เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 37398 อยากทราบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครับ
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


 เมื่อ 08 ก.ย. 07, 16:07

ก่อนอื่นผมขออนุญาตแนะนำตัวเอง และที่มาที่ไปนิดนึงนะครับ

เผอิญว่าผมเซิร์จหาบทแปลกลอนภาษาอังกฤษเป็นกลอนภาษาไทยเรื่อง "คือหัตถาครองพิภพ" น่ะครับ
เลยหลงเข้ามาในหน้าภาษาและวรรณคดี หลงจนออกไปไหนไม่ได้เลยครับ ฮิๆๆ

ต้องขอขอบพระคุณคุณ pipat ที่ตั้งกระทู้ "สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท" และบทตอบกระทู้ที่ดุเดือด เผ็ดมัน
เหมือนเรื่อง รหัสลับดาร์วินชี่ ทั้งคุณ CrazyHOrse, คุณเทาชมพู, คุณBana, คุณหนอนบุ้ง และท่านอื่นๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจ
ความใคร่รู้ให้กับผู้เริ่มศึกษา อันยังผลให้เกิดความสนใจอย่างยิ่งยวดในประวัติศาสตร์ วรรณคดี และงานวิชาการ ไม่แพ้นักวิชาการมืออาชีพเลยทีเดียว ข้อเด่นคือการสนทนาได้ปรับเข้าสู่ยุคแห่งอินเตอร์เน็ต โลกแห่งความเสรี และการแสดงออกทางตัวตนอย่างเปิดเผย

เข้าเรื่องเลยดีกว่าครับ

ผมได้มีโอกาสศึกษาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นน่ะครับ สาขาที่ศึกษาอยู่ก็ไม่ได้เกียวข้องภาษาวรรณคดี, ประวัติศาสตร์เลยสักนิดเดียว
แต่ทว่า รถไฟสายสำคัญของญี่ปุ่นที่วนเป็นวงกลมรอบมหานครโตเกียว "Yamanote line" มีภาพเมืองไทย ติดโฆษณาหลาเชียว
ทั้งวัด วา อาราม ทั้งมวยไทย ฯลฯ เลยคิดว่าน่าจะมีอะไรพิเศษ รวมทั้งจัดเทศกาลไทยหลายที่กว่าปรกติทุกปี
รวมถึงการสานสัมพันธ์วัฒนธรรมที่มีมากเป็นพิเศษ อธิ การเล่นมโนราห์ร่วมกับเทพธิดาฮาโกโรโมะ เป็นต้น
เลยถึงบางอ้อว่า ครบรอบความสัมพันธ์ ไทย-ญีปุ่นทางการฑูต 120 ปี

ใครทราบประวัติบ้างครับว่าประเทศไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กันมาอย่างไรบ้างน่ะคับ
คำถามค่อนข้างกว้างเพื่อให้ทุกท่านตอบได้ทุกแง่ทุกมุม

แต่ที่ผมขอสอบถามเป็นพิเศษคือ อยากให้ลองเปรียบเทียบการปรับตัวสู่ยุคเอเชียใหม่ของทั้งไทย และญี่ปุ่นน่ะคับ
วอนท่านผู้รู้และผู้สนใจทุกๆท่านนะครับ

ขอขอบคุณล่วงหน้านะครับ

ด้วยความเคารพ
KoKoKo

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 08 ก.ย. 07, 16:30

สวัสดีค่ะ  ขอต้อนรับสู่เรือนไทยค่ะ
หากลอนที่ว่าได้แล้วใช่ไหมคะ  มีอยู่ในกระทู้เก่าของเรือนไทย
เสียใจจริงๆที่ไม่ค่อยจะจำอะไรได้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น  ต้องอาศัยค้นเอาในเน็ต   
หวังว่าต่อไปอาจจะพอเรียกหน่วยความจำกลับมาได้บ้าง

ตอนนี้อ่านไปพลางๆก่อน
http://www.thaiembassy.jp/120jt/content/view/18/45/lang,th/
ประวัติความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น                                                                   
            ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยก้บประเทศญี่ปุ่น สามารถนับย้อนหล้งไปเป็นเวลาถึงก่วา 600 ปี โดยความสัมพันธ์ในระยะแรกเริ่มต้นจากการติดต่อทำการค้าระหว่างพ่อค้าของไทยกับพ่อค้าชาวเกาะโอกินาวา (Okinawa) ในประเทศริวกิว (Ryukyu) ทางตอนใต้ของญี่ปุ่นจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นระบุว่า เรือพาณิชย์จากโอกินาวาได้เดินทางมาค้าขายกับประเทศต่างๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 14 ซึ่งตรงกับสมัยสุโขทัยของไทย ในขณะที่เรือจากไทยได้เดินทางไปยังเกาะโอกินาวาในตอนปลายคริสตศตวรรษที่ 14 สินค้าที่ไทยนำขาจากญี่ปุ่นในยุคนี้ ได้แก่ ผ้าไหมและสิ่งท้อ เครื่องปั้นดินเผาของจีน ดาบญี่ปุ่น ส่วนสินค้าที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทย ส่วนใหญ่ได้แก่ ไม้สำหรับทำสีย้อมผ้า เครื่องปั้นสังคโลก เครื่องเทศ และสุรา ฯลฯ

            ตัวอย่างของสิ่งที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยก้บประเทศญี่ปุ่นในยุคแรก ได้แก่ เครื่องปั้นสังคโลก ซึ่งในปัจจุบันยังคงเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในหมู่ชาวญี่ปุ่นที่นิยมเครื่องปั้นดินเผา หรือผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับพิธีชนชาแบบญี่ปุ่น ที่ยังมีการใช้ถ้วยชามหรือภาชนะสังคโลกประกอบในพธี นอกจากนี้เหล้าอาวาโมริ (Awamori) ซึ่งเป็นเหล้าพื้นเมืองของชาวโอกินาวา ก็สันนิฐานว่าได้รับการถ่ายทอดวิธีการผลิตเหล้าโรงของไทยและวัตุดิบที่ใช้ผลิตเหล้าอาวาโมริก็เป็นข้าวของไทยหรือข้าวเม็ดยาวในตระกูล Indica ซึ่งต่างจากเหล้าสาเกโดยทัวไปของญี่ปุ่นที่ผลิตจากข้าวญี่ปุ่นซึ่งเป็นข้าวเม็ดสั้นในตระกูล Japonica

            เมื่อเข้าสู่สมัยกรุงศรีอยุธยาการติดต่อค้าขายระหว่างไทยกับญี่ปุ่นขยายตัวออกไปถึงภูมิภาคอื่นของญี่ปุ่น โดยรัฐบาลโชกุนโตกุงาวา (Tokugawa) ได้เริ่มใช้ระบบการออกใบอนุญาตให้แก่เรือญี่ปุ่นที่เดินทางมาค้าขายในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ต้นคริสตศตวรรษที่ 17 และได้ออกใบอนุญาตให้กับเรือที่มาค้าขายกับประเทศไทยเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1604 (พ.ศ. 2147)

            มีหลักฐานว่าจำนวนเรือญี่ปุ่นที่เดินทางมาค้าขายยังกรุงศรีอยุธยามีจำนวนมากก่วาที่ไปค้าขายกับประเทศใดๆ ในยุคนั้นในขณะที่เรือสินค้าของไทยก็เริ่มเดิงทางไปถึงเมืองนางาซากิ (Nagasaki) ซึ่งเป็นเมืองท่าทางตอนใต้ของญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1612 (พ.ศ. 2155) สินค้าที่ญี่ปุ่นซื้อจากไทยในช่วงนี้มีความหลากหลายขึ้น เช่น หนังกวาง งาช้างและเขาสัตว์ ตลอดจนแร่ดีบุก และตะกั่ว การขยายตัวของการค้าระหว่างกันในช่วงนี้ ทำให้มีพ่อค้าญี่ปุ่นเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นชุมชนหรือหมู่บ้านญี่ปุ่น กล่าวกันว่าไนยุคเฟื่องฟูมีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในหมู่บ้านตัวกล่าวสูงสุดถึงประมาณ 1,500 คน

            ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งรกรากในหมู่บ้านญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยาส่วนใหญ่ดัแก่พ่อค้าคนกลางในการซื้อขายสินค้าต่างๆ และผู้นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งอพยพหลบหนีการจับกุมของรัฐบาลโชกุน ซึ่งมีนโยบายจำกัดสิทธิเสรีภาพในด้านศาสนา นอกจากนี้ยังมีบางส่วนเป็นอดีตซามูไรที่พ่ายแพ้การต่อสู้แย่งชิงอำนาจภายในและสูญเสียผู้นำกลุ่มของตน จนต้องหลบหนีออกนอกประเทศ ซึ่งคนกลุ่มหลังนี้เป็นผู้มีความรู้ในด้านอาวุธและการรบและต่อมาได้กลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการช่วยราชการทหาร "กรมอาสาญีปุ่น" โดยมี ยามาดา นางามาสา (Yamada Nagamasa) เป็นหัวหน้า

            ยามาดา นางามาสา ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระเจ้าทรงธรรมเป็นอันมาก จนได้รับความความดีความชอบเป็นพระเสนาภิมุข มีตำแหน่งเป็นเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น มีศักดินา 1,000 ไร่ ก่อนที่จะได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "ออกญาเสนาภิมุข" ในเวลาต่อมา แต่หลังจากสิ้นแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมและพระเจ้าปราสาททองเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ออกญาเสนาภิมุขก็ได้รับคำสั่งให้ไปปกครองเมืองนครศรีธรรมราช และเสียชีวิตจากการปราบกบฎที่เมืองปัตนานี ในปี ค.ศ. 1639 (พ.ศ.2173) อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นบางส่วนระบุว่า ออกญาเสนาภิมุขถูกลอบสังหารโดยผู้ที่มีความริษยา โดยมีสาเหตุจากความขัดแย้งเกี่ยวกับการแย่งชิงราชบัลลังก์ของไทย

            ภายหลังการเสียชีวิตของออกญาเสนาภิมุข หมู่บ้านญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยาก็เข้าสู่ยุคถดถอย จำนวนชาวญี่ปุ่นเริ่มลดน้อยลง แม้ว่าหลังจากนั้นจะมีชาวญี่ปุ่นเข้ามาพำนักในหมู่บ้านญีปุ่นเพิ่มขึ้นบ้างก็ตาม แต่เมื่อรัฐบาลโชกุนโตกุงาวาได้ประกาศห้ามคนญี่ปุ่นเดินทางออกนอกประเทศในปี ค.ศ. 1639 (พ.ศ.2182) แล้ว ก็ส่งผลให้คนญี่ปุ่นไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในกรุงศรีอยุธยาจึงมีจำนวนลดลงโดยลำดับ จนกระทั่งหมู่บ้านญี่ปุ่นสลายไปในที่สุด

            แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะยังคงเป็นความสัมพันธ์ด้านการค้าเป็นหลัก แต่ก็มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อได้ว่า ไทยกับญี่ปุ่นเริ่มมีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในสมัยนี้โดยโชกุนโตกุงาวาได้ส่งคณะทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศไทยเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1606 (พ.ศ.2149) ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ในขณะที่ฝ่ายไทยได้ส่งคณะทูตซึ่งปรากฏชื่อตามหลักฐานของฝ่ายญี่ปุ่นว่า วิสูตรสุนทร และ พิพัฒนสุนทร ไปเจริญสัมพันธไมตรี กับประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1616 (พ.ศ. 2159) แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางของคณะทูตในครั้งนั้นมากนัก

             ต่อมาคณะทูตของไทยซึ่งนำโดย ขุนพิชัยสมบัติ และขุนปราสาท ได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับรัฐบาลโชกุนอีกในปี 1621 (พ.ศ. 2164) โดยในครั้งนี้มีหลักฐานว่า คณะทูตของไทยได้เข้าเยี่ยมคารวะโชกุนในวันที่ 1กันยายน ณ ปราสาทเมืองเอโดะ (กรุงโตเกียวในปัจจุบัน) นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานว่าในปี ค.ศ. 1623 (พ.ศ. 2166) คณะทูตของไทยนำโดย หลวงท่องสมุทร และขุนสวัสดิ์ ได้เดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อขอความร่วมมือจากรัฐบาลโชกุนมิให้ญี่ปุ่นสนับสนุนกัมพูชาในการรบกับกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากในขณะนั้นมีชาวญี่ปุ่นไปตั้งรกรากอยู่ในกัมพูชาและทำหน้าที่ทหารอาสาในลักษณะเดียวกับที่มีอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน

              ภายหลังการเยือนในครั้งนี้ ยังปรากฏหลังฐานเกี่ยวกับการเยือนของคณะทูตทั้งสองฝ่ายอยู่เป็นระยะจนกระทั่งญี่ปุ่นปิดประเทศ และกรุงศรีอยุธยาเริ่มเกิดปัญหาศึกสงครามกับพม่า การติดต่อระหว่างรัฐบาลทั้งสองฝ่ายจึงหยุดชะงักไปเป็นเวลากว่า 200 ปี อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาระหว่างนั้นยังคงมีการติดต่อค้าขายระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านพ่อค้าชาวฮอลันดาในเมืองนางาซากิ ซึ่งเป็นช่องทางเดียวที่รัฐบาลโชกุนให้ติดต่อการค้ากับต่างประเทศได้


โดย   สิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์
จากวารสารวิทยุสราญรมย์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 14 มกราคม - มีนาคม 2545
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 08 ก.ย. 07, 16:36

ลองเข้าไปที่นี่ดูค่ะ
http://www.thaiembassy.jp/120jt/

มีเพิ่มเติมที่นี่
http://www.thaiembassy.jp/120jt/content/view/35/45/lang,th/

การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต     
                หลังจากที่รัฐบาลโชกุนดำเนินนโยบายปิดประเทศในปี ค.ศ. 1639 (พ.ศ.2182) ประเทศญี่ปุ่นก็ตัดขาดจากการติดต่อกับโลกภายนอกจนกระทั่งประเทศตะวันตกเริ่มล่าอาณานิคมและพลจัตวา แม็ทธิว เปอรี่ ของสหรัฐ นำเรือเข้าปิดปากอ่าวอุรางะ (Uraga) ค.ศ. 1853 (พ.ศ. 2396) รัฐบาลโชกุนจึงจำเป็นต้องเปิดประเทศอีกครั้ง ซึ่งส่งผลให้เกิดการล่มสลายของระบบโชกุนในที่สุด และจักรพรรดิญี่ปุ่นเริ่มกลับมามีอำนาจอย่างแท้จริงอีกครั้งหนึ่ง โดยเข้าสู่สมัยเมจิ (Meiji) ในปี ค.ศ. 1868 (พ.ศ. 2411) ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองสมบัติ

             ประเทศญี่ปุ่นในสมัยเมจิกับประเทศไทยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีความคล้ายคลึงกันโดยบังเอิญในทางประวัติศาสตร์หลายๆด้าน โดยนอกจากพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ จะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในปีเดียวกันแล้วพระชันษายังใกล้เคียงกัน โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชสมภพหลังจักรพรรดิเมจิ 1 ปี และเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ก่อนหน้าจักรพรรดิเมจิสวครรต 2 ปี

            ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่ทั้งไทยและญี่ปุ่นต่างต้องเผชิญกับลัทธิล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตก ภารกิจที่สำคัญของพระมหากษัตริ์ทั้งสองพระองค์จึงเหมือนกันคือ การดำเนินวเทโศบายที่ชาญฉลาดเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไว้ ในขณะที่ต้องเร่งพัฒนาประเทศ ประเทศให้เจริญรุดหน้าตามแบบตะวันตก และเป็นในสมัยของพระมหากษัตรย์ทั้งสองพระองค์นี้ที่ประเทศทั้งสองเริ่มมีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันอีกครั้งหนึ่ง

             อย่างไรก็ตาม กว่าที่รัฐบาลของประเทศทั้งสองจะเริ่มติดต่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ต่อกันก็ต้องอาศัยเวลาถึง 20 ปีหลังจากที่พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เนื่องจากในระยะแรก นโยบายด้านการต่างประเทศของไทยและญี่ปุ่นยังต้องมุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับมหาอำนาจตะวันตก จึงทำให้ทั้งสองประเทศไม่มีโอกาสติดต่อกับประเทศในเอเชียด้วยกันมานัก จนกระทั่งเมื่อทั้งสองประเทศได้ทำสนธิสัญญากับมหาอำนาจตะวันตกต่างๆแล้ว จึงเริ่มมีการติดต่อระหว่างกัน ซึ่งเชื่อว่าสาเหตุหลักประการหนึ่งมาจากการที่ทั้งสองฝ่ายมีนโยบายสอดคล้องกันที่ต้องการแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคที่มีต่อตะวันตก และต้องการหาพันธมิตรในเอเชียด้วยกัน

