เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 72711 เกร็ดบางเรื่องเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 06 ต.ค. 07, 12:32

ค.ห.หลังๆนี้ออกนอกเรื่องความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นไปมากแล้ว  ถ้าคุณโคเจ้าของกระทู้ อยากจะแยกส่วนนี้ออกไปเพื่อให้เหลือเนื้อหาไทย-ญี่ปุ่นล้วนๆ  ก็ช่วยบอกด้วยค่ะ  ดิฉันจะทดลองแยกกระทู้ด้วยฝีมือผู้ไม่ชำนาญอีกครั้ง  ไม่อยากรบกวนคุณอาชาผยอง  ตอนนี้ไม่ค่อยสบาย

ถ้าใครสงสัยว่ามหาดเล็กไปมุดอยู่ใต้โต๊ะเสวยทำไม  หน้าที่อื่นๆดิฉันไมทราบ  แต่รู้อยู่อย่างหนึ่ง คือเรื่องแผลเป็นของพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ ทรงเข้ารับการผ่าตัดไส้ติ่ง    นายแพทย์เย็บแผลไม่เรียบร้อย  เกิดแผลเป็นขนาดใหญ่ที่เบื้องล่างพระนาภีซีกขวา   
ลักษณะเป็นถุงกลมประมาณเท่าผลส้มเกลี้ยงขนาดใหญ่    ปูดออกมาจากผิวพระนาภี
พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงใช้ผ้าแถบรัดบั้นพระองค์ขณะทรงสนับเพลาแพร    เพื่อรัดโยงแผลเป็นนั้นไว้   มิฉะนั้นจะถ่วงพระนาภีให้ไม่ทรงสบายพระวรกาย
แผลเป็นนำไปสู่ปัญหาเรื้อรังมาตลอดรัชสมัย  คือพระอันตะ(ไส้)เลื่อนเข้าสู่ถุงนี้เมื่อเสวยเสร็จใหม่ๆ เพราะมีช่องเปิดอยู่    ทำให้ทรงอึดอัด   
เป็นหน้าที่มหาดเล็กอยู่งาน จะต้องค่อยๆ ช้อนถุงเนื้อนี้เบาๆ  ยกขึ้นข้างเหนือ แล้วเอียงให้เทคว่ำเข้าในพระนาภี  เป็นเสียง “จ๊อกๆ” ยาวๆ
แล้วจะทรงสบายหายอึดอัด ได้พักหนึ่ง ก่อนจะถึงเวลาเสวยครั้งต่อไป  ซึ่งก็จะวนเวียนอึดอัดอยู่อย่างนี้
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 06 ต.ค. 07, 12:51

พระมหากษัตริย์และเจ้านายในสมัยก่อน โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๖ เวลาประทับเสวยแบบฝรั่ง จะมีมหาดเล็กใต้โต๊ะคอยนวดพระบาทและพระชงฆ์ครับ จมื่นมานิตย์นเรศร์ (เฉลิม เศวตนันทน์) ท่านบันทึกไว้อย่างละเอียด อ่านสนุกมากในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพของท่าน เสียดายผมไม่มีอยู่ในมือตอนนี้ ท่านว่าบางทีก็รับสั่งคุยกันสนุกสนานจนถึงกับทรงออกท่าออกทาง มหาดเล็กใต้โต๊ะเผลอโดนพระบาทเข้าแรงๆ ก็มี ก็มีรับสั่งขอโทษ หรือบางทีมหาดเล็กเกิดหิว ก็สะกิดขุนนางที่เมตตาผู้ร่วมโต๊ะเสวยอยู่ให้ช่วยหยิบอาหารแอบหย่อนลงมาใต้โต๊ะให้ได้รับประทานกันอยู่เนืองๆ

ส่วนที่ว่ามหาดเล็กกว่าสุนัขทรงเลี้ยงแย่งอาหารกันนั้น ผมก็ไม่ใคร่จะแน่ใจว่าเท็จจริงอย่างไร เพราะเท่าที่เคยได้ยินมา สุนัขที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเลี้ยงไว้นั้น ในระหว่างเสวย จะมีคุณพนักงานคอยป้อนอาหารเลี้ยงอยู่ใกล้ๆ ไม่ได้ปล่อยให้เพ่นพ่าน บางทีพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงแบ่งเครื่องเสวยมาให้สุนัขทรงเลี้ยงเหล่านั้น คุณพนักงานเล่าว่าสุนัขพวกนี้ฝึกมาดี มารยาทเรียบร้อยมากไม่มีเห่า หรือมูมมามเลย ค่อยๆ กินเป็นคำๆ ไม่ป้อนถึงปากก็ไม่กิน กินเสร็จคุณพนักงานยังต้องใช้กระดาษทิชชูเช็ดปากอีกแน่ะ

