CrazyHOrse
|
ความคิดเห็นที่ 15 เมื่อ 17 ก.ย. 07, 22:38
|
|
แต่ความในพงศาวดารก็ไม่ได้ระบุตำแหน่งขนอนบางตนาวและบางกระดานไว้อยู่ดี จำต้องสอบหาจากทางอื่น
ชื่อบางขดานนี้ปรากฏในวรรณคดีร่วมสมัยอีกเรื่องหนึ่งคือทวาทศมาส กล่าวถึงพิธีไล่ชล
ชลธีปละปลั่งคว้าง ทางสินธุ์ นาเวศนาวาวาง วาดน้ำ ตกบางขดานดิน สดือแม่ ดลฤดูสั่งล้ำ ไล่ชล ฯ
ทำกันที่บางขดานนี่แหละครับ อ่านจากโคลงตรงนี้เป็นสะดือแม่น้ำ คงจะมีน้ำวนอยู่ตรงนี้แหละ
เห็นน้ำวนก็นึกถึงที่อาจารย์ น. เขียนไว้ในห้าเดือนฯ สันนิษฐานเรื่องตำบลสำเภาล่ม ว่าน่าจะอยู่ตรงบางกะจะ ที่แม่น้ำป่าสักมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงนั้นมีน้ำวน สำเภาคงจะมาล่มที่นี่ ทำให้ได้ชื่อว่าตำบลสำเภาล่ม
เรื่องนี้ผมตรวจสอบกับนิราศยุคต้นรัตนโกสินทร์หลายเรื่อง ระบุตำแหน่งของตำบลสำเภาล่มไว้ต่างจากข้อสันนิษฐานของอาจารย์ น.
นิราศเวียงจันท์ของสมเด็จกรมพระเดชาดิศร สมัย ร.๓ ระบุตำบลที่ผ่านไว้ดังนี้ เกาะเกิด-บ้านแป้ง-อรอินทร์(บางปะอิน)-เกาะพระ-ตลาดเกรียบ-สำเภาล่ม-บ้านกลิ้ง-โปรดสัตว์-บ้านรุน-บางหวาย-เกาะเรียน
นิราศพะเนียดของสมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์ เข้าใจว่าเป็นสมัย ร.๕ ระบุตำบลดังนี้ เกาะเกิด-บางปอิน-เกาะพระ-สะเภาล่ม-โปรดสัตว์-เกาะเรียน
พอจะยืนยันตำแหน่งของตำบลสำเภาล่มได้ว่าอยู่ระหว่างเกาะพระกับวัดโปรดสัตว์
ในขณะที่ในกำสรวลสมุทร ระบุตำบลดังนี้ (ใต้ขึ้นเหนือตามอย่างนิราศทั้งสองข้างต้น) เกาะกำแย-บางขดาน-ทรนาว-ขนอน
เกาะที่มีโอกาสเป็นเกาะกำแยได้มี ๓ เกาะ คือ เกาะเกิด เกาะบางปะอิน และเกาะพระ ผมไม่กล้าฟันธงว่าเป็นเกาะใด แต่เกาะเกิดมีขนาดเล็ก แผนที่ฝรั่งเศสสมัยพระนารายณ์ไม่ระบุเกาะเกิดในแผนที่ แต่ระบุเกาะปางปะอินไว้ในนาม I. Royall พร้อมระบุตำแหน่ง Pagoda Royal และ Palace Royal ไว้บนเกาะ ส่วนเกาะพระ ระบุชื่อว่า I. Chinoise น่าจะหมายถึงเกาะ(คน)จีน ดังในแผนที่นี้
|
 คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
|
|
บันทึกการเข้า
|
"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
|
|
|
CrazyHOrse
|
ความคิดเห็นที่ 16 เมื่อ 19 ก.ย. 07, 21:52
|
|
นิราศพระบาทกล่าวถึงสำเภาล่มไว้ดังนี้
ถึงเกาะพระที่ระยะสำเภาล่ม เภตราจมอยู่ในแควกระแสไหล ถึงเกาะเรียนโอ้เรียมยิ่งเกรียมใจ ที่เพื่อนไปเขาก็โจษกันกลางเรือ
