เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 14
  พิมพ์  
อ่าน: 68744 นิราศสุพรรณ
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 135  เมื่อ 11 ส.ค. 07, 10:49

ถ้ามองว่าสุนทรภู่เป็นกวีอาชีพ หาเลี้ยงชีพโดยการแต่งโคลงกลอน
เป็นไปได้หรือไม่ว่าโคลงไม่ถูกตลาด ผู้คนไม่นิยมเท่ากลอนตลาดที่คุ้นเคยกันมากกว่า

เมื่อคืนนี้จับนิราศพระแท่นของนายมีขึ้นมาอ่านใหม่ ทำให้เห็นอะไรอย่างหนึ่ง ลองดูท่อนนี้นะครับ
มาถึงวัดชีปะขาวให้เศร้าสร้อย       นาวาลอยลับไปไกลสมร
พี่กล้ำกลืนโศกาอาทร               สะท้อนถอนจิตใจไม่สบายฯ
ถึงตำบลบางระมาดอนาถจิต         เหมือนพี่คิดมุ่งมาดสวาทหมาย
ก็ได้สมชมน้องประคองกาย         แล้วกลับกลายพลัดพรากไปจากทรวงฯ
มาถึงวัดไก่เตี้ยยิ่งเสียจิต            พี่นิ่งคิดเสียดายไม่หายห่วง
ยิ่งแลลับแก้วตาสุดาดวง            ครรไลล่วงล่องลอยนาวามาฯ


ความจริงแล้ว นายมีพร่ำเพ้อยาวกว่านี้มาก นี่คือตัวอย่างของการพูดถึงผู้หญิงคนเดียว(แถมไม่เอ่ยชื่ออีกต่างหาก) เป็นงานร่วมสมัยกับสุนทรภู่ที่(ตัวผมเอง)อ่านไปนานๆแล้วพาลเหม็นเบื่อ ซึ่งเมื่อเทียบกับนิราศสุพรรณที่เอ่ยชื่อสาวเป็นสิบ รู้สึกว่ามีชีวิตชีวามากกว่าเยอะเลยครับ

คิดมาถึงตรงนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่ากวีไม่ได้มีสาวๆมากมายถึงขนาดนั้น บางชื่ออาจจะมีตัวตนจริง มีสัมพันธ์จริง แต่บางชื่อก็อาจจะเขียนให้มันน่าตื่นเต้นไปอย่างนั้นเอง แถมเผลอๆบางชื่ออาจจะอุปโลกน์ไปตามกลอนเพื่อเพิ่มสีสันให้งานประพันธ์ก็เป็นได้ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 136  เมื่อ 11 ส.ค. 07, 23:03

ผมขอตั้งคำถามเกี่ยวกับนิราศสุพรรณสักหน่อย เป็นคำถามย้อนศรตามถนัด
เกี่ยวกับกวี
1 เก่งกลอนตลาด จึงย้ายเอามาแต่งโคลง เพื่อแสดงฝีมือ
นี่ก็คือสันนิษฐานที่เรายึดถือกันมาแต่เดิม มุ่งหมายถึงท่านสุนทรภู่โดยตรง
ทำนองว่าถูกสบประมาทว่าเก่งแต่กลอน ไม่เก่งโคลง จึงเขียนนิราศนี้ เพื่อประกาศศักดา

2 แต่งโคลงเก่งอยู่แล้ว จึงมาเล่นสัมผัสแบบกลอนตลาด เพื่อลองวิชา
อันนี้ผมคิดขึ้นใหม่ ก็ในเมื่อคิดกันได้ว่าคนเก่งกลอนยักย้ามาแต่งโคลง ก็แล้วทำไมคนเก่งคลง
จะมาเล่นสัมผัสแบบกลอนบ้างไม่ได้
ข้อนี้ ผมต้องการถามว่า กวีแห่งโคลง ย้ายมาเล่นกลอน กวีนั้นย่อมมิใช่ท่านสุนทร

