เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 37404 อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 13 ก.ย. 07, 15:45

เรียนสอบถามคุณ วรณัย

จากการตอบกระทู้ที่ว่า "พระเรศวรมีหนังสือแจ้งไปทางหมิงว่าจะยกทัพไปรบกับญี่ปุ่น เพื่อรักษาริวกิว แต่สุดท้ายริวกิวผนวกไปกับญี่ปุ่น เลยต้องเปลี่ยนมาทำการค้ากับญี่ป่น(ผ่านจีน) แทน"

ผมมีความสนใจน่ะครับ ว่าทำไมพระนเรศวรท่านถึงกล้าจะยกทัพไปรบกับญี่ปุ่น คือประมาณว่า ท่านมีความสามารถทางการรบทางเรือขนาดนั้นเลยเหรอครับ

ผมเคยได้ยินคุ้นๆ เมื่อนานมาแล้วเหมือนกันจากการตีความพงศาวดารจีน แต่รู้สึงงุนงงนิดหน่อย ว่าผู้บันทึกมีความเข้าใจผิดอะไรหรือเปล่า
ถ้าบอกว่าเพื่อนบ้านแถวเวียดนามเอย  แถวตังเกียเอย อะไรเทือกๆนั้น จะออกไปรบญี่ปุ่นอันนี้ยังฟังยากแต่ก็ฟังได้ แต่ถ้าอยุธายาจะเดินทางไปรบไกลขนาดนั้น คงต้องมีระบบโลจีสติกส์ขนทหาร ขนเสบียงที่ดีระดับแนวหน้าเลยทีเดียว ว่ามั๊ยครับ

ลองนึกถึงโจโฉตอนพ่ายศึกทางเรือดูซิครับ เพราะความไม่ถนัดการรบทางเรือ เลยกลายเป็นหายนะซะเลย ผมเลยจินตนาการไม่ค่อยออกน่ะครับ
ว่าทำไมท่านจึงมั่นใจขนาดนั้น

อย่างไรก็ตาม ผมอยากอ่านบทความเรื่องนี้มากกว่านี้น่ะครับ ช่วยกรุณาอธิบายได้หรือไม่ครับ หรือไม่ก็แนะนำหนังสื เวปไซต์
ตอนนี้ผมกำลังพยายามหางานวิจัยประวัติศาสตร์โอกินาวาของญี่ปุ่นอยู่เหมือนกัน (เป็นงานอดิเรกน่ะครับ)

ด้วยความเคารพ
KoKoKo
บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 03 ต.ค. 07, 15:33

ความสงสัยยังไม่คลายในเรื่องอุตสาหกรรมในรัชกาลที่๖ มีโอกาสผมก็เที่ยวถามคนโน้นทีคนนี้ที
มีเพื่อนบางคนตอบมาว่า ท่านคงไม่ถนัดอุตสาหกรรมนักหรอก....

ผู้ใดรู้วานบอก


<< ขออนุญาตเซ็นเซอร์ข้อความที่ไม่เหมาะสมนะครับ :CrazyHOrse >>
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 ต.ค. 07, 21:33 โดย CrazyHOrse » บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 03 ต.ค. 07, 17:10

มีข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ศิลปหัตถกรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งคุณ kokokoko (ขอประทานโทษ ผมไม่แน่ใจว่ากี่โค จำไม่ได้จริงๆ) และหลายท่านอาจยังไม่ทราบ หรือถึงทราบก็ทำเฉยๆ เพราะ "เลือก" ที่จะไม่เชื่อ

อาจจะง่ายเกินไปสักหน่อยที่ผมจะตอบด้วยวิธีการยกลิ้งก์ขึ้นมาจากเว็บไซต์เว็บหนึ่งมาตอบ แต่ผมเห็นว่าค่อนข้างจะครอบคลุม คุณโคฯ ลองอ่านดูนะครับ แล้วมาคุยกัน ดูซิว่ามีประเด็นเห็นด้วยหรือขัดแย้งอย่างไรหรือไม่

http://www.geocities.com/Tokyo/Shrine/6611/ar06.htm

แต่ก่อนอื่น ก่อนจะตัดสินใจอะไรต่อไป  อาจะต้องขอความกรุณาคุณโคฯ ให้ลดอคติ หรือสลัดภาพที่คุณเลือกจะเชื่อออกไปแล้ว สักพักหนึ่งได้หรือไม่ จริงอยู่ว่าเรื่องเหล่านั้นมันสนุกปาก เข้าทำนองเม้าธ์มันๆ หรือเรื่องแนวนี้อาจจะมีรสจับจิตจับใจอะไรคุณโคฯ เข้า ผมก็ไม่อาจจะหยั่งทราบ แต่ภาพเหล่านั้นอาจเป็นเพียงมายาหรือกระจกบางด้านที่คนบางกลุ่มใส่สีสร้างไว้ เพื่อสร้าง "พระเอก" และ "ตัวร้าย" บนหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจทำให้บุคคลคนหนึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือถูกนินทาว่าร้ายไปโดยเกินจริง

ถ้าจะมองอีกมุมหนึ่ง ผมเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานด้านอื่นๆ ไว้อย่างมหาศาล นอกเหนือจากอักษรศาสตร์ และนาฏศิลป์ครับ เพียงแต่พระราชกรณียกิจเหล่านั้นถูกบดบังหายไปอย่างน่าเสียดาย ...ลองคิดดูว่าทรงมีเวลาเพียง ๑๕ ปีในการทรงงานเท่านั้นเองนะครับ แต่งานด้านการพัฒนาประเทศที่ประมวลไว้ในเว็บไซต์ข้างต้น มีมากเท่าไหร่ ลองค่อยๆ อ่านดูด้วยใจเป็นธรรม

ผมไม่คิดว่า "การพลิกแผ่นดินในเชิงอุตสาหกรรม" (โดยเฉพาะในบ้านเมืองที่มีวัฒนธรรมความอืดฉืดเฉื่อยชาเป็นอาจิณ อุดมด้วยทรัพยากร ไม่มีภัยธรรมชาติร้ายแรง ขอประทานโทษถ้าจะพูดแบบเหมารวม คือคุณโคฯ ลองมองประเทศที่อยู่แถบๆ เส้นศูนย์สูตรสิครับ ว่ามีบ้านไหนเมืองไหนไม่เป็นโรค "เฉื่อยแฉะ" กันบ้าง) จะสามารถทำให้สำเร็จได้ในภายใน ๑๕ ปีครับ ผมคิดว่าแผนที่ทรงวางไว้ ยังค้างๆ คาๆ อยู่อีกมาก

