เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 9055 กบฎ ร.ศ. ๑๓๐ : สำหรับผู้อ่านเรือนไทยค่ะ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 19 ธ.ค. 00, 00:00

เรื่องนี้มีรายละเอียดหลายอย่างยาวเกินกว่าจะใส่ลงในบทความ
ใครใคร่ออกความเห็น / ตั้งคำถาม/ ท้วงติง/ สงสัย/ เชิญที่นี่ได้เลยค่ะ
บันทึกการเข้า
อักกา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 16 ธ.ค. 00, 11:02

ผมเข้าใจว่าผู้ร่วมกบฎวางแผนลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่๖ เพื่อจัดตั้งการปกครองระบอบสาธารณรัฐแต่มีผู้กลัวคำถือนำ้พระพิพัฒน์ฯจึงแจ้งให้กลับทางราชการ รู้สึกว่าจะแจ้งให้กับเจ้าฟ้าจักรพงษ์โดยตรงเพราะทรงเป็นครูและผู้บังคับบัญชาในฐานะเสนาบดีกลาโหม
ผมจำได้เลือนๆจากกำเนิดวังปารุสก์ฯ ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 16 ธ.ค. 00, 12:35

คณะกรรมการที่ไต่สวนกบฎ  สรุปสำนวนว่า
"....นายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์เป็นต้นคิด และหัวหน้าคณะแห่งคนพวกนี้ที่ปรากฏว่าคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมือง    และคิดกระทำการถึงประทุษร้ายต่อประชาชนและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"
ประโยคหลัง  เข้าใจว่า...คิดถึงขั้นปลงพระชนม์
เพราะอ่านจากพระบรมราชวินิจฉัย ของพระเจ้าอยู่หัว มีตอบมาตอนหนึ่ง
" เห็นว่ากรรมการพิพากษาลงโทษพวกเหล่านี้ ชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมายทุกประการแล้ว   แต่ว่าความผิดของพวกเหล่านี้มีข้อสำคัญที่จะกระทำร้ายต่อตัวเรา  เราไม่ได้มีจิตพยาบาทอาฆาตมาดร้ายต่อพวกนี้  เห็นควรที่จะลดหย่อนผ่อนโทษโดยฐานกรุณา  ซึ่งเป็นอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินจะยกให้ได้"

คนที่นำความลับของคณะกบฎมาทูลกรมหลวงพิษณุโลกฯ  คณะกบฎเชื่อว่าคือร้อยเอกยุทธ (ขุนยุทธกาจกำจร)
จะว่าร้อยเอกยุทธทรยศต่อพวกเดียวกัน  ก็ไม่เชิงนัก เพราะมีเหตุหลายอย่างชวนให้คิดได้ว่าเขาเป็นสายสืบของทางราชการ  
เพราะเขาไม่ได้เป็นแต่เพียงมาทูลฝ่ายเจ้านาย  แต่ว่าเขียนรายงานลับระบุชื่อใครต่อใครที่เข้าประชุมวางแผนด้วย  บอกเอาไว้ว่าใครมีบทบาททำอะไรบ้างในที่ประชุม เป็นรายงานแบบมืออาชีพ
นอกจากนี้  การชักชวนคนเข้าร่วมกบฎ ก็ค่อนข้างหละหลวม   คือชวนกันง่ายๆเพียงแค่เห็นว่าคนนั้นเป็นคน "หัวสมัยใหม่" แต่ไม่ใช่เพื่อนสนิทสนมคุ้นเคยกันมาก่อน   ทำให้เกิดมีคนสวมรอยเข้ามาหาเบาะแสได้ง่ายมาก
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 17 ธ.ค. 00, 21:14

ความในพระราชหฤทัยพระเจ้าอยู่หัว ร.6 เป็นอย่างไรก็สุดที่ผมจะรู้น้ำพระทัยได้
 
แต่ผมเคยอ่านบทละครพระราชนิพนธ์ เรื่อง ฉวยอำนาจ ซึ่งทรงแต่งให้มีเหตุการณ์คล้ายๆ กรณีกบฏครั้งนี้เลย พระเอกของละครเรื่องนั้นปลอมพระองค์ไปในที่ชุมนุมของผู้ก่อการด้วย แต่ไม่ใช่ร้อยเอกยุทธ ตามเรื่องละครกลายเป็นตัวพระเจ้าแผ่นดินที่ผู้ก่อการทั้งหลายจะยึดอำนาจนั่นเอง เป็นพระเอก และตามเรื่องละคร ผู้ก่อการทำการไม่สำเร็จ (เพราะพระราชาเองทรงรู้เรื่องเสียหมดแล้ว) แต่ก็ไม่ได้จบลงด้วยความรุนแรง

