เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 26303 ตามรอยกำสรวลสมุทร
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
 เมื่อ 16 ก.ย. 07, 19:19

สืบเนื่องจากกระทู้ ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว) ผมศึกษาเส้นทางช่วง "บางกอก" แล้วติดลม แล่นใบตามเรือขทิงทองไปตลอดเส้นทาง เลยคิดว่าน่าจะแยกออกมาเปิดเป็นกระทู้ใหม่ได้ เพราะมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่มากครับ

กำสรวลสมุทรนี้ มีผู้เรียกว่ากำสรวลศรีปราชญ์ เพราะถูกผูกเข้ากับตำนานศรีปราชญ์สมัยพระนารายณ์ ว่ากันว่าศรีปราชญ์แต่งขึ้นขณะถูกเนรเทศไปนครศรีธรรมราช แต่เนื้อความในกำสรวลสมุทรนี้ขัดกับเรื่องราวและยุคสมัยของศรีปราชญ์มากจนเชื่อได้ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
เชื่อว่าอาจเป็นพระราชนิพนธ์ของพระรามาธิบดีที่ ๒ ซึ่งหมายความว่ากำสรวลสมุทรนี้มีอายุมากกว่า ๕๐๐ ปีแล้ว

ขอชวนกันมาลงเรือขทิงทองล่องแม่น้ำเจ้าพระยาย้อนอดีตกึ่งสหัสวรรษกันดีกว่าครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 16 ก.ย. 07, 20:42

คุณอาชาเล่นเรื่องยาก ขยิบตา

ตำนานเดิมที่เชื่อว่านิราศโคลงดั้นเรื่องนี้ แต่งโดยศรีปราชญ์ เมื่อถูกสมเด็จพระนารายณ์เนรเทศไปเมืองนครศรีธรรมราช น่าจะจุประกายขึ้นมาโดยนายนรินทร์ธิเบศร์ เมื่อสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ไม่ปลายรัชกาลที่ ๑ ก็สมัยรัชกาลที่ ๒

ตำนานศรีปราชญ์มีมาก่อนแล้ว  ก่อนที่พระยาปริยัติธรรมธาดาจะมารวบรวม
แต่นายนรินทร์ธิเบศร์ไปได้ชื่อ"ศรีปราชญ์"มาจากไหน  ไม่รู้      อาจจะมาจากข้อความในโคลงที่ย้ำไว้หลายตอนว่า ผู้แต่งชื่อ"ศรี"
นายนรินทร์ธิเบศร์ไปได้โคลงกำสรวลมาอ่านจากที่ไหนไม่ทราบอีกเหมือนกัน    น่าจะได้จากที่บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตรวบรวมงานเขียนต่างๆที่เหลือรอดได้จากกรุงแตก  มาเก็บรักษาไว้ในเมืองหลวง 
มหาดเล็กวังหน้าท่านนี้  มีความรู้ภาษาไทยแตกฉาน     อ่านโคลงดั้นภาษาเมื่อ ๓๐๐ ปีก่อนหน้า ได้รู้เรื่องดี   มองเห็นความไพเราะของบทโคลง จนนำมาเป็นแบบในการแต่งนิราศของท่านเอง
เสียดายที่เราไม่รู้ประวัติของนายนรินทร์ธิเบศร์มากกว่านี้    หลังจากแต่งนิราศนรินทร์แล้ว ก็หายเงียบไป  ไม่ปรากฏชื่อที่ไหนอีก
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 16 ก.ย. 07, 21:55

กำสรวลสมุทรเป็นยาขมหม้อใหญ่สำหรับคนปัจจุบัน เพราะศัพท์แสงที่ใช้ เป็นศัพท์ที่เลิกใช้กันไปนานแล้ว ความเก่าแก่ของภาษานี้เป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้ว่ากำสรวลสมุทรไม่ใช่วรรณกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เพราะภาษาที่ใช้เก่ากว่าวรรณคดีในยุคนั้นมากครับ

วรรณคดีที่ใช้ภาษาใกล้เคียงกันจะเป็น ยวนพ่าย และทวาทศมาส ซึ่งอาจเป็นผลงานของกวีกลุ่มเดียวกันครับ

