เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 14
  พิมพ์  
อ่าน: 68742 นิราศสุพรรณ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 27 ก.ค. 07, 17:13

ประวัติของ นิราศเมืองเพชร  จากพระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  มีหลักฐานการแต่งเรื่องนี้ จากคำบอกเล่ายืนยันของพยานบุคคลไว้ด้วย 
พยานบุคคลที่ทรงระบุไว้ คือพระยาธรรมปรีชา(บุญ) ซึ่งเคยบวชอยู่ที่วัดเทพธิดารามในพ.ศ. ๒๓๘๔
พระยาธรรมปรีชาเล่าว่าสุนทรภู่แต่ง ๒ เรื่องคือกาพย์พระไชยสุริยา  และนิราศสุพรรณ  ในเวลาราวๆนั้น
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จึงสรุปว่า สุนทรภู่แต่งนิราศสุพรรณเมื่อพ.ศ. ๒๓๘๔ ระหว่างบวชเป็นพระ
แต่ในเว็บนี้
http://www.geocities.com/tthida/index2.html
บอกประวัติแตกต่างกันไป  ไม่ทราบที่มาว่าจากหนังสือเล่มไหน
ว่า
นิราศสุพรรณแต่งขึ้นในราวปี พ.ศ.๒๓๗๔ ในระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดสระเกศ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 27 ก.ค. 07, 17:25

เรื่องวัดที่สุนทรภู่เคยบวชในรัชกาลที่ ๓  ถ้าไปเก็บจากหลักฐาน  ก็น่าเวียนหัวพอใช้
เพราะบวชหลายวัด อย่างน่าอัศจรรย์ใจมาก
พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ระบุว่า วัดแรกที่บวชคือวัด ราชบูรณะ (หรือวัดเลียบ)
เมื่อออกจากวัดราชบูรณะ  ต่อมาก็ไปอยู่วัดอรุณ
จากวัดอรุณ ก็ไปอยู่วัดพระเชตุพน (นายธนิต อยู่โพธิ์ สันนิษฐานไว้)
ก่อนจะย้ายมาวัดเทพธิดาราม
แล้วยังมีวัดสระเกศ  และวัดมหาธาตุอีกด้วย
รวมแล้ว ๖ วัด 
ถ้าหากว่าเป็นความจริง   จะบอกอะไรได้บ้าง
๑) พระภู่อยู่วัดไหนไม่ได้นานนัก  มีเหตุจะต้องย้ายวัดอยู่เป็นประจำ
๒) ความจำเป็นที่ต้องย้ายวัด เห็นจะไม่ใช่เรื่องร้ายแรง  ไม่งั้นวัดใหม่คงไม่รับให้อยู่
๓) แต่ก็ไม่ใช่เรื่องดี   เพราะพระสงฆ์ที่ไม่มีปัญหาอะไรกับทางวัด ก็ไม่น่าจะต้องโยกย้าย  แต่ว่าประจำอยู่วัดใดวัดหนึ่งไปตลอด
๔) ไม่ปรากฏว่าพระภู่มีสมณศักดิ์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 27 ก.ค. 07, 18:52

เริ่มแกะรอยนิราศสุพรรณ แบบเดียวกับที่ทำกับนิราศเมืองเพชร
สมมุติว่าเราไม่รู้มาก่อนว่านิราศเรื่องนี้ใครแต่ง  แต่งพ.ศ.ไหน   แกะรอยเอาจากเนื้อหาในนิราศล้วนๆ   จะได้อะไรออกมาบ้าง
ดูจากบทแรก 

(๑)เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า            ดาดาว
จรูญจรัสรัศมีพราว               พร่างพร้อย
ยามดึกนึกหนาวหนาว           เขนยแนบ  แอบเอย
เย็นฉ่ำน้ำค้างย้อย                เยือกฟ้าพาหนาวฯ
 
(๒) ๏ มหานาคฉวากวุ้ง        คุ้งคลอง
ชุ่มชื่นรื่นรุกขีสอง                 ฝั่งน้ำ
ขุกคิดมิตรหมายครอง           สัจสวาดิ ขาดเอย
กล้าตกรกเรื้อซ้ำ                   โศกทั้งหมางสมรฯ

