เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 56937 นิราศเมืองเพชร
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 10 ก.ค. 07, 11:26

เรื่องศึกลาว ผมเพิ่งจะนึกได้ว่ามีอีกศึกหนึ่งที่เป็นไปได้ครับคือศึกเชียงตุง

สำคัญอยู่ที่ว่า สยามเรียกเชียงตุงว่าเป็นลาวหรือไม่?

มีพระราชหัตถเลขาร.๔ เรียก(คน)เชียงตุงว่า "ลาวเชียงตุง" ในลิงก์นี้ครับ
http://www.tv5.co.th/service/mod/heritage/king/rama4/letter41.html

ศึกเชียงตุงมีสองครั้ง ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๓ ราวปี ๒๓๙๒ อีกครั้งหนึ่งเป็นช่วงต้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ ปี ๒๓๙๕-๒๓๙๖

เรื่องปีจาก "ศึกลาว" นี้ดูท่าจะยังใช้ปักหมุดเวลาไม่ได้ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 10 ก.ค. 07, 12:43

ไม่ได้นึกถึงศึกเชียงตุงเอาเลย  นึกถึงแค่เชียงใหม่   
ครั้งแรกหรือเปล่าคะ ที่เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์(สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ)ไปรบ แต่ว่าคราวนั้นกลับมาแบบเอาชนะไม่ได้
ถ้าหากว่า"ศึกลาว" ที่เอ่ยในนิราศเมืองเพชร  เป็นศึกเชียงตุง    เกิดคำถามตามมาอีกหลายข้อ
๑)การไปรบที่เชียงตุง  เกณฑ์ทัพส่วนหนึ่งจากเพชรบุรี ขึ้นไปถึงโน่นเทียวหรือ ขุนแพ่งถึงต้องไปรบด้วย
๒) หากว่าขุนแพ่งไปศึกที่เชียงตุง ได้รับบาดเจ็บ กลับมาตายที่บ้าน (เพราะเอ่ยถึงการตั้งศพที่บ้าน) ใช้เวลาเดินทางเท่าไรสำหรับคนป่วย
๓) ถ้าเป็นศึกลาวเจ้าอนุวงศ์  เส้นทางจากโคราชมาเมืองเพชร  กับเส้นทางเชียงตุงมาเมืองเพชร เส้นไหนสั้นกว่ากัน  พอที่ทหารบาดเจ็บจะกลับมาตายที่บ้านได้  ไม่ตายเสียกลางทาง
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 10 ก.ค. 07, 13:47

เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ไปรบศึกญวนไม่ได้ไปศึกเชียงตุงครับ

กลับมาต่อเรื่องศึกเชียงตุง ผมขอคัดความบางส่วนจากในคำนำของประชุมพงศาวดารภาคที่ ๙ ดังนี้ครับ


