เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 14
  พิมพ์  
อ่าน: 68894 นิราศสุพรรณ
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 08 ส.ค. 07, 17:10

ส่วนที่ทำให้เชื่อว่ากวีไม่ได้ถือเพศภิกขุอยู่ย่านบ้านทึงดังนี้ครับ

จัดแจงแต่งตบะเหลื้อม         ลายทอง
เทียรทูบท่วยแก้วรอง          ดอกไม้
ลูกพลับกับกระเทียมดอง      ถวายคนะ พระเอย
ย่ามร่มสมภารได้              รับพร้อมน้อมถวายฯ

ตวันเยนเหบพระพร้อม         ล้อมวง
ตีปะเตะตะกร้อตรง             คู่โต้
สมภารท่านก็ลง                เล่นสนุก ขลุกแฮ
เข่าค่างต่างอวดโอ้             อกให้ใจหายฯ

อยุดกระกร้อฬ่อไก่ตั้ง         ตีอัน
ผ้าพาดบาดเหล็กพนัน         เหน็บรั้ง
ไก่แพ้แร่ขบฟัน                ฟัดอุบ ทุบเอย
เจ้าวัดตัดเรือตั้ง                แต่งเหล้นเยนใจฯ

เสียเทียรเสียทูบซ้ำ            เสียสัทา
เสียที่มีกระมลมา              โนศน้อม
เสียดายฝ่ายศาสนา            สัมนะ พระเอย
เสียน่าตาหูพร้อม              เพราะรู้ดูเหน

เมื่อกวีขัดหูขัดตากับพฤติกรรมพระวัดนี้ก็เลยหลบไปนอนที่บ้านทึง เจอตายายผู้เฒ่าดังนี้
เหมือนรู้ผู่เถ้าท่าน             ทังสอง
เมียนากนามผัวทอง           ผ่องแผ้ว
มาหาพ่าขาวของ              คำนับ รับเอย
ท่านช่วยอวยภรแล้ว           เล่ารู้บูราณ

พยายามตีความตรงนี้แล้วก็งงว่า กวีให้ผ้าข้าวของคำนับรับตายาย หรือตายายเอาผ้าข้าวของมาให้กวี แล้วกวีคำนับรับ
แต่ดูบาทต่อไป "ท่านช่วยอวยภรแล้ว  เล่ารู้บูราณ" ดูเหมือนกวีจะเป็นคนให้ผ้ามากกว่า (แจกผ้าเหมือนกวีนิราศเมืองเพชร)

ยิ่งมีตอนต่อไปว่า
ได้ครูผู่เท่าทั้ง                 ยายตา
สมมุติดุจะเทวดา              บอกเหล้า
ทายทักลักขณะรา             ศรีทั่ว ตัวเอย
จอดน่าท่าผู่เถ้า                ท่วนห้าราตรีฯ

ท่านตายายคงไม่มาดูโหงวเฮ้งให้พระนะครับ ชอบกลเกินไป

หากก่อนจะจากกันในเช้าวันรุ่งขึ้น
เรือออกนอกท่าบ้าน           ท่านยาย
ย่อไว่ไห้สอื้นฟาย              มูกย้อย
เชาบ้านท่านทังหลาย          แลสลด หมดเอย
ไห้มั่งทังใหญ่น้อย             นั่งผร้ำน้ำตาฯ


ยังชวนฉงนว่าท่านยายมาย่อไหว้กวี หากกวีไม่ได้เป็นพระ คงต้องเป็นขุนนาง หรืออยู่ในสถานะพิเศษที่เป็นที่นับถือของชาวบ้านครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 08 ส.ค. 07, 18:04

เหตุผลของคุณอาชาผยองก็มีน้ำหนักมากเสียด้วย
ดิฉันลองมองต่างมุมดูก่อนดีกว่า ว่าพอจะเอาน้ำหนักด้านเป็นพระ คานได้ไหม

จัดแจงแต่งตบะเลื่อม         ลายทอง
เทียนธูปถ้วยแก้วรอง          ดอกไม้
ลูกพลับกับกระเทียมดอง      ถวายคณะ พระเอย
ย่ามร่มสมภารได้              รับพร้อมน้อมถวายฯ

ตะวันเย็นเห็นพระพร้อม         ล้อมวง
ตีปะเตะตะกร้อตรง             คู่โต้
สมภารท่านก็ลง                เล่นสนุก ขลุกแฮ
เข่าข้างต่างอวดโอ้             อกให้ใจหายฯ

โคลงบทแรกแสดงว่าท่านขุนนางกวีเตรียมข้าวของมาไหว้พระวัดนี้ ทั้งวัด ตั้งแต่สมภารลงไปถึงลูกวัด  น่าจ้ะเป็นการเคารพกันตามสายคณะสงฆ์
การเล่นตะกร้อนั้น  ถ้าหลวงลุงกวีไม่ได้บวช  พระท่านจะโชว์ให้ชาวบ้านดูทำไม  แต่นี่ท่านคงเห็นเป็นพระด้วยกัน  ก็ให้ดูตามสบาย  จะเข้าร่วมวงตะกร้อด้วยก็ไม่รังเกียจ
แต่ท่านขุนนางกวี ใจหายตกอกตกใจ  ไม่เคยเห็น   ถือว่าเสียหายอย่างมากที่พระเล่นตะกร้อ
เลยไม่เอาด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 08 ส.ค. 07, 18:15

