เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 26607 ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 18 ก.ย. 07, 21:41

มาร่วมวงฟังครับ
บางหรือบ้าน? เกาะหรือกอก? น่าคิดทั้งนั้น ยังไม่ปักใจเชื่อ ตราไว้ก่อนทั้งสองทาง หรือสี่ทาง

ขอเสนอโดยไม่มีที่มาที่ไป ไม่รู้จะอ้างอะไร อ้างได้แต่ความคุ้นๆ เหมือนเคยเห็น คลับคล้ายคลับคลา -ของตัวเอง  ว่า "บาง" อาจแปลว่าที่ที่มีน้ำในภาษาไทยเดิมมาก่อน จะมาจากมอญหรือไม่ก็ไม่ทราบครับ แต่ผมเคยเห็นใช้ในทำนองสร้อยคำ ว่า บึงบาง

ถ้า บึง มันเป็นแหล่งน้ำทำนองทะเลสาบ หรือสระ หรือแอ่ง คือไม่ใช่ทางน้ำที่ไหลไปไหนๆ ได้ พระมติสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ที่ว่า บาง คือคลองที่เข้าไปตันตรงย่านนั้น (แต่ไม่ใช่คลองตัน) ก็น่าคิดอยู่ แต่แล้วถ้ายังงั้น ทำไมต่อมา บางอะไรต่อบางอะไรหลายแห่งถึงได้อยู่ริมคลอง ทางน้ำไหล ล่ะ? แม้แต่บางกอกเองก็ริมน้ำเจ้าพระยา?

เว้นแต่ว่า มั่วอีกแล้วครับ อย่างคุณ CH ว่าคือ เดิมมันเป็นคลองที่ตันอยู่ ไม่คลอด เพิ่งมีการขุดต่อทะลุถึงกันให้ตลอดกลายเป็นคลองบางกอกน้อยและใหญ่สมัยหลัง?

มั่วยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ครับ
 
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 18 ก.ย. 07, 21:49

ส่วน คห. ที่คุณ Bana ยกมา ที่ว่ามาจากภาษามอญ บัง ว่าเรือ และอะไรบังจำไม่ได้ ว่าท่าเรือ ที่จอดเรือ นั้น
ผมนึกไปถึงอู่ต่อเรือ ที่เร็วๆ นี้มีข่าวในหลวงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ ทรงปล่อยเรือ ต. ลงน้ำ หรือนึกถึงพิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี ท่าเก็บเรืออย่างนั้นก็มีลักษณะเป็นคลองเล้กๆ เข้าไปตันในแผ่นดินเหมือนกัน
แต่นี่คงบังเอิญ เพราะเป็นลักษณะ dock ของฝรั่ง ซึ่งไม่คิดว่าไทยหรือมอญจะรับมาใช้จนกระทั่งสมัยค่อนข้างใหม่แล้วครับ
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 18 ก.ย. 07, 22:54

ขออนุญาตนำภาพโรงจอดเรือสมัยอยุธยา
จากผนังด้านหลังพระประธานวัดมหาธาตุเพชรบุรี
มายืนยันคำตอบของคุณนิลกังขาครับ

ตอนถ่ายภาพนี้คนถ่ายมีอาการคล้ายจะเป็นสันนิบาตอยู่
เนื่องจากอดน้ำ อดข้าว เดินฝ่าแดดมาเกือบชั่วโมง
และสะพายเป้ยังชีพใบโตอยู่บนหลังครับ

แถมน้องกล้องเจ้ากรรม 3 ล้าน pixel
ยังไม่มีระบบกันสั่นกันเบลอซะอีก
ภาพเลยอกมาได้เท่านี้

ขออภัยด้วยนะครับ


.


บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 18 ก.ย. 07, 23:51

ต้องเปลี่ยนชื่อไฟล์เป็นภาษาอังกฤษก่อนครับคุณติบอ ไม่อย่างนั้นจะดูภาพไม่ได้ บั๊กระบบ ฝรั่งทำมา ไม่กล้าแตะครับ

สำหรับบางกอก จะมาจาก บาง หรือ บ้าน เรื่องนี้ยังฟันธงไม่ได้ครับ (ถึงส่วนตัวผมเองจะเชื่อว่าเป็น บาง ซะ 95%) แต่ความหมายของ บาง นั้น คิดว่าชัดเจนครับ

จะลองขุดหาจากวรรณคดีเก่าให้ดูนะครับ

ลิลิตพระลอ พบคำว่า บาง (เฉพาะที่มีความหมายเชิงสถานที่) ครั้งเดียว ดังนี้

...เห็นแนวน้ำบางบึง ชรทึงธาร ห้วยยหนอง...

