เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 8 9 [10]
  พิมพ์  
อ่าน: 72660 เกร็ดบางเรื่องเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 135  เมื่อ 13 ธ.ค. 07, 15:24

ขอต่อเรื่องแผ่นดินที่สองจากสี่แผ่นดินอีกครับ

       คุณเปรมชวนพลอยไปดูละครจากบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๖ เรื่อง โพงพาง ที่จะทรงออกโรงให้คนภายนอกเข้าชมได้
เพียงเท่านี้ก็หนักใจมากอยู่แล้วสำหรับพลอย แต่คุณเปรมยังบอกอีกว่า พระวรกัญญาฯ จะออกทรงละครด้วย อีกพระองค์หนึ่ง
         
       ถึงคืนวันที่จะไปดูละครหลวงกับคุณเปรม พลอยก็แต่งตัวเสียเต็มที่เหมือนกับจะเข้าเฝ้า ... ละครนั้นแสดงในพระราชฐานคือ
วังพญาไทอันเป็นที่ประทับในขณะนั้นหลังจากสมเด็จพระพันปีสวรรคตแล้ว ...

      เมื่อพระเจ้าอยู่หัวก็ปรากฏพระองค์บนเวที ในบทบาทพระเอกของเรื่อง ก็มีเสียงดังเหมือนเสียงอุทานเบาๆ ทั่วไปทั้งโรงละคร
พลอยใจหายวาบเมื่อแลเห็นพระองค์ ...
       "ช่างงามสง่าอะไรอย่างนี้" พลอยนึกอยู่แต่ในใจ "แลดูสว่างไปทั้งองค์ เหมือนกับมีไฟอะไร ฉายออกมาจากข้างใน
ผิดกับมนุษย์ธรรมดาสามัญอื่นๆ"
    ...พลอยก็ต้องหลบสายตาลงต่ำ มิกล้ามองเต็มพระพักตร์ เพราะพระพักตร์ที่เบือนมานั้น ดูจากที่ไกลและในที่แสงสว่างของเวที
แลดูละม้ายคล้ายคลึงพระพักตร์สมเด็จพระพันปี ทำให้พลอยต้องสะดุ้งหลายครั้งด้วยความหวาดเกรง
      เมื่อพระวรกัญญาฯ  ทรงปรากฏบนเวที  ... "ก็งามดีหรอก" พลอยนึกในใจ ขณะเดียวกันก็อดนึกไปไม่ได้ว่า ตนเคยเห็นเจ้านาย
ข้างในบางพระองค์ที่งามกว่านั้น ...พลอยนั่งนึกชมพระวรกัญญาฯ อยู่ในใจว่า ทรงแสดงบทบาทละครพูดได้ตลอดไป ไม่มีขวยเขิน
..พลอยปักใจเสียแล้วว่า พระวรกัญญาฯ เป็น "ข้างใน" ฉะนั้นทุกครั้งที่ทุกคนที่เป็นผู้ชายเดินเฉียดเข้าไปใกล้บ้าง หรือยืนพูดจาด้วยบ้าง
พลอยก็ใจหายใจคว่ำ
       ภาพที่ติดตาพลอยอยู่ไม่มีวันลืม ก็คือตอนก่อนปิดม่านตอนจบ พระเจ้าอยู่หัวทรงสวมกอดพระวรกัญญาฯ ต่อหน้าคนทั้งปวงที่นั่งดูอยู่

ภาพจาก ละครพูดเรื่อง โพงพาง  ของ ศรีอยุธยา (จาก pantip คุณปริยวาทีแสดงไว้)
จากซ้ายไปขวา  1. พระวรกัญญาปทาน    2.  รัชกาลที่  6  3. พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ เมื่อครั้งยังทรงเป็น หม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ 
                  4. เจ้าพระยารามราฆพ แต่ยังเป็นพระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ  พึ่งบุญ) 


บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 136  เมื่อ 13 ธ.ค. 07, 19:06

คุณ Pipat ท่านส่งลูกมาให้แล้ว  เป็นกน้าที่ต้องทำทรัย (ศัพท์รักบี้ครับ) ต่อไปนะครับ

นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง จมิ่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม  สุนทรเวช) ผู้กรุณาฝากฝังให้กระผมรับเป็นธุระช่วยสืบสานเรื่องราวเกี่ยวกับล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ได้กล่าวไว้ในพระราชกรณียกิจสำคัญในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๕ เรื่องเหตุผลที่ ร.๖ ประกาศสงครามว่า

