เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 72661 เกร็ดบางเรื่องเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 08 ต.ค. 07, 15:41

"ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖  เมื่อทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการในพิธี ตลอดจนเทียนเงิน เทียนทอง เทียนกลเม็ด  เทียนธรณีสารแล้ว  ก็เสด็จประทับอยู่เหนือพระราชอาสถ์พระเก้าอี้  ทรงประทานพระราชหัตถ์

...พวกเข้าพิธีคือนักรำทุกคนต้องนุ่งผ้าแดงสวมเสื้อชั้นในผ้าสีขาว มีดุมคอหนึ่งเม็ด  ผู้หญิงก็เช่นเดียวกัน  และเหน็บชายเสื้อไว้ในเข็มขัดภายในผ้านุ่งทั้งชายหญิง  ห้ามเสื้อเชิร์ตโดยเด็ดขาด
ถ้าจะคาดผ้าคาดพุงต้องทิ้งชายไว้ข้างซ้าย และต้องเป็นผ้าขาว
...............................
..............................


ในคราวไหว้ครูคราวนั้น  ผู้มีชื่อของโขลนหลวงผู้หนึ่ง คือหลวงยงเยี่ยงครู  กำลังต้องรับพระราชทานอาญาส่วนพระองค์  ให้จำสนม 
ซึ่งไม่ใช่ความผิดร้ายแรงอะไรนัก  เป็นอย่างข้ากับเจ้า บ่าวกับนาย  ลูกกับพ่อ ครูกับศิษย์
..........................ยังทรงพระมหากรุณาด้วยพระราชหฤทัยพระเมตตาเอ็นดูอยู่


ในพิธีนี้เรียกว่า ยัญญะการ  คือบูชายัญ
เจ้าหน้าที่กรมสนมพลเรือน มีพระยาอัพพันตริกามาตย์เจ้ากรม และพระอินทราทิตย์ พระจันทราทิตย์ปลัดกรม พร้อมด้วยขุนหมื่นทนายเลือก(อย่าสงสัย อ่านว่าทนายเลือก) ๔ คน คือ
หมื่นชุมสงคราม
หมื่นตามใจไท
หมื่นโอมใจอาจ
หมื่นฟาดเบื้องหน้า

ท่านทั้ง ๔ คนนี้แม้นมีบรรดาศักดิ์เพียงหมื่น  แต่ถือศักดินาสูงมากถึงคนละ ๘๐๐  ซึ่งเท่ากับบรรดาศักดิ์เป็นพระในสมัยนั้น
เพราะพวกนี้โดยหน้าที่เป็นเพชฌฆาตสำหรับทุบเจ้าด้วยท่อนจันทน์เมื่อเวลาเจ้ากระทำผิดต้องรับพระราชอาชญาถึงประหารชีวิต
..............................................
............................................

ท่านเจ้าพนักงานสนมพลเรือน ก็จับหลวงยงเยี่ยงครูไปมัดไว้ด้วยด้ายดิบ คือ ด้ายอย่างใช้ตราสังศพ  ที่เสาหลักกลางโรง  มัดอย่างแบบจะประหารชีวิต

.............................................
เมื่อคุณครูพระยานัฏกะนุรักษ์รำจบท่าแล้ว ก็พักบนก้นขันสาครใหญ่มีรูป ๑๒ นักษัตร์ คือรูปปีต่างๆตั้งแต่ชวด ฉลู ขาน เถาะถึงกุน  มีผ้าขาวปู



ขณะนั้นเองล้นเกล้าล้นกระหม่อมก็เสด็จลุกขึ้นประทับยืนด้วยพระอิริยาบถอย่างกริ้วกราดถึงขนาด
พระหัตถ์คว้าพระแสงดาบ  เข้าใจว่าจะเป็นพระแสงดาบตีนตวง หรือพระแสงสีซึ่งมีชื่อว่า
พระแสงดาบคาบค่าย ๑
พระแสงดาบใจเพ็ชร ๑
พระแสงดาบนาคสามเศียร ๑
พระแสงดาบอัษฎาพานร ๑
พระแสงดาบคาบค่ายนั้น ว่ากันว่าเป็นองค์ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงคาบปีนค่ายพม่าในรัชสมัยของพระองค์
พระแสดงดาบใจเพ็ชรมีเพ็ชรฝังเป็นประจำยามที่ฝักตลอดทั้งสองข้างและที่ยอดด้ามและที่ปลายฝัก
พระแสงดาบนาคสามเศียร  ด้ามเป็นรูปพญานาคแผ่พังพานสามหัว
พระแสงดาบอัษฎาพานรลงยาสลักเป็รรูปพระยาวานรเสนาพระรามแปดตัว
..........................................
.......................................
หัวหมื่นมหาดเล็กผู้เชิญต้องสวมเสื้อครุยด้วยทุกครั้ง

