชั่วโมง
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 16 ก.ค. 08, 13:43

มีผู้สนใจตามรอยข้อความเรื่องเครื่องราชบรรณาการในความเห็นที่ 98 ข้างบน
เชื่อใหมครับ ว่าหาไม่เจอ โวยเสียงดังขะโหมงโฉงเฉง บอกว่า (เวลาอ่านต้องใส่อารมณ์หน่อยนะครับ)
.................................................
ตรวจเช็คคุณพิพัฒน์เล่นๆ กลับพบความชุ่xบัxซxของคุณ(ขอแปลงสารหน่อยนะครับ ต้นฉบับหยาบไปหน่อย)
หนังสือหน้าที่คุณอ้างอิง พูดถึงช้าง หนังสือนี้เพิ่งตีพิมพ์
ครั้งแรก ครั้งเดียวปี 2544 ไม่เกี่ยวกับทรงจุ้มหมึกเลย.........

..................................................

เพิ่งรู้ว่า เรื่องแค่นี้ต้องใช้ถ้อยคำขนาดนี้ และเรื่องแค่นี้หาไม่เจอ(แฮะ)
ผมไม่ได้ยกคำฝาหรั่งมาลง แต่ก็ลงข้อความไว้ชัดๆ ว่ามิได้ยกเมฆ กลายเป็นว่ามีคนไทยใจนานาชาติไม่เชื่อถือ
น่ายินดีครับที่สนใจค้นคว้าเพิ่มเติม อย่าเชื่ออะไรคนไทยด้วยกันง่ายนัก
ประเด็นก็ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร เด็กประถม-มัธยมก็น่าจะตามรอยเอกสารได้ถูก
ตามไม่ถูกก็แวะห้องสมุด เปิดบัตรรายการ หาชื่อนิจ ทองโสภิต หรือแผ่นดินพระจอมเกล้า หรือทั้งสองอย่าง ที่ผมให้ไว้แป๊ปเดียวก็คงเจอ
หรือถ้าฉลาดหน่อย แหะๆ ...เป็นนิกกะเนมของคำว่าขี้เกียจน่ะ ก็พิมพ์สองคำนี้ ให้น้องกุ๊กเขาหาให้ บัดเดี๋ยวใจก็เจอ
http://www.google.com/search?client=safari&rls=en&q=นิจ%20ทองโสภิต%20แผ่นดินพระจอมเกล้า&ie=UTF-8&oe=UTF-8

ที่ประหลาดใจก็คือ ไปคว้าหนังสือ "แผ่นดินพระจอมเกล้า" มาได้เหมือนกัน แต่ผิดเล่มฮ่า
เล่มของคุณหมอพูนพิศ พิมพ์ปี 2544......เหอๆๆๆๆๆๆ พลิกให้นิ้วกุด ก็ไม่เจอเรื่องที่ผมอ้างดอก
คุณหมอเธอรวมเล่มบทความหลังคุณนิจ แปลเรื่องให้คุณศสษ. ไปจัดพิมพ์ตั้งยี่สิบกว่าปี
ผมไม่ได้นึกว่า ขนาดบอกชื่อที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด ยังออกทะเลไปไกลถึงเพียงนี้
ความที่ตัวเองถือว่าหนังสือแปลเล่มนี้ เป็นหลักของวิชาพระจอมเกล้าศึกษา เลยนึกว่าประชาชีจะนึกอย่างนั้นด้วย
ไม่นึกว่าจะมีคนยกสารคดีของคุณหมอขึ้นชั้นมาใช้สอบหลักฐานทางประวัติศาสตร์กะเขาด้วย คุณหมอคงปลื้มใจน่าดูทีเดียว

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่ามั่วนะตัวเอง.....มีคนหวังดีคอยตรวจปรูฟอยู่ทุกตัวอักษร ไม่ต้องจ้างต้องวานเสียด้วย
เอ....นี่ผมจะต้องยกเอาเรื่องกล้องตกน้ำพร้อมกับหีบเครื่องราชบรรณาการ 45 กล่องมาแปะให้อ่านเสียละกระมัง
เกิดมีคนอ่านผิดเป็นแฮรี่ ป๊อตเต้อร์ ณ ปาร์คนายเลิศไปเสียนั่น จะมธุรสอะไรออกมาอีกให้เสียอารมณ์นิ