อ่านกลอนตรงนี้ เหมือนว่าสำเภาล่มนี่น่าจะอยู่ตรงเกาะพระเลย ซึ่งถ้าเทียบกับนิราศพะเนียดที่กล่าวถึงเกาะพระแล้วจึงเป็นสำเภาล่ม แต่นิราศกรุงเก่ามีตลาดเกรียบมาแทรกก่อนอีกตำบลหนึ่ง
ตลาดเกรียบนี้อยู่ตรงฝั่งปากคลองหัวเกาะพระทางด้านเหนือ เป็นไปได้ว่าสำเภาล่มจะอยู่ตรงหัวเกาะด้านเหนือแถวๆหน้าตลาดเกรียบไปหน่อยนั่นเอง
หวังว่าไม่มีกวีท่านไหนเขียนผิดไว้นะครับ แหะๆ
ผมไปค้นพงศาวดารภาค ๖๓ เรื่องกรุงเก่า อธิบายภูมิสถานที่ของบางตะนาวศรีว่า
ขนอนบางตะนาวสี หรือนัยหนึ่งเรียกขนอนหลวงอยู่ที่ข้างวัดโปรดสัตว์ เป็นด่านภาษีใหญ่กวาทุกแห่ง เพราะสำหรับตรวจผู้คนและเรือลูกค้า กับเก็บภาษีสินค้าที่เข้าออกทางหัวเมืองชายทะเลและต่างประเทศ
ถ้าข้อมูลนี้ไม่ผิดพลาด ขนอนวัดโปรดสัตว์ก็คือที่เดียวกับขนอนบางตะนาวศรีนี้ ดูในแผนที่ใต้วัดโปรดสัตว์ลงไม่เล็กน้อยมีลำบางแยกออกไปทางตะวันออก เห็นทีบางนี้น่าจะเป็นบางตะนาวศรี ทรนาว ในกำสรวลสมุทร
ส่วนขนอนหลวง คงอยู่ระหว่างวัดโปรดสัตว์กับบางตะนาวนี้เอง
เอาข้อมูลทั้งหมดมาปักหมุดใน Google Earth พอได้ดังนี้ครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
|
|
|
CrazyHOrse
|
ความคิดเห็นที่ 17 เมื่อ 19 ก.ย. 07, 22:01
|
|
ดูในแผนที่ ลำน้ำเจ้าพระยาช่วงเหนือเกาะพระจะค่อนข้างแคบกว่าช่วงอื่นเล็กน้อย โดยหลักการน้ำตรงนี้ต้องไหลเชี่ยวกว่าบริเวณอื่นๆ ก็เป็นไปได้อยู่ว่าจะเป็นเหตุให้สำเภาล่มได้ ตรงหัวเกาะนี้แม่น้ำผายออกและมีเกาะมาขวาง ก็เป็นไปได้อีกว่าจะมีน้ำวน เหนื่อยหน่อยครับ ต้องใช้จินตนาการ(มั่ว)สูงมาก มีลำบางแยกไปทางตะวันตกตรงนี้ ถ้าตรงนี้คือบางขดาน เกาะพระก็น่าจะเป็นเกาะตำแยครับ เนื่องจากความแน่นอนคือความไม่แน่นอน เราต้องมองหาต่อไป ทางฝั่งตะวันออกข้างเกาะพระมีลำคลองอีกสายหนึ่ง เผื่อใจไว้ว่าในอดีต 500 ปีก่อนอาจจะยังไม่มีเกาะพระ ลำบางทางตะวันออกนี้อาจจะเป็นบางขดาน ดังนั้นเกาะกำแยก็ต้องลงไปเป็นเกาะบางปะอินหรือไม่ก็เกาะเกิดครับ สรุปได้ว่าสรุปไม่ได้  ขอผ่านตรงนี้ไปก่อนจนกว่าจะเจออะไรที่บ่งชี้ได้ครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
|
|
|
CrazyHOrse
|
ความคิดเห็นที่ 18 เมื่อ 19 ก.ย. 07, 22:11
|
|
๒๒ พระใดบำราศแก้ว กูมา มาย่านขวางขวางกาย ดั่งนี้ จากมาเลือดตาตก เต็มย่าน เต็มย่านบรู้กี้ ถั่งแถม ฯ ๒๓ จากมาอกน่านน้ำ นองกาม กามกระเวนแรมรศ ร่วงไส้ จากมาราชครามคราม อกก่ำ อกก่ำเพราะชู้ให้ ตื่นตี ฯ