ทุกองค์เป็นทองคำลงยาที่ด้ามและที่ฝักแถมประดับเพชร


พระองค์ท่านทรงเป็นนักกระบี่กระบองอยู่แล้ว  ทรงฝีกหัดเพลงดาบสองมือทั้งทางพื้นดินและทางหลังม้าอย่างช่ำชอง
จึงทรงทำท่าทางได้อย่างทรงเป็นที่น่าหวาดหวั่นในพระบารมี   พลางทรงประกาศก้องขึ้นว่า
หลวงยงเยี่ยงครูมีความผิด  จะทรงประหารชีวิตบูชายัญณบัดนี้

ใครๆทั้งหมดไม่เคยรู้เรื่องตลึงงันไปหมด  เงียบราวกับจะได้ยินเสียงหายใจและเสียงครางในลำคอของหลวงยง

หลวงยงคอตก  ตกจริงๆ


ทันใดนั้นก็ทรงพระแสงดาบแกว่งฉวัดเฉวียนด้วยท่าพรหมสี่หน้าอันเป็นท่าครู  แล้วก็ย่างสามขุมเข้าวงรำไม้  ครูปี่พาทย์ก็เริ่อมบรรเลงเพลงรำดาบ  เข้ากับเรื่อง

พอเปลี่ยนเป็นแปลง  ก็ทรงย่างเข้าไปจนถึงตัวหลวงยง  ทรงเงื้อดเงื้อพระแสงสุดพระพาหา    ทันใดนั้นทุกคนหัวใจแทบหยุด"
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 08 ต.ค. 07, 15:59

"บัดนั้นเองเสียงมาจากเจ้าคุณครูว่า  "ช้า  ช้า  มหาบบพิตร  ทรงหยุดไว้ก่อน"

ทุกคนพากันถอนใจด้วยความโล่งอกจนได้ยินถนัด

ล้นเกล้าฯประทับยืนนิ่งด้วยพระพักตร์และพระอิริยาบถดุษณีย์   เสียงเจ่าคุณครูต่อไป  พร้อมด้วยเดินเข้าไปเฝ้าด้วยท่าทางอย่างมหาฤๅษี 
.........ขอพระราชทานอภัยโทษ
จักได้เป็นมิ่งขวัญอันศุภมงคลแก่พระราชพิธีต่อไป

ล้นเกล้ามีพระราชดำรัสตอบว่า
"พระคุณเจ้า  ผู้บรมครู  รูปขอถวายชีวิตมันผู้นี้แก่พระคุณ เพื่อบูชาคุณ ณ กาลบัดนี้"

ทรงผินพระพักตร์ไปทางหลวงยง  "มึงจงคิดถึงคุณครูตราบเท่าชีวิตของมึง  ราชมัณฑ์ปล่อยตัวเป็นอิสสระไปได้  และให้มันรำเพลงถวายครู"
แล้วพระราชทานพระบรมราโชวาทตามสมควร

พนักงานสนมพลเรือนแก้มัด  หลวงยงลงนั่งถวายบังคม แล้วร้องไห้ด้วยความยินดีแล้วคลานไปกราบที่เท้าเจ้าคุณครู

เจ้าคุณครูปลอบโยนให้โอวาทแล้วสั่งให้รำเพลงช้า


เมื่อพนักงานได้ประคบประหงมนวดทาแข้งขาด้วยน้ำมันตามสมควรแล้ว   หลวงยงก็ออกรำ
และรำได้อย่างสุดฝีมือ สมชื่อว่า "ยงเยี่ยงครู" ฉะนั้น"


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 08 ต.ค. 07, 18:17

          พระราชนิพนธ์  แถลงเรื่องพระร่วงตามตำนานและโดยสันนิษฐานโบราณคดี  ความว่า
         
          ส่วนข้อที่ว่า ดำดินมาจากเมืองขอมนั้น น่าจะมากเกินไป อันที่จริงคงจะยกเข้ามาตรงๆ ก่อน พระร่วงจึ่งได้ทราบเหตุ
และหลบไปบวชเสียที่สุโขทัย ถ้าขอมได้ดำดินมาแต่พระนครหลวง ที่ไหนพระร่วงจะได้รู้ตัวและหลบหนีไปได้
          มีพระราชวินิจฉัยว่า  ฝ่ายนายทหารขอมเมื่อมาใกล้ละโว้ ทราบว่าพระร่วงหนีไปแล้ว จะยกติดตามไปก็ไม่สะดวกเพราะ
สุโขทัยเปนราชอาณาจักร์ไทยอยู่นอกขอบขัณฑสีมา และทัพที่ยกมาก็เพียงพอรบละโว้ซึ่งเป็นเมืองเล็ก จึ่งต้องใช้อุบาย คือปลอมแปลงตัวเปนไทย
และไปโดยอาการลี้ลับประหนึ่งว่าแทรกแผ่นดินไป จึ่งเรียกว่าขอมดำดิน
          นอกจากนี้ยังทรงตีความว่า  ที่ว่าวาจาสิทธิ์นั้น น่าจะอธิบายได้ว่าพระร่วงเปนผู้ที่พลเมืองนิยมนับถือมาก จะมีบัญชาสั่งอะไรก็เปนไปตามบัญชาทุกประการ
         
