เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
อ่าน: 20325 นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 02 ต.ค. 07, 13:36

กลอนตอนนี้ ให้ภาพสำเพ็งในสมัยนั้น ว่า
๑) มีเก๋งตั้งริมแม่น้ำ
๒) มีเรือนแพจอดอยู่มาก  
๓) มีตรอกในสำเพ็ง เป็นถิ่นของโสเภณี มีมโหรีจีน  นางนักร้องขับร้องตอนยามสอง คือหลังสามทุ่มถึงเที่ยงคืน  เสียงแว่วมาถึงเรือกลางแม่น้ำ

ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ                    แพประจำจอดเรียงเคียงขนาน
มีซุ้มซอกตรอกนางเจ้าประจาน           ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง

ดูเหมือนคุณส.พลายน้อย หรือไม่ก็ใครสักคนที่เล่าเรื่องเก่าๆของกรุงเทพ เคยพูดถึง" เก๋งจีน"  จำไม่ได้ว่ารัชกาลไหน  แต่ไม่น่าจะถอยไปถึงรัชกาลที่ ๑
คุณพพ.และคุณอาชาฯ พอจะดูออกไหมคะ ว่าเป็นสำเพ็งตั้งแต่รัชกาลไหน
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 02 ต.ค. 07, 14:59

นิราศเมืองแกลงมีดีที่ไม่ได้ "ครวญ" อย่างเดียว แต่เล่าเรื่องราวประกอบหลายตำบลที่ผ่าน น่าเสียดายที่กวีออกเดินทางตอนกลางคืน จึงบรรยายภาพช่วงที่ล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ไม่มากนัก สำเพ็งเป็นตำบลแรกที่มีการบรรยายไว้ จากกลอนทีี่่อาจารย์ยกมาจะเห็นภาพสำเพ็งในแง่ลบ ลองดูนิราศอื่นๆอีกสามเรื่องนะครับ (จะเรียงลำดับจากเก่าไปหาใหม่นะครับ)

นิราศชุมพร
สามเพ็งเพ็งพักตร์เพี้ยง   ดวงเดือน แม่ฤๅ
แขแข่งคิงคมเหมือน      แว่นฟ้า
รำลึกเกลื่อนใจเตือน      ดาลดื่น
เพ็งว่าเพ็งพักตร์หน้า      แม่หน้านวลจันทร์ ฯ

นิราศพระยาตรัง
ไม่กล่าวถึงสำเพ็ง

นิราศฉะเชิงเทรา
สามเพ็งเพ็งพักตร์แผ้ว    ผิวขวัญ แม่เอย
เพ็ญพักตร์พิบูลย์จันทร์   แจ่มฟ้า
สามภพพี่เล็งสรร         แสนพักตร์ ก็ดี
พิศบ่เพ็ญบูรณ์หน้า       หนึ่งหน้านางเดียว ฯ

สามเพ็งเพ็ญพักตร์น้อง   นวนผจง
เพ็งยิ่งเพ็ญจันทร์วง       วาดแต้ม
โอ้ศรีสวัสดิทรง           สรรพลักษณ์ กูเอย
เพ็ญพักตร์พิมลแย้ม      ยั่วยิ้มยวนใจ ฯ

จะเห็นว่าสองเรื่องที่เอ่ยถึงสำเพ็ง มาแนวครวญ

ผมไม่อยากจะเอามาตรฐานตัวเองไปใส่คนอื่น แต่ถ้าเป็นผม คงไม่เอาสาวคนรักไปสวมครวญกับแหล่งหญิงงามเมืองเป็นแน่ครับ
อ้อ... ย้ำตรงนี้อีกหน่อยครับ นิราศฉะเชิงเทรา ทะเบียนวรรณคดีว่าแต่ง ๒๓๖๙ นะครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 02 ต.ค. 07, 15:16

นิราศชุมพรกับนิราศฉะเชิงเทรา มาแนวนิราศนรินทร์  เอาชื่อสถานที่โยงเข้ากับนาง หรืออารมณ์ครวญเป็นหลัก   บรรยายสถานที่น้อยกว่า

