เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 56935 นิราศเมืองเพชร
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 11 ก.ค. 07, 12:15

กลับไปที่นิราศเมืองเพชร

อนาถหนาวคราวอาสาเสด็จ        ไปเมืองเพชรบุรินที่ถิ่นสถาน
ลงนาวาหน้าวัดนมัสการ            อธิษฐานถึงคุณกรุณา
ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ    ถึงต่างเขตของประสงค์คงอาสา

กวีลงเรือจากหน้าวัด เป็นไปได้หลายประการ
- กวีเป็นพระสงฆ์ (ซึ่งอาจารย์ได้วิเคราะห์ไว้แล้วว่าไม่น่าจะใช่)
- กวีเพิ่งจะลาสิกขาบท
- กวีเป็นฆราวาสแต่มาขึ้นเรือที่หน้าวัด อันนี้เป็นไปได้ แต่ไม่มีเหตุผลว่าทำไมกวีต้องมาเริ่มความตรงนี้ด้วย ถ้าเป็นฆราวาสน่าจะออกจากบ้าน ถ้าจะแวะวัดไหว้พระหรือทำธุระอื่นก็น่าจะบอกไว้ ไม่ใช่เอามาเริ่มความตรงนี้

ดังนั้น มีแนวโน้มสูงมากว่ากวีผู้แต่งนิราศเมืองเพชร เพิ่งจะลาสิกขาบทเพื่อไปทำธุระอะไรสักอย่างที่อาสาเสด็จมาทำ (เป็นไปได้ว่าอาจจะไม่สะดวกในสถานภาพพระสงฆ์) ถึงตรงนี้อาจจะยืนยันไม่ได้เป็นมั่นเหมาะ แต่เห็นได้ชัดว่าความในเพลงยาวถวายโอวาทและนิราศเมืองเพชรไม่ขัดกันครับ

ความหลายตอนระบุช่วงเวลาว่าเป็นหน้าหนาว ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาหลังออกพรรษาไปแล้ว

กลับมาคิดเรื่องขุนแพ่ง คราวที่มางานศพขุนแพ่งนั้น ถ้าผู้แต่งนิราศเมืองเพชรกับผู้แต่งเพลงยาวถวายโอวาทเป็นคนเดียวกัน เวลาต้องไม่แย้งกัน
ผู้แต่งเพลงยาวถวายโอวาท เริ่มงานตั้งแต่ปีฉลู ๒๓๗๒ (๒๑ กรกฎาคม ๒๓๗๒) ถวายงานสอนอยู่นานเท่าไหร่ไม่ระบุ

หากขุนแพ่งตายในศึกลาว(หรือหลังศึกลาวเล็กน้อย) และกวีได้ไปไหว้ศพ แล้วกลับมาถวายงานสอนกลางปี ๒๓๗๒ ก็ไม่มีอะไรขัดกัน หากถวายงานสอนอยู่สักสองสามปีแล้วอาสาเสด็จไปเมืองเพชรไปเจอเมียขุนแพ่งซูบโทรมเพราะตรอมใจก็รับกันดีครับ

พิจารณาถึงตรงนี้ ยังไม่มีข้อขัดข้องใดที่นิราศสุพรรณและเพลงยาวถวายโอวาทจะแต่งขึ้นโดยกวีคนเดียวกันครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 11 ก.ค. 07, 12:34

คุณอาชาทำให้กระทู้วิ่งฉิวจริงๆ ค่ะ
วิเคราะห์จากเพลงยาวถวายโอวาท
๑) ผู้แต่งเป็นพระภิกษุ   อย่างน้อยตอนที่แต่ง ก็ยังถือเพศภิกขุอยู่
๒) เจ้านายที่ผู้แต่งถวายเพลงยาว  เป็นเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าแต่ประสูติ  จึงเรียกว่าทูลกระหม่อม  
ในรัชกาลที่ ๒   เจ้าฟ้าชายชั้นทูลกระหม่อม มี ๔ พระองค์ คือเจ้าฟ้ามงกุฎ เจ้าฟ้าจุฑามณี  เจ้าฟ้าอาภรณ์  เจ้าฟ้ามหามาลา
ในรัชกาลที่ ๓ ไม่มีเจ้าฟ้าชายโดยกำเนิด   มีแค่เจ้าฟ้า ๔ พระองค์ที่ประสูติแต่รัชกาลที่ ๒
ในรัชกาลที่ ๔  มีเจ้าฟ้าชายแต่ประสูติหลายพระองค์
ทูลกระหม่อมในที่นี้น่าจะเป็นพระองค์ใดพระองค์หนึ่งใน ๔ พระองค์
๓) ด้วยวันออกนอกพรรษาขอลาไป        เหลืออาลัยทูลกระหม่อมให้ตรอมทรวง
ดิฉันตีความ ๓ ทาง
๑) เป็นการสึกเมื่อออกพรรษา    ไปสู่ภาวะผู้ครองเรือนอีกครั้ง  จึงไม่มีโอกาสได้เป็นพระอาจารย์ทูลกระหม่อมอีก  
การเสด็จมาถึงกุฎิ ก็เป็นไปได้ไม่แปลกอะไร ที่ลูกศิษย์มาเยี่ยมอาจารย์เป็นครั้งคราว  โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุควรเสด็จ เช่นอาจารย์จะสึก  
แต่ปกติเจ้าฟ้าคงจะประทับอยู่ในวัง   หลวงพี่เป็นฝ่ายไปถวายพระอักษรที่นั่น

