เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 13996 มองประวัติศาสตร์ไทยในมุมมองบาทหลวง
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 20 ต.ค. 07, 17:48

การเบียดเบียนศาสนา
     ความเคียดแค้นต่อประเทศฝรั่งเศส อันเนื่องจากการใช้อำนาจยึดดินแดนบางส่วนของประเทศไทยไปนั้นเอง ประกอบกับการที่บาทหลวงตามวัดส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศสทำให้ชาวไทยคิดรวมไปว่า คริสตศาสนาเป็นศาสนาของฝรั่งเศสจึงเริ่มมีการต่อต้านเกิดขึ้น พระสังฆราชแกวง กลัวว่ามิชชันนารีชาวฝรั่งเศสจะไม่สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ จึงได้เลือกคุณพ่อศรีนวล เป็นผู้ปกครองมิสซังแทน และเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ค. ศ.1940 ( พ. ศ.2483) วิทยุกระจายเสียงกรมประชาสัมพันธ์ที่กรุงเทพฯได้ประกาศให้ชาวฝรั่งเศสทุกคนออกจากประเทศไทยภายใน 48 ชั่วโมง วันรุ่งขึ้นสังฆราชแกวง และพระสงฆ์ฝรั่งเศสถูกจับและส่งตัวออกจากประเทศไทยโดยข้ามแม่น้ำโขงไปประเทศลาว

     วันที่ 7 มกราคม ค. ศ.1941 ( พ. ศ.2484) ประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ภาวะสงครามดังกล่าวทำให้รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศกฎอัยการศึกในเขตจังหวัดชายแดน 24 จังหวัด ยังผลให้เกิดการเบียดเบียนคริสตศาสนาอย่างรุนแรงเพราะเข้าใจว่าเป็นแนวร่วมของฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดนครพนม สกลนคร หนองคายและอุดรธานี วัดวาอารามถูกปิดหมดและถูกรื้อทำลาย บ้านพักพระสงฆ์ถูกใช้เป็นที่จำวัดของพระภิกษุหรือที่พักราชการ ศาสนภัณฑ์และของมีค่าของวัดตามที่ต่าง ๆ ถูกริบและทำลาย คริสตชนถูกห้ามปฏิบัติศาสนา ถูกข่มขู่และถูกบังคับให้เลิกนับถือศาสนาของตน ใครไม่ทำตามจะได้รับโทษบางคนถูกจับขังคุกหรือถูกฆ่าตาย เช่นที่บ้านสองคอน อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม

     บรรดาพระสงฆ์ไทยที่เหลืออยู่ถูกจับขังคุกและถูกทรมาน เช่น คุณพ่อเอดัวร์ถัง นำลาภ ถูกจับที่หนองแสง หลังถูกปล่อยตัวไม่นานได้ถูกจับอีกครั้งด้วยข้อหาเป็นแนวที่ 5 และถูกส่งตัวไปล่ามโซ่ที่เรือนจำกลางบางขวาง จังหวัดนนทบุรี คุณพ่อเปาโลศรีนวล ศรีวรกุล และคุณพ่ออันตนคำผง กายราช ถูกจับขังที่เรือนจำจังหวัดสกลนครเป็นเวลา 2 เดือน คุณพ่อยอห์นบปัติสต์แท่ง ยวงบัตรี ถูกจับที่บ้านโพนสูงขณะที่กำลังเจาะหาแหล่งน้ำเพื่อให้ชาวบ้านได้มีน้ำดื่มน้ำใช้ โดยถูกตั้งข้อหาว่ากำลังขุดหาวัตถุโบราณอันเป็นสมบัติของชาติและถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำจังหวัดอุดรธานีเป็นเวลา 1 ปี คุณพ่อยวง สต๊อกแกร์ ถูกตัดสินจำคุก 2 เดือนในข้อหามีอาวุธปืนทั้ง ๆ ที่มีใบอนุญาตพกพา มีเพียงคุณพ่อวิกตอร์สีนวน ถินวัลย์ เพียงคนเดียวที่รอดพ้นจากการถูกจับขังคุก ส่วนที่อุบลราชธานี คุณพ่ออันตนหมุน ธารา เจ้าอาวาสวัดหนองคูและคุณพ่ออัลแบต์ ดง เจ้าอาวาสวัดหนองทาม ถูกบังคับให้ละทิ้งสมณเพศแต่ไม่สำเร็จ

     คุณพ่อศรีนวล เมื่อออกจากคุกได้แสดงความกล้าหาญไปเยี่ยมและปลุกปลอบใจคริสตชนตามวัดต่าง ๆ ให้สู้ทนกับความลำบากด้วยความอดทน วันที่ 4 เมษายน ค. ศ.1941 ( พ. ศ.2484) หลังจากเยี่ยมวัดและอารามที่อุบลฯคุณพ่อได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเข้าพบพระสังฆราชกาเยตาโน ปาซอตตี ผู้ปกครองมิสซังราชบุรี และคุณพ่อยอห์น กาเซตตา อธิการเจ้าคณะซาเลเซียน เพื่อขอให้ส่งพระสงฆ์มาช่วยงานในมิสซัง ในช่วงเวลาดังกล่าว กรุงโรมได้แต่งตั้งพระสังฆราชปาซอตตี ให้รับหน้าที่ปกครองมิสซังลาวเป็นการชั่วคราว คณะซาเลเซียนได้ส่งพระสงฆ์ 5-6 องค์มาช่วยงานตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม ค. ศ.1941 ( พ. ศ.2484) จนถึงเดือนกันยายน ค. ศ.1943 ( พ. ศ.2487)

     เมื่อภาวะสงครามสงบลง คุณพ่อศรีนวล อุปสังฆราช ได้เขียนจดหมายถึงข้าหลวงเมืองสกลนคร ลงวันที่ 3 เมษายน ค. ศ.1941 ( พ. ศ.2484) เพื่อขอให้คืนศาสนสมบัติของมิสซัง โดยมอบหมายให้คุณพ่ออันตนคำผง กายราช และคุณพ่อวิกตอร์สีนวน ถินวัลย์ เป็นผู้แทนรับมอบ พร้อมทั้งเตือนเจ้าหน้าที่ไม่ให้ชักชวนคริสตชนให้ไปนับถือพุทธศาสนา โดยอ้างถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 1 “ ประชาชนชาวไทย ไม่ว่าเหล่ากำเนิด หรือสาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญนี้เสมอ ” และมาตรา 13 “ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ ในการถือศาสนา หรือลัทธิใดๆ และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นการปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ ” พร้อมกับคำประกาศของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและพล. ต. ต. หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจที่แนบไปพร้อมกับจดหมาย แต่ดูเหมือนว่าจดหมายของคุณพ่อศรีนวล จะไม่เป็นผล ทางการจังหวัดนครพนม สกลนคร หนองคาย และอุดรธานี ยังคงปิดวัดวาอารามและห้ามคริสตชนปฏิบัติศาสนาโดยอ้างกฎอัยการศึก ต่อมาระหว่างปี ค. ศ.1942-1943 ( พ. ศ.2485-2486) ทางการจังหวัดสกลนครได้ผ่อนผันเรื่องนี้ และได้สั่งห้ามอย่างเด็ดขาดอีกครั้งตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค. ศ.1943 ( พ. ศ.2486)

     เมื่อเห็นเหตุการณ์เป็นเช่นนั้นคุณพ่อศรีนวล จึงเดินทางไปพบพระสังฆราชปาซอตตี รักษาการผู้ปกครองมิสซังที่ราชบุรี และร่วมกันเขียนจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 10 กันยายน ค. ศ.1944 ( พ. ศ.2487) เรื่อง ทรัพย์สมบัติของมิสซังและเสรีภาพในการประกอบศาสนกิจ เพื่อขอให้คืนวัดวาอารามที่ถูกยึดหรือแปรเปลี่ยนสถานที่เป็นอย่างอื่น พร้อมทั้งเสรีภาพในการนับถือศาสนาและคืนทรัพย์สมบัติทั้งหมดแก่มิสซัง ทางราชการจึงได้มอบทรัพย์สินบางส่วนและอนุญาตให้เข้าปกครองวัดที่ท่าแร่ ตาม “ บันทึกการมอบหมายทรัพย์สิ่งของและการอนุญาตให้เข้าปกครองวัดโรมันคาทอลิก บ้านท่าแร่ ” ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ. ศ.2487 โดยมีคุณพ่อศรีนวล เป็นผู้รับมอบ ต่อมา รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายควง อภัยวงศ์ ได้ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาอีกครั้งและได้คืนทรัพย์สินของวัดต่าง ๆ ที่ถูกยึดไปแก่พระศาสนจักร ทางมิสซังได้แต่งตั้งให้คุณพ่อซามูแอลสมุห์ พานิชเกษม เป็นผู้รับมอบ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค. ศ.1946 ( พ. ศ.2489) แต่ทรัพย์สินส่วนใหญ่ได้สูญหายหรืออยู่ในสภาพที่ชำรุดใช้การไม่ได้

การหลั่งเลือดเป็นมรณสักขีที่บ้านสองคอน
      ที่หมู่บ้านสองคอน การต่อต้านเริ่มต้นเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดคุ้มครองหมู่บ้านประกาศห้ามชาวบ้านนับถือศาสนาคริสต์ โดยคาดโทษผู้ฝ่าฝืนว่าจะต้องระวางโทษสถานหนัก คุณพ่อเปาโล ฟิเกต์ เจ้าอาวาสวัดแม่พระไถ่ทาสสองคอนขณะนั้นถูกขับไล่ออกนอกราชอาณาจักร หมู่บ้านสองคอนจึงขาดชุมพาบาล เหลือแต่ผู้นำที่ยังเข้มแข็ง คือ ครูฟิลิปสีฟอง อ่อนพิทักษ์ และภคินีที่ประจำอยู่ที่วัดสองคอน

     เมื่อชาวบ้านถูกกดขี่มากขึ้น ครูสีฟอง จึงทำจดหมายแจ้งพฤติกรรมดังกล่าวไปยังเจ้าหน้าที่อำเภอมุกดาหาร แต่จดหมายฉบับนั้นตกไปอยู่ในมือของตำรวจชุดคุ้มครองหมู่บ้าน ภายใต้การนำของนายลือ เมืองโคตร ยังผลให้พวกเขาตัดสินใจกำจัดครูสีฟอง วันที่ 15 ธันวาคม ค. ศ.1940 ( พ. ศ.2483) ครูสีฟอง ถูกลวงจากจดหมายปลอมว่า นายอำเภอมุกดาหารสั่งให้ไปพบ จึงออกเดินทางไปพร้อมกับตำรวจ 2 คน ทำให้ถูกยิงเสียชีวิตในวันรุ่งขึ้นขณะกำลังข้ามห้วยตุ้มนกใกล้บ้านพาลุกาและถูกฝังไว้นั่น หลังจากครูสีฟอง ถูกฆ่าทำให้คริสตชนหลายคนไม่กล้าแสดงตัวอย่างเปิดเผย แต่คริสตชนกลุ่มใหญ่ภายใต้การนำของภคินีอักแนสพิลา ( สุภีร์) ทิพย์สุข และภคินีลูชีอาคำบาง ( สีคำพอง) ยังมั่นคงในความเชื่อ

     บ่ายวันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม ค. ศ.1940 ( พ. ศ.2483) ภคินีทั้ง 2 รูปถูกเรียกพบและถูกข่มขู่ให้ละทิ้งศาสนา เมื่อเห็นว่าไม่เป็นผลจึงหลอกภคินีว่า หากไม่สวมชุดนักบวชการเบียดเบียนศาสนาจะยุติลง เมื่อชาวบ้านเห็นภคินีไม่สวมชุดนักบวชก็เริ่มท้อแท้หมดกำลังใจ ต่อมาชาวบ้านและภคินีถูกเรียกให้มาชุมนุมที่ลานวัด พวกเขาได้รับคำสั่งให้เปลี่ยนศาสนา ทุกคนนั่งเงียบยกเว้นนางสาวเซชีลีอาบุดสี ว่องไว ที่ยืนขึ้นประกาศว่า “ ตายครั้งเดียวเพื่อความเชื่อฉันไม่กลัว ” ค่ำวันที่ 24 ธันวาคม ค. ศ.1940 ( พ. ศ.2483) ภคินีทั้ง 2 ตัดสินใจสวมชุดนักบวชตามเดิม คืนนั้นเองภคินีอักแนสพิลา ได้เขียนจดหมายถึงตำรวจฉบับหนึ่ง ซึ่งได้กลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในเวลาต่อมา ความว่า

     เวลาเย็นวานนี้ท่านได้รับสั่ง … อย่างเด็ดขาดแล้วสำหรับลบล้างพระนามของพระผู้เป็นเจ้า ผู้เป็นเจ้าชีวิตจิตใจพวกฉันแต่ผู้เดียว พวกฉันไหว้นมัสการพระองค์แต่ผู้เดียว แต่ก่อนสองสามวันล่วงมานี้ ท่านได้พูดกับพวกฉันแล้วว่า จะไม่ลบล้างพระนามของพระผู้เป็นเจ้า พวกฉันก็ยินดีพลอยยอมถอดเครื่องแต่งกายอันนี้ ที่แสดงว่าพวกฉันเป็นข้าปรนนิบัติพระองค์ แต่วันนี้ไม่เป็นเช่นนั้นเสียแล้ว ฉันขอยั่งยืนว่าศาสนาพระคริสต์เป็นศาสนาจริงเที่ยงแท้แต่ศาสนาเดียว ฉะนั้นพวกฉันขอตอบคำถามของท่าน เวลาเย็นวานนี้ … พวกฉันยังไม่ทันได้ตอบคำถามของท่านเลย เพราะว่าพวกฉันยังไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย มาวันนี้พวกฉันขอตอบว่า … ไหนๆ ก็ขอท่านจงจัดการสำหรับพวกฉันเสียเถิด... อย่ารอช้าเลยคะ จงทำตามคำสั่ง... เถิด พวกฉันยินดีที่จะถวายชีวิตคืนให้แก่พระผู้เป็นเจ้าผู้ประทานชีวิตนี้ให้ พวกฉันจะไม่ยอมให้ตกไปเป็นเหยื่อของผีปีศาจหรอกค่ะ ขอจงจัดการเถิด ขอจงเปิดประตูสวรรค์ให้แก่พวกฉันเถิด พวกฉันจะได้ยั่งยืนว่านอกจากศาสนาของพระคริสต์แล้วไม่มีทางที่จะเอาตัวรอดขึ้นสวรรค์ได้เลย เอาเถิดค่ะ พวกฉันเตรียมตัวเสร็จสรรพอยู่แล้วคะ เมื่อพวกฉันไปแล้วพวกฉันจะไม่ลืมท่านหรอก ขอท่านจงสงสารพวกฉันฝ่ายวิญญาณเถิดค่ะ พวกฉันจะขอขอบใจท่านมากและจะไม่ลืมบุญคุณของท่านเลย และวันสิ้นพิภพ พวกฉันกับพวกท่านจะได้เห็นหน้ากันอีก จงคอยดูกันเถิด … ฉันถือตามพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า ขอเป็นพยานให้แก่พระองค์เถิด พระเจ้าค่ะ

     พวกฉันคือนางอักแนส นางลูชีอา แม่พุดทา นางบุดสี นางบัวไข นางสุวรรณ ขอเอาเด็กหญิงภูมา ให้ไปกับพวกฉันด้วยค่ะ เพราะฉันรักมาก

     พวกฉันตกลงกันหมดแล้วค่ะ

     ประมาณบ่ายสามโมงของวันที่ 26 ธันวาคม ค. ศ.1940 ( พ. ศ.2483) ภคินีกับคณะรวม 8 คนพากันมาที่วัดตามคำสั่งของเจ้าที่ตำรวจและถูกยิงเสียชีวิตที่ป่าศักดิ์สิทธิ์หลังจากปฏิเสธที่จะทิ้งความเชื่อ ผู้พลีชีพในวันนั้น คือ ภคินีอักแนสพิลา ทิพย์สุข, ภคินีลูชีอาคำบาง สีคำพอง, คุณแม่อากาทาพุดทา ว่องไว, นางสาวเซซิลีอาบุดสี ว่องไว, นางสาวบีบีอานาคำไพ ว่องไว และเด็กหญิงมารีอาพร ว่องไว รวม 6 คนส่วนเด็กหญิงสอน ว่องไว ซึ่งรวมอยู่ในคณะไม่ได้ถูกยิงในครั้งแรกจึงกลับบ้าน ภคินีทั้ง 2 และคณะของเธอได้บรรลุความปรารถนาในอันที่จะตายเพื่อยืนยันความเชื่อ

ความเสียหายที่เกิดจากการเบียดเบียนศาสนาและกรณีพิพาทอินโดจีน
     การเบียดเบียนศาสนาและกรณีพิพาทอินโดจีน ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงแก่มิสซัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความบอบช้ำทางจิตใจของบรรดาพระสงฆ์และคริสตชนในมิสซังเพราะการกระทำที่ลุแก่อำนาจของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง บางแห่งรุนแรงถึงขั้นสูญเสียชีวิตเช่นที่บ้านสองคอน จนยากที่จะประเมินค่าได้ อย่างไรก็ดี ภายหลังเหตุการณ์สงบ ผู้ใหญ่ในมิสซังได้ประเมินความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นที่พอจะประเมินได้ ทำให้เราได้ทราบถึงสภาพความเป็นจริง ความรุนแรง และความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ดังปรากฎในเอกสารบันทึก “ มิสซังลาว การเสียหายของมิสซังฝั่งไทย สมัยปี 1940-1944 ” ( ตีราคาตามปี 1947) ดังนี้

1. จังหวัดนครพนม
วัดหนองแสง
วัดท่านสังฆราช ด้วยอิฐ 2,500,000.- บาท
บ้านท่าน ( สำนักพระสังฆราช) ด้วยอิฐ 300,000.- บาท
บ้านพระสงฆ์ ไม้แลดินพอก 100,000.- บาท
วัดเก่า ไม้แลดินพอก 5,000.- บาท
บ้านเจ้าอาวาส อิฐปูน 50,000.- บาท
โรงเรียนเด็กชาย อิฐปูน 80,000.- บาท
โรงเรียนเด็กหญิง อิฐปูน 200,000.- บาท
โรงเลี้ยงเด็กกำพร้า อิฐปูน 400,000.- บาท
บ้านนางชี อิฐปูน 100,000.- บาท
โรงครัว , ยุ้งข้าว, ห้องน้ำ ฯลฯ อิฐปูน 100,000.- บาท
กำแพง 500,000.- บาท
บ่อน้ำ , บ้านตากผ้า ฯลฯ 20,000.- บาท
หลุมฝังศพถูกตีแตก 500.- บาท
ทรัพย์สินที่ถูกขโมยและทำลาย 1,505,000.- บาท
บ้านเณรพระหฤทัย
ตึกและบ้าน 1,419,600.- บาท
ของใช้ต่าง ๆ 1,000,000.- บาท
วัดคำเกิ้ม
วัด , บ้านพ่อ และโรงครัว 290,000.- บาท
ของใช้ต่าง ๆ 20,000.- บาท
วัดบ้านนามน
วัดด้วยไม้แลดินพอก 8,000.- บาท
วัดบ้านหนองคา
วัดด้วยไม้ 600.- บาท
วัดบ้านโคกก่อง
วัดด้วยไม้ชำรุด 500.- บาท
วัดบ้านสองคอน
วัดด้วยไม้พอกดิน 20,000.- บาท
ของใช้ต่าง ๆ 5,000.- บาท
วัดบ้านเชียงยืน
รูปตั้ง , เครื่องบูชา และวัดเสียหาย 5,000.- บาท
บ้านด้วยไม้ชำรุด 1,000.- บาท

2. จังหวัดสกลนคร
วัดบ้านท่าแร่
รั้วรอบวัดและอาราม 10,000.- บาท
กำแพงหน้าวัดและคอกหมู 1,000.- บาท
เตาเหล็ก 10,000.- บาท
เครื่องแตรต่าง ๆ 1,000.- บาท
เครื่องใช้ในบ้านพ่อ , อารามเสียหาย 10,000.- บาท
นาฬิกาตู้ , นาฬิกาแขวน 500.- บาท
ระฆัง 1 ใบ 200.- บาท
วัดบ้านนาโพธิ์
เครื่องใช้ในวัด 4,000.- บาท
วัดบ้านทุ่งมน
เครื่องใช้ต่าง ๆ 4,000.- บาท
วัดบ้านจันทร์เพ็ญ
บ้านพ่อและโรงครัวเสียหาย 2,000.- บาท
เครื่องใช้ในวัด 3,000.- บาท
วัดบ้านหนองเดิ่น
วัดด้วยไม้ 15,000.- บาท
บ้านพ่อ 5,000.- บาท
รั้ว 1,000.- บาท
วัดบ้านนาคำ
ที่ดินและตัววัด 5,000.- บาท
วัดบ้านช้างมิ่ง
ห้องหลังวัดถูกรื้อ 4,000.- บาท
ครัวเสียหาย 1,000.- บาท
ระฆังแตก 5,000.- บาท
วัดบ้านดอนทอย
วัด , บ้านพ่อ, ยุ้งข้าว, รั้ว และของใช้ 10,000.- บาท
วัดบ้านนาบัว
บ้านชำรุดและเครื่องใช้เสีย 1,700.- บาท