3 เป็นโคลงแนวทางยอดนิยมในขณะนั้น ไม่ประหลาดอันใด
อันนี้เป็นทางสายกลาง เป็นท่านสุนทรก็ได้ ท่านนิรนามก็ได้

ประเด็นของผม อาจจะวกวนสักหน่อย โปรดเห็นใจ เอาคนไม่เป็นกลอนมาอ่านนิราศ
ไม่ต่างกับตาบอดได้หวี....ยังไงก็หวีไม่ตรง   ฮิฮิ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 137  เมื่อ 12 ส.ค. 07, 00:24

ขอตอบแบบอัตนัยตามถนัดนะครับ

โคลงทางนี้ ผมไม่เคยเห็นในยุคก่อนสุนทรภู่ อุ๊บ... ก่อนนิราศสุพรรณ แฮ่ๆ
แม้แต่หลังจากนั้นก็ยังนึกไม่ออกว่ามีกวีท่านใดแต่โคลงทางนี้อีก มาโผล่อีกทีราวห้าสิบมาปีนี้เอง เมื่อนิราศสุพรรณเป็นที่รู้จักแพร่หลายแล้วครับ(ถึงกระนั้นก็ยังไม่เป็นที่นิยม โดนค่อนขอดอยู่บ่อยๆ) ดังนั้นโคลงทางนี้ไม่ใช่โคลงที่นิยมในเวลานั้นแน่นอน

ทีนี้กวีแต่งกลอนแล้วมาแต่งโคลง หรือแต่งโคลงแล้วมาแต่งกลอน อันนี้ตอบไม่ได้ครับ เพราะเกิดไม่ทัน อิอิ

แต่กวีนิราศสุพรรณนี้ แต่งโดยอาศัยทางของกลอนแบบสุนทรภู่ เอามาใส่ในฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพ ซึ่งทำได้หมดจด ไม่มีจุดใดขัดกับตำราเก่า อย่างน้อยกวีก็ต้องเรียนจินดามณีหรือได้ศึกษามาเป็นอย่างดีแล้ว

สรุปว่าไม่รู้ว่าแต่งโคลงมาก่อนหรือไม่ เพราะไม่มีอะไรจะเทียบครับ มีโคลงอยู่เรื่องเดียว ไม่เห็นพัฒนาการ ไม่รู้ว่าเคยแต่งแบบคลาสสิคอลแล้วค่อยๆคลี่คลายมาเป็นอย่างนี้ หรือจะเป็นว่าก่อนเขียนนิราศสุพรรณก็นั่งวางแนวทางก่อน แล้วค่อยลงมือเขียน แต่เขียนได้ขนาดนี้ รักษาเสียงโคลงได้สม่ำเสมออย่างนี้ คงไม่ใช่โคลงบทแรกในชีวิตดอกครับ

แต่ที่เห็นชัดๆคือ กวีเชี่ยวชาญกลอนตลาดแบบสุนทรภู่แน่นอน ไม่มีทางเป็นอื่นไปได้

ถ้าไม่ใช่สุนทรภู่แต่งเอง ก็ต้องเป็นสำนักสุนทรภู่

อ้า... ถ้าถึงขนาดเกิดกวีสำนักสุนทรภู่ได้ เรื่องชักยาวครับ ท่านสุนทรจะต้องยิ่งใหญ่กว่าที่บอกเล่ากันมากนัก

และถ้าลูกศิษย์ทะลึ่งสวมบทท่านเจ้าสำนักในผลงานของตัวเอง คงต้องโดนตะพดพระอาจารย์ประเคนอย่างแน่นอน
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 138  เมื่อ 13 ส.ค. 07, 21:40

นายมีพร่ำเพ้อยาวกว่านี้มาก นี่คือตัวอย่างของการพูดถึงผู้หญิงคนเดียว(แถมไม่เอ่ยชื่ออีกต่างหาก) เป็นงานร่วมสมัยกับสุนทรภู่ที่(ตัวผมเอง)อ่านไปนานๆแล้วพาลเหม็นเบื่อ ซึ่งเมื่อเทียบกับนิราศสุพรรณที่เอ่ยชื่อสาวเป็นสิบ รู้สึกว่ามีชีวิตชีวามากกว่าเยอะเลยครับ