การนั่งหรือนอนใต้โต๊ะใต้เตียงสมัยก่อนก็ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ ผู้ใหญ่ที่รู้จักที่เคยเป็นข้าหลวงในวังหลวงท่านหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า ข้าหลวงที่เป็นลูกผู้ดี ก็จะมีคนรับใช้ติดสอยห้อยตามมาจากบ้านด้วย ตกกลางคืนตัวข้าหลวงก็นอนบนเตียง ส่วนบ่าวของข้าหลวงคนนั้นก็นอนใต้เตียง เตียงใครเตียงมัน และใต้เตียงใครใต้เตียงมัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 06 ต.ค. 07, 13:23

เตียงโบราณคงสูงและโปร่งกว่าสมัยนี้มาก   นึกภาพเตียงทองเหลือง หรือเตียงไม้มีเสา     ถ้าเตี้ยเหมือนเตียงสมัยนี้  คงมุดเข้าไปนอนลำบากแถมอึดอัดหายใจไม่ออกอีกด้วย    ขนาดกวาดใต้เตียงยังลำบากเลย

ขอออกนอกแถวไปอีกไกลสักเรื่องนะคะ   เรื่องนอนใต้เตียงที่คุณ UP เล่า ทำให้นึกได้ถึงเรื่องจริงโรแมนติคที่อ่านพบในหนังสืออนุสรณ์งานศพเรื่องหนึ่ง
ขอเว้นชื่อผู้เล่าและสามีผู้ล่วงลับของท่านไว้

ผู้เล่าเล่าว่าเธอเป็นเด็กสาวไม่ประสีประสาเมื่อฝ่ายชายมาสู่ขอ    ผู้ชายแอบมาดูตัวก็ถูกใจ ให้ผู้ใหญ่มาสู่ขอ ผู้ใหญ่สองฝ่ายก็ตกลง
เจ้าสาวกลัวจนตัวสั่นเมื่อถึงคืนส่งตัว    เจ้าบ่าวดูออก ก็ไม่หักหาญน้ำใจ    ตกลงว่าอยู่กันไป แบบเจ้าบ่าวนอนบนเตียง  ส่วนเจ้าสาวไปนอนใต้เตียงทุกคืน
นอนอยู่อย่างนี้เป็นเดือนๆ  จนแม่เจ้าสาวจับได้   เรียกเสียงเขียวให้คลานออกมาจากใต้เตียง แล้วก็ให้โอวาทสารพัด
นอนร่วมห้องกันมาเป็นเดือนๆแบบนี้ทำให้เจ้าสาวตระหนักถึงน้ำใจประเสริฐของสามี    ถึงตอนนี้ก็เลิกกลัว กลายเป็นความรักกันแล้ว
เรื่องจึงจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง

ฝ่ายหญิงมารำลึกเรื่องนี้ในงานศพของสามีเธอ


บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 06 ต.ค. 07, 14:29

ขอบพระคุณคุณเทาชมพูที่เล่าเกร็ด "ใต้เตียง" ให้ฟังครับ นับเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าการนอนใต้เตียงนั้นเป็นไปได้จริงๆ ในสมัยก่อน ถ้าเป็นสมัยนี้ คงหัวปูดหัวโนกันทุกวัน เพราะเตียงส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่เตี้ยๆ

ไม่น่าเชื่อว่าจะมีรักแท้เกิดที่ใต้เตียง ไม่ว่าจะเป็นรักอย่างนายกับบ่าว หรือรักอย่างสามีกับภรรยา
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 06 ต.ค. 07, 15:31

จมื่นมานิศย์นเรศ(เฉลิม เศวตนันทน์)เล่าเรื่องชีวิตเด็กๆของท่าน  ชีวิตเมื่อเป็นมหาดเล็กหลวง ท่านนั้นอยู่กองตั้งเครื่อง กรมมหาดเล็ก

ในเรื่องถวายอยู่งานใต้โต๊ะขณะกำลังเสวยก็น่าสนใจ   


ขอคัดหนังสือ การอนุสรณ์ "ศุกรหัศน์" เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพท่าน ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๑๑

