เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 12
  พิมพ์  
อ่าน: 55541 สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 28 ส.ค. 07, 08:43

คราวนี้ตอบคุณ Bana คนเดียว
เมื่ออ่านนิราศพระบาทมาถึงตอนนี้ก็คิดอย่างเดียวกับคุณค่ะ ว่ากวีคนนี้ช่างใหญ่โตเกินหน้าพลพาย  เข้าเคียงเจ้านายได้เชียวหรือ

พี่เข้าเคียงเบื้องขวาฝ่าพระบาท          อภิวาทหัตถ์ประนังขึ้นทั้งสอง
กราบกราบแล้วก็ตรึกรำลึกปอง                   เดชะกองกุศลที่ตนทำ
มาคำรพพบพุทธบาทแล้ว                          ขอคุณแก้วสามประการช่วยอุปถัมภ์
ฉันเกิดมาชาตินี้ก็มีกรรม                             แสนระยำยุบยับด้วยอับจน

มาอ่านอีกตอนถึงเข้าใจ
อธิษฐานแล้วก็ลาฝ่าพระบาท                      เที่ยวประพาสในพนมพนาสัณฑ์
ขึ้นเขาโพธิ์ลังกาศิลาชัน                             มีสำคัญรุกขโพธิ์ลังกาเรียง

คือท่านไปอธิษฐานอยู่ข้างขวาของ "ฝ่าพระบาท" ในรูปข้างล่างนี้ค่ะ  ไม่ใช่ฝ่าพระบาทเจ้านาย
อธิษฐานเสร็จแล้วก็ลาออกมาข้างนอก  ไปเดินเที่ยวป่ารอบพระบาทตามสบาย  ถ้าตามเสด็จเจ้านายอยู่ จะเดินเอ้อระเหยไปไหนมาไหนไม่ได้
พอเดินเที่ยวชมนกชมไม้อยู่นี่เอง    ขบวนเสด็จของเจ้าเณรผู้มีพระกลดหักทองขวาง ก็เพิ่งจะมาถึงทางข้างหลัง    กวีหนุ่มพลพายเดินลอยชายอยู่ตามสบายตัดหน้าโดยไม่รู้ตัว  ต้องตะกายหลบเจียนตาย ไม่งั้นหวายลงหลัง


บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 28 ส.ค. 07, 09:13

เรื่องเสื่อเงินนั้น
มีที่มาจากสามแหล่ง คือบันทึกของนายโหมด
พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 4
และพระนิพนธ์อธิบายเรื่องพระบาท ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ

เนื้อหาของหอมรดกตามเวบที่ลิ้งค์มานั้น เป็นงานประจำของข้าราชการ เขียนให้เด็กนักเรียนอ่าน
อ่านแล้วเหมือนรายงานประจำรายวิชา ส่งผม ผมก็ต้องให้ทำใหม่
อ่านเพลินๆ น่ะได้ครับ แต่อ้างอิงมิได้ เพราะไม่มีที่มา
เป็นคำพูดลอยๆ จะบอกว่ายกเมฆก็จะเกินไป เอาว่านั่งเทียนคงพอ
เอกสารรัชกาลที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องนี้ นอกจากข้อความไม่กี่บันทัดในพงศาวดารแล้ว
ก็ไม่พบในที่อื่น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 28 ส.ค. 07, 20:15

กลับไปอ่านนิราศพระบาทอีกที

จำเพาะมีสี่ด้านทวารบัง       ที่พื้นนั่งดาดด้วยแผ่นเงินงาม

แผ่น กับ  ผืนไม่เหมือนกันนะคะ
แผ่น  เล็กกว่า  ผืน
เราไม่เคยเรียกเสื่อ ว่า แผ่น เลย
ถ้าหากว่าเป็นเสื่อเงิน    กวีเรียกว่า  ผืนเงินงาม น่าจะถูกต้องมากกว่า
แผ่น  นี่   นึกภาพว่าเป็นโลหะชิ้นเล็กๆ  ปูเรียงกัน เหมือนแผ่นกระเบื้อง   แต่ถ้าเสื่อละก็ ไม่เป็นแผ่นแน่  ต่อให้เล็กขนาดไหนก็ไม่เป็นแผ่น  ต้องเป็นผืน
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 28 ส.ค. 07, 22:27