เรื่องพระมหากรุณาธิคุณต่อกลุ่มกบฏนั้นก็ส่วนหนึ่ง เรื่องที่ทรงมีน้ำพระทัยเป็นนักกีฬาโปรดใช้พระนามแฝงแต่งบทพระราชนิพนธ์ในทางการบ้านเมืองไปลง นสพ.แล้วทรงรับคำวิจารณ์ของนักเขียนอื่นๆ ประหนึ่งว่าทรงเป็นนักเขียนสามัญได้ ก็ส่วนหนึ่ง เรื่องเมืองจำลองดุสิตธานีก็อีกส่วนหนึ่ง เหล่านี้ล้วนเป็นหลักฐานที่มักมีผู้ยกมาอ้างว่า ในหลวง ร.6 ทรงมีจิตวิญญาณเป็นประชาธิปไตย ผมเห็นว่า โยส่วนพระองค์ ทรงมีน้ำพระทัยเป็นนักกีฬา ซึงก็ดี แต่ยังไม่แน่ใจในแนวพระราชดำริทางการบ้านการเมืองนัก
ผมได้กล่าวแล้วว่าผมไม่สามารถรู้ความในพระทัยแท้จริงได้ แต่เท่าที่ดูจากงานพระราชนิพนธ์ เราสามารถโต้แย้งได้เช่นกันว่า ในพระราชดำริทางการเมืองยังคงทรงสงสัยในระบอบประชาธิปไตยอยู่ หรือยังไม่ทรงเห็นว่าเมืองไทยพร้อมที่จะมีประชาธิปไตยแล้ว ผมยังอยากจะเชื่อว่าทรงเป็นนักชาตินิยมมากกว่า
ในรัชสมัยพระองค์นั้น อุดมการณ์ชาตินิยมจัดยังเป็นที่ยอมรับกันอยู่นะครับ ไม่เหมือนตอนหลังที่อุดมการณ์ชาตินิยมฟาสซิสต์ กลายเป็นเชื้อชาตินิยมและเผด็จการ (ซึ่งเป็นที่ยอมรับไม่ได้) ไป
อยากจะอาจเอื้อมเดาว่า ทรงเชื่อโดยบริสุทธิ์ในพระทัย ด้วยความทรงหวังดีต่อประเทศจริงๆ ว่า สิ่งที่เหมาะกับสยามขณะนั้น คือการปกครองแบบชาตินิยมภายใต้การนำของสถาบันกษัตริย์ นำฝูงประชาชนเดินตามไปสู่ทางที่ถูกที่ควร พระราชนิพนธ์หลายๆ ชิ้นเป็นไปในแนวนี้ ไม่ปรากฏว่าทรงเห็นพ้องสักเท่าไหร่นักกับการเมืองแบบประชาชนมีส่วนร่วม เพราะทรงเกรงว่าจะเลอะเทอะกันยุ่ง ข้อนี้ไม่ทราบว่าปัญญาชนสยามและทหารรุ่นใหม่เห็นด้วยไหม ดูจากกบฏครั้งนี้ก็เห็นชัด ว่าไม่เห็นด้วย เขาอยากมีส่วนร่วมบ้าง
ในฉากสุดท้ายของละครเรื่องฉวยอำนาจ (ซึ่งตามเรื่อง ฉากบ้านเมืองเป็นเมืองฝรั่งสมมติแห่งหนึ่ง) พระเจ้าแผ่นดินเผยพระองค์ ทุกคนทั้งทหารฝ่ายกษัตริย์ฝ่ายผู้ก่อการ ก็ถวายความเคารพแบบโรมัน ยอมยกพระองค์เป็นดุจซีซาร์จักรพรรดิโรมันโบราณ สมัยนั้น (คือก่อนสงครามโลกครั้ง 2) การทำความเคารพแบบโรมันก็คงจะเป็นเรื่องเฉยๆ ไม่มีอะไร แต่ผมซึ่งเป็นคนยุคนี้ อ่านมาถึงตรงนี้แล้วสะดุดสักหน่อย เพราะเผอิญการทำความเคารพแบบโรมันนั้น ต่อมามุสโสลินีและฮิตเล่อร์หยิบยืมเอาไปใช้ในฟาสซิสต์อิตาลีและนาซีเยอรมันด้วย...
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 17 ธ.ค. 00, 21:51

