ท่ามกลางบรรยากาศอบอ้าวของวันในกาลเริ่มต้นแห่งฤดูฝน บนภูเขาหินปูนทางปลายสุดแห่งตะวันตก กล้วยไม้เล็ก ๆ ที่เก็บตัวมาตลอดฤดูแล้ง เพ่ิงได้รับฝนแรกไปไม่นาน ก็ผลิใบออกมาเหนือพื้นหินที่ปกคลุมด้วยเศษซากใบไม้ แสงแดดและน้ำฝนทำให้เธอได้รับพลังงานอย่างเต็มที่ นั่นหมายถึงฤดูกาลแห่งกล้วยไม้งามกำลังจะเริ่มขึ้นเช่นกัน และที่พิเศษสุดของกล้วยไม้แสนมหัศจรรย์แห่งผืนป่าเมืองไทย ก็ได้แก่กล้วยไม้ดินที่มีดอกสีชมพูอมม่วงสุดหวาน ที่ได้รับการตั้งชื่อสกุลเป็นพระนามของสมเด็จพระเทพรัตราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และในเดือนแห่งพระประสูติกาลนี้ ขอนำทุกท่านไปรู้จักกับกล้วยไม้งามในสกุลนี้ สิรินธรเนีย (Sirindhornia)
ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อนบนเทือกเขาหินปูนแห่งดอยเชียงดาว ดร.ปียเกษตร สุขสถาน ขณะนั้นกำลังศึกษาในระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ขึ้นไปทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเฟินบนดอยเชียงดาว และเจอกับกล้วยไม้ขนาดเล็กใบลาย ๆ มีเพียงช่อดอกเหี่ยว ๆ เมื่อพิจารณาเห็นว่าใบคล้ายกับกล้วยไม้ในสกุล Hemipilia แต่ก็ได้เพียงเก็บความสงสัยอยู่เต็มหัวใจ…
จวบจนเวลาล่วงเลยมาหลายปี กระทั่งได้เข้าร่วมงานเป็นนักพฤกษศาสตร์ ประจำสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ได้เห็นภาพกล้วยไม้ชนิดนี้อีกครั้ง แต่นั่นก็เป็นเพียงภาพถ่าย ซึ่งทางนักวิจัยได้เก็บตัวอย่างลงมาไว้และให้ดอกในเรือนปลูกเลี้ยง เมื่อเห็นดอกจริง ๆ ก็ยิ่งทำให้ความกระหายใคร่รู้ทวีขึ้น และได้ส่งภาพถ่ายและภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ให้กับ Dr. Henrik Ærenlund Pedersen ผู้เชี่ยวชาญกล้วยไม้แห่ง University of Copenhagen, Denmark. เมื่อทำการตรวจสอบจึงคาดว่าน่าจะเป็นชนิดใหม่ของโลก และในช่วงเดียวกันคณะนักสำรวจที่นำโดย ดร.ปิยเกษตร เดินทางไปเก็บพืชในวงศ์คล้า (MARANTACEAE) บริเวณ อ.อุ้มผาง จ.ตาก และได้รับข่าวจากเพื่อนนักพฤกษศาสตร์ว่าบนดอยหัวหมด มีดอกไม้กำลังบานไม่น้อย คณะสำรวจจึงเดินทางไปที่นั่นทันที…ซึ่งก็ได้เจอกับกล้วยไม้ดินชนิดหนึ่งกำลังผลิดอก อย่างงดงามอยู่ริมทาง จากนั้นคุณสมควร สุขเอี่ยม ช่างภาพขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ บันทึกภาพชุดนั้นเอาไว้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นภาพชุดแรกของกล้วยไม้ชนิดนี้ และหลังจากสำรวจตามยอดเขาใกล้ ๆ เรียบร้อย ทีมสำรวจจึงได้กล้วยไม้ชนิดที่ชวนให้อัศจรรย์ใจไปอีก ๒ ชนิด จากลักษณะทางพฤกษศาสตร์แล้วสามารถไปรวมกับชนิดที่พบบนดอยเชียงดาวได้แน่นอน…
เมื่อผู้เชี่ยวชาญทำการเปรียบเทียบพร้อมศึกษาข้อมูลต่าง ๆ อย่างกว้างขวางและรอบคอบ ทั้งจากเอกสารและตัวอย่างต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑ์พืชทั้งในและต่างประเทศ จึงสรุปได้ว่ากล้วยไม้ ๓ ชนิด ดังกล่าวเป็นสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก ทางองค์การสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต นำพระนามของสมเด็จพระเทพรัตราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาตั้งเป็นกล้วยไม้สกุลใหม่ของโลก เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสพระชนมายุครบ ๔๘ พรรษา และได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อว่า Sirindhonia
สำหรับกล้วยไม้ในสกุล Sirindhonia มีสมาชิกอยู่ ๓ ชนิดด้วยกัน เป็นสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก ๒ ชนิด ย้ายมาจากสกุลเดิมอีก ๑ ชนิด
ชนิดแรกคือเอื้องศรีเชียงดาว (
Sirindhornia pulchella H.A. Pedersen & Indhamusika) ชื่อของเอื้องศรีเชียงดาว ในภาษาละติน pulchella มีความหมายว่า น่ารัก หรือ สวยงาม ตามอย่างลักษณะของดอกและใบ ที่มีลวดลายสีน้ำตาลบนใบสีเขียว กับช่อดอกสั้น ๆ แทงออกมาจากตรงกลางของใบที่ห่อกันเป็นกล้วย กับสีชมพูสุดหวานของดอก ยิ่งทำให้เธอมีความน่ารักยิ่งนัก โดยเฉพาะในยามที่สายหมอกไหลผ่านเข้ามา ความกระด้างของผาหินปูนดูจะเบาบางและชวนประทับใจยิ่งนัก สำหรับกล้วยไม้งามแห่งเทือกดอยเชียงดาวชนิดนี้ ได้ทำการศึกษาและทบทวนโดย Henrik Pedersen และ สุรางค์รัชต์ อินทมุสิก