ชรทึง พจนานุกรม ร.บ.๒๕๔๒ ให้ความหมายดังนี้
ชรทึง    [ชฺระ] น. แม่นํ้า, ใช้ว่า จทึง ฉทึง ชทึง สทิง สทึง หรือ สรทึง ก็มี.
   (ข. สฺทึง ว่า คลอง).


กำสรวลสมุทร มีชื่อสถานสถานที่ที่ขึ้นด้วยบางหลายชื่อ
ชื่อที่ยังสอบไม่ได้แน่คือ บางขดาน, บางกรูด, บางพลู, บางค่อม, บางนายยี่, บางสบู, บางคล
ชื่อที่สอบออกมาได้คือ บางกะจะ, บางพูด, บางเขน, บางพลู, บางฉนัง, บางจาก, บางรมาด, บางผึ้ง เป็นชื่อตำบลที่เป็นชื่อลำน้ำทั้งสิ้น
นอกจากนี้ก็มีคำว่าบางอีกหนึ่งแห่ง ที่มีความหมายเชิงสถานที่ดังนี้
- เทท่าบึงบางบา         บ่าใส้
ซึ่งน่าจะแปลว่าลำน้ำอีกเหมือนกัน

ทวาทศมาส พบดังนี้
อันนี้แปลได้
- แสนบางบึงห้วยแห่ง    เหมุทก

สองอันนี้เห็นจะเป็นชื่อสถานที่ บางขดาน กับบางถมอ อยู่ไหนก็ไม่แน่ชัด
- ตกบางขดานดิน        สดือแม่
- ครึ่งบางถมอชั้น        ง่าพาย ยอพาย ฯ

ขอสรุปเองว่า สมัยอยุธยาตอนต้น อย่างน้อยบางมีความหมายว่าลำน้ำแน่ แต่ไม่รู้ว่ามีความหมายอื่นหรือไม่นะครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 18 ก.ย. 07, 23:58

ที่สำคัญ นิราศต้นรัตนโกสินทร์ ขี่ GoogleEarth ดูจากอวกาศ ฟันธงได้ว่า บางทุกบางเป็นชุมชนริมคลอง บางที่มีแลบเรียกออกมาว่า บ้านบาง... เหมือนกับที่เรียกบางตำบลลอยๆ แต่บางทีก็เอาบ้านแปะหน้า เช่น ลายตากฟ้า, บ้านลานตากฟ้า

สำนึกคนโบราณต้นรัตนโกสินทร์ (และเชื่อว่าย้อนขึ้นไปด้วย เพราะสภาพสังคมไม่เปลี่ยน) บางก็คือคลองนั่นเองครับ

ผมเชื่อว่าคนโบราณรักษาชื่อบางกอกเอาไว้ได้ จากชื่อลำบางเดิมที่เคยอยู่ที่นี่ บางกอก ที่น่าจะเป็นบางแยกจากริมเจ้าพระยาสายเดิมตรงปากคลองบางกอกใหญ่ขึ้นเหนือไปในแนวลำน้ำเจ้าพระยาปัจจุบันนี้นี่เองครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 19 ก.ย. 07, 15:19

ยังขาดวรรณคดีเก่าอีกเรื่อง ลิลิตยวนพ่าย

เรื่องนี้เหนื่อยหน่อย เพราะไม่มีใครทำออนไลน์ไว้ ผมเคยพิมพ์ไว้บางส่วน คืบหน้าไปได้ไม่มากเพราะพิมพ์สัมผัสแบบ โป๊ก.. โป๊ก.. โป๊ก... ไม่ใช่ตะล็อกต๊อกแต๊ก แถมการสะกดแบบโบราณนี่ยากเย็นแสนเข็ญ ว่างจัดเมื่อไหร่จะงัดเอามาพิมพ์ต่อครับ

