เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 63045 สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
 เมื่อ 12 ส.ค. 07, 22:08

สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5

โดยตีความจากกลอนที่ว่า
"ถึงเขมาอารามอร่ามทอง พึ่งฉลองเลิกงานเมื่อวานซืนฯ
โอ้ปางหลังครั้งสมเด็จพระบรมโกศ มาผูกโบสถ์ก็ได้มาบูชาชื่น
ชมพระพิมพ์ริมผนังยังยั่งยืน ทั้งแปดหมื่นสี่พันได้วันทา"

แปลความว่า สุนทรภู่เคยตามเสด็จพระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคตแล้ว
มาผูกโบสถ์ และได้ชมพระพิมพ์ที่ประดับผนังอีกด้วย
ความที่ยกมาเป็นหมุดเวลาดอกใหญ่ บอกวันเวลาที่แน่ชัด แต่ไม่มีคนเห็นเลย....
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 12 ส.ค. 07, 22:20

ตำราเดิมบอกว่าพระเจ้าแผ่นดินที่มาฉลองวัดคือรัชกาลที่ 2
แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงพระราชนิพนธ์ไว้ เป็นอีกอย่างหนึ่ง
(ดูประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 หมายเลข 320) ดังนี้
สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ทรงรับบูรณะวัดนี้ เมื่อครั้งรัชกาลที่ 2 แต่กว่าจะสำเร็จได้ฉลองวัด
ก็ตกเข้าปีที่ 4 ในรัชกาลที่ 3 ตรงกับปีชวด สัมฤทธิศก 1190 หรือ พ.ศ. 2371

จะต้องมีคนค้านว่า ก็พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 ทรงเสด็จมาที่วัดนี้ตั้ง 2 ครั้ง
คือเมื่อเริ่มก่อราก และเมื่อยกเครื่องบน
สุนทรภู่ได้ตามเสด็จ ....มิได้หรืออย่างไร

ตอบว่า มิได้ ถ้าตามเสด็จคราวนั้น จะไม่มีโบสถ์ให้ชม และไม่มีพระพิมพ์ริมผนังด้วย
เพราะการก่อราก จะยังไม่มีอาคาร
การยกเครื่องบน จะยังไม่ตกแต่งผนัง
และทั้งสองครั้ง เป็นการก่อสร้างที่กำลังดำเนินการ ไม่มีใครไปอวดชื่นชมอะไรได้ทั้งนั้น

การที่สุนทรภุ๋ ได้ตามเสด็จงานผูกโบสถ์ จึงเกิดได้สองครั้ง
ครั้งแรกในปี 2371 เมื่อวัดสร้างเสร็จ มีงานฉลอง
ถ้าเป็นครั้งนั้น สุนทรภู่ก็ตามเสด็จรัชกาลที่ 3 ซึ่งในวันที่แต่งนิราศภูเขาทอง
กลายเป็นพระบรมโกศไปเสียแล้ว

แต่ผมไม่คิดว่า กวีอย่างสุนทรภู่จะได้ตามเสด็จรัชกาลที่ 3 มิใช่ว่าเพราะทรงกริ้ว
ผมไม่เชื่อตำนานเรื่องนั้นอยู่แล้ว
แต่เป็นเพราะรัชกาลที่ 3 ทรงชวนสมเด็จฯ ให้เปลี่ยนมาบูรณะวัดไกล้วัง คือวัดหงษ์ฯ แทน
เรื่องอะไรจะส่งเสริมวัดนอกเมือง
และพระจอมเกล้าก็ทรงเล่าเป็นทำนองไม่เห็นด้วยที่ทรงละการบูรณะวัดเขมา
ทรงปฏิญานว่า หากได้ดี จะบูรณะวัดเขมาให้งดงามให้จงได้

จึงมั่นใจว่า สุนทรภู่ตามเสด็จรัชกาลที่ 4 มาในการฉลองพระอุโบสถ ตอนปลายรัชกาล
และวันนี้ ทรงสวรรคตแล้ว ....แปลว่า สุนทรภู่อยู่มาถึงรัชกาลที่ 5 ครับ

เชิญค้านครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 13 ส.ค. 07, 12:20

ยังค้านไม่ออกค่ะ   
แต่ขอจุดประเด็นเรื่องกาลเวลา ในกลอนบทนี้  มันมีทั้งอดีตและปัจจุบัน