หน้า ๒๙๔
"พวกเราเด็กๆเวลานั้นแต่งเครื่องแบบมหาดเล็ก คือรองเท้าหุ้มข้อหรือรองเท้าหุ้มส้นสีดำ  กางเกงขาวขายาว สวมเสื้อแบบราชการสีขาว  ดุมกาไหล่ทอง ๕ เม็ด ตราพระเกี้ยว  มีอินธนูหน้าจั่วสีบานเย็น
ประดับหมวกทรงหม้อตาลสีขาว กระบังดำ สายรัดสีทอง มีตราพระเกี้ยวกาไหล่ทองหน้าหมวก
แต่เพราะผู้เล่าเป็นบุตรตำรวจหลวง จึงโปรดเกล้าฯให้แต่งเครื่องแบบอย่างนายเวรตำรวจ  คือ เสื้อกางเกงหมวกรองเท้าเหมือนกัน แต่อินธนูเป็นอย่างทหาร มีขอบแต่ไม่มีกิมเช็ง คือดอกไม้ทองรอบ  ไม่มีดาวเป็นอย่างว่าที่  แต่มีรัตประคตเอวสีแดงแปลกอยู่ครเดียว  ดูจะผิดสีอยู่หน่อย  แต่เข้ากันได้ดี"


หน้า ๓๓๕
"รัชกาลที่ ๖  โปรดการนวดที่เรียกตามราชาศัพท์ว่าถวายอยู่งานมาก   มหาดเล็กต้องถวายอยู่เกือบทุกเวลา  เช่นเสวย  บางทีทรงพระอักษร คือเขียนหนังสือ   แต่ละคราวมหาดเล็กต้องใช้พลังงานอย่างหนักเสมอ  แต่ตอนไหนไม่ขลุกขลักเท่าเข้าถวายอยู่งานใต้โต๊ะกำลังเสวย  เพราะโต๊ะอาหารใครก็ทราบว่าไม่สูงนัก  และผู้อยู่งานจะต้องใช้หน้าตักของตนรองรับพระบาทไว้ เคลื่อนย้ายไม่สดวก 
ดังนั้นจึงต้องเลือกคุณมหาดเล็กผู้มีขนาดชนิดมะขามข้อเดียว และข้อแข็ง เพราะต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆสองชั่วโมงเต็ม 
แต่พวกเรามิได้เคยเบื่อหน่ายเพราะด้วยอยากให้ท่านเป็นสุข

คนเข้าใต้โต๊ะต้องได้รับความไว้วางใจเป็นพิเศษ  เพราะบางทีอาจมีการปรึกษาข้อราชการที่ไม่ประสงค์ให้แพร่หลายนักด้วย"


ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจ เรื่องการไหว้ครู และคุณหลวงยงเยี่ยงครู ที่อยากจะนำมาเล่าในโอกาสอันควรต่อไป เมื่ือคุณเทาชมพูเห็นควร
เพราะเป็นเรื่องพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ เรื่องราวของพระแสงดาบตีนตวงที่ผู้เชิญต้องสวมเสื้อครุยทุกครั้ง  และการรำถวายอย่างสุดฝีมือสมชื่อว่า ยงเยี่่ยงครู

บันทึกการเข้า
หนอนบุ้ง
อสุรผัด
*
ตอบ: 113


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 06 ต.ค. 07, 16:43

 อ่านเรื่องเด็กที่อาจารย์เล่าต่อจากคห. หนูหนอนบุ้งแล้ว สงสัยว่าจะเป็นเด็กพิเศษ ออทิสติค ครับ

อะไรคะ คุณพี่ SILA หมายถึงความเห็นไหนคะ

อันนี้ใช่มั้ย...........
ขอบคุณมากนะจ๊ะ หนูบุ้ง   ถ้าหนูเอนจอยด้วย   ก็จะขอบ่อยๆ 
ที่เล่ามาเกี่ยวกับเจ้าคุณ ไม่ค่อยจะเป็นวิชาการเท่าไร  แต่ก็น่าฟัง   
ว่างๆหนูน่าจะตั้งกระทู้เล่าถึงพวกสุขุมบ้างจะดีไหม  เผื่อมีเกร็ดอะไรไม่ซ้ำกับในหนังสือ