นอกเรื่องไปเยอะ สรุปได้ว่าต้องเปิดอ่านแบบผ่านๆ ก็เลยเจออยู่ที่เดียว

บางเมงเปนขื่หน้า        ขวางขนนน ก่อนแฮ
มีแม่ยมเปนแย่          แก่งก้นน
เข้าสามเกือบกนนกรร   เมืองมิ่ง เขาแฮ
คูคอบสามช้นนซรึ้ง      ขวางแขวง ฯ

สะกดตามหนังสือนะครับ ขี้เกียจแก้ เพราะแปลไม่ค่อยจะออก แต่เห็นได้ชัดว่าบางเมงนี่เป็นลำน้ำอย่างไม่มีข้อสงสัย ส่วนอยู่เมืองไหนนั้นยังไม่ได้ไปอ่านละเอียด แต่เป็นหเมืองเหนือแล้วครับ

น่าสงสัยว่าบางเมงนี่เป็นชื่อท้องถิ่น หรือว่าชื่อที่ทางอยุธยาเรียก เพราะอาจชี้ที่มาของคำนี้ได้ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 19 ก.ย. 07, 15:29

กำศรวลว่าหินภาษา  แล้ว  ยวนพ่ายยิ่งโหดหินเมื่อเทียบกัน

ลองถอดดูก่อน ยังไม่ได้เทียบกับหนังสือที่ปริวรรตแล้วนะคะ

บางเมงเป็นขื่อหน้า        ขวางขนัน ก่อนแฮ
มีแม่ยมเป็นแย่              แก่งกั้น
เข้าสามเกือบกันกรร       เมืองมิ่ง เขาแฮ
คูคอบสามชั้นซึ้ง           ขวางแขวง ฯ

ขอถอดกลอนประตูหน้าต่างออกมาอย่างหลวมๆว่า  ด่านกั้นเมืองมี ๓ ด่านธรรมชาติ คือ
๑ บางเมง อาจเป็นชื่อลำน้ำ
๒ แม่น้ำยม
๓ เป็นชื่อเขาอะไรสักอย่าง
รวมด่านธรรมชาติ ๓ ชั้น ขวางกั้นไว้ไม่ให้ถึงเมืองง่ายๆ


บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 19 ก.ย. 07, 20:52

กลับไปอ่านใหม่ ได้ความว่าเป็นเมืองเชียงชื่น(ศรีสัชนาลัย)

บางเมงเป็นขื่อหน้า         ขวางขนัน ก่อนแฮ
มีแม่ยมเป็นแย่             แก่งกั้น
เข้าสามเกือบกันกรร       เมืองมิ่ง เขาแฮ
คูคอบสามชั้นซึ้ง           ขวางแขวง ฯ

ขนัน พจนานุกรมว่า บัง, ขวาง, ล้อม ในที่นี้คงหมายความว่าบางเมงนี่ขวางอยู่

มีแม่ยมเป็นแย่ อันนี้แย่มากๆ คืออ่านไม่รู้เรื่อง พจนานุกรมไม่ให้ความหมายอะไรที่ใกล้เคียงไว้ เป็นไปได้หรือไม่ว่า แย่ คือ แป ก็จะเป็น
มีแม่ยมเป็นแป             แก่งกั้น
พอจะมั่วๆเข้าใจได้อยู่

เข้าสามเกือบกันกรร อ่า... ขอไทลีนอลด้วยคร้าบ ปวดหัวคร้าบ
เข้าสาม นี่เป็นไปได้ไหมว่าจะเป็น เขาสาม คนคัดลอกแถมไม้โทมาฟรีๆให้ปวดหัวเล่น
เกือบกัน พจนานุกรมไม่มี แต่เคยได้ยินว่าแปลว่า เกยกัน
บาทนี้น่าจะแปลว่ามีเขาสามลูกเป็นแนวป้องกันเมืองอยู่

คอบ พจนานุกรมว่า ครอบ, รักษา บาทนี้แปลว่ามีคูเมืองซ้อนป้องกันอีกสามชั้น

แผนที่ GoogleEarth บริเวณศรีสัชนาลัยมีรายละเอียดน้อย ต้องไปดูอีกเจ้าหนึ่ง PointAsia.com

ซูมดูตัวเมืองจะๆ ในกำแพงเมืองตอนเหนือมีเขาอยู่สองลูก และมีภูเขานอกเมืองอีก แม่น้ำยมไหลอ้อมมาจากตะวันออกมาตะวันตก เป็นคูเมืองในทิศเหนือ แต่ดูยังไงก็ไม่ลงตัวกับโคลงบทนี้