ดิฉันเองบางครั้ง ก็สองจิตสองใจเรื่องประชาธิปไตยในพระราโชบายในรัชกาลที่ ๖
เพราะความคิดหนึ่ง คือเห็นว่าท่านเป็นนักประชาธิปไตย ในแง่พระทัยกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่วิจารณ์ลงหนังสือพิมพ์ และอื่นๆ
แม้แต่พวกลำตัดเอาพระองค์ท่านมาล้อเลียนเสียดสี  ก็ไม่ทรงถือสา
แม้แต่ในคำให้การของกบฎ ร.ศ. ๑๓๐ ที่บอกวัตถุประสงค์การปฏิวัติ (๓ข้อตามที่เขียนไว้ในบทความ)
เมื่อทรงได้อ่านจากคณะกรรมการนำขึ้นถวาย  ก็ทรงขีดเส้นใต้ข้อความที่กบฎพูดว่า การปฎิวัตินี้มีคุณแก่บ้านเมือง แล้วทรงอักษรกำกับว่า
" ข้อนี้จะว่าไปของมันก็จริงอยู่"
จริงอยู่...คืออะไร  คือระบบรัฐสภา  มีคุณแก่บ้านเมือง?
แต่....
ในจดหมายเหตุรายวัน ที่ทรงบันทึกไว้ แสดงว่าทรงเข้าใจระบบประชาธิปไตยดี( ไม่แปลก  ในเมื่อทรงศึกษาที่อังกฤษมาถึง ๙ ปี)   แต่เห็นว่ายังไม่ถึงเวลานำมาใช้ในสังคมไทย  และทรงต่อต้านระบบสาธารณรัฐมากเป็นพิเศษด้วย
ไม่ทรงเชื่อว่าพวกกบฎนี้จะเข้าใจถ่องแท้ถึงระบบประชาธิปไตย
แต่เป็นประเภท "นักรู้การเมือง "  ที่ใช้โวหารลวงประชาชนให้ตายใจ  เพื่อใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือไปสู่อำนาจของตน

อีกข้อที่ทรงตำหนิรุนแรง คือ
" ผู้ที่แสดงตนเป็นคนรักชาติมากที่สุด  มักเป็นคนที่เห็นแก่ตัวที่สุด"
ก็หมายถึงกบฎ ร.ศ. ๑๓๐ อีกเหมือนกัน

ขอเวลาไปย่อยพระราชวิจารณ์ระบบการเมือง    อ่านแล้ว รู้สึกว่าถึงเวลานี้ก็ยังทันสมัยอยู่  สำหรับการเมืองไทยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 17 ธ.ค. 00, 22:06

ระบบการปกครองแบบโรมัน ไม่ใช่สมบูรณาฯ ไม่ใช่หรือคะ มีสภา senate ด้วยหรือเปล่า
 จำไม่ได้แล้ว เคยรู้งูๆปลาๆ  ไม่แน่ใจว่าซีซาร์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดแบบกษัตริย์ หรือว่าสูงแบบนายกรัฐมนตรีที่ต้องมีคณะรัฐบาลช่วยบริหาร
ที่ถามเพราะตีความไม่ถูกว่า ในละครพระราชนิพนธ์  ท่านทรงหมายความว่า ในที่สุดตัวละครอื่นๆก็ยอมรับราชาธิปไตย
หรือว่า ทรงเลือกรูปแบบโรมัน เพราะมันยังพอมีสภา มีหลายคนออกความเห็น   ไม่ใช่อำนาจเบ็ดเสร็จเสียทีเดียว
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 17 ธ.ค. 00, 22:23