"...วันที่  ๒๑  กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๔๖๐  เป็นฤดูฝนแต่วันนั้นอากาศแจ่มใสดี  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับในพระบรมหาราชวัง ณ พระที่นั่งบรมพิมาน (ภาณุมาศจำรูญเดิม) อย่างที่เคยมา  บรรยากาศภายในพระราชสำนักเมื่อตอนหัวค่ำก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง  เวลาประมาณยามเศษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงมาจากห้องทรงพระอักษรข้างบนเข้าประทับโต๊ะเสวย  ตอนนี้ชักมีผู้คนมากหน้าหลายตามาคอยเฝ้า  เมื่อเสด็จขึ้นจากโต๊ะเสวยแล้ว  มิได้เสด็จขึ้นข้างบนอย่างเคย  แต่ประทับให้ข้าราชการบางคนเฝ้า ณ ที่ห้องรับแขกชั้นล่าง  ซึ่งติดต่อห้องอัฒจันทร์ใหญ่  บังเอิญผู้เขียนอยู่เวรวันนั้น  จึงคิยฟังราชการอยู่หน้าห้องที่ประทับข้างนอก  พอถึงเวลาเที่ยงคืน คือ ๒๔.๐๐ น.  ซึ่งมาทราบภายหลังว่า  เป็นเวลาตรงกับกำหนดนัดที่จะลงมือประกาศสงคราม  เจ้ากรมพระอาลักษณ์  จึงได้อัญเชิญคำประกาศกระแสพระบรมราชโองการขึ้นทูนเกล้าฯ ถวายพร้อมด้วยปากกาหมึกซึมด้ามดำยางแข็งที่เคยลงพระบรมนามาภิไธยอย่างที่เคยทรงใช้อยู่เป็นปกติ  เพื่อถวายการลงพระนาม  ทันทีผู้เขียนก็ได้ยินพระสุรเสียงดังออกมาว่า "อุวะ  ข้าจะประกาศสงครามสักที  เอาปากกาอย่างนี้มาให้ได้"  "ไปเอามาใหม่"  เสียงเงียบลงชั่วครู่  เข้าใจว่าทุกคนคงตกตะลึง  เพราะต่างก็ไม่รู้เหนือรู้ใต้ว่าต้องพระประสงค์ปากกาชนิดไหน  ในฉับพลัทันที  ก็ได้ยินพระสุรเสียงรับสั่งสำทับออกมาดังๆ อีกว่า "ปากกาด้ามทองซีวะ"  ทันใดนั้นมหาดเล็กกองราชเลขานุการคนหนึ่งซึ่งอยู่ในห้องนั้นด้วย  จึงได้สติวิ่งออกมาข้างนอกผ่านหน้าผู้เขียนไป  แล้ววิ่งขึ้นอัฒจันทร์พระที่นั่งตรงไปโต๊ะทรงพระอักษรข้างบน  เพื่ออัญเชิญปากกาด้ามทองลงมาทูนเกล้าฯ ถวาย  แต่ถึงอย่างไรก็ดีทุกคนที่กำลังเฝ้าอยู่ในขณะนั้น  รวมทั้งที่อยู่ภายนอกห้องรู้สึกว่าแปลกใจไปตามๆ กัน  ต่างคนตางมองหน้ากัน  ต่างพากันซุบซิบคำว่าประกาศสงครามที่ลั่นพระโอษฐ์ออกมานั้นก็ไม่คาดฝันมาก่อน  แล้วจึงรู้ว่าเป็นการประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนี  สำหรับพระสุรสีหนาทที่ทรงแสดงนั้นเป็นการแสดงออกที่พวกเรามักจะใช้กันว่า "เอาเคล็ด"  ซึ่งประเพณีเก่าๆ ของเรามักนิยมใช้กัน..."

ที่ท่านผู้เล่ากล่าวว่า คอยฟังราชการอยู่นอกห้องประทับนั้น  เพราะเวลานั้นท่านผู้เล่าเพิ่งเรียนจบชั้นแปด (มัธยมบริบูรณ์) จากโรงเรียนมหาดเล็กหลวง  นับว่าเป็นชุดแรกที่สำเร็จการศึกษามัธยมปลายของประเทศไทย  และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกรับราชการเป็นมหาดเล็กกองตั้งเครื่องได้ราวครึ่งปีเท่านั้น  ส่วนมหาดเล็กกองราชเลขานุการที่วิ่งขึ้นไปเชิญปากกาด้ามทองมาถวายนั้นน่าจะเป็น นายจ่ายวด (ปาณี ไกรฤกษ์) พี่ชายท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา  มาลากุล  ซึ่งเวลานั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนักเรียนมหาดเล็กรับใช้  มีหน้าที่รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทตั้งแต่เสด็จออกจากห้องพระบรรทมจนถึงเวลาเสด็จเข้าห้องพระบรรทม  ท่านหม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล เคยกล่าวถึงนายจ่ายวด ผู้เป็นพี่ภรรยาของท่านว่า  เป็นผู้ที่แคล่วคล่อง  ปฏิบัติราชการได้เป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัยในล้นเกล้าฯ เป็นอย่างยิ่ง  ทั้งยังเป็นผู้หนึ่งที่ล้นเกล้าฯ ทรงสอนราชการและวิชาความรู้ต่างๆ ให้ด้วยพระองค์เอง  จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น นายจ่ายวด  ซึ่ง้ทียบเท่ายศนายพันตรี ตั้งแต่อายุเพียง ๒๑ ปี  และเมื่อนายจ่ายวดประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเมื่ออายุเพียง ๒๒ ปี ล้นเกล้าฯ ก็ถึงกับมีพระราชกระแสขอซื้อรถจักรยานยนต์ของคูรมหาดเล็กดสียทั้งหมด  เพื่อมิให้เกิดอุบัติเหตุเช่นนั้นอีก

เริ่องพระราชอัธยาศัยในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ นั้น  เท่าที่ได้ยินได้ฟังจากพระบรมวงศ์และข้าราชบริพารมักจะกล่าวกันว่า ทรงมีน้ำพระทัยเปี่ยมล้นด้วยพระกรุณา  โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ทรงเลี้ยงไว้มักจะได้รับพระราชทานพระมหากรุณาเป็นพิเศษ  เช่นมีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งกำลังทรงพระอักษร  พวกนักเรียนมหาดเล็กหลวงกเล่นฟุตบอลกันอยู่ข้างที่ประทับ  คราวหนึ่งลูกฟุตบอลลอยเข้าไปในห้องทรงพระอักษร  เด็กๆ ทุกคนต่างตกใจเกรงจะต้องรับพระราชอาญา  กลับกลายเป็นว่า ทรงโยนลูกฟุตบอลนั้นกลับมาให้เด็กๆ  โดยไม่ทรงกริ้วแต่อย่างใด  หรืออีกคราวหนึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนมหาดเล็กหลวงตามเสด็จไปหัวเมือง  ระหว่างทรงพระอักษรเด็กๆ ก็วิ่งเล่นอยู่ใกล้ๆ ที่ประทับ  เกิดมีคุณมหาดเล็กผู้ใหญ่ท่านหนึ่งมาปรามเด็กๆ ไม่ให้ส่งเสียงดังเกีงจะรบกวนเบื้องพระยุคลบาท  ผลก็คือคุณมหาดเล็กท่านนั้นโดนกริ้ว  เพราะมีรับสั่งว่าเป็นธรรมชาติของเด็กที่ต้องเล่นซุกซน  ผู้ใหญ่ที่ไปห้ามเด็กไม่ให้เล่นซุกซนสิที่เป็นคนไม่ปกติ

แต่ในยามที่ทรงกริ้วแล้ว  ก็ว่ากันว่า ทรงเด็ดขาดแบบทหารเลยทีเดียว 
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 137  เมื่อ 13 ธ.ค. 07, 21:26

ขอบคุณครับ
สมัยที่อ่าน ผมยังไม่คาดฝันว่า ชีวิตจะต้องมาเกี่ยวข้องกับหนังสือหนังหา
เห็นอะไรน่าสนใจ ก็หยิบอ่านเรื่อยเปื่อย

