เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11
  พิมพ์  
อ่าน: 56927 นิราศเมืองเพชร
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 17 ก.ค. 07, 19:11

เจ้าฟ้าอาภรณ์เพิ่งจะแปดขวบนะครับตอนสิ้นแผ่นดิน เด็กขนาดนั้นยังไม่ทรงกรม จึงยังไม่มีข้าหลวงเดิม
อย่าว่าแต่อาลักษณ์เดิมเลย

ในแผ่นดิน จะมีอาลักษณ์ได้ก็เพียงสามวังคือวังหลวง วังหน้า และวังหลัง(ซึ่งมีได้แค่รัชกาลที่ 1 แล้วก็ถูกยุบ)
การที่สุนทรภู่อ้างตนเป็นอาลักษณ์เดิม จึงเป็นได้เพียงวังหน้า(องค์ที่สอง)ในรัชกาลที่ 1 เท่านั้น
ถ้าได้เป็นตอนอายุ 20 ขึ้นรัชกาลที่ 2 อีกเจ็ดปีต่อมา ท่านสุนทรก็เพียง 27 ขึ้นรัชกาลที่สาม ท่านก็ 42
มาสอนเจ้าฟ้าก็ 47 ไม่มีอะไรน่าประหลาดใจนี่ครับ

ส่วนเรื่องลูกสุนทรภู่เจ้าชู้นั่นเป็นคนละเรื่องกับลูกกวีพริบพรีเจ้าชู้
และหนูพัดในเมืองเพชรก็ใช่ว่าจะต้องเป็นหนูพัดสุนทรภู่
ชื่อคนโบราณ มีให้ใช้ไม่มากอยู่แล้ว
เอาแค่ฉิมนิ่ม ที่บอกว่าเป็นเมียท่าน(ตามนิราศสุพรรณ)
ก็เจอตั้งหลายหน เป็นแม้แต่น้องที่ว่าตายไปแล้วด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 17 ก.ค. 07, 19:33

ถ้าสุนทรภู่อายุ  42 ตอนเริ่มรัชกาลที่ 3 อย่างคุณพพ.ว่า
รัชกาลที่ 3  ครองราชย์ระหว่างพ.ศ. 2367 -2393 ขุนแพ่งตายประมาณ 2369-71 อย่างช้าก็ 2372
เราสรุปกันในกระทู้ว่า กวีนิราศเมืองเพชรมาเยือนเมืองนี้ ประมาณ 2375 
ถ้าเป็นสุนทรภู่  ท่านก็อายุ 50 ปี  ลูกชายเริ่มหนุ่มยังไม่มีเมีย  ตีว่าอายุ 18 อย่างที่ว่ากันในกระทู้นี้อีกเหมือนกัน
ท่านมีลูกเมื่ออายุ 32  ตอนยุ่งๆกับสาวในเมืองเพชรครั้งขุนรองยังหนุ่ม  ก็แสดงว่ายังไม่มีเมียมีลูกในตอนนั้น

แต่สมเด็จกรมดำรงฯ ทรงสรุปว่านิราศเมืองเพชร แต่งเมื่อ พ.ศ. 2488-92
ถ้าสุนทรภู่แต่ง จะอายุเท่าไร  และมีลูกชายคือหนูพัดเมื่ออายุเท่าไร   ต้องมีลูกเมื่ออายุมากโข  ประมาณ 45 ปี  และยังมีหนูนิลเป็นลูก(หรือหลาน)เล็กอีกคน
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 17 ก.ค. 07, 21:01

ต่อจากตอนลงจากเขาบันไดอิฐนะครับ จากหนังสือ สุนทรภู่ อาลักษณ์เจ้าจักรวาล โดย อ.ล้อม เพ็งแก้ว