             ในปี ค.ศ. 1887 ( พ.ศ. 2430) ระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีการต่างประเทศเสด็จกลับจากทรงร่วมพิธีเฉลิมฉลองการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติครบ 50 ปี ของสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียที่กรุงลอนดอน ได้เสด็จเยือนประเทศต่างๆในยุโรปและสหรัฐฯ และได้ทรงแวะประเทศญี่ปุ่น ในครั้งนั้นฝ่ายญี่ปุ่นได้เสนอให้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันอย่างเป็นทางการตามระบบสากลแบบใหม่ จึงได้มีการลงนามในสัญญาทางไมตรีและพานิชย์ระหว่างกัน เมื่อ 26 กันยายนค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430) ที่กรุงโตเกียว ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ญี่ปุ่นทำสัญญาในลักษณะนี้ด้วย แม้ว่าสัญญาดังกล่าวจะเป็นเพียงเอกสารสั้นๆที่ระบุเพียงเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายว่าจะมีการทำสนธิสัญญาเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนทางการทูตและส่งเสริมการพานิชย์และการเดินเรือระหว่างกันต่อไปก็ตาม แต่ก็ถือว่าการทำสัญญานี้เป็นการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น

            รัฐบาลญี่ปุ่นได้แต่งตั้งให้ นายมันจิโร อินางากิ (Manjiro Inagaki) ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยคนแรกเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1897 (พ.ศ. 2440) จากนั้นได้มีการลงนามในสัญญามิตรภาพพาณิชย์ การเดินเรือและการทูต ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1898 (พ.ศ. 2441) ที่กรุงเทพฯ และในปีต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลตรี พระยาฤทธิรงค์รณเชษฐ์ ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่นเป็นคนแรก และในปีเดียวกัน ประเทศไทยได้เปิดสถานอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียวขึ้นเป็นสถานอัครราชทูตแห่งที่ 5 ของไทยในต่างประเทศและนับเป็นสถานอัครราชทูตแห่งแรกของประเทศไทยในทวีปเอเชีย

           ต่อมาในปี ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) ประเทศไทยได้ทำความตกลงกับประเทศญี่ปุ่น ในการแลกเปลี่ยนผู้แทนการทูตระดับเอกอัครราชทูต สถานอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว จึงยกระดับจากสถานอัครราชทูต(Legation) เป็นสถานเอกอัครราชทูต (Embassy) และพระยาศรีเสนา (ฮะ สมบัติศิริ) ซึ่งดำรงตำแหน่งอัครราชทูต ก็ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม( Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary) ณ กรุงโตเกียว นับเป็นการเปิดสถานเอกอัครราชทูตแห่งแรก และเป็นการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มรายแรกของประเทศไทย

          นับตั้งแต่ประเทศไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430) เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองได้พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างน่าพอใจในทุกๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์ของทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นโดยลำดับ นับตั้งแต่การเสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่นของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี เมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1931 (พ.ศ.2474) ซึ่งเป็นการเสด็จฯ เยือนญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกของพระมหากษัตริย์ไทย

          ต่อมาได้มีการเสด็จฯ เยือนในระดับพระประมุขอีกหลายครั้ง กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1963 (พ.ศ. 2506) ต่อจากนั้นเจ้าชายอากิฮิโต (Akihito) มกุฏราชกุมารญี่ปุ่นและเจ้าหญิงมิชิโกะ (Michiko) พระชายา ได้เสด็จฯ แทนพระองค์สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต (Hirohito) และสมเด็จพระจักรพรรดินี เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นการตอบแทนในเดือนธันวาคมปีต่อมา และหลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต สวรรคตเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) และมกุฏราชกุมารอากิฮิโต ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตแล้ว ก็ได้เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ซึ่งนับเป็นประเทศแรกที่เสด็จฯ เยือนภายหลังเสด็จขึ้นครองราชย์ และเป็นประเทศในทวีปเอเชียประเทศแรกที่พระจักรพรรดิญี่ปุ่นเสด็จฯ เยือนในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น นอกจากนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนการเสด็จเยือนซึ่งกันและกันของพระบรมวงศานุวงศ์ในระดับต่างๆ อยู่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีงานเฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญของอีกฝ่ายหนึ่ง

           ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นในด้านอื่นๆ ภายหลังการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระยะแรก เป็นการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและวิชาการจากฝ่ายญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเร่งพัฒนาประเทศอยู่นั้น ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องจ้างชาวต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถในสาขาวิชาต่างๆ มาเป็นที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญเป็นจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนนี้มีชาวญี่ปุ่นรวมอยู่ไม่น้อย เช่น นายฟูจิโยชิ มาซาโอะ (Fujiyoshi Masao) ที่ปรึกษาด้านกฏหมายของรัฐบาลไทยระหว่างปี ค.ศ. 1897-1913 (พ.ศ. 2440-2456) ซึ่งต่อมารัฐบาลญี่ปุ่นได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยในปี ค.ศ. 1920 (พ.ศ. 2463) และ นางเท็ตสึ ยาสุอิ (Tetsu Yasui) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาที่รัฐบาลญี่ปุ่นส่งมาช่วยเหลือในด้านการปฏิรูปการศึกษาของไทย และเป็นผู้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งโรงเรียนราชินีขึ้นในปี ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก อาทิ ด้านการเลี้ยงไหม การแพทย์ วิศวกรรมและศิลปหัตถกรรม ฯลฯ

           ความสัมพันธ์ด้านการเมืองเป็นอีกด้านหนึ่งที่ไทยกับญี่ปุ่นมีความใกล้ชิดมาโดยตลอด อาจกล่าวได้ว่าทั้งสองประเทศมีนโยบายด้านการเมืองระหว่างประเทศที่สอดคล้องกันมานับตั้งแต่เริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน โดยในช่วงของการต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกนั้น ญี่ปุ่นพยายามแผ่ขยายอิทธิพลของตนในภูมิภาคเอเชียเพื่อคานอำนาจกับมหาอำนาจตะวันตกเหล่านั้น ในขณะที่ไทยก็พยายามใช้ประโยชน์จากญี่ปุ่นเพื่อการแก้ไขภาวะเสียเปรียบที่มีอยู่กับมหาอำนาจตะวันตกดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งเห็นได้ชัดจากเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น เมื่อที่ประชุมสันนิบาตชาติ ที่นครเจนีวา เมือวันที่ 24 กุมภาพันธ์1933 (พ.ศ. 2476) ลงมติให้ญี่ปุ่นถอนทหารออกจากแมนจูเรีย ไทยเป็นชาติเดียวที่งดเสียง ซึ่งญี่ปุ่นตีความว่าเป็นการแสดงออกถึงท่าทีที่เป็นมิตรต่อญี่ปุ่น

          นอกจากนั้นเมื่อญี่ปุ่นประกาศสงครามกับประเทศพันธมิตรในสงครามมหาเอเชียบูรพา แม้ว่าในระยะแรกไทยจะเป็นกลาง แต่เมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ประเทศไทยและไทยต้องเข้าร่วมรบเป็นฝ่ายเดียวกับญี่ปุ่น ไทยก็ได้ใช้โอกาสดังกล่าวในขณะที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายได้เปรียบเจรจาให้อังกฤษและฝรั่งเศษคืนดินแดนที่เคยเป็นของไทยกลับคืนมา ซึ่งแม้ว่าหลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามและไทยต้องสูญเสียดินแดนเหล่านั้นไปอีกครั้งหนึ่งก็ตาม แต่ก็แสดงให้เห็นท่าทีชัดเจนของทั้งสองฝ่ายที่มีต่อลัทธิล่าอาณานิคมของตะวันตกในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันไทยกับญี่ปุ่นยังคงมีความร่วมมือกันด้านการเมืองอย่างใกล้ชิด โดยไทยสนับสนุนให้ญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในเวทีการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ทั้งสองประเทศเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันและกล่าวได้ว่าเป็นสาขาที่มีความสำคัญที่สุดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจในระยะแรกเป็นความสัมพันธ์การค้าเป็นหลัก โดยพ่อค้าญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาเปิดกิจจการร้านค้าในประเทศไทยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1891 (พ.ศ. 2434) มีธุรกิจด้านอื่นๆ รวมทั้งธนาคารเข้ามาดำเนินกิจการ ในเวลาต่อมามีคนญี่ปุ่นพำนักอยุ่ในประเทศมากขึ้น และได้มีการตั้งสมาคมญี่ปุ่นขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1913 (พ.ศ. 2456)

