เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 72538 เกร็ดบางเรื่องเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6
หนอนบุ้ง
อสุรผัด
*
ตอบ: 113


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 12 ต.ค. 07, 23:43

โอย ฟังเกร็ดที่คุณพี่วันดีเล่า หนอนบุ้งใจหาย
หนูเอาใจช่วยกลัวว่าขาพระเก้าอี้จะตกลงไปในรอยแยกของฟาก
หากตกไปจริงๆ ละก็ สงสัยว่ากบาลพ่อต้องแยกตามฟากด้วย

กราบขอบคุณ คุณพี่มากที่ติติงเรื่องอนุภรรยา
หนูไปเช็คแล้ว เรียกอย่างที่คุณพี่เรียกจริงๆ
ขอขอบคุณอีกครั้งที่คุณพี่ทำหน้าที่โปลิซประจำบอร์ด เอ้ย พลเมืองดีค่ะ อิอิอิ

**อ้อ ลืมบอก ที่แสดงละครวันนั้น คุณมานนท์ เล่นเป็นสังข์ทองค่ะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 12 ต.ค. 07, 23:57

เพิ่งนึกออกว่า มานนท์ ไหน

ชื่อคนโบราณนั้นเรียบง่ายและมีความหมายค่ะ
คุณแพ ท่านเกิดในแพ จึงชื่อแพ
พี่สาวคนหนึ่งของเจ้าคุณแพ  เกิดตอนครอบครัวอาศัยอยู่ในฉางข้าว  จึงได้รับชื่อว่าฉาง

เจ้าคุณอาของคุณป้าที่เป็นเพื่อนของคุณลุงทางคุณแม่ของคุณหนอน  ตั้งชื่อลูกๆเทียมเจ้านายเลยนะคะ
บันทึกการเข้า
หนอนบุ้ง
อสุรผัด
*
ตอบ: 113


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 13 ต.ค. 07, 00:11

คุณแพ ท่านเกิดในแพ จึงชื่อแพ
มิน่าเล่าคะ
หนูก็แปลกใจที่เจ้าคุณแพ จู่ๆ พอชราขึ้นๆ แล้วนึกอยากอยู่บ้านริมน้ำขึ้นมาดื้อๆ

คุณวันดีคะ
ที่ว่าท่านเจ้าคุณตั้งชื่อลูกเทียมเจ้านายนั้น
หนูนึกไม่ออกว่าชื่อเจ้านายท่านไหนที่คล้ายบ้าง
คำ (เกือบ) พ้องที่นึกออก คือ อานนท์ สานนท์ มกรานนท์

ชื่อไหนเอ่ย?
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 13 ต.ค. 07, 07:13

คนสมัยก่อนไม่นิยมตั้งชื่อลูกยาวๆค่ะ

ขออภัยที่ทำตัวเหมือน ขัดคอ คุณหนอนบุ้งอยู่ตลอด

ที่จริงสนใจมาก เพราะข้อมูลที่อ้างตัวแหล่งข่าวขนาดนี้  เป็นเรื่องน่าฟัง
จะไปหาฟังที่ไหน


แหม  มีความสงสัยหลายเรื่อง  เอามือข้างหนึ่งอุดปากตัวเองไว้ก่อนก็แล้วกัน
บันทึกการเข้า
หนอนบุ้ง
อสุรผัด
*
ตอบ: 113


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 13 ต.ค. 07, 08:06

ขออภัยที่ทำตัวเหมือน ขัดคอ คุณหนอนบุ้งอยู่ตลอด

หา หนูยังไม่ทันได้คิดไปถึงเรื่องขัดคอเลย

หนูกลับคิดว่าดีเสียอีก พอมีใครทัก ก็ได้หัวข้อไปซักต่อ ซึ่งบางเรื่องเองก็เป็นเรื่องหนูเองก็คิดไม่ถึงเหมือนกัน

