เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11
  พิมพ์  
อ่าน: 56938 นิราศเมืองเพชร
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 135  เมื่อ 18 ก.ค. 07, 13:20

เหตุผลอีกสองสามอย่างในนิราศเมืองเพชร ที่แสดงว่าเรื่องนี้ต้องแต่งก่อน 2388 นานมาก   แต่งในทศวรรษ 2370s  ประมาณ 2375 + หรือ- เล็กน้อย
คือมรณกรรมของขุนแพ่ง
กวีบรรยายว่า
"ด้วยศึกลาวคราวนั้นเธอบรรลัย"  หมายถึงศึกเจ้าอนุวงศ์ 2369-71 ในรัชกาลที่ 3
ถ้าหากว่าล่วงมาถึง 2388 กินเวลานานเกือบ 20 ปี   ก็ไม่นานไปหน่อยหรือ ที่ภรรยาจะเอาแต่คร่ำครวญโศกเศร้าไม่รู้จบ

แสนสงสารท่านผู้หญิงมิ่งเมียหลวง         เฝ้าข้อนทรวงเสียใจอาลัยผัว
ทั้งเมียน้อยอ้อยอิ่งหญิงคนครัว               พากันมัวหมองคล้ำระกำตรอม
เมื่อมาเรือนเยือนศพได้พบพักตร์             ไม่หมองนักคราวนี้รูปช่างซูบผอม
เพราะครวญคร่ำกำสรดสู้อดออม              เหมือนแก่งอมหงิมเงียบเซียบสำเนียง

และอีกตอนหนึ่ง พูดถึงน้องชายขุนแพ่งที่เลื่อนขึ้นกินตำแหน่งแทนพี่
แล้วไปบ้านท่านแพ่งตำแหน่งใหม่            ยังรักใคร่ครองจิตสนิทสนม
ที่ธุระจะใคร่ได้ใจนิยม                           เขารับสมปรารถนาสามิภักดิ์

ถ้าเป็นปี 2388-92   ขุนแพ่งคนเก่าตายไปประมาณ 20 ปี     น้องชายก็ต้องเลื่อนขึ้นแทนพี่ร่วม 20 ปีแล้ว   ไม่มีการปล่อยตำแหน่งให้ว่างนานเป็นสิบเก้าปี
ขุนแพ่งปัจจุบัน ขึ้นมาแทนตั้ง 20 ปีแล้ว   จะเรียกว่า "ขุนแพ่งตำแหน่งใหม่" ก็ผิดไปละค่ะ
ถ้าจะเทียบให้รู้กันว่ามีขุนแพ่ง 2 คน ก็น่าจะเรียกน้องชายว่า ขุนแพ่ง  และพี่ชายที่ตายไปตั้งแต่ศึกเจ้าอนุวงศ์ว่า ขุนแพ่งเก่า




บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 136  เมื่อ 19 ก.ค. 07, 21:50

ยังติดใจคำว่า "แง่" ว่ามันกลายเป็นคำหยาบไปตั้งแต่เมื่อไร

เขาแต่งแง่แต่สาวชาวบางกอก          อันบ้านนอกนี้มันรกจนปกหู
เห็นมีแง่หรือไม่มีแง่ก็แลดู                  ฝ่ายเจ้าหนูตอบว่าข้ามาแต่ไกล
จริงอยู่สาวชาวเพชรบุรีไม่มีแง่           เห็นมีแต่งวงแหลมแซมไสว
เขาว่างวงร่วงเน่าเสียเปล่าไป            ไม่เหมือนในบางกอกล้วนดอกบาน

ในสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อนายนรินทร์ธิเบศร์แต่ง นิราศนรินทร์   ยังมีคำว่า แง่ ในความหมายปกติทั่วไป

ชาวเรือแผ่แง่ค้า                 ขายของ
หมายความว่าชาวเรือเอาสินค้ามาวางขาย

ทำไมในรัชกาลที่ ๓   คำนี้กลายเป็นคำหยาบโลนไปแล้ว ?
แต่ถ้าเป็นสมัยหลังกว่านั้น ความหมายอาจเพี้ยนได้ 
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 137  เมื่อ 19 ก.ค. 07, 22:17