เรื่องนี้อ่านแล้วประทับในความจำ แต่บาปที่ไม่ได้จำนามผู้แต่ง
ขยับจะเล่าให้คนอื่นฟัง ก็ไม่กล้า เพราะจำได้ไม่ครบ
ข้อมูลคุณวี ทำให้เหมือนระเบิดภูเขาออกจากอก

หากจะบังอาจเดา ก็คาดว่า
จะทรงถือพระองค์เป็นทหารมากกว่าสถานะภาพอื่นใด
น่าเสียดายที่วิสัยทัศน์ทางทหารของพระองค์
ซึ่งช่วยปลดปล่อยบ้านเมืองจากแอกอันหนัก

คนปัจจุบันแทบจะไม่เอ่ยถึง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 138  เมื่อ 13 ธ.ค. 07, 23:00

อยากฟังคุณวีมี  เล่าเรื่องการซ้อมรบเสือป่าที่พระราชวังสนามจันทร์บ้างค่ะ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 139  เมื่อ 14 ธ.ค. 07, 06:06

ท่านอาจารย์กรุณาส่งลูกมาให้  ประจวบกัยเพิ่งมีการจัดงาน ๑๐๐ ปี พระราชวังสนามจันทร์ไปไม่กี่วันนี้  เครื่องกำลังร้อย  ขอน้อมรับข้อเสนอแนะของท่านอาจารย์ครับ

ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องเสือป่า  คงต้องย้อนไปดูเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ที่ฝรั่งเศสเอาเรือปืนเข้ามาทอดสมอกลางแม่น้ำเจ้าพระยา  พร้อมกับเล็งปืนใหญ่เตรียมถล่มพระบรมมหาราชวัง  เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม  ถัดมาอีกเดือนหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี เสด็จออกไปทรงศึกษาที่อังกฤษ  เมื่อแรกเสด็จถึงอังกฤษทรงพระราชดำริว่าจะเสด็จไปเรียนวิชาการทหารเรือ  ตรงนี้สันนิษฐานว่า น่าจะมีผลมาจากกรณีร.ศ. ๑๑๒  แต่เมื่อทรงรับสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในปีถัดมา  เลยต้องเปลี่ยนแนวทางไปทรงเรียนวิชาทหารบกและวิชาพลเรือนเป็นการเตรียมพระองค์ที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ 

ในระหว่างที่ประทับทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด  ขณะมีพระชนมายุเพียง ๒๐ พรรษา (ตอนนั้นทรงจบจากโรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สท์  และได้ทรงศึกษาวิชาทหารเพิ่มเติมแล้ว  ยังขาดแต่วิชาเสนาธิการที่ยังไม่ได้ทรงเรียนและไม่ได้เรียนเพราะล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ มีพระราชกระแสว่าเรียนเยอะแล้ว  ให้รับกลับมาช่วยราชการบ้านเมือง)  ได้เสด็จประพาสประเทศเบลเยี่ยม  และได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรป้อมที่เมืองลิเอซ (Lieze) ซึ่งนักการทหารสมัยนั้นกล่าวกันว่า เป็นป้อมที่แข็งแรงที่สุดในโลก  เพราะในเมืองลิเอซนั้นมีป้อมอยู่ถึง ๑๔ ป้อม  แต่ละป้อมมีปืนใหญ่ภูเขาที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงมาก  เมื่อทอดพระเนตรแล้วได้มีพระราชวิจารณ์ถึงการตี้ป้อมดังกล่าวพระราชทานให้พลเอก พระยาเทพหัสดิน (ผาด  เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ท่านผู้นี้ได้ชื่อว่า เป็นนายทหารที่มีความเชี่ยวชาญในวิชายุทธศาสตร์และยุทธวิธีของกองทัพบกไทยเป็นอย่างยิ่ง  จนถึงกับได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาพิไชยชาญยุทธ ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๔ มณฑลราชบุรี  และแม่ทัพใหญ่ไปในการพระราชสงครามทวีปยุโรป (สงครามโลกครั้งที่ ๑) ได้ทราบ  พร้อมกับทรงทำนายไว้ว่า หากเยอรมันจะเข้าตีฝรั่งเศส  เยอรมันจะต้องยกกำงเข้าตีป้อมลิเอซทางช่องทางที่ทรงกล่าวไว้  แล้วจึงยกเข้าตีฝรั่เศลทางประเทศเบลเยี่ยม  ผลคือสิบสามปีจากที่รับสั่งไว้  เยอรมันทำตามที่รับสั่งทุกประการและสามารถยึดครองฝรั่งเศสไนเวลาไม่กี่วัน  ในทัศนะส่วนตัวเชื่อว่า นี่คือสาเหตุหนึ่งที่พระเจ้ายอร์ชที่ ๕ แห่งอังกฤษ ถวายพระยศพลเอกแห่งกองทัพบกอังกฤษแด่ล้นเกล้าฯ เมื่อเดือนกันยายน ๒๔๕๘

เมื่อเสด็จฯ นิวัติพระนครแล้ว  ก็ได้ทรงร่วมกับจอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช จัดวางกำลักองทัพบกไทยเป็น ๑๐ กองพลกระจายกันอยู่ทั่วประเทศ คือ
กองพลที่ ๑  มณฑลกรุงเทพ
กองพลที่ ๒  มณฑลนครไชยศรี  ที่ตั้งอยู่ที่ต้นสำโรง  ปัจจุบันเป็นกรมการสัตว์ทหารบก
กองพลที่ ๓  มณฑลกรุงเก่า 
กองพลที่ ๔  มณฑลราชบุรี 
กองพลที่ ๕  มณฑลนครราชสีมา
กองพลที่ ๖  มณฑลนครสวรรค์ 
กองพลที่ ๗  มณฑลพิษณุโลก
กองพลที่ ๘  มณฑลพายัพ
กองพลที่ ๙  มณฑลปาจิณและจันทบุรี  มีกองบัญชาการกงพลอยู่ที่จังหวัดปราจิณบุรี
กองพลที่ ๑๐ มณฑลอุดรและมณฑลอุบล 