๑)"ถึงเขมาอารามอร่ามทอง พึ่งฉลองเลิกงาน เมื่อวานซืนฯ
เป็นปัจจุบัน (ของกวี)
คือวัดนี้มีงานฉลอง เพิ่งเลิกเมื่อวานซืน  จะเป็นรัชกาลที่ ๓ หรือ ๔ ก็ตาม
แต่เป็นเหตุการณ์ปัจจุบันของคนแต่งนิราศภูเขาทอง
เดินทางไปภูเขาทอง ผ่านวัดที่งานเพิ่งเลิกหมาดๆ  บอกให้รู้ว่าวัดเขมาในตอนนั้น บูรณะเสร็จงดงามแล้ว อร่ามด้วยลายทอง   ต้องเป็นวัดที่มีโบสถ์หรูหรามาก
งานฉลองนี่ฉลองอะไรไม่รู้  ฉลองวัดที่สร้างเสร็จ หรืองานฉลองประจำปี เป็นได้สองทาง
คำว่าอร่ามทอง ชวนให้คิดว่าวัดนี้น่าจะบูรณะเสร็จใหม่  ไม่นานนัก สีสันยังสวยสดอยู่

๒)โอ้ปางหลังครั้งสมเด็จพระบรมโกศ มาผูกโบสถ์ก็ได้มาบูชาชื่น
ย้อนรำลึกความหลัง น่าจะนานมากแล้ว ไม่ใช่แค่สามสี่ปี  เพราะมีคำว่า"ปางหลัง"  บอกบ่งถึงระยะเวลายาวนานจนยุคที่เอ่ยถึงกลายเป็นอดีตจบไปแล้ว  ไม่ใช่ยุคปัจจุบัน
อย่างน้อยก็คนละรัชกาล  หรือสองรัชกาล   

๓)ชมพระพิมพ์ริมผนังยังยั่งยืน ทั้งแปดหมื่นสี่พันได้วันทา"
ถ้าหากว่าการชมพระพิมพ์ริมผนัง จำนวนแปดหมื่นสี่พัน ที่ว่านี่เป็น ปัจจุบัน ล่ะคะ
เป็นไปได้ไหม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 13 ส.ค. 07, 17:43

กวีต้องเคยเห็นวัดนี้ หลายครั้ง
๑)เมื่อมาผูกโบสถ์  ตอนนั้นยังไม่มีพระพิมพ์ (ตามที่คุณพพ.บอก)
๒) มาเห็นอีกครั้ง  เมื่อพระพิมพ์ถูกนำมาประดับผนังแล้ว   
๓) ตอนเดินทางผ่านมา  เห็นอีกครั้ง ถึงออกปากว่า ยังอยู่คงทนดี  ไม่ชำรุดเสียหาย
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 13 ส.ค. 07, 21:08

ข้อนี้ผมก็เห็นเหมือนอ.เทาชมพูครับ

เป็นเรื่องการแบ่งวรรคตอน คงจะสรุปไปทางใดทางหนึ่งไม่ได้
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 13 ส.ค. 07, 21:31

โอ้ยามเข็ญเห็นอยู่แต่หนูพัด    ช่วยนั่งปัดยุงให้ไม่ไกลกาย
ในนิราศเมืองเพชร   ที่เราพูดกันในกระทู้ว่า แต่งประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๔ หลังศึกเจ้าอนุวงศ์เพียงไม่กี่ปี    หนูพัดลูกชายกวีเป็นหนุ่มพอจะมีเมียได้แล้ว แต่ยังไม่มี
ถ้านิราศภูเขาทองแต่งเมื่อรัชกาลที่ ๕ จะปีไหนก็แล้วแต่     หนูพัดอายุเท่าไรแล้วล่ะคะ
เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯขึ้นครองราชย์ พ.ศ. ๒๔๑๑   ห่างจากพ.ศ. ๒๓๗๔ ถึง  ๓๔ ปี
ถ้าหนูพัดอายุประมาณ ๑๘-๒๐ ในนิราศเมืองเพชร   ตอนนั่งปัดยุงให้หลวงพ่อ  ก็อายุ ๕๒-๕๔   เข้าไปแล้ว    น่าจะเป็นฝ่ายมีลูกชายวัยหนุ่มใหญ่ มานั่งปัดยุงให้มากกว่า

ถ้าคุณพพ.ยืนกรานว่าคนแต่งนิราศเมืองเพชรไม่ใช่สุนทรภู่ ก็กลับมาลงที่คำถามว่า สมัยโน้นบรรดากวีที่แต่งกลอน  นิยมมีลูกชื่อหนูพัดกันเสียจริง หรือไง
ตั้งชื่อลูกว่าพัดซ้ำกัน อาจบอกได้ว่าคนสมัยนั้นชื่อซ้ำกันเยอะ
แต่คุณพ่อเล่นตั้งชื่อเล่นของคุณลูกชายพัด ว่าหนูพัด เหมือนกันนี่แปลกมาก เพราะไม่ใช่ว่าทุกบ้านจะเรียกลูกโดยมีคำนำหน้าว่า"หนู"    ซ้ำหนูนั้นก็เป็นหนุ่มแล้วด้วย ก็ยังเรียกอยู่อีก
บันทึกการเข้า
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 14 ส.ค. 07, 02:41

ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า                            พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี                         ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว
โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง                              แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว
โอ้เรานี้ที่สุนทรประทานตัว                                  ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ
สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ                                ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย
แม้นกำเนิดเกิดชาติใดใด                                    ขอให้ได้เป็นข้าฝ่าธุลี
สิ้นแผ่นดินขอให้สิ้นชีวิตบ้าง                                อย่ารู้ร้างบงกชบทศรี
เหลืออาลัยใจตรมระทมทวี                                  ทุกวันนี้ก็ซังตายทรงกายมาฯ

ยังไงก็นิราศเรื่องนี้ท่านรำพันถึงล้นเกล้า รัชกาลที่ ๒ แน่นอนครับ  ตั้งแต่ต้นเรื่องหรือกลอนที่ยกมานี่ก็ใช่  เพราะตามประวัติของสามโคกก็กล่าวว่า  รัชกาลที่ ๒ ประพาสเมืองสามโคก  รษฎรได้นำบัวมาถวายเป็นจำนวนมาก  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า  เมืองประทุมธานี

ถึงเขมาอารามอร่ามทอง                                  พึ่งฉลองเลิกงานเมื่อวานซืนฯ

อันนี้ไม่แน่ชัดครับว่าฉลองอะไร  งานฉลองที่วัดถือเป็นปกติครับ  ส่วนเขมาอารามอร่ามทอง  กลอนน่ะครับก็ต้องสวยวิจิตรเป็นธรรมดา  แล้ววัดนี้เป็นวัดหลวงแต่สมัยกรุงศรีฯด้วย  ก็ต้องสวยงามกว่าวัดราษฎร์ธรรมดาอยู่แล้ว 

โอ้ปางหลังครั้งสมเด็จพระบรมโกศ                      มาผูกโบสถ์ก็ได้มาบูชาชื่น
ชมพระพิมพ์ริมผนังยังยั่งยืน                              ทั้งแปดหมื่นสี่พันได้วันทา
โอ้ครั้งนี้มิได้เห็นเล่นฉลอง                                เพราะตัวต้องตกประดาษวาสนา

แปลทื่อๆเลยนะครับ  เมื่อแต่ก่อนครั้งสมเด็จฯมาผูกพัทธสีมา  ก็เคยตามเสด็จมาทำบุญด้วย  ได้ชมพระพิมพ์ที่ผนัง  แต่ครั้งนี้ไม่ได้มางานฉลองที่วัดนี้  เพราะตัวเองไม่มีวาสนา

ผูกโบสถ์   ผมถามผู้พอรู้ที่นอนข้างๆผม(อีกแล้ว)  เธอบอกผมว่า  หมายถึงการผูกพัทธสีมา  เป็นสังฆกรรมด้วย  นิยมทำกันหลังจากสร้างอุโบสถเสร็จ  หรือทำการรื้อและปฏิสังขรณ์ใหญ่เสร็จอาจทำให้นิมิตที่แสดงเขตเคลื่อน  เลยต้องทำการกำหนดเขตใหม่หรือผูกพัทธสีมาใหม่ อืม... อันนี้น่าคิด  เพราะตามประวัติจริงๆ  มีงานใหญ่ๆเพียงสองครั้ง  ใน พ.ศ. ๒๓๗๑  ครั้งหนึ่ง (ซึ่งรัชกาลที่ ๒ สวรรคต พ.ศ.๒๓๖๗)  อีกครั้งก็ใน พ.ศ.๒๔๐๖  คุณพิพัฒน์ทำให้ผมต้องปวดเฮดอีกแล้ว ถ้ามีการฉลองที่ไม่ใช่ทั้งสองครั้งนี้ก็ไม่แน่ชัดครับ เพราะหาหลักฐานการเสด็จของรัชกาลที่ ๒ เพื่อผูกพัทธสีมา ไม่เจอครับ  แต่ถ้าตามเสด็จล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔  ก็คงต้องเป็นไปตามที่คุณพิพัฒน์ว่าล่ะครับ......... ฮืม 

ขออนุญาตไปหายาพารามาทานก่อนนะครับ  ว่างๆจะลองหาหลักฐานอื่นมาดูไปด้วย
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 14 ส.ค. 07, 03:08

น่าเห็นใจคุณบานา ที่บ้านผมมีแต่ใบบัวบก คงไม่เหมาะจะส่งไปช่วย ฮ่าฮ่าฮ่า

ไม่เชื่อผม ก็เสนอให้เชื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงเล่าต้นสายปลายเหตุไว้ ผมจะย่อมาดังนี้
มีผู้ไปทูลพระราชมารดาท่าน ว่าวัดเขมาทรุดโทรม ต้องผู้มีบุญจึงจะบูรณะสำเร็จ
สมเด็จจึงให้เจ้าฟ้ามงกุฏ ไปขอออกมาจากบัญชีกฐินวังหน้า เพราะเป็นเขตรับผิดชอบ
แล้วท่านกับเจ้าฟ้ามงกุฏก็ช่วยกันดูแล พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 และกรมพระราชวังบวร มาร่วมบุญด้วย ถึงเสด็จช่วยสองครั้ง
คือเมือขุดราก และเมื่อยกเครื่องบน