3. จังหวัดหนองคาย
วัดเวียงคุก
วัด , บ้านพ่อและเครื่องใช้ 114,000.- บาท
วัดห้วยเล็บมือ
วัด และเครื่องใช้ต่าง ๆ มีเครื่องทำอิฐเป็นต้น 13,000.- บาท

4. จังหวัดอุดรธานี
วัดบ้านโพนสูง
หอระฆังและเครื่องใช้ 3,000.- บาท
วัดหมูม่น
โรงสวด 500.- บาท

5. จังหวัดอุบลราชธานี
วัดบ้านซ่งแย้
วัสดุก่อสร้างวัดและของใช้ต่าง ๆ 12,000.- บาท
วัดหนองคูและบ้านเหล่า
เครื่องบูชาและของใช้ต่าง ๆ 2,000.- บาท
วัดบ้านเซซ่ง
เครื่องบูชาและเครื่องใช้ 2,000.- บาท

6. จังหวัดศรีสะเกษ
วัดศรีถาน
อิฐต่าง ๆ 2,000.- บาท

7. จังหวัดนครจำปาศักดิ์
วัดพระนอน
เครื่องบูชาและของใช้ในวัด 30,000.- บาท
ยุ้งข้าว , บ้านพ่อ, รั้ว 3,800.- บาท
วัดห้วยเพ็ก
วัด , ครัว, รั้ว และเครื่องใช้ 5,500.- บาท
วัดท่าแตง
เครื่องบูชา 200.- บาท

รวมยอด 8,912,800.- บาท


     จะเห็นได้ว่า ตัวเลขการสูญเสียที่เกิดขึ้นกับมิสซังในสมัยนั้น นับว่ามากมายมหาศาลเมื่อเทียบกับค่าเงินในสมัยเมื่อ 53 ปีล่วงมาแล้ว ซึ่งในขณะนั้นวัวควายราคาเพียงตัวละร้อยกว่าบาท และข้อที่น่าสังเกตอีกอย่างก็คือ นครจำปาศักดิ์ ที่ไทยเสียให้แก่ฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ถูกทหารไทยบุกยึดกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยอีกครั้งในช่วงที่เกิดกรณีพิพาทอินโดจีน รวมถึงเมืองเสียมราฐและพระตะบอง

เกลาดิอุส บาเย, ประวัติการเผยแพร่พระศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว, หน้า 201-2.
เบญจาภา ไกรฤกษ์, “ ชีวิตของ ดร. ถนัด คอมันตร์”, มติชนสุดสัปดาห์, ปีที่ 20 ฉบับที่ 1013, 18( มกราคม, 2543), หน้า 43.
ศรีนวล ศรีวรกุล, จดหมายถึงข้าหลวงประจำจังหวัดสกลนคร, 3 เมษายน พ. ศ.2484.
กาเยตาโน ปาซอตตี และสรีนวล สรีวรกุล, จดหมายถึงรัถมนตรีว่าการกระซวงมหาดไทย, 10 กันยายน พ. ศ.2487.
บันทึกการมอบทรัพย์สิ่งของและการอนุญาตให้เข้าปกครองวัดโรมันคาทอลิก บ้านท่าแร่, วันที่ 30 พฤศจิกายน พ. ศ.2487, ( เอกสารพิมพ์ดีด).
อนุสรณ์พิธีเสกสักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขี 16 ธันวาคม 1995, ( กรุงเทพฯ : คณะกรรมการบุญราศีแห่งประเทศไทย, 2538), หน้า 43-44.
มิสซังลาว การเสียหายของมิสซังฝั่งไทย สมัยปี 1940-1944, ( เอกสารพิมพ์ดีด), 4 หน้า.
บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 20 ต.ค. 07, 18:08

พระสังฆราชกาเยตาโน ปาซอตตี รักษาการพระสังฆราชมิสซังลาว : ค. ศ.1941-1945
     พระสังฆราชกาเยตาโน ปาซอตตี (Cajetano PASOTTI) เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค. ศ.1890 ( พ. ศ.2433) ที่เมืองปาเวีย ประเทศอิตาลี เข้านวกสถานที่เมืองโฟลิสโซ และปฏิญาณตนครั้งแรกที่นั่นเมื่อวันที่ 16 กันยายน ค. ศ.1906 ( พ. ศ.2449) ปฏิญาณตนตลอดชีพที่เมืองตุริน วาลซาลีเช เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ค. ศ.1909 ( พ. ศ.2452) รับศีลบวชเป็นสังฆานุกร ที่เมืองอิฟเรอาเมื่อวันที่ 9 มกราคม ค. ศ.1916 ( พ. ศ.2459) จากนั้นได้เข้ารับราชการทหารระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลทหารที่บาดเจ็บ ด้วยความต้องการที่จะช่วยคนป่วยให้มากขึ้นจึงขอบวชเป็นพระสงฆ์ โดยได้รับศีลบวชจากพระสังฆราชอานาสตาซีโอ รอสซี ที่เมืองอูดีเนในแนวรบ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ปีนั้นเอง จนกระทั่งปี ค. ศ.1918 ( พ. ศ.2461) สงครามโลกครั้งที่ 1 สงบลงจึงเดินทางไปเป็นมิชชันนารีที่ประเทศจีนภายใต้การนำของพระสังฆราช ( บุญราศี) หลุยส์ แวร์ซีเลีย ต่อมาได้เดินทางมาประเทศสยามเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค. ศ.1927 ( พ. ศ.2470) โดยทำหน้าที่อธิการพระสงฆ์ซาเลเซียนรุ่นแรก ภายหลังที่มิสซังราชบุรีแยกออกจากมิสซังกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ค. ศ.1930 ( พ. ศ.2473) ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการมิสซัง และได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆรักษ์ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค. ศ.1934 ( พ. ศ.2477) จวบจนวันที่ 3 เมษายน ค. ศ.1941 ( พ. ศ.2484) จึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชของมิสซังราชบุรี ได้รับอภิเษกที่อารามคาร์แมล กรุงเทพฯ พร้อมกับทำหน้าที่ปกครองมิสซังราชบุรีเรื่อยมาจนกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งชีวิตที่มอบคืนดวงวิญาณแด่พระเป็นเจ้าเมื่อวันที่ 3 กันยายน ค. ศ.1950 ( พ. ศ.2493) รวมสิริอายุ 60 ปี 7 เดือน บรรจุศพที่สุสานอาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก

พระสงฆ์คณะซาเลเซียน
     พระสังฆราชปาซอตตี ได้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยเหลือมิสซังลาวในระหว่างที่เกิดกรณีพิพาทอินโดจีน โดยได้รับแต่งตั้งจากกรุงโรมให้ทำหน้าที่ดูแลมิสซังลาวตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม ค. ศ.1941 ( พ. ศ.2484) จนถึงวันที่ 29 มกราคม ค. ศ.1945 ( พ. ศ.2488) พร้อมกับรับตำแหน่งเป็นผู้แทนของสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นการชั่วคราว (Administration Apostolic) อันเป็นช่วงเวลาที่พระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสถูกควบคุมตัวออกนอกประเทศ พระสังฆราชปาซอตตี และคุณพ่อยอห์น กาเซตตา อธิการเจ้าคณะซาเลเซียน ได้ส่งพระสงฆ์มาทำหน้าที่ดูแลคริสตชนในมิสซังลาว โดยพระสงฆ์ 2 องค์แรกได้มาถึงภาคอีสานเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค. ศ.1941 ( พ. ศ.2484) และมาสมทบอีกเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ปีนั้นเอง ได้แก่ คุณพ่อยอแซฟ ปีนัฟโฟ, คุณพ่อเกรสปี เดลปีโน, คุณพ่อยอแซฟ ฟอร์ลัสซินี, คุณพ่ออันเดร วิตราโน และ คุณพ่ออังโยโล มาร์เกซี และนอกนั้นยังมี คุณพ่อยอห์น กาเซตตา อธิการเจ้าคณะจากบ้านโป่ง คุณพ่อเอยิดดิโอ บ๊อตตะอิน และคุณพ่อยอร์ช ไปน๊อตตี เจ้าอาวาสวัดแม่พระบังเกิด บางนกแขวก เดินทางมาเยี่ยมเยียนและช่วยงานเป็นครั้งคราวแต่อยู่เพียง 2-3 สัปดาห์เท่านั้น

     จากคำบอกเล่าของ พระอัครสังฆราชลอเรนซ์คายน์ แสนพลอ่อน และผู้อาวุโสในอัครสังฆมณฑลหลายท่านยืนยันตรงกันว่า พระสงฆ์ซาเลเซียนเหล่านั้นได้อาศัยพักตามบ้านเรือนคริสตชนที่ไว้ใจได้เพื่อคอยเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจคริสตชนอื่น ๆ ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ปรากฎหลักฐานชัดเจนคือ คุณพ่อมาร์เกซี ทำหน้าที่ดูแลคริสตชนที่ท่าแร่เพื่อปลุกปลอบใจพวกเขาให้มีความเข็มแข็งอดทนในความเชื่อโดยพักอาศัยอยู่ที่บ้านของชาวท่าแร่คนหนึ่งชื่อ นายคูณ คุณพ่อฟอร์ลัสซินี ไปดูแลคริสตชนที่วัดพระตรีเอกานุภาพ ช้างมิ่ง โดยอาศัยพักอยู่บ้านของนายฮาด ทิพย์ทอง บิดาของกำนันกลึง ทิพย์ทอง ซึ่งแม้จะถูกเบียดเบียนและทำร้ายแต่คุณพ่อไม่ยอมทิ้งชาวช้างมิ่ง ส่วนคุณพ่อองค์อื่น ๆ ไม่มีรายละเอียดอะไรมากนัก

     พระสังฆราชปาซอตตี ได้เดินทางมาเยี่ยมมิสซังลาวเป็นทางการรวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันที่ 21 มิถุนายน ค. ศ.1942 ( พ. ศ.2485) และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 12 เมษายน ค. ศ.1943 ( พ. ศ.2486) โดยเดินทางมาพร้อมกับ คุณพ่อการ์โล กาเซตตา อธิการโรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย ที่พระสังฆราชปาซอตตี ได้แต่งตั้งให้เป็นผู้แทนประจำภาคอีสาน (Vicar Delegate) และภราดายอแซฟ วัลโตลีนา จากวัดเพลง การมาครั้งนั้นพระสังฆราชปาซอตตี ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากคุณพ่อศรีนวล, คุณพ่อมาร์เกซี และคริสตชนชาวท่าแร่ คุณพ่อฟอร์ลัสซินี เมื่อทราบข่าวได้รีบเดินทางมาจากช้างมิ่ง เพื่อร่วมวางโครงการที่จะไปเยี่ยมคริสตชนตามวัดต่าง ๆ ที่ถูกรื้อทำลาย ถูกเผา และถูกสั่งปิดเป็นเขตหวงห้ามทั้งหมด

     หลังจากที่ได้เยี่ยมเยียนวัดใกล้เคียงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คุณพ่อศรีนวล และคุณพ่อคำผง ได้นำพระสังฆราชปาซอตตี พร้อมคณะออกเดินทางจากท่าแร่ไปวัดนักบุญอันนาหนองแสง จังหวัดนครพนม ซึ่งเคยเป็นอาสนวิหารและสำนักพระสังฆราช เข้าใจว่า พระสังฆราชปาซอตตี คงได้แวะเยี่ยมวัดต่าง ๆ ตามรายทางด้วย ไปถึงหนองแสงวันที่ 2 มีนาคม ค. ศ.1943 ( พ. ศ.2487) โดยอาศัยพักที่บ้านขององเสา เพื่อเยี่ยมเยียนคริสตชนตามวัดต่าง ๆ ที่อยู่โดยรอบ จนถึงค่ำวันที่ 7 มีนาคม จึงลงเรือแจว 2 ลำล่องไปตามแม่น้ำโขง ซึ่งต้องแจวกันอย่างหนักเพราะลมพัดแรง จนกระทั่งก่อนเที่ยงวันที่ 9 มีนาคมจึงถึงที่หมายคือบ้านสองคอน ดินแดนแห่งมรณสักขี โดยค้างที่สองคอน 2 คืน เพื่อให้โอกาสแก่ผู้ที่ต้องการมาปรับทุกข์ปรับร้อน แก้บาปรับศีล และร่วมในพิธีมิสซา โดยอาศัยบ้านของพ่อเฒ่าเคน ว่องไว จนกระทั่งคืนที่ 3 จึงเดินทางผ่านป่าไปรอจับรถจากอุบลราชธานีที่จะต้องผ่านถนนใหญ่เวลาหัวค่ำ แต่มาถึงจริง ๆ เกือบเที่ยงคืน พระสังฆราชปาซอตตี และคณะจึงต้องนอนกันริมถนนกลางป่าโดยมีชาวสองคอนที่ไปส่งยืนรายรอบพร้อมกับสุมไฟกันเสือ เนื่องจากบริเวณนั้นมีเสือชุมและเรียกกันว่า นาเสือหลาย

คุณพ่อการ์โล กาเซตตา
     ระหว่างที่พำนักที่บ้านสองคอน พระสังฆราชปาซอตตี ได้สืบสวนเรื่องราวของมรณสักขีทั้ง 6 ที่พลีชีพเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค. ศ.1940 ( พ. ศ.2483) โดยมอบหมายให้คุณพ่อการ์โล ทำหน้าที่สืบสาวราวเรื่องทั้งหมดจากปากคำของชาวสองคอนที่อยู่ในเหตุการณ์ พร้อมกับบันทึกเรื่องราวโดยละเอียด โดยเฉพาะหลักฐานชิ้นสำคัญ คือ “ จดหมายของภคินีอักแนสพิลา ทิพย์สุข ” ที่เขียนถึงนายลือ เมืองโคตร หัวหน้าตำรวจชุดคุ้มครองหมู่บ้าน ที่แสดงให้เราเห็นถึงการยืนหยัดในความเชื่อต่อพระเยซูคริสตเจ้า ก่อนหน้าการถูกยิงพลีชีพเป็นมรณสักขีพร้อมกันรวม 6 คนที่ป่าศักดิ์สิทธิ์ “ คุณพ่อการ์โล ได้เอาจดหมายนี้มาวิจารณ์ทันทีพร้อมกับผู้ใหญ่บ้าน นายเปโตรเที่ยงพร้อม และชาวบ้านคนอื่น ๆ รวมทั้งพระสังฆราช ( ปาซอตตี) พระสงฆ์อีก 2 องค์ เมื่อลอกคำต่อคำโดยกวดขันแล้ว ก็ได้มอบให้แก่พระสังฆราช เพื่อพิจารณา และดำเนินการฝ่ายพระศาสนจักรต่อไป ”

เกลาดิอุส บาเย, ประวัติการเผยแพร่พระศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว, หน้า 204
“ งานซาเลเซียนในภาคอีสาน” ใน อนุสรณ์สุวรรณสมโภชคณะซาเลเซียนแห่งประเทศไทย, ( กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ประชาชน, 2520), หน้า 242.
เกลาดิอุส บาเย, ประวัติการเผยแพร่พระศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว, หน้า 204.
“ งานซาเลเซียนในภาคอีสาน” ใน อนุสรณ์สุวรรณสมโภชคณะซาเลเซียนแห่งประเทศไทย, หน้า 246.


     คุณพ่อการ์โล จึงเป็นคนแรกที่สืบสวนเรื่องราวและเก็บหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพลีชีพที่สองคอน ทำให้การดำเนินเรื่องเพื่อสถาปนามรณสักขีที่สองคอนเป็น “ บุญราศีทั้ง 7 แห่งประเทศไทย ” ในเวลาต่อมากระทำได้ง่ายขึ้น นอกนั้นยังมีส่วนสำคัญในการดูแลและให้กำลังใจคริสตชนตามวัดต่าง ๆ ในเขตจังหวัดนครพนม หนองคาย และเลยตลอดช่วงเวลาของการเบียดเบียน จนถึงวันที่ 9 กันยายน ค. ศ.1943 ( พ. ศ.2487) จึงยุติการทำงานลง เนื่องจากความผันผวนทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่ฝ่ายอักษะซึ่งมีประเทศอิตาลีรวมอยู่ด้วยยอมจำนนแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ทางการทหารญี่ปุ่นได้สั่งให้รัฐบาลไทยกักกันและควบคุมตัวชาวอิตาเลี่ยนทั่วประเทศ คุณพ่อการ์โล จึงถูกกักตัวไว้ที่บ้านของนายฮาด ทิพย์ทอง ขณะที่อยู่ช้างมิ่ง มีตำรวจนั่งอยู่หน้าประตูบ้านติดต่อใครไม่ได้ เว้นแต่เด็กชายคนหนึ่งคอยนำอาหารจากภคินีที่อยู่ในชุดฆราวาสทำมาให้วันละ 3 มื้อ จนถึงวันที่ 23 ตุลาคม ค. ศ.1943 ( พ. ศ.2487) คุณพ่อการ์โล พร้อมกับพระสงฆ์ซาเลเซียนทั้งหมดที่ทำงานอยู่ในภาคอีสานได้เดินทางไปรวมกันที่วัดบางนกแขวกมิสซังราชบุรี ในความรับผิดชอบของพระสังฆราชปาซอตตี ตามความต้องการของรัฐบาลไทย นับเป็นความโชคดีอีกอย่างหนึ่งที่ก่อนหน้านั้น พระสังฆราชปาซอตตี ได้ส่งคุณพ่อซาวีโอ มนตรี พระสงฆ์ไทยในมิสซังมาช่วยงานที่วัดหนองแสง จังหวัดนครพนมแล้วตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม ค. ศ.1942 ( พ. ศ.2485) โดยอยู่ช่วยงานนานกว่า 10 ปี ส่วนที่วัดท่าแร่ คุณพ่อซามุแอลสมุห์ พานิชเกษม พระสงฆ์ไทยมิสซังกรุงเทพฯจากจันทบุรี ได้สมัครใจมาช่วยงานและรับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าแร่ตั้งแต่ปี ค. ศ.1944 ( พ. ศ.2488) จนถึงเดือนพฤศจิกายน ค. ศ.1948 ( พ. ศ.2491)

     อย่างไรก็ดี ภายหลังเหตุการณ์สงบคุณพ่อการ์โล ได้กลับมาทำงานในภาคอีสานอีกครั้งในปี ค . ศ.1957 ( พ. ศ.2500) ตามคำเชิญของพระสังฆราชคลาเรนซ์ ดูฮาร์ต ประมุขแห่งสังฆมณฑลอุดรธานี เพื่อเปิด “ โรงเรียนดอนบอสโกวิทยา ” ขึ้นที่จังหวัดอุดรธานี ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค. ศ.1971 ( พ. ศ.2514) คุณพ่อการ์โล ได้กลับมาทำงานที่อัครสังฆมณฑลท่าแร่- หนองแสง โดยได้รับแต่งตั้งจากพระอัครสังฆราชมีคาแอลเกี้ยน เสมอพิทักษ์ ให้เป็นจิตตาธิการภคินีคณะรักกางเขนแห่งท่าแร่ พร้อมกับทำหน้าที่อื่น ๆ เช่น ฟังแก้บาปที่วัดท่าแร่ ที่บ้านเณรฟาติมา และถวายมิสซาตามวัดใกล้เคียงอีกบางแห่ง นอกนั้นยังทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนวิชาดนตรีศักดิ์สิทธิ์แก่ภคินีและสามเณร ทำให้ลูกศิษย์เหล่านั้นมีความสามารถทางด้านดนตรีและแต่งเพลงศักดิ์สิทธิ์ได้

