เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
อ่าน: 37361 อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 09 ต.ค. 07, 05:19

ตามที่คุณ Up โพสต์ไว้ว่า
อ้างถึง
เคยอ่านในจดหมายเหตุการเสด็จพระราชดำเนินนิวัตประเทศไทยของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร โดยวิถีรอบพิภพ ซึ่งพระยาศรีวรวงศ์ (หม่อมราชวงศ์จิตร สุทัศน์) เรียบเรียง จำได้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เคยเสด็จฯ ไปทรงปลูกต้นไม้ไว้ที่วัดพุทธในญี่ปุ่นวัดหนึ่ง ผมจำชื่อไม่ได้แล้วว่าวัดอะไร เมื่อเร็วๆ นี้ยังเห็นภาพในอินเทอร์เนตว่าต้นไม้ต้นนั้นยังอยู่ดี มีป้ายปักบอกประวัติไว้ด้วย แต่ตอนนี้หาภาพนั้นไม่เจอเสียแล้ว หากคุณ KoKoKo พอจะสืบหาและถ่ายภาพมาให้ชมได้บ้าง ก็จะเป็นพระเดชพระคุณมาก

วันจันทร์ที่ผ่านมาเป็นวันหยุด ตั้งใจไว้เป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะไปตามรอยวัดที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เคยเสด็จฯ ไปทรงปลูกต้นไม้ไว้ โดยหากอ้างอิงจาก เวปไซต์สถาณฑูตไทย

"修好条約成立から120年の間、タイ王室と日本皇室は常に交流を続けてきました。ラーマ6世、7世、そして現ラーマ9世のプミポン・アドゥンヤデート国王陛下はそれぞれ1902年、1931年、1963年に日本を御訪問されています。ラーマ6世、7世は鎌倉市の高徳院に植樹をなされました。"

จากข้อความนี้ก็คงเป็นวัด高徳院(โคโทะคุอิน) ณ 鎌倉(คามะกุระ) ที่ประดิษฐานหลวงพ่อโตอันมีชื่อเสียงของญี่ปุ่น สถานที่ที่ ร.๖, ร.๗ ท่านได้ทรงปลูกต้นไม้ (植樹) เอาไว้

ตั้งใจอย่างเต็มที่ว่าจะไป เพราะอยู่ไม่ไกลจากโตเกียว (เพราะว่าใกล้เลยยังไม่ได้ไป แฮ่ะๆ) แต่ปรากฎว่าเจอฝนหน้าใบไม้ร่วงเข้าหน่อยเลยจอด ขอไปวันหลังดีกว่าคับ

บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 09 ต.ค. 07, 05:34

อ่านข่าวสถานฑูตไปเพลินๆ ก็เลยเจอข่าวนี้น่ะคับ ไม่ใหม่เท่าไร แต่ผมคิดว่าน่าจะตอบคำถามกระทู้นี้ได้ดี เลยหยิบมาใส่ไว้เผื่อใครมีหนังสือที่อาจารย์ท่านเขียนเอาไว้ ขอความกรุณาหยิบมาแบ่งปันกันบ้างน่ะครับ



กึ่งศตวรรษบนเส้นทางไทยศึกษา ของศาสตราจารย์โยะเนะโอะ อิชิอิ  
   


       ในแวดวงวิชาการไทยศึกษาในประเทศญี่ปุ่น ศาสตราจารย์โยะเนะโอะ อิชิอิ นับได้ว่าเป็นปรมาจารย์ที่ได้ทำคุณประโยชน์นานัปการในการส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศไทยในสังคมญี่ปุ่น และต่อความสัมพันธ์ไทย - ญี่ปุ่นในภาพรวม
       ศาสตราจารย์อิชิอิได้เข้ารับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2550 รวมทั้งคณะอักษรศาสตร์ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ศาสตราจารย์อิชิอิกับกึ่งศตวรรษบนเส้นทางไทยศึกษา" โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการได้เข้าร่วมฟังการอภิปรายและปาฐกถาเกียรติยศในโอกาสดังกล่าว

       พร้อมกับเมื่อเร็วๆนี้ได้มีการแปลหนังสืออัตชีวประวัติ "กึ่งศตวรรษบนเส้นทางไทยศึกษา" ซึ่งเขียนโดยศาสตราจารย์โยเนโอะ อิชิอิ ซึ่งเป็นหนังสือที่มีคุณค่าน่าศึกษาสำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย - ญี่ปุ่น

       สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและสัมภาษณ์ ศ. อิชิอิ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2550 เกี่ยวกับชีวิตและผลงานที่น่าสนใจของ ศ. อิชิอิ

       ศ. อิชิอิเริ่มเรียนภาษาไทยเมื่อสมัยเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยโตเกียวภาษาต่างประเทศ เนื่องจากได้รับคำแนะนำว่าถ้าจะศึกษาภาษาในประเทศเอเชีย ก็ควรเลือกภาษาที่ยังไม่ค่อยมีผู้ศึกษาน่าจะเป็นประโยชน์กว่า จึงตัดสินใจเลือกเรียนภาษาไทย เพราะภาษาไทยมีตัวอักษรเป็นของตัวเอง ซึ่งน่าสนใจกว่าภาษาที่ใช้อักษรโรมัน และโดยที่ ศ.อิชิอิสนใจที่จะฟังภาษาไทยจากคนไทยแท้ๆ จึงได้ตัดสินใจเดินทางไปที่เมืองไทยในฐานะข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเมื่อปีพ.ศ.2500

       ก่อนจะเดินทางไปเมืองไทย ศ. อิชิอิทราบแต่เพียงว่าเมืองไทยอากาศร้อนมาก และไม่ได้สนใจเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับเมืองไทยเลย เพราะมัวแต่ตื่นเต้นที่จะได้สัมผัสกับภาษาไทยจริงๆ นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้วที่ ศ. อิชิอิได้ศึกษาเกี่ยวกับภาษาไทยและประเทศไทย

       ผลงานของ ศ. อิชิอิในด้านไทยศึกษานั้นเป็นที่ยอมรับในวงกว้างทั้งจากนักวิชาการชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยมีผลงานวิจัยที่โดดเด่น อาทิ ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์กับรัฐและสังคมไทย และบทบาททางประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ไทย ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษา "กฎหมายตราสามดวง" และอุปกรณ์ช่วยการค้นคว้า/ดัชนีค้นคำ วัฒนธรรมและนิเวศวิทยาของสังคมเพาะปลูกข้าวของไทย ประวัติศาสตร์การค้าทางทะเลระหว่างญี่ปุ่นกับไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 22-23 (สมัยอยุธยา) และผลงานร่วมกับ อ. โยชิกาวะ โทชิฮารุ ในการเขียนหนังสือ 600 ปีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย - ญี่ปุ่น

       ศ. อิชิอิกล่าวว่าขณะนี้ กำลังมีความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องของรัชกาลที่ 4 กับบาทหลวงคาทอลิก และในอนาคตอยากจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมไปถึงหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยขึ้นมาอีกด้วย

       ศ. อิชิอิมีความเห็นว่าประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นมาโดยราชการนั้นอาจจะไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงก็ได้ จึงเกิดความคิดที่อยากเขียนหนังสือประวัติศาสตร์ไทยในอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งอาจจะแตกต่างจากประวัติศาสตร์ที่คนไทยได้เคยเรียนมา

       และปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 120 ปี ความสัมพันธ์การทูตไทย - ญี่ปุ่น ศ. อิชิอิได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นว่า ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนาน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ในปัจจุบันดูเหมือนว่าทุกคนจะเน้นให้ความสำคัญในด้านเศรษฐกิจและการเมืองมากเกินไป โดยอาจลืมใส่ใจในด้านการแลกเปลี่ยนความรู้หรือด้านวัฒนธรรม