ราชคราม ไม่มีปัญหา เป็นยังมีตำบลนี้อยู่ในปัจจุบัน ในแผนที่ฝรั่งก็ปรากฏเป็นพยานอยู่ จะอยู่ตรงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงแยกแม่น้ำน้อย หรือบางไทร หรือ สีกุก มีหลายชื่อ
แต่ย่านขวางเป็นอีกตำบลหนึ่งที่เป็นปริศนา ชื่อนี้มีเอ่ยถึงในอีกเรื่องหนึ่งในนิราศวัดเจ้าฟ้า แต่อยู่คนละที่กัน ย่านขวางนั่นอยู่ระหว่างเกรียนสวายกับเชียงราก แต่ย่านขวางในกำสรวลนี้อยู่เหนือราชครามขึ้นมา แต่ถ้าดูลักษณะภูมิประเทศแล้วคล้ายกัน คือเป็นคุ้งแม่น้ำหักศอก เดาว่าย่านขวางคงอยู่แถวๆเกาะเกิดครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
|
|
|
CrazyHOrse
|
ความคิดเห็นที่ 19 เมื่อ 23 ก.ย. 07, 12:12
|
|
กระทู้นี้แป้กไปนาน เพราะราชครามที่คิดว่าไม่มีปัญหากลับมีปัญหา เพราะหลักฐานไม่ตรงกัน
จากกำสรวลฯไม่สามารถระบุตำแหน่งแน่นอนได้
นิราศหลายเรื่องต้นรัตนโกสินทร์ระบุราชครามเป็นชื่อเกาะในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่แผนที่ฝรั่งหลายฉบับเขียนตรงกัน(แต่อาจจะลอกการบ้านกัน) ชี้ว่าราชครามอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในขณะที่เกาะบนแม่น้ำนั้นเขียนว่าเกาะ Bantran อ่านว่าอะไรไม่ทราบ และยังหาชื่ออะไรคล้ายๆอย่างนี้ในบริเวณนั้นไม่เจอ นอกจากนี้ชื่อ Bantran นี้ปรากฏเป็นตำบลอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาใต้เกาะ Bantran ด้วยครับ
ทราบว่ามีเพลงยาวหม่อมภิมเสนที่ใช้เส้นทางนี้ราวสมัยพระบรมโกศ อาจจะมีชื่อพวกนี้ระบุอยู่ ท่านใดมีอยู่ในมือ กรุณาบอกทางให้จะขอบพระคุณอย่างสูงครับ ไม่อย่างนั้นผมคงต้องไปหาที่หอสมุดแห่งชาติดูสักครั้ง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
|
|
|
CrazyHOrse
|
ความคิดเห็นที่ 20 เมื่อ 24 ก.ย. 07, 17:15
|
|
ระหว่างที่ไม่มีเพลงยาวหม่อมภิมเสนมาสอบ ขอล่องเรือต่อไปตามข้อมูลที่มีอยู่ก่อน ถ้าหลักฐานขัดกันค่อยมาแก้อีกทีก็แล้วกันครับ
ราชคราม เป็นชื่อที่น่าสงสัย นิราศตลาดเกรียบช่วงต้นรัตนโกสินทร์เขียนว่า ราชคาม แต่เรื่องอื่นๆรวมทั้งหลักฐานฝรั่งเขียนว่าราชครามทั้งนั้น
ราชครามในนิราศช่วงต้นรัตนโกสินทร์ให้ข้อมูลดังนี้ นิราศตลาดเกรียบ ของพระเทพโมลี (ท่านจันทร์ว่าผิดทั้งชื่อนิราศและชื่อคนแต่ง เพราะปลายทางเลยตลาดเกรียบไปมาก แถมพระเทพโมลีเป็นพระ ไม่เข้ากับความในนิราศ ประชุมวรรณคดีเรียกเรื่องนี้ว่านิราศพเนียด) ระบุว่าราชครามเป็นเกาะอยู่เหนือบ้านกระบือ แต่ใต้คลองบางไทรลงมา