    ในปี ค . ศ.1975 ( พ. ศ.2518) คุณพ่อการ์โล ได้กลับไปเยี่ยมบ้านที่ประเทศอิตาลี ทำให้ได้รู้จักองค์การอาสาสมัครช่วยเหลือคนโรคเรื้อนประจำสำนักอัครสังฆราชแห่งเมืองตุรินที่เรียกร้องให้คุณพ่อเอาธุระดูแลคนโรคเรื้อนในท้องที่ที่คุณพ่อประจำอยู่ เมื่อเดินทางกลับท่าแร่คุณพ่อจึงนำความคิดและขอความร่วมมือจากภคินีคณะรักกางเขนแห่งท่าแร่ โดยเริ่มดำเนินการในเดือนกุมภาพันธ์ ค. ศ.1976 ( พ. ศ.2519) พร้อมกับภคินี 3 รูป และเปิดให้บริการผู้ป่วยโรคเรื้อนเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค. ศ.1976 ( พ. ศ.2519) จนกิจการเจริญขึ้นได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจและขยายตัวออกไปมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน นับว่าคุณพ่อการ์โล ได้สร้างคุณประโยชน์มากมายสำหรับพระศาสนจักรในภาคอีสานและภคินีคณะรักกางเขนแห่งท่าแร่

โครงการของพระสังฆราชปาซอตตี
     ในการเดินทางมามิสซังลาวครั้งที่ 2 พระสังฆราชปาซอตตี ได้คิดโครงการที่จะให้มิสซังภาคอีสานเป็นมิสซังปกครองตนเองมอบให้พระสงฆ์พื้นเมืองชาวอีสานเป็นผู้ปกครอง โดยมีคนหนึ่งในพวกเขาเป็นพระสังฆราชประมุขมิสซัง และพร้อมจะส่งพระสงฆ์ซาเลเซียนมาช่วยในจำนวนเท่าที่ต้องการ ดังนั้น ในการเดินทางมาท่าแร่อีกครั้งในปี ค. ศ.1946 ( พ. ศ.2489) พระสังฆราชปาซอตตี จึงได้ประชุมคณะสงฆ์ไทยทั้งหมดและเสนอโครงการดังกล่าว “ ยิ่งกว่านั้นดูเหมือนท่านจะรบเร้าให้รับโครงการของท่านด้วย เพราะท่านได้บอกให้พระสงฆ์ไทยเหล่านั้นออกเสียงเลือกพระสงฆ์ไทยองค์หนึ่งเป็นพระสังฆราช ” เมื่อพระสังฆราชปาซอตตี กลับไปแล้ว พระสงฆ์ไทยได้ประชุมกันและตกลงเป็นเสียงเดียวกันที่จะออกเสียงเลือกพระสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสเป็นพระสังฆราช เพราะเห็นว่ายังไม่พร้อม แม้โครงการดังกล่าวจะยังไม่ได้รับการตอบสนองในเวลานั้น แต่ก็ได้จุดประกายความคิดของพระสงฆ์ไทยทุกคนถึงภาระที่จะต้องแบกรับในอนาคต

     เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการไปเยี่ยมวัดต่าง ๆ ในภาคอีสานของพระสังฆราชปาซอตตี จะต้องส่งจดหมายหรือโทรเลขถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองในสถานที่แห่งนั้นให้ทราบล่วงหน้าเสมอ ต่อเมื่อมาถึงแล้วยังต้องเข้าไปรายงานเอกสารอันมีมาจากรัฐมนตรีมหาดไทยและจากอธิบดีกรมตำรวจ นอกจากนั้นในระหว่างที่เกิดการเบียดเบียน พระสังฆราชปาซอตตี ได้บวชพระสงฆ์พื้นเมืองของมิสซังลาว 3 องค์ คือคุณพ่อยอแซฟอินทร์ นารินรักษ์ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค. ศ.1941 ( พ. ศ.2484) คุณพ่อเปโตรวันดี พรหมสาขา ณ สกลนคร และคุณพ่อราฟาแอลคาร โสรินทร์ เมื่อวันที่ 29 มกราคม ค. ศ.1943 ( พ. ศ.2486) ที่วัดน้อยบ้านเณรบางนกแขวก นับว่า พระสังฆราชปาซอตตี และพระสงฆ์คณะซาเลเซียน ได้มีบทสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อมิสซังลาวและอัครสังฆมณฑลท่าแร่- หนองแสงในปัจจุบัน

พระสังฆราชฮังรี - อัลแบรต์ โทมิน พระสังฆราชองค์ที่สี่ของมิสซังลาว : ค. ศ.1944-1945
     ในปี ค . ศ.1942 ( พ. ศ.2485) พระสังฆราชแกวง ซึ่งพำนักที่ท่าแขกประเทศลาว สุขภาพทรุดโทรมลงจึงได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ปกครองมิสซัง โดยแต่งตั้งคุณพ่อทีโบต์ เป็นอุปสังฆราชรักษาการแทน เนื่องจากอยู่ในระหว่างสงครามการติดต่อจึงล่าช้า จนกระทั่งปี ค. ศ.1943 ( พ. ศ.2486) จึงได้รับอนุมัติจากทางกรุงโรม และสันตะสำนักได้แต่งตั้งคุณพ่อฮังรี- อัลแบรต์ โทมิน (Hnri-Alberte TOMIN) เป็นพระสังฆราชองค์ที่ 4 ของมิสซังลาวเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค. ศ.1944 ( พ. ศ.2487) โดยได้รับอภิเษกที่วัดท่าแขกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค. ศ.1944 ( พ. ศ.2487) โดยพระสังฆราชเลอมาล แห่งเมืองเว้ มีพระสังฆราชแกวง และพระสังฆราชปีเกต์ แห่งมิสซังกวินญอน เป็นผู้ช่วยอภิเษก

     พระสังฆราชฮังรี โทมิน เกิดที่ประเทศฝรั่งเศส เข้าศึกษาที่บ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส จนกระทั่งสำเร็จได้บวชเป็นพระสงฆ์ ต่อมาในปี ค . ศ.1925 ( พ. ศ.2468) ได้เดินทางเข้ามาประเทศสยามและถูกส่งตัวไปช่วยงานที่มิสซังลาว หลังจากเรียนภาษากับคุณพ่อโบแอร์ ที่หนองแสง ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสคุณพ่อคอมบูริเออร์ ที่ท่าแร่ ทำหน้าที่ดูแลวัดนักบุญมารีอามักดาเลนา นาโพธิ์ และวัดแม่พระถือศีลชำระ จันทร์เพ็ญ ระหว่างเดินทางไปดูแลคริสตชนที่จันทร์เพ็ญโดยใช้เส้นทางลัดข้ามส่วนที่แคบที่สุดของหนองหารบริเวณบ้านท่าวัด ได้รู้จักกับผู้ใหญ่พัน มูลทองสุก และชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่สนใจและสมัครเรียนคำสอน ซึ่งนำไปสู่ก่อตั้งหมู่บ้านคริสตชนใหม่ที่จอมแจ้ง ภายหลังที่เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนถูกขับออกนอกประเทศพร้อมกับพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศส โดยข้ามไปทำงานที่แขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งจากสันตะสำนักให้เป็นพระสังฆราชแทนพระสังฆราชแกวง ซึ่งลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากปัญหาสุขภาพ

เกลาดิอุส บาเย, ประวัติการเผยแพร่พระศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว, หน้า 216

     หลังจากเข้ารับตำแหน่ง พระสมณทูตวาติกันประจำอินโดจีนได้เชิญพระสังฆราชโทมิน ข้ามมาประเทศไทยเพื่อรับมอบอำนาจปกครองภาคอีสานและเดินทางกลับท่าแขกอีกครั้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นเปิดฉากบุกอินโดจีนของฝรั่งเศสที่เรียกว่า “ สงครามเอเชียบูรพา ” ทำให้ต้องเผชิญกับสถานการณ์แห่งความยากลำบาก จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ค. ศ.1945 ( พ. ศ.2488) กองทัพญี่ปุ่นมาถึงท่าแขกและได้จับพระสังฆราชโทมิน, พระสังฆราชแกวง และคุณพ่อทีโบต์ ไปยิงเป้าที่บ้านนาไก่ ห่างจากท่าแขกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 80 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค. ศ.1945 ( พ. ศ.2488) นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของมิสซัง

     คุณพ่อศรีนวล ได้ทราบข่าวการสังหารนี้ ด้วยกลัวว่าชีวิตของบรรดามิชชันนารีที่ทำงานในประเทศลาวจะได้รับอันตราย จึงไปขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมให้มิชชันนารีเหล่านั้นข้ามมายังฝั่งประเทศไทย ได้แก่คุณพ่อมาร์กี ที่เชียงหวาง คุณพ่อฟีเกต์ ที่ท่างาม คุณพ่อมาลาวาล , คุณพ่ออาลาซาร์ ที่ดอนโดน ยกเว้นคุณพ่อลากอล์ม ที่ดงหมากบ้า ที่คริสตชนได้ซ่อนตัวท่านไว้ในป่าจนถึงเวลาที่ทหารญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค. ศ.1945 ( พ. ศ.2488) ส่วนคุณพ่อแฟรซ์ ที่สุวรรณเขต ได้ถูกทหารญี่ปุ่นจับตัวไปทรมานและประหารชีวิตในที่สุดเมื่อเดือนกรกฎาคม ค. ศ.1945 ( พ. ศ.2488)


บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 20 ต.ค. 07, 18:20

พระสังฆราชเกลาดิอุส บาเย พระสังฆราชองค์สุดท้ายของมิสซังลาว : ค. ศ.1947-1950
     คุณพ่อเกลาดิอุส บาเย (Glaudius BAYET) เกิดที่อาปีนัค แคว้นลัวร์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค. ศ.1900 ( พ. ศ.2443) บวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค. ศ.1925 ( พ. ศ.2468) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จากนั้นได้เข้ารับการอบรมเป็นมิชชันนารีในคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสและเดินทางมามิสซังลาวในปีต่อมา หลังจากเรียนภาษาไทยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสคุณพ่อกอมบูริเออ ที่ท่าแร่ในเดือนพฤษภาคม ค. ศ.1927 ( พ. ศ.2470) ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าแร่เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค. ศ.1938 ( พ. ศ.2481) จนกระทั่งเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน และได้รับเลือกเป็นอุปสังฆราชโดยพระสังฆราชโทมิน เมื่อพระสังฆราชโทมิน ถูกยิงถึงแก่มรณภาพจึงได้รับหน้าที่ปกครองมิสซังโดยอัตโนมัติ ที่สุดได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชปกครองมิสซังเมื่อวันที่ 10 เมษายน ค. ศ.1947 ( พ. ศ.2491) ได้รับอภิเษกที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค. ศ.1947 ( พ. ศ.2490) โดยพระสังฆราชแปร์รอส มีพระสังฆราชปาซอตตี และพระสังฆราชแจง เกิดสว่าง เป็นผู้ช่วยอภิเษก นับเป็นพระสังฆราชองค์ที่ 5 และองค์สุดท้ายของมิสซังลาว

     หลังเข้ารับตำแหน่งได้พำนักที่สำนักพระสังฆราชที่ท่าแขกและที่ท่าแร่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนแห่งละหนึ่งเดือน โดยแต่งตั้งคุณพ่อนอแอล เตอโนด์ เป็นอุปสังฆราชและเป็นผู้แทนพระสังฆราชทางประเทศลาว และแต่งตั้งคุณพ่อศรีนวล เป็นผู้แทนพระสังฆราชทางภาคอีสาน เมื่อมิสซังลาวแยกเป็น 2 มิสซังคือ มิสซังท่าแขกและมิสซังท่าแร่ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค. ศ.1950 ( พ. ศ.2493) จึงได้ดำรงตำแหน่งสังฆราชองค์แรกแห่งมิสซังท่าแร่ และเมื่อมิสซังท่าแร่แยกออกเป็นเทียบเท่ามิสซังอุดรธานี และมิสซังอุบลราธานีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค. ศ.1953 ( พ. ศ.2496) จึงได้ดำรงตำแหน่งพระสังฆราชองค์แรกของมิสซังอุบลฯ จนกระทั่งลาออกจากตำแหน่งในปี ค. ศ.1969 ( พ. ศ.2512) แต่ยังทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองทาม จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม ค. ศ.1979 ( พ. ศ.2522) จึงปลดเกษียณ และใช้ชีวิตบั้นปลายที่สำนักสังฆมณฑลอุบลฯจนถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ค. ศ.1990 ( พ. ศ.2533) รวมสิริอายุ 90 ปี

การตั้งบ้านเณรที่ท่าแร่
     เนื่องจากบ้านเณรเล็กที่หนองแสงได้ถูกทำลายในช่วงที่เกิดกรณีพิพาทอินโดจีน พระสังฆราชบาเย , คุณพ่อศรีนวลและคุณพ่อแท่ง ได้ปรึกษากันจะตั้งบ้านเณรแห่งใหม่ขึ้นที่ท่าแร่ ในเดือนพฤษภาคม ค. ศ.1947 ( พ. ศ.2490) คุณพ่อศรีนวล ได้ยื่นขออนุญาตเปิดโรงเรียนเซนต์ยอแซฟเป็นครั้งที่ 2 และให้บรรดาสามเณรพักอาศัยที่ตึกของโรงเรียน โดยมีคุณพ่อเปโตรวันดี พรหมสาขา ณ สกลนคร เป็นอธิการ โรงเรียนแห่งนี้จึงเป็นทั้งโรงเรียนและบ้านเณรในเวลาเดียวกัน เมื่อกิจการของโรงเรียนเจริญก้าวหน้ามีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นและจำนวนสามเณรเพิ่มมากขึ้น จึงคิดที่จะเปิดบ้านเณรแยกเป็นเอกเทศจากโรงเรียน

     ในปี ค . ศ.1948 ( พ. ศ.2491) พระสังฆราชบาเย ได้ขอทุนสร้างตึกเณรหลังใหม่ในที่ดินของมิสซังทางฝั่งตะวันตกของบ้านท่าแร่ จากสันตะสำนักผ่านทางองค์การนักบุญเปโตรจำนวน 50,000.- ดอลลาร์สหรัฐ และได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค. ศ.1952 ( พ. ศ.2495) จนกระทั่งแล้วเสร็จและมีพิธีเสกตึกใหม่ในปี ค. ศ.1954 ( พ. ศ.2497) โดยพระสังฆราชมีแชลมงคล ( อ่อน) ประคองจิต ประมุของค์ใหม่ของมิสซังท่าแร่ ซึ่งได้ถวายบ้านเณรแห่งนี้แด่พระมารดาแห่งฟาติมา บ้านเณรแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “ บ้านเณรฟาติมา ” โดยมีคุณพ่อยอแซฟอินทร์ นารินรักษ์ เป็นอธิการคนแรก

พระสงฆ์คณะพระมหาไถ่
     ความจริงพระสังฆราชแกวง ได้ขอคณะพระมหาไถ่ให้เข้ามาทำงานในมิสซังตั้งแต่ปี ค . ศ.1939 ( พ. ศ.2482) ผ่านทางสันตะสำนัก และคณะพระมหาไถ่แขวงเซนต์หลุยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ตอบตกลง แต่ต้องหยุดชะงักไปเพราะภาวะสงครามในตะวันออกไกล ภายหลังเหตุการณ์บ้านเมืองสงบพระสังฆราชบาเย ได้เชื้อเชิญพระสงฆ์คณะพระมหาไถ่ จากสหรัฐอเมริกาให้เข้ามาทำงานในมิสซังอีกครั้ง

     วันที่ 19 พฤษภาคม ค. ศ.1948 คณะพระมหาไถ่ โดยการนำของคุณพ่อคลาเรนซ์ เจ ดูฮาร์ต, คุณพ่อโรเจอร์ กอดเบาท์, คุณพ่อโรเบิร์ต ลาริวิแวร์ และคุณพ่อเอ็ดเวิร์ด เคน ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย ต้นเดือนมิถุนายน ค. ศ.1948 ( พ. ศ.2491) มาถึงท่าแร่โดยการไปรับตัวของคุณพ่อศรีนวล เมื่อมาถึงพระสังฆราชบาเย ได้จัดให้เรียนภาษาไทยกับคุณพ่อมีคาแอลเกี้ยน เสมอพิทักษ์ และมอบหมายให้ดูแลวัดช้างมิ่งและวัดใกล้เคียง โดยเดินทางถึงบ้านช้างมิ่งเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ค. ศ.1948 ( พ. ศ.2491) ช้างมิ่งจึงกลายเป็นศูนย์กลางแห่งแรกของคณะพระมหาไถ่ในประเทศไทย ต่อมาในปี ค. ศ.1949 ( พ. ศ.2492) พระสังฆราชบาเย ได้ขอร้องให้รับผิดชอบและดูแลหมู่บ้านคริสตชนเพิ่มขึ้นอีก ได้แก่ วัดโพนสูง วัดเวียงคุก วัดห้วยเซือม วัดห้วยเล็บมือ และวัดท่าบ่ม จนกระทั่งวันที่ 1 มกราคม ค. ศ.1957 ( พ. ศ.2500) คณะพระมหาไถ่จึงได้ย้ายออกจากวัดช้างมิ่ง หลังจากที่ทำหน้าที่ดูแลวัดช้างมิ่งและวัดใกล้เคียงเป็นเวลาถึง 8 ปี ต่อมาภายหลังได้รับเชิญให้มาทำหน้าที่ดูแลวัดช้างมิ่งอีกในสมัยคุณพ่อเมอริสซี และคุณพ่อวิลเลี่ยม ไร้ท์

การสิ้นสุดของมิสซังลาว
     เนื่องจากการเดินทางและการปกครองคริสตชนที่มีอาณาเขตของประเทศไม่สะดวกและประสบปัญหาหลายอย่าง ในเดือนมิถุนายน ค . ศ.1949 ( พ. ศ.2492) พระสังฆราชบาเย ได้เดินทางไปกรุงโรมและเสนอต่อสันตะสำนักให้แบ่งมิสซังลาวออกเป็น 2 มิสซังตามเขตประเทศ สันตะสำนักได้ตัดสินใจแบ่งตามคำขอเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค. ศ.1950 ( พ. ศ.2493) โดยได้ตั้งมิสซังท่าแขก ประกอบด้วย 4 แขวงภาคใต้ของประเทศลาว โดยมีพระสังฆราชอาร์โนด์ เป็นพระสังฆราชปกครอง และตั้งมิสซังท่าแร่ ซึ่งครอบคลุมภาคอีสานของประเทศไทยรวมถึงนครราชสีมาที่มอบให้อยู่ในความดูแลของมิสซังกรุงเทพฯเป็นการชั่วคราวตั้งแต่สมัยพระสังฆราชโปรดมพระสังฆราชบาเย จึงดำรงตำแหน่งพระสังฆราชองค์แรกของมิสซังท่าแร่ นับเป็นการสิ้นสุดของมิสซังลาว ตั้งแต่การได้รับแต่งตั้งเป็นมิสซังแยกจากมิสซังสยามเมื่อปี ค. ศ.1899 ( พ. ศ.2442) ถึงปี ค. ศ.1950 ( พ. ศ.2493) รวมระยะเวลา 51 ปี

     อย่างไรก็ตามการสิ้นสุดของมิสซังลาว เป็นการสิ้นสุดแต่เพียงชื่อเท่านั้นเอง พระศาสนจักรในดินแดนแห่งนี้ยังคงสืบเนื่องและดำเนินต่อไปทั้งที่ประเทศลาวและภาคอีสานของประเทศไทย งานทุกอย่างยังคงได้รับการสานต่อให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นในปัจจุบัน

บทสรุป

     ความเป็นมาของ อัครสังฆมณฑลท่าแร่ - หนองแสง เกี่ยวข้องโดยตรงกับประวัติการเผยแพร่คริสตศาสนาในภาคอีสานของประเทศไทย ซึ่งมีความพยายามที่จะมาแพร่ธรรมหลายยุคหลายสมัยตั้งแต่แรกที่คริสตศาสนาเข้ามาในประเทศสยามในสมัยพระสังฆราชบัลลือ แต่ความพยายามนี้มาสำเร็จเป็นจริงในสมัยพระสังฆราชเวย์ ในปี ค . ศ.1881 ( พ. ศ.2424) ที่ได้ส่งคุณพ่อโปรดม และคุณพ่อเกโก เข้ามาแพร่ธรรมในภาคอีสาน โดยยึดเอาอุบลราชธานีเป็นศูนย์กลาง แต่ก็เป็นไปด้วยความลำบาก

