เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 56881 นิราศเมืองเพชร
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 14 ก.ค. 07, 20:58

กลอนที่เชื่อว่าเป็นของสุนทรภู่นั้น มีตกค้างอยู่ในตู้หนังสือของชนชั้นผู้ดีในบางกอกมากมาย
สมเด็จท่านก็ขอบริจาคเข้ามาตั้งแต่ทรงเป็นสภานายก แต่ท่านเอง ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญสุนทรภู่ คนชั้นสูงส่วนมาก ไม่ยกย่องสุนทรภู่
แม้ว่าแกจะดังคับฟ้ามาตั้งแต่หมอสมิทพิมพ์พระอภัยมณี และกลอนเล่มสารพัดเรื่อง มาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 ก็ตาม

บุษบาท่าเรือจ้างคงจะเป็นคนแรกที่ยกย่องสุนทรภู่ว่า พ่อภู่ครูกวี และเทียนวรรณมาดำเนินรอยตาม ช่วงกลางรัชกาลที่ 5
ดูเหมือนท่านสุนทรจะมา"ขึ้นหิ้ง" เอาเมื่อสมเด็จหาบทประพันธ์สั้นๆ เพื่อทรงพิมพ์แจกงานซายิด 2365
ได้เสภาพระราชพงศาวดาร จึงทรงแต่งประวัติสุนทรภู่ไว้

ประวัติท่านภู่ เคยได้รับการรวบรวมไว้ก่อนหน้านั้นสิบปี โดยพระยาปริยัติธรรมธาดา
ท่านเจ้าคุณไปเที่ยวจดเรื่องเกร็ดต่างๆ รวบรวมเอาไว้เป็นท่อนๆ สั้นๆ เก็บเล็กประสมน้อย
บางเรื่องก็ซ้ำกัน ท่านก็บอกที่มาของเรื่องไว้ ทั้งหมดราว 30 เกล็ดกระมัง
หลายเกล็ดก็แย้งกันเอง

ผมเข้าใจว่าสมเด็จจะได้ทรงผลงานรวบรวมนี้ เพราะท่านเจ้าคุณเป็นมือขวาของพระองค์อยู่แล้ว
แต่สมเด็จทรงพระเมตตาผู้อ่าน เกรงจะสับสน(กระมัง)
จึงทรงชำระเอาตามที่ทรงเห็นสมควร แล้วเผยแพร่ไปตามนั้น เราก็รับมาใช้ จะทำอย่างไรได้เล่าครับ

ผมมาพบว่าสมเด็จ ไม่ใคร่ชำนาณวรรณคดีก็เมื่ออ่านสาส์นสมเด็จ พบว่า สมเด็จนริศฯ ทรงแก้ความตอนผูกศออรทัยเสียใหม่
เพราะที่ทรงไว้เดิมนั้น ผิดหมด

สรุปตรงนี้ก็คือ สุนทรภู่และงานของท่าน อาจจะถึงเวลาต้องชำระใหม่หมดเสียที
ผมเองลองพยายามแล้ว กลายเป็นต้องตัดบทประพันธ์สี่ชิ้นทิ้งไป อาจจะสะเทือนใจมิตรรักนักกลอนมากไปหน่อย

ด้วยความจนใจครับ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 14 ก.ค. 07, 20:59

มาหาเรื่องต่อ
เรื่องลูก
หลักฐานจากสุนทรภู่เอง ท่านก็เล่าไว้ชัดๆ ว่าท่านมีลูกสองหน่อคือ หนูพัด หนูตาบ
ใครอื่นจะแถมหนูนิล หนูน้อย หนูมะติ๊มะต๊อด ผมขอยังไม่รับ ต้องไปปรึกษาท่านก่อน

เรื่องเจ้านาย
หลักฐานจากสุนทรภู่เอง ก็บอกว่า ท่านเป็นข้าเจ้าฟ้ากุณฑลกับเจ้าฟ้าน้อยๆ ทั้งสาม
จะลดศักดิ์ไปพึ่ง"เสด็จ"ก็กระไรอยู่ ยิ่งในช่วงที่เจ้าฟ้ากุณฑลยังดำรงพระชนม์อยู่ ทำไม่ได้เด็ดขาด
ท่านได้พึ่งเจ้าฟ้าน้อย ก็เมื่อเจ้านายเดิมสิ้นพระชนม์แล้ว และฟ้าน้อย อย่างไรก็สูงศักดิ์พอที่จะไม่หลู่ศักดิ์นายเดิม

เรื่องวัยหนุ่ม
เราต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนนะครับ เพราะชีวิตสุนทรภู่ดูเหมือนจะมีหลายเวอร์ชั่นอยู่
เราจะลองสางเวลากลับไป ตั้งต้นที่ปี 2375 อันเป็นปีที่เราเชื่อว่าแกไปนิราศเมืองเพชร จะผิดไปก็ไม่กี่เดือนดอก
ปีนั้น สุนทรภู่เพิ่งเสร็จสอนหนังสือเจ้านายน้อย เพราะเจ้าฟ้ากลางคงจะโสกันต์ปี 2374
ปีนั้น สุนทรภู่ยังเป็นมหาเถรอยู่ ตามคำของเณรกลั่น และกำลังอยู่ระหว่างทางไปพระแท่นดงรัง
ปีนั้น เณรกลั่นออกนามลูกครูว่า พี่เณรพัด กับน้องหนูตาบ

