เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 9
  พิมพ์  
อ่าน: 23097 แบกะดินขึ้นห้าง
pakun2k1d
พาลี
****
ตอบ: 285


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 01 ต.ค. 07, 20:20

นับถือ นับถือ นับถือ ค่ะ
คุณเทาชมพูนี่นอกจากรู้รอบ รู้จริง แล้วยังรู้ใจอีก
ดิฉันอ่านคุณpipatแล้วก็งงว่าเธอพูดเรื่องอะไร  จนได้ดูรูปที่คุณเทาชมพูเตรียมไว้ให้นั่นแหละคะ

ตอบคุณเทาชมพูก่อนนะคะ

ดิฉันว่ารูปนี้ไม่ควรได้รับรางวัล  แม้ว่าจะผู้วาดจะมีฝีมือและมีเจตนาดีที่ต้องการสะท้อนภาพสังคม  แต่ภาพที่ได้รับรางวัลควรมีวิธีการที่สร้างสรรค์และแยบยล  ไม่ควรมีข้อด่างพร้อยที่อาจทำให้เข้าใจผิด  เพราะภาพที่ได้รับรางวัลจะได้รับการยกย่อง และเผยแพร่

อธิบายเพิ่มเติมหน่อยนะคะ  ดิฉันเคยอยู่ในบรรยากาศการตัดสินภาพวาดแต่เป็นระดับเยาวชนนะคะ  กรรมการแต่ละท่านจะพิจารณาทั้งฝีมือ ความหมายของภาพ ความคิดสร้างสรรค์ และผลกระทบต่อสังคม   แต่ละท่านจะแสดงความคิดเห็น  ถกเถียงกันตรงไปตรงมาด้วยความเคารพในความคิดเห็นของกันและกัน   แต่สุดท้ายก็จบด้วยเสียงข้างมากอยู่ดีค่ะ  ซึ่งภาพนี้เราไม่รู้ว่ากรรมการส่วนใหญ่ท่านพิจารณาจากอะไร  ป่านฉะนี้ท่านคงรู้แล้วละค่ะว่า "สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลัง"

ส่วนรายการที่คุณpipatพูดถึง  ไม่ได้ดูค่ะ  ไม่แปลกใจค่ะเรื่องรายการทีวีต้นแบบของ แบกะดินขึ้นห้าง โชคดีที่ลูกชายของคุณpipatมีคุณพ่อดู และคอยชี้แนะอยู่ข้าง ๆ ค่ะ  สำหรับเด็ก ๆ ที่ไม่มี  หรือถึงจะมี  ผู้ปกครองหลายคนก็ตกอยู่ในวังวนความมักง่ายของผู้จัดทำรายการที่ทำลายคุณค่าของสื่อสารมวลชนอย่างน่าเสียดายค่ะ

ล่าสุด  คุณpipatและคุณเทาชมพูได้ข่าวเรื่องเพลง นางฟ้าคืนเดียว หรือยังค่ะ  กรณีนี้ดิฉันยกย่องคนแต่งเพลงนะคะที่ออกมากล่าวโทษ  และพูดอย่างชัดเจนว่าตัวเองผิดอย่างไร  แล้วต่อไปต้องทำอย่างไร  ทั้ง ๆ ที่เพลงนี้ผ่านเซ็นเซอร์นะคะ

มาต่อเรื่องท่านรัฐมนตรีดีกว่านะคะ  น่าสนใจ และยากดีค่ะว่าจะตัดสินอย่างไร  ตอนนี้รัฐมนตรีที่เขาว่าผิดจรรยาบรรณลาออกกันไป  ได้รับคำยกย่องว่ามีสปิริต  แต่จริง ๆ แล้วทิ้งเพื่อน  หนีรำคาญหรือเปล่าค่ะ    แล้วคนชี้ถูกชี้ผิดไม่ต้องรับผลด้วยนะคะเนียะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 01 ต.ค. 07, 21:21

นี่ละค่ะตัวอย่างของการชี้ ถูก-ผิด-ดี-เลว ที่ไม่อาจลงตัวกันได้ง่ายๆ

ในการตัดสินรางวัลอะไรก็ตาม  จะให้กรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นจะยากมาก  ดิฉันเชื่อว่ากรรมการที่เห็นอย่างคุณ pakun ก็คงมีเหมือนกัน  แต่ในเมื่อภาพนี้ได้รางวัล แสดงว่ากรรมการส่วนใหญ่เห็นแตกต่างไปจากคุณ   ภาพนี้จึงได้รางวัล
ผลกระทบจากการประท้วง  ต้องดูด้วยว่าใครประท้วง และประท้วงด้วยเหตุผลอะไร   
อย่าเพิ่งคิดว่าถ้ามีคนประท้วงแล้วจะแสดงว่า กรรมการเป็นฝ่ายผิดพลาด     ทำไมไม่คิดว่าคนประท้วงนั่นแหละ ผิด

ภาพนี้ แสดงถึงอลัชชี  ไม่ได้แสดงถึงสงฆ์
อลัชชีทุกคน ไม่มีใครแต่งกายอย่างชาวบ้าน   ทุกคนห่มผ้าเหลืองทั้งนั้น   ไม่มีใครอยู่บ้านช่อง  ทุกคนอยู่วัด
อลัชชีเมื่อดูภายนอก ด้วยสายตา  ถ้าอยู่นิ่งๆก็ไม่ต่างจากสงฆ์  ต่อเมื่อเคลื่อนไหวแสดงความประพฤติ ถึงรู้ว่าไม่ใช่สงฆ์

ภาพนี้ไม่ใช่สะท้อนถึงสงฆ์แน่นอน แต่สะท้อนผู้แต่งกายโกนหัวอย่างสงฆ์ แต่ความประพฤติไม่ใช่สงฆ์  แอบแฝงอยู่ในนามของสงฆ์
สงฆ์รูปไหนทำตัวไม่เหมาะ นั่นไม่ใช่สงฆ์อีกแล้ว   กฎหมายจะเรียกว่าพระสงฆ์หรือสถานที่สังกัดอยู่เรียกว่าพระสงฆ์ก็ตามเถอะค่ะ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่

