เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 63056 สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 16 ส.ค. 07, 00:22

อิอิ....ไหงมาเจอหลวงตาได้วันนี้   ถ้าเป็นเยี่ยงนี้แปลว่าหลวงตาบวชสองครั้งสิขอรับ  ถ้าเป็นเยี่ยงนี้ก็เข้าเค้ากับประวัติวัดเขมาภิรตาราม  แล้วหลวงตาละสังขารตอนไหนล่ะขอรับ  หลังจากไปภูเขาทองแล้วหลวงตาได้ไปแต่งอะไรอีกหรือเปล่า  และถ้าหลวงตาอายุ ๗๐ ในปีที่ไปภูเขาทอง  ก็แปลว่าหลวงตามิได้เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๙  อย่างที่เค้าว่ากันละสินะ  อันนี้ต้องวานคุณโยมเทาชมภู เรียบเรียงประวัติหลวงตาใหม่แล้วล่ะขอรับ........... ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 16 ส.ค. 07, 09:06

หลวงตาแก่แต่ใจยังสะรุ่นอยู่เจ้าค่ะ ท่านประสก Bana   
ดูเอาเถอะ   อายุตั้งเท่าไหร่แล้ว  ยังอุตส่าห์พายเรือไปทัวร์ภูเขาทอง  ไปกันแค่สองคนกับลูกชายวัยสี่สิบ 
หลวงตาแจ้งอายุแต่ไม่ได้ส่งใบสำมะโนครัวมาให้    อิฉันก็ต้องเดาสุ่มทำทะเบียนประวัติใหม่เองนะเจ้าคะ
ผิดถูกประการใด โปรดจิกได้อีกครั้งตามอัธยาศัย

หลวงตาบอกว่าอายุ 70 เมื่อบวชถวายเป็นพระราชกุศลเมื่อสมเด็จพระจอมเกล้าเสด็จสวรรคต พ.ศ. 2411  แต่หลวงตาไปทัวร์ภูเขาทองเดือนไหนปีไหนไม่แจ้ง
เอาเป็นว่าอาจจะปี 2411  หรือ 2412 อย่างช้าสุด   บวชแบบนี้เขาไม่บวชกันนานนัก
ก็แสดงว่าหลวงตาเกิดประมาณ พ.ศ. 2341 หรือ 2342  เอาปี 2341 แล้วกัน ง่ายๆ  อยู่ในปลายรัชกาลที่ 1

สิ้นรัชกาลที่ 1  พ.ศ. 2352   หลวงตาก็อายุ 11 ขวบ ยังไม่ทันโกนจุก อดเป็นมหาดเล็กพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ อย่างในประวัติ  เพราะโตไม่ทัน
ไปเที่ยวเมืองแกลงหาพ่อก็ยังไม่ทัน   เพราะในนิราศเมืองแกลงบอกว่า ท่านเจ้าอาวาสบวชมา 20 ปี   ก่อนหนูภู่ตั้งเกิด 9 ปี   

หลวงตาเข้ารับราชการในรัชกาลที่ 2  เมื่อไรไม่แจ้ง  แต่เมื่อสิ้นรัชกาล พ.ศ. 2367  หลวงตาต้องอายุ 26 ปีเท่านั้น
งั้นแปลว่าต้องเป็นกวีเอกในช่วงอายุน้อยมาก 
ถ้าเป็นสมัยนี้ หลวงตาน่าจะวัยเฉียดๆพวกนักเรียนเหรียญทองแข่งคณิตศาสตร์โอลิมปิค นะเจ้าคะ
รัชกาลนี้หนูพัดน่าจะเกิดแล้ว เพราะรัชกาลที่ ๒ ท่านพระราชทานบ้านหลวงให้แถวท่าช้าง แสดงว่าหลวงตามีครอบครัวแล้ว   
ถ้าตัวคนเดียว คงไม่พระราชทานบ้าน  ให้อยู่กับพ่อแม่  ยังไม่ต้องแยกบ้าน

เริ่มรัชกาลที่ ๓   หลวงตาออกบวช  จนสิ้นรัชกาล พ.ศ. 2393 อายุ 52 ปี ยังกระชุ่มกระชวยทำงานได้
เริ่มรัชกาลที่ 4   หลวงตารับราชการ
แต่เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 4  พ.ศ. 2411  หลวงตาอายุ 70 ปี
วัดเขมาสวยงามอร่ามทองในพ.ศ. 2409 เมื่อท่านภู่อายุ 68 ปี

