เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10
  พิมพ์  
อ่าน: 72650 เกร็ดบางเรื่องเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 30 พ.ย. 07, 10:41

ทำให้นึกถึง"ลมหนาว"ในพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ด้วยค่ะ  คุณศิลา

อ้าลมหนาวพัดอ้าวไม่ร้ายสู้
ความชั่วอกตัญญูของคนได้
ถึงพัดต้องกายเย็นไม่เป็นไร
เพราะมิได้เคยเห็นเป็นเพื่อนกัน

จาก "ตามใจท่าน"
ทรงแปลจากละคร As You Like It ของวิลเลียม เชคสเปียร์ 
Blow, blow, thou winter wind.
Thou art not so unkind
As man's ingratitude;
Thy tooth is not so keen,
Because thou art not seen,
Although thy breath be rude.
บันทึกการเข้า
กุ้งแห้งเยอรมัน
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1573



ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 05 ธ.ค. 07, 23:28

บทของเชคสเปียร์ที่อาจารย์ยกมา ทำให้อยากกลับไปเรียนเชคสเปียร์ใหม่เสียแล้ว...
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 06 ธ.ค. 07, 07:07

     อนิจจาโลกเราน่าเศร้าจิต
อันความงามสุจริตทุกสิ่งสรรพ์
กลับจะเป็นเครื่องประจญคนดีพลัน ฯ

ตามใจท่าน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 06 ธ.ค. 07, 07:38

บทที่คุณวันดียกมา ดิฉันพยายามหาบทภาษาอังกฤษ ยังหาไม่เจอค่ะ   ต้องรู้ก่อนว่าอยู่ในตอนไหนแล้วเอาหนังสือมาเทียบกัน
แต่มีตอนที่ขึ้นชื่อลือชาในพระราชนิพนธ์แปล "เวนิสวาณิช "จาก The Merchants of Venice มาฝาก

      ความเอยความรัก                                             เริ่มสมัครชั้นต้น ณ หนไหน
     เริ่มเพาะเหมาะกลางหว่างหัวใจ                       หรือเริ่มในสมองตรองจงดี
     แรกจะเกิดเป็นไฉนใครรู้บ้าง                              อย่าอำพรางตอบสำนวนให้ควรที่
     ใครถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงรตี                             ผู้ใดมีคำตอบขอบใจเอย

      ตอบเอยตอบถ้อย                                             เกิดเมื่อเห็นน้องน้อยอย่าสงสัย
     ตาประสบตารักสมัครไซร้                                   เหมือนหนึ่งให้อาหารสำราญครัน
     แต่ถ้าแม้สายใจไม่สมัคร                                    เหมือนฆ่ารักเสียแต่เกิดย่อมอาสัญ,
    ได้แต่ชวนเพื่อนยามาพร้อมกัน                             ร้องรำพันสงสารรักหนักหนาเอย

     ทรงแปลจาก
     Tell me where is fancy bred,                 
Or in the heart, or in the head?
How begot, how nourished?
Reply, reply.
It is engender'd in the eyes,
With gazing fed; and fancy dies
In the cradle where it lies.
Let us all ring fancy's knell
I'll begin it,--Ding, dong, bell
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 06 ธ.ค. 07, 07:48

ตอนนี้คุณศิลาคงรู้จัก    นำส่วนหนึ่งไปเป็นเพลงของสุนทราภรณ์

The quality of mercy is not strain'd,
It droppeth as the gentle rain from heaven
Upon the place beneath: it is twice blest;
It blesseth him that gives and him that takes:
'Tis mightiest in the mightiest: it becomes
The throned monarch better than his crown;
His sceptre shows the force of temporal power,
The attribute to awe and majesty,
Wherein doth sit the dread and fear of kings;
But mercy is above this sceptred sway;
It is enthroned in the hearts of kings,
It is an attribute to God himself;
And earthly power doth then show likest God's
When mercy seasons justice. Therefore, Jew,
Though justice be thy plea, consider this,
That, in the course of justice, none of us
Should see salvation: we do pray for mercy;
And that same prayer doth teach us all to render
The deeds of mercy. I have spoke thus much
To mitigate the justice of thy plea;
Which if thou follow, this strict court of Venice
Must needs give sentence 'gainst the merchant there.