ตามข้อสังเกตของคุณอาชา     เลยทำให้เกิดคำถามว่า สำเพ็งสมัยกวี ๒ ท่าน  ยังไม่มีโสเภณีหรือไร 
กวีถึงเทียบคำว่าเพ็งกับหน้างามของสาวคนรัก  แบบไม่ตะขิดตะขวงถึงแหล่งโสเภณีเสียเลย
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 02 ต.ค. 07, 15:32

ขอแวะข้างทางย้อนกลับไปหนึ่งป้ายนะครับ สามปลื้มครับ

นิราศชุมพร
ถึงสาวปลื้มพี่ปล้ำ           ปลอบใจ
ปลอบประโลมอาลัย        คะค้อย
สาวปลื้มห่อนเห็นไฉน       ราแม่
ปลื้มแต่นามละห้อย         ห่อนปลื้มใจเรียม ฯ

นิราศพระยาตรัง
ถึงวัดสามปลื้มยิ่ง            อาไลย์
คิดแม่ปลื้มใจใจ             จักขว้ำ
นับวันจะคอยใคร            ครวญปลอบ นางนา
โอ้ที่ปลื้มกลับปล้ำ           ม่อน้อยนางแกง ฯ

นิราศฉะเชิงเทรา
สามปลื้มปลื้มจิตต์เปลื้อง    ปลิดไกล มาแม่
ปลื้มกลับเปลี่ยนเปลี่ยวใจ   จากเจ้า
ปลื้มสามสิ่งสามไฉน         ศักดิ์หนึ่ง น้อยรา
สองปลีกเปล่าทรวงเศร้า     สิ่งปลื้มฤๅมี ฯ

นิราศเมืองแกลง
ถึงสามปลื้มพี่นี้ร่ำปล้ำแต่ทุกข์      สุดจะปลุกใจปลื้มให้ลืมหลัง
ขออารักษ์หลักประเทศนิเวศน์วัง   เทพทั้งเมืองฟ้าสุราลัย

น่าสังเกตว่าในนิราศชุมพร พระพิพิธสาลีเรียกชื่อตำบลว่า สาวปลื้ม ผิดกว่าใครๆ และไม่ใช่คัดลอกผิดแน่ เพราะบริบทบอกความอยู่ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 02 ต.ค. 07, 15:49

อีสำเพ็ง เป็นคำด่าสมัยหลัง คือใช้กันอยู่ในยุคที่กาญจนาคพันธ์ยังเป็นเด็ก
ส่อว่า การโยงสำเพ็งเป็นแหล่งหญิงงามเมือง น่าจะเกิดใหม่กว่ารัชกาลที่ 2-3 เสียด้วยซ้ำ

อ่านของสกินเนอร์แล้วก็ยังไม่พบว่า มีการสั่งสาวจีนมาทำอาชีพพิเศษในครั้งใด
แต่เมื่อพระยาราชาเศรษฐี ถูกไล่ที่ทำวังไปอยู่สำเพ็ง
ไม่คิดว่าจะมีอย่างว่าแล้ว

ต้องรอจนแรงงานจีน อพยพเข้ามาเป็นปึกแผ่นอยู่ในกรุงเทพ ธุรกิจนี้จึงค่อยจะเฟื่องฟู
คนจีนอพยพรุ่นแรกๆ จะไม่ได้เข้ามาอยู่ในกรุงครับ
งานมีรออยู่ตามไร่อ้อย โรงน้ำตาล แถวแปดริ้วมากกว่า
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 02 ต.ค. 07, 15:54

จากสำเพ็งไป นิราศเมืองแกลงไปโผล่อีกทีที่ดาวคะนองเลย ระหว่างเส้นทางนี้ นิราศเรื่องอื่นๆเอ่ยถึงสถานที่ต่างๆกันดังนี้ครับ

นิราศชุมพร
ฉางพริก, ฉางเกลือ, คลังฝาง, คอกควาย, บางลำพู

นิราศพระยาตรัง
ฉางเกลือ, วัดทอง, คอกควาย

นิราศฉะเชิงเทรา
วัดทอง, บางรัก, คอกควาย, บางลำพู

ดูเล่นสนุกๆก็แล้วกันครับ เพราะนิราศเมืองแกลงไม่เอ่ยถึงเลย
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 02 ต.ค. 07, 16:19