นิราศทัพเวียงจันทน์ (กรมพระยาเดชาดิศร) ไม่ได้ออกชื่อราชครามว่าเป็นเกาะ แต่อยู่เหนือบ้านกระบือและใต้บางไทร
นิราศพะเนียด (กรมพระยาบำราบปรปักษ์) ระบุว่าเป็นเกาะ อยู่เหนือบางกระบือ เหนือขึ้นไปเป็นลานเทและบางไทร
นิราศกรุงเก่า (หลวงจักรปาณี-มหาฤกษ์) ไม่ออกชื่อราชคราม แต่ระบุชื่อว่าเกาะใหญ่ อยู่เหนือบางกระบือ ถัดขึ้นไปเป็นลานเทและบางไทร
นิราศพระบาท (สุนทรภู่?) ออกชื่อเกาะราชคราม อยู่เหนือบางกระบือ ถัดขึ้นไปเป็นบางไทร
นิราศภูเขาทอง (สุนทรภู่) ออกชื่อเกาะใหญ่ราชคราม อยู่เหนือบ้านงิ้ว ไม่ระบุตำบลใดอีกเพราะตัดเข้าคลองลัดทุ่งนาจนถึงกรุงเก่า
นิราศวัดเจ้าฟ้า (เณรหนูพัด สุนทรภู่) ออกชื่อเกาะหาดราชครามถัดจากโพแตง เลยขึ้นไปเป็นบางไทร
เห็นได้ชัดว่าโลกทัศน์ของคนยุคต้นรัตนโกสินทร์ รู้จักราชครามในนามของเกาะใหญ่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ระหว่างบางกระบือกับบางไทรครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
|
|
|
CrazyHOrse
|
ความคิดเห็นที่ 21 เมื่อ 24 ก.ย. 07, 17:39
|
|
ก่อนจะพาท่านดำดิ่งลงสู่อดีตที่ลึกไปกว่านี้ เชิญท่านทั้งหลายพักหายใจด้วยการขึ้นมาดูราชครามยุคปัจจุบันก่อน กลางภาพจะเห็น ต.ราชคราม อยู่ตรงคุ้งน้ำฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงที่แม่น้ำน้อยไหลมาบรรจบครับ ส่วนเกาะราชครามนั้น หลังจากไล่หาอย่างงุนงงว่าอยู่ที่ไหน ก็ได้ความว่าควรจะอยู่ตรงที่เป็นเครื่องหมาย ? อยู่นั่นแหละครับ คุณวรณัยเขียนไว้ใน Blog http://www.oknation.net/blog/voranai/2007/08/24/entry-1 บอกว่าเกาะราชครามโดนดูดทรายไปขายจนเกาะกำลังจะหายไปทั้งเกาะอยู่แล้ว ถ้าคุณวรณัยผ่นเข้ามาในกระทู้นี้ รบกวนมาเล่าวีรเวรของลูกหลานที่ขายแผ่นดินของบรรพบุรุษ(อย่างเป็นรูปธรรม)ให้ฟังจะขอบพระคุณมากครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
|
|
|
CrazyHOrse
|
ความคิดเห็นที่ 22 เมื่อ 24 ก.ย. 07, 17:53
|
|
ทีนี้เราจะไปที่สมัยปลายอยุธยากันบ้าง หลักฐานของไทยเองผมยังหาไม่เจอ สงสัยอยู่ว่าอาจจะมีกล่าวถึงในเพลงยาวหม่อมภิมเสน แต่ไม่มีอยู่ในมือตอนนี้ ดังนั้นจะไปดูข้อมูลฝรั่งก่อนครับ รูปที่ลงไว้ในคคห. 15 คือแผนที่ฝรั่งเศสที่เชื่อว่ามาจากต้นฉบับในสมัยพระนารายณ์ ตรงบริเวณที่เป็นต.