เหมือนรู้ผู้เฒ่าท่าน             ทั้งสอง
เมียนากนามผัวทอง           ผ่องแผ้ว
มาหาผ้าขาวของ              คำนับ รับเอย
ท่านช่วยอวยพรแล้ว           เล่ารู้บูราณ
การให้ผ้าขาวเห็นทีท่านขุนนางกวีเป็นฝ่ายให้  เพราะผู้เฒ่าทั้งสองเป็นฝ่ายอวยพร  ที่จริงไปพักบ้านเขาตั้งห้าคืน เอาของติดไม้ติดมือไปให้ก็ถือว่าเป็นมารยาทตามปกติ
ดิฉันวาดภาพว่า เรือที่ท่านขุนนางกวีนั่งไป มีตัวท่านบวชพระอยู่รูปเดียว
ส่วนลูกชายและคนอื่นๆที่ไปด้วย เป็นคฤหัสถ์ทั้งหมด
เพราะฉะนั้นการต้อนรับก็เลยกึ่งๆต้อนรับชาวบ้าน   แตกต่างจากการต้อนรับถ้าหากว่าทั้งลำเรือเป็นพระทั้งหมด

เรื่องดูลักษณะ  น่าจะดูกันหมดทั้งแก่และหนุ่มที่นั่งเรือไปคราวนี่นะคะ   ท่านขุนนางกวียอมให้ดูก็ไม่เห็นเป็นไรนี่  เพราะผู้เฒ่าก็ดูน่านับถือ  อายุตั้งร้อยกว่าปี
บทสุดท้ายที่ว่าท่านยายไหว้นั้น ถ้าท่านขุนนางบวชพระอยู่  ก็ลงตัวพอดีว่าทำไมท่านยายไหว้คนที่อ่อนกว่าเป็นกอง
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 08 ส.ค. 07, 19:22

ตอบคุณเครซี่เรื่อง "ถือบวช"
ถ้า"บวช"เป็นการนุ่งขาว ถือศีลแปด ก็แปลว่านายคนนั้นมีศรัทธาแก่กล้าในพระศาสนา ถูกไหมครับ
ขนาดแก่แล้วยังทำตนอย่างนั้น
แล้วนายคนนั้นเอาจิตใจของใครมาหมกมุ่น อวดอ้างประสบกามของตนเป็นโหล
น่าไม่อายราวกะเดียรถีย์

ใจผมคิดว่าแกเป็นพระสงฆ์ที่ ถ้าอยู่ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธน หรือรัชกาลที่ 1 เป็นได้ไปเกิดใหม่แน่ๆ
ในรัชกาลที่ 3 ต่อรัชกาลที่ 4 พระอลัชชีมีมาก
ประกาศรัชกาลที่ 4 ก็ทรงบ่นพวกนี้ไว้โต้งๆ
แม้จนอาลักษณ์คู่พระทัย ยังทรง"หยอก"แรงๆ เห็นๆ กันอยู่
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 ส.ค. 07, 19:25 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 08 ส.ค. 07, 21:43

เรื่องผู้หญิงของกวีนิราศสุพรรณ ผมคิดว่าถ้ากวีเป็นพระ คงไม่งามแน่ๆ และก็ต้องเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด หากพระรูปเดียวกันนี้จะรับไม่ได้กับพฤติกรรมพระเตะตะกร้อ

แต่ถ้ากวีเป็นฆราวาส ธรรมของผู้ครองเรือนนั้นต่างกันไปครับ ยิ่งในสมัยนั้น การมีเมียมากยังไม่ใช่เรื่องผิดด้วยซ้ำไป อย่าว่าแต่เรื่องการมีคนรักเก่ามากหน้าหลายตา

แต่เรื่องที่คุณพิพัฒน์พูดถึง "ประสบกาม" นี่ก็น่าสนใจนะครับ ในนิราศสุพรรณนี้โคลงบทเดียวกัน คนละคนอ่าน ก็ตีความต่างกันไป ผมอ่านฉบับอ.ล้อมตีความเป็นเรื่องอีโรติก อ.เทาชมพูกลับตีความเป็นเรื่องโรแมนติกได้

เป็นเสน่ห์ของบทกวีเช่นนี้เอง
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 08 ส.ค. 07, 21:53

บทไหนคะที่อ.ล้อมตีความเป็นเรื่องอีโรติค?