          เป็นคนไทยเดินดินดีอยู่แล้ว แต่ในยามเกิดเหตุการณ์ปึงปัง เป็นขอมดำดินแบบตำนานเดิมได้ก็ดีครับ คุณ UP
และในระหว่างที่คุณ UP สะสางธุระ ได้นำบางส่วนจาก
       
          พระราชดำรัสตอบในการเปิดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ณ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๗     มาแสดงครับ
 
              แท้จริงตั้งแต่แรกเรากลับมาจากการศึกษา ก็ได้มาแลเห็นสภากาชาดของเรา ซึ่งในเวลานั้นมีอาการแปลกกับที่ได้จัดขึ้นใหม่ในบัดนี้
คือยังจัดไปโดยหนทางดำเนิรการที่เข้าใจผิดอยู่ ตัวเราเองในครั้งนั้นได้รับภารช่วยเหลือฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระราชชนนีผู้เป็นสภานายิกา
จึ่งได้คิดถึงการที่จะแก้ไขระเบียบการในสภากาชาดให้ลงรอย และได้กราบทูลว่าควรมีโรงพยาบาลขึ้นโรงหนึ่ง เพื่อประสงค์ให้เป็นที่ฝึกหัด
นายแพทย์ฝ่ายทหาร และหัดคนพยาบาลให้ชำนิชำนาญ เราเข้าใจกันเสียว่าจะทำแต่ในเวลาสงคราม ถึงกระนั้นก็ดี ในการรักษาโรคก็ดี การพยาบาลก็ดี
ไม่ใช่คนหนึ่งคนใดสักแต่ว่าเป็นคนแล้วก็ทำได้ดั่งนั้นหามิได้ ต้องอาศัยการเล่าเรียน เพราะฉะนั้นไม่ว่าชาติใด จำเป็นต้องมีสถานที่ไว้เป็นที่ศึกษาของนายแพทย์
เมื่อถึงเวลาต้องการใช้ในการงานสงครามจะได้ไม่เสียงาน
             เมื่อเราผ่านมาทางเมืองญี่ปุ่น ได้เห็นโรงพยาบาลของสภากาชาดของเขา เป็นที่สง่างดงามมาก
ครั้นกลับเข้ามาถึงเมืองไทยจึ่งได้รู้สึกละอายใจว่า ในเมืองเรามิได้ทำไปให้เสมอหน้าเขา จึ่งได้คิดกันกับกรมหลวงนครชัยศรีช้านานมาแล้วในเรื่องนี้
แต่หากโอกาสยังไม่เหมาะและเป็นการต้องการทุนทรัพย์มากจึ่งต้องรอมา
   
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 08 ต.ค. 07, 19:06

ขออภัยที่ทำเสียงซ้อนขึ้นมา  ขอประทานโทษคุณเทาชมพูค่ะ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 09 ต.ค. 07, 07:23

ขณะนั้นเองล้นเกล้าล้นกระหม่อมก็เสด็จลุกขึ้นประทับยืนด้วยพระอิริยาบถอย่างกริ้วกราดถึงขนาด
พระหัตถ์คว้าพระแสงดาบ  เข้าใจว่าจะเป็นพระแสงดาบตีนตวง หรือพระแสงสีซึ่งมีชื่อว่า
พระแสงดาบคาบค่าย ๑
พระแสงดาบใจเพ็ชร ๑
พระแสงดาบนาคสามเศียร ๑
พระแสงดาบอัษฎาพานร ๑
พระแสงดาบคาบค่ายนั้น ว่ากันว่าเป็นองค์ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงคาบปีนค่ายพม่าในรัชสมัยของพระองค์
พระแสดงดาบใจเพ็ชรมีเพ็ชรฝังเป็นประจำยามที่ฝักตลอดทั้งสองข้างและที่ยอดด้ามและที่ปลายฝัก
พระแสงดาบนาคสามเศียร  ด้ามเป็นรูปพญานาคแผ่พังพานสามหัว
พระแสงดาบอัษฎาพานรลงยาสลักเป็รรูปพระยาวานรเสนาพระรามแปดตัว

"พระแสงดาบตีนตวง" เข้าใจว่าผู้เขียนหมายถึง "พระแสงรายตีนตอง"

"พระแสงดาบคาบค่าย" ที่เป็นหนึ่งในเครื่องราชูปโภคหมวดพระแสงในพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นของสร้างใหม่ในรัชกาลที่ ๑ ไม่ใช่พระแสงองค์เดียวกับที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเคยทรง ซึ่งก็คงสูญหายไปนานแล้ว เพียงแต่ทรงสร้างขึ้นใหม่แล้วสถาปนามงคลนามตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร เพื่อให้เป็นสวัสดิมงคลแก่พระบรมราชวงศ์ครับ นอกจากพระแสงดาบคาบค่ายแล้ว บรรดาราชูปโภคอันมีนามเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยังมีพระมาลาเบี่ยง พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง พระแสงขอตีช้างล้ม และพระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพลพ่าย อีกด้วย ทั้งหมดนี้ล้วนสร้างขึ้นใหม่ในกรุงรัตนโกสินทร์ครับ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 09 ต.ค. 07, 08:07