ยุคต้นรัตนโกสินทร์ นอกจากนิราศนรินทร์ที่ได้รับอิทธิพลจากกำสรวลสมุทรแล้ว ยังมีนิราศแม่น้ำน้อย โดยกวีที่ใช้ชื่อว่า "ศิษย์ศรีปราชญ์" เห็นได้ชัดว่าบางบทแต่งล้อกำสรวลสมุทร เช่น

จักฝากโฉมแม่ไว้           ธรณี
เกรงกริ่งกรุงภาลี           ลอบเล้า
จักฝากนทีศรี               สาคเรศ ท่านนา
กลัวเกลือกพระสมุทรเจ้า   ท่าเที้ยรทารุณ ฯ

แต่งล้อบทนี้ในกำสรวลสมุทร (เขียนแบบปัจจุบัน)

โฉมแม่จักฝากฟ้า           เกรงอินทร์ หยอกนา   
อินทร์ท่านเทอกโฉมเอา    สู่ฟ้า   
โฉมแม่จักฝากดิน           ดินท่าน แล้วแฮ   
ดินฤขัดเจ้าหล้า             สู่สมสองสม ฯ

นายนรินทร์ธิเบศร์มาแต่งล้อบทเดียวกันดังนี้

โฉมควรจักฝากฟ้า          ฤาดิน ดีฤา
เกรงเทพไท้ธรณินทร์       ลอบกล้ำ
ฝากลมเลื่อนโฉมบิน        บนเล่า นะแม่
ลมจะชายชักช้ำ             ชอกเนื้อเรียมสงวน ฯ

นิราศแม่น้ำน้อยนี้ แต่งก่อนนิราศนรินทร์ ๑๘ ปี  มีบางบทในนิราศแม่น้ำน้อยที่นานนรินทร์แต่งล้อด้วย แสดงให้เห็นว่ากวียุคก่อนมีการศึกษางานเก่ากันมาอย่างต่อเนื่องครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 16 ก.ย. 07, 22:08

มาช่วยคุณอาชา ปั่นเรตติ้ง
http://www.pramot.com/lalitemain.html

โคลงนิราศตามเสด็จลำน้ำน้อย
พระยาตรังเป็นผู้แต่งโคลงนิราศตามเสด็จลำน้ำน้อย เมื่อคราวตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชไปตีเมืองทวาย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐ โดยเดินทางไปถึงลำน้ำน้อย ซึ่งเป็นแม่น้ำในแขวงเมืองกาญจนบุรีและเป็นเส้นทางเดินทางครั้งนั้น

ลักษณะการแต่ง เริ่มต้นร่ายดั้น ๑ บท และโคลงดั้นบาทกุญชรอีก ๑๙๗ บท มีร่ายดั้นแทรกในเรื่องอีก ๒ บท

เนื้อเรื่อง เริ่มต้นยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์และชมบ้านเมือง แล้วกล่าวถึงการเดินทางผ่านคลองบางหลวง คลองมหาชัย แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง ตำบลบางช้าง ตำบลเจ็ดเสมียน โพธาราม ผ่านไทรโยคและแม่น้ำน้อย แล้วเดินทางต่อทางบก ในระหว่างการเดินทางได้กล่าวชมผลไม้ ชมปลา ชมป่า โดยแทรกบทคร่ำครวญไว้ด้วย

ตัวอย่าง

ยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์
      อยุธยายิ่งไท้        ทั้งสาม ภพฤา
องค์อดิศรสวม          สุขหล้า
บูชิตศาสนราม          เรืองทะ วีปเฮย
บุญพระตวงฟ้าค้า     ค่าสวรรค์

ชมปลา
      กริมกรายกา         กดสร้อย ซิวเสือ
เบือนบู่ปูปนเพียน       ภาบน้ำ
สลิดสลาดหลด          ไหลเขือ คโฮ่
ดุกขะโดแก้มช้ำ         ซ่อนหมอ

สั่งความถึงนางอันเป็นที่รัก
       สารนี้สวาสดิเจ้า           จงสงวน ไว้แม่
แทนพี่แทนถนอมองค์          แอบพร้อง
ไป่ควรแม่อย่าควร               คำพี่ แพร่งเลย
เช้าค่ำเพื่อนห้องน้อง           ณ ศรี
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 16 ก.ย. 07, 22:12