๒)ยังไม่ลาบวช  แต่ว่าออกพรรษาแล้วแปลว่าพระสงฆ์ไม่ต้องประจำอยู่ในวัด    ท่านอาจจะเดินทางไปตจว. (เพื่อแสวงหาเหล็กไหล  และของขลังอื่นๆตามความชอบ ที่ระบุไว้ในนิราศเรื่องอื่น) เป็นการไปแบบไม่รู้กำหนดกลับเมื่อไร  คือกลับน่ะกลับแน่  แต่ไม่รู้จะไปกี่เดือน  ทำให้ต้องลาจากเป็นอาจารย์  ก็เลยโศกเศร้าตรมทรวงที่ไม่ได้มีโอกาสถวายพระอักษรอีก

๓)ต้องอธิกรณ์  แต่ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษในฐานะมีความดีความชอบเป็นพระอธิกรณ์  ได้ประจำอยู่ในวัดจนครบพรรษาก่อนจึงจะต้องระเห็จออกจากวัดไป
หลวงพี่ท่านคงไม่เห็นว่าตัวเองผิด    แต่เห็นว่าเป็นการกลั่นแกล้งจากพระด้วยกันในวัด   ท่านจึงสอนอะไรต่อมิอะไรเจ้าฟ้าได้ตามปกติ  ถือว่าตัวเองไม่ได้ทำผิดตรงไหน

การที่ออกไปพอดีในวันออกพรรษา  ทำให้ดิฉันสงสัยว่าการออกพรรษาต้องมีความหมายพิเศษ  เป็นวันกำหนดขีดคั่นอะไรสักอย่าง ที่ท่านสมัครใจเอง หรือไม่ผู้ใหญ่ในวัดก็ขีดเส้นตายให้
ถ้าหากว่าท่านสึกออกไปในวันออกพรรษาปีนั้นพอดี   จะไปเพชรบุรีแบบผู้ครองเรือน ได้ทันไหม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 11 ก.ค. 07, 12:42

ค.ห.ชนกันกลางอากาศ
อนาถหนาวคราวอาสาเสด็จ        ไปเมืองเพชรบุรินที่ถิ่นสถาน
ลงนาวาหน้าวัดนมัสการ            อธิษฐานถึงคุณกรุณา
ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ    ถึงต่างเขตของประสงค์คงอาสา


กำลังจะบอกว่า ปีที่กวีไปเมืองเพชร เป็นหน้าหนาว หมายถึงหลังออกพรรษาหลายเดือนแล้ว
เรียกว่าสึกมาไม่กี่เดือน   
ลงเรือหน้าวัด  แทนที่จะลงจากหน้าบ้านตัวเอง  ทำให้ดิฉันนึกขึ้นมาได้อีกข้อว่า  เป็นไปได้ไหมว่าธุระที่อาสาเสด็จนั้นมาจากเจ้านายที่ประทับอยู่ที่วัด   คือเป็นเจ้านายที่ผนวช  ทรงใช้ให้ไปทำธุระ
ท่านขุนนางกวีก็มาทูลลา หรืออาจจะรับของอะไรสักอย่างที่ท่านใช้ให้เอาไปจัดการที่เพชรบุรี    ต้องมารับที่วัด  จึงเริ่มจุดตั้งต้นที่วัดแทนที่จะเป็นบ้าน

การที่บวชอยู่นานเป็นปี  ก็เลยขาดกันกับภรรยา ตลอดจนกิ๊กเก่าๆก็กระจัดกระจายกันไป    ผู้หญิงสมัยนั้นจะต้องพึ่งสามีเป็นหลักในการดำเนินชีวิต   เมื่อสามีเก่าไปบวช เธอก็คงมีสามีใหม่ไปตามๆกัน
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 11 ก.ค. 07, 14:41

หากต้องอธิกรณ์ เป็นไปได้ว่าให้รอให้ออกพรรษาก่อนแล้วจึงไป เพื่อไม่ให้ขัดกับพุทธบัญญัติเรื่องการเดินทางในระหว่างพรรษา
พระนิพนธ์สมเด็จดำรงสงสัยว่าต้องอธิกรณ์เพราะเสพสุรา แต่ก็น่าแปลกนะครับ ความผิดฐานเสพสุราเป็นอาบัติขั้นปาจิตตีย์ ไม่ถึงกับต้องสึก แต่ถ้าทำผิดซ้ำซากก็คงอยู่ไม่ได้เหมือนกัน ว่าแต่ว่าพระอาจารย์เสพสุราซ้ำซากจนถึงขนาดต้องบัพพาชนียกรรมเห็นทีจะแย่ครับ น่าจะถูกปลดจากงานถวายการสอนไปก่อนหน้านานแล้ว

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าถูกบัพพาชนียกรรมเพราะเสพสุราเป็นนิจเช่นนี้แล้ว จะไปอยู่วัดไหนอีกได้ ถ้าขัดแย้งกับพระรูปอื่นในวัดก็ว่าไปอย่างครับ

