เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 12
  พิมพ์  
อ่าน: 55657 สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 14 ส.ค. 07, 21:38

ส่งการบ้านครับ

๑)นทีตีฟองนองระลอก               คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลค่นขุ่น
เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน      อานนท์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท       สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
บดบังสุริยันตะวันเดือน                คลาดเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา

ใช้ความเปรียบที่เด็ดมาก กินความอย่างมโหฬาร บ่งว่าภูมิรู้แน่น เข้าใจเรื่องจักรวาลวิทยา
กล้าจะใช้วิชาเพื่อข่มทุกคนที่อ่าน เป็นกวีของแท้

๒)เห็นนางหนึ่งงามแฉล้มแช่มช้อย     นั่งร้อยดอกดวงพวงบุปผา
ทรงโฉมประโลมเลิศลักขณา         พักตราจิ้มลิ้มยิ้มแย้ม
ผิวเนื้อนวลละอองเป็นสองสี          โอษฐ์นางอย่างลิ้นจี่จีนแต้ม
ขอบขนงก่งเหมือนดังเดือนแรม      ทั้งสองแก้มเพียงพระจันทร์วันเพ็ง

เปรียบเทียบอย่างเด็กฝึกงาน ใช้คำและความพื้นๆ ไม่มีสารใหม่ในสารเก่า

๓)มานอนในไพรพนมต้องลมว่าว   อนาถหนาวน้ำค้างพร่างพฤกษา
หอมดอกกลอยสร้อยสนสุมณฑา    มะลิลาลมโชยมาโรยริน
ดอกไม้สดรสรื่นชื่นแช่ม                เหมือนกลิ่นแก้มแจ่มนวลชวนถวิล
หอมบุปผาสารพันลูกจันทน์อิน        ไม่เหมือนกลิ่นนุชเนื้อที่เจือจันทน์

สองท่อนไม่กินกัน ช่วงแรกออกแนวเศร้าที่จำพราก แต่ดันชมว่าดอกไม้หอม ใช้คำที่จรุงใจ
แม้จะตบท้ายว่าหอมสู้น้องนุชไม่ได้  มันก็ช้าไปแล้วเพราะได้เผยไต๋ว่าไม่เศร้าจริง

สรุปว่า กลอนที่ 1 นี่เป็นผู้เรียนมาก คิดใหญ่ไม่คิดเล็ก ฉลาดล้ำลึก น่าจะเป็นสุนทรภู่
ที่ 2 เลิกแต่งกลอนได้ก็จะดี เป็นแต่ครูพักลักจำ
ที่ 3 แต่งกลอนได้แต่คงเอาดีทางนี้ยาก ไปหางานที่เหมาะกับตัว แล้วใช้กลอนมาเสริมบารมีจะดีกั่ว
 
บันทึกการเข้า
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 15 ส.ค. 07, 02:07

อิอิ.... ส่งการบ้านอาจารย์เทาชมภูบ้าง

นทีตีฟองนองระลอก                  คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลค่นขุ่น
เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน      อานนท์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท       สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
บดบังสุริยันตะวันเดือน                คลาดเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา

ถ้ากลอนสุนทรภู่เปรียบเป็นคาราบาวแบบผมชอบคิด  อันนี้กลายเป็นประเภทสุเทพ หรือ ธานนินทร์ อ่ะครับ  กลอนดีแต่กลิ่นไม่ใช่(อิอิ... พูดแนวสมัยนิยม)  อาจเป็นเพราะทางกลอนรามเกียรติ์ที่แต่งไว้แล้วสำเนียงแบบนี้อ่ะครับ  เลยทำสำเนียงกลอนให้กลมกลืน  เพราะเป็นการแต่งเสริม (แบบตำราว่าไว้)  นี่คิดในทางที่เข้าข้างบทเรียนครับ  จุดมุ่งหมายการแต่งเพื่อใช้เป็นบทละครสำหรับเล่นละครใน 