ลงตามทางหว่างเขาเห็นชาวบ้าน        เขาเคี่ยวตาลเตารายทั้งซ้ายขวา
ถึงถนนคนหยุดนั่งพูดจา                เรียกศาลาแต่งแง่มาแต่ไร
ด้วยร่วมทางต่างประเทศทุกเขตบ้าน    หาบน้ำตาลไปมาได้อาศัย
บรรดาศิษย์คิดแคลงไม่แจ้งใจ          เฝ้าซักไซร้สาวๆชาวเพชรบุรี
เขาแต่งแง่แต่เมื่อไรที่ไหนขา           เขานิ่วหน้านิ่งเมินดำเนินหนี
ยิ่งลวนลามถามทั่วถึงตัวดี              เขาว่านี่มาแต่ไหนถึงไม่รู้
เขาแต่งแง่แต่สาวชาวบางกอก          อันบ้านนอกนี้มันรกจนปกหู
เห็นมีแง่หรือไม่มีแง่ก็แลดู              ฝ่ายเจ้าหนูตอบว่าข้ามาแต่ไกล
จริงอยู่สาวชาวเพชรบุรีไม่มีแง่          เห็นมีแต่งวงแหลมแซมไสว
เขาว่างวงร่วงเน่าเสียเปล่าไป           ไม่เหมือนในบางกอกล้วนดอกบาน
ข้างพวกเราเขาว่าดอกบางกอกเผ็ด     อันดอกเพชรบุรีเห็นทีจะหวาน
เขาว่าอ้อพ่อฉิมชิมชำนาญ              เหมือนน้ำตาลหรือไม่หนอหัวร่อเยาะ
เจ้าหนูว่าข้าได้คิดติดจะมืด              มันไม่จืดมันไม่หวานเหมือนตาลเฉาะ
ต่างเปรยเปรียบเลียบเคียงเถียงทะเลาะ ได้หัวเราะหยอกเอินด้วยเพลินดี
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 17 ก.ค. 07, 21:18

สรุปอีกครั้ง
ถ้าเชื่อว่านิราศเมืองเพชรไม่ได้แต่งโดยสุนทรภู่  แต่โดยกวีลึกลับไม่รู้ชื่ออีกคน  เราพอจะสันนิษฐานอะไรเกี่ยวกับกวีนิรนามผู้นี้บ้าง
๑) รับราชการอยู่กับพระองค์เจ้าองค์หนึ่ง อาจจะไม่ได้ทรงกรม   เพราะเรียกว่า เสด็จ เฉยๆ
ขยายความ:มีความเป็นไปได้ว่าเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งจำนวนมากยังไม่ได้ทรงกรมในรัชกาลนั้น
๒)อยู่ในวัยกลางคน มีลูกชายโตเป็นหนุ่ม ๑ คน อีกคนที่ตามไปด้วยยังเด็กอยู่  ยังไม่พ้นวัยโกนจุก
๓) มีปัญหาครอบครัว  มีภรรยาแล้วแต่ขัดใจหรือแยกทางกันอยู่    ก่อนหน้านี้ก็เกี่ยวข้องกับผู้หญิงอีกหลายคน แต่ไปไม่รอดกันสักคน
ตอนไปเพชรบุรี เป็นพ่อม่ายเมียทิ้ง
๔) เมื่อครั้งหนุ่มเคยอยู่เพชรบุรีเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร อาจเป็นปี
๕) ไม่มีตอนไหนระบุว่าเกิดที่เพชรบุรี
๖) จากเพชรบุรีมากรุงเทพปีระกา  อาจเป็นพ.ศ. ๒๓๕๖ หรือ พ.ศ. ๒๓๖๘ ก็ได้ แต่น่าจะเป็น ๒๓๕๖
๗)เคยสอนหนังสือที่เพชรบุรี  ลูกศิษย์ลูกหายังอยู่ในเมืองกันหลายคน
๘)เคยไปเพชรบุรีอีกอย่างน้อย ๑ ครั้งระหว่าง ๒๓๖๙-๗๒  ปีใดปีหนึ่งเพื่อไปเคารพศพพี่ชายเพื่อน ชื่อขุนแพ่ง ซึ่งตายในศึกเจ้าอนุวงศ์ (พ.ศ. ๒๓๖๙-๗๑)
๙)อาจไปเพชรบุรีคราวนี้ ในพ.ศ. ๒๓๗๕  
๑๐) ถ้ามากรุงเทพปีระกา ๒๓๕๖  ก็เป็นได้ว่ามามีภรรยาที่กรุงเทพ มีลูกชายชื่อพัด เกิดประมาณ ๒๓๕๗-๘  
กลับไปเพชรบุรีครั้งนี้ ประมาณ ๒๓๗๕  นายพัดก็โตเป็นหนุ่มแล้ว อายุ ๑๘ ปี  พอจะมีเมียได้พอดี  ส่วนเด็กชายนิลลูกอีกคนยังเล็กอยู่ ประมาณ ๑๐ ขวบ
๑๑) มีญาติผู้ใหญ่ชั้นปู่ย่าตายายเป็นชาวเพชรบุรี   แต่ไม่เอ่ยถึงพ่อแม่และพี่น้องร่วมท้อง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 17 ก.ค. 07, 21:32