ผมดูแล้ว ถ้าไม่ใช่กวีลาสิกขาเอง ก็เห็นจะถูกบัพพาชนียกรรมจากสาเหตุอื่นที่ไม่น่าจะใช่เรื่องเสพสุรา และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเรื่องผิดใจกับพระอื่นเสียมากกว่า ทั้งนี้ ระดับพระอาจารย์ถูกไล่ออกจากวัด คงไม่ได้ผิดใจกับพระธรรมดาๆรูปหนึ่งแน่ๆครับ อาจจะผิดใจกับพระผู้ใหญ่(ขนาดที่ว่าเจ้านายช่วยไม่ได้) หรืออาจจะผิดใจกับพระหลายรูปจนอยู่ไม่ได้เหมือนกัน
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 11 ก.ค. 07, 14:52

เรื่องต้องอธิกรณ์  ถ้าไม่ใช่เพราะเสพสุรา  ก็มีอีกเรื่องคือแต่งเพลงยาว   ตรงนี้บอกแย้มๆเอาไว้ในรำพันพิลาป     
ดูทีว่าพระอาจารย์จะมีสีกาสาวๆมาไหว้วานแต่งเพลงยาวตอบผู้ชายถึงกุฏิอยู่หลายครั้ง   ท่านน้อยอกน้อยใจว่ามาหลอกกันได้   คงจะเจ๊าะแจ๊ะขอให้หลวงพี่ช่วย   เสร็จแล้วก็หายหน้าไป คนใหม่ก็มาอีก  สาวๆขึ้นกุฏิกันคึกคัก บรรยากาศไม่เหมาะสมกับวัดวา
หนักเข้าพระสงฆ์ร่วมวัดทนไม่ไหวอาจจะรวมหัวกันยื่นเรื่องถึงเจ้าอาวาส    ก็เลยต้องออกจากวัดตอนออกพรรษา  เพราะไม่มีใครเอาด้วย   
แต่ถ้าประพฤติแบบ"โลกวัชชะ" เช่นนี้    เจ้าฟ้าท่านอาจจะไม่เห็นเป็นเรื่องผิดมากมาย   ถือว่า"นักเลงกลอนนอนฝันเป็นสันดาน"   ท่านก็เลยยังนับถือตามปกติ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 11 ก.ค. 07, 18:21

กลับมาเรื่องสุนทรภู่ยังเป็นพระอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว ยังไปเมืองเพชรในเพศคฤหัสถ์ไม่ได้

์ประวัติสุนทรภู่ตามพระนิพนธ์ สมเด็จดำรงฯจับเหตุการณ์เพลงยาวถวายโอวาทต่อกับนิราศภูเขาทอง ดังตอนเริ่มของนิราศภูเขาทองดังนี้

                                   เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระวสา
รับกฐินภิญโญโมทนา             ชุลีลาลงเรือเหลืออาลัย
ออกจากวัดทัศนาดูอาวาส         เมื่อตรุษสารทพระวสาได้อาศัย
สามฤดูอยู่ดีไม่มีภัย               มาจำไกลอารามเมื่อยามเย็น
โอ้อาวาสราชบุรณะพระวิหาร      แต่นี้นานนับทิวาจะมาเห็น
เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น    เพราะขุกเข็ญคนพาลมารานทาง
จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง           ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง
จึ่งจำลาอาวาสนิราศร้าง           มาอ้างว้างวิญญาณ์ในสาครฯ


ถ้ายึดถือตามนี้จะไม่มีช่องว่างให้นิราศเมืองเพชร สมเด็จดำรงจึงให้นิราศเมืองเพชรขยับไปเกิดขึ้นก่อนหน้านี้สิบกว่าปี

แต่เนื้อความจากนิราศเมืองเพชรนั้นยืนยันเวลาได้มั่นคง จึงกลายเป็นว่าอายุของนิราศภูเขาทองมีปัญหา ต้องกำหนดใหม่

ควรได้กล่าวถึงไว้ตรงนี้ว่า ผมกลับไปอ่านหนังสือสุนทรภู่ อาลักษณ์เจ้าจักรวาฬของอ.ล้อม เพ็งแก้ว และพบว่าอ.ล้อมได้ตั้งสมมติฐานเรื่องนิราศเมืองเพชรแต่งปี ๒๓๗๔ เอาไว้หลายปีมาแล้ว (และอ.ล้อมยังได้อ้างว่ามีผู้ตั้งสมมติฐานนี้ไว้ตั้งแต่ ๒๔๙๘)

อ.ล้อมตั้งสมมติฐานว่านิราศภูเขาทองแต่ในปี ๒๓๗๑ โดยอาศัยกลอนตรงนี้
ถึงเขมาอารามอร่ามทอง   พึ่งฉลองเลิกงานเมื่อวานซืน
ด้วยเหตุที่ ร.๔ (ดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฏในเวลานั้น) ทรงปฏิสังขรณ์วัดนี้และให้มีการฉลองวัดในปี ๒๓๗๑

น่าคิดว่า "พึ่งฉลองเลิกงานเมื่อวานซืน" หมายความว่าอย่างไรกันแน่? ฉลองอะไร?

อ.ล้อมกำหนดอายุโดยสมมติฐานว่า "ฉลอง" ที่ว่าคือฉลองพระอาราม (ซึ่งถ้าไม่นับคราว ๒๓๗๑ นี้แล้วก็ต้องเป็น ๒๔๐๖ อีกคราวหนึ่งไปเลย)

แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่าเป็นฉลองกฐิน?