ดิฉันมองคนแต่งนิราศสุพรรณว่าเป็นศิลปิน       ไม่ว่าจะอยู่ในผ้าเหลืองหรือโจงกระเบน  ท่านก็เป็นของท่านยังงี้แหละค่ะ
อ่านนิราศทั้งหมด  มีเรื่องไหนตอนไหนที่สุนทรภู่เห็นตัวเองทำอะไรไม่ดีบ้าง   มีแต่คนอื่นไม่ดีทั้งนั้น
- ทั้งบ้านทั้งวังวัดเป็นศัตรู
- จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง  ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 08 ส.ค. 07, 22:22

บาทสุดท้ายบทนี้ไงครับ อ.ล้อมตีความเป็นอีโรติกเรียบร้อย

สงสารสายเนตรน้อง        นองชล
ลเนตรพี่เพียงฝอยฝน       เฟ่าน้อง
จวนรุ่งร่ำสอื้นจน            จำจาก แจ่มเอย
คราวเคราะเพราะน้องต้อง   พยุกล้าสลาตันฯ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 09 ส.ค. 07, 01:24

หามิได้ครับท่านอาจารย์เทาชมภู  ที่ผมเกริ่นตอนแรกว่าละม้ายนิราศเมืองเพชรนั้น  สืบเนื่องจากการวิเคราะห์ของอาจารย์ที่ว่า  กวีที่แต่งนิราศเมืองเพชรแต่งกลอนที่มีเนื้อหาไม่น่าที่จะเป็นผู้ครองเพศบรรพชิตจะแต่งเพราะเกี่ยวพันกับอิสตรีมากเกินไป  แต่ถ้าเป็นเช่นเดียวกันกับนิราศสุพรรณ  เราก็คงจะมองผ่านบทวิเคราะห์ของ อ.ล้อม ที่ว่ากวีที่แต่งนิราศเมืองเพชรเป็นพระไปไม่ได้นะครับ  ห้วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการถวายพระอักษรเจ้านายก็ดูน่าจะลงตัวกับที่คุณพิพัฒน์ว่าท่านกวีบวชถึง 18 พรรษา
ขาวอื่นหมื่นสิ่งล้วน                      นวลขาว
แพรพ่าฟ้าดินดาว                        ดุจพร้อง
ขาวดูครู่เดียวคราว                       หนึ่งเบื่อ  เหลือแฮ
ขาวบ่เบื่อเนื้อน้อง                        น่วมนิ้วผิวขาวฯ

อืมมม  บทนี้บวชอะไรก็ตามไม่งามแน่ครับ  เพราะถือบวช  จะเป็นนุ่งขาวหรือห่มเหลือง  เป็นอนาคาริกบุคคลครับ  เป็นผู้ถือเพศพรหมจรรย์ไม่ข้องในโลกีย์วิสัยครับ  นี่ออกจะติดเรทนิดหน่อย
ลุดลชนบทบ้าน                           ขนมจีน
โรงเจ๊กตั้งริมตีน                           ท่าน้ำ
นั่งนับทรัพย์สิ่งสิน                        สยายเพ่า  เล่าแฮ
เมียช่างสางสลวยล้ำ                     สลับผู้หูหนางฯ

เอาไปเอามาล่องเรือชมภรรยาชาวบ้านซะงั้น  เป็นหลี่ไป๋จะไม่ว่าซักคำ

ถึงรยะสระโปยชหญ้าน                     บ้านลาว
ผ้านุ่งถุงทบยาว                              ย่างย้าย
กลีบกลับวับแวมวาว                        แวบแวบ  แทบแฮ
เด็กว่าฟ้าแลบชม้าย                        มุ่งค้อนงอนงามฯ

 นี่หรือปล่าวครับคุณ CH  ที่ว่าจะเรทอาร์นิดหน่อย ........... ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 09 ส.ค. 07, 19:26

คุณ Bana ว่ามาก็มีน้ำหนัก  ช่วยเพิ่มน้ำหนักทางคุณอาชาผยองให้หนักยิ่งขึ้นไปอีก
ผู้ที่ศึกษาเรื่องสุนทรภู่ สงสัยทำนองเดียวกันมามากแล้ว   
แต่ในเมื่อยึดพระวินิจฉัยสมเด็จกรมพระยาดำรงฯเป็นหลัก  ก็เชื่อกันว่าสุนทรภู่บวชเป็นพระเมื่อแต่งนิราศสุพรรณ
ไม่มีหลักฐานว่าท่านสึกตอนไหน
ดิฉันขอวางตรงนี้ไว้ก่อนจนกว่าจะเจอโคลงบทใหม่ที่ทำให้เปลี่ยนใจ  ย้ายข้างมาฝ่ายคุณอาชาเสียเอง
มาอ่านโคลงบทนี้ดีกว่า

เอ็นดูหนูพี่น้อง                             สองสาว
คิดใคร่ได้เลี้ยงลาว                        ลูกสะใภ้
แต่ลูกผูกรักชาว                            วังเล่า เจ้าเอย
จะเจ็บเล็บเขาไว้                            ข่วนร้ายคล้ายเสือฯ