ขอบคุณค่ะคุณอาชา  อุตส่าห์ลอกกลอนมาให้ยาวมาก
อ่านครั้งแรกจนจบ  รู้สึกสะดุดหลายตอน ว่าลักษณะการแต่งกลอน ไม่กลมกลืนกับกลอนบทก่อนหน้านี้และหลังจากนี้
หรือจะเป็นว่าฉบับที่อ.ล้อมได้มา ยังไม่ได้ชำระ   โดยมากฉบับที่เราอ่านกัน มักผ่านการชำระสะสางจนเนียนเกลี้ยงเกลามาแล้วก่อนออกสู่สายตาประชาชน

กลอนของสุนทรภู่   มีจังหวะลงตัวในการแบ่งคำ ในแต่ละบาท  ราวกับเสียงโทนตีลงจังหวะ
000    00(0)   000
แต่จะไม่มี 000 00(0) 0000 แทรกเข้ามาให้เสียจังหวะ ถ้ามีก็หายากมาก
แต่ในบทที่อ.ล้อมเจอ  มีเสียจังหวะอยู่ถึง ๒ ครั้งในเนื้อหาไม่กี่บท

ลงตามทางหว่างเขาเห็นชาวบ้าน        เขาเคี่ยวตาลเตารายทั้งซ้ายขวา
ถึงถนนคนหยุดนั่งพูดจา                    เรียกศาลาแต่งแง่มาแต่ไร
ด้วยร่วมทางต่างประเทศทุกเขตบ้าน    หาบน้ำตาลไปมาได้อาศัย
บรรดาศิษย์คิดแคลงไม่แจ้งใจ            เฝ้าซักไซร้สาวๆชาวเพชรบุรี
เขาแต่งแง่แต่เมื่อไรที่ไหนขา             เขานิ่วหน้านิ่งเมินดำเนินหนี
ยิ่งลวนลามถามทั่วถึงตัวดี                  เขาว่านี่มาแต่ไหนถึงไม่รู้
เขาแต่งแง่แต่สาวชาวบางกอก          อันบ้านนอกนี้มันรกจนปกหู
เห็นมีแง่หรือไม่มีแง่ก็แลดู                  ฝ่ายเจ้าหนูตอบว่าข้ามาแต่ไกล
จริงอยู่สาวชาวเพชรบุรีไม่มีแง่           เห็นมีแต่งวงแหลมแซมไสว
เขาว่างวงร่วงเน่าเสียเปล่าไป            ไม่เหมือนในบางกอกล้วนดอกบาน
ข้างพวกเราเขาว่าดอกบางกอกเผ็ด     อันดอกเพชรบุรีเห็นทีจะหวาน
เขาว่าอ้อพ่อฉิมชิมชำนาญ              เหมือนน้ำตาลหรือไม่หนอหัวร่อเยาะ
เจ้าหนูว่าข้าได้คิดติดจะมืด              มันไม่จืดมันไม่หวานเหมือนตาลเฉาะ
ต่างเปรยเปรียบเลียบเคียงเถียงทะเลาะ ได้หัวเราะหยอกเอินด้วยเพลินดี

เกิดคำถามขึ้นมา ตัวโตทีเดียวว่า   เขาว่าอ้อพ่อฉิมชิมชำนาญ           พ่อฉิมนี่หมายถึงอะไร  ทำไมเรียก"เจ้าหนู" ว่า พ่อฉิม

บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 17 ก.ค. 07, 22:40

ผมอ่านแล้วสะดุดหลายจุดมากเหมือนกันครับ

นอกจากคำเกินแล้ว ยังมีหลายตอนที่ดูเหมือนกลอนพาไป ความไม่สละสลวย
- ถึงถนนคนหยุดนั่งพูดจา
- ด้วยร่วมทางต่างประเทศทุกเขตบ้าน
- เขานิ่วหน้านิ่งเมินดำเนินหนี
- ยิ่งลวนลามถามทั่วถึงตัวดี
- เจ้าหนูว่าข้าได้คิดติดจะมืด
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 17 ก.ค. 07, 23:07