สรุปว่า สุนทรภู่(ของแท้) จะรับอาสา"เสด็จ" นิรนามไปหาสิ่งของต้องประสงค์โดยถอดผ้าเหลืองด้วย...เป็นไปไม่ได้
เราจะเลื่อนทริปเพชรบุรีเข้ามาก่อน 2375 ยิ่งไม่ได้ เพราะติดว่าเป็นครูพระอยู่
จึงต้องเลื่อนออกไป เป็น 2376, 2377, 2378....ตามแต่ใจปรารถนา
พร้อมกับการเลื่อนปีออกไปนี้ ก็ต้องหาเวลาเหมาะๆ ให้แกสึก
หาเจ้านายใหม่ ที่ต่ำชั้นลงมาเป็นเพียง"เสด็จ"
แล้วจะต้องเลื่อนออกไปให้นานมากพอ ที่แกจะเป็นขุนนางพ่อม่ายลูกติด มาเยือนเมืองเพชรสักหนสองหน
เพื่อรับกับคำที่แกทักสาวคนหนึ่งว่าท้องทุกปี

จากนั้น ต้องให้แกออกขาดราชกิจในปีวอก (ต้องเป็น 2379 แล้วนะครับ เป็น 2367 ไม่ได้ล่ะ)
เพื่อกลับเข้ามาบวชใหม่ เพื่อจะได้มีพระกวีที่บ่นอยากสึกในรำพันพิลาป
แล้วจาก 2379 นั้น แกจะต้องลุยประเทศไทยให้ครบตามกลอน เพื่อจะมาอยู่วิหารวัดเลียบเยียบเย็น
แล้วได้ไปอยู่วัดเทพธิดาราม........เฮ้อ เหนื่อย

นี่ผมยังไม่ได้เชิญพระองค์เจ้าลักขณาฯ ที่เขาลือกันว่าเป็นเจ้านายท่านภู่อีกพระองค์ เข้ามาสรวมบทบาทนะครับ
เชิญท่านมาก็จะต้องเชิญพี่สาวท่านมาอีก

...........มายก็อด ยุ่งอะไรเช่นนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 14 ก.ค. 07, 21:23

ปาเข้าไป ๙๒ ค.ห. รวมค.ห.นี้  เปลี่ยนบรรยากาศบ้างดีกว่า
เถียงกันไปก็วนกันซ้ำอยู่เรื่องเดิม    อาจจะมีกระป๋องหรือขวดเบียร์ขว้างขึ้นมาจากหน้าเวที

คุณพิพัฒน์ตัดไป ๔ เรื่อง ที่ว่าไม่ใช่ของสุนทรภู่ นิราศเมืองแกลง  นิราศเมืองเพชร นิราศพระบาท  แล้วอะไรอีกเรื่องคะ?
ยังไงก็เหลือไว้บ้าง   เดี๋ยวหมด  สงสารยูเนสโก

ถ้าสุนทรภู่ออกขาดราชกิจในปีวอก ๒๓๗๙  ค่อนมาทางปลายรัชกาลที่ ๓  ก็แปลว่าเรื่องที่เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตรลบ ในรัชกาลที่ ๒ ก็จะกลายเป็นปัญหาขึ้นมาอีกใช่ไหมว่าเป็นไปไม่ได้

ถามใหม่ค่ะ
สุนทรภู่สึกกลับเข้ารับราชการใหม่อีกครั้ง   ประมาณพ.ศ.ไหน

ถามอีกข้อ
คุณพิพัฒน์มีคำตอบในใจหรือยังว่า กวีนิรนามที่แต่งนิราศเมืองเพชร   น่าจะเป็นใคร ถ้าไม่ใช่สุนทรภู่
ถ้ามีก็เปิดเกมทศกัณฐ์หน้าทองเร็วๆนะคะ


บันทึกการเข้า
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 14 ก.ค. 07, 21:43

๏ แล้วไปบ้านท่านแพ่งตำแหน่งใหม่ ยังรักใคร่ครองจิตสนิทสนม
ที่ธุระจะใคร่ได้ใจนิยม เขารับสมปรารถนาสามิภักดิ์
จะกลับหลังยังมิได้ดั่งใจชั่ว ต้องไปทั่วบ้านเรือนเพื่อนรู้จัก
เมื่อเป็นบ้ามาคนเดียวเที่ยวสำนัก เขารับรักรู้คุณกรุณา
ที่ไหนไหนไมตรียังดีสิ้น เว้นแต่อินวัดเกศของเชษฐา
ช่างตัดญาติขาดเด็ดไม่เมตตา พอเห็นหน้าน้องก็เบือนไม่เหมือนเคย
โอ้คิดแค้นแหวนประดับกับแพรเพลาะ เป็นคราวเคราะห์เพราะเป็นบ้านิจจาเอ๋ย
จนรักตายกลายตอเป็นกอเตย ไม่เห็นเลยว่าจะเป็นไปเช่นนั้นฯ

ตรงนี้ครับ  เว้นแต่อินวัดเกศของเชษฐา  พี่ของใครครับ  อินวัดเกศ  ถ้าเป็นพี่ของท่านกวีที่ตัดญาติขาดมิตรดังกลอนว่า  ถึงขนาดเห็นหน้าน้องก็เบือนหนี  แล้วแหวนกับผ้าแพร  น่าจะเกี่ยวกับอิสตรีอีกแล้ว  เจ้าชู้เหมือนใครจริงๆเลย

