เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 12
  พิมพ์  
อ่าน: 55542 สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 23 ส.ค. 07, 22:03

ข้อสงสัยอีกข้อที่เกี่ยวกับเจ้านายวังหลังในเรื่องนี้

ถ้าล่วงมาถึงปลายรัชกาลที่ ๔  วังหลังหมดบทบาทไปนานแล้วนะคะ    เหลือแต่วังบรรยากาศรกร้างอย่างที่นายมีบรรยายไว้ 
ถึงวังหลังเป็นวังสงัดเงียบ                เย็นยะเยียบหย่อมหญ้านิจจาเอ๋ย

รวมทั้งเชื้อสายก็เหลือระดับหม่อมเจ้า  ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง   
ไม่มีเจ้านายผู้ชายเชื้อสายวังหลัง  แม้กำลังผนวชก็ยังมีบารมีใหญ่โต  มีพลพาย  มีล้อมวง  มีช้าง ๒๐ เชือกขนนางในไปเที่ยวพระพุทธบาท   
ดูคึกคักเอิกเกริกอย่างที่บรรยาย   

อีกข้อที่ตั้งข้อสังเกตเฉยๆ  แปลกใจว่า นางในที่ไปเที่ยวพระพุทธบาท   ดูผู้ชายถึงเนื้อถึงตัวได้ง่ายจัง
จริงอยู่ว่าไม่ใช่เจ้านายสตรี หรือเจ้าจอมหม่อมห้ามแน่ๆ
แต่ระดับนางข้าหลวงอย่างแม่พลอยในปลายรัชกาลที่ ๕  ไปไหนมาไหนก็ต้องมีผู้ใหญ่คุมตัวอย่างเข้มงวด
ไม่ฟรีอย่างสาวๆพวกนี้   ผู้ชายถึงเนื้อถึงตัวง่ายมาก  บรรดาท้าวนางทั้งหลายที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลไปไหนกันหมด

สงสารนางชาวในที่ไปด้วย           ทั้งโถถ้วยเครื่องแต่งแป้งขมิ้น
หวีกระจกตกแตกกระจายดิน         เจ้าของผินหน้าหาน้ำตาคลอ
จะปีนขึ้นกูบช้างไม่กางขา            แต่โดยผ้ากรีดกรอมทำซอมซ่อ
มือตะกายสายรัดสกนธ์คอ            เห็นช้างงองวงหนีดก็หวีดอึง
แต่ปีนไพล่เหนี่ยวพลัดสุหรัดขาด    สองมือพลาดพลัดคว่ำลงต้ำผึง
กรมการบ้านป่าเขาฮาตึง              ทำโกรธขึ้งเรียกพวกผู้ชายเร็ว
บ้างขึ้นช้างพลางฉวยข้อมือฉุด       ดังอุณรุทจับกินนรที่ในเหว
ไม่นึกอายอัประมาณเป็นการเร็ว     บ้างโอบเอวอุ้มนางขึ้นช้างพังฯ
   


เที่ยวชมห้องปล่องหินเป็นพู่ย้อย      มีน้ำย้อยหยาดหยัดอย่างเม็ดฝน
พอเทียนดับลับแลไม่เห็นคน           ผู้หญิงปนเดินปะปะทะชาย
เสียงร้องกรีดหวีดก้องในห้องถ้ำ      ชายขยำหยอกแย่งผู้หญิงหวาย
ใครกอดแม่แปรกอกแตกตาย          ใครปาดป้ายด้วยดินหม้อเหมือนแมวคราว
ครั้นออกจากคูหาเห็นหน้าเพื่อน       มันมอมเปื้อนแปลกหน้าก็ฮาฉาว
บ้างถูกเล็บเจ็บแขนเป็นริ้วยาว     
    ก็โห่กราวกรูเกรียวไปเที่ยวดงฯ
   
เห็นหญิงชายว่ายคล่ำในลำธาร       เสียงประสานสรวลสันต์สนั่นอึง
เห็นชีต้นปนประสกสีกากลุ้ม           
โถมกระทุ่มฟองฟุ้งอยู่ผลุงผึง
พี่หลีกเลียบไปให้พ้นที่คนอึง          กระทั่งถึงธารเกษมค่อยสร่างใจฯ
   
ชีต้น  แปลว่าพระก็ลงเล่นน้ำกับผู้ชายผู้หญิงด้วยหรือคะ?