(ขอแก้จำนวน เดิมบอกว่า 40 หีบเพราะเขียนเร็วๆ เดี๋ยวมีคนมาตรวจปรูฟเจอ จะด่าเอาอีก)
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 16 ก.ค. 08, 14:32

กระทู็นี้ทำไมยาวได้เป็นร้อย....งง
เห็นจะต้องเก็บของเสียที ปิดฉาก

ตามที่คุณคล๊อดเล่า รูปสาวน้อยใจถึงนั้น เขาพบที่คลังรูปของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงปารีส
ไม่มีรายละเอียด เพียงแต่เขาเห็นว่าคล้ายกับรูปของโรสซิเย่ร์ ก็จึงสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือเดียวกัน
เรายังพบรูปนี้ในแหล่งอื่นอีก ดังที่ผมได้แสดงไว้ตอนเริ่มต้นกระทู้ (ความเห็นหมายเลข 4)
เป็นปกของหนังสือ romance of the harem ที่ยัยแอนนายำเสียเละเทะนั่นแหละ
http://www.amazon.com/gp/reader/0813913284/ref=sib_dp_pt/102-6177201-4100147#reader-link

มีคนอธิบายว่า ได้รูปจากมหาวิทยาลัยคอเนล ผมก็เลยไปตามหา
อยู่ในแผนกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรูปเดียวกับที่คุณคล๊อดเจอนั่นเอง ยิ่งกว่านั้น ยังเจอรูปผู้หญิงนั่งท้าวแขน ที่ถูกรวมเข้าเป็นงานของโรสซิเย่ร์อีกด้วย
ทางคอร์เนลให้รายละเอียดรูปนี้ว่า อยู่ในอัลบัมขนาด 98 แผ่น เสียดายไม่ได้บอกขนาดรูป ผมจึงขอยึดขนาดตามที่คุณคล๊อดนำมาแสดงนะครับ
คือประมาณเล็กกว่า 8x10 นิ้วอยู่หน่อยหนึ่ง ที่คุณต๊อฟเธออวดว่าเป็นรูปขนาดยักษ์น่ะ ทำผมงงมาหลายเวลา
เพิ่งมารู้ว่ายักษ์เพราะต้องโหลดนาน เนตเต่าก็อย่างนี้แหละครับ รูปโบราณเขาไม่มีใหญ่กว่านี้ ยกเว้นโอกาสพิเศษจริงๆ
หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่า สมัยนั้นขยายรูปไม่ได้นะครับ ทุกรูปอัดประกบเท่าฟิล์มทั้งนั้น
เครื่องขยายรูปสำหรับฟิล์มแปดคูณสิบ อย่างน้อยต้องสูงถึงเพดานห้อง คนที่เรียนถ่ายรูปจะรู้ดี

คอเนลอธิบายข้อมูลรูปชุดนี้ว่า
"Album photographs of Siam (Thailand). Subjects include Siamese royalty, religious figures and residences, politicos,
group social scenes, theatre folk, street scenes, musicians, and other views of Bangkok and Thailand"
ที่สำคัญก็คือ ให้อายุไว้ 1900 ครับ เป็นคศ. คือ ปี 2443 ประมาณนั้น.......อึ๋ยยย์ ไม่ใครก็ใครละครับ หน้าแหกแน่นอน

คำอธิบายรูปอย่างละเอียด บอกเพิ่มเติมว่า
Image format: Photographs
Image geographic information: Thailand
Image Date information: 1900/1909
Image Keyword information: women | costume
Image Caption information: A Siamese Woman in her usual dress
No valid text available for this image

ตรงนี้ระบุหนักเข้าไปอีกว่า อายุรูปอยู่ระหว่าง 2443-2552 พูดง่ายๆ ว่าเป็นสิบปีสุดท้ายของรัชกาลที่ 5 นั่นแหละครับ