ตรงนี้ ไม่มีทางคิดเห็นเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากบอกว่า การก่อสร้างกำลังโกลาหลอยู่ทีเดียว
กวี หากได้ตามเสด็จ ก็คงอยู่ห่างๆ มีแต่เจ้านายที่ทรงประกอบพระราชพิธี...ซี่ง
ยังไม่มีฝาผนังแน่ๆ

ปรากฏว่า แม้จนสิ้นรัชกาลแล้ว งานก็ยังไม่ลุล่วง
รัชกาลที่สามท่านคิดอย่างไรไม่ทราบ ทรงชวนสมเด็จฯให้มาบูรณะวัดหงษ์แทน ท่านจะออกค่าอะไรที่แพงๆ ให้
ให้สมเด็จรับแต่งานก่ออิฐถือปูนก็พอ สมเด็จคงจะทรงเกรงพระทัย ก็ยอมตาม
แต่เจ้าฟ้ามงกุฏซึ่งวันนั้นเป็นพระภิกษุแล้ว ไม่เอาด้วย ขอไม่ยุ่ง และปฏิญานว่า ถ้ามีโอกาส จะบูรณะวัดนี้ต่อ ให้งดงามให้จงได้
ข้อนี้แสดงว่า เมื่อทำพิธีฉลองวัดในปี 2371 จึงน่าจะหมายความว่า การปฏิสังขรณ์มาถึงสิบกว่าปี เสร็จสิ้นลง (เสียที)
แต่วัดจะอร่ามทองหรือไม่ ผมคิดตามพระราชนิพนธ์แล้ว คิดว่าคงไม่
เป็นอันจบบทบาทของวัดเขมาที่ยังไม่อร่ามทองครั้งรัชกาลที่ 2 และ 3 แต่เพียงเท่านี้

ผ่านไปถึงสามสิบกว่าปี ตก 2409 พระจอมเกล้าฯ จึงทรงดำริจะปฏิสังขรณ์วัดเขมาอีกครั้ง
ครั้งนี้ ทำจนอร่ามทองแน่ๆ ดังที่เห็นในปัจจุบัน

ท่านจะอ่านกลอนแบบเว้นวรรค ข้ามเวลา หรือยกข้างหลังมาไว้หน้า พลิกแพลงอย่างไร
ก็หนีไม่พ้นความจริงที่ว่า พระเจ้าแผ่นดินที่มา"ผูกโบสถ์" ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการสร้างวัด
ไม่ใช่รัชกาลที่ 2 ไม่ใช่รัชกาลที่ 3
เหลือให้ลือกก็รัชกาลที่ 4

งานนี้มัดมือชกครับ
ท่านหนีไปใหนไม่พ้น ต้องบอกว่าสุนทรภู่อยู่มาจนทันเห็นรัชกาลที่ 4 เสด็จมาผูกโบสถ์วัดเขมาอารามอร่ามทอง
เมื่อปี(ราว) 2410 และวันที่เขียนกลอนท่อนนี้ ทรงสวรรคตไปแล้ว
เว้นแต่ท่านจะบอกว่า กวีที่แต่งนิราศภูเขาทองชื่อเพี้ยง หรือชื่อผู้ อะไรประมาณนั้น
ไม่ใช่สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรวาล

เรื่องนี้ผมยังมีลูกแถมอีกชุดใหญ่
แต่เห็นว่าท่านทั้งหลายคงหนักใจเกินกว่าจะรับอะไรที่แปลกใหม่ได้อีกแล้ว จึงเสนอเพียงเรื่องเดียว

หรือว่าจะรับประเด็นเพิ่มอีกครับ
บันทึกการเข้า
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 15 ส.ค. 07, 02:45

ครับแค่นี้ก็แย่แล้วล่ะครับท่าน  อันนี้ชัดเจนครับล้นเกล้ารัชกาลที่ 4  เสด็จครั้งใหญ่และญัตติเป็นแบบธรรมยุติกนิกายด้วย  และเป็นผู้พระราชทานนามวัดจากวัดเขมา  เป็นเขมาภิรตาราม  ถ้าเป็นตอนนี้จริงๆ  ถ้าเป็นท่านสุนทรตามเสด็จฯล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ในครั้งนั้น  ก็ต้องอายุยืนมากล่ะครับถึงจะมาพร่ำเพ้อว่า