โดย สิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์
จากวารสารวิทยุสราญรมย์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 14 มกราคม - มีนาคม 2545 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 08 ก.ย. 07, 16:40

 http://www.thaiembassy.jp/120jt/content/view/19/45/lang,th/
หนังสือปฏิญาณ
ว่าด้วยทางพระราชไมตรีแลการค้าขายในรหว่างประเทศสยามกับประเทศยี่ปุ่น

สมเดจพระเจ้ากรุงสยามฝ่ายหนึ่ง กับสมเดชพระเจ้ากรุงยี่ปุ่นอีกฝ่ายหนึ่งนั้น มีพระราชประสงค์พร้อมกัน ที่จะให้มีทางพระราชไมตรีติดต่อกัน แลจะให้ความคุ้นเคยอันสนิทซึ่งได้มีมาแล้วแต่ปางก่อนนั้น คงคืนมีขึ้นถาวรสืบไป ในรหว่างสองพระนคร แลเพื่อประโยชน์ที่จะได้เข้าใจกันไว้เปนหลักถาน ใจความในการซึ่งจะได้ทำหนังสือสัญญากันต่อไปภายน่านั้น จึงได้ตั้งผู้มีอำนาจเตมในการทำหนังสือสัญญาทั้งสองฝ่าย คือ

ฝ่ายสมเดชพระเจ้ากรุงสยาม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศวโรประการ เสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศ ผู้ที่ได้รับเครื่องบรมราชอิศรยยศอันเปนของโบรณที่นับถืออย่างยิ่ง ชื่อนพรัตนราชวราภรณ์ เครื่องราชอิศริยยศอันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง ชื่อมหาจักรกรีบรมราชวงษ เครื่องราชอิศรยยศสำหรับตระกูลอย่างสูงสุด ชื่อปฐมจุลจอมเกล้า เครื่องราชอิศริยยศสำหรับความชอบอย่างสูงสุด ช้างเผือกสยามชั้นที่หนึ่ง ชื่อมหาวราภรณ์ แลเครื่องราชอิศรยยศสำหรับเกียรติคุณอย่างสูงสุด มงกุฏสยามชั้นที่หนึ่ง ชื่อมหาสุราภรณ์

ฝ่ายสมเดชพระเจ้ากรุงยี่ปุ่น ท่านผู้มียศอันประเสริฐ มีตำแหน่งยศที่สืบตระกูลชั้นที่ ๓ ชื่อตัวว่า ชุสสัมมิ เซียวโซ ชื่อตระกูลว่า เอากี่ ผู้เปนรองเสนาบดี ว่าการต่างประเทศ ได้รับตราเครื่องราชอิศริยยศ ชื่ออาทิตยอุไทยชั้นที่ ๒ เครื่องราชอิศริยยศของปรุสเซียชื่ออินทรียแดงชั้นที่ ๑ เครื่องราชอิศริยยศของปรุสเซีย ชื่อมงกุฎชั้นที่ ๑ แลเครื่องราชอิศริยยศของวิลันดา ชื่อราชสีหชั้นที่ ๑

ผู้มีอำนาจเตมทั้งสองฝ่ายนั้น ได้สำแดงหนังสือมอบอำนาจให้ดูซึ่งกันแลกันทั้งสองฝ่าย แลได้เหนว่าหนังสือมอบอำนาจนั้นถูกต้องสมควรตามแบบแล้ว จึงได้ยินยอมพร้อมกันทำคำปฏิญาณดังนี้

คำปฏิญาณว่า
ตั้งแต่วันซึ่งสมเดชพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองฝ่าย ได้ทรงตรวจแก้ไขคำปฏิญาณนี้ว่าเปนอันใช้ได้แล้ว จะได้มีความสงบเรียบร้อย แลมีทางพระราชไมตรีเปนนิจนิรันดรในรหว่างสองพระนครที่ทำสัญญานี้ แลในรหว่างคนในบังคับของประเทศนั้นทั้งสองฝ่ายด้วย


พระนครทั้งสองที่ทำสัญญากันนี้ ต่างเมืองต่างรับนับถือว่ามีอำนาจเหมือนกัน ในการที่จะตั้งทูตผู้แทนเมืองไปตั้งอยู่ณสำนักนิ์เมืองหลวงด้วยกันทั้งสองฝ่าย แลในการที่จะตั้งกงซุลเยเนอราลก็ดี กงซุลก็ดี ฤากงสุลาเอเยนต์ ณที่ท่าเรือแลที่ในเมืองทั้งหลายของสองพระนครนั้นได้ ในที่ซึ่งได้อนุญาตให้ผู้รับการแทนต่างประเทศของชาติอื่นซึ่งได้รับผลประโยชน์มากที่สุดนั้น อาไศรยอยู่

พระนครทั้งสองที่ทำสัญญากันนี้ รับสัญญากันอีกต่อไปว่า จะอุสาหที่จะช่วยแลอุดหนุนตามกำลังที่จะทำได้ในการค้าขาย แลในการเดินเรือในรหว่างคนในบังคับแลพระราชอาณาเขตรของพระนครนั้นๆ

แต่ในประจุบันนี้ ก่อนเวลาที่จะได้ทำสัญญากันให้บริบูรณ์นั้น คนในบังคับของพระนครซึ่งทำสัญญานี้ ฝ่ายหนึ่งจะเข้าไปในพระราชอาณาเขตรอีกฝ่ายหนึ่ง เพียงตำบลซึ่งได้เปิดให้แก่คนต่างประเทศ ที่ได้โปรดอนุญาตให้อย่างมากที่สุดไปค้าขายแล้วนั้น จะเปนเพื่อประโยชน์การค้าขายก็ดี ฤาเพื่อประโยชน์ที่เปนธรรมก็ดี ตัวผู้นั้นแลทรัพยสมบัติของผู้นั้น จะได้พ้นอันตรายไม่มีใครข่มเหง แลจะประฟฤติต่อนั้นทุกอย่างโดยความตรงแลความไม่ลำเอียง

ข้อความพิศดารในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องด้วยการเหล่านี้ จะงดไว้จัดการต่อไปในการที่จะทำสัญญาในรหว่างสองพระนครในภายน่า

คำปฏิญาณนี้ จะได้ตรวจแก้ไขกัน แลหนังสือตรวจแก้ไขว่าใช้ได้นั้น จะได้แลกเปลี่ยนที่เมืองโตกิโยโดยเรวที่สุดที่จะทำได้อย่างช้าที่สุดภายในสี่เดือน ตั้งแต่วันที่ได้ลงชื่อในหนังสือนี้

ในการที่จะทำให้เปนสำคัญมั่งคงนั้น ผู้รับอำนาจเตมทั้งสองฝ่าย ได้ลงชื่อแลประทับตราไว้สองฝ่ายด้วย

หนังสือนี้ได้ทำที่เมืองโตกิโย วันจันทร ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๑ ชื่ออัศยุชมาส ในปีกุนนพศก๒๐
ศักราชโหรสยาม ๑๒๔๗ ตรงกับวันที่ ๒๖ เดือนที่ ๙ ศักราชเมชีปีที่ ๒๐ ตรงกับวันที่ ๒๖ เดือนเซบเตมเบอ คฤสตศักราช ๑๘๘๗
 ***********************
ถ้าหากว่าต้องการรายละเอียดด้านไหนเพิ่มขึ้น  ตั้งคำถามทิ้งไว้ อาจมีผู้รู้แวะมาให้คำตอบมากกว่าข้างบนนี้ค่ะ
 
บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 08 ก.ย. 07, 16:48

แหม คุณเทาชมพูนี่เร็วปานวาสิฎฐีสาวเชียวนะครับ (มีรึเปล่าหว่าวลีนี้ เหอๆๆ) ขอบคุณมากนะครับ
บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 08 ก.ย. 07, 19:48

ขอสอบถามเพิ่มเติมอีกสักนิดนะครับ

ญี่ปุ่นปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ที่เรียกกันว่า 明治維新(Mejiishin) พร้อมๆ กับที่ไทยก็ถูกปูทางสู่ความสมัยใหม่ตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่๓ ตามบันทึกหมอบรัดเลย์