แต่กลอนบทนี้อ่ะครับผมว่ามันขัดๆชอบกล  คือไม่ค่อยลื่นไหลน่ะครับ  หรือผมมันระดับหมอแคนหมอลำ  ตาไม่ถึง
๏ แค้นแต่ขำกรรมอะไรไฉนน้อง เฝ้าท้องท้องทุกทุกปีไม่มีเหมือน
ช่างกระไรใจจิตไม่บิดเบือน จะไปเยือนเล่าก็รู้ว่าอยู่ไฟ
จึงฝากคำทำกลอนไว้สอนสั่ง เมื่อมิฟังพี่ห้ามตามวิสัย
พอวันพระศรัทธาพากันไป เที่ยวแวะไหว้พระอารามตามกำลัง
พระพุทธเจ้าหลวงสร้างแต่ปางหลัง สาธุสะพระนอนสิงขรเขา
ยี่สิบวาฝากั้นเป็นบัลลังก์ ดูเปล่งปลั่งปลื้มใจกระไรเลย
         แล้วพระพุทธเจ้าหลวงในที่นี้หมายถึงใครครับ  แต่ยังไงก็ตามบทนี้ผมชอบที่สุดผมว่าแต่งได้สละสลวย  ไปเที่ยวทีไรนึกถึงบทนี้ทุกที

๏ พอแดดร่มลมชายสบายจิต เที่ยวชมทิศทุ่งทางกลางวิถี
ทั่วประเทศเขตแคว้นแดนพริบพรี เหมือนจะชี้ไปไม่พ้นแต่ต้นตาล
ที่พวกทำน้ำโตนดประโยชน์ทรัพย์ มีดสำหรับเหน็บข้างอย่างทหาร
พะองยาวก้าวตีนปีนทะยาน กระบอกตาลแขวนกันคนละพวง
แต่ใจดีที่ว่าใครเข้าไปขอ ให้กินพออิ่มอุทรบห่อนหวง
ได้ชื่นฉ่ำน้ำตาลหวานหวานทรวง ขึ้นเขาหลวงเลียบเดินเนินบันได
ดูเย็นชื่นรื่นร่มพนมมาศ รุกขชาติช่อดอกออกไสว
บ้างหล่นร่วงพวงผกาสุมาลัย ต่างเด็ดได้เดินดมบ้างชมดวง
ภุมรินบินว่อนเที่ยวร่อนร้อง เหมือนเสียงฆ้องหึ่งหึ่งล้วนผึ้งหลวง
เวียนประเวศเกษราบุปผาพวง ได้เชยดวงดอกไม้เหมือนใจจงฯ
น่าเอาไปแต่งทำนองเพลงใส่ .............. ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 14 ก.ค. 07, 22:00

มาแปลให้คุณ Bana อ่าน

ที่ไหนไหนไมตรียังดีสิ้น                  เว้นแต่อินวัดเกศของเชษฐา
ช่างตัดญาติขาดเด็ดไม่เมตตา         พอเห็นหน้าน้องก็เบือนไม่เหมือนเคย
โอ้คิดแค้นแหวนประดับกับแพรเพลาะ เป็นคราวเคราะห์เพราะเป็นบ้านิจจาเอ๋ย
จนรักตายกลายตอเป็นกอเตย           ไม่เห็นเลยว่าจะเป็นไปเช่นนั้นฯ

ท่านขุนนางกวีเที่ยวแวะเยี่ยมสาวบ้านโน้นบ้านนี้ไปเรื่อยตามรายทาง   แวะบ้านไหนเขาก็ต้อนรับกันดี   เว้นแต่แม่อินที่บ้านอยู่แถววัดเกศ
ของเชษฐา  = ของพี่ (คือตัวกวีเอง)
ตอนเลิกกับแม่อิน  เห็นทีจะเลิกกันแบบไม่สวยงาม   เห็นจากแม่อินแค้นจัด ตัดขาดไม่เหลือเยื่อใย   ผ่านไปนานปี เห็นหน้าแฟนเก่าโผล่มาเยี่ยม หล่อนก็สะบัดหน้าหนี ไม่เหมือนสมัยยังรักกัน คงหวานกันน่าดู
แหวนกับแพรเพลาะ เห็นทีจะเป็นของรักแห่งความหลัง เคยให้กันมา  แหวนอาจเป็นฝ่ายชายให้หญิง  ส่วนแพรเพลาะหญิงมอบให้ชายตอบแทน  แต่สองอย่างมาถึงเวลานี้คงหมดความหมายไปแล้ว    ถึงมีคำว่า "คิดแค้น" คือยังเสียดายอยู่
ที่เลิกกันไปก็เพราะ ฝ่ายชาย"เป็นบ้า" บ้าในที่นี้ไม่ได้แปลว่าป่วยเป็นจิตเภท แต่หมายถึงไปลุ่มหลงอะไรบางอย่างจนอาจเสียงานเสียการ    ทุกวันนี้ เราใช้ในคำว่า บ้าหวย  บ้าดารา
พอฝ่ายชายไปบ้าอะไรพวกนี้   อาจโยงได้ถึงตอนไปอาศัยอยู่ในถ้ำ  รักครั้งนี้ก็ดับสลาย   จนบัดนี้แม่อินก็ยังตัดขาด  ไม่ยักกะเป็นเพื่อนกันได้อย่างสมัยนี้