คุณวันดีไม่ต้องคิดมากค่ะ ถามมาก รู้มาก คนอ่านก็พอได้เผื่อแผ่ไปด้วย

ถ้าคำไหน เรื่องไหนผิดพลาด มากไปน้อยไป ก็ขอให้บอกกล่าวกันเถอะ หนูยินดีจ้า
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 13 ต.ค. 07, 08:53

ห่างเหินจากเรือนไทยไปเสียนาน  มาพบอีกทีก็ถูกใช้ชื่อเป็นข้อมูลอ้างอิง  เลยต้องรีบอ่านจนครบ
มีข้อมูลที่ข้อเรียนเพิ่มเติมคำตอบข้างต้นเป็นลำดับดังนี้

เรื่องขุนนางผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมโต๊ะเสวยเย็นเป็นประจำนั้นมี ๓ ท่าน คือ เจ้าพระยารามรามราฆพ  พระยาอนิรุทธเทวา  และพระยาอุดมราชภักดี (โถ  สุจริตกุล)  กล่าวกันว่า เวลาที่ทรงกริ้วพระยาอุดมฯ นั้นมักจะทรงกระทืบพระบาทแรงเป็นพิเศษ  ด้วยทรงถือว่าเป็นพระญาติสนิท  เพราะสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ผู้ทรงเป็นพระอัยยิกา (ยาย) ในพระองค์นั้นสกุลเดิมของท่าน คือ สุจริตกุล

เรื่องอินทรธนูพระตำรวจที่ศุกรหัศน์ท่านกล่าวถึงว่า เป็นอินทรธนูแบบทหารไม่มีกิมเช็งนั้น  ขอเรียนอธิบายว่า  อินทรธนูของทหารสมัยก่อนนั้น  เป็นรูปสี่เหลี่ยมปลายตัดที่จ้นคอทำเป็นรูปตัดแบบเดียวกับอินทรธนูตำรวจสมัยปัจจุบัน  มีแถบทองติดที่ขอบเว้นด้านปลายบ่า  และสำหรับกรมรักษาพระองค์จึงมีกิมเช็ง (เส้นไหมทอง) ขดเป็นวงที่ริมขอบอินทรธนู
แต่ถ้าเป็นกรมทหารทั่วไปที่ไม่ใช่กรมรักษาพระองค์ไม่มีเส้นไหมทองขดที่ขอบ  ถ้าจะเปรียบก็คือ อินทรธนูสำหรับหน่วยทหารทั่วไปจะเป็นอินทรธนูติดแถบทองเรียบๆ เหมือที่นายทหารใช้อยู่ในปัจจุบัน  แต่อินทรธนูของกรมรักษาพระองค์จะเป็นเหมือนอินทรธนูของนายร้อย นายพันตำรวจ  แต่เปลี่ยนแถบเงินเป็นแถบทอง

เรื่องเจ้าพระยายมราช  ก็มีข้อที่น่าคิดว่า ท่านได้รับพระราชทานพระมหากรุณาให้เป็น มหาอำมาตย์นายก ซึ่งเป็นยศพลเรือนชั้นสูงสุดเทียบเท่า จอมพล ของทหาร  และยศนี้มีผู้ได้รับพระราชทานพร้อมกันเพียง ๑ พระองค์ และ ๑ คน อีกพระองค์หนึ่งนั้น คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ  ส่วนเรื่องที่ว่าล้นเกล้าฯ เสด็จฯ ไปทรงต่อว่าเจ้าพระยายมราชถึงที่บ้าน  และได้เฝ้าฯ กันที่สนามหน้าบ้านนั้น  ขอขยายความว่าตามที่เคยได้ยินมาว่า  ปกติท่านเจ้าคุณเป็นคนรักต้นไม้  ยามที่ท่านอยู่บ้านท่านมักจะลงดูแลสนามและต้นไม้ในบ้าน  วันหนึ่งมีคุณมหาดเล็กท่านหนึ่งไปพบท่านที่บ้าน  เห็นคนแก่กำลังนั่งดูแลต้นไม้อยู่ที่หน้าบ้าน  ก็คิดว่าเป็นคนสวน  จึงเข้าไปถามท่านว่า  ลุงๆ ท่านเจ้าคุณเจ้าของบ้านอยู่หรือเปล่า  ท่านก็บอกว่าอยู่  เดี๋ยวจะไปเรียนให้ทราบ  เชิญนั่งรอก่อน  สักครูท่านเจ้าคุณเจ้าของบ้านก็ออกมาพบคุณมหาดเล็ก  เล่นเอาคุณมหาดเล็กท่านนั้นแทบจับไข้ไปเลยทีเดียว