บอกได้ว่าการบันทึกการเดินทางนี้ เริ่มเอาตอนกวีนั่งเรือมาในคลองมหานาคแล้ว  เพราะพูดถึงต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นสองข้างฝั่ง ก็แปลว่าตัวเองต้องนั่งเรืออยู่ตรงกลางคลอง
แต่จุดเริ่มต้น มาจากท่าน้ำบ้านหรือท่าน้ำวัดที่ไหนไม่ได้บอกไว้
บอกแต่ฤดูกาล คือเริ่มเดินทางตอนกลางดึก ในฤดูหนาวปีใดปีหนึ่ง   
เป็นคืนเดือนหงายเห็นพระจันทร์เต็มดวง  ฟ้าโปร่งเห็นดาวเต็มฟ้า  สมกับลักษณะของฤดูหนาว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 27 ก.ค. 07, 19:02

(๓) ๏ ขอฝากซากสวาดิสร้อย           สุนทร
ไว้ที่ท่าสาคร                                    เขตนี้
ศาลาหน้าวัดพร                                พี่ฝาก มากเอย
ใครที่พี่เป็นผี้                                   พี่ให้อภัยเจริญฯ

พอถึงบทที่สามก็เริ่มพูดถึงท่าน้ำวัด   เป็นวัดติดคลองมหานาค แต่วัดอะไรไม่ได้บอกชื่อไว้ 
รู้แต่ว่ามีศาลาท่าน้ำหน้าวัด  เพราะวัดสมัย ๒๐๐ ปีก่อนหันหน้าลงคลองทั้งนั้น
วัดอะไรอยู่ริมคลองมหานาคบ้างล่ะคะ

ถ้าหากว่านิราศเรื่องนี้ ลำดับสิ่งที่สายตากวีเห็นไปที่เห็นก่อนหลัง  ก็หมายความว่า นั่งเรือมาก่อนจะถึงศาลาท่าน้ำแห่งที่เอ่ยถึง
แต่ถ้าไม่ลำดับตามนั้น ก็หมายความว่าลงเรือที่ท่าน้ำนี้เอง  พอเรือเริ่มเบนหัวออกไปกลางคลองก็เหลียวกลับมามองศาลาท่าน้ำที่จากมา
ความในใจที่รำพึงกับศาลาท่าน้ำ ก็ค่อนข้างประหลาดสำหรับผู้อยู่ในสมณเพศ  เพราะฝากซากรักแห่งความหลังเอาไว้ที่ท่าน้ำหน้าวัด
ถ้าหากว่ากวีท่านเป็นพระ  สาวที่เลิกร้างกันไป เห็นทีจะเคยริอ่านสึกพระเสียละมั้ง

นอกจากนี้ น่าจะมีเรื่องแค้นใจปะปนอยู่ด้วย  เพราะสาวที่เธอเคยมาเจ๊าะแจ๊ะเรียกพี่งั้นพี่งี้  เธอกลับกลายลืมพี่  พี่เลยกลายเป็น"ผี้" ไปแล้ว คือเธอไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
แต่ พี่ ก็ให้อภัยส่งท้าย
ทำไมผู้หญิงเรียกพระว่า "พี่"  หรือจะเรียกว่า "หลวงพี่"?
 
(๔) ๏ จำร้างห่างน้องนึก          น่าสรวล
สองฝ่ายชายหญิงยวน              ยั่วเย้า
หวังชายฝ่ายหญิงชวน              ชื่นเช่น เห็นเอย
กลเช่นเล่นซักเสร้า                  เสพเพื่อนเฟือนเกษม ฯ

กวีกับสาวคนเดียวกับที่เคยมีความหลังกันที่ท่าน้ำวัดคนนี้แหละ  ฝ่ายชายเคยชวนเธอเล่นสนุกเฮฮายั่วเย้ากัน   อาจจะมีการละเล่นที่เรียกว่าซักส้าว  เสียด้วย  เพราะในบทนี้ยังกำกวมอยู่ 
ไม่แน่ว่าเล่นซักส้าวกันจริงหรือว่าแค่คำเปรียบ
ความสัมพันธ์แบบนี้ ตีความได้ ๒ อย่าง
๑) ตอนจีบกันนั้นฝ่ายชายไม่ได้เป็นพระ   จึงชวนเล่นสนุกกันได้
๒)ถ้าฝ่ายชายเป็นพระ   ชวนสาวเล่นเฮฮาแบบนี้  เห็นทีจะต้องอาบัติ เจ้าอาวาสคงไม่ทนให้เล่นกันได้หลายหน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 27 ก.ค. 07, 19:04