ราชครามปัจจุบัน ระบุชื่อไว้ว่า Rayjacram ในขณะที่ตรงเกาะราชครามเขียนว่า I. Bantran และระบุตำบลใต้เกาะราชครามว่า Bantran แผนที่ฮอลันดาปี ค.ศ.1724 ใหม่กว่าของฝรั่งเศสนิดหน่อย เขียนตรง ต.ราชครามไว้ว่า Radja kram ในขณะที่ตรงเกาะราชครามระบุชื่อว่า 't Lang Eyland ในขณะที่ตำบลใต้เกาะระบุชื่อว่า Ban Frang ดูรายละเอียดที่นี่ http://www.nationaalarchief.nl/amh/detail.aspx?page=dafb&lang=en&id=5682ถึงจะระบุแน่นอนไม่ได้ว่าฝรั่งสมัยปลายอยุธยาเรียกชื่อเกาะนี้ว่าอย่างไร แต่เห็นได้ชัดว่าไม่น่าจะเรียกว่าเกาะราชครามครับ ราชครามสมัยนั้นเป็นพื้นที่ตรงต.ราชครามปัจจุบันครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
|
|
|
CrazyHOrse
|
ความคิดเห็นที่ 23 เมื่อ 24 ก.ย. 07, 18:12
|
|
ทีนี้ไปดูราชครามในกำสรวลสมุทรใหม่
๒๓ จากมาอกน่านน้ำ นองกาม กามกระเวนแรมรศ ร่วงไส้ จากมาราชครามคราม อกก่ำ อกก่ำเพราะชู้ให้ ตื่นตี ฯ
ในโคลงไม่ได้ระบุว่าเป็นเกาะหรือไม่ แต่โคลงบทต่อๆมาระบุชื่อตำบลอื่นไว้ดังนี้
๒๖ จากมาเรือร่อนท้ง พญาเมือง เมืองเปล่าปลิวใจหาย น่าน้อง มาจากเยียมาเปลือง อกเปล่า อกเปล่าว่ายฟ้าร้อง ร่ำหา รนหา ฯ
๒๗ จากมาเมืองเก่าเท้า ลเท ท่านรา เทท่าบึงบางบา บ่าใส้ จากมาอ่อนอาเม บุญบาป ใดนา เมืองมิ่งหลายเจ้าไว้ เรียกโรย ฯ
ท้งพญาเมือง หรือทุ่งพญาเมือง อ.มานิตบอกว่าปัจจุบันคือทุ่งพระยาบันลือ ผมไม่ทราบว่าอ.มานิตสอบมาจากไหน แต่หาข้อมูลไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้น "ขอเชื่อไว้ก่อน"
คลองพระยาบันลือนั้นแยกออกไปทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเหนือหัวเกาะราชครามขึ้นมาเล็กน้อยครับ
ในขณะที่เมืองเก่าท้าวลเท ผมไม่รู้อยู่ไหนเหมือนกัน แต่น่าจะเป็นอันเดียวกับลานเท ซึ่งมีบางคนปักหมุดไว้ใน PointAsia.com ว่าอยู่แถวๆเกาะราชคราม
ดังนั้นพอจะสรุปอย่างกะพร่องกะแพร่งไปได้ว่าราชครามที่กล่าวถึงในกำสรวลฯ น่าจะเป็นต.ราชครามในปัจจุบันนั่นเอง
เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ตำบลหนึ่งที่ผมแอบข้ามไป ดังในโคลงบทนี้
๒๔ จากมาแก้วกูค่ำ ซรอกแขวะ โพรงซรอกโซรมแขวะศรี โศรกศร้อย จากมาพี่ปูนแบะ ปูนแม่ ปูนแม่ลห้อยไห้ ข่าวตรอม ฯ
เห็นที ซรอกแขวะ จะเป็นตรงที่แม่น้ำน้อยมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยานี่เองครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
|
|
|
CrazyHOrse
|