       ศ. อิชิอิได้ให้ข้อคิดว่าการรักษาความสัมพันธ์ไทย - ญี่ปุ่นให้ดีต่อไป ทั้งสองประเทศจะต้องมีความสัมพันธ์กันในฐานะมิตรประเทศที่มีความเท่าเทียมกัน ไม่ก้าวก่ายกิจการภายในซึ่งกันและกัน ขณะที่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือและช่วยเหลือเมื่ออีกฝ่ายต้องการ นี่คือกุญแจสำคัญที่จะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ยั่งยืนต่อไป

       ศ. อิชิอิเป็นผู้ที่มีความผูกพันกับเมืองไทยมาเป็นเวลากว่ากึ่งศตวรรษ และเห็นความเปลี่ยนแปลงของไทยมาโดยตลอด ทุกคนมักพูดว่าปัจจุบันเมืองไทยเจริญขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แต่นั่นเป็นการเติบโตที่รวดเร็วเกินไปและเป็นเพียงความเจริญทางวัตถุ หรือเป็นเพียงการเลียนแบบต่างชาติ

       ศ. อิชิอิกลับเห็นว่าเมืองไทยสมัยก่อนนั้นมีเสน่ห์และมีบรรยากาศของความเป็นไทยมากกว่าปัจจุบัน และเป็นเมืองไทยที่คิดถึงและอยากย้อนเวลากลับไป ทุกครั้งที่ ศ. อิชิอิเดินทางไปเมืองไทย สถานที่ที่จะต้องแวะไปก็คือบ้านพักที่เคยอาศัยอยู่ในย่านสามเสน ที่บ้านหลังนั้นคงเต็มไปด้วยความทรงจำที่ดีๆ ระหว่างที่อาศัยอยู่ที่นั่น และทำให้รู้สึกเหมือนได้กลับไปยังเมืองไทยในอดีตอีกครั้งหนึ่ง

       นอกจากในปีนี้จะเป็นปีฉลองครบรอบ 120 ปี ความสัมพันธ์การทูตไทย - ญี่ปุ่นแล้ว ยังเป็นปีที่ ศ. อิชิอิได้รับพระราชทานปริญญาบัตรอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งคงเป็นกรณีที่มิได้เกิดขึ้นบ่อยนักสำหรับหรับชาวต่างชาติ นี่คงเป็นผลมาจากการทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับการศึกษาค้นคว้าด้านไทยศึกษาได้เป็นอย่างดี ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างสูงกับ ศ. อิชิอิมา ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง


อ้างอิงเวปไซต์ http://www.thaiembassy.jp/120jt/content/view/64/1/lang,th/



 
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 09 ต.ค. 07, 14:05

แล้วจะรอภาพและเรื่องจากวัดหลวงพ่อไดบุทสึนะครับคุณโคฯ หวังว่าต้นไม้สองสามต้นนั้นจะยังอยู่ดี
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 13 ต.ค. 07, 12:26

เรื่องปัญหาเศรษฐกิจในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแทรกอยู่ตรงนี้  ถ้าไม่แวะเวียนมาดูก็คงผ่านเลยโดยไม่ได้ชี้แจง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มักจะทรงถูกกล่าวหาว่า ไม่ทรงสนใจบริหารราชการบ้านเมือง  ดีแต่ทรงเล่นโขนเล่นละคร  คำกล่าวนี้มาจากที่ไหนในเวลานี้พอจะหาที่มาได้  แต่ขออนุญาตไม่กล่าวถึงเพราะเป็นเพียงข้อสันนิษฐานส่วนตัวโดยอาศัยพื้นฐานจากการอ่านเอกสารหลายๆ ฉบับ

เหตุที่มีคำกล่าวเช้นว่านั้น  คงจะเป็นข้อเปรียบเทียบจากพระราชานุกิจในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งหากศึกษาพระราชจริยาวัตรในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ จะเห็นว่า ทรงบริหารราชการแผ่นดินในลักษณะที่สมัยนี้เรียกกันว่า "แบบเถ้าแก่"  เหตุที่ต้องทรงควบคุมราชการน้อยใหญ่ด้วยพระองค์เองนั้นเพราะในรัชสมัยนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบเก่ามาสู่ระบบใหม่  ในขณะท่ข้าราชการทั้งหมดล้วน้ป็นคนรุ่นเก่าที่ชำนาญแต่ราชการแบบเก่า  เมื่อทรงปฏิรูปการปกคอง พ.ศ. ๒๔๓๕ นั้น  คงมีแต่พระเจ้าน้องยาเธอที่มีโอกาสได้เล่าเรียนมาพอที่จะทำราชการแบบใหม่ได้  ก็ทรงใช้พระเจ้าน้องยาเธอให้ดำรงตำแหน่งบริหารในราชการสมัยใหม่  แต่ต้องทรงควบคุมการปฏิบัติราชการด้วยพระองค์เอง  เพราะยากที่จะหาคนที่รู้งานได้อย่างแท้จริง  แต่พอถึงปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้ายาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ และนักเรียนไทยที่ทรงส่งออกไปศึกษาที่ต่างประเทศเริ่มกลับเข้ามารับราชการ  ในช่วงนี้จึงเริ่มทรงผ่อนงานราชการต่างๆ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ คือ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงรับไปปฏิบัติแทนพระองค์

เมื่อถึงรัชสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖  บรรดาผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศนั้นได้เจริญก้าวหน้าในราชการถึงเป็นเสนาบดี  มีความชำนาญในราชการกันเป็นอย่างดี  ในรัชกาลนี้จึงทรงบริหารราชการอย่างฝรั่ง  กล่าวคือ ทรงมอบหมายให้เสนาบดีแต่ละกระทรวงรับพระบรมราโชบายไปปฏิบัติให้บรรลุผล  สาวนพระองค์เงนั้นทรงกำกับแต่นโยบาย  ถ้าเสนาบดีไม่สามารถสนองพระบรมราโชบายได้ก็ทรงเปลี่ยนตัวเสนาบดี  เมื่อทรงคุมแต่นโยบายจึงทรงมีเวลาว่างที่จะไปทรงเล่นโขนละคร  ซึ่งการเล่นโขนละครนั้นนอกจากจะเป็นการทนุบำรุงศิลปะแขนงนี้มิให้เสื่อมสูญไปเพราะการหลั่งไหลของอารยธรรมตะวันตกแล้ว  ยังทรงใช้โขนละครนี้เป็นเครื่องสอนพสกนิกรของพระองค์ไปในตัว  ดังเช่น ในละครเรื่องหัวใจนักรบ  ก็ทรงแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของเสือป่า  และในพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ทรงกล่าวถึงว่า ข้าศึกกำลังจะยกมา "ซ่องฮอย"  ความหมายของคำนี้ คือ ซ่อง = ไซ่ง่อน  ฮอย = ฮานอย

ในด้านเศรษฐกิจที่มีการกล่าวโจมตีโดยอ้างอิงคำพูดของนายวิลเลียมสัน ที่ปรึกษาการคลังในเวลานั้นว่า รัชกาลที่ ๖ สวรรคตเสียได้ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากความล่มจม  เมื่อที่ปรึกษาการคลังซึ่งประสบปัญหาจากการทำงานที่อินเดียจนต้องหลบมาอยู่ที่ประเทศไทยกล่าวอ้างไว้เช่นนี้  คนไทยเราก็เชื่อฝรั่งโดยไม่ลืมหูลืมตา