ของโรมันเดิมเป็นยังงั้นครับ คือมีสภาเซเนท แต่ต่อมา ซีซาร์ กลายไปเป็นตำแหน่งจักรพรรดิผู้กุมอำนาจสูงสุดไป โดยเฉพาะหลังยุคจูเลียส ซีซาร์
แต่ของโรมันจริงๆ จะเป็นอย่างไรก็สุดแท้แต่โรมัน แต่ในเรื่อง ฉวยอำนาจ ความคิดที่ทรงสอดแทรกในบทละคร เกี่ยวกับการเมืองที่เหมาะสมของเมืองฝรั่งสมมติ (ที่ไม่ใช่โรมัน) นั่น หมายถึงราชาธิปไตย ถ้าผมจำคำพูดตัวละครต่างๆ ไม่ผิด เป็นราชาธิปไตยครับ
ซีซาร์ เป็นแค่สัญลักษณ์เสริมอำนาจกษัตริย์เท่านั้นเอง คือเป็นรูปแบบในการเฉลิมพระเกียรติ ผมมองว่า ไม่ทรงมุ่งถึงเนื้อหาของระบบซีซาร์ เพียงแต่เอาคำว่าซีซาร์ที่ตอนหลังมีความหมายนัยว่า มหาจักรพรรดิ มาเฉลิมพระเกียรติตัวละครของพระองค์ที่เป็นพระราชา
เทียบกับเหตุการณ์จริงในรัชสมัย ที่ทรงหยิบยกสัญลักษณ์พระราม (ที่ไทยเราแต่ก่อนก็ใช้อยู่บ้าง) มาโปรโมทใช้ใหม่อย่างมากๆ ในการเฉลิมพระเกียรติสถาบันกษัตริย์ นี้จะว่าทรงพยายามจะดึงความคิดคุณธรรมของพระรามจันทร์มาใช้กับราชาธิปไตยไทยด้วยหรือไม่ ผมว่าไม่ได้ตั้งพระทัยถึงขนาดนั้น เอามาใช้แค่เป็นสัญลักษณ์เฉยๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 17 ธ.ค. 00, 23:31

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวิจารณ์ว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยมีข้อดีในทางทฤษฎี   เพราะตัดความไม่แน่นอนในคุณสมบัติของผู้นำได้   เนื่องจากมาจากการเลือกตั้ง มีบุคคลหลายคนมาบริหาร ไม่ใช่สืบตระกูลปกครองโดยคนคนเดียว  แต่ก็มีผลเสีย   ตรงที่
๑  ถ้าประชาชนไม่มีความรู้พอจะปกครองตนเองได้ ก็อาจสร้างมติมหาชนไปในทางเป็นผลร้ายต่อประเทศ
๒   ถ้าประชาชนไม่เข้าใจการเลือกตั้ง  ก็ไม่อาจเลือกคนดีเข้าสภา  แต่อาจเลือกเพราะได้สินบนหรือมีคนมาจูงใจ   ฉะนั้นประชาธิปไตยก็กลายเป็นคณาธิปไตย  คือคนกลุ่มเดียวมาปกครอง
๓    ประชาธิปไตยมีนักการเมืองผลัดเปลี่ยนกันมาปกครอง   ถ้าเปลี่ยนบ่อยเท่าไร ก็มีผลร้ายให้นโยบายต่างๆไม่ต่อเนื่อง   การงานก็ล่าช้า   อำนาจแท้จริงจะไปตกที่ข้าราชการประจำซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติตัวจริง    ระบอบสมบูรณาฯก็มีข้าราชการทำงานหน้าที่นี้อยู่แล้ว
๔   อำนาจจะตกในมือพรรคการเมืองไม่ใช่ประชาชน    ถ้าพรรคการเมืองไหนมีทุนมากก็ล่อใจประชาชนให้เลือกได้มากกว่าพรรคที่มีทุนน้อย    คนกลุ่มนี้ละที่กุมอำนาจแท้จริง  ไม่ใช่ประชาชน   การลงมติในสภาก็เป็นไปตามประโยชน์ของคนกลุ่มนี้ไม่ใช่ผลประโยชน์ของประชาชน
๕    ประชาธิปไตยแก้ปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวงไม่ได้   เพราะระบอบนี้ยังไงก็ต้องมีกลุ่มคนมีอำนาจที่จะให้บำเหน็จรางวัลแก่ใครๆได้ตามใจชอบ  
ทรงวิเคราะห์ว่า
" ถ้าผู้มีอำนาจยังมีทางที่เลือกให้บำเหน็จแก่ใครๆ ได้ตามใจชอบอยู่ตราบใด   คนสอพลอและคนหัวประจบก็ยังต้องมีอยู่ตราบนั้น   จะผิดกันก็แต่ชื่อที่เรียกผู้มีอำนาจเท่านั้น"