พุทธศาสนาไม่เคยสร้างกฎเกณฑ์ใดๆว่า ห้ามวิพากย์วิจารณ์พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์    ห้ามแสดงความไม่เชื่อถือ  ห้ามสงสัยและห้ามตรวจสอบ ต้องศรัทธาอย่างเดียว   
ตรงกันข้าม  พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านใคร่ครวญตรวจสอบจนแน่ใจเสียก่อน จะได้สามารถนับถือได้ด้วยจิตที่ผ่านการไตร่ตรองแล้ว
ในพุทธประวัติ มีพระอรหันต์ไม่รู้ว่าเท่าไรที่ตอนเข้ามาพบพระพุทธองค์ ก็ซักถามท่านอย่างไม่เกรงใจ  โต้กันไปมาอยู่จนกระทั่งจำนนต่อคำตอบ ถึงเข้ามาบวช
คนที่ไม่ได้บวช แต่ติดตามพระธรรมเทศนาอย่างสม่ำเสมอ  ก็เป็นอุบาสกอุบาสิกา สองในพุทธบริษัท

ชาวบ้านเป็นพุทธบริษัท  มีหน้าที่ปกป้องศาสนาจากมาร  ไม่ใช่มารโกนหัวห่มผ้า แล้วก็เลยต้องนับถือโดยอัตโนมัติ
เท่ากับเอาหนอนมาบ่อนไส้   เอาสนิมมากินเนื้อในของเหล็ก   เอาแกลบมาใส่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆในกระบุงข้าวสาร

ศิลปินคนวาดภาพนี้ เขาไตร่ตรองแล้ว จึงพยายามแยกแกลบออกจากข้าว   ด้วยวิธีตามแบบที่เขาถนัด
การแยกแกลบออกจากข้าว  จะไปกำหนดให้บรรจงหยิบอย่างทะนุถนอมออกมาทีละเม็ด   ก็สายเกินไปแล้ว  ถ้าได้ผล  แกลบคงไม่เต็มยุ้งฉางพุทธอยู่อย่างทุกวันนี้  พิสูจน์ได้จากข่าวในหนังสือพิมพ์
แกเลยใช้วิธีร่อนแรงๆ   กรรมการเขาก็เห็นและเข้าใจ เขาจึงให้รางวัลไงล่ะคะ

ส่วนคนประท้วงนั้น  ดิฉันแยกเป็น ๒ พวก คือพวกที่ประท้วงด้วยใจซื่อ เกิดความสะเทือนใจจริงๆ   แต่เป็นความสะเทือนใจที่มีพื้นฐานบนความเข้าใจผิด มองคนละทางกับสิ่งที่คนวาดต้องการสื่อ และไม่เข้าใจว่าคนวาดหมายถึงใครหรืออะไร
กับอีกพวก...หุหุ  ไม่พูดก็คงเข้าใจ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 01 ต.ค. 07, 22:16

การสร้างงานที่เน้นการประท้วง เปิดโปง หรือล้มล้างความเชื่อนั้น
ไม่สามารถทำได้ด้วยความนุ่มนวลครับ....ไม่ อย่างน้อยก็เท่าที่มีการสร้างงานแนวนี้ออกมา
อันที่จริง ต้องนับถือจิตใจของคนทำงาน และก็ต้องคารวะต่อกรรมการ ที่ให้รางวัลสูงสุดแก่งานเยี่ยงนี้
อย่างน้อย ก็เป็นการส่งสัญญานไปยังสังคม ว่า
จะทนดูพฤติกรรมตามที่งานนี้ ถลกกำพืด สำแดงออกมา ได้หรือไม่

เวลาที่ไฟไหม้บ้าน...คงไม่มีใครมาร้องเสียงนุ่มหูว่า
คุณครับ คุณครับ ....ขอโทษนะครับ ดูเหมือนมีไฟกำลังไหม้บ้านคุณใช่ใหม
ระดับของหายนะ จะเป็นเครื่องบ่งชี้ความรุนแรงของการแสดงออก
อันที่จริง ถ้าศิลปินแสดงเนื้อหานี้ ออกมาด้วยรูปแบบที่จำเจ สะบายตา ก็คงไม่ได้รางวัลแน่ๆ

นั่นเป็นเรื่องของรูปแบบ
ทีนี้ มาพิจารณากันที่เนื้อหา
ศิลปินคนนี้ ไม่ยอมเสนอทิพย์ของพระธรรม ทั้งๆที่เราจะเห็นจากชิ้นส่วนที่เขาใส่ลงในรูป ล้วนชี้ว่า เขาศึกษาและเข้าใจพอสมควร
ทำไมเขาจึงไม่เดินตามทางอันสะดวกดาย ที่รุ่นพี่ๆ ถากถางไว้ให้
คำตอบก็คือ งานของท่านพี่ๆ ไม่สามารถขบปัญหาในใจของเขา ปัญหาเรื่องพระภิกษุปลอมปน
คนปลอมเป็นพระ มีมาแต่พุทธกาลแล้วนะครับ ถูกสึกมาก็ตั้งแต่ครั้งนั้นไม่เคยขาดสาย
มาถึงสมัยเจ้าตาก ไปเมืองใหนก็นิมนต์พระมาสวด และสอบ ทำไม่ได้ก็ฆ่าทิ้ง
เพราะความผิดเรื่องนี้ ในสมัยโบราณเป็นโทษถึงตาย

ปัจจุบันนี้ เราไม่ใช้โทษระดับนั้นกับคดีแค่นี้...แต่แค่เขียนรูปด่า ไม่น่าจะเหลือบ่ากว่าแรง
ที่สำคัญ ด่าได้ถูกต้องด้วย

ส่วนเรื่องรมต. ลาออก นั่นไม่ควรคิดเป็นการทิ้งเพื่อนนะครับ แม้ว่าจะทิ้งจริงก็ตาม แต่เขานั้น
ไม่สมควรมาเข้าเพื่อนแต่ต้น
คุณจะเข้ามารับใช้ชาติ กะอีบริษัทจิ๊บจ๊อยแค่นี้ ไม่ยอมตัด
อามิสเพียงนี้ ยังมีโลภะที่จะยึดไว้ อามิสใหญ่กว่านี้ จะทนได้หรือครับ
การเกาะตำแหน่ง ก็เป็นเครื่องชี้อย่างดีครับ
คุณรมต. ที่เป็นดอกเตอร์ ยังซ้ำให้ผมชื่นใจอีกว่า
ขอบคุณผู้ตรวจสอบ ที่ทำงานตรงไปตรงมา
คำพูดเพียงนี้ ก็ยกระดับจริยธรรมที่กระปลกกระเปลี้ยของเรา ให้กระเตื้องได้นิดหน่อย
ความเป็นรัฐมนตรีนั้น เปราะบางขนาด พูดเล่นๆ ว่าจะออก ยังต้องออกเลยครับ
สำมะหาอะไรกับการถือครองผลประโยชน์ที่ละเมิดหลักแห่งความเที่ยงธรรม