ดิฉันเห็นตรงกับคุณอาชา
ตอนแรกที่ได้อ่านกลอนตอนนี้  นึกว่าไม่ปรากฏอยู่ในนิราศเมืองเพชรฉบับที่รู้จักกันได้ ก็นับว่าดี ที่ถูกปลดออกไปเสียก่อนพิมพ์รวมเล่ม
ฝีมือยังกะใครแต่งแซมเข้าไป   ทำไม่ถึงของเดิม  แถมบางตอนยังติดเรทอย่างหาศิลปะไม่เจอเสียด้วย
สุนทรภู่ไม่น่าจะเขียนแบบนี้   กลอนติดเรทของท่าน กล่าวสั้นกระชับ และเนียนกว่านี้มากนัก
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 17 ก.ค. 07, 23:46

ผมอ่านแล้ว ไม่คิดว่าจะเลวกว่าเดิมสักเท่าใดนัก
ต้นฉบับที่เราอ่านๆ กัน ได้แค่เจ็ดแปดส่วนของเพลงยาวถวายโอวาทเท่านั้น
ตอนที่ดีที่สุด ก็ได้แค่เกือบๆ เก้าส่วน แต่ตายแล้วเกิดใหม่ก็แต่งอย่างนี้ไม่ได้

"สงสารบุตรสุดเศร้าทุกเช้าค่ำ ด้วยเป็นกำพร้าแม่ชะแง้หา
เขม้นมองคลองบ้านดูมารดา เช็ดน้ำตาโซมซาบลงกราบกราน
ยิ่งตรอมตรึกดึกดื่นสะอื้นอั้น จนไก่ขันเอื้อนเอกวิเวกหวาน
เหมือนนิ่มน้องร้องเรียกสำเหนียกนาน เจียนจะขานหลงแลชะแง้คอย"

กลอนท่านภู่มีแต่ระดับนี้ หรือเหนือกว่านี้ทั้งนั้น
ขออำไพ อ่านกลอนไม่แตก บอกไม่ได้ว่ากัลเม็ดกลอนเป็นอย่างไร
รู้แต่ว่า อ่านของท่านภู่แล้วอึ้งครับ ทุกคำเกินคาดหมาย
ไม่เหมือนกลอนที่ผมตัดทิ้งไป ....ชาวบ๊าน ชาวบ้าน
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 18 ก.ค. 07, 00:04

ผมกลับคิดว่านิราศพระประธมนี่แหละชอบกลครับ

โผล่มาคำกลอนแรกก็เอาเลย
ถวิลวันจันทร์ทิวาขึ้นห้าค่ำ
กลอนแบบสุนทรภู่ต้องลงท้ายบาทสองด้วยเสียงจัตวาครับ

ส่วนกลอนที่คุณ pipat ยกมา
สงสารบุตรสุดเศร้าทุกเช้าค่ำ ด้วยเป็นกำพร้าแม่ชะแง้หา
กลอนสุนทรภู่เป็นแบบ 3-2-3 คำว่า "กำพร้า" นี่โดนแยก ไม่จำเป็นจริงๆนักเลงกลอนเขาไม่ทำกันครับ
นอกนั้นก็ยังมีอีกหลายจุดที่ใช้คำเกิน และคำแยกแบบนี้

อ่านเอากลอนอย่างเดียว ผมกะว่าจะตัดนิราศพระประธมกับนิราศเมืองแกลงก่อนเพื่อนเลย
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 18 ก.ค. 07, 00:22

ผมได้รับความสะเทือนอารมณ์อย่างลึกซึ้งในบางกลอน
แต่แต่งกลอนไม่เป็น จึงไม่เห็นข้อบกพร่องเหล่านั้น
สรุปง่ายๆว่าอ่าน "ความ" ไม่อ่านกัลเม็ด อ่านลีลา ไม่ได้อ่านภาษา

ในกลอนที่ชอบ มองเห็นโลกและจิตวิญญานในขณะนั้น ลอยเด่นชัด
เสน่ห์อีกอย่างของกลอนสุนทรภู่ก็คือ เปรียบเทียบจากเงื่อนไขจำเพาะตรงหน้า
เหมือนดังว่าปรากฏการณ์ตรงชัวขณะนั้นเท่านั้น ที่กระตุ้นคำออกมา