เรื่องเศรษฐกิจนี้ผมเคยพบลายพระราชหัตถ์ฉบับหนึ่งที่พระราชทานไปยังสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีมหาดไทย  และเสนาบดีทุกกระทรวง เมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ให้เสนาบดีเจ้ากระทรวงทุกกระทรวงตรวจตัดรายจ่ายที่ซ้ำซ้อนของแต่ละกระทรวง  แล้วนำเงินที่ตรวจตัดได้นั้นมาใช้เป็นงบลงทุน  ทรงพระราชดำริว่า ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าได้ต้องมีการลงทุน จากนั้นก็โปรดให้ตั้งบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย  เป็นอุตสาหกรรมแรกของคนไทย  แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้ทรงถูกโจมตีมากนั้นมาจากน้ำท่วมใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ที่เรียกว่า "น้ำท่วมปีมะเส็ง"  ต่อด้วยฝนแล้งติดต่อกันสามปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๑ - ๖๓  ทำให้ต้องจำกัดการส่งออกข้าว  ประกอบกับการเลิกหวย ก ข. ที่ทำให้ขาดรายได้จากอากรการพนันไปอีกหลายล้านบาท  จึงมีพระราชดำริที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของชาติครั้งใหญ่  โปรดให้กู้เงินมาวางระบบชลประทานลุ่มเจ้าพระยา  มีการขุดคลองส่งน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาสู่แม่น้ำป่าสัก  มีการสร้างเขื่อนพระราม ๖ เป็นเขื่อนทดและส่งน้ำเข้าสู่คลองซอย คือ คลองรังสิตหลายสิบคลองที่ขุดขึ้นในยุคนั้น

การลงทุนด้านชลประทานดังกล่าวต้องใช้เงินจำนวนมาก  ในขณะที่รัฐบาลเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าหมาย  จึงต้องทรงกู้เงินจากต่างประเทศมาปิดงบประมาณ  ทำให้เกิดการทำงบประมาณขาดดุล  แต่เวลานั้นทั่วโลกยังไม่ใครรู้จักงบประมาณขาดดุล  จนเกิดวิกฤตการณ์เงินปอนด์ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ จึงเกิดมีนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาค  และนำเสนอวิธีการงบประมาณขาดดุลขึ้น  ทีนี้ทุกประเทศก็ทำงบประมาณขาดดุลไปตามๆ กัน  แต่ในหลวงของเรากลับถูกโจมตีว่า ทรงพาประเทศชาติไปสู่ความหายนะ 

เรื่องการทรงกู้ยืมเงินมาลงทุนนี้  ท่านที่สนใจโปรดอ่านวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ของอาจารย์พรพรรณ  ฮั่นตระกูล  ซึ่งในวิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าว อาจารย์พรพรรณ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทรงแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณจนเหลือหนี้เงินกู้จากต่างประเทศเพียง ๓ ล้านบาท  ซึ่งหากสวรรคตช้ากว่านั้นอีกเพียง ๑ - ๒ ปี  ก็คงจะชำระหนี้เงินกู้จำนวนนั้นได้ทั้งหมด  เพราะทรงพระราชดำริที่จะจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ หรืองาน Expo ครั้งแรกของภาคพื้นเอเซียเพื่อส่งเสริมการส่งออกอันจะนำรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาลไว้แล้ว

หลายๆ ท่านกล่าวถึงงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ไว้  ก็ขออนุญาตขยายความเพิ่มเติมตามความเข้าใจของผม

สืบเนื่องจากการที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงประกาศสงครามกับเยอรมนีและอสเตรีย-ฮังการี  เมื่อวันที่  ๒๒  กรกฎาคม  ๒๔๖๐  พอครบหนึ่งปีที่ประกาศสงครามก็ทรงเปิดให้จับจองพื้นที่ "ดุสิตธานี" ที่พระราชวังดุสิต  เมื่อวันที่ ๒๑ - ๒๕  กรกฎาคม  ๒๔๖๑  แล้วจึงโปรดให้ตั้งดุสิตธานีขึ้นที่พระราชวังดุสิต

แนวพระราชดำริที่ทรงตั้งดุสิตธานีนี้  เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ทรงเตรียมการที่จะพระราชทานประชาธิปไตยแก่ปวงชนชาวไทย  และการที่ทรงเลือกช่วงเวลานี้น่าจะทรงพระราชดำริไปว่า ถ้าสงครามสงบลงแล้วโดยประเทศสยามเป็นฝ่ายชนะแล้ว  ก็จะทรงใช้ผลของสงครามครั้งนี้ในการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  และเรื่องการปกรองในระบอบประชาธิปไตยก็คงจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องถูกหยิบยกขึ้นเป็นข้อต่อรองควบคู่ไปกับการตราประมวลกฎหมาย  แต่โดยพระราชจริยวัตรของล้นเกล้าฯ นั้น  เมื่อจะทรงลงทุนทำอะไร  จะต้องทรงได้รับผลตอบแทนที่คุ้มต่า  ดุสิตธานีจึงกำเนิดขึ้นในรูปแบบสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย

เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่  ๒๐  ตุลาคม  ๒๔๖๒ แล้ว  ก็โปรดให้รื้อย้ายพระตำหนักสมเด็จพระพันปีหลวงไปปลูกสร้างเป็นหอเรียนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง  พร้อมกันนั้นก็โปรดให้ย้ายดุสิตธานีจากพระราชวังดุสิตมาอยู่ที่พื้นที่ด้านหลังพระตำหนักสมเด็จพระพันปีหลวงที่พญาไท  และโปรดให้สร้างพระราชวังพญาไทขึ้นแทนที่พระตำหนักที่โปรดให้รื้อย้ายไป  ในขณะเดียวกันก็โปรดให้กรมรถไฟหลวงจัดสร้างโรงแรมรถไฟขึ้นที่หัวหิน  เมืองตากอากาศแห่งแรกของประเทศไทย  การก่อสร้างพระราชวังพญาไท และโรงแรมรถไฟแล้วเสร็จพร้อมกันในปี พ.ศ. ๒๔๖๕  พระราชวังพญาไทคงเป็นที่ประทับเกือบจะถาวร  ส่วนโรงแรมรถไฟนั้นโปรดให้กรมรถไฟหลวงบริหารงาน  โดยมีคุณหญิงเดชานุชิต (เบอร์ธา  บุนนาค) เป็นแม่บ้านใหญ่  กรมรถไฟหลวงบริหารงานโรงแรมรถไฟประสบความสำเร็จได้รับความนิยมจากชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นอย่างมาก

ถึงเดือนกันยายน ๒๔๖๘ มีพระราชกระแสให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง เฝ้าฯ ที่พระราชวังพญาไท มีพระบรมราชโองการให้กรมรถไฟหลวงไปศึกษาว่า หากจะพระราชทานพระราชวังพญาไทเป็นโฮเต็ลหรือโรงแรมแล้ว  จะสามารถบริหารงานให้คุ้มกับค่าใช้จ่ายได้หรือไม่  ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงได้กราบบังคมทูลขอเวลาคำนวณ ๑ เดือน  แต่ใช้เวลาจริงถึง ๒ เดือน  เมื่อคำนวณเสร็จยังไม่ทันนำความกราบบังคมทูลก็พอดีประชวรและเสด็จสวรรคตเสียก่อน  ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดให้กรมรถไฟหลวงเข้าบริหารพระราชวังพญาไทเป็นโฮเต็ลพญาไทตามแนวพระชดำริในสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช

