ต่อนะคะ

จังหวัดสมุทรสงครามนั้นเป็นถิ่นทองของดนตรีไทยมาตั้งแต่ครั้งสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีครูผู้ใหญ่หลายคนหลายกลุ่มซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังและถือกำเนิดมาจากดินแดนแห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลองแห่งนี้อาทิเช่น ครูสิน ศิลปบรรเลง ครูกล้อย , ครูกล้ำ ณ บางช้าง ครูปาน, ครูปน นิลวงศ์ ครูสมบุญ สมสุวรรณ ครูโต(ไม่ทราบนามสกุล) คนฆ้องฝีมือดี ครูเหล่านี้มีลูกศิษย์ลูกหากระจายออกไปมากมาย ครูเนื่อง รัตนประดิษฐ์ (พ.ศ. 2439-2538) เล่าว่า สมัยที่ท่านไปเรียนปี่พาทย์ที่บ้าน ครูสมบุญ สมสุวรรณ นั้นจากแม่กลองไปจนถึงอัมพวามีวงปี่พาทย์มากกว่า 100 วง ส่วนมากเป็นเครื่องคู่
ครูสิน ศิลปบรรเลง เป็นครูผู้ใหญ่คนหนึ่งของอัมพวา บุตรชายคนโตซึ่งเกิดจากภรรยาคนแรกชื่อ สุวรรณ เป็นคนระนาดฝีมือดี แต่ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังหนุ่ม ครูหลวงประดิษฐไพเราะฯ หรือนายศรเป็นบุตรชายคนเล็ก เกิดจากภรรยาคนที่สอง อายุห่างจากพี่ชายคนแรกถึงยี่สิบกว่าปี
หลวงประดิษฐไพเราะฯเป็นคนมีพรสวรรค์ทางดนตรี สามารถตีฆ้องวงใหญ่ได้เองตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เริ่มเรียนปี่พาทย์จริงจังตั้งแต่อายุ 11 ปี และแตกฉานมีฝีมือดีอย่างรวดเร็ว ตีระนาดไหวจัดมาตั้งแต่เด็ก ท่านได้แสดงฝีมือจนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นครั้งแรกในงานโกนจุกเจ้าจอมผู้เป็นธิดาคนหนึ่งของเจ้าพระยาสุรพันธุ์ พิสุทธิ์ ที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีบุตรสาวถวายตัว ร.5 ถึง 5 คนคือ เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอียม เจ้าจอมเอ็ย (เกิด พ.ศ. 2422) เจ้าจอมเอี่ยม (พ.ศ. 2424) และเจ้าจอมเอื้อน (พ.ศ. 2430) ถ้าดูตามอายุน่าจะเป็นงานโกนจุกเจ้าจอมเอื้อน ซึ่งถ้าเป็นไปตามปกติก็ควรเป็นปี พ.ศ. 2441 หรือก่อนนั้น (ขณะนั้นนายศร อายุ 17 ปี) ในงานนั้นมีปี่พาทย์ 3 วง นายศรเป็นคนตีฆ้องวงเล็ก โขนเล่นตอนสุครีพหักฉัตร ปี่พาทย์บรรเลงเพลงเฉิดต่อตัวกัน คนระนาดเอกวงครูสินต่อวงอื่นไม่ทัน ครูสินจึงเรียกนายศรไปตีระนาดเอกแทน วงไหนส่งมานายศรก็รับส่งได้ไม่บกพร่อง พอถึงรอบสองตีไหวมากจนวงอื่นรับไม่ทัน นายศรต้องบรรเลงเพลงต่อไปเองจนจบ เจ้าพระยาสุรพันธุ์พิสุทธิ์ ถึงกับตบมือตะโกน ร้องว่า "นี่..ผู้ใหญ่แพ้เด็ก" ตั้งแต่นั้นมาชื่อ นายศร ก็ลือกระฉ่อนไปทั่วลุ่มน้ำแม่กลอง