เห็นนางหนึ่งงามแฉล้มแช่มช้อย     นั่งร้อยดอกดวงพวงบุปผา
ทรงโฉมประโลมเลิศลักขณา         พักตราจิ้มลิ้มยิ้มแย้ม
ผิวเนื้อนวลละอองเป็นสองสี          โอษฐ์นางอย่างลิ้นจี่จีนแต้ม
ขอบขนงก่งเหมือนดังเดือนแรม      ทั้งสองแก้มเพียงพระจันทร์วันเพ็ง

อันนี้ประมาณพงษ์เทพอ่ะครับ  สัมผัสสองคำท้ายเยอะแบบนี้หรือมาสัมผัสเจ็ดกับแปด  ไม่ค่อยเยอะนักครับถ้าเป็นท่านสุนทรภู่  จะนิยม  ห้ากับเจ็ดมากกว่า

มานอนในไพรพนมต้องลมว่าว        อนาถหนาวน้ำค้างพร่างพฤกษา
หอมดอกกลอยสร้อยสนสุมณฑา    มะลิลาลมโชยมาโรยริน
ดอกไม้สดรสรื่นชื่นแช่ม                เหมือนกลิ่นแก้มแจ่มนวลชวนถวิล
หอมบุปผาสารพันลูกจันทน์อิน        ไม่เหมือนกลิ่นนุชเนื้อที่เจือจันทน์
เจ้าพี่เอ๋ยเชยอื่นไม่ชื่นจิต               เหมือนเชยชิดโฉมน้องประคองขวัญ
มานอนเดียวเปลี่ยวใจในไพรวัน       สะอื้นอั้นอกน้องมัวหมองเอย ฯ

บทละครอภัยนุราชนี้สิ  สำเนียงของท่านสุนทรภู่ครับ  ใกล้เคียงที่สุดในสามหัวข้อที่ยกมา  แต่พวกนี้เป็นบทละครครับ  คงจะมาเปรียบกับนิราศทั้งในด้านรสชาติหรือสำนวน  คงไม่ได้กระมังครับ  ยิ่งอภัยนุราชมีร่ายมีกาพย์  สลับไปด้วย

ขุนแผนว่าจะอยู่ดูไม่ได้                     ในคุกใหญ่ยากแค้นมันแสนเข็ญ
เหมือนกับอยู่ในนรกตกทั้งเป็น            ไม่ว่างเว้นโทษทัณฑ์สักวันเลย
แต่พ่อนั้นท่านเจ้ากรมยมราช              อนุญาตให้อยู่ทับในหับเผย
คนทั้งหลายนายมุลก็คุ้นเคย               เขาละเลยพ่อไม่ต้องถูกจองจำ

อันนี้ท่านอาจารย์ลองขับเสภาดูสิครับ  มันเข้ากันดีมากเลย  แต่ลองเอานิราศมาขับเป็นเสภาดูสิครับ  อันนี้ผมคิดว่าแตกต่างกันตรงที่จุดประสงค์ครับ

อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆ  ไม่ได้ปรึกษาคนข้างๆ....อิอิ  ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 15 ส.ค. 07, 09:23

มาเฉลย
กลอนบทที่ ๑  นทีตีฟองนองระลอก  เล่าไว้ในประวัติของสุนทรภู่ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงวินิจฉัยไว้
เล่าว่าเป็นตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงแต่งบทละครรามเกียรติ์มาถึงตอนบรรยายรถทรงของทศกัณฐ์  ตอนออกศึกกับพระราม
ต้องให้ใหญ่โตโอ่อ่ากว่ารถพญายักษ์ทั้งหมดที่มาช่วยรบ 
ทรงแต่งไปได้ครึ่งหนึ่งก็ติด
รถเอยรถที่นั่ง                         บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล       ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง           เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
สารถี่ขี่ขับเข้าดงแดน                พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุณ

 สุนทรภู่จึงมาต่อตอนนี้

กลอนบทที่ ๒ มาจากบทละครพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๒
แม้เรียกว่าบทละครพระราชนิพนธ์   แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทรงแต่งเองทั้งหมด 
ตามขนบที่ทำมาคือโปรดให้ชุมนุมกวีหน้าพระที่นั่งช่วยกันแต่งขึ้น  แล้วมาอ่านถวาย แก้ไขจนเห็นเหมาะสมแล้วก็ให้อาลักษณ์เขียนลงในสมุด เก็บไว้
ดังนั้นอาจเป็นฝีปากกวีสมัยรัชกาลที่ ๒ คนใดคนหนึ่งก็ได้

กลอนบทที่ ๓  มาจากอภัยนุราช   บทละครของสุนทรภู่

กลอนทั้ง ๓ เรื่อง ๓ สำนวนนี้เป็นกลอนบทละคร    จุดมุ่งหมายที่เอามาคือเทียบ "ทาง" หรือ"ลีลาการแต่ง" 
อาจจะพอมองเห็นลีลาการแต่งนิราศได้ค่ะ    ไม่ถึงกับไม่ได้    เพราะไม่ได้ต่างกันมากขนาดเอากลอนไปเทียบกับโคลง

ดิฉันไม่บอกว่าเป็นของใคร แต่ถามว่าดูออกไหมว่าคนเดียวกันแต่ง
คือตั้งใจจะลบความรู้สึกฝังใจว่าสุนทรภู่(หรือไม่ใช่สุนทรภู่) แต่ง   ออกไปก่อน   เพราะส่วนใหญ่ผู้ศึกษาเรื่องสุนทรภู่   จะปักใจจากประวัติ  ไม่คิดจะสอบทานหรือมองทางอื่น   
ทำให้การศึกษาเรื่องสุนทรภู่ วนเวียนซ้ำกันอยู่ในวงเดิม 

คำตอบของ ๓ หนุ่ม ๓ มุมในกระทู้นี้ ทำให้รู้ว่า ถ้าเราลบประวัติที่เชื่อกันออกไป   ไม่เอาตัวคนแต่งมาเป็นหลัก
แต่เอาเนื้อๆของกลอนมาเป็นหลัก   
จะได้คำตอบอะไรดีๆเยอะเทียว   อย่างน้อยมันก็แปลกไปกว่าที่เราเคยเชื่อกันมา

ที่น่าสนใจคือคุณอาชาตอบว่า กลอนบทที่ ๑ ไม่น่าจะเป็นคนเดียวกับสุนทรภู่
ตรงกันข้ามกับคุณพิพัฒน์ ที่มองเห็นว่าน่าจะเป็นสุนทรภู่
ส่วนคุณ Bana ตอบแบบนักวิชาการที่รู้แล้วว่าใครแต่ง  ยังขัดภูมิรู้ที่ติดแน่นไม่ออก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 15 ส.ค. 07, 09:35

บท นทีตีฟองนองระลอก    ถ้ามองจาก "ทาง" ที่แต่ง  แบบคุณอาชามอง  จะเห็นได้ว่าสำนวนนี้ไม่เหมือนสุนทรภู่
ถ้าหากว่าจะค้านอย่างคุณ Bana ค้านว่านี่เป็นกลอนบทละคร  ไม่สามารถเอามาเปรียบกับนิราศที่เรากำลังพูดกันอยู่
ดิฉันก็เอาตอนหนึ่งของบทละครอภัยนุราชมาให้เห็น  ว่า "ทาง" ของสุนทรภู่ในกลอนบทละคร ยังฉายแววออกมาจนได้ ไม่ว่าจะแต่งอะไร
อย่างในกลอนบทที่ ๓
แล้วนี่ถ้าแต่งถวายพระเจ้าแผ่นดิน  ท่านจะเลือกทางของท่าน หรือทางของรัชกาลที่ ๒
ถ้าคุณตอบว่า เลือกทางของรัชกาลที่ ๒ ซิครับ  เพราะแต่งต่อจากพระองค์ท่านนี่ ก็ต้องกลมกลืนกัน
ก็หมายความว่าคุณพิพัฒน์เข้าใจถูกแล้ว  ว่านี่สุนทรภู่