ที่จริงตำแหน่งพระศรีสุนทรโวหาร เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์วังหน้า   อย่างหลวงตาบอก
ถ้าจะบวชถวายพระราชกุศล  หลวงตาบวชถวายทูลกระหม่อมฟ้าน้อย ที่เสด็จสวรรคตเมื่อพ.ศ. 2408 เสียมิดีกว่ารึเจ้าคะ  เพราะเป็นเจ้านายโดยตรง
จริงละเจ้าค่ะ ตามธรรมเนียมเมื่อสิ้นวังหน้า ขุนนางวังหน้าก็ต้องย้ายมาสังกัดวังหลวง จนกว่าจะมีวังหน้าพระองค์ใหม่
หลวงตาย้ายมาสังกัดวังหลวงได้ 3 ปี  พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ก็เสด็จสวรรคต
ตอน 3 ปีสุดท้ายในรัชกาล  ไม่ทราบว่าโปรดเกล้าให้คุณพระศรีสุนทรโวหารเข้าเฝ้าใกล้ชิด  เรื่องใดบ้าง   
ทรงแต่งบทกวีนิพนธ์บ้างหรือไม่เจ้าคะ   อิฉันรู้เล็กน้อย แต่ว่าทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องดาราศาสตร์  เรื่องการต่างประเทศ แต่เรื่องวรรณคดี ยังไม่ทราบเจ้าค่ะ
แต่หลวงตาน่าจะเป็นที่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาก   พอเสด็จสวรรคต หลวงตาถึงกับบวชถวายอีกครั้ง

อิฉันก็ชอบทัวร์    แต่ให้สีกานั่งเรือ    ทัวร์ไปกับพระกับเณร  เห็นทีจะเสี่ยงกับปาราชิกนะเจ้าคะ   ไม่ใช่แค่ปาจิตตีย์   
ถึงหลวงตาแก่แล้ว   ส่วนเณรหนูพัดก็ลดอายุจากสี่สิบฝ่าๆลงไปเป็นสิบขวบได้ก็เถอะ   
อีกอย่าง อิฉันเกิดในรัชกาลที ๙ หลังหนูพัด ๗ รัชกาล คนละวัยกันเจ้าค่ะ
ป.ล.   ถ้าหนูพัดกับหนูกลั่นบวชเณรทุกครั้งที่ไปหลวงตา     เวลาเจอสาวๆในนิราศวัดเจ้าฟ้า เมืองเพชร พระแท่นดงรัง  ก็จีบเขาไปหมดทั้งๆเป็นเณรน่ะหรือเจ้าคะ  โห
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 16 ส.ค. 07, 09:34

นิราศวัดเจ้าฟ้าน่ะ หนูพัดมันแต่งตอนกำลังแก่กล้าวิชา ปีนั้นเจ้าฟ้ากุณฑลเพิ่งสิ้น
หนูพัดเป็นเณรอยู่ อันที่จริงต้องสึกแล้ว แต่ฉันให้บวชถวายต่อไปอีกหน่อยเพื่อถวายพระราชกุศล

จะบอกอะไรให้ฟัง ฉันน่ะได้ถวายการรับใช้พระเจ้าอยู่หัวจอมกวีแค่ครั้งเดียวแหละ
ทรงติดเรื่องนางสีดาผูกคอ ว่ายืดยาดเหลือเกิน นางจะตายจริงๆ กลางเวทีเสียละมากกว่า
ฉันได้โอกาส ก็แต่งถวายเข้าไป
ทรงโปรดนัก ถึงได้เป็นพระอาจารย์ถวายหนังสือเจ้าฟ้าอาภรณ์ไง
เรื่องบ้านพระราชทานนี่ฉันไม่รู้เรื่องด้วยนา ใครเอาไปลืออีกหล่ะ
ลือกันได้ลือกันดี ว่าฉันไปแต่งนิราศเมืองเพชร นิราศเมืองสุพรรณ....ไม่มี๊ เคยแต่ไปไม่เคยแต่ง
ฉันแช่งเอาไว้ท้ายนิราศพระปธม พวกเธอไม่เคยอ่านรึ
พวกปลอมชื่อ ปลอมเรื่อง...เฮ้อ คนมีชื่อก็อย่างนี้แหละ
แต่บางคนเขาก็ไม่ได้ปลอมนะ พรรคพวกกัน ว่ากลอนกันประจำ
เขานับถือเขาก็เอาทางกลอนฉันไปเล่นบ้าง สนุกดีออก