ถ้าจะพูดในแง่ลบก็บอก "..โธ่..ทำได้แค่เนี้ย มหาลัยก็ตั้งได้แค่มหาลัยเดียวเองเหรอ..พรบ.ประถม ได้แค่ประถมเองเหรอ..โธ่ สร้างทางรถไฟได้แค่นี้เองเหรอ ...ตั้งโรงเรียนไว้แค่สิบกว่าโรงเองเหรอ ...สร้างโรงพยาบาลไว้สองสามโรงเท่านั้นน่ะรึ ...โรงปูน ธนาคาร สภาเศรษฐกิจ สภาวิจัย โรงประปา สร้างแค่เนี้ย โอ้ย..แถมยังส่งกองทัพไปชนะสงครามโลกจนทำให้ค่อยๆ แก้สนธิสัญญาไม่เป็นธรรมได้ ...ทำได้แค่เนี้ยเหรอ มีเวลาตั้ง ๑๕ ปี"

เฮ่อ...ถ้าจะประเมินคุณค่างานในรอบ ๑๕ ปีของคนคนหนึ่งว่าต่ำต้อยด้อยค่า จนเห็นเพียงแค่ว่าคนคนนั้นเป็นคนแต่งหนังสือ ร้องรำทำเพลงคนหนึ่งเท่านั้น ...ผมว่าก็เกินไปหน่อยล่ะ

สิ่งที่ผมเห็นได้ชัดๆ จากพระราชกรณียกิจ ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะพัฒนาอุตสาหกรรม นั่นคือ รถไฟ สะพาน ถนน เขื่อน ชลประทาน และงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะรถไฟที่โปรดให้ทำสะพานพระราม ๖ เชื่อมเส้นทางรถไฟสายเหนือสายใต้ สร้างรถไฟสายใต้ลงไปจรดใต้สุด สร้างอุโมงค์ขุนตาน สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานของการลำเลียงวัตถุดิบเพื่ออุตสาหกรรมทั้งสิ้นครับ และเป็นวิธีขนถ่ายสินค้าเข้าออกที่คุ้มค่าที่สุดด้วยเพราะขนได้มากแต่ค่าใช้จ่ายน้อย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตร อย่างไรก็ดี ในสมัยนั้นอาจจะยังไม่มีคำว่า "อุตสาหกรรม" คุณโคฯ เวลาอ่านอาจจะต้องตีความสักนิด ว่าส่วนใด แง่ใดที่อาจจะเข้าทางอุตสาหกรรมได้บ้าง

อ้อ...คุณโคฯ อย่าลืมดูเรื่องสภาเผยแผ่พาณิชย์ด้วยนะครับ นั่นก็คือหน่วยงานกำหนดแผนพัฒนาอุตสาหกรรม ไม่ได้เกี่ยวกับพาณิชย์อย่างเดียวตามชื่อนะครับ

ด้านวัสดุก่อสร้างสาธารณูปโภคจำเป็นสำหรับประเทศ ได้ทรงตั้งโรงปูนซึ่งต่อมาพัฒนามาเป็นบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ไว้ครับ ยิ่งในเชิงเศรษฐศาสตร์ก็ทรงนำทฤษฎีงบประมาณขาดดุลซึ่งหลายคนในยุคนั้นไม่เข้าใจ และคิดว่าทรงดำเนินแผนงานทางเศรษฐกิจผิดพลาด ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเรื่องตรงกันข้าม เมื่อประสบปัญหาเศรษฐกิจ ก็ทรงพยายามสนับสนุนให้สินค้าไทยแพร่หลายสู่สายตาชาวโลก ทรงพระราชดำริจะจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ณ สวนลุมพินีอันเป็นที่ดินส่วนพระองค์ เพื่อแสดงสินค้าไทย ทำนองเดียวกันงานเวิลด์แฟร์ หรืองานเอ็กซโปสิชันของต่างประเทศ แต่น่าเสียดายที่เสด็จสวรรคตก่อนงานนี้จะได้จัดขึ้น คงเหลือแต่สวนลุมพินีซึ่งทรงพระราชดำริไว้แต่ต้นว่าเมื่อเสร็จงานแล้วจะพระราชทานให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชน

การจะประจักษ์ผลของงานด้านนี้ต้องใช้เวลาครับ ไม่เหมือนงานเขียนหนังสือหรือเล่นละคร ซึ่งปรากฏผลให้โลกได้รับรู้ทันตาเห็นเดี๋ยวนั้นทันทีที่หมึกแห้งแล้วยื่นใส่มือคนอ่าน หรือเมื่อเปิดม่านแล้วเปิดตามอง ยิ่งถ้างานด้านนี้ไม่ได้รับการสานต่ออย่างจริงจัง เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ที นโยบายก็เปลี่ยนที อคติคนโน้นที ทิฐิคนนี้ที มันก็ต้องขลุกขลักติดขัดเป็นธรรมดา

ท้ายสุดของความเห็นนี้ ขอเชิญพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้เมื่อปี ๒๔๕๗ มาให้อ่านกันครับ

“...ถึงของที่พวกเราทำได้นั้นจะยังสู้ของเขาไม่ได้หรือแพงไปสักนิด ถ้าเราตั้งใจช่วยกันอุดหนุนแล้วก็เป็นทางที่จะให้ของๆ เราดีขึ้นพอทัดเทียมกับของเขาได้ ในเวลาปกติพวกเราย่อมแลเห็นได้ยากว่าเหตุไรจึงมีความจำเป็นที่จะต้องบำรุงวิชชาหัตถกรรมและศิลปกรรมของเราเองให้พอเพียง ต่อเมื่อไรมีเหตุสำคัญซึ่งของใช้ของเราจะส่งมาจากต่างประเทศไม่ได้ เมื่อนั้นแหละจึงเป็นเวลาที่เราต้องรู้สึกตัวและเสียใจเองว่า เราทั้งหลายได้รามือราตีนเสียหมดแล้ว ช่วยตัวเองก็ไม่ได้เสียแล้ว

