เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 8315 ประวัติศาสตร์มีคุณค่า หรือ มีราคา
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


 เมื่อ 01 ต.ค. 07, 05:41

สืบเนื่องจากกระทู้ "พ่อขุนรามคำแหงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อคนไทยสมัยสุโขทัย ในด้านใดบ้าง"
ที่เชี่ยวชาญในบอร์ดได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เกิดประเด็นหน้าสนใจหลายประเด็น
เกิดเป็นการพัฒนาทางปัญญาอย่างที่สุด

มีประเด็นหนึงที่ผมสนใจมากเป็นพิเศษ รวมถึงรู้สึกตกใจ ถึงการทำลายล้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์
ที่โพสต์โดยคุณ pipat แต่เนื้อหาในกระทู้นั้นกำลังตื่นเต้น น่าติดตามเกิดการขัดขวางใดๆ
ผมจึงขอหยิบยกมาถามเป็นกระทู้ใหม่นะครับ

ข้อความที่คุณ pipat โพสต์ไว้ มีดังนี้

อ้างถึง
ทีนี้จะเล่าถึงการทำลายล้างสุโขทัยตามที่ผมมีประสบการณ์มาเอง
คงจะรู้จักเจดีย์วัดสรศักดิ์ ที่นั่น เดิมเป็นกองอิฐิหักพัง ดูจากที่ไกลๆ ก็เป็นเนินลูกเล็กๆ สูงราวๆ 3-4 เมตร
คือสูงเกินกว่าเด็กจะไปปีนป่ายได้ เวลาเราออกสนาม ก็จะแวะดูทรากช้างล้อม ที่หักพังแทบไม่มีชิ้นดี เหลืองวงสักอันสองอัน
และมียอดของปล้องฉไน พังอยู่ เท่าเสาไฟฟ้าต้นหนึ่ง ราวๆ 2522-2526 ผมจะเข้าศึกษาที่นั่นบ่อยหน่อย
พบว่า จู่ๆ ก็มีเจดีย์สูงตระหง่าน สมบูรณ์ไปถึงยอดใหม่เอี่ยม ที่ฐานมีช้างล้อมครบถ้วน
เราก็ช๊อคสิครับ งงว่ากรมศิลป์ทำอย่างนี้ได้ยังไง

นี่คือการบูรณะ ภายใต้แนวคิดใหม่ของผู้บริหารคนหนึ่ง บอกชื่อก็ได้ว่านายนิคม มูสิกะคามะ(เสียชีวิต 2548)
อย่าตกใจที่เอ่ยชื่อท่าน สมัยที่แกยังอยู่ เขาโต้แย้งกันยับเยินเหลือที่จะกล่าว แกก็เฉย ทำตามเป้าประสงค์ไม่สะทกสะท้าน
ตอนนั้น เรามีโครงการสร้างอุทยานประวัติศาสตร์ และแกเป็นผู้อำนวยการคนแรก
แกประกาศว่า ยอมเอาชีวิตเข้าแลก เพื่อให้งานสำเร็จ แนวคิดก็คือ โบราณสถาน ต้องไม่มีคน
โบราณสถานต้องดึงดูด และโบราณสถานต้องทำเงินจากการท่องเที่ยว

ในตอนเริ่มต้น เมืองเก่ามีคนอาศัยอยู่เป็นหมื่น มีเป็นสิบหมู่บ้าน โดยเฉพาะแถบวัดพระพายหลวง
แนวคิดนี้ ไม่มีใครที่อยู่ในวงวิชาการเห็นด้วย ทุกครั้งที่สัมนาก้จะมีคนด่า ผมอยู่ในวงสนทนาครั้งหนึ่ง
พี่นิคมกำลังกริ่มได้ที่ พอถูกแย้งเรื่องแผ้วถางที่ โดยไม่มีแผนแม่บท แกหัวร่อตามปกติ บอกว่า ไม่ทันแฎกน่ะสิ
mang... นักเลงเต็มเมือง แผนจะไปทันมันได้ยังไง ต้องทำไปเขียนไป
อย่างป่าหมากป่าพลู ป่ามะม่วง กูก็(ขอโทษ เราคุยกันอย่างนั้นจริงๆ) ...ลงแอ้งให้เต็มทั้งแปลง พวกมึงไม่ชอบก็มาขุดทิ้งทีหลังสิวะ
แกยังเป็นคนแรกที่นำเอาระบบรับเหมามาใช้
เดิมเราจะขุดแต่งภายใต้การควบคุมของนักโบราณคดี ซึ่งมีขั้นตอนเคร่งครัด
พี่เขาก็บอกว่า...ไม่ทันกิน เอาแบบก่อสร้างมาใช้ อันใหนที่น่าจะเป็นอย่างนั้น ก็ให้มันรับเหมาไปเลย นักโบราณคดีก็ไปคุมให้ถูกต้อง
(แกเป็นคนแรกที่หางานโฟร์แมนให้นักโบราณคดี)
พอมีคนท้วงเรื่องข้อสังเกตของยูเนสโก้ แกก็บอกว่า แล้วมันมาสร้างกับกูหรือเปล่า
สรุปว่า แกเนรมิตเมืองอุทยานได้สมใจจริงๆ จนได้กินตำแหน่งอธิบดี

ก่อนตาย ผมได้ไปประชุมกับแกอีกหน คราวนี้ แกคิดแผนระดับหัวโกร๋นเลยครับ จะทำพิพิธภัณฑ์วังหน้า ให้หรูแบบแวร์ซาย
มีห้องมัลติมีเดี่ย ภายในมีแสงสีเสียง คัดแต่ชิ้นเด็ดมาอวด ขอเงินรัฐมนตรี 2000 ล้าน บอกว่าทำได้แน่ภายในสองปี