ไทยและญี่ปุ่นมีความคล้ายกันโดยบังเอิญ (หรือไม่ก็ตาม) ตามที่คุณเทาชมพูได้กรุณาเซิร์จหามาให้อ่านนั้น แต่ที่แน่ๆ ประเทศทั้งสองต่างพยายามทำตัวให้ทันสมัย
ปรับทั้งโครงสร้างการบริหารงานแผ่นดิน, ปรับโครงสร้างศาสนา, การศึกษา, ระบบการเงินการคลัง, ระบบขนส่ง, ระบบสื่อสารมวลชน แทบเรียกได้ว่าปฎิวัติวัฒธรรมเลยก็ว่าได้

ญี่ปุ่นเปิดประเทศ ค.ศ. 1853 (ตามข้อมูลที่คุณเทาฯกรุณาหามาให้) 明治維新 เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1868 วิทยาการและวิทยาศาสตร์ได้บ่มประเทศอยู่ระยะหนึ่ง ทันใดนั้นเองญี่ปุ่นก็ปรับตัวเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดด กล่าวคือช่วงปี 80-90 ญี่ปุ่นก็เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เร็วอย่างน่าใจหายจากนโยบายก๊อปปี้ฝรั่ง จนปฏิรูปประเทศได้อย่างสง่าผ่าเผย เมื่อมั่นใจว่าตนเป็นประเทศที่ทันสมัยแล้ว จึงหวนย้อนมองกลับสู่แนวความคิดมาตุภูมิ เกิดเป็นปรัชญาสาย Kyoto School ที่มีแนวคิด วกกลับสู่วัฒนธรรมธรรมเอเชีย อันเป็นข้ออ้างสู่การทำสงครามมหาเอเชียบูรพานั่นเอง (อ้างอิง เรื่องเกี่ยวกับปรัชญาญี่ปุ่นต้นศตวรรรษที่ ๒๐
สาระสังเขป กระบวนทัศน์ทางความคิดเกียวโตสคูล, เรียบเรียง: สมเกียรติ ตั้งนโม, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

ทางกลับกัน แล้วประเทศไทยล่ะครับ ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมหายไปไหน ทั้งๆที่เดินมาพร้อมๆ กัน ไทยสร้างเรือกลไฟเอย รถไฟเอย แล้วอยู่ๆ ยุคปฏิวัติอุตสหกรรมก็หายไป อยู่ๆ ก็โผล่ช่วงปฏิวัติประชาธิปไตยไปเลย

ช่วงรอยต่อแห่งความแตกต่างนี้ ความสัมพันธ์ของไทย กับญี่ปุ่นเป็นแบบไหนกันครับ แล้วฝ่ายไทยไหง กลายเป็นตามไม่ทันไปซะล่ะครับ
ท่านผู้รู้ช่วยอรรถาธิบาย ตลอดถึงช่วงวิกฤตแห่งการเปลี่ยนแปลงยุคสำคัญของโลก กับการเปลี่ยนแปลงของไทยซักนิดได้หรือไม่ครับว่า
พระมหากษัตริย์ไทยท่านได้วางแผนเรื่องอุตสาหกรรมไว้อย่างไร

ส่วนตัวผมรู้สึกงงๆ นิดหน่อยนะครับว่า ทำไมช่วง ร.๖ ถึงมีความรุ่งเรื่องด้านวรรณกรรมในระดับนึง ทั้งๆ ที่การคลังน่าเป็นห่วงมิใช่หรือครับ
(คือมีความเข้าใจว่า งานทางด้านศิลปะน่าจะอยู่ในยุคที่ประเทศมั่งคั่ง เพราะเป็นงานด้าน Entertainmentซะมากกว่า) และประเทศน่าจะเป็นช่วง
ปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยหรือเปล่านะครับ สงสัยน่ะครับว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงนั้นครับ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 08 ก.ย. 07, 21:48

คนตอบคำถามได้น่าจะเป็นนักรัฐศาสตร์
มีสมาชิกบางท่านของเรือนไทยน่าจะตอบคำถามได้  แต่ระยะนี้เห็นว่างานยุ่ง  ดิฉันส่งเมล์ไปหาแล้ว
ถ้ามีเวลาว่างพอ ก็อาจจะเข้ามาให้ความกระจ่างได้
ระหว่างนี้ก็รอท่านอื่นที่แวะเข้ามา   อาจจะมีผู้รู้เข้ามาตอบก็ได้ค่ะ  ดิฉันก็อยากอ่านเหมือนกัน
บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 09 ก.ย. 07, 05:56

ขอบคุณมากจริงๆ ครับ คุณเทาชมพู ที่กรุณาเป็นกัลญานมิตรในสังคมแห่งการเรียนรู้และเป็นเครือข่ายอันทรงพลังในโลกวิชาการนี้

ด้วยความจริงใจ
KoKoKo
บันทึกการเข้า
วรณัย
อสุรผัด
*
ตอบ: 84


คนธรรมดาที่แสนธรรมดา


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 09 ก.ย. 07, 08:24

ถ้าจำไม่ผิด สมัยพระเรศวรเอง ญี่ป่นยังไม่ครอบครองหมู่เกาะทั้งหมด
ริวกิวทำหารค้ากับสยาม แล้วถูกญี่ป่นรังแก ปล้นสดมภ์
พระเรศวรมีหนังสือแจ้งไปทางหมิงว่าจะยกทัพไปรบกับญี่ปุ่น เพื่อรักษาริวกิว
แต่สุดท้ายริวกิวผนวกไปกับญี่ปุ่น เลยต้องเปลี่ยนมาทำการค้ากับญี่ป่น(ผ่านจีน) แทน

 ยิ้ม ยิ้ม ยิ้ม
บันทึกการเข้า

นักวิชาเกินในบอร์ดวิชาการ
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 09 ก.ย. 07, 12:42

เอ... ผมจำเป็นว่า ตอนนั้นฮิเดโยชิบุกเกาหลี ซึ่งเป็นประเทศราชของจีน

ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ริวกิวน่าจะอยู่ใต้อำนาจของญี่ปุ่นเรียบร้อยไปก่อนหน้านั้นแล้วนะครับ

 ฮืม
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
วรณัย
อสุรผัด
*
ตอบ: 84


คนธรรมดาที่แสนธรรมดา


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 09 ก.ย. 07, 14:53

ก่อนปี 2113 ริวกิวและเกาหลียังทำการค้ากับสยามอยู่ครับ
แต่หลังปีนี้ ริวกิวเลิกติดต่อกับสยาม ไปทำการค้ากับญี่ปุ่นแทน

ยึเปิ่นตีฉาวเสี่ยน (เกาหลี) แตก ปี 2135
ปีนี้เชื่อว่าพระเรศวรขอจีนไปทำศึกกับญี่ปุ่นที่มารุกรานเกาหลีของจีน แต่ไม่ได้รับอนุญาต

กัมพูชาส่งราชสาส์นถึงอิเอยัตสุ แจ้งกองเรือโจรญี่ป่นเข้ามาปล้นสดมภ์ ปี 2153

จดหมายของราชวงศ์หมิง บันทึกไว้ว่า ริวกิวมีอ๋อง 3 คน ความสัมพันธ์อันดีกับจีน ยึเปิ่นเขาปล้นริวกิวปี 2155

เรือสำเภาสยามเดินทางไปค้าขายญี่ป่นแทนริวกิวครั้งแรกในปี 2155

แถมภาพเรื่อรบญี่ป่นครับ



บันทึกการเข้า

นักวิชาเกินในบอร์ดวิชาการ
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 10 ก.ย. 07, 15:39


    เคยเป็นนักนิยมญี่ปุ่นแบบเป็นๆ หายๆ เป็นช่วงๆ ครับ ช่วงหลังๆ ห่างๆ ไปไม่ค่อยได้ติดตาม, สนทนากับศิษย์เก่าหรือชาวญี่ปุ่นในไทย
     เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ไทย ญี่ปุ่นแล้ว สิ่งที่นึกถึงขึ้นมาทันที คือความประทับใจจากข่าวการเสด็จเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระจักรพรรดิ
เมื่อปีที่แล้ว ครับ 
     อาจไม่ตรงประเด็นของกระทู้  แต่ขอนำมาแสดงไว้เผื่อบางท่านได้รำลึก ได้ประทับใจ ครับ 
 