จากดาวคะนองเป็นต้นไป นิราศเมืองแกลงเอ่ยถึงสถานที่หลายแห่ง คือ ดาวคะนอง, วัดดอกไม้, บางผึ้ง น่าเสียดายว่าเป็นการครวญอย่างเดียว
นิราศเรื่องอื่นๆเอ่ยถึงสถานที่ดังนี้ครับ

นิราศชุมพร
ดาวคะนอง, บางโคล่, วัดราชบุรณะ, วัดดอกไม้

นิราศพระยาตรัง
ดาวคะนอง, วัดราชบุรณะ, บางผึ้ง, วัดดอกไม้

นิราศฉะเชิงเทรา
ดาวคะนอง, คอแหลม, บางปะแก้ว, วัดดอกไม้

ล้วนแล้วแต่เป็นบทครวญทั้งสิ้นครับ (บางผึ้ง ปัจจุบันเขียนว่า บางพึ่ง)

ขอแวะข้างทางเรื่องวัดราชบุรณะหน่อยครับ นิราศชุมพรกับนิราศพระยาตรังเอ่ยถึงวัดราชบุรณะ ทั้งๆที่โดยตำแหน่งต้องเป็นวัดราษฎร์บูรณะ เมื่อลงไปดูรายละเอียด นิราศชุมพรมีกล่าวถึงวัดเลียบมาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นไปได้ว่าคัดลอกกันมาผิด ในขณะที่นิราศพระยาตรัง ตั้งแต่ "ลงสู่สำเภาจร จากคุ้ง" ก็เอ่ยถึงชื่อวัดสามปลื้มเลย โคลงบทที่กล่าวถึงวัดราชบุรณะเนื้อความดังนี้

วัดราชบุรณะเบื้อง       บุญใคร ทำนา
นามราชฤๅราชใด       สืบสร้าง
อ้าแม่นิโทไหน          นะนาฎ เรียมเอย
เหมือนราชให้เรียมร้าง  ไป่รู้วันสม ฯ

ดูเนื้อความแล้วว่าจะเอ่ยถึงวัดราชบุรณะถูกต้องอยู่แล้ว อาจจะมือดีไปสลับบทให้ระหว่างการคัดลอกครับ

น่าสังเกตว่าปลายรัชกาลที่ ๓ มีการบูรณะวัดดอกไม้ แต่นิราศเมืองแกลงก็ไม่ได้เอ่ยถึงเลยครับ เป็นบทครวญดอกไม้เหมือนนิราศเรื่องอื่นๆ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 02 ต.ค. 07, 16:34

สมัยรัชกาลที่ ๕ มีโสเภณีที่สำเพ็งแล้ว แต่เริ่มจากรัชกาลไหนยังไม่รู้

ดิฉันคาดคะเนว่า ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อคนจีนเข้ามากันคราวละมากๆ  มีระบบเจ้าภาษีที่ทำให้พวกเสื่อผืนหมอนใบกลายเป็นเถ้าแก่กันแยะ    
ธุรกิจบันเทิงที่สำเพ็งน่าจะเริ่มเปิดกิจการแล้ว เพราะหาลูกค้ากระเป๋าหนักมีเงินทองพออุดหนุนได้
ลักษณะที่บรรยาย น่าจะเป็นกิจการคึกคัก อุ่นหนาฝาคั่ง อยู่ตัวแล้วทีเดียว    
เพราะสาวๆพวกนี้ขับร้องเพลงดังมาถึงแม่น้ำ แสดงว่ามีหลายโรง   ลำพังแต่นางคนเดียวหรือในโรงเดียว คงร้องได้ยินไม่ไกลขนาดนั้น

มีซุ้มซอกตรอกนางเจ้าประจาน           ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง

นอกจากนี้มีคำว่า "ซุ้ม" "ซอก" "ตรอก" ด้วย  แสดงว่าเป็นชุมชนที่คับคั่ง มีเส้นทางสัญจรทางบก  นอกเหนือจากทางน้ำ    
กวีหนุ่มของเราเห็นทีจะรู้จักถิ่นนี้ดี  บรรยายด้วยคำกะทัดรัด แต่เก็บความได้เห็นภาพ
สงสัยว่า "ตรอกนางเจ้าประจาน" หมายถึงตรอกที่มีสำนักโคมเขียว  สมัยนั้นเขาเรียก "นางเจ้าประจาน" งั้นหรือคะ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 02 ต.ค. 07, 16:59