ดูจนมึน นึกได้ว่าถ้าลงรายลัเอียดแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ ท่านให้ถอยมาดูภาพรวมไกลๆสักที

โอ้... เห็นอะไรบางอย่างแล้ว




บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 19 ก.ย. 07, 21:02

ตอนนี้ต้องสวมวิญญาณเสนาธิการทหารอยุธยา วางแผนเข้าตีเมืองเชียงชื่น

เมืองเชียงชื่นตั้งอยู่ในที่ราบริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม แม่น้ำยมโอบล้อมทางตะวันออกไว้ตลอด ทางตะวันตกมีเทือกเขาเรียงตัวกันเป็นแนวป้องกันตามธรรมชาติต่อจากแม่น้ำยมทางทิศเหนือยาวลงมาตลอดฝั่งตะวันตกของที่ราบ

ทัพอยุธยามาจากทางใต้ก็ต้องเข้าทางช่องทางใต้ระหว่างเทือกเขานี้กับแม่น้ำยม ตรงนั้นมีลำห้วยอยู่หลายสายในแนวตะวันตกไปตะวันออก เป็นขื่อหน้าป้องกันการโจมตีจากทางด้านใต้นี้

เป็นชัยภูมิตั้งรับศึกที่ดีมากในยุคที่ยังไม่มีเครื่องบินทิ้งระเบิดกับเรือปืนครับ

โคลงบทนี้อธิบายภาพรวมของที่ราบเมืองเชียงชื่น ไม่ได้เจาะจงแค่ในกำแพงเมืองครับ ชัดเจน แจ่มแจ้ง เป็นระบบป้องกันที่ป้องกันได้ทั้งที่ราบเลย
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 20 ก.ย. 07, 06:58

กราบสวัสดี อาจารย์เทาชมพู คุณพิพัฒน์ และทุกๆ ท่านครับ (หายไปนาน อิอิ  ยิงฟันยิ้ม)
ขอมาแจมสั้นๆ ก่อนนะครับ น่าสนใจมากเรื่องชื่อบางกอก ได้ยินผ่านหูผ่านตามาเยอะเหมือนกันครับ เกี่ยวกับทฤษฎีต่างๆ

มาอ่านตอนกำลังจะนอนพอดี ถ้ามีเวลาจะมาแจมต่อนะครับ ...

ส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่า "บางกอก" เป็นคำที่ถูกครับ เพราะว่า ชื่อท้องถิ่นเก่าๆ ส่วนใหญ่จะเป็น "สภาพแวดล้อมของพื้นที่" + พืช หรือ สัตว์ ที่พบมากในบริเวณนั้น

ในกรุงเทพฯ ก็มีชื่อทำนองเดียวกันนี้เป็นสิ่งยืนยันว่า "บางกอก" ก็น่าจะมีที่มาของชื่อในทำนองเดียวกันครับ เช่น

พืช: บางบอน, บางแค, บางรัก, บางลำพู, บึงกุ่ม, หนองจอก, หนองแขม, บางอ้อ,
สัตว์: บางระมาด (แรด), บางกะปิ (ลิง)


อย่างไรก็ตาม ยังมีชื่อ บาง อีกจำนวนหนึ่ง ที่ผมยังไม่ได้ตีความครับ เช่น บางนา (พื้นนา ข้อนี้อาจสนับสนุน "บางเกาะ" ได้ ฮืม), บางเขน (ไม่แน่ใจว่าหมายถึง นกกางเขน หรือไม่), บางกะปิ (ได้ยินว่า มาจาก กะบี่ ที่แปลว่า ลิง), บางพลัด (น่าจะเป็นชื่อ พืช หรือคำเพี้ยน มากกว่าที่จะมาจากคำกริยาว่า พลัดพลาก), บางซื่อ (น่าจะเป็นชื่อ พืช หรือ คำเพี้ยน), บางคอแหลม (โนไอเดียครับ), บางขุนเทียน (น่าจะมาจาก เดิมเขตนี้เป็นที่ดินของข้าราชการชื่อ ขุนเทียน), บางขุนศรี, บางขุนนนท์, บางขุนพรหม (ทำนองเดียวกับ บางขุนเทียน) ฯ