ต่อมาเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ มีงานเปิดตลาดบ้านหม้อ มีปี่พาทย์ประชัน 3 วง คือ วงมหาดเล็กหลวง วงพระนายไวย และ วงเจ้าพระยาเทเวศรฯ ขณะนั้นนายแช่ม (พระยาเสนาะดุริยางค์)น่าจะเป็นคนระนาดเอกวงปี่พาทย์หลวงหรือไม่ก็วงปี่พาทย์ของเจ้าพระยาเทเวศรฯนายศรได้เข้ามาดูงานนี้ด้วยบังเอิญพระนายไวยซึ่งน่าจะรู้จักนายศรเหลือบมาเห็นเข้ารู้ว่าเป็นระนาดบ้านนอกฝีมือดี ก็เลยเรียกให้เข้าไปตีระนาดในวงของท่าน นายศรได้ตีระนาดหลายเพลงจนถึงเพลงเดี่ยวกราวในทำให้เจ้านายและผู้อยู่ในงานนั้นตะลึงในฝีมือ ได้รับรางวัลถึง 32 บาท ซึ่งนับว่ามากมายอักโขอยู่ในสมัยนั้น
อีกครั้งหนึ่งในงานคล้ายวันเกิดของเจ้าคุณจอมมารดาสำลีชนนีของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีในรัชกาลที่ 5 นายศรได้มีโอกาสมาร่วมบรรเลงปี่พาทย์ด้วยโดยได้เดี่ยวระนาดเอกเพลงกราวในเถาด้วยชั้นเชิงและฝีมืออันยอดเยี่ยมจนได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และเจ้านายพระองค์อื่นอีกหลายพระองค์ ชื่อเสียงของนายศรก็เริ่มเข้ามาโด่งดังในกรุงเทพฯ สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นนักดนตรีเอก ทรงระนาดได้ดี โปรดระนาดที่ไหวจริง ชัดเจน การที่ประทานรางวัลนายศรแสดงว่าต้องตีได้เยี่ยมจริง ๆ
ในปี พ.ศ. 2442 เป็นหัวเลี้ยวสำคัญในชีวิตของนายศรดังที่ท่านบันทึกไว้เองว่า "ปีกุน ร.ศ. 118 เจ้าเมืองสมุทรสงครามให้อำเภอคือ ขุนราชปุการเชย ไปหาบิดาที่บ้านบอกว่าสมเด็จวังบูรพาฯให้ไปตีระนาดถวายที่เขางู เมืองราชบุรี ออกจากบ้านมาก็เลยเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯทีเดียว ไปตามเสด็จเมืองพิษณุโลก หล่อพระพุทธชินศรีกลับลงมา รุ่งขึ้นปี ร.ศ. 119 เดือนยี่ ทำการสมรสที่บ้านหน้าวัง ในปีนี้ท่านบิดาก็ถึงแก่กรรม"
เบื้องหลังและรายละเอียดอันเป็นต้นเหตุให้นายศรได้เข้ามาเป็นคนระนาดเอกวังบูรพาฯมีอยู่ว่า สมเด็จกรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช (ครั้งดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงฯ) เจ้าของวังบูรพาภิรมย์ทรงโปรดปี่พาทย์ยิ่งนักและไม่ยอมแพ้ใครในเรื่องนี้ ทรงมีวงปี่พาทย์ประจำวังของพระองค์เองแต่คนระนาดของพระองค์คนแล้วคนเล่า ก็ไม่มีใครสู้นายแช่ม (พระยาเสนาะดุริยางค์) ได้ จึงทรงเสาะหาคนระนาดที่จะมาปราบนายแช่มให้ได้ เมื่อเสด็จออกไปบัญชาการเตรียมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ที่จังหวัดราชบุรี ทรงทราบว่านายศรบุตรครูสินตีระนาดดีจึงให้หาตัวมาตีถวาย พอตีถึงเดี่ยวกราวในยังไม่ทันจบเพลง ก็ถอดพระธำรงค์ประทานและขอตัวจากครูสินให้ตามเสด็จเข้าวังทันที แม้แต่เสื้อผ้าก็ไม่ต้องกลับไปเอาที่บ้านทรงแต่งตั้งให้นายศรเป็นจางวางมหาดเล็ก ซึ่งปรากฏชื่อในหมู่นักดนตรีว่า "จางวางศร"