ใครที่อ่านนิราศเมืองเพชร    คงจะจำความทำนองนี้ได้    ท่านขุนนางกวีเห็นแม่ค้าทับทิมชาวเมืองเพชรก็นึกอยากขอเป็นสะใภ้
โคลงบอกอะไรเราได้บ้าง
๑) บอกให้รู้ว่านิราศสุพรรณกับนิราศเมืองเพชร แต่งไม่ห่างเวลากันนัก   
ลูกชายของเจ้าของเรื่องยังอยู่ในวัยหนุ่ม พร้อมจะมีเมียได้แล้ว แต่ยังไม่มี
๒) คุณพ่อคนเดียวกัน  เห็นสาวชาวบ้านหน้าตาดีหน่อยเป็นไม่ได้ อยากได้เป็นสะใภ้
น่าจะเป็นนิสัยของคุณพ่อ  ที่ไม่รังเกียจสาวชาวบ้าน 
อาจจะถือว่าลูกชายมีเมียกี่คนก็ได้   เพราะจากที่บรรยาย คุณพ่อก็เกี่ยวข้องกับสาวตจว. ระบุชื่อไว้หลายคนด้วยกัน
ในโคลงข้างบนนี้ บอกเพิ่มอีกหน่อยว่าลูกชายรักกับสาวชาววัง  ในนิราศเมืองเพชรไม่ได้บอก
ถ้าเป็นลูกชายคนเดียวกันคือหนูพัด   เป็นไปได้ไหมว่าในนิราศสุพรรณ หนูพัดยังไม่มีแฟนชาววัง   พ่อจึงไม่เอ่ยถึง
ถ้าเป็นอย่างนี้จริง   นิราศเมืองเพชร"อาจ" แต่งก่อนนิราศสุพรรณ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 09 ส.ค. 07, 20:31

ขอเลี้ยวออกนอกนิราศสุพรรณหน่อยค่ะ
ไปค้นกูเกิ้ล  เจอข้อความตอนหนึ่ง จากมติชนบุ๊ค ว่า
http://www.matichonbook.com/newsdetail.php?gd=44581
สุจิตต์ วงษ์เทศ" ช่วยตอกย้ำว่าสุนทรภู่ มิใช่กวีไส้แห้งยากจนร่อนเร่พายเรือแน่ แม้จะไม่มีเลือดสีน้ำเงินหรือเชื้อเจ้า แต่ก็ได้เกิดในรั้วในวัง เป็นปัญญาชนมีการศึกษาดี เรียกได้ว่าเป็นชนชั้นกระฎมพีอย่างที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นิยามว่า "มหากวีกระฎุมพี"

"สุนทรภู่นี่เป็นกระฏุมพี แต่เป็นฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายก้าวหน้า ดูอย่างพระอภัยมณี มีใครแต่งได้ขนาดนั้น จินตนาการไปครึ่งโลก แสดงว่าหนึ่งต้องอ่านครบภาษาฝรั่ง คบพวกหมอสอนศาสนาและศึกษาชาวต่างชาติหมด แล้วขบถมั้ยให้พระเอกเป่าปี่ ไม่ได้เรียนวิชาอาวุธและยังให้นางวารีเป็นผู้หญิงรูปชั่วตัวดำแต่ฉลาด วางแผนสงครามให้พระอภัยมณีหมด.. แสดงว่าท่านมีความคิดก้าวหน้าที่สุดในสมัยโน้น..


ดิฉันไม่ค่อยเห็นด้วยกับอาจารย์นิธิ เรื่องนิยามสุนทรภู่ว่าเป็น มหากวีกระฏุมพี   ถ้ากระฎุมพีมีความหมายแบบ bourgeoisie ของฝรั่ง    ชนชั้นที่ใกล้เคียงที่สุดในสังคมไทยก็คือพวกคนจีนที่กลายมาเป็นคนไทยเชื้อสายจีน
แต่สุนทรภู่เป็นชาววัง  ไม่ได้ค้าขาย เป็นขุนนาง  เรียกว่าเป็นศักดินาก็ยังได้
ส่วนเรื่องซ้ายก้าวหน้านั้นก็ไม่เห็นด้วย     ความคิดเรื่องพระอภัยมณีหรือนางวาลี   ถ้าใครอ่านเกร็ดพงศาวดารจีนสมัยรัชกาลที่ ๑-๔ จะเห็นว่า มีหลายตอน ได้แรงบันดาลใจมาจากพงศาวดารจีน  ไม่ว่าจะเป็นวิชาเป่าปี่แบบเตียวเหลียง ในไซ่ฮั่น
หญิงที่มีฝีมือรบและสติปัญญาเข้มแข็ง  ก็อยู่ในเรื่องจีนหลายเรื่อง
อาลักษณ์ต้องรู้เรื่องจีนพวกนี้  เผลอๆสุนทรภู่จะรวมอยู่ในกลุ่มกวีที่ช่วยกันเรียบเรียงเรื่องจีน   เพราะอาลักษณ์มีหน้าที่ รับผิดชอบเรื่องพวกนี้
นี่คือมุมมองที่แตกต่างค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 09 ส.ค. 07, 20:38

http://piwdee.net/teacher2.htm
สุนทรภู่
ประวัติย่อ เกิด - ตาย

          สูจิบัตรถิ่นฐานบ้านเกิดสุนทรภู่ จัดทำโดย ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ มติชน และข่าวสด บอกเล่าถึงประวัติของรัตนกวีนามสุนทรภู่ไว้ว่า