ผมจะเล่าตามหลักฐานนะครับ
หากจะอ่านฉบับเดิมก็ลองหาตำนานพระพุทธบาทแบบกรมศิลปากร เล่มบางๆ นิยมพิมพ์ในงานศพ
ในนั้นมีพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หรือพระนิพนธ์เรื่องตำนานวัตถุสถานที่พระนั่งเกล้าทรงสถาปนา
หรือประชุมพงศาวดารภาค 33 เทศนาพระราชประวัติรัชกาลที่ 3 ก็น่าจะมี
เล่ากันมาสรุปว่า ในสมัยรัชกาลที่ 3 คนไปไหว้พระบาทแล้วทำเทียนไหม้ ลามพระมณฑปน้อยที่ครอบรอยพระพุทธบาทเสียหาย
จึงโปรดให้ซ่อมใหญ่ นอกจากสร้างพระมณฑปน้อยใหม่แล้ว ก็โปรดให้ตีแผ่นเงินปูพื้น และปิดทองผนัง
ซึ่งในรัชกาลที่ 1 เพียงแต่เขียนลายชาดไว้เท่านั้น

ต่อมา พื้นเงินใช้ไปๆ แผ่นเงินก็ลิ ขาดออกจากกัน เกี่ยวผ้านุ่งชาวบ้านเสียหาย
รัชกาลที่ 4 จึงโปรดให้ยุบแผ่นเงินทั้งหมด หลอมทำเป็นลวด แล้วสานเป็นเสื่อเงินแทน
ที่ว่ามาก็เป็นเหตุเป็นผลแก่กันดีอยู่

และน่าจะสรุปได้ว่า กวีฝีพายจอมล่ำของเรา มาเที่ยวพระบาท ในวันที่พื้นปูแผ่นเงิน และผนังทาทอง
ส่วนใครจะเชื่อว่ารัชกาลที่ 1 โปรดให้ทำพื้นเงินและเขียนลายทองแล้ว
ก็โปรดเชิญหลักฐานมา น่าเชื่อ ผมก็จะเชื่อ

ทีนี้ บังเอิญผมไปอ่านหนังสือประวัติบรรพบุรุษและสกุลอมาตยกุล พบว่า นายโหมดท่านเล่าเองว่า
ครั้งรัชกาลที่ 3 ท่านเป็นผู้รับโปรดเกล้าให้ไปพระบาท ไปสานเสื่อเงินเอง
ผมก็เลยเชื่อท่าน เพราะท่านเป็นผู้ปฏิบิติ
แล้วเลยเชื่อต่อว่า ถ้ากวีมาเห็นพื้นแผ่นเงิน ก็น่าจะหลังนายโหมดทำเสื่อ แล้วเสื่อมันแหลกเหลวไป
คือกลับกันกับเรื่องเล่า

แต่จะเป็นรัชกาลใดที่ทำแผ่นเงิน ก็ต้องหลังรัชกาลที่ 1

เอาง่ายๆ อย่างนี้ละกัน
บันทึกการเข้า
หนอนบุ้ง
อสุรผัด
*
ตอบ: 113


ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 28 ส.ค. 07, 22:50

กลับมาอ่านอีกที

ขอแก้จาก "ฝ่ายที่แปลว่าเป็นนายบุญยังก็ยังไม่รู้ประวัติของนายบุญยังอยู่ดี" เป็น "ผมไม่มีความรู้เรื่องนายบุญยัง" น่าจะเข้าท่าเข้าทางกว่า หากคุณ pipat มีอะไรดีๆจะมาขยายก็ขอขอบคุณล่วงหน้าเลยครับ  ยิงฟันยิ้ม

ลองคุ้ยจากในเน็ตดู ว่ากันว่านายบุญยังสร้างวัดลครทำในปี ๒๓๙๔ ถ้าเรื่องนี้เป็นจริง คงยากที่นายบุญยังคนนี้จะถูกหาไปเล่นที่พระบาทในปี ๒๓๓๗ แต่ยังหาคำอธิบายที่เข้าท่าเข้าทางไม่ได้ครับ จะบอกว่าเป็นคนละบุญยังก็ดูจะกำปั้นทุบดินไปหน่อย (ถึงแม้จะเป็นไปได้ก็ตาม เพราะมีตัวอย่างจากอีกบุญยังหนึ่ง ลูกนายทองสุข ละครเมืองเพชร ดูจะวันเวลาแล้ว เป็นไปได้ว่าตั้งชื่อตามนายบุญยังคนดัง)