เหตุที่จะได้เรื่องพงษาวดารเมืองเชียงรุ้งที่พิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้นั้น  เดิมพวกเจ้าเมืองเชียงรุ้งแย่งกันเปนใหญ่  จีนอุดหนุนฝ่าย ๑  พม่าอุดหนุนฝ่าย ๑  พวกเชียงรุ้งเกิดรบราฆ่าฟันกัน  บ้านเมืองไม่เปนปรกติมาหลายปี ทีหลังพม่ามาเบียดเบียน เจ้านายเมืองเชียงรุ้งจึงอพยพเข้ามาขออาไศรยในพระราชอาณาจักรเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๙๑ อุปราชามาอาไศรยเมืองหลวงพระบางพวก ๑   มหาไชยมาอาไศรยเมืองน่านพวก ๑  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รับลงมากรุงเทพ ฯ ทั้ง  ๒  คน ไต่ถามได้ความว่า เมืองเชียงรุ้งสมัคจะเปนข้าขอบขัณฑสิมา ขอพระบารมีเปนที่พึ่งต่อไป ทรงพระราชดำริห์ว่า พม่ามีอำนาจที่เมืองเชียงรุ้งก็เพราะได้กำลังเมืองเชียงตุง  ซึ่งอยู่ต่อติดกับเมืองเชียงรุ้งทางด้านตวันตก ถ้าตัดกำลังเมืองเชียงตุงเสียแล้ว  พม่าก็จะทำไมแก่เมืองเชียงรุ้งไม่ได้ เวลานั้นเมืองเชียงตุงมีเหตุเปนอริอยู่กับเมืองเชียงใหม่ด้วย จึงดำรัสสั่งให้มีตราเกณฑ์กองทัพเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน ให้พระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่เปนแม่ทัพยกขึ้นไปตีเมืองเชียงตุง เมื่อปีรกา พ.ศ. ๒๓๙๒  ตีหัวเมืองรายทางเข้าไปได้จนถึงชานเมืองเชียงตุง  แต่กองทัพไม่พรักพร้อมกัน  แลไปขัดสนเสบียงอาหารจึงต้องถอยทัพกลับมา  ยังมิทันที่จะได้จัดการเรื่องเมืองเชียงรุ้งต่อไปประการใด  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต   อุปราชาแลมหาไชยยังค้างอยู่ในกรุงเทพ ฯ จนถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้เสนาบดีปฤกษาการเรื่องเมืองเชียงรุ้ง ว่าจะควรทำอย่างไรต่อไป เสนาบดีปฤกษาเห็นพร้อมกันว่า  กองทัพเมืองเชียงใหม่ยกขึ้นไปก็เกือบจะได้เมืองเชียงตุงอยู่แล้ว หากไปมีเหตุเกิดการบกพร่องจึงต้องถอยทัพ ครั้งนี้ควรจะให้ยกกองทัพใหญ่จากกรุงเทพ ฯ ขึ้นไปสมทบกับกองทัพหัวเมืองระดมตีเมืองเชียงตุงให้การสำเร็จดังกระแสพระราชดำริห์ในรัชกาลที่ ๓  จึงได้โปรดให้กรมหลวงวงษาธิราชสนิท  กับเจ้าพระยาภูธราภัย แต่ยังเปนเจ้าพระยายมราช  ยกกองทัพขึ้นไป ความพิศดารเรื่องยกทัพคราวนั้นแจ้งอยู่ในหนังสือ “จดหมายเหตุเรื่องทัพเชียงตุง”


ได้ความว่าศึกเชียงตุงครั้งแรก เกิดปลายรัชกาลที่ ๓ ทรงให้ทางหัวเมืองเหนือยกไปรบครับ ไม่มีทัพกรุงเทพไปด้วย เป็นอันว่าตัดปี ๒๓๙๒ ออกไปได้หนึ่งละ ขุนแพ่งไม่ได้ไปศึกนี้แน่

ศึกเชียงตุงครั้งที่สอง ต้นรัชกาลที่ ๔ มีกำลังจากกรุงเทพไปช่วย ถ้าขุนแพ่งจะไปก็ต้องเป็นศึกนี้ครับ

ระยะทางจากเชียงตุงลงมากรุงเทพน่าจะหลายเดือนอยู่ ที่เสียเวลามากคงจะเป็นช่วงจากเชียงตุงลงมาเชียงใหม่ เพราะเป็นทางบกกันดารมาก แต่จะรอดตายกลับมาจนถึงเมืองเพชรหรือไม่นั้น อยู่ที่ว่าอาการป่วยเป็นอย่างไรครับ ยังไม่น่าจะชี้ชัดได้อยู่ดีครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 10 ก.ค. 07, 14:32

เมื่อศึกลาวคราวนั้นเธอบรรลัย...
การตายของขุนแพ่งต้องสืบเนื่องมาจากทำศึกแน่นอน  ถ้าไปทำศึกก่อนกลับมาปลอดภัยดี แต่มาป่วยทีหลัง ก็น่าจะใช้คำว่า  หลังศึกลาวคราวนั้นเธอบรรลัย
 แต่จะไปบาดเจ็บถูกอาวุธกลับมาตายที่เพชรบุรี  หรือไปป่วยเป็นปอดอักเสบจากอากาศหนาว แล้วกลับมาบ้าน อาการหนักลงจนตาย ก็น่าคิด
ดูจากประโยคแล้วไม่น่าเชื่อว่าป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บ  มีคำว่า"บรรลัย" ซึ่งเราไม่ใช้กับคนป่วยด้วยโรคอะไรสักอย่างที่รักษาไม่ไหว   น่าจะเป็นการตายจากการทำศึก  เมื่อมาตายที่บ้านก็แสดงว่าประคับประคองกันกลับมาได้ จนถึงบ้านเมืองเพชร    ระยะทางไม่น่าจะกันดารมากนัก  และกินเวลาไม่มาก   ถ้ามาจากเชียงตุง คงทนไม่ไหวจากพิษบาดแผลกับแรงกระเทือนจากเกวียนเมื่อเดินทางบก ก่อนถึงแม่น้ำปิง
จึงไม่ค่อยจะเชื่อว่าเป็นศึกเชียงตุงในต้นรัชกาลที่ ๔     แต่เชื่อว่าเป็นศึกลาวที่เดินทางใกล้กว่านั้น