อาจจะมีความหมายสองแง่สองง่ามมาก่อนแล้วนะครับ

นายนรินทร์ใช้แบบบริสุทธิ์ใจมันก็ไม่หยาบ แต่ผู้แต่งนิราศเมืองเพชรฉบับความแปลกนี้เอามาเล่นหยาบโลนก็กลายเป็นหยาบไปได้ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 138  เมื่อ 20 ก.ค. 07, 15:12

สมัยสองร้อยปีก่อนไม่น่าจะเอาคำธรรมดาไปเล่นเป็นหยาบโลนกัน สารพัดความหมาย เหมือนสมัยนี้นะคะ

กลับมาอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้สรุปว่านิราศเมืองเพชร แต่งในพ.ศ. 2388-92 ไม่ได้
ก็คืออายุของสาวๆในเรื่อง
ท่านขุนนางกวี มีกิ๊กชาวเพชรหลายคน  เมื่อครั้งท่านยังหนุ่ม    กลับมาครั้งล่าสุด มีลูกชายโตเป็นหนุ่มแล้ว
ถ้าหากว่าอายุมากถึงหกสิบ   (เพราะเกิดปี 2329 ) กิ๊กสาวๆเมื่อครั้งโน้นควรอายุเท่าไร
ตีเสียว่าบางคนอ่อนกว่ามากๆ ประมาณ  10 ปี นอกนั้นก็ไล่ขึ้นมาเช่น 5-6 ปี จนถึงรุ่นเดียวกัน    ถึงจะจีบกันรู้เรื่อง  อ่อนกว่านี้ต้องเรียกว่าคราวหลาน เป็นหญ้าอ่อนไปแล้ว
กลับมาอีกครั้งอายุหกสิบ   สาวๆก็กลายเป็นคุณป้าอายุ 50-60 ปี
เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไรกับผู้หญิงอายุ 50 -60

เห็นหน้าน้องทองมีอารีรัก                 ครั้นจะทักเล่าก็กลัวผัวจะหึง
*************
เขาว่าน้องของเราเป็นเจ้าสาว             ไม่รู้ราวเรื่องเร่อมาเจอหอ
****************
แค้นแต่ขำกรรมอะไรไฉนน้อง              เฝ้าท้องท้องทุกทุกปีไม่มีเหมือน
ช่างกระไรใจจิตไม่บิดเบือน                 จะไปเยือนเล่าก็รู้ว่าอยู่ไฟ

แม่ทองมี   แม่อะไรอีกคนที่เป็นเจ้าสาว กับแม่ขำ  ถ้าแก่จนห้าสิบกว่า เห็นจะไม่มีทางให้ผัวหึง   หรือเพิ่งเข้าหอเป็นเจ้าสาว  หรือยังท้องหัวปีท้ายปี

เมื่อกิ๊กสาวๆพวกนี้ยังสาวอยู่    ท่านขุนนางกวีก็ย่อมไม่แก่นักค่ะ

ป.ล. คุณ Pipat เคยตั้งข้อสังเกตข้อนี้ ดิฉันเอามาเรียบเรียงอีกครั้ง


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 139  เมื่อ 21 ก.ค. 07, 08:04

ประเด็นที่ขัดแย้งกันอยู่ตอนนี้ก็คือ เมื่อเทียบกับประวัติตอนอื่นของสุนทรภู่  ช่วงพ.ศ. 2375 หรือใกล้เคียง 
สุนทรภู่ยังบวชอยู่ที่วัดเทพธิดาราม    ไม่มีทางจะกลายมาเป็นฆราวาสอาสาเจ้านายไปทำธุระที่เมืองเพชรบุรี

คุณ Pipat จึงสรุปว่า ถ้าเรื่องนี้แต่งประมาณปีนี้จริง   คนแต่งก็ไม่ใช่สุนทรภู่  แม้ว่ามีลูกชายชื่อหนูพัดเหมือนกัน

แต่ดิฉันมองเห็นความเป็นไปได้อีกอย่างว่า

ถ้าคนแต่งคือสุนทรภู่  มีลูกชายชื่อหนูพัดเจ้าเก่าที่เราเห็นกันในนิราศเรื่องอื่น  ก็หมายความว่า ปี 2375 หรือใกล้เคียงกันนั้น
สุนทรภู่ไม่ได้บวช
สุนทรภู่ต้องบวชในช่วงเวลาอื่น    "ปีวอกออกขาดราชกิจ บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา"  ไม่ได้หมายถึง 2367   แต่เป็นปีวอก 2379 ก็จะมีช่องให้นิราศเมืองเพชรแปะเข้าได้
เพราะมีกลอนวรรคหนึ่งในรำพันพิลาป ที่ชวนสะกิดใจว่า สุนทรภู่อาจจะสึก แล้วมาบวชเมื่อแก่ อีกครั้ง 