ถ้าคุณป้าของหนูเคยวิ่งเล่นในบ้านนรสิงห์  ก็ย่อมจะวิ่งก่อน พ.ศ. 2484   จากนั้นบ้านกลายเป็นทำเนียบรัฐบาลไปแล้ว   ไม่มีสิทธิ์เข้าไปวิ่งคะเนจากอายุคุณป้า   เดาว่าตัวหนูเอง น่าจะเด็กมาก   ประมาณคุณ นิลกังขา  คุณ CrazyHOrse  หรืออาจจะรุ่นคุณพิพัฒน์ก็ได้  ยิงฟันยิ้ม

หรือว่า............
มึนค่ะ ลำดับญาติไม่ถูก

สรุปว่า
๑)คุณลุงเป็นญาติฝ่ายคุณแม่ของหนูบุ้ง
๒)คุณป้าไม่ใช่ญาติหนูบุ้ง
๓)คุณป้ากับคุณลุงไม่ได้เป็นญาติกัน  แค่สนิทกันเฉยๆ
๔)คุณป้านามสกุลสุขุม
ก็น่าจะลบได้นะคะ  ถ้าไม่มีใครติดใจอยากถามอะไร

อ้อ เพิ่งนึกได้   อยากทราบว่าพระยาสุขุมนัยวินิต  ถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ.ไหน และตำแหน่งงานสุดท้ายของท่านคืออะไร

หรือว่าอันนี้...............
ลบความเห็นของหนูบุ้งไปแล้ว    หนูเองก็คงรู้ว่าไม่สมควร ถึงได้บอกไว้ก่อน

เห็นด้วยกับหนูว่าไม่สมควร  คุณป้าไปตลาดอตก. หยอดเงินบริจาคให้เด็ก  แล้วยังบอกชื่อบอกนามสกุลตัวเอง
ไปเจอเด็กประหลาด     อ่านหนังสือหายากที่คนทั่วไปหาอ่านไม่ได้ ยังไม่พอ    ความจำดีเลิศ จำตอนไหนไม่จำ ไปจำตรงประโยคที่เอ่ยถึงพระนามเจ้านาย ด้วยพระนามเดิม  เหมือนเป็นเพื่อนฝูงกันมา   แล้วบอกคุณป้าประโยคนี้เป๊ะๆ   
เสียแรงเธอเป็นคนแสวงหาความรู้เรื่องเจ้านาย  ฝังอกฝังใจจนจำทุกคำได้  แต่ไม่ยักรู้ว่าอะไรควรมิควรในการพูดกับผู้ใหญ่ และในที่สาธารณะ


ที่คุณพี่ SILA สงสัยว่าจะเป็นเด็กพิเศษ ออทิสติค มาจากความเห็นอันไหนของอาจารย์กันแน่คะ หนูจะได้ตอบได้ถูก


งึม....งึม...งำ...งำ..... เศร้า ใครอ่า ไม่เห็นมีใครเป็นออทิสติคซักคนนี่นา หนูบุ้งเริ่มงอนตัวขดหมดแล้ว
คุณพี่ขา วานบอกหน่อยเถอะค่ะ หนูกลัวเป็นตะคริว ยืดตัวไม่ออก   ลังเล

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 06 ต.ค. 07, 22:32

คุณหนอนบุ้ง

ถามนิดนะคะ  เสร็จ state dinner   แล้วใครสัพพี
เห็นบอกถวายภัตตาหาร

บันทึกการเข้า
หนอนบุ้ง
อสุรผัด
*
ตอบ: 113


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 06 ต.ค. 07, 22:44

เห็นบอกถวายภัตตาหาร

ภัตตาหาร?? จะเขียนว่าดินเนอร์ อังกฤษคำไทยคำ ก็กลัวพวกอนุรักษ์ไทยจะค่อนเอา

หนูเองก็แหม่งๆ อยู่คำนี้ ปล้ำคิดอยู่นาน อืมม์ เค้าเรียกว่าไงคะคุณพี่วันดีขา หนูแก้ไขแล้วค่ะ

แล้วหนูเขินจัง

สัพพี เอ้อ คือไรง่ะ
ขอเดาว่าเป็นคำสนธิ สารพี+ทัพพี ใช่ไหมคะ อิอิ
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 07 ต.ค. 07, 00:21

โถ คุณบุ้ง
"เด้กออทิสม์" ที่คุณ SILA ว่าไว้น่ะ
ผมสงสัยว่าผมเองครับ ฮี่ฮี่ รูดซิบปาก


อย่าเพิ่งกังวลไปนะครับ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
elvisbhu
แขกเรือน
พาลี
****
ตอบ: 215