พ้นจากวัดดอกไม้มา นิราศเมืองแกลงเอ่ยถึงปากลัด บางระเจ้า (ปัจจุบันเรียก บางกะเจ้า) และศาลพระประแดง มาถึงตรงนี้ก็เช้าพอดี
ถึงปากลัดแลท่าชลาตื้น           ดูเลื่อมลื่นเลนลากลำละหาน
เขาแจวจ้วงล่วงแล่นแสนสำราญ   มาพบบ้านบางระเจ้ายิ่งเศร้าใจ
จากนี้รอน้ำขึ้นก็เลี้ยวเข้าคลองสำโรงครับ

นิราศเรื่องอื่นๆเอ่ยถึงสถานที่ดังนี้ครับ
นิราศชุมพร
ปากลัด, บางยอ, บางรัก, ช่องนนทรี, บางเตย, พระแผดง, บางสาน, คูแหลม, บางขนง, บางผึ้ง, บางนา, บางวัว, สำโรง

นิราศพระยาตรัง
ปากลัด, ช่องนนทรี, พระแผดง, บางขนง, สำมะโรง

นิราศฉะเชิงเทรา
บางขมิ้น, ปากลัด, ขนอนเขื่อนขันธ์, บางยอ, พระผะแดง, พระขนง, บางงัว, บางกะบัว, บางนา, สำโรง

ตรงนี้นิราศฉะเชิงเทราเอ่ยถึงขนอนเขื่อนขันธ์ ตามพงศาวดารว่านครเขื่อนขันธ์สร้างในปี ๒๓๕๗-๒๓๕๘ และให้ครัวมอญไปตั้งบ้านเรือน (เดี๋ยวนี้เรียกมอญปากลัด-มอญพระประแดง)

นิราศเมืองแกลงไม่เอ่ยถึงนครเขื่อนขันธ์ หรือมอญปากลัดเลย ซึ่งน่าสังเกตว่าค่อนข้างแปลก เพราะรู้สึกว่าสาวมอญนี่เป็นของชอบของสุนทรภู่เลย ผ่านที่ไหนเป็นต้องเอ่ยถึงครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 02 ต.ค. 07, 20:27

ถึงศาลเจ้าอ่าวสมุทรที่สุดหาด             เลียบลีลาศขึ้นตามช่องที่คลองขวาง
ถึงบ้านแกลงลัดบ้านไปย่านกลาง         เห็นฝูงนางสานเสื่อนั้นเหลือใจ
แต่ปากพลอดมือสอดขยุกขยิก             จนมือหงิกงอแงไม่แบได้
เป็นส่วยบ้านสานส่งเข้ากรุงไกร            เด็กผู้ใหญ่ทำเป็นไม่เว้นคนฯ

พอจะหาหลักฐานได้ไหมคะ  ว่าระบบส่วยแบบนี้มีในรัชกาลไหน   สานเสื่อส่งเข้าเมืองหลวงเป็นส่วย
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 02 ต.ค. 07, 20:44

ระบบส่วยน่าจะเก่าแก่มากแล้วนะครับ โดยเฉพาะอยุธยาตอนปลายที่การค้าทางทะเลสร้างผลกำไรให้ท้องพระคลังได้มาก หลวงไม่ต้องการแรงงานคน รับเป็นส่วยมากขึ้น ไพร่เองก็พอใจ เพราะมีโอกาสในการทำมาหากินมากกว่า

และก็เป็นเหตุให้ระบบไพร่หละหลวมจนเกิดปัญหาในการระดมไพร่เพื่อรับศึกพม่า และเสียกรุงในที่สุดครับ

ยุครัตนโกสินทร์ อ่านพงศาวดาร ตั้งแต่สมัยร.๑ ก็มีการเกณฑ์ข้าวของปรากฏเป็นปกติครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 02 ต.ค. 07, 22:14