บันทึกการเข้า
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 23 ส.ค. 07, 22:37

อิอิ..... โถท่านอาจารย์  ยกกลอนมาเอาซะผมเห็นภาพเลย  เห็นหลวงพี่ตีโป่งกระทุ่มน้ำเล่นกับพวกหนุ่มๆสาวๆ  ดูไม่จืด.....อิอิ

อันนี้มองบรรยากาศโดยรวมนะครับ  ลองนึกดูนะครับท่านอาจารย์ดูแปลกๆ

ภาพวัดและบริเวณโดยรอบคลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากมาย  มีทั้งเจ้านายที่เป็นพระเสด็จมากับบริวารช้างม้าพลพรรคกลุ่มใหญ่  อีกทางก็เป็นเณรทรงพระกลดหักทองขวาง  แปลว่าบิ๊กกว่าอีก  ก็ต้องหมู่ใหญ่กว่าหรือพอพอกัน  นี่ไม่นับว่าไม่รู้มีใครๆอีกหรือไม่  พวกหนุ่มๆสามๆก็ไม่สำรวมวิ่งเล่นเดินขวักไขว่  จนพ่อกวีของเราเกือบไปชนบวนเสด็จเจ้าเณรด้วยซ้ำ  แล้วก็แปลกอีกข้อ  เจ้าเณรน้อยเสด็จมาดูน่ารัก  บิ๊กระดับนี้ระดับเป็นรองแต่พระมหากษัตริย์  เหนือคนทั่วหล้าแต่เอ่ยถึงนิดเดียวแบบไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร  แถมยังมีพระหนุ่มสาวไม่สำรวมอีกเล่นกันโดยไม่ระวังว่าใกล้ๆมีเจ้านายมาหลายพระองค์  เพราะคนแต่ก่อนยิ่งกลัวเกรงเจ้านายยิ่งกว่าอะไร  นึกภาพแล้วสับสนพอพอกับความไม่สำรวมของนางในแบบท่านอาจารย์เทาชมภูว่าล่ครับ  ลองมโนภาพดูครับท่านอาจารย์........... อายจัง
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 24 ส.ค. 07, 00:26

ผมเองก็เห็นบรรยากาศอย่างนั้น จึงไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องครั้งรัชกาลที่ 1
ยิ่งอาจารย์ถอดความออกมาเสียโจ่งแจ้งอย่างนี้ ยิ่งหนักเข้าไปอีก
ราชสำนักครั้งที่เปิ๊ดสะก๊าดที่สุด ตามที่ท่านว่ามา ก็เห็นอยู่ยุคเดียวแหละครับ

เรื่องแม่พลอยนั้น ผมยังไม่เทกระเป๋าตามคุณชาย เพราะท่าน"แต่ง"เรื่องขึ้น
ถ้าเป็นอย่างท่านว่าจริง จะมีเรื่องคาวๆ ตั้งแต่วิสูตรถูกหนูกัด
เรื่องหม่อมลำดวน เรื่องคุณโม่ง-หม่อมเป็ดสวรรค์ เรื่องพระปิ่นเกล้าถูกวางยา
ฯลฯ....ฯลฯ...
จนถึงร้ายแรงที่สุดก็เรื่องอ้ายโตกับหม่อมยิ่งหรือครับ

เนื้อหานั้นแสดงว่า แต่งในยุคที่การถือเคร่งย่อหย่อนลง ชายหญิงสังสันท์กันไกล้ชิดขึ้น
แต่พระบาทก็ยังเป็นยอดของที่เที่ยวเล่นอยู่

ฝีมือถอดกลอน(ปั๊กกะตู..ของคุณครูเทาชมพู ยังเนี๊ยบหาคนสู้ได้ยาก)
แต่ผมไม่เห็นความเกี่ยวพันระหว่างพระหน่อสุริยวงศ์ กับพระสุริยอภัยฯเลยฮับ
ให้ดิ้นตาย....ฮิฮิ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 24 ส.ค. 07, 09:09

เรื่องแม่พลอยนั้น ผมยังไม่เทกระเป๋าตามคุณชาย เพราะท่าน"แต่ง"เรื่องขึ้น
ถ้าเป็นอย่างท่านว่าจริง จะมีเรื่องคาวๆ ตั้งแต่วิสูตรถูกหนูกัด
เรื่องหม่อมลำดวน เรื่องคุณโม่ง-หม่อมเป็ดสวรรค์ เรื่องพระปิ่นเกล้าถูกวางยา
ฯลฯ....ฯลฯ...
จนถึงร้ายแรงที่สุดก็เรื่องอ้ายโตกับหม่อมยิ่งหรือครับ