โอ้ปางหลังครั้งสมเด็จพระบรมโกศ                      มาผูกโบสถ์ก็ได้มาบูชาชื่น

เพราะก็ต้องเป็นรัชกาลต่อมา  (พาราอีกสองเม็ด)   หรือจะไม่ใช่สุนทรภู่แต่งจริงๆ  อันนี้ผมกำลังเอียงซ้ายครับท่านอาจารย์เทาชมภู  เอนมาทางท่านพิพัฒน์เต็มๆเลย....... เจ๋ง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 15 ส.ค. 07, 09:59

เอาพาราอีกหนึ่งขวดมาแบ่งกันกินค่ะ

ถ้าหากว่านิราศภูเขาทองแต่งในรัชกาลที่ ๓ จะลงตัวตามประวัติที่รู้กันมามากที่สุด  ว่าสุนทรภู่ย้อนรำลึกถึงรัชกาลที่ ๒
แต่ถ้าแต่งในรัชกาลที่ ๔  ท่านจะต้องย้อนรำลึกถอยไปอย่างน้อยก็ ๒๖ ปี  ถ้าหากว่าปีนิราศภูเขาทองไม่ใช่ปีแรกในรัชกาลที่ ๔ ก็ต้องบวกตัวเลขจาก ๒๖ เข้าไปอีก
ปาเข้าไปสามสิบปี หรือกว่า
ยังมีแรงเดินทางไปโน่นมานี่อีกหรือ    คุณหนูพัดก็ช่างกระไร ไม่เห็นใจคุณพ่อ เอาแต่นั่งปัดยุงกันอยู่สองคนพ่อลูก 
คนหนึ่งก็หง่อม อีกคนก็วัยกลางคน

จึงขอหักคอคุณพพ. เอาดื้อๆว่า
นิราศภูเขาทองแต่งในรัชกาลที่ ๓  นี่แหละ    ปีใดปีหนึ่งใน ๒๖ ปีเศษของการครองราชย์
วัดเขมา จะต้องผูกโบสถ์กันเรียบร้อยแล้วตั้งแต่รัชกาลที่ ๒    พระพิมพ์ก็ขึ้นประดับบนผนังเสร็จแล้วตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๒
มาเห็นอีกทีหลายปีหลังจากนั้น  สภาพยังดีอยู่    วัดมีการฉลองประจำปีหรืออะไรสักอย่าง   แต่ว่าไม่ใช่เพิ่งจะทำเสร็จ   ทำเสร็จนานแล้ว  บูรณะงดงามอร่ามทองแล้ว
กวีจึงออกปากชมตามนี้
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 15 ส.ค. 07, 15:51

ส่วนตัวกระผมเองนั้น...เห็นจะต้องขอสตริ๊กนิน
มิใช่เพราะถูกอาจารย์หักคอ

แต่เป็นเพราะอาจารย์หักพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 4 ที่ทรงยืนยันว่าวัดนี้สร้างเสร็จ 2371
นี่หมายถึงที่พระราชมารดาทรงสร้างนะครับ
หาได้ทรงเล่าว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 เสด็จมา"ผูกโบสถ์"
(ขอกระซิบย้ำว่า ทรงระบุ...เมื่อ"ขุดราก" และเมื่อ"แรกยกตัวไม้เครื่องบน"....จุ๊ๆ อย่าเอ็ดไปครั๊บ)

ผมเองยังความรู้น้อย
เมื่อเจอคำว่า ขุดราก กับคำว่ายกเครื่องบน ก็ไม่กล้าเอาไปเหมาเป็นคำว่าผูกโบสถ์
เพราะเท่าที่เคยเป็นช่างปูนมา
สามอย่างนี้ เป็นลำดับกันไป มิใช่หลงจ้งล่ำซัมเป็นตีเหมาได้

ส่วนการอ่านกลอนถอยหลัง เอาเรื่องพระพิมพ์ที่อยู่เพรสเซ่นเท๊นส์
ถอยไปเป็นพาสต์เท๊นส์ แล้วเอาเลขแปดหมื่นสี่พัน มาหลอกให้งง
อันนั้นผมว่า เป็นเพราะฤทธิ์ยา อาจจะแรงไปหน่อยทำให้ก่งก๊งคร๊าบบบ.......