กลอนที่คุณหมอแคน บานา ว่าไม่ลื่นไหล  ก็เพราะเว็บนั้นเขาพิมพ์ผิด สลับวรรคกันนี่คะ
จัดให้ใหม่  เอาที่ถูกต้องมาให้อ่าน  ลื่นไหลดีแล้วหรือยัง

 แค้นแต่ขำกรรมอะไรไฉนน้อง        เฝ้าท้องท้องทุกทุกปีไม่มีเหมือน
ช่างกระไรใจจิตไม่บิดเบือน            จะไปเยือนเล่าก็รู้ว่าอยู่ไฟ
จึงฝากคำทำกลอนไว้สอนสั่ง          เมื่อมิฟังพี่ห้ามตามวิสัย
พอวันพระศรัทธาพากันไป              เที่ยวแวะไหว้พระอารามตามกำลัง
สาธุสะพระนอนสิงขรเขา             พระพุทธเจ้าหลวงสร้างแต่ปางหลัง
ยี่สิบวาฝากั้นเป็นบัลลังก์ ดูเปล่งปลั่งปลื้มใจกระไรเลย

พระพุทธเจ้าหลวง หมายถึงพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลก่อน   เรื่องนี้แต่งในรัชกาลที่ ๓  พระพุทธเจ้าหลวงคือรัชกาลที่ ๒
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 14 ก.ค. 07, 22:06

ดูเย็นชื่นรื่นร่มพนมมาศ                  รุกขชาติช่อดอกออกไสว
บ้างหล่นร่วงพวงผกาสุมาลัย           ต่างเด็ดได้เดินดมบ้างชมดวง
ภุมรินบินว่อนเที่ยวร่อนร้อง              เหมือนเสียงฆ้องหึ่งหึ่งล้วนผึ้งหลวง
เวียนประเวศเกษราบุปผาพวง          ได้เชยดวงดอกไม้เหมือนใจจงฯ
น่าเอาไปแต่งทำนองเพลงใส่

ถ้าคุณ"ลำดวนเอ๋ยจะด่วนไปก่อนแล้ว"   ได้เข้ามาอ่าน คงจะบอกได้ว่ากลอนบทนี้ควรจะนำไปร้องในเพลงไทยเดิมเพลงไหน
ใจดิฉันนึกถึงเพลง ลมพัดชายเขา
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 14 ก.ค. 07, 22:18

กำลังชั่งใจเรื่องนิราศสุพรรณครับ แต่ยังชำแหละไม่เสร็จ เรื่องนี้ยากน่าดู
อันที่จริง แค่พระอภัยมณีเรื่องเดียว ท่านก็เลิศกว่ามนุษย์ทุกนามในยุคสมัยแล้ว
แบ่งเรื่องอื่นให้อัจฉริยะท่านอื่นๆบ้าง คงไม่เป็นไรกระมัง

กวีที่แต่งนิราศเมืองเพชร น่าจะเป็นคนในก๊วนบุนนาค จึงกล้าล้วงคอเจ้าเมือง และส่งต่อตำแหน่งจากพี่สู่น้อง
การที่ขุนนางคนหนึ่ง เจ็บจากการศึกแล้วกลับมาตายที่บ้านเมืองเพชร ต้องระดับใหญ่คับเมืองทีเดียว
แค่นำร่าง(สมมติว่าตายคาสนามรบไปเลย) จากอิสาน หรือไกล้หน่อยคือสระบุรี กลับมาพริบพรี
หรือนำคนเจ็บ เร่งรีบกลับมา แค่นี้ก็คงบอกได้แล้วว่าใหญ่โตมีบารมีเพียงใด

ผมไม่มีความรู้พอจะสอบได้ว่า สกุลบุนนาคครองเมืองเพชรตั้งแต่รุ่นใหน
ใครทราบโปรดบอกเอาบุญด้วย
แต่กวีที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับขุนรองได้ ต้องไม่ใช่ลูกชาวบ้านแน่นอน
สามารถสร้างตัวจนเป็นครูมีชื่อ ได้รับเกื้อหนุนจากผู้ใหญ่(ที่อ้างเป็นพระวังหลังอะไรประมาณนั้น)
และเมื่อเข้าบางกอก ก็ได้ดิบได้ดีจนได้เรือสีฝีพาย นี่ก็ระดับมีหน้ามีตาพอดู
คงจะจำได้ว่า กวีอีกคนที่ไปเมืองแกลง นั่นมีลูกน้องไปเพียงสอง กับคนนำทางอีกหนึ่ง เท่านั้น