ความคิดเห็นที่ 24 เมื่อ 24 ก.ย. 07, 18:28
|
|
ืำป้ายถัดไปคือ เชียงราก ดังนี้
๒๙ ไก่ใดขันขิ่งน้อง นางเฉลย เชิญท่านทยานเป็นฝัน ฝากแก้ว เยียมาบลุเสบย เชิงราค ไฟราคดาลแพร้วแพร้ว พร่างตา ฯ
อีกบทหนึ่งคือ
๓๑ เยียมาเรือเก้ากู่ การุญ ย่านนา นบเทพอรชุนบน บอกถ้อย มือพันพ่อมีบุญ แลส่อง ดูรา เชิญพ่อเด็จดวงช้อย ซาบศรี สมศรี ฯ
อ.มานิตว่าเก้ากู่เป็นชื่อตำบล แต่ไม่รู้อยู่ไหน คณะอ.ล้อมว่า แก้วกู้ หมายถึง (น้อง)แก้วกู้ ไม่ใช่สถานที่ ผมผ่าน เพราะตีความไม่ถูกเหมือนกัน
และเนื่องจากบทถัดไประบุชื่อเกรียนสวายดังนี้
๓๒ เยียมาเรือล่องใกล้ เกรียนสวาย สวายสวาสดิ์ธรณีนาง มิ่งไม้ เพล็จพวงดุจดวงถวาย ทุกกิ่ง ไซ้แฮ แม้นม่วงรศฟ้าไล้ ลูกหวาน ฯ
เชียงราคอยู่เหนือลัดเกร็ดใหญ่ ในขณะที่เกรียนสวายอยู่ใต้ลัดเกร็ดใหญ่ลงมา เป็นอันว่าเรือขทิงทองผ่านเกร็ดใหญ่ลงมาโดยไม่ได้พูดถึง และไม่มีตำบลที่จะระบุได้ด้วยว่าแล่นไปทางแม่น้ำสายเก่าหรือคลองลัดครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
|
|
|
CrazyHOrse
|
ความคิดเห็นที่ 25 เมื่อ 24 ก.ย. 07, 18:40
|
|
๓๓ มุ่งเห็นน้ำหน้าวิ่ง เวียนตา แลแม่ ถนัดม่วงมือนางฝาน ฝากเจ้า เททรวงทุเรมา บางภูด พี่แม่ หมากพูจรู้ลับเล้า พูจพราง ฯ
อันนี้ไม่มีปัญหา บางภูจคือบางพูดแน่ เป็นคลองแยกไปทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เนือปากเกร็ดเล็กน้อยครับ
๓๖ เยียมานิราษร้อน ไฟกาม ลุบมีเลยแล เรียกฟ้า ศรีมาสำโรงงาม อายแก่ พี่แม่ ถนัดสำโรงเจ้าถ้า อกโรง
เรือมาถึงสำโรง ไม่รู้ว่าอยู่ไหน แต่ไม่ใช่สำโรงใกล้พระประแดงแน่ๆ อ.มานิตว่าเป็นคลองสำโรงอยู่ใกล้ปากเกร็ด ปากคลองมีวัดบัว ผมหาจนตากลับแล้วก็ยังหาไม่เจอทั้งคลองสำโรงและวัดบัว แต่มีน่าสงสัยคือคลองพระอุดมในคลองอ้อมเกร็ด(ลำแม่น้ำเก่า) ซึ่งเป็นคลองใหญ่ มีวัดอยู่ปากคลอง ช่วงใกล้ปากคลองคดเคี้ยวดูเป็นคลองธรรมชาติ อาจเป็นบางสำโรงเก่าก็เป็นได้
โปรดสังเกตว่ากวีเริ่มเรียกตนเองว่าศรีแล้ว นี่แหละครับที่ทำให้กำสรวลสมุทรกลายเป็นกำสรวลศรีปราชญ์
๓๘ ศรีมาพิโยคพื้น รัตนภูมิ ถนัดดุจพระภูมิผจง แผ่นแผ้ว เล็งแลเยียฟ้าฟูม ชลเนตร เพราะพี่เจ็บเจ้าแคล้ว คลาศไกล ฯ
ตรงนี้อ.มานิตว่า รัตนภูมิคือบางภูมิ
บางภูมิเป็นคลองแยกจากแม่น้ำอ้อมเกร็ด อยู่ถัดจากปากคลองพระอุดมมาไม่ไกล แต่ผมยังสงสัยอยู่ว่ามีร่องรอยการตั้งชุมชนที่บางภูมิเก่าแก่ขนาดไหน บางภูมิจะใช่รัตนภูมิหรือไม่?