สำหรับการทำลายล้างที่วัดพระพายหลวงนั้น โชคร้ายที่ผมได้ไปเห็น
ตอนนั้นเราตกใจกันมาก ว่ารถแทรคเตอร์มาทำอะไรในที่แห่งนี้ และยิ่งตกใจที่หมู่บ้านริมวัดหายไปหมด
เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ มีเรือนพื้นบ้านที่น่าสนใจ และมีร้านโอเลี้ยงให้เราแก้กระหายด้วย
ผมยังจำได้ว่า พอเราเหนื่อยจากการรังวัด เราก็ปีนป่ายเนินดิน ทรากอาคาร ข้ามสระน้ำที่ตื้นเขินเสียรูปรางไปหมดแล้ว เพื่อไปที่ร้านนี้
นั่งดูดโอเลี้ยง มองกลับไปที่ปรางค์สีเหลือง ที่เหลืออยู่หลังเดียว นึกชมฝีมือปั้นปูนของช่างสุโขทัยว่า งามอย่างอวบอิ่ม
มีความนุ่มนวลในบริมาตร ต่างจากแหล่งโบราณสถานอื่นๆ

คุณนิคมให้ช่างมาส่องกล้อง ตีผัง แล้วขุกสระขึ้นมาใหม่
เนินสูงๆ ต่ำๆ ที่เก็บอดีตกาลหก-เจ็ดร้อยปีอยู่ในนั้น แกให้ไถเรียบ เพื่อตะลุยลงไปหาดินเมื่อพ.ศ. 1800 แล้วเผยมันออกมา
สุดท้ายมันก็กลายเป็นที่ราบปลูกหญ้าเขียวขจี มีสายยางฉีดเช้าเย็น กันเขตด้วยอิฐบปก.ใหม่เอี่ยว
ตรงแหนวอย่างไม่ต้องใช้จินตนาการ
มีที่จอดรถอย่างเป็นระเบียบ จะชมโบราณสถานก็เดินข้ามสะพานไม้ที่แสนจะกว้างขวาง ยืนที่หัวสะพานถ่ายรูปได้องค์ปรางค์เป็นฉากหลัง
นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมเห็นสุโขทัย

อ้อ
เนื่องจากเป็นงานรับเหมา มันก้อต้องมีคนงานมาก ปัญหาเรื่องขับถ่ายก็ต้องมี
เขาแก้ปัญหาด้วยการฝังโถส้วมแบบนั่งยองไว้ตรงมุมสนามของวัดศรีสวาย กั้นสังกะสีเรียบร้อย
เพื่อนคนหนึ่งทำงานมติชน นำรูปนี้ประจาน ส้วมจึงหายไป

ผมไม่ใช่คนอนุรักษ์นิยม แต่เมื่อได้อ่านเรื่องราวนี้แล้วรู้สึกเสียดาย
ในขณะเดียวกันก็เกิดความสับสนในตนเอง เมื่อพยายามเข้าใจทั้งสองฝ่าย
และหวนนึกถึงการทำลายล้างวัฒนธรรมของโลกในที่ต่างๆ ปากีสถาน จีน ทิเบต ฯลฯ

จึงอยากถามทุกท่านในบอร์ดน่ะคับ

1. โบราณสถาน โบราณวัตถุ และวัฒนธรรม มีประโยชน์ หรือมีคุณค่า ต่อมนุษย์อย่างไร
     
     ที่เกิดคำถามนี้ก็เพราะผมไม่เข้าใจคุณค่าของมันอย่างแท้จริง และคิดไปถึงว่าคุณนิคม มูสิกะคามะ
ท่านจบจากมหาวิทยาลัยใหน เขาไม่ได้สอนเรื่องคุณค่าของประวัติศาสตร์อย่างใช้ได้ผลจริงหรือเปล่า
จึงนำมาสู่การทำลายดังกล่าว  แต่ถ้ามองในเรื่องของการสร้างรายได้ให้กับจังหวัด สร้างรายได้ให้กับประเทศ
โดยใช้โบราณสถานเป็นจุดขาย ก็พอเข้าใจในการกระทำดังกล่าวหรือไม่ครับ
ปัญหาเลยอยู่ที่ว่า "ประวัติศาสตร์มีคุณค่า หรือ มีราคา"

2. ทำไมเราจึงควรอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และวัฒนธรรม

    คำถามนี้สืบมาจากคำถามแรก ในฐานะที่ผมยังเป็นวัยรุ่นที่ไม่ค่อยได้ถูกปลูกฝัง ในขณะที่จิตใจตอบว่าน่าเสียดายนะของเก่าๆ
แต่คิดไปคิดมา ในเมื่อทุกสิ่งก็เปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่ๆ ประวัติศาสตร์มีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ ทุกวัน ทุกวินาที ภาษา และวัฒนธรรม
เปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา แล้วทำไมเราต้องอนุรักษ์สิ่งเหล่านั้นไว้
ผมว่าเป็นคำถามที่วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยสงสัยอยู่นะครับ หรืออาจสงสัยแต่กลัวผู้ใหญ่ว่าเลยเงียบไว้

สิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่เราไม่เข้าใจน่ะครับ อย่างไรก็ตาม วอนทุกท่านช่วยตอบหน่อยนะครับ






บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 01 ต.ค. 07, 09:27

ทุกวันนี้ไม่อยากไปสุโขทัยแล้วครับ เหมือนกับเราไปเที่ยวสวนสนุกที่เขาจัดฉากเอาไว้ให้สวยๆอย่างนั้นแหละ นอกจากวัดสรศักดิ์กับวัดพระพายหลวงแล้ว ยังมีอีกหลายวัดที่เจดีย์มัน "งอก" เองได้ (คงคล้ายๆนครวัดที่งอกขึ้นมาจากพื้นได้เอง) ยกตัวอย่างเช่น

วัดเจดีย์สี่ห้อง เพราะมีปูนปั้นสวยที่ฐาน กลัวคนไม่รู้ว่าเจดีย์กลางทุ่งนี่มันอยู่ตรงไหน ก็เลยต้องมีแลนด์มาร์กด้วยการเติมองค์ระฆังและปล้องไฉนใหม่หมด