สำหรับท่านสุนทรนั้น ท่านบ่นเองว่าปีขาลสงสารวัด อยากจะสึก ปีขาลที่ว่าก็ควรจะเป็น 2385
ดังนั้น ถ้าท่านสึกจริง ก็ควรไปพึ่งเจ้าฟ้าน้อยหลัง 2385 ครับ
ปี 2384-5 นั้น ฟ้าน้อยทรงเป็นแม่ทัพเรือไปทำการที่เขมร ทรงกลับเข้ามาเดือนเมษายน 2385
ถ้าสุนทรภู่จะไปพึ่ง ก็ต้องหลังจากนี้ลงมา คือต้องทอดเวลาให้มหาสึกใหม่ได้คุ้นเคยพอจะถวายตัว
ด้วยว่าเจ้าฟ้าท่านก็ยุ่งกับการศึกเป็นปีสองปี ส่วนกวีพระก็ยุ่งกับหนูกัดมุ้ง หาคนพายเรือ หยอกนางข้าหลวง ฯลฯ
จึงเดาว่า มาพึ่งเจ้าฟ้าน้อยสัก 2385-86 กำลังดีครับ
-----------------------------------------
แถมด้วยตารางเทียบปี เพื่อฟามสะดวกแก่คนขี้เกียจหาปีศักราช
ชวด   2347   2359   2371   2383   2395   2407
ฉลู   2348   2360   2372   2384   2396   2408
ขาล   2349   2361   2373   2385   2397   2409
เถาะ   2350   2362   2374   2386   2398   2410
มโรง   2351   2363   2375   2387   2399   2411
มเสง   2352   2364   2376   2388   2400   2412
มเมีย   2353   2365   2377   2389   2401   2413
มแม   2354   2366   2378   2390   2402   2414
วอก   2355   2367   2379   2391   2403   2415
รกา   2356   2368   2380   2392   2404   2416
จอ   2357   2369   2381   2393   2405   2417
กุน   2358   2370   2382   2394   2406   2418
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 14 ก.ค. 07, 22:35

***กวีที่แต่งนิราศเมืองเพชร น่าจะเป็นคนในก๊วนบุนนาค จึงกล้าล้วงคอเจ้าเมือง และส่งต่อตำแหน่งจากพี่สู่น้อง ***

คุณพิพัฒน์คงพิมพ์ผิด  กวีน่าจะเป็น "เพื่อน"ของขุนนางหนุ่มก๊วนบุนนาค   คนที่ล้วงคอเจ้าเมืองเอาแม่นวลมาครอง  แต่งกระท่อมเป็นหอ  คือขุนรองน้องขุนแพ่งไม่ใช่หรือ
หรือคุณพิพัฒน์คิดว่าแม่นวลเป็นเจ้าสาวของท่านขุนนางกวีล่ะคะ

ส่วนตำแหน่งจากพี่สู่น้อง   ดิฉันไม่คิดว่าจะต้องใหญ่โตขนาดสกุลบุนนาค   เล็กกว่านั้นก็ทำได้
แต่ต้องเป็นลูกขุนนาง  พ่อไม่ใช่สามัญชน 
สมัยรัชกาลที่ ๓ ตำแหน่งขุน ไม่ใหญ่นัก?  สุนทรภู่ยังเป็นหลวงสุนทรโวหารแล้วเลย( อ้างจากนิราศหนองคาย)
ส่วนเรื่องขุนแพ่งกลับมาตายที่บ้าน  ในเรื่องบอกว่ามีการตั้งศพ  ถ้าตายเสียในสนามรบ  เห็นทีจะกลับมาได้แต่กระดูก   การขนศพใส่แพมานอกจากอุจาดแล้ว คุณพพ.เคยบอกว่าข้ามเขตไม่ได้ด้วยไม่ใช่หรือ
เอาเป็นว่าบาดเจ็บ  ใส่เรือแพกลับมารักษาที่บ้าน  แล้วตาย  ถึงตั้งศพให้กวีมาเคารพได้  พอจะเป็นได้ไหมคะ

พวกบุนนาคไปใหญ่อยู่ในเมืองเพชรตั้งแต่เมื่อไหร่  ในหนังสือสกุลบุนนาค ไล่แกะไปทีละคนคงรู้     ดิฉันจำได้แต่รุ่นบิดาเจ้าจอมก๊ก อ.   น่าจะรัชกาลที่ ๕ แล้วละค่ะ
คุณประยุกต์ก็ไม่ได้มาอยู่แถวนี้เสียด้วย  ไม่งั้นคงตอบได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 15 ก.ค. 07, 09:57

เรารู้อะไรบ้าง
๑) นิราศเมืองเพชร แต่งในรัชกาลที่ ๓   หลังศึกเจ้าอนุวงศ์(พ.ศ. ๒๓๖๙-๒๓๗๒) ไม่กี่ปีนัก    เพราะขุนแพ่งที่ตายจากศึกนี้  ภรรยายังโศกเศร้าอาลัยอาวรณ์อยู่
ถ้าตายไปสิบกว่าปีแล้ว  ภรรยาคงระงับใจได้บ้าง บรรยากาศในบ้านก็คงจะกลับคืนเข้าสู่ปกติ
ประมาณว่าแต่งพ.ศ. ๒๓๗๕
๒) กวีมีลูกชายคนโตกำลังเป็นหนุ่ม ยังไม่มีเมีย   กะว่าอายุสัก ๒๐ ปี  ส่วนลูกชายอีกคนที่ไปด้วย พ่อยังใช้ให้นับจำนวนคุ้งคลองอยู่ว่าเรือเลี้ยวกี่ที  น่าจะยังเด็กไม่พ้นวัยโกนจุก
๓) ถ้าลูกอายุประมาณ ๒๐  พ่อก็ประมาณ ๔๐ กว่าๆ เป็นพ่อม่ายเมียทิ้งจากกรุงเทพ     บวกลบอายุแล้วพ่อเกิดประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๐-๕ ในรัชกาลที่ ๑
๔) ลูกชายคนโตชื่อหนูพัด เหมือนชื่อลูกสุนทรภู่
๕) อายุพ่อ เมื่อเทียบประวัติของสุนทรภู่ที่ว่าเกิด ปี ๒๓๒๙ ก็ไล่เลี่ยกัน    จึงคิดว่ากวีคนนี้ไม่น่าจะเป็นลูกศิษย์สุนทรภู่ อย่างนายมี หรือนายภู่อีกคน
๖) กวีคนนี้มีตำแหน่งอะไรไม่รู้  ถ้านั่งเรือสี่แจว น่าจะมีบรรดาศักดิ์ อายุขนาดนี้แล้วถ้ารับราชการ น่าจะถึงระดับคุณหลวงเป็นอย่างน้อย
ตำแหน่งการงาน เดาได้จากคำบอกเล่าในเรื่องว่ามีลูกศิษย์ลูกหาอยู่หลายคน  ก็ต้องเป็นทางด้านสอนหนังสือ   แต่งนิราศได้ขนาดนี้ ย่อมเชี่ยวชาญเรื่องเขียนอ่าน
ตำแหน่งการงานของผู้เชี่ยวชาญทางเขียนในราชการ  เห็นได้มากที่สุดคืออาลักษณ์
๗)น่าจะมีพื้นเพเกี่ยวข้องกับวังหลัง  เห็นได้จากหม่อมบุญนาคในกรมพระราชวังหลัง ต้อนรับอย่างดี  รักใคร่เหมือนลูกหลาน