สมเด็จวังบูรพาฯโปรดให้จางวางศรเป็นคนระนาดเอกแทน ครูเพชร จรรย์นาฏ ซึ่งเปลี่ยนไปเป็นคนฆ้องใหญ่ ครูเพชรผู้นี้เป็นศิษย์รุ่นเล็กของครูช้อย สุนทรวาทิน มีฝีมือทั้งระนาดและฆ้องวง ได้ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้กับจางวางศรเป็นอันมาก ส่วนครูคนสำคัญที่ทำให้ฝีมือระนาดของจางวางศรก้าวหน้ายิ่งขึ้นคือ ครูแปลก (พระยาประสานดุริยศัพท์) นอกจากนั้นจางวางศรยังได้เรียนและได้รับคำแนะนำจากครูผู้ใหญ่คนอื่นๆในยุคนั้นอีกหลายท่านด้วย
สมเด็จวังบูรพาฯทรงหาครูมาฝึกสอนจางวางศรอยู่นานพอสมสมควรแล้วทรงจัดให้จางวางศรตีระนาดประชันกับนาย แช่ม (พระยาเสนาะดุริยางค์) คนระนาดเอกของกรมพิณพาทย์หลวง เมื่อราวปี พ.ศ. 2443 ขณะนั้นจางวางศรอายุ 19 ปี นายแช่มอายุ 34 ปี เป็นการประชันระนาดเอกอย่างเป็นทางการครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติการดนตรีไทยผลการประชันเป็นที่กล่าวขวัญกันมาอีกช้านาน รายละเอียดที่จะได้นำเสนอต่อไปนี้ได้ข้อมูลมาจาก คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ครูจำรัส เพชรยาง และศิษย์ครูจางวางศรซึ่งส่วนใหญ่ไปดูการประชันครั้งนั้นมี ครูถวิล อรรถฤกษณ์ ศิษย์ ครูเพชร จรรย์นาฏ
เมื่อจางวางศรรู้ว่าสมเด็จวังบูรพาฯจะให้ตีประชันกับนายแช่มก็ตกใจมาก เพราะในขณะนั้นนายแช่มกำลังโด่งดังไม่มีใครกล้าสู้ อีกทั้งเป็นลูกครูช้อยครูของครูแปลกและครูเพชรด้วย จางวางศรจึงทั้งเคารพและยำเกรงในฝีมือ ท่านเล่าให้ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ฟังว่า "เพียงแต่ได้ยินชื่อก็ให้รู้สึกว่ามือเท้าอ่อนปวกเปียกไปเลยทีเดียว ความกลัวของท่านครูนั้นถึงกับทำให้หยุดซ้อมระนาดไปเลย ทั้งนี้เพราะเกิดความกังวลจนไม่เป็นอันกินอันนอน ในที่สุดท่านก็ชวนเพื่อนไปรดน้ำมนต์เพื่อทำให้จิตใจดีขึ้น" ด้วยความคร้ามเกรงฝีมือซึ่งกล่าวกันว่า "จะมีใครสู้นายแช่มได้" จางวางศรจึงไปกราบขอร้องให้ครูผู้ใหญ่ที่ท่านนับถือท่านหนึ่งไปช่วยกราบขออภัยต่อนายแช่มว่า ที่จริงท่านไม่เคยคิดหาญจะประชันด้วย แต่ไม่อาจขัดรับสั่งสมเด็จวังบูรพาฯได้ โปรดออมมือให้ท่านบ้าง แต่ปกติวิสัยของการประชันดนตรีย่อมต้องเล่นให้ดีเต็มฝีมือ ประกอบกับนายแช่มเป็นคนระนาดของวังหลวงย่อมต้องรักเกียรติรักศักดิ์ศรีของตน จึงไม่ยอมรับคำขอร้องโดยบอกว่าต่างฝ่ายต่างต้องเล่นเต็มฝีมือ