ส่วนเจ้าพระยาพระคลัง (กุน) นั้น เป็นแทนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่ตายเมื่อ ๒๓๔๘ ครับ ถ้านิราศพระบาทเป็นปี ๒๓๕๐ ตามพระวินิจฉัยสมเด็จดำรง พระคลังนี้ก็จะเป็นท่านกุน

ไม่ทราบว่าคุณหนอนบุ้งเอาข้อมูลว่าท่านกุนมีละครจากไหนหรือครับ พอจะขยายได้มากกว่านี้หรือเปล่า?

ท่านกุนนี้เข้าใจว่าเป็นพระคลังอยู่ไม่นานก็เลื่อนเป็นสมุหนายก แต่ผมหาไม่เจอว่าเมื่อไหร่ หากคิดว่าเป็นท่านกุน(ที่คุณหนอนบุ้งว่ามีละคร) นิราศพระบาทก็อาจต้องบังคับตกปี ๒๓๕๐ ตามพระวินิจฉัยซึ่งไม่สอดคล้องกับเรื่องเจ้าเณรน้อยพระกลดหักทองขวาง และพระหน่อสุริยวงศ์ผู้ทรงอำนาจครับ

เห็นทีจะเป็นไปได้ยาก  เศร้า

ขอตอบ คคห 74
ต้องขอโทษด้วย หนอนบุ้งเพิ่งสอบเสร็จค่ะ
หนูกลับไปค้นสมุดจดโน้ตเรื่องนิราศพระบาท เกี่ยวกับเจ้าพระยาพระคลัง
มีความคลาดเคลื่อนจากความจำบางประการ


พอแรมค่ำหนึ่งวันนั้นท่านพระคลัง…..หาบุญยังไปฉลองศาลาลัย
มีละคอนผู้คนอลหม่าน………………...กรับประสานสวบสวบส่งเสียงใส
สุวรรณหงส์ทรงว่าวแต่เช้าไป………...พี่เลี้ยงใส่หอกยนต์ไว้บนแกล


หนูจดว่า พระยาพระคลัง (กุน) เดิมชื่อพระราชประสิทธิ์
เลื่อนเป็นพระยาศรีพิพัฒน์ (รับราชกาลมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี)
เป็นเศรษฐีที่ร่ำรวยจากการค้าสำเภา
สละทรัพย์สร้างศาลาหลายแห่ง เช่น ที่ด่านขนอน นนทบุรี
ท่านหาละครของครูบุญยัง ซึ่งเป็นนายละครนอกมีชื่อเสียงที่สุดสมัยนั้น
มาฉลองศาลาที่ท่านสร้างไว้ในลานพระพุทธบาท
ละครที่กำลังเล่นและกวีกล่าวถึงคือ สุวรรณหงส์
บันทึกการเข้า
หนอนบุ้ง
อสุรผัด
*
ตอบ: 113


ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 28 ส.ค. 07, 22:52

ละครนอกมีมาแต่ครั้งอยุธยาแล้ว
เป็นละครที่แสดงกันนอกราชธานี แต่เดิมคงมาจากการละเล่นพื้นเมือง
และร้องแก้กัน... แสดงได้ทุกเรื่องยกเว้น ๓ เรื่อง คือ อิเหนา อุณรุฑ และรามเกียรติ์
บทละครที่แสดงมีดังนี้ คือ สมัยโบราณ มีบทละครนอกอยู่มากมาย
แต่ที่มีหลักฐานปรากฏมีเพียง ๑๔ เรื่อง คือ การะเกด คาวี ไชยทัต พิกุลทอง
พิมพ์สวรรค์ พิณสุริยวงศ์ มโนห์รา โม่งป่า มณีพิชัย สังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย
สุวรรณศิลป์ สุวรรณหงส์ และโสวัต
http://www.thaidances.com/data/index.asp
บันทึกการเข้า
หนอนบุ้ง
อสุรผัด
*
ตอบ: 113


ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 28 ส.ค. 07, 22:59

หนอนบุ้งเห็นด้วยกับ คคห ๘๙ ค่ะ


ถ้าเป็นความจริงก็แปลว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ  ปฏิสังขรณ์พระพุทธบาทขึ้นมาใหม่  ทรงจำลองตามแบบของเดิมรวมทั้ง แผ่นเงินปูพื้น ด้วย