...เราจะต้องช่วยกันคิดอย่างไรให้บ้านเมืองเราเลี้ยงตัวเองได้ ถึงของของในเมืองไทยจะยังทำไม่ได้ดีเหมือนเขาก็ให้พอใช้ได้และมีเพียงพอแก่ความต้องการของเรา ...ถ้าจะพูดกันตามตรงแล้ว ก็ต้องรับว่าเดี๋ยวนี้เรายังต้องอาศัยให้ชาวต่างประเทศเลี้ยงตัวเราอยู่ทุกคน เช่นนี้เราไม่อายเขาหรือ

เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยกันบำรุงศิลปหัตถกรรมแห่งบ้านเมืองเราให้เจริญขึ้น เราจะปล่อยให้ความบกพร่องมีอยู่เช่นนี้ไม่ได้ต่อไปเป็นอันขาด เราต้องนึกถึงว่าเงินทองที่เรามีพอจะจับจ่ายใช้สอยนั้น ทำอย่างไรจึ่งจะได้ใช้ตั้งแต่สตางค์เดียวขึ้นไป ให้เป็นประโยชน์แก่คนไทย...”

ผมคิดว่าคำว่า "วิชชาหัตถกรรมและศิลปกรรม" ที่ทรงหมายถึงนั้น จริงๆ แล้วก็คืออุตสาหกรรมนั่นแหละครับ ทรงตั้งพระราชหฤทัยสนับสนุนให้ทำได้มาก ได้มีคุณภาพ และให้มีใช้ได้ไม่ขาดแคลน ซึ่งก็คือการพยายามทำให้หัตถกรรมและศิลปกรรมของเรากลายเป็นอุตสาหกรรมให้จงได้นั่นเอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 03 ต.ค. 07, 18:26

คุณโค คะ   
คุณไม่รู้จริงๆว่ารัชกาลที่ 6 ท่านทรงพัฒนาอุตสาหกรรมกี่มากน้อย  เลยมาถามในนี้
หรือว่าคุณอยากจะจิกตีผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ไม่มีโอกาสมาชี้แจงด้วยตัวเอง  โดยอ้างเรื่องอุตสาหกรรมบังหน้า
ดิฉันก็ไม่ทราบ
แต่คำถามของคุณที่โยงเรื่องสองเรื่องเข้าด้วยกันอย่างไม่มีตรรกะเลยนั้น     ไม่เนียนเลยค่ะ

เสียดายที่คุณเริ่มต้นมาด้วยดี   ดิฉันและสมาชิกหลายท่านที่มาตอบ ก็เต็มใจต้อนรับคุณมาตั้งแต่แรก  ไม่น่าจะจบลงแบบนี้เลย
บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 03 ต.ค. 07, 18:43

แหม โดนเข้าแล้วซิครับผม ด้วยความโง่บริสุทธิ์ของผมน่ะซินะคับ ไม่มีการบังหน้าแต่ประการใดทั้งนั้นครับ คุณเทาชมพู
ในฐานะที่ผมก็จบจากมหาวิทยาลัยที่ท่านเป็นผู้สถาปนา ที่เดียวกันกับคุณเทาชมพู ผมก็เคารพท่านแม้แต่อยู่ในญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยนี้คนที่นี่รู้จักดีเลยทีเดียว เลยได้อานิสงค์ผลบุญในการเรียนต่อโดยปริยาย

เผอิญว่าผมได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนที่อยู่อเมริกาทางเอ็มเอสเอ็น ผมก็คุยกันเรื่องพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลก เพื่อทำเป็นรายงาน
เพื่อนก็พูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา ผมเลยสงสัยนิดหน่อยว่า แล้วมันยังไงกัน ทำไมถึงกล้าพูดกันถึงขนาดนั้น
ตัวผมเองก็ไม่มีความรู้แนวนี้สักเท่าไร ฟังแค่สนุกปาก สนุกหู ไม่ประเทืองปัญญา ก็ไม่ใช่วิธีของผมซะด้วยซิครับ

ก็เลยกล้าถามตรงๆ อย่างที่ถูกบอกมาอย่างนั้น ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ขอวอนกรุณาอธิบายเพื่อผมจะได้แก้ข้อต่างแทนได้นะครับ

จะเป็นพระคุณอย่างสูง




บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 03 ต.ค. 07, 19:00

ทำไมคุณโค ไม่ถามเพื่อนคนนั้นล่ะคะ ว่าเขารู้อะไรแค่ไหนทั้งเรื่องอุตสาหกรรมและเรื่อง............
ถึงแม้ว่าคุณไม่รู้คำตอบ  แต่การซักไปซักมาก็อาจจะทำให้คุณดูออกว่าเพื่อนคนนั้นเขารู้หรือไม่รู้อะไรเลย
แค่วิธีการโยงเรื่องสองเรื่องเข้าหากัน  ก็น่าจะบอกคนที่เรียนจบปริญญาตรีมาได้แล้วว่า มันเป็นเหตุเป็นผลต่อกันแค่ไหน
และมันบอกถึงสติปัญญาคนพูดได้มากน้อยแค่ไหนบ้าง  ตลอดจนบอกถึงอคติ หรือนิสัยบางประการ ก็อาจจะได้ด้วย
ดีกว่าเก็บถ้อยคำของเพื่อนมาถามต่อในนี้  แบบไม่ได้กลั่นกรองเอาเสียเลย

เรื่องอุตสาหกรรม คุณ UP ได้ตอบไปแล้วพร้อมทั้งทำลิ้งค์ให้ด้วย   คิดว่าคงจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อคุณไม่มากก็น้อย
ส่วนเรื่อง...............ถ้าสนใจประวัติของท่าน ก็หาได้ในกูเกิ้ลได้ไม่ยาก

