เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 9923 ลัทธิเต๋าเป็นอย่างไรหรือครับ
agree
ชมพูพาน
***
ตอบ: 114


แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี


 เมื่อ 27 ส.ค. 07, 19:37

ต้องการทราบข้อมูลครับ มีภาพก็ขอภาพด้วยนะครับ  ยิ้ม


บันทึกการเข้า

Some dream of worthy accomplishments, while others stay awake and do them.
บางคนฝันที่จะประสบความสำเร็จอย่างสวยหรู ในขณะที่บางคนกำลังลงมือกระทำ
Package
มัจฉานุ
**
ตอบ: 55


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 27 ส.ค. 07, 20:30


ลัทธิเต๋า

เมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว ชาวจีนตามลุ่มแม่น้ำเหลือง มีความเคารพธรรมชาติ เช่น ภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ ฯลฯ เป็นอย่างสูง แต่อันที่จริงเป็นการนับถือวิญญาณ (Spirits) ในระดับต่าง ๆ จากสูงมาหาต่ำ ได้แก่ วิญญาณแห่งสวรรค์ หรือ เซี่ยงตี่ (เทียนตี่) วิญญาณภาคพื้นดิน วิญญาณมนุษย์ และวิญญาณสัตว์ทั้งหลาย สวรรค์ถือว่าเป็นวิญญาณสูงสุด เป็นบรรพบุรุษของฮ่องเต้หรือพระจักรพรรดิ และเป็นหัวหน้าวิญญาณของบรรพบุรุษสวรรค์ไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นเจตจำนงของพระผู้เป็นเจ้า หรือ พูดให้ถูกที่สุดเป็นระเบียบแห่งเอกภพ ฮ่องเต้จะต้องทำการบูชาสวรรค์และแผ่นดินปีละครั้งประชาชนธรรมดาไม่อาจบูชาสวรรค์และโลกง่ายนัก จึงบูชาบรรพบุรุษผู้ล่วงลับของตนแทน เชื่อกันว่าวิญญาณของบรรพบุรุษยังดำรงอยู่ และจะคอยช่วยเหลือบุคคลที่กระทำการบูชาให้มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต มีการกินเลี้ยงฉลองอย่างมโหฬาร การบูชาเป็นเรื่องส่วนตัว และโดยตรง ไม่ใช่เพราะมีความกลัว หรือใช้เวทมนตร์คาถา ตามความคิดเก่าแก่ของจีน นักปราชญ์จีนโบราณ จึงพบคำอธิบายซึ่งยืนยันว่า ในเอกภาพนี้มีพลังหรือ อำนาจตรงกันข้ามอยู่ 2 อย่างคือ

1) หยาง (Positive Power) คือพลังบวกมีลักษณะสีแดง เป็นพลังเพศชาย พบในทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ความอบอุ่น สว่างไสว มั่นคง สดใส เช่น ดวงอาทิตย์ ไฟ ฯลฯ
2) หยิน (Negative power) คือพลังลบ มีลักษณะสีดำ เป็นพลังเพศหญิง พบในทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ความหนาวเย็น ความมืด อ่อนนุ่ม ชื้นแฉะ ลึกลับ และเปลี่ยนแปลง เช่น เงามืด น้ำ ฯลฯ

        สวรรค์เป็นหยางแทบทั้งหมด และโลกเป็นหยินแทบทั้งหมดเช่นกัน จากการปะทะกันของสองสิ่งนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็อุบัติขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างมีพลังทั้งสองนี้ทั้งนั้น บางครั้งหยินอาจมีพลังแข็งแรง แต่บางครั้ง หยาง ก็มีพลังมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ท่อนไม้ ตามปกติเป็นหยิน แต่เมื่อโยนเข้าไปในกองไฟ ก็เปลี่ยนรูปเป็นหยางไป ในชีวิตคนหยินและหยางก่อให้เกิดความล้มเหลวและความสำเร็จเป็นต้น เช่นเดียวกัน หยางและหยินไม่ใช่เป็นตัวแทนของความดีและความชั่ว แต่ทั้งสองนี้มีความจำเป็นต่อกฏเกณฑ์และระเบียบของเอกภพ ทั้งสองนี้ไม่ใช่อยู่ในภาวะปะทะกันตลอดเวลา แต่ยามใดมีความสามัคคีกัน ทั้งสองอย่างนี้ก็เป็นสิ่งดีด้วยกัน