ทีนี้ขอย้อนมากล่าวถึงรูปแบบของพระราชวังพญาไทและโรงแรมรถไฟ  จากการศึกษารูปแบบการวางผังห้องต่างๆ ในพระราชวังพญาไท  รวมทั้งเรือนพักข้าราชบริพารในพระราชวังพญาไทแล้ว พบว่า มีการจัดวางรูปแบบเป็นรัสอร์ทเช่นเดียวกับโรงแรมรถไฟ  จึงชวนให้เชื่อว่า ทรงมีพระราชดำริที่จะจัดงานสยามรัฐพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ครบรอบหนึ่งปีของการประกาศสงครามในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ แล้ว  แต่การที่จะจัดงานขนาดใหญ่เช่นนั้นต้องใช้เวลาเตรียมการและเตรียมความพร้อมจึงทรงดำเนินการเป็นลำดับขั้น  เมื่อทุกอย่างพร้อมจึงทรงประกาศที่จะจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ที่สวนลุมพินี  มีกำหนดจัดงานราว ๑๐๐ วัน  เริ่มจากวันพระบรมราชสมภพ ๑  มกราคม  ๒๔๖๘  ไปจนถึงวันขึ้นปีใหม่ ๑  เมษายนต่อท้ายด้วยงานสงกรานต์

ในการเตรียมงานสยามรัฐพิพิฑภัณฑ์ครั้งนั้น  จะเห็นได้ว่า เริ่มจากทรงสร้างเมืองจำลองดุสิตธานีแล้ว  ทรงสร้างพระราชวังพญาไทเพื่อเตรียมเป็นโฮเต็ลไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศสยาม  เพื่อมาเที่ยวชมงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์และจะตามเข้ามาขายในโอกาสต่อไป  การที่ชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาเมืองไทยก็จะต้องมาพักอย่างน้อย ๑ สัปดาห์ก็ทรงเตรียมดุสิตธานีซึ่งเป็นของแปลกยังไม่เคยมีที่ไหนในโลกไว้ให้ชม  ในขณะเดียวกันก็ทรงเตรียมโรงแรมรถไฟไว้ให้พักผ่อนตากอากาศ  แต่ก่อนที่จะพระราชทานพระราชวังพญาไทซึ่งสร้างด้วยเงินส่วนพระองค์ไปเป็นโฮเต็ลก็ทรงให้กรมรถไฟหลวงไปทดลองบริหารโรงแรมรถไฟให้เกิดความชำนาญเสียก่อน  เมื่อมาบริหารโฮเต็ลพญาไทจะได้ไม่เกิดการขาดทุนอันจะกระทบต่อเงินแผ่นดิน  พร้อมกันนั้นก็พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์จัดเป็นสวนลุมพินีสำหรับเป็นสถานที่จัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์  เสร็จงานนั้นแล้วก็ทรงตั้งพระราชหฤทียที่จะพระราชทานสวนลุมพินีให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับพระนคร  และเป็นพระบรมราชานุสรณ์สำหรับพระองค์สืบไปชั่วกาลนาน 

เรื่องสถานที่ตั้งสวนลุมพินีนี้ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นแนวพระราชดำริที่ทรงแฝงเร้นไว้  กล่าวคือ  ถ้าเราไปยืนที่ริมถนนพระรามที่ ๔  หันหน้าเข้าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (ซึ่งทรงชักชวนพระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๕ สร้างขึ้น) แล้ว  ทางซ้ายมือคือ สถานเสาวภา ซึ่งทรงสร้างถวายเป็นพระราชินยานุสาวรีย์ในสมเด็จพระพันปีหลวง  และสวนลุมพินี ที่เป็นพระบรมราชานุสรณ์ในพระองค์แล้ว  จะเห็นภาพพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งความรักของทั้งสามพระองค์ คือล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕  สมเด็จพระพันปีหลวง และล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖  ทั้งหมดนี้มิได้ใช้เงินแผ่นดินเลยแม้แต่บาทเดียว  และถ้ามองอีกมุม  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นสถานที่รักษาผู้ป่วยเจ็บ  ที่มีสถานเสาวภาเป็นสถาบันวิจัยทางการแพทย์ที่สนับสนุนงานของโรงพยาบาล  ในขณะเดียวกันคนไข้ก็ได้รับอากาศบริสุทธิ์จากสวนลุมพินี  นอกจากนั้นยังเกี่ยวโยงไปถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่โปรดพระราชที่ดินส่วนพระองค์ในบริเวณที่ติดกันไว้อีกเกือบ ๑,๔๐๐ ไร่  ทำให้พื้นที่แถบนี้เป็นเมืองมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์พร้อมทั้งบ้านเรือนราษฎร  วัดสระปทุม  และโรงพยาบาลพร้อมสรรพ

ที่บรรยายมานี้คือแนวพระราชดำริในการบริหารราชการแผ่นดินในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกร  โดยไม่เคยทรงประกาศให้สาธารณชนได้ทราบ  ต่างจากนักฉวยโอกาสสมัยนี้ที่เงินก็เงินแผ่นดินแต่เอาชื่อตัวไปติดหรา  ช่างไม่นึกกระดากกันบ้าง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 13 ต.ค. 07, 13:04

ขอต้อนรับคุณ V_Mee อีกครั้งค่ะ ที่แวะกลับมาเยือนเรือนไทย
ขอบคุณสำหรับคำอธิบายค่ะ   น่าสนใจมาก  คุณโคมาอ่านคงจะได้ประโยชน์ไม่น้อยเลยทีเดียว
บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 15 ต.ค. 07, 20:16

ขอบคุณมากนะครับ คุณV_Mee เมื่อพูดถึง"ดุสิตธานี" พูดถึง "สยามรัฐพิพิธภัณฑ์" 
 
1. ทำไมงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ถึงไม่ทำต่อล่ะครับ

2. งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่งานเดียวกันกับงานแสดงพานิชย์และเกษตรที่คุณ pipat กรุณานำมาโพสต์ไว้ ในเกร็ดบางเรื่องเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 นะครับ  Exhibition of Agricultural & Commerce  "Report of the First and the Second Exhibition of Agricultural & Commerce, Bangkok 1910, 1911"
 
3. สมัยนั้นผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้างครับดุสิตธานี หลังจากนั้นไม่มีกิจกรรมเรียนรู้ประชาธิปไตยต่อเหรอครับ จู่ๆ ประชาธิปไตยก็กลายเป็นประชาธิปไตยของคนจบนอกฯไปซะงั้น ไพร่ฟ้าหน้าใส ตาสีตาสาไม่เห็นเขารับรู้กันซะเท่าไรเลยน่ะครับ แล้วจะเรียกว่าประชาธิปไตยได้หรือไม่ล่ะครับ นั่นหมายความว่าผลของดุสิตธานีใช้ได้ผลเหรอครับ

4. ในดุสิตธานีน่ะครับผมเคยจำๆ มาว่าทรงสร้างดุสิตธานีเพื่อเป็นเมืองจำลองประชาธิปไตย นอกจากนั้นก็ไม่ทราบเลยครับว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ในนั้นทำอะไรกันบ้าง มีกิจกรรมอะไร(เคยเรียนมาว่ามีการเลือกตั้ง: เขาทำกันอย่างไรน่ะครับ) ดุสิตธานีเคยตั้งอยู่ที่ไหน แล้วตอนนี้หายไปไหน ทำไมหายไป


ขอแอบกระซิบบ่นระบบการศึกษา ลังเล
     นักเรียนที่ไม่เกียวข้องกับประวัติศาสตร์ โรงเรียนคงให้คำตอบได้ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น แล้วก็ท่องจำไปเพื่อตอบคำถามวิชาสังคมศึกษา แต่ "เรื่องราว", " ความเป็นมา", และ "ความเป็นไป" ของสิ่งต่างๆ เหล่านั้นนักเรียนไม่ได้ฝึกให้คิดแบบเป็นลำดับขั้นตอนเลย!!!!! จนแม้ปัจจุบัน การนำเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์เอย โทรทัศน์เอย นำเสนอไปแปล๊บๆ ฉาบฉวย แล้วก็หายไป ไม่มีความเป็นมาเป็นไป ให้คนในสังคมประติดประต่อเรื่องราว ตั้งแต่ต้นจนจบ และเห็นวิวัฒนาการกันบ้าง น่าเสียดายนะครับ