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 15 ก.ค. 07, 12:03

* คุณพิพัฒน์เล่าว่า
"ประวัติท่านภู่ เคยได้รับการรวบรวมไว้ก่อนหน้านั้นสิบปี โดยพระยาปริยัติธรรมธาดา
ท่านเจ้าคุณไปเที่ยวจดเรื่องเกร็ดต่างๆ รวบรวมเอาไว้เป็นท่อนๆ สั้นๆ เก็บเล็กประสมน้อย
บางเรื่องก็ซ้ำกัน ท่านก็บอกที่มาของเรื่องไว้ ทั้งหมดราว 30 เกล็ดกระมัง
หลายเกล็ดก็แย้งกันเอง

ผมเข้าใจว่าสมเด็จจะได้ทรงผลงานรวบรวมนี้ เพราะท่านเจ้าคุณเป็นมือขวาของพระองค์อยู่แล้ว
แต่สมเด็จทรงพระเมตตาผู้อ่าน เกรงจะสับสน(กระมัง)
จึงทรงชำระเอาตามที่ทรงเห็นสมควร แล้วเผยแพร่ไปตามนั้น เราก็รับมาใช้ จะทำอย่างไรได้เล่าครับ*

สิ่งที่พระยาปริยัติธรรมธาดาทำ เรียกว่า รวบรวมข้อมูลดิบ จากการไปหาหลักฐานเช่น ถามผู้เฒ่าผู้แก่ที่เกิดทัน   หรือคนเกิดไม่ทัน  ก็ได้ยินมาเกี่ยวกับสุนทรภู่
จะผิดจะถูก จะสอดคล้องหรือขัดแย้งกันยังไง   คนรวบรวมข้อมูลดิบไม่เกี่ยว    มีหน้าที่รวบรวม
ส่วนสมเด็จกรมพระยาฯ ทรงทำอย่างนักวิชาการที่เขียนตำราหรือทำวิทยานิพนธ์ คือเอามาเรียบเรียงปะติดปะต่อเป็นเรื่องเดียวกัน
ตรงไหนขัดแย้งกันท่านก็ตัดสินหรือตีความว่าจะเอาข้อมูลด้านไหน มาเขียนว่าเป็นของจริง  ข้อมูลที่ไม่ทรงเชื่อ ก็ทรงตัดออกไป    ส่วนที่ยังโหว่อยู่ท่านก็เชื่อมเองให้สนิท
จนกลายเป็นประวัติสุนทรภู่ครบถ้วนตั้งแต่เกิดจนตาย   ตามที่ยึดถือกันมา
แต่สมเด็จกรมดำรงฯ ก็มิได้ทรงฟันธงลงไปว่าเป็นอย่างนั้นจริงแท้แน่นอนทั้งหมด  หลายครั้งก็ทรงระบุชัดๆว่า ฟังมาว่า เล่ากันว่า  หรือเข้าใจว่า
คนที่ยึดถือต่างหากที่มองข้ามข้อนี้ไป   ไปเชื่อว่าทุกอย่างที่ทรงกล่าวถึงเป็นข้อเท็จจริง    นานๆก็มีคนตาดี มองเห็นอะไรที่น่าจะแย้งได้ขึ้นมา
ซึ่งก็ไม่เสียหายอะไร ถ้าหากว่าข้อแย้งนั้นมีน้ำหนักน่าเชื่อถือได้
อยากรู้ว่าพระยาปริยัติฯ รวบรวมมาว่าอะไรบ้า

เรื่องนี้ทำให้นึกออกนอกเรื่องไปถึง " การเมืองสมัยกรุงธนบุรี" ของดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่หยิบยกประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมาวิเคราะห์ใหม่  ว่าเป็นนายกองเกวียน มาก่อนจะได้เป็นเจ้าเมืองตาก
ไม่ใช่มหาดเล็กลูกบุญธรรมเจ้าพระยาจักรีอยู่ในกรุงศรีอยุธยา อย่างที่เคยเชื่อกัน(จากหนังสือของนายกุหลาบ?)
ดร.นิธิเองก็ใช้วิธีทำนองเดียวกับสมเด็จกรมดำรงฯ คือเลือกเชื่อข้อมูลบางเรื่อง และไม่เชื่อบางเรื่อง
เพียงแต่เรื่องที่ดร.นิธิเชื่อเป็นเรื่องที่สมเด็จกรมดำรงฯไม่เชื่อ  จึงมิได้ทรงใส่ไว้ในเอกสารที่ทรงเรียบเรียง
ส่วนดิฉันได้อ่านเอกสารเรื่องนายกองเกวียนแล้ว   ก็พอเข้าใจว่าทำไมไม่น่าเชื่อ  น้ำหนักพอๆกันหรือน้อยกว่าตำนานตอนเกิดที่มีงูใหญ่มาขดรอบกระด้งท่านเสียอีก