เมื่อกี้เห็นชื่อ "บางรมาด" ในกระทู้ของคุณ CrazyHOrse คำว่า "ระมาด" ถ้าจำไม่ผิด เห็นว่าเป็นคำเขมร แปลว่า แรด ครับ
บางเชือกหนัง - คุณสุจิตต์ วงศ์เทศ เคยอธิบายไว้ว่า เพี้ยนมาจากคำเขมร "ฉนัง" แปลว่า "หม้อ"

ส่วนทำไมถึงเป็น "บางกอก" ไม่เรียก "บางมะกอก" นั่นก็เพราะว่า "มะกอก" คือ ชื่อของผล กร่อนมาจากคำว่า "หมากกอก" ส่วนชื่อต้นไม้คือ "ต้นกอก" เข้าใจว่า เนื่องจากภาษาไทยปัจจุบันจะรู้จัก ผลของต้นกอก (มะกอก) ดีกว่า จึงเรียกชื่อต้นไม้ตามชื่อของผล เป็น ต้นมะกอก ในทำนองเดียวกันกับต้นมะม่วง, มะพร้าว, มะนาว, มะกรูด, มะเฟือง, มะไฟ ฯลฯ

ส่วน ปัญหา Bankoc-Bankok อ่าน "บ้าน" หรือ "บาง" ตรงนี้เห็นด้วยกับคำอธิบายของคุณ CrazyHOrse ครับ ที่ -nc หรือ -nk สามารถออกเสียงเป็น -งก หรือ -งค ได้ เช่นคำว่า Punk ภาษาอังกฤษ ออก พั้งคฺ ไม่ออก พั้นคฺ ทั้งๆ ที่สะกดด้วย n แต่ด้วยอำนาจของ k จึงทำให้ n กลายเป็นนาสิก วรรคกัณฐชะ ไป (คือ จาก น เป็น ง)
หรือ ชื่อเฉพาะอย่าง Ankor ก็จะออกว่า อังกอรฺ ไม่ออก อันกอรฺ เป็นต้น

เรื่องที่จะจับเอา ชื่อ ที่ฝรั่งเขียนมาอธิบายนี้ ยากครับ เพราะฝรั่งหูเพี้ยนก็เยอะ ในเบื้องต้นนี้ ผมขอจับเอา คำพวก "บาง" มาดูว่า มันมีแนวโน้มที่จะไปทาง ชื่อ "พืช" หรือ ชื่อ "สถานที่" ก่อนครับ แต่เท่าที่ดู ก็มีเปอร์เซ็นต์ที่น่าจะเป็น "บางกอก" มากกว่า "บางเกาะ" หรือ "บ้านเกาะ" หรือ "บ้านโคก" หรือ "บางโคก"

ยังไม่ได้ขัดเกลาใดๆ ผิดพลาดก็ช่วยชี้แนะด้วยครับ  อายจัง

+++++++++++++++++++++++++++++
ปล... ขอแก้ไขเพิ่มเติมครับ พอดีไปเจอ บทความของคุณสุจิตต์เข้าพอดี เกี่ยวกับ "บางเชือกหนัง"
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 20 ก.ย. 07, 07:19

ย่านบางกอก

ในโคลงกำสรวลสมุทร

ครั้งหนึ่ง มีเจ้านายเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของกรุงศรีอยุธยา เสด็จประทับเรือจากพระนครศรีอยุธยา ลงมาตามแม่น้ำ ผ่านชุมชนหมู่บ้านทั้งสองฝั่ง จนถึงเขตเมืองนนทบุรี แล้วถึงบริเวณที่ลำแม่น้ำไหลคดเป็นรูปโค้งเกือกม้าที่เรียกย่านบางกอก คือ กรุงเทพฯ ทุกวันนี้

เหตุการณ์ครั้งนั้นอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๑ – ๒๐๗๒ จะเป็นปีใดยังไม่รู้แน่ แต่อยู่ระหว่างแผ่นดิน สมเด็จพระบรมราชาธิราช ที่ ๓ กับ สมเด็จพระรามาธิบดี ที่ ๒ ต่อเนื่องกัน มีหลักฐานยืนยันคือโคลงดั้น จำนวน ๑๓๐ บท เรียกกำสรวลสมุทรหรือรู้จักทั่วไป ชื่อ กำสรวลศรีปราชญ์ (แต่ “ศรีปราชญ์” ไม่ได้เป็นคนแต่งเรื่องนี้) แต่งอย่างที่เรียกในชั้นหลังว่านิราศ นับเป็นหนังสือนิราศมีอายุเก่าแก่มาก หรืออาจเก่าแก่ที่สุดของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็คงได้ แต่เรื่องนี้ต้องพิจารณาต่อไปอีก