วันหยุดวันสำคัญของชาติ ก็ได้ดูรายการเกมส์โชว์ กับคอนเสิร์ตซะ จะทำรายการประวัติศาสตร์ดีๆ น่าสนุก น่าตื่นเต้น ไม่น่าเบื่อเหมือนประวัติวิสาขบูชา มานำเสนอให้เยาวชนดูสักรายการสองรายการ จะมีโอกาสทันเห็นมั๊ยนะครับเนี่ย

เปรียบเที่ยบรายการโทรทัศน์ที่ญี่ปุ่น เหตุการณ์หนึ่งๆ จะมีลำดับเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบ เช่นประวัตินักฟุตบอลคนหนึ่ง มีเรื่องราวตั้งแต่เด็กเล็กๆ มีภาพ มีวิดีทัศน์ ประกอบ จนกระทั่งประสบความสำเร็จ ดูแล้วทึ่งมากๆ
ข่าวๆ หนึ่ง เช่น แม่ฆ่าลูก จะมีลำดับขั้นตอน วิเคราะห์กันละเอียดยิบ และมีตอนต่อไปให้ติดตาม ชาวบ้านชาวช่องที่ไม่มีเวลาไปหาข้อมูลเอง ก็ได้เรียนรู้ จากสื่อสารมวลชน ได้คิดแบบเป็นระบบ เป็นการเรียนรู้แบบหนึ่งมิใช่หรือ

ปล.
   วอนคุณ V_Meeผู้คร่ำหวอดในเรื่องราวของร.๖เหมือนเคยทำงานในแวดวงของท่านก็มิปาน และท่านอื่นๆ โปรดกรุณาให้ทานปัญญาและคลายความสงสัยแก่เยาวชนรุ่นหลัง จะเป็นพระคุณอย่างสูงครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 15 ต.ค. 07, 20:29

อ่านเรื่องย่อๆเกี่ยวกับดุสิตธานีได้ที่นี่ ค่ะ

http://www.vcharkarn.com/reurnthai/dusit_thanii.php

มีบทความให้อ่านอีกหลายเรื่อง ลองคลิกหัวข้อทางซ้ายมือ
บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 15 ต.ค. 07, 20:46

ขอบคุณมากนะครับ คุณเทาชมพู สนุกดีนะครับ

ป.ล.
ถ้าของเล่นพวกคาราโอเกะ แต่งกลอน นิยาย เล่นได้ ผมขอลองด้วยคนคร๊าบ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 17 ต.ค. 07, 23:29

ขอตอบเรียงที่ละประเด็นนะครับ

1. ทำไมงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ถึงไม่ทำต่อล่ะครับ
    เพราะเหตุว่า เป็นงานที่จัดขึ้นวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติเสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพบรมมหาอัยยิกาธิราช (ปู่ทวด)  แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อน


2. งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่งานเดียวกันกับงานแสดงพานิชย์และเกษตรที่คุณ pipat กรุณานำมาโพสต์ไว้ ในเกร็ดบางเรื่องเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 นะครับ  Exhibition of Agricultural & Commerce  "Report of the First and the Second Exhibition of Agricultural & Commerce, Bangkok 1910, 1911"
    งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า The Kingdom of Siam Exhibition โดยความหมาย คือ งานแสดงสินค้านานาชาติ  ที่มุ่งเน้นการส่งออกและส่งเสนิมการท่องเที่ยวประเทศสยาม  แต่งานแสดงพานิชย์และเกษตรที่คุณ pipat กรุณานำมาโพสต์ไว้ ในเกร็ดบางเรื่องเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 ที่ใช้ชื่อว่า  Exhibition of Agricultural & Commerce ซึ่งจัดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ - ๕๔ นั้นเป็นการส่งเสริมกิจการพาณิชยกรรมและกสิกรรมภายในประเทศ  เป็นงานที่มีจุดมุ่งหมายต่างกัน

3. สมัยนั้นผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้างครับดุสิตธานี หลังจากนั้นไม่มีกิจกรรมเรียนรู้ประชาธิปไตยต่อเหรอครับ จู่ๆ ประชาธิปไตยก็กลายเป็นประชาธิปไตยของคนจบนอกฯไปซะงั้น ไพร่ฟ้าหน้าใส ตาสีตาสาไม่เห็นเขารับรู้กันซะเท่าไรเลยน่ะครับ แล้วจะเรียกว่าประชาธิปไตยได้หรือไม่ล่ะครับ นั่นหมายความว่าผลของดุสิตธานีใช้ได้ผลเหรอครับ
    เรื่องการทดลองประชาธิปไตยในดุสิตธานีนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ ทรงพระราชวิจารณ์ว่า คณะผู้การ ร.ศ. ๑๓๐ นั้น เพียงแต่รู้เรื่องคอนสติวตูชั้นกันอย่างงูๆ ปลาๆ ก็จะมาคิดอ่านเปลี่ยนแปลงการปกครอง  และเพราะเห็นพวกเก๊กเหฒ็ง (พรรคก๊กมินตั๋ง) สามารถล้มระบอบกษัตริย์ในประเทศจีนได้แล้ว  ก็คิดว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นจะนำมาใช้กับเมืองไทยได้  ทั้งที่สาเหตุการโค่นล้มระบอบกษัตริย์ในจีนนั้นเกิดจากปัญหาที่สุกงอมจนราษฎรไม่สามารถที่จะทนอยู้กับระบอบกษัตริย์ที่ไม่ยึดมั่นในทศพิธราชธรรมอีกต่อไป  ด้วยเหตุนี้จึงได้ทรงพระชวิจารณ์เรื่องระบอบการปกครองไว้ในสมุดจดหมายเหคุรายวันส่วนพระองค์ว่า  ระบอบบอลเชวิค (ตอมมิวนิสต์) นั้นเป็นเรื่องเพ่อฝันที่ไม่อาจเป็นไปได้จริง  ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างตกเป็นของรัฐแล้ว  ย่อมไม่เกิดแรงจ฿งใจให้เกิดการผลิต  และจะพาให้ระบบนี้ต้องล่มสลายโดยตัวเอง  ซึ่งเวลานี้ก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นดังพระราชวิจารณ์  ส่วนระบอบประชาธิปไตยนั้นทรงพระราชวิจารณ์ว่า ถ้าคนมีเงินหรือมีอิทธิพล  แล้วใช้อำนาจเงินหรืออิทธิพลที่มีอยู่โน้มน้าวผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนให้เลือกพวกตนเข้าไปในสภา  ก็เท่ากับมอบอำนาจของปวงชนนั้นให้แก่ผู้มีเงินหรือมีอิทธิพลนั้น  เมื่อได้อำนาจบริหารประเทศแล้ว  คนเหล่านั้นย่อมคิดถึงแต่เงินหรืออิทธิพลที่ได้ลงทุนไป  จึงมักจะคิดถึงประโยชน์ของกลุ่มตนก่อนประโยชน์ของประเทศชาติ  สุดท้ายผู้ที่รับกรรมคือ ประชาชนผู้ที่เลือกคนเหล่านั้นเข้าไป  สำหรับประเทศไทยทรงพระราชดำริว่า ระบอบที่เหมาะสมที่สุด คือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  และมีทศพิธราชธรรมเป็นเครื่องกำกับการใช้พระราชอำนาจ  ยามใดที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม  ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน  ประชาชนก็จะพร้อมกันถอดพระมหากษัตริญ์พระองค์นั้น  แล้วเชิญบุคคลที่เหมาะสมขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ดังมีความปรากฏในพระราชพงศาวดารแต่ก่อนมา
    ถึงแม้จะมีพระราชวิจารณ์ดังว่า  แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงตระหนักดีว่า  ถึงวันหนึ่งประเทศไทยจะต้องเป็นประชาธิปไตย  ดังจะเห็นได้ว่า ได้ทร.สึกษาเรื่องประชาธิปไตยมาตั้งอต่ประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ  ทรงจัดตั้ง The New Republic ขึ้นกับพระสหายชาวอเมริกัน  เมื่อเสด็จฯ กลับเมืองไทยก็ทรงเล่น "เมืองมัง" ที่พระตำหนักจิตรลดา  ครั้นเสด็จขึ้นครองราชย์ฯ แล้วก็ทรงเล่น "เมืองทราย" ที่ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ  จนมาเกิดเป็นเมืองจำลองดุสิตธานี  ท่านผู้นใจเรื่องนี้ขอได้โปรดหาหนังสือเรื่อง ประชาธิปตยแบบต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ของหม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล มาอ่าน  จะทราบแนวพระราชดำริที่พัฒนามาตั้งแต่ประทับทรงศึกษาที่อังกฤษตราบจนเสด็จสวรรคต
     