          สุนทรภู่ มีชีวิตวนเวียนอยู่ใน "วัง" กับ "วัด" เริ่มตั้งแต่เกิด-วังหลัง สมัยรัชกาลที่ 1 โต - วังหลวง สมัยรัชกาลที่ 2 บวช - วังหลวง สมัยรัชกาลที่ 3 และตาย - วังหน้า สมัยรัชกาลที่ 4

เกิด-วังหลัง สมัยรัชกาลที่ 1

     26 มิถุนาย 2329 (ตรงกับจันทร์ ขึ้นค่ำ 1 เดือน 8 ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลา 2 โมงเช้า ในแผ่นดินรัชกาลที่ 1)

      พ.ศ. 2329-2352 (อายุ 1-23ปี) ตั้งแต่กำเนิด เมื่อต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2325 - 2352) จนตลอดสิ้นแผ่นดิน ในระยะนี้สุนทรภู่ เป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง

      พ.ศ.2349 กรมพระราชวังหลังทิวงคต สุนทรภู่ได้เป็นมหาดเล็กของพระองค์เจ้าปฐมพงศ์ (ลูกเธอในกรมพระราชวังหลัง) ขณะทรงผนวชอยู่วัดระฆังฯ

      พ.ศ.2350 อายุราว 21 ปี ตอนต้นปีไปหาบิดาที่เมืองแกลง แต่งนิราศเมืองแกลง ตอนปลายปีตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมพงศ์ ไปนมัสการพระบาท แต่นิราศพระบาท (เล่ากันว่า สุนทรภู่แต่งนิทานโคบุตร ก่อนไปเมืองแกลง และแต่งเรื่องลักษณวงศ์ ก่อนเข้ารับราชการ)

โต - วังหลวง สมัยรัชกาลที่ 2

      พ.ศ. 2352-2367 (อายุ 23-38 ปี) ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เสวยราชย์ จนถึงสวรรคต (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2352 - 2367) สุนทรภู่เข้ารับราชการเป็นที่โปรดปราน และได้เป็น ขุนสุนทรโวหาร ในกรมพระอาลักษณ์ (ยังเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับตำแหน่งในกรมพระอาลักษณ์) ได้รับพระราชทานให้อยู่เรือนแพ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงท่าช้างวังหลวง

      เล่ากันว่า ช่วงนี้สุนทรภู่แต่เรื่องสิงหไกรภพ (ตอนต้น) แต่งเรื่องพระอภัยมณี (ตอนต้น) และแต่งเสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม

บวช - วังหลวง สมัยรัชกาลที่ 3

      พ.ศ.2367-2385 (อายุ 38 - 56 ปี) ตั้งแต่บวชจนสึก รวม 18 ปี อยู่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2367-2394)

      พ.ศ.2371 อายุ 42 ปี ไปอยุธยา แต่งนิราศภูเขาทอง

      พ.ศ.2372 อายุ 43 ปี เจ้าฟ้ากลางกับเจ้าฟ้าปิ๋ว มาเป็นลูกศิษย์ แต่งเพลงยาวถวายโอวาท

      พ.ศ.2374 อายุ 45 ปี ไปเพชรบุรี แต่งนิราศเมืองเพชร

      พ.ศ.2375 อายุ 46 ปี ไปอยุธยา แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้า (สำนวน "เณรหนูพัด")

      พ.ศ.2379 อายุ 50 ปี ไปสุพรรณบุรี แต่งนิราศสุพรรณ (คำโคลง)

      พ.ศ.2380 อายุ 51 ปี ต่อเรื่องพระอภัยมณี

      พ.ศ.2383 อายุ 54 ปี ต่อเรื่องสิงหไกรภพ

      พ.ศ.2384 อายุ 55 ปี ไปพระประธม (นครชัยศรี) แต่งนิราศพระประธม

      พ.ศ.2385 อายุ 56 ปี แต่งรำพันพิลาป แล้วลาสิกขา

      ระหว่างบวชเป็นพระอยู่วัดเทพธิดาราม ได้แต่งกาพย์ เรื่องพระไชยสุริยา และอาจได้แต่งนิราศอิเหนา เห่กล่อมพระบรรทม และพระอภัยมณี ส่วนเห่เรื่องอื่นๆ อาจแต่งแต่ในรัชกาลที่ 2