อ้อ
เผื่อข้อ ๓ ไว้ด้วยค่ะ   ถ้าเห็นด้วยกับ อ.ล้อม เพ็งแก้ว ว่านิราศเมืองเพชรแต่งเมื่อสุนทรภู่ยังบวชอยู่  ก็แสดงว่าเป็นพระสงฆ์ที่ไม่สำรวมเอาเลย  แต่งเรื่องรักๆใคร่ๆ  แถมบางตอนคึกคะนองสองแง่สองง่ามเสียอีก 
ท่านยังกล้าขนาดเอามาเป็นจดหมายเหตุเปิดเผยกันครึกครื้น
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 140  เมื่อ 21 ก.ค. 07, 11:38

ขออนุญาตแก้ไขนิดหน่อยครับ
ปี 2375 วัดเทพธิดารามยังไม่สร้าง(เริ่ม 2379)
ปีนั้นผมเดาว่าสุนทรภู่เพิ่งเสร็จงานสอนเจ้าฟ้า ซึ่งสอนตั้งแต่ 2372 ระบุในเพลงยาวฯ
จนถึง 2374 นับปีแล้วเจ้าฟ้ากลาง 13 พอดี ต้องโสกันต์

เพลงยาวถวายโอวาทนั้น เป็นคำลาของครูพระ แต่มิใช่ลาสึก ลาไปที่ห่างไกล
ทีนี้เมื่อปักหลักกันที่ ปี 2374 ลงไป สุนทรภู่จะเป็นกวีผู้แต่งนิราศเมืองเพชรมิได้
เพราะกวีคนนั้น มาเยี่ยมศพขุนแพ่ง ตีว่า 2371 หากเป็นสุนทรภู่ก็ควรจะห่มผ้าเหลืองมา
แต่หลัง(หรือก่อน)เยือนศพ กวีได้มีความสัมพันธ์กับสาวหลายนาง
คนอยู่ในผ้าเหลืองทำมิได้แน่ๆ

ยิ่งเมื่อสุนทรภู่สอนหนังสือแล้ว 2372-2374 จะไปออกหัวเมืองคงกระทำมิได้ ต้องสอนไปทุกวันกว่าจะเสร็จ
เพราะศิษย์เป็นเจ้านาย ไม่ใช่ลูกตาสีตาสา ครูจะได้หนีเที่ยวเป็นระยะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 141  เมื่อ 21 ก.ค. 07, 12:25

ลองเรียงลำดับใหม่

รัชกาลที่ ๒ สิ้นเมื่อพ.ศ. ๒๓๖๗ สุนทรภู่ออกบวช
ก่อนหน้านี้ สมัยหนุ่ม มีสาวๆอยู่เพชรบุรี
หลังย้ายมาอยู่กรุงเทพก็เลิกกับสาวๆไป
บวชอยู่จนถึงเจ้าฟ้ากลางโสกันต์ ๒๓๗๔
ระหว่างนั้น  มาเคารพศพขุนแพ่งทั้งที่อยู่ในผ้าเหลือง ประมาณ ๒๓๖๙-๗๑
สึก
มาเพชรบุรีอีกครั้ง  ๒๓๗๕
จากนั้น เมื่อวัดเทพธิดารามสร้างเสร็จ
สุนทรภู่กลับไปบวชอีกครั้ง ตอนแก่ ในปีวอก ๒๓๗๙
แล้วแต่งรำพันพิลาป  ในพ.ศ. ๒๓๘๕ (ปีขาล?)หลังจากอยู่ที่วัดนี้มา ๓ ปี

มีกลอนบางบทในรำพันพิลาป  ที่สุนทรภู่สะท้อนความรู้สึกว่าตัวเอง "แก่" แล้ว
ไม่เหมือนใน นิราศเมืองเพชร   ลูกโตจนเป็นหนุ่ม พ่อไม่รู้สึกว่าตัวเองแก่สักคำเดียว