ตอนสิ้นพระปิ่นเกล้าน่ะ ฉันก็หมายใจอยากจะบวชถวายอยู่หรอก แต่ยุ่งจริงเชียว
พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ฉันไปช่วยตาฟัก งานการมากมาย
ครั้งนั้นเอกสารต้องทำมากเหลือเกิน แค่สัญญาบัตรตาตั้ง... เอ้ยตราตั้ง ราชทินนามที่ทรงใหม่
มากมายไม่ได้หยุดเลยสักวัน พวกเธอไม่เคยอ่านบาญชีท้ายพระราชพงศาวดารของท่านขำหรือไง
ชื่อพวกนั้นน่ะ พวกเราต้องรับมาทำเอกสารต่อ แล้วพระราชหัตถเลขา ประกาศ หมายรับสั่ง
โอ๊ย....พวกเราทั้งกรมอาลักษณ์ เขียนกันจนหมึกแทบจะหมดท้องพระคลัง

ล่าสุดก็ทรงโปรดให้ฉันแต่งเสภาพระราชพงศาวดารถวาย
คงกลัวฉันจะแต่งนิยายขี้ปดสยดสยองจนเพลิน ได้อ่านหรือยังเล่า แต่งยากอยู่นาเรื่องนี้น่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 16 ส.ค. 07, 11:31

อ้าว หลวงตาเพิ่งมาแต่งนิยายขี้ปดสยดสยอน ชื่อ "พระอภัยมณี" เอาตอนรัชกาลที่ 4 นี่เองรึเจ้าคะ
อิฉันนึกว่าแต่งในรัชกาลที่ 3 เสียอีก  เห็นในประวัติว่าอยู่วัดเทพธิดา ปี 2383-5
เห็นกล่าวไว้ในรำพันพิลาป ถึงพระอภัยมณีศรีสุวรรณแล้วในตอนนั้น
งั้นหลวงตาก็ต้องบวชอยู่วัดเทพธิดาในรัชกาลที่ 4 ก่อนเสด็จสวรรคตสิเจ้าคะ   

ที่ว่าแต่งถวายรัชกาลที่ 2 เฉพาะตอนนางสีดาผูกคอตาย
ลืมตอนรถทรงทศกัณฐ์เสียแล้วหรือเจ้าคะ

อิฉันเชื่อว่าหลวงตาน่าจะได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 เป็นประจำนะเจ้าคะ    เห็นพระองค์ท่านจนคุ้นเชียวละ
ท่าทางหลวงตาก็ไม่ค่อยจะกลัวเกรงพระองค์ท่านด้วย   ราวกับรู้ตัวว่าเป็นอาลักษณ์คนโปรด
ถึงกับเอาท่านมาเขียนล้อไว้ในกำเนิดพลายงาม

ครานั้นสมเด็จพระพันวษา                        เหลือบเห็นหน้าพลายงามความสงสาร
จะออกพระโอษฐ์โปรดขุนแผนแสนสะท้าน   แต่กรรมนั้นบันดาลดลพระทัย
ให้เคลิ้มพระองค์ทรงกลอนละครนอก          นึกไม่ออกเวียนวงให้หลงใหล
ลืมพระภาษราชกิจที่คิดไว้                        กลับเข้าในแท่นที่ศรีไสยา

พระเจ้าแผ่นดินที่ทรงละครนอก   ก็มีอยู่พระองค์เดียวเท่านั้นแหละ และไม่ใช่รัชกาลที่ 4

คนเราถ้าไม่สนิทสนมกัน ไม่กล้าแซวกันหรอกเจ้าค่ะ  ถ้าอีกฝ่ายเป็นผู้ยิ่งใหญ่   ถ้าแซวท่านก็ต้องรู้ใจว่าแซวแบบนี้ ท่านอารมณ์ดี ไม่โกรธ     
โกรธสมัยนั้นถึงหัวขาด     ไม่ใช่แค่ถูกด่า
ต่อให้เก็บมาแซวตอนเสด็จสวรรคตไปนานแล้ว ก็ต้องแน่ใจว่าใครอ่านแล้วไม่ไปกราบบังคมทูลพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ต่อมาให้กริ้ว
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 16 ส.ค. 07, 11:49