ดูการจัดวางกำลังแล้วจะเห็นได้ว่า  มีการจัดวางกำลังจากภาคเหนือลงมาภาคกลางเป็นลำดับ  แต่ภาคอีสานซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่กลับวางกำลังไว้น้อยกว่าภาคเหนือ คือมีกองพลที่ ๑๐ รับผิดชอบภาคอีสานทั้งหมด  ยกเว้นมณฑลนครราชสีมา ซึ่งเป็นปากทางเข้าสู่ภาคกลาง  มีดงพญาไฟเป็นปราการธรรมชาติ  ในขณะที่ภาคใต้มีสัญญาลับกับอังกฤศเมื่อคราวกู้เงินมาทำทางรถไฟสายใต้ว่า ประเทศสยามจะไม่จัดตั้งกองทหารในคาบสมุทรมลายูตั้งแต่บางสะพานน้อยลงไป  โดยให้ดินแดนนี้อยู่ในอากขาของอังกฤษเพื่อเป็นหลักประกันสัญญากู้เงินนั้น 

และถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า กำลังทหารมากระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ อยุธยา  นครไชยศรี (นครปฐม) และราชบุรี  โดยเฉพาะกองพลที่ ๔ ที่ได้ชื่อว่า เป็นหน่วยทหารที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเทียบเท่ากองพลที่ ๑ นั้นไปอยู่ที่ราชยุรีซึ่งเป็นด่านหน้าของดินแดนไทยเลยทีเดียว  และเมื่อย้นไปดู้หตุการณ์ที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒  ญี่ปุ่นมาทางเรือมายกพลขึ้นบหตั้งแต่หัวหินลงไปจนสุดเขตแดน ทำให้ประจักษ์ว่า ถ้าข้าศึกจะยกเข้ามาตีประเทศไทย  จุดอ่อนของประเทศไทยในเวลานั้นคือ ภาคใต้  จึงทรงวางยุทธศาสตร์ในการป้องกันประเทศไว้ที่พระราชวังสนามจันทร์  โดยมีกองพลที่ ๔ เป็นกำลังหลักในการตั้งรับข้าศึกที่จะยกมาจากทางใต้  และมีกองพลที่ ๒ เป็นกำลังรักษาพื้นที่  มีกองพลที่ ๑ เป็นกำลังหลักในการป้องกันกรุงเทพฯ และเป็นกองระวังหลังให้พระราชวังสนามจันทร์ 

ถึงแม้จะจัดกำลังทหารเป็น ๑๐ กองพลดังกล่าว  แต่ทั้ง ๑๐ กองพลนั้นมีแต่โครงสร้าง  ไม่มีกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จะบรรจุลงให้เต็มอัตราเพราะขาดเงิน  อัตรากำลังที่มีอยู่ในเวลานั้นสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก (ผู้บัญชาการทหารบก) ในเวลานั้น เคยมีรับสั่งว่า เป็นกองพลกำมะลอ  เพราะอัตรากำลังที่มีอยู่จัดได้เพียง ๒ กองพลครึ่ง  รบกับอังกฤษ ๓ วันก็แพ้แล้ว 
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 140  เมื่อ 14 ธ.ค. 07, 07:10

ด้วยข้อจำกัดทางด้านการทหารดังกล่าว  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชดำริที่จะจัดตั้งกองเสือป่าขึ้นตั้งแต่ยังทรงเป็นสมเด็จพระยุพราช  แต่ยังไม่สามารถดำเนินการใดได้เพราะทรงเกรงจะถูกกล่าวหาว่า ทรงสะสมกำลังเพื่อเป็นกบฏ  จนถึงเดือนเมษายนปี ๒๔๕๔ ในระหว่างเสด็จประพาสชายทะเลจึงได้ทรงชักชวนข้าราชบริพารทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนจัดตั้งเป็นกองเสือป่าขึ้น  และได้โปรดให้ถือน้ำพระพิพัฒสัจยาเข้าประจำกองครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่  ๖  พฤษภาคม  ปีเดียวกันนั้น

เรื่องการจัดตั้งกองเสือป่านี้มีผู้กล่าวหาว่า ทรงตั้งข้อรังเกียจไม่ให้ทหาเข้าเป็นสมาชิก  เรื่องนี้น่าจะเป็นการเข้าใจผิดของผู้บอกเล่า  เพราะหนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งกองเสือป่า คือ นายพลโท พระยาสุรเสนา (กลิ่น  แสง-ชูโต)  ท่านผู้นี้ได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดกองเสือป่าคนแรก  คือเป็นตำแหน่งองมาจากนายกเสือป่าคือล้นเกล้าฯ นั้นเอง  เหตุที่ไม่โปรดให้ทหารเข้าเป็นสมาชิกเสือป่านั้นเพราะทหารมีหน้าที่ป้องกันประเทศอยู่แล้ว  แต่สือป่านั้นทรงมุ่งเน้นจะฝึกพลเรือนให้มีความรู้พื้นฐานทางทหารและเน้นฝึกหัดเรื่องการสอดแนม  หากทหารมาเป็นเสือป่าแล้ว  ยามมีศึกสงครามมาประชิดทหารต้องออกไปตั้งรับข้าศึกกันหมดล้วใครจะป้องกันรักษาบ้านเมืองในแนวหลัง  กองเสือป่าจึงถูกตั้งขึ้นเพื่ออุดช่องโหว่นี้  และหากเอาทหารมาป็นเสือป่าเวลาทหารไปรบกันหมดใครจะบังคับบัญชากองเสือป่า  จามบันทึกของกองเสือป่าเมื่อปีที่เสด็จสวรรคตทั่วประเทศมีกำลังพลเสือป่ากว่าหมื่นคน  ลองคิดดูว่าถ้าเป็นทหารจะต้องใช้งบประมาณมากมายขนาดไหน  แค่มีอยู่สองกองพลครึ่งยังใช้งบประมาณแผ่นดินไปถึงหนึ่งในห้า  ถ้าเสือป่าต้องใช้งบประมาณแผ่นดินด้วย  คงไม่เหลืองบประมาณมาพัฒนาประเทศเป็นแน่  แต่ด้วยพระปรีชาญาณทางการทหารในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทุกคนมองข้ามกันไปหมดเราจึงมีกำลังพร้อมรบกระจายกันอยู่ทั่วประเทศโดยไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน  แต่สิ้นเปลืองพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์  เพราะเสือป่าไม่มีเงินเดือน ใครอยากเป็นเสือป่านอกจากต้องเสียค่าบำรุงแล้วยังต้องตัดเครื่องแบบใช้เอง  ถึงเวลาฝึกซ้อมต้องมาฝึก  ฝึกเสร็จกลับบ้านของตน  หลวงไม่ต้องจ่ายเครื่องแบบไม่ต้องจัดหาที่พักและเลี้ยงอาหาร  แต่งบประมาณในการซ้อมรบประจำปีล้วนใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์