นอกจากนี้ในนิราศยังเอ่ยถึงหม่อมบุญนาค  ในกรมพระราชวังหลัง   หม่อมคนนี้เป็นหญิงหรือชายก็ไม่ประจักษ์     คุณ pipat เห็นว่าเป็นชาย  แต่ดิฉันเห็นว่าเป็นหญิง อาจแปลได้ว่าเธอเป็นหม่อมห้ามในกรมพระราชวังหลังมาก่อน
ถ้าเป็นคนที่เกี่ยวเนื่องกับกรมพระราชวังหลัง  อยู่ในเจนเนอเรชั่นเดียวกัน   มีอายุมาจนถึงรัชกาลที่ ๔ เห็นจะหง่อมมากเกินไปมั้งคะ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 10 ก.ค. 07, 16:19

เส้นทางทัพศึกเชียงตุง ผมเคยอ่านเจอว่ากันดารมากขนาดใช้เกวียนไม่ได้ อาจจะต้องเป็นช้างและสัตว์ต่างชนิดอื่น หรือไม่ก็ใช้ไพร่ขนเสบียงกันทีเดียว

เรื่องสาเหตุการตายของขุนแพ่ง น่าจะเป็นอาการบาดเจ็บอย่างที่อาจารย์ว่าครับ แต่อาการบาดเจ็บก็มีหลายอย่าง ถ้าบาดเจ็บสันหลัง อาจจะเป็นอัมพาต พากลับมาบ้านได้ แต่ตายเพราะการติดเชื้อจากแผลกดทับก็เป็นได้ครับ ดังนั้นอาจจะมีแนวโน้มว่าศึกลาวเป็นศึกเจ้าอนุวงศ์มากกว่าก็จริง แต่ฟันธงไม่ได้ครับ

ส่วนเรื่องหม่อมบุนนาค

ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุนนาค   เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย
มารดาเจ้าคราวพระวังหลังครรไล   มาทำไร่ทำนาท่านการุญ

ผมอ่านแบ่งวรรคตอนได้ดังนี้
ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุนนาค เมื่อยามยากจนมาได้อาศัยมารดาเจ้า คราวพระวังหลังครรไล มาทำไร่ทำนาท่านการุญ
หม่อมบุนนาคไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับพระวังหลังครับ หากหม่อมบุนนาคเป็นพระมารดาเจ้าในพระวังหลังแล้ว คำว่า "คราว" จะแปลอย่างไรครับ ผมอ่านไม่ได้ความครับ

หรือหากจะแปล "ครรไล" ว่า "ไป" แบ่งวรรคตอนดังนี้
ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุนนาค เมื่อยามยากจนมาได้อาศัยมารดาเจ้า คราวพระวังหลังครรไลมาทำไร่ทำนาท่านการุญ
กลายเป็นว่าท่านการุณกวี(คงไม่ได้การุณพระวังหลัง) ในคราวที่พระวังหลัง(ไม่มีเสด็จ)มาทำไร่ทำนา
พอจะดิ้นรนแปลไปได้ แต่ไม่เข้าท่าเท่าไหร่ครับ

ทีนี้ถ้าคราวพระวังหลังครรไลคือ ๒๓๔๙ มาถึงราว ๒๓๙๗ (หากเชื่อว่าขุนแพ่งตายคราวศึกเชียงตุงครั้งที่ ๒) หม่อมบุนนาคหง่อมแน่ แต่ไม่ได้หง่อมคนเดียว กวีก็ต้องหง่อมไปด้วย อย่างน้อยต้องอายุราว ๗๐ ขึ้น เมียขุนแพ่งคงไม่เพิ่งจะมาหง่อมเพราะผัวตายอย่างอาจารย์ว่าครับ เพราะคงต้องหง่อมมาหลายสิบปีแล้ว

แล้ว "พระวังหลัง" จำเป็นต้องหมายถึงกรมพระราชวังหลังหรือไม่? จะหมายความว่า พระ(ผู้ประทับ ณ)วังหลัง หรือ พระ(ผู้เป็นเจ้าแห่ง)วังหลัง ได้หรือไม่ครับ?