     สภาพของคนอีสานในสมัยนั้น อยู่กันเป็นกลุ่มตามระบบเครือญาติกระจัดกระจายตามที่ต่าง ๆ กล่าวได้ว่า ชาวอีสานทุกคนถือผีและอยู่ภายใต้อิทธิพลของผี นอกนั้นยังมีจำนวนมากที่ถูกจับตัวหรือขายเป็นทาสของเจ้านายในสมัยนั้น หรือประสบกับความเดือดร้อนนานัปการทั้งจากอำนาจรัฐและสังคม บทบาทของมิชชันนารีจึงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิถีชีวิตของคนอีสาน ด้วยการไถ่ให้เป็นอิสระจากการเป็นทาสของนายเงินและเป็นอิสระจากอำนาจของผี รวมถึงการเป็นที่พึ่งพิงของคนที่เดือนร้อนจากอำนาจรัฐและสังคม ภายใต้คติที่ว่า “ ปลดปล่อย เมตตา และยุติธรรม ” ส่งผลทำให้มิชชันนารีเป็นที่พึ่งของผู้เดือนร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรม

    ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ มิชชันนารีได้ดำเนินชีวิตอยู่ใกล้ชิดชาวบ้าน กินอยู่แบบชาวบ้านและร่วมทุกข์ร่วมสุขกับชาวบ้าน ซึ่งเป็นการแพร่ธรรมที่สมถะเรียบง่ายและเข้าถึงชาวบ้านอย่างแท้จริง วิธีการปกครองก็เป็นแบบครอบครัว โดยพยายามรวบรวมคริสตชนให้อยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านและถือเอาสถานที่แห่งนั้นเป็นศูนย์กลางสำหรับการทำงานแพร่ธรรมในหมู่บ้านอื่นต่อไป จะว่าไปแล้วคริสตชนรุ่นแรก ๆ นั้นมาจากคนที่เคยเป็นทาสและอยู่ภายใต้อิทธิพลของผีมาก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจนและไม่ได้รับการศึกษา อย่างไรก็ตามผลจากการทำงานด้วยความร้อนรน และกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของมิชชันนารีในระยะแรกเริ่มนั้นได้ทำให้มีหมู่บ้านคริสตชนเกิดขึ้นในจุดใหญ่ 3 แห่งคือ เมืองอุบลราชธานี สกลนคร และนครพนม ซึ่งได้กลายเป็นรากฐานอันมั่นคงของมิสซังใหม่นาม “ มิสซังลาว ” ในเวลาต่อมา

    มิชชันนารีรุ่นต่อมาได้สานต่องานของมิชชันนารีรุ่นบุกเบิกในการนำ “ มิสซังลาว ” ให้เจริญเติบโตเรื่อยมา แม้จะประสบกับปัญหาและความยากลำบากเพียงใดแต่กิจการของมิสซังได้ดำเนินเรื่อยมา และบรรดาคริสตชนของมิสซังแม้จะเป็นคริสตชนใหม่แต่ได้ผ่านช่วงเวลาของการทดสอบที่สำคัญตลอดเวลา 5 ปีแห่งการเบียดเบียนศาสนาขณะเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน โดยที่พวกเขายังคงยืนหยัดมั่นคงในความเชื่อที่ได้รับ และยอมตายเพื่อยืนยันความเชื่อของตนเช่นที่บ้านสองคอน มีเพียงส่วนน้อยที่ยอมละทิ้งความเชื่อไป คริสตชนเหล่านั้นได้กลายมาเป็นรากฐานอันสำคัญของมิสซังใหม่อีก 3 มิสซังในเวลาต่อมา คือ มิสซังเวียงจันทน์ กับ มิสซังท่าแขก ในประเทศลาว และมิสซังท่าแร่ ซึ่งครอบคลุมภาคอีสานทั้งหมดของประเทศไทย จากเดิมที่ไม่มีคริสตชนเลยในภาคอีสานก่อนปี ค. ศ.1881 ( พ. ศ.2424) จนถึงปี ค. ศ.1950 ( พ. ศ.2493) จำนวนคริสตชนได้เพิ่มเป็น 25,466 คน ตามรายงานประจำปีของพระสังฆราชบาเย นับเป็นพระพรของพระเป็นเจ้าสำหรับพระศาสนจักรท้องถิ่นแห่งนี้อย่างแท้จริง

เรื่องเดียวกัน, หน้า 211.
วิรัช อมรพัฒนา, “5 ทศวรรษคณะพระมหาไถ่ในประเทศไทย” ใน รอยจารึกคณะพระมหาไถ่ในประเทศไทย 1948-1998, ( กรุงเทพฯ : คณะพระมหาไถ่แห่งประเทศไทย, 2542), หน้า 116.



บรรณานุกรม
- กอสเต , โรแบร์. การแพร่ธรรมในประเทศไทย ( ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปี 1910). แปลและเรียบเรียงโดยสมบัติ ถาวร. เอกสารอัดสำเนา.
- “ ประวัติคริสตศาสนาในภาคอีสาน ” , ใน พิธีกรรมกับการดำเนินชีวิตชนคาทอลิกในภาคอีสาน. เอกสารอัดสำเนา.
- ย้อนรอยประวัติศาสตร์การแพร่ธรรม นำความรอดสู่อีสานบ้านเฮา ( ค. ศ.1881-2000/ พ. ศ.2424-2543). ม. ป. พ., ม. ป. ป.
- กืออ๊าส , ยังมารีย์. “ บันทึกปี ค . ศ.1907 เนื่องในโอกาสฉลอง 25 ปีของการแพร่คริสตธรรม ” . ใน ที่ระลึกงานเสกวัดช้างมิ่ง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร 15 เมษายน 2512. ม. ป. พ., 2512.
- เกศรี โสดาศรี และอรนินท์ ศิริพงษ์ . “ ความเชื่อของไทยในภาคอีสาน ” . ใน เอกสารวิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรม. มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2533.
- แกะรอยมิชชันนารีฝรั่งเศสแพร่ธรรมภาคอีสาน . โครงการ “ ตามรอยมิชชันนารีฝรั่งเศสแพร่ธรรมภาคอีสาน ” 8 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2543. เอกสารอัดสำเนา.
- คำจวน ศรีวรกุล . อนุสรณ์งานวชิรสมโภช 75 ปี วัดอัครเทวดามีคาแอล บ้านท่าแร่ อ. เมือง จ. สกลนคร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ประเสริฐธนกิจ, 2503.
- จดหมายเหตุแห่งชาติ . ร.5 ม.2 12 ก. ใบบอกเมืองสกลนคร. วัน 5 14/9 11 ค่ำ ปีระกา สัปตศก 1247.
- บันทึกการก่อตั้งมิสซังลาวของคุณพ่อปีแอร์ แอกกอฟฟอง . แปลโดย คุณพ่อยอห์นบัปติสต์ นรินทร์ ศิริวิริยานันท์. เอกสารอัดสำเนา.
- บันทึกเหตุการณ์และหนังสือเข้า เลขที่ 1 ธันวาคม 1885 – เลขที่ 482 วันที่ 10 มิถุนายน 1975 . เอกสารบันทึกด้วยอักษรโรมัน.
- บาเย , เกลาดิอุส. “ ธรรมทูตรุ่นแรกมาถึงประเทศไทย ” . อุดมศานต์. ปีที่ 61 ฉบับที่ 12. ธันวาคม, 2524.
- ประวัติการแพร่พระศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว. แปลโดย เกี้ยน เสมอพิทักษ์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เรือนแก้ว, 2527.
- “ ประวัติท่าแร่ ” . อุดมศานต์. ปีที่ 63. ฉบับที่ 12, ( ธันวาคม, 2526).
- “ ประวัติย่อของอาสนวิหารหนองแสงที่ได้ถูกทำลาย ปี 1940-1941 ” . ในหนังสือ วันอภิเษกโบสถ์นักบุญอันนาหนองแสง นครพนม วันที่ 18 เมษายน 2518. กรุงเทพฯ : โสภิตการพิมพ์, 2518.
- เบญจาภา ไกรฤกษ์ . “ ชีวิตของ ดร . ถนัด คอมันตร์ ” . มติชนสุดสัปดาห์. ปีที่ 20 ฉบับที่ 1013. 18 มกราคม, 2543.
- ประวัติพระศาสนจักรคาทอลิกไทย สมัยกรุงศรีอยุธยา - สังคายนาวาติกันที่ 2 . นครปฐม : วิทยาลัยแสงธรรม, 2533.
- ประวัติพระศาสนจักรสากลและพระศาสนจักรในประเทศไทย . พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สารสาสน์, 2510.
- ปาซอตตี , กาเยตาโน และสรีนวล สรีวรกุล. จดหมายถึงรัถมนตรีว่าการกระซวงมหาดไทย. 10 กันยายน พ. ศ.2487.
- มิสซังลาว การเสียหายของมิสซังฝั่งไทย สมัยปี 1940-1944 ( ตีราคาตามปี 1947) . เอกสารพิมพ์ดีด.
- รายงานประจำปี ค . ศ.1949-1965. เอกสารทางการของมิสซังสำหรับรายงานสันตะสำนัก.
- วิรัช อมรพัฒนา . “ 5 ทศวรรษคณะพระมหาไถ่ในประเทศไทย ” . ใน รอยจารึกคณะพระมหาไถ่ในประเทศไทย 1948-1998. กรุงเทพฯ : คณะพระมหาไถ่แห่งประเทศไทย, 2542.
- ศรีนวล ศรีวรกุล . จดหมายถึงข้าหลวงประจำจังหวัดสกลนคร. 3 เมษายน พ. ศ.2484.
- สมุดบัญชีศีลล้างบาป คริสตัง สกลนคร ปี 1884, 1885, 1886 . เลขที่ 1. 15 สิงหาคม 1884.
- สมุดบัญชีศีลล้างบาป วัดนักบุญมารีอามักดาเลนา บ้านนาโพธิ์ 1888 . เลขที่ 2. 15 สิงหาคม 1888.
- สำเนาจดหมายถึงหน่วยงานราชการและบันทึก ( ระหว่างปี ค. ศ.1941-1944). เอกสารพิมพ์ดีด .
- สำเนาหนังสือออกและคดีความ เลขที่ 1 วันที่ 1 พฤศจิกายน 1889 – เลขที่ 41 วันที่ 31 มีนาคม 1895 . เอกสารบันทึกด้วยอักษรโรมัน.
- อนุสรณ์พิธีเสกสักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขี 16 ธันวาคม 1995 . กรุงเทพฯ : คณะกรรมการบุญราศีแห่งประเทศไทย, 2538.
- อนุสรณ์สุวรรณสมโภชคณะซาเลเซียนแห่งประเทศไทย ค . ศ.1927- ค. ศ.1977. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ประชาชนจำกัด, 2520.
บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 20 ต.ค. 07, 21:19

ในกระทู้แรก ได้มีการกล่าวถึงคณะภคิณีรักไม้กางเขนที่จันทบุรี ผมก็ได้ติดตามไปดูเวปไซต์ของซิสเตอร์คณะนี้กัน
ได้รายละเอียดที่มีความต่อเนืองกันกับข้อมูลของอัครสังฆมลฑลกรุงเทพ

เรื่องแรก

ความสัมพันธ์ของท่านลัมแบรต์กับพระนารายณ์มหาราช
แหล่งข้อมูล http://lcc-th.com/anniversary/na.htm
 
1. สังคมไทยสมัยพระนารายณ์

     วันที่ 22 สิงหาคม 1662/2205 พระคุณเจ้าลัมแบรต์ เดอ ลา ม็อต พร้อมกับธรรมทูตอีก 2 องค์ได้มาถึงอยุธยา เวลานั้น ท่านอายุ 38 ปี 6 เดือน สำหรับท่านประเทศสยามเป็นเพียงทางผ่านเพื่อเข้ามิสซังของท่าน คือ เวียดนามและจีน แต่ท่านได้ดำรงอยู่ในประเทศสยามนี้ 16 ปี กับ 7 เดือน และอยู่ใน      เวียดนาม(เหนือและใต้) เป็นเวลา 2 ปี กับ5 เดือน และได้มรณภาพที่อยุธยาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 1679/2222 อายุ 55 ปี 5 เดือน ฉะนั้นท่านมาสยามโดยไม่มีพระราชสารจากพระมหากษัตริย์ของฝรั่งเศส และท่านไม่ได้ไปเข้าเฝ้าพระนารายณ์

     ตามความคิดของคุณพ่อมารินี (Marini) ธรรมทูตเยสุอิตในตังเกี๋ย และเคยมาที่อยุธยาสมัยนั้น ได้บอกว่“สยามเป็นประเทศที่คนจะเข้าศาสนาคริสต์ได้ยาก ไม่ใช่เพราะชาวสยามมีอุปนิสัยดื้อรั้น        แต่เพราะเขาอยู่ในสังคมที่ทุกคนอยู่ในอำนาจของคนอื่นอย่างเคร่งครัด และใครอยู่ในอำนาจของใคร มีแต่กษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่ทรงเป็นอิสระแต่เพียงพระองค์เดียว”

     คุณพ่อเดอ บูรฌส์ ผู้เป็นเพื่อนเดินทางของพระคุณเจ้าลัมแบรต์ได้สังเกตเช่นกันว่า “คนสยามอยู่ในอำนาจของกันและกันอย่างเคร่งครัด และใครอยู่ในอำนาจของใคร ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อเขา        เยี่ยงทาส แต่ละคนมีผู้ใหญ่เหนือเขา และต้องรายงานตัวต่อผู้ใหญ่ของตนตามเวลาที่กำหนดตามขั้นตอนจนถึงพระมหากษัตริย์”

     ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมทย์ สรุปว่า “ระบบปกครองของอยุธยาเป็นการปกครองแห่งอำนาจ ด้วยอำนาจ และเพื่ออำนาจและอำนาจนั้นก็คืออำนาจเหนือคนทั้งปวง ในการที่จะมีอำนาจเหนือคนทั้งปวง ถ้าหากไม่มีการรวบรวมคนเข้าเป็นหมวดหรือกองเหมือนกับว่าเป็นกองทัพทั้งประเทศ และ แต่งตั้งให้มีผู้บังคับบัญชาคอยดูแล  คนที่รวบรวมไว้ได้นั้นให้อยู่ภายใต้อำนาจตลอดไป”
เมื่อเราเข้าใจลักษณะของสังคมไทยสมัยพระนารายณ์แล้วนั้น เราจึงเข้าใจเหตุผลบางประการในการปฏิบัติการของท่านลัมแบรต์

     2.ทำไมพระนารายณ์จึงสนพระทัยชาวฝรั่งเศส

     ฮอลันดามีความสัมพันธ์กับไทยตั้งแต่ปี 2140/1592  ในสมัยพระนารายณ์ได้เกิดวิกฤตการณ์เรื่องสิทธิการค้า เวลานั้นไทยไม่พร้อมที่จะทำสงคราม พระนารายณ์จึงยอมให้มีการทำหนังสือสัญญากับฮอลันดา ลงวันที่ 22 สิงหาคม 1664/2207 ในคำสัญญานั้นไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบมาก พระนารายณ์จึงหาประเทศที่จะช่วยสยามให้พ้นจากอำนาจของฮอลันดา  เพราะไทยกลัวและเกลียดชังเขามาก       พระองค์ได้ติดต่อกับอังกฤษ มุสลิม โปรตุเกส แต่ไม่ได้ผล ขณะเดียวกันมีคนอีกชาติหนึ่งที่มาใหม่คือ บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่มาอยู่ก่อน 2 ปีแล้ว พระนารายณ์ทรงทราบว่าฮอลันดาและฝรั่งเศสเป็นอริต่อกัน อาศัยบาทหลวงเหล่านี้ พระองค์มีหนทางที่จะพึ่งฝรั่งเศสได้ ฉะนั้นพระองค์จึงทรงต้อนรับอย่างดี     และพระราชทานที่ดิน พระคุณเจ้าลัมแบรต์จึงคิดว่าพระนารายณ์ทรงสนพระทัยในศาสนาคริสต์

     3. ราชสำนักเริ่มติดต่อกับธรรมทูตฝรั่งเศส

     ราวปลายเดือนพฤษภาคม 1665/2208  ขุนนางคนหนึ่งมาจากราชสำนักเพื่อเยี่ยมพระคุณเจ้า   ลัมแบรต์ที่ค่ายโคชินไชน่าเพราะตามที่ท่านบอก พระคุณเจ้าเริ่มมีชื่อเสียงในอยุธยา ที่จริงพระนารายณ์ทรงส่งท่านมาเพื่อดูว่าบาทหลวงฝรั่งเศสกำลังทำอะไรอยู่ เวลานั้นธรรมทูต 5 องค์ ที่กำลังเรียนภาษา  ต่างประเทศที่ตนกำลังจะไปประจำอยู่และได้สอนเยาวชนด้วย ขุนนางคนนั้นได้ทูลรายงานให้          พระนารายณ์ทรงทราบถึงสิ่งที่ได้เห็น พระองค์จึงทรงให้เยาวชนสยามจำนวน 10 คน ไปเรียนวิทยาการของยุโรปโดยเน้นให้เรียนรู้ถึงที่มาของอานุภาพของชาวตะวันตก วันที่ 29 พฤษภาคม 1665/2208      ท่านลัมแบรต์เขียนจดหมายทูลพระนารายณ์เพื่อโมทนาคุณพระองค์ที่ทรงวางพระทัยในบาทหลวง     โดการฝากนักเรียนไทย ท่านลัมแบรต์จึงถือโอกาสนี้เสนอขอสร้างวิทยาลัยสอนนักเรียนไทยในที่ที่   พระองค์ทรงพอพระทัย จัดหมายฉบับนั้นถึงพระราชวังเดือนธันวาคม 1665/2208 พระนารายณ์จึงทรงพระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งที่เรียกกันว่า “บ้านปลาเห็ด” (ปัจจุบันคือวัดนักบุญยอแซฟ) อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาติดกับค่ายของโคชินไชน่า พระองค์ยังทรงสัญญาจะส่งวัสดุเพื่อสร้างโบสถ์ด้วย…..(4)

     4. เรื่องเจ้าฟ้าอภัยทศ

     ในปี 1667/2210 พระนารายณ์ได้ทรงแสดงพระราชประสงค์เพื่อรับความกระจ่างเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ที่ธรรมทูตได้มาประกาศในประเทศสยาม ท่านลัมแบรต์ซึ่งเป็นคนใจซื่อได้คิดว่า         “พระหรรษทานกำลังทำงานในพระทัยของกษัตริย์” ท่านได้เอาหนังสือประกอบด้วยรูปภาพของบุคคลสำคัญในคริสตศาสนา (ไม่ลืมคอนสตันตินและโคลวิส) ฝากกับคนที่ไปทูลถวายแด่พระมหากษัตริย์  โดยมีพระคุณเจ้าลาโนเป็นผู้เขียนคำอธิบายเป็นภาษาไทย กษัตริย์ได้ทรงแสดงหนังสือนี้ให้แก่ที่ปรึกษาคนหนึ่งดูและทรงถามถึงความคิดเห็นของเขา เขาทูลตอบ(ตามแบบไทย) ว่า “ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่ดีและสอนถึงเรื่องสูงแต่ศาสนาของพระองค์ก็ดีเหมือนกัน”

     เจ้าฟ้าอภัยทศทรงเป็นพระอนุชาของพระนารายณ์ ได้ทรงแสดงความสนพระทัยในหนังสือนี้ และมีพระประสงค์ที่จะทราบคำอธิบายเพิ่มเติม คุณพ่อลาโนได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ถวายความรู้แก่เจ้าฟ้าเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ เจ้าฟ้าอภัยทรงบอกว่าพระองค์ทรงสนพระทัยศาสนานี้ด้วย ในเหตุผล 2 ประการคือ พระองค์ทรงทราบว่าศาสนานี้ดีและพระองค์ทรงต้องการที่จะหายจากขา,แขนที่เป็นอัมพฤกษ์มาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว คุณพ่อลาโนได้ไปที่พระราชวังสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง เพ่ออธิบายรูปภาพในหนังสือที่ท่านลัมแบรต์ได้ถวาย เจ้าฟ้าอภัยได้ตรัสกับกับพระคุณเจ้าลัมแบรต์ในเดือนธันวาคม 1667/2210 และเดือนมกราคม 1668/2211 ว่าพระองค์ทรงศรัทธาในพระเจ้า ส่วนพระนารายณ์ทรงขอให้พระคุณเจ้าและ  ธรรมทูตสวดขอให้พระอนุชาหายจากการเป็นอัมพฤาษ์ พระองค์จึงจะเชื่อถึงพระเจ้า ท่านลัมแบรต์และธรรมทูตได้ร่วมกันสวดด้วยใจเร่าร้อนขอให้พระเป็นเจ้าทรงทำอัศจรรย์ ต่อมาเจ้าฟ้าอภัยทศทรงรู้สึกว่าพระอาการทรงดีขึ้นเลือดเริ่มเดินตามแขนขา เมื่อพระคุณเจ้าลัมแบรต์ทราบท่านจึงบอกว่า “ให้เจ้าฟ้าอภัยทศเข้าศาสนาคริสต์จึงจะหายสนิท” หนังสืออนุทินของมิสซังบันทึกไว้ว่า “ในราชสำนักเข้าใจว่า เป็นการเปลี่ยนศาสนาในทั่วราชอาณาจักรซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นเหตุที่ทำให้     ราชสำนักเลิกติดต่อกับธรรมทูตเลย” ความจริงการที่พระนารายณ์ทรงอนุญาตให้มีการอธิบายคำสอนของศาสนาคริสต์ในพระราชวัง เป็นเหตุผลที่ธรรมทูตคิดไม่ถึงคือ เจ้าฟ้าอภัยทศทรงมีอุปนิสัยที่โกรธง่ายและมีพฤติกรรมที่รุนแรงบ่อย ๆ และยังชอบดื่มสุราอีกด้วย พระนารายณ์ได้ทรงหวังว่าศาสนาคริสต์จะมีฤทธิ์ช่วยเปลี่ยนอุปนิสัยของพระอนุชาได้ พระนารายณ์จะไม่เข้าศาสนาคริสต์ง่าย ๆอย่างที่ธรรมทูตหวัง