จางวางศรยิ่งวิตกกังวลถึงกับหนีไปอยู่กับพวกปี่พาทย์ที่คุ้นเคยกันตามต่างจังหวัด สมเด็จวังบูรพาฯทรงกริ้วมากสั่งให้เอาตัวนางโชติภรรยาจางวางศรมากักกันไว้ จนจางวางศรต้องกลับมา มุมานะฝึกซ้อม และคิดค้นหาวิธีตีที่จะทำให้ไม่แพ้คู่ต่อสู้ เข้าใจว่าท่านได้คิดวิธีจับไม้ระนาดให้ตีไหวรัวได้ดียิ่งขึ้นในตอนนี้ ตลอดจนเทคนิคต่างๆในการตีระนาดอีกมากมาย เช่น ตีให้ไหวร่อน ผ่อนแรง ไหวทน เพราะนายแช่มหรือพระยาเสนาะดุริยางค์นั้นทั้งไหวทั้งจ้าหาคนสู้ได้ยากจริงๆ จางวางศรเองก็เคยปรารภกับครูเพชรว่า "ตีให้จ้าน่าเกรงขามอย่างท่านยากต้องหาชั้นเชิงอื่นสู้" ความมุ่งมั่นมานะทำให้ท่านฝันว่าเทวดามาบอกทางเดี่ยวเพลง กราวในที่ดีที่สุดให้และประสาทพรให้ท่านว่า "ต่อไปนี้เจ้าจะตีระนาดไม่แพ้ใคร"
การประชันครั้งนั้นใช้ปี่พาทย์เครื่องห้าเพราะต้องการดูฝีมือผู้ตีระนาดเอกเป็นสำคัญ วงปี่พาทย์หลวงไม่ทราบว่าใครเป็น คนฆ้อง คนปี่ และ คนเครื่องหนังแต่วงวังบูรพาฯครูเพชรเป็นคนฆ้อง ครูเนตรตีเครื่องหนัง ส่วนคนปี่ไม่ทราบนาม การประชันเริ่มตั้งแต่เพลงโหมโรงเพลงรับร้องเรื่อยไปจนถึงเดี่ยวระนาดเอกกันแบบ "เพลงต่อเพลง" เริ่มด้วยเพลงพญาโศก เชิดนอก (4 จับ) และเดี่ยวอื่นๆเรื่อยไปจนถึงเพลงกราวใน ผลปรากฏว่าฝีมือก้ำกึ่งคู่คี่กันตลอดจนกระทั่งถึงเพลงเดี่ยวกราวในก็ยังไม่ปรากฏผลแพ้ชนะเด็ดขาด เพราะฝีมือเด่นกันคนละอย่างดังที่ ครูเพชร จรรย์นาฏ เล่าให้ลูกศิษย์ของท่านฟังว่า "พระยาเสนาะดุริยางค์ไหวจัดจ้ากว่า แต่จางวางศรไหวร่อนวิจิตรโลดโผนกว่า" จึงต้องตัดสินกันที่เพลงเชิดต่อตัวซึ่งวัดความไหวทนเป็นสำคัญ
พระยาเสนาะดุริยางค์หรือนายแช่มนั้นตีระนาดไหวแบบเก่า และคงจะใช้ไม้ตีปื้นหนา พันไม้แข็งนัก จึง "ดูดไหล่" คือกินแรง ประกอบกับท่านรักษาความเจิดจ้าชัดเจนของเสียงระนาดไม่ยอมตีระหรือเกลือกให้เสียงเสีย ยิ่งตีไหวจ้าขึ้นมากเท่าใดก็ต้องใช้กำลังแขนไหล่มากขึ้นเท่านั้น จึงย่อมจะล้าง่าย ส่วนจางวางศรคิดวิธีจับไม้ให้ไหวร่อนได้เร็วใช้การเคลื่อนไหวข้อมือช่วยผ่อนกำลังแขน จึงไหวร่อนได้เร็วกว่าแม้เสียงจะไม่จ้าเท่าตีด้วยกำลังแขนแต่ก็ไหวทนกว่า
ผลแพ้ชนะของการต่อตัวเชิดนั้นจะดูที่อาการ "หลุด" หรือ "ตาย" หลุดคือ รับเชิดตัวต่อไปจากคู่ต่อสู้ไม่ทันเพราะไม่สามารถตีให้ไหวเร็วเท่าคู่ต่อสู้ส่งมาได้ส่วน "ตาย" คือรับทัน แต่เมื่อตีด้วยความเร็วเท่าที่รับมาไปพักหนึ่งแล้วไม่สามารถรักษาความไหวเร็วในระดับนี้ต่อไปได้ ต้องหยุดตีหรือเกิดอาการกล้ามเนื้อเกร็งจนมือตายเคลื่อนไหวต่อไปไม่ได้
ผลการต่อตัวเชิดครั้งนั้นปรากฏว่าในที่สุดพระเสนาะดุริยางค์เกิดอาการ"มือตาย" จึงถือว่าเป็นฝ่ายแพ้ในเรื่องความไหว แต่ครูจางวางศรเล่าว่าท่านเป็นระนาดชาติเสือแม้จะตีจนมือตายแต่เสียงระนาดยังคงเจิดจ้าสม่ำเสมอ ไม่มีเสียงเสียเลยจนผู้ที่นิยมระนาดเสียงเจิดจ้าแบบเก่าสรุปผลการประชันว่า "นายศรชนะไหว นายแช่มชนะจ้า"
คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง (บุตรีคนโตของจางวางศร) เล่าเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีการประชันเปลี่ยนทางเพลงอีก ซึ่งจางวางศรก็มีไหวพริบเปลี่ยนทางเพลงได้รวดเร็วและไพเราะกว่า เรื่องนี้น่าแปลก เพราะขณะนั้นพระยาเสนาะดุริยางค์อายุ 34 ปีผ่านงานละครดึกดำบรรพ์ซึ่งใช้เพลงทางเปลี่ยนมากมาแล้วอย่างช่ำชอง แต่จางวางศรเพิ่งจะอายุ 19 ปี ด้อยประสบการณ์กว่ามาก แต่ที่ท่านเปลี่ยนทางเพลงได้รวดเร็วไพเราะคงเป็นเพราะท่านมีไหวพริบปฏิภาณความถนัดในเรื่องนี้สูง ดังปรากฏชัดในประวัติชีวิตและผลงานในยุคต่อๆมา
ตั้งแต่นั้นมาทางระนาดแบบโลดโผนวิจิตรพิสดารคือการ สะบัด ขยี้ แบบต่างๆของจางวางศรก็ได้รับความนิยมแพร่หลายยิ่งขึ้น ทางระนาดแบบไหวลูกโป้งที่พระยาเสนาะดุริยางค์ถนัดค่อยๆเสื่อมความนิยม คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ให้ความเห็นว่าเป็นไปตามพัฒนาการของยุคสมัย พระยาเสนาะดุริยางค์ก็มีฝีมือเป็นเยี่ยมสุดยอดในยุคของท่าน เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปสิ่งใหม่ที่ไม่ไร้คุณค่าทางศิลปะ ย่อมได้รับความนิยมมากกว่าผลการประชันครั้งนั้นเป็น "จุดเปลี่ยน" ครั้งสำคัญในวิชาดนตรีของพระยาเสนาะดุริยางค์ เพราะตั้งแต่นั้นมาท่านมุ่งเอาดีทางปี่ จนเป็นเอตทัคคะสุดยอดในทางนี้
สมเด็จวังบูรพาฯได้หาโอกาสให้จางวางศรประชันปี่กับพระยาเสนาะดุริยางค์อีกหลายครั้ง แต่ผลโดยสรุปต้องถือว่าพระยาเสนาะดุริยางค์เหนือกว่าในเชิงปี่ ครูเทียบ คงลายทอง ศิษย์เอกของท่านเป็นคนปี่ที่ "ยอดเยี่ยม" จริงๆ และทางปี่ของพระยาเสนาะดุริยางค์ก็แพร่หลายในวงการดนตรีไทยเช่นเดียวกับที่ทางระนาดเอกของหลวงประดิษฐไพเราะฯแพร่หลายมากที่สุด ต่างฝ่ายต่างมีอัจฉริยภาพเด่นสุดยอดกันคนละอย่าง นอกจากนั้น 2 ท่านยังแตกฉานในการบรรเลงเครื่องดนตรีอื่นๆด้วย ทั้ง ฆ้องใหญ่ ฆ้องเล็ก ระนาดทุ้ม ตลอดจน เครื่องสาย มโหรี สม ดังที่ ครูประสิทธิ์ ถาวร กล่าวว่า "ท่านเหล่านี้เทวดาส่ง มาเพื่อพัฒนาดนตรีไทย เราควรยกย่องเทิดทูนท่านมาก กว่าจะเอาความสามารถของท่านมาเปรียบเทียบกัน"
หลวงประดิษฐไพเราะ (จางวางศร) นั้น เลื่องลือมากในเรื่องการตีระนาดเอกไหว จางวางทั่ว พาทยโกศล เคยเล่าให้ศิษย์ฟังว่าเมื่อท่านเป็นคนฆ้องเล็กในวงปี่พาทย์ฤาษีนั้นต้อง "ฝึกไล่" หนักมาก เพราะเกรงจะตีไหวไม่ทันระนาดเอก ครูขำ กลีบชื่น ซึ่งเป็นคนเครื่องหนังเคยตีกลองทัดรุกหลวงประดิษฐไพเราะฯในตอนตีระนาดเพลงเชิดโหมโรง แต่หลวงประดิษฐไพเราะฯเร่งความเร็วไหวจนครูขำกลองตีตามไม่ทัน ครูถวิล อรรถ อรรถกฤษณ์ เล่า ว่า เมื่อตอนที่ท่านเร่งฝึกซ้อม ครูเผือด นักระนาด (ศิษย์เอกคน หนึ่งของท่าน) ท่านตีเดี่ยวกราวในคู่ไปกับครูเผือด ครูเผือดตีไหวจนสุดตัวแล้ว ครูหลวงประดิษฐไพเราะฯยังเร่งไหวมากขึ้นอีกได้อย่างสบายทั้งๆที่ตอนนั้นท่านอายุเกือบ 50 ปีแล้ว
หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นผู้พัฒนาวิธีตีระนาดให้มีเทคนิคและชั้นเชิงมากยิ่งกว่าครูยุคก่อน และยุคหลังท่าน เมื่อตอนที่เตรียมตัวประชันกับพระยาเสนาะดุริยางค์ท่านใช้เทคนิคการตีสะบัดแบบต่างๆ ซึ่งช่วงแรกๆครูผู้ใหญ่ในยุคนั้นไม่ยอมรับ บางคนถึงกับกล่าวว่า "นายศรเธอตีระนาดแบบนี้จะไปสู้กับนายแช่มเขาได้อย่างไร" แต่ในที่สุดวงการปี่พาทย์ก็ยอมรับว่าการตีสะบัดแบบต่างๆอย่างพอเหมาะพอดี เช่น สะบัด 2 เสียง สะบัด 3 เสียง นั้น ช่วยเพิ่มรสชาติให้เพลงมากทีเดียว
แต่เดิมนั้นระนาดเอกตีทำนองเก็บเป็นพื้น คนที่ไม่เป็นดนตรีฟังไม่ค่อยทันจะรู้สึกว่าเร็วเหมือนกันทุกเพลง ต่อมาจึงเริ่มมีเพลงทางกรอเช่น เพลงเขมรไทรโยค ของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หลวงประดิษฐไพเราะฯได้พัฒนาการแต่งเพลงทางกรอล้วนขึ้นหลายเพลงเช่น เขมรเลียบพระนคร เขมรพวง ซึ่งล้วนอ่อนหวานไพเราะ ฟังง่าย คนเป็นดนตรีก็ฟังได้ คนไม่เป็นดนตรีก็ชอบฟัง การตีกรอจึงเป็นเทคนิคประการหนึ่งที่ท่านนำมาใช้ในการบรรเลงอย่างจริงจังตลอดทั้งเพลงเป็นคนแรก
สิ่งที่ท่านพัฒนามากอีกอย่างหนึ่งคือ การจับไม้ระนาด เพื่อให้ตีได้เสียงต่างกัน เดิมการตีระนาดจับไม้แบบปากนกแก้วอย่างเดียว ท่านได้พลิกแพลงจับไม้แบบปากกาบ้าง ปากไก่บ้าง ครูประสิทธิ์ ถาวร กล่าวว่า "ความที่ครูคิดวิธีจับแบบปากกาจึงไม่มีใครตีระนาดรัวได้ดีเท่า" และได้เล่าถึงความเชี่ยวชาญในเชิงระนาดซึ่งท่านได้ถ่ายทอดแก่ศิษย์อย่างไม่ปิดบังอีกว่า
"ท่านครูได้เมตตาถ่ายทอดวิธีการตีระนาดให้ผมมากมายหลายรูปแบบไม่ว่าจะเรื่อง แนวทีท่า ขึ้นลง สวมส่ง สอดแทรก ทอดถอน ขัดต่อ หลอกล้อ ล้วงลัก เหลื่อมล้ำ โฉบเฉี่ยว ที่ท่านเน้นเป็นพิเศษคือวิธีใช้เสียงและกลอนให้เกิดอารมณ์ต่างๆอันเป็นหัวใจสำคัญของ "ดนตรีที่ไพเราะ" เช่น กลอน (ทาง) สำนวนนี้ต้องใช้ เสียงกลม เสียงกลมหมายถึง ความเป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง อารมณ์สุขุมรอบคอบ ไม่ล่อกแล่กหลุกหลิก มีความภาคภูมิสมเป็นผู้นำที่ดี เสียงแก้ว แก้วหมายถึงใสดุจแสงแก้ว แวววาวตระการตาสว่างไสวเมื่อได้ยิน เสียงนี้ใช้เฉพาะเจาะจงในการบรรเลงระนาดมโหรี ท่านว่านักระนาดใดตีเสียงแก้วไม่ได้ไม่ใช่นักระนาดมโหรี