เพื่อความสะดวก ผมจะใช้ กำสรวลสมุทร ในเว็บ ว่ายเวิ้งวรรณศิลป์ เป็นหลัก เทียบกับฉบับที่อ.ล้อม เพ็งแก้วและคณะฯ ชำระไว้ ส่วนเรื่องสถานที่ในเส้นทาง จะยึดแนวทางบทความ ตำนานศรีปราชญ์ตามเรือใบขทิงทอง ของ อ.มานิต วัลลิโภดม

เนื้อความกำสรวลฯฉบับอ.ล้อม และบทความอ.มานิต อยู่ในหนังสือ "กำสรวลสมุทรหรือกำสรวลศรีปราชญ์เป็นพระราชนิพนธ์ต้นกรุงศรีอยุธยา" ตีพิมพ์โดยมติชนครับ

บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 16 ก.ย. 07, 22:16

โธ่....เห็นๆอยู่ ว่ารัชกาลที่ 4 แต่งปลอมขึ้น

เพื่อสร้างข้ออ้างว่า คนใหญ่คนโต ก็เที่ยวท่องล่องนิราศได้ ท่านจะตรวจราชการไงครับ
ม่ายงั้น พวกหัวเก่า จะตื่นตกใจว่าท่านเที่ยวถี่เหลือเกิน รับไม่ได้
แต่งเมื่อวันจันทร์ขึ้นสี่คำเดือนหก ปีลิงหลอกเจ้า
ใช้กระดาษเพลาเก่าที่จ้างขุนมะเดื่อสุกทำขึ้น
ชุบเส้นหมึกโดยนายแกว่นปากหาเสี้ยน ที่วัดบวร กุฎีฝั่งใต้
ทำอยู่สามวันก็เสร็จ

ทำเสร็จพลันนึกขึ้นได้ จึงแต่งนิราศนรินทร์ขึ้นมารองรับ แล้วกระดาษยังเหลือก็เลยแต่งโคลงกวีโบราณของพระยาตรังกานูอภิศักดิ์
อ้อ สังข์ทองและไกรทอง ก็แต่งปลอมหลังจากนี้หน่อยหนึ่ง
แล้วเสอร์ยอนเบาริ่งนี่ ความจริงเป็นฝรั่งรับจ้างนะครับ ท่านอุปโลกเป็นฑูตเข้ามา ค่าจ้างแพงเชียว
ท่านร่วมมือกับหลอดคาลันดั้ล.....เรื่องนี้ผมอุบไว้ ยังไม่เผยแพร่

อันที่จริงไม่น่าจะต้องค้นคว้าอะไรให้เรื่องมากเลย อะไรอะไรที่พบในบ้านเมืองนี่ ถ้าก่อนรัชกาลที่ 4
เป็นการปลอมขึ้นสมัยพระจอมเกล้าทั้งนั้นละครับ  

เข้าเจยไม่เข้าเจย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 16 ก.ย. 07, 22:42

ผิดกระทู้ค่ะ  คุณพิพัฒน์
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 16 ก.ย. 07, 23:07

แฮ่ม... งั้นขอหลับหูหลับตาเชื่อไว้ก่อนครับว่ากวีพูดจริง ยึด 99.99% ไว้ก่อน ม่ายงั้นจั่วลมครับ ลงแรงไปหลายแล้ว  ยิงฟันยิ้ม

กำสรวลสมุทรใช้ร่ายเปิด แล้วดำเนินเรื่องโดยใช้โคลงสี่ดั้น ซึ่งมีสัมผัสระหว่างบท ลดความสับสนเรื่องลำดับโคลงไปได้บ้าง

เนื้อความเปิดฉากด้วยการพรรณนาความอลังการของอยุธยา โคลงในช่วงต้นนี้ขาดๆหายๆ หลายบทไม่ต่อเนื่องกัน น่าสงสัยว่าโคลงบางบทตกหล่นหายไป หรืออาจมีการแทรกเข้าไปเองระหว่างคัดลอก

แต่ไม่ว่าเป็นอย่างไร โคลงพรรณนาอยุธยาในช่วงต้นนี้ไพเราะจับใจผมมาก อ่านเมื่อไหร่ก็ขนลุกทุกที ขอคัดมาให้อ่านเต็มๆดังนี้

ทั้งนี้จะปริวรรตการสะกดเป็นแบบปัจจุบันทั้งหมดเพื่อความสะดวกในการอ่าน และจะทำอย่างนี้กับโคลงจะยกมาหลังจากนี้ด้วยครับ