            ซูกูทาโร ทานิโน โฆษกส่วนพระองค์ในสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นเล่าด้วยความปลาบปลื้มว่า
๒ ราชวงศ์ไทย-ญี่ปุ่นมีความสนิทแน่นแฟ้นเพียงไหน เพราะไม่สนิทขนาดนี้ สมเด็จพระจักรพรรดิคงจะไม่ "break the rules"
หรือฝ่าฝืนกฎระเบียบปฏิบัติมานานที่ว่า สมเด็จพระจักรพรรดิจะไม่เสด็จเยือนประเทศไหนอย่างเป็นทางการ หรือ 'สเตท วิสิต' (State Visit)
๒ ครั้ง แต่ของไทยนั้นเป็นประเทศแรกที่ทรงทำเช่นนี้ หลังจากเคยเสด็จเยือนไทยเป็นประเทศแรกหลังทรงขึ้นครองราชย์แล้วเมื่อราว ๑๕ ปีที่แล้ว
ไม่นับรวมการเสด็จเยือนไทยอีกหลายครั้งสมัยที่ยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร
       ความสนิทนี้ ทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิทรงเล่าให้นายทานิโนฟังถึงความประทับใจไม่ลืมเลือนเมื่อครั้งเสด็จไปเชียงใหม่
ระหว่างสมัยเป็นมกุฎราชกุมาร และได้ทรงชมโครงการหลวงเพื่อช่วยเหลือคนยากจนและชาวเขาหลายโครงการ
       อีกเรื่องหนึ่งที่ทรงปลื้มก็คือการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ
จักรพรรดิและจักรพรรดินีเป็นการส่วนพระองค์ก่อนเสด็จกลับ ...

     ....... คืนวันที่ ๑๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานเลี้ยงเป็นการส่วนพระองค์ แด่สมเด็จพระจักรพรรดิฯ และพระจักรพรรดินี
ที่พระตำหนักสิริยาลัย ตรงข้ามวัดไชยวัฒนาราม อยุธยา เก้าอี้ที่โต๊ะเสวยมีเพียง ๖ พระองค์เท่านั้น คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระจักรพรรดิ พระจักรพรรดินี สมเด็จพระเทพฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ เท่านั้น
      ระหว่างเสวย พระจักรพรรดิฯ ได้ย้อนรำลึกถึงอดีตเมื่อได้ทรงรู้จักกันใหม่ ๆ กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ตอนนั้นพระชนมายุเพียง ๓๐ พรรษา
โดยตอนหนึ่งที่ทรงประทับใจคือว่า

        มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่เสวยพระกระยาหารร่วมกันบนโต๊ะนี่แหละ ได้รับสั่งถึงความชอบดนตรี โดยพระบาทสมเด็จพระจักรพรรดิรับสั่งว่า โปรดเพลง jazz มาก
ขณะนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เอื้อมหัตถ์ลงไปใต้พระเก้าอี้ และทรงหยิบ clarinet ออกมา เป่าเพลง "Memory of You" ประทาน
สมเด็จพระจักรพรรดิรับสั่งว่าช่วงเวลานั้น เป็นความทรงจำที่แสนดีของพระองค์ (fond memory)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 10 ก.ย. 07, 16:32

คุณนิลกังขา นักรัฐศาสตร์หนึ่งในสองที่ดิฉันเมล์ไปขอให้เข้ามาตอบ(อีกคนคือคุณ B) เกิดทำกุญแจบ้านหาย เพราะไม่ได้เข้ามาเสียนาน
ขอวานเวบมาสเตอร์ช่วยส่งกุญแจไขเข้าบ้านให้หน่อยนะคะ

คุณนกข.ฝากมาตอบตามนี้ค่ะ
************************
เรียนอาจารย์ครับ
ยังไม่ได้เข้าเรือนไทยเลยครับ เพราะว่า ทำกุญแจบ้านหายไปแล้ว...
 
กระทู้เรื่องนี้น่าสนใจครับ แต่ผมสงสัยว่า อาจจะต้องปรึกษานัก ปวศ. เศรษฐกิจไทยด้วย
เพราะเป็นอะไรที่นักรัฐศาสตร์คงจะไม่ค่อยแม่นข้อมูลตัวเลขเท่าไหร่
 
คำถาม แยกได้เป็นหลายแง่ ซึ่งผมก็ได้คุยกับคุณ B บ้างแล้ว  เป็นนักรัฐศาสตร์สองคนคุยกันในเรื่องที่ตัวเองต่างก็ไม่ค่อยรู้
คือประวัติศาสตร์ ศก. ไทย แต่พอสรุปมั่วๆ ได้ (โดยอาจไม่ตรงใจผู้ถามมากนัก) ว่า
ผมสงสัยว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมคืออะไร
กระบวนการเหมือนที่เกิดในยุโรปและญี่ปุ่นนั้นอาจไม่เคยเกิดในไทยเลยก็ได้
หรืออาจจะกำลังดำเนินอยู่ช้าๆ วิ่งไล่ตามญี่ปุ่น (เกาหลี สิงคโปร์ ...) อยู่
จนถึงเดี๋ยวนี้ก้อาจจะยังถือว่าไม่เสร็จสมบูรณ์ในไทยก็ได้มั้ง
นัยหนึ่งผมกำลังสงสัยว่า เราอาจจะมีแต่ industrial evolution ไม่ทันมีindustrial revolution และยังไม่มีซักกะทีจนเดี๋ยวนี้? (เพราะถ้ามี เมืองไทยคงเป็นประเทศอุตสาหกรรมไปแล้ว การที่เรายังไม่เป็น แม้แต่ NIC  ก็เป็นอย่างกะพร่องกะแพร่งนั้น
ถือได้ไหมว่าแปลว่าเรายังไม่ได้ปฏิวัติเข้าสู่อุตสาหกรรมเต็มรูปสมบูรณ์?
ซึ่งไม่ได้แปลว่าดีหรือไม่ดี
เพราะแม้ว่าครั้งหนึ่งอุดมคติของการพัฒนาประเทศหรือแม่แบบการพัฒนาประเทศตามความคิดของแบงก์โลกสักสมัย 1950 เห็นว่าประเทสหนึ่งๆ ต้องเปลี่ยนจากระบบ ศก.เกษตรไปเป็นอุตสาหกรรมเท่านั้น เป็นนิพพานทางเศรษฐกิจหรือเป้าหมายสุดท้าย
สมัยนี้เราไม่ถือยังงั้นแล้ว

เราเห็นว่ามีวิถีทางการพัฒนาและตัวแบบการพัฒนาที่มากกว่าแค่มุ่งสู่การเป็น ปท.
อุตสาหกรรม เช่น เศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นทางเลือกหนึ่ง)
 
แต่ว่าสมัยโน้น (ซักราวๆ พ.ศ. 2500 ต้นๆ ในเมืองไทย และก่อนนั้นขึ้นไป) ไม่มีตัวแบบหรือทางเลือกการพัฒนาอื่น นักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งเสรีนิยม/ทุนนิยม(นักเศรษฐศาสตร์สายสังคมนิยมไม่นับ) จะบ่งชี้เลยว่า
มีทางเลือกทางเดินอย่างเดียว ถ้าเธอต้องการให้บ้านเมืองของธอ "เจริญ" หรือ
"พัฒนา" ก็คือ ต้องกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมซะ ละทิ้งเกษตรกรรมเสีย
มีเหตุผลทางวิชาการ ศก. สนับสนุนมากมายในสมัยโน้น เช่น การ fluctuate
ของสินค้าเกษตร เทียบกับกำไรที่คงที่กว่าของสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าเพิ่มมากกว่า การขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงที่คนคุมไม่ได้ (เช่น ดินฟ้าอากาศ)
น้อยกว่า การมีประสิทธิภาพกว่า และ ฯลฯ
นักเศรษฐศาสตร์สมัยหนึ่งจึงสั่งสอนกันว่า จงพยายามเป็นประเทศอุตสาหกรรมเถิด
สมัยนั้นยังไม่มีคำว่า sustainable development
 