เรื่องคำที่คุณอุตส่าห์พิมพ์ด้วยตัวสีน้ำเงินให้เห็นว่าสำคัญ นั้น   ถ้าถามดิฉัน  ดิฉันก็จะตอบว่า เป็นเรื่องโกหกมดเท็จ  เม้าธ์เล่าลือกันอย่างไม่มีหลักฐานข้อเท็จจริงใดๆมายืนยัน  ยิ่งต่อเติมเสริมต่อกระจายกันออกไปเท่าไรก็ยิ่งเสื่อมเสียแก่ผู้เกี่ยวข้องมากเท่านั้น
ในเรือนไทยนี้  สมาชิกประจำที่ดิฉันรู้จัก และตัวดิฉันเองก็ไม่ได้เป็นญาติโยมอะไรกับท่านผู้นั้นหรอก   แต่ลูกหลานเครือญาติของท่านผู้นั้นก็มีอยู่หลายสิบคน    และสามารถจะเข้าอินเทอร์เน็ตมาเจอเมื่อไรก็ได้   ก็ขอให้นึกเผื่อถึงใจพวกเขาบ้าง   
จึงอยากจะถามคุณโคและฝากถามไปถึงเพื่อนเอ็มเอสเอ็นของคุณด้วยว่า  ถ้ามีใครกล่าวขวัญถึงบรรพชนของคุณด้วยคำนี้บ้าง  คุณจะรู้สึกอย่างไร และจะตอบอย่างไร   
เอาเวลาในชีวิตไปศึกษาเรื่องที่มีสาระ และมีตำราให้ค้นคว้าได้อีกมากมาย  จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตมากกว่า
บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 03 ต.ค. 07, 19:31

ว่าแล้วก็เลยถามศาสตราจารย์กุ๊กเกิลซะ ได้เรื่องราวในกระทู้พันธ์ทิพย์เมามันไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันซักเท่าไรนะครับคุณเทาชมพู

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/K3664087/K3664087.html

นี่ตัวอย่างน่ะครับ

"เวอร์จิเนีย ทอมป์สัน ได้แสดงความเห็นไว้ในหนังสือ Thailand the New Siam ว่า ความใกล้ชิดและพระเมตตากรุณาที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อข้าราชบริพารของพระองค์กลายเป็นเครื่องมือในการแวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องของข้าราชบริพารและยังความเสียหายให้แก่ประเทศทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองอย่างกว้างขวาง สร้างความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการอื่นๆที่ได้รับการปฏิบัติอย่างเลวจากข้าราชบริพารที่เพิ่งได้มีใหม่ๆเหล่านี้ ให้แพร่หลาย ราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่เกลียดชังอย่างรุนแรง ทั้งอย่างเปิดเผยและซ่อนเร้น และถูกล้อเลียนเยาะเย้ยตำหนิติเตียนทั่วไปในขณะนั้น ในด้านความหรูหรา ฟุ่มเฟือย และมีแต่ข้าราชบริพารที่ประจบสอพลอ ข้าราชสำนักที่ถูกเพ่งเล็งมากที่สุดคือ กลุ่มมหาดเล็ก"

แล้วจะด้นปักเนาเย็บ ต่อยังไงดีละครับอาจารย์เทา

หรือจบกระทู้นี้แต่เพียงเท่านี้ดีกว่า ก่อนที่จะฉาว เกินเลยความสัมพันธ์ไทยญี่ปุ่น


บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 03 ต.ค. 07, 19:31

ผมยังไม่ได้ตอบคำถามเก่าของคุณ KKK แต่ที่จริงผมจำได้ว่าเคยบอกไปแล้ว ว่าผมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์หรือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ผมเป็นนักรัฐศาสตร์ แต่เท่าที่ผมจำได้ ผมคิดว่าผมยังมีสิทธิที่จะยืนยันว่า ครั้งหนึ่ง ตามทฤษฎีตัวแบบการพัฒนาอันหนึ่ง คุณอยากเจริญคุณต้องพัฒนาอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่มีวิถีทางการพัฒนาอื่น แต่สมัยนี้ มีทฤษฎีและตัวแบบการพัฒนามากขึ้นแล้ว และก็มีการพูดกันมากเกี่ยวกับผลร้ายของการพัฒนาแต่อุตสาหกรรมตะพึดตะพืออย้างเดียวแล้ว ผู้ตัดสินใจหรือกำหนดนโยบายจึงมีทางเลือกมากขึ้น อย่างน้อยในทางวิชาการ ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจไปในทางอื่น ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นอุตสาหกรรมอย่างเดียว แต่ไม่ได้แปลว่าปฏิเสธอุตสาหกรรม เพียงแต่ว่า มีทางที่จะพัฒนาประเทศได้หลายแนวทางเท่านั้น แล้วจะเลือกแนวพัฒนาผสมผสานกันก็ยังได้ ในหลวงท่านก็ทรงย้ำหลายหน ว่าการนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นยังงั้นไปทั้งระบบเศรฐกิจ จะใช้เพียงส่วนหนึ่งก้ได้ คุณก็อ่านของผมไม่ละเอียดเองนี่ครับ

อันที่จริงแนวทางการพัฒนาที่ไม่ต้องก้าวไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมนั้น ว่าไปแล้วมันก็มีอยู่นอกตำราเศรษฐศาสตร์การพัฒนา (แบบทุนนิยม) มาแต่ไหนแต่ไร เพียงแต่ตอนนั้นฝรั่งผู้เชี่ยวชาญธนคารโลกยุคสัก 1950 มองไม่เห็นเองเท่านั้นแหละ ไม่ต้องเป็นอุตสาหกรรมอย่างเดียว ไม่ได้แปลว่า ต้องไม่เป็นอุตสาหกรรม ครับ ต่อให้ญี่ปุ่นก็เถิด พัฒนาอุตสาหกรรมเต็มที่แล้ว แล้วในที่สุดทิ้งภาคเกษตรไหม? เอาเข้าจริงก้ไม่กล้าทิ้ง ปกป้องภาคเกษตรของเขาถึงขนาดที่ว่าปิดตลาดไม่ให้ไทยส่งข้าวเข้าไปขายเลยทีเดียว

เรื่องการมุมานะพัฒนาประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นนั้น ผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัยในญี่ปุ่นและไม่ยักเป็นใน ปวศ. ไทย คือการที่ญี่ปุ่นถูกเรือดำลำยักษ์ของนายพลเปอรี่บังคับให้เปิดประเทศแล้วก็ตกใจ กลัว และอาจจะเสียเหลี่ยมลูกกำนันจนถึงผูกใจเจ็บฝรั่งด้วย ที่บังอาจมาลูบคม จึงลุกขึ้นพยายามทำทุกวิถีทางที่จะไล่ตามฝรั่งให้ทัน และเอาชนะฝรั่งให้จงได้ แก้เผ้ด เริ่มจากเรียนหรือเลียนฝรั่งก่อน แล้วก็พัฒนาตนเองขึ้นมา การปฏิวัติอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นที่ประสบผลสำเร็จ เป็นรากฐานอันหนึ่งที่นำไปสู่การเผชิญหน้าและรบกับรัสเซีย จนปราบฝรั่งรัสเซียลงได้ แล้วก็นำต่อไปสู่การที่ญี่ปุ่นจะเป็นมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมเหมือนฝรั่งมั่ง จนนำไปสู่วงไพบูลย์ร่วมกันแห่งมหาเอเชียบูรพา และในที่สุดก้ไปถุงฮิโรชิมาและนางาซากิจนได้ซิน่ะ

ไทยเราเจอความเจ็บช้ำน้ำใจทำนองเรือปืนอเมริกามาขู่เหมือนกัน ที่เห็นชัดคือวิกฤตการณ์ปากน้ำ รศ 112 ที่ฝรั่งเศสเอาเรือรบเข้ามากลางแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ผมเข้าใจเอาเองว่า เราตื่นตัวเพราะเหตุการณ์นั้นและลุกขึ้นปฏิรูปประเทศเพื่อหนีภัยลัทธิล่าเมืองขึ้น โดยในหลวง ร. 5 ทรงนำ เหมือนที่จักรพรรดิเมจิทรงกระทำในญี่ปุ่น แต่ไทยจะมีนิสัยอ่อนโยนกว่าญี่ปุ่นหรือยังไงไม่รู้ ผมคิดว่าแรงขับดันของเราคือแค่เอาตัวของเราให้รอดเท่านั้นพอแล้ว ไม่นึกเลยไปถึงว่าต้องล้างเจ็บล้างอายไล่ให่ทันและขึ้นหน้าแซงฝรั่งไปให้จงได้ อย่างญี่ปุ่น ดังนั้น ความตั้งใจมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นมาให้จงได้เพื่อเป็นฐานในการแผ่ขยายอิทธิพลทางอื่นออกไป ในไทยจึงไม่แรงเหมือนในญี่ปุ่น ที่ว่ามาทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผม อาจผิดหรือถูกก็ได้
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 03 ต.ค. 07, 19:45

ส่วนอีกประเด็นที่ทำท่าจะหลุดประเด็นเดิมของกระทู้ไป ผมไม่ขอออกความเห็นดีกว่าครับ ไม่เกี่ยวกับเรื่องไทยญี่ปุ่น และไม่เกี่ยวกับเรื่องประวัติการพัฒนาอุตสาหกรรมในไทยด้วย

ต่อไปนี้เป็นคำถามสำหรับคุณ UP

ผมเองเป็นคนบอกไว้เองว่า ในหลวง ร. 6 นั้นท่านทรงคิดเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรม มีพระราชดำริเรื่องสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ปรากฏอยู่แต่ยังไม่ทันทำได้สำเร็จ คุณ UP มาเล่าต่อเรื่องพระราชกรณียกิจด้านอื่นๆ เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคมด้านต่างๆ การสร้างโรงปูน ฯลฯ ซึ่งก็เกี่ยวกับการพัฒนาทำนุบำรุงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศเช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมครับ แต่ผมสงสัยหน่อยหนึ่ง ผมเคยอ่านงานเขียนทางประวัติศาสตร์ไทย จำไม่ได้เสียแล้วว่าของใคร แต่คงไม่ใช่ยายเวอร์จิเนียนั่น ในงานเขียนนั้นอ้างพระราชดำรัส ร. 6 ไว้ ไม่ทราบว่ารับสั่งที่ไหนอย่างไร หรือว่ารับสั่งไว้จริงรึเปล่าด้วยซ้ำ แต่ผมอ่านแล้วยอมรับว่ารู้สึกแปลกอยู่ เขาอ้างว่าท่านรับสั่งว่า ตั้งพระทัยที่จะไม่ทนุบำรุงบ้านเมืองให้ร่ำรวยเจริญทางสมบัติ หรือพูดอย่างเราว่าเจริญทางเศรษฐกิจ เพราะถ้าเจริญในทางนั้นมากไปโดยยังไม่มีกำลังทหารไว้ป้องกันตัวเพียงพอ ก็จะกลายเป็นที่หมายปองของอริราชศัตรู เป็นภัยเสียเปล่าๆ ฟังคล้ายกับว่าทรงจัดลำดับความสำคัญโดยทรงให้น้ำหนักในการดำเนินพระราชรัฏฐประศาสโนบาย ไปในทางที่จะบำรุงความเข้มแข็งของประเทศ หรือภาษาสมัยนี้เรียกว่าให้ความสำคัญกับมิติด้านการเมืองและความมั่นคงแห่งชาติเป็นสำคัญ สำคัญเสียยิ่งกว่า มิติการพัฒนาให้ประเทศเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ นี่ผมตีความเอง

เป็นยังงั้นจริงหรือครับ

เรารู้กันดีว่า ในรัชสมัยของท่านที่สืบต่อลงมาจากในหลวง ร. 5 นั้น ภัยจากฝรั่งล่าเมืองขึ้นยังเป็นของจริงแท้แน่นอนที่คุกคามไทยอยู่จริงๆ และเราก็รู้ว่า ในหลวง ร. 6 ท่านทรงให้ความสำคัญ สนพระราชหฤทัยด้านการทหาร การเสือป่า การปลุกใจชาวไทยให้รักชาติ จริงๆ เหมือนกัน แต่จะว่าอะไรควรจะสำคัญกว่าอะไรก็พูดยากอยู่ โดยเฉพาะเมื่อเราเป็นคนสมัยนี้เอาไม้บรรทัดของเราไปวัดท่านในสมัยโน้น แต่ถึงกระนั้นผมก็เห็นแปลก คือถ้าผมเป็นคนใต้ปกครองของรัฐบาลไหน ผมคงจะคาดหวังว่ารัฐบาลนั้นจะใส่ใจทั้งการทหารและการพัฒนา เพราะด้านที่สองมันปัญหาปากท้องผมน่ะ (gun กับ butter ของแท้เลย) แล้วว่าที่จริง ดูแล้วท่านก็ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ (แม้ว่าผมเชื่อว่าสมัยนั้นยังไม่ทันมีคำว่าเศรษฐกิจในภาษาไทย) อยู่ไม่น้อย มากเชียวล่ะ ซึ่งดูเหมือนจะขัดๆ กับที่อ้างว่าเป็นกระแสพระราชดำรัสองค์นั้นอยู่ งงๆ ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 03 ต.ค. 07, 20:27