       ในระหว่างคริสตวรรษที่ 5 - 6 มีศาสดาทางศาสนาและปรัชญาเกิดขึ้นอย่างน่าสังเกต ในอินเดียมีศาสดามหาวีรและพระพุทธเจ้า ในกรีกมีโสคราตีส ในเปอร์เซียมีโชโรอัสเตอร์ ในจีนมีเล่าจื้อ และขงจื้อ ท่านเล่าจื้อ (Lao tze) เป็นศาสดาของศาสนาเต๋า ซึ่งได้หล่อหลอมชีวิตและอัธยาศัยชาวจีนกว่า 2000 ปีมาแล้ว

       ชื่อจริงของเล่าจื้อ คือ ลี - เออร์ (Li Uhr) เกิดเมื่อปี 604 ก่อนคริสต์ศักราช ที่จังหวัดโฮนานประเทศจีน ตอนเมื่อเกิดนั้น กล่าวกันว่า พอคลอดออกมาก็เป็นคนมีผมหงอกขาว และมีอายุ 72 ปีแล้ว ด้วยเหตุนี้แหละท่านจึงชื่อ เล่าจื้อ ซึ่งหมายถึง "เด็กแก่" หรือ "ครูเฒ่า" เมื่อทำงานเป็นบรรณารักษ์ ที่หอสมุดหลวง สำนักของเจ้าเมือง ปรากฎว่ามีชื่อเสียงโด่งดังเพราะมี อำนาจสติปัญญาที่ลึกซึ้งเว้นคนธรรมดาสามัญ ครั้งหนึ่งขงจื้อเดินทางมาพบ ท่านไม่ชอบคำสอนของขงจื้อเลย ถึงกับพูดว่า "กลับไปเสียเถิดและเลิกความหยิ่งความอยากของท่านเสียด้วยนะ"

       เล่าจื้อ ไม่ชอบชีวิตหรูหรา แต่ทุกคนดูเหมือนจะมุ่งมั่นเพื่อเงินชื่อเสียงและอำนาจ ในขณะเดียวกันทั้งเมืองก็เต็มไปด้วยการโกงกินกันอย่างมโหฬาร ด้วยเหตุนี้ วันหนึ่งท่านจึงขับเกวียนเทียมวัวดำสองตัวมุ่งไปยังภูเขาด้านทิศตะวันตก (ทิเบต?) พอถึงประตูเมืองนายประตูจำได้ จึงขอร้องให้ท่านหยุดพักเพื่อเขียนปรัชญาแห่งชีวิต ท่านจึงได้เขียนตำราที่โด่งดังของท่านเป็นอักษรจีน 5,500 ตัว จากนั้นก็ได้เดินทางต่อไป ปรากฏว่าพอถึงช่องแดนระหว่างภูเขา ท่านก็หายเข้าไปในก้อนเมฆ อะไรได้เกิดขึ้นก็ตามทีเถิด ตั้งแต่นั้นมาไม่มีใครเห็นท่านอีกเลย

      คัมภีร์ที่เล่าจื้อเขียนนี้ มีชื่อว่า เต๋า - เต๋อ - จิง (Tao - the - jing) แปลว่า คัมภีร์แห่งมรรคและอำนาจ เล่าจื้อเริ่มต้นด้วยการตอบปัญหาที่ว่า "อะไรคือแก่นของเอกภพ?" "ถ้าเราสามารถมองไปเบื้องหลังปรากฎการณ์ของสิ่งทั้งหลายได้ และพบลักษณาการที่ชีวิตเกิดขึ้นแล้ว เราจะดำเนินชีวิตอย่างไร?" เล่าจื้ออธิบายว่า คำตอบมีอยู่พร้อมแล้วในว่า "เต๋า" คำนี้แปลกันมาว่า "ทาง", "มรรค" หรือ "แหล่งกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่าง" และเป็นการยากที่จะให้ความหมายเพราะคำ ๆ นี้ให้คำจำกัดความไม่ได้ แก่นแท้ของเต๋าลึกลับกว่าความลึกลับใด ๆ แต่ว่าก็มีบางสิ่งบางอย่างที่พอจะสังเกตได้ดังนี้