จากปากคลองสำโรง เราต้องโบกมือลาพระยาตรังกับพระพิพิธสาลีที่ล่องเรือต่อไปในแม่น้ำเจ้าพระยา เหลือแต่นิราศเมืองแกลงกับนิราศฉะเชิงเทราที่จะเลี้ยวเข้าคลองสำโรงต่อไปครับ

คลองสำโรงเป็นคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาแถวพระประแดงไปออกแม่น้ำบางปะกง เส้นทางใกล้เคียงกับถนนเทพารักษ์ แต่พอถึงบางบ่อแล้วไปเข้าบางนา-ตราดนะครับ

นิราศเมืองแกลงบรรยายสภาพคลองสำโรงช่วงต้นดังนี้
ถึงปากช่องคลองสำโรงสำราญใจ     พอน้ำไหลขึ้นเช้าก็เข้าคลอง
เห็นเพื่อนเรือเรียงรายทั้งชายหญิง     ดูก็ยิ่งทรวงช้ำเป็นน้ำหนอง
ไม่แม้นเหมือนคู่เชยเคยประคอง      ก็เลยล่องหลีกมาไม่อาลัย
กระแสชลวนเชี่ยวเรือเลี้ยวลด         ดูค้อมคดขอบคุ้งคงคาไหล
แต่สาชลเจียวยังวนเป็นวงไป          นี่หรือใจที่จะตรงอย่าสงกา
ถึงด่านทางกลางคลองข้างฝั่งซ้าย     ตะวันฉายแสงส่องต้องพฤกษา
ออกสุดบ้านถึงทวารอรัญวา           เป็นทุ่งคาแฝกแขมขึ้นแกมกัน
ลมระริ้วปลิวหญ้าคาระยาบ            ระเนนนาบพลิ้วพลิกกระดิกหัน
ดูโล่งลิ่วทิวรุกขะเรียงรัน               เป็นเขตคันขอบป่าพนาลัยฯ


นิราศฉะเชิงเทราบรรยายสภาพคลองสำโรงช่วงต้นแนวครวญ แต่พอบรรยายให้เห็นสภาพบ้างดังนี้
๕๕ สำโรงเรือลุเลี้ยว       ระทึกขวัญ เนตรเอย
โรงเล่ห์หลงโรงกัน          เกี่ยวก้อย
สองร่วมร่วมสินสรรพ์       สมรส ระคนนา
อยู่ไป่ยืนเยียวคล้อย        คลาดห้องหอโรง ฯ

๕๖ สำโรงยลแยบแม้น     เมินเหนียม ใจนา
ผักกระแหน่แนวเทียม       เทียบคล้าย
ชื่อโรงเล่ห์โรงเรียน          ลงร่วม โรงแม่
จากแม่เมิลไม้ลม้าย         มุ่งไม้สำโรง ฯ

๕๗ สามสิบสองโคกเบื้อง   เบาราณ มานา
ยลไป่เป็นเรือนชาน          ชัฎไม้
คิดโคกคฤหาดาล            แดสวาท แม่เอย
สนุกนิ์แผ้วเพียงไล้          แหล่งน้อยนางสงวน ฯ

๕๘ สามสิบสองโคกล้วน    แลดิน ดอกฤๅ
คำว่าโคกควรยิน             ย่านบ้าน
จรจากพี่จำถวิล              หวาดคิด คนึงแม่
คิดพี่คิดโคกสอ้าน           อกโอ้อายใจ


นิราศฉะเชิงเทราออกแนวอีโรติกหน่อย แต่บรรยายภาพคล้ายกันว่าคลองช่วงแรกคดเคี้ยว หลังจากนั้นก็เป็นป่า แต่นิราศเมืองแกลงบอกว่ามีด่านอยู่ทางซ้ายมือด้วยครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 02 ต.ค. 07, 22:52

พ้นช่วงแรกมาก็มาถึงทับนาง นิราศเมืองแกลงว่า
๏ ถึงทับนางวางเวงฤทัยวับ         เห็นแต่ทับชาวนาอยู่อาศัย
นางชาวนาก็ไม่น่าจะชื่นใจ          คราบขี้ไคลคร่ำคร่าดังทาคราม
อันนางในนคราถึงทาสี              ดีกว่านางทั้งนี้สักสองสาม
โอ้พลัดพรากจากบุรินแล้วสิ้นงาม   ยิ่งคิดความขวัญหายเสียดายกรุง