4. ในดุสิตธานีน่ะครับผมเคยจำๆ มาว่าทรงสร้างดุสิตธานีเพื่อเป็นเมืองจำลองประชาธิปไตย นอกจากนั้นก็ไม่ทราบเลยครับว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ในนั้นทำอะไรกันบ้าง มีกิจกรรมอะไร(เคยเรียนมาว่ามีการเลือกตั้ง: เขาทำกันอย่างไรน่ะครับ) ดุสิตธานีเคยตั้งอยู่ที่ไหน แล้วตอนนี้หายไปไหน ทำไมหายไป
    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงสร้างดุสิตธานีเป็นเมืองจำลอง  ประกอบไปด้วยอาคารขนาดเล็กความสูงประมาณ ๓๐ - ๖๐ เซนติเมตร แต่บางหลังก็สูงกว่านั้น  อาคารบางหลังจำลองมาจากอาคารจริงในอัตราส่วน ๑ : ๒๐ หรือ ๑ : ๒๕  เช่น พระที่นั่งไพชยน์มหาปราสาท จำลองมาจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  พระที่นั่งเทวอาสน์จำรูญ จำลองมาจาก พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ (ปัจจุบันคือ พระที่นั่งบรมพิมาน)  อาคารในดุสิตธานีมีหลากหลายสถาปัตยกรรม  ผู้สนใจเข้าไปชมได้ที่ http://www.krama6.su.ac.th/tour/tour00.htm 
   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพลเมืองคนหนึ่งของดุสิตธานี  ทรงใช้พระนามแฝงว่า "นายราม  ณ กรุงเทพ"  มีอาชีพเป็นทนายความ  และอีกสถานะหนึ่งทรงเป็น "พระรามราชมุนี" เจ้าอาวาสวัดธรรมาธิปไตย  โปรดสังเกตชื่อวัด  ซึ่งทรงเน้นคำว่า "ธรรมาธิปไตย"  หรืออธิปไตยที่มีธรรมเป็นเครื่องกำกับ  เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ สงบลง  พระรามราชมุนีได้แสดงพระธรรมเทศนาปรารภเหตุแห่งธรรมในการบพเพ็ญกุศลให้แก่ทหารที่เสียชีวิตในสงครามครั้งนั้น  และอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีการบำเพ็ญกุศลให้ นายจ่ายวด (ปาณี  ไกรฤกษ์) มหาดเล็กคนหนึ่งที่ประอุบัติเหตุถึงแก่กรรมเมื่ออายุเพียง ๒๑ ปี
    เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งแรกในดุสิตธานี  ทวยนาคร (คือ พลเมือง) ของดุสิตธานีได้พร้อมกันไปเชิญท่านราม  ณ กรุงเทพ ซึ่งเป็นนักเรียนนอก  เคยเห็นฝรั่งลือกตั้งมาเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งคนแรกของดุสิตธานี  ท่านรามได้จัดการเลือกคั้งในดุสิตธานีจนสำเร็จเรียบร้อยไม่มีบัตรผี  ไพ่ไฟ เช่นในยุคต่อมา  ในการเลือกตั้งครั้งที่สองท่านรามมีธุระไม่สามารถมาจัดการเลือกตั้งได้  แต่ได้แนะนำให้ไปเชิญพระยาสุนทรพิพิธ (เชย  มัฆวิบูลย์) จากกระทรวงมหาดไทยมาจัดการเลือกตั้งแทน  การเลือกตั้งก็เป็นไปโดยเรียบร้อย  และท่านรมก็ไม่เคยมาอำนวยการเลือกตั้งอีกเลยจนดุสิตธานียุบเลิกไป 
    การเลือกตั้งในดุสิตธานีมีทั้งแบบทวยนาครเลือกนคราภิบาล (คือ นายกรัฐมนตรี) โดยตรง  และเลือกเชษฐบุรุษ หรือผู้แทนของอำเภอให้ไปเลือกนคราภิบาล  ซึ่งเป็นการเลือกตั้งโดยอ้อมอีกวิธีหนึ่ง  นคราภิบาลคนแรก คือ พระยาอุดมราชภักดี (โถ  สุจริตกุล) ซึ่งเป็นมหาดเล็กผู้ใหญ่  การเลือกตั้งในเวลาต่อมามีการแบ่งเป็นพรรคแพรแถบสีแดง และแพรแถบสีน้ำเงิน  มีการส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันกัน  ดุสิตธานีมีการเลือกตั้งหลายครั้ง  ครั้งสุดท้ายได้นายลิขิตสารสนอง (ชัพน์  บุนนาค) ลูกเสือไทยคนแรก เป็นนคราภิบาลที่มีอายุน้อยที่สุด  และอยู่ในตำแหน่งนานที่สุด  จนถึงแก่กรรมเมื่ออายุกว่า ๘๐ ปี  ข้อสังเกตเรื่องนคราภิบาล คือ โปรดให้ทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อยได้มีโอกาสแสดงความสามารถ  ซึ่งในสถานการณ์จริงผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งก็อาจมีได้ทั้งผู้ใหญ่และผู้ที่อายุยังน้อย 
    ในดุสิตธานีนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสก็จไปในฐานะพระมหากษัตริญเพียง ๒ ครั้ง คือ เมื่อคราวเสด็จไปทรงเปิดศาลารัฐบาลมณฑลดุสิตราชธานี  ซึ่งในครั้งนั้นมีพระราชกระแสว่า วิธีการใดๆ ในธานีเล็กๆ แห่งนี้  ก็หวังใจว่าจะได้นำไปใช้กับประเทศสยามต่อไป  และอักคราวหนึ่ง คือ การเสด็จไปทรงวางพวงมาลาอนุสาวรีย์ทหารอาสาในดุสิตธานีเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ จบลง
    วิธีการปกครองในดุสิตธานีนั้น  มีรูปลักษณะการปกครองท้องถื่น  เน้นเรื่องสุขอนามัยเป็นหลัก  มีการเก็บภาษีและเบี้ยปรับต่างๆ  รวมทั้งมีการออกหนังสือดุสิตสมิตโดยทุนส่วนพระองค์  แต่รายได้จากภาษีและค่าปรับรวมตลอดทั้งค่าเช่าบ้านของพระคลังข้างที่และรายได้จากหนังสือดุสิตสมิตโดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดไ ทั้งสิ้น  ล้วนถูกส่งไปสมทบซื้อเรือหลวงพระร่วงและบำรุงการกุศลสาธารณะ เช่น สภากาชาด เป็นต้น
 