เรื่องเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ออกมาพำนักที่สวนสุนันทานั้น  ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ  ทราบแต่ว่า เมื่อพระยาอุดมราชภักดี ขายบ้านมนังคศิลาให้แก่รัฐแล้ว  ได้มาพำนักอยู่ที่บ้านเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ที่ริมคลองสามเสน  ตรงเชิงสะพานข้ามคลองสามเสนที่ถนนราชสีมาเหนือในปัจจุบัน  ฝั่งตรงข้ามกับวังสวนปาริจฉัตต์  ที่ดินบริเวณริมคลองสามเสนนี้
เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของสวนดุสิตที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงซ์อไว้พร้อมกับพระราชวังดุสิต  และได้พระราชทานให้แก่พระราชธิดาและบาทบริจาริกา  จึงมีวังของเจ้านายพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๕ หลายวังเรียงรายมาแต่ริมถนนสามเสนมาจนถึงคลองเปรมประชากร
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 13 ต.ค. 07, 09:07

ขอถามต่อนะคะ  เรื่องขัดคอ หรือเกิดความคิดเรื่องบุคคลชั้นสูงของประเทศต้องยืมของแต่งตัวจากญาติเพื่อรักษาเกียรติของตน เอาไว้ก่อนแล้วกัน
ถ้าจะนับญาติ ของสกุลทั้งสี่(ในแง่มุมประวัติความเป็นมาเป็นไปของสกุลทรงอำนาจของประเทศ)
บางท่านคงรำคาญดิ้นปัดๆไปแล้วก็ได้


คำถามมีว่า  อะแฮ้มๆๆๆ

สร้อยที่หายไปนี่  คงไม่ใช่สร้อยเพชรเม็ดแตงที่ ร.๖ พระราชทานคุณหญิงกระมัง


ขอบคุณ คุณ V_Mee  ค่ะ  คำอธิบายเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ความรู้นั้นพอหาได้  แต่คำอธิยายไม่ทราบจะเรียนรู้จากที่ใด
กราบขอบคุณค่ะ  ไม่มีข้อสงสัยอื่นใดมิได้
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 14 ต.ค. 07, 22:12

เพิ่งอ่านเจอครับ
ไม่ใช่เกร็ด เป็นแก่นแกนในทีเดียว
 Exhibition of Agricultural & Commerce  97 คนอ่าน   
 Report of the First and the Second Exhibition of Agricultural & Commerce, Bangkok 1910, 1911
---------------------------
ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๕๓ ปีสุดท้ายของรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการจัดงาน “การแสดงกสิกรรมแลพาณิชยการ ครั้งที่ ๑” ขึ้น ณ สระปทุม หรือตำบลปทุมวัน ซึ่งเป็นทุ่งนานอกเมือง งานครั้งนั้นจัดอย่างมโหฬาร มีทั้งนิทรรศการ งานออกร้านของบริษัทห้างร้าน การประกวดพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร แปลงนาสาธิต รวมทั้งการทดลองเครื่องจักรกลการเกษตรแผนใหม่ เช่นรถไถนาพลังไอน้ำ มีผู้เข้าชมงานอย่างล้นหลาม ในปีต่อมา คือปี พ.ศ.๒๔๕๔ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการจัดงานครั้งที่ ๒ ขึ้นอีก โดยอาศัยพื้นที่และอาคารเดิมจากงานหนแรก แต่ปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น