     5. ข้อเท็จจริงเรื่องการเริ่มความสัมพันธ์ของสยามกับฝรั่งเศส ทางการทูต

     พระคุณเจ้าเป็นคนแรกที่ได้คิดจะเปิดความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสทางการทูต ท่านได้เสนอความคิดนี้ในจดหมายถึงพระคุณเจ้าปัลลือซึ่งเวลานั้นกลับไปยุโรปแล้ว ท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้ากำลังเห็นการเริ่มต้นของพระหรรษทานในพระทัยของพระนารายณ์ ข้าพเจ้าจึงขอเสนอความคิดที่เกิดขึ้นในใจ พระคุณเจ้าพอใจจะรับหรือไม่รับสุดแล้วแต่พระคุณเจ้าเอง เมื่อข้าพเจ้าได้ยินแผนการใหญ่โตของพระราชา (พระเจ้าหลุยส์ที่ 14) ผู้มีพระทัยกว้างในการขยายรัศมีการค้าในอินเดีย (หมายถึง เอเซียอาคเนย์) ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเมืองอยุธยานี้เป็นทำเลที่มีประโยชน์มากในด้านการค้า เราจึงควรจะเสนอให้พระคุณเจ้าหลุยส์ทรงส่งคณะราชทูตมาถึงราชวังนี้(อยุธยา) ตามแบบของชาวฮอลันดาที่ได้ประสบผลสำเร็จ เพื่อเจรจาในนามของพระองค์ถึงการค้าที่ทำได้ในราชอาณาจักรนี้และด้วยวิธีนี้ให้เชิญชวนพระมหากษัตริย์ของประเทศสยามให้ทรงเข้าในศาสนาซึ่งเป็นศาสนาศักดิ์สิทธิ์ เหมาะสำหรับการ      ปกครองด้วยอำนาจสูงสุดของกษัตริย์ที่นับถือศาสนานี้ เพราะศาสนาบังคับคริสตังให้นบนอบ มิฉะนั้นแล้วจะมีโทษถึงตกนรก”

     ท่านลัมแบรต์ไม่ได้เป็นนักล่าอาณานิคม แต่เสนอให้ทั้งสองฝ่ายเจรจากันอย่างเป็นผู้มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน พระคุณเจ้าลัมแบรต์ทราบดีว่าบริษัทแห่งอินเดียตะวันออกที่ได้ตั้งขึ้นในปี 1664/2207 พยายามแย่งอิทธิพลของฮอลันดา ธรรมทูตในอนาคตจะมาทางเรือของบริษัทได้ บารมีของพระเจ้า หลุยส์โดยผ่านทางราชทูตสามารถเชิญชวนกษัตริย์ของประเทศสยามให้เข้าศาสนาคริสต์ได้ดีกว่า  ธรรมทูต แม้จะเป็นสังฆราชธรรมทูตก็ตาม

     ทำไมท่านลัมแบรต์ต้องการเริ่มประกาศพระวรสารโดยจำเป็นต้องเชิญชวนพระมหากษัตริย์ให้เข้าศาสนาคริสต์ก่อน ?

    จงเข้าใจว่า ในสมัยก่อนศาสนาเป็นเรื่องของสังคมไม่ใช่เรื่องของจิตใจ ฉะนั้นการเข้าศาสนาคริสต์(และศาสนาอื่นด้วย) เริ่มจากผู้เป็นประมุขเข้าก่อน ไพร่พลจึงเข้าศาสนาตามกษัตริย์ของตน   หลายครั้งในอดีตได้มีคนไทยแสดงความปรารถนาจะเข้าศาสนาคริสต์ แต่เขาได้เกรงกลัวต่อกษัตริย์ ศาสนาเป็นส่วนประกอบที่สำคัญเพื่อรักษาเอกภาพของชาติ พระคุณเจ้าลัมแบรต์เข้าใจแล้วว่าชาวสยามจะไม่ได้เข้าศาสนาคริสตังง่าย ๆ เพราะไม่มีอิสระภาพทางจิตใจ ทุกคนมี “หัวหมู่” ที่บังคับเขาในทุกด้าน ภายหลังพระคุณเจ้าลาโนจะขอให้ราชทูตลาลูแบรเจรจาการทำพันธสัญญาทางศาสนากับพระนารายณ์ เพื่อป้องกันอิสรภาพในการเข้าศาสนาคริสต์ ที่จริงพระนารายณ์ได้รับการเชิญชวนให้เข้าศาสนาอิสลามด้วย ท่านลัมแบรต์ไม่นึกว่าพระมหากษัตริย์ก็มีอิสรภาพจำกัดด้วย จะเปลี่ยนศาสนาไม่ใช่เรื่องง่าย    อย่างไรก็ดีในระหว่างปี 1667-1672(2210-2215) พระคุณเจ้าปัลลือรับความคิดนี้และติดต่อกับเสนาบดีของฝรั่งเศสในเรื่องนี้…..(7)

     พระคุณเจ้าลัมแบรต์กับพระคุณเจ้าปัลลือและธรรมทูตไปเฝ้าพระนารายณ์เป็นครั้งแรก
   
     ก่อนจะออกจากฝรั่งเศสเพื่อไปมิสซังของตนคือประเทศจีน พระคุณเจ้าปัลลือได้รับประราชสารจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และพระสมณสารจากพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 9 เพื่อนำมาถวายแด่พระนารายณ์ พระคุณเจ้าปัลลือมาถึงประเทศสยามเมื่อวันที่ 27พฤษภาคม 1673/2216 พระคุณเจ้าลัมแบรต์ได้รับแจ้งให้กษัตริย์ทรงทราบว่า พระคุณเจ้าปัลลือกลับมาพร้อมด้วยพระราชสารของพระเจ้าหลุยส์และพระสมณสารของพระสันตะปาปา พระนารายณ์จึงตัดสินพระทัยรับท่านในฐานะเป็นราชทูตในวันที่ 18 ตุลาคม 1673/2216 พระคุณเจ้าลัมแบรต์และบรรดาธรรมทูตร่วมอยู่ด้วย พระคุณเจ้าลาโน(ช่วงนั้นยังไม่ได้รับการอภิเษกเป็นสังฆราช)ทำหน้าที่เป็นล่าม ในโอกาสนั้นพระนารายณ์ถามถึงสุขภาพของพระสันตะปาปาและพระเจ้าหลุยส์ ถามเกี่ยวกับการรบของกอบทัพฝรั่งเศส ส่วนใพระราชสารของพระเจ้า หลุยส์ได้ขอบคุณพระนารายณ์ที่ได้ทรงต้อนรับพระสังฆราชและธรรมทูตอย่างดี และฝากท่านเหล่านั้นไว้ในความดูแลของพระองค์ต่อไป

     ไม่กี่วันต่อมา บรรดาธรรมทูตได้รับข่าวว่าพระนารายณ์ได้ตัดสินพระทัยจะส่งคณะราชทูตไป  ยุโรปเป็นการสนองตอบที่พระเจ้าหลุยส์ได้มีพระราชสารส่งมา ดังนั้น ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 1673/2216  ที่เมืองละโว้ พระมหากษัตริย์ได้ทรงเชิญพระสังฆราชทั้งสองไปเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์เป็นเวลานานถึง 3 ชั่วโมง พระนารายณ์ทรงถามถึงสาเหตุที่สังฆราชได้มาจากแดนไกล และเหตุใดพระเจ้าหลุยส์จึงได้ทรงส่งไพร่พลของพระองค์(ธรรมทูต)มาไกลเช่นนี้ พระคุณเจ้าลัมแบรต์จึงตอบว่า   “ พระเจ้าหลุยส์มีความกระตือรือร้นมากถึงความรอดของวิญญาณ เป็นสาเหตุเดียวที่ทรงส่งธรรมทูตมา” พระนารายณ์ทรงพอพระทัยในคำตอบนี้

     ก่อนจะออกไปพระคุณเจ้าปัลลือได้ร่วมพิธีอภิเษกพระคุณเจ้าลาโนในวันที่ 25 มีนาคม 1674/2217 (วันปัสกา) และการเสกศิลาฤกษ์ของโบสถ์นักบุญยอแซฟ พระนารายณ์ทรงพระราชทานวัสดุก่อสร้างและเพิ่มที่ดินให้อีก ในวันที่ 20 สิงหาคม 1674/2217 พระคุณเจ้าปัลลือได้ออกเดินทางต่อไป(มุ่งไปประเทศจีน แต่เรืออัปปางที่ฟิลิปปินส์) [8]

     ในปลายปี 1674/2217 ได้มีข่าวว่ากษัตริย์โคชินไชน่าได้ทรงหยุดการเบียดเบียนศาสนาคริสต์  ท่านลัมแบรต์จึงต้องการที่จะเข้าไปมิสซังของท่าน ท่านได้พบขุนนางที่เป็นเพื่อนอย่างลับ ๆ    ขอให้เขาบอกกับกษัตริย์ว่าท่านไม่อยากอยู่ในราชอาณาจักรของพระองค์ถ้าพระองค์ไม่ทรงอนุญาตให้ธรรมทูตเทศนาทั่วราชอาณาจักรได้ และให้ไพร่พลมีอิสรภาพในการเข้าศาสนาคริสต์ ขุนนางกล่าวว่า  พระคุณเจ้าขอมากไป ควรจะพอใจในสิ่งที่ได้รับพระราชทานแล้ว ซึ่งเกินกว่าการประทานให้ตามประเพณีของบ้านเมือง

     ต่อมาพระเจ้าเฮียน วอง กษัตริย์แห่งโควินโชน่า ได้เชิญพระคุณเจ้าลัมแบรต์ไปโคชินไชน่าและทรงส่งเรือมารับอย่างลับ ๆ แต่พระคุณเจ้าไม่ปรารถนาจะออกจากประเทศสยามอย่างลับ ๆ ในที่สุด   พระนารายณ์ทรงอนุญาตให้พระคุณเจ้าไป แต่มีเงื่อนไขคือต้องกลับมาภายในปี 1676/2219 พระคุณเจ้าจึงออกเดินทางเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 1675/2218 หลังจากที่กลับมาแล้ว ท่านเริ่มป่วยหนัก พระนารายณ์ทรงแสดงพระทัยดีด้วยการส่งหมอประจำพระองค์ไปรักษาและทรงประทานยาจากราชสำนัก

     ขณะที่อยู่ในสยาม ได้รับข่าวการมีชัยชนะของพระเจ้าหลุยส์ต่อประเทศฮอลันดา(สันติภาพนิแมค Nimegue 1678/2221) บรรดาธรรมทูตที่อยุธยา กำลังดีใจหวังในพระบารมีของพระจ้าหลุยส์ที่ 14 ในการช่วยพระนารายณ์ให้เข้าในศาสนาคริสต์ แต่พระคุณเจ้าถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 1679/2222 ต่อมาวันที่ 24 ธันวาคม 1880/2223 ปีกว่าหลังจากการมรณภาพของพระคุณเจ้าลัมแบรต์ เดอ ลา ม็อต คณะราชทูตโดยมีคุณพ่อเกม (Gyame) เป็นที่ปรึกษาได้ออกจากอยุธยา

    สตรีในสังคมไทยสมัยอยุธยา

     1.  ในจดหมายถึงพระคุณเจ้าปาลลือของเดือนตุลาคม 1662/2205 (AME.V. 875 P.207) พระคุณเจ้าลัมแบรต์ฯ อธิบายถึงโครงการสามโครงการของท่าน ซึ่งได้แก่ การตั้งสามเณรลัย การตั้งคณะนักบวชหญิง และการตั้งโรงพยาบาล คณะนักบวชหญิงนี้เป็นคณะแรกที่ตั้งในเอเซีย โดยสมาชิกเป็นหญิงชาวเอเชียล้วน ท่านได้กำหนดจุดประสงค์แรกในทางปฏิบัติตามวินัยเดิมว่า “หน้าที่แรกที่แสดงเมตตาธรรมของภคินีรักกางเขน จะเป็นการสอนหญิงสาวทั้งคริสตังและคนที่ไม่ใช่คริสตัง ในเรื่องที่ผู้หญิงควรจะรู้ เธอจงจำไว้ว่า การสอนต้องเป็นหน้าที่ที่สำคัญอันดับหนึ่ง” ทำไมท่านลัมแบรต์จึงกำหนดให้การอบรมหญิงสาวเป็นกิจการอันดับหนึ่งและเร่งด่วนของคณะใหม่นี้ เมื่อเราพิจารณาสภาพสตรีในสังคมไทยสมัยพระนารายณ์ เราก็พอจะเข้าใจเหตุผลของพระคุณเจ้า

     2.  ในสมัยนั้น นอกจากวัดที่เด็กชายทุกคนเข้าบวชเรียนวิชาต่าง ๆ เช่น การอ่าน การเขียนหนังสือ การคำนวณ ศึกษาพระธรรมและภาษาบาลี ไม่มีสถาบันใดที่      ผู้หญิงจะเข้าไปเรียนได้ จะต้องรออีก 300 ปีก่อนที่รัฐบาลจะเปิดโรงเรียนแห่งแรกสำหรับผู้หญิงในประเทศไทย

         สังคมไทย

     3.  ทุกคนในสังคมไทยสมัยอยุธยาไม่ว่าจะเป็นเจ้า เป็นขุนนางหรือเป็นไพร่ ย่อมอยู่ในฐานะเป็นข้าแผ่นดินเสมอกันหมด ในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึงเจ้านายและขุนนาง แต่จะขอกล่าวถึงเฉพาะไพร่ ชนส่วนใหญ่ในสังคมอยุธยาถือว่าเป็นไพร่หรือสามัญชน สมัยนั้นทางหลวงไม่ได้เก็บภาษีของประชาชน แต่เขาต้องทำงานโยธาเหมือนกรมโยธาของเทศบาลสมัยนี้ ชายทุกคนอายุตั้งแต่ 18-60 ปี ถูกบังคับให้ทำงาน “ราชการ”ให้หลวงปีละ 6 เดือน ทำงานเดือนหนึ่งพักหนึ่งสลับกัน เมื่อเวลามีสงครามเขาจะถูกเกณฑ์ได้ตลอดเวลา แต่พวกเขาจะต้องนำอาหารจากบ้านไปด้วยเพราะรัฐบาลไม่เลี้ยง เพื่อความสะดวก ไพร่ทั้งหลายจะแบ่งเป็นหมวดหมู่ โดยมีหัวหน้าหมู่ที่ถือทะเบียนชื่อของไพร่ ส่วนผู้หญิงต้องลงทะเบียนตามกรมกองที่เขาสังกัดด้วย แต่เขาไม่ถูกเกณฑ์ให้ทำงานราชการหรือทำสงคราม งานโยธาของผู้ชายเป็นการฝึกอาวุธบ้าง แต่ส่วนมากเป็นการสร้างถนน สร้างสะพาน ขุดคลอง สร้างวัด สร้างราชวัง สุดแล้วแต่ความประสงค์ของกษัตริย์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงบ่อยทำให้บรรดาไพร่ (ที่ยังเรียก “เลข” หรือ “เลก” ตามเลขที่พิมพ์บนข้อมือ) ไม่มีความชำนาญในด้านใดด้านหนึ่ง ไม่มีอาชีพส่วนตัวฉะนั้นเมื่อเขาไม่ได้ทำงานให้เจ้าแผ่นดิน เขาไม่ทำงานอะไรเลย เขานอนอยู่ที่บ้าน เล่นการพนัน ถึงเวลารับประทานอาหาร ภรรยาจะยกมาให้ ถ้าไม่นอนก็ไปเที่ยวเล่น

     ตามที่ราชทูตลาลูแบรได้เห็นเมื่อท่านมาอยุธยาในปี 2229 ความรับผิดชอบต่อครอบครัวตกเป็นภาระของแม่, ภรรยา และลูกสาว ที่ต้องเลี้ยงหัวหน้าครอบครัวทั้งในเวลาทำงานราชการและเวลาอยู่บ้านผู้หญิงต้องทำงานทุกอย่าง ในชนบทภรรยาเป็นผู้ไถนา เกี่ยวข้าว ในเมืองเป็นผู้ค้าขาย ฉะนั้นสตรีจึงเป็นผู้มีความรับผิดชอบสูง
     แต่ในครอบครัวไทย ดูเหมือนสามี ภรรยาและลูก ๆ มีความรักสามัคคีกันแม่จะอบรมลูกสาวในเวลาว่างนอกจากงานประจำวัน เพื่อเตรียมเขาให้เป็นแม่บ้านที่รู้จักรับผิดชอบเลี้ยงดูครอบครัวต่อไป

     ฉะนั้น ท่านลัมแบรต์ฯ ต้องการช่วยแบ่งภาระหน้าที่อันหนักของแม่บ้านในเรื่องการอบรมลูกสาวให้เป็นผู้รู้จักรับผิดชอบ เพราะในสังคมที่หัวหน้าครอบครัวไม่ค่อยได้อยู่บ้าน แม่เป็นผู้อบรมลูกและสร้างบรรยากาศความรักปรองดองกันในครอบครัว

โรงเรียนคาทอลิกแห่งแรกในกรุงศรีอยุธยา

ภราดามาร์ติน ประทีป โกมลมาศ
31 ตุลาคม 2544

     Archbishop  Luigi Bressan สมณฑูตแห่งนครวาติกันประจำประเทศไทย (1993-1999) ได้เขียนหนังสือ “A Meeting of Worlds: The Interaction of Missionaries and Thai Culture(2000)” และได้กล่าวว่า “ปี ค.ศ.1655 ข้าหลวงผู้ปกครองนิคมโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยาได้เขียนจดหมายถึงอธิการเจ้าคณะเยสุอิตที่เมืองมาเก๊าว่า “ขอให้ส่งนักบวชเยสุอิตเข้ามายังประเทศสยามเพื่อดูแลงานพัฒนาด้านจิตวิญญาณ และให้การศึกษาที่มีคุณภาพแก่เด็กชายในนิคม” ต่อมาในปีเดียวกัน คุณพ่อ Thomas de VALGUARNERA แห่งคณะเยสุอิต จากเกาะชิชิลีในอิตาลี ได้เข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาในฐานะวิศวกรแห่งราชอาณาจักรสยาม (Engineer of the Crown) ท่านสมณฑูต Luigi Bressan ยังกล่าวต่ออีกว่า จากจดหมายลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1656 ของคุณพ่อ De VALGUARNERA ส่งไปถึงข้าหลวงผู้ปกครองนิคมโปรตุเกสได้พูดถึงกิจกรรมที่ท่านทำคือ การดูแลสัตบุรุษและการให้การศึกษาแก่เด็กคริสตัง ซึ่งท่านสมณฑูตถือว่าปี ค.ศ.1656 คือ หลักฐานการจัดตั้งโรงเรียนแห่งแรกของคณะเยสุอิตและโรงเรียนคาทอลิกแห่งแรกในกรุงสยาม จากหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ทำให้เราทราบว่าภารกิจหลักของคุณพ่อ De VALGUARNERA ในกรุงศรีอยุธยาคือการควบคุมการก่อสร้างป้อมปราการในกรุงศรีอยุธยา ลพบุรี และบางกอก