พาไถลไปนอกเรื่องที่ท่านอาจารย์ตั้งกระทู้ไว้เสียไกล  ขอย้อนกลับมาถึงเรื่องพระราชวังสนามจันทร์กับการซ้อมรบเสือป่า

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจั้งกองเสือป่าขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๔๕๔ แล้ว  พอถึงเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้นก็ทรงนำเสือป่ากรมราบหลวงรักษาพระองค์และและลูกเสือหลวงมาที่พระราชวังสนามจันทร์  ทรงทำพิธีเข้าประจำกองของกองเสือป่ามณฑลนครไชยศรีที่พระราชวังสนามจันทร์  และได้พระราชทานธงพระมนูแถลงสารให้เป็นธงประจำกองลูกเสือหลวงในคราวเดียวกันนั้น  การที่ทรงนำเสือป่าและลูกเสือมาที่พระราชวังสนามจันทร์คราวนั้นเหมือนกับจะทรงชิมลางว่า ถ้าให้เสือป่าและลูกเสือมาประชุมพลพร้อมกันจะเป็นอย่างไร

พอย่างเข้าฤดูแล้ง  ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว  ก็ทรงนำทหรมหาดเล็ก  ทหารรักษาวัง เสือป่าและลูกเสือมาประชุมพลพร้อมกันที่พระชวังสนามจันทร์  เสือป่ากรมราบหลวงซึ่งเป็นข้าราชสำนักและลูกเสือหลวงที่ต้องมีหน้าที่ตามเสด็จเป็นการประจำอยู่แล้วนั้น  โปรดให้สร้างโรงนอนเป็นโรงยาวกระจายอยู่รอบนอกของพระราวัง  ส่วนเสือป่าและลูกเสือจากกรุงเทพฯ และมณฑลอื่นๆ นั้นโปรดไปกางเตนท์ที่พักอยู่ตรงที่ปัจจุบันเป็นสนามกีฬาเทศบาล  ถัดออกมาทางข้างพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์มีสนามหญ้าซึ่งโปรดให้ใช้เป็นสนามฟุตบอลคั่นอยู่

เมื่อเสือป่าและลูกเสือจากกรุงเทพฯ มาพร้อมแล้ว  พระราชวังสนามจันทร์ก็จะแปรสภาพจากพระราชวังมาเป็นค่ายหลวงพระราชวังสนามจันทร์  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์นายกเสือป่าก็จะแปรพระราชฐานจากพระที่นั่งพิมานปฐมหรือพระที่นั่งวัชรีรมยามาประทับที่พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์  ซึ่งเป็นพระตำหนักองค์เล็กๆ  ชั้นบนมีห้องพระบรรทมกับห้องสรง  และห้องทรงพระอักษร  ชั้นล่างมีห้องเสวยเท่านั้น  เวลาที่เสด็จมาประทับที่พระตำหนักนี้คงมีแต่เพียงราชองรักษ์เสือป่าและนายเสทอป่ารับใช้ (ทำนองทหารรับใช้) คอยรับใช้แทนมหาดเล็กที่ไป้เข้าประจำกรมกองที่สังกัดกันหมด

การซ้อมรบเสือป่าแต่ละวันมักจะเริ่มขึ้นแต่เช่าตรู่  เป็นการซ้อมย่อยระหว่างหมวดหรือกองร้อย  ซ้อมกันไปเรื่อยจนถึงเวลากลางวันจึงหยุดพัก  ตกเย็นโปรดให้แข่งขันฟุตบอลในระหว่างกรมกองเสือป่า  พระราชทานถ้วยทองนักรบและถ้วยน้อยนักรบให้เป็นรางวัล  การที่ทรงนำกีฬาฟุตบอลมาให้เสือป่าเล่นกันนั้น  ทรงพระราชดำริว่าการที่คนหนุ่มมาอยู่รวมกันมากๆ  ย่อมมีโอกาสที่จะกระทำผิดเพราะความคึกคะนองได้  จึงต้องให้มีการเล่นกีฬาเพื่อผ่อนคลาย  และกีฬาที่จะเป็นประโยชน์คือ กีฬาที่เล่นเป็นทีมจึงทรงส่งเสริมให้เสือป่าเล่นฟุตบอล  ต่อมาจึงโปรดให้ทหารเล่นกีฬาฟุตบอลแทนยุทธกีฬา  ขออนุญาตออกนอกเรื่องนะครับ  กองทัพไทยในเวลานั้นเวลานั้นถือคตินิยมแบบกองทัพเยอรมัน  ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นกองทัพที่นายทหารเคร่งครัดวินัยเหลือหลาย  กีฬาที่เล่นในกองทัพเยอรมันคือยุทธกีฬาหรือกีฬาทางทหารเท่านั้น  ห้ามนำกีฒาชนิดิ่นเข้ามาเล่นในกองทัพ  กองทัพไทยเวลานั้นก็ถือเอายุทํกีฒาเป็นหลัก  ล้นเกล้าฯ ทรงพระราชดำริว่า ขืนให้เล่นแต่ยุทธกีฬานายทหารของเราจะเครียดเกินไป  เมื่อทรงทดลองให้เสือป่าเล่นฟุตบอลแล้ว  ต่อมาจึงโปรดให้นายทหารในกองทัพไทยได้เล่นกีฒาชนิดนี้เพื่อผ่อนคลาย  แล้วเลยมีกฬาชนิดต่างๆ ให้มหารเล่นสืบมาจนทุกวันนี้