เจดีย์วัดซ่อนข้าว เป็นทรงดอกบัวตูม แต่ดอกบัวตูมมันหักไปแล้ว กลัวเขาจะไม่รู้ว่าดอกบัวตูมมันเป็นยังไง ก็เลยเติมซะ วันดีคืนดีไอ้ยอดดอกบัวตูมใหม่นั่นก็เริ่มเหี่ยว พังลงมาจากก้านบัวเป็นคำรบที่ 2

ยังมีอีกหลายวัด ที่สังเกตได้ว่า เจดีย์มันอายุ 600 กว่าปีแล้ว ทำไมยังมียอดชี้แหลมเป็นไม้เรียวหวดฟ้าได้อีก

ใครๆเขาก็ว่าสุโขทัยมีป่าหมากป่าลาง มองไปทางไหนกลายเป็นป่าเข็มไปแล้ว คิดว่าเป็นต้นไม้ยอดนิยมในการจัดสวนของอุทยานประวัติศาสตร์


ผมเห็นด้วยกับหลักอนิจจังของสรรพสิ่ง ของมันพังไปแล้วก็ให้มันคงอยู่ในรูปสุดท้ายของมัน ไม่ใช่มาเติมให้มันมีขึ้นจนกลายเป็นของใหม่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 01 ต.ค. 07, 10:50

เห็นคุณ Kurukula เข้ามาคนเดียว คร่ำครวญเสียดายของเก่าที่กลายเป็นของเล่นไปเสียแล้ว
ยังไม่เห็นนักประวัติศาสตร์เข้ามาตอบเป็นข้อๆที่คุณ KoKoKo ถาม 
เลยอาสามาล่อเป้าก่อน เผื่อตอบผิดจะได้เป็นแรงให้คนที่ตอบถูก อยากจะเข้ามาค้านบ้าง เพื่อจะได้คำตอบที่ถูกมาให้เห็น

มันมีของจำนวนมากในโลก ที่มี "ค่า" ประทับตรา "ราคา" ลงไปไม่ได้   ประวัติศาสตร์ก็เป็นสิ่งหนึ่งในนั้นที่มี"ค่า"
ประวัติศาสตร์เป็นการบันทึก"ราก" ของแผ่นดิน    เป็นหลักฐานหลงเหลือให้รู้ว่า บรรพชนของเรา"มาจากไหน" และ ท่านเหล่านั้น"เคยทำอะไร" ไว้บ้าง บนแผ่นดินที่เราได้เกิด อาศัย อยู่กิน และตายในภายหน้า
เมื่อรู้แล้ว ก็อาจจะเข้าใจคุณค่าบางอย่างที่ก่อให้เกิดความผูกพันขึ้นมา    นำไปสู่การเห็นคุณค่าและรักษาเอาไว้  เพื่อถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นต่อไป รุ่นต่อรุ่น
เพราะสิ่งที่ท่านทำเอาไว้  มีทั้งด้านศิลปะ ด้านวิชาความรู้  ด้านความเป็นอยู่ การปกครอง ขนบธรรมเนียมประเพณี  ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นมรดกที่จะตกทอดกันต่อไปได้สำหรับคนทั้งหมด  ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง   
เมื่อรู้จักและรักษาไว้  ก็จะเกิดความงอกงามได้ต่อไป

เหมือนคนที่รู้ว่าตัวเองเดินมาจากทางไหน  ก็จะรู้ต่อไปว่าควรเดินไปทางไหน   แต่ถ้าไม่รู้ว่าเดินมาจากทางไหน  ก็จะมะงุมมะงาหรา ไม่รู้ว่าจะเดินต่อไปทางไหน
อาจจะต้องไปอาศัยเส้นทางคนอื่นเพื่อเดิน  หรือให้คนอื่นมาจูงไปตามทางของเขา  ซึ่งจะเหมาะกับเราเดินหรือเปล่าก็ไม่แน่ 
เผลอๆอาจจะหลงทางในเส้นทางสับสนยุ่งเหยิงในหลายเส้นทางของคนอื่นๆจำนวนมากที่พากันมามะรุมมะตุ้มจูงก็ได้
บันทึกการเข้า
agree
ชมพูพาน
***
ตอบ: 114


แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 01 ต.ค. 07, 12:45

ผมว่าที่จริงแล้วประวัติศาสตร์มี "คุณค่า" มากกว่ามี "ราคา"

ประวัติศาสตร์บรรพบุรุษของเราได้จารึกไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา แต่คนสมัยนี้มีความโลภ ต้องการเงิน จึงใช้ประวัติศาสตร์หาเงินทั้งที่ไม่ใช่สิ่งที่บรรพบุรุษต้องการ

อย่างประวัติศาตร์หลาย ๆ แห่งถูกนำไปใช้หาเงินมากแล้ว แต่ถ้าคิดอีกมุมหนึ่งจะพบว่าประวัติศาสตร์มีราคาเช่นกัน เช่น อัญมณี อย่างเพชร พลอย ที่บรรพบุรุษเอาไปไว้ในวิหารศักดิ์สิทธิ์ โจรบางคนก็เข้าไปขุดขโมยมาขายในราคาแพง แต่สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ "ผิด" เพราะฉะนั้นเราควรใช้ประวัติศาสตร์ให้ถูกต้อง

ถ้าผู้ใดมีความคิดค้านผมก็เชิญเลยครับ  รูดซิบปาก
บันทึกการเข้า

Some dream of worthy accomplishments, while others stay awake and do them.
บางคนฝันที่จะประสบความสำเร็จอย่างสวยหรู ในขณะที่บางคนกำลังลงมือกระทำ
ศนิ
มัจฉานุ
**
ตอบ: 95

- The Ultimate Aim of Education is the Development of Charactor -


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 01 ต.ค. 07, 13:25

คุณค่า  [คุนค่า, คุนนะค่า] น. สิ่งที่มีประโยชน์หรือมีมูลค่าสูง.
 