เรื่อง พระแสงรายตีนตอง  ไม่เคยอ่านพบเลยค่ะ
พระแสงดาบคาบค่ายสร้างขึ้นใหม่นั้น  ทราบอยู่

พระแสงดาบนาคสามเศียร และพระแสงดาบอัษฎาพานร  ก็ไม่เคยทราบรายละเอียด


เรื่องทนายเลือกก็ไม่เคยเห็นข้อมูล
หมื่นฟาดเบื้องหล้า  เข้าใจเองว่าคือคนที่ฟาดคนสุดท้าย
ไปนึกถึงตำรวจหลวงนั่งตักของคุณ ลาวัณย์ โชตามระ

เท่าที่เคยอ่าน พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน  ก็ไม่เคยพบชื่อกรมสนมพลเรือน
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 09 ต.ค. 07, 12:20

กรมสนมพลเรือน มีอยู่ในกระทรวงวัง ครับ ปัจจุบันเป็น ฝ่ายสนมพลเรือน อยู่ในกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 09 ต.ค. 07, 12:45

ขอมอบภาระงานให้คุณ UP โปรดมาเล่าเรื่องพระราชนิพนธ์ ธรรมา ธรรมะ สงคราม
แลแม้นว่ามีรูปประกอบด้วยได้

ก็จักเป็นบุญตาแก่คนตาถ้วอย่างผมอีกโสดหนึ่ง
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 09 ต.ค. 07, 13:40

บัดนี้ จะรับประทานวิสัชนาปรารภพระราชนิพนธ์เรื่องธรรมาธรรมะสงคราม สนองคุณประดับปัญญาบารมีมิตรบริษัททั้งหลาย อนุรูปปุจฉาแห่งคุณพิพัฒน์ เท่าที่เวลาและสติปัญญาจะอำนวย

"ธรรมาธรรมะสงคราม" คงเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ เรื่องที่หลายท่านคุ้นเคยกันดีนะครับ เพราะปัจจุบันได้ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษา เรื่องนี้มีข้อสรุปใหญ่ใจความก็คือ "ธรรมะย่อมชนะอธรรม" เสมอ ทรงใช้ "ธรรมาธรรมะสงคราม" เป็นเครื่องโน้มใจให้มหาชนได้รู้สึกว่า มหาสงคราม (ครั้งที่ ๑) ที่เกิดขึ้นในโลกขณะนั้นนั้น ปรากฏชัดว่ามีฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรมะ ซึ่งถึงกาลสมควรที่ไทยจะต้องเลือกสนับสนุนข้างธรรมะ จะวางอุเบกขานิ่งอยู่ให้ฝ่ายอธรรมรังแกอยู่ก็ไม่ควร ในขณะเดียวกัน ผมเชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเป็นทหารอย่างเสนาธิการผู้มองเกมการรบได้ขาด ย่อมจะทรงทราบว่าการส่งกองทัพไปร่วมรบกับฝ่ายที่ทรงมีมติว่าเป็นฝ่าย "ธรรมะ" นั้น ย่อมจะทำให้ชาติของเราได้รับเกียรติภูมิอย่างเต็มที่ และจะอำนวยประโยชน์มหาศาลแก่พวกเราชาวไทย ประเทศจ้อยร่อยในเอเชีย ให้มีเสียงต่อรองในเวทีโลกได้ในที่สุด

ถ้าจะพูดภาษาฝรั่ง ผมเห็นว่านี่คือการที่ทรงใช้วรรณศิลป์และชาดก Justify พระบรมราโชบายในการพระราชสงคราม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ตามนัยแห่งพระธรรมเทศนาของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งแสดงวิสัชนาถวายในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เกี่ยวกับธรรมชาดก เอกาทศนิบาต ซึ่งสามารถตีความให้สอดคล้องกับการส่งกองทัพร่วมมหาสงครามเพื่อต่อสู้อธรรมได้

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าในฉกามาพจรสวรรค์นั้น เทพทั้งปวงยังมีรักโลภโกรธหลงอยู่นะครับ ไม่ใช่เทวดาจะดีเสมอไป ในเรื่องนี้กล่าวถึงเทพบุตร ๒ องค์ คือ "ธรรมเทวบุตร" และ "อธรรมเทวบุตร"

วันหนึ่ง อธรรมเทวบุตร กับ ธรรมเทวบุตร ก็ชักรถประพาสโลกมาจ๊ะเอ๋กันกลางเวหน เอาล่ะสิ เกิดเรื่อง