ตาย วังหน้า/วังเดิม สมัยรัชกาลที่ 4

      พ.ศ.2385-2398 (อายุ 56-69 ปี) อยู่ในช่วงปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 3 จนถึงต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2394-2411) เมื่อสึกแล้ว สุนทรภู่ได้ไปอยู่กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชวังเดิม (ขณะนั้นดำรงพระยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ แต่เรียกกันเป็นสามัญว่า "เจ้าฟ้าน้อย")

      เมื่อรัชกาลที่ 4 เสวยราชสมบัติ "เจ้าฟ้าน้อย" ได้รับบวรราชาภิเษก ได้ทรงแต่งตั้งให้สุนทรภู่ เป็นพระสุนทรโวหาร อาลักษณ์ในกรมพระราชวังบวรฯ เข้าใจว่าได้แต่งเรื่องสวัสดิรักษา และเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร

      สุนทรภู่ ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.2398 อายุ 69 ปี มีผู้จำได้ว่า ถึงแก่กรรมที่บ้านสวนบางระมาด ในคลองบางกอกน้อย แล้วทำศพที่วัดชิโนรสฯ ริมคลองมอญ ธนบุรี
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 09 ส.ค. 07, 22:10

"พ.ศ.2384 อายุ 55 ปี ไปพระประธม (นครชัยศรี) แต่งนิราศพระประธม"

ต้องขอบ่นอีกละ  ความจริงบ่นไปก็เท่านั้น เพราะผมเชื่อหลักฐานคนละด้าน ต่างจากทุกคน
เอาแค่ประโยคบน ประโยคเดียวพอ

ท่านอ่านกลอนกัน เหมือนไม่ได้อ่าน
ถ้าสุนทรภู่บวชตั้งแต่ สิ้นรัชกาลที่ 2 มาถึงปีนี้ ก็ปาเข้าไป 17 ปีต่อเนื่อง เอาเวลาตรงใหน ไปติดพันสาวแข่งกะคนทรง
นิราศเรื่องนี้ ผมอ่านแล้วได้ความว่า เป็นการรำพรรณถึงสาวคนหนึ่งเป็นหลัก
สำนวนส่อว่า เพิ่งจะอกหักหรือผิดหวังมาหมาดๆ

ก้อท่านบวชติดต่อกัน 17 ปี ทำอย่างที่ผมเข้าใจได้อย่างไร

เว้นแต่ว่า ผมอ่านกลอนไม่รู้เรื่อง ซึ่งอาจจะจริงแฮะ
(ต้องขออภัยที่ออกนอกสุพรรณ...มันเง็งงงครับ)
บันทึกการเข้า
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 09 ส.ค. 07, 22:31

ในประเด็นนี้ผมเห็นด้วยกับคุณพิพัฒน์ครับ  อยู่แต่ในรั้วในวังแล้วก็บวชซะนาน  จะเอาเวลาที่ไหนไปมีสาวเรี่ยราดกลาดเกลื่อนไปหมด  แต่ละนางก็ดูจะลึกซึ้งซะด้วยแบบว่าใช้เวลา  เพราะแต่บุราณการมีสัมพันธ์ก็ต้องใช้เวลาแต่งเพลงยาวกันนานแน่ๆ  แต่ยังไม่กล้าชี้ชัดแบบคุณพิพัฒน์ครับเพราะมันเป็นการปฏิวัติความเชื่อเรื่องชีวประวัติและผลงานท่านเลยทีเดียว

เขาเขียวโขดคุ่มขึ้น                     เคียงเคียง
ร่มรื่นรุกขรังเรียง                        เรียบร้อย
โหมหัดหิ่งหายเหียง                    หัดหาด แฮ่วแฮ
ย่างใหญ่ยอดยื่นย้อย                  โยกโย้โยนเยนฯ

บทนี้เป็นบทเอกของนิราศเรื่องนี้ทีเดียว  แต่ละบาทใช้คำพ้องกันและมีอีกบทที่แต่งได้สนุกเหมือนกัน

เสลาสลอดสลับสล้าง                 สลัดได
สอึกสอะสอมสไอ                     สอาดสอ้าน
มแฝ่มฟาบมเฟืองมไฟ                มแฟบมฝ่อ พ่อเอย
ตขบตขาบตเคียนตคร้าน             ตคร้อตไคร้ตเคราตครองฯ
 
ส่วนบทนี้ก็อาร์นิดหน่อย

ดึกดื่นฝืนเนตรหนั้ง                           ฟังเสียง
แม่ม่ายลองไนเรียง                          แหร่ร้อง
รฦกแต่แม่ม่ายเวียง                          สวาดิว่าง ค้างเอย
เปนม่ายร้ายนักน้อง                          จต้องลองไนฯ

เห็นด้วยอีกครับถ้าดูตามผลงาน  ท่านเป็นคนมีอันจะกินเลยล่ะครับ  ถ้าพูดตามสมัยก็ไปมาแบบไฮโซอ่ะครับ........ ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 10 ส.ค. 07, 01:49