ราคา  น. มูลค่าของสิ่งของที่คิดเป็นเงินตรา; จํานวนเงินซึ่งได้มีการชําระหรือ
 ตกลงจะชําระในการซื้อขายทรัพย์สิน, โดยปริยายหมายความว่า ค่า,
 คุณค่า, มักใช้ในความปฏิเสธเช่น เขาทำตัวเป็นคนไม่มีราคา.

(จาก พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp)

ในความคิดเห็นของดิฉัน ถ้าจะอิงคำว่าคุณค่า จากพจนานุกรม ก็คงจะแบ่งเป็นได้ 2 กรณี คือ
1. มีประโยชน์
    - ทำไมถึงมีประโยชน์
            - ทำให้รู้ถึงความเป็นไปของบรรพบุรุษในอดีต ทั้งการดำเนินชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ ซึ่งเป็นรากที่ทำให้เกิดคนไทยในทุกวันนี้
            - เมื่อรู้แล้ว สิ่งไหนที่เคยผิดพลาดในอดีต จะได้ไม่นำมาทำซ้ำอีก สิ่งไหนที่ดี ก็จะได้เลือกมาพิจารณาเพื่อปรับใช้  
2. มีมูลค่าสูง
    - เป็นผลจากเวลา ของบางอย่างทำจากวัตถุที่มีราคาไม่สูงนัก แต่มีมูลค่าสูง เช่น พระเครื่อง ยิ่งเวลานานผ่านไปก็ยิ่งดูจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
    - เป็นผลจากวัตถุ วัตถุที่มนุษย์ถือว่ามีมูลค่าสูง เมื่อนำมาทำสิ่งใด ก็จะทำให้มีมูลค่าสูงไปด้วย เช่น ทอง เงิน เมื่อนำมาทำเป็นเครื่องประดับ
    ก็ทำให้เครื่องประดับมีมูลค่าสูงกว่าเมื่อทำจากเหล็ก หรือทองแดง
    - สองอย่างประกอบกัน

แต่ในทางเพิ่มเติมดิฉันเห็นว่าคำว่า คุณค่า ที่เรากำลังพูดถึงอยู่ตอนนี้ น่าจะรวมไปถึงคุณค่าทางจิตใจด้วย
คุณค่าในที่นี้ ไม่สามารถตีค่าเป็นราคาได้

ลึกๆ ในใจ คนเราย่อมมีความรู้สึกหวงแหนต่อทุกสิ่งที่เราเป็นเจ้าของ หรือเป็นสิ่งของของบรรพบุรุษ
ความรู้สึกหวงแหนนี้ ก็คงเป็นความรู้สึกเดียวกับเวลาที่เราทนไม่ได้ เมื่อเห็นใครมาพรากสิ่งนั้นไปจากเรา
นี่เอง ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า

วัตถุประสงค์หลักของการเปิดให้เยี่ยมชมโบราณสถาน ควรจะเป็นไปเพื่อให้คนตระหนักถึงความสำคัญว่า
กว่าจะมาเป็นคนไทยจนถึงทุกวันนี้ บรรพบุรุษของเราต้องเจออะไรมาบ้าง ทำให้เราหวงชาติ หวงเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นไทย

รายได้จากการเยี่ยมชมควรจะเป็นเพียงผลพลอยได้ ซึ่งอาจนำมาใช้ในการรักษาความสะอาด หรือสภาพแวดล้อม
หรืออาจใช้ในการบูรณะแต่พอดี โดยไม่ทำลายสภาพเดิม

เราจะอนุรักษ์โบราณสถานไว้ทำไม
        เพื่อใช้ศึกษาการดำเนินชีวิต และเพื่อเป็นหลักฐานแสดงความเจริญรุ่งเรือง
เพื่อให้คนรุ่นหลังเห็นและรู้สึกหวงแหนในเผ่าพันธ์ รู้สึกภาคภูมิใจในชนชาติของตน

ทุกสิ่งมีคุณค่าในตัวของมันเอง
ถ้าถูกทำลายไปแล้ว ไม่ว่าอะไรก็ไม่สามารถทดแทนได้ค่ะ



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 01 ต.ค. 07, 14:07

ประวัติศาสตร์ มี"ค่า" ค่ะ  แต่อะไรที่เป็นผลผลิตจากประวัติศาสตร์  สามารถเอาไปทำให้มี"ราคา" กันได้ 
เช่นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆที่ผลิตกันในอดีตกาล ในสมัยของมัน  อาจไม่มีราคา หรือมีก็ไม่กี่มากน้อย   
ล่วงมาอีกยุค  เป็นของเก่าหายาก   ก็กลายเป็นของ"มีราคา" ขึ้นมา
อย่างพวกภาชนะบ้านเชียง เครื่องลายครามของจีน ทำนองนี้

ปัญหาที่น่าใคร่ครวญก็คือ การพยายามหา"ราคา" จาก "ค่า"ของประวัติศาสตร์  บางทีหามากเกินไป   ก็ล้ำเส้นเข้าไป  จน" ค่า"ถอยร่นไปแทบมองไม่เห็น
เช่นทำโบราณสถานเป็นสวนสนุกท่องเที่ยวเป็นต้น  นี่พูดถึงหลายๆแห่งในโลก ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทย
พูดถึง"ราคา" อาจจะเก็บค่าท่องเที่ยวได้เยอะ    บางท่านอาจจะถือว่าดีกว่าปล่อยโบราณสถานตากแดดตากฝนทรุดโทรม จะเข้าไปดูก็ทุรกันดารจนบุกไม่ถึง   พังคาตาไปเปล่าๆ
ก็ทำโบราณสถานเสียให้สะสวย ตัดถนน ทำสะพาน ทำศาลาพักร้อน  เก็บบัตรเข้าชม  เอาเงินมาทะนุบำรุงโบราณสถาน
ทั้งหมดนี้ ขึ้นกับ"ความพอดี" ว่ามันอยู่ตรงไหน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 01 ต.ค. 07, 14:49