เรื่องที่เคยมีความหลังกับสาวศาลาท่าน้ำหน้าวัด น่าจะเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นมานานแล้ว
เพราะบทต่อๆไปกลางเรื่อง พูดถึงลูกชายที่โตเป็นหนุ่ม เดินทางไปด้วยกัน  ตัวกวีเองเห็นสาวชาวบ้านก็อยากได้เป็นสะใภ้ (อีกแล้ว)
เหมือนนิราศเมืองเพชรราวกับแกะตอนนี้ออกมาพิมพ์ใหม่
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 27 ก.ค. 07, 20:44

ศาลาหน้าวัดพร                                พี่ฝาก มากเอย
ใครที่พี่เป็นผี้                                   พี่ให้อภัยเจริญฯ

-------------------
เริ่มกลอนก็ส่อพิรุธแล้ว
กวีต้องเคยมีความหลังฝังใจกับ"น้อง"คนหนึ่ง เหตุบังเกิดช้านานเพียงไรยากจะบอก
หากว่านานก็คงเป็นปี แต่เห็นจะมิใช่สิบๆ ปี
คนเราจะพร่ำเพ้อถึงน้องทั้งผ้าเหลือง ก็น่าจะอกหักมาบวชอะไรประมาณนั้น

ตรงนี้ถ้าเป็นสุนทรภู่ ก็ต้องเป็นการบวชครั้งใหม่ที่ไม่ใช่ครั้งบรรพชิตพิศวาสพระศาสนา
ครั้งนั้นบวชเมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน

แต่ครั้งนี้ บวชเมื่อไร น่าค้น
เท่าที่มีความเป็นไปได้ สุนทรภู่บวชครั้งแรก 18 ปี มาสึกที่วัดเทพธิดาเมื่อปีขาล 2385
แล้วไปอยู่กับเจ้าฟ้าน้อย จนได้เป็นจางวางอาลักษณ์วังหน้า แล้วตายในตำแหน่งนั้น
ไม่เคยมีใครบอกว่าสุนทรภู่บวชในรัชกาลที่ 4

แล้วจะเอาเวลาตอนใหนไปอกหักจนออกบวชได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 27 ก.ค. 07, 21:01

คำตอบว่าสุนทรภู่แต่งเรื่องนี้ในพ.ศ.ไหน คำตอบมีไว้ข้างบนนี้ แยกเป็น ๒ คำตอบ
คือพ.ศ. ๒๓๘๔ และพ.ศ. ๒๓๗๔  แต่จะพ.ศ.ไหนก็ตาม    เชื่อตรงกันว่าแต่งขณะเป็นพระ
พระวัดเทพธิดา  ไม่ใช่วัดสระเกศ
เพราะว่ากวีล่องเรือ จากท่าน้ำไหนก็ไม่รู้มาตั้งแต่ก่อนบทที่ ๑  เริ่มโคลงบทที่ ๑ ก็นั่งเรืออยู่ในลำคลองมหานาคเรียบร้อยแล้ว
มาจนถึงโคลงบทที่    ๕     เรือจึงเพิ่งล่องมาถึงวัดสระเกศ

๕) เลี้ยวลัดวัดสระเกศก้ม       คมลา
กุฏศพนบมารดา              เกิดเกล้า
เดชะพระกุศลพา             พ้นโลก โอกฆเอย
เสวยสุขทุกค่ำเช้า            ช่องชั้นสวรรยางคฯ
บทนี้มีคำว่า "เลี้ยวลัด" ฟังคล้ายๆกับเรือตัดตรง ลัดจากตรงไหนสักแห่งของคลองมหานาค ระหว่างวัดแรก มาถึงโผล่ที่วัดสระเกศ   
ตรงนี้ทำให้รู้ว่า ศพแม่ของกวี เก็บไว้ที่วัดนี้    อยู่ในที่เก็บศพ ยังไม่ได้เผา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 27 ก.ค. 07, 21:34

จากวัดสระเกศ ก็มาถึงตลาดเชิงเลน 
(๖) ๏ เชิงเลนเปนตลาดสล้าง        หลักเรือ
โอ่งอ่างบ้างอิดเกลือ                     เกลื่อนกลุ้ม
หลีกล่องช่องเล็กเหลือ                  ลำบาก ยากแฮ
ออกแม่น้ำย่ำทุ่ม                          ถี่ฆ้องสองยามฯ