คุณโคมีคำตอบอยู่ในใจแล้วนี่คะ 
Erotic กะ corrupted คุณคิดว่าเป็นคำเดียวกันหรือไงคะ  หรือว่าคำไหนก็ได้ เท่ากันน่ะแหละ
ตอนคุณตั้งคำถาม คุณคิดว่าเรือนไทยจะเป็นแหล่งตอบคำถามแรกของคุณว่า จริงค่ะ ถูกต้องค่ะ ใช่ค่ะ งั้นหรือคะ
คุณก็รู้ว่าไม่ใช่     แต่คุณไม่ยอมหยุดเพราะอะไร   

เรื่องนี้ออกนอกความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นไปมากแล้วค่ะ   อยากจะขอร้องให้ยุติเพียงแค่นี้   ถ้าจะคุยกันต่อก็ขอให้เป็นความสัมพันธ์ไทย- ญี่ปุ่น หรือเรื่องอุตสาหกรรมที่ยังค้างอยู่ ดีกว่า
ถ้าคุณโคยังข้องใจ หรือไม่พอใจคำตอบของดิฉัน กรุณาส่งข้อความมาถามเป็นส่วนตัว  ในเว็บนี้มีให้ส่งได้
ดิฉันจะตอบทุกอย่างที่ถาม
บางทีเราสื่อสารกันทางตัวอักษร ไม่ได้ยินน้ำเสียง ไม่เห็นท่าที   อาจจะทำให้ตีความผิดไปก็ได้

ป.ล. หนูหนอนบุ้ง ถ้าจะเข้ามาตอบ  ขอความช่วยเหลือจากหนูก่อน  กรุณารวบรวมเรื่องรัชกาลที่ ๖ ในกระทู้เก่าๆมาลงในกระทู้นี้ได้ไหมคะ    ดิฉัน search ไม่เจออีกแล้ว
ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 03 ต.ค. 07, 21:19

อยากให้คุณ kokoko ตั้งสติให้ดีนิดนึงครับ เรื่องนี้สำคัญ เพราะเกี่ยวกับการใช้สามัญสำนึกในการประเมินหลักฐานที่เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับคนทำงานวิจัย ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม

เรื่อง..มีบทบาทมากในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องส่วนตัวที่เล่าลือกันนั้นก็อีกเรื่อง
หากคุณตอบว่าไม่จริง  ลองตอบคำถามข้อต่อไปว่า
"ถ้าไม่จริงลองหาหลักฐานมาหักล้างดูซิ?"

หากจะเคืองผม ขอให้ลองย้อนกลับไปอ่านดู ที่ยกมานี่คือคำถามที่คุณถามเองทั้งสองข้อเลยนะครับ

ฉันใดก็ฉันนั้นแหละครับ จะให้ตอบอย่างไรดี

ไม่น่าจะเอาเรื่องเล่าลือแบบตลาดๆมามาร่วมอภิปรายเชิงวิชาการอย่างนี้ เพราะมันจะกลายเป็นสัมมนาขยะไปนะครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 ต.ค. 07, 21:50 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 04 ต.ค. 07, 02:28

คุณนกข.ครับ ผมก็เคยอ่านมาอย่างนั้นเหมือนกัน ต้องขอประทานโทษที่จะตอบอย่างไม่กระจ่าง เพราะไม่มีหนังสืออ้างอิงอยู่ในมือ แต่ผมเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็น "คำบอกเล่า" มากกว่า "พระราชดำรัส" ที่รับสั่งลงไปชัดเจนในวันเดือนปีใดๆ หรือเป็นอัญพจน์ที่เชื่อถือได้ ทำนองเดียวกันแหละครับ จนป่านนี้ผมก็ยังหาต้นตอและหลักฐานยืนยันไม่พบว่า พระพุทธเจ้าหลวงมีพระราชดำรัสเรื่องการจะให้ "ลูกวชิราวุธ" พระราชทาน "คอนสติติวชั่น" ไว้อยู่ตรงไหน นอกจากเป็นคำบอกเล่าปากต่อปากเท่านั้นเองว่าเป็นพระราชดำรัสในการประชุมเสนาบดี

หรือถึงจะรับสั่งดังนั้นจริง ผมก็มองว่าเป็นพระราชโวหาร เพราะพระราชกรณียกิจที่ปรากฏ เห็นได้ชัดว่าไม่ได้ทรงละเลยงานด้านเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และการพัฒนาเลย โดยเฉพาะในปลายรัชสมัย ซึ่งปัญหากรุ่นๆ ในเรื่องความมั่นคงได้คลี่คลายไปพอสมควรแล้ว

คุณโคฯ ครับ ผมฉุกคิดอะไรขึ้นมาได้อีกอย่างหนึ่ง

ตอนที่เพื่อนคุณกับคุณคุยกันเรื่องนี้นั้น บรรยากาศและลักษณะการสนทนาเป็นอย่างไร หากว่าเป็นการก็อสสิปกันเพลินๆ ในวงสนทนาประสาเพื่อนสองสามคน ผมก็พอจะเข้าใจ ไม่ว่าจะใส่ไข่หรือไม่ใส่ไข่เขาก็จะนำมาพูดกันเพื่อให้สนุกปาก แต่ถ้าหากว่าเป็นการพูดจาวิชาการกันจริงจัง หรือสนทนากันในเรื่องความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น แล้วโยงเรื่องก็อสสิปพรรค์นี้มาผสมโรงอย่างเป็นจริงเป็นจัง ผมออกจะเสียดายที่ทำให้การสนทนาที่ (อาจ) มีคุณค่าอย่างนั้นเสียน้ำหนักไป และที่สำคัญคือ การนำก็อสสิปซุบซิบจากปากใครก็ไม่รู้ มาพูดขยายเป็นเรื่องที่ฟังดูเหมือนว่าจะเป็นวิชาการ ในสถานที่หรือกระทู้ที่มีไว้เพื่อพัฒนาสติปัญญาในทางวิชาการ นั้น ด้วยความนับถือ ผมเกรงว่าจะไม่เหมาะควร ต่อให้ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับสถาบันหลักของชาติก็เถิด ผมว่าถ้าคุณโคฯ สนใจเรื่องทำนองนี้จริงๆ ก็ไปหาสนทนาในวงซุบซิบดีกว่า รับรองว่าจะถึงอกถึงใจพระเดชพระคุณคุณโคฯ มากกว่ามาหาหลักฐานอะไรยืนยันในนี้ แต่คุณอาจจะได้ความจริง ความจริงที่บิดเบือน หรือความเท็จ หรืออะไรก็แล้วแต่ อันนั้นสุดแต่บุญแต่กรรมของคุณครับ