อยุธยายศยิ่งฟ้า              ลงดิน แลฤา
อำนาจบุญเพรงพระ          ก่อเกื้อ
เจดีย์ลอออินทร์              ปราสาท
ในทาบทองแล้วเนื้อ          นอกโสรม ฯ
 
พรายพรายพระธาตุเจ้า       เจียนจันทร์ แจ่มแฮ
ไตรโลกเล็งคือโคม           ค่ำเช้า
พิหารระเบียงบัน              รุจิเรข เรืองแฮ
ทุกแห่งห้องพระเจ้า           นั่งเนือง ฯ

ศาลาอเนกสร้าง              แสนเสา โสดแฮ
ธรรมาสน์จูงใจเมือง          สู่ฟ้า
พิหารย่อมฉลักเฉลา          ฉลุแผ่น ไส้นา
พระมาศเลื่อมเลื่อมหล้า      หล่อแสง ฯ

ตระการหน้าวัดแหว้น         วังพระ
บำบวงหญิงชายแชรง         ชื่นไหว้
บูรพาท่านสรรค์สระ           สรงโสรจ
ดวงดอกไม้ไม้แก้ว            แบ่งบาล ฯ

กุฎีดูโชติช้อย                 อาศรม
เต็มร่ำสวรรค์ฤาปาง           แผ่นเผ้า
เรือนรัตน์ภิรมย์ปราง          สูรยปราสาท
แสนยอดแย้มแก้วเก้า        เฉกโฉม ฯ

สนมสนวนสอาดตั้ง           ตรีมุข
อร่ามเรืองเสาโสรม           มาศไล้
เรือนทองเทพแปลงปลุก      ยินยาก
เยียวฟ้ากู้ไซ้                  ช่วยดิน ฯ

อยุธยายศโยกฟ้า             ฟากดิน
ผาดดินพิภพเดียว             ดอกฟ้า
แสนโกฎิบ่ยลยิน              หยาดเยื่อ
ไตรรัตน์เรืองรุ่งหล้า           หลากสวรรค์ ฯ

อยุธยาไพโรจน์ใต้            ตรีบูร
ทวารรุจิเรียงหอ               สรหล้าย
อยุธยายิ่งแมนสูร             สุรโลก รังแฮ
ถนัดดุจสวรรค์คล้ายคล้าย    แก่ตา ฯ

ขอไม่แปลนะครับ ใช้ใจอ่านเอางามกว่าครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 17 ก.ย. 07, 17:10

๑๗ สรเนาะน้ำควั่งควั้ง        ควิวแด
สมดอกแดโหยหล            เพื่อให้
จากบางกระจะแล             ลิวโลด
ลิวโลดขวัญน้องไข้           ข่าวตรอม ฯ

บางกะจะ เป็นชื่อตำบลแรกที่ปรากฎในกำสรวลสมุทร และดูเหมือนจะเป็นต้นทางของกำสรวล ปัจจุบัน ตำบลที่เรียกว่าบางกะจะนี้เป็นจุดที่แม่น้ำป่าสักไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาตรงทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมืองตรงหน้าป้อมเพชร

ดูแผนที่ประกอบนะครับ (ภาพถ่ายทางอากาศจาก Google Earth)


บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 17 ก.ย. 07, 18:07

ปัญหาอยู่ที่ว่า บางกะจะ ต้นทางกำสรวลสมุทรคือตรงไหนกันแน่ เรื่องนี้ต้องไปดูการเปลี่ยนแปลงของเส้นทางน้ำในสมัยโบราณ