ตลาดเชิงเลนที่บรรยายไว้เป็นตลาดน้ำที่คึกคักไม่ใช่เล่น    มีเรือหลายชนิดคับคั่งจนเรือของกวีแทบจะแหวกออกมาไม่พ้นกว่าจะถึงแม่น้ำ    ขนาดเป็นเวลาสองยาม สงสัยว่าเรือเขาจอดอยู่เฉยๆ หรือตอนดึกยังค้าขายขนข้าวของกันอยู่

แซ่เสียงเวียงราชก้อง                   กังสดาล
 เหง่งหงั่งระฆังขาน                      แข่งฆ้อง
สังข์แตรแซ่เสียงประสาน                 สังคีต  ดีดเอย
ยามดึกครึกครื้นก้อง                      ปี่แก้วแจ้วเสียงฯ
บทนี้เป็นการบันทึกความเป็นอยู่ของกรุงเทพเมื่อเกือบสองร้อยปีก่อน ในด้านที่หาได้ยากยิ่ง
โดยมากถ้ามีภาพในอดีต  ก็มักเป็นภาพถ่ายหรือภาพพิมพ์ที่ฝรั่งทำเอาไว้ เอาไว้ให้เรา"ดู" กันเฉยๆ
 แต่ตอนนี้เป็นการบันทึก" เสียง" ของกรุงเทพในยามดึก ให้เราได้ยิน
กรุงเทพช่วงใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา  คือตัวเมืองกรุงเทพ ไม่ได้เงียบสงัดอย่างที่เราอาจจะนึกว่าโลกสมัยไร้แสงสีเป็นแบบนั้น
แต่เอาเข้าจริง  กรุงเทพไม่เงียบ   กรุงเทพพระมหานครนั้นในยามดึก มีเสียงกังสดาล(จากวัด ) เสียงระฆัง(จากวัด) เสียงฆ้อง(น่าจะเป็นเสียงเคาะบอกทุ่มยาม)
สังข์แตรและเสียงสังคีต คงจะแว่วมาจากวัง หรือบ้านขุนนางผู้ใหญ่ที่มีวงมโหรีเล่นในยามดึก     เสียงปี่ที่เจื้อยแจ้วก็คงมาจากบ้านหลังใดหลังหนึ่ง ริมคลอง  เพราะสังคมไทยอยู่กันริมน้ำ
นี่คือ"เสียง"ของกรุงเทพในสมัยรัชกาลที่ ๓ 
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 27 ก.ค. 07, 22:08

ผมคิดว่าเสียงระฆังกับกังสดาลน่าจะมาจากวงดนตรีด้วยครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 27 ก.ค. 07, 22:10

เรื่องกวีมาจากวัดใหน เป็นพิรุธอีกข้อที่พาหลง
ตำราเดิมเชื่อว่าออกจากวัดเทพธิดาราม อาจจะเพราะเชื่อคำของคนเก่าที่เล่าว่า
สุนทรภู่แต่งโคลงสมัยบวชที่วัดเทพธิดาราม

เนื้อหาจากโคลง กลับเล่าไปอีกทาง
คือบอกว่า ออกจากที่หนึ่งที่ใด แล้วมาเข้าคลองมหานาค ฟังเผินๆก็ไม่น่าจะมีปัญหา
ปัญหาอยู่ตรงที่ ถ้าออกจากวัดเทพธิดารามจริงๆ จะไม่มีวันผ่านคลองมหานาค
เว้นแต่กวีจะไปสยามปาราก้อน
 เจ๋ง ยิงฟันยิ้ม เจ๋ง
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 27 ก.ค. 07, 22:18

แต่กวีกลับแวะที่วัดสระเกษ
บอกอย่างแจ่มชัดว่าเป็น "ลัดวัดสระเกษ"
คือคลองลัดผ่านวัดสระเกษ...พูดอย่างนี้ คนปัจจุบันคงไม่เข้าใจ
คนสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ไม่เข้าใจด้วย เพราะคลองลัดวัดสระเกษ ถูกถมกลายเป็นถนนไปหมด

เอาอย่างนี้ครับ จะเล่าเส้นทางของกวีเสียก่อน
ท่านตั้งต้นที่หนึ่งที่ใดที่มีท่าน้ำ แล้วมาตามคลองมหานาค
เลี้ยวเข้าลัดวัดสระเกษ
แวะไหว้ศพแม่ แล้วจึงออกมาทางคลองโอ่งอ่าง ผ่านวัดเลียบเพื่อจะออกเจ้าพระยา