ถามว่าในกระแสการพยายามจะพัฒนาประเทศให้ "เจริญ" ของรัฐไทย เมื่อเทียบกับรัฐญี่ปุ่น ทำไมถึงไม่มีขั้นตอนการ industrialization?
ทำไมข้ามไป? ผมก็ตอบไม่ได้ครับ อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภาอาจจะตอบได้ ผมมองว่า อาจจะยากที่จะกำหนดว่า ไทยเรามีการปฏิวัติอุตสาหกรรมรึเปล่า ถ้ามี เริ่มตรงไหน
เพราะผมรู้สึกว่ามันเป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไปมาเรื่อยๆ
อาจจะเรียกได้ว่าเป็น การ "วิวัฒนาการ" อุตสาหกรรมมากกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมจริงๆ ลองมองย้อนไป กระบวนการนี้อาจถือได้ว่าเริ่มตั้งแต่อย่างน้อยก็ สนธิสัญยาเบาริ่ง ซึ่งเปลี่ยน landscape ของการผลิตในระบบเศรษฐกิจไทยในสมัยนั้นไปไม่น้อย
ต่อมา   การปฏิวัติหรือปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยก็มาแฝงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของการทำประเทศให้ทันสมัย  ในสมัยร. 5 (ตรงกับการทำประเทศให้ทันสมัยของจักรพรรดิญี่ปุ่น) 
อีกหลักไมล์หนึ่งอาจจะเป็นการเขียน "ทรัพยศาสตร์" ที่มีคนบอกว่าเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของเมืองไทย โดยพระยาสุริยานุวัตร เกิด บุนนาค (เข้าใจว่าในช่วง ร. 6) ... สยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ที่ลุมพินี
ถ้าเป็นไปตามที่ในหลวง ร. 6 ท่านทรงคิดไว้ ก็อาจจะเป็นแรงกระตุ้นอุตสาหกรรมในเมืองไทยได้ แต่ในหลวง ร. 6สวรรคตก่อนที่จะจัดเอ็กซโปสิชั่นอันนั้น
 
ยาวแล้ว ขอตัดส่งก่อนครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 10 ก.ย. 07, 16:35

เรียนอาจารย์ (ต่อ) ครับ

หมุดหมายอีกอัน อาจจะเป็นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป.
ท่านพยายามจะส่งเสริมคนไทยให้ดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจ 3 ประการ
เพื่อพึงตนเองให้ได้ทางเศรษฐกิจแบบชาตินิยมของท่าน (เพราะท่านกลัวเจ๊ก
ในขณะที่ครูเทพหรือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีท่านไม่กลัว
ท่านเรียกคนเชื้อจีนในเมืองไทยว่า "ไทยพันธ์เจริญ" เพราะเชื่อมั่นว่าสังคมไทยจะ
assimilate คนจีนได้เข้ามาเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยต่อไป .. แต่นี่นอกเรื่อง)
จอมพล ป. ก็เลยยุ ดูเหมือนอยู่ในรัฐนิยมข้อหนึ่งด้วยซ้ำหรือเปล่า ให้คนไทยขยันขันแข็งประกอบการ กอุพากรรม เป็นศัพท์พิเศษผูกขึ้นในสมัยนั้น
ซึ่งผมเองเห็นว่าเป็นภาษาวิบัติ .. กอุพากรรม คือ กสิกรรม +อุตสาหกรรม+
พาณิชยกรรม สามอย่าง มีอุตสาหกรรมอยู่ด้วย เข้าใจว่าเป็นนโยบายของรัฐที่จะส่งเสริมเรื่อง (3เรื่อง) นี้
อาจจะไม่ใช่สมัยท่านจอมพลเป็นนายกครั้งแรก คือไม่ได้อยู่สมัยเดียวกับรัฐนิยม
แต่เป็นนโยบายสมัยท่านเป็นนายกฯ ครั้งหลัง ผมไม่แม่น
 
เอาเข้าจริงแล้วผมคิดว่าหมุดหมายหลักที่แสดงถึงการเริ่มทะยานขึ้นของการอุตสาหกรรมในเมืองไทยจริงๆ
มันตกเข้ามา 2500 แล้วครับ สมัยคุณสฤษดิ์  เมื่อประเทศไทยเราคลั่งคำว่า
พัฒนาๆๆๆ มีกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ มีแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1
และสอดรับกับแนวคิดจากผู้เชี่ยวชาญ ธ. โลก
และความช่วยเหลือจากทุนนิยมสหรัฐอเมริกา และที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ถึงตอนนั้น 2500 กึ่งพุทธกาล  กลุ่มทุนไทย (เชื้อสายจีน) ที่ได้ค่อยๆ
สะสมทุนและความชำนาญในอุตสาหกรรมกษตร (เช่น โรงสีข้าว) และการ deal กับ ตปท. มาก่อนแล้ว
ถึงตอนนั้นก็มีการสะสมทุนในระดับเพียงพอที่จะขยายฐานการผลิตไปเป็นอุตสาหกรรมได้ บวกกับ FDI หรือ forieign direct investment เข้ามา
(ส่วนหนึ่งมาจากญี่ปุ่น)
มันก็เลยคงเพิ่งจะปรับเป็นเศรษฐกิจระบบอุตสาหกรรมบางส่วนกันเป็นเรื่องเป็นราว
สมัยแผนฯ 1 มาแล้วนี่เอง และจนถึงบัดนี้ ศก. ไทยก็ยังไม่เป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมทั้งระบบ (ตอนหลังๆอาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้เลือกอย่างนั้นด้วย เรามีทางเลือกอีก)
 
คำถามของผู้ตั้งกระทู้ว่า ทำไมถึงข้ามหายไปมาโผล่เอา 2500
ผมยังกำลังนึกอยู่ครับ
คำถามอีกข้อว่า แล้วช่วงนั้นรัฐไทยสัมพันธ์กับรัฐญี่ปุ่นยังไง ก็ต้องขอนึกๆ
ค้นๆ ดูก่อนครับ
 
นกข.
บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 11 ก.ย. 07, 05:47

ผมขอขอบคุณทั้งคุณเทาชมพู และคุณนิลกังขา อีกครั้งนะครับ ที่ท่านกระตือรือร้นในการแสวงหาคำตอบ อันเป็นทานปัญญาอันดีเลิศ

ผมลองอ่านกระทู้ย้อนไปย้อนมา แล้วนึกๆดูถึงแนวทางการพัฒนาและการปรับประเทศสู่ความเป็นสมัยใหม่ในทุกรัชกาล
ผมกลับรู้สึกว่ามันมีนัยสำคัญมากกว่าแค่ฉันต้องการได้ชื่อว่า "โมเดิร์น" นะครับ หรือไม่ก็ พอฉัน "โมเดิร์น"แล้ว ฉันจะยังคงเอกราชไว้ได้ ผมว่ามันมากกว่านั้น

แน่นอนว่าคงไม่มีชนชาติใหนในโลกชอบการถูกดูแคลน และที่แน่ๆ หากถูกดูถูกดูแคลนว่า"ไร้อารยธรรม" เป็นอะไรที่เจ็บปวดเกินรับได้
แต่ลองถามความรู้สึกในใจของพวกเราซิครับ ผมว่าถ้าเป็นผม "ผมกลัวนะ" ผมไม่ได้อาย แต่ผมกลัว

ถามว่ากลัวอะไร แน่นอน พ่อ แม่ พี่ น้อง วงศาคณาญาติ ของเราอยู่ที่เมืองไทย แล้วอยู่ๆ ฝรั่งก็เข้ามา
ใช้เทคโนโลยีเอย ใช้จักรกลอะไรก็ไม่รู้เอย แต่ที่รู้ๆ คือมันอันตรายไม่น้อย  และอาจมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเรา
หากฝรั่งมาวางอำนาจบาตรใหญ่ ญาติโกโหติกาเราจะอยู่กันอย่างไร จะถูกทารุณขมขืนขมเหงหรือเปล่า จะต้องเป็นทาสหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่ากลัวมิใช่หรือ

คนญี่ปุ่นก็กลัวไม่น้อยไปกว่าเรา พวกเขาไว้ใจกันเองมากกว่าไว้ใจคนต่างชาติ (ปัจจุบันก็ยังเป็นอย่างนั้น ให้ตายเถอะ"การไว้ใจกันเอง"มันเป็นชาตินิยมโดยธรรมชาติจริงๆ)

ถามว่าแล้วพวกเราทั้งหลายจะทำอย่างไรดีล่ะ
แน่นอนคำตอบมีไม่กี่ทาง ทางแรก ยอมแพ้ซะเถอะ ทางที่สอง ฉันต้องพัฒนาเทคโนโลยีอย่างน้อยก็เพื่อป้องกันตัวเอง เลี้ยงตัวเอง พัฒนากองกำลังทหาร พัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของครอบครัว และนั่นน่าจะเป็นแรงขับเคลือนสู่การปรับประเทศสู่อุตสหกรรม และความเป็นสมัยใหม่ ทั้งระดับชาติ และระดับปัจเจกชนเลยก็ว่าได้