ตอนต้นของนิราศภูเขาทองว่า "เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระวสา รับกฐินภิญโญโมทนา" เห็นได้ชัดว่า กวรไม่ได้ออกเดินทางในวันออกพรรษา แต่รอรับกฐินเสียก่อน ซึ่งก็ไม่รู้ว่ากี่วัน แต่เป็นระยะเวลา ๑ เดือนนับจากออกพรรษาแน่นอน

และก็ไม่แปลกหากผ่านวัดเขมาแล้วพบว่าเพิ่งฉลองกฐินเลิกไปเมื่อวานซืน

ผมอ่านถึงตรงนี้ คิดว่ายังกำหนดอายุนิราศภูเขาทองไม่ได้ แต่แน่ใจว่าต้องหลัง ๒๓๗๑ แน่นอน หาไม่อารามคงไม่อร่ามทองครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 12 ก.ค. 07, 11:15

ขอแทรกข้อสังเกต ความเห็นนิดหนึ่งครับ

         นิราศเมืองแกลง และ นิราศเมืองเพชร เป็นร้องกรองบันทึกการเดินทางไปหัวเมืองชายทะเลเหมือนกัน
แต่ต่างทิศ และต่างวัย ทว่ามีบางตอนที่คล้ายกัน อ่านแล้วสะดุดตรงนี้ ครับ

นิราศเมืองแกลง

โอ้คิดเห็นเอ็นดูหมู่แมงดา              ตัวเมียพาผัวลอยเที่ยวเล็มไคล
เขาจับตัวผัวทิ้งไว้กลางน้ำ              ระลอกซ้ำสาดซัดให้ตัดษัย

นิราศเมืองเพชร

                                           อกเอ๋ยโอ้เอ็นดูหมู่แมงดา
ให้สามีขี่หลังเที่ยวฝั่งแฝง                ตามหล้าแหล่งเลนเค็มเล็มภักษา
เขาจับเป็นเห็นสมเพชเวทนา             ทิ้งแมงดาผัวเสียเอาเมียไป

และได้อ่านพบความเห็นที่ว่า  สุนทรภู่ท่านแต่งนิราศเมืองเพชรในขณะที่ยังเป็นภิกษุ โดยอ้างจากกลอน
ตอนที่เดินทางผ่านวัดนางชี -

         หรือหลวงชีมีบ้างเป็นอย่างไร      คิดจะใคร่แวะหาประสาชี     

ตอนผ่านคลองบางหลวง -

         พระจันทโครบหลบผู้หญิง     และ

ตอนกล่าวถึงหลวงแพ่งที่เสียชีวิตเมื่อศึกลาว  -

         ได้สวดทั้งบังสุกุลแบ่งบุญไป

โดยส่วนตัวแล้ว นึกภาพ สุนทรภู่ท่านเดินทางโดยมีลูกหลาน แฟนคลับ - นักเลงฟังพลงยาว คอยติดสอยห้อยตาม
ด้วยความยินดี ที่ได้ไปดูแล ช่วยกันจดคำกลอน ที่ว่ากันว่า บางคราวที่ท่านสมองแล่น คนเดียวจดไม่ทัน
ยามครูพักยังลักจำได้ความรู้ และได้อ่านงานของท่านก่อนใคร
     
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 12 ก.ค. 07, 12:02

มาดูกันทีละประเด็นดังนี้ครับ

1) หรือหลวงชีมีบ้างเป็นอย่างไร      คิดจะใคร่แวะหาประสาชี
ความที่ยกขึ้นมาตอนนี้ คุณ SILA คงยกจากฉบับที่อ.ล้อมชำระจากฉบับตัวเขียน ถ้าเป็นฉบับพิมพ์ ๒๔๗๐ จะว่าดังนี้ครับ (สะกดคำตามแบบปัจจุบัน)
ถึงวัดบางนางชีมีแต่สงฆ์         ไม่เห็นองค์นางชีอยู่ที่ไหน
หรือหลวงชีมีบ้างเป็นอย่างไร     คิดจะใคร่แวะหาปรึกษาชี

คำว่าหลวงชีนี้ ปกติแปลว่าผู้ห่มขาวถือศีล ๘ จะเป็นชายหรือหญิงก็ได้
ในบาทก่อนหน้านี้กล่าวถึงนางชีไปแล้ว ดังนั้นหลวงชีในที่นี้ต้องเป็นตาผ้าขาว หากกวีผู้แต่งจะแวะหาประสาชี แสดงว่ากวีเป็นตาผ้าขาวครับ ไม่ใช่พระสงฆ์ แต่ถ้าจะแวะหาปรึกษาชี อันนี้ระบุไม่ได้ว่ากวีอยู่ในเพศภิษุหรือฆราวาส

ขอแทรกตรงนี้นิดนึงว่า ฉบับตัวเขียนที่อ.ล้อมนำมาชำระ ต้องถือว่าเป็น"อีกฉบับหนึ่ง" ไม่ได้แปลว่าจะถูกต้องเสมอไปครับ

2) แล้วมิหนำซ้ำเปรยเป็นเย้ยหยัน ว่าพระจันทโครบหลบผู้หญิง
ตรงนี้มาจากฉบับอ.ล้อมแน่นอน ไม่มีความตอนนี้ในฉบับพิมพ์ แต่ผมไม่เห็นว่าตรงนี้จะชี้ว่าเป็นพระภิกษุนะครับ พระอภัยมณีก็ไม่ได้ใช่พระภิกษุเหมือนกันนะครับ ไม่น่าหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นว่ากวีเป็นพระภิกษุได้