บ่นแล้ว ก็ขอบ่นให้จบ

ถ้าเราเชื่อว่าสุนทรภู่ บวช 18 ปีรวด ไม่ได้สึกกลางทาง
คือตั้งแต่ปีวกอออกขาดราชกิจ 2367 มาถึงปีขาลสงสารวัด 2385
เราก้อต้องเอาข้อมูลนี้ตั้งให้มั่นสิครับ ไม่งั้นจะวินิจฉัยไปหาสรรพาวุธชนิดใด

เอาละ คนบวชเป็นพระ เป็นคนชั้นสูงด้วย
(ไอ้ทริสะดีกระดุมผีนั่นน่ะ ผมไม่รับประทานมาแต่วันปรุงเสร็จแล้ว มีเวลาจะสับสักครั้ง)
สูงแค่ใหน ก็ขนาดเป็นครูสอนเจ้าฟ้าสามพระองค์ละกันล่ะ
ความรู้มากแค่ใหน ก็ไปถอดออกมาจากเพลงยาวถวายโอวาทได้ หมดหอหลวงแหละครับ ที่แกอ้างไว้
คนอย่างนี้หรือ ที่มาแต่งนิราศแถวๆ สะดิอทั้งๆ ห่มผ้าเหลือง
มันจะไม่ดูถูกระบบสติปัญญาของคนไทยกันไปหน่อยหรือ

สุนทรภู่ท่านโลดโผนหนักในพระอภัยมณี แต่ผมไม่เห็นว่าจะหยาบโลนเท่ากะนิราศสุพรรณ
แกอวดโอ่ ก็ในเชิงกลอนมิใช่ในเชิงกาม
แล้วก็ชอบอ้างนักว่าพระอภัยมณีตอนต้น แต่งครั้งรัชกาลที่สอง
หลักฐานสักชิ้นก็ไม่มี นอกจากอ้างตามพระนิพนธ์สมเด็จดำรง
ทำไมไม่อ้างสุนทรภู่ ในเมื่อกลอนตอนต้นเรื่อง ที่สามพราหมณ์ชมเมือง
เป็นเมืองบางกอกครั้งรัชกาลที่ 4
รู้ได้อย่างไร รู้ได้ก็แกบอกไว้เองว่ามีตึกมีถนน ก็ถนนในกรุงเทพ มีแต่เมื่อไรเล่า
ถ้าไม่ใช่รัชกาลที่4
แล้วแกก็อ้างถึงสนามหน้าจักรวรรดิ ..."ที่หัดพล"

ก็เราเคยมีการหัดพลหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์แต่สมัยใดเล่า
ถ้าไม่ใช่รัชกาลที่ 4

จริงอยู่ การหัดทหารแบบสากล ที่ต้องมีการ"หัดพล"นั้น เกิดครั้งรัชกาลที่ 3
แต่ทรงโปรดให้จมื่นไวยวรนาถ (ท่านช่วง) รับไปจัดการ ก็เลยหัดกันที่บ้านตระกูลบุนนาค
พอถึงรัชกาลที่ 4 ทรงวางกุศโลบาย ถอนทหารเหล่านี้ มาให้พระยาบุรุษ ลูกเลี้ยงเป็นผู้ควบคุมแทน
ก็ไม่เห็นจะนำข้อมูลตรงนี้มาใช้
ดั้นนน...ไปเข้ารกเข้าพง ประมาณว่าท่านภู่ เป็นยูลส์เวิร์น เขียนอนาคตได้  ...5555555
ตีความกันอย่างนี้ เด็กถึงหนีวรรณคดี (กระมัง)

ผมขอยืนยันนั่งยันเดินยันว่า พระอภัยมณีแต่งตอนต้นในรัชกาลที่ 4
กองทัพฝรั่งอะไรทั้งหลาย ท่านก็จับเจ้าเบาริง โตนเซนฮาริส ฯลฯ มาสวมบท
หมายความว่า ผมจะบอกว่าสุนทรภู่ตายหลังสนธิสัญญาเบาริง แทนที่จะก่อน 1 ปี
อย่างที่เชื่อกันมา

ครับ ผมเชื่อเช่นนั้น ทำไมเชื่อเช่นนั้น...จะเล่าให้ฟัง
พระยาปริยัติฯ เขียนประวัติสุนทรภู่ราว 2456 ต้นรัชกาลที่ 6 บอกว่า
ใครคนหนึ่ง เล่าให้ฟังว่าทันเห็นสุนทรภู่ตีหลาน เพราะหลานมันเกเร
อีกคนบอกว่าเคยรู้จัก ได้ไปขมาศพด้วย

ตรงนี้ต้องนับปี ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์ของเราท่านไม่ชอบ
ท่านไม่ชอบเราต้องรีบประเคน....กริ๊กกกๆๆๆๆ

ถ้าเราต้องขอขมาศพใคร หมายความว่า เราต้องมีกิจธุระที่อาจจะค้างคากันกับผู้ตาย
เราคงไม่อายุยี่สิบแล้วไปขมาศพคุณตาข้างบ้านเป็นแน่ อย่างนั้นไม่เรียกขมา
แปลว่าคนที่เคยขมาศพสุนทรภู่ แล้วมาเล่าให้ท่านเต้าคุณฟัง
อายุต้องไม่ไกลห่างสุนทรภู่นัก
เอ้า....ผมให้ห่างกันยี่สิบปีเลย (ซึ่งน่าจะมากเกินไป....)