พูดถึงการหา "ราคา" จากประวัติศาสตร์   เท่าที่เห็นมา สังเกตว่าถ้าเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ แม้จะเป็นที่เล็กๆอย่างบ้านเกิดของบุคคลสำคัญ   สมาคมหรือกลุ่มที่อนุรักษ์สถานที่ไว้ จะไม่แตะต้องดัดแปลงสถานที่ให้ผิดแผกไปจากเดิม  แต่จะรักษาสภาพไว้ให้เหมือนเดิมมากที่สุด  เพื่อคนที่มาชมจะมองเห็นร่องรอยและบรรยากาศของอดีตได้ชัดเจนเท่าที่จะทำได้
ส่วนที่เขาดัดแปลงแตะต้อง มักจะเป็นส่วนที่ไม่สำคัญของสถานที่นั้น   คือดัดแปลงก็ไม่เสียหายอะไร
ตรงนั้นแหละถึงจะเอาไว้หาสตางค์ เช่นเอาไว้จำหน่ายของที่ระลึก

คุณ Kokoko คงนึกออกว่า มีพระราชวังหลายแห่งเปิดให้เข้าชม   ในประเทศต่างๆ   แต่เขาจะไม่ต่อห้องในพระราชวังออกไป หรือเปิดท้องพระโรงเป็นห้องขายของ
แต่เขาจะไปเปิดร้านขายของที่ระลึก ในห้องหรืออาคารเล็กๆที่ไม่สลักสำคัญนักในบริเวณพระราชวัง แยกออกไปต่างหาก   มักจะเจอตอนเดินออกประตูไป 
ถ้าจะหาเงินจากประวัติศาสตร์ ก็หากันแบบนี้
บันทึกการเข้า
agree
ชมพูพาน
***
ตอบ: 114


แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 01 ต.ค. 07, 14:58

พูดถึงการหา "ราคา" จากประวัติศาสตร์   เท่าที่เห็นมา สังเกตว่าถ้าเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ แม้จะเป็นที่เล็กๆอย่างบ้านเกิดของบุคคลสำคัญ   สมาคมหรือกลุ่มที่อนุรักษ์สถานที่ไว้ จะไม่แตะต้องดัดแปลงสถานที่ให้ผิดแผกไปจากเดิม  แต่จะรักษาสภาพไว้ให้เหมือนเดิมมากที่สุด  เพื่อคนที่มาชมจะมองเห็นร่องรอยและบรรยากาศของอดีตได้ชัดเจนเท่าที่จะทำได้
ส่วนที่เขาดัดแปลงแตะต้อง มักจะเป็นส่วนที่ไม่สำคัญของสถานที่นั้น   คือดัดแปลงก็ไม่เสียหายอะไร
ตรงนั้นแหละถึงจะเอาไว้หาสตางค์ เช่นเอาไว้จำหน่ายของที่ระลึก

คุณ Kokoko คงนึกออกว่า มีพระราชวังหลายแห่งเปิดให้เข้าชม   ในประเทศต่างๆ   แต่เขาจะไม่ต่อห้องในพระราชวังออกไป หรือเปิดท้องพระโรงเป็นห้องขายของ
แต่เขาจะไปเปิดร้านขายของที่ระลึก ในห้องหรืออาคารเล็กๆที่ไม่สลักสำคัญนักในบริเวณพระราชวัง แยกออกไปต่างหาก   มักจะเจอตอนเดินออกประตูไป 
ถ้าจะหาเงินจากประวัติศาสตร์ ก็หากันแบบนี้


จริงด้วยครับ สถานที่ที่ไว้จำหน่ายขายสินค้ามักจะเป็นบริเวณที่ไม่สำคัญของสถานที่นั้น


บันทึกการเข้า

Some dream of worthy accomplishments, while others stay awake and do them.
บางคนฝันที่จะประสบความสำเร็จอย่างสวยหรู ในขณะที่บางคนกำลังลงมือกระทำ
pakun2k1d
พาลี
****
ตอบ: 285


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 01 ต.ค. 07, 15:49

ขอเป็นหนึ่งเสียงที่ลงมติให้ "คุณค่า" เหนือ "ราคา"  ค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 01 ต.ค. 07, 17:33

อ้างถึง
คิดไปคิดมา ในเมื่อทุกสิ่งก็เปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่ๆ ประวัติศาสตร์มีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ ทุกวัน ทุกวินาที ภาษา และวัฒนธรรม
เปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา แล้วทำไมเราต้องอนุรักษ์สิ่งเหล่านั้นไว้


การอนุรักษ์ เขาก็คัดเลือกเหมือนกันว่าจะอนุรักษ์อะไรเอาไว้แค่ไหน   ไม่ใช่ว่าขึ้นชื่อว่าอดีตแล้วต้องอนุรักษหลักฐานเอาไว้หมด
ไม่งั้น ถ้าอนุรักษ์นิวยอร์คไว้ตั้งแต่เริ่มตั้งเมือง ไม่ให้กระดิกกระเดี้ย  จนป่านนี้ก็ตึกระฟ้าทั้งหลายก็ยังไม่มี  แหล่งธุรกิจทั้งหลายก็มีไม่ได้ สถาบันสมิธโซเนียนหรือสถานที่อะไรที่มีคุณค่าก็สร้างไม่ได้  เพราะจะไปสร้างทับเนื้อที่กระท่อมเก่าแก่ของผู้มาตั้งถิ่นฐานเข้าเสียหมด
ประวัติศาสตร์ใหม่เกิดขึ้นเสมอ  แต่ประวัติศาสตร์เก่าก็ไม่ใช่ว่าจะต้องหลีกที่ให้ลูกเดียว จนของเก่าไม่เหลือ
ของที่ควรอนุรักษ์ไว้ ก็คือของที่ควร" อนุรักษ์    ของที่ไม่ควรก็รื้อถอนไปได้ค่ะ  คำว่า"เก็บหมด" หรือ "รื้อทิ้งหมด" มันสุดโต่งเกินไป
เขาจึงมีนักอนุรักษ์ในสาขาต่างๆเอาไว้คอยตรวจสอบว่าอะไรควรเก็บไว้บ้างไงล่ะคะ   พวกนี้จะระดมเงินมาซื้อบ้านเก่าๆของศิลปิน หรือบุคคลสำคัญเอาไว้ เพื่อทำพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นหลังได้เข้าไปชม    จะขอให้ทางการรักษาสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ซ่อมแซมบูรณะ  จะคัดค้านเมื่อมีความคิดจะทำลายสถานที่เก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