ฟังๆดูแล้ว  เหมือนว่าทรงเห็นว่าประชาธิปไตยถ้าไม่ได้คนดีมาบริหารเสียอย่าง  ยังไงประชาชนก็ไม่ได้รับผลดีจากระบอบที่มีตัวแทนประชาชน
พูดอีกทีคือระบอบประชาธิปไตยไม่อาจกลั่นกรองหาคนดีมาได้   แม้ว่าจะมีการเลือกตั้ง มีตัวแทนประชาชนก็ตาม
ถ้าอย่างนั้นจะหมายความว่า ถ้าปกครองโดยบุคคลคนเดียวแต่เป็นคนดี  จะดีกว่าปกครองโดยคนหลายคนที่เป็นคนไม่ดี ได้หรือไม่?
ถ้าทรงเชื่ออย่างนั้นก็น่าจะสอดคล้องกับความค้ดแบบชาตินิยม คือปลูกฝังให้ศรัทธาในชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ไว้ดีกว่าจะไปศรัทธากับระบบอื่น
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 18 ธ.ค. 00, 11:21

ขอแสดงความคิดเห็นข้างเรื่องสักนิดนะครับ

ระบอบราชาธิปไตยเองมีกลไกที่ใช้ในการแก้ไขปัญหากรณีที่การสืบราชบัลลังก์ตกแก่ผู้ขาดประสิทธิภาพได้โดยกลไกการชิงราชสมบัติโดยผู้ที่มีอำนาจมากกว่า มีผู้สนับสนุนมากกว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยของไทยนั้น ดูเหมือนจะเป็น coup d'etat เพียงแต่ว่ากลุ่มผู้ก่อการนำ "แบบอย่าง" ของประชาธิปไตยมาใช้เท่านั้นเองครับ เหตุผลของกระทำ coup ก็ไม่แตกต่างกับที่เป็นมาคือการไม่พอใจการบริหาร (ซึ่งหมายรวมถึงการเสียผลประโยชน์เฉพาะตนด้วย) จะสังเกตเห็นได้ว่ากลุ่มผู้ก่อการเป็นกลุ่มข้าราชการ ไม่ใช่การปฏิวัติประชาชนครับ กลไกนี้ยังถูกใช้ต่อมาอีกหลายสิบปีโดยผู้มีอำนาจในมือ ซึ่งแสดงว่าอำนาจยังไม่ได้อยู่ที่ประชาชนโดยแท้จริงครับ

ฝากไว้ให้คิด(เครียด)เล่นๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 18 ธ.ค. 00, 16:09

ขอโยงความคิดของคุณ CrazyHOrse กลับมาที่กบฏร.ศ. ๑๓๐ อีกครั้ง
เคยสมมุติเล่นๆว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากว่าทหารหนุ่มกลุ่มนี้ทำการได้สำเร็จ  สามารถผลัดบัลลังก์จากร. ๖ มาเป็นพระเจ้าพี่ยาเธอหรือน้องยาเธอพระองค์ใดพระองค์หนึ่งได้
คำตอบคือ  เขาต้องรู้อยู่แล้วว่าเจ้านายองค์ที่ได้รับเชิญมานั้น ไม่มีทางที่จะเป็นผู้ปกครองเขาได้  เพราะระบบมันเปลี่ยนไปแล้ว
พระองค์ก็คงจะเป็นได้แต่ประมุขทางพิธีการ  อำนาจการตัดสินบริหารประเทศจะต้องตกอยู่ในคนกลุ่มใหม่
พวกเขาจะได้เป็นผู้กุมอำนาจแต่กลุ่มเดียว หรือว่าส่งอำนาจต่อให้ประชาชนก็ตาม  ก็ค่อนข้างแน่นอนว่า เขาคงจะไม่พ้นการมีอำนาจอยู่ดี
ไม่ใช่ว่าปฏิวัติได้เสร็จก็หมดงานไม่เหลืออะไรอีกนอกจากหน้าที่เดิมก่อนปฏิวัติ   คณะปฏิวัติไหนๆก็คงไม่ยอมทำอะไรแบบสูญเปล่าอย่างนั้น
อำนาจจากการปฏิวัติ ไม่ว่าจะอ้างประชาธิปไตยหรืออะไรก็ตาม จึงเลื่อนจากมือ "คนหนึ่งคน" มาสู่ "คนหนึ่งกลุ่ม" เท่านั้น  แต่จะเลื่อนไปสู่ "คนส่วนใหญ่ของประเทศ"หรือไม่  ก็แล้วแต่พวกเขา

การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี ๗๕ ก็มีจุดมุ่งหมายคล้ายกับกบฎ ร.ศ. ๑๓๐  ต่างกันแต่ว่าทำสำเร็จ
หลังจากนั้น  อำนาจจากคนหนึ่งคนก็เลื่อนมาสู่คนหนึ่งกลุ่ม คือคณะราษฎร์
แล้วคนกลุ่มนั้นก็ไม่อาจมีอำนาจตามแนวทางที่ตนวางไว้  อย่างน้อยในตอนแรก  การมี ๒ สภา  ที่สภาหนึ่งมาจากผู้แทนราษฎร  อีกสภามาจากขุนนางในระบบเก่า ก็แสดงว่ายังไม่หลุดจากระบบเก่าอยู่ดี
อำนาจถูกเปลี่ยนมือด้วยการรัฐประหาร ในปี ๗๖  เมื่อพระยาพหลฯ ปลดพระยามโนปกรณ์ ออกจากตำแหน่งยกรัฐมนตรี
ก่อนมีกบฎบวรเดช  ทำให้เห็นว่าจุดเริ่มต้นของวัฏจักรการชิงอำนาจเริ่มขึ้นตรงนั้น
แล้วมาจบรูปแบบเอาเมื่อ ตุลา ๒๕๑๙  เข้าสู่ระบบรัฐสภาในปัจจุบัน
สภาพการเมืองปัจจุบันทำให้เกิดคำถามหลายๆอย่างที่ย้อนไปถึงพระราชวิจารณ์ของร. ๖  อีกครั้ง
คิดตามคุณ CrazyHOrse แล้วเครียดค่ะเครียด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 18 ธ.ค. 00, 16:22

อ่านพบพระราชปรารภในรัชกาลที่ ๗  เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๙ มีข้อความที่น่าสนใจ จึงขอลอกมาให้อ่านตอนหนึ่งค่ะ
" ในรัชสมัยที่เพิ่งสิ้นสุด(รัชกาลที่ ๖) หลายสิ่งหลายอย่างได้ทวีความเลวร้ายลงไปมาก   เนื่องจากเหตุหลายประการ....พระเจ้าแผ่นดินกลายเป็นผู้ที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของข้าราชบริพารคนโปรด   ข้าราชการทุกคนถูกเพ่งเล็งบ้างมากบ้างน้อยในด้านฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือเล่นพรรคเล่นพวก   ยังนับเป็นโชคที่พระบรมวงศานุวงศ์ยังเป็นที่เคารพยกย่องว่าซื่อสัตย์    สิ่งที่เป็นที่น่าเสียใจยิ่งคือ  พระราชสำนักของพระองค์เป็นที่เกลียดชังอย่างรุนแรง   และในตอนรัชสมัยก็ถูกล้อเลียนเยาะเย้ย  กำเนิดของหนังสือพิมพ์ ฟรีเพรส ทำให้สถานการณ์ในขณะนั้น ขยายตัวเลวร้ายมากขึ้น   ฐานะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นสิ่งหนึ่งที่ตกอยู่ในสภาวะลำบาก    ความเคลื่อนไหวทางความคิดในประเทศแสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดว่า ระยะเวลาของระบบเอกาธิปไตยเหลือน้อยลงเต็มที"  
อีก ๖ ปีต่อจากนั้น ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 18 ธ.ค. 00, 16:45

ขอถาม ย้ำความจำที่ชักจะเลือนๆ
นายร้อยเอก ขุนทวยหารพิทักษ์ คนที่ร่วมทำกบฏนี้ ชื่อเหล็ง ศรีจันทร์ ใช่ไหมครับ (ดูเหมือนน้องชายจะชื่อเหรียญ ศรีจันทร์) ท่านขุนเป็นหมอทหาร เมื่อถูกจับ ถูกถอดยศและบรรดาศักดิ์ ก็กลายเป็นนายเหล็งธรรมดา และโดยที่มีวุฒิเป็นหมออยู่ จึงเรียกกันว่า หมอเหล็ง
ผมอยากรู้ว่า ซอยหมอเหล็งที่ "ลูกชาวบ้าน" ท่านหนึ่งเช่าบ้านอยู่ในขณะนี้นั้น เกี่ยวพันอย่างไรกับผู้นำกบฏ ร.ศ. 130 คนนี้ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 18 ธ.ค. 00, 17:49