ลองนึกเบื้องหลังของการที่คนในกรุงดูถูกคนบ้านนอกสมัยที่เกิดความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทอย่างมหาศาลดูซิครับ ทำไมนะ"ถึงต้องดูถูก"

ผมว่าการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นสมัยใหม่มันมีนัยยะทางชีววิทยา คือความต้องการการอยู่รอดแห่งเผ่าพันธุ์ การรักษาพันธุกรรมของพวกเราไว้ในโลกนี้เลยทีเดียว

อ้าว!!! แล้วมันเกียวกันอย่างไรกับการปฏิวัติอุตสหกรรมล่ะ แน่นอนเลยทีเดียวนะครับ เมื่อเราเปิดประเทศหมายความว่า สินค้ามีการไหลเข้าออกทั่วโลก
ถ้าเรายังใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิม ต้นทุนการผลิตจะสูง สูงขนาดไหนน่ะเหรอ ก็สูงขนาดที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ มันถูกกว่าทำเองน่ะซิ...
แล้วเวลาการผลิตก็จะยาวนานกว่า นานขนาดไหนน่ะเหรอ ก็นานกว่าเรือเดินสมุทรจากต่างประเทศจะมาถึง
ทั้งหมดทั้งปวงเราเลยต้องปรับวิธีการผลิตทั้งสายห่วงโซ่แห่งอุปทานเลยทีเดียว ซึ่งนั่นเอง สำหรับผมแล้ว ผมเรียก "การที่ 'อุปทานทั้งสาย' ปรับการผลิตเพื่อให้ลดต้นทุน ย่นเวลา โดยใช้เทคโนโลยี" มันคือการปฏิวัติอุตสาหกรรม

คุณเทาชมพู และคุณ นิลกังขา ครับ มันจะเป็นไปได้หรือไม่ว่าสยามสมัยนั้น อุปสงค์ในประเทศยังไม่มากพอที่จะผลิตเป็นอุตสาหกรรมได้ครับ เพราะมันไม่ใช่แค่
การผลิต มันเกียวกับการบริโภคด้วย หรืออย่างไร


ส่วนเรื่องที่คุณนิลกังขา กล่าวถึงเศรษฐกิจพอเพียง มันเป็นทางเลือกใหม่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องปฏิวัติอุตสาหกรรม ผมขอแย้งในเรื่องนี้ครับ
เศรษฐกิจพอเพียง กับอุตสาหกรรม มันไม่ได้ขัดกันเลยซักนิดเดียว

พระราชดำรัส กล่าวไว้ว่า "การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง"

แน่นอนการที่ญี่ปุ่นปรับตัวเข้าสู่ประเทศอุตสหกรรม ก็เพราะไม่ต้องการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติ ต้องการพึ่งพาตนเอง มีพอเพียงกับตัวเอง
ที่สำคัญวิทยาการเป็นศาตราวุธที่ทรงพลังที่สุด และพลังของมันจะปกป้องประเทศเขตขัณฑ์ได้เหนือกำลังมนุษย์หลายเท่านัก

จนปัจจุบัน เทคโนโลยีของญี่ปุ่น มีเลี้ยงตัวเองพอเพียงแล้ว แต่ทว่าผลิตผลทางการเกษตรกับต้องพึ่งพาต่างประเทศอย่างน่าใจหาย
และคุณเชื่อหรือไม่ครับ พวกเขากำลังปรับโครงสร้างการเกษตรด้วย
ปัจจุบันอัตราการพึ่งพาตัวเองด้านเกษตรของญี่ปุ่นต่ำมากจนเป็นหัวข้อสำคัญในหัวเมืองต่างๆ และสภาไดเอท
เผอิญว่าวันก่อนผมเดินทางไปเกียวโต พบเอกสารรณรงค์เรื่องการพึ่งพาผลผลิตทางการเกษตรด้วยตนเอง รณรงค์อยู่ดาษดื่น
ผมว่าคงไม่นานญีปุ่นคงลดการนำเข้าเนื้อไก่ กุ้งแช่แข็ง ตลอดจนผัก และผลไม้ จากเมืองไทย เพราะตัวเองผลิตเองได้แล้ว ด้วยการปรับปรุงพันธุ์พืชให้ทนต่อสภาพอากาศหนาวได้ พัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทย ถามว่าทำไมอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่เราต้องทำ ขอให้ทุกท่านที่อ่านหันมองไปรอบๆตัวคุณขณะนี้เลยซิครับ หันซ้าย หันขวา ครับอย่างงงน้านแหละ
เจอเนื้อหมู เนื้อไก่ หรือส่วนประกอบของมันวางอยู่หรือเปล่า แน่นอน เจอตรงหน้าท้องของเรานิดหน่อย กับก้อนโปรตีนที่ประกอบเป็นร่างกาย
นอกจากนั้นก็ต้องเดินไปหาในครัว ความจริงก็คือว่า รอบๆตัวเราล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมมิใช่หรือครับ ที่สำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ รถยนต์
แล้วถามว่าเราพึ่งพาตัวเองได้หรือยัง...เรามีพอกิน แต่มีไม่พออยู่

อันนี้เริ่มเบียงประเด็นเล็กน้อย
แต่สิ่งที่ผมต้องการถามยังคงเหมือนเดิม กล่าวคือ ผมเห็นว่าอุตสาหกรรม เทคโนโลยี เป็นสิ่งสำคัญ(แม้ว่าอนาคต งานด้านบริการอาจสำคัญกว่า)
เกษตร และอุตสาหกรรม เป็นรากฐานของประเทศ และทำให้เราพึ่งพาตนเองได้ ทำให้เราไม่ต้องกลัวกลับต่างชาติ และประชาชนมีวิถีชีวิตที่กระตือรือร้น

เมื่อทั้งหมดมีความสำคัญขนาดนี้ แล้วบรรพชนของเราท่านคิดถึงเรื่องเหล่านี้อย่างไร?
เมื่อเราตอบคำถามได้แล้วว่าท่านพยายามเต็มที่แล้ว เมื่อมาถึง Generation ของเรา ก็ควรคิดคำนึงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าท่าน
หรือถ้าท่านไม่ได้สนใจในการพัฒนาเทคโนโลยีนัก ก็แน่นอน คงหนีไม่พ้น Generation ของเราอีกเช่นกันที่ต้องเป็นผู้ลงมือทำอย่งจริงจัง มิใช่หรือครับ

จริงๆที่ผมอยากรู้เรื่องนี้มากเป็นพิเศษนอกเหนือจากความสัมพันธ์ทางการฑูตไทย-ญี่ปุ่น 120 ปีเป็นต้นเหตุแห่งความสนใจแล้วนั้น
ผมยังมีความอยากรู้เชิงเปรียบเทียบถึงแนวทางการพัฒนาประเทศของทั้งสองประเทศเหมือนพิมพ์เดียวกันทั้งจุดเริ่มการเปลี่ยนแปลง สภาพสังคมอุปภัมป์ ตลอดจนนิสัยความอ่อนน้อมถ่อมตน ของคนในชาติที่คล้ายคลึงกัน แล้วอยู่ๆ ก็เกิดความแตกต่างอย่างลิบลับ

ประมาณว่า ความเป็นอยู่ของเราห่างจากเขาอย่างต่ำก็ห้าสิบปี หกสิบปี เลยทีเดียว (สังเกตจากความสามารถทางเทคโนโลยีของผู้สูงอายุที่นี่เทียบได้พอๆกับวัยรุ่นบ้านเรา สังเกตจากการคมนาคมขนส่งที่นี่วิวัฒน์ไปก่อนประเทศเรา สังเกตุจากระดับคุณภาพชีวิต เช่นการศึกษา สาธารณสุข สังเกตจากโครงสร้างของบริษัท
สังเกตจากมาตรฐานงานวิจัย ฯลฯ)

สุดท้ายผมขอขอบคุณล่วงหน้านะครับ สำหรับปัญญาทาน ที่ท่านจะนำเสนอยิ่งๆขึ้นไปในหัวข้อนี้ และท่านอื่นๆ ที่จะร่วมอ่าน และวิเคราะห์ตามความเห็นของตนเอง อันเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาตนเองอย่างดียิ่ง สู่สังคมที่อุดมด้วยปัญญาแบบที่เป็นรูปธรรมที่สุดนะครับ

ด้วยความเคารพ
KoKoKo







 
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.072 วินาที กับ 19 คำสั่ง