ใน "ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา" น. ณ ปากน้ำ ตั้งข้อสังเกตว่าวัดพุทไธสวรรย์ซึ่งอยู่ตรงข้ามเกาะเมือง ริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านใต้ ระหว่างปากคลองตะเคียนกับบางกะจะ แผนผังของวัดตั้งหันไปทางทิศตะวันออก ซึ่งผิดวิสัยวัดริมน้ำในยุคสมัยเดียวกันที่จะหันหน้าเข้าหาลำน้ำ น่าจะเป็นวัดเก่ามาก่อนที่จะมีแม่น้ำเจ้าพระยาตอนนั้น โดยลำเจ้าพระยาเดิมน่าจะเป็นคลองตะเคียน ซึ่งเห็นเป็นลำแม่น้ำในแผนที่ฝรั่งเศสสมัยอยุธยา ตามพงศาวดารพระเจ้าอู่ทองเคยประทับอยู่ที่พระราชวังเก่าที่วัดพุทไธสวรรค์นี้ระหว่างที่สร้างกรุงศรีอยุธยา เมื่อสร้างกรุงเสร็จทรงยกพระราชวังนี้ให้เป็นวัดพุทไธสวรรย์ อาจารย์ น. คาดว่าแม่น้ำเจ้าพระยาตอนนี้อาจถูกขุดขึ้นหลังจากสถาปนาวัดพุทไธสวรรค์เพื่อให้เป็นคูเมืองด้านใต้ แล้วใช้ดินที่ขุดขึ้นมาตั้งกำแพงเมืองในทิศนั้น

อาจารย์ น. ตั้งข้อสังเกตแบบเดียวกันที่วัดพนัญเชิง ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักตรงบางกะจะ ทิศเหนือและทิศตะวันตกของวัดติดกับแม่น้ำ แต่วัดพนัญเชิงก็หันหน้าไปทิศตะวันออก เข้าหาคลองสวนพลู

พิจารณาจากแผนที่ คคห.ก่อนหน้านี้จะเห็นว่าลำแม่น้ำป่าสักเดิม(ในแผนที่เป็นลำน้ำเล็ก)ไหลมาเกือบถึงทางทิศตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยาแล้วอ้อมออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ก่อนจะวกกลับมาใหม่ผ่านหน้าวัดพนัญเชิงตามแนวคลองสวนพลู แล้วไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมที่ปากคลองตะเคียน

ผมเข้าใจว่าแม่น้ำป่าสักสายเก่านี้ตื้นเขินไปเมื่อแม่น้ำป่าสักเปลี่ยนทางไหลมารวมกับแม่น้ำลพบุรี แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นฝีมือธรรมชาติหรือมนุษย์เป็นผู้ขุดเปลี่ยน ที่แน่ๆน้ำจากแม่น้ำป่าสักมารวมกับแม่น้ำลพบุรีมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะเมือง

พงศาวดารบอกว่าในรัชกาลพระมหาจักรพรรดิ์มีการขุดคูขื่อหน้า จากแม่น้ำป่าสักตรงหัวรอลงมายังบางกะจะ แม่น้ำป่าสักเปลี่ยนทางไหลอีกครั้ง คราวนี้ไหลตรงลงใต้มา ผมคิดว่าลำน้าไหลผ่านทางเหนือของวัดพนัญเชิงก็คราวนี้แหละครับ

อ่าความโดยรวมแล้ว ผมคิดว่าบางกะจะน่าจะเป็นลำน้ำเดิมที่แยกจากแม่น้ำป่าสักสายเก่า ตรงจุดที่คลองสวนพลูมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน โดยคลองนี้ไหลขึ้นเหนือแล้ววกโค้งไปทางตะวันตกในแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นคูเมืองด้านใต้

แม่น้ำเจ้าพระยาที่ถูกตัดเส้นทางใหม่จากปากคลองตะเคียนที่เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมเพื่อเป็นคูเมืองด้านใต้น่าจะถูกขุดมาบรรจบกับบางกะจะเดิมครับ เคยเห็นคนเรียกแม่น้ำบางกะจะก็น่าจะหมายถึงแม่น้ำเจ้าพระยาตอนนี้นี่เอง

กำสรวลสมุทรคงเริ่มต้นจากจุดใดจุดหนึ่งตั้งแต่ปากคลองตะเคียนลงมาถึงปากคลองสวนพลูนี้เองครับ แต่น่าจะเป็นช่วงคูเมืองด้านใต้เสียมากกว่า

จบตำบลแรกไปอย่างเหน็ดเหนื่อยเช่นนี้เอง
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 17 ก.ย. 07, 18:32

บทต่อมา

๑๘ จากมาไห้สั่งโกฎ     เกาะเรียน
เรียมร่ำทั่วเกาะขอม        ช่วยอ้าง
จากมามืดตาเวียน          วองว่อง
วองว่องโหยไห้ช้าง         ช่ำงือ ฯ

บทนี้อ.มานิตว่ามีสองตำบลปรากฏ คือเกาะเรียนกับเกาะขอม
เกาะเรียนนั้นไม่มีปัญหา เป็นเกาะฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาใต้ปากคลองตะเคียนลงมา ชื่อนี้ยังปรากฏอยู่จนปัจจุบัน นิราศยุคหลังเอ่ยชื่อบ่อยๆ เป็นตำบลสำคัญ
แต่เกาะขอมอยู่ที่ไหน?