ความสำคัญของ กำสรวลสมุทร อยู่ที่พรรณนาชื่อบ้านนามเมือง และสถานที่ของกรุงเทพฯ ยุคดึกดำบรรพ์เอาไว้ด้วย ยังไม่พบเอกสารเก่ากว่าเล่มนี้ และไม่น่าจะมีให้พบแล้ว ต้องยกเป็นเอกสารเก่าสุดที่ออกชื่อบ้านนามเมืองและสถานที่ของกรุงเทพฯ กับปริมณฑล มีรายการดังต่อไปนี้

บางเขน ชื่อนี้ไม่ใช่เขตบางเขน กรุงเทพฯ ปัจจุบัน หากเป็นบางเขนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งเหนือสะพานพระราม ๖ แต่ใต้วัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี บริเวณนี้มีคลองแยกไปทางตะวันออกเรียก คลองบางเขน

เวลาที่แต่งโคลงกำสรวลสมุทร ยังไม่ชุมชน ภูมิประเทศครั้นนั้นคงเป็นทุ่งโล่ง กวีจึงพรรณนาว่า

      มาทุ่งทุเรศพี้                 บางเขน
เขนข่าวอกนมเฉลา                  ที่ตั้ง
ปืนกามกระเวนหัว                   ใจพี่ พระเอย
ฤๅบ่ให้แก้วกั้ง                       พี่คงคืนคง ฯ

บางกรูด อยู่ใต้บางเขนลงมา แต่หาร่องรอยไม่ได้ว่าอยู่ตรงไหน รู้แต่ว่าน่าจะมีต้นมะกรูดขึ้นเป็นป่า เพราะกวีพรรณนาว่า

     เยียมาสมดอกแห่ฃ้ง   ฤทัย ชื่นแฮ
เครงย่อมถงวลถงมอก      ค่ำเช้า
เยียมาเยียไกลกลาย         บางกรูด
ถนัดกรูดเจ้าสระเกล้า       กลิ่นขจร ฯ

บางพลู อยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำ ใต้บางกรูด ถัดมาทางใต้สะพานพระราม ๖ และใต้บางพลัด มีวัดบางพลูเป็นร่องรอยอยู่ ย่านนี้เห็นจะปลูกพลูไว้กินกับหมากเต็มไปหมด ดังกวีพรรณนาว่า

     เยียมาพิเศษพี้         บางพลู
ถนัดเหมือนพลูนางเสวย     พี่ดิ้น
เรียมรักษเมื่อไขดู           กระเหนียก นางนา
รสรำเพยต้องมลิ้น          ลั่นใจลานใจ ฯ

ฉมังราย อยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำ ทางใต้สะพานซังฮี้ลงมา ชื่อนี้รียกกันภายหลังต่อมาว่าสมอราย มีวัดสมอรายตั้งอยู่ ปัจจุบันคือวัดราชาธิวาส
คำเดิมว่า ฉมังราย จะเป็นคำมอญหรือคำเขมร ยังไม่รู้ แต่กวีพรรณนาว่าย่านนี้เป็นหลักแหล่งของชาวประมง ใช้อวนหาปลาในแม่น้ำ ดังนี้

      เรือมาเจียรเจียดใกล้    ฉมังราย
ฉมังนอกฉมังในใน           อกช้ำ
ชาวขุนสรมุทรหลาย         เหลือย่าน
อวนหย่อนหยั่งน้ำถ้า          ถูกปลา ฯ

บางระมาด ปัจจุบันอยู่ในคลองบางกอกน้อย แต่ยุตนั้นคือแม่น้ำ (เจ้าพระยา) สายเดิมที่ไหลคดเป็นรูปโค้งเกือกม้า
ชื่อระมาดเป็นคำเขมร แปลว่า แรด คงจะมีแรดอยู่แถบนั้น

ย่านนี้เป็นเรือกสวน มีกล้วย อ้อย และผักต่างๆ มีชาวสวนตั้งหลักแหล่งเรียงราย รวมทั้งมีตลาด (จรหลาด) ด้วย กวีพรรณนาไว้ดังนี้