กรณีนี้ สังคมได้กำไรครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 ต.ค. 07, 09:18 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 02 ต.ค. 07, 01:49

มีธุระให้อดเข้าเรือนไทยเสียหลายวันครับ
ไม่อย่างนั้นคงได้มาเล่าต่อจากความเห็นสุดท้ายในหน้าที่แล้วของอาจารย์เทาชมพู
ว่าเผอิญวันที่เกิดเรื่องที่มหาวิทยาลัยศิลปากร
ผมดันไปใช้ห้องสมุดที่นั่นเสร็จพอดี เดินออกมาก็เห็นสตรีใจศรัทธาอยู่หลายสิบนาง
และพระอีกหลายสิบคน (อืม..... ถ้า อาจารย์เทาชมพู คุณpipat และคุณpakun2k1d จะอนุโลมให้ผมเรียกผู้ที่เอาจีวรมาห่มว่า "พระ" -ขออนุญาตไม่ใช้คำว่า "ครอง" หรือ "รูป" นะครับ คนธรรมดาไม่น่าใช้ราชาศัพท์ได้)
มายืนตะโกนคาถาสังฆคุณอยู่หน้ามหาวิทยาลัยพร้อมกับชูภาพที่ว่านี่หราๆ
ผมก็ไม่ได้ใส่ใจอะไร เดินฝ่าหมู่สตรีใจศรัทธา และพระที่นั่นออกมา
ถึงได้เห็นว่าพระที่มาทีหลังและอยู่ทางด้านหลังสองสามคนกำลังยืนขำและคุยกันอยู่
จับใจความผ่านๆได้ว่า "เขาบอกให้มาก็เลยมาซะหน่อย"

ได้ยินเข้ารู้สึกเหมือนว่าคาถาสังฆคุณที่ตะโกนสวดอยู่นั่น
พวกนุ่งผ้าเหลืองที่มาตะโกนนี่เขามีคุณสมบัติตามสังฆคุณแล้วหรือ ?
แล้วเขาสวดประชดคนรอบข้างที่หันมาดูภาพของตัวเขาเองที่เขาชูหราอยู่หรือไง ?
ทำไมผีในผ้าเหลืองมันถึงมากขนาดนี้ แค่ปูนก้อนกระจิดริดกระจ้อยร่อยก็ต้องร้อนท้องขนาดนี้เชียว ?

เห็นแล้วก็ได้แต่อนาถใจ ไม่รู้จะพูดอะไรดี ก็ได้แต่เดินจากมาล่ะครับ......
ได้แต่สงสารคนพุทธ เกิดมาพ่อแม่ก็กรอกสูติบัตรให้ ไปกากบาทเอาว่านับถือพุทธ.......
แล้วก็ถูกพ่อแม่สอนมาน่ะแหละ ว่าใครนุ่งผ้าเหลืองให้ไหว้ ให้เรียกพระ เข้าโรงเรียนก็ต้องมานั่งท่องราชาศัพท์สำหรับพระกันตั้งแต่ประถม.....
เลยตาบอด เห็นผีเห็นหมานุ่งผ้าเหลืองก็กราบไหว้บูชา ขออนุญาตกราบไหว้เอาข้าวเอาเงินเลี้ยงผีเลี้ยงหมา......
อยากถามจัง ว่าไอ้ทำกันมาแต่เด็กนี่....ไม่ทราบว่าพระพุทธองค์อนุญาตให้นักบวชของพระองค์จับเงินได้หรือครับ ?
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 ต.ค. 07, 09:20 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
pakun2k1d
พาลี
****
ตอบ: 285


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 02 ต.ค. 07, 02:36

อ่านทั้งของคุณเทาชมพู และคุณpipat แล้วนึกภาพบรรยากาศการตัดสิน  อย่างนี้เลยค่ะ  แต่ละท่านจะชี้แจงละเอียดละออให้คุณค่าน้ำหนักตามทัศนะ  และหลากลีลา  บางท่านก็นุ่มนวล สาระล้วน ๆ แบบคุณเทาชมพู  บางท่านก็ได้อารมณ์สีสันจัดจ้านของคุณpipat  ทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นบรรยากาศที่สร้างปัญญา  เสียงข้างน้อยที่แพ้เสียงข้างมากก็ยอมรับด้วยความเคารพ   อย่างนี้แหละค่ะที่อยากให้เยาวชนของเราได้เห็น  จะได้ฟังเป็น เถียงเป็น แล้วไม่เป็นพวกขี้แพ้ชวนตี

ต่อเรื่องรัฐมนตรีอีกนิดค่ะ  ดิฉันขอชื่นชมท่านรัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีด้วยอีกคนนะคะ  แต่ขอทักท้วงที่คุณpipatกล่าวเหมือนว่า  ท่านรัฐมนตรีที่ไม่ลาออกไม่ยอมละอามิสเล็ก ๆ น้อย ๆ สรุปเร็วไปนิดไหมค่ะ      ในเรื่องนี้ดิฉันมีคำถามค้างใจอยู่หน่อยหนึ่ง  รอฟังมานานแล้วไม่เห็นมีใครตอบซักทีว่า  ทำไมปปช.เพิ่งมาทักท้วงตอนนี้ค่ะ  คุณpipatพอจะทราบไหมค่ะ  ดิฉันสงสัยจริง ๆ นะคะ  ไม่ได้กวนน้ำให้ขุ่นเล่น ดิฉันว่าตัวเองมีทัศนคติที่ดีกับเรื่องนี้นะคะว่า  การที่ ปปช.ทักท้วงขึ้นมาทำให้การเป็นรัฐมนตรีของแต่ละท่านสะอาด โปร่งใส  ใครมีอะไรก็มีโอกาสชี้แจงให้ชัดเจนเสียก็สิ้นเรื่อง  ไม่ใช่มาอ้างอิงให้สับสนว่ามีขบวนการจ้องทำลาย  โทษกันไปโน้นเลย  แต่ก็มาติดใจที่ทำไม ปปช.ไม่รีบพิจารณา ป่าวประกาศก่อนหน้านี้น้า