ข้ามไปยังเทือกดอยแห่งผืนป่าตะวันตกบนผาหินปูนสีกระดำกระด่าง ในช่วงฤดูฝนเอื้องศรีประจิม (
Sirindhornia mirabilis H.A. Pedersen& P.Suksathan) กำลังแทงช่อยาวกว่าหนึ่งฟุตออกมาจากโคนใบที่ม้วนคล้ายกรวย พร้อมดอกสีชมพูอมม่วง ซึ่งแสดงลักษณะคล้ายกับแมลงกำลังบิน สำหรับชื่อชนิดของคำว่า mirabilis มีความหมายถึงลักษณะอันแสนมหัศจรรย์

ส่วนชนิดสุดท้ายนั้นได้ย้ายมาจากสกุล Habenaria โดยมีชื่อชนิดว่าเอื้องศรีอาคเนย์ (
Sirindhornia monophylla (Collett & Hemsl.) H.A.Pedersen & P.Suksathan) ซึ่งชื่อหมายถึงกล้วยไม้ที่มีเพียงใบเดียว ให้ดอกสีชมพูหวานหยาดเยิ้ม จนดอกไม้ในละแวกนั้นต้องหม่นหมองเลยทีเดียว สำหรับกล้วยไม้ชนิดนี้เคยได้รับการเก็บตัวอย่างโดยหมอคาร์ (A.F.G. Kerr) นักพฤกษศาสตร์ชาวไอริช เมื่อราวปีพุทธศักราช ๒๔๖๔ และรายงานไว้ว่าเป็น
Habenaria monophylla Collett & Hemsl.

สำหรับสองชนิดหลังบันทึกไว้อย่างเป็นทางการว่าทำการศึกษาโดย Henrik Pedersen และ ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน ซึ่งนับเป็นความน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง สำหรับวงการพฤกษศาสตร์ของไทยและคนไทยทั้งชาติ ที่มีการรายงานความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในรูปทางวิชาการ ให้คนทั่วโลกได้รับรู้ถึงความมั่งคั่งของทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยไม้ ที่มีความหลากหลายทางชนิดพันธุ์เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
จาก กล้วยไม้เจ้าฟ้าสิรินธรความงดงามแห่งแผ่นดิน เรื่องและภาพ โดย หัสชัย บุญเรือง อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๑
http://www.osotho.com/th/content/indexdetail.php?ContentID=1110&myGroupID=