       กล้วยอ้อยเหลืออ่านอ้าง   ผักนาง
จรหลาดเล็กคนหนา             ฝั่งเฝ้า
เยียมาลุดลบาง                  ระมาด
ถนัดระมาดเต้นเต้า              ไต่เฉนียน ฯ

บางฉนัง ปัจจุบันเรียกเพี้ยนเป็น บางเชือกหนัง อยู่ในคลองบางกอกน้อย ยังมีคลองบางเชือกหนังอยู่ฝั่งขวา ใต้คลองบางระมาด
ชื่อ ฉนัง เป็นคำเขมร แปลว่า หม้อ น่าเชื่อว่าชุมชนนี้มีอาชีพปั้นหม้อขาย ถ้าแปลความหมายต้องเรียก บางปั้นหม้อ หรือ บางหม้อ

ย่านนี้เป็นเรือกสวนหนาแน่น เพราะกวีพรรณนามาก่อนว่าสองฝั่งแม่น้ำ (เดิม) เต็มไปด้วยสวนผลไม้ มีมะม่วง ขนุน มะปราง ฯลฯ สวนถัดๆ ไปยังมีหมาก มะพร้าว เต็มไปหมด พวกแม่ค้าชาวบ้านต่างทำขนมแล้วเอาผลหมากผลไม้มาขาย ดังนี้

       มุ่งเห็นเดียรดาษสร้อย     แสนสวน
แมนม่วงขนุนไรเรียง             รุ่นสร้อย
กทึงทองลำดวนโดร              รสอ่อน พี่แม่
ปรางประเหลแก้มช้อย            ซาบฟัน ฯ
เยียมาแล้วไส้หย่อน               บางฉนัง
ฉนังบ่มาทันสาย                 แสบท้อง
ขนมทิพย์พงารัง                 รจเรข มาแม่
ยินข่าวไขหม้อน้อง               อิ่มเอง ฯ
ด้าวหั้นอเนกซื้อ                  ขนมขาย
อรอ่อนเลวงคิด                   ค่าพร้าว
หมากสุกชระลายปลง             ปลิดใหม่
มือแม่ค้าล้าวล้าว                 แล่นชิงโซรมชิง ฯ

 
บางจาก อยู่ฝั่งขวาแม่น้ำ (เดิม) ใต้บางเชือกหนัง มีโคลงว่า

      มลักเห็นน้ำหน้าไน่        นัยน์ตา พี่แม่
เรียมตากตนติงกาย              น่าน้อง
ลันลุงพี่แลมา                   บางจาก
เจียรจากตีอกร้อง               เรียกนางหานาง ฯ

บางนางนอง ในโคลงเขียนคร่ำครวญ “นองชลเนตร”

เมื่อกวีล่องเรือตามแม่น้ำ (เดิม) ถึงคลองบางกอกใหญ่ ได้เลี้ยวขวาเข้าคลองด่าน (ตรงวัดปากน้ำภาษีเจริญ) มุงไปทางบางขุนเทียน ผ่านตำบลบ้านแห่งหนึ่ง คือ บางนางนอง ปัจจุบันมีวัดนางนอง ตั้งอยู่ริมคลอง มีโคลงกล่าวว่า

    เสียดายหน้าช้อยชื่น         บัวทอง กูนา
ศรีเกษเกษรสาว                 ดอกไม้
มาดลบันลุนอง                  ชลเนตร
ชลเนตรชู้ช้อยไห้                ร่วงแรงโรยแรง ฯ

บรรยากาศของสองฝั่งคลองด่านย่านบางนานอง ยังเป็นเรือกสวนหนาแน่นโดยเฉพาะสวนหมาก ดังโคลงบาทแรกของบทที่ ๖๓ ว่า “ลันลุงสองฟากฟุ้ง ผกาสลา” เมื่อสัก ๕๐ ปีที่แล้ว ย่านนี้ยังมีสวนหมากแน่นสองฝั่งคลอง

++++++
ตัดตอนมาจาก: สุจิตต์ วงษ์เทศ ๒๕๔๗. นิราศเรื่องต่างๆ นิราศมาจากไหน ?. ใน กวีสยามนำเที่ยวสยามประเทศไทย. จาก เว็บไซต์ สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย [ http://www.thaipoet.net/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&Category=thaipoetnet&thispage=5&No=217593 ]
(คัดจากคำนำหนังสือกวีสยามนำเที่ยวกรุงเทพฯ มติชน ๒๕๔๗).
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 20 ก.ย. 07, 20:15

สงสัยเพิ่มครับ

คำว่า "บางพลัด" ไม่รู้ว่าจะเพี้ยนมาจาก "บางพลับ" ได้หรือไม่ ?