ประเด็นที่คุณอาชาผยองยกขึ้นมา  น่าตอบมากค่ะ
ธรรมเนียมของนิราศ   หรือบทกวีแบบไหนก็ตามที่กวีแต่งขึ้นมาในการเดินทางไปเห็นอะไรต่อมิอะไร แล้วโยงเข้ามาหานางผู้เป็นที่รัก
ร้อยทั้งร้อยถูกทิ้งอยู่ทางบ้าน
เป็นขนบการแต่งตั้งแต่สมัยกำศรวลศรีปราชญ์ ที่มาเรียกทีหลังว่ากำศรวลเฉยๆ หรือกำศรวลสมุทร   
แต่งกันจนกลายเป็นความนิยม ไม่ได้จากกันจริงกับภรรยาหรอก   จนเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เองก็ยอมรับว่า
แต่งตามประเวณี                 ใช่เมียรักจะจากจริง
นายนรินทร์ธิเบศร์ก็ตามรอยนี้    เพราะนางในนิราศ ไม่มีชื่อ บอกแต่ว่าเป็นภรรยา
เธอก็สวยหยาดเยิ้มและหรูหราเสียเหลือเกิน   ขนาดห่มสไบกรองทอง สวมแหวนเพชร แหวนนพเก้า     
ทั้งที่ตัวจริง เมียมหาดเล็ก อาจจะแค่ห่มผ้าฝ้ายอยู่กับบ้านก็เป็นได้

นางในนิราศของนายมีก็เจริญรอยตามนิราศรุ่นก่อน คือเป็นนางในฝันเสียมากกว่านางตัวจริง
แต่สุนทรภู่  มีนางตัวจริง มีชื่อเสียงเรียงนามพร้อมประวัติด้วยในบางครั้ง  ท่านเอาจริงกับนิราศ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 139  เมื่อ 13 ส.ค. 07, 22:56

กลับมาที่นิราศสุพรรณ  โคลง ๒ บทนี้บอกรายชื่อผู้ร่วมทางของกวี

อนึ่งเจ้าเหล่าเล็กล้วน                ลูกหลาน
หมายมั่งดังพิศถาน                    ถี่ถ้วน
ขอให้ใส่นามขนาน                     ตาบพัด สวัดิเอย
กลั่นชุบอุปถัมป์ล้วน                  ลูกเลี้ยงเที่ยงธรรม์ฯ
 
ลูกชาย ยังอ่อนหัด เห็นสาวๆเข้าก็เขิน ไม่กล้ามอง   
ลูกเอยเฉยเช่นปั้น                    ปูนขาว
สาวเพ่งเล็งหลบสาว                 สิ้นแล้ว
ปะเป็นเช่นพ่อคราว                    ครั้งหนุ่ม  ชุ่มฤา
ตายราบลาภไม่แคล้ว                 คลาดช้านาทีฯ

(๑๗๐) ๏ ลูกลาวสาวรุ่นน้อง       ทักทาย
เรือพี่มีสิ่งขาย                          ค่อยไหว้
ลูกเราเหล่าหนุ่มอาย                 แอบเด็ก  เล็กแฮ
สอนกระษาปน์ตาบให้                  ว่าซื้อหรือจำฯ
 
(๑๗๑) ๏ หนูพัดพลัดพลอดล้อ   เลียนสาว
มีหมากอยากสู่สาว                    ซิ่นแล้ว
ป่านเจ้าข้าวเหนียวขาว                ขายมั่ง  กระมังแม่
ตาบห้ามถามหาแห้ว                  แห่งนี้มีฤาฯ
 
(๑๗๒) ๏ ลาวไปไทยพี่น้อง        มองเมียง
มืดค่ำทำร่ายเรียง                      เราะร้าน
กลั่นชุบอุบอิบเอียง                    กแอมแอบ  แยบเอย
ขอหมากปากสั่นสท้าน               ทดท้อย่อหญิงฯ