ถ้าพระวังหลังไม่ได้หมายถึงกรมพระราชวังหลัง ก็มีความเป็นไปได้ครับว่าขุนแพ่งจะตายในศึกเชียงตุง และกวีผู้แต่งนิราศเมืองเพชรต้องเป็นใครสักคนที่มีอายุน้อยกว่าสุนทรภู่ที่เรารู้จักสัก ๒๐-๓๐ ปี

ถ้าไม่อย่างนั้นคงต้องถอยกลับไปที่ศึกเจ้าอนุวงศ์ และกำหนดอายุนิราศเมืองเพชรใหม่ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 10 ก.ค. 07, 16:52

มารดาเจ้าคราวพระวังหลังครรไล   
"พระวังหลัง"  ดิฉันเชื่อว่ามีพระองค์เดียว คือกรมพระราชวังหลัง  กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิมุข  ในรัชกาลที่ ๑     แต่ "เจ้าวังหลัง "มีหลายองค์  สืบเชื้อสายจากกรมพระราชวังหลัง
พระชายาคือเจ้าครอกทองอยู่  ส่วนที่รองๆลงไปเรียกว่า "หม่อม" ไม่เรียกว่า "จอม" หรือ "เจ้าจอม"    ถ้าหม่อมบุญนาคมีคำว่า "หม่อม" นำหน้า ก็ชัดเจนได้พอสมควรว่าเป็นหนึ่งในหม่อมของท่าน     ก็ย่อมเป็น "มารดาเจ้า"  คือแม่ของเจ้านั่นเอง
ครรไล ในที่นี้  เชื่อว่าย่อมาจาก สู่สวรรค์ครรไล  คือไปสวรรค์แล้ว  ไม่ได้หมายถึงไปเมืองเพชร
เมื่อสิ้นกรมพระราชวังหลัง   หม่อมคนหนึ่งของท่านจะออกจากวังมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองเพชรก็ไม่แปลก     เจ้าจอมก๊ก อ. ในรัชกาลที่ ๕  เมื่อสิ้นรัชกาลแล้วก็ทำตามนี้เหมือนกัน   หม่อมบุญนาคอาจเป็นสาวเมืองเพชรมาก่อนก็ได้   มาซื้อไร่นาสาโทอยู่ที่นี่    กลายเป็นคหปตานีแห่งเพชรบุรี 
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 10 ก.ค. 07, 18:09

ไม่สงสัยว่าหม่อมบุนนาคเป็นพระมารดาเจ้าครับ แต่ มารดาเจ้าคราวพระวังหลังครรไล นั้น ถ้าแปลว่าเป็นมารดาเจ้าในพระวังหลัง ผมว่าแปลกจริงๆนะครับ เพราะจะกลายเป็นว่าเป็นมารดาเจ้าเอาเมื่อคราวที่พระวังหลังครรไล ไม่สื่อความหมายครับ

ผมอ่านแล้วก็ยังแยกออกเป็นสองเรื่องอยู่ดีครับ มารดาเจ้าคือหม่อมบุนนาค(เป็นหญิงแน่นอน), "คราวพระวังหลังครรไล" ระบุเวลาที่กวีมาพึ่งพาครับ แต่คิดว่าคงเป็นแค่ประเด็นปลีกย่อย เพราะหากพระวังหลังคือกรมพระราชวังหลังอย่างแน่นอน นิราศเมืองเพชรก็ต้องแต่งขึ้นหลังศึกเจ้าอนุวงศ์เล็กน้อยอย่างที่อาจารย์ได้วิเคราะห์ไว้ข้างต้นครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 10 ก.ค. 07, 18:33

งั้นดิฉันลองอธิบายความแบบนี้  คุณอาชาลองพิจารณาอีกทีว่าจะพอได้เรื่องไหมนะคะ

ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุนนาค          เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย 
มารดาเจ้า คราวพระวังหลังครรไล        มาทำไร่ทำนาท่านการุญ