ตอนนี้ดิฉันกำลังสงสัยเรื่องพระองค์เจ้าลักขณานุคุณที่อ.ล้อมบอกว่าเป็นเจ้านายอีกองค์ที่สุนทรภู่พึ่งพระบารมีอยู่
และอาจเป็น "เสด็จ" ที่สุนทรภู่ อาสาไปเมืองเพชร  ถูกตีความว่าไปขอลูกสาวใครที่นั่นให้ ซึ่งไม่ใช่เจ้าจอมมารดางิ้วแน่นอน

ได้ฟังจากที่เล่ากันมาในลูกหลานของสกุลเจ้าจอมมารดางิ้ว หม่อมของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ  ซึ่งพอนับเจนเนอเรชั่นย้อนขึ้นไป  ถ้าเรื่องนี้จริง   ก็เป็นไปได้ตามระยะเวลาว่า ท่านผู้ได้ยินคนแรก  ทันได้ฟังจากเจ้าจอมมารดางิ้วโดยตรง
คนที่มาเล่าอยู่ในเจนเนอเรชั่นที่สอง ลงมาจากคนได้ยินคนแรก
พระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ในพ.ศ. ๒๓๗๘   ก่อนหน้านั้นประชวรมาหลายปี  พระอาการเกิดจากฝิ่น
ทรงหักดิบ ตามที่กราบบังคมทูลสมเด็จพระราชบิดาไว้  แม้ว่าทรงเจ็บปวดขนาดไหนก็ไม่ยอมเสวยเพื่อระงับอาการ   จนสิ้นพระชนม์  เพื่อรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับสมเด็จพระนั่งเกล้า
สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเสียพระราชหฤทัยมาก  และเห็นในวาจาสัตย์ของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ จึงทรงรับหม่อมเจ้าหญิงโสมนัสไปทรงอุปการะ    ทั้งที่ก็ทรงมี" หลานเธอ" อยู่หลายองค์ แต่ก็มีองค์เดียวเท่านั้นที่ทรงยกย่องประหนึ่งเป็น "ลูกเธอ"

ปี พ.ศ. ๒๓๗๕  พระองค์เจ้าลักขณานุคุณน่าจะอยู่ในภาวะประชวรแล้ว    ถ้าสุนทรภู่พึ่งพระบารมีอยู่  ก็น่าสังเกตว่าไม่เอ่ยถึงแสดงความเป็นห่วงบ้างเลย
ถ้าหากว่าไปเพชรบุรีเพื่อไปหาหยูกยามารักษาพระอาการ ก็ไม่เอ่ยถึง และไม่เห็นจะรีบร้อนกลับ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 16 ก.ค. 07, 10:55

ขอบพระคุณครับ สำหรับประวัติศาสตร์เชิงลึกเรื่องพระองค์ลักขณาฯ ทรงขัตติยะมานะจริงๆ
ดังนั้น ที่เล่ากันว่าทรงโปรดสักวา ถึงให้สุนทรภู่ไปอยู่ไกล้ชิดหลังทรงลาผนวช
ก็คงต้องทบทวนใหม่
เพราะทรงสิ้นหลังลาผนวชสี่ห้าปี เป็นช่วงทรง"หักดิบ"
ทั้งวังคงจะเงียบเหงา ไม่มีเสียงหัวเราะหรือเสียงขับเพลงเสียด้วยซ้ำ
และคนกตัญญูอย่างท่านภู่ ดูเหมือนไม่เคยแสดงอารมณ์อะไรเกี่ยวกับฝิ่นเอาเสียเลย
(มัวแต่เมาเหล้างั้นรึ....5555)

เรื่องเจ้าตากเป็นนายกองเกวียนนั่น ผมเคยอ่านเจอในข้อเขียนของอาจารย์ขจร
ดูเหมือนท่านจะมิได้อ้างตากุหลาบ อ้างจุลยุทธการวงศ์หรือเอกสารอะไรสักอย่าง อ้างด้วยว่าทรงทราบหกภาษา
เสียดายอ่านไว้นานแล้ว
ส่วนอาจารย์นิธินั้น อย่าไปถือสาแกเลยครับ แกมีพันธกิจเชิงประวัติศาสตร์ที่จะต้องวิภาษนิพนธ์ที่อยู่ก่อนหน้า
ด้วยความลึกอันพิลั่นอลังการราวิถีแห่งวัฒนธรรมกระดุมพี อ่านสนุกนั่งลุกสบายแถมยังเท่เวลาอ้างถึงอีกต่างหาก
หายากครับ นักวิชาการระดับนี้

อ้อ สมเด็จไม่อ้างที่มานะครับ อาจารย์นิธิยังอ้าง
ผมจึงพยายามถอยห่างจากพระนิพนธ์ คือเราควรจะมีฐานความคิดที่กล้าแข็งเสียก่อน จึงจะตามรอยพระองค์ได้สนุก