ข้างใต้วัดพนัญเชิงลงมาเล็กน้อยมีวัดขอมอยู่ พิจารณาสภาพพื้นที่ตรงนั้นด้านตะวันออกและด้านใต้เป็นคลองสวนพลู(แม่น้ำป่าสักสายเดิม) ด้านเหนือเป็นแม่น้ำป่าสัก(คูขื่อหน้า) ด้านตะวันตกเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา(บางกะจะ) เรียกได้ว่าเป็นเกาะเหมือนกัน

แต่ถ้าเชื่อว่าคูขื่อหน้าและลำน้ำตอนเหนือวัดพนัญเชิงขุดขึ้นสมัยพระมหาจักรพรรดิ์ กว่าตรงนั้นจะมีสภาพเกาะก็ต้องถึงสมัยนั้นแล้ว ขัดกับข้อสันนิษฐานที่ว่ากำสรวลสมุทรแต่งขึ้นสมัยพระรามาธิบดีที่ ๒

ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ กำสรวลฯกล่าวถึงเกาะเรียนก่อนเกาะขอมครับ ในขณะที่ล่องลงมาตามลำบางกะจะ น่าจะเจอเกาะขอม(ถ้ามี) ก่อนเกาะเรียน

ครั้นจะมองหาเกาะที่อยู่ใต้ลงไป ถึงมีเกาะพระ(ซึ่งในกำสรวลไม่เอ่ยถึง) แต่โคลงบทต่อมาก็ระบุชื่อตำบลที่อยู่ก่อนถึงเกาะพระ เป็นอันว่าไม่น่าเป็นไปได้อีก

ข้อนี้ผมขอเสนอข้อสันนิษฐานใหม่ว่า "คัดลอกมาผิด" ความจริงควรเป็น "ชอม" ไม่ใช่ "ขอม" เขียนใหม่ทั้งหมดดังนี้

๑๘ จากมาไห้สั่งโกฎ     เกาะเรียน
เรียมร่ำทั่วเกาะชอม        ช่วยอ้าง
จากมามืดตาเวียน          วองว่อง
วองว่องโหยไห้ช้าง         ช่ำงือ ฯ

คำว่า ชอม พจนานุกรม ร.บ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า จ่อม หรือ จม
นอกจากจะแปลได้ความดีแล้ว ยังทำให้โคลงบทนี้เข้ากลบทโตเล่นหางด้วยครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 17 ก.ย. 07, 19:01

๑๙ จากมาลำหั้นล่อง       ลุขนอน
ขนอนบ่ถือเลยละ           พี่แคล้ว
จากมากำจรจันทน์            จรุงกลิ่น
จรุงกลิ่นแก้มน้องแก้ว       ไป่วาย ฯ

๒๐ จากมานักนิ่นเนื้อ       นอนหนาว
หนาวเหนื่อยเพราะลมชาย  ซาบชู้
จากมาทรนาวนาว           นมแม่
หนาวเหนื่อยมือแก้วกู       มุ่นมือ ฯ

ขอยกมาสองบทซ้อน อ.มานิตว่ามีสองตำบล คือ ขนอน และ ตะนาว(ทระนาว)
ขนอนนี้อ.มานิตขยายความเพิ่มเติมว่าคือขนอนหลวงวัดโปรดสัตว์ ซึ่งเป็นขนอนหลวงที่มีมาแต่โบราณ ในขณะที่ตะนาว อ.มานิตละไว้ ไม่ได้อธิบายอะไร

คณะอ.ล้อมฯ อธิบายว่าตะนาวนี้คือ บางตะนาวในพงศาวดาร ซึ่งเรียกว่าบางตะนาวศรีในชั้นหลัง จนใจผมหาข้อมูลส่วนนี้ไม่ได้ แต่อยากตั้งข้อสังเกตไว้ประการหนึ่ง