จากพงศาวดาร ร. 1 พ.ศ. ๒๓๒๙

[วังหน้า] จึงให้ช่างยกเครื่องบนพระมณฑปและยอดเสร็จแล้ว
ให้จัดการลงรักปิดทองประดับกระจก
แล้วให้ทำพระมณฑปน้อยกั้นรอยพระพุทธบาท
ภายในพระมณฑปใหญ่ เสาทั้ง ๔ กับทั้งเครื่องบนและยอด
ล้วนแผ่นทองคำหุ้มทั้งสิ้น
และการพระมณฑปใหญ่น้อยสำเร็จบริบูรณ์แล้ว
ก็เสด็จพระราชดำเนินกลับยังกรุงเทพมหานคร
ขึ้นเฝ้า....ร. 1....กราบทูลถวายพระราชกุศลซึ่งเสด็จขึ้นไป
สถาปนาพระมณฑปพระพุทธบาทใหม่แล้วสำเร็จบริบูรณ์

หนูตีความว่า
1. ซ่อมใหญ่ค่ะ
2. ภายในพระมณฑปใหญ่ เสาทั้ง ๔ …ล้วนแผ่นทองคำหุ้มทั้งสิ้น
ตรงกับที่กวีบรรยายว่า....ผนังในกุฎีทั้งสี่ด้าน โอฬาร์ฬารทองทาฝาผนัง
3. จาก พ. ศ. ๒๓๒๙ ถึง ๒๓๕๐ เป็นเวลา ๒๐ ปี นานพอที่บริเวณจะร่มรื่น
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 28 ส.ค. 07, 23:55

หนอนบุ้งผูนี้ หากเอาดีทางวิชาการ ภายหน้าจะมีชื่อเสียงเป็นที่ยกย่อง

แต่วันนี้ หนูต้องอ่านหนังสือให้ดีๆ อีกนิดหน่อย
1 การลงรักปิดทองประดับกระจกนั้น ทำกับเครื่องบน
2 หนูบุ้งต้องอ่านประโยคนี้ใหม่ อ่านอย่างนี้ไม่ได้ครับ
======แล้วให้ทำพระมณฑปน้อยกั้นรอยพระพุทธบาท
======ภายในพระมณฑปใหญ่ เสาทั้ง ๔ กับทั้งเครื่องบนและยอด
======ล้วนแผ่นทองคำหุ้มทั้งสิ้น
อ่านแบบหนอนบุ้ง จะเข้าใจว่า "ภายในพระมณฑปใหญ่ เสาทั้ง ๔ …ล้วนแผ่นทองคำหุ้มทั้งสิ้น"

ตรงนี้ต้องอ่านว่า "แล้วให้ทำพระมณฑปน้อยกั้นรอยพระพุทธบาทภายในพระมณฑปใหญ่
เสาทั้ง ๔ กับทั้งเครื่องบนและยอด(ของพระมณฑปน้อย) ล้วนแผ่นทองคำหุ้มทั้งสิ้น

หนูไม่ต้องตีความครับ แค่อ่านเฉยๆ ก็ได้ความแล้ว
คือ เอกสารไม่ได้กล่าวถึงผนังและพื้น กล่าวถึงแต่เพียงว่า เครื่องบน ปิดทองประดับกระจก
และ
พระมณฑปน้อยที่ครอบรอยพระพุทธบาท ท่านให้ปิดทองทั้งองค์
เสาที่ระบุ ไม่ใช่ของพระมณฑปใหญ่ๆ ไม่มีเสา

ตรงนี้ยังหมายความว่า หากเอกสารจดมาละเอียดถูกต้อง ท่านก็แค่ปิดทองเท่านั้น มิได้ประดับกระจกอีกด้วย
อาจจะเป็นเพราะยังหาช่างที่ฝีมือเลิศไม่ได้ หรือเหตุอะไรที่เหลือจะเดา

สรุปอีกทีก็คือ การปฏิสังขรณ์พระพุทธบาทนั้น เท่าที่ทำในรัชกาลที่ 1 เอกสารไม่ช่วยหนูหนอนบุ้งมากนัก
ผมจึงยังไม่คล้อยตามนะครับ