คนละเรื่องค่ะ
สมัยม.ร.ว.คึกฤทธิ์แต่งสี่แผ่นดินเมื่อเกือบ ๖๐ ปีก่อน  เจ้านายสตรี เจ้าจอม ชาววังยังเหลืออยู่อีกมาก
พอจะจับผิดทักท้วงได้ถ้าหากว่าเขียนผิด  แต่ก็ไม่มีใครท้วง  ก็แสดงว่าท่านเขียนบรรยากาศได้ถูก
หม่อมแดงเป็นชาววัง  ยังไงก็ถ่ายทอดบรรยากาศให้ลูกชายฟังไม่ผิดหรอกค่ะ
เรื่องคาวๆที่คุณพพ.ยกมา ล้วนเป็นเรื่องลอบเร้นปิดบัง แหวกประเพณี   ไม่มีตอนไหนบอกเลยว่าเที่ยวเตร่กันได้เปิดเผยอย่างในนิราศ
เรื่องเล่นเพื่อน ในหม่อมเป็ดสวรรค์และคุณโม่ง เป็นเรื่องของทอมกับดี้   ไม่ใช่ชายกับหญิงฟรีสไตล์อย่างในนิราศพระบาท
ในวังมีแยะอยู่แล้วจนสมเด็จพระจอมเกล้าฯต้องทรงห้ามพระราชธิดาว่าอย่ามี



แต่ผมไม่เห็นความเกี่ยวพันระหว่างพระหน่อสุริยวงศ์ กับพระสุริยอภัยฯเลยฮับ
ให้ดิ้นตาย....ฮิฮิ


เป็นอาการของโรคดื้อฟีเวอร์ค่ะ  หุหุ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 24 ส.ค. 07, 10:54

อาจารย์มิเข้าใจประเด็นของกระผม
คุณชายน่ะ เธอแต่งเรื่องขึ้น อะไรที่ดีๆ จะมีใครไปท้วงล่ะครับ ว่าไม่จริงหรอก เรื่องจริงชั่วกว่านั้น
อย่างบอกว่า ชาววังเนี๊ยบสุดๆ ห่มสีตามวัน หอมติดกระดาน ใครๆ ก็ต้องบอกว่าจิง จิง จิงเจ้าค่า
ที่ใหนจะบอกว่า ไม่จริ๊ง แต่ละนางขี้ไคลกบบ้องหู ดำเป็นเหนี่ยงตัวก้อเหม็น ขัดขี้ไคลกันจนขมิ้นหมดตำหนัก
อบกลิ่นร่ำดับกลินผีตายซากกันสาละวน ถูกใหมครับ

แต่กวีของเรา ท่านเห็นอะไร ก็เล่าออกมาเป็นเรื่องสนุก ของจริงอาจจะไม่เปิ๊ดสะก๊าดเหมือนในกลอน
แต่การระมัดระวัง ถือเนื้อถือตัวที่ย่อหย่อน ก็ต้องมีละค๊าบบบบ ความเฟลิ๊ตมันจึงแพลมออกมาเป็นระยะ
สาวเล่นเพื่อนกันจนเป็นตำนานอย่างนี้ ไม่เห็นปรากฏในสี่แผ่นดิน ก็คงแก้ตัวว่า สมัยร 5-6 ไม่มีแล้ว.......

แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผมสนใจครับ
ผมสนใจว่า คุณชายไม่ได้เขียนรายงาน แต่เขียนนิยาย จะเอาเป็นข้ออ้างอิงนั้น ยาก
อ้างได้แต่ที่ท่านเขียนไว้ ที่ท่านไม่เขียน ใช่ว่าไม่มี

เอาอย่างนี้ดีฝ่า ขอความเมตตา ช่วยเทียบความสำนวนและบรรยากาศของรามเกียรติ์สามยุค ว่าต่างกันเพียงใหน
แล้วค่อยมาเทียบดูกับกลอนต้องสงสัยของเรา
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 24 ส.ค. 07, 10:56