อีกนิดหนึ่งที่ดิฉันออกจะรู้สึกไม่ชอบใจสื่อทีวี  เพราะมักจะใช้คำว่า "กดดัน" ฟังแล้วดูเหมือนการเอาชนะกันด้วยกำลัง  ทั้ง ๆ ที่มันควรจะได้รับการทำความเข้าใจว่า  รัฐมนตรีที่มีข้อสงสัยเหล่านั้นมีคำตอบที่ชัดเจน และเชื่อถือได้ให้สังคมนี้ไหม  ถ้าคุณตอบไม่ได้ ไม่เป็นที่เชื่อถือคุณก็ไม่สมควรแก่ตำแหน่งนี้นะ

ขอบคุณคุณติบอนะคะที่บอกเล่าให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริง  เราจะได้แยกแยะอย่างมั่นใจว่าอะไรถูกอะไรผิด  อย่างที่ว่านะคะ  ตอนนี้พระ(น่าจะส่วนมากด้วยนะ)ไม่เป็นที่พึ่งใด ๆ ได้เลย
บันทึกการเข้า
tuka007
พาลี
****
ตอบ: 291


คนจับจอบจับเสียม


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 03 ต.ค. 07, 15:31

ในความเห็น ตูก้านะคะฐานะที่นับถือพุทธเหมือนกัน ได้ดูรูปที่เป็นข่าวแล้ว ใจกลับนึกชมชอบ และยกย่องศิลปิน ดูแล้วยังคิดในใจ  ...เออ..มานต้องงี้สิ.. ในใจไม่ได้คิดเลยว่าเป็นการดูหมิ่นพระศาสนา เพราะรูปที่แสดงไม่ใช่สาวกของผู้มีพระภาคเจ้าเป็นแน่แท้ ..นั่นคือรูปหมาเอาผ้าเหลืองมาคลุมตัวไว้ต่างหาก... ยิ้ม
บันทึกการเข้า

จงยิ้มให้โลก...แล้วโลกจะยิ้มให้เรา
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 11 ต.ค. 07, 11:39

ขออนุญาตขุดกระทู้นี้อีกครั้งนะครับ
เรื่องภาพ ภิกษุสันดานกาและภาพ หมา-นุษย์ นี้ เรื่องชักจะเลยเถิดถึงขนาดองค์กรพระพุทธศาสนากว่า 50 องค์กรจะฟ้องศาลอาญาแล้วครับ
น่าเสียดายที่สุดคือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็เอากับเขาด้วย(ดูในไทยรัฐ ฉบับวันที่ 8 ต.ค. 2550 หน้า 14)

เรื่องรูปนั้นสื่อถึงอะไรนั้น ท่านผู้รู้ได้ตอบไปหมดแล้วครับผม เจ๋ง
............................................................
ผมก็จะขอว่ากันต่อเรื่องแบกะดินขึ้นห้างนะครับ
แต่เนื่องจากกระทู้นี้ไปไกลเกินกว่าจะตามประเด็นเดิมที่ว่ามาแล้ว ก็จะขออนุญาตพูดถึงประเด็นใหม่นะครับ

ผมคิดว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างที่บางคนมองว่านั่นมีค่าน้อย แต่ผ่านกาลเวลาไปแล้วกลับมีค่าสูงขึ้นมา
ในขณะที่หลายคนบอกว่าสิ่งนั้นมันไม่มีค่าสลักสำคัญอะไร แต่บางคนก็มองว่ามันเยี่ยมยอด มีคุณค่า

เอ...จะจัดเป็น แบกะดิน แบบ สองคนยลตามช่อง หรือเปล่าครับ ฮืม
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 11 ต.ค. 07, 14:45

     จากคห. คุณศรีฯ ทำให้นึกถึง Kitsch ครับ

      http://en.wikipedia.org/wiki/Kitsch

       เคยดูสารคดีสั้นๆ จากเยอรมัน (คำนี้เป็นคำกำเนิดจากเยอรมัน) พาไปดูสิ่งของต่างๆ ทั้งรูปถ่าย ของใช้ ของประดับเก่าๆ เชยๆ
ที่ไม่ใช่งานฝีมือ หรืองานศิลป์ขึ้นหึ้ง แต่มีคุณค่าให้บางคนที่ "เล่นของ" แบบนี้หามาสะสมกัน

       ได้เก็บบทความภาษาไทยหนึ่งชิ้นไว้ ขอนำมาแสดงไว้ดังนี้ ครับ

                เมื่อของเก๊กลายเป็นของเท่

สุธี คุณาวิชยานนท์

         หนึ่งในคำเท่ปนขลังที่ทำให้ผมงุนงงก็คือ คำว่า คิทช์ (kitsch) ดูเหมือนว่าคำๆ นี้ จะเป็นหนึ่งในคำสำคัญของ ศิลปะแนวโพสท์โมเดิร์น
ที่ชอบทำอะไรขวางหูขวางตาพวกอนุรักษนิยม
         หากจะแปลคำๆ นี้ออกมาเป็นคำไทยเพียงคำเดียว ดูจะเป็นเรื่องยาก เพราะดูเหมือนว่าจะหาคำที่มาแทนกันตรงๆลำบาก เคยมีคนถอดเป็นภาษาไทย
เอาไว้ว่า     “กำมะลอ” ซึ่งแปลเป็นไทยอีกชั้นหนึ่งได้ว่า “ของปลอม ของที่ไม่ใช่ของแท้”     
แต่ทว่า “กำมะลอ” คำนี้ยังไม่สามารถถ่ายทอดความหมายในอีกมิติหนึ่งออกมาได้
                เพราะคำว่า คิทช์ ยังมีมิติของ “ความเชยและของโหล” อยู่ด้วย