เปิดฉากที่ฝ่ายธรรม

  ธรรมะเทวบุตร        ผู้พิสุทธิโสภา
สถิตอยู่ ณ กามา       พจรภพแผ่นดินสรวง
  ครองทิพยพิมาน     บริวารอมรปวง
ปองธรรมะบล่วง        ลุอำนาจอกุศล
  เมตตาการุญรัก       ษะพิทักษ์ภูวดล
ปรานีนิกรชน            ดุจดังปิโยรส
  ครั้นถึง ณ วันเพ็ญ   ที่เป็นวันอุโบสถ
เธอมุ่งจะทรงรถ        ประพาสโลกเช่นเคยมา
  เข้าที่สนานสรง       เสาวคนธธารา
แล้วลูบพระกายา       ด้วยวิเลปนารม
  ทรงเครื่องก็ล้วนขาว สวิภูษณาสม
สำแดงสุโรดม           สุจริต ณ ไตรทวาร
   ทรงเพชราภรณ์     พระกรกุมพระขรรค์กาญจน์
ออกจากพิมานสถาน  ธ เสด็จ ณ เกยพลันฯ


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงใช้ "สัญลักษณ์" เปรียบเทียบไว้อย่างงดงามเหลือเกินครับ ฝ่ายธรรมแต่งองค์ด้วยเครื่องขาว ใช้ม้าขาวงดงามเทียมรถ ทรงพระขรรค์สง่างาม เทพฝ่ายธรรมเสด็จมาโดยสถานทักษิณาวรรต คือเวียนขวา

  ขึ้นทรงรถทองผ่องพรรณ    งามงอนอ่อนฉัน
เฉกนาคราชกำแหง
  งามกงวงจักรรักต์แดง         งามกำส่ำแสง
งามดุมประดับเพชรพราย
  เลิศล้วนมวลมาศฉลุลาย     เทพประนมเรียงราย
รับที่บัลลังก์เทวินทร์
  กินนรฟ้อนรำร่ายบิน           กระหนกนาคิน
ทุกเกล็ดก็เก็จสุรกานต์
  งามเทวธวัชชัชวาล            โบกในคัคนานต์
แอร่มอร่ามงามตา
  พรั่งพร้อมทวยเทวเสนา      ห้อมแห่แหนหน้า
และหลังสะพรั่งพร้อมมวล
  จามรีเฉิดฉายปลายทวน      หอกดาบปลาบยวน
ยั่วตาพินิจพิศวง
  แลดูรายริ้วทิวธง                ฉัตรเบญจรงค์
ปี่กลองสนั่นเวหน
  อีกมีทวยเทพนฤมล           ฟ้อนฟ่องล่องหน
เพื่อโปรยบุปผามาลี
  ครั้นได้ฤกษ์งามยามดี         เคลื่อนขบวนโยธี
ไปโดยวิถีนภาจรฯ


เวลาเสด็จออกมาทอดพระเนตรนิกรชน ฝ่ายธรรมเทวบุตรเสด็จออกมา มหาชนก็ยินดีกราบไหว้เงยหน้าขึ้นชมพระบารมี

  ครั้นถึงชมพูดูสลอน             สล้างนิกร
ประชามาชมบารมี
  หยุดรถอยู่หว่างเมฆี             แลยังปัถพี
พระองค์ก็ยิ้มพริ้มพราย
 กษัตริย์พราหมณ์แพทย์ศูทรทั้งหลาย  ต่างมาเรียงราย
ระยอบบังคมเทวัญ
 ต่างคนปลื้มเปรมเกษมสันต์    ต่างคอยเงี่ยกรรณ
เพื่อฟังพระเทวบัญชา
  จึ่งธรรมเทพนาถา                ตรัสเผยพจนา
เพื่อแนะทำนองคลองธรรมฯ


ธรรมเทวบุตรสั่งสอนให้มนุษย์ทำแต่ความดี ทั้งกาย วาจา ใจ ให้บำรุงเลี้ยงดูบิดามารดา ถ้าใครทำเช่นนี้ จะมีแต่ความสุข ความเจริญ เมื่อสั่งสอนเสร็จแล้ว ธรรมเทวบุตร ก็กล่าวอวยพรให้มีอายุ วรรณ สุข พล แล้วให้ขบวนเวียนขวารอบชมพูทวีป

