มีประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ สองข้างของไทยโบราณกระหนาบอยู่โดยมอญทางตะวันตก และขอมทางตะวันออก (หรืออาจรวมญวน*เข้าไปด้วยก็ได้) มอญ-ขอม-ญวน สามชาตินี้ใช้ภาษาตระกูลเดียวกัน ในขณะที่ภาษาไทยเป็นภาษากลุ่มเดียวกับจีน
กางแผนที่ออกดู จะเห็นว่ากลุ่มที่ใช้ภาษามอญเขมรเคลื่อนที่อยู่ในแนวตะวันออก-ตะวันตก แต่พวกไทยเคลื่อนที่ในแนวเหนือใต้
รูปการณ์นี้ แสดงว่าพวกไทยเคลื่อนที่จากทางเหนือลงมาในเขตอิทธิพลมอญเขมรเดิม ผ่ามอญเขมรแยกขาดจากกัน
ถึงตรงนี้ ขอแวะข้างทางออกไปดูภาษาญวนก่อนครับ
ภาษาญวนเป็นภาษาที่แปลก ถึงที่สุดแล้วนักภาษาศาสตร์ลงความเห็นว่าญวนเป็นภาษากลุ่มมอญเขมร โดยพิจารณาจากศัพท์พื้นฐานที่ใช้(มีงานวิจัยรองรับนะครับ แต่ขี้เกียจค้น

) แต่ภาษาญวนก็มีลักษณะแปลกจากภาษากลุ่มมอญเขมรตรงที่มีการใช้วรรณยุกต์เหมือนภาษาตระกูลไทยจีน พิจารณาในแง่ว่าทางภูมิศาสตร์พื้นที่ของญวนอยู่ตรงรอยต่อของวัฒนธรรมมอญเขมรกับไทยจีนพอดี พอจะสรุปได้ว่าภาษาญวนนั้นเป็นภาษามอญเขมรที่รับเอาอิทธิพลของภาษากลุ่มไทยจีนที่เพื่อนบ้านกันเข้าไป
เรื่องนี้มีประเด็นที่น่าสนใจให้พิจารณาอย่างหนึ่ง คือไทยอยู่ปนเปในดินแดนแหลมทองนี้ร่วมกับเขมรและมอญ แต่ผมไม่เคยเห็นว่ามีการกลายลักษณะนี้ในละแวกนี้ (อาจจะมีแต่ผมไม่รู้ ดังนั้นขอคิดจากเท่าที่รู้ก่อนนะครับ) นั่นหมายความว่าคนไทยเข้ามาในภูมิภาคนี้เมื่อภาษามีอัตตลักษณ์ของตัวเองชัดเจนแล้ว เป็นการสนับสนุนข้อสันนิษฐานเรื่องถิ่นกำเนิดไตอยู่ทางใต้ของจีน-เวียดนามตอนเหนืออีกประการหนึ่งด้วยครับ