ขุนทวยหารพิทักษ์หรือหมอเหล็ง ศรัจันทร์เป็นหัวหน้าใหญ่ ๑ ใน ๓ ของกบฎ  มีโทษถึงประหารชีวิต
น้องชายของท่านคือนายร้อยตรีเหรียญ  ก็ร่วมก่อการด้วย
เมื่อพ้นโทษตอนปลายรัชกาล   ขุนทวยหารตั้งห้างขายยาชื่อ "โยคีสถาน"  ภายหลังเปลี่ยนเป็นห้างศรีจันทร์  ส่วนร้อยตรีเหรียญ เปิดร้านค้าชื่อ สินค้าไทย
ดิฉันเข้าใจว่าซอยหมอเหล็งคือที่อยู่เดิมของขุนทวยหาร  ตั้งชื่อตามท่านค่ะ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 18 ธ.ค. 00, 18:41

ข้อพระราชวิจารณ์ของในหลวง ร. 6 ซึ่งเป็นข้อวิจารณ์ประชาธิปไตยของคนอื่นๆ อีกหลายคน ทำไปทำมาก็ไม่พ้นการปกครอง 6 แบบ ของเพลโต้ ครับ รายละเอียดมีเยอะซึ่งผมลืมไปแล้ว
แต่สรุปประสาผมว่า เพลโต้บอกว่า การปกครองอาจจะมีได้ในรูปคนเดียวกุมอำนาจ คณะบุคคลคุมอำนาจ และ "ประชาชน" มีอำนาจ (แต่ประชาชนที่นี้ไม่รวมผู้หญิง ไม่รวมทาส)
ในรูปที่ดีของการที่คนเดียวคุมอำนาจ เรียกว่าระบบกษัตริย์นักปรัชญา ถ้าเป็นรูปที่ไม่ดี เรียกว่าผู้เผด็จการทรราชย์
รูปที่ดีของกลุ่มคนคุมอำนาจเรียก อภิชนาธิปไตย aristocracy โดยคณะชนชั้นสูงที่มีความสามารถช่วยกันบริหาร ในรูปที่เลวคือคณะบุคคลแบ่งกันกินเมือง เรียก คณาธิปไตย Oligarchy
รูปที่ดีของคนหมู่มากเป็นใหญ่ อาจจะพอเรียกได้ว่าประชาธิปไตย แต่รูปที่เสียก็คือ การปกครองแบบฝูงชนพวกมากลากไป จะเรียกว่า Mobocracy ก็คงได้มั้ง
อันนี้ผมสรุปเอาเองให้เข้าใจง่ายนะครับ อาจจะเพี้ยนไปจากแนวความคิดปรัชญากรีกของเพลโต้จริงๆ ไปได้ เพราะ 1. สังคมกรีกกับเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเหมือนกัน 2. ผมลืมรายละเอียดจริงๆ ไปแล้ว ผู้ศึกษาทางนี้โปรดแก้ไขผมด้วย

แต่ข้อสรุปหลักก็คือว่า ทุกรูปแบบมีด้านที่ดีและไม่ดี ราชาธิปไตยที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อองค์การอื่นใดเลย อาจจะนำไปสู่ระบบทรราชย์ก็ได้ ข้อที่เป็นพระราชวิจารณ์ คือว่า  "ประชาธิปไตย"  จะกลายไปเป็นม้อบ หรือกลายไปเป็นเครื่องมือให้คณาธิปไตยนั้น เราอาจจะเถียงได้ว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นก็ได้ และคณาธิปไตยนั้น โดยตัวของมันเองเลวร้ายอย่างไรหรือ อีกด้านหนึ่งของคณะธิปไตยก็คืออภิชนาธิปไตย ระบบขุนนางอภิชน (โดยกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของอภิชน) ก็คือระบบที่เป็นอยู่แล้วใน ร. 6 นั่นเอง