ตอนนี้ท่านภู่กลับสวรรค์ชั้นเทพกวีไปแล้ว ผมต้องโม้เองแระ

รำพันพิลาปแต่งถึงวัดเทพธิดาน่ะถูกต้อง แต่ไม่ได้แต่งที่วัดเทพธิดารครับ
มาแต่งที่แพหน้าวังเดิม หรือบางทีจะมาแต่งที่วังหน้าด้วยซ้ำไป
ในกลอนมีกล่าวถึงจิ้งเหลนไฟ ถึงพวกหัศเกน
ของพวกนี้ ตอนปีขาลสงสารวัด ชาวบางกอกยังไม่รู้จักกันครับ
แล้วตอนสามพราหมณ์ชมตลาด ไปเห็นสนามหน้าจักรวรรดิ ที่หัดพล
สมัยรัชกาลที่สาม การหัดทหารแบบตะวันตก ทำที่บ้านท่านช่วง มารัชกาลที่ 4 ท่านให้โยกมาอยู่ใต้ท่านเพง ลูกเลี้ยงท่าน
จึงมา"หัดพล" ที่สนามหน้าจักรวรรดิคร๊าบบบ.....

ส่วนท่อนชมราชรถนั่น ท่านสุนทรบอกเองหรือครับ ว่าท่านแต่ง
คนที่บอกว่าท่านเป็นผู้แต่งท่อนนี้ใช่ใหม ที่บอกว่าพระกลดหักทองขวางกางกั้นสามเณรพระองค์เจ้า
มีคนลือกันมากเรื่องกลอนปลาร้าปลาแจ่วก็เป็นท่านภู่ กลอนปาฝาบ้านก็ท่านภู่ แม้แต่กลอนบัตรสนเท่ห์ก็ท่านภู่
ขอแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อสักหน่อยเถิดครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 16 ส.ค. 07, 12:03

รำพันพิลาปแต่งถึงวัดเทพธิดาน่ะถูกต้อง แต่ไม่ได้แต่งที่วัดเทพธิดารครับ
มาแต่งที่แพหน้าวังเดิม หรือบางทีจะมาแต่งที่วังหน้าด้วยซ้ำไป


ได้โอกาสหักคออีกครั้ง

แต่งไว้เหมือนเตือนใจจะได้คิด            ในนิมิตเมื่อภวังค์วิสังหรณ์
เดือนแปดวันจันทวาเวลานอน              เจริญพรภาวนาตามบาลี
ระลึกคุณบุญบวชตรวจกสิณ           
     ให้สุขสิ้นดินฟ้าทุกราศี
เงียบสงัดวัดวาในราตรี                     เสียงเป็ดผีหวี่หวีดจังหรีดเรียง

พระภู่แต่งแกล้งกล่าวสาวสาวเอ๋ย      อย่าถือเลยเคยเจนเหมือนเหลนหลาน
นักเลงกลอนนอนฝันเป็นสันดาน       เคยเขียนอ่านอดใจมิใคร่ฟัง

ถ้าคุณพิพัฒน์เคยบวชตอนหนุ่มๆ   นานหลายปีก่อน   ปัจจุบัน มีครอบครัวมีลูกแล้ว
ย้อนระลึกถึงสมัยยังบวช     คงไม่แถลงในหนังสือว่าว่า "พระพิพัฒน์" เป็นผู้แต่งเรื่องนี้  แทน "นายพิพัฒน์"หรอกนะคะ

ยกมาเบาะๆก่อน   


บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 16 ส.ค. 07, 12:13

คอไม่หักเลยหลานเอ๋ย...พระภู่บอก
ก็ท่านแต่งเล่าเรื่องสมัยอยู่วัด บวชเป็นพระนี่นา
จะให้ท่านเรียกตัวละคอนคนนั้นว่านายภู่ที่เคยเป็นพระภู่หรือ