ในขณะที่นิราศฉะเชิงเทราเอ่ยถึงทับนางแต่เป็นบทครวญล้วนๆ ไม่เห็นภาพเลยครับ

ตำบลต่อไปคือบางพลี นิราศเมืองแกลงว่า
ถึงบางพลีมีเรือนอารามพระ       ดูระกะดาษทางไปกลางทุ่ง
เป็นเลนลุ่มลึกเหลวเพียงเอวพุง   ต้องลากจุงจ้างควายอยู่รายเรียง
ดูเรือแพแออัดอยู่ยัดเยียด       เข้าเบียดเสียดแทรกกันสนั่นเสียง
แจวตะกูดเกะกะปะกระเชียง      บ้างทุ่มเถียงโดนดุนกันวุ่นวาย


ส่วนนิราศฉะเชิงเทราว่า
๖๔ ลิ่วลิ่วลุล่วงบ้าน    บางพลี
ศาลเทพสิทธิศักดิ์มี    มดท้าว
สรวมไท้เทพอารี       อาราธน์ ราพ่อ
ตบัดพลีบวงจ้าว        จุ่งคุ้มภัยสมร


แถบบางพลีมีอยู่สามวัดที่เป็นไปได้ว่าจะเป็นวัดที่ปรากฏในนิราศเมืองแกลง คือวัดบางพลีใหญ่ใน วัดบางพลีใหญ่กลาง และวัดคงคาราม
วัดบางพลีใหญ่ในเป็นวัดเก่าสมัยอยุธยา วัดบางพลีใหญ่กลางสร้างเมื่อ ๒๓๖๗ ส่วนวัดคงคารามหาข้อมูลไม่ได้ ปัจจุบันร้างไปแล้ว

นิราศฉะเชิงเทราไม่พูดถึงวัด แต่พูดถึงศาล ไม่รู้หมายถึงศาลอะไรแต่ข้อมูลอ.บางพลีบอกว่ามีศาลเจ้าพ่อเก่าแก่เดิมอยู่ตรงข้ามวัดบางพลีใหญ่กลาง ไม่ทราบอายุแน่นอน แต่ประมาณว่าน่าจะมาพร้อมชาวจีนราว ๒๔๐๐ แต่นิราศฉะเชิงเทราเก่ากว่านั้นสามสิบปีครับ ถ้าหมายถึงศาลนี้ก็แปลว่าเป็นศาลที่เก่ากว่าที่คิด ถ้าไม่ใช่ศาลนี้ก็คงสูญหายไปแล้วครับ

จากนจุดนี้ไปเรือนิราศเมืองแกลงติดตื้น ถ่อกันแทบแย่ พ้นที่ติดตื้นไปก็เป็นบางโฉลง คลองขวาง บางกระเทียม ซึ่งนิราศฉะเชิงเทราไม่เอ่ยถึงครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 02 ต.ค. 07, 23:24

จากนั้นก็มาถึงหัวตะเข้ นิราศเมืองแกลงกล่าวถึงไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
ถึงชะแวกแยกคลองสองชะวาก     ข้างฝั่งฟากหัวตะเข้มีมะขาม
เข้าสร้างศาลเทพาพยายาม         กระดานสามแผ่นพิงไว้บูชา
ตะลึงแลแต่ล้วนลูกจระเข้           โดยคะเนมากมายทั้งซ้ายขวา
สักสองร้อยลอยไล่กินลูกปลา       เห็นแต่ตากับจมูกเหมือนตุ๊กแก


นิราศฉะเชิงเทราก็พูดถึงเหมือนกัน แต่คนละแนวกันเลย
๖๕ ลุเศียรจรเข้เขตต์         คเมกาล ก่อนนา
เกรียกเกียรติไกรทองชาญ   เชี่ยวแกล้ว
ตัดเศียรจรเข้ขนาน           นามสืบ ไว้รา
ตัดดั่งตัดสวาทแคล้ว          คลาดร้างแรมสมร ฯ