         อันว่าของที่เป็น “กำมะลอ ปลอม ของโหลๆ และเชย” นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับวิจิตรศิลป์หรือศิลปะชั้นสูงทั้งหลาย
ศิลปะสมัยใหม่ที่เคยเป็นของแปลกปลอมสำหรับศิลปะตามหลักวิชา (academic art) และศิลปะคลาสสิคชั้นสูงในอดีต ก็มีท่าทีหยามเหยียดของที่เป็น คิทช์
พวกสมัยใหม่เห็นว่า คิทช์ นั้นเป็นของตลาดระดับ “แมส” มหาชนคนชาวบ้าน เป็นเรื่องของสินค้าผลผลิตอุตสาหกรรม บ้างก็เรียกมันว่าเป็น โลว์ อาร์ต หรือ
โลว์ คัลเจอร์ (Low art, Low culture) เป็นศิลปะระดับล่าง วัฒนธรรมระดับต่ำแบบวัฒนธรรมย่อย

         ของที่จัดว่าเป็น คิทช์ มีทั้งที่เป็นสินค้าราคาถูกตามตลาด ของที่ระลึกขายนักท่องเที่ยว ของที่จำลองลอกเลียนแบบงานศิลปะมาสเตอร์พีซ
ของที่เป็น คิทช์ มักจะมีสีที่สดฉูดฉาดแบบสินค้าตามตลาด เป็นของที่มองปั๊บก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นของที่ผลิตออกมาเป็นอุตสาหกรรม ไม่ใช่ของแฮนด์เมดทำมือ
ที่มีอยู่แค่ชิ้นสองชิ้นในโลกนี้ อะไรทำนองนั้น

          คิทช์ มักจะเป็นที่รังเกียจของพวกปัญญาชน ศิลปิน คนชนชั้นสูง ซึ่งมักจะมีรสนิยมที่สูงส่ง จะซื้อจะใช้ของอะไรก็ต้องเป็นของดีราคาแพง เป็นของแท้ของต้นฉบับ
ไม่ใช่ของราคาถูกของโหลแบบที่ชาวบ้านใช้กัน
         ศิลปะสมัยใหม่หรือ โมเดิร์น อาร์ต คือศิลปะที่ทวนกระแสความนิยมของสังคม เป็นศิลปะที่ต่อต้านขัดขืนรสนิยมของตลาดมหาชน ศิลปะสมัยใหม่ จึงต่อต้าน คิทช์
         ศิลปะหลังสมัยใหม่ หรือ โพสท์โมเดิร์น อาร์ต คือกระแสศิลปะที่ต่อต้านและท้าทายศิลปะสมัยใหม่ ดังนั้น คิทช์จึงเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับพวกโพสท์โมเดิร์น อาร์ต
เพื่อใช้ในการต่อต้าน โมเดิร์น อาร์ต

มีต่อ...
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 11 ต.ค. 07, 14:56

       มาร์เซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) ใช้โถฉี่ชายเย้ยหยันศิลปะชั้นสูง
       เหล่าศิลปินใน พ็อพ อาร์ต (Pop Art) อย่าง แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) ใช้ภาพดารา โฆษณาสินค้าและการใช้สีฉูดฉาดมาทำศิลปะ
       รอย ลิชเทนสไตน์ (Roy Lichtenstein) ใช้ภาพการ์ตูนสิ่งพิมพ์ราคาถูกมาทำเป็นงานจิตรกรรม
       เคล โอลเดนเบิร์ก (Claes Oldenburg) นำเอาของใช้จำพวก “ขัดหม้อไหไชรูส้วม” มาสร้างเป็นประติมากรรมขนาดยักษ์
       เจฟ คูนส์ (Jeff Koons) นำเอาสินค้าของโหลมาผลิตใหม่ให้ใหญ่และทำจากวัสดุดีๆ ที่มีค่า และเจ้าตัวยังเคยโพสท่าถ่ายรูปโป๊กับเมียดาวยั่วในแบบไร้รสนิยมสุดๆ
       เพียร์ และ จิลล์ (Pierre et Gilles) ช่างภาพคู่เกย์ฝรั่งเศสถ่ายภาพชาวเกย์ในแนวภาพถ่ายย้อนยุคเชยๆ
       จะว่าไปแนวการทำงานศิลปะและงานออกแบบโดยใช้ของเชยใช้ของแนวคิทช์ ย้อนยุคนั้น ออกจะเป็นกระแสนิยมในหมู่ศิลปินผู้นำกระแสในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา

       ไม่ว่าจะเป็นงานดีไซน์แนว รีโทร (retro) ที่ใช้ลวดลายและสีสดแบบงานยุค “เซเว่นตี้ส์” (70s หรือคริสต์ทศวรรษ 1970) กระแสนิยมสะสมแผ่นเสียงเก่าที่มีงานออกแบบปก
แบบยุคเก่าๆ ประมาณ “60s” และ “70s” กระแสนิยมในเฟอร์นิเจอร์พลาสติกสีขาวและสีสดที่กลับมาอีกแล้วในหมู่คนทันสมัย หรือจะเป็นภาพยนตร์ไทยย้อนยุคด้วยการย้อมสี
ให้ฉูดฉาดผิดธรรมชาติ แบบที่เคยพ้นยุคไปแล้วอย่าง ฟ้าทะลายโจร ของ วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง หรือการเอาหนังไทยเก่าๆ เชยๆ มาเป็นต้นแบบ และยังใช้วิธีการพากย์เสียงทับ
แบบหนังสมัยมิตร-เพชรา ในภาพยนตร์เรื่อง หัวใจทรนง (The Adventure of Iron Pussy) ของผู้กำกับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