แต่ถ้าตอบว่า สุนทรภู่มี"ทาง" ของตัวเองที่เป็นแบบแผนชัดเจน  ไม่ว่าแต่งอะไรก็ต้องฉายแวว"ทาง"นั้นออกมาจนได้
กลอนในข้อ ๑ นั้น ก็เป็นอย่างที่คุณอาชาผยองว่า คือ ไม่ใช่ของสุนทรภู่
ถ้าถามว่าเป็นของใคร
ดิฉันก็ตอบว่าเป็นของรัชกาลที่ ๒ พระองค์ท่านนั่นแหละ  ไม่ใช่ของกวีคนหนึ่งในสมัยของท่านอย่างในกลอนบทที่ ๒
รสชาติผิดกันไกล

ถ้าอ่านแล้วขัดใจว่า ทำไมไม่ให้คำตอบฟันธงลงไปเป๊ะๆ  ว่าใช่หรือไม่ใช่  มาตั้งข้อแม้อยู่ได้
คำตอบคือไม่ใช่หมอดูทางในนี่คะ     จะได้ตอบลงไปอย่างมั่นใจ 
เรื่องวรรณคดีก็ดี ประวัติศาสตร์ก็ดี ตีความกันจากเนื้อหาที่เจอทั้งนั้น ๑๐ คนก็ตีความได้ ๑๐ อย่าง ไม่มีคำตอบลงตัวอย่าง ๒+๒ ย่อมเท่ากับ ๔
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 15 ส.ค. 07, 11:03

ใครหลงเข้ามาตอบในกระทู้นี้ มีการบ้านแยะค่ะ 
เอามาให้ทำ
กลอนนิราศ ๒ บท นี้ คุณลองคิดดูว่า บทไหนบอกฝีมือเชิงศิลป์กว่ากัน
แล้วจะมาเฉลย
๑)  เสนาะเสียงเทศนาปุจฉาถาม          ในสนามเสียงสนั่นเนินสิงขร
เป็นวันบรรณรสีรวีวร                           พระจันทรทรงกลดรจนา
ไฟตะเกียงเรียงรอบพระมณฑป             กระจ่างจบจันทร์แจ่มแอร่มผา
ดอกไม้พุ่มจุดงามอร่ามตา                    จับศิลาแลเลื่อมเป็นลายลาย
พระจันทร์ส่องต้องยอดมณฑปสุก          ในหน้ามุขเงางามอร่ามฉาย
นกบินกรวดพรวดพราดประกายพราย       พลุกระจายช่อช่วงดังดวงเดือน

๒)ครั้นเย็นค่ำย่ำมืดขมุกขมัว                 พี่นึกกลัวกลับมาที่อาศัย
พระจันทร์ส่องท้องป่าพนาลัย                จุดดอกไม้เพลิงวางตามตะเกียง
ถวายพระแท่นอุทิศตั้งจิตหวัง                จุดพลุดังก้องลั่นสนั่นเสียง
กระจายฟุ้งพลุ่งใหญ่ไฟพะเนียง             ขึ้นสูงเพียงปลายรังดังสะท้าน
บ้างก็จุดอ้ายตื้อเสียงหวือหวูด                กรวดก็ฉูดพุ่งปราดอยู่ฉาดฉาน
มีคนดูกรูเกรียวเที่ยวสำราญ                  ประกอบการบูชาประสาจน
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 15 ส.ค. 07, 15:32

เปรียบเทียบเชิงศิลป์นั้นเปรียบไม่ถูกครับ เพราะผมเป็นคนไม่มีศิลป์
แต่ถูกฝึกมาให้สู้ตาย เมื่อเข้าห้องสอบแล้วก็ต้องพยายามตอบครับ ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น

อ่านกลอนสองสำนวนนี้แล้วรู้สึกว่า สำนวนแรกเหมือนดูลิเก สำนวนหลังเหมือนฟังเพลงลูกทุ่ง