   แต่คำตอบสุดท้ายสำหรับพระราชกรณียกิจต่างในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น  น่าจะจบลงตรงกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอนุชาธิราชร่วมพระอุทร  ซึ่งหม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย  ดิศกุล ทรงบันทึกไว้ในสิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นว่า  "สวรรค์ให้ฉันมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินเพื่อจะล้มล้างสิ่งที่รัชกาลที่ ๖ ทำเอาไว้"  กระแสพระราชดำรัสดังกล่าวเป็นเครื่องพิสูจน์กระแสพระราชดำรัสในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ที่ว่า  "กว่าคนเขาจะรู้ว่า ข้าทำอะไรไว้แก่แผ่นดิน ข้าคงตายไปหลายสิบปีแล้ว" 
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 17 ต.ค. 07, 23:40

 นักเรียนที่ไม่เกียวข้องกับประวัติศาสตร์ โรงเรียนคงให้คำตอบได้ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น แล้วก็ท่องจำไปเพื่อตอบคำถามวิชาสังคมศึกษา แต่ "เรื่องราว", " ความเป็นมา", และ "ความเป็นไป" ของสิ่งต่างๆ เหล่านั้นนักเรียนไม่ได้ฝึกให้คิดแบบเป็นลำดับขั้นตอนเลย!!!!! จนแม้ปัจจุบัน การนำเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์เอย โทรทัศน์เอย นำเสนอไปแปล๊บๆ ฉาบฉวย แล้วก็หายไป ไม่มีความเป็นมาเป็นไป ให้คนในสังคมประติดประต่อเรื่องราว ตั้งแต่ต้นจนจบ และเห็นวิวัฒนาการกันบ้าง น่าเสียดายนะครับ

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความเห็นข้างต้นครับ  ประเด็นเรื่องดุสิตธานีนี้ลูกผมเคยนำไปถกในชั้นเรียนกับครูสอนวิชาสังคมศึกษาสมัยเรียนมัธยมปลาย  ลูกผมเขาหยิบยกประเด็นต่างๆ ที่ผมเคยคุยให้ลูกฟังถึงเรื่องดุสิตธานี  แต่คำตอบที่ได้รับคือ ลูกผมเพ้อฝันไป  เรื่องดุสิตธานีนีนักวิชาการชื่อดังคนหนึ่งเป็นรุ่นพี่ของผมเอง  เคยทำวิจัยไว้ว่า ดุสิตธานีเป็นเพียงของเล่นชิ้นหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  หาได้ทรงมุ่งหวังจะให้เป็นจริง  จากนั้นมาเมื่อ้อ่ยถึงดุสิตธานีก็จะมีการอ้างอิงถึงผลงานวิชาการฉบับนี้มาตลอด  ทั้งที่ในเวลาต่อมานักวิชาการท่านนี้กลับมาส่งเสริมการศคกษาเรื่องดุสิตธานี ว่าเป็นเรื่องการวางรากฐานประชาธิปไตยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ แล้ว  แต่ข้อเขียนของท่านในทางตรงข้ามก็ยังถูกอ้างอิงอยู่เสมอ  ย้อนกลัยมาเรื่องลูกผม  ภายหลังจากที่อภิปรายกับครูผู้สอนแล้ว  สุดท้ายคำตอบที่ครูบอกลูกศิษย์คือ เธอตอบมาอย่างที่เธอเข้าใจก็ได้  แต่ครูไม่มีตะแนนให้เธอ  ลูกมาเล่าให้ผมฟัง  ผมก็เลยฝากไปเรียนอาจารย์ว่า ขอเวลาให้ผมในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปชี้แจงเรื่องนั้ให้ครูและนักเรียนได้ทราบโดยไม่เรียกร้องค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น  คำตอบคือเงียบไปกับสายลม  นี่แหละครับคือปัญหาของระบบการศึกษาไทย  สอนให้จำแต่ไม่สอนให้คิดวิเคราะห์  ถ้าระบบการศึกษาของเรายังเป็นอยู่เช่นนี้อนาคตของชาติไทยเราจะเป็นเช่นไร  คิดแล้วเศร้าจริงๆ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 18 ต.ค. 07, 02:03

ตามลิ้งค์เรื่องดุสิตธานี ที่คุณวีให้ไว้ รู้สึกชื่นชม และขอบพระคุณที่มาแนะนำครับ

แต่เนื่องจากคุณวีเป็นผู้แนะนำ ก็เลยขอบ่นฝากไปยังผู้จัดทำว่า ในหน้า "ประวัติ"
http://www.krama6.su.ac.th/history/history00.htm

เห็นลงไว้แต่พระราชประวัติของพระองค์ ถ้าเช่นนั้น หน้านี้ สมควรเปลี่ยนจ่าหน้า เป็น
"พระราชประวัติ"
จะไม่ถูกต้องกว่าละหรือ
โรงเรียนนี้เพิ่งถูกกล่าวหาว่าออกข้อสอบอุบาทว์ เอ้ย อุตริ
หมิ่นเหม่แก่การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่ด้วย
บันทึกการเข้า
ภูมิ
แขกเรือน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 196


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 18 ต.ค. 07, 05:04

> เอาเข้าจริงก้ไม่กล้าทิ้ง ปกป้องภาคเกษตรของเขาถึงขนาดที่ว่าปิดตลาดไม่ให้ไทยส่งข้าวเข้าไปขายเลยทีเดียว

คนภายนอกอาจดูเป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญ น่าชม ในนโยบายปกป้องเกษตรกร แต่ความเห็นของคนญี่ปุ่นบางคนที่รู้จักเขาให้ไว้ว่า
"ก็แค่เป็นการรักษาฐานเสียงนั้นแหละ "
 ยิ้มเท่ห์

เป็นข้อมูลให้พิจารณาครับ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 18 ต.ค. 07, 06:47

มีกระทู้หนึ่งอยากให้คุณโคฯ และทุกท่านได้อ่าน ถึงจะไม่ได้เกี่ยวกับดุสิตธานีโดยตรง แต่ก็แสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/K3777448/K3777448.html

อีกไม่นาน "ดุสิตธานี" คงจะกลับมาสู่สายตาสาธารณชนอีกครั้ง เพราะมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กำลังดำเนินการจัดนิทรรศการถาวรเรื่องดุสิตธานี: เมืองประชาธิปไตย ใกล้จะแล้วเสร็จ ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ ในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ ได้รวบรวมอาคารเล็กอาคารน้อยไว้พอสมควรตามที่จะหาได้ และมีผู้บริจาคมา อีกที่หนึ่งซึ่งอาจจะพอเป็นรูปเป็นร่างได้ในอนาคต คือที่พระราชวังพญาไท (บริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของดุสิตธานี ก่อนที่จะผุพังและถูกถากไถรื้อถอนไปอย่างน่าเสียดายด้วยฤทธานุภาพของท่านผู้ไม่เห็นคุณค่าบางท่าน ถึงขนาดว่าหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล มหาดเล็กท่านหนึ่งในรัชกาลที่ ๖ มายืนมองแล้วน้ำตาไหลพราก

จนต้องขออนุญาตยืมคำคุณพิพัฒน์จากกระทู้แถวๆ นี้มาปรารภว่า "คนที่กล้าไถอดีตทิ้ง ทั้งที่ตายแล้ว และที่ยังมีชีวิต เพื่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งการงานให้ตนเอง ในความเห็นของผม ก็มีราคาไม่สูงกว่าเดียรัจฉานสักกี่มากน้อย"

พลโทคุณหมอโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ท่านหนึ่งท่านศรัทธาในแนวพระราชดำริและรักดุสิตธานียิ่งนัก และกำลังพยายามจะก่อร่างสร้างเมืองประชาธิปไตยให้กลับมามีชีวิตใหม่ในที่เดิม อาจจะไม่เหมือนเดิมทุกประการ แต่จะพยายามใช้สถานที่ที่มีกลิ่นอายแห่งการฝึกประชาธิปไตยแห่งนี้ ให้เป็นที่เพาะสติปัญญาแก่เยาวชนในทางประชาธิปไตยที่เหมาะสม ให้เด็กๆ จากโรงเรียนต่างๆ เข้ามาลอง "เล่นดุสิตธานี" กัน แต่โครงการดึงอดีตกับปัจจุบันมาบรรจบกันเช่นนี้ก็คงต้องใช้สตุ้งสตางค์และระยะเวลาอีกพอสมควร

เมื่อพูดถึง "The New Republic" แนวพระราชดำริทดลองประชาธิปไตยที่ปรากฏเป็นรูปธรรมครั้งแรกของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ ผมอยากจะขอเสริมไว้สักนิดว่า บทบาทสมมติที่ทรงเล่นในแผนสาธารณรัฐใหม่นี้ก็น่าสนใจนะครับ คือทรงเล่นเป็น "ประธานาธิบดี" และยังทรงเป็นหัวหน้าฝ่าย "ซ้าย" อีกด้วย ทรงแสดงแนวพระราชดำริอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการยุบสภา การเลือกตั้ง พรรคการเมือง การตั้งรัฐบาล และความสัมพันธ์ทางการทูต แสดงให้เห็นว่าทรงพยายามนำพระองค์เองไปเสด็จอยู่ใน "สถานภาพ" ที่ตรงกันข้ามกับพระราชสถานะของพระองค์ เพื่อจะได้ทรงเข้าพระราชหฤทัยถึงความรู้สึกนึกคิดของคนทุกฝ่าย

ความเสมอภาค อันเป็นหัวใจหลักประการหนึ่งของประชาธิปไตยก็ปรากฏในน้ำพระราชหฤทัยตั้งแต่ปีแรกที่เสวยราชย์

ความตอนหนึ่งจากพระราชหัตถเลขาพระราชทานแก่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ทรงแสดงพระราชประสงค์ให้มีการจัดเก็บภาษีจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ความว่า “...บัดนี้ หม่อมฉันมาไตร่ตรองดูเห็นว่า ทรัพย์สมบัติของหม่อมฉันทั้งหลายที่เป็นส่วนตัว ก็เท่ากับเป็นทรัพย์สมบัติของคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่เหตุใดหม่อมฉันจึงจะมาเอาเปรียบแก่คนทั่วไป ซึ่งดูไม่เป็นการสมควรเลย ส่วนของๆ ผู้อื่นจะเก็บเอากับเขา ของตัวเราเกียดกันเอาไว้... ถ้ารัฐบาลจะแบ่งผลประโยชน์ของหม่อมฉันที่ได้จากทรัพย์สมบัติทั้งหมดนั้นบ้างแล้ว หม่อมฉันก็มีความยินดีเต็มใจที่จะเฉลี่ยให้เป็นการอุดหนุนชาติและบ้านเมืองอย่างคนสามัญด้วยเช่นกัน...”

เรื่องดุสิตธานี และแนวพระราชดำริปลีกย่อยอื่นๆ ในเรื่องประชาธิปไตย นั้นมีอีกมาก เห็นจะแยกเป็นกระทู้ใหม่ได้เลยทีเดียว
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 18 ต.ค. 07, 07:45

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีพระราชนิยมในการทรงละครอยู่ประการหนึ่ง คือ ไม่โปรดที่จะเล่นบทพระเจ้าแผ่นดิน  ด้วยมีรับสั่งว่า ข้าเล่นบทพระเจ้าแผ่นดินอยู่ทุกวัน  เบื่อเต็มที  ขอเล่นบทอื่นบ้าง  ดังเช่นทรงละครเป็นนายมั่น  ปินยาว ในเรื่องพระร่วง  ถึงบทที่นายมั่นจะต้องกราบนางจันทร์ซึ่งเป็นมารดาของพระร่วง  เมื่อคราวอัญเชิญพระร่วงขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา  ก็ทรงก้มลงกราบท่านผู้หญิงกิมไล้ สุธรรมมนตรี (กิมไล้  สุจริตกุล) ซึ่งรับบทเป็นนางจันทร์  โดยไม่ได้ทรงถือพระองค์แต่คนดูไม่กล้าดูกันทั้งโรงละคร
บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 20 ต.ค. 07, 09:11

ได้ติดตามบทความ ในเวป ม.เที่ยงคืนด้วยน่ะครับ เลยเอาอันนี้มาฝาก

การใช้วัฒนธรรมเชิงพาณิชย์ของเกาหลีใต้: บทเรียนของประเทศไทย
KOCCA: เกาหลีกับการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้เป็นสินค้า
ธเนศ เจยเสนานนท์ : เขียน

หยิบ บทสรุป มาแปะไว้นะครับ

ภายหลังจากความสำเร็จของเกาหลีใต้ในหลายๆ ด้านทำให้เกาหลีใต้ก้าวขึ้นมาเป็นขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ในเอเชียที่ไม่อาจมองข้ามได้อีกต่อไป ความสำเร็จของเกาหลีใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้วัฒนธรรมเชิงพาณิชย์นั้น จัดได้ว่าเป็นการขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมองค์ความรู้ได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่เพียงแค่หารายได้เข้าประเทศเท่านั้น ยังสามารถนำวัฒนธรรมเข้าไปครอบงำวัฒนธรรมของหลายๆ ชาติได้อีกด้วย เกิดกระแส Korean Fever ขึ้นในหลายๆ ประเทศที่นิยมความเป็นเกาหลี เช่น รูปแบบการแต่งตัว อาหารการกิน หรือแม้กระทั่งภาษา ประชาชนจากหลายประเทศในเอเชียหันมาเรียนภาษาเกาหลีกันมากขึ้น ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเข้ามาของธุรกิจด้านวัฒนธรรมของเกาหลีนั่นเอง

ซึ่งเบื้องหลังของความสำเร็จดังกล่าวมาจากการสนับสนุนอย่างจริงจังของรัฐบาลผ่าน KOCCA องค์การมหาชนที่เข้ามาแปลงวัฒนธรรมเกาหลีใต้ให้เป็นวัฒนธรรมเชิงพาณิชย์ ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมโดดเด่นและหลากหลาย ก็เป็นประเทศหนึ่งในเอเชียที่ได้รับกระแสเกาหลีใต้ด้วย จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่าทำไมเกาหลีใต้ ประเทศที่มีวัฒนธรรมไม่โดดเด่นนักจึงได้กลายมาเป็นประเทศที่ใช้วัฒนธรรมของตนสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศได้อย่างรวดเร็ว แล้วประเทศไทยจะทำเช่นนั้นได้หรือไม่

บทเรียนที่ได้รับจาก KOCCA จึงน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง หากประเทศไทยจะนำวัฒนธรรมของตนเข้าสู่การแข่งขันเชิงพาณิชย์แล้วจะต้องทำอย่างไร ดังนั้นบทความนี้ได้เสนอทางออกเชิงนโยบายเอาไว้อย่างคร่าวๆ แล้ว โดยการกระตุ้นให้ภาครัฐเห็นความสำคัญกับอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมมากขึ้น และส่งเสริมอย่างจริงจัง เช่น การมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน การสร้างองค์กรที่เข้มแข็ง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับต่างประเทศ และ การใช้รัฐบาลเป็นสื่อกลาง

อย่างไรก็ดีข้อเสนอแนะนี้อาจยังไม่เพียงพอต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมของไทย ดังนั้นจึงต้องอาศัยการระดมความเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อมาร่วมมือกันใช้วัฒนธรรมของไทยสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศ


แหล่งข้อมูล http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999551.html

จะดีไม่ดีอย่างไร ท่านผู้อ่านลองคิดพิจารณานะครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.244 วินาที กับ 20 คำสั่ง