หึหึ .....หัวเราะแบบคอหัก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 15 ส.ค. 07, 21:30

ถ้าจะให้เรื่องนี้แต่งในรัชกาลที่ ๕ ให้ได้  ตามหลักฐานการผูกโบสถ์    ต้องลำดับใหม่
แบบนี้หรือเปล่าคะ
๑) สุนทรภู่ไม่ได้เป็นหนุ่มในรัชกาลที่ ๑   เกิดอย่างเร็วก็ตอนปลายรัชกาล
๒) สุนทรภู่ไม่ได้เป็นกวีเอกในรัชกาลที่ ๒ เพราะยังเยาว์อยู่  โตไม่ทันรับราชการ
๓) สุนทรภู่เพิ่งมาเติบโตเป็นหนุ่มและหนุ่มใหญ่ในรัชกาลที่ ๓ 
๔) สุนทรภู่มารับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๔
๕) พระเจ้าแผ่นดินที่สุนทรภู่คร่ำครวญถึงนักหนา คือรัชกาลที่ ๔ หรือไม่ก็สมเด็จพระปิ่นเกล้า
๖) มาถึงต้นรัชกาลที่ ๕ สุนทรภู่ไปบวช  ออกเดินทางไปตจว. กับลูกชายที่ยังเด็กอยู่ 
เพราะฉะนั้นเรื่องเป็นมหาดเล็กพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ในรัชกาลที่ ๑ ก็ดี    เรื่องแต่งกลอนรามเกียรติ์ต่อให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าก็ดี   เรื่องหักหน้ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ว่าด้วยกลอนในละครสังข์ทองก็ดี    เรื่องตกอับตอนสิ้นรัชกาลที่ ๒  เรื่องบวชหนีราชภัยในรัชกาลที่ ๓   เรื่องเป็นครูเจ้าฟ้าอาภรณ์   ฯลฯ
พวกนี้ต้องยกเครื่องใหม่หมด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 15 ส.ค. 07, 22:10

งั้นเอาใหม่
ถ้าหากว่ายึดตามดวงชะตาสุนทรภู่ ที่สมเด็จกรมฯดำรงฯ ทรงได้มาจากตำราดวงชาตา
บอกว่าสุนทรภู่เกิด 26 มิย. 2329  จากโหรนิรนาม  ที่รวบรวมผูกดวงชะตาไว้
สิ้นรัชกาลที่ 1   2352   สุนทรภู่อายุ 23 ปี กำลังหนุ่มแน่น
เข้ารับราชการในรัชกาลที่ 2   เป็นกวีเอก จนสิ้นรัชกาล พ.ศ. 2367
สุนทรภู่อายุ 38 ปี
เริ่มรัชกาลที่ ๓   สุนทรภู่ออกบวช  จนสิ้นรัชกาล พ.ศ. 2393 อายุ 64 ปี ถ้าเป็นข้าราชการยุคนี้ก็เกษียณแล้ว 4 ปี
เริ่มรัชกาลที่ 4   สุนทรภู่กลับเข้ารับราชการ  นานเท่าไรไม่ทราบ
แต่เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 4  พ.ศ. 2411  สุนทรภู่อายุ 82 ปี
วัดเขมาสวยงามอร่ามทองในพ.ศ. 2409 เมื่อท่านภู่อายุ 80 ปี
ท่านกวีมาลงเรือไปภูเขาทอง ปีไหนไม่ทราบ  แต่คุณพพ.บอกว่ารัชกาลที่ 5 ก็ต้องอายุ 82 พลัส เข้าไปอีก
หนูพัดไม่ต่ำกว่า 50 เศษ

ดิฉันเชื่อว่าคุณพพ.จะตอบว่า ไม่เชื่อดวงที่ผูกนั่นว่าเป็นดวงของสุนทรภู่
ขอพาราอีกขวดดีไหม
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 15 ส.ค. 07, 22:15

ระหว่างที่คอเกือบหัก เพราะถูกหักคอ สติเลอะเลือน
ท่านกวีเอกมาเข้าร่าง บ่นงึมงัมว่า....

แม่หนูเทาชมภู....เธอน่ะ ถ้าเก่งเลขอีกเรื่องเดียว เห็นจะเป็นนักพงศาวดารตัวเอ้ได้
ฉันจะเล่าเรื่องฉันให้ฟัง

ฉันบอกไว้ในเพลงยาวถวายโอวาทแล้ว ว่าฉันน่ะ.....อาลักษณ์
พระเจ้าอยู่หัวบรมกวีเห็นฉันมีแวว ก็เลยพระราชทานทูนกระหม่อมเจ้าฟ้าอาภรณ์ ให้ฉันสอนหนังสือ
นั่นน่ะปีเกือบสุดท้ายของรัชกาลแล้วละ เจ้าฟ้าท่านแปดชันษา
ยังไม่ทันเรียนได้เท่าไร พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต ปุปปับเหลือเกิน
ในวังหลวงเปลี่ยนระเบียบพิธีใหม่หมด คนเก่าถูกถอดเพราะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่
ท่านเชิญพระราชมารดาให้ทรงดูแลฝ่ายใน

ฉันมิใช่ข้าหลวงเดิม ก็เลยตกงาน ฉันก็ถือโอกาสบวชเสียเลย ก็มันจะเข้าเบญจเพศอยู่แล้ว
มัวแต่หัวหกก้นขวิด เล่นเพลงยาวจนชื่อเสียงระบือลือเลื่องไปถึงเมืองนคร เขมรและลาว
ก็ที่ฉันต่อเรื่องรามเกียรติถวายคราวนั้นน่ะ ทรงโปรดนักเชียว
ได้รับพระราชทานรางวัลหนักอยู่ นี่ถ้าทรงพระชนม์อยู่ละก้อ ฉันคงจะรุ่งกว่านี้มากมายนัก

ว่าแล้วก็ขอเคี้ยวหมากสักคำก่อนนะ แม่หนู....ง่วม ง่วม ง่วมง่วม....