ขอสรุปสถานการณ์ (ตามความเห็นของผม) ก่อนนะครับ
- มีเจ้าฟ้าสามพระองค์ที่เข้าข่ายว่าน่าจะมีสิทธิ์ได้พระกลดหักทองขวางคือ เจ้าฟ้ามงกุฎ เจ้าฟ้าจุฑามณี และเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
- กวีระบุตอนท้ายว่าเขียนนิราศเป็นปีเถาะ แต่ถ้าคิดว่ากลับมาถึงเดือนสามแล้ว อาจอนุโลมว่าเป็นเหตุการณ์ปีขาล รุ่งอีกเดือนข้ามมาเป็นปีเถาะจึงเขียนนิราศ
- พระหน่อสุริย์วงศ์ทรงสิกขาที่จะประภาษสั่งกลับอารามวัดระฆังน่าจะทรงบิ๊กมาก

- เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ไม่ใช่แน่ๆเพราะถึงแม้จะบรรพชาเป็นสามเณรในปีขาล ๒๔๐๙ แต่พระองค์สลักไว้ที่พระพุทธบาทว่าเคยเสด็จ ๒๔๐๓, ๒๔๑๕ ฯลฯ ยกเว้นเสียแต่ว่าพระองค์จะทรงลืมไปว่าเคยโดยเสด็จพระราชบิดามาเมื่อครั้งทรงบรรพชาเป็นสามเณร ซึ่งผมไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ครับ
- เจ้าฟ้ามงกฎบรรพชาปีฉลู ๒๓๖๐ พงศาวดารว่าทรงบรรพชาอยู่ ๗ เดือน แปลว่าต้นปีขาลก็ลาบรรพชา ไม่มีทางจะมาพระพุทธบาทปลายปีขาล ๒๓๖๑ ได้
- เจ้าฟ้าจุฑามณีในปีขาล ๒๓๖๑ เพิ่งจะ ๑๐ ชันษา ยังไม่น่าเป็นสามเณร

ทีนี้ขออนุญาตใส่หมวกกันน็อคก่อนครับ เอาละ...พร้อมครับ
ผมจะขอเสนอข้อสันนิษฐานใหม่

ปีขาล ๒๓๓๗ สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุ้ย กรมขุนเสนานุรักษ์ ทรงผนวช พงศาวดารไม่ได้ระบุว่าทรงบวชนานเท่าใด
พระหน่อสุริย์วงศ์ทรงสิกขาจะเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ได้หรือไม่ ทรงบิ๊กพอไหม? พงศาวดารว่าผนวชแล้วประทับที่วัดสมอราย(ราชาธิวาส) แต่จะประทับที่วัดนี้ตลอดหรือไม่? จะทรงกลับมาประทับที่วัดระฆังใกล้วังของพระองค์ได้ไหม?

หากรับพระหน่อสุริย์วงศ์ทรงสิกขาพระองค์นี้แล้ว ผมจะขอเสนอเจ้าเณรน้อยต่อไป
ในปีเดียวกัน ดูเหมือนจะไม่มีเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ ๑ ที่เข้าเกณฑ์บรรพชาเลย แต่...

ยังมีเจ้าฟ้าอยู่พระองค์หนึ่ง พระชันษา ๑๕ ในปีนั้น พระบิดาเป็นกษัตริย์ ฝ่ายพระมารดานั้น กำเนิดเป็นสามัญชน แต่มีพ่อเป็นกษัตริย์ และแม่เป็นพระบรมราชินี
ครับ... เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ กรมขุนกษัตรานุชิต ที่รู้จักกันดีในนาม เจ้าฟ้าเหม็น นั่นเอง
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 24 ส.ค. 07, 13:19

ในนิราศพระบาทมีเจ้านาย ๒ พระองค์

๑)ถึงวัดธารมาใหม่ใจระย่อ      ของพระหน่อสุริย์วงศ์พระวังหลัง 
องค์นี้เป็นเจ้านายวังหลังแน่นอน
วังหลังยิ่งใหญ่ก็ในรัชกาลที่ ๑  มาถึงรัชกาลที่ ๒ เจ้านายพระโอรสทั้งสามก็ยังพระนามเลื่องลืออยู่
แต่มาถึงรัชกาลที่ ๔ ไม่เหลือแล้ว เพราะไม่มีวังหลังพระองค์ใหม่  หมดไปตั้งแต่ปลายร. ๑ เหลือแต่หม่อมเจ้า  ยังไงก็ไม่มีการเสด็จเอิกเกริกแบบนั้น
๒) เจ้าเณรน้อยเสด็จมาดูน่ารัก
เจ้าฟ้าเณรองค์นี้   นึกถึงกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์อยู่เหมือนกันค่ะ
ถ้าเป็นเจ้าฟ้าเหม็น  รัชกาลที่ ๑ โปรดปรานเป็นพิเศษ น่าจะพระราชทานกลดหักทองขวาง
ว่าแต่ว่าท่านอายุครบบวชเณรปีไหนล่ะคะ

บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 24 ส.ค. 07, 14:35

ถึงวัดธารมาใหม่ใจระย่อ      ของพระหน่อสุริย์วงศ์พระวังหลัง
กลอนตรงนี้บรรยายเมื่อผ่านวัดธารมา พระวังหลังอาจเสด็จด้วยหรือไม่ก็ได้ครับ ไม่ได้เจาะจง

กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ฃทรงผนวชปีขาล ๒๓๓๗ พระชันษา ๒๑ (ประสูติ ๒๓๑๖) ไม่ทราบว่าทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อใด แต่ไม่น่าจะย้อนหลังไปเกิน ๘ ปี ซึ่งไม่ตกในเกณฑ์ที่จะเป็นเจ้าเณรน้อยในปีขาลหรือปีเถาะ

ต้นปี ๒๓๓๗ สมเด็จพระสังฆราช(ศรี) สิ้นพระชนม์ พระตำหนักที่วัดระฆังว่างลง เพราะสมเด็จพระสังฆราชองค์ต่อมา (สุก) ประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุ เป็นไปได้หรือไม่ว่าพระภิกษุเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์จะย้ายมาประทับที่พระตำหนักนี้ ซึ่งอยู่ติดกับวังของพระองค์ (หากผมเข้าใจไม่ผิด ช่วงต้นรัชกาลที่ ๑ กรมขุนเสนานุรักษ์ประทับอยู่ที่บ้านหลวงเดิมที่เจ้าพระยาจักรีอาศัยระหว่างแผ่นดินกรุงธนบุรี ติดกับด้านใต้ของวัดระฆัง)

ดังนั้น กรมขุนเสนานุรักษ์ อาจเป็นพระหน่อสุริยวงศ์ทรงสิกขา ที่ประทับอยู่วัดระฆัง และเป็นเจ้านายของกวีนิราศพระบาทนี้ครับ

เจ้าฟ้าเหม็นประสูติ ๒๓๒๒ ถึงปีขาล ๒๓๓๗ ที่กรมขุนเสนานุรักษ์ทรงผนวช ก็จะ ๑๕ ชันษา อยู่ในเกณฑ์ที่จะบรรพชาเป็นสามเณรในปีนี้ ตามประวัติ ร.๑ ทรงโปรดเจ้าฟ้าเหม็นเป็นพิเศษ และหากพิจารณาว่าร.๑ ทรงเฉลิมพระยศย้อนหลังพระมารดาเป็นเจ้าฟ้าแล้ว ก็น่าจะเข้าเกณฑ์ที่จะระราชทานพระกลดหักทองขวางนะครับ (ขอความคิดเห็นคุณ UP ด้วย)

หากเป็นไปได้ ก็มีโอกาสว่าเจ้าเณรน้อยคือเจ้าฟ้าเหม็นครับ

นอกจากนี้พิจารณาปัจจัยแวดล้อมอื่น การศึกระหว่างช่วงปีนั้นเบาลงแล้ว (ปีก่อนหน้านั้นเพิ่งจะขับพม่าพ้นไป) และการปฏิสังขรณ์พระพุทธบาทก็ทำเมื่อหลายปีก่อนหน้านั้น (และไม่รู้ว่ามีการทำเพิ่มเติมระหว่างนั้นอีกหรือไม่)

ผมว่าเข้าเค้าครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 24 ส.ค. 07, 18:28

ถ้าเป็นเจ้าฟ้า ผมพอจะปลงใจเชื่อได้ว่าพระเจ้าอยู่หัวอาจพระราชทานพระกลดหักทองขวางครับ

เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ หรือเจ้าฟ้าเหม็นนั้น เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาฉิม (พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๑) ถ้าจะว่าไปแล้ว โดยพระชาติกำเนิดนั้นก็ทรงเป็นเจ้านายที่มีพระอิสริยยศยิ่งใหญ่มากทีเดียวล่ะครับ ถ้าไม่คิดถึงการผลัดราชวงศ์ เจ้าฟ้าพระองค์นี้ก็เรียกได้ว่าเป็น "อุภโตสุชาติ" ทีเดียวเชียว ผนวกกับพระเมตตาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ในฐานะพระอัยกา (ตา) ทรงมี ทำให้น่าคิดอยู่เหมือนกัน ...เจ้าฟ้าเหม็นทรงยิ่งใหญ่ขนาดไหน ก็ถึงขนาดว่าทรงปฏิสังขรณ์วัดอภัยทายารามแล้ว "พระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์" คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยกัน ...ไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆ สำหรับเวลานั้นครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 24 ส.ค. 07, 18:33

ถึงวัดธารมาใหม่ใจระย่อ           ของพระหน่อสุริย์วงศ์พระวังหลัง
ไม่ใช่ค่ะคุณอาชา กลอน ๒ วรรคนี้แปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากมาถึงวัดธาร ซึ่งเป็นวัดของเจ้านายของกวีหนุ่มคนนี้เอง
คำว่า"พระวังหลัง"มาประกอบ"พระหน่อสุริย์วงศ์" ก็แสดงว่าเป็นคำขยาย   เจ้านายของกวีเป็นเชื้อสายกรมพระราชวังหลังแน่นอน

การใช้ราชทินนามเดิมของกรมพระราชวังหลัง  ไม่ใช่เรื่องแปลก   ลองเปรียบเทียบกับราชวงศ์"จักรี"   ก็ใช้คำนี้จากราชทินนามเดิม
บันทึกการเข้า
Gotz21
อสุรผัด
*
ตอบ: 17

SaWasSdEe


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 24 ส.ค. 07, 19:20

ความเห็นส่วนตัวของผู้รู้น้อยนะครับ แล้วก็ต้องออกตัวไว้ก่อนว่าไม่ได้ตามอ่าน ความคิดเห็นต่างๆ
จากท่านสมาชิกทั้งหมด แต่ พออ่านตอนต้น ของ ท่านเจ้าของกระทู้แล้ว ก็มานั่งนึก(เอาเอง)ว่า
ในการเขียนวรรณคดี ผู้แต่งไม่จำเป็นต้องอธิบายสิ่งที่ผู้แต่งเห็น ตามความจริงที่เป็น
เพราะวรรณคดี ไม่ใช่ จดหมายเหตุ  สุนทรภู่ อาจแต่งก่อนนานแล้ว  แล้วจึงมีการนำมาบันทึก
ในปัจจุบันกวี ก็มักเป็นเช่นนี้ การนำเอาจินตนาการมาใส่ในเรื่องราว จึงไม่ใช่ของแปลก
ดังนั้นจึงเห็นว่า จุดประสงค์ของวรรณคดีก็คือ สร้างความบันเทิง อย่างมีศิลปะ
คนที่อ่านงานวรรณคดี ก็ควรจะสำเหนียกไว้บ้างว่า ความสมจริงสมจัง อาจจะถูกบดบังไป
เช่น ทำไมไม่มีใครถามว่า เป็นไปได้ยังไง ที่พระอภัยมณี จะมีภรรยาเป็นครึ่งคนครึ่งมนุษย์
เพราะทุกคนรู้ว่ามันคือเรื่องแต่งนั่นเอง มีการวางตัวละครอย่างสมเหตุสมผลที่เราเรียกว่า possibility
บันทึกการเข้า
หนอนบุ้ง
อสุรผัด
*
ตอบ: 113


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 24 ส.ค. 07, 20:29

เจ๊กบ้ามันมาขนไปหมดแล้วครับ

แหม คุณพี่ขา รู้สึกกระเทือนเลื่อนลั่นถึงบรรพบุรุษของหนูทีเดียว  ลังเล

ขออนุญาตส่งความเห็นต่ออีกนิดค่ะ

ถึงพบเพื่อนที่รู้จักเคยรักใคร่..........ก็เฉยไปเสียมิได้จะทักถาม
แต่คอยฟังเทวราชประภาษความ....เมื่อไรจะคืนอารามวัดระฆัง
พี่จะได้ทูลลาไปหาเจ้า.................เป็นทุกข์เท่านี้แลน้องไม่วายหลัง
พอแรมค่ำหนึ่งวันนั้นท่านพระคลัง...หาบุญยังไปฉลองศาลาลัย