การที่ท่านเรียกตัวเองเป็นเป็นบุคคลที่สาม ก็แสดงว่า ท่านแยกแยะได้เหมาะเจาะอยู่นะครับ
เป็นกลเม็ดการประพันธ์ขั้นสูงทีเดียว
เทคนิคนี้ พระจอมเกล้าใช้เสมอครับ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 16 ส.ค. 07, 12:21

ไม่เห็นด้วยเรื่องแซวพระเจ้าแผ่นดินครับ
ถ้ากลอนพระพันวษาทรงกลอนละคอนนอกหมายถึงรัชกาลที่ 2 จริง ก็ต้องแต่งหลังพระองค์มานานมากๆ
เห็นมีแต่ศรีธนญชัยเท่านั้นแหละครับ ที่มีเรื่องไร้สาระอย่างนี้
ไม่มีใครในแผ่นดิน จะกล้าสนิทสนมพระเจ้าแผ่นดินถึงแสดงออกอย่างนั้นได้
แล้วถ้าปมนี้เป็นจริง เราก็หาคนจริงๆจากในขุนช้างขุนแผนได้หมดทั้งรัชกาลเลย
เรียกว่าประวัติศาสตร์แฝงนัยยะในขุนช้างขุนแผน
ทรงละคอนนอกก็เป็นของจริง
ขุนแผนติดคุกก็เป็นของจริง
ถ้างั้นนางวันทองนี่ใครดีครับ ขุนช้างอีก...แนวนี้ต้องให้แดนบราวน์เขารับเหมาไปละครับ

ผมขออ่านแค่ผิวๆ แบบพิวพิ่วประถมสี่ ก็พอไหวครับ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 16 ส.ค. 07, 17:04

เรื่องวัดเขมาผมยังไม่ปักใจเชื่อ เพราะสำนวนกวีมีพลิกมีแพลง บางทีต้องแบ่งวรรคตอนให้เหมาะๆถึงจะแปลได้ตรงเจตนากวี

แต่มีกลอนอยู่ตอนหนึ่งดังนี้

ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า       พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี     ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว
โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง         แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว
โอ้เรานี้ที่สุนทรประทานตัว           ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ
สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ          ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย
แม้นกำเนิดเกิดชาติใดใด             ขอให้ได้เป็นข้าฝ่าธุลี
สิ้นแผ่นดินขอให้สิ้นชีวิตบ้าง          อย่ารู้ร้างบงกชบทศรี
เหลืออาลัยใจตรมระทมทวี           ทุกวันนี้ก็ซังตายทรงกายมา


นิมนต์หลวงตาลงองค์ชี้แจงอีกสักครั้งเถิดขอรับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 16 ส.ค. 07, 17:49

แหม่....หนูเครซี่แกล้งเซอะ ระวังจะเซอะจริงๆ

ใจฉันน่ะ คิดถึงแต่เจ้าฟ้าน้อย เพราะท่านขุดฉันขึ้นมาชุบเลี้ยง ได้เป็นใหญ่เป็นโตก็เพราะท่าน
จริงอยู่ เจ้านายเดิมของฉันคือสมเด็จองค์อัปษร เจ้าฟ้ากุณฑล แต่ทรงจากไปเร็วเหลือเกิน น่าเวทนานัก
ทูนกระหม่อมทั้งสามก็ยังเด็ก จะรักษาพระองค์เองให้ยั่งยืนก็ยังยาก
จะมาดูแลข้าเก่าอย่างฉัน เห็นจะเป็นไปไม่ได้

ฟ้าน้อยท่านโปรดกวีกานต์อยู่แล้ว เมื่อท่านเป็นใหญ่ ได้รับโปรดเกล้าเป็นแม่ทัพ ได้ครองวังเดิม
ท่านจึงเมตตากวีเร่ร่อนอย่างฉัน ให้นอนที่แพหน้าวัง เรียกหาเข้าเฝ้าตลอดไม่ถือพระองค์
แม้แต่ทรงอุปราชาภิเษกแล้ว เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่สองแล้ว ก็ยังโปรดเกล้า ตั้งฉันเป็นขุนนางผู้ใหญ่
คนเราน่ะนะ ได้เจ้านายดี ก็เหมือนเลือกเกิดใหม่ได้
ฉันก็เลยแต่งสวัสดิรักษาถวายพระองค์ยอร์ช วัตชิงตันแทนดอกไม้ธูปเทียน
เมื่อสิ้นท่าน ฉันเหมือนตามืด อกแตกเป็นเสี่ยงๆ อนิจจาเอ๋ย คนแก่ต้องมาทำงานพระเมรุส่งเจ้านายอีกแล้ว