  ดูก่อนนิกรชน           อกุศลบทกรรม
ทั้งสิบประการจำ         และละเว้นอย่าเห็นดี
  การฆ่าประดาสัตว์      ฤ ประโยชน์บ่พึงมี
อันว่าดวงชีวี               ย่อมเป็นสิ่งที่ควรถนอม
  ถือเอาซึ่งทรัพย์สิน    อันเจ้าของมิยินยอม
เขานั้นเสียดายย่อม      จิตตะขึ้งเป็นหนักหนา
  การล่วงประเวณี        ณ บุตรและภรรยา
ของชายผู้อื่นลา-       มกกิจบ่บังควร
  กล่าวปดและลดเลี้ยว  พจนามิรู้สงวน
ย่อมจะเป็นสิ่งควร        นรชังเป็นพ้นไป
 ส่อเสียดเพราะเกลียดชัง  บ่มิยังประโยชน์ใด
เสื่อมยศและลดไม-    ตรีระหว่างคณาสลาย
  พูดหยาบกระทบคน   ก็ต้องทนซึ่งหยาบคาย
เจรจากับเขาร้าย         ฤ ว่าเขาจะตอบดี
  พูดจาที่เพ้อเจ้อ        วจะสาระบ่มี
ทำตนให้เป็นที่           นรชนเขานินทา
  มุ่งใจและไฝ่ทรัพย์    ยะด้วยโลภเจตนา
ทำให้ผู้อื่นพา            กันตำหนิมิรู้หาย
  อีกความพยาบาท     มนะมุ่งจำนงร้าย
ก่อเวรบ่รู้วาย             ฤจะพ้นซึ่งเวรา
  เชื่อผิดและเห็นผิด   สิจะนิจจะเสื่อมพา
เศร้าหมองมิผ่องผา    สุกะรื่นฤดีสบาย
  ละสิ่งอกุศล            สิกมลจะพึงหมาย
เหมาะยิ่งทั้งหญิงชาย สุจริต ณ ไตรทวาร
  จงมุ่งบำเพ็ญมา       ตุปิตุปัฏฐานการ
บำรุงบิดามาร-        ดรให้เสวยสุข
  ใครทำฉะนี้ไซร้      ก็จะได้นิราศทุกข์
เนานานสราญสุข      และจะได้คระไลสวรรค์
  ยศใหญ่จักมาถึง     กิตติพึงจักตามทัน
เป็นนิจจะนิรัน-       ดรย่อมจะหรรษาฯ


  ครั้นเสด็จประทานเทศนา  ฝูงชนต่างสา-
ธุเทิดประนตประนมกร
  ธรรมเทพจึงอวยพร         ให้ปวงถาวร
ในอายุวรรณสุขพล
  แล้วสั่งขบวนเดินหน         ประทักษิณวน
ชมพูทวีปมหาสถานฯ

บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 09 ต.ค. 07, 13:51

ก่อนจะเปิดฉากฝ่ายอธรรมต่อไป ขอคั่นรายการว่าด้วยเรื่องภาพประกอบหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องนี้

ภาพประกอบหนังสือนี้ เป็นฝีพระหัตถ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเขียนไว้ได้อย่างงามวิเศษเหลือเกินครับ งามสมกับวรรณศิลป์แห่งพระราชนิพนธ์ทุกประการ เทพทุกองค์มีแววตา มีอารมณ์ มีสีหน้าท่าทางบ่งบอกบุคลิกลักษณะได้อย่างเด่นชัด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง ถึงกับทรงกล่าวชื่นชมว่าสมพระราชหฤทัย ไว้ในคำนำ

เสียดายที่ผมไม่มีหนังสือดังกล่าวในมือ และไม่มีสแกนเนอร์ด้วย ใครมี โปรดอนุเคราะห์ครับ

ใครที่สังเกตดีๆ จะเห็นได้ว่า สมเด็จครู ทรงละเอียดถี่ถ้วนในการวาดภาพอย่างที่สุด แม้แต่ทิศทางลมและแสงเงา ก็ยังทรงคำนึงถึง ลองไปหาชมเป็นบุญตาเถิด ท่านทั้งหลายคงเคยสังเกตว่าภาพไทยสมัยก่อนๆ นั้น เทวดาท่านมีตานิ่งๆ ขวางๆ ไม่ค่อยเหล่ซ้ายเหลียวขวานัก แต่ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ เทวดาทุกองค์มีการทอดสายตาและเพ่งไปต่างๆ กันอย่างมีอารมณ์ ภาพสมัยก่อน เทวดาจะเหินจะเหาะยังไง ผ้าผ่อนก็เรียบกริบไม่กระดิก แข็งราวกับลงแป้ง ในขณะที่สมเด็จครูทรงเขียนให้แต่ละภาพมีความพลิ้วไหว ลายผ้าก็ต่างๆ กัน ชายผ้าที่ปลิวพลิ้วไปก็พลิ้วปลิวไปในทิศทางเดียวกัน เช่นเดียวกันพู่จามรีปลายทวน ตลอดจนเหล่าบุปผาสุมาลีที่โปรยปราย ไม่ใช่ลอยไปคนละทิศคนละทางตามใจฉัน

นับเป็นยอดฝีมือจริงๆ ครับ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 09 ต.ค. 07, 14:01

  ปางนั้นอธรรมะ         เทวบุตรผู้ใจพาล
เนาในพิมานสถาน       ณ กามาพจรสวรรค์
  ครองพวกบริวาร        ล้วนแต่พาลประดุจกัน
โทโสและโมหันธ์        บ่มิพึงบำเพ็ญบุญ
  เห็นใครน้ำใจซื่อ       สุจริตะการุญ
เธอก็มักจะหันหุน        เพราะพิโรธและริษยา
  ถึงวันที่จันทร์เพ็ญ     ธ ก็มักจะไคลคลา
ขับรถะยานมา            ณ ชมพูทวีปพลัน