เป็นคนเขียนรูป


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 07 ต.ค. 07, 08:50

ผมไม่เคยมีชีวิตที่ต้องแผ้วพานกับคนญี่ป่น จนมาเจอเพื่อนของญาติ เขาไปอยูปายแล้วครับ จากบ้านหรู อพาร์ทเมนต์แพงแต่งไทยที่สุขุมวิท ตอนนี้ไปปลูกผัก อยูปาย ทิ้งทุกอย่าง ..
กลับไปที่พื้นฐาน
ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของสองชาติ ชนิดเป็นเนื้อเป็นหนัง
คุณภูมิน่าจะเข้ามาเล่าบ้างนะครับ
บันทึกการเข้า
OBORO
ชมพูพาน
***
ตอบ: 158

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมเจอร์ฟิสิกส์


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 07 ต.ค. 07, 09:04

นั่นสิครับ รออยู่เหมือนกันว่าเมื่อไหร่คุณภูมิจะเข้ามาพูดคุยในกระทู้นี้บ้าง....
รออยู่คร้าบบ.. ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 07 ต.ค. 07, 11:08

        ต้องขอโทษหนูหนอนบุ้งด้วย ที่เข้ามาตอบช้าข้ามวันข้ามคืน
        เด็กพิเศษที่ว่านั้น หมายถึงเด็กที่อาจารย์ถ่ายทอดว่า เป็นเด็กที่อตก. ผู้ซึ่งได้อ่านหนังสือหายากแล้วก็ช่างจดช่างจำชื่อเดิม
ของบุคคลต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ เรียกบุคคลนั้นด้วยชื่อเดิม ฯลฯ - ถ้าไม่ใช่เด็กพิเศษคงไม่ตั้งใจจดจำ ทำอย่างนี้
        เหมือนอย่างดัสติน ฮอฟแมน ใน เรน แมน ที่ท่องจำเรื่องราวสถิติสายการบินต่างๆ ได้มากมายเกินกว่าคนทั่วไปจะพึงจดจำ แบบว่า
... a restricted, stereotyped, repetitive repertoire of interests ...

       เห็นด้วยกับอาจารย์ครับ ว่าน่าจะตัดตอนไปเปิดกระทู้ใหม่ถ้าคุณ Ko OK 
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 07 ต.ค. 07, 11:45

พระราชมรดกในพระมหาธีรราชเจ้า
ผมคิดว่า เราศึกษาพระราชกรณียกิจพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ น้อยเกินไป
แต่ผมก็ไม่ลงเนื้อเห็นด้วยกับความอัดอั้นใจของคุณ UP ที่ว่า ทรงครองราชย์ไม่นาน
15 ปี ไม่เรียกว่านานแล้วต้องรอกี่ปี ฮึ.....

ผมคิดว่า พระราชมรดกยิ่งใหญ่สุด ที่ทรงวางไว้คือเรื่องการศึกษา
เมื่อพูดอย่างนี้แล้ว ก็ต้องขออภัย หากจะต้องแสดงความคิดที่แสลงใจหลายๆ ท่านว่า
ความล้มเหลวที่สุด ที่ทรงรับมาจากรัชกาลก่อน ก็คือเรื่องการจัดการการศึกษา
ซึ่งอาจจะมาจากการย้ายกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ จากอธิบดีการศึกษา มาเป็นเสนาบดีการปกครอง
แม้จะเพื่อพาประเทศให้รอดจากปากเหยี่ยวปากกา แต่สิ่งที่สูญไปนั้น สำคัญไม่แพ้เอกราชทีเดียว
คือการทำให้ชาวสยามมีความรู้เท่าทันโลก

และผมคิดเอาเองว่า กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ หากได้ทรงว่าการการศึกษาต่อไป ประเทศสยามคงไม่อับจนอย่างทุกวันนี้
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า ทรงเล็งเห็นปัญหาเรื่องการศึกษามาแต่เมื่อใด
นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย คงเล่ารายละเอียดได้....ขอเรียนเชิญ
และถ้าจะมีเวลา ก้ออยากให้เล่าถึงเจตจำนงแห่งการสร้างสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ว่าต่างจากมาตรฐานทั่วไปอย่างไร

ผมจะเล่าแต่เรื่องที่ผมสนใจ คือศิลปะ
สิ่งที่ต่างไปจากพระราชนิยมรัชกาลที่ 5 คือการที่ทรงหวนกลับสู่รากเง่าของไทย
เปรียบเทียบกันแล้ว รัชกาลที่ 5 มีแต่ศิลปะสั่งเข้า
หนังสือที่สำนักพระราชวังพิมพ์ออกมาเมื่อหลายปีก่อน เป็นหลักฐานอย่างดีว่า สยามพลาดโอกาสไปมากเพียงใด
กับการที่องค์พระประมุข ทรงช๊อบปิ้งงานศิลปะตามพระราชนิยม
เมื่อเทียบกับการเลือกซื้อของอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแอร์มิตาจ มิวเซียม