เกือบร้อยปีให้หลัง พื้นที่ทุ่งปทุมวันกลายเป็นที่รู้จักกันในนาม “เวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์” ไม่มีร่องรอยหลักฐานอะไรของงานนิทรรศการครั้งนั้นหลงเหลืออยู่เลย เว้นไว้เสียแต่หนังสือสูจิบัตร ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นอย่างงดงาม ทั้งในภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่ก็มีเหลืออยู่เพียงในห้องสมุดไม่กี่แห่ง

ขณะที่สถาบันการศึกษาอีกหลายๆ แห่งซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับด้านประวัติศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ ยังคงไม่ได้มีบทบาทอะไรในเรื่องทำนองนี้ ทางศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กลับเล็งเห็นถึงคุณค่าของหนังสือและความสำคัญของการต่ออายุความรู้ จึงได้นำรายงานการแสดงกสิกรรมแลพาณิชยการ ครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ ฉบับภาษาอังกฤษ มาถ่ายเพลทตีพิมพ์รวมกันเป็นเล่มหนังสือปกแข็ง ใช้ชื่อว่า Report of the First and the Second Exhibition of Agricultural & Commerce, Bangkok 1910, 1911 ด้วยขนาดรูปเล่มและคุณภาพการพิมพ์ที่ทัดเทียมกับต้นฉบับ ทั้งยังรักษาส่วนปลีกย่อยของหนังสือเดิมไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาพประกอบ หน้าแจ้งความโฆษณา หรือแม้แต่แผนที่บริเวณงาน ซึ่งพิมพ์สี่สีแยกไว้ต่างหาก

นับเป็นเรื่องน่าชื่นชมยิ่ง !
-------------------------------------
http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=News&new_topic=8&pagenum=12
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 14 ต.ค. 07, 23:50

เกร็ดบางเรื่องเกี่ยวกับรัชกาลที่ ๖

(อ้่างอิง อนุสรณ์  "ศุกรหัศน์"  เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ เสวกโท จมื่นมานิตย์นเรศ(เฉลิม  เศวตนันท) เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๑๑)


หน้า ๕๐
"ผู้เล่าได้เริ่มเป็นนักเขียนตั้งแต่อยู่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง   โดยเขียนเรื่องลงในหนังสือ "พระมนูประสิทธิ์"  อันเป็นหนังสือของโรงเรียน 
จำได้ว่าเรื่องแรกที่เขียนคือโคลงกระทู้สุภาษิตว่า "ความ-ดี-มี-ชัย"  และยังเขียนอะไรต่อมาอีกหลายเรื่อง  ส่วนมากเป็นกวีนิพนธ์เพราะติดมาจากพ่อ

เคยเขียนกลอนละครรำเรื่องหนึ่งนึกชื่อไม่ออกเวลานี้   โดยใช้พระราชนิพนธ์เรื่องพระเกียรติรถเป็นครู
เขียนเสร็จลงพิมพ์แล้ว  ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ได้ทอดพระเนตร  ทรงพอพระราชหฤทัยมาก   
โปรดเกล้าฯให้สอบถามว่าใครเขียน
เมื่อทรงทราบแล้ว    ทรงแคะไค้และล้อเลียนผู้เขียนอยู่นานด้วยทรงพระมหากรุณาเป็นอย่างยิ่ง
ตรงไหนที่ทรงตำหนิ  ก็ทรงชี้แจง   นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ  ซึ่งแต่คนเล็กอย่างผู้เล่าก็ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่"


หน้า้่ ๔๕
"ปลายปี ๒๔๖๗  มาคราวนั้นประชวรพระนาภีและประชวรไข้  พระอาการค่อนข้างหนัก  จนเสด็จออกจากที่พระบรรทมไม่ได้

ผู้เล่าได้มีโอกาสถวายรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท  โดยการอ่านหนังสือถวายทุกคืนทุกวันกว่า ๓ เดือน  และมีหน้าที่ถวายอยู่งานทั้งพัดและนวด  อย่างหน้าที่มหาดเล็กห้องพระบรรทม
ทั้งๆที่ผู้เล่ามีตำแหน่งเพียงมหาดเล็กรับใช้กองตั้งเครื่อง  จึงนับเป็นหน้าที่พิเศษ"