ทรงแปลมาเป็นภาษาไทย ที่จับใจยิ่ง

อันว่าความกรุณาปรานี              จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ     จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน
เป็นสิ่งดีสองชั้นพลันปลื้มใจ        แห่งผู้ให้และผู้รับสมถวิล
เป็นกำลังเลิศพลังอื่นทั้งสิ้น        เจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระกรุณา
ประดุจทรงวราภรณ์สุนทรสวัสดิ์    เรืองจรัสยิ่งมงกุฎสุดสง่า
พระแสงทรงดำรงซึ่งอาชญา        เหนือประชาพสกนิกร   
ประดับพระวรเดชวิเศษฤทธิ์         ที่สถิตอานุภาพสโมสร   
แต่การุณยธรรมสุนทร                 งามงอนกว่าพระแสงอันแรงฤทธิ์
เสถียรในหฤทัยพระราชา             เป็นคุณของเทวาผู้มหิทธิ์   
และราชาเทียมเทพอมฤต            ยามบพิตรเผยแผ่พระกรุณา
ฉะนั้นยิว  แม้อ้างยุติธรรม            จงกำหนดจดจำไว้ด้วยว่า
ในกระแสแห่งยุติธรรมา               ยากจะหาความเกษมเปรมใจ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 06 ธ.ค. 07, 07:56

อีกตอนหนึ่งจาก เวนิสวาณิช
เชคสเปียร์เขียนไว้ดังนี้ค่ะ

The man that hath no music in himself,
Nor is not moved with concord of sweet sounds,
Is fit for treasons, stratagems and spoils;
The motions of his spirit are dull as night
And his affections dark as Erebus:
Let no such man be trusted. Mark the music.

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ทรงแปลว่า

ชนใดไม่มีดนตรีการ                  ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกคนใดฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ    เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์
หรืออุบายมุ่งร้ายฉมังนัก            มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี ,
และดวงใจย่อมดำสกปรก           ราวนรก ชนเช่นกล่าวมานี่
ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้            เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 06 ธ.ค. 07, 10:23

         อีกตอนที่เป็นที่นิยมจาก ตามใจท่าน ครับ

      ทั้งโลกเปรียบเหมือนโรงละครใหญ่     ชายหญิงไซร้เปรียบตัวละครนั่น   
ต่างมียามเข้าออกอยู่เหมือนกัน               คนหนึ่งนั้นย่อมเล่นตัวนานา 

         จาก   As You Like It - Wlliam Shakespeare
 
         All the world's a stage,

And all the men and women merely players:

They have their exits and their entrances;

And one man in his time plays many parts,
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 06 ธ.ค. 07, 19:03

จากพระราชนิพนธ์แปล โรมิโอ และจูเลียต  ของวิลเลียม เชคสเปียร์  ตอนนี้คือฉากเจรจารักระหว่างพระเอกนางเอก เป็นฉากเด่นสุดของเรื่อง
ทรงแปลได้งดงามมาก ขอยกมาเทียบกันนะคะ
ลักษณะการแต่ง เป็นกาพย์ยานี ๑๑ แต่ถ้อยคำนั้นบางทีต้องอ่านคร่อมวรรค มองเผินๆจะเหมือนอ่านร้อยแก้ว หรือกลอนเปล่า

หมายเหตุ คงตัวสะกดตามแบบเดิม ค่ะ

ROMEO
He jests at scars that never felt a wound
โรเมโอ. 
เฃาเย้ยซึ่งแผลเปน   เพราะมิเคยต้องบาดแผล. -

JULIET appears above at a window

But, soft! what light through yonder window breaks?
It is the east, and Juliet is the sun.
Arise, fair sun, and kill the envious moon,
Who is already sick and pale with grief,
That thou her maid art far more fair than she:
Be not her maid, since she is envious;
Her vestal livery is but sick and green
And none but fools do wear it; cast it off.
It is my lady, O, it is my love!
O, that she knew she were!
She speaks yet she says nothing: what of that?
Her eye discourses; I will answer it.