ส่วนเรื่องสุวรรณหงส์(ถูกหอก)นั่น
เท่าที่ผมเคยตามรอยมา เป็นงานประพันธ์ครั้งรัชกาลที่ 3 ผมก็อยากเจอต้นฉบับครั้งรัชกาลที่ 1
แต่ทั้งตัวเล่ม จิตรกรรมฝาผนัง และระเด่นลันได ล้วนบอกตรงกันว่า นิยมครั้งรัชกาลที่ 3

ผมยังเชื่อต่อไปอีกด้วยว่า การเที่ยวพระบาท มาเป็นเทศกาลสนุกสนานของชาวกรุงก็ต้องรอถึงรัชกาลที่ 3 บ้านเมืองเป็นปึกแผ่นแล้ว
ตอนศึกอนุนะครับ พอเกิดเรื่องปุ๊ป สะเทือนมาถึงสระบุรีทันที
ในยุคนั้น ผมคาดว่า ความมั่นคง คงออกมานอกบางกอกไม่มากนัก
ครั้งรัชกาลที่ 1 แม้แต่ในเกาะเมืองอยุธยา ก็ยังไม่น่าไว้ใจ
เพียงแต่มีคนมาไหว้พระเทพบิดรที่วัดพุทไธสวรรย์ เท่านั้นเอง ต้องเชิญพระเทพบิดรเข้ากรุง
นี่สะท้อนว่า ครั้งรัชกาลที่ 1 บทกวีเที่ยวเล่นอย่างนิราศเมืองแกลง หรือนิราศพระบาท
ที่อ้างถึงพระคลังแก้บน ละคอนนายบุญยัง....ฯลฯ

เกิดมะด้ายครับ
บันทึกการเข้า
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 29 ส.ค. 07, 00:52

อิอิ  แผ่นเงินหายเรียบตอนระหว่างเกิดสงคราม  ผมหาหลักฐานการปฏิสังขรณ์ใหญ่ในรัชกาลที่ 1 ไม่เจอครับ  เจอแต่กรมพระราชวังบวรฯ  ทำเครื่องบนครับ

เมื่อพม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2309  พวกจีนอาสา จำนวน 300  คน  ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสวนพลู ได้พากันไปยังพระพุทธบาท  แล้วลอกทองคำที่หุ้มพระมณฑป  และแผ่นเงินที่ปูลาดพื้นพระมณฑปไป แล้วเผาพระมณฑปเสีย เพื่อปกปิดการกระทำของตน

ก็มณฑปโดยเผา  แล้วตอนนั้น(ร.1)ต้องยอมรับว่าบ้านเมืองยังไม่นิ่ง  แต่ก็มีพระราชศรัทธายกเครื่องบนใหม่  คือพูดง่ายทำแต่องค์มณฑปอ่ะครับ(เครื่องมุง)

ล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท  เสด็จไปอำนวยการปฏิสังขรณ์พระมณฑป  พระองค์ได้ทรงมีพระราชศรัทธา รับแบกตัวลำยองเดรื่องบนหนึ่งตัว แล้วเสด็จพระราชดำเนินตั้งแต่ท่าเรือ ไปจนถึงพระพุทธบาท  นับเป็นเยี่ยงอย่างที่ยอดเยี่ยม เป็นที่ปรากฏแก่มหาชนในการทำนุบำรุงรักษาพระพุทธศาสนา

แล้วมาเจออีกทีก็คราวมหาดเล็กนายโหมดคุมช่างไปสานเสื่อเงินอ่ะครับ  ซึ่งก็แล้วเสร็จสมบูรณ์จริงๆก็รัชสมัยรัชกาลที่ ๔ ครับ


ขอบพระคุณมากครับท่านอาจารย์เทาชมภู  ผมเข้าใจแล้วครับ  ที่แท้ก็ฝ่าพระบาท  เป็นคำเรียกรอยพระพุทธบาท ฮืม
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 29 ส.ค. 07, 11:18