พระภู่แต่งแกล้งกล่าวสาวสาวเอ๋ย     อย่าถือเลยเคยเจนเหมือนเหลนหลาน
นักเลงกลอนนอนฝันเป็นสันดาน       เคยเขียนอ่านอดใจมิใคร่ฟัง


เปรียบเหมือนกับขับกล่อมสนอมเสน่ห์      สำเนียงเห่เทวัญริมบรรจถรณ์
เสวยสวัสดิ์วัฒนาสถาวร                     วานฟังกลอนกลอยแก่เถิดแม่เอยฯ
เรื่องนี้ถ้าไม่ใช่เรื่องท้ายๆ ก็เป็นเรื่องท้ายสุด
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 142  เมื่อ 21 ก.ค. 07, 13:34

รำพันพิลาปมีปีกำกับ คือปีขาลซึ่งน่าจะตรงกับ 2385 ปีนั้นแกเพิ่งกลับจากปล้ำงูตัวเท่าเสาเรือนมาได้แค่สามปี
แก่น่ะ อยู่ในสำนวนครับ ตัวจริงยังพอไหว
ที่แก่จริงๆ ผมเจอในนิราศพระปธม ในนั้น...ทุกคนที่รู้จัก ตายหมดแล้ว และบ่นว่า พี่ก็แก่เราก็หง่อม
ขนาดนั้นแกยังเกี้ยวสาวแข่งกะนางคนทรงเลย

ผมคิดว่า อาจารย์ได้ละทิ้งปมใหญ่ไปสางปมเล็กเสียแล้วละครับ
คือในนิราศเมืองเพชร กวีมีเจ้านายเป็น"เสด็จ" อยู่ในเรือนพ.ศ. 2375 หรือก่อนนั้นนิดหน่อย

แต่สุนทรภู่ เป็นข้าเจ้าฟ้ากุณฑล ตั้งแต่ (อย่างน้อย) 2372 จนถึง 2382 ที่สิ้นพระชนม์
ต้องหลังปีนี้ ที่ท่านจะหานายใหม่ได้ (เพราะฟ้ากลางเพิ่ง 23 เห็นจะพึ่งมิได้)
และนายใหม่ที่เรารู้ก็คือเจ้าฟ้าน้อย

สมมติว่าสุนทรภู่ไปพึ่ง "เสด็จ" พระองค์หนึ่ง ก็เพียง 2383-2385 กระมัง
แต่ต้องสนใจคำของกวีที่อ้างคุณเจ้านายระดับ ชนกที่ปกเกศ
สุนทรภู่สอนเจ้าฟ้ากลางอย่างครู รับรองว่าไม่ยกท่านเป็นชนกแน่ๆ
เสด็จของกวีเมืองเพชร ต้องแก่กว่ากวี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 143  เมื่อ 21 ก.ค. 07, 13:55

มีความเป็นไปได้แค่ไหน ที่สุนทรภู่ ไม่ใช่ข้าของเจ้าฟ้ากุณฑล
เพียงแต่เป็นครู ที่เจ้าฟ้ากุณฑลส่งพระราชโอรสมาเรียนด้วย
ถ้าไม่ใช่ข้า    เจ้าฟ้าเรียนจนจบแล้วก็แล้วกันไป   ช่วงที่ท่านสึกออกมา  ก็มีสิทธิ์ไปฝากตัวกับ"เสด็จ" หรือพระองค์เจ้าชายองค์ใดองค์หนึ่ง   
ถ้าคุณพพ.เชื่อว่า คำ" เพียงชนกที่ปกเกศ" แปลว่าเสด็จต้องแก่กว่าสุนทรภู่  ก็น่าจะเป็นพระองค์เจ้าพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑  พระอนุชาในรัชกาลที่ ๒ 
ที่โปรดการกวี  ยินดีรับอาลักษณ์เก่ามาอุปถัมภ์
แต่ถ้าไม่เชื่อว่าเสด็จต้องแก่กว่า  เป็นแต่เพียงเสด็จที่เจริญพระชนม์แล้ว  ในรัชกาลที่ ๓  ก็มีพระองค์เจ้าลักขณานุคุณที่ดูจะเด่นที่สุด
ช่วง ๒๓๗๕ พระองค์เจ้าลักขนานุคุณยังมีพระชนม์อยู่  แต่น่าจะประชวรแล้ว แต่อาการยังไม่มากถ้ามีฝิ่นบำบัดอยู่   เราก็ไม่รู้ว่าท่านทรงหักดิบเมื่อไร  สันนิษฐานว่าทรงหักดิบก่อนสิ้นพระชนม์ไม่นาน