เหตุการณ์เล็กๆที่แทรกอยู่ในนิราศทำให้มองเห็นอะไรได้บ้าง?
อ่านมาถึงตอนนี้เกือบจะเปลี่ยนใจ   กลับข้างไปเชื่อคุณอาชาผยองว่า กวีท่านไม่ได้บวช  เป็นชาวบ้านธรรมดา
สมมุติ วาดภาพดู  เรือลำหนึ่งมีพระนั่งไปพร้อมหนุ่มๆลูกและศิษย์อีก ๔ คน
สาวๆเห็นพระนั่งเรือมา  จะกล้ามาเยี่ยมเยียนหนุ่มๆในเรือหัวบันไดไม่แห้งแบบนี้หรือ
แถมหลวงลุงยังขัดใจเสียอีก ว่าสาวๆมาทอดสะพานถึงที่  ลูกชายนั่งเฉยเป็นพระอิฐพระปูน     เป็นพ่อหน่อยไม่ได้  จะฟันเสียให้หมดในพริบตา
ถ้าท่านเป็นพระก็เป็นพระที่โลดโผนเอาการ   ชักจะเอนเอียงเสียแล้วว่าไม่ใช่พระ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 140  เมื่อ 13 ส.ค. 07, 23:32

ยังมีนายรอดอีกคนครับ ตัวต้นคิดขโมยเนื้อจากเสือ

ขบวนนิราศสุพรรณนี่สารพัดจะครึกครื้นเลยครับ แซวสาว เกี้ยวสาว ขโมยเนื้อจากเสือ เล่นน้ำตามแก่ง ฯลฯ

ถึงกวีจะไม่ได้บอกว่าลงไปร่วมวงด้วย แต่ดูแล้วไม่ใช่วิสัยขบวนที่หัวขบวนเป็นพระครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 141  เมื่อ 14 ส.ค. 07, 00:29

แล้วบทนี้ล่ะครับ  ถ้าเป็นพระคุณเจ้าแต่ง  ก็น่าหวาดเสียวอยู่ครับ

ดึกดื่นฝืนเนตรหนั้ง                     ฟังเสียง
แม่ม่ายลองไนเรียง                    แหร่ร้อง
รฦกแต่แม่ม่ายเวียง                    สวาดิว่าง ค้างเอย
เปนม่ายร้ายนักน้อง                    จต้องลองไนฯ

หลวงพ่อฟังเสียงแมลงกลางคืนร้อง  พาลไปคิดถึงสีกาในเวียงแบบเป็นห่วง  อิอิ........  เป็นม่ายร้ายนะน้องสาว  อะไรประมาณนี้  ถ้าเป็นพระจริงๆก็กล้ามากๆล่ะครับ..... ตกใจ

บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 142  เมื่อ 14 ส.ค. 07, 00:55

นึกแล้วว่าอ่านที่อาจารย์ถอดความ จะต้องเจออะไรเด็ดๆ
คำว่า"กระษาปน์" ครับ

จะมีใช้ก่อนรัชกาลที่ 4 ทรงผูกขึ้นเป็นโรงกระษาปน์สิทธิการ หรือไม่
คำว่ากระษาปน์นี้ หมายถึงเหรียญกลมแบนตามอย่างตะวันตก
คนไทยใช้แต่พดด้วงและเบี้ย
นี่กวีท่านพกกษาปณ์ไปเมืองสุพรรณ นับว่าล้ำสมัยมากๆๆๆๆๆ
บันทึกการเข้า
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 143  เมื่อ 14 ส.ค. 07, 03:02