ในเมืองที่ดิฉันเคยเรียน  ตรงไหนปักป้ายลงไปว่า historical area ละก็ บ้านช่องแถวนั้นต้องรักษาสภาพไว้ 
กลุ่มนายทุนจะเอาเงินมาซื้อที่ดิน  รื้อบ้านเก่าทิ้ง สร้างศูนย์การค้าแทน  เพราะทำเลตรงนี้ทำเงินดีกว่า    ยังงี้ไม่ได้เป็นอันขาด
คิดว่าที่คุณ Ko เรียนอยู่ก็น่าจะมีตัวอย่างแบบเดียวกัน
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 01 ต.ค. 07, 19:31

คุณมีรูปพ่อ ถ่ายกับแม่ตอนพบกันใหม่ๆ
คุณจะขายทิ้ง ให้เขาไปทำกระดาษทิชชู่ใหมใหม ใหนๆ มันก้อซีดจางจนแทบจะไม่เห็นอะไรอยู่แล้ว

คุณไปเมืองลาเซา ทุกคนนุ่งกางเกงยีน ไม่มีพระแม้สักรูป มีแต่คนแต่งเป็นตัวละคอนเดินไปเดินมา
ทุกแห่งปรับอากาศ มีแต่อาหารแดกด่วน และทุกคนฟังไอ้ป๊อด
คุณจะไปใหม

การที่สังคมหนึ่งๆ ต้องถามตัวเองว่า สมบัติตระกูล มีราคาเท่าไร
แปลว่าตระกูลนั้นล่มสลายแล้ว
ลองคิดดูว่า ถ้าตระกูลโปษยานนท์ต้องขายบ้านต้นตระกูลทิ้ง สมาชิกของตระกูลจะดูหน้าบรรพบุรุษได้หรือไม่
เว้นแต่พวกเขาไม่เหลือเงินติดบ้าน นั่นแหละ คือทางออกสุดท้าย

ผมจะเล่าเรื่องช่างภาพคนหนึ่ง
แกชอบถ่ายรูปคน แกก็เลยคิดโครงการ ใบหน้าแห่งศตวรรษที่ 20
ออกเดินทางไปทั่วประเทศ ถ่ายรูปคนมาเป็นพันๆ ชิ้น ด้วยทุนส่วนตัว เป็นงานที่งามนัก
และทะยอยเผยแพร่ในวงจำกัด ทุกคนชื่นชม ยกเว้นฮิตเลอร์
ไอ้หนวดนั่น เห็นว่ารูปถ่ายขอทาน ทหารผ่านศึกขาขาด นิโกร ชาวนา....ฯลฯ ที่ประกอบกันเป็นประเทศเยอรมัน เป็นสิ่งผิด
เยอรมันต้องมีแต่คนหล่อ ล่ำ ผมทองตาสีฟ้า
งานชุดนี้ ถูกไล่ล่า ช่างภาพหนีหัวซุกหัวซุน เอาเนกะตีฟทั้งหมด ฝังดินไว้หลังบ้าน
ลูกชายหนีไม่ทัน ถูกจับ ถูกฆ่าทิ้งเพราะไม่ยอมบอกที่ซ่อนฟิล์มของพ่อ

นี่เรากำลังพูดถึงสิ่งที่เกินกว่าคุณค่าปกติ นี่เป็นเพียงงานเล็กๆ ของคนเล็กๆ แม้กระนั้น ก็ยังมีคนยอมตายให้

ตัวอย่างที่ 2 คือกรณีน้ำท่วมเวนิส
ทำไมทั้งโลกึงต้องระดมเงินไม่รู้เท่าไร รักษาเมืองที่เป็นสมบัติของชาติอิตาลีเล่า
เหตุก้อเพราะ อิตาลีเป็นความพากพูมิแห่งมนุษยชาติ
เราตีราคาความพากพูมได้หรือไม่...บางคนทำได้ครับ แต่ก็มีคนที่ทำไม่เป็นเหมือนกัน
ถ้าน้ำท่วมวัดพระแก้ว ขึ้นมาถึงองค์พระแก้วมรกต
คุณมีขันอยู่ที่บ้าน คุณไม่ออกมาวิดน้ำหรือ
วันที่ไฟไหม้"สำนักงาน" อุฟฟิซี่แห่งฟลอเรนส์ ผมน้ำตาไหล เหมือนเห็นมะฮอกกะนีสี่ต้นสุดท้าย หน้าบริษัทบอรเนียว ถูกโค่น
มันเป็นความรู้สึกที่ยากจะบ่งบอก

ความรู้สึกที่ว่า สายใยอันละเอียดอ่อน ที่เชื่อมเรากับคนที่อยู่ก่อนเรา ทั้งไกล้และไกลเกินกว่าจินตนาการ
ได้ขาดสะบั้นลง โดยเราไม่อาจทำอะไรที่จะรักษาสิ่งนั้นไว้
นี่คือเหตุผลที่คนเป็นล้านๆ สองฝั่งโขง ร่ำไห้เป็นวันๆ คราวพระธาตุพนมล้ม
คนที่กล้าไถอดีตทิ้ง ทั้งที่ตายแล้ว และที่ยังมีชีวิต เพื่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งการงานให้ตนเอง