3) ได้สวดทั้งบังสุกุลแบ่งบุญไป
สวด กับ บังสุกุล สองอย่างครับ คำว่า "ทั้ง" บอกอยู่
สวดอันนี้คงไม่มีปัญหา ฆราวาสก็สวดได้
ส่วนบังสุกุล ฆราวาสก็เป็นฝ่ายทอดผ้าบังสุกุลนะครับ
ผมว่าความตรงนี้ก็ไม่ได้ชี้อยู่ดีว่ากวีเป็นพระภิกษุ

ผมก็อยากอ่านให้นิราศเมืองเพชรแต่งโดยพระภิกษุเหมือนกันครับ เพราะคงตีความง่ายขึ้นมาก ขออ่านอีกหน่อยครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 12 ก.ค. 07, 15:18

นิราศเมืองเพชรฉบับอ.ล้อม มีกลอนหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะต่างจากฉบับพิมพ์เล็กน้อย โดยฉบับพิมพ์ว่า

ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุนนาค     เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย
มารดาเจ้าคราวพระวังหลังครรไล    มาทำไร่ทำนาท่านการุญ

อันนี้เราได้วิเคราะห์กันไปแล้ว

ฉบับอ.ล้อมจะว่า
ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุนนาค     เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย
มาเมื่อครั้งคราวพระวังหลังครรไล      มาทำไร่ทำนาท่านการุญ

ถ้าฉบับนี้ถูกต้อง หม่อมบุนนาคอาจจะเป็นชายหรือหญิงก็ได้ และตัวกวีเองนี่แหละที่มาทำไร่ทำนาพึ่งพาท่านในคราวที่พระวังหลังครรไล ๒๓๔๙ ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 12 ก.ค. 07, 16:08

ปัญหาเรื่องกวีผู้แต่งนิราศสุพรรณเป็นฆราวาสหรือพระภิกษุ ลองพิจารณาดู เห็นว่าติดปัญหาตรงที่สำนวนเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรื่องรักๆใคร่อยู่มาก

ผมลองไปอ่านนิราศสุพรรณที่เชื่อว่าแต่งโดยสุนทรภู่ในช่วงเวลาที่เป็นพระอยู่เช่นเดียวกัน พบว่ามีเนื้อหาเชิงรักๆใคร่ๆอยู่มากเหมือนกัน(ถึงอาจจะน้อยกว่านิราศเมืองเพชรอยู่บ้าง) ความบางตอนในนิราศสุพรรณ พอจะระบุได้ว่ากวีผู้แต่งเป็นพระภิกษุ

กวีอาจแต่งนิราศเมืองเพชรในขณะเป็นพระได้เหมือนกันครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 12 ก.ค. 07, 18:19

ลองพิจารณาดู  ตามนี้
นิราศเมืองเพชร แต่งขึ้นด้วยจุดประสงค์เผยแพร่ ให้คนอื่นๆไม่จำกัดจำนวนได้อ่าน 

จึงจดหมายรายความตามสังเกต          ถิ่นประเทศแถวทางกลางวิถี
ให้อ่านเล่นเป็นเรื่องเมืองพริบพรี         ผู้ใดมีคุณก็ได้ไปแทนคุณ
ทั้งผ้าหอมย้อมเหลืองได้เปลื้องห่ม      พระประทมที่ลำเนาภูเขาขุน
กุศลนั้นบรรดาที่การุญ            รับส่วนบุญเอาเถิดท่านที่อ่านเอยฯ
   

 กวีไม่ได้แต่งไว้อุ๊บอิ๊บอ่านคนเดียว  หรือส่งให้ใครคนใดคนหนึ่งอ่านแบบรู้กันสองคนระหว่างคนเขียนกับคนอ่าน
ถ้าอ่านคนเดียวหรือส่งให้ใครคนเดียว จะพร่ำพรรณาความรักในอดีตและปัจจุบันยังไงก็ได้  ( แม้ไม่เหมาะกับความเป็นสงฆ์ก็ตาม) ก็ยังไม่ต้องประจานตัวเองให้ชาวบ้านฟัง ว่าหลวงลุงเดินทางทั้งที  มีแต่พรรณนาเรื่องที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์  ขนาดตัดพ้อต่อว่ากิ๊กเก่า ขณะอยู่ในผ้าเหลือง
งั้นหรือคะ

ที่ไหนไหนไมตรียังดีสิ้น                    เว้นแต่อินวัดเกศของเชษฐา
ช่างตัดญาติขาดเด็ดไม่เมตตา           พอเห็นหน้าน้องก็เบือนไม่เหมือนเคย
โอ้คิดแค้นแหวนประดับกับแพรเพลาะ เป็นคราวเคราะห์เพราะเป็นบ้านิจจาเอ๋ย
จนรักตายกลายตอเป็นกอเตย           ไม่เห็นเลยว่าจะเป็นไปเช่นนั้นฯ