ในบทที่ ๑๙ บาทสาม-สี่ ความว่า
จากมากำจรจันทน์            จรุงกลิ่น
จรุงกลิ่นแก้มน้องแก้ว       ไป่วาย ฯ

ผมคิดเอาเองว่าที่ขนอนนั้น เรือสินค้าที่ผ่านมาน่าจะมีสินค้าหลักที่สำคัญของอยุธยาอย่างหนึ่งคือ ไม้จันทน์ ซึ่งหอมตรลบอบอวลชวนให้กวีที่ล่องเรือผ่านนึกไปถึงสตรีที่รัก

ซึ่งหากพิจารณาความดังนี้ ในบทถัดมา ทรนาว นี้ อาจจะไม่ได้หมายความถึงชื่อสถานที่ แต่หมายถึง ตระนาว หรือ ตะนาว ที่เป็นกระแจะชนิดหนึ่งได้หรือไม่

ฝากให้คิดกันครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 17 ก.ย. 07, 21:29

๒๑ จากมามาแกล่ไกล้       บางขดาน
ขดานราบคือขดานดือ        ดอกไม้
มาเกาะกำแยลาญ            ลุงสวาท กูเอย
ถนัดกำแยย้าใส้              พี่คาย ฯ

บทนี้มีสองตำบล บางขดาน และ เกาะกำแย

ชื่อบางขดานปรากฏในพงศาวดารบางฉบับ แต่เกาะกำแย หรือที่ฉบับอ.ล้อมชำระว่าเกาะตำแยนี้ ไม่เคยได้ยินมาก่อน และทั้งสองตำบลนี้ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนแล้ว

พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ มีความตอนหนึ่งว่า

ศักราช ๙๔๘ จอศก (พ.ศ.๒๑๒๙) ณวันจันทร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ พระเจ้าหงษางาจีสยางยกพลลงมาเถิงกรุงพระนครศรีอยุทธยา ณวันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๒ แลพระเจ้าหงษาเข้าล้อมพระนคร แลตั้งทัพตำบลขนอนปากคู  แลทัพมหาอุปราชาตั้งขนอนบางตนาวแลทัพทั้งปวงนั้นก็ตั้งรายกันไปล้อมพระนครอยู่ แลครั้งนั้นได้รบพุ่งกันเปนสามารถและพระเจ้าหงษาเลิกทัพคืนไปในศักราช ๙๔๙ (พ.ศ.๒๑๓๐) นั้นวันจันทร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ เสด็จโดยทางชลมารคไปตีทัพมหาอุปราชา  อันตั้งอยู่ขนอนบางตนาวนั้นแตกพ่ายลงไปตั้งอยู่ ณบางกระดาน วันศุกร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๖  เสด็จพระราชดำเนินออกไปตีทัพมหาอุปราชา  อันลงไปอยู่ณบางกระดานนั้นแตกพ่ายไป  วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๗ เสด็จพระราชดำเนินพยุหบาตราออกตั้งทัพไชยณวัดเดชะ      แลตั้งค่ายขุดคูเปนสามารถ    วันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗    เอาปืนใหญ่ลงสำเภาขึ้นไปยิงเอาค่ายพระเจ้าหงษาๆ ต้านมิได้ก็เลิกทัพไปตั้งณป่าโมกใหญ่ วันจันทร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔เสด็จพระราชดำเนินออกไปตีทัพข้าเศิก ๆ  นั้นแตกพ่าย  แลไล่ฟันแทงข้าเศิกเข้าไปจนค่ายพระเจ้าหงษานั้น    วันอังคาร แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๒   เสด็จพระราชดำเนินออกตั้งเปนทัพซุ่มณทุ่งหล่มพลี    แลออกตีทัพข้าเศิก    ครั้งนั้นได้รบพุ่งตลุมบอนกันกับม้าพระที่นั่ง    แลทรงพระแสงทวนแทงเหล่าทหารตาย  ครั้นข้าเศิกแตกพ่ายเข้าค่าย    แลไล่ฟันแทงข้าเศิกเข้าไป  จนถึงน่าค่าย     วันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ เพลานาฬิกาหนึ่งจะรุ่ง     เสด็จยกทัพเรือออกไปตีทัพพญานคร    ซึ่งตั้งอยู่ณปากน้ำมุทุเลานั้น    ครั้งนั้นเข้าตีทัพได้เถิงในค่าย แลข้าเศิกพ่ายหนีจากค่ายแลเผาค่ายข้าเศิกเสียสิ้นแลพระเจ้าหงษาก็เลิกทัพคืนไป  แลพญาลแวกมาตั้งณบางซาย  ครั้งนั้นเสด็จออกไปชุมพลทั้งปวงณบางกระดาน    เถิงวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๓ เพลาอุษาโยค    เสด็จพยุหบาตราจากบางกระดานไปตั้งทัพไชยณซายเคืองแล้วเสด็จไปลแวก  ครั้งนั้นได้ช้างม้าผู้คนมาก