     เต๋าไม่ใช่พระเป็นเจ้า แต่เป็นพลังหรืออำนาจที่หลั่งไหลท่วมท้นทุกสิ่งทุกอย่าง มีความรักทะนุถนอม แต่ก็ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือยึดสิ่งใดเป็นเจ้าของ เป็นสิ่งที่ทำงานอย่างนุ่มนวลและสงบเสงี่ยม โดยไม่ต้องพยายามสิ่งทั้งหลายก็จะเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ ให้พิจารณาตัวอย่างความเจริญก้าวไปแต่ละปีของฤดูทั้ง 4 ซึ่งดำเนินไปตามกฏเกณฑ์จากฤดูหนึ่งไปสู่ฤดูหนึ่ง ชนิดไม่ทันได้สังเกต ถึงอย่างนั้น ในแต่ละฤดูธรรมชาติทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่ โดยปราศจากความวุ่นวายในภาวะเช่นนี้ เต๋าทำหน้าที่ประธานอย่างสงบและอย่างได้ผล (วู - เว) เพื่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี

        ลัทธิเต๋ามีกำเนิดในประเทศจีน ต้นกำเนิดเดิมของลัทธิเต๋าไม่ใช่ลัทธิหรือศาสนา แต่เป็นปรัชญาธรรม เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า โดยอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ ตัดสิ่งที่เกิน ความจำเป็นของชีวิต รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีที่ฟุ่มเฟือยและฝืนกับธรรมชาติ โดยกลับไป มีชีวิตแบบง่าย ๆ ท่ามกลางความสงบของป่าเขาลำเนาไพร แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไปปรัชญาเต๋าได้ถูก ดัดแปลงให้สอดคล้องกับความเชื่อดั้งเดิมของจีนซึ่งบูชาพระเจ้าประจำธรรมชาติ ผสมกับความเชื่อ ในทางไสยศาสตร์อื่น ๆ จึงเกิดเป็นลัทธิเต๋า ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในตอนต่อไป
ปรัชญาเต๋าเป็นระบบความคิดที่โดดเด่นต่างจากปรัชญาอื่น ๆ ของจีน กล่าวคือ มีแนวคิดที่นอกจากจะเน้นหนักในทางจริยศาสตร์แล้ว ยังมีแนวคิดทางด้านปรัชญาการเมืองและทัศนะในทางอภิปรัชญาค้นหาอันติมสัจจ์ที่เป็นรากฐานแห่งสรรพสิ่ง ตรงจุดนี้เองที่ทำให้ปรัชญาเต๋ายังคงยืนหยัดท่ามกลางกระแสปรัชญาอื่น ๆ ของโลกในปัจจุบันแม้นวันเวลาจะผ่านพ้นไปนานก็ตาม ปรัชญาเต๋า ยังคงเป็นสิ่งที่น่าศึกษาค้นคว้าสำหรับผู้รักการแสวงหาความจริง
ก่อนที่จะกล่าวถึงระบบแนวความคิดของปรัชญาเต๋า เราควรศึกษาชีวประวัติของผู้ให้กำเนิดนั่นคือท่าน "เหล่าจื้อ" ผู้ซึ่งมีชีวประวัติยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่อาจจะสันนิษฐานความเป็นมาของท่านจากบันทึก "ซื่อกี่" ซึ่งเป็นบันทึกที่รวบรวมโดยซิเบ๊เชียง นักประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ฮั่น แม้นว่าบันทึกนี้จะมีบางตอนที่ขัดแย้งทำให้เกิดความคลุมเคลือก็ตาม แต่เราอาจจะสรุปได้ว่าท่านเหลาจื๊อเกิดในช่วงศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล เป็นชาวรัฐฌ้อ อำเภอหู ตำบลหลี หมู่บ้าน เค้กยินลี้ ชื่อเดิมของท่านคือ "ยื้อ แซ่ลี้" ส่วนชื่อเหลาจื๊อเป็นเพียงฉายาที่นิยมเรียกกันเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า "อาจารย์ผู้เฒ่า" ท่านเคยรับราชการในราชสำนักจิว โดยดำรงตำแหน่งเป็นบรรณารักษ์ใหญ่แห่งหอพระสมุดต่อมาได้เห็นความเสื่อมโทรมของราชวงศ์จิวจึงออกจากราชการจาริกไปถึงด่านแห่งหนึ่งก็ถูกนายด่านขอร้องให้เขียนคัมภีร์ ซึ่งท่านได้แต่งให้และได้ลาจากไปโดยไม่มีผู้ใดทราบ