เสียงร่อนผิวน้ำ ร่อนผิวน้ำหมายถึงความเริงร่าระเริงใจ ปราดเปรียวตามประสาวัยรุ่น เสียงร่อนริดไม้ ร่อนริดไม้หมายถึงชั้นเชิงเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมเขี้ยวเล็บประดุจเสือลายพาดกลอน เสียงร่อนใบไม้ไหวหมายถึงอารมณ์อันอ่อนไหวระคนไปด้วยความอ่อนหวานอันชวนให้คลั่งใคล้ไหลหลง เหมือนหนุ่มสาวที่กำลังมีอารมณ์รักปล่อยอารมณ์ไปกับแสงจันทร์ ฉะนั้น เสียงร่อนน้ำลึกหมายถึงความเป็นผู้มีอำนาจเป็นเจ้าแห่งจอมพลัง เป็นที่หวาดเกรงของคู่ต่อสู้ ฯลฯ เสียงพิเศษที่ผมนำมากล่าวในที่นี้ นักระนาดต้องผ่านการฝึกหัดตีฉากเสียก่อนจึงจะสามารถตีประดิษฐ์เสียงเหล่านี้ได้ถูกต้อง"
ครูประสิทธิ์ ถาวร ยังได้แจกแจงเรื่องเสียงระนาดแบบต่างๆที่ได้รับถ่ายทอดมาจากครูหลวงประดิษฐไพเราะฯไว้อีกแง่มุมหนึ่งว่า "ดนตรีก็มีภาษาโดยเฉพาะดนตรีไทย" เพียงระนาดเอกเครื่องมือเดียวก็สามารถประดิษฐ์เสียงสื่อความหมายได้ไม่น้อยกว่า 20 เสียง แต่ละเสียงให้ความหมายและความรู้สึกที่แตกต่างกันเอาทิช่น เสียงกลม - เสียงแก้ว - กรอ - กริก - กรุบ - กาไหล่ - กลอกกลิ้ง, กลิ้งเกลือก - ปริบ - โปร่ง - โปรย - โรย - รัว - ร่อน - ร่อนริดไม้ , ร่อนใบไม้ไหว - ร่อนผิวน้ำ - ร่อนน้ำลึก - โต - โตผิวน้ำ - โตน้ำลึก , โขยก - ขยอก - สะบัด เป็นต้น
จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่าหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นผู้รวบรวมสัมฤทธิ์ภาพเรื่องระนาดเอกจากยุคก่อนมาไว้มากที่สุด ทั้งยังคัดสรรค์และสร้างเสริมวิธีตีระนาดเอกให้หลากหลายไพเราะยิ่งขึ้น จนได้รับยกย่องว่าเป็นนักระนาดเอก และครูระนาดเอกที่ยอดเยี่ยมที่สุดท่านหนึ่งของเมืองไทย
หลวงประดิษฐไพเราะฯเป็นบุตรคนเล็กของ ครูสิน ศิลปบรรเลง และ นางยิ้ม เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2424 ที่บ้านตำบลคลองดาวดึงส์ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีวิถีชีวิตและผลงานในเรื่องของดนตรีไทยสรุปได้ดังนี้
ปี พ.ศ. 2442 ได้เข้าเป็นจางวางมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
ปี พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯโปรดเกล้าฯให้เข้าไปบรรเลงปี่พาทย์ร่วมกับการแสดงโขนบรรดาศักดิ์ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐไพเราะ
ปี พ.ศ. 2469 เข้ารับราชการในกรมปี่พาทย์และโขนหลวง โดยสังกัดสำนักพระราชวัง
ปี พ.ศ. 2473 ดำรงตำแหน่งปลัดกรมปี่พาทย์และโขนหลวงต่อมาโอนมาอยู่กรมศิลปากร ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2497 ศิริรวมอายุได้ 72 ปี 7 เดือน 2 วัน