รูปแบบเป็นเรื่องหนึ่ง แต่คนที่จะได้เข้ามาบริหารรูปแบบนั้นเป็นอีกเรื่อง ทำอย่างไรถึงจะได้คนดีมาบริหารระบบ ? วันที่ 6 มกราเลือกกันให้ดีก็แล้วกันครับ
คิดถึงพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลปัจจุบัน ที่ว่า ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ...ฯลฯ
ประเด็นของพระราชดำรัสองค์นี้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก จะทำอย่างไรไม่ให้คนไม่ดีขึ้นมามีอำนาจปกครองบ้านเมือง ในรูประบบไหนก็เถอะ จะสกัดยังไง
รัฐธรรมนูญใหม่ให้ความสำคัญของการตรวจสอบได้ มีกลไกตรวจสอบ เช่น ปปช. กกต. ก็หวังว่าจะช่วยให้ดีขึ้นครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 18 ธ.ค. 00, 19:17

*****จะทำอย่างไรไม่ให้คนไม่ดีขึ้นมามีอำนาจปกครองบ้านเมือง ในรูประบบไหนก็เถอะ จะสกัดยังไง******
ความเห็นหนึ่ง- มีองค์การอิสระ(จริงๆ)ที่สนองประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่
สามารถทำงานตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารและข้าราชประจำได้  ไม่กลัวการลูบหน้าปะจมูก ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

******ข้อที่เป็นพระราชวิจารณ์ คือว่า "ประชาธิปไตย" จะกลายไปเป็นม้อบ หรือกลายไปเป็นเครื่องมือให้คณาธิปไตยนั้น เราอาจจะเถียงได้ว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นก็ได้ *****
เห็นด้วยค่ะว่าไม่จำเป็น  
ตั้งข้อสังเกตส่วนตัวว่า ทรงวิจารณ์เหมือนกับว่า "ูรูปแบบ"ของประชาธิปไตย ที่จะต้องมีการเลือกผู้แทนนี่แหละ คือการนำไปสู่การติดสินบนจูงใจคน เพราะลักษณะมันเอื้อต่อการทำเช่นนั้น เพราะเป็นการง่ายที่สุดที่จะทำให้ได้รับเลือก
โดยเฉพาะระบอบนี้เอื้อให้ใครก็ได้สมัครเป็นผู้แทน  ไม่มีการกลั่นกรองคุณสมบัติว่าดีไหม ฉลาดไหม  เก่งไหมเหมาะสมกับงานในหน้าที่หรือเปล่า
ทีนี้มานึกว่าถ้าการเลือกตั้งเอื้อให้เกิดสิ่งนี้  แล้วอะไรแบบไหนล่ะจะทำให้ไม่เกิด
คำตอบ ก็เดาต่อไปว่า น่าจะเป็นการ"แต่งตั้ง"ผู้มีความรู้ความสามารถมาเป็นตัวแทนประชาชน  เพราะทำแบบนี้จะได้คนดีคนฉลาด
ถ้างั้นใครเป็นคนเลือกคนดีคนฉลาดเหล่านี้  ก็คือคนที่อยู่ข้างบนสุด ที่เป็นคนดีนั่นเอง

ดิฉันเชื่อว่าสิ่งที่รัชกาลที่ ๖ ทรงตั้งพระทัยกระทำ คือการสร้างคนรุ่นใหม่กลุ่มใหม่ขึ้นมา ไม่ใช่กลุ่มคนที่มีอยู่เดิม ต่อเนื่องมาจากสมัยรัชกาลที่ ๕  
แล้วอบรมให้เป็นคนเก่งคนเข้าใจการปกครองที่ทันสมัยอย่างอารยประเทศ  เพื่อเตรียมคนพวกนี้ไว้สำหรับบ้านเมือง
พร้อมกับไม่ทรงลืมความคิดแบบชาตินิยม ที่เน้นชาติศาสนาพระมหากษัตริย์
คนพวกนั้นก็คือข้าราชบริพารที่มาร่วมในดุสิตธานี  พวกที่เป็นเสือป่า เป็นต้น  เพราะเป็นคนที่ทรงไว้วางพระทัย
ก็น่าเสียดาย ที่คนเหล่านี้กลับไม่เป็นที่นิยมของคนภายนอก  จนเรียกได้ว่าก่อความรู้สึกปรปักษ์กับคนนอกอย่างรุนแรง
บทบาทของพวกเขาก็ไม่ได้ขยายออกไปสู่การปกครอง เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของบ้านเมือง อย่างบรรดาพระเจ้าน้องยาเธอหลายๆพระองค์ในรัชกาลที่ ๕ ที่ช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจ  มาจนสิ้นรัชกาล
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 19 คำสั่ง