สำหรับคนที่เทิดทูนฝรั่งไว้เหนือเกล้า คงจะต้องอกหักเสียงดังเหมือนกำนันคนหนึ่ง เพราะฝาหรั่งตีกันเอง(อีกแระ)
ข้างหนึ่งน่ะมะหาปะลัยระดับโลก อีกข้างหนึ่งก็ผลงานระดับโพสต์ด้อก เก่งๆ ทั้งนั้น อีกแห่งก็สำนักประมูลเอกอุ
ถ้ารวมหมดทุกแหล่งข้อมูล ก็จะมีช่างภาพสัก 5-6 คน ที่เป็นเจ้าของรูปนี้

คงจะต้องสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 18 ก.ค. 08, 04:14

เรื่องสาวน้อยไม่นุ่งผ้านี้ หยิบมาจากหนังสือของผมเอง เป็นประเด็นที่น่าค้นคว้า จึงนำมาขยายความในเรือนไทย
เพราะในหนังสือไม่มีที่พอให้แสดงเนื้อหาสาระได้มาก ลำพังแต่พิมพ์รูปถ่ายและรูปภาพสมัยรัชกาลที่ 4 ก็กินทุนผมไปจนล่มจมแล้ว
ขืนเพิ่มเติมเนื้อหาเข้าไปอีก ก็ต้องขายบ้านขายช่องกันเท่านั้นเอง

1
รูปสาวน้อยของเรา พบครั้งแรก นุ่งผ้าเรียบร้อยอยู่ในหนังสือของมูโอต์
Mouhot, Henri Voyage dans les royaumes de Siam, de Cambodge, de Laos et autres parties centrales de l'Indo-Chine, 1858-1861
พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1863 เป็นภาษาฝรั่งเศส อยู่ในชุดเที่ยวรอบโลกของสำนักพิมพ์ชั้นนำแห่งฝรั่งเศส
Le Tour Du Monde. Nouveau Journal Des Voyages public sous la direction de M. Edouard Charton et illustre par nos plus celebres artistes.
Published: Libraire Hachette et Co. Paris. 1863
เล่มโตเท่ากระดาษ A3 หรือประมาณมติชนสุดสัปดาห์ หรือสยามรัฐ เล่มเดียวจบ

ฉบับแปลอังกฤษ พิมพ์ปีรุ่งขึ้น 1864 ใช้แม่พิมพ์รูปลายเส้นชุดเดียวกัน แต่เปลี่ยนรูปเล่มเป็นขนาดแปดหน้ายก ปกแข็ง สองเล่มจบ
Travels in the Central Parts of Indo-China, Cambodia and Laos During the Years 1858,1859, and 1860. London, John Murrey 1864
ข้อมูลนี้ ช่วยสกัดหลังว่า สาวน้อยของเรา จะถ่ายไว้หลัง 1863 หรือ 2406 ไม่ได้เป็นอันขาด

2
ต่อมาสาวน้อยไปเป็นปกหนังสือเล่มหนึ่ง Romance of the Harem คราวนี้เธอเปลือยอก
นั่นทำให้ทราบต่อไปว่า สาวน้อยอาจจะถูกเติมผ้าเข้าไปกันอุดจาดตาโดยช่างแกะแม่พิมพ์ โบกูร์ Etienne Gabriel Bocourt 1821-1882
หรือมิเช่นนั้น ก็มีการถ่ายไว้สองแผ่น แผ่นหนึ่งเปลือยท่อนบน อีกแผ่นห่มผ้าเรียบร้อย

3
ประเด็นที่ผมสนใจนั้น มิใช่เรื่องห่มไม่ห่มผ้า สนใจเรื่องเจอต้นฉบับรูปโบราณตะหาก
ความรู้นี้ ช่วยให้เข้าใจข้อเท็จจริงเรื่องอดีต แจ่มชัดขึ้น อย่างน้อยก็ในมุมที่ผทสนใจ
นั่นคือ ใครเป็นช่างภาพให้มูโอต์

