ได้อ่านที่คุณเทาชมพูเขียนเมื่อ ๑๖ ปีก่อนเกี่ยวกับเรื่องที่อมราวดีแปล ชื่อไทยทุกเรื่องตรงหมด ยกเว้นเรื่อง ‘Ziska’ ของอมราวดีแปลใช้ชื่อว่า
"กงเกวียน" ส่วน "พิษสวาท " เป็นชื่อนิยายของทมยันตี
Marie Corelli นักเขียนยอดนิยมเมื่อต้นศตวรรษที่ ๒๐ เรียกว่าเป็นทมยันตีแห่งอังกฤษก็คงจะได้
เธอเป็นคนเขียนเรื่อง ความพยาบาท นิยายแปลเรื่องแรกของไทยเมื่อปลายรัชกาลที่ ๕ โดยแม่วัน (พระยาสุรินทราชา)
เต็ลมา (Thelma) นิยายแปลยอดฮิทเมื่อรัชกาลที่ ๖
ขุนคลัง (The Sorrows of Satan) พิษสวาท(Ziska) นางแก้ว (The Murder of Delicia) ผู้บริสุทธิ์(Innocent)และที่แปลออกมาไม่กี่ปีก่อนนี้คือ ปรัชญารัก (Love and the Philosopher) ทั้งหมดเป็นฝีมือแปลของคุณอมราวดี ผู้ล่วงลับไปแล้ว
เผอิญตอนนี้มีข่าวฮือฮาเกี่ยวกับละครเรื่อง "พิษสวาท" ซึ่งประพันธ์โดย ทมยันตี อาจารย์พิชญ์อาภา พิศุทธ์เศรณี อาจารย์ประจำสำนักวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Pichaarpa Pisutserani ในทำนองว่า ทมยันตีไม่ได้เขียนเรื่อง ‘พิษสวาท’ จากจินตนาการล้วน ๆ แต่ยืมโครงเรื่องมาจากนิยายเรื่อง ‘Ziska’ ที่เขียนโดย Marie Corelli ซึ่งทมยันตีก็ปฏิเสธว่า
"ดิฉันจะไปหาเรื่องซิสก้ามาอ่าน สำหรับคนที่ออกมาบอก ไม่ว่าเขาเลย ต้องขอบคุณด้วยค่ะ ได้รู้แล้วจะได้ไปหามาอ่าน แต่เรื่องนี้เคยเล่าแล้วไง จะเป็นซิสก้าได้ไง เพราะเมื่อ ๓๐ ปีก่อน ตอนเขียนเคยเห็นพี่บัว (แม่อุบล ตัวละครหลักในพิษสวาท) แว้บ ๆ ตรงหางตา ดิฉันนั่งอยู่ในบ้าน เห็นผู้หญิงใส่ชุดไทยยาวกรอมเท้า ชุดสีเทา ๆ ฟ้า ๆ เดินขึ้นไปข้างบน ดิฉันกำลังเขียนนิยายเลยวางปากกา ยืนเกาหัวสงสัยว่าอะไร เพราะเป็นคนไม่กลัวผี นี่คือข้อหนึ่ง"
ข่าวจาก
มติชนแสดงว่าอาจารย์พิชญ์อาภาไม่ใช่คนแรกที่ทราบเกี่ยวกับที่มาของเรื่องพิษสวาทของทมยันตี 