มาแล้วครับ อธรรมตัวร้ายของเรื่องนี้ เปิดฉากมาน่าสยอนทีเดียว

  แต่งองค์ก็ทรงล้วน      พัสตระดำทุกสิ่งอัน
อาภรณ์ก็เลือกสรร-     พะสัมฤทธิ์และพลอยดำ
  หัตถ์สดำพระกำขวาน  อันมหิทธิกำยำ
จรจากวิมานอัม-         พรตรงมาทรงรถ


ตั้งแต่การแต่งองค์ทรงเครื่อง ฝ่ายอธรรมแต่งด้วยเครื่องดำ ใช้เสือสิงห์หมาหนูเน่าๆ น่าตาอัปลักษณ์ชักรถ ทรงขวานน่าสะพรึง เทพฝ่ายอธรรมเสด็จมาพร้อมด้วยกองทัพอมนุษย์น่าชัง โดยสถานอุตราวรรต คือเวียนซ้าย ฝ่ายอธรรมเสด็จออกมาก็เกรี้ยวกราดปึงปัง คนที่เห็นก็สยดสยองขนหัวลุก

   รถทรงกงกำทั้งหมด      ตลอดงอนรถ
ล้วนแล้วด้วยไม้ดำดง
  บัลลังก์มียักษ์ยรรยง      ยืนรับรองทรง
สลับกระหนกมังกร
  ลายสิงห์เสือสีห์มีสลอน  หมาไนยืนหอน
อีกทั้งจระเข้เหรา
  งอนรถมีธวัชตวัดร่า        สีดำขำน่า
สยดสยองพองขน
  แลดูหมู่กองพยุหพล      สลับสับสน
ล้วนฤทธิ์คำแหงแรงขัน
  กองหน้าอารักขะไพรสัณฑ์   ปีกซ้ายกุมภัณฑ์
คนธรรพ์เป็นกองปีกขวา
  กองหลังนาคะนาคา        สี่เหล่าเสนา
ศาสตราอาวุธวาวแสง
  พวกพลทุกตนคำแหง     หาญเหิมฤทธิ์แรง
พร้อมเพื่อผจญสงคราม
  พาหนคำรนคำราม          เสือสิงห์วิ่งหลาม
แลล้วนจะน่าสยดสยอน
  ให้เคลื่อนขบวนพลจร     ไปในอัมพร
ฟากฟ้าคะนองก้องมาฯ
  ครั้นถึงชมพูแดนประชา   ให้หยุดโยธา
ลอยอยู่ที่ในอัมพร
  เหลือบแลเห็นชนนิกร     ท่าทางสยดสยอน
อธรรมก็ยิ่งเหิมหาญ
  ทะนงจงจิตคิดพาล         ด้วยอหังการ
ก็ยิ่งกระหยิ่มยินดี
  เห็นว่าเขาเกรงฤทธี        จึ่งเปล่งพจี
สนั่น ณ กลางเวหน


ถึงตอนนี้ สมเด็จครูทรงวาดรูปเหล่ากษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทร ทั้งหลาย ล้มกลิ้งคุดคู้อุดหูปิดตาทำท่าสยดสยอนระยอบย่อไปหมด ได้อารมณ์ดีนักแล
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 09 ต.ค. 07, 14:13

  ดูราประชาราษฎร์    นรชาตินิกรชน
จงนึกถึงฐานตน         ว่าตกต่ำอยู่ปานใด
  ไม่สู้อมรแมน          ฤ ว่าแม้นปีศาจได้
ฝูงสัตว์ ณ กลางไพร  ก็ยังเก่งกว่าฝูงคน
  ทั้งนี้เพราะขี้ขลาด    บ่มิอาจจะช่วยตน
ต่างมัวแต่กลัวชน       จะตำหนิและนินทา
  ผู้ใฝ่ซึ่งอำนาจ         ก็ต้องอาจและหาญกล้า
ใครขวาง ณ มรรคา    ก็ต้องปองประหารพลัน
  อยากมี ณ ทรัพย์สิ่ง จะมานิ่งอยู่เฉยฉะนั้น
เมื่อใดจะได้ทัน-       มนะมุ่งและปราถนา
  กำลังอยู่กับใคร        สิก็ใช้กำลังคร่า
ใครอ่อนก้ปรา-         ชิตะแน่มิสงสัย
  สตรีผู้มีโฉม             ศุภลักษณาไซร้
ควรถือว่ามีไว้             เป็นสมบัติ ณ กลางเมือง
  ใครเขลาควรเอาเปรียบ  และมุสาประดิษฐ์เรื่อง
ลวงล่อบ่ต้องเปลือง     ธนะหากำไรงาม
  เมื่อเห็นซึ่งโอกาส     ผู้ฉลาดพยายาม
ส่อเสียดและใส่ความ   และประโยชน์ ณ ถึงตน
  ใครท้วงและทักว่า     ก็จงด่าให้เสียงอึง
เขานั้นสิแน่จึ่ง             จะขยาดและกลัวเรา
  พูดเล่นไม่เป็นสา-     ระสำหรับจะแก้เหงา
กระทบกระเทียบเขา    ก็สนุกสนานดี
  ใครจนจะทนยาก       และลำบากอยู่ใยมี
คิดปองซึ่งของดี          ณ ผู้อื่นอันเก็บงำ
  ใครทำให้ขัดใจ         สิก็ควรจะจดจำ
ไว้หาโอกาสทำ           ทุษะบ้างเพื่อสาใจ
  คำสอนของอาจารย์    ก็บุราณะเกินสมัย
จะนั่งไยดีไย               จงประพฤติตามจิตดู
  บิดรและมารดา          ก็ชราหนักหนาอยู่
เลี้ยงไว้ทำไมดู            นับจะเปลืองมิควรการ
  เขาให้กำเนิดเรา        ก็มิใช่เช่นให้ทาน
กฎธรรมดาท่าน           ว่าเป็นของไม่อัศจรรย์
  มามัวแต่กลัวบาป      ก็จะอยู่ทำไมกัน
อยากสุขสนุกนัน-      ทิก็ต้องดำริแสวง
  ใครมีกำลังอ่อน        ก็ต้องแพ้ผู้มีแรง
ใครเดชะสำแดง         ก็จะสมอารมณ์ปอง