ฉันไปพึ่งบุญกรมหมื่นชิโนรสท่าน เพราะทรงเอ็นดูที่ฉันเป็นพวกเล่นหนังสือ
โชคดีที่ทูนกระหม่อมฟ้าอาภรณ์โสกันตร์ แล้วต้องออกวัง
ได้รับพระราชทานวังที่ถนนหน้าพระลาน ที่ทุกวันนี้พวกเธอชอบไปมั่วสุมประชุมเรื่องการช่างนั่นแหละ
เจ้าฟ้ากุณฑล พระราชมารดา ท่านก็เลยยกครอกออกมาด้วยกันหมด

ทรงคิดถึงข้าเก่า
ก็เลยมาสั่งให้ฉันไปสอนหนังสือทูนกระหม่อมฟ้ากลางและฟ้าปิ๋ว
วาสนาจึงส่งให้ฉันมีภัตตาหารไม่ขัดสน ....
อ้าว นั่นนั่งฟังจนหลับไปเจียวรึ....บอกแล้วว่าอย่าไปกินยาฝรั่ง

มันยันเอาน่ะสิ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 15 ส.ค. 07, 23:28

แม้....ใจร้อนอีกเล่านั่น
คนสมัยนี้ ชอบเร่งรีบ ทำประวัติฉันหกเลอะเทอะหมด

ฉันสอนทูนกระหม่อมฟ้ากลางอยู่ได้สองปี ตั้งแต่ปีฉลูเอกศก จนเข้าปีเถาะ 2374 พ้ากลางท่านได้โสกันตร์
ฉันก็หมดหน้าที่ กราบถวายบังคมลาไปตระเวณหัวเมืองเสียหลายปี
เพราะติดกิเลสโลภ อยากร่ำรวย มีคนมาให้ปริศนาลายแทงฉันหลายใบ
โอย....ฉันออกตระเวณหัวเมืองงวดนี้ หลายปีอยู่ ยังดีที่ได้รับพระราชทานเงินค่าสอนมาหลายชั่งอยู่
เป็นทุนให้หาเรือ เข้าของอาหาร ไปด้วยกันกับลูกๆ ทั้งหนูพัด หนูตาบ
อ้อ ยังมีหนูกลั่นหลานพระยาสุนทรเสนา ที่บ้านอยูตรงวัดเลียบไง พ่อมันปู่มันตายกระทันหัน
ย่ากับอาไม่เลี้ยง ได้มาอาศัยนับถือฉันเป็นพ่อบุญธรรม
เด็กๆพวกนี้เก่ง ว่ากลอนแตกมาตั้งแต่เด็ก ขี้เล่น ชอบหยอกล้อสาวๆ กำลังหนุ่มคะนอง ฉันเลยจับบวชเณรเสีย
ไม่อยากให้ห้าวนัก

ไอ้ลายแทงนั่นก้อ แสนทุเรศ เหลวเป๋วไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ทำฉันขาดทุนป่นปี้
ต้องคอตกมาเข้ากรุง ยังดีนะที่ได้อาศัยท่านผู้ใหญ่ อยู่วิหารที่วัดเลียบ แต่อยู่ไม่เป็นสุขหรอก คนเรา ยามจนใครๆก็รังเกียจ
พวกที่เคยมาขอฉันแต่งเพลงยาว บางคนก็ช่วยเหลือบ้าง บางคนก็น้ำใจจืด
เฮ้อ...อนิจจังไม่เที่ยง
ฉันน่ะ อยากจะสึกออกไปหางานการทำ ก็โชคร้ายสิ้นดี เจ้านายมาสิ้นกระทันหัน
เจ้าฟ้ากุณฑลไง ท่านยังสาวอยู่แท้ๆ ปุปปับก็สิ้น นกกาไม่ได้อาศัย ฟ้าอาภรณ์ฟ้ากลาง ท่านก็ยังเด็ก
ฉันก็ไม่กล้าบากหน้าไปพึ่งท่านอีก