กลอนทั่วไปผมจะรับทราบถึงแบบแผนก่อนรับรสคำครับ

ทั้งหมดนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆ เล่าให้ฟังเล่นพอเพลินๆ
ไม่มีสาระอันใดครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 18 ก.ค. 07, 09:30

ถูกฝึกหัดมาให้อ่านกลอน ที่ลีลาคำ   เพื่อดูความไพเราะ   ต่อมาคือดู"ความ" คือเนื้อความ
ความถูกต้องทางฉันทลักษณ์ก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่จะประเมินคุณค่าของกลอนโบราณ 
ส่วนกลอนสมัยใหม่เขาไม่เคร่งครัดฉันทลักษณ์แบบเก่า

สุนทรภู่เป็นคนที่ใช้ฉันทลักษณ์ได้เป๊ะๆราวกับแต่งกลอนกลบท    น้อยครั้งจะแยกคำที่สัมผัส  สัมผัสลื่นไหลพราวไปหมด แต่เกลี้ยงเกลา ไม่รุงรัง

โอ้เคราะห์ร้าย/ กายเรา/ ก็เท่านี้               ไม่มีที่/พสุธา/จะอาศัย
ล้วนหนามเหน็บ/เจ็บแสบ/คับแคบใจ         เหมือนนกไร้/รังเร่/อยู่เอกา

เหตุผลส่วนหนึ่งคือกลอนสมัยโบราณเขามีเอาไว้อ่านดังๆ    ถ้าหากว่าแยกคำสัมผัส
อย่าง

สงสารบุตร/สุดเศร้า/ทุกเช้าค่ำ ด้วยเป็นกำ/พร้าแม่/ชะแง้หา

เวลาอ่านลงคำตามจังหวะ มันจะคร่อมจังหวะ ไม่เพราะ    แต่นานๆจะมีทีหนึ่ง  ไม่มีบ่อยๆ

กลอนที่คุณอาชาได้มาจากหนังสืออาจารย์ล้อม   อ่านซ้ำอีกหนก็ยังรู้สึกแปร่งๆ ว่ามีการเล่นคำ "แง่" ไปในทางหยาบโลน
แต่งแง่  แปลว่าแต่งตัว   คำนี้ย้อนไปได้ถึงสมัยอยุธยาตอนต้น  มีในลิลิตพระลอ เรียกว่าแต่งแง่แผ่ตน หรือแต่งแง่ เฉยๆ
แต่คำว่า "แง่" ในนิราศ  แปลเหมือนเราใช้คำว่า "สองแง่ สองง่าม" สมัยนี้   หนุ่มๆที่ไปกับกวีก็เลยเฮฮาแซวสาวชาวบ้านว่า แต่งแง่อะไรแบบไหน
อยากจะบอกว่าตลกหยาบโลนแบบเปิดเผยนี้  ไม่เจอในนิราศเรื่องอื่น

สุนทรภู่เป็นคนมีคารม แต่ไม่เคยบรรยายหยาบโลน ลองอ่านบทนี้ดู จะเห็นว่ากล่าวรวบรัดไม่มีพรรณนาทะลึ่งอะไรสักอย่าง  ทั้งที่" มอญขวาง" นั้นเป็นคำล้อเลียนมีนัยยะทางเพศ

ถึงบางขวางปางก่อนว่ามอญขวาง             เดี๋ยวนี้นางไทยลาวแก่สาวสอน
ทำยกย่างขวางแขวนแสนแสงอน              ถึงนางมอญก็ไม่ขวางเหมือนนางไทย

แต่ในนิราศเมืองเพชร   หนุ่มๆโต้กับสาวชาวบ้านนั้น  บรรยายเยิ่นเย้อหลายบท  ราวกับเล่นลำตัดกันทีเดียว
ไม่น่าเป็นฝีปากกวีเอก    คิดว่าแต่งแทรกเข้าไปทีหลังมากกว่า