ขอนำเจ้าฟ้าสามพระองค์ในเจ้าฟ้ากุณฑลมาพิจารณาด้วย เพื่อให้คลายความข้องใจ
- เจ้าฟ้าอาภรณ์ประสูติ ๒๓๕๙ โสกันต์ ๒๓๗๑ เมื่อโสกันต์เพิ่งจะเปลี่ยนแผ่นดินได้ ๒ ปี ทั้งยังติดศึกเวียงจันทน์ ดูเหมือนจะไม่ได้รับการถวายพระเกียรติมากนัก พิธีโสกันต์ทำโดยสังเขป อีก ๓ ปีต่อมาเป็นปีเถาะ ๒๓๗๔ ก็ยังถือว่าอยู่เกณฑ์บรรพชาได้ แต่คงยากที่จะได้รับพระราชทานกลดหักทองขวางครับ
- เจ้าฟ้ากลาง ประสูติ ๒๓๖๒ โสกันต์ ๒๓๗๔ ควรบรรพชาอย่างเร็ว ๑ ปีหลังจากนั้น เลยปีเถาะไปปีหนึ่ง แต่ก็ยังมีข้อขัดข้องเดิมอยู่ดี คือพิธีโสกันต์ทำโดยสังเขป ไม่ได้รับการถวายพระเกียรติมากนัก
- เจ้าฟ้าปิ๋ว ประสูติ ๒๓๖๕ โสกันต์ ๒๓๗๗ ไม่อยู่ในเกณฑ์ปีเถาะ และพิธีโสกันต์ก็ยังทำโดยสังเขปเช่นเดียวกันครับ

(เรื่องพิธีโสกันต์ที่ทำโดยสังเขป อ้าง ประกาศพระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ในประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ เล่ม ๓)

สรุปว่ายากที่จะเป็นพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในสามพระองค์นี้ แต่ถ้าจะเป็นไปได้(แบบไม่น่าเชื่อ)ก็คือ เจ้าฟ้าอาภรณ์ครับ

ถ้าพิจารณาเฉพาะเจ้าฟ้าตั้งแต่ ร.๓ เป็นต้นมา นอกจากสามพระองค์นี้แล้ว ก็มีเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ แล้วก็ข้ามไปเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศซึ่งสภาพการเดินทางไม่สอดคล้องกับบทนิราศครับ

กรณีเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์หลักฐานแย้งชัดเจน เพราะพระองค์บรรพชา ๒๔๐๙ แต่ไม่เคยเสด็จพระบาทในปีนั้น ในขณะที่เมื่อเสด็จในปี ๒๔๐๓ เพิ่ง ๗ ชันษา ยังไม่บรรพชา ไม่ต้องพิจารณาประเด็นอื่นต่อเลย

เมื่อไม่มีพระองค์ใดในช่วงเวลานี้ที่เข้าเกณฑ์ ดูท่าว่าจะต้องมีอะไรผิดสักอย่าง
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 29 ส.ค. 07, 12:08

ผมยังไม่ตัดเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ออก แม้ว่าคุณเครซี่จะยกจารึกมาอ้าง
เพราะผมยังไม่ได้อ่านกรณีแวดล้อมของวันที่โปรดให้สร้างจารึกนั้น
อันที่จริง คำของกวี ถ้าเราคิดว่าแกไม่เพี้ยน ก็คือ
ในปีเถาะ ปีหนึ่ง ซึ่งพระมณฑปพระพุทธบาท เป็นสถานจาริกที่ครึกครื้นของประชาชนทั่วไป
ปีนั้น การตกแต่งภายใน มีหลักฐานว่า พื้นปูแผ่นเงิน
และฝาผนังภายใน เขียนลายปิดทองแล้ว
มีการเสด็จพระบาทเป็นขบวนใหญ่ ขบวนนี้ เกี่ยวข้องกับวัดระฆังด้วย

แต่การเสด็จ ยังเป็นกระบวนใหญ่ ตามโบราณราชประเพณี
ผู้ตามเสด็จ เป็นสามเณรทรงฐานันดรศักดิ์สูงยิ่ง วัยน่ารัก เห็นจะทรงบรรพชาไม่นาน
กวีผู้แต่ง ก็เป็นข้าราชบริพาร ระดับไม่ใหญ่โตนัก น่าจะเป็นฝ่ายทหาร
วัยก็คงไม่เกินสามสิบ จึงยังรับงานฝีพายได้

ข้อมูลข้างต้น ก็เห็นว่าเกิดได้ปลายรัชกาลที่ 3 จนถึงต้นรัชกาลที่ 5 เท่านั้น
ถ้ายืดมาถึงรัชกาลที่ 5 ก็จะได้ปีเถาะ 2422 และ 2432 เพิ่มมา