[ จูเลียตโผล่น่าต่างฃ้างบน.]
ช้าก่อน นั่นแสงใดสว่างใสจากช่องแกล?
นั่นบุรพาแน่, และจูเลียตคือตวัน ! -
ฃึ้นเถิด, ตวันงาม, ปรามอิจฉาแห่งดวงจันทร์,
ซึ่งไฃ้อยู่มากครันและผิวเผือดเพราะตรอมใจ,
ด้วยหล่อนผู้เปนฃ้างามกว่าเธอมากมายไซร้ :
เปนฃ้าเธออยู่ใย, เพราะเธอนั้นฃี้อิจฉา ;
เครื่องแต่งฃองพระจันทร์นั้นสีเฃียวซีดอยู่นา,
และมีแต่คนบ้าชอบแต่ง; หล่อนอย่าแต่งเลย. -
แน่แล้วนางแก้วพี่; โอ้, ที่รักฃองพี่เอย !
โอ้ ไฉนเจ้าทรามเชยจะรู้แจ้ง ณ ดวงใจ !
หล่อนพูด, แต่ไม่เผยพจีเลย : ก็เปนไร ? -
เนตร์นางสิฃานไฃ; ฃ้าจะตอบแม่นงเยาว์.

ถ้าอ่านแบบกาพย์ยานี ๑๑ จะแบ่งแต่ละบาท ได้ตามนี้

ช้าก่อน นั่นแสงใด         สว่างใสจากช่องแกล?
นั่นบุรพาแน่,              และจูเลียตคือตวัน ! -
ฃึ้นเถิด, ตวันงาม,        ปรามอิจฉาแห่งดวงจันทร์,
ซึ่งไฃ้อยู่มากครัน          และผิวเผือดเพราะตรอมใจ,
ด้วยหล่อนผู้เปนฃ้า        งามกว่าเธอมากมายไซร้ :
เปนฃ้าเธออยู่ใย,         เพราะเธอนั้นฃี้อิจฉา ;
เครื่องแต่งฃองพระจันทร์   นั้นสีเฃียวซีดอยู่นา,
และมีแต่คนบ้า               ชอบแต่ง; หล่อนอย่าแต่งเลย. -
แน่แล้วนางแก้วพี่;         โอ้, ที่รักฃองพี่เอย !
โอ้ ไฉนเจ้าทรามเชย        จะรู้แจ้ง ณ ดวงใจ !
หล่อนพูด, แต่ไม่เผย        พจีเลย : ก็เปนไร ? -
เนตร์นางสิฃานไฃ;         ฃ้าจะตอบแม่นงเยาว์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 06 ธ.ค. 07, 19:07

อีกตอนหนึ่งของโรมิโอและจูเลียต   เป็นคำคมที่เราอาจได้ยินคนยกกันมาอ้างบ่อยๆ 

นามนั้นสำคัญไฉน? ที่เราเรียกกุหลาบนั้น
แม้เรียกว่าอย่างอื่น ก็หอมรื่นอยู่เหมือนกัน;

ทรงแปลจาก
What's in a name? that which we call a rose
By any other name would smell as sweet;
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 08 ธ.ค. 07, 10:07

         บทร้อยกรองของล้นเกล้าฯ ที่ทรงแปลจากภาษาตะวันตกอีกสองบทที่ประทับใจ ครับ

       ประวัติวีรบุรุษไซร้      เตือนใจ เรานา
ว่าอาจจะยังชนม์               เลิศได้
แลยามจะบรรลัย              ทิ้งซึ่ง
รอยบาทเหยียบแน่นไว้        แทบพื้นทรายสมัย

ทรงแปลเป็นโคลงมหาวิชชุมาลีจาก

        Lives of great men all remind us
We can make our lives sublime.
And departing leave behind us
Footprints on the sand of time.

                       Henry Wordsworth Longfellow

และ

         มะโนมอบพระผู้        เสวยสวรรค์
แขนมอบถวายทรงธรรม์         เทอดหล้า
ดวงใจมอบเมียขวัญ             และแม่
เกียรติศักดิ์รักของข้า            มอบไว้แก่ตัว

จากภาษิตฝรั่งเศส

        Mon a^me a Dieu;         [ a^me - soul ]
mon bras au Roi,                   [ bras - arm ]
mon coeur aux dames;
l'honneur a moi.