ในตอนเย็นก็จะโปรดให้มีการเล่นละครเป็นการพักผ่อน  แต่ก่อนจะเข้านอนนั้นเสือป่าและลูกเสือจะต้องสวดมนตร์ไหว้พระตามระเบียบไหว้พระสวดมนตร์ที่ทรงกำหนดไว้  แล้วจบท้ายด้วยร้อง้พลงสรรเสริญพระบารมี  ซึ่งตอนท้ายร้องว่า ดุจถวายชัย ฉนี้  แต่เมื่อเสด็จฯ นำเสือป่าและลูกเสือเดินทางไกลไปบวงสรวงเจดรย์ยุทธหัตถีที่ดอนเจดีย์  ทรงหังเป็น ดึขถวายชัย ชนี  จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์แก้เป็น ดุจถวายชัย ชโย  และในวันบวงสรวงพระเจดีย์นั้นได้ทรงเริ่ใช้คำว่า ไชโย เป็นครั้งแรก  คำนี้คงมาจาก ฮูเร ฮูเร ของฝรั่ง

การซ้อมรบเสือป่าแต่ละครั้งกินเวลาอย่างน้อยสองสัปดาห์  จากการซ้อมรบย่อยดังกล่าวมา  ถัดมาเป็นการซ้อมรบในระยะที่สอง  เป็นการซ้อมระหว่างกรมเสือป่าด้วยกัน  การซ้อมแต่ละครั้งจะมีคำสั่งสมมตให้ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายเขาตีอีกฝ่ายเป็นฝ่ายคั้งรับ  มีกรรมการซึ่งตั้งจากผู้บังคับบัญชาเสือป่าที่มิได้เข้าซ้อมรบครั้งนั้นเป็นผู้ควบคุมการซ้อมรบ  การซ้อมรบช่วงนี้มักกระทำตอนกลางคืน  รู้ผลแชนะในคืนเดียวนั้นเลย  เสร็จการซ้อมรบแล้วจะมีการประชุมติชมผลการซ้อมรบทุกครั้ง

ระยะสุดท้ายเป็นการซ้อมรบใหญ่  แบ่งดำลังเสือป่าและลูกเสือทั้งหมดเป็นสองฝ่าย  ในระยะแรกล้นเกล้าฯ จะทรงเป็นผู้นำทัพฝ่ายหนึ่ง  อีกฝ่ายหนึ่งมีเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาลเป็นผู้นำทัพ  เช่นครั้งหนึ่งมีคำสั่งสมมตให้ฝ่าของล้นเกล้าฯ ตั้งรับอยู่ที่พระราชวังสนามจันทร์  ให้เจ้าพระยายมราชนำกำลังเข่าตีจากทางพระปฐมเจดีย์  มีกรรมการซึ่งเป็นนายเสือป่าจากกรมเสนาธิการเสือป่าเป็นกรรมการกลาง  การซ้อมรบในช่วงนี้ใช้เวลาหลายวัน  รบกันไปจนกว่าจะทราบผลแพ้ชนะจึงจะยุติ  แล้วมีการประชุมพลรับฟังคำตชมจากกรรมการกลาง  แล้วจึงมีการสวนสนามหน้าพระที่นั่ง  คือเลิกซ้อมที่ไหนก็สวนสนามกันตรงนั้น  แล้วมีพระราชทานเลี้ยง  เป็นเสร็จการซ้อมรบประจำปี  ต่างคนก็แยกย้ายกันกลับต้นสังกัดของตน  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็จะเสด็จแปรพระราชฐานกลับไปประทับที่พระที่นั่งอภิรมย์ฤดีหรือวัชรีรมยา  หรือบางคราวก็เสด็จฯ กลับกรุงเทพฯ

นอกจากการซ้อมรบที่พระราชวังสนามจันทร์แล้ว  บางปีก็โปรดให้เสือป่าเดินทางไกลไปค่ายหลวงบ้านโป่ง  และในระหว่างทางก็จะมีคำสั่งมาให้แปรขบวนซ้อมรบ  ดังเช่นท่านหม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล เล่าว่า เคยได้รับคำสั่งให้เดินทางไหลจากค่ายหลวงพระราชวังสนามจันทร์ไปค่ายหลวงบ้านโป่ง  วันนั้นมัวแต่โอ้เอ้กัน  กว่าจะออกเดินทางก็สายแล้ว  ยังไม่ได้รับประทานอาหารเช้า  กะว่าจะไปรับประทานพร้อมกับอาหารกลางวันกันที่ค่ายหลวงบ้านโป่ง  ระหว่างเดินทางไปตามถนนทรงพล  จู่ๆ กองเสือป่าพรานหลวงที่เดินมาด้วยกันเกิดหายไป  แล้วกลายเป็นข้าศึกยกมาโจมตีกองนักเรียนเสือป่าหลวงคือกองของท่านหม่อมหลวงปิ่น  กว่าจะไปถึงที่พักก็ค่ำแล้ว  สรุปแล้ววันนั้นได้รับประทานอาหารมื้อเดียว คือ มื้อค่ำ

เมื่อเสือป่มาชุมนุมกันที่ค่ายหลวงพระราชวังสนามจันทร์กันมาก  สิ่งสำคัญที่ตามมาคือเรื่องปากท้อง  มีเรื่องเล่าว่าโปรดให้จัดตลาดนัดขึ้นที่พระราชวังสนามจันทร์  ให้ชาวบ้านเอาพืชผักและหารมาขายเสือป่าที่มาซ้อมรบ  และมีอยู่รายหนึ่งเป็นพ่อค้าก๋วยเตี๋ยวชาวจีน  แกหาบก๋วยเตี๋ยวเข้ามาเลี้ยงเสือป่าและลูกเสือเป็นประจำ  ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ  ไม่ทราบว่าได้เสวยก๋วยเตี๋ยวเจ้านี้หรือเปล่า  เลนพระราชทานเข็มขัดที่ร้อยเศษสตางค์ (Coin) ต่างประเทศพระชทานให้เป็นรางวัลแก่พ่อค้าก๋วยเตี๋ยวรายนั้น  บัดนี้ทายาทของเจ้าขิงหาบก๋วยเตี๋ยวรายรั้นยังคงเก็บรักษาเข็มขัดพระราชทานที่คงจะมีอยู่เส้นเดียวในโลกไว้ด้วยความหวงแหน  ครั้งหนึ่งมีอาจารย?มหาวิทยาลัยศิลปากรไปขอชท  เจ้าของร้านซึ่งเป็นหลานปู่ของเจ้าของหาบก๋วยเตี๋ยวถึงกับต้องปิดร้านแล้วจึงเอาเช็มขัดนี้มาให้ชม
บันทึกการเข้า
กุ้งแห้งเยอรมัน
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1573