     ท่านสมณฑูต  Luigi Bressan (2000:65) ได้กล่าวอีกว่า โรงเรียนคาทอลิกแห่งแรกนี้สันนิษฐานว่าคงอยู่ในส่วนหนึ่งของบ้านพักนักบวช ต่อมา Mr. Andrew de PONTE ผู้ลี้ภัยจากเมืองมาเก๊าได้เข้ามาพักพิงอยู่ในกรุงศรีอยุธยาและได้บริจาคเงินจำนวนมากให้แก่คุณพ่อ De VALGUARNERA เพื่อสร้างบ้านพักนักบวชเยสุอิตและโรงเรียน ซึ่งสร้างเสร็จในค.ศ. 1675 ตามรายงานที่ปรากฏใน Annual Report เกี่ยวกับกิจการของคณะฯในกรุงสยาม นอกจากนี้ ยังมีเขียนบันทึกไว้ในหนังสือ “A Meeting of Worlds” ว่ามีนักบวชคณะโดมินิกันและฟรังซิสกันเข้ามาแพร่ธรรมในประเทศสยามก่อนคณะเยสุอิต ซึ่งคณะนักบวชเหล่านั้นอาจจะมีการให้การศึกษาพร้อมไปกับการแพร่ธรรมก็เป็นได้
     ท่านสมณฑูต Luigi Bressan (2000:10) ได้กล่าวว่า สมเด็จพระสันตปาปา Clement ที่ IX ได้มีสมณสาส์น “In Excelsa” ลงวันที่ 22 กรกฏาคม ค.ศ.1658 ถึงมิชชันนารีที่ทำงานแพร่ธรรมในเอเชีย ทรงขอให้มีการสอนหลักความเชื่อของคริสตศาสนา และวิชามนุษยศาสตร์อื่น ๆ อีกด้วย

     ตามหลักฐานบันทึกใน “Histoire de La Mission de Siam     โดย  A.Launay” ในปีค.ศ. 1662 มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส (Missionnaries  Etrangeres de Paris) ชุดแรกได้เข้ามาในประเทศสยาม และปี ค.ศ. 1665 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงพระราชทานที่ดินแก่มิชชันนารี ณ ตำบล “บางปลาเห็ด” (ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดพุทไธสวรรค์ในปัจจุบัน) เพื่อสร้างโรงเรียนสอนเด็กชาววังและคนทั่วไป

     ท่านสมณฑูต Luigi Bressan (2000:11:25) ได้กล่าวไว้ว่า Bishop Lambert de La MOTTE ได้เขียนรายงานลงวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1666 ว่า นอกจากการแพร่ธรรมแล้ว มิชชันนารีฝรั่งเศสยังได้ดำเนินกิจกรรมทางการศึกษาด้วย โดยจัดตั้งสถาบันชื่อว่า College General อันประกอบด้วย

- บ้านเณรสำหรับผู้ที่จะบวชเป็นพระสงฆ์

- โรงเรียนสอน Moral  Theology แก่คริสตัง และครูสอนคำสอน

- โรงเรียนสำหรับนักเรียนที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงมอบหมายให้มารับการศึกษา

- โรงเรียนประถมสำหรับคนทั่วไป

- เปิดหลักสูตรสำหรับผู้ที่เตรียมตัวเป็นคริสตัง

- โรงเลี้ยงเด็กกำพร้า

ท่านสมณฑูต (2000: 11) ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า งานทางการศึกษาของมิชชันนารีจากกรุงปารีสเป็นงานสมบูรณ์แบบ

     จากหลักฐานดังกล่าวข้างต้น สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย จึงได้ถือเอาปี ค.ศ. 1665 เป็นปีเริ่มต้นการศึกษาคาทอลิกอย่างเป็นทางการในประเทศไทย เพราะเป็นปีที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงพระราชทานที่ดินแก่มิชชันนารี เพื่อสร้างโรงเรียน ณ บางปลาเห็ด และยังได้อนุญาตให้ลูกหลานชาววังไปเรียน ณ ที่นั้นในปีดังกล่าวด้วย

     ดังนั้น ปี ค.ศ. 2001 จึงเป็นปีแห่งการฉลองครบรอบ 336 ปี ของการศึกษาคาทอลิกในประเทศไทย ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2002 ทั้งนี้เพื่อให้ตรงกับการฉลองครบรอบ 50 ปี ของการจัดตั้งองค์การการศึกษาคาทอลิกนานาชาติ หรือ O.I.E.C. อันมีสถานภาพรับรองโดยศาสนจักร และองคืการ UNESCO  แห่งสหประชาชาติ


บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 20 ต.ค. 07, 21:26

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องทั่วๆไป ของจังหวัดจันทบุรีเขาน่ะ ยิ้ม ยิ้ม

ผลไม้สมัยอยุธยา
อ้างอิงแหล่งข้อมูล http://lcc-th.com/anniversary/fo.htm
     สมัยปัจจุบัน คนไทยเรามีผลไม้รับประทานกันมากมายและมีรับประทานกันทั้งปี จนแทบจะไม่มีผลไม้ตามฤดูกาลกันแล้ว ฤดูไหนอยากกินอะไรก็ได้กิน  อย่าว่าแต่คนไทยจะได้กิน  อย่างอุดมเลย แม้แต่ต่างชาติก็บินมากินอย่างสมบูรณ์เช่นกัน
     ผลไม้ไทยเป็นผลไม้ที่มีชื่อมากที่สุดในโลก รสชาติอร่อยเป็นที่ยอมรับ จากการที่ได้ระหกระเหินเดินทางไปหลายประเทศ ได้พบได้เห็นว่าคนต่างชาติ โดยเฉพาะชาวตะวันตก และอเมริกันชนต่างคลั่งไคล้ในรสชาติของผลไม้ไทยมาก โดยเฉพาะกล้วยหอมทอง มะม่วง และมังคุด นี่ยังมิพักต้องกล่าวถึงความคลั่งไคล้ผลไม้ไทยของเพื่อนบ้านชาวเอเชียด้วยกัน
     ที่อเมริกา เขาเคยเจอแต่กล้วยลาโกสจากไนจีเรีย ลูกยาวเกือบแขน เม็ดเป็นกระบุง กินไปพ่นเม็ดไปจนปากเปื่อย พอมาได้ลิ้มรสกล้วยหอมไทย หลงไหลแทบเป็นบ้าเป็นหลัง มะม่วงก็     เช่นกัน เคยเจอแต่มะม่วงฟิลิปปินส์ หวานนั้นหวานดีอยู่หรอกแต่ไม่หอม และที่สำคัญเสี้ยนในเนื้อยังกับขนเม่น จั๊กกะจี้ลิ้นอย่าบอกใคร อย่างนี้เมื่อมาเจอน้ำดอกไม้ไทยและอกร่องบ้านเรา จะไม่ให้หลงสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกได้อย่างไร
     แม้แต่ส้มก็เถิด แคลิฟอร์เนียได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งสวนส้ม ใครไปแคลิฟอร์เนียแล้ว  ไม่ได้แวะเยือนสวนส้ม ถือว่าไม่ถึงแคลิฟอร์เนียเลยทีเดียว แต่ขอโทษ คนอเมริกาพอมาพบ ส้มเขียวหวานเมืองไทยหรือส้มสายน้ำผึ้งเมืองฝางเป็นต้องกระโดดใส่ เพราะรสชาติกลมกล่อม   ชื่นใจ ไม่ใช่ผิวสวย ลูกใหญ่แต่เปรี้ยวแทบกระโดดอย่างส้มบ้านเขา
     เราภาคภูมิใจว่าผลไม้บ้านเราอร่อยที่สุดในโลก  ใครๆก็ยอมรับในระดับสากล และมิใช่เพิ่งจะมายอมรับ แต่ยอมรับกันมานานแล้ว นานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ดังหลักฐานปรากฏ

คนฝรั่งกับผลไม้อยุธยา

     ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้มีมิชชั่นนารีชาวฝั่งเศสเดินทางเข้ามาเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์   ในราชอาณาจักรสยาม นำโดยท่านสังฆราชลัมแบรต์ เดอลาม็อต ท่านและคณะได้พำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยายาวนานถึง 16 ปี ทั้งนี้เพื่อแพร่ธรรมคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้าให้กับประชาชน   ในดินแดนแถบตะวันออกไกล อันมีจีน  เวียดนาม  ลาว  กัมพูชาและสยาม

     ในครั้งนั้น บาทหลวงในคณะของท่านได้บันทึกเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆในกรุงศรีอยุธยาไว้อย่างละเอียดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมของชนชาวสยาม ในตอนหนึ่งของบันทึกท่านได้เล่าถึงเรื่องผลไม้ในกรุงศรีอยุธยาไว้อย่างเห็นภาพ ดังนี้

      “กรุงศรีอยุธยามีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ผลไม้มีมากมายหลายชนิด รสชาติดีมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุเรียน เป็นผลไม้ที่แปลกประหลาด ลูกกลม ผิวเป็นหนาม เปลือกหนา กินเนื้อในลำบาก ธรรมชาติจึงสร้างให้ทุเรียนแตกออกเองเมื่อหล่นถึงพื้น แต่ถึงจะแตกออกเอง ก็ยังต้องอาศัยแรงคนแงะออกอยู่ดี เนื้อในมีสีขาวนวลดังปุยหิมะ รสหวานอร่อย แต่มีกลิ่นเหม็นคล้ายแอปเปิลเน่า กินแล้วจะร้อนมาก เมื่อคนต่างชาติกินแล้วจะต้องไปอาบน้ำเพื่อคลายร้อน”

     จากบันทึกนี้ ทำให้เราทราบว่า ในสมัยอยุธยานั้น ทุเรียนก็เป็นขวัญใจของนักทานผลไม้  ทุกคนแล้ว ไม่เว้นแม้กระทั่งฝรั่งต่างชาติ ขนาดบอกเองว่าเหม็นเหมือนแอปเปิลเน่า ยังบอกรสชาติ  ดีมาก และทำให้ทราบว่าทุเรียนที่ฝรั่งคนนั้นกินต้องไม่ใช่พันธุ์หมอนทองแน่เลย หมอนทองอะไรจะเนื้อขาวยังกับปุยหิมะ อันที่จริงต้องถามว่าทุเรียนอะไร เนื้อขาวยังกับปุยหิมะ มีด้วยหรือ?

     แต่เรื่องจริงในเรื่องกินทุเรียนแล้วร้อนมาก เพราะเนื้อทุเรียนมีพลังงานสูง มีสารหลายตัว   ที่ให้ความร้อน คนไม่เคยกิน มาเจอรสหวานอร่อย กินไม่บันยะบันยัง ถึงกับร้อนทุรนทุรายเอาเลย ฉะนั้นกินทุเรียน พึงกินครั้งละน้อยๆ แต่กินบ่อยๆไม่ว่ากัน แล้วเรื่องกินทุเรียนแล้วอาบน้ำดับร้อน อย่างที่บันทึกเขาว่า ก็ให้ระวัง กินทุเรียนแล้วแช่น้ำพอได้ แต่อย่าเผลอกินเหล้าเข้าไป กินเหล้า       ตามด้วยทุเรียนแล้วไปนอนแช่น้ำ มีตายมาแล้ว ห้ามเด็ดขาด

     ผลไม้ชนิดต่อไปที่ฝรั่งชื่นชอบคือขนุนและส้มเขียวหวาน  ฝรั่งบันทึกไว้ว่า ขนุนมีอยู่ทั่วไปตามเรือกสวนไร่นาของประชาชน เนื้อเป็นสีเหลืองเหมือนสีลูกพีช มีน้ำนมสีขาวข้น (ยางเหนียว)แต่ยุ่ยเละ รสชาติหวานอร่อย กินมากแล้วจะถ่ายท้องได้ คนกินต้องระวัง อันนี้เป็นเรื่องจริง      เพราะขนุนที่ว่านี้เป็นขนุนโบราณ มีลักษณะคล้ายขนุนป่า หรือจำปาดะของทางภาคใต้ หรือทางตะวันออกยังมีสืบชื้อพันธุ์มาจนถึงทุกวันนี้ เรียกว่า “ขนุนละมุด” เนื้อเละ กลิ่นหอมเอียน             รสหวานแหลม ใครไม่เคยกิน เผลอกินเข้าไปมากๆ ถ่ายท้องก้นเปื่อยได้เหมือนกัน

     บันทึกของบาทหลวง ยังระบุไว้อีกด้วยว่า นอกจากจะใช้กินอร่อยแล้ว เส้นหุ้มเนื้อ (ซัง) ของขนุนยังใช้ทำยาได้อีก และเนื้อไม้ขนุนมีสีเหลืองสวยงาม

     ในส่วนของส้ม บันทึกบอกว่า คนกรุงศรีอยุธยานิยมกินส้มกันมาก เป็นส้มผลสีเขียวอมเหลือง เปลือกบางและหอม รสชาติดี ดีกว่าส้มของทางตะวันตก  ลูกไม่ใหญ่นักมีรสหวานอมเปรี้ยว กินแล้วชื่นใจ

     นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงผลไม้อย่างอื่นอีกหลายชนิด เช่นมะม่วง มะพร้าว และหมาก   มะม่วงนั้น บันทึกระบุว่า เกิดเป็นป่าใหญ่ ลำต้นสูง มะม่วงหล่นจะหวาน แต่เนื้อหยาบกระด้าง     แต่คนสยามนิยมเก็บมะม่วงที่ยังไม่สุกมาบ่มให้สุก ซึ่งจะได้มะม่วงเนื้อหวานสีเหลือง นุ่ม หอม   และอร่อยมาก  ตามป่ามะม่วง จะมีนกและค้างคาวมาพักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งเสียงร้อง       กัดและจิกตีกันอยู่อลหม่าน เป็นที่ให้เด็กๆได้วิ่งเล่นและขว้างปา

     มะพร้าวจะถูกเปรียบเปรยดังคล้ายลูกนัท มีเนื้อขาวนวล แน่นและมีรสชาติมัน ขบเคี้ยวเป็นของกินเล่น มีน้ำรสชาติหวานอมเปรี้ยว ดื่มตอนอากาศร้อนให้ความสดชื่น ฝรั่งไม่ได้กล่าวถึงกะทิ แสดงว่าฝรั่งไม่เคยเห็นวิธีการคั้นกะทิมาปรุงอาหาร เพราะตามบันทึกห้องเครื่องสมัยโบราณ        ได้มีการกล่าวถึงการนำกะทิมาคั้นทำกับข้าวมานานแล้วทั้งในครัวราษฎรสามัญและห้องเครื่อง  พระเจ้าแผ่นดิน    ดังบันทึกตอนหนึ่งกล่าวว่า “…..เทกะทิมะพร้าวลงในหม้อดิน จึ่งคนวนรอบๆ พอแตกมัน ปิดฝาทิ้ง  พอหอมจึ่งเอาเกลือลง….”

     ในส่วนของหมาก บันทึกของบาทหลวงระบุไว้ชัดเจนว่า เป็นของกินยอดนิยมของชาว   กรุงศรีอยุธยาทั้งหญิงและชาย และเป็นผลไม้ที่มีความหมายในทางสมาคมมากกว่าชนิดอื่น ชายหญิงชาวสยามนิยมกินหมากด้วยกันทุกคน และนิยมให้หมากแก่กัน อันเป็นการแสดงถึงความปรารถนาดีและเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น หากชาวสยามไม่ว่าหญิงหรือชาย     ให้หมากแก่ผู้ใดแล้ว ให้รีบรับไว้ และแสดงอาการขอบคุณโดยทันที มิฉะนั้นจะเสียไมตรีในทันใด

     สมัยนี้ คนไทยก็นิยมกินหมากกันเหมือนกัน แต่เป็นหมากฝรั่ง เห็นเคี้ยวกันหนืดๆทุกผู้    ทุกคน ไม่ว่าเด็ก วัยรุ่นหรือคนมีอายุ ใครส่งให้ก็เอาเหมือนกัน ไม่ได้กลัวจะเสียไมตรีหรอก แต่กลัวจะอดมากกว่า

     นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างความยิ่งใหญ่ของผลไม้ไทยตั้งแต่สมัยอดีต ผลไม้ไทยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับมาหลายร้อยปี และยังเป็นที่ยอมรับกันมาจนถึงทุกวันนี้ ยิ่งในปัจจุบันมีการปรับปรุงพันธุ์เพื่อเพิ่มคุณภาพและรสชาติเข้าไปด้วย ยิ่งทำให้ผลไม้ไทยเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรจะลืมผลไม้โบราณไปเสียทั้งหมด ควรช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์ไม้โบราณไว้บ้าง อย่างน้อย   ก็เพื่อให้ให้ลูกหลานในอนาคตได้รู้จัก ได้เห็นพันธุ์ไม้ที่เป็นรากฐานและเหง้าแห่งความเป็นตัว   เป็นตนของวัฒนธรรมไทยในครั้งอดีต  เขาจะได้สำนึกดี เพราะถ้าคนไทยสำนึกดีเสียแล้ว คงไม่มีใครบ้าระห่ำและบ้าจี้พอที่จะทำลายชื่อเสียงผลไม้ไทยป่นปี้ด้วยการตัดทุเรียนอ่อนไปหลอกขายเอาสตางค์คนต่างประเทศอย่างเช่นทุกวันนี้หรอก
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 20 ต.ค. 07, 23:15

ผลไม้ตามฤดูกาล


เข้าใจว่าปัจจุบันนี้ ร้านอาหารทั่วไปใช้คำนี้เป็นศัพท์แสงสวยหรูเรียก
แตงโม มะละกอ และสับปะรดที่หั่นเป็นชิ้นๆเรียงมาในจาน
(ถ้าจะมีเพิ่มอีกหน่อยก็ไม่พ้น เงาะ หรือลิ้นจี่กระป๋อง -ที่ฤดูกาลไหนก็มีกินทั้งนั้น-)



ไว้วันไหนผมไปเจอร้านอาหารที่เสริฟลิ้นจี่สด มะม่วง ลองกอง ลำไย ทุเรียน ฯลฯ
ที่มันเห็นแล้วรู้ว่าเป็นผลไม้ตามฤดูกาลจริงๆแล้วเราไปกินกันมะ คุณ KoKoKo ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 21 ต.ค. 07, 08:52

     จากกระทู้ที่ 5 มีการกล่าวถึงการประชุม Synod หรือสมัชชามิซซังสยาม ที่จัดขึ้นที่อยุธยา ปี ค.ศ. 1664
ผมเลยคิดว่าสมควรเข้าไปแวะชมเวปไซต์ของ Synod เป็นอย่างยิ่ง
ว่าแล้วก็ได้ข้อมูลมาเพิ่มเติม ซึ่งบางตอนจะซ้ำกับข้อมูลจากอัครสังมณฑลกรุงเทพ แต่หลายตอนมีรายละเอียดเพิ่มเติม จึงขอนำมาโพสต์ไว้อีก ตอนไหนอ่านแล้วก็อ่านผ่านๆ ไปครับ  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม

แหล่งข้อมูล http://www.catholic.or.th/synod/synodchurch/index.html

            พระศาสนจักรในประเทศไทย
       ที่มาของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
 
       อรสา ชาวจีน รวบรวม / คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ เรียบเรียง
         เอกสาร : การประชุมสมัชชาอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

 
 
 บทนำ

     การเขียนประวัติศาสตร์พระศาสนจักรในประเทศไทยเริ่มมีมากขึ้น โดยจะแยกเขียนกันออกไปกันคนละแนว หรืออาจจะเป็นแค่เพียงเกร็ดประวัติศาสตร์ก็ได้ การเขียนประวัติศาสตร์พระศาสนจักรฉบับย่อครั้งนี้ ผู้เขียนมีความมุ่งมั่นที่จะให้ข้อมูลมีความถูกต้องมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีแหล่งที่มาของข้อมูลบางแหล่งที่ผู้เขียนเห็นว่า มีประโยชน์ก็จะนำมาลงไว้ประกอบด้วย เวลาเดียวกันมีแหล่งข้อมูลมากมายที่ผู้เขียนจะไม่ลง ณ ที่นี้ เพราะเห็นว่าจะทำให้เนื้อหาที่เป็นที่ยอมรับแล้วต้องยืดยาวออกไป ฉบับย่อก็จะไม่ย่อจริง นอกจากนี้ยังมีศัพท์อีกหลายคำที่อาจจะยากต่อการทำความเข้าใจสักหน่อย ผู้สนใจสามารถสอบถามหรือหาอ่านได้จากหนังสือต่าง ๆ ที่พิมพ์ออกมาบ้างแล้ว  เช่นในสารอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ หรือในประวัติพระศาสนจักรในเมืองไทย ที่วิทยาลัยแสงธรรมได้จัดพิมพ์ขึ้นมา ดังนั้น ในหัวข้อแรกเรามีแหล่งข้อมูลให้อยู่บ้าง แต่ในหัวข้อที่ 2 และที่ 3 จะไม่มีเลย ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