ต้นมะพลับ = Diospyros malabarica

ก็ไม่รู้ว่าจะมีใครแต่งตำนาน เรื่องราวประมาณการพลัดพราก มาอธิบายที่มาของ "บางพลัด" หรือเปล่า อิอิ
เคยศึกษาเกี่ยวกับที่มาของชื่อ "วัดท่าพูด" ตำนานท้องถิ่นที่เล่ากันส่วนใหญ่ก็จะไปโยงกับคำกิริยา "พูด" โดยไปเล่าว่า ท่าน้ำพูดได้บ้าง
ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมว่าน่าจะมาจากชื่อต้นไม้ "มะพูด" มากกว่า (Garcinia dulcis)

อย่าง "ท่าเตียน" ก็เช่นกัน เคยได้ยินตำนาน ยักษ์วัดโพธิ์ รบกับยักษ์วัดแจ้ง ทำให้ท่าน้ำตรงนั้น "เตียน"
ส่วนตัวผมเห็นว่า เป็นการแต่งตำนานโยงกับคำศัพท์ "เตียน" ในชั้นหลังมากกว่า
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 20 ก.ย. 07, 21:15

บางกอก ชื่อสั้น แต่แฝงประวัติศาสตร์อันยาวนานจริงๆครับ

ผมสอบชื่อหมู่บ้านทั่วประเทศไทย จากไฟล์ที่เซฟมาจากไหนก็จำไม่ได้เสียแล้ว ไม่แน่ใจว่าข้อมูลครบถ้วนหรือไม่ แต่พอเห็นภาพได้ครับ

มีแค่ ๓๐ จังหวัดที่(ยัง)ไม่พบชื่อหมู่บ้านที่มาคำว่าบางนำหน้า คือภาคเหนือทั้งหมด คือเหนือสุโขทัยขึ้นไปรวมทั้งจ.ตากด้วย และอีสานทั้งหมด ยกเว้น หนองบัวลำภู, มุกดาหาร และหนองคาย

โดยหนองคายพบชื่อบ้านบางกอกน้อย ยังสงสัยว่าไม่ได้ตั้งตามภูมิประเทศ แต่ตั้งตามชื่อบางกอกหรือเปล่า

นอกนั้นพบชื่อบาง... ทุกจังหวัดครับ

ตีความว่าอย่างไรดี
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 20 ก.ย. 07, 21:34

ภาคใต้ มีชื่อ"บาง"  มากไหมคะ

คุณอาชาเช็คได้ไหมว่า  ชื่อ"บาง" ในจังหวัดไกลๆกรุงเทพ  ตั้งชื่อในสมัยรัตนโกสินทร์หรือเปล่า  ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ลงมาถึงปัจจุบัน
เพราะการปกครองในระบบเทศาภิบาล  อาจทำให้มีการตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่  ด้วยภาษาของราชการ ซึ่งเป็นภาษาภาคกลางได้

นี่ข้อสันนิษฐานล้วนๆนะคะ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 20 ก.ย. 07, 22:48

ภาคใต้มีบางเยอะมากครับ ไม่ต่างจากพื้นที่ภาคกลางเลย

จังหวัดที่มีน้อยหน่อยก็มี
สตูล เจอบ้านปากบาง ชื่อเดียว แต่บางอะไรไม่ทราบ
ยะลา มีบ้านบางลาง เจอชื่อเดียวเหมือนกันครับ แต่ปัตตานี นราธิวาสนี่บางพรึ่บพรั่บเยอะแยะเลยครับ

ดูพื้นที่ที่มีบางปรากฏ เห็นชัดเลยว่าคือพื้นที่ในการปกครองของอาณาจักรอยุธยา แต่โดยทั่วไปชื่อชุมชนแบบนี้ไม่ใช่การกำหนดจากส่วนกลางหรอกครับ ต้องเป็นคนในพื้นที่ตั้งกันเอง เรียกกันเอง

เป็นโจทย์ที่น่าสนใจครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.089 วินาที กับ 19 คำสั่ง