ที่ยังเชื่อว่าสุนทรภู่แต่งนิราศเมืองเพชร เพราะยังเชื่อไม่ลง เรื่อง"หนูพัด"เป็นลูกของกวีอื่น     ถ้าชื่อพัดซ้ำกัน ไม่แปลก  แต่คุณพ่อกวีสองคน เรียกลูกชายว่า"หนูพัด" เหมือนกันนี่ไม่เชื่อว่าบังเอิญ ค่ะ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 144  เมื่อ 21 ก.ค. 07, 14:08

ยกกลอนมาให้พิจารณาครับ
------------------
ด้วยรักใคร่ได้มาเป็นข้าบาท จะบำราศแรมร้างไม่ห่างเหิน
เป็นห่วงหลังหวังใจให้เจริญ ใช่จะเชิญชวนชั่วให้มัวมอม
พระมีคุณอุ่นอกเมื่อตกยาก ถึงตัวจากแต่จิตสนิทสนอม
จะจำไปไพรพนมด้วยตรมตรอม
................
จะร่ำลักษณ์อักษรเป็นกลอนกาพย์ ทูลให้ทราบสิ้นเสร็จก็เข็ดขาม
กตัญญูสู้อุตส่าห์พยายาม ไม่ลืมความรักใคร่อาลัยลาน
ถึงลับหลังยังช่วยอวยสวัสดิ์ ให้สมบูรณ์พูนสวัสดิ์พัสถาน
คอยถามข่าวชาววังฟังอาการ ได้ทราบสารว่าเป็นสุขทุกพระองค์
พลอยยินดีปรีดาประสายาก เหมือนกาฝากฝ่าพระบาทดังราชหงส์
................
แผ่นดินหลังครั้งพระโกศก็โปรดเกศ ฝากพระเชษฐานั้นให้ฉันสอน
สิ้นแผ่นดินสิ้นบุญของสุนทร ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม
หากสมเด็จเมตตาว่าข้าเก่า ประทานเจ้าครอกฟ้าบูชาเฉลิม
ไม่ลืมคุณทูลกระหม่อมเหมือนจอมเจิม จะขอเพิ่มพูนพระยศให้งดงาม
เผื่อข้าไทไม่มีถึงที่ขัด กับหนูพัดหนูตาบจะหาบหาม
สองพระองค์จงอุตส่าห์พยายาม ประพฤติตามแต่พระบาทมาตุรงค์
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 145  เมื่อ 21 ก.ค. 07, 14:11

กลอนที่ยกมา แต่งราว 2374 ไกล้เคียงกับปีที่แต่งนิราศเมืองเพชร
คนโง่วรรณคดีอย่างผม ขอแสดงความไม่รู้ว่า
กวีเมืองเพชรคงได้แค่เหลาดินสอให้ท่านสุนทรเท่านั้นละครับ

ความรู้และความลึกผิดกันคนละระดับ
แถมสำนวนก็อ่อนกว่าสาหัสทีเดียว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 146  เมื่อ 21 ก.ค. 07, 14:16

ไม่อ่อนนะคะ   แต่งยากเชียวละ

ตะบูนต้นผลห้อยย้อยระย้า          ดาษดาดังหนึ่งผูกด้วยลูกตุ้ม
เป็นคราบน้ำคร่ำคร่าแตกตารุม     ดูกระปุ่มกระปิ่มตุ่มติ่มเต็ม
ลำพูรายชายตลิ่งดูกิ่งค้อม           มีขวากล้อมแหลมรายดังปลายเข็ม
เห็นปูเปี้ยวเที่ยวไต่กินไคลเค็ม     บ้างเก็บเล็มลากก้ามครุ่มคร่ามครัน
************
จนเรือออกนอกอ่าวดูเปล่าโว่ง     ทะเลโล่งแลมัวทั่ววิถี
ไม่เห็นหนสนธยาเป็นราตรี           แต่ลมดีดาวสว่างกระจ่างตา
สำรวลรื่นคลื่นราบดังปราบเรี่ยม    ทั้งน้ำเปี่ยมป่าแสมข้างแควขวา
ดาวกระจายพรายพร่างกลางนภา   แสงคงคาเค็มพราวราวกับพลอย
************
หิ่งห้อยจับวับวามอร่ามเหลือง       ดูรุ่งเรืองรายจำรัสประภัสสร
เหมือนแหวนก้อยพลอยพรายเมื่อกรายกร ยังอาวรณ์แหวนประดับด้วยลับตาฯ




บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 147  เมื่อ 21 ก.ค. 07, 15:42

เทียบกะนิราศพระบาทแล้วดีเลวกว่ากันแค่ไหนครับ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 148  เมื่อ 21 ก.ค. 07, 22:56

เรื่องสำนวนดีเลวแค่ไหนมันวัดยากครับ แต่ละคนมีความประทับใจไม่เหมือนกัน

ที่สำคัญ รำพันพิลาป, กลอนยาวถวายโอวาท แต่งขึ้นเพื่อคนอ่านที่เป็นเจ้านาย เรื่องราวก็เป็นเรื่องความผูกพันระหว่างบุคคล
ในขณะที่นิราศ แต่งเพื่อเล่าเหตุการณ์ระหว่างเดินทาง ถ้ามีคนอ่านก็ต้องเป็นชาวบ้านทั่วไปเป็นหลักครับ

ความลึกซึ้งทางอารมณ์ต้องแตกต่างกันอย่างแน่นอน

ถ้าพิจารณาในเชิงกลอนอย่างเดียว ผมว่าดีทั้งนั้นครับ ดีเลิศดีมากดีน้อยหน่อยปนเปไป รูปแบบกลอน เสียงกลอน บอกได้ว่าถ้าไม่ได้แต่งโดยคนเดียวกันก็ต้องครูเดียวกัน เพราะรูปแบบนี้ไม่เคยปรากฏชัดเจนขนาดนี้ก่อนยุคของสุนทรภู่ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 149  เมื่อ 24 ก.ค. 07, 08:46

ยังสรุปอะไรไม่ได้มากไปกว่า
กวีคนที่แต่งนิราศเมืองเพชร ประมาณพ.ศ. 2375 หรือก่อนหลังเล็กน้อย  เป็นขุนนางในสังกัดของเจ้านายระดับพระองค์เจ้า องค์หนึ่ง
เป็นเจ้านายผู้ชาย  น่าจะพระชนม์มากแล้ว ไม่ใช่เจ้านายหนุ่มๆเพิ่งโสกันต์ได้ไม่นาน
และน่าจะรับราชการมานานหลายปี 
เพราะมีคำอธิบายว่า
"ได้ชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ"
ในเมื่อ นิราศเมืองเพชร  บอกไว้ว่าบันทึกการเดินทางเพื่อเอามาอ่านสู่กันฟังในภายหลัง ทำนองจดหมายเหตุ   
ในนั้น เล่าว่าคนแต่งมีลูกศิษย์ลูกหาหลายคน
ก็ตัดไปได้ ว่า เป็นกวีโนเนมคนหนึ่งที่สุนทรภู่อาจจะขัดเกลากลอนบางส่วนให้ จนสำนวนบางตอนคล้ายสำนวนสุนทรภู่

ท่านกวีผู้ได้ชื่อว่าเป็น "ครู" คงไม่ยอมให้กวีอีกคนมาขัดเกลาให้แน่ๆ   ต่อให้ท่านเป็นศิษย์สุนทรภู่ก็เถอะ  คงแต่งเองทั้งหมดมากกว่า
การเล่นสัมผัส ใช้คำยาก   เป็นการแสดงภูมิและความจัดเจน เห็นชัดๆว่าต้องการโชว์ฝีมือเวลาอ่านให้ลูกศิษย์ลูกหาฟัง
ไม่มีความอ่อนน้อมในการแสดงฝีมือ มีแต่ความมั่นใจ    ผิดกับนายมีและนายภู่อีกคนหนึ่ง
ถ้าไม่ใช่สุนทรภู่  ใครเป็นกวีมีฝีมือในรัชกาลที่ ๓  ที่เราไม่รู้จัก   แต่งกลอนตลาดลีลาเดียวกับสุนทรภู่เสียด้วย
จะว่าเป็นพระมหามนตรี(ทรัพย์) ลีลากลอนก็ไม่ลงจังหวะเป๊ะๆแบบนี้
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 19 คำสั่ง