พอดีอ่านเจอครับคุณพิพัฒน์

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2312นั้น ยาโกเบ กอรร์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศสหนีภัย สงครามไปอยู่ประเทศกัมพูชา และเขาได้รวบรวมผู้คนที่นับถือศาสนาคริสต์กลับเข้ามาในแผ่นดินสยามอีกครั้ง ภายหลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้อิสรภาพจากประเทศพม่าได้สำเร็จ และได้ทำพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็น พระเจ้ากรุงธนบุรี สถาปนากรุงธนเป็นราชธานีแล้ว
           ในตอนนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้พระราชทานเงิน 20 กษาปน์ และที่ดินแปลงหนึ่ง บาทหลวงกอร์จึงได้เลือกสถานที่พำนักของชาวโปรุตเกสย่านกุฏีจีน แล้วเชื่อว่า ค่ายซางตาครู้ส อันเป็นจุดเริ่มต้นของ วัดซางตาครู้ส วัดแห่งไม้กางเขนศักดิ์สิทธ์ที่ยืนยงมาจนถึงทุกวันนี้ และเป็นที่มาของขนมฝรั่ง “กุฏีจีน” อันเลื่องชื่อแถบฝั่งธนบุรี

จากเวปนี้ครับ
http://202.57.155.216/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9480000041320
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 144  เมื่อ 14 ส.ค. 07, 08:20

คุณ Bana คะ ดิฉันสงสัยว่าข้อความที่ยกมา แปลผิดหรือเปล่า   อ่านแล้ว ข้อความตอนนี้ ของเดิมเห็นจะไม่ใช่ภาษาไทย แต่เป็นการแปลมาจากบันทึกของวัดซานตาครูส หรือไม่ก็บันทึกของบาทหลวงกอร์
หน่วยเงินในสมัยธนบุรี  น่าจะเป็นบาท  ตำลึง และชั่ง
ควรจะเป็น
"ในตอนนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้พระราชทานเงิน 20 ชั่ง และที่ดินแปลงหนึ่ง"
ก็จะเป็นจำนวนเงินที่น่าจะเป็นไปได้ มากกว่าพระราชทาน 20 เหรียญกษาปน์    ซึ่งไม่รู้ว่ามีมูลค่าเท่าใด
บันทึกการเข้า
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 145  เมื่อ 15 ส.ค. 07, 02:33

อันนี้ต้องยอมแพ้ท่านอาจารย์เทาชมภูครับ  เพราะผมเห็นด้วยครับอาจแปลผิด  แต่มีใช้บ้างหรือเปล่าล่ะครับลักษณะเป็นเหรียญในสมัยกรุงธนฯหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น  อาจเป็นทองคำหรือเงิน  แบบที่เลียนแบบของคนจีน...อันนี้ผมไม่ทราบจริงๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 146  เมื่อ 15 ส.ค. 07, 10:02

ไม่มีความรู้เรื่องประวัติเงินตราสมัยอยุธยา คุณพพ.อาจตอบได้
แต่รู้ว่าสมัยรัตนโกสินทร์ยังใช้เงินพดด้วงกันอยู่  จนต้นรัชกาลที่ ๔ ก่อนจะมาปรับปรุงกันครั้งใหญ่
ต้องไปหาหนังสือประวัติพระยากษาปนกิจโกศล(โหมด อมาตยกุล)มาอ่านค่ะ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 147  เมื่อ 17 ส.ค. 07, 17:24

การใช้เงินเหรียญ มีมาแต่อยุธยาแล้ว แต่ไม่ใช่ในหมู่สามัญชน ใช้เป็นเครื่องแลกเปลี่ยนหน่วยใหญ่
เงินเหรียญที่เป็นหน่วยกลาง เป็นเงินสเปน ที่ผลิตจากเหมืองในเมกซิโก มีส่วนผสมทองคำสูงมาก
ใครๆจึงยอมรับมาเป็นหน่วยกลาง

เมื่อประเทศเราเริ่มมั่งคั่งจากการค้าทางไกลฝั่งอันดามัน
รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นทะลุเวลา จึงทรงสั่งเครื่องจักรปั้มเงินเหรียญเข้ามา
เพื่อจะสร้าง บาทเคอเรนซี่เป็นครั้งแรก
ก่อนกว่านักการเงินใหนๆทั้งโลก จะทันได้คิดถึงเรื่องนี้ (แบ้งค์ชาติอยู่หนาย...มาฟังหน่อย)