ต้องไปสอบจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันต่อครับ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 29 ส.ค. 07, 13:52

นิราศวัดรวกของหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) บันทึกการเดินทางไปพระพุทธบาทในปี ๒๔๒๔ เริ่มต้นเรื่องที่วัดรวก(หรือวัดไม้รวก)ตรงท่าเรือ

ผมยังหาประวัติวัดรวกเป็นมั่นเหมาะไม่ได้ แต่ว่ากันว่าเป็นวัดร้างมาแต่สมัยอยุธยา มาสร้างใหม่ในสมัย ร.๓

นิราศพระบาทไม่เอ่ยถึงวัดนี้ ทั้งที่ควรจะอยู่ตรงท่าเรือตรงที่ค้างแรมก่อนจะออกเดินทางด้วยช้างในวันรุ่งขึ้น

ถือเป็นข้อสังเกตหนึ่งเท่านั้น เพราะสิ่งที่ไม่ได้พูดถึง คงด่วนสรุปว่าไม่มีไม่ได้ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 29 ส.ค. 07, 16:58

มาช่วยสรุปให้อีกคน
ปีเถาะ ในรัชกาลไหนไม่ทราบ  มีกวีคนหนึ่งเพิ่งทะเลาะกับเมียมาหยกๆ รูปการณ์น่าจะเป็นผัวหนุ่มเมียสาว ยังไม่มีลูกกัน
กวีคนนี้ไม่มียศไม่มีตำแหน่งขุนนาง   ไม่งั้นคงบอกบ้างแล้ว   ไปในขบวนทำหน้าที่พลพาย มีเพื่อนหนุ่มๆเป็นพลพายด้วยกัน
เจ้านายของกวีหนุ่ม  ไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดิน  เป็นเจ้านายที่ผนวชอยู่วัดระฆัง  เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท   เดินทางเรือจากวัดล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา  ค้างคืนกลางทาง  ก่อนจะขึ้นบกด้วยขบวนช้างไปถึงพระพุทธบาท
แต่ว่าพระเจ้าแผ่นดินท่านเสด็จไปในครั้งนี้หรือไม่  กวีไม่ได้เอ่ยถึง   บอกแต่ว่ามีนางในตามเสด็จกันไปหลายคน
แต่ไม่ระบุว่ามีโขลน  หรือท้าวนาง  หรือผู้หญิงผู้ใหญ่ที่ทำหน้าที่ควบคุมข้าหลวงสาวๆไปในขบวนนางในด้วย
รูปการณ์เหมือนนางในพวกนี้ เป็นบ่าวสาวๆในวังแห่งใดแห่งหนึ่ง  ไม่ถึงกับเป็นนางข้าหลวงลูกผู้ลากมากดีในพระบรมมหาราชวัง   ผู้ชายถึงสามารถจะถูกเนื้อต้องตัว  และเฮฮาลวนลามได้โดยไม่เกรงพระราชอาญา

พระพุทธบาทที่ไปเห็น กวีบอกว่าสง่างดงาม อลังการ  ปฏิสังขรณ์อยู่ในสภาพดี การตกแต่งสวยมาก  ลวดลายต่างๆก็สุกปลั่งระยับตา
แสดงว่ายังอยู่ในสภาพใหม่หรือค่อนข้างใหม่   ไม่หมอง ไม่ชำรุดทรุดโทรม
ถ้าตกแต่งเสร็จสัก ๒๐ ปีน่าจะหมองบ้างแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 29 ส.ค. 07, 17:30

ผนังในกุฎีทั้งสี่ด้าน                     โอฬาร์ฬารทองทาฝาผนัง
จำเพาะมีสี่ด้านทวารบัง               ที่พื้นนั่งดาดด้วยแผ่นเงินงาม
มณฑปน้อยสรวมรอยพระบาทนั้น  ล้วนสุวรรณแจ่มแจ้งแสงอร่าม
เพดานดาดลาดล้วนกระจกงาม      พระเพลิงพลามพร่างพร่างสว่างพราย

ตาข่ายแก้วปักกรองเป็นกรวยห้อย ระย้าย้อยแวววามอร่ามฉาย
หอมควันธูปเทียนตลบอยู่อบอาย  ฟุ้งกระจายรื่นรื่นทั้งห้องทองฯ