ใน "เที่ยวเมืองพระร่วง" ทรงเป็นผู้นำในการฟื้นฟูศิลปะของไทย
ทุกๆ หน้าจบบท จะต้องเลือกลายเส้นที่ถอดของโบราณสมัยสุโขทัยมาประดับ
การตกแต่งหน้ากระดาษ เริ่มตั้งแต่หน้าปกลงไป มาจากการ"ศึกษา" ลายกรอบและองค์ประกอบโบราณ
พระราชนิยมนี้ ทรงส่งเสริมในทุกๆ กิจกรรม ไม่เว้นกระทั่งแบบร่างสถาปัตยกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ที่ไม่ได้สร้างจริง)
และแม้แต่ที่ถูกปรับปรุงใหม่ ก็ยังกลายเป็นหมู่อาคารสมัยใหม่ ที่มีรากเง่าอันน่าทระนงองอาจ
เป็นหนึ่งในอาคารเรอเนซองค์ยุคใหม่ คือการฟื้นฟูสมบัติเดิมของชาติมามีลมหายใจอีกครั้ง ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบร้อยปี

ไม่ว่าจะนำไปเทียบกับประเทศใดก็ตาม
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 ต.ค. 07, 13:31 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 07 ต.ค. 07, 12:57

ฮึ..๑๕ ปีที่ผมหมายถึงนั้น ผมพยายามจะสื่อว่า แผนการทั้งปวงอาจมาลุล่วงแล้วเสร็จในรัชกาลต่อๆ มา หรือหากเวลาแห่งรัชสมัยเนิ่นนานไปกว่านี้ บางแผนที่ทรงก่อรากไว้แล้ว อาจได้รับการสานต่อจนลุล่วง และอาจนำพาประโยชน์อันใหญ่ชนิดพลิกแผ่นดินไม่แพ้รัชสมัยของสมเด็จพระบรมชนกาธิราช และสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชก็เป็นได้

ในเรื่องการศึกษานั้นผมขอยกไว้ก่อนยังไม่พูดถึง หากมีนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยท่านใดปรารถนาจะพรรณนาผมจะยินดียิ่ง แต่กระนั้นก็ขอเชิญพระบรมราโชบายที่พระราชทานไว้แก่การจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงตอนหนึ่ง มาเกริ่นไว้ ณ ที่นี้ว่า

"ข้าไม่ต้องการนักเรียนตัวอย่างที่สอบไล่ได้คะแนนขั้นเกียรตินิยมทุกๆ ครั้ง ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ข้าอยากได้ยุวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี ข้าจะไม่โศกเศร้าเลย ถ้าเจ้ามารายงานว่าเด็กคนหนึ่งเขียนหนังสือไม่คล่อง คิดเลขซ้อนไม่เป็น และไม่รู้วิชาเรขาคณิตเลย ถ้าข้ารู้ว่าเด็กคนนั้นได้ศึกษาพอที่จะรู้ว่า ความเป็นผู้ชายคืออะไร และขี้แยคืออะไร

ข้าไม่อยากได้ยิน ‘คนฉลาด’ บ่นอีกว่า ‘ปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด’ สิ่งที่ข้าต้องการในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงคือให้การศึกษาเป็นเครื่องทำให้เด็กเป็นยุวชนที่น่ารัก และเป็นพลเมืองดี ไม่ใช่ทำลายบุคลิกภาพเสียหมดโดยบรรทุกหลักสูตร และระบบการต่างๆ ลงไป

ข้าต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งที่งดงาม จนทำให้เด็กที่ออกไปแล้ว หวนกลับมาคิดถึงในวันข้างหน้าด้วยความภาคภูมิใจ"


เรื่องมรดกความเป็นไทยนั้น ในรัชกาลที่ ๖ ทรงเรียนรู้จากประสบการณ์ว่าการรับวัฒนธรรมตะวันตกมาทั้งดุ้น อย่างชนิดที่คุณพพ.เรียกว่าเป็น "ศิลปะสั่งเข้า" นั้น เป็นผลที่ไม่ค่อยจะเป็นบวกนักต่อความเป็นไทยอย่างไร