จุดประสงค์อีกประการหนึ่งคือ ในปี 1990 นี้ พระศาสนจักรในเมืองไทยเฉลิมฉลอง 25 ปี แห่งการสถาปนาพระฐานานุกรมในประเทศไทย ( 1965  - 1990 ) บทความเรื่องนี้จึงน่าจะสอดคล้องกับงานเฉลิมฉลองดังกล่าว ทั้งยังจะทำให้ ซาบซึ้งถึงเรื่องราวของพระศาสนจักรในประเทศไทยอย่างถูกต้องด้วย

1.การเข้ามาครั้งแรกของคำสอนคริสตัง

     อาจารย์บุญยก ตามไทย เขียนไว้วารสารศิลปวัฒนธรรมปีที่ 5 ฉบับที่ 9 เกี่ยวกับเรื่องการเข้ามาของชาวโปรตุเกสในประเทศสยามไว้อย่างน่าสนใจ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า “ มีเกร็ดประวัติศาสตร์บันทึกโดยฝรั่งว่า เมื่อ พ.ศ. 2087 ( 1544 ) อันโตนิโอ เด ปายวา ( Antonio de Paiva ) ชาวโปรตุเกส ได้เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินพระชัยราชาธิราช และมีโอกาสได้เข้าเฝ้าและสนทนาเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนากับพระองค์จนเลื่อมใส และพระองค์ทรงประกอบพิธี Baptise ( พิธีล้างบาป ) ได้รับพระราชทินนามเป็นภาษาโปรตุเกสว่า Dom Joao ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์พิเศษอย่างยิ่ง”(1) เรื่องนี้แม้จะไม่มีใครสามารถรับรองได้ว่าเป็นความจริงด้วยเหตุผลบางประการ แต่หากว่าเราติดตามเรื่องนี้ให้ดีก็น่าคิดอยู่เหมือนกัน เพราะว่าหนังสือประวัติศาสตร์ไทยบางฉบับได้วงเล็บการสิ้นพระชนม์ของพระชัยราชาว่า ถูกลอบวางยาพิษ สิ้นพระชนม์ นอกจานี้ในหนังสือ Documenta Indica ซึ่งมีอยู่ 2 เล่ม รวมทั้งฝรั่ง นักศึกษาบางท่านได้ให้หลักฐานที่บอกไว้อย่างชัดเจนว่า คนที่ชื่อ อันโตนิโอ เด ปายวา ได้โปรดศีลล้างบาปให้กษัตริย์ไทย ตั้งชื่อให้ด้วยว่า Dom Joao (2) หรือนักบุญยวง ที่เราเรียกกัน เราคงตามเรื่องนี้ต่อไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว

     ต่อมาประเทศสยามเกือบจะได้รับเกียรติจากท่านนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ เมื่อท่านได้เขียนจดหมายถึง 4 ฉบับ ถึงเพื่อนของท่านที่มะละกา แสดงเจตจำนงว่าต้องการเดินทางไปประเทศจีน โดยจะต้องมาผ่านที่ประเทศสยาม ในปี 1552 (3) แต่ที่สุดแล้ว ท่นก็ไม่ได้มา เพราะท่านเสียชีวิตในปีนั้นเอง

     อันที่จริงก่อนหน้านี้ มีความเป็นไปได้เหมือนกันที่จะมีมิสชันนารีชาวโปรตุเกส บางท่านติดตามเรือของคณะทูตที่ถูกส่งมาประเทศสยาม หลังจากที่ อาโฟโซ ดาลบูเคอร์ค ( Afoso Dalboquerque ) ได้ยึดมะละกาได้ในปี 1511 เพราะตามปกติในสมัยนั้น ตามเรือล่าอาณานิคมของโปรตุเกสมักจะต้องมีพวกมิสชันนารีติดตามไปด้วย แต่พยายามหาหลักฐานที่แน่นอนเท่าไร ก็ไม่พบเลย จึงเป็นได้แค่ข้อสันนิฐานเท่านั้น จนกว่าจะมีหลักฐานที่แน่ชัด

     หลักฐานที่เราพบแน่ชัดชี้ให้เราเห็นว่า คณะมิสชันนารีคณะแรกที่เข้ามาเมืองไทยนั้น ได้แก่ มิสชันนารีดอมินิกัน 2 ท่าน คือ คุณพ่อเยโรมิโน ดาครู้ส ( Jeronimo da Cruz ) และคุณพ่อเซบาสติอาว ดา กันโต ( Sebastiao da Canto ) ชื่อของท่านทั้งสองนี้ไม่มีปัญหาอะไร เพราะจากหนังสือต่าง ๆ ได้ให้ชื่อไว้ตรงกัน แต่ปีที่ท่านเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยานั้นมีปัญหากันอยู่ว่า เป็นปีใด หนังสือต่าง ๆ หลายเล่มเขียนไว้ว่า ปีที่มิสชันนารีทั้งสองเข้ามาในเมืองไทยนั้นได้แก่ปี 1567 เอกสารของคณะดอมินิกัน ที่ผู้เขียนได้ไปค้นคว้ามา ได้พูดไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นปี 1567 รวมทั้งประวัติของคณะดอมินิกันที่พูดถึงเรื่องนี้ก็ได้ระบุปีไว้ว่าเป็นปี 1567 จึงไม่น่าที่จะสงสัยกันอีกต่อไปว่า เรื่องราวของท่านทั้งสองยังสอดคล้องกับปีนี้ได้ด้วย คุณพ่อเยโรนิโมถูกฆ่าตายเพราะความอิจฉาของกลุ่มคนบางกลุ่ม ในขณะที่คุณพ่อเซบาสตีอาวถูกทำร้ายบาดเจ็บ แต่คุณพ่อได้ทูลขอพระกรุณาจากพระมหากษัตริย์ให้ยกโทษผู้กระทำผิดต่อท่านทั้งยังได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตให้นำเอามิสชันนารีมาเพิ่มเติม ซึ่งในที่สุดก็มีมิสชันนารีใหม่มาอีก 2 ท่าน พม่าบุกเข้าทำลายกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกในปี 1569 ซึ่งจากหลักฐานของ ดาซิลวา ( Da Silva ) บอกว่าคุณพ่อทั้งสามได้ถูกพม่าฆ่าตายขณะที่กำลังที่กำลังสวดภาวนาพร้อมกันในวัดของท่าน (5) ดังนั้นปีที่เราน่าจะถือว่าเป็นปีทางการที่คำสอนคริสตังเข้ามาในประเทศสยามน่าจะเป็นปี 1567 หลังจากนี้มิสชันนารีคณะดอมินิกันและฟรังซิสกันก็ทยอยกันเข้ามาในประเทศสยามเป็นระยะ ๆ  มีทิ้งช่วงอยู่บ้างหลังตอนคณะฟรังซิสกันก็เริ่มเข้ามาครั้งแรกในปี 1582 (6) เนื่องจากยังไม่มีผู้ใดศึกษาอย่างละเอียด เกี่ยวกับการแพร่ธรรมของมิสชันนารีทั้งของคณะดอมินิกันและคณะฟรังซิสกันในเมืองไทย หลักฐานของคณะเองจึงเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือมากที่สุด

     มิสชันนารีที่เข้ามาในเมืองไทยอีกคณะหนึ่ง ได้แก่ คณะสงฆ์เยซูอิต ซึ่งกำลังทำการแพร่ธรรมอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของโลกอย่างขยันขันแข็ง และได้ผลดียิ่งจนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก คุณพ่อองค์แรกที่เข้ามาเมืองไทย ได้แก่ คุณพ่อบัลทาซาร์ เซกีรา ( Balthasar Segueira ) ซึ่งเขามากรุงศรีอยุธยาระหว่างวันที่  16-26 มีนาคม 1607 (7) ต่อมาก็ค่อย ๆ มีพระสงฆ์เยสุอิตทยอยกันเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาเรื่อย ๆ จนในที่สุดได้มีการจัดสร้างที่อยู่อย่างถาวร วัด โรงเรียน และวิทยาลัยซึ่งมีชื่อว่า ซานซัลวาดอร์ ( San Salvador) ขึ้นในเมืองไทย  โดยส่วนใหญ่พวกมิสชันนารีเยสุอิตนี้จะทำงานกับชาวญี่ปุ่นที่มีค่ายของตนอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกับชนชาติอื่น ๆ ในสมัยนั้นงานแพร่ธรรมของพวกท่านได้ถูกบันทึกโดยมิสชันนารีและมีการจัดพิมพ์เป็นหนังสือขึ้นมาหลายเล่ม น่าสนใจมาก แต่งานแพร่ธรรมก็มีอุปสรรคอยู่เสมอ และเนื่องจากพวกเยสุอิตมีบทบาทสำคัญอยู่ทั่วไปในขณะนั้น อุปสรรคดูเหมือนว่ามีมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 ในปี 1767 แล้ว พวกมิสชันนารีต่างๆ เหล่านี้ก็ขาดระยะการทำงานไป [8]


บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 21 ต.ค. 07, 08:54

2. จุดเริ่มต้นของพระศาสนจักรในเมืองไทย

     มีเหตุผลบางประการที่ทำให้ต้องแยกเรื่องราวนี้ออกจากการเข้ามาครั้งแรกของคำสอนคริสตังในเมืองไทย การเข้ามาของมิสชันนารีที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้ามาอภิบาลชนชาติของตนเองที่อยู่ในเมืองไทย ทั้งการเข้ามาก็ขาดระยะ ไม่ต่อเนื่อง จุดมุ่งหมายหลักของพวกนี้จึงเป็นแค่เพียงให้สยามเป็นทางผ่าน เพราะการปกครองของคนไทยไม่เบียดเบียนศาสนาอื่น ทางผ่านนี้ เพื่อมุ่งหน้าไปทำงานที่ประเทศอื่น ๆเช่น โคจินเจีย,ตังเกี๋ย , จีน , กัมพูชา , ลาว อีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อคณะสงฆ์คณะใหม่เข้ามาในเมืองไทย ได้แก่ คณะสงฆ์พื้นเมืองมิสซังต่างประเทศ แห่งกรุงปารีส ( M.E.P.) ได้มีพระสังฆราชเข้ามาด้วยเพื่อทำหน้าที่ปกครองและยังได้เป็นผู้ก่อตั้งมิสซังสยามขึ้นมาอย่างเป็นทางการ โดยขออนุญาตจากทางกรุงโรม ทำให้มิสซังสยามเป็นมิสซังแรกของการทำงานของคณะนี้ด้วย สงฆ์คณะนี้จึงมีความสำคัญและมีบทบาทอย่างต่อเนื่องในมิสซังสยามนี้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบทความนี้เพียงแต่ต้องการสรุปเหตุการณ์ที่สำคัญ ๆ เท่านั้น จึงยังไม่ได้ให้รายละเอียดทั้งหมดไว้

     บรรดามิสชันนารีคณะดอมินิกัน , ฟรังซิสกัน หรือเยสุอิตก็ตาม ต่างเข้ามาในสยามในฐานะมิสชันนารีที่ถูกส่งมาโดยกษัตริย์ของโปรตุเกสและสเปน เพราะทั้งสองประเทศนี้ได้รับอภิสิทธิ์จากพระศาสนจักรที่จะเข้าครอบครองดินแดนใหม่ ๆ และอภิสิทธิ์ที่จะเป็นผู้รับผิดชอบแต่ผู้เดียวของการเผยแพร่พระวรสาร ซึ่งเรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า อภิสิทธิ์ ปาโดรอาโด ( Padroado ) ต่อมาพระศาสนจักรเห็นว่าอภิสิทธิ์นี้ให้สิทธิ์ในการเผยแพร่พระวรสารซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงและสำคัญมากนี้ของพระศาสนจักรลดน้อยลงและมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างมาก จึงได้ตัดสินใจก่อตั้งสมณกระทรวงว่าด้วยการเผยแพร่ความเชื่อ หรือที่เรียกันง่าย  ๆว่า โปรปากันดา ฟีเด  ( Propaganda Fide ) ขั้นในปี 1662  เพื่อรับหน้าที่การแพร่ธรรมโดยตรง โดยพยายามอย่างเต็มที่ที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประเทศโปรตุเกสและสเปนด้วย ประกอบกับเวลานั้นมีพระสงฆ์คณะเยสุอิตที่ชื่อ อเล็กซานเดอร์ เดอ โรดส์ ( Alexandre de Rhodes ) ได้ขอให้จัดส่งพระสังฆราชไปตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อบวชพระสงฆ์พื้นเมืองขึ้นทำงาน ในที่สุดด้วยความร่วมมือและช่วยเหลือของคนหลาย ๆ คน คณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสได้ถูกก่อตั้งขึ้น (9)

     โปรปากันดา ฟีเด ได้จัดส่งพระสังฆราชชุดแรก 3 องค์ จากสงฆ์คณะนี้เดินทางมาทำงานในฐานะผู้แทนองค์พระสันตะปาปาในภูมิภาคตะวันออกไกลเป็นชุดแรก พระสังฆราชแต่ละองค์ถูกกำหนดให้เป็นผู้แทนองค์พระสันตะปาปาของประเทศจีน , โคจินเจีย , ตังเกี๋ย เป็นหลัก แต่ประเทศเหล่านี้กำลังมีการเบียดเบียนศาสนา พระสังฆราชจึงต้องหยุดรอคอยโอกาสอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นดินแดงที่สงบเงียบ แน่นอนที่สุดว่าการเข้ามาของพระสังฆราชเหล่านี้ ย่อมทำให้พวกมิสชันนารีที่มาจากสิทธิพิเศษของปาโดรอาโดไม่พอใจ และไม่รับปัญหาที่ตามมาซึ่งมีอยู่เสมอ ๆ ในทุกดินแดนของโลกด้วย

     พระสังฆราช ลังแบร์ต เดอ ลาม็อต เป็นพระสังฆราชองค์แรกที่เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 1662 พร้อม ๆ กับคุณพ่อยัง เดอ บูร์ช ( Jean de Bourges ) , คุณพ่อเดดีเอร์ ( deydier ) อีก 2 ปีต่อมา พระสังฆราช ฟรังซัวส์ ปัลลือ ( Francois Pallu ) พร้อมๆ กับ คุณพ่อลาโน ( Leaneau ) คุณพ่อ แฮงค์ ( Hainques ) คุณพ่อแบรงโด ( Brindeau ) และฆราวาสผู้ช่วยคนหนึ่งชื่อ เดอ ชา แมสซอง ฟัวซี ( De Chamesson Foissy ) เดินทางมาถึงสยามเช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 27 มกราคม 1664 หลังจากได้ปรึกษาหารือกันแล้วเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศที่ท่านต้องเดินทางไปรับผิดชอบทุกท่านเห็นว่า ให้อยู่รอคอยโอกาสที่ดีกว่าในประเทศสยามนี้ การปกครองของสยามก็ไม่เบียดเบียนศาสนาอื่น ทั้งหมดจึงตัดสินใจอยู่ในสยามเพื่อทำงานแพร่ธรรมทันที เมื่อพวกท่านมาถึงกรุงศรีอยุธยานั้น มีพระสงฆ์มิสชันนารีชาวโปรตุเกส 10 องค์ , ชาวสเปน 1 องค์  อยู่ในสยามและมีคริสตชนทั้งหมดประมาณ 2,000 คน

     พวกท่านจึงได้จัดการสัมมนาที่เรียกว่า ซีโน้ด ( Synod ) ขึ้นที่อยุธยา การประชุมต่างๆ ได้ตกลงวางแผนการทำงานกัน ดังสรุปได้ดังนี้

     1.วางแผนที่จะก่อตั้งคณะนักบวชแห่งอัครสาวกขึ้น อันประกอบไปด้วย นักบวชชาย – หญิง รวมทั้ง ฆราวาส โดยจะตั้งชื่อว่า คณะรักไม้กางเขนแห่งพระเยซูคริสต์ ( Amateurs de La Croix de Jesus Christ ) แผนนี้ได้รับการปฏิบัติเฉพาะบางส่วนเท่านั้น คือ มีการก่อตั้งคณะนักบวชหญิงพื้นเมืองคณะแรกของโลกขึ้น คือ คณะรักไม้กางเขน ผลของคณะนี้เรายังคงสามารถเห็นได้จากคณะนักบวชพื้นเมืองของสังฆมณฑลต่างๆ ในประเทศไทย

     2.ตัดสินใจที่จะจัดพิมพ์คำสั่งสอนที่โปรปากันดาฟีเด ได้จัดส่งให้บรรดาผู้แทนพระสันตะปาปาเหล่านี้ ก่อนที่จะออกเดินทางโดยเฉพาะคำสั่งที่ออกมาในปี1659 ซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักศึกษา นอกจากนี้ ยังออกคำสั่งแก่บรรดามิสชันนารีอีกหลายฉบับด้วย

     3.ตกลงใจที่จะก่อตั้งบ้านเณร เพื่อผลิตพระสงฆ์พื้นเมืองอันเป็นเป้าหมายแรกที่พวกท่านมาที่นี่

     การทำงานในประเทศสยามตามโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ ประสบผลเป็นอย่างดีด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระเจ้าแผ่นดินและข้าราชการสยาม ประกอบด้วยสยามอยู่ในทำเลที่เหมาะสม ความเจริญทางด้านศาสนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พระสังฆราชปัลลือ และพระสังฆราชลังแบร์ต เดอ ลาม็อต เห็นว่า หากพวกท่านไม่สามารถมีอำนาจปกครองดูแลท้องถิ่นได้อย่างเป็นทางการนี้แล้ว ( Jurisdiction ) ปัญหาการไม่ยอมรับอำนาจปกครองนี้ก็เกิดขึ้นกับบรรดามิสชันนารีที่ขึ้นต่อสิทธิพิเศษของโปรตุเกส และสเปน พวกท่านจึงได้ขอทางกรุงโรมให้มีอำนาจการปกครองเหนือสยาม หลังจากที่กรุงโรมได้พิจารณาเรื่องนี้อยู่นานด้วยความรอบคอบ โรมก็ได้ตั้งมิสซังสยามขึ้นด้วยความรอบคอบ โรมก็ได้ตั้งมิสซังสยามขึ้นด้วยความรอบคอบ โรมก็ได้ตั้งมิสซังสยามขึ้นด้วย เอกสารทางการที่ชื่อว่า “Speculatores” ของวันที่ 13 กันยายน 1669 ผู้แทนพระสันตะปาปาผู้ทำหน้าที่ดูแลมิสซังใหม่นี้ ได้แก่ พระสังฆราชลาโน ได้รับแต่งตั้งและอภิเษกเป็นพระสังฆราชโดยพระสังฆราชทั้งสอบข้างต้นนั้น ในวันที่ 25 มีนาคม 1674 พระสังฆราชลาโนจึงเป็นพระสังฆราชองค์แรกของมิสซังสยามของเรา

     มิสซังสยามเจริญก้าวหน้าขึ้นมากในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ( 1657 -1688 ) พระองค์เปิดประเทศให้ชาวตะวันตกและให้อิสรภาพในการเผยแพร่ศาสนาแก่บรรดามิสชันนารี ทั้งนี้เพราะเป็นนโยบายทางการเมืองที่จะเหนี่ยวรั้งอิทธิพลของชาติต่างๆ ๆ ที่พวกมิสชันนารีฝรั่งเศสเหล่านี้ได้ทำ เช่น การก่อตั้งบ้านเณรหรือวิทยาลัยกลางขึ้นในปี 1665 บ้านเณรนี้ได้เจริญเติบโตขึ้นแม้จะมีการย้ายสถานที่อยู่หลายครั้ง จนในที่สุดไปอยู่ที่ปีนัง แต่ก็นับว่า เป็นผลงานที่มีคุณค่าที่สุด เป็นเสมือนหัวใจของงานแพร่ธรรมไปตามสถานที่และเมืองต่างๆ  สมเด็จพระนารายณ์ให้การสนับสนุนพวกมิสชันนารีมาก จนเกิดมีความเข้าใจผิดขึ้น พระเจ้าหลุยส์ , คุณพ่อเยสุอิตที่ชื่อ กีต์ตาชาร์ด รวมทั้งทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส เข้าใจว่า สามารถทำให้พระนารายณ์เปลี่ยนใจได้ และชนทั้งชาติก็จะกลับใจเชื่อด้วย เรื่องนี้เป็นที่รู้จักในระหว่างขุนนางด้วย ประกอบกับขุนนางไทยเริ่มหวั่นเกรงว่าอิทธิพลของขุนนางฝรั่งชาติกรีกคนหนึ่งที่ชื่อ คอนแสตนติน ฟอลคอน ( Constantine Phalcon ) ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มาก จนได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาวิไชเยนทร์ มีอำนาจแม้กระทั่งคุมทหารได้ จะทำให้ความมั่นคงของประเทศสั่นคลอน พระเพทราชาจึงทำรัฐประหารขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ ขับไล่พวกฝรั่งเศสออกจากประเทศ รวมทั้งได้เบียดเบียนศาสนาของชาวฝรั่งเศส นั่นคือ เบียดเบียนมิสชันนารีและผู้ที่ถือศาสนา เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในระหว่างปี 1688 – 1690 หลังจากนั้นไม่นานพระเพทราชาเมื่อเห็นว่าทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว ก็คืนสมบัติต่างๆ และคืนบ้านเณรให้แก่บรรดามิสชันนารีอีกครั้งหนึ่ง