แปลว่า อีก 58 ปีต่อมา เขาคนนั้นจึงมาเล่าเรื่อง
แล้วเขาจะอายุเท่าไรดีล่ะ ในเมื่อสุนทรภุ่นั่น ตายตอนอายุ 69 (เชื่อกันอย่างนั้น)
นายคนนั้นก็ต้องอายุ 49
บวกมาอีก 58 ปีจึงมาเจอเจ้าคุณ...โอ้โห อายุปาเข้าไปร้อยกว่า
เอ ทำไมเจ้าคุณไม่แสดงความทึ่งอะไรเลย
ทีพระรูปหนึ่ง ท่านยังอ้างความแก่เพื่อให้น่าเชื่อถือเลย

ผมคิดว่า ประวัติสุนทรภู่ฉบับเก่าๆนั่น ไม่จำเป็นก็อย่าอ้างเลยครับ ยุ่งเปล่าๆ
ไม่มีใครมานั่งอ่านกลอนทีละตัว ขี่กูเกิ้ลดูเส้นทาง
วิเคราะห์ศัพท์และชื่อทุกคำ รวมทั้งเหตุการณ์แวดล้อม
ข้อความในบทกวี ก็มีเนื้อหามากพอจะทำให้ปวดหัวอยู่แล้ว

อย่าเอาคนที่อ่านเขียนลวกๆ มาเป็นด่านสกัดเลยครับ แค่นี้ก็เหนื่อยจะตายอยู่แล่ว

ได้โปรด.....
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 10 ส.ค. 07, 08:51

ถ้าหากว่าวิเคราะห์เรื่องพระอภัยมณีได้  น่าจะเห็นร่องรอยสังคมในยุคนั้นว่าสุนทรภู่แต่งในรัชกาลที่ ๔ หรือไม่
จะลองทำงานยักษ์ชิ้นนี้ดูในเรือนไทย เมื่อจบนิราศแล้ว

อย่างคุณ Bana และคุณพิพัฒน์ว่า  นิราศสุพรรณ นิราศเมืองเพชร นิราศพระประธม  พูดถึงเรื่องเกี่ยวข้องกับสาวๆ หลายคน เหมือนเป็นเหตุการณ์เกิดไม่นาน ยังรำลึกจดจำอาลัยอาวรณ์อยู่
ถ้างั้นก็ตีความได้เป็น ๔      อย่าง
๑) ถ้าเป็นเรื่องที่แต่งระหว่างบวช  สุนทรภู่ต้องย้อนนึกถึงสมัยก่อนบวช   แปลว่าตอนที่แต่งนิราศ ยังบวชไม่นานกี่ปี  คือต้นรัชกาลที่ ๓
๒)ถ้านิราศนั้นมีหมุดเวลาให้เห็นว่าแต่งในตอนปลาย หรือค่อนไปทางปลาย  ก็แปลว่าท่านไม่ได้บวชในช่วงแต่ง 
๓) ถ้ามีหลักฐานว่าบวชอยู่  แต่คำนึงถึงผู้หญิงอยู่    ความรักยังไม่นานนัก ก็ส่อว่าไม่สำรวมในสมณเพศ (ยังไม่คิดว่าท่านทำถึงขั้นผิดศีล)
๔) คนแต่งนิราศสุพรรณและเมืองเพชรไม่ใช่สุนทรภู่   เป็นกวีฆราวาสอีกคนหนึ่งซึ่งมีประวัติแยกเป็นของตัวเองต่างหาก   เอาประวัติสุนทรภู่ไปจับไม่ได้
คุณพิพัฒน์เชื่อข้อ ๔  แต่ดิฉันยังไม่ตกลงปลงใจเชื่อ 
อย่างที่บอกละค่ะ เรื่อง"หนูพัด" ยังคาใจอยู่  ว่าถ้าไม่ใช่ลูกสุนทรภู่แล้วจะเป็นใครอีก
นายพัดมีตัวตนบันทึกได้มาตั้งแต่หมอบรัดเลย์    มีลูกหลานสืบสายมาจนถึงศ.คุณหญิงผะอบ โปษะกฤษณะ รู้จัก มาอยู่ในบ้านของท่านตอนท่านเล็กๆ
ข้อนี้แหละที่ทำให้ยังไม่ปักใจเชื่อว่านิราศสุพรรณ ซึ่งมีหลักฐานให้เห็นว่าคณะเดินทางของกวี น่าจะเป็นชุดเดียวกับชุดที่ไปเมืองเพชร  เป็นงานของคนอื่นนอกจากสุนทรภู่
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 14
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.491 วินาที กับ 19 คำสั่ง