ส่งคำตอบสั้นๆเพียงเท่านี้ โปรดปรานีเถิดหนาท่านอาจารย์  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 15 ส.ค. 07, 15:57

มาตอบข้อสอบแรกซ้ำว่า
ถ้าสูตรของคุณอาชาฯ รับได้ ความตอนนี้ ก็ไม่ใช่ฝีปากสุนทรภู่
เป็นการเอาเรื่องอาไรก้อม่ายรุ ยัดเข้าในชีวิตท่าน
หรือ
ท่านแปลงตน ให้ใหญ่เท่าพระราชนิพนธ์ แต่ความที่อ่านนั้น ผู้แต่งมีวุฒิภาวะสูงเกินคนปกติไปมาก

สำหรับบทสาม ทำผมผิดหวังมาก ว่าท่านกวีเอก ทำไมต้มแกงจืดได้จืดสนิทอย่างนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 15 ส.ค. 07, 19:20

ลีลา(หรือทาง)ที่แต่งชมรถทรงนั้น   ถ้าไม่รู้ว่าสองคนแต่งต่อกัน ก็เนียนสนิทเหมือนคนเดียวแต่ง
ถ้าบอกว่าสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าทรงแต่งเองทั้งบท  ก็เชื่อค่ะ   เพราะทรงเป็นทั้งกวีและศิลปิน  ไม่น่าจะจนถ้อยคำกับเรื่องง่ายๆแค่ชมรถ
ถ้าใครไปเปิดดูรามเกียรติ์ทั้งสองรัชกาล จะเห็นว่าบทอาบน้ำแต่งตัว กับบทรถทรง มีให้อ่านถี่ยิบเกือบจะทุกหน้า
ออกศึกทีก็อาบน้ำทรงเครื่องที    นั่งรถทรงกันที ทั้งสองฝ่าย    ซ้ำๆกัน
บทแบบนี้ไม่ต้องอาศัยอารมณ์หรือการดำเนินเรื่องที่ยากเย็น   ไม่มีอารมณ์ ไม่มีศัพท์อะไรที่แปลกแหวกแนว  ดำเนินไปตามขั้นตอน คือชมตัวรถ  บอกถึงสัตว์ที่เทียม  เครื่องสูง แล้วก็เคลื่อนรถ กระเทือนพื้นพสุธาแค่ไหน
แทบจะเรียกได้ว่าเป็นแพทเทิร์นเสียด้วยซ้ำ
ยกอีกตอนมาก็ได้ รถทรงทศกัณฐ์เหมือนกันค่ะ

รถเอยรถทรง                   ดุมวงกงแก้วมรกต
บุษบกหน้าบันชั้นลด          งอนรถปักธงลงยันต์
เทียมเทพอาชาพาชี          สารถีขี่ขับแข็งขัน
เครื่องสูงจามรทอนตะวัน     ฉัตรชั้นชุมสายรายเรียง
สังข์แตรกลองประโคมโครมครึก     ก้องกึกกังวานประสานเสียง
ทวยหาญโห่ร้องซ้องสำเนียง          พ่างเพียงพระสุเมรุจะเอนลง
นกหกหงส์ห่านทะยานเหิน             สัตว์สิงวิ่งตะเพิ่นไพรระหง
เร่งรถรีบรัดจัตุรงค์                        หมายตรงมาสมรภูมิชัย

แต่ถ้าถามว่าบทชมรถทรงบทไหนเด็ดที่สุด ก็บทที่สมเด็จทรงเล่าในประวัติว่าสุนทรภู่แต่งนั่นแหละค่ะ
คำเปรียบเทียบ ของบทหลัง โอฬารกว่าบทอื่นๆ  แต่"ทาง" เป็นแบบรัชกาลที่สองมากกว่าแบบเฉพาะตัวของสุนทรภู่
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 15 ส.ค. 07, 19:31

เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์
เครื่องสูงทั้งหมด ต้องสร้างใหม่ เพราะเจ้าตากแทบจะมิได้สร้างสิ่งสำคัญไว้เลย
เวชยันตราชรถก็ต้องสร้าง บุษบกพระแก้วก็ต้องสร้าง
มหัฆภัณฑ์อีก เครื่องราชูปโภคทั้งหมด....ฯลฯ

คนที่อยู่ร่วมสมัยก็ต้องอยากเอ่ยถึงละครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 15 ส.ค. 07, 19:39

ถ้าพิจารณาจากตัวบท ในถ้อยคำที่ใช้  บทรถทรง ผู้แต่งต่อมีความรู้เรื่องไตรภูมิดีพอจะหยิบยกมาใช้ได้อย่างมั่นใจ
รถของทศกัณฐ์ ยิ่งใหญ่พอจะทำให้โลกไหวทั้งพื้นดินและมหาสมุทร กระเทือนไปถึงปลาอานนท์ที่หนุนโลก  เป็น"อธิพจน์" (hyberbole) ที่นำมาใช้ในรูปสมจริง ได้เนียนมาก
ถ้าเทียบฝีปากกับบทแรกที่เริ่มชมรถทรงเอาไว้แล้ว   คุณพพ.บอกว่าใหญ่เท่าพระราชนิพนธ์ นั้น  เห็นด้วย
ถ้าเป็นขุนนางหนุ่มชั้นผู้น้อยคนหนึ่ง แต่งอย่างมั่นใจเฉียบขาดขนาดนี้  ก็น่าจะผ่านจาก ซีสาม พรวดเดียวขึ้นเป็นซีสิบได้
แต่ถ้าไม่มีขุนนางคนไหนทำได้ขนาดนี้   บทนี้เป็นพระราชนิพนธ์ล้วนๆ

ลองเอาวิชานับแบบคุณอาชาฯนำทางมาก่อน  มาใช้บ้าง ด้วยการนับจำนวนสิงห์เทียมรถ
บทนี้ กวีบรรจุสิงห์เข้าไปเทียมล้อรถ ข้างละหนึ่งแสนตัว
แต่บทอื่นๆ เทียมม้าชั้นเยี่ยมบ้าง  เทียมสิงห์บ้าง แต่เหลือข้างละสี่พันเอง
กวีอื่นใจไม่ถึงเท่ากวีท่านนี้ค่ะ   จินตนาการไม่เก่งกล้าเท่า
บันทึกการเข้า
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 16 ส.ค. 07, 01:38

อ่ะ   คุณครูให้การบ้านอีกแล้ว  บทไหนมีฝีมือในเชิงศิลป์  หรือว่าลีลาในบทประพันธ์บทไหนดีกว่ากัน  บทแรกคือสุดยอดครับ เป็นเสาวรจนีที่ไม่มากเกินไป  คือไม่ใช่พรรณนาเกินจริง  แต่มองแล้วชมด้วยบทประพันธ์อย่างมีศิลป์  แบบคนที่ไม่ได้ไปด้วยนึกภาพตามได้แบบไม่ขัดเขิน  มีชีวิตครับเรียกว่ามีชีวิตชีวาแบบชมโดยรอบได้ทั้งบรรยากาศ  สีสัน  เสียง  อารมณ์ ในวันเพ็ญ  งามครับ  ผมขออนุญาตใช้คำว่า งาม

ประจวบจนสุริยนเย็นพยับ                              ไม่ได้ศัพท์เซ็งแซ่ด้วยแตรสังข์
ปี่ระนาดฆ้องกลองประโคมดัง                          ระฆังหงั่งหงั่งหง่างลงครางครึม
มโหรีปี่ไฉนจับใจแจ้ว                                     วิเวกแว่วกลองโยนตะโพนกระหึม
ทุกที่ทับสัปปุรุษก็พูดพึม                                 รุกขาครึ้มครอบแสงพระจันทร
เสนาะเสียงเทศนาปุจฉาถาม                            ในสนามเสียงสนั่นเนินสิงขร
เป็นวันบรรณรสีรวีวร                                      พระจันทรทรงกลดรจนา
ไฟตะเกียงเรียงรอบพระมณฑป                       กระจ่างจบจันทร์แจ่มแอร่มผา
ดอกไม้พุ่มจุดงามอร่ามตา                              จับศิลาแลเลื่อมเป็นลายลาย
พระจันทร์ส่องต้องยอดมณฑปสุก                    ในหน้ามุขเงางามอร่ามฉาย
นกบินกรวดพรวดพราดประกายพราย                 พลุกระจายช่อช่วงดังดวงเดือน