ตามที่ยึดถือกันมานั้น ใครๆ ก็บอกว่ามูโอต์เป็นช่างภาพเอง เพราะตามประวัติแล้ว เขาเคยหัดถ่ายรูปด้วยกล้องแผ่นเงิน
จึงประเมินว่า พอมาถึงยุคที่ใช้กระจกเปียก ก็น่าจะใช้ด้วย แต่ใช้เป็นหรือถ่ายรูปเป็น เป็นคนละเรื่องกับรูปถ่ายในหนังสือ
ผมสงสัยมานานแล้วว่า ทำไมรูปประกอบหนังสือจากการสำรวจเขมร จึงเป็นลายเส้นจากเสก็ตช์ ไม่ใช่ลายเส้นจากรูปถ่าย
แสดงว่าไม่ได้พกกล้องเข้าเขมรหรือ
ตรงนี้ต้องมีคนสงสัย ถามว่า รู้ได้งัยว่าเป็นเสก็ตช์มือ หรือเป็นรุปถ่าย
ก็ขอตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า เพราะผมเสก็ตช์มือเป็น และถ่ายรูปเป็นน่ะครับ จึงดูแล้วเข้าใจ

ข้อสงสัยต่อมาก็คือมีหลายรูปที่ถ่ายหลังจากมูโอต์เสียชีวิต ที่แน่ๆ คือรูปพระเมรุพระเทพศิรินทร์
พระราชพิธีนั้น ทำในเดือนเมษายน 2405 แต่มูโอต์ตายเดือนพฤศจิกายน 2404 ห่างกันหลายเดือนอยู่
พระรูปรัชกาลที่ 4 และพระนางเธอ ที่เชิญประดับหนังสือ
ก็เพิ่งได้รับจากเซอร์จอมเบิร์ก กงศุลอังกฤษตอนที่ท่านเซ่อร์เขียนคำไว้อาลัยให้น้องชายมูโอต์

ข้อสงสัยที่สามก็คือ แล้วรูปมากมายก่ายกองในหนังสือ หายไปใหน(ล่ะ)
ที่ถามอย่างนี้ ก็เพราะรู้ว่ามูโอต์เป็นนักสำรวจ คุณสมบัติสำคัญของวิชาชีพนี้คือการเก็บหลักฐาน ซึ่งลามมาถึงทายาท
เราจึงพบว่าร้อยกว่าปีให้หลัง สำนักพิมพ์อ๊อกสเฝิร์ด ยังเก็บเอาบันทึกประจำวันของมูโอต์มาพิมพ์ได้
พร้อมรูปสเก็ตช์ตัวจริงให้เราได้ชมเป็นขวัญตา แต่ไม่ยักมีรูปถ่ายมาอวดบ้าง

ว่าไปแล้ว รูปถ่ายต้นฉบับทั้งหมด ดูเหมือนจะหายไปจากโลกนี้ ยกเว้นบางรูป แต่ทุกรูปมาจากแหล่งที่หาความเชื่อมโยงถึงมูโอต์มิได้เลย
อย่างเช่นรูปเจ้าจอมแต่งแหม่ม เจอในหีบผลงานของนายจิต คุณเอนกเป็นคนเจอที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
รูปตัวละคอน บางรูป กลายเป็นรูปที่จี อาร์ แลมเบิร์ต(G.R. Lambert) ทำขายที่สิงค์โปร์
ประหลาดสุดก็ที่นางแอนนาเอาไปใช้ในหนังสือของหล่อนเสียนั่น แม่นี่เข้ามาหลังมูโอต์ตายหลายปีทีเดียว

อาศัยเหตุที่มีพิรุธให้งงหลายข้อ ผมจึงไม่เชื่อว่ามูโอต์จะพากล้องเข้ามาด้วย และไม่เชื่อว่าเขาเป็นเจ้าของรูปถ่ายเหล่านั้น
จะต้องมีช่างภาพอีกคนเป็นเจ้าของผลงานเหล่านี้ และเป็นช่างที่ตั้งวงทำมาหากินอยู่ในสยามเสียด้วย
มูโอต์จึงไม่มีรูปถ่ายเมืองเขมรเลย

(ยังมีต่อครับ)
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.06 วินาที กับ 19 คำสั่ง