ถึงต้นตาล(ซึ่งเป็นตำบล)บ้านของคุณหม่อมบุนนาค          เมื่อ(ข้าพเจ้า)ยามตกยากจนมา    ได้อาศัย  (ท่านผู้เป็น)มารดาเจ้า
(หม่อมบุนนาคผู้นี้)คราวพระวังหลังครรไล (แล้ว)       (ท่าน)มาทำไร่ทำนา(ที่เพชรบุรี)ท่านการุญ(ข้าพเจ้า)
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 10 ก.ค. 07, 18:48

เข้าใจละครับ ถ้าอ่านอย่างนี้ก็คือมารดาเจ้ามาทำไร่ทำนาเมื่อพระวังหลังครรไล

กวีแค่มาขออาศัยพึ่งพายามยาก ไม่ได้มาทำไร่ทำนา และไม่ได้มายามพระวังหลังครรไล

แต่ถ้าเป็นอย่างนี้ เห็นทีจะยังทิ้งสมมติฐานเรื่องขุนแพ่งตายคราวศึกเชียงตุง ๒๓๙๖ ไม่ได้ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 10 ก.ค. 07, 19:10

ดิฉันเชื่อว่าผู้ทำไร่ทำนาคือหม่อมบุนนาค  ไม่ใช่กรมพระราชวังหลังเอง  เพราะมีเรื่องราวขยายต่อไปถึงบทบาทของหม่อมบุนนาค ว่าเมื่อท่านขุนนางกวีเคยมาอาศัยยามตกยาก  ท่านก็รับเอาไว้ให้อาศัยอยู่ด้วย   เจ็บป่วยหม่อมบุนนาคก็รักษา  ซ้ำยังจะไปสู่ขอเจ้าสาวมาให้เพื่อจะแต่งงานไปเป็นเรื่องเป็นราว

เมื่อเจ็บป่วยช่วยรักษาจะหาคู่            จะขอสู่ให้เป็นเนื้อช่วยเกื้อหนุน
ยังยากไร้ไม่มีของสนองคุณ               ขอแบ่งบุญให้ท่านทั่วทุกตัวตน
ทั้งนารีที่ได้รักลักรำลึก                     เป็นแต่นึกลับหลังหลายครั้งหน
ขอสมาอย่าได้มีราคีปน                     เป็นต่างคนต่างแคล้วแล้วกันไป

การดูแลรักษาพยาบาล ตลอดจนสนใจเอาธุระจุ๊กๆจิ๊กๆ เรื่องให้เจ้าหนุ่มมีเมียแบบนี้    เป็นเรื่องในครัวเรือน  ซึ่งผู้หญิงเป็นใหญ่  มักจะรับเป็นภาระ มากกว่าผู้ชายที่เป็นพ่อบ้าน   ถ้าหม่อมบุนนาคเป็นผู้ชาย น่าจะสนใจเรื่องฝากฝังให้ทำงาน หรือให้ประกอบอาชีพ แบ่งไร่นาสาโทให้ทำ เป็นรายได้เสียมากกว่า   
เมื่อมีการขยายบทบาท เล่าต่อเรื่องหม่อมบุนนาค ก็ทำให้เชื่อว่าคนมาทำไร่ทำนาคือท่านนี่แหละ  ไม่ใช่กรมพระราชวังหลังซึ่งเอ่ยถึงคำเดียวแล้วไม่เอ่ยอะไรอีกเลย
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 10 ก.ค. 07, 19:24

เห็นด้วยเต็มที่ครับ

ถ้าตีความว่าพระวังหลังมาทำไร่ทำนาเสียเองดูจะฝืนมากไปสักหน่อยครับ

ขอสรุปไว้ตรงนี้หน่อยนะครับ

ปีที่แต่งนิราศเมืองเพชร ตอนนี้เหลือที่น่าจะเป็นไปได้อยู่สองปีคือ
- ปีขาล ๒๓๗๓ หลังศึกเจ้าอนุวงศ์ กับ
- ปีขาล ๒๓๙๗ หลังศึกเชียงตุงครั้งที่ ๒
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 10 ก.ค. 07, 20:26