คุณ Pipat หามาได้หลายตอนที่แสดงว่าผู้แต่งไม่ใช่พระ เป็นชาวบ้าน

๑)เห็นหน้าน้องทองมีอารีรัก                  ครั้นจะทักเล่าก็กลัวผัวจะหึง

ผัวผู้หญิงหน้าไหนจะกล้าหึงพระสงฆ์  ถ้าพระทักทาย มีแต่จะพนมมือแต้กันทั้งผัวทั้งเมีย   ความเป็นพระก็ทำให้ท่านพูดอะไรไม่ได้มากไปกว่าทักทายสบายดีหรือโยม

๒)  ถึงบ้านใหม่ไถ่ถามตามสงสัย           ว่ายังไกลอยู่หรือบ้านท่านขุนแขวง
ไม่บอกก่อนย้อนถามเป็นความแคลง        จะพายแรงหรือว่านายจะพายเบา
ถ้าพายหนักสักครู่หนึ่งก็ถึงดอก               สำนวนนอกน้ำเพชรแล้วเข็ดเขา
บ้างโห่ฉาวกราวเกรียวเกี่ยวข้าวเบา        บ้างตั้งเตาเคี่ยวตาลพานอุดมฯ

ถ้าเห็นพระถาม  หรือพระนั่งมาท่ามกลางลูกศิษย์ลูกหา ชาวบ้านคงไม่เรียกท่านว่า"นาย"

ส่วนอันนี้ของดิฉันเอง
พอจุดเทียนเซี่ยนขันน้ำมันคว่ำ               ต้องวิดน้ำนาวาไม่ฝ่าฝืน
เสื่อที่นอนหมอนนวมน้ำท่วมชื้น              เหลือแต่ผืนผ้าแพรของแม่น้อง
ได้กันลมห่มหนาวเมื่อเช้าตรู่                  ยังรักรู้จักคุณการุญสนอง
ลมรินรินกลิ่นกลบอบละออง                   ได้ปกครองคุมเครือเมื่อเรือค้างฯ
ไม่มีเครื่องอัฎฐบริขาร  มีหมอนนวมและแพรห่มของผู้หญิงด้วย
   
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 12 ก.ค. 07, 18:39

ขำอาจารย์เทาชมพู ตั้งกฏเองแล้วลืม
"อย่าเพิ่งเอานิราศอื่นมาปน จะทำให้ยุ่ง"
แต่ท่านก็อดอ้างนิราศอื่นมิได้

ก็ถ้านิราศนี้กับรำพันพิลาปและเพลงยาวถวายโอวาท เป็นสามคนแต่ง เรามิเข้ารกเข้าพงกันเละเทะหรือ?ฮืม?
ผมได้ฟันธงจนธงเปื่อยไปหลายผืนแล้วว่า นิราศเมืองเพชรแต่งโดย
1 ขุนนาง เพราะอาสาเจ้านายระดับ "เสด็จ" และมาเรือสี่ฝีพาย ซึ่งเป็นเรือราชการมากกว่าจะเป็นเรือชาวบ้าน
และกวีไม่กลัวเจ้าเมืองเพชรบุรีเอาเสียเลย ก็แปลว่ามีคนคุ้มหัวที่ใหญ่โตใช่เล่น
2 เป็นฆราวาส ผมอ้างความข้อเดียวก็น่าจะพอ ที่ชาวบ้านย้อนถามว่า "นาย...จะพายแรงหรือพายเบา"
ไม่มีคนไทยปกติพูดกับพระภิกษุอย่างนี้
3 เป็นผู้กว้างขวางเมืองเพชร ออกจากเมืองนั้นมาแต่ยังหนุ่ม ปีระกานิราร้าง แต่ก็ยังเทียวไล้เทียวขื่อบางกอก-พริบพรีเสมอ

สามข้อข้างบนก็น่าจะเชื่อได้แล้วว่ากวีผู้นี้ มิใช่สุนทรภู่
มาบวกข้อ 4 ที่ว่า มาเยือนศพขุนแพ่งที่ตายคราวศึกลาว ซึ่งควรเป็นศึกเจ้าอนุ
เพราะศึกเชียงตุงนั้นเป็นหน้าที่ทัพเกณฑ์ฝ่ายเหนือ แต่เพชรบุรีนี่เป็นฝ่ายใต้ ไม่เกี่ยวกัน สั่งกันมิได้

เราก็จะได้เงื่อนงำที่ระบุว่า
กวีคนนี้ เป็นชาวพริบพรี เข้ากรุงมาเมื่อยังหนุ่ม แต่ก็ยังเด่นดังที่เมืองเพชร มีลูกศิษย์ลูกหาเต็มเมือง
กลับมาครั้งนี้ ลูกศิษย์ก็ยังมารับกันเกรียวกราว คาดว่าอาจจะไปๆมาๆตลอดเวลา
สาวๆที่สร้างคดีไว้ก็ยังกรุ่นๆอารมณ์ ขนาดสาวหนึ่งสะบัดหน้าหนี และอีกคนกลัวผัวจะหึง
ผัวที่ใหนหึงพระได้ครับท่าน

ถอดรหัสมาแค่นี้ ก็คลำไม่เห็นทางแล้วที่จะไปต่อประวัติให้หนุ่มเมืองเพชรนี้ เป็นสุนทรภู่ไปได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 12 ก.ค. 07, 18:59