เขาแต่งแง่แต่เมื่อไรที่ไหนขา             เขานิ่วหน้านิ่งเมินดำเนินหนี
ยิ่งลวนลามถามทั่วถึงตัวดี                  เขาว่านี่มาแต่ไหนถึงไม่รู้
เขาแต่งแง่แต่สาวชาวบางกอก          อันบ้านนอกนี้มันรกจนปกหู
เห็นมีแง่หรือไม่มีแง่ก็แลดู                  ฝ่ายเจ้าหนูตอบว่าข้ามาแต่ไกล
จริงอยู่สาวชาวเพชรบุรีไม่มีแง่           เห็นมีแต่งวงแหลมแซมไสว
เขาว่างวงร่วงเน่าเสียเปล่าไป            ไม่เหมือนในบางกอกล้วนดอกบาน
ข้างพวกเราเขาว่าดอกบางกอกเผ็ด     อันดอกเพชรบุรีเห็นทีจะหวาน
เขาว่าอ้อพ่อฉิมชิมชำนาญ                 เหมือนน้ำตาลหรือไม่หนอหัวร่อเยาะ
เจ้าหนูว่าข้าได้คิดติดจะมืด                  มันไม่จืดมันไม่หวานเหมือนตาลเฉาะ
ต่างเปรยเปรียบเลียบเคียงเถียงทะเลาะ ได้หัวเราะหยอกเอินด้วยเพลินดี
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 18 ก.ค. 07, 10:47

ตามที่อาจารย์อธิบาย เวลาอ่านว่า
ด้วยเป็นกำ.....
พร้าแม่/ชะแง้หา ......

คนฟังจะได้รสคำอีกแบบ คือความผิดคาด เพราะฟังเพลินๆ ว่า ด้วยเป็นกรรม.....
แต่กลับบิดเป็น....กรรมพร้า (กำพร้า)

ผมว่าเจ๋งออก
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 18 ก.ค. 07, 11:10

คำว่า พ่อฉิม คุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ว่า

คำว่า ‘ฉิม’ เป็นคำโบราณ มักใช้เรียกลูกชายหรือลูกหญิงคนใหญ่ ในสมัยโบราณจึงมี ‘พ่อฉิม’ ‘แม่ฉิม’ กันแทบทุกครอบครัว

จากที่นี่ครับ http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetail.asp?stcolumnid=981&stissueid=2455&stcolcatid=2&stauthorid=13
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 18 ก.ค. 07, 11:22

กลับมาเรื่องหมุดเวลาดีกว่าค่ะ  เดี๋ยวหลงทางกู่ไม่กลับ
ก่อนหน้านี้ ดิฉันเกริ่นเอาไว้ยังไม่มีใครต่อ   ก็เลยมาต่อเองก่อนจะลืมกันไป
ปีพ.ศ.ต่อไปนี้อ้างพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เป็นหลัก  

สมเด็จกรมดำรงฯ ทรงสรุปว่านิราศเมืองเพชร แต่งเมื่อ พ.ศ. 2488-92
ถ้าสุนทรภู่เกิดเมื่อพ.ศ.2329  ก็จะกลับไปเมืองเพชรเมื่ออายุ 59-63 ปี
ถ้าหนูพัดยังหนุ่ม ไม่มีเมีย อายุประมาณ 18-20 ปี  ก็หมายความว่าเกิดเมื่อพ่ออายุ 41-45
หนูพัดควรเกิดประมาณพ.ศ. 2470 ในรัชกาลที่ 3  เป็นอย่างเร็ว  และยังมีหนูนิลเป็นลูก(หรือหลาน)เล็กอีกคน
ถ้าอายุไม่เกิน 10 ขวบ เพราะยังหัดนับเลขอยู่  ก็ต้องมาเกิดเมื่อพ่ออายุร่วม 50 เข้าไปแล้ว

ทีนี้สุนทรภู่กับแม่จัน เริ่มนิยายรักกันตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ตอนสุนทรภู่อายุประมาณ 21 ปี แต่งนิราศเมืองแกลง
ประมาณพ.ศ. 2350 ยังไม่ได้แต่งงานกับแม่จัน แค่เป็นคนรัก
มาแต่งกันเมื่อไรไม่ทราบ  แต่เมื่อแต่งนิราศพระบาท โกรธกันเสียแล้ว   นิราศพระบาท สมเด็จกรมดำรงฯ สันนิษฐานว่าแต่งปลายพ.ศ. 2350
ถ้างั้น หนูพัดในนิราศเมืองเพชร ก็ไม่ใช่ลูกของแม่จัน    เพราะเกิดหลังจากแม่จันโกรธกับสุนทรภู่มาตั้ง 20 ปี   หนูนิลยิ่งไม่มีทางเป็นลูกแม่จัน
 