หน้า  ๒๐
"หลังจากนั้น  ผู้เล่าก็ได้เป็นผู้มีหน้าที่สนองพระเดชพระคุณในการอ่านหนังสือถวายอยู่ตั้ง ๖ - ๑๐ ชั่วโมงในวันหนึ่งก็มี
โปรดเกล้าให้อ่านบทกวีนิพนธ์เป็นส่วนมาก   และมักโปรดเกล้าให้อ่านพระราชนิพนธ์ที่ทรงรจนาขึ้นใหม่ เช่น มัทนะพาธาตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ
เป็นการสอบทานและทรงฟังด้วย

คราวหนึ่งโปรดให้ผู้เล่าอ่านข่าวจากหนังสือบางกอกไทม์ถวาย  กริ้วเสียใหญ่โต  แต่ไม่ได้กริ้วผู้เล่า
ไปกริ้วครูซีเวลล์ อาจารย์สอนภาษาอังกฤษของผู้เล่าว่า สอนภาษาอังกฤษให้เด็กไม่ดีพอ"



ได้เรียงบทความของ ศุกรหัศน์เสียใหม่ ให้พอเป็นเรื่องเดียวกัน
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 15 ต.ค. 07, 06:45

เรื่องพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่พระราชทานแก่เด็กๆ นั้น  เพื่อนๆ ของ ศุกรหัศน์ ได้เล่าไว้อีกหลายเรื่อง อาทิ

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงนำเสือป่าและลูกเสือเดินทางไกลไปดอนเจดีย์  ในระหว่างการเดินทางวันหนึ่งเมื่อไปถึงที่พักแรมเกิดฝนตกหนัก  ก็โปรดให้ลูกเสือหลวงซึ่งเป็นเด็กๆ ได้เข้าไปพักแรมในกระโจมที่ประทับ  แล้วทรงม้าฝ่าสายฝนไปประทับแรมที่ศาลาวัดแห่งหนึ่ง

อีกเรื่องหนึ่ง คือ วันหนึ่งกำลังทรงพระอักษร  เด็กๆ ก็วิ่งเล่นส่งเสียงดังอยู่ที่ข้างที่ประทับ  สักครูมีคุณมหาดเล็กมาห้ามเด็กๆ มิให้ซุกซนเพราะเกรงว่า จะเป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาท  แต่คนที่ถูกกริ้วกลับเป็นคุณมหาดเล็กท่านนั้น  มีระราชกระแสว่า เป็นธรรมชาติของเด็กต้องเล่นซุกซน  คนที่ไปห้ามเด็กไม่ให้ซุกซนนั้นคือคนที่ไม่ปกติ 
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 15 ต.ค. 07, 15:43

การเดินทางไกลของนักเรียนมหาเล็กหลวงกับกองเสือป่า
(อ้างอิงแล้ว  หน้า ๔๕)

"ปีที่สำคัญที่สุดคือการเดินไปถึงดอนเจดีย์ อันเป็นที่ประดิษฐานพระราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร ณ บัดนี้
ในการเดินทางทุกปีนี้  มีลำบากลำบนที่สุด ก็คือถูกฝนที่บึงกระจับจวนจะถึงที่พักอยู่แล้ว
พอเข้าเขตขอบบึง  ฝนก็เทลงมาอย่างฟ้ารั่ว  ทำให้ขอบบึงที่แห้งผากอยู่กลายเป็นทะเลตมไปทันที
เสบียงอาหารมายังไม่ถึงเพราะเข้าไม่ได้  กระโจมก็กางไม่ค่อยอยู่ เพราะเป็นดินเลน

โปรดเกล้าฯให้ลูกเสือหลวงตัวเล็กๆรวมทั้งผู้เล่าด้วยเข้าไปนอนพักอยู่ในกระโจมพลับพลา ซึ่งก็เลอะเทอะเหมือนกัน
พอถึงเวลาเสวยพวกเราเลยได้รับส่วนแบ่งพระราชทาน