ในความเห็นของผม ก็มีราคาไม่สูงกว่าเดียรัจฉานสักกี่มากน้อย
บันทึกการเข้า
BLUECOLOR
อสุรผัด
*
ตอบ: 20


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 01 ต.ค. 07, 20:24

ขออนุญาตให้ความเห็น ในฐานะที่เพิ่งลงทะเบียนมาไม่กี่วัน  และ ด้วยสายตาของชาวบ้านก็แล้วกัน
กับสองคำถาม  ....
1. โบราณสถาน โบราณวัตถุ และวัฒนธรรม มีประโยชน์ หรือมีคุณค่า ต่อมนุษย์อย่างไร

ตั้งแต่ประเทศเกิดวิกฤติการณ์ในปีที่ผ่านมา   ดิฉันเห็นคุณค่าของการที่คำว่า จิตสำนึกรักชาติ
รักแผ่นดิน   เป็นอย่างมาก 

ด้วยวลีที่ว่านี้  มันควรเกิดจาก การที่เราทำความเข้าใจ เรียนรู้ ประวัติศาสตร์ของชาติตัว  และต้อง
ตระหนักว่า  บรรพชน ที่ผ่านมา ทุกระดับชั้นทางสังคม  ท่านได้เสียสละอะไรในการรักษาแผ่นดินนี้มาให้เรา
ได้อาศัย   ได้ใช้คำว่า คนไทย  ในการบอกให้ชาติอื่นรู้ถึงสัญชาติ กับ ตัวตนของเรา 

ตรงนั้นก็คือคำตอบ สำหรับคำถามที่ 1   คิดรวบรัด แบบนี้ค่ะ

กับคำถามต่อไปของท่าน ...
2. ทำไมเราจึงควรอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และวัฒนธรรม

เพื่อให้ได้สัมผัส ด้วยตนเองในสิ่งที่เกิดตามข้อ 1 ค่ะ  ว่าเส้นทาง ความเป็นมา กว่าจะถึงสมัยเรา
เป็นมาอย่างไร   สัมผัสบรรยากาศ เอง   ย่อมให้ความรู้สึก  ได้ดีกว่าการเปิดข้อมูลจาก เว็บไซด์
หรือ ดูจากภาพนิ่งในหนังสือ  เป็นแน่ (สำหรับความเห็นดิฉัน)

เป็นการรักษาไว้เพื่อเป็นปัจจัยรองรับเหตุผลในข้อ 1

ส่วนการที่จัดรายการเปิดให้ คนต่างชาติได้เข้าชม   เพื่อหวังให้เห็นความมีวัฒนธรรมของเรานั้น
ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความภูมิใจให้คนในชาติได้     ผลข้างเคียง หรือ ประโยชน์ ทางอ้อมก็ได้
ในเชิงเศรษฐกิจตามมา

แต่... ไม่ควรรำผลข้างเคียงอันนี้  กลายเป็น เหตุผลหลักแทน   ต้องมีการดูแล บูรณะปฎิสังขรณ์
สถานที่เหล่านี้ควบคู่ไปด้วย   
บันทึกการเข้า
pakun2k1d
พาลี
****
ตอบ: 285


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 01 ต.ค. 07, 20:38

อ่านคุณpipatแล้วคิดถึงโรงเรียนปานะพันธ์ที่กลายเป็นคาร์ฟูร์ค่ะ  มีใครมีรูปไหมค่ะ
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 02 ต.ค. 07, 03:17

สิ่งที่สำคัญของประวัติศาสตร์ โบราณสถาน และโบราณวัตถุ คือ ค่าครับ
เรียกได้ว่าโบราณสถานแห่งไหน โบราณวัตถุชิ้นไหน ยิ่งหายากมากเท่าใดก็ยิ่งมีค่ามากขึ้นเป็นเงาตามตัว
แต่คุณค่าในเนื้อตัวของโบราณสถาน โบราณวัตถุนี่เอง ที่ทำให้โบรารสถานหรือโบราณวัตถุตกอยู่ในอันตราย

หลายสิบปีมานี่ที่เจดีย์จำนวนมากถูกทุบ โบราณวัตถุจำนวนมาก ถูกลักลอบขุดค้น
ก็เพื่อหาโบราณวัตถุอัน "ล้ำค่า" มา "ตีราคา" ให้แก่ผู้ที่สามารถสู้ "ราคา" เนื่องจากเห็นว่าของเหล่านั้นมี "ค่า" ในการสะสม
โดยที่คนเหล่านั้นก็ลืมไปว่า "ค่า" ของๆเหล่านั้น มันไม่ได้อยู่ที่ของเหล่านั้นอยู่ที่เขา แต่อยู่ที่ของเหล่านั้นอยู่ในสถานที่ๆมันควรอยู่ต่างหาก

ทุกวันนี้ นักนิยมโบราณวัตถุส่วนมากต้องหาคนมาเป็นหมอดู.... คอยฟันธงว่าของที่เขามีอยู่ หรือคิดจะซื้อไว้ครอบครองนั่น "แท้" หรือเปล่า
ของในพิพิธภัณฑ์เอกชนอีกหลายที่ก็ถูกติฉินนินทา ครหาว่า "ซื้อของปลอมมายกชุด" ซึ่งอาจจะจริงบ้าง เท็จบ้างไปตามระเบียบ
แต่ที่เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เพราะรัฐบาลเองก็ไม่มีความสามารถมากพอที่จะปกป้อง "ค่า" ของโบราณวัตถุของชาติ
และคนที่ไม่สมควรจะครอบครองโบราณวัตถุเหล่านั้นก็ให้ความสนใจใน "ราคา" ที่เกิดจาก "ค่า" ของโบราณวัตถุ



เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีเหตุให้ต้องหยิบหนังสือเกี่ยวกับลูกปัดของค่ายศิลปะวัฒนธรรมขึ้นมาอ่าน
อ่านแล้วรู้สึกประทับใจในคำนิยมของอาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม มาก
เพราะท่านกล่าวไว้ว่าการเก็บสะสมและซื้อหาลูกปัดโบราณของท่าน "ทำให้ท่านเรียกตัวเองว่านักโบราณคดีอย่างฝรั่งเขาไม่ได้"
และกล่าวถึงการเก็บสะสมลูกปัดเหล่านั้นว่าเป็นการ "สะสมสมบัติคนตาย"

ถ้าลองคิดดูว่าสมบัติเหล่านี้เป็นของที่ฝังอยู่ใต้ดินมานานหลายศัตวรรษ
เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าชุมชนในแต่ละชั้นวัฒนธรรมนั้นติดต่อ ซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้ากับส่วนใดของโลกบ้าง
และเป็นสิ่งบอกเล่าถึงเทคโนโลยี และสามารถของชุมชน..... ลูกปัดเหล่านั้นก็มีคุณค่ามากมายมหาศาลทางประวัติศาสตร์
เป็นเหมือนหลักฐานชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่รอคอยให้นักโบราณคดีมาขุดขึ้นเพื่อร้อยเรียงอดีตกาล.......

แต่ถ้าโบราณวัตถุเหล่านี้ถูกลักลอบขุดขึ้นเพื่อนำไปใช้เพียงแค่คุณค่าทางด้านความงาม ว่า "สวย" และ "มีราคา" แล้ว
ใครจะรู้ว่าลูกปัดที่คอของคุณ ก. นั่นมาจากวัฒนธรรมแบบไหน ใช้ประดับศพหรืออยู่ในชั้นวัฒนธรรมที่มีการปลงศพด้วยการเผาแล้ว
แล้วใครจะยืนยันได้ว่าลูกปัดที่คุณ ก. บอกว่ามาจากแหล่งโบราณคดีที่นั่นที่นี่.... จะมาจากที่นั้นๆจริง ? เพราะมันมาจากการลักลอบขุดค้น
ในกรณีแบบนี้ ความเย้ายวนใจจาก "ราคา" ก็ทำให้ "คุณค่า" ของโบราณวัตถุลดลงและหมดไปในที่สุด





แต่ในทางกลับกัน ถ้ารัฐบาลคิดจะสร้างเขื่อนซักที่
โดยไม่คำนึงว่าบริเวณริมตลิ่งเหนือฝั่งแม่น้ำนั้นมีวัดและเมืองโบราณอยู่เป็นจำนวนมาก
และสร้างเขื่อนไปโดยไม่ทำการขุดค้นหาหลักฐานทางโบราณคดี หรือทำการอนุรักษ์โบราณสถานเสียก่อน..........
ค่าของหลักฐานทางโบราณวัตถุก็สูญหายไปได้เช่นเดียวกันครับ



ปล. ใครเคยคิดเหมือนผมบ้างมั้ยครับ ว่าถ้าเอาโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครไปหาที่จัดแสดงใหม่นี่....
เราจะสร้างพิพิธภัณฑ์ที่น่าชมที่สุดในโลกอีกแห่งหนึ่งไว้ในประเทศไทยได้นะครับ
(หรืออย่างน้อยก็ยังดีกว่าตั้งเทวรูปโบราณทิ้งไว้ริมระเบียง แล้วปล่อยให้นกพิราบขี้รดหัวอย่างทุกวันนี้ล่ะครับ)
บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 02 ต.ค. 07, 05:12

โหหหห คำตอบของคุณ pipat ทำเอาผมน้ำตาซึมเลยน่ะครับ คุณค่าเป็นเรื่องของจิตใจจริงๆเลยนะครับ
จะประเมินด้วยตรรกะเศรษฐศาสตร์ ด้วยเหตุผลปากท้อง ด้วยเหตุผลวัตถุนิยมอย่างเดียวคงทำไม่ได้นะครับ

ที่คุณ เทาชมพู ว่า ที่ที่ผมเรียนอยู่ก็น่าจะมีตัวอย่างแบบเดียวกัน อันนี้จริงเลยทีเดียว
สงครามโลกครั้งที่สอง ผมนึกว่าจะทำให้ญี่ปุ่นราบเรียบ โบราณสถานสำคัญๆ น่าจะไม่เหลือ
แต่ทว่า อ.ของผม ท่านบอกว่า
     แม้สงครามจะเกิดทั่วทุกที่ในญี่ปุ่น เครืองบินทิ้งระเบิดไปทั่ว
ในฐานะชาวญี่ปุ่นก็ยังขอบคุณอเมริกา ที่เว้นโบราณสถานสำคัญๆไว้ไม่น้อย
สิ่งก่อสร้างเป็นพันๆ ปียังคงหลงเหลือจำนวนมาก หลวงพ่อโตไดบุทซึแห่งเมืองคามากุระเมืองหลวงยุคซามุไร ไม่โดนระเบิดเลย
เมืองเกียวโต นารา ยังคงอุดมด้วยวัง วัด โบราณ เราขอบคุณที่ให้ญี่ปุ่นยังคงมีชาติกำเนิด มีชาติพันธุ์

ผมฟังแล้วอึ้งเลยครับ อ.ท่านพูดแรงเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม

    มหาวิทยาลัยที่บ่มเพาะบุคคลที่เกียวข้องกับการดูแลประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ โดยเฉพาะบุคคลที่ในอนาคตจะมีตำแหน่งสูงในสังคมอันจะมีอำนาจในการตัดสินใจในโครงการต่างๆ ซึ่งก็คงยากที่จะรู้ว่าใครจะขึ้นสู่ตำแหน่งนั้น คณาจารย์และ มหาวิทยาลัย จึงควรใส่ใจนักศึกษาทุกคน และวอนขอให้มหาวิทยาลัยเหล่านั้น บรรจุหลักสูตรที่ปลูกฝังให้ผู้ศึกษาได้เห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านั้น เกิดขึ้นอย่างแท้จริงในจิตใจนะครับ

KoKoKo
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.081 วินาที กับ 20 คำสั่ง