ความคิดเห็นที่ 141  เมื่อ 14 ธ.ค. 07, 14:03

เกร็ดต่างๆเหล่านี้ เพลินมากค่ะ กรุณามาต่อด่วนนะคะ คุณวี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 142  เมื่อ 14 ธ.ค. 07, 21:11

ขอบคุณคุณ V ที่จัดตามคำขอได้เร็วทันใจ   มานั่งต่อจากคุณกุ้งแห้ง รอฟังเรื่องต่ออีกค่ะ


บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 143  เมื่อ 01 ก.พ. 08, 12:22

พบข้อมูลในเนต
http://www.antiquemapsandprints.com/spy/SPY-1895.htm
ดูที่คำว่า THAILAND
พระรูปเจ้าฟ้าวชิราวุธ ในเวนิตี้แฟร์ เป็นเวบที่นักสะสมทำขึ้น ไม่มีรายละเอียด บอกเพียง
The Prince Royal. One of the few children depicting in Vanity Fair.
'A Prince Royal'. Born 1881. Came to England for private education 1893.
Shown seated. Coloured. Overall size c. 8x14 ins. By Spy.
(1895.04.25)

จำได้ว่าคุณวีเล่าเกี่ยวกับพระบรมรูปนี้ไปแล้ว
ถือว่าวันนี้ทำตัวเป็นพ่อค้ามะพร้าวห้าว มาขายของที่สวนวชิราวุธานุสาวรีย์
ถ้าจะมีอะไรใหม่ ก็คงเป็นความเห็นที่ว่า
รูปเด็กไม่ค่อยได้ขึ้นปกหนังสือระดับตำนานชื่อนี้ ถือเป็นการเฉลิมพระเกียรติโดยอ้อมได้กระมัง


บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 144  เมื่อ 01 ก.พ. 08, 17:41

พระบรมรูปองค์นี้  ท่านหม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล เล่าไว้ว่า เมื่อท่านนำคณะไปเจริญรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่ประเทศอังกฤษ  เมื่อราว พ.ศ. ๒๕๒๘  และเป็นครั้งที่ท่านเดินทางไปต่างประเทศ  มีฝรั่งคนหนึ่งเอาพระบรมรูปองค์นี้มาขายให้ท่าน  คิดเป็นเงินไทยก็หลายพันบาทครับ  คนที่นำมาขายบอกว่าเขาสะสมจาก Vamiety Fair มาหลายปี  พอทราบว่ามีคณะมาจากเมืองไทย้ลยนำมาเสนอขาย  ท่านก็นำกลับมารักษาไว้ที่หอวชิราวุธานุสรณ์  และได้กรุณาเล่าให้ทราบว่า พระบรมรูปองค์เขียนขึ้นเมื่อพระชนมายุราว ๑๓ พรรษา  เมื่อครั้งที่ทรงรับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๔๓๗

ในคราวที่ทรงรับสถาปนาเป็นสมเด็จพระยุพราชครั้งนั้น  ได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัสในการชุมนุมรื่นเริงเฉลิมพระเกียรติที่สถานอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน  กระแสพระราชดำรัสนั้น  สามัคคีสารซึ่งเป็นวารสารของสามัคคีสมาคมได้อัญเชิญไปลงพิมพ์ไว้เป็นภาษาอังกฤษในเวลาต่อมาว่า
"The Late King Rama VI, in His student days, made a memorial speech...in which He said, among other things, that "He would return to Siam more Siamese than He left it."  These words have left a host of meaning in their wake."

ข้อความนี้ หม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล ได้สรุปไว้เป็นภาษาไทยว่า
     "พระมหาธีรราชเจ้าประกาศไว้   
ที่อังกฤษสมัยทรงศึกษา
ว่าเมื่อไรได้เสด็จกลับพารา
จะเป็นไทยยิ่งกว่าเมื่อไปเรียน"

หากได้ศึกษาพระราชกรณียกิจและพระราชจริยาวัตรในพระองค์แล้ว  คงจะได้เห็นว่า ทรงเป็นนักนิยมไทยโดยแท้

นอกจากพระบรมรูปองค์ที่คุณพิพัฒน์กรุณานำมาให้ชมกันแล้ว  ยังมีพระบรมรูปอีกองค์หนึ่งเมื่อคราวที่ทรงสมัครไปร่วมรบในสงครามบัวร์  ภาพนี้เคยเห็นจัดสดงอยู่ที่พระที่นั่งวิมานเมฆเมื่อนานมาแล้ว  เป็นภาพทรงเครื่องทหาร  มีธงรูปช้างอยู่ด้วย  รายละเอียดชักจะเลือนๆ แล้วครับ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 145  เมื่อ 02 ก.พ. 08, 00:58

คำว่าสมใจนึกคงเป็นอย่างนี้เอง
สงสัย ใคร่ถาม ถามปุ๊ป ตอบปั๊ป.....ขอบคุณอย่างสาหัสทีเดียว...ฮิฮิ

คุณวีมีเสนอประเด็นน่าสนใจจริงๆ คือทรงเข้าถึงความเป็นไทยได้อย่างไร
เมื่อเสด็จไปอังกฤษนั้น ต้องเรียกว่ายังเป็นเด็กเพิ่งรุ่น
ทรงใช้ช่วงเวลาสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ ที่เมืองฝาหรั่ง

ถามว่า ...แล้วใครถวายวิชาความรู้เรื่องไทยแก่พระองค์หนอ
เจ้าพระยายมราช ซึ่งเป็นครูประจำพระองค์ แม้ว่าจะเป็นอัจฉริยบุรุษ
แต่ดูเหมือนท่านจะเป็นรัฐบุรุษ ไม่เคยเห็นบทบาทของท่านในทางเป็นนักปราชญ์
พูดแบบปัจจุบันก็คือ เป็นนักบริหาร ไม่ใช่นักวิชาการ

หรือว่าในหอพักจะทรงมีห้องสมุดไทยอย่างดีเลิศให้ทรงค้นคว้า
อันนี้เรียนถามคุณวีมีตรงๆ เลยนะครับ
ไม่คิดว่าจะมีคนรุ่นเราไขปัญหานี้ได้