        สำหรับในวงการทัศนศิลป์ของไทย ก็มีศิลปินที่ใช้ คิทช์ไทย ไปสร้างชื่อโด่งดังในระดับนานาชาติอยู่เหมือนกัน เช่น
      นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล นำเอารูปแบบของการ์ตูนไทยราคาถูกไปทำเป็นของประกอบกิจกรรมศิลปะร่วมสมัย และในงานศิลปะของนาวิน ยังมีการใช้รูปแบบการเขียน
ภาพโปสเตอร์หนังไทยสมัยที่ยังเขียนด้วยมือมาประกอบในศิลปะจัดวางของเขา (ภาพโปสเตอร์หนังประเภทที่มีชื่อหนังตัวโตๆ มีหน้าของ สมบัติ เมทะนี และ
อรัญญา นามวงศ์ โผล่เด่นขึ้นมา มีเปลวไฟของระเบิดแทรกอยู่ด้านล่าง ภาพดาวยั่วซ้อนอยู่ข้างๆ และมีภาพ ดอกดิน ยืนทำหน้าทะเล้นอยู่ใกล้ๆ ในยุคที่โรงหนังเฉลิมกรุง
เฉลิมไทยยังเฟื่องฟู) หรือ ศิลปินไทยอีกคน
      สุรสีห์ กุศลวงศ์ จัดตลาดสดแบบไทย มีทั้งแผงลอยสารพัดอย่าง โชว์สินค้าคิทช์ไทย อย่างพวกของใช้พลาสติกสีสดแจ๋น ตุ๊กตาเป่าลมรูปการ์ตูน พรมเช็ดเท้าสีบาดตา ฯลฯ
มาทำการแจกฟรีบ้าง ขายถูกบ้าง เมื่อกิจกรรมแบบนี้ คิทช์ไทย แบบนี้ไปปรากฏในมหกรรมหรือในพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยนานาชาติชั้นนำของโลก คิทช์ไทยกลายเป็นศิลปะร่วมสมัย
ที่แสนเท่ไปเลยทีเดียว

          ใครบางคนอาจนึกปะติดปะต่อไปว่า การที่เอาของระดับชาวบ้านชอบหรือของที่เป็นคิทช์ มาทำเป็นศิลปะหรือนำมานำเสนอในบริบทของศิลปะนั้น
จะเป็นการทำให้ชาวบ้านเข้าใจและชื่นชมในศิลปะร่วมสมัยกันมากขึ้น ในหลายกรณีเหตุการณ์กลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิดฝันเพราะเมื่อพูดถึง “ศิลปะ”
คนดูระดับชาวบ้าน โดยมากจะคาดหวังที่จะได้ดูของสวยๆ งามๆ ที่เป็นแบบศิลปะระดับสูง ครั้นเมื่อได้มาหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย กลับต้องมาเห็น
ของที่ตัวเองใช้อยู่ที่บ้านทุกวัน ก็เกิดความงุนงงและเบื่อหน่าย บ้างก็หลุดปากออกมาในทำนองว่า ของอย่างทำเองที่บ้านก็ได้ คล้ายกับที่สมัยหนึ่งชาวบ้านพูด
แดกดันว่า งานนามธรรมแบบที่เป็นสีเลอะๆ ป้ายไปมา ลูกหลานทารกหรือไม่ก็ลิงค่างชะนีก็ทำได้

           เช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ ในโลกนี้ ที่ผันแปรไม่คงที่ ของที่เท่ทันสมัย เมื่อเวลาผ่านไป กลับกลายเป็นเชยเห็นแล้วต้องร้อง “ยี้” ผ่านไปอีกระยะหนึ่ง
“ยี้” กลับกลายเป็น “เยี่ยม” ไปได้อีก ของที่เป็นศิลปะล้วนแล้วแต่สร้างขึ้นมาจากสิ่งที่ไม่ใช่ศิลปะ ศิลปะหลายชิ้นโดนด่าเมื่อแรกสร้าง ต่อมากลายเป็น
ผลงานชั้นเยี่ยม ศิลปะอีกมากมายที่สร้างความฮือฮาในตอนแรก แต่ต่อมากลายเป็น คิทช์ กลายเป็นขยะไปก็มีเป็นความอนิจจังที่ปฏิเสธไม่ได้

บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 11 ต.ค. 07, 17:36

จบแค่นี้หรือครับ...กำลังอ่านสนุกทีเดียว
คิดว่าอาจารย์สุธีกำลังพูดถึงสองสิ่งราวกับเป็นสิ่งเดียวกัน
1 คิทช์ ที่เข้ามาปรากฏอยู่ในศิลปะ
2 ศิลปะ ที่ผ่านไปนานวัน กลายเป็นคิทช์ไปเสียงั้น

ผมจึงยังไม่เข้าใจเป้าประสงค์ ที่แกจะชี้สักเท่าใดนัก
บันทึกการเข้า
pakun2k1d
พาลี
****
ตอบ: 285


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 11 ต.ค. 07, 23:07

ตามอ่านนิ่ง ๆ มาหลายวัน  พอได้อ่านคุณศรีปิงเวียง  กับคุณศิลา มาว่าเรื่องคุณค่า และคิทช์ ดิฉันย้อนนึกไปถึงวิชา "ปรัชญาเบื้องต้น" ค่ะ  จำได้ว่าปรัชญาแบ่งเป็น 4 ........(เรื่อง/สาขา/ภาค/?) คือ อภิปรัชญา ถกเถียงกันเรื่อง ความจริงคืออะไร  ญาณวิทยา ถกเถียงกันเรื่อง ความรู้เกิดขึ้นได้อย่างไร  จริยศาสตร์ ถกเถียงกันเรื่อง คุณค่า และความดีคืออะไร  สุนทรียศาสตร์ ถกเถียงกันเรื่อง ความสวยงาม หรือศิลปะคืออะไร  จะเห็นได้ว่าเรื่องหลัก ๆ อย่างนี้ถกเถียงกันมาเป็นร้อย ๆ ปีแล้วค่ะ  แล้วก็ยังจะถกเถียงกันต่อไป ให้คนรุ่นต่อ ๆ มาศึกษารวบรวมเป็นงานวิจัย  และทฤษฎี เราคงหยุดเถียงกันไม่ได้นะคะ  เดี๋ยวนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก และPost Docter ทั้งหลายจะไม่มีหัวข้องานวิจัย