เรื่องตระกูลบุนนาคครองเมืองเพชรนั้น
สอบแล้ว เจ้าเมืองคนที่ถูกล้วงคอ น่าจะเป็นคนที่อยู่ก่อนพระยามหาตาลวันประเทโศ(เกษ ต้นตระกูลตาลวันนา)
เพราะท่านเกษนั้น เป็นอัจฉริยบุรุษผู้หนึ่ง รบทัพจับศึกทำการเข้มแข็ง เป็นแม่ทัพให้พระยาศรีพิพัฒน์คราวปราบเมืองแขกเจ็ดหัวเมือง
ซึ่งเป็นเหตุการหลังนิราศเมืองเพชรนี้ถึง 10 ปี
ตอนต้นรัชกาลที่ 4 ท่านตาพิการ จึงได้พักผ่อน และท่านท้วมแห่งสายสกุลบุนนาคได้รับช่วงหน้าที่แทน

คดีนี้ คงต้องให้คนเมืองเพชรสืบสวนต่อละครับ ว่าขุนรองจอมแสบ จะเป็นสายสกุลใด
ส่วนที่ผมอ้างถึงกวีว่าเป็นก๊วนบุนนาคนั้น หมายความว่าเป็นเกลอกัน อาจจะมิได้เป็นญาติ
แต่น่าจะมีสายสัมพันธ์กันไกล้ชิด ตามคตินิยมของชนชั้นสูงเมื่อสมัยก่อน ล้วนนับญาติกันได้
ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 16 ก.ค. 07, 13:47

ประเด็นหลักที่จะตัดนิราศเมืองเพชรออกจากสารบบผลงานสุนทรภู่คือเรื่องสถานภาพของกวีไม่สอดคล้องนิราศพระแท่นกับรำพันพิลาป

กวีนิราศเมืองเพชรจะเป็นพระหรือไม่ขอพักไว้ก่อน

ตอนนี้สงสัยครับว่ารำพันพิลาปมีอะไรบ่งชี้ว่าเป็นผลงานของสุนทรภู่อย่างแน่นอนครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 16 ก.ค. 07, 14:20

มีลายเซนต์ท่านภู่อยู่เกลื่อนเลยละครับ
----------
สุนทรทำคำประดิษฐ์นิมิตฝัน
พึ่งพบเห็นเป็นวิบัติมหัศจรรย์ จึ่งจดวันเวลาด้วยอาวรณ์
   
๏ จะสึกหาลาพระอธิษฐาน โดยกันดารเดือดร้อนสุดผ่อนผัน
พอพวกพระอภัยมณีศรีสุวรรณ เธอช่วยกันแก้ร้อนค่อยหย่อนเย็น
อยู่มาพระสิงหะไตรภพโลก เห็นเศร้าโศกแสนแค้นสุดแสนเข็ญ
ทุกค่ำคืนฝืนหน้าน้ำตากระเด็น พระโปรดเป็นที่พึ่งเหมือนหนึ่งนึก

ลืมวันเดือนเขียนเฉยแกล้งเลยละ เห็นแต่พระอภัยพระทัยดี
ช่วยแจวเรือเกื้อหนุนทำบุญด้วย เหมือนโปรดช่วยชูหน้าเป็นราศี

๏ โอ้ปีนี้ปีขาลบันดาลฝัน ที่หมายมั่นเหมือนจะหมางระคางเขิน
ก็คิดเห็นเป็นเคราะห์จำเพาะเผอิญ ให้ห่างเหินโหยหวนรำจวนใจ
จึงแต่งตามความฝันรำพันพิลาป ให้ศิษย์ทราบสุนทราอัชฌาสัย

พระภู่แต่งแกล้งกล่าวสาวสาวเอ๋ย อย่าถือเลยเคยเจนเหมือนเหลนหลาน
นักเลงกลอนนอนฝันเป็นสันดาน เคยเขียนอ่านอดใจมิใคร่ฟัง
   
๏ โอ้ชาตินี้มีกรรมเหลือลำบาก เหมือนนกพรากพลัดรังไร้ฝั่งฝา
โอ้กระฎีที่จะจากฝากน้ำตา ไว้คอยลาเหล่านักเลงฟังเพลงยาว
   
พระสิงหะพระอภัยพระทัยจืด ไม่ยาวยืดยกยอชะลอเฉลิม
   
ถ้วนเดือนหนึ่งจึงจะผลัดพวกหัศเกน เวียนตระเวณไปมาทั้งตาปีฯ
หัศเกนเจออีกทีก็ในพระอภัยมณี ไม่เคยเจอในที่อื่นอีก
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 16 ก.ค. 07, 14:46

ขอบคุณครับ

แล้วนิราศพระแท่นล่ะครับ (จนป่านนี้ผมก็ยังไม่มีเวลาไปหาครับ ยังไม่ได้อ่านอยู่ดี)
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 16 ก.ค. 07, 15:54

นิราศเณรกลั่นนี่ ผมใช้ฉบับที่ท่านจันทร์รวมเอาไว้ในนิราศคำกลอนสุนทรภู่( 2 เล่ม แพร่พิทยากั๊บ)
อยากได้ จะถ่ายเอกสารให้ พิมพ์มะหวายอะเฮีย

แต่อ่านแล้วก็ชอบมาก ผมว่าเณรกลั่นนี่เป็นซุปเปอร็จีเนียสทีเดียว
เสียดายไม่เล่นทางนี้ต่อ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.054 วินาที กับ 19 คำสั่ง