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ยังทรงสันนิษฐานอีกว่า นิราศวัดเจ้าฟ้าแต่งเมื่อพ.ศ.  2379   ถ้าหนูพัดเกิดเมื่อ 2370 หรือ..เอ้า  ยอมให้เกิดเร็วกว่านั้นหน่อย  เป็น 2368  เพื่อจะอายุ 20 ในนิราศเมืองเพชร  
ก็หมายความว่า เณรหนูพัดแต่งนิราศวัดเจ้าฟ้าเมื่ออายุ 9-11 ขวบ
ถ้าจะเพิ่มอายุหนูพัดให้โตเป็นหนุ่มพอจะแต่งนิราศได้เก่ง   บวกอายุเข้าไปสัก 6 ปี เรียกว่าอัจฉริยะพอสมควร  อายุในนิราศเจ้าฟ้าคือ 15-17 ปี
ก็หมายความว่าในนิราศเมืองเพชร   หนูพัดต้องอายุ 24-26 ปี  น่าจะมีเมียได้หลายคนแล้ว
หรือถ้ายังไม่มีเมียทั้งๆ "บุตรเราก็เจ้าชู้"  ก็โตเกินกว่าจะเรียกว่าหนูพัดแล้วละซีคะ

ป.ล. เป็นโรคแพ้ตัวเลข อาจจะสับสนเรื่องนับพ.ศ.  ขอให้คุณพพ.และท่านที่เข้ามาอ่านช่วยบวกลบกันอีกทีค่ะ

ป.ล. 2 กำลังจะส่ง ชนกันกลางอากาศกับคุณพพ. เรื่องพ่อฉิม     ก็แสดงว่าหนูพัดที่มาด้วยในเรือ เป็นลูกชายคนใหญ่ของท่านกวีขุนนาง ถ้าเชื่อว่าตอนที่อ.ล้อมเจอเป็นฝีมือกวีคนเดียวกัน
ส่วนหนูพัดจะอายุ 18-20 หรือ 24-26 เชิญใคร่ครวญเองตามอัธยาศัย
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 18 ก.ค. 07, 12:44

สมเด็จคงจะทรงเชื่อว่าสุนทรภู่แต่งนิราศเมืองเพชร หลังสึก และไปอยู่กับเจ้าฟ้าน้อย จึงวางปีไว้ไกลหน่อย
ดูเหมือนจะให้เป็นปีหลังกรมหมื่นอัปษรสุดาเทพสิ้นพระชนม์ไปแล้ว (2388)
อาศัยเหตุนี้ จึงทรงระบุว่าเป็นเรื่องสุดท้าย

พระวินิจฉัยนี้ มีทั้งข้อโต้แย้งในตัวงาน ที่ทรงตีความอย่างไม่ละเอียด
และโต้แย้งด้วยหลักฐานที่พบใหม่ๆ หลังยุคของพระองค์
จะขอยกพระวินิจฉัยที่ไม่น่าเชื่อว่าจะทรงหลงลืมได้ คือคำว่าเสด็จ

ถ้าต้องเรียกเจ้านายระดับเจ้าฟ้าน้อย กวีเอกอย่างสุนทรภู่จะกล้าใช้คำว่า"เสด็จ" ละหรือ

แม้แต่ในพงศาวดารรัชกาลที่สาม เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ยังแต่งเรื่องว่า
เจ้าพระยาบดินทรเดชา "ตามเสด็จ" เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์กลับมาเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว
ทั้งๆ ที่ท่านบดินทร์เป็นแม่ทัพใหญ่ เจ้าฟ้าเป็นเพียงแม่ทัพเรือใต้บังคับบัญชาแท้ๆ
ธรรมเนียมโบราณถือนักเรื่อง"ต่ำสูง" แต่ดูเหมือนจะไม่ทันสังเกต

อันที่จริงเพียงคำว่าเสด็จ ก็ปิดบัญชีการวินิจฉัยที่ต่อเนื่องได้แล้วครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.044 วินาที กับ 19 คำสั่ง