        คัมภีร์ที่สำคัญที่สุดของลัทธิเต๋าคือ "เต๋าเต๋อจิง" ซึ่งเชื่อกันว่าท่านเหลาจื๊อเขียนขึ้น เมื่อประมาณศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล มีลักษณะเป็นหนังสือขนาดเล็กที่บรรจุถ้อยคำมากกว่า 5,000 คำ มีทั้งหมด 81 บท และนิยมแปลออกมาในรูปของร้อยกรอง เป็นคัมภีร์ที่มีผู้สนใจแปลเป็นภาษาอังกฤษมากรองลงจากคัมภีร์ไบเบิลและแปลเป็นภาษาอื่น ๆ อีกหลายภาษา จึงเป็นหนังสือของคนจีนที่มีผู้รู้กันดีมากที่สุดเล่มหนึ่ง

        โวหารที่ใช้ในคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงนั้นมีสำนวนลึกซึ้งยากแก่การเข้าใจ เพราะเขียนไว้ด้วยประโยคสั้น ๆ แต่กินความหมายพิสดารซึ่งจะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ และจะต้องมีการอธิบาย อย่างยืดยาวจึงจะเข้าใจได้ ดังนั้นคัมภีร์นี้จึงมีนักปราชญ์เป็นจำนวนมากในสมัยต่อมา พยายามที่จะแต่งอรรถกถาและอรรกถาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดที่ท่านเสถียร โพธินันทะ (เสถียร โพธินันทะ. 2514 : 180) ได้กล่าวไว้คือ อรรถกถาเต๋าเต๋อจิงที่เขียนโดย เฮ่งเพี๊ยก ซึ่งเป็นปราชญ์ที่มีชีวิต ในสมัยสามก๊ก (ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ เจ๋ง

         ดังที่ได้ทราบมาแล้วว่า คัมภีร์เต๋าเต๋อจิงนี้มี 2 ภาค คือ "เต๋าจิง" และ "เต๋อจิง" เต๋าจิงเริ่มตั้งแต่บทที่ 1 - 37 อธิบายถึงความคิดที่เกี่ยวกับอันติมสัจจ์ และมรรควิธีแห่งการเข้าถึงอันติมสัจจ์นั้น โดยเริ่มต้นอธิบายตั้งแต่เต๋าคืออะไร ธรรมชาติของเต๋า การเกิดขึ้นของสิ่งที่เป็นสมมติบัญญัติหลักจริยธรรมของชีวิต ไปจนกระทั่งการอธิบายถึงวิถีทางเข้าถึงเต๋า ส่วนบทที่ 38 - 81 เป็นการอธิบายว่าชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร ลักษณะการเมืองการปกครองที่ดีเป็นอย่างไร ลักษณะของผู้เป็นปราชญ์ที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุข และประเทศในอุดมคตินั้นควรมีลักษณะอย่างไร