ตอนที่เรือแล่นมาถึงปทุม ฉันเห็นบัวก็นึกถึงพระองค์ท่าน อยากจะส่งขึ้นสวรรค์ไปบูชา
ประโยคแรกก็บอกโต้งๆแล้วว่า "ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า"
หนูเครซี่ไปหาถี .....ว่าในบ้านเมืองเรา ปิ่นเกล้าหมายถึงอะไร

แต่ใจฉันมันชอบเปรียบความ ฉันก็นึกได้ว่าเมืองปทุมนี้น่ะ ได้ชื่อพระราชทานเหมือนกะฉันเลย
จะไม่เหมือนก็ตรงที่ชื่อเมืองยังคงอยู่ แม้ผู้ตั้งจะลับโลกไปแล้ว
อนาถใจที่ตัวฉัน พอฟ้าน้อยท่านกลับสู่สวรรค์ นามที่ท่านตั้งฉัน ก็หมดสิ้นไปด้วย
หนูคงไม่รู้กระมัง ว่าเจ้านายสิ้นพระชนม์น่ะ ข้าทาสบริวารกระสานซ่านกระเซ็นอย่างไร
"สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ" ฉันน่ะถึงออกจากราชการเลยทีเดียว
เพราะตำแหน่งต่างๆประจำพระราชวังบวร เป็นของตั้งจำเพาะพระปิ่นเกล้า สิ้นท่านก็สิ้นนาม
พระองค์ยอร์ช แม้จะได้รับยกย่อง ก็เป็นแต่พระองค์เจ้าวังหน้า
หามีตำแหน่งอันใดในทำเนียบไม่ จะมีหรือไม่ในภายภาคหน้าก็ไม่มีใครกล้าเดา
แต่ตำแหน่งคุณพระจางวางของฉันน่ะนะ วูบเดียวก็สิ้นตามพระปิ่นเกล้าท่าน ไปแล้วไปลับ

สมมติว่าฉันเป็นขุนสุนทรในรัชกาลที่สองนะ สิ้นแผ่นดิน นามฉันก็ไม่สิ้นดอก
เพียงแต่จะอยู่ในหรือนอกราชการเท่านั้น ที่ใหนจะเขียนกลอนผูกมัดอย่างคำข้างบนได้
หนูอ่านกลอนยังไงหือ ถึงไม่เข้าใจ
แล้วถ้ายังคิดว่านามสุนทรโวหารฉันได้มาแต่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 ฉันก็ยังได้นามนี้มาอีกหลังรัชกาลท่าน จริงใหม
อ้างอย่างในกลอนไม่ได้เด็ดขาด สิ้นไม่สิ้น ต้องเข้าใจให้แจ่มแจ้ง
คนที่รู้เรื่องได้หัวร่อฟันหัก ว่าอาลักษณ์เลื่องชื่อ เปรียบเปรยผิด อายไปถึงชาติหน้าทีเดียว

เอาอย่างนี้ หนูเครซี่...ค่อยๆ อ่านตามฉันนะ
ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า
ท่อนนี้ฉันคิดถึงเจ้านาย เจ้านายฉันในวันนั้นชื่อพระปิ่นเกล้า เข้าใจใหม
พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัวตรงนี้ ฉันวางคำไว้เป็นบทตั้ง เพราะอยากจะส่งไปเปรียบกับคำต่อไปว่า

โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง         แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว
โอ้เรานี้ที่สุนทรประทานตัว           ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ

นี่ไง เข้าใจไม่เข้าใจ ฉันเอานามเมืองมาเทียบนามฉัน
เอาการพระราชทานมาเทียบกับของฉัน
แต่ของฉันมันไม่เที่ยง
สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ          ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 16 ส.ค. 07, 18:10

มาช่วยคุณอาชาผยองหักคอใครบางคนอีกที

ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า       พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี     ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว
โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง         แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว
โอ้เรานี้ที่สุนทรประทานตัว           ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ

หลวงตาเจ้าขา  มันเป็นไปไม่ได้เลยที่กลอนบทนี้จะหมายถึงสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ
๑) คือมันไม่มีตอนไหนเลยที่แสดงถึงความเกี่ยวโยงระหว่างเมืองสามโคกกับสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ
๒) สุนทรภู่ท่านไม่ได้บอกว่าเห็นบัวแล้วนึกอยากส่งไปบูชาเจ้านายบนสวรรค์นะเจ้าคะ
ท่านบอกว่า ถึงสามโคกแล้วนึกถึงพระเจ้าแผ่นดิน  ผู้ทรงปกครองกรุงเทพให้เจริญ
พระปิ่นเกล้าฯท่านไม่เคยบำรุงกรุงเทพ   ท่านเลี่ยงห่างจากการบริหารบ้านเมืองด้วยซ้ำ   ไม่ให้พี่ท่านระแวงแคลงใจ   
๓) พระเจ้าแผ่นดินที่เกี่ยวข้องกับสามโคก โดยตรง คือรัชกาลที่ ๒ ผู้ประทานชื่อเมืองเสียใหม่  ว่าปทุมธานี
ข้าเก่าของท่านก็เล่าถึงพระเกียรติคุณเอาไว้ประกอบ
ถ้าไปคิดถึงพระปิ่นเกล้า  ก็เหมือนขึ้นต้นประธานประโยคไว้เฉยๆ  ไม่มีกริยาและกรรมในประโยค

นอกจากนี้  หลวงตาลืมนิราศหนองคายแล้วหรือ  ว่าเขาเอ่ยถึงหลวงสุนทรโวหารเอาไว้    หลวงสุนทรฯนะเจ้าคะ  ที่หลวงตาเคยเป็น ก่อนจะได้เป็นพระศรีสุนทรโวหาร

หลวงตาน่ะดังมาก่อนตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ แล้ว  พอสิ้นรัชกาลที่ ๒
"สิ้นแผ่นดินสิ้นบุญของสุนทร           ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม"
ไงเจ้าคะ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 16 ส.ค. 07, 18:52

หนูเทาชมภูต้องมานั่งข้างหนูเครซี่แล้วตั้งใจฟังอีกทีนะต๊ะ

บางอย่างคำกลอนมันไม่ต้องบอก แค่ส่งนัยยะไปถึงก้อพอ
เมืองสามโคก เขาได้ดีเพราะเขามีบัว
คนไทยเห็นบัว จะให้นึกถึงอะไรล่ะจ๊ะ นึกถึงฝอร์ดรึไง....555

ฉันไม่ได้อยากจะพูดถึงสามโคกดอก ถ้ามีแต่บัว แต่ฉันมันพวกแก่พงศาวดาร
รู้มาว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 (ที่มีคนชอบตู่ว่าซี้กับฉัน) พระราชทานพระนาม
ฉันเองก็นามพระราชทานเหมือนกัน เอามาเข้าคู่กัน อย่างฉันน่ะ จะเล่นความเปรียบ ก็ต้องหลายชั้นหน่อย
ถ้าหนูคิดว่าสุนทรนี่เป็นนามพระราชทานมาแต่รัชกาลที่ 2
ฉันก็อ้างไม่ได้ว่าชื่อสูญ เพราะชื่อฉันไม่สูญ แม้สิ้นรัชกาลแล้ว
แล้วฉันเองก็ออกจะเลือนๆ เรื่องแผ่นดินที่ 2 แล้วล่ะ เวลาก็ล่วงเลยมาถึง 45 ปี
กลิ่นอะไรจะติดทนนานถึงขนาดนั้น

อีตาทิมอะไรนั่น มันเด็กรุ่นหลัง เอ่ยถึงฉันไว้อย่างไรล่ะ ว่ามาถี
ฉันว่าในเพลงยาวถวายโอวาทก็บอกไว้แล้วนา ว่าเป็นแค่อาลักษณ์ ไม่ได้มีตำแหน่งเข้าเฝ้าเป็นขุนเป็นหลวงอะไร
ในกรมอาลักษณ์น่ะ มีเก่งๆ หนุ่มๆ อย่างฉันมากมาย แต่ฉันน่ะมันถนัดทางเพลงยาว ก็เลยมีชื่อเลื่องลือ