ปฐมบทของแนวพระราชดำริที่จะแสดงเกียรติภูมิความเป็นไทยแก่สายตาชาวโลกนั้น เริ่มต้นแต่เมื่อแรกเสวยราชย์ครับ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๔ และทรงเชิญพระราชวงศ์ และผู้แทนรัฐบาลนานาประเทศมาร่วมงาน นับเป็นครั้งแรกของสยามที่ได้รับเสด็จและต้อนรับบุคคลสำคัญจากประเทศมหาอำนาจจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ ไม่เคยมีชาติใดในเอเชียได้รับเกียรติเช่นนี้มาก่อน นับเป็นพระบรมราชกุศโลบายอันแยบคาย ในการแสดงให้โลกได้ตระหนักในความเป็นอารยะของชนชาติไทย ผู้มีสิทธิ และศักดิ์ศรีเสมอหน้าอารยประเทศ ให้เห็นว่างานโคโรเนชั่นของชาติเรา ไม่ใช่เต้นระบำอุ้มกะๆ รอบกองไฟ นุ่งใบไม้ หรือฆ่าสัตว์บูชายัญอะไรอย่างที่ฝรั่งอาจจินตนาการโลกตะวันออกอย่างเพ้อพกไป หากแต่แต่ละขั้นแต่ละตอน แต่ละพิธีการ ล้วนมีความหมาย โอ่อ่า และสำแดงความเป็นไทยได้อย่างงดงาม

จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) เล่าถึงความอึดอัดพระราชหฤทัยประการหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ในหนังสือที่ท่านเรียบเรียง ผมไม่มีหนังสือนั้นอยู่ในมือ แต่จำได้ว่า ท่านเล่าว่าสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ไม่ทรงพระราชปรารถนาที่จะสร้าง "พระที่นั่งอนันตสมาคม" ให้มีรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมแบบฝรั่งแท้ๆ เช่นนั้นเลยแม้แต่น้อย เพราะนอกจากจะต้องใช้ช่างฝรั่ง ใช้วัสดุนำเข้าซึ่งมีราคาแพงมหาศาลแล้ว ยังทรงพระราชดำริว่า พระที่นั่งองค์นี้ต่อไปก็คงเป็นได้แค่ของแปลกของงามในสายตาคนไทย แต่จะอวดสายตาชาวโลกโดยเฉพาะชาวยุโรปนั้นหาได้ไม่ พระที่นั่งองค์นี้จะงามก็งามได้เพียงเศษเสี้ยวของพระราชวังในเมืองฝรั่ง ตรงกันข้าม หากว่าพระราชทรัพย์ที่ทรงทุ่มไปในครั้งนี้ เป็นการสร้างพระที่นั่งแบบไทยๆ จะทรงโสมนัสพระราชหฤทัยไม่ใช่น้อยเลย เพราะสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแบบไทยๆ นี่แหละที่จะอวดสายตาชาวโลกได้ ไม่มีใครทำได้เทียบเทียม ไม่เหมือนใคร ใช้ช่างไทย วัสดุไทยทุกอย่าง แต่กระนั้น ก็จำจะต้องทรงสร้างให้แล้วเสร็จตามแบบด้วยความกตัญญูกตเวที เพื่อเป็นการสนองพระราชปรารถนาของสมเด็จพระบรมชนกนาถที่ได้ทรงตั้งไว้ในตอนปลายรัชกาล

สิ่งที่ทรงกลัดกลุ้มพระราชหฤทัยอีกอย่างคือการรับเอาแบบอย่างฝรั่งมาครึ่งๆ กลางๆ แบบไม่รู้จริง หรือเลือกมาแต่เฉพาะด้านเสียๆ เช่นการกินเหล้าเมายา หรือมั่ววิถีตะวันตก อ้างว่าฝรั่งเขาทำ เช่น ในช่วงนั้น ตามบ้านเรือนขุนนางและคหบดีต่างๆ หลายบ้าน จะต้อนรับแขกเหรื่อด้วยสุรายาเมา นำวิสกี้โซดามาเลี้ยง พระองค์ทรงพระราชปรารภว่านี่เป็นการรับวัฒนธรรมมาอย่างผิดๆ เพราะเท่าที่ประทับอยู่ยุโรปมาเกือบสิบปี ไม่ทรงเห็นว่าบ้านไหนเขาจะยกวิสกี้มาเสิร์ฟให้แทนน้ำท่าอย่างปกติเลย แต่คนไทยก็มาตู่เอาว่า นี่ทำอย่างฝรั่งอารยะเขาทำกัน จนเป็นที่กล่าวกันว่าในรัชกาลที่ ๖ นั้นมีพระราชนิยมคือถ้าฝรั่งต้องฝรั่งแท้ ถ้าไทยก็ไทยแท้ ไม่ใช่มั่วๆ ซั่วๆ อ้างปะปนกัน แม้แต่เรื่องอาหารการกินก็ไม่โปรดให้ผิดแบบ