ว่าแล้วอธรรมก็โม้พร่ำสอนประชาชนให้ประพฤติในทางอกุศลกรรมล้วนๆ อ่านแล้วแสบมั้ยล่ะครับอธรรมเทวบุตรของเรา ผมชอบพระราชนิพนธ์ที่ทรงกล่าวถึงฝ่ายอธรรมไว้เป็นอย่างยิ่ง เพราะทรงใช้ถ้อยคำที่กระทบกระเทียบกระแทกใจดีนัก

  พูดเสร็จแล้วเล็งแลมอง  เห็นคนสยดสยอง
อธรรมก็ยิ่งยินดี
  ตบหัตถ์ตรัสสั่งเสนี         ให้เริ่มจรลี
ออกเดินขบวนพลกาย
  ขบวนก้พลันผันผาย       เป็นแถวเรียงราย
เวียนซ้ายชมพูพนาลัย

บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 09 ต.ค. 07, 14:14

วันนี้ติดไว้เท่านี้ก่อนนะครับ จะรอความเมตตาจากท่านผู้มีหนังสือ ช่วยสแกนรูปอันงามวิจิตรมาลงประกอบสักหน่อย จะเป็นพระคุณยิ่ง  ยิ้ม
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 09 ต.ค. 07, 14:44

ข้าพเจ้าจึ่งทูลขอให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์
ทรงคิดประดิษฐภาพขึ้นประกอบเรื่อง,
เพราะเห็นว่าจะหาช่างใดในกรุงสยามที่เข้าใจความมุ่งหมายและความตั้งใจของข้าพเจ้าไม่ได้ดีเท่าเปนแน่แท้.
และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเข้าพระทัยความประสงค์ของข้าพเจ้าดีปานใด
ภาพทั้งหลายในสมุดนี้ย่อมเปนพยานปรากฏอยู่เองแล้ว

ข้าพเจ้าหวังใจว่า ท่านผู้ที่จะได้พบได้อ่านหนังสือนี้จะมีความพอใจ,
เพราะจะได้อ่านทราบความคิดความเห็นและภูมิธรรมของคนโบราณว่ามีสูงอยู่เหมือนกัน.
และจะได้มีโอกาศดูภาพอันวิจิตร์งดงาม เปนตัวอย่างอันดีแห่งภาพที่ผู้เขียนได้เขียนขึ้นโดยใช้ความพิจารณาอย่างดี,
ควรถือเปนแผนแห่งศิลปะของไทนเราได้โดยไม่ต้องน้อยหน้าชนชาติอื่นๆ.


พระราชนิพนธ์คำนำ
๑ ธันวาคม ๒๔๖๓

นี้คือตัวอย่างที่ศิลปิน เขียนถึงศิลปิน
ทรงโปรดเพียงใด ก็อาจสังเกตได้ว่า พระราชนิพนธ์คำนำนี้เกือบทั้งหมด
เป็นคำชมช่างเขียนโดยนัยอย่างแท้จริง
---------
อนึ่ง ผมก็มะมีสะแกนเนอร์เหมืยนกัล
บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 09 ต.ค. 07, 15:57

บทอธรรมเป็นบทที่ผมจำได้ขึ้นใจเลยทีเดียวครับ เพราะยิ่งอ่านยิ่งสนุก เสียดสีสุดๆ โดยเฉพาะตอนเรียนภาษาไทย ชอบแกล้งอาจาย์ท่านโดยบอกว่า "คำสอนของอาจารย์ก็บุราณเกินสมัย จะนั่งใยดีใยจงประพฤติตามจิตตู"  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.087 วินาที กับ 19 คำสั่ง