ความในพงศาวดารตอนนี้กล่าวถึงขนอนบางตนาว และบางกระดาน เป็นไปได้ว่า ทรนาว ในโคลงบทที่ ๒๐ และ บางขดาน ในบทที่ ๒๑ ก็คือทั้งสองที่นี้เอง
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หนอนบุ้ง
อสุรผัด
*
ตอบ: 113


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 17 ก.ย. 07, 22:27

อยุธยาไพโรจน์ใต้            ตรีบูร
ทวารรุจิเรียงหอ               สรหล้าย
อยุธยายิ่งแมนสูร             สุรโลก รังแฮ
ถนัดดุจสวรรค์คล้ายคล้าย    แก่ตา ฯ

หนูขอเทียบโคลงกับบันทึกฝรั่ง เพื่อขยายความโคลงที่ยกมาค่ะ

หมอแกมเฟอร พรรณนาสภาพกรุงศรีอยุธยาที่เกี่ยวกับตัวเมืองตรงกับที่กวีบรรยายไว้ว่า
“ตัวเมืองมีกำแพงที่ก่อก้อนอิฐล้อมรอบ ด้านใต้และด้านเหนือสูงประมาณ 4 ฟาทัม (7.32 เมตร)
มีเชิงเทินหอรบมั่นคงแข็งแรง ลางด้านชำรุดไปบ้าง ตามกำแพงมีประตูเล็กๆ หลายแห่ง
เปิดลงแม่น้ำ ในกำแพงบนเชิงเทินวางปืนใหญ่เป็นระยะ...”
บันทึกการเข้า
หนอนบุ้ง
อสุรผัด
*
ตอบ: 113


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 17 ก.ย. 07, 22:29

สนมสนวนสอาดตั้ง           ตรีมุข
อร่ามเรืองเสาโสรม           มาศไล้
เรือนทองเทพแปลงปลุก      ยินยาก
เยียวฟ้ากู้ไซ้                  ช่วยดิน ฯ

ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ บรรยายว่า ตรงกับที่พระเพทราชาตรัสให้สร้างเรือนสนมท้ายที่นั่งเป็นประภาษราชการ ปรากฏในพระราชพงศาวดารที่ยกมาข้างต้นนี้แล้ว ส่วนคำ “เรือนทองท่านเพรงปลุก ยินยาก” นั้น เห็นจะได้แก่การสร้างพระที่นั่งบรรยงกรัตนาศน์ เป็นพระที่นั่งองค์ใหม่ในรัชสมัยของพระองค์

เรื่องอันเกี่ยวกับปราสาทราชมณเทียรแห่งกรุงศรีอยุธยานั้น เลื่องลือในความสวยงามวิจิตบรรจง
บาทหลวงเดอ ชัวซี เขียนชมไว้ว่า
“ปราสาทราชมณเทียร ก็ใหญ่โตรฐาน ดูสง่างามสุกใสไพโรจน์ ทางขวามือมีพระมหาปราสาทองค์หนึ่งมีหลายยอด ทาสีเหลือง ดูคลับคล้ายคลับคลาว่า จะทำด้วยทองคำเสียด้วย กำแพงพระมหาปราสาทสีขาว ที่มุมกำแพงย่อลดหลั่นเป็นมุมเป็นเหลี่ยมมาก ประดับประดาด้วยกระเบื้องลายครามสีต่างๆ มีสขาว สีเหลือง สีน้ำเงิน เป็นต้น สลับสีกันเป็นลวดลายงดงาม….” ซึ่งกวีพรรณาได้งดงามตรงความเป็นจริง
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 19 คำสั่ง