มาถึงค.ห.นี้   เชื่อว่ารำพันพิลาป   นิราศเมืองแกลง  นิราศเมืองเพชร แต่งโดยกวีคนเดียวกันคือสุนทรภู่   ก็เลยอ้างโยงกันไปมาได้ค่ะ
แต่ถ้าคุณพิพัฒน์เห็นว่าเจาะนิราศเมืองเพชร เดี่ยวๆเรื่องเดียว ไม่เอาเรื่องอื่นมาปน ก็ได้เหมือนกัน    ข้ามค.ห. ๓๔ กับค.ห.อื่นด้วย
ดิฉันยังไม่เชื่อว่ากวีที่แต่งนิราศเมืองเพชรเป็นชาวเมืองเพชร     เพราะจะไปหา "โคตรย่ายายฝ่ายวงศา" ยังต้อง "วานท่านยายคำให้นำไป"
ซ้ำยังเก็บรายการเยี่ยมญาติเป็นรายการสุดท้าย   เที่ยวเยี่ยมคนที่ไม่ใช่ญาติเสียทั่วเมืองก่อนหน้านี้  มันก็บ่งถึงความห่างเหินบางอย่าง  อาจจะเป็นญาติห่างๆ

ถ้าบทที่อ.ล้อมค้นหามา ถูกต้อง  ก็หมายความว่ากวีมีญาติผู้ใหญ่ตั้งถิ่นฐานในเพชรบุรีมาก่อน  ตอนไปเยี่ยมครั้งนี้ ญาติๆก็ยังมีเหลืออยู่
แต่ตัวเองไม่จำเป็นต้องเกิดที่นั่น   โตที่นั่น    เพียงแต่เคยไปอยู่เพชรบุรีตอนหนุ่ม
ในนิราศไม่เอ่ยถึงชีวิตวัยเด็ก หรือลูกพี่ลูกน้องผู้ชายรุ่นเดียวกัน     ถ้าหากว่าเกิดและโตที่นั่น   เขาจะต้องมีพี่น้องผู้ชายวัยเดียวกันเป็นเพื่อนเล่น   
ถึงอายุมากกว่า ๔๐ แล้ว ต้องเหลือบางคนก็ยังสนิทกันอยู่  พอจะไปเยี่ยมกันได้  ไม่ใช่ไม่มีเลย
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 12 ก.ค. 07, 19:39

อ่านแต่ความนิราศเมืองเพชร ผมก็ว่าไม่ใช่สำนวนพระครับ

แต่อย่างที่ว่า พอไปอ่านนิราศสุพรรณ ก็ไม่ใช่สำนวนพระเหมือนกัน (ยังไม่ได้บอกว่าคนเดียวกันแต่งนะครับ แต่ถือว่าร่วมสมัยกัน) แถมในนิราศสุพรรณมีหลายตอนที่ชี้ว่ากวีเป็นพระ

ผมก็เลยขออนุมานเอาว่า ในเมื่อหลวงพี่นิราศสุพรรณแต่งอย่างนี้ได้ นิราศเมืองเพชรก็คงจะตัดไม่ได้ว่ากวีอาจจะเป็นพระ
ถึงบ้านใหม่ไถ่ถามตามสงสัย            ว่ายังไกลอยู่หรือบ้านท่านขุนแขวง
ไม่บอกก่อนย้อนถามเป็นความแคลง    จะพายแรงหรือว่านายจะพายเบา
ถ้าพายหนักสักครู่หนึ่งก็ถึงดอก          สำนวนนอกน้ำเพชรแล้วเข็ดเขา

เรือลำนี้น่าจะนั่งกันไปไม่น้อยกว่าสี่คน จากความตอนนี้
ถึงคลองช่องล่องเลียบเงียบสงัด         เห็นเมฆกลัดกลางทะเลบนเวหา
เสียงโครมครื้นคลื่นกระทั่งฝั่งชลา        ลมสลาตันตึงหึ่งหึ่งฮือ
นาวาเหเซหันให้ปั่นป่วน                  ต้องแจวทวนท้ายหันช่วยกันถือ
ถึงสี่แจวแล้วเรือยังเหลือมือ              ลมกระพือพัดโงงดูโคลงเคลง

เนื้อความอ้างถึงอีกสามชื่อว่า หนูพัด หนูนิล อีกชื่อหนึ่งคือหนูน้อย ผมไม่แน่ใจนักใจนักว่าหนูน้อยนี่เป็นชื่อหรือไม่
ผมเข้าใจว่าเรือลำนี้คงไม่ใช่เรือแข่ง ดังนั้นคงพายกันสี่แจวเฉพาะยามคับขัน กวีมากับศิษย์ คงไม่ได้เป็นคนพายเป็นปกติ
ดังนั้นถ้าคนถามจะไม่ใช่ตัวกวีเองก็ไม่แปลก และคนตอบจะตอบว่า จะพายแรงหรือว่านายจะพายเบา ก็ย่อมไม่ขัดข้องอีกเช่นกันครับ

มีหมุดเวลาอีกหมุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ นิราศพระแท่นดงรัง ฉบับเณรกลั่นนะครับ ไม่ใช้ฉบับเสมียนมี ระบุ "เดือนสี่ปีมะเส็งเพ็งวันอังคาร" อ.ล้อมสอบได้ว่าตรงกับ ๕ มีนาคม ๒๓๗๕ ถือว่าช่วงเวลาใกล้เคียงกับนิราศเมืองเพชรเป็นอย่างมาก