ท่านรับสั่งว่า "เอาลูกเขามาลำบากลำบนต้องดูแลมันให้ดี"  ดั่งนี้"




(พระยาสัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี  "เล่าให้ลูกฟัง"  พิมพ์ครั้งที่สองเมื่อ พฤศจิกายน ๒๕๐๒)
หน้า ๙๙
"พลับพลาเต๊นท์ที่ประทับ ณ ใกล้ที่ว่าการอำเภอโพธาราม  เต๊นท์ที่ประทับนี้เป็นเต๊นท์ขนาดใหญ่มาก  ภายในจัดเป็นห้องบรรทม  เข้าใจว่ามีทั้งห้องสรงลงพระบังคลเสร็จ
แต่พ่อไม่มีหน้าที่จะได้เข้าไปเห็นๆแต่ภายนอก  ซึ่งจัดเป็นท้องพระโรงโถง
ตั้งโต๊ะทรงพระอักษรและที่ประทับพระราชสำราญ  มีโต๊ะเก้าอี้สำหรับประทับเสวยอยู่กับพื้นดิน  ปูด้วยผ้าใบชนิดหนา  แล้วปูพรมอย่างดีเต็มในเต๊นท์นั้นทับลงไปอีกชั้นหนึ่ง"



พ.ศ. ๒๔๖๐
หน้า ๑๒๖ - ๑๒๘
ย่อความ  พ่อเอานักโทษในเรือนจำราชบุีรี ไปใช้ในการซ้อมรบเสือป่าราว ๓๐ - ๔๐ คน  เลือกแต่โทษเบาๆที่จะไม่หนี  มีผู้คุมสองคน  กำหนดบริเวณให้อยู่เฉพาะ

"นักโทษนั้นจะต้องนุ่งกางเกงและสวมเสื้อฝาดสีดินแดงหม่นๆ  ข้างหลังเสื้อมีอักษร ท  แปลว่านักโทษ 
ถ้าเป็นกองปราบสุนัขในค่ายหลวง ก็เพิ่มอักษร ม อีกตัวหนึ่ง  เขียนด้วยสีดำ ตัวโตมาก มองแต่ไกลก็เห็นถนัด

ครั้นมาตอนบ่ายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่จะเข้าร่วมโต๊ะเสวยก็มาคอยเฝ้าอยู่ราวสัก ๑๐ กว่าคน  เจ้าพระยายมราชก็มาคอยเฝ้าอยู่ด้วย

ครั้นได้เวลาเสวยราวบ่ายสามโมง  พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จลงจากพระตำหนักเรือนต้นมายังพลับพลาเสวย 
โดยปกติสุนัขขนยาวเล็กๆ(ดูเหมือนจะไม่ใช่ย่าเหล)ตามติดพระองค์อยู่เสมอไม่ว่าจะเสด็จที่ใด

ภายในค่ายหลวง  เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงจากพระตำหนัก  เจ้าสุนัขน้อยนี้ก็ตามเสด็จด้วย 
ถ้าเห็นสุนัขอื่นผ่านมาก็มักจะเห่าและวิ่งตามไป   พวกมหาดเล็กก็วิ่งตามจับ 
มันก็ยิ่งวิ่งไล่หนักขึ้น  กว่าจะจับตัวได้มักต้องช่วยกันหลายคน   
ลักษณะเช่นนี้มีบ่อยๆ  พ่อจึงได้จัดตั้งกองปราบหมาขึ้น
คือไม่ว่าเวลาใด  ไม่ให้หมาใดๆเข้าไปในเขตค่ายหลวงทีเดียว  ถึงกระนั้นก็ไม่พ้นที่จะมีเล็ดรอดเข้าไปเสมอๆ