     เหตุการณ์ต่อมาที่ทำให้การแพร่ธรรมของพวกมิสชันนารีประสบปัญหาอีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าท้ายสระ ( 1709-1733 ) พวกมิสชันนารีถูกห้ามไม่ให้ออกนอกพระนคร ห้ามใช้ภาษาไทยและบาลีในการสอนศาสนา หลักฐานบางชิ้นยังชี้ให้เห็นว่ามีการเบียดเบียนเกิดขึ้นในระหว่างปลายปี 1743 และต้น ๆ ปี 1744 ด้วย จนมาถึงปี 1767 พม่าทำลายกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อศาสนาคริสต์จนทำให้เกือบสิ้นสุดไป

บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 21 ต.ค. 07, 08:55

     ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งเริ่มต้นในปี 1782 สถานการณ์ณ์ต่าง ๆ เริ่มดีขึ้น แม้ว่า พระเจ้าตากสิน ( 1768 -1782  ) จะได้ขับไล่พวกมิสชันนารีออกนอกประเทศด้วยเหตุผลบางประการ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ก็ได้เชิญพวกท่านกลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่นั้นมา งานแพร่รรมก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ แม้จะไม่ส่งผลใหญ่โตแต่ก็ต้องนับว่าเป็นความพยายามที่น่าชมของพระสังฆราชและบรรดามิสชันนารีท่าน ในสมัย พระสังฆราชการ์โนลต์ ( Garnault 1768 -1811 ) ต้องนับว่าเป็นสมัยฟื้นฟูมิสซังสยามโดยแท้ จนทำให้ในปี 1872 พระสันตะปาปาเลโอที่ 12 ได้ให้เขตเมืองสิงค์โปร์ขึ้นอยู่กับอำนาจการปกครองของพระศาสนาจักรแห่งมิสซังสยาม ยิ่งกว่านั้นจะเห็นได้ว่ามิสซังสยามเริ่มขยายตัวมากขึ้นและมีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน พระสังฆราชกูรเวอซี ( Courvezy 1834 -1841 จึงได้เสนอเรื่องถึงโรมให้ทางโรมแต่งตั้งพระสังฆราช ปัลเลอกัว ( Pallegoix ) เป็นพระสังฆราชผู้ช่วยได้รับการอภิเษกวันที่ 3 กรกฎาคม 1838 ต่อมาโดยเอกสารฉบับหนึ่งจากโรมชื่อว่า “Universi Dominici” ของวันที่ 10 กันยายน 1841 โรมได้แบ่งเขตการปกครองในส่วนของประเทศมาเลเซียออกจากส่วนของมิสซังสยาม โดยก่อตั้งเป็น 2 มิสซังแยกจากกัน คือ มิสซังสยามตะวันออก ได้แก่ ประเทศสยามและลาว มีพระสังฆราชปัลเลอกัว เป็นผู้แทนพระสันตะปาปาทำหน้าที่ปกครอง และมิสซังสยามตะวันตก ได้แก่ แหลมมะละยา , เกาะสุมาตรา และพม่าตอนใต้ มีพระสังฆราช กูรเวอซี เป็นผู้แทนองค์พระสันตะปาปา ทำหน้าที่ปกครอง
นับเป็นโชคดีของมิสซังสยาม เพราะพระสังฆราชปัลเลอกัวเป็นผู้ที่มีความรู้สูง มีความสามารถหลายอย่าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นมิตรที่ดีต่อพระเจ้าแผ่นดินคือ สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะต่างก็เคยสอนภาษาให้กันและกัน พระสังฆราชปัลเลอกัวได้นิพนธ์หนังสือเกี่ยวกับเมืองไทย จัดทำพจนานุกรมเป็นภาษาเปรียบเทียบต่างๆ เป็นคนแรก มีคุณค่าอย่างมหาศาลต่อประวัติศาสตร์ของชาวไทย

     ประเทศสยามในสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กำลังอยู่ในระหว่างการปฏิรูปมีการนำความรู้ทางตะวันตกใหม่ ๆ เข้ามาในประเทศ เรียกได้ว่ามีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายประเทศชาติกำลังเจริญก้าวหน้าขึ้น ในสมัยเดียวกันนี้ พระสังฆราชยัง หลุยส์เวย์ ( Jean Louis Vey 1875-1909 ) เป็นผู้ปกครองมิสซังสยาม นอกจากพระสังฆราชเวย์จะมีมิตรภาพที่ดีกับพระเจ้าแผ่นดินและกับทางราชการแล้ว การแพร่ธรรมของมิสซังก็เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมากด้วย ท่านได้เริ่มสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังมีอยู่ในประเทศโดยก่อตั้งโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ได้ก่อตั้งวิทยาลัยและโรงเรียนต่างๆ ได้เชิญคณะนักบวช เช่น คณะแซงต์โม ,คณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ต , คณะเซนต์คาเบรียล เข้ามาช่วยงานในมิสซัง นับเป็นความคิดริเริ่มที่บังเกิดผลมหาศาลต่อมิสซัง การเปลี่ยนแปลงประการหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า มิสซังสยามเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก ได้แก่ การแต่งตั้งมิสซังลาว แยกออกจากปกครองของมิสซังสยามในปี 1889 โดยมีพระสังฆราช กืออาส ( Cuaz ) เป็นผู้แทนพระสันตะปาปา และทำหน้าที่ปกครองดูแลมิสซังใหม่นี้เป็นองค์แรก

     นอกจากนี้ พระสังฆราช เวย์ ยังได้เริ่มบุกเบิกงานแพร่ธรรมไปสู่ส่วนต่างๆ  ของประเทศมากขึ้น ทั้งภาคเหนือ และภาคใต้ งานต่าง ๆ เหล่านี้ได้รับการส่งเสริมอย่างดียิ่งและบังเกิดผลมากขึ้นในสมัย พระสังฆราช เรอเน แปร์รอส ( Rene Perros 1909-1947 ) เรียกได้ว่ามิสซังสยามเจริญก้าวหน้าขึ้นทีละเล็กละน้อยช้า ๆ แต่มั่นคง ในสมัยพระสังฆราชแปร์รอสนี้เอง เขตการปกครองทางราชบุรีได้ถูกแต่งตั้งขึ้นเป็นดินแดนอิสระ และได้มอบให้พระสงฆ์คณะซาเลเซียนเป็นผู้ทำงานในเขตใหม่นี้ในปี 1930 ภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี มิสซังราชบุรีได้รับการยกขึ้นเป็นสังฆรักษ์ ( Apostolic Prefecture ) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 1934 และที่สุดได้รับการยกขึ้นอีกครั้งเป็นมิสซังหรือเทียบสังฆมณฑล เมื่อวันที่ 3 เมษายน 1941 นอกจากนี้ เขตปกครองทางจันทบุรีก็ได้รับการยกขึ้นเป็นมิสซัง หรือเทียบสังฆมณฑล เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 1944
บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 21 ต.ค. 07, 08:59

3. การก่อตั้งพระฐานานุกรมพระศาสนจักรไทย

     ในสมัย พระสังฆราช หลุยส์ โชแรง ( Louis Chorin 1947 – 1965 ) การแบ่งแยกการปกครองเช่นนี้ยังคงมีอยู่ เพราะในปี 1960 เขตการปกครองทางเชียงใหม่ได้รับการยกขึ้นเป็นสังฆรักษ์ การทำงานแพร่ธรรมในสมัยนี้ดีขึ้นมาก เนื่องจากจำนวนมิสชันนารีและพระสงฆ์พื้นเมืองเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งคณะนักบวชต่างๆ  ๆก็เข้ามาช่วยทำงานมากขึ้นด้วย

     พระศาสนจักรในเมืองไทยรุ่งเรืองขึ้นมาก อาศัยความร้อนรน และความขยันขันแข็งของบรรดาพระสังฆราชและมิสชันนารี รวมทั้งพระสงฆ์พื้นเมืองและนักบวชคณะต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะสามารถเจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างดี โปรปากันดา ฟีเด จึงตัดสินใจว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรจะสถาปนาพระฐานานุกรมพระศาสนจักรในประเทศไทย ให้มีฐานะและศักดิ์ศรีเทียบเท่าพระศาสนจักรท้องถิ่นอื่น ๆ  ของประเทศต่าง  ๆในยุโรป ด้วยความสนับสนุนของผู้แทนองค์สมเด็จพระสันตะปาปาประจำประเทศไทย 2 ท่าน ได้แก่ “ฯพณฯ ยอห์น กอร์ดอน และ ฯพณฯ อันเยโล เปโดรนี พระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 ได้สถาปนาพระฐานานุกรมพระศาสนจักรในเมืองไทย เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 1965 โดยแบ่งเขตปกครองออกเป็น 2 แขวงใหญ่ ๆ ( Eccle-siastical Provinces ) ได้แก่แขวงการปกครองของกรุงเทพฯ และแขวงการปกครองของท่าแร่ – หนองแสง โดยมีพระสังฆราชเป็นผู้ปกครองโดยตรง อันมีรายละเอียดพอจะสรุปได้ดังต่อไปนี้

1.แขวงปกครองพระศาสนจักรแห่งกรุงเทพฯ ประกอบด้วย
-อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ มี ฯพณฯ ยวง นิตโดย เป็นอัครสังฆราช มีสังฆมณฑล 3 สังฆมณฑลอยู่ภายในแขวงปกครองนี้ ได้แก่
-1. สังฆมณฑลราชบุรี
-2. สังฆมณฑลจันทบุรี
-3. สังฆมณฑลเชียงใหม่

2.แขวงการปกครองพระศาสนจักรแห่งท่าแร่ – หนองแสง ประกอบด้วย
-อัครสังฆมณฑลท่าแร่ –หนองแสง มี ฯพณฯ มีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ เป็นอัครสังฆราช มีสังฆมณฑล 3 สังฆมณฑลอยู่ภายในแขวงปกครองนี้ ได้แก่
-1. สังฆมณฑลอุบลราชธานี
-2. สังฆมณฑลนครราชสีมา
-3.สังฆมณฑลอุดรธานี

     จะสังเกตได้ว่าบัดนี้ทุก ๆ มิสซังที่มีอยู่ ได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นอยู่ในระดับสังฆมณฑล มีพระสังฆราชของตนเองปกครอง นับว่าเป็นเกียรติต่อพระศาสนจักรในเมืองไทยอย่างมาก เพราะพระศาสนจักรในเมืองไทยได้เฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี  แห่งการสถาปนาพระฐานุกรมนี้ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 1991 ที่บ้านเณรใหญ่แสงธรรม และในแต่ละสังฆมณฑลก็ได้จัดให้มีการเฉลิมฉลองกันเป็นพิเศษอีกด้วย

     ต่อมาไม่นานหลังจากได้รับการสถาปนาพระฐานานุกรมแล้ว สังฆมณฑลนครสวรรค์ก็ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 1967 และอีก2 ปีต่อมาสังฆมณฑลสุราษฎ์ธานี ก็ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 1969 สังฆมณฑลใหม่ทั้งสองนี้อยู่ในแขวงปกครองพระศาสนจักรแห่งกรุงเทพฯ

     ในปี 1973 พระอัครสังฆราช ยอแซฟ ยวง นิตโย หรือ ฯพณฯ ยวง นิตโย ขอลาออกจากหน้าที่ เพราะสุขภาพและความชราภาพ พระอัครสังฆราชองค์ที่ 2 แห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้แก่ ฯพณฯ มีคาแอล มีชัย กิจบุญชู งานของพระศาสนจักรขยายขอบเขตออกไปในทุก ๆ ด้าน ในที่สุด เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 1983 พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ได้แต่งตั้งพระอัครสังฆราช มีชัย กิจบุญชู เป็นพระคาร์ดินัล นำความปลาบปลื้มใจมาสู่คาทอลิกในประเทศไทย เป็นเกียรติและศักดิ์ศรีที่น่าภูมิใจของประเทศชาติด้วยเป็นพระคาร์ดินัลองค์แรกของประเทศไทย

บทสรุป

     ข้อมูลต่าง ๆที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์พระศาสนจักรในเมืองไทยฉบับย่อนี้ได้รับการตรวจสอบแล้วจากหนังสือและเอกสารต่าง ๆ แต่ประวัติพระศาสนจักรนี้มิได้สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่กำลังรอคอยการศึกษาอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวของพระศาสนจักรที่แท้จริงนั้น ก็คือ ประวัติชีวิตคริสตชน เพราะเราทุกคนต่างก็เป็นสมาชิกของพระศาสนจักรเป็นอวัยวะอยู่ในร่างกายเดียวกัน ขอให้ผู้อ่านทุกท่านได้รับประโยชน์ได้รู้จักตนเองจากประวัติชีวิตคริสตชน เพราะเราทุกคนต่างก็เป็นสมาชิกของพระศาสนจักรเป็นอวัยวะอยู่ในร่างกายเดียวกัน ขอให้ผู้อ่านทุกท่านได้รับประโยชน์ ได้รู้จักตนเองจากประวัตินี้ และเกิดความภูมิใจในพระศาสนจักรของเรา หนุนนำให้ความเชื่อของเราเข้มแข็งขึ้น พระดำรัสของพระคริสตเจ้าเป็นจริงเป็นจังมิใช่สำหรับท่านนักบุญเปโตรเท่านั้น แต่สำหรับเราทุกคนด้วย นั่นคือ “ท่านเป็นศิลา และบนศิลานี้เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้” ( มธ. 16,18 )เหตุผลของพระองค์ที่มาเป็นเหตุของเราด้วยคือ “เพราะเราอยู่กับพวกท่านเสมอไปจนสิ้นพิภพ” ( มธ.28,20 )

ปัจจุบันพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยแบ่งการปกครองเป็น 10 สังฆมณฑล ดังนี้

1.อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ มีพระคาร์ดินัล ไมเกิล มีชัย กิจบุญชู เป็นประมุข โดยมีการปกครองดังนี้ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ( บางส่วน ) สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี นครนายก ( บางส่วน ) อยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี นครปฐม

2.สังฆมณฑลจันทบุรี มี พระสังฆราช ลอเรนซ์ เทียนชัย สมานจิต เป็นประมุข โดยมีการปกครองดังนี้ จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี ปราจีนบุรี 1/5 ของจังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก เว้น อำเภอบ้านนา

3.สังฆมณฑลเชียงใหม่ มีพระสังฆราชยอแซฟ สังวาล ศุระศรางค์ เป็นประมุข โดยมีการปกครองดังนี้ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา ลำพูน

4.อัครสังฆมณฑลท่าแร่ –หนองแสง พระอัครสังฆราช ลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน เป็นประมุข โดยมีการปกครองดังนี้ สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร

5.สังฆมณฑลนครราชสีมา มีพระสังฆราชยออากิม พเยาว์ มณีทรัพย์ เป็นประมุข โดยมีการปกครองดังนี้ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ

6.สังฆมณฑลนครสวรรค์ มี พระสังฆราช หลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ เป็นประมุข โดยมีการปกครองดังนี้ สระบุรี ลพบุรี พิจิตร สิงห์บุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก อุตรดิตถ์

7.สังฆมณฑลราชบุรี มีพระสังฆราช ยอห์น บอสโก ปัญญา กฤษเจริญ เป็นประมุข โดยมีการปกครองดังนี้ ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี สมุทรสงคราม

8.สังฆมณฑลสุราษฎ์ธานี มีพระสังฆราช โยเซฟ ประธาน ศรีดารุณศีล  เป็นประมุข โดยมีการปกครองดังนี้ ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎ์ธานี ระนอง ชุมพร พังงา ภูเก็ต สงขลา ปัตตานี ยะลา นครศรีธรรมราช ตรัง กระบี่ นราธิวาส พัทลุง สตูล

9.สังฆมณฑลอุดรธานี มีพระสังฆราช ยอร์ช ยอด พิมพิสาร  เป็นประมุข โดยมีการปกครองดังนี้ อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย เลย

10.สังฆมณฑลอุบลราชธานี มีพระสังฆราช ไมเกิ้ล บุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ เป็นประมุข โดยมีการปกครองดังนี้ อุบลราชธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์

อ้างอิง
1.บุญยกตามไท , โปรตุเกสฝรั่งชาติแรกที่มาติดต่อกับไทย,ในวารสารศิลปวัฒนธรรมปีที่ 5 ฉบับที่ 9 , หน้า 88
2.Documenta Indica I,p .138;Documenta Indica II,p.421;B.TAMTAI Portuguses,the First Farang Contacting with Thai : 470 years of Friendship between Siam and Portugal (in Thai ) ,in Silapa Watanatham (Art and Culture monthly magazine) , Vol V.9 (July 1984 ) 88
3.P.F.ZUBILLAGA,S.J., Cartas Y Escritos de San Francisco Javier,Madrid :Biblioteca de Autores Cristianos ( B.A.C).1953pp.534-546
4.Cf.Monurmenta Ordins Fratrum Praedicatorum Historica,Tomo X Acta Capitulorum Generalium, Vol V ,Romae,1901, pp.149-153; A.Walz. O.P.,Compendium Historiae Ordinis Praedicatiorium,Romae,1948,pp.497
5.A.Da Silva, Documentacao para a Historia das Missoes do Padroado Portugues do Oriente, Lisboa 1952, pp.460-461
6.L.PEREZ, O.F.M .,Origen de Las Missiones Franciscanus en El Extremo Oriente Extracto del “Archivo Ibero Americano,Madrid,1916,pp.109-112 Cf M.de RIBADENEIRA, O.F.M., Historia de Las Islas del Archipielage Filipino Y Reinos de La Gran China,Tartaria,Cochinchina, Malaca, Siam Cambodge Y Japon , Madrid , 1947 , pp.161-182.
7.Cf.J.BRUNAY,S.J.,Notes Chronologiques sur les Mission Jesuits Du Siam au XVII Siecle,in Archivum Historicum Societatis Jesu, XXII (1953) 171
8.ผู้สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับการแพร่ธรรมของมิสชันนารีคณะดอมินิกัน,ฟรังซิสกัน ,เยสุอิต สามารถหาอ่านได้จากห้องเอกสารอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
9.รายละเอียดเกี่ยวกับสมณกระทรวงว่าด้วยการเผยแพร่ความเชื่อและการก่อตั้งคณะสงฆ์ M.E.P. ผู้ที่สนใจหาอ่านได้จากสารอัครสังฆมณฑล เล่ม 1 และ เล่ม 2
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 21 ต.ค. 07, 09:33

ขอบคุณคุณ KoKoKo ที่นำเรื่องน่าสนใจมาให้อ่านครับ

มีข้อสงสัยอีกประการ ถ้าเป็นไปได้ ขอความกรุณาตั้งเป็นกระทู้ใหม่อย่างเอกเทศเลยก็จะดี คือเรื่องชื่อตำแหน่ง และศัพท์เฉพาะในคริสต์ศาสนา ผมเคยเห็นหลายแห่งใช้แตกต่างกันไป เช่น สังฆราช, อุปสังฆราช-มุขนายก, สงฆ์-บาทหลวง, วัด-โบสถ์, คริสตจักร, สามเณร-เสมินาร์, อัครสังฆมณฑล, สังฆมณฑล-เขตมิซซัง, สาธุคุณ, พระคุณเจ้า, ศาสนาจารย์ ฯลฯ

เพื่อประดับสติปัญญา ขอเรียนถามว่าในแต่ละท้องที่มีมาตรฐานการใช้และความนิยมแตกต่างกันหรือไม่อย่างไรครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.131 วินาที กับ 19 คำสั่ง