หนูสะดุดคำว่า “ท่านพระคลัง” หาบุญยังไปฉลองศาลาลัย
ท่านพระคลังที่มีละคร ก็คือ จีนกุน หรือท่านกุน
เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ท่านเป็น พระยาพระคลัง
ถึงรัชกาลที่ ๒ ถึงจะเลื่อนเป็น เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ที่สมุหนายก
เป็นไปได้ไหมคะ ว่าตอนไปพระบาท “ท่าน” ยังเป็นแค่พระยาพระคลัง?
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 24 ส.ค. 07, 21:11

บรรพบุรุษคุณบุ้งคงมิใช่พวกเจ๊กเลว ที่คุมพวกออกปล้นฆ่าซ้ำเติมประเทศที่ตัวเองได้หนีภัยเข้ามาอาศัยเป็นที่ค้มภัยดอกครับ

ส่วนเรื่องจินตนาการในบทประพันธ์นั้น หากสนใจก็เสนอมาหรือไปเปิดเป็นกระทู้ใหม่ได้เลยครับ
ผมอาศัยกระทู้นี้ เพื่อขอถกกันเรื่องข้อมูลและข้อเท็จจริงที่รองรับงานประพันธ์
อันอาจจะช่วยให้มองวรรณกรรมได้รอบด้านมากขึ้น
แต่ถ้าคิดว่ามองผ่านจินตนาการทางวรรณศิลป์แล้ว ได้รับอรรถรสเต็มเปี่ยม ก็เป็นโชคดีอย่างยิ่ง

พระคลังจะเป็นท่านใหนยังไม่ทราบ
แต่บุญยังโต้โผคณะละคอนนี่ เท่าที่รู้จักก็มีอยู่ท่านเดียว เกิดมีสองท่าน ก็ยุ่งอยู่
แต่ผมก็ยังสงสัยว่า มีหลักฐานหรือไม่ว่าครั้งรัชกาลที่ 1 เกิดคณะละคอนแก้บนระดับนี้แล้ว
ขอที่เป็นหลักเป็นฐานหน่อยนะครับ
จินตนาการไม่เอา
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 24 ส.ค. 07, 22:41

เรื่องวัดธารมาใหม่ ความหมายผมคือว่า อ่านจากกลอน

เห็นวัดวาอารามตามตลิ่ง        ออกแจ้งจริงเหลือจะจำในคำเขียน
พระเจดีย์ดูกลาดดาษเดียร      การเปรียญโบสถ์กุฏิ์ชำรุดพัง
ถึงวัดธารมาใหม่ใจระย่อ        ของพระหน่อสุริย์วงศ์พระวังหลัง
อุตส่าห์ทรงศรัทธามาประทัง    อารามรั้งหรือมางามอร่ามทอง


บอกแค่ว่า พระวังหลัง (หรือพระโอรส) เป็นผู้บูรณะวัดธารมา แต่ไม่ได้บอกว่า พระวังหลัง(หรือพระโอรส) เสด็จมาด้วย หรือเป็นเจ้านายของกวีแต่อย่างใด

คำว่าสุริยวงศ์ตรงนี้ปรากฎอีกในที่อื่นในนิราศพระบาทนี้อีก แต่ผมคิดว่าหมายถึงกษัตริย์เท่านั้นเองครับไม่จำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นใคร หรือเชื้อสายใด

คำนี้ยังมีอยู่ในพระอภัยมณีตอนสุดสาครเข้าเมืองการเวก มีตอนหนึ่งว่า
พินิจดูมุนีฤๅษีน้อย              ช่างแช่มช้อยชื่นในฤไทยหวัง
สมเป็นหน่อสุริย์วงศ์ดำรงวัง     เหมือนเดือนปลั่งเปล่งฟ้านภาไลย ฯ

พระบิดาของพระอภัยมณีคือท้าวสุทัศน์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวงศ์ของสุริยะเลยครับ
(* ยกพระอภัยมณีมา เพราะถือเป็นงานยุคสมัยใกล้เคียงกัน ไม่ได้สรุปว่าเป็นงานของกวีคนเดียวกันนะครับ ยิงฟันยิ้ม)

เรื่องบุญยังผมอ่านแล้ว แต่ก็หาคำตอบไม่ได้ ซึ่งไม่แปลก เพราะความตอนนี้ยังแปลกันไปคนละทางสองทาง ฝ่ายที่แปลว่าเป็นนายบุญยังก็ยังไม่รู้ประวัติของนายบุญยังอยู่ดี ดังนั้นต้องเลือกพิจารณาจากข้อมูลที่มีหลักฐานหนักแน่นเป็นหลักก่อนครับ