       เมื่อลองค้นหาในกูเกิ้ล พบบางแห่งว่า mon corps [body] au Roi ครับ
   
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 11 ธ.ค. 07, 12:17

         วานนี้ ได้อ่านนสพ.ฝรั่ง เรื่องสีประจำวันของไทย แล้วชวนให้นึกถึงเรื่องสี่แผ่นดิน ในช่วงแผ่นดินที่สอง - รัชกาลที่ ๖ ครับ

          แผ่นดินใหม่เป็นแผ่นดินของคนหนุ่ม บรรยากาศในพระราชสำนักก็เป็นบรรยากาศของความหนุ่มแน่น
คุณเปรมก็เปลี่ยนไปตามโดยไม่รู้ตัว การแต่งเนื้อแต่งตัวนั้น ดูพิถีพิถันเอาสวยเอางามกว่าแต่ก่อน ...
      ... คุณเปรมซื้อผ้าม่วงผ้าพื้นต่างๆ สีเป็นจำนวนมากมาย และตัดเสื้อที่ใช้ผ้าราคาสูงเป็นจำนวนมาก
จะไปไหนก็แต่งตัวอย่างประณีตบรรจงเหมือนกับว่าจะไปประกวดประขันกับใคร ....       

       วันหนึ่ง คุณเปรมจะไปในงานขึ้นบ้านใหม่ของข้าราชการกระทรวงเดียวกัน ที่ได้รับพระราชทานบ้านอยู่
.... คุณเปรมแต่งตัวเสร็จแล้วก็เดินออกมาจากในห้อง พลอยเหลียวไปดูสามี แล้วก็สะดุ้งสุดตัว ร้องขึ้นว่า
         "คุณเปรมจะไปไหนนั่นน่ะ ! แต่งตัวราวกับรับพระอังคาร !"

       วันนั้นเป็นวันอังคาร คุณเปรมแต่งตัวด้วยเครื่องสีชมพูทั้งชุด คือผ้าม่วงสีชมพู เสื้อชั้นนอกแพรสีชมพู ถุงเท้าแพรสีเดียวกัน
และรองเท้าหุ้มแพรต่วนสีชมพู แม้แต่หมวกสักหลาดที่คุณเปรมถืออยู่ในมือก็เป็นสีชมพู อย่างเดียวกับผ้าม่วงและเสื้อชั้นนอก
ของอย่างเดียวที่มิได้เป็นสีชมพูไปด้วย ก็คือไม้เท้าที่คุณเปรมถืออยู่ในมือ
         คุณเปรมหัวเราะชอบใจแล้วพูดว่า
         "ฉันแต่งอย่างนี้เป็นอย่างไรแม่พลอย สวยดีไหม"
         "ก็สวยดีหรอก" พลอยพูดอย่างเกรงใจ "แต่ทำไมมันเข้าชุดกันไปหมดอย่างนี้ ฉันไม่เคยเห็นแบบนี้ ยังบอกไม่ถูก"
         "เดี๋ยวนี้ผู้ชายแต่งตัวกันอย่างนี้แหละ" คุณเปรมอธิบาย "คนที่ไปงานวันนี้ ก็คงจะแต่งอย่างเดียวกันหมด"
         "มิสีชมพูโร่ไปทั้งงานหรือคุณเปรม" พลอยถามเพราะไม่รู้จะถามอะไรอีก
         "ส่วนมากก็คงจะเป็นอย่างนั้น" คุณเปรมตอบอย่างธรรมดา "และวันพรุ่งนี้เป็นวันพุธ แต่เขียวกันทั้งตัวอีก"
         "แล้ววันอาทิตย์เล่าคุณเปรม ทำอย่างไร"
         "แต่งแดง" คุณเปรมตอบหน้าตาเฉยๆ
         "แดงหมดตั้งแต่หมวกถึงเกือกทีเดียวหรือ" พลอยถาม
         "ก็ต้องอย่างนั้น ฉันมีหมดแล้วทั้งเจ็ดสี" คุณเปรมตอบ

     แต่ความจริงคุณเปรมแต่งกายด้วยสีเดียวกันทั้งชุด เป็นการทดลองดูเท่านั้น พอได้มีโอกาสแต่งไปจนครบเจ็ดชุดเจ็ดสีแล้ว
คุณเปรมก็ดูจะเนือยๆ ไป หันเข้าหาผ้าม่วงสีน้ำเงิน หรือผ้าพื้นสีน้ำเงินบ้าง สีเทาบ้าง และเสื้อนอกขาวๆ เรียบๆ อย่างแต่ก่อน