ตอนที่เรียนอยู่ไม่ได้ชอบวิชานี้เลย  สงสัยว่ามหาวิทยาลัยเขาจัดให้วิชานี้เป็นวิชาบังคับได้อย่างไร  เรียนไปทำไม  จบออกมาทำงานแล้วเจอปัญหาหลาย ๆ อย่างที่ทุ่มถกเถียงกันกันไม่รู้จบถึงได้เข้าใจค่ะว่า  ไอ้ที่เถียงกันถ้าจับประเด็นดี ๆ มันก็จะอยู่ในพวกนี้แหละ  วิชานี้เขามีไว้สร้างความเข้าใจ ให้เรารู้จักแยกแยะ วิเคราะห์ วิจารณ์  และจับประเด็นไว้ให้มั่น ๆ จะได้ไม่หลงประเด็น  ก็ขนาดไม่หลงประเด็นยังจบกันไม่ลง  จนแยกแยะเป็นทฤษฎีต่าง ๆ มากมายเรียนกันไม่หมด  แล้วถ้าหลงประเด็นก็พูดกันไม่รู้เรื่องนั่นเอง

ขอเวลาไปอ่านทบทวนวิชานี้ก่อนนะคะ  เดี๋ยวค่อยมาแจมว่า คิทช์ เป็นศิลปะ หรือไม่เป็นศิลปะ พิจารณาอย่างไร  แล้วทำไมคุณค่าของสิ่งเดียวกันถึงได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย
บันทึกการเข้า
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 11 ต.ค. 07, 23:36

           นี่ก็ใกล้ยามเกี่ยวข้าวแล้ว  ปกติก็จะหาหมักเหล้าเตรียมไว้เลี้ยงหมู่พวกที่มาช่วยกัน  เหล้าโท(สาโท)หอมกรุ่น  อบอุ่นยามหนาวตอนฟาดข้าวกลางคืน  ยอดเยี่ยมที่สุด  เคยมีพรรคพวกเอาไวน์ ที่ว่ารสดี  หรือวิสกี้ขวดเหลี่ยมๆที่ว่ารสละมุน  ดื่มแล้วไม่เห็นติดใจหรือน่าถวิลหาเลย  ดันมาค่อนขอดว่าเราไม่มีเทสต์ซะอีก  มันแย่ตรงที่ว่าตอนนี้จะมาหมักเหล้าก็กลัวโดนจับ  กฎหมายเค้าห้ามไว้  เลยจำต้องฝืนใจไปซื้อเจ้าพวกมียี่ห้อมีแบรนด์มาเลี้ยงพวก  ช้ำใจจริงๆ  คิดถึงสาโทหอมๆกลิ่นข้าวใหม่ๆลมเย็นๆหยอกล้อกันไปฟาดข้าวกันไป  ซดปลาไหลต้มเปรตร้อนๆหอมกลิ่นตมอ่อนๆเคล้ากลิ่นฟางใหม่ยามเอนกายพักเหนื่อย  ของแบกะดินแบบนี้ไม่ต้องไปขึ้นห้างไหนหรอก อิอิ   อยากมาตั้งวงกันไหมท่านพิพัฒน์

          ดูหนังฟังเพลงมันแล้วแต่อารมณ์ครับ  หนังบางเรื่องที่ว่าโกยเงินกันอักโข  ทำให้เราต้องแจ้นไปดูกลัวคุยร่วมวงกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง  แต่ออกมากลับงงปนสงสัยว่าไม่เห็นจะเยี่ยมเท่าไหร่เลยก็เหมือนๆกับหนังไทยทั่วๆไป  ก็โดนเอ็ดอีกว่า"แกเป็นกรรมการหนังหรือไง  มาพักผ่อนดูหนังมาซีเรียสอะไรกันกับรายละเอียด"  เออหรือจะจริงอย่างพวกว่า  มาดูหนังตลกก็เอาขำ  ดูหนังเศร้าก็เอาแบบได้น้ำตา  หรือหนังผีก็ได้เสียวสยอง  ก็พอแล้ว  แสงสีมุมอะไรช่างมัน  ถ้าดูหนังตลกได้ขำเยอะก็คือดีไง  นี่หรือปล่าวคือที่เราเรียกว่า รสนิยมการดูหนังของคนไทยเราทั่วไป  ตลาดเลยออกมาทำนองนี้
        เปิดเพลงไปพิมพ์งานไปผมก็คงฟังเพลงแบบนึง  ประเภทโจ้ วงพ้อส  สบายๆ  ตั้งวงก็เพื่อชีวิตทันที มาลีฮวนน่า  คาราบาว  ว่ากันไป  ขับรถกลับชอบเพลงหนักๆ  ประเภทนิวเมทัล  พวกKorn แต่ฟังอะไรก็ชอบนะคือมีแนวชอบอยู่  แต่ก็แนวอื่นๆก็ได้ฟังเค้าร้องว่าดีทั้งนั้น (เพราะเราร้องไม่เอาอ่าว)  สำเนียงภาษาความละมุนละไมว่ากันทีหลัง  นี่อีกหรือปล่าวที่เป็นรสนิยมส่วนมาก(อีกแล้ว)  ตลาดเลยเป็นแบบนี้

         ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งยวดปวดกระดองใจครับผม   เรื่องภาพผ้ากาสาวพัตร์ห่มสัตว์เดรัจฉาน  และก็ไม่เห็นด้วยเช่นกันกับรูปแบบการประท้วงของหลวงพี่ทั้งหลาย  จนทำให้อุบาสกอุบาสิกาต้องมาค่อนขอด  ผมจำได้ตอนที่นักวาดท่านนึงวาดรูปยักษ์ที่ว่าคล้ายหัวโขนกับสตรีนุ่งน้อย  กรมศิลป์ออกมาโวยวายจนต้องพับฐาน  สิ่งนับถือมันละเอียดอ่อนครับกับการแสดงออก   แน่ล่ะการแยกแยะในสังคมเรื่องส่วนดีส่วนเลว  แม้แต่เรื่องพระท่าน  หลวงพ่อคูณยังเคยว่า "พระก็คน  เอาคนมาทำพระ  คนมีดีมีชั่ว  พระก็เหมือนกันล่ะโยมเอ๊ย"  ในพระไตรปิฎก ในอรรถกถา  มีมากมายทั้งเรื่องพระเสพเมถุน  พระเปลือยกายอาบน้ำ  หรือเปรียบภิกษุโมฆะทั้งต่างๆครับ  แต่จะเอามาแสดงแบบนี้มันทำร้ายความรู้สึกครับ  ศาสนาไหนๆก็คงไม่ยอมแน่นอนครับ  ย้ำว่าแน่นอนครับ  สถาบันหลักแท้ๆมีวิธีการสั่งสอนหรือจัดการอีกเยอะครับ  เหมือนประเทศเรามีทั้งดีและไม่ดี  แต่ใครจะมาแสดงแบบนี้ผมคงยอมรับได้ยาก  นักวิชาการทั้งหลายที่ออกมาวิจารณ์หรือตัดสิน  ผมขอยอมรับในวิจารณญาณครับ  แต่ส่วนสันดานความรู้สึกจิตสำนึกของตัวผมเอง  ทำใจยอมรับตามไม่ได้จริง.........ขออภัยครับ
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 12 ต.ค. 07, 00:37