อยากจะอ่านสอบความดู เสียแต่ว่าไม่มีอยู่ในมือครับ

คิดว่าน่าจะได้อะไรดีๆบ้าง
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 12 ก.ค. 07, 19:53

ผมไม่ได้ให้น้ำหนักกับการค้นพบใหม่ของอาจารย์ล้อมท่าน
(ยัง...สำหรับตอนนี้นะครับ ถ้ามีข้อโต้แย้งใหม่ๆ เราควรพักไว้ก่อน เจาะความเป็นไปได้ เฉพาะที่เป็นไปได้เท่านั้น เรื่องกำกวมทั้งหลาย วางไว้นอกวงก่อนครับ)
และผมยังอ่านรวมๆ เนื่องจากอ่านแบบแปลทีละประโยค เกิดฉบับผิด เราก็ผิดตามไปด้วย

อ่ารวมๆ ได้ความว่า
กวีท่านนี้ ผูกพันเมืองเพชรมากผิดปกติ
เช่น
พอขุนแพ่งตาย แกก็รีบไปเยี่ยมศพ แกคุ้นเคยกับน้องขุนแพ่งมากด้วย สนิทสนมกับสกุลนี้ขนาดร่วมเตียงร่วมบ้าน
ไปมาหาสู่แทบจะเป็นเหย้าเรือน แม่ว่า ในวันหนึ่ง จำต้องจากไปบางกอก

ความกว้างขวางในเมืองเพชรนี้ มีมากเกินกว่าจะเป็นแค่คนแวะมาพักอาศัย
ผมจึงต้องตีความว่า กวีผู้นี้ โตมาจนรุ่นหนุ่มที่เมืองเพชร
มีประสบการณ์ร่วม กับมิตรสหายและญาติสาวๆ แลหญิงสาวหลายคน
การที่ต้องไปหาผู้เฒ่าให้พาไปดูบ้านญาติ ก็ไม่เห็นจะแปลก เรื่องอื่นแปลกกว่านี้ยังเดาได้เป็นตุเป็นตะ
เช่นเรื่องต้องอธิกรณ์ของกวีที่ชื่อว่าสุนทรภู่ ขอหลักฐานอย่างกระจางแจ้งสักคำเถิดครับ
ผมจะยอมเชื่อ

ถ้าเราเป็นเด็กหนุ่ม ตีเสียว่ายี่สิบ แล้วต้องย้ายบ้านมาอยู่บางกอก
พอเราได้ดิบได้ดีในทางราชการ โดยที่พ่อแม่อาจจะตายไปด้วยเหตุอะไรสักอย่างที่ไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึง
เมื่อเรากลับบ้านเดิม ก็ต้องหาผู้ใหญ่ให้พากลับรกรากเดิม
ก็สมัยหนุ่มๆ มัวแต่เที่ยวหาเรื่องหาราวกะชาวบ้าน เฮ้วขนาดเคยเป็น"บ้า"
หนุ่มคนนี้ก็ต้องไม่ธรรมดา คืออาจจะไม่ได้ไกล้ชิดพ่อแม่มากมายนักเสียด้วยซ้ำ
เรื่องให้คนพากลับไปดูบ้านเก่าจึงอยู่ในวิสัยที่จะเดาได้ด้วยเหตุผลธรรมดาๆ

การที่กวีต้องถามชาวบ้านเรื่องระยะทาง ก็ส่อว่า เดิมแกไม่เคยต้องรับรู้เรื่องนี้
แปลว่ารวยแน่แหละครับ ไปใหนก็มีบริวารพาไป กลับบ้านมาครั้งนี้ จึงต้องถามทางให้มั่นใจ

ส่วนเรื่องพระวังหลัง เรื่องทำนานั้น ในเมื่อมีกลอนที่ไม่เข้ากันโผล่ออกมา ก็ต้องบอกว่า อย่าเพิ่งเชื่อทั้งคู่
ผมเองไม่ใครจะโดยเสด็จสมเด็จกรมพระยาดำรง เพราะทรงวินิจฉัยผิดไปจากความรู้มาตรฐานเสมอๆ
อย่างที่ทรงระบุว่า มาเมืองเพชรคราวนี้ รับอาสาเจ้าฟ้าน้อย
อันนี้เป็นไปไม่ได้ กวีเอกอย่างสุนทรภู่ตกราชาศัพท์ ตกอย่างไม่มีภูมิเลย เรียกเจ้าฟ้าระดับนี่ว่า"เสด็จ"
ก็ในเพลงยาวถวายโอวาท ผู้แต่งเรียกเจ้านายน้อยทั้งสามพระองค์ ซึ่งมีฐานันดรด้อยกว่าเจ้าฟ้าน้อย
(พระมารดาเป็นเจ้าฟ้าทรงตั้ง จากพระมารดาที่เป็นพระธิดาเจ้าประเทศราช) ยังเรียกขานเต็มยศว่าทูนกระหม่อม
อ้างตำราและคำสอนระดับสูงสุด ใช้ราชาศัพท์แพรวพราวทั้งเรื่อง ซึ่งมีเจ้านายน้อยเป็นแกนของคำประพันธ์

แต่กวีเมืองเพชรท่านนี้ เอ่ยถึงคำเดียว หนเดียว จ๋องๆ
แค่นี้ผมก็ไม่รับว่าเป็นงานของจอมอหังการณ์ที่ชื่อสุนทรภู่แล้วครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 19 คำสั่ง