        ค้นกูเกิ้ลหารูปประกอบ ครับ


บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 11 ธ.ค. 07, 18:12

คุณ Sila ยกเรื่องคุณเปรมในสี่แผ่นดิน แต่งสีชมพูทั้งชุด  อ่านแล้วชวนให้คิดไปว่า ชายคึกฤทธิ์ คงจะเอามาจากเครื่องพระมหาพิชัยยุทธที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงเมื่อคราวเสด็จฯ ไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร  เมื่อเย็นวันอาทิตย์ที่  ๒๒  กรกฎาคม  ๒๔๖๐ เนื่องในการที่ทรงประกาศสงครามกับเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี  ในสงครามโลกครั้งที่ ๑

ในวันนั้นมีบันทึกในหมายรับสั่งกระทรวงวังว่า  สรงพระมุรธาภิเษกสนานในห้องสรง  พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ (พระที่นั่งบรมพิมาน)  แล้วทรงฉลองพระองค์อย่างน้อยสีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเคยทรงเวลาเสด็จไปในการพระราชสงครามไว้ภายใน  แล้วทรงพระภูษา  ฉลองพระองค์  ถุงพระบาทและฉลองพระบาทสัตามกำลังวัน  คือสีแดง  ทรงพระสังวาลย์พระนพเฉวียงพระอังสาขวา  พระหัตถ์ซ้ายทรงพระแสงดาบคาบค่าย  ดังพระบรมฉายาลักษณ์ที่อัญเชิญมานี้

การที่ทรงเครื่องตามสีกำลังวันนี้เท่าที่ปรากฏก็มีอยู่ครั้งเดียวเท่านั้น  เวลาปกติก็มักจะทรงพระภูษาโจงสีน้ำเงินแก่ที่เรียกว่า ผ้าม่วง  หรือสีตามกำลังวัน  ทรงฉลองพระองค์ขาว  เว้นแต่วันธรรมสวนะ หรือวันพระ จึงจะทรงพระภูษาแดงตามโบราณราชประเพณี  นอกจากนั้นยังมีเครื่องทรงลำลองในเวลาประทับในพระราชฐานนั้น  มักจะทรงฉลองพระองค์คอกลมผ้าป่านสีขาว  ผ่าด้านหน้าลงมาสัก ๖ นิ้ว ติดดุมเม็ดหนึ่ง  กับพระภูษาขาวอย่างที่เรียกกันว่า กางเกงจีน  แต่มีพระราชนิยมให้เรียกกางเกงไทย  โดยได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ว่า  คนจีนอยู่เมืองหนาวต้องนุ่งกางเกงขาแคบเพื่อเก็บไอตัวไว้ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย  คนไทยเราอยู่เมืองร้อนต้องนุ่งกางเกงขากว้างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก  กางเกงตัวไหนถลกขากางเกงขึ้นมาปัสส่วะได้ให้เรียกว่ากางเกงไทย


บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 11 ธ.ค. 07, 22:15

พระบรมรูปไม่ปรากฏ
คุณวี ตั้งรหัสเป็นภาษาไทยหรือเปล่าครับ
ต้องเป็นอักษรโรมันหรือตัวเลขอารบิค ระบบจึงตอบรับ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 12 ธ.ค. 07, 10:11

พระบรมรูปทรงเครื่องพระมหาพิชัยยุทธ ครับ


บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 12 ธ.ค. 07, 12:05

มีเรื่องหนึ่งอ่านพบ แต่ไม่ได้จำว่ามาจากที่ใหน
คงไม่เกินความสามารถคุณวี จะช่วยแก้ความเขลาครับ

ท่านเล่าว่า ตอนจะลงพระปรมาภิไธย มหาดเล็กเชิญปากกาฝรั่งมาเทียบ
ทรงเอ็ดว่า ข้าจะประกาศสงคราม เอ็งเอาอะไรมาให้ข้าใช้

ต้องวิ่งหาปากกาที่เหมาะสมกันเดี๋ยวนั้น
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.066 วินาที กับ 19 คำสั่ง