ส่วนบทที่สองขออนุญาตเริ่มแต่ต้นบทนะครับ

พระสุริยายอแสงแฝงคีรี                                เสียงชะนีโหยหวนรัญจวนใจ
เห็นเสือด้อมกวางเดินเนินพนัส                        เล็มระบัดใบหญ้าที่อาศัย
วิ่งคะนองลองเชิงระเริงใจ                               เห็นคนไปวิ่งซอกตามตรอกเตริ่น
หมีกระโดดหมูคุดเที่ยวมุดแฝง                        แรดก็แรงกินหนามไม่ขามเขิน
ชะมดสมันหันหาพากันเดิน                             ละมั่งเมินมองเมียงฟังเสียงคน
กะรอกกะแตแย้ตุ่นเที่ยวดุนดุด                       บ้างคุ้ยขุดดินป่าพนาสณฑ์
พี่เที่ยวเดินดูสนุกทุกตำบล                            ก็ต่างคนต่างสำราญบานฤทัย

ครั้นเย็นค่ำย่ำมืดขมุกขมัว                              พี่นึกกลัวกลับมาที่อาศัย
พระจันทร์ส่องท้องป่าพนาลัย                         จุดดอกไม้เพลิงวางตามตะเกียง
ถวายพระแท่นอุทิศตั้งจิตต์หวัง                       จุดพลุดังก้องลั่นสนั่นเสียง
กระจายฟุ้งพลุ่งใหญ่ไฟพะเนียง                      ขึ้นสูงเพียงปลายรังดังสะท้าน
บ้างก็จุดอ้ายตื้อเสียงหวือหวูด                        กรวดก็ฉูดพุ่งปราดอยู่ฉาดฉาน
มีคนดูกรูเกรียวเที่ยวสำราญ                           ประกอบการบูชาประสาจน

เป็นลีลาที่เราสามารถคิดตามได้ครับในบทแรก  ถ้าใครเคยเดินป่า  อะไรจะไปเห็นสัตว์มากมายหลายชนิดเพียงนั้น  เห็นเสือเห็นหมีเห็นกวางเห็นแรด  อยู่ลำบากล่ะครับ  เรียกว่าเห็นบ้างเติมบ้างไปตามกลอน  เรียกเป็นลีลา เสาวรสจนีได้  แต่ไม่ได้รูปเสียงกลิ่นรส  เท่าบทแรกครับ  แต่ก็เพราะด้วยคำและสัมผัส  ขออนุญาตใช้คำว่า  ไพเราะ

ทางกลอนในรามเกียรติ์  ถ้าท่านกวีแต่งเติม  คงต้องรักษาทางกลอนของเดิมไว้นะครับ  แต่จะบังอาจไปใหญ่เทียบพระราชนิพนธ์นั้น  มันก็คงจำเป็นล่ะครับถ้าท่านแต่งเอง  ตรงนี้ล่ะครับบ่งบอกถึงจินตนาการอันกว้างไกลของท่าน (แต่แบบมีหลักเกณฑ์นะครับ)  จินตนาการนี่ล่ะครับ  เป็นจุดเด่นจุดหนึ่งที่พวกเรายกย่องท่านมหากวีไม่ใช่เหรอครับ  เช่นที่เราเห็นได้มากในเรื่อง พระอภัยมณี.......... ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 16 ส.ค. 07, 08:25