บังเอิญในวันนั้น  นักโทษกองปราบสุนัขนี้ได้เดินผ่านมาในค่ายหลวงตอนริมลำแม่น้ำ  ถือไม้พลองเสียด้วย
ยืนคอยระวังเกรงว่าหมาจะเดินย้อนมาขึ้นทางริมแม่น้ำ
ได้หันหลังให้พลับพลาที่ประทับ  ห่างราวเกือบเส้นหนึ่ง

ทอดพระเนตรเห็นเข้่า  รับสั่งแก่เจ้าพระยาธรรมาฯ  แล้วชี้พระหัตถ์ว่า นั่นอะไรของแก

เวลานั้นพ่อเดินอยู่ห่างจากที่ประทับ  เจ้าพระยาธรรมาเรียกพ่อเข้าไปถาม

พ่อเรียนว่าเป็นกองปราบสุนัข เพราะหลายคราวแล้วเจ้าสุนัขข้างนอกจะเล็ดรอดเข้ามารบกวนสุนัขของพระเจ้าอยู่หัว

เจ้าพระยาธรรมากลับไปบังคมทูล

พระเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวล  ข้าราชการผู้ใหญ่ในที่นั้นก็หัวเราะกันทุกคน  พ่อคิดว่าพระเจ้าอยู่หัวคงทรงขบขัน"

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 15 ต.ค. 07, 16:19

เกร็ดเกี่ยวกับสมเด็จพระพันปีหลวงเสด็จราชบุรี

(อ้างอิงพระยาสัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี)
หน้า ๑๑๙ - ๑๒๐

"ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๐  ภายหลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับ ณ ค่ายหลวงบ้านโป่งแล้ว
ก็ถึงวันที่สมเด็จพระพันปีหลวงเสด็จถึงพลับพลาบ้านกล้วย ซึ่งท่านเทศาจัดรับเสด็จทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำราชบุรี

พ่อยืนรับเสด็จอยู่ในหมู่กรมการอำเภอและกำนันผู้ใหญ่บ้านทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำราชบุรี
ท่านเทศากับข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยนั้น  รับเสด็จอยู่ท้ายพลับพลาฝั่งตะวันตก

ขณะนั้นพอเรือกลไฟทหารเรือจูงเรือพระที่นั่งมาเหนือพลับพลาหน่อยหนึ่ง  ก็ปลดเรือพระที่นั่ง
เรือพระที่นั่งจะชื่ออะไรพ่อก็จำไม่ได้ 
เป็นชุดของฝ่ายในของรัชกลที่ ๕ เป็นต้นว่า  ยอดนัยนา  ฟ้าใจทึ่ง  หนึ่งในหมู่  คู่ชีวิต  พิศพาปลื้ม  แลลืมพริบ  อะไรพวกนี้แหละ

เป็นเรือบดขนาดใหญ่มีสองชั้น  ชั้นบนทำโปร่งๆ

เมื่อเรือพระที่นั่งถูกปลดจากเรือจูงก็ลอยลำตามน้ำมา
พลถ่อสามสี่คนจะถ่อเข้าริมฝั่งทางน้ำลึกไม่ทัน  เรือพระที่นั่งก็ขวางลำเข้ากับเกาะตื้นกลางน้ำเหนือพลับพลาเล็กน้อย

พ่อยืนดูอยู่บนฝั่งเห็นไม่ได้การ  ถ้าเรือพระที่นั่งถึงน้ำตื้นมากและน้ำตรงนั้นไหลมาจากที่ลึก  พอถึงน้ำตื้นก็ไหลแรงเป็นธรรมดา
พลถ่อจะยันกรานไว้ไม่อยู่

พ่อแลไปทางฝั่งท่านเทศาก็เห็นยืนกันนิ่งอยู่   พ่อคิดว่าปล่อยให้เรือพระที่นั่งถึงติดตื้นจะเข้าช่วยไม่ทัน  อาจล่มแน่

พ่อจึงนำพวกกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ยืนรับเสด็จอยู่นั้นประมาณ ๔๐ กว่าคน ลงน้ำทันที
เพราะทางฝั่งตะวันออกไม่ใช่ล่องน้ำ  ตื้นเพียงเอว