มีบทสรุปตอนหนึ่งซึ่งอาจจะให้คำตอบแก่คุณโคฯ ได้เป็นอย่างดีว่าเหตุใดในรัชกาลที่ ๖ นั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมจึงเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก แต่กระนั้น ก็ยังทรงพยายามจะทำ

"การพัฒนาอุตสาหกรรม

สภาวะแวดล้อมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าจะทำให้ยากจะเริ่มต้นกิจการอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ขึ้นได้ เนื่องจากการดำเนินนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศด้วยวิธีใด ๆ ไม่สามารถทำได้เลยเพราะติดขัดด้วยสนธิสัญญาการค้า ไม่ว่าเป็นการตั้งกำแพงภาษีขาเข้า การจำกัดโควต้า หรือการห้ามนำเข้าสินค้าใด ๆ ก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น อัตราภาษีขาเข้ายังถูกกำหนดไว้ตายตัวที่อัตราต่ำเพียงร้อยละ 3 ทำให้สินค้าอุตสาหกรรมจากต่างประเทศซึ่งประสิทธิภาพการผลิตสูงเพราะเชี่ยวชาญการผลิตทางอุตสาหกรรมมาก่อน สามารถส่งเข้ามาตีตลาดภายในประเทศได้โดยสะดวก โดยที่อุตสาหกรรมในประเทศซึ่งประสิทธิภาพย่อมจะต่ำกว่าในช่วงเริ่มต้นพัฒนาการผลิตขึ้นใหม่ จะไม่มีโอกาสแข่งขันได้นอกจากนั้น ปัญหาเรื่องเงินทุน และการขาดผู้มีความรู้ด้านการผลิตและบริหารอุตสาหกรรม ตลอดจนการขาดสิ่งอำนวยความสะดวกในการผลิตเช่นไฟฟ้า ถนนเพื่อการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป ก็เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในยุคนั้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในสภาวะแวดล้อมที่เต็มไปด้วยอุปสรรคนี้ บริษัทปูนซิเมนต์ไทยซึ่งถือได้ว่าเป็นกิจการของคนไทยเพราะมีคนไทยเป็นผู้ก่อตั้งและถือหุ้นราวร้อยละ 75 ก็สามารถเติบโตและเจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้โดยราบรื่น ทั้งนี้โดยเป็นผลจากการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะให้มีอุตสาหกรรมของคนไทยเกิดขึ้น จึงได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้นำเงินพระคลังข้างที่เข้าร่วมทุนในการก่อตั้งในฐานะผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ และยังพระราชทานเงินให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กู้ยืมไปเพื่อลงทุนร่วมหุ้นในการก่อตั้งอีกด้วย บริษัทปูนซิเมนต์ไทยที่ก่อตั้งขึ้นนี้จึงเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของคนไทยที่มีความสำคัญยิ่ง และดำรงความสำคัญเรื่อยมาจนปัจจุบัน

นอกจากการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้วยการเข้าไปร่วมลงทุนแล้ว ในระยะต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศาลาแยกธาตุขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นหน่วยงานค้นคว้าวิจัยสำหรับหาลู่ทางการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมใหม่ ๆ โดยใช้ทรัพยากรภายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะวัตถุดิบจากผลผลิตการเกษตรต่าง ๆ เพื่อให้มีศักยภาพที่จะแข่งขันกับต่างประเทศได้"

อ้างอิง http://www.geocities.com/Tokyo/Shrine/6611/ar05_07.htm

ผมคิดว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงตระหนักดีถึงปัญหานี้นะครับ สิ่งแรกที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะกระทำ จึงได้แก่การทำอย่างไรจะให้ประเทศไทยมีเกียรติภูมิเพียงพอ มีสิทธิมีเสียงที่จะร้องขอแก้ไขเจรจาสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรม ที่ขวางความก้าวหน้าของบ้านเมืองไว้ให้จงได้ และ "ธงคำตอบ" ในพระราชหฤทัยนั้น ก็ทรงสามารถฟันฝ่าหาทางไปถึงได้จนประสบความสำเร็จเป็นเบื้องต้นในรัชสมัยของพระองค์ และการแก้ไขสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรม ก็ค่อยๆ ดำเนินต่อไปจนลุล่วงในราวรัชกาลที่ ๘ จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ของง่ายๆ นะครับ ใช้เวลากี่ปีกี่รัชสมัยล่ะ อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่างานแบบนี้ หากจะมองประสิทธิผล ต้องใช้เวลา

เมื่อเสร็จสิ้นมหาสงครามโลก (ครั้งที่ ๑) แล้ว เราจึงมองเห็นได้ว่า พระราชกรณียกิจด้านเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น ก็ทวีบทบาทเด่นชัดขึ้น

วิธีแก้ปัญหาอาจต้องเดินข้ามขวากหนามเป็นช่วงๆ ไปครับ ถ้าใครคนหนึ่งมองเพียงจุดหมายอันสวยหรูแล้วกระโจนพุ่งตัวไปทันทีโดยไม่ค่อยๆ แผ้วถางขวากหนามตรงหน้าเพื่อให้เป็นทางที่โล่งเตียนและมั่นคงเสียก่อน ผมว่านายคนนั้นถ้าไม่หัวคะมำปักหนามตาย ก็คงไม่มีวันไปถึงจุดหมายในชาตินี้
บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 04 ต.ค. 07, 15:16