(จำได้เลาๆ ว่าพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้เขียนรายงานภาษาไทยถวายเป็นประจำ แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นดังนั้นหรือไม่)
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 146  เมื่อ 03 ก.พ. 08, 15:21

พระอภิบาลที่ตามเสด็จไปอังกฤษมี ๒ คร คือ เจ้าพระยายมราช  ถวายการสอนหนังสือไทย  แต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็มีคำสั้งเรียกตัวกลับเมืองไทย  แล้วไปเป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลนครศรีธรรมราช  แล้วเลื่อนเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล  และกระทรวงมหาดไทยตามลำดับ

บุคคลที่น่าจะมีบทบาทถวายความรู้เรื่องไทยน่าจะได้แก่พระยาวิสุทธสุริยศีกดิ์ (ม.ร.ว.เปีย  มาลากุล)  ที่โปรดให้ตามเสด็จออกไปตั้งแต่ยังเป็นพระมนตรีพจนกิจ  ท่านผู้นี้ได้เป็นทั้งพระอภิบาลและอัครราชทูตสยามประจำประเทศอังกฤษจนถึ ๒๔๔๑ เมื่อล้นเกล้าฯ เสด็จเข้าโรงเรียนนายร้อยแล้ว  ก็ภูกเรียกตัวกลับมาจัดทำโครงการศึกษาชาติ  ซึ่งเป็นแผนการศึกษาชาติฉบับแรก  แล้วได้เป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ  สุดท้ายได้เป็นเจ้าพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ  ในระหว่างที่ทำหน้าที่เป็นพระอภิบาลอยู่นั้น  สมเด็จพระพีปีหลวงได้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานไปยังพระยาวิสุทธ  ทรงฝากฝังดวงตาของพระองค์ทั้งสองข้าง คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ กับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิษณุโลก ไว้ดับพระยาวิสุทธฯ ด้วย

เรื่องที่ทรงพยายามที่จะเป็นไทยนั้น  น่าเชื่อว่า ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ คงจะทรงปลูกฝังไว้ตั้งแต่ก่อนเสด็จออกไปอังกฤษ  เพราะมีหลักฐานว่า  ทรงได้รับพระราชทานสมุดไดอารีจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕  พร้อมมีพระราชกระแสให้ทรงจดบันทึก  จึงได้ทรงพระราชบันทึกประจำวันมาตั้งแต่พระชนมายุ ๘ พรรษา  ประกอบเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ที่เกิดขึ้นก่อนเสด็จออกไปอังกฤษไม่ถึง ๑ เดือน  น่าจะเป็นเหตุหนึ่งที่ทรงมุ่งมั่นพัฒนาการทหารของประเทศ 

ระหว่างที่ประทับทรงศึกษาอยู่ที่อังกฤษ  มีหลักฐานแต่เพียงว่า ทรงฝึกฝนภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสจนทรงแตกฉานในภาษาทั้งสอง  ถึงขนาดทรงแปลบทประพันธ์ของเชตสเปียร์ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษโบราณ  ที่แม้แต่ชาวอังกฤษก็บ่นว่ายาก  เป็นภาษาไทยโดยยังคงรักษาอรรถรสของเชคสเปียร์ไว้ได้โดยสมบูรณ์  นอกจากนั้นยังทรงศึกษาภาษาละตินด้วย  แต่เรื่องภาษาไทยด฿จะไม่ค่อยได้ทรงเท่าไรนัก  เพราะในเวลานั้นหนังสือไทยส่วนใหญ่จะเป็นสมุดไทย  การพิมพ์หนังสือยังเป็นเรื่องใหญ่และราคาแพงมาก  นอกจากจะทรงฝึกฝนด้วยพระองค์เองแล้วก็ไม่เห็นช่องทางอื่นที่จะปลูกฝังความเป็นไทยในทางอื่นอีกเลย

อีกประเด็นอาจจะเป็นเพราะการที่ได้ทรงสมาคมกับชาวอังกฤษซึ่งเป็นชนชาติที่มีลักษณะนิสัยเชิงชาตินิยมสูง  และคงจะได้ทอดพระเนตรกิริยาที่ชาวอังกฤษเหยียดหยามพลเมืองในประเทศราช  รวมทั้งการที่ชาวประเทศราชของอังกฤษพยายามจะยกฐานะของตนให้เห็นว่ามีอารยธรรมเช่นชาวอังกฤษ  แต่กระนั้นพวกอังกฤษก็ยังคงดูถูกพวกประเทศราชนั้นอยู่ดี  นอกจากนั้นอาจจะเป็นเพราะการที่ได้เสด็จทอดพระเนตรโบราณสถานอันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ในยุโรปที่มีการนำเอาของเก่านั้นมาขายเก็บเงินเข้าประเทศได้เป็นจำนวนมาก  ในการพระราชพิธรบรมราชาภิเษกสมโภชจึงทรงยอมเสียพระราชทรัพย์เกือบ ๒ ล้านบาทจัดงานให้ยิ่งใหญ่เพื่ออวดวันธรรมและประเพณีของไทยเราให้พระราชอาคันตุกะจาก ๑๔ ประเทศได้มาเห็นว่า  แระเทศไทยเป็นชาติที่เก่าแก่มีอารยธรรมไม่แพ้ชาติตะวันตก  ซึ่งก็ได้ผลในแง่การส่งเสริมการท่องเที่ยว  เพราะพระราชอาคันตุกะทั้ง ๑๔ ประเทศนั้นต่างก็ได้ไปช่วยเผยแพร่เกียรติคุณของประเทศไทย  จนเป็นที่รู้จักมากขึ้น   
บันทึกการเข้า
Natalee
อสุรผัด
*
ตอบ: 37



ความคิดเห็นที่ 147  เมื่อ 03 ก.พ. 08, 22:44

เจ้าพระยายมราชตามเสด็จไปเป็นพระอภิบาลเจ้านายที่ยุโรปเป็นระยะเวลาไม่สั้นเท่าไรนะคะ

ตอนไปประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๙ กลับมาเป็นข้าหลวงทางใต้ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ร่วมๆ ๑o ปี
(แต่ในระหว่างนั้นกลับมาแต่งงาน และกลับไปอีกครั้งหนึ่ง)
ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ เป็นข้าหลวงพิเศษที่สงขลาก่อน
พอปลายปี ได้เป็นสมุหเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 8 9 [10]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 19 คำสั่ง