        ความจริงสุงสุดที่ลัทธิเต๋าให้ความเคารพนับถือ คือ "เต๋า" ซึ่งเป็นเอกภาพของสรรพสิ่งเป็นที่เกิดและดับของสิ่งทั้งหลาย แต่เอกภาพนี้เป็นสิ่งที่ไม่ตาย ไม่มีเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดโดยความหมายของคำว่า "เต๋า" ซึ่งเป็นเอกภาพของสรรพสิ่งทั้งมวลนี้มีความหมายว่า "หนทาง หรือวิธี" ซึ่งเป็นหนทางที่ไร้ทาง นั่นคือ เราไม่สามารถเห็นหนทางนี้ด้วยการเห็น ไปไม่ได้ด้วยการเดินแต่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เป็นหนทางที่มีจุดหมายแฝงอยู่ในตัวเอง เป็นบ่อเกิดและเป็นจุดหมายสุดท้ายของเอกภพ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูดหรือเหตุผล นอกจากการเปรียบเทียบ แต่การเปรียบเทียบก็ยังไม่สามารถอธิบายได้ถึงเต๋าตัวจริง ดังคำกล่าวของเหลาจื๊อในเต๋าเต๋อจิง บทที่ 1 ซึ่งพจนา จันทรสันติ (พจนา จันทรสันติ. 2523 : 53) ได้แปลมาจาก "ภูมิปัญญาจีน" (The Wisdom of China) ของหลินยู่ถั่ง โดยแปลความไว้ว่า

"........เต๋าที่อธิบายได้มิใช่เต๋าอันอมตะ
ชื่อที่ตั้งให้กันได้ ก็มิใช่ชื่ออันสูงส่ง
เต๋านั้นมิอาจอธิบาย และมิอาจตั้งชื่อ
เมื่อไร้ชื่อทำฉันใด จักให้ผู้อื่นรู้
ข้าพเจ้าขอเรียกสิ่งนั้นว่า "เต๋า" ไปพลาง ๆ
.....................................
บ่อเกิดนั้นสุดแสนลึกล้ำ
ความลึกล้ำสุดแสนนั้น
คือประตูที่เปิดไปสู่ความรู้แจ้งแห่งสรรพชีวิต"

         นอกจากนี้แล้ว ในเต๋าเต็กเก็งบทที่ 6 ได้ทำให้เราเห็นความยิ่งใหญ่ของเต๋ามากขึ้น เพราะจากเอกภาพนี้เองที่เป็นบ่อเกิดของฟ้าและดิน พจนา จันทรสันติ (2523 : 61) ได้แปลความไว้ว่า

"อหิทธานุภาพอันล้ำลึกนั้นมิเคยดับสูญ
เป็นมารดาอันมหัศจรรย์
จากทวาราแห่งมารดานี้เอง
ได้ก่อเกิดรากฐานแห่งฟ้าและดิน"

          สำหรับในบทที่ 25 ได้ทำให้เราเห็นและเข้าใจในอันติมสัจจ์นี้ได้ดียิ่งขึ้นถึงความยิ่งใหญ่ที่มีอยู่เป็นอยู่ด้วยตนเอง และจะมีอยู่อย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ แม้นว่าสิ่งทั้งหลายจะสูญสิ้นไปหมดแล้วก็ตามแต่เต๋าก็ยังอยู่ชั่วนิจนิรันดร พจนา จันทรสันติ (2523 : 95) ได้แปลความไว้ว่า

"ก่อนดำรงอยู่ของฟ้าและดิน
มีบางสิ่งบางอย่างมืดมัวเคลือบคลุม
เงียบงันโดดเดี่ยว
อยู่เพียงลำพัง ไม่แปรเปลี่ยน
เป็นอมตะหมุนเวียนไม่หยุดยั้ง
มีค่าควรแก่การเป็นมารดาของสรรพสิ่ง
ข้าพเจ้าไม่ทราบชื่อสิ่งนั้น
แต่ถ้าถูกบังคับให้เรียก
ก็จะเรียกว่า "เต๋า"
และจะให้ชื่อว่า "ยิ่งใหญ่"
ยิ่งใหญ่หมายถึงความต่อเนื่อง
ความต่อเนื่องหมายถึงความยาวไกล
ความยาวไกลหมายถึงการกลับสู่ต้นกำเนิดเดิม
ดังนั้นเต๋าจึงยิ่งใหญ่
ฟ้าจึงยิ่งใหญ่
ดินจึงยิ่งใหญ่
ปราชญ์จึงยิ่งใหญ่
นี่คือความยิ่งใหญ่สี่ชนิดในจักรวาล
และปราชญ์ก็นับเป็นหนึ่งในนั้น
คนทำตามกฎแห่งดิน
ดินทำตามกฎแห่งฟ้า
ฟ้าทำตามกฎแห่งเต๋า
เต๋าคงอยู่และเป็นไปด้วยตนเอง"