พระราชปรารภที่จะเชิญมาดังต่อไปนี้ ผมว่าคนไทยทั้งหลายพึงสังวร

“...ข้อเสียของคนไทยชั้นใหม่ที่มีอยู่ที่สำคัญ คือสิ่งใดที่เป็นของเก่าจะทิ้งเสียหมด แต่ของใหม่ก็ไม่มีมาแทน...การที่ประพฤติตนตามอย่างฝรั่งนั้น ถ้าประพฤติตามในทางที่ดีก็ไม่น่าติเตียน ที่เลือกประพฤติแต่เฉพาะในทางที่สะดวกแก่ตนอย่างเดียว ที่จะไม่สะดวกก็ไม่เก็บมาประพฤติตามบ้าง ฝรั่งเขารักชาติบ้านเมืองของเขา ทำไมเราไม่รักบ้าง จึงไปนิยมชาติอื่นภาษาอื่นของเขาทำไม ชาติของเราเลวทรามอย่างไรจึงรักไม่ได้ ขอให้เชื่อข้าพเจ้าเถิด ...คนไทยที่ไม่รู้จักรักชาติของตนเอง อย่าเผลอไปว่าชาวยุโรปเขาจะนับถือ มีแต่เขาจะดูถูกเท่านั้น...”
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 07 ต.ค. 07, 13:42

ถ้าจะยกความเป็นขัตติยะออกจากพระองค์
แล้วพิจารณาท่าน อย่างเป็นมนุษย์เดินดินแล้ว ผมคิดว่า ทรงเป็นตัวอย่างของมนุษย์ที่พิศดารนัก
(ในทางที่ตรงกับความหมายดั้งเดิมของศัพท์นะครับ ไม่ใช่อย่างที่เราชอบใช้กัน)
คือทรงเป็นมนุษย์ที่บรรลุธรรมชั้นสูง แต่ก็ยังคงความเป็นปุถุชนไว้ด้วยพร้อมกัน

อันที่จริง หากมิได้ทรงเป็นกษัตริย์ เป็นแต่เพียงชนชั้นนำท่านหนึ่ง เราคงเอ่ยถึงภาระที่ทรงกำกับได้ล้ำลึกกว่านี้
ผมออกจะรำคาญทั้งคนเล่า และคนที่ชอบจำมาเล่าซ้ำ เรื่องมุดใต้โต๊ะถวายงาน....ฯลฯ อะไรพวกนั้น
รวมถึงที่ทรงโปรดคนหนึ่งคนใดเป็นพิเศษ ชอบกันจริ๊ง

เพราะเรื่องเหล่านี้ มาบดบัง"ของจริง" ที่ทรงดำเนินการจนเบลอไปหมด
อย่างเรื่องลูกเสือเป็นต้น ผมเห็นว่า เป็นอุบายอันแสนแยบคายที่จะพาเด็กๆ ของเราไปในทางที่ห่างไกลอบายภูมิ ชงัดนัก
เราก้อเอามาแผลงเสียจนกลายเป็นกิจกรรมประหลาด และปัจจุบันจะยังมีเหลืออยู่แค่ใหนก็อยากรู้เหมือนกัน

ตัวผมเองนั้น เมื่อสิบขวบต้นๆ เจอโจทย์ท้าทายว่า จงหุงข้าวด้วยไม้ขีดสามก้าน
ผมยังประทับใจมาจนทุกวันนี้ เป็นโจทย์ที่เหมาะกับจิตใจเด็กอย่างไม่มีอะไรจะเหมาะมากไปกว่า
มันฝังลึกจนทุกครั้งที่เห็นกลักไม้ขีต เป็นต้องนึกถึงโจทย์ไม้ขีดสามก้าน

ผมคิดว่า ทรงมีพลังจินตนาการที่เกินปกติชนไปมากๆๆๆๆๆๆๆ
รึว่าไงคุณ UP ...ฮึ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.047 วินาที กับ 21 คำสั่ง