จึงบุกน้ำไปพร้อมกัน

พ่อสั่งให้เข้าแถวตั้งแต่หัวเรือพระที่นั่งจนท้ายเรือ   เข้าประคองยันเรือไว้พอดี
ีและโชคดีจริงๆพอพวกผู้ใหญ่บ้านและกำนันยันเรือพระที่นั่งไว้ได้  ก็พอดีท้องเรือพระที่นั้งครูดกับพื้นท้องน้ำ

พ่อร้องสั่งเสียงดังมากทีเดียวให้ประคองเรือพระที่นั่งเต็มแรงให้ตกน้ำลึกจงได้   เขาก็ทำตามคำสั่ง
เรือพระที่นั่งก็เคลื่อนออกได้ดังประสงค์

พลถ่อก็จัดการเอาเรือพระที่นั่งเข้าเทียบในพลับพลาที่จัดไว้เรียบร้อย

ส่วนพ่อก็กลับมาขึ้นฝั่งตะวันออกพร้อมด้วยกำนันผู้ใหญ่บ้าน   แล้วก็กลับบ้านโป่ง  เพื่อไปปฏิบัติกิจการตามหน้าที่ต่อไป"



ยังมีเกร็ดเล็กๆน้อยอีกสองเรื่อง  แต่เห็นว่าเมื่อได้เล่าเรื่อง เจ้าเมือง กรมการอำเภอ กำนันและผู้ใหญ่บ้าน พร้อมใจกันลงน้ำ ประคองเรือพระที่นั่ง สมเด็จพระพันปีหลวง
ก็คิดว่าไม่มีเรื่องใดจะประทับใจเท่า  เป็นเรื่อที่หาอ่านยากอยู่
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 15 ต.ค. 07, 18:50

พลับพลาเต๊นท์ที่ประทับ ณ ใกล้ที่ว่าการอำเภอโพธาราม  เต๊นท์ที่ประทับนี้เป็นเต๊นท์ขนาดใหญ่มาก  ภายในจัดเป็นห้องบรรทม  เข้าใจว่ามีทั้งห้องสรงลงพระบังคลเสร็จ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดูจะโปรดประทับเต๊นท์กระโจมนี้มาก  ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันมีบันทึกว่า เสด็จประทับกระโจมที่ท่าวาสุกรอยู่บ่อยๆ  รวมทั้งเมื่อทรงสร้างดุสิตธานีขึ้นที่ริมอ่างหยก  ในพระราชวังดุสิต  ก็โปรดให้กางเต๊นท์ดระโจมเป็นที่ประทับที่ริมอ่างหยก  จนโปรดให้สร้างพระตำหนักอุดมวนาภรณ์ขึ้นแล้ว  จึงเสด็จประทับพระตำหนัก  แต่เมื่อโปรดให้ย้ายดุสิตธานีไปปลูกสร้างที่วังพญาไท  ก็โปรดให้นำเต้นท์กระโจมนั้นไปกางเป็นที่ประทับที่ริมอ่างหยกในวังพญาไท  ก่อนที่จะโปรดให้ย้ายพระตำหนักอุดมวนาภรณ์มาปลูกสร้างใหม่  ในตอนปลายรัชกาลจึงโปรดให้ออกนามพระตำหนักองค์น้อยนี้ว่า พระตำหนักเมฆขลารูจี
บันทึกการเข้า
หนอนบุ้ง
อสุรผัด
*
ตอบ: 113


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 15 ต.ค. 07, 19:39

คุณวันดีคะ หนูเปิดกระทู้เรื่องเล่าจากคุณลุงและคุณป้าไว้

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2431.0

มีเวลาว่างเชิญเเวะไปต่อที่นั่น จะได้ไม่หลุดประเด็นของกระทู้นี้ค่ะ

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 16 ต.ค. 07, 08:13

ตามอ่านค่ะ  เล่าสลับกันทั้งบ้านเจ้าคุณยมราชด้วยนะคะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.058 วินาที กับ 19 คำสั่ง