แถวนี้ เมื่อก่อนนี้ไกลปืนเที่ยงขนาด แต่ไม่กี่เดือนมานี้สะพานพระราม ๔ ข้ามไปลง มีสะพานข้ามคลองบางภูมิและคลองพระอุดมครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
|
|
|
CrazyHOrse
|
ความคิดเห็นที่ 26 เมื่อ 24 ก.ย. 07, 19:05
|
|
๓๙ ศรีมาเทวศศร้อย สงสาร ทุกย่านอกฟูมไฟ น่าน้อง ศรีมาอังคารฉมัก ฉมวยใหญ่ แลลบับไล้ท้อง ท่งเขียว ฯ
ตรงนี้เดาไม่ออกจริงๆ อังคารฉมักฉมวยใหญ่ ในวลีนี้นะจะมีบางส่วนหรือไม่ก็ทั้งวลีนี่แหละที่เป็นชื่อสถานท แต่จนปัญญาจริงๆี่ แ่านบทถัดไปเล่นๆก็แล้วกันครับ
๔๐ เนื้อเบื้อละไล่ล้ำ สังขยา ควายประชลเพราะเพรียว ตื่นเต้น กวางทรายประนังหา หวงเถื่อน บางลาบบ้างเหล้นบ้าง ง่าเงย ฯ
นี่อยู่ไม่ใกล้ๆม่ไกลจากปากเกร็ดนะครับ ถ้าเป็นสมัยนี้ลองหลุดมาแถวห้าแยกปากเกร็ด อาจเจอรถติดสักชั่วโมงนึงได้
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
|
|
|
CrazyHOrse
|
ความคิดเห็นที่ 27 เมื่อ 24 ก.ย. 07, 19:29
|
|
๔๓ ฝ่ายเสียงสุโนกไห้ หานาง แม่ฮา เรียมทันทึงแทงโลม ลิ่นเล้า มาดลบำหรุคราง ครวญสวาสดิ์ ให้บำหรุหน้าเหน้า จอดใจ ฯ ๔๔ บำหรุบำราษแก้ว กูมา จักบำรุงใครใคร ช่วยได้ บรับบเริ่มอา บ่ร่าง ละเลย โอ้บเริ่มน้องให้ ใฝ่เห็น สองเห็น ฯ
ตรงนี้สำคัญ เพราะพูดถึงบำหรุ เราก็นึกถึงบางบำหรุ หนังสือบทกวีนิราศตามคลองบางกอกน้อยถึงบางใหญ่ ของคุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ก็พูดถึงโคลงตอนนี้ในกำสรวล
ปัญหามันอยู่ที่ว่า ตอนนี้เรือขทิงทองทำท่าจะวิ่งอยู่ในแม่น้ำอ้อม นนทบุรีนี่เอง ยังไม่ได้เข้าคลองบางกอกน้อยซึ่งมีบางบำหรุอยู่เลยครับ
เป็นไปได้สองประการคือ - คนละบำหรุกัน หรือ - บำหรุเดียวกันนี่แหละ แต่คนละฟาก
ถ้าเป็นคนละบำหรุกันก็จบ ไม่ต้องคุยต่อ แต่ผมสงสัยว่าจะเป็นอย่างหลัง เพราะคลองบางบำหรุปัจจุบันแยกจากฝั่งเหนือของคลองบางกอกน้อยขึ้นไปจนถึงทางรถไฟสายใต้แล้วกลายเป็นคลองบางละมุดไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาแถวเชิงสะพานพระรามหก
แต่ผมไม่คิดว่าคลองบางละมุดจะเป็นบำหรุในกำสรวลเพราะเส้นทางกำสรวลหลังจากนี้จะผ่านบางเขน ซึ่งจะอยู่เหนือปากคลองบางละมุดขึ้นไป