เอาละ
ถ้าเป็นการออกจากวัดเทพธิดาราม แป๊บเดียวก็ไหว้ศพแม่
เพราะป่าช้าวัดสระเกษอยู่เยื้องวัดเทพธิดาไปนิดเดียว
แวะเข้าไปไหว้ศพแล้วก็ถอยเรือมาออกคลองคูเมืองตามเดิม
จากนั้นจึงพายจ้ำไปออกแม่น้ำตรงตลาดโอ่งอ่างปากคลอง....ฯลฯ
เส้นทางไม่สมเหตุผลกันครับ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 27 ก.ค. 07, 22:54

นิราศเมืองเพชรมีคนวิเคราะห์วิจารณ์มาหลายรอบแล้ว แต่นิราศสุพรรณนี่ยังไม่โดนแตะต้องเท่าไหร่

เปิดฉากมาก็เร้าใจแล้วครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 28 ก.ค. 07, 00:05

เชิญชมแผนที่
1 คือวัดเทพธิดาราม
2 คือป่าช้าวัดสระเกษ ที่เก็บศพมารดากวี
3 คือคลองลัดวัดสระเกษ

ถ้าสุนทรภู่ออกจาก 1 จะไป 2 ไม่ต้องผ่านคลองมหานาค
ถ้าสุนทรภู่มาตามคลองมหานาค ก็ต้องไม่ได้มาจากวัดเทพธิดาราม

เลือกได้เพียงหนึ่งข้อ
นิราศเรื่องนี้ยากจริงๆครับ เปิดเรื่องมาไม่กี่บันทัด
จะพาคนตีกันตายคากระดานดำ...แหะ แหะ


บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 28 ก.ค. 07, 01:18

รูปมีปัญหา ทำใหม่ครับ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 28 ก.ค. 07, 08:27

                                               กังสดาล
 เหง่งหงั่งระฆังขาน                      แข่งฆ้อง
คุณอาชาผยองหมายถึงวงมโหรีปี่พาทย์มีกังสดาล ระฆังและฆ้องอยู่ในวงด้วย ใช่ไหมคะ

ถ้าสุนทรภู่ไม่ได้มาจากวัดเทพธิดาราม   และไม่ได้มาจากวัดสระเกศ  จะมาจากที่ไหนได้บ้าง ตามเส้นทางที่คุณพิพัฒน์ชี้ให้ดู?

มาดูโคลงต่อไปกันก่อน ระหว่างรอคำตอบ
วัดเลียบเงียบสงัดหน้า           อาราม
ขุกคิดเคยพยายาม               แย่งน้อง
รวยรินกลิ่นสไบทราม             สวาทร่วง ทรวงเอย
สูญกลิ่นสิ้นกลอนพร้อง           เพราะเจ้าเบาใจฯ

ตามขนบของนิราศตั้งแต่สมัยอยุธยาจนต้นรัตนโกสินทร์ ดูกำศรวล  นิราศนรินทร์  นิราศลำน้ำน้อยของพระยาตรังเป็นแบบ
กวีท่านจะแต่งแบบเล่นชื่อสถานที่กับอารมณ์คิดถึง   ผ่าน"บางจาก"ก็นึกถึงเรื่องจากพรากกันมา ทำนองนี้
นิราศเรื่องอื่นๆของสุนทรภู่ก็เล่นขนบนี้เหมือนกัน
แต่นิราศสุพรรณ  ผ่านสถานที่มาหลายแห่งแล้ว กวีไม่ได้เล่นคำแบบนี้เลย   ถ้าเล่น  เวลาผ่านวัดเลียบ ก็น่าจะนึกถึงเคยเลียบเรือไปดูสาว  อะไรแบบนั้น
แต่นี่กวีท่านบันทึกแบบเหตุการณ์เป็นจริงเคยเกิดที่วัดเลียบ    ว่าครั้งหนึ่งเคยยื้อแย่งสไบแฟนเก่า
แย่งกันจริงๆจังๆเสียด้วยจนกระทั่งผ้าสไบหลุด  เอามาถือดมจนได้กลิ่นอบร่ำ
คำถามก็คือ แย่งกันแต่ครั้งไหนในวัด   ตอนเป็นพระหรือว่าตอนยังเป็นฆราวาสอยู่  ถ้าเป็นพระ ยื้อแย่งกันผ้าหลุดขนาดนี้คงโดนจับสึกแน่   ถ้าเป็นฆราวาส นานเท่าไรแล้ว
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 14
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.065 วินาที กับ 19 คำสั่ง