๑) มาเฉลย
บทแรกมาจากนิราศพระบาท ที่คุณพพ.กำลังพิสูจน์ว่าสุนทรภู่ไม่ได้แต่ง
บทที่สองมาจากนิราศพระแท่นดงรัง ของนายมี หลวงศุภมาตรา ศิษย์สุนทรภู่
๒)เห็นด้วยกับคุณ Bana ว่ากลอนบทแรก  มีชั้นเชิงการแต่งแพรวพรายกว่าบทที่ ๒
บทที่สอง  เล่นสัมผัสคล้องจองรื่นหูตามแนวของสุนทรภู่  แต่การใช้ถ้อยคำ นิยมคำสามัญ
เป็นการบอกเล่าภาพที่เห็น เหมือนมองผ่านกล้องถ่ายวิดีโอ   ไม่มีอารมณ์เกี่ยวข้อง
ถ้าเทียบกับบทแรก  อารมณ์คนแต่งดื่มด่ำกับการฉลองพระบาท มากกว่าคนแต่งบทที่สอง
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 16 ส.ค. 07, 09:37

ผมก็ชอบบทแรกครับ อ่านสนุก มีอารมณ์ที่โยกสูงวาบหวิวดีนัก
กวีคนนี้เก่งจริงๆ
ถ้าตัดท่านสุนทรออกไปแล้วละก้อ เราจะได้อัจฉริยะกวีผู้เป็นฝีพายและกองระวังหน้ามาอีกคน
เก่งทั้งบู้และบุ๋น หายากนัก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 16 ส.ค. 07, 10:17

ถ้าทฤษฎีของคุณพพ.ถูกต้อง ว่าคนแต่งนิราศพระบาท ไม่ใช่สุนทรภู่  แต่เป็นฝีพาย มหาดเล็กหนุ่มคนหนึ่ง ในรัชกาลที่ 4  ตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัว
หรือไม่ อย่างน้อยก็ตามเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ครั้งบรรพชาเป็นสามเณร  หากว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จไปด้วย   
แต่น่าจะเสด็จ ถึงมีการล้อมวงที่ประทับ
เราจะแกะรอยอะไรได้บ้าง
เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ประสูติ พ.ศ. 2396   บรรพชาเป็นสามเณร พระชนม์ราวๆ 11 ก็เป็น พ.ศ. 2407
เรื่องนี้แต่งประมาณปี   2407  กวีหนุ่มน่าจะอายุ 20 ต้นๆ  เพราะมีเมีย ครองเรือนกันแล้ว กำลังงอนกันอยู่นานเป็นแรมเดือน
แกก็น่าจะเกิดพ.ศ. 2387 หรือก่อนนั้นไม่กี่ปี  อาจจะ 2384-5
ฝีมือขนาดนี้ ไม่น่าจะอับจนเป็นฝีพายหรือมหาดเล็กไปจนแก่     ในรัชกาลที่ 5 ก็โปรดคนมีความรู้ทางการกวี
ลองมองหาดูเล่นๆดีไหม  ใครพอจะจำได้ว่าขุนนางเก่งเรื่องกวีนิพนธ์ ท่านไหนเกิดประมาณปีพวกนี้บ้าง
ดิฉันยังนึกไม่ออกค่ะ   
ที่จริง  ถ้ากวีฝีพายคนนี้มีอายุยืนยาวมาจนรัชกาลที่ 5 อาจจะอยู่จนถึงต้นรัชกาลที่ 6 ได้   เพื่อนพ้องรุ่นน้องและวงศ์วารว่านเครือ ไม่มีเหลือตัวมาท้วงติงสมเด็จกรมพระยาดำรงฯบ้างหรือ ว่านิราศพระบาทเนี่ย   พ่อ(หรือลุง) หรือเจ้าคุณเจ้ากรม ของข้าพระพุทธเจ้าแต่งเองพะย่ะค่ะ
หาใช่สุนทรภู่ไม่
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 16 ส.ค. 07, 11:37

ท่านเป็นเณรปี 2409 ครับ พระชนม์ 13 หลังโสกันต์แล้ว
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 12
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.095 วินาที กับ 19 คำสั่ง