ถ้านอนไม่หลับ เพราะตีโจทย์ให้แตกไม่สำเร็จ     ก็เห็นจะต้องโทษคุณอาชาผยอง   ยิ้มเท่ห์
เพราะดิฉันก็เจอตอขนาดใหญ่เข้ากับ ๒ ข้อสรุปนี้   
๑) ปีขาลที่แต่งนิราศเมืองเพชร  ถ้าเป็น ปีขาล ๒๓๗๓ หลังศึกเจ้าอนุวงศ์
ก็จะเจอตอใหญ่ คือขัดกับหลักฐานอื่นที่ว่า ปีนั้นสุนทรภู่บวชอยู่  จะมาสึกกลางคันไปอาสาเจ้านายไปเมืองเพชร   ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้
ทำให้ตีโจทย์ไม่แตก ในข้อนี้
กับ
๒  ปีขาลที่แต่งนิราศเมืองเพชร  ถ้าเป็น ปีขาล ๒๓๙๗ หลังศึกเชียงตุงครั้งที่ ๒
ก็จะโล่งอกว่า หมดปัญหาเรื่องสุนทรภู่บวชไปได้
ดิฉันอยากให้เป็นข้อนี้มากกว่าข้อแรก ที่จะต้องย้อนกลับไปแก้ไขเรื่องปีสุนทรภู่บวชกันให้อลหม่านไปหมด
แต่
ก็จะเจอตอใหญ่กว่านั้นอีก   คือถ้าปี ๒๓๙๗ สุนทรภู่ยังหนุ่มกระชุ่มกระชวย พอจะรำลึกเรื่องรัก และเรื่องสาวๆทั่วเมืองที่ตัวเองไปก่อความหลังเอาไว้    น้องสาวบางคนก็ยังท้องอยู่    แสดงว่าเธอยังสาวอยู่มาก
เราก็จะเชื่อไม่ได้ว่า สุนทรภู่เป็นกวีหนุ่มสมัยรัชกาลที่ ๒    เพราะถ้าเป็นหนุ่มในสมัยนั้น มาถึงปีนี้เห็นทีจะหง่อมมากแล้ว    เป็นรุ่นคุณปู่คุณตา ยักแย่ยักยัน ไม่มารำพึงอะไรแบบนี้ 
และหม่อมบุนนาคผู้มีพระคุณ  ซึ่งเป็นคนยุคกรมพระราชวังหลัง เห็นทีอายุจะร่วมร้อย
ดังนั้น ก็จะต้องตัดความเชื่อเรื่องสุนทรภู่เป็นกวีที่"เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตรลบ" ในพระองค์สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ออกไปจนหมด
ทำให้ยุ่งยากหนักเข้าไปอีก

ไม่ว่า ๒๓๗๓ หรือ ๒๓๙๗ ยังไงก็ไม่ลงตัวกับประวัติส่วนอื่น    ไม่ลงจริงๆ  เจอตอเกะกะไปหมด
ยกเว้นจะฟันธงโครมลงไปแบบคุณ pipat ทำ ว่า นิราศเมืองเพชรแต่งโดยกวีคนไหนไม่รู้ แต่ไม่ใช่สุนทรภู่   ยังงั้นก็จะไม่เจอตอที่เราเจอกันใน ๒ ข้อ
แต่จะเจอตอใหม่ว่า กวีคนนั้นที่ฝีปากจัดเจนขนาดนี้ เป็นใคร  ทำไมนิรนามอยู่ได้ถึงเพียงนี้
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 10 ก.ค. 07, 22:34

กลับมาค่อยๆอ่านใหม่ครับ


ถึงบางหว้าอารามนามจอมทอง   ดูเรืองรองรุ่งโรจน์ที่โบสถ์ราม
สาธุสะพระองค์มาทรงสร้าง             เป็นเยี่ยงอย่างไว้ในภาษาสยาม
ในพระโกศโปรดปรานประทานนาม   โอรสราชอารามงามเจริญ

ร.๒ ผู้พระราชทานนามวัดราชโอรส สวรรคต ๒๓๖๗
ร.๓ ผู้ทรงสร้างสวรรคต ๒๓๙๓

เป็นอันว่าตัดประเด็นขุนแพ่งตายศึกเชียงตุงครั้งที่ ๒ ได้เลยครับ ขุนแพ่งต้องตายเพราะศึกเจ้าอนุวงศ์ ๒๓๗๐-๒๓๗๒

กวีต้องแต่งนิราศเมืองเพชรอย่างเร็ว ๒๓๗๑ อย่างมากไม่น่าเกิน ๒๓๗๕
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 11 ก.ค. 07, 10:24