โชคดีจริงๆ ที่เจ้านายพระองค์หนึ่ง  เธออย่ารู้เลยว่าพระองค์ใหน
ท่านฝากฝังฉันไปอยู่วัดใหม่ ตรงป้อมมหากาลไงเล่า ที่พระเจ้าอยู่หัวสร้างพระราชทานพระองค์เจ้าหญิงวิลาส
ทำเสียงามเลิศ หมู่กฏีเป็นสัดเป็นส่วน ต้องถือว่าบุญพาวาสนาส่ง ได้ฉันทองหยิบฝอยทองพอไม่ให้อดอยากปากแห้ง
อยู่วัดนี้แค่สองปีปลาย ถึงปีขาล 2385 ฉันก็ต้องสึก
เป็นคราวเคราะห์หนักทีเดียว ฉันตรวจดวงชะตาแล้ว ไม่สึกเห็นจะไม่ได้
ยังดีที่เจ้านายใหม่ของฉัน ท่านยอมรับฉันไปอยู่ด้วย เจ้าฟ้าน้อยอย่างไรเล่า
พวกเธอรู้จักใหม ท่านน่ะชอบคนมีวิชา ฉันก็ได้ไปเป็นข้าของท่าน คู่กับตามี ครูดนตรีนั่นแหละ
ท่านอยู่วังเดิม เลี้ยงคนไว้แยะ วังท่านก็มีคนไปมามากมาย พวกฝรั่งมังค่า ท่านก็กว้างขวางอยู่
ฉันก็เลยได้เก็บเล็กประสมน้อยพวกนิยายแปลกๆ ยังได้เรื่องเล่าทะเลนอกทางฝั่งบังกล่า...สนุกอย่าบอกใครเลย

ฉันมาโชคดีมหาศาลเมื่อสิ้นแผ่นดินปลาย ....โอ้ ท่านไม่โปรด ท่านให้เรียกว่าแผ่นดินที่สาม
พอสิ้นแผ่นดิน ท่านฟ้าน้อยก็ได้อุปราชาภิเษกเป็นพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้เป็นถึงพระเจ้าแผ่นดินที่สอง
ตามแบบที่พระนเรศวรเป็นเจ้า ตั้งน้องท่านสมัยกรุงศรีอยุธยาไง

ฟ้าน้อย เอ้ย ....พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ก็เลยโปรดฯ ตั้งฉันเป็นจางวางกรมพระอาลักษณ์ คู่กับตาฟักของวังหลวง
โปรดให้ฉันเข้าเฝ้าไกล้ชิด ฟ้าน้อยท่านห้าวนัก ชอบเล่นเพลงยาว
ท่านเคยเกี้ยวแม่บุษบาแข่งกันจนแม่นางทิ้งวังหลวงมาอยู่กับท่าน เสียดายที่แม่นี่กล้านัก ไม่พอใจขึ้นมา หนีกลับวังหลวงก็ทำได้

ฉันอยู่กับท่าน ก็ได้อาศัยแต่งนิยายหาลำไพ่ เพราะท่านไม่ห้าม ชอบเสียอีก
ฉันก็ได้อาศัยหนังสือหนังหาของท่าน ดูรูปฟังเรื่อง เก็บเอามาแต่งเรื่องพระอภัยมณี เคยได้ยินไหมเล่า เรื่องนี้น่ะ
ฉันแต่งจนแทบจะหมดมุกทีเดียว ใครๆก็ชอบ ท่านเพงยังมาขอไปทำละคอนชายจริงหญิงแท้
ที่โรงละคอนของท่านใต้ท่าเตียนไง

นึกว่าจะอยู่สบาย จู่ๆ เจ้านายก็เสด้จสู่สวรรค์ จากนั้นแค่สองปี พระเจ้าแผ่นดิน พระจอมเกล้า ก็สวรรคตตามไปอีก
ที่ท่านไปส่องกล้องดูคราสที่หัววานไง คราวนั้นป่วยหนักกันทั้งวัง
ฉันก็เลยต้องบวชอีก อุทิศถวายท่าน นี่ก็ว่าจะไปบูชาพระสถูปที่ภูเขาทอง ยุธยา

แม่เทาชมภูจะไปกับฉันใหมเล่า หนูอายุเท่าไรน่ะนั่น...อ๋อ รุ่นราวคราวเดียวกะหนูพัดหนูตาบ
แล้วแต่งกลอนได้ใหม...แต่อย่ามาแต่งเลียนแบบฉันนา
ทั้งพระนครนี่ เอาแต่ลอกทางกลอนของฉัน จนบางทีจำกันไม่ได้ว่าใครเป็นใคร....โอยเหนื่อย
ถ้าไม่เพราะรักเจ้านาย เห็นจะไม่ถ่อสังขารไปกรุงเก่าดอก ปีนี้ก็เจ็ดสิบเข้าไปแล้ว
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.052 วินาที กับ 19 คำสั่ง