กุหลาบงามนาม “จุฬาลงกรณ์”
http://th.wikipedia.org/wiki/กุหลาบจุฬาลงกรณ์ท่านผู้หญิงมณฑินี มงคลนาวิน ได้เขียนบทความเรื่อง ถวายบังคมบรมบาท “พระปิยะมหาราช” ด้วยกุหลาบพระนาม “จุฬาลงกรณ์” ในนิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ ๒๕๙๔ ปีที่ ๕๐ ประจำวันอังคารที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ไว้ดังนี้
เป็นที่ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระปิยะมหาราช” ของปวงชนชาวไทยนั้น โปรดดอกกุหลาบมากกว่าไม้ดอกอื่นใด จะเห็นได้จากพระตำหนักที่ประทับก่อนขึ้นเสวยราชย์ ยังมีนามว่า พระตำหนักสวนกุหลาบ ดังนั้นในปัจจุบัน ผู้ที่ไปกราบถวายบังคมที่พระบรมรูปทรงม้า ณ ลานพระราชวังดุสิต หรือที่พระบรมราชานุสาวรีย์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ตามสถานที่ราชการต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะนำกุหลาบสีชมพูไปถวายเป็นเครื่องราชสักการะ
แต่จะทราบกันหรือไม่ว่า มีกุหลาบสีชมพูพันธุ์หนึ่ง ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตั้งชื่อว่า กุหลาบ “King of Siam” หรือ กุหลาบ “จุฬาลงกรณ์”
จากหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง “ไกลบ้าน” ทำให้เราทราบว่า กุหลาบสายพันธุ์นี้ผสมขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ ที่สวนกุหลาบของชาวเยอรมันชื่อ มิสเตอร์บรอยเออ สวนกุหลาบนี้อยู่ที่เมืองซานริโม เขตมณฑลปอโตมอริโซ แถบริเวียร่า เขตต่อแดนประเทศอิตาลี และประเทศฝรั่งเศส......
แน่นอนว่าคราวเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปครั้งนั้น ต้นกุหลาบพันธุ์ใหม่ที่มีดอกสีบานเย็น มีกลีบซ้อนกันแน่น ดอกใหญ่งดงามอันมีนามว่า “คิงออฟไซแอม” ทรงนำกลับมากับขบวนเสด็จเป็นแน่
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ซึ่งทรงเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือจากนครเชียงใหม่ เวียงพิงค์ที่มีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีอากาศเย็นใกล้เคียงกับอากาศในฤดูใบไม้ผลิ และฤดูร้อนของทวีปยุโรปตอนใต้ ต้องเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่ง ซึ่งได้รับพระราชทานต้นกุหลาบอันมีค่าหายากนี้ไปปลูกที่พระตำหนัก ณ เมืองเชียงใหม่
พื้นที่อันเป็นที่สูง ดินตามไหล่เขา และอากาศเย็นของนครพิงค์ ให้กุหลาบคิงออฟไซแอม เจริญเติบโต ผลิดอกงดงาม ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๓ พระราชชายา เสด็จฯกลับไปประทับ ณ เมืองเชียงใหม่ เป็นการถาวร ทรงสร้างพระตำหนักขึ้นใหม่ คือพระตำหนักดาราภิรมย์ ที่ อ.แม่ริม และพระตำหนักพระราชชายาฯบนดอยสุเทพ บริเวณโดยรอบพระตำหนักทั้งสองแห่งนั้น ทรงขยายพันธุ์กุหลาบที่ได้รับพระราชทานจากพระราชสวามีปลูกไว้มากมาย และเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ จึงทรงเปลี่ยนชื่อกุหลาบ คิงออฟไซแอม เป็นกุหลาบพระปรมาภิไธย “จุฬาลงกรณ์”
http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=3069&stissueid=2594&stcolcatid=2&stauthorid=35