เพราะหลักฐานในเรื่องนี้ก็เป็นอย่างที่เห็นครับ ถ้าตีความเจ้าเณรน้อยเป็นเจ้าฟ้าสามพระองค์ก่อนหน้านี้ ล้วนแล้วแต่มีปัญหาขัดข้องอย่างรุนแรง
กรณีเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ อย่างน้อยก็ได้สองแหล่งที่มีที่มาแตกต่างกันยืนยันความถูกต้องให้แล้ว หนึ่งในนั้นก็ยังมาจากพระองค์เองด้วย
กรณีเจ้าฟ้ามงกุฏ พงศาวดารเขียนในสมัยของพระองค์ หากผิดก็ยังต้องเป็นเรื่องเดิมอีก คือพระองค์ทรงจำผิดเอง
ทั้งสองกรณีผมว่ามันเกินจะเชื่อได้นะครับ

กรณีเจ้าฟ้าจุฑามณี ประตูไม่ถึงกับปิด แต่ต้องเชื่อว่าพระองค์บรรพชาเมื่อ ๑๐ ชันษา และยังต้องหาพระหน่อสุริย์วงศ์ทรงสิกขาที่วัดระฆัง และซูเปอร์บิ๊กขนาดมีขบวนใหญ่โตขนาดนี้ได้

หรือต้องยอมรับว่ากวีมั่วเขียนเรื่อยเปื่อยไปเอง?  ร้องไห้
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 25 ส.ค. 07, 00:47

กลับมาอ่านอีกที

ขอแก้จาก "ฝ่ายที่แปลว่าเป็นนายบุญยังก็ยังไม่รู้ประวัติของนายบุญยังอยู่ดี" เป็น "ผมไม่มีความรู้เรื่องนายบุญยัง" น่าจะเข้าท่าเข้าทางกว่า หากคุณ pipat มีอะไรดีๆจะมาขยายก็ขอขอบคุณล่วงหน้าเลยครับ  ยิงฟันยิ้ม

ลองคุ้ยจากในเน็ตดู ว่ากันว่านายบุญยังสร้างวัดลครทำในปี ๒๓๙๔ ถ้าเรื่องนี้เป็นจริง คงยากที่นายบุญยังคนนี้จะถูกหาไปเล่นที่พระบาทในปี ๒๓๓๗ แต่ยังหาคำอธิบายที่เข้าท่าเข้าทางไม่ได้ครับ จะบอกว่าเป็นคนละบุญยังก็ดูจะกำปั้นทุบดินไปหน่อย (ถึงแม้จะเป็นไปได้ก็ตาม เพราะมีตัวอย่างจากอีกบุญยังหนึ่ง ลูกนายทองสุข ละครเมืองเพชร ดูจะวันเวลาแล้ว เป็นไปได้ว่าตั้งชื่อตามนายบุญยังคนดัง)

ส่วนเจ้าพระยาพระคลัง (กุน) นั้น เป็นแทนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่ตายเมื่อ ๒๓๔๘ ครับ ถ้านิราศพระบาทเป็นปี ๒๓๕๐ ตามพระวินิจฉัยสมเด็จดำรง พระคลังนี้ก็จะเป็นท่านกุน

ไม่ทราบว่าคุณหนอนบุ้งเอาข้อมูลว่าท่านกุนมีละครจากไหนหรือครับ พอจะขยายได้มากกว่านี้หรือเปล่า?

ท่านกุนนี้เข้าใจว่าเป็นพระคลังอยู่ไม่นานก็เลื่อนเป็นสมุหนายก แต่ผมหาไม่เจอว่าเมื่อไหร่ หากคิดว่าเป็นท่านกุน(ที่คุณหนอนบุ้งว่ามีละคร) นิราศพระบาทก็อาจต้องบังคับตกปี ๒๓๕๐ ตามพระวินิจฉัยซึ่งไม่สอดคล้องกับเรื่องเจ้าเณรน้อยพระกลดหักทองขวาง และพระหน่อสุริยวงศ์ผู้ทรงอำนาจครับ

เห็นทีจะเป็นไปได้ยาก  เศร้า
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 12
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.051 วินาที กับ 20 คำสั่ง