ใช่เลย
นิราศเมืองเพชรแต่งในรัชกาลที่ ๓ ตอนปลาย 
ถ้าหากว่าตัดปัญหาเรื่องปีที่แต่ง ไม่ให้ชนกับประวัติสุนทรภู่ที่ว่ากำลังบวชอยู่ในช่วงเวลานั้น
ก็จะลงตัวได้ว่าเป็นผลงานสุนทรภู่  ไม่ใช่ของคนอื่น
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 11 ก.ค. 07, 11:45

เพลงยาวถวายโอวาทเป็นตัวแปรในเรื่องนี้ครับ

ด้วยเหตุว่าฝ่าพระบาทได้ขาดเสร็จ     โดยสมเด็จประทานตามความประสงค์
ทูลกระหม่อมยอมในพระทัยปลง       ถวายองค์อนุญาตเป็นขาดคำ
ในวันอังคารพะยานอยู่                  ปีฉลูเอกศกแรมหกค่ำ

ตรงนี้ระบุปีไว้ชัด ปีฉลูเอกศก คือ ๒๓๗๒ ความในเพลงยาวถวายโอวาทมั่นคง ไม่มีทางตีความเป็นอื่นได้


                                         ควรมิควรจวนจะพรากจากสถาน
จึงเขียนความตามใจอาลัยลาน          ขอประทานโทษาอย่าราคี
ด้วยขอบคุณทูลกระหม่อมถนอมรัก     เหมือนผัดพักตร์ผิวหน้าเป็นราศี
เสด็จมาปราศรัยถึงในกุฎี                ดังวารีรดซาบอาบละออง

ความตรงนี้ระบุว่ากวีกำลังจะต้องออกไปจากที่อยู่อาศัย ทูลกระหม่อมเสด็จปราศรัยมาถึงในกุฎี กวีย่อมต้องมีสถานภาพเป็นพระสงฆ์


อนึ่งคำนำถวายหมายว่าชอบ            แม้ทรงสอบเสียวทราบว่าหยาบหยาม
อย่าเฉียวฉุนหุนหวนว่าลวนลาม         เห็นแก่ความรักโปรดซึ่งโทษกรณ์
แม้นเห็นจริงสิงสวัสดิ์อย่าผัดเพี้ยน      เร่งร่ำเรียนตามคำที่พร่ำสอน
ดูดินฟ้าหน้าหนาวหรือคราวร้อน         เร่งผันผ่อนพากเพียรเรียนวิชา
ซึ่งประโยชน์โพธิญาณเป็นการเนิ่น      พอจำเริญรู้ธรรมคำคาถา
ถือที่ข้ออรหัตวิปัสสนา                  เป็นวิชาฝ่ายพุทธนี้สุดดี
ข้างฝ่ายไสยไตรเพทวิเศษนัก           ให้ยศศักดิ์สูงสง่าเป็นราศี
สืบตระกูลพูนสวัสดิ์ในปัฐพี             ได้เป็นที่พึ่งพาแก่ข้าไท
ซึ่งทูลความตามซื่ออย่าถือโทษ         ถ้ากริ้วโกรธตรัสถามตามสงสัย
ด้วยวันออกนอกพรรษาขอลาไป        เหลืออาลัยทูลกระหม่อมให้ตรอมทรวง

ความตรงนี้ระบุวันที่ขอลาไปว่าเป็นวันออกพรรษา(ที่น่าจะยังมาไม่ถึง) ประเด็นที่น่าคิดคือ พระนิพนธ์สมเด็จดำรงฯว่าพระภู่ถูกอธิกรณ์ อาจจะเป็นเพราะดื่มสุรา ถ้าถูกอธกรณ์จริง ทำไมต้องรอให้ถึงวันออกพรรษา ตรงนี้ไม่สมเหตุสมผล ที่สำคัญในกลอนข้างต้นยังถวายโอวาทให้ถือข้ออรหัตวิปัสสนาอยู่เลย พระอาจารย์ที่โดนอธิกรณ์จะมีหน้ามาสอนอย่างนี้หรือครับ

ดังนั้น จากเพลงยาวถวายโอวาทนี้ ผมลงความเห็นว่า กวีออกจากวัดไปด้วยกิจอะไรสักอย่าง หรือเต็มที่ก็แค่มีเหตุคับข้องใจ แต่ไม่ได้ถูกจับสึกแน่ ส่วนที่ว่าจะออกไปในสถานภาพฆราวาสหรือพระสงฆ์ อันนี้เป็นไปได้ทั้งสองประการครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 19 คำสั่ง