       ดังได้กล่าวมาแล้วนี้เราอาจสรุปได้ว่าเต๋าเป็นธรรมชาติที่มีอยู่เหนือถ้อยคำ จึงยากที่จะอธิบายให้ผู้คนเข้าใจได้ง่าย แต่มิได้หมายความว่าเราจะไม่มีโอกาสเข้าถึงเต๋า การเข้าถึงเต๋าและรู้จักเต๋ากระทำได้ด้วยการบำเพ็ญเพียร ทางจิตให้สงบจากอารมณ์ภายนอกทั้งอารมณ์ที่น่ายินดีและไม่น่ายินดี ไม่หลงเพลิดเพลินกับอารมณ์ที่ตนได้เข้าไปสัมพันธ์เกี่ยวข้องแต่ควบคุมจิตให้อยู่ในภาวะบริสุทธิ์ ดังคำกล่าวในเต๋าเต๋อจิงบทที่ 10 ความว่า

"รักษาดวงวิญญาณให้พ้นจากความมัวหมอง
ทำจิตให้แน่วนิ่งเป็นหนึ่งเดียวได้หรือไม่
หายใจอย่างละเอียดอ่อนแผ่วเบา
เหมือนลมหลายใจของเด็กอ่อนได้หรือไม่
ชำระล้างญาณทัศนะให้หายมืดมัว
จนอาจแลเห็นกระจ่างชัดได้หรือไม่
มีความรักและปกครองอาณาจักร
โดยไม่เข้าไปบังคับบัญชาได้หรือไม่
ติดต่อรับรู้ และเผชิญทุกข์สุข
ด้วยความสงบนิ่งไม่ทุกข์ร้อนได้หรือไม่
แสวงหาความรู้แจ้ง
เพื่อละทิ้งอวิชชา ได้หรือไม่
ให้กำเนิด ให้การบำรุงเลี้ยง
ให้กำเนิด แต่มิได้ถือตนเป็นเจ้าของ
กระทำกิจ แต่มิได้ยกย่องตนเอง
เป็นผู้นำในหมู่ตน แต่มิได้เข้าไปบงการ
เหล่านี้คือคุณความดีอันลึกล้ำยิ่ง"

ขอขอบคุณ  http://www.baanjomyut.com/library/2548/tao/index.html ครับ
บันทึกการเข้า
agree
ชมพูพาน
***
ตอบ: 114


แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 30 ส.ค. 07, 17:06

อ้างถึง
1) หยาง (Positive Power) คือพลังบวกมีลักษณะสีแดง เป็นพลังเพศชาย พบในทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ความอบอุ่น สว่างไสว มั่นคง สดใส เช่น ดวงอาทิตย์ ไฟ ฯลฯ
2) หยิน (Negative power) คือพลังลบ มีลักษณะสีดำ เป็นพลังเพศหญิง พบในทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ความหนาวเย็น ความมืด อ่อนนุ่ม ชื้นแฉะ ลึกลับ และเปลี่ยนแปลง เช่น เงามืด น้ำ ฯลฯ


หยางน่าจะมีลักษณะสีขาวนะครับ  ลังเล


บันทึกการเข้า

Some dream of worthy accomplishments, while others stay awake and do them.
บางคนฝันที่จะประสบความสำเร็จอย่างสวยหรู ในขณะที่บางคนกำลังลงมือกระทำ
agree
ชมพูพาน
***
ตอบ: 114


แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 30 ส.ค. 07, 17:09

แย่แล้วภาพไม่ติด  ร้องไห้  งั้นลองไปค้นใน http://image.google.com/ แล้วกันนะครับ
บันทึกการเข้า

Some dream of worthy accomplishments, while others stay awake and do them.
บางคนฝันที่จะประสบความสำเร็จอย่างสวยหรู ในขณะที่บางคนกำลังลงมือกระทำ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.056 วินาที กับ 19 คำสั่ง