เฮ่อ......... เจอคำพูดว่าคิชต์ทีไร..... พาลจะนึกถึงคนรู้จักคนหนึ่งทุกที

เอาเป็นว่าเธอเป็นคนฝรั่งเศส ก็เข้าทำนองฝรั่งตาน้ำข้าว ผมทองตาฟ้า
ทำงานเป็นดีไซน์เนอร์ของห้องเสื้อแห่งหนึ่งในประเทศของเธอ

วันดีคืนดี เธอก็บินลัดฟ้ามาเมืองไทย หาผู้ใหญ่ที่ผมรู้จัก
....เย็นวันนั้น ผู้ใหญ่ท่านนั้นก็โทรมาหาผม ขอให้ผมช่วยพาคุณเธอคนนี้ไปเที่ยวทีเพราะเห็นว่าผมอาจจะพอรู้เรื่องผ้าบ้าง....



วันรุ่งขึ้นผมก็เลยต้องพาคุณเธอไปเที่ยว...

จัดโปรแกรมพาไปดูผ้าผ่อนท่อนสะไบของคนโบราณถึงตำหนักพระองค์อรทัยฯ
คุณผู้ฉิงคนนั้นเธอก็งอศอกขึ้น กระดกข้อมือลง แล้วเหยียดนิ้วชี้
กรีดเสียงเป็นภาษาอังกฤษแจ๋นแล้วหันมาพะยักพะเยิดกับผมว่า
Oh so kitsch! Why they can were a thing like this?
Oh what's a kitsch style, they can mixed up brocaded, chintz and embrioderies!!!!!
และอีกมากมายที่ฟังแล้วมันเสียแทงใจยังไงก็บอกไม่ถูก

ช่วงบ่ายก็เลยลองเปลี่ยนบรรยากาศพาเธอไปชมกรุสะสมผ้าพื้นบ้านแทน
ดูไปเธอก็บ่นไปทั้งเรื่องการใช้สี เรื่องลายที่ไม่มีช่องว่าง และอีกนับสิบๆเรื่อง
ที่ฟังแล้วถ้าผมเป็นคนทอผ้าคงอยากกินยาพิษตายไปให้รู้แล้วรู้รอด


จนตอนเย็นนู่นแหละครับ ผมถึงได้ถามเธอว่ามาดูของไทยแล้วไม่ชอบเลยเหรอ ผมรู้สึกไม่ค่อยดีนะ
เธอก็ตอบผมมาตรงๆว่า "ไหนป้ายที่พิพิธภัณฑ์เขาบอกว่าคนไทยรับวัฒนธรรมมาจากอินเดีย ทำไมคนไทยถึงได้ "เชย" และ "เสร่อ" แบบนี้ล่ะ"
ฟังแล้วฉุนกึกขึ้นจมูกมาทันที........ เลยลองถามประชดๆไปว่าพาไปดูนู่นดูนี่ก็ไม่ชอบ อยากไปดูอะไรล่ะ
เธอก็เลยตอบมาว่า...... ชั้นอยากไปพัฒน์พงศ์ ที่มันมีผู้ชาย&#^@%#@&$)ให้ดูเยอะๆน่ะ  ขยิบตา





ผมถึงได้ถึงบางอ้อว่า รสนิยมพวกฝรั่งเศสนี่..... แกเป็นแบบนี้นี่เอง....... ทำไมคนไทยยังหิ้วแอร์เมสอยู่ได้ว๊า..... เอากะเขาดิ
บันทึกการเข้า
กุ้งแห้งเยอรมัน
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1573



ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 12 ต.ค. 07, 03:28

ที่จริงของแบกะดิน สองตาไม่แลไม่ได้แล้วในยุคเศรษฐกิจสวะๆเช่นนี้ และของห้างก็ไม่อยากจะซื้อเพราะเงินค่าน้อยลงทุกที ดิฉันโชคดีหน่อยตรงที่ทำงานในเครือที่มีโรงงานทำพวกอุปโภค บริโภคทุกอย่างที่ศีรษะจรดปลายเท้าต้องใช้ เลยใช้วิธีซื้อวันที่เขาลดให้พนักงาน หรือเดินไปที่โชว์รูม ของสามพัน ขายเจ็ดร้อย และแท้ด้วย หรือพันกว่าขายสองร้อยห้าสิบ
ส่วนของนอกเดี๋ยวนี้ หลายแบรนด์ก็ทำในจีนค่ะ
ดิฉันว่า อย่าไปตำหนิเขาเลยจะใช้แอร์หม่งแอร์เมส คุณติบอคะ การใช้เงินของคนเรามันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราหาได้มากน้อยแค่ไหนแต่อยู่ที่ว่าเรารู้จักใช้เท่าไหร่มากกว่า
ไอ้แบรนด์นี้ คนนำเข้าเขาชอบของเขา เพราะเธอเป็นถึงลูกสาวตระกูลพ่อค้าวานิชใหญ่ของไทย เขาก็วางกลุ่มที่จะซื้อไว้ของเขา เราไม่ชอบ ไม่จำเป็นต้องหามาประดับกาย ก็สบายไป ไม่ต้องเสียเงิน
ในหลักของการสร้างแบรนด์ จากการโฆษณาเราต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมายก่อนและสร้างแบรนด์จากความเข้าใจนี้
กลุ่มเป้าหมายแบ่งเป็น 3 แบบ sustenance/outer directed และ inner directed
ขอมาขยายความตอนสายๆค่ะ
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 12 ต.ค. 07, 10:14

สายแหล่ว........
ขออนุญาตมานั่งรอฟังคุณกุ้งแห้งเยอรมันเล่าครับพ๊ม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.119 วินาที กับ 19 คำสั่ง