เครื่องจักรได้มาจากอังกฤษ แต่ช่างที่มาด้วย ตกน้ำตายด้วยความเมาทั้งสองคน
โรงงานก็เลยกองอยู่อย่างนั้น จนนายโหมดมาดูๆ แล้วประกอบใช้งานได้
เจ๋งจริงๆ...(วิศวกรรมสถานอยู่หนาย...มาอ่านหน่อย)
พระราชทานนามว่าโรงกษาปณ์สิทธิการ ดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกที่คำนี้ ปรากฏขึ้นในภาษาไทย

ตายละซี....นิราสุพงสุพันอะไรนี่
มันของปลอมนี่หว่า......
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 148  เมื่อ 17 ส.ค. 07, 18:27

ก่อนจะตั้งโรงกษาปณ์ เราใช้เงินพดด้วง

เงินสมัยนั้น ไม่ได้เป็นระบบเงินตราอย่างในปัจจุบันครับ เพราะเงินพดด้วงทำจากเงินแท้ๆ มีมูลค่าตามน้ำหนักเงิน เงินหนึ่งบาทก็คือเนื้อเงินหนักหนึ่งบาทเอามาขึ้นรูปครับ

สมัยร.๔ ทรงตั้งโรงกษาปณ์ แต่ผมเข้าใจว่าเหรียญที่ผลิตออกมาใช้เมื่อแรก ก็ยังมีมูลค่าตามเนื้อเงิน เพียงแต่ผลิตออกมาเป็นเหรียญเท่านั้น

มิได้มีลักษณะเป็นระบบเงินตราเหมือนตั๋วแลกเงินที่เห็นในหนังจีนครับ

กลับมาที่นิราศสุพรรณ เหรียญกษาปณ์อย่างแบนนี้ไม่มีปัญหาครับ เป็นของสมัย ร.๔ แน่ แต่คำว่ากษาปณ์นั้นเป็นคำแขกอยู่แล้ว ร.๔ ท่านไม่ได้สร้างจากสูญญากาศครับ

ถ้าจะตีความว่ากษาปณ์ในที่นี้หมายถึงเงิน (ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเหรียญกลม) ผมว่าไม่น่าจะผิดกติกาอะไรนะครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 149  เมื่อ 17 ส.ค. 07, 18:48

ก่อนจะเถียงกันเรื่องกระษาปน์ต่อไป     ไปเปิดหนังสือ พบว่าในต้นฉบับเดิมเขียนว่า

สอนกระสาบตาบให้              ว่าซื้อหรือจ๋า

กรมศิลป์ แปล กระสาบ ว่า กระซาบ  หมายถึงกระซิบกระซาบ
คือกระซิบกระซาบสอนหนูตาบ ให้ถามสาวว่าจะซื้อหรือจ๊ะ

ไม่เคยได้ยิน กระซาบ สะกดว่ากระสาบ
ในนิราศสุพรรณ คงตัวสะกดแบบเดิม ไม่ได้ชำระให้เป็นภาษาปัจจุบันอย่างเรื่องอื่นๆ   
สังเกตว่าใครก็ตามที่จดเรื่องนี้ลงสมุดไทย สะกดคำแบบหูได้ยินเสียงไหนก็สะกดไปตามนั้น  ไม่มีพจนานุกรมมากำกับ
พจนานุกรมยังไม่เกิดในสมัยนั้น

กระซาบกับกระสาบ วรรณยุกต์คนละเสียง   ดิฉันไม่คิดว่าเป็นคำเดียวกัน
เว้นแต่ว่าสมัยนั้นเขาจะพูดกัน  ว่า  กระสิบกระสาบ แทนกระซิบกระซาบ
ก็เลยถอดออกมาว่า กระษาปณ์ 
หมายความว่า กวีท่านสอนถึงเงินตรา ซื้อขาย  ให้นายตาบถามสาวว่าจะซื้อของหรือจ๊ะ

ถ้าผิด ก็รับโทษทัณฑ์โดยดี ค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 14
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.069 วินาที กับ 19 คำสั่ง