จากนี้ไปนิราศเมืองแกลงเอ่ยถึงสถานที่ต่อไปนี้
บางบ่อ, บ้านระกาด, บางสมัคร, บ้านมะพร้าว, บางวัว แล้วออกแม่น้ำบางปะกง

นิราศฉะเชิงเทราเอ่ยถึงสถานที่ต่อไปนี้
บ้านหอมสิน, บ้านพร้าว แล้วออกแม่น้ำบางปะกง น่าเสียดายที่ช่วงเส้นทางนี้นิราศฉะเชิงเทรา "ครวญ" อย่างเดียว ไม่มีบอกรายละเอียเอะไรไว้เลย

แต่มีประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ บ้านหอมสิน(หอมศีล) อยู่ระหว่าง บ้านระกาด(ระกาศ)กับบางสมัคร นิราศเมืองแกลงเล่าการเดินทางช่วงนี้ไว้ดังนี้
๏ ถึงหย่อมย่านบ้านระกาดต้องลงถ่อ      ค่อยลอยรอเรียงลำตามน้ำไหล
จนล่วงเข้าหัวป่าพนาลัย                    ล้วนเงาไม้มืดคล้ำในลำคลอง
ระวังตัวกลัวตอตะเคียนขวาง               เป็นเยี่ยงอย่างผู้เฒ่าเล่าสนอง
ว่าผีสางสิงนางตะเคียนคะนอง             ใครถูกต้องแตกตายลงหลายลำ
พอบอกกันยังมิทันจะขาดปาก             เห็นเรือจากแจวตรงหลงถลำ
กระทบผางตอนางตะเคียนดำ              ก็โคลงคว่ำล่มลงในคงคา
พวกเรือพี่สี่คนขนสยอง                    ก็เลยล่องหลีกทางไปข้างขวา
พ้นระวางนางรุกขฉายา                     ต่างระอาเห็นฤทธิ์ประสิทธิ์จริง
ขอนางไม้ไพรพฤกษ์เทพารักษ์            ขอฝากภัคนีน้อยแม่น้องหญิง
ใครสามารถชาติชายจะหมายชิง           ให้ตายกลิ้งลงเหมือนตอที่ตำเรือ
จนล่วงล่องมาถึงคลองที่คับแคบ           ไม่อาจแอบชิดฝั่งระวังเสือ
ด้วยครึ้มครึกพฤกษาลัดดาเครือ            ค่อยรอเรือเรียงล่องมานองเนือง
ลำพูรายพรายพร้อยหิ่งห้อยจับ             สว่างวับแวววามอร่ามเหลือง
เสมอเม็ดเพชรรัตน์จำรัสเรือง               ค่อยประเทืองทุกข์ทัศนาชม
ถึงบางสมัครเหมือนพี่รักสมัครมาด          มาแคล้วคลาดมิได้อยู่กับคู่สม
ถึงยามนอนนอนเดียวเปลี่ยวอารมณ์        จะแลชมอื่นอื่นไม่ชื่นใจ

ยาวหน่อยนะครับ แต่ดูเหมือนที่ๆควรจะเป็นบ้านหอมสินในนิราศเมืองแกลงเป็นป่ารกเสือชุม ไม่มีวี่แววชุมชนเลย แต่จะฟันธงลงไปว่าบ้านหอมสินยังไม่มีก็พูดยาก เพราะระยะจากบ้านระกาศมาบางสมัครก็ไกลราว ๑๗-๑๘ กม.ได้ ชวงที่เป็นป่าทึบอาจจะอยู่ระหว่างบ้านหอมสินกับบ้านระกาศหรือบางสมัครก็เป็นได้ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 02 ต.ค. 07, 23:30

ถึงตรงนี้กรมหลวงภูวเนตร์ท่านทรงล่องเรือทวนแม่น้ำบางปะกงขึ้นไป ในขณะที่กวีนิราศเมืองแกลงล่องเรือลงมาปากแม่น้ำบางปะกงซึ่งอยู่ห่างไปไม่ไกลแล้วครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.071 วินาที กับ 19 คำสั่ง