นั่นก็แสดงว่า การพัฒนาอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจไทย ที่ยังไปไม่ถึงดวงดาว ไม่ใช่ในช่วงเวลาที่ปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช แต่เป็นนโยบายของรัฐบาลช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั่นสินะครับ

สำหรับประเด็นรัชกาลที่๖ ผมไม่คิดว่าไร้สาระนะ และไม่คิดด้วยว่าความเป็นวิชาการจะเสียไป เรื่องราวในอดีตที่เป็นเรื่องพูดเล่าต่อๆ กันมา ไม่ว่าเรื่องราวจะมาจากไหน พูดล้อเล่น พูดจริงจัง นิทานพื้นบ้าน พงศาวดาร วงก๊อซซิป หรือการ์ตูนขำขัน งานวิจัยชิ้นห่วยที่สุด หรืองานวิจัยชิ้นโบแดง ผมยังไม่ได้เชื่อแต่มันเป็นข้อมูลที่รับมาแล้วแสลง และควรมีเหตุผลเพียงพอที่จะอธิบายปมประวัติศาสตร์นั้น

งานวิจัยทางประวัติศาสตร์ก็ตาม ทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม สำหรับผมแล้ว ผมเชื่อปรัชญาของกาดาเมอร์ คืองานทั้งหลายล้วนแล้วแต่มีอคติของผู้เขียนแฝงเข้าไป และมันเป็นการเรียนรู้โดยผ่านประสบการณ์ของผู้เขียนขณะเดียวกันมันก็เป็นการเรียนรู้ผู้เขียนไปในตัว คัมภีร์ไบเบิลทั้งเก่า และใหม่ สำหรับผมแล้วจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม ผมได้เรียนรู้ว่าคนเขียน ว่า เขาคิด เขาเชื่อ เขามีแรงบันดาลใจอะไร แล้วเราจะเรียนรู้จากเขา ผมว่ามันมีคุณค่ามากเกินกว่า ปีพศ. ที่บรรจุเข้ามาในงานประวัติศาสตร์เสียอีก และก็เป็นคุณค่าเชิงรูปธรรมของงานด้านประวัติศาสตร์ อีกอย่างหนึ่ง

ประเด็นเรื่องความชอบ ความโปรดปราน ความรู้สึก ความคิดเห็น ความเชื่อ และข้อเท็จจริงที่บรรจุอยู่ในสมองของเจ้าของประวัติศาสตร์ และมันส่งผลต่อการกระทำใดๆ อันส่งผลกระทบต่อประวัติศาสตร์ ผมว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนที่สุด แต่น่าเรียนรู้มากเช่นกัน น่าจะเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์โดยพฤติกรรมศาสตร์หรือเปล่าครับ

ดังนั้นประเด็นนี้ก็เช่นเดียวกัน ผมจะทำตามคำแนะนำของคุณเทาชมพู คือจะส่งคำถามหลังไมค์นะครับ (เพราะคิดว่า มีประโยชน์ดีออก)

จะอย่างไรก็ตามประเด็นนี้ ผมก็เห็นความพยายามของทุกท่านในบอร์ดพยายามปกป้องชื่อเสียงของผู้อื่น ที่อาจรู้จักหรือไม่รู้จัก อันเป็นลักษณะที่บัณฑิตพึงจะทำ และหาได้น้อยมากในบอร์ดใดๆ ในโลกอินเตอร์เน็ต โลกแห่งเสรีภาพสูงที่สุดเท่าที่ทฤษฎีจะมีได้ ไม่ใช่ว่าเรื่องไม่เกี่ยวกับฉันแล้วฉันจะผ่านไป หรือหากคำถามล่อแหลมก็ลบทิ้งโดยไม่มีเหตุผล แต่ทุกท่านในที่นี้ก็ไม่ได้กระทำดังนั้น ชี้แจงอย่างละเอียด ทั้งเรื่องความควรไม่ควร ทั้งเรื่องการเลือกมอง เลือกเชื่อ
ก็คงต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ คบบัณฑิตถือเป็น มงคลชีวิต ประการหนึ่ง

KoKoKo



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 ต.ค. 07, 21:17 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 04 ต.ค. 07, 17:36

ผมคิดว่าทุกสังคมมีกฎเกณฑ์ มีบรรทัดฐาน มีความนิยมนับถือ เป็นการจำเพาะครับ ตราบเท่าที่สังคมนั้นๆ ยังเห็นว่าสมาชิกมีพฤติกรรมอยู่ในรีตในรอยไม่เบี่ยงเบนออกจากกลุ่ม สมาชิกก็จะยังดำรงอยู่ได้ต่อไปอย่างผาสุก ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าสมาชิกไม่มีสิทธิคิดเห็นแตกต่างไปจากกระแสหลัก ตรงกันข้าม การคิดทวนกระแสหลายครั้งก็ก่อให้เกิดภูมิปัญญาขึ้น อย่างไรก็ดี การทั้งนั้นก็ต้องไม่กระทบกระเทือนหรือรุนแรงเกินเลยเพดานของกฎเกณฑ์ บรรทัดฐาน และความนิยมนับถือของคนหมู่ใหญ่ หรือหมู่หลักผู้ทรงอธิปัตย์ในสังคมนั้นๆ

สมาชิกผู้มีสติปัญญาและมารยาทอย่างจริงใจ ย่อมเป็นที่ยินดีต้อนรับ ผมเชื่อว่าคุณโคฯ เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้มีคุณสมบัติเช่นว่า

หวังว่ากระทู้นี้จะกล่าวถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นอันน่าสนใจต่อไป ส่วนผมคงหมดธุระเพียงเท่านี้ก่อนเพราะไม่มีความรู้เรื่องไทย-ญี่ปุ่นเอาเสียเลย

รู้จักแต่สนามกีฬากับสะพาน!
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 04 ต.ค. 07, 19:28

ถ้าคุณโคมีอะไรอยากจะถาม กรุณาคลิกที่ "ข้อความส่วนตัว" ได้ค่ะ   
แต่อย่าส่งอีเมล์ เพราะอีเมล์ของดิฉันรับได้เฉพาะชื่อใน  contact list  ถ้าเป็นชื่อภายนอกมันจะลบทิ้งอัตโนมัติ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.154 วินาที กับ 19 คำสั่ง