ลักษณะสิ่งก่อสร้าง  อร่ามตาทีเดียว  กระจกที่ปิดก็ยังอยู่สมบูรณ์ดีไม่ชำรุด กวีถึงเรียกว่างาม
ผนังนั้น"ทาทอง" ไม่ใช่" เขียนลายทอง" หรือ "ลงรักปิดทอง"  ส่วนพื้นที่นั่ง ดิฉันตีความว่า ยังไม่ใช่ยุคเสื่อปู  เป็นยุคแผ่นเงินปู    ความบอกไว้ชัดเจนแล้ว
แผ่นเงินนั้นจะสร้างในรัชกาลไหนก็ตาม   ก็ต้องเป็นช่วงหลังจากสร้างใหม่ในรัชกาลที่ ๑ และก่อนปีใดปีหนึ่ง ในรัชกาลที่ ๔ ที่เจ้าคุณกษาปน์(โหมด) มาสานเสื่อ
เว็บที่คุณพพ.บอกว่าเขานั่งเทียนเขียน   ดิฉันว่าเขาเข้าใจถูกแล้ว   นิราศพระบาทเป็นหลักฐานว่าหลังจากพระบาทถูกพวกจีนปล้นทำลายไป  ก็มีการสร้างขึ้นมาใหม่อย่างสวยงาม  และมีการสร้างแผ่นเงินเอามาปูด้วย  แม้ไม่ได้ระบุในหลักฐานที่คุณพพ.ค้นมาได้ ก็ระบุไว้ในนิราศพระบาทนี้แหละ

ลองนึกดูว่าเมื่อรัชกาลที่ ๑ ท่านทรงสร้างพระบาทขึ้นมาใหม่   ท่านจะทรงละเลยของงามอย่างแผ่นเงินทีเดียวหรือคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 29 ส.ค. 07, 18:15

ย้อนกลับมาเรื่องกวีเอก ว่าเราพอแกะรอยอะไรได้บ้างจากตัวหนังสือเรื่องนี้
ขบวนเสด็จคราวนี้มีเจ้าฟ้าเณรเสด็จมาพระองค์หนึ่ง      พระองค์ไหนยังเถียงกันอยู่ในกระทู้    ไม่ลงตัวกันได้
ในหนังสือ"ชีวิตและงานของสุนทรภู่"  มีเชิงอรรถของคุณธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ระบุว่า
"สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า เจ้าสามเณรน้อยองค์นี้  คงจะเป็นสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส  ขณะนั้นทรงผนวชสามเณร และคงจะเสด็จมาพระพุทธบาทในเทศกาลนี้ด้วย"

ลองเช็คพระประวัติกรมพระปรมาฯดูหน่อยไหมคะ  ท่านบรรพชาสามเณรปีไหน
อีกอย่าง  สมมุติว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงวินิจฉัยงานของสุนทรภู่ผิด เพราะทรงยึดถือตำนานคำบอกเล่าที่พระยาปริยัติฯ รวบรวมไว้ ผิดไป
แต่เจ้านายอย่างท่านที่น่าจะเคยเห็นพระกลดหักทองขวางมาแต่ประสูติก็ว่าได้ 
จะจำผิดขนาดว่า พระองค์เจ้ากางกลดหักทองขวางก็ได้   เทียวหรือ

ดิฉันไม่ได้บอกว่าคุณ UP ผิด  ความจำในเรื่องเหล่านี้ของคุณ UP ก็แม่นยำอยู่มาก
ส่วนเรื่องการนับพระชนม์ของเจ้าฟ้าแล้วไม่มีพระองค์ไหนลงตัวกับการบรรพชาในปีเถาะ  ก็เป็นความถูกต้อง

ถ้าหากว่าสมเด็จฯท่านก็พูดถูก  คุณ UP ก็พูดถูก   การนับปีบรรพชาก็ถูก  เรียกว่าถูกกันทุกฝ่าย
ก็หมายความว่า ครั้งหนึ่งในอดีต พระกลดหักทองขวางนั้นอาจจะใช้สำหรับพระองค์เจ้าที่ทรงพระกรุณาเป็นพิเศษได้ นอกเหนือจากเจ้าฟ้า
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 12
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.059 วินาที กับ 20 คำสั่ง