เป็นไปได้ว่าคลองบางบำหรุนี้อาจมีบางช่วงที่ตื้นเขินไปแล้ว หรืออีกประการหนึ่งที่เป็นไปได้คือคลองลัดวัดชะลอฝั่งวัดชะลอนี่แหละที่อาจจะเป็นบางบำหรุึแต่เดิม การขุดคลองลัดสมัยพระเจ้าจักรพรรดิ์ที่ว่าไว้ในพงศาวดารอาจจะขุดต่อจากกลางคลองบางบำหรุเดิมจนมาชนแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้านที่วัดขี้เหล็กครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
|
|
|
CrazyHOrse
|
ความคิดเห็นที่ 28 เมื่อ 24 ก.ย. 07, 22:32
|
|
๔๗ มาทุ่งทุเรศพี้ บางเขน เขนข่าวอกนมเฉลา พี่ตั้ง ปืนกามกระเวนหัว ใจพี่ พระเอย ฤาบให้แก้วกั้ง พี่คง คืนคง ฯ
เจออย่างนี้ คนส่วนมากจะงงว่ากวีกำสรวลท่านล่องเรืออีท่าไหนถึงไปโผล่บางเขนได้ หรือบางเขนในกำสรวลจะเป็นคนละบางกับบางเขนในปัจจุบัน
ตอบได้เลยว่าบางเดียวกันนี่แหละ และประเด็นนี้ตอกย้ำความหมายของคำว่า "บาง" ให้ชัดเจนขึ้นด้วย
เพราะปากคลองบางเขนอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือสะพานกรุงธนขึ้นไปหน่อยเดียวครับ มีสองคลองเรียกว่าบางเขนเก่า และบางเขนใหม่ แต่ทั้งสองคลองนี้เข้าไปรวมกันแล้ววิ่งยาวทะลุไปถึงต.บางเขนแถวเรือนจำกลางบางเขน นนทบุรี และต่อไปถึงเขตบางเขนของกรุงเทพ
คนปัจจุบันซึ่งไม่เห็นความสำคัญของคลองแล้วจึงมองคำว่าบางเป็นตำบลที่อยู่ และเห็นบางเขนเป็นพื้นที่ที่ไม่ผูกพันกับชื่อคลองอีกต่อไป
แต่กวีกำสรวลไม่เป็นอย่างนั้นครับ ล่องเรือผ่านปากคลองบางเขนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เห็นบางเขนอยู่ตรงนั้นเอง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
|
|
|
CrazyHOrse
|
ความคิดเห็นที่ 29 เมื่อ 24 ก.ย. 07, 22:42
|
|
ลืมสรุปไปว่า เรือใบขทิงทองแล่นผ่านเกาะเกร็ดโดยไม่สามารถยืนยันชัดแจ้งได้ว่ามาทางแม่น้ำลัดเกร็ด(เจ้าพระยาสายใหม่) หรือไปตามแม่น้ำอ้อมเกร็ด(สายเก่า) ยกเว้นจะเชื่อว่าบางภูมิคือรัตนภูมิ ซึ่งแปลว่าเรือไปตามแม่น้ำอ้อมเกร็ดซึ่งเป็นเจ้าพระยาสายเก่าก่อนขุดคลองลัดเกร็ดน้อยครับ
ลำดับถัดมาก็เช่นเดียวกัน หากไม่สามารถยืนยันได้ว่าบำหรุที่พูดถึงคืออีกฟากหนึ่งของบางบำหรุในปัจจุบัน ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเรือแล่นไปทางแม่น้ำสายเก่า ไม่ได้ลงมาทางแม่น้ำสายใหม่ที่ผ่านหน้าศาลากลางจังหวัดนนทบุรีหลังเก่าครับ
ทั้งนี้กวีไม่พูดถึงการมีอยู่ของเกาะพวกนี้ รวมถึงตำบลสำคัญที่ปรากฏในแผนที่ฝรั่งทุกฉบับอย่างตลาดแก้วตลาดขวัญ ดูเหมือนจะไม่มีตัวตนในสำนึกของกวีกำสรวลสมุทรเลย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
|
|
|
|