โอ้...เหนื่อยวุ้ย ปลอมเป็นคนแก่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 16 ส.ค. 07, 20:15

"ว่ากันว่า แม้แต่เทวดาก็ขืนใจคนหัวดื้อไม่ได้"
                                  นิทานเวตาล
                                       พระนิพนธ์ น.ม.ส. กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์


"สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรพาฬ        พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร"

ถ้าไม่ได้มีราชทินนามแล้วจะให้หมายถึงอะไรล่ะเจ้าคะ หลวงตา    อาลักษณ์เป็นคุณหลวง เป็นขุน  มีทั้งนั้น  หลวงลิขิตปรีชางี้  ขุนพจนาพิจิตรงี้
ในนิราศหนองคาย จำได้เลาๆว่าเอ่ยราชทินนาม หลวงสุนทรโวหารไว้ค่ะ ทำให้มาเชื่อกันทีหลังว่าสุนทรภู่ได้เป็นหลวงแล้วในปลายรัชกาลที่  ๒ ก่อนจะไปถวายตัวกับสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ
สุนทรภู่เอ่ยถึง สามสาร เมื่อพูดถึงพระเจ้าแผ่นดิน  ในผลงานชิ้นหนึ่ง จำไม่ได้แล้วว่าเรื่องไหน    สามสาร หรือช้างเผือกสามเชือก  มีในรัชกาลที่ ๒ ไม่ใช่รัชกาลที่ ๔
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 16 ส.ค. 07, 20:17

สามสารแปลว่าช้างสามชนิดครับ
ตามตำราว่าไว้ ต้องไปค้นมาอีกทีครับ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 16 ส.ค. 07, 21:40

มีกลอนตอนหนึ่งในนิราศภูเขาทองที่อาจใช้เป็นเบาะแสในการกำหนดอายุได้ครับ
มาทางท่าหน้าจวนจอมผู้รั้ง             คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
จะแวะหาถ้าท่านเหมือนเมื่อเป็นไวย    ก็จะได้รับนิมนต์ขึ้นบนจวน

หากสามารถสอบได้ว่าผู้รั้งกรุงเก่าคนไหนที่เคยเป็นไวยก็คงใช้เป็นหลักฐานได้ค่อนข้างหนักแน่นครับ
น่าคิดว่าผู้รั้งกรุงเก่าที่เคยเป็นไวยนี้น่าจะเป็นไวยในบทนี้ด้วย

ถึงหน้าแพแลเห็นเรือที่นั่ง              คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย           แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง

ถ้าทั้งสองไวยเป็นไวยเดียวกันจริง ก็เห็นได้ว่ากวีคงจะสนิทกับผู้รั้งกรุงเก่าผู้นี้ไม่น้อย ตำแหน่งจมื่นไวยวรนารถเป็นตำแหน่งหัวหมื่นมหาดเล็ก หากกวีคบหาสนิทสนมและหมอบกราบอยู่ข้างกันก็น่าจะเป็นคนวัยใกล้เคียงกัน ไม่รู้ว่าพอจะชี้อะไรได้บ้างหรือไม่นะครับ

หากยึดตามพระวินิจฉัยสมเด็จดำรง ผู้รั้งกรุงเก่าสมัยร.๓ คือพระยาไชยวิชิต (เผือก) ซึ่งท่านว่าเป็นพระนายไวยสมัยร.๒

แต่ถ้าสุนทรภู่ไปกรุงเก่าต้นรัชสมัย ร.๕ ผู้รั้งผู้นี้ก็คงเป็นพระยาไชยวิชิต (ช่วง กัลยาณมิตร)

ก็ไม่รู้ว่าท่านช่วงจะเคยเป็นไวยมาก่อนหรือเปล่านะครับ

อีกอย่าง ไม่รู้ว่าท่านจะอายุราว ๗๐ พอๆกับท่านภู่ของคุณพิพัฒน์ในช่วงเวลานั้นหรือเปล่า

แต่ผมเดาว่าท่านช่วงน่าจะหนุ่มกว่านั้นแยะครับ เพราะเจ้าจอมมารดาแสง ลูกสาวท่าน เพิ่งจะถวายตัว อายุยังไม่ถึง ๑๘ เลย
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.062 วินาที กับ 19 คำสั่ง