เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 56920 นิราศเมืองเพชร
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 04 ก.ค. 07, 20:59

เมื่อเอ่ยถึงนิราศเมืองเพชร    เรามักจะยึดพระวินิจฉัยของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นหลักยืนพื้นไว้ก่อน    ถ้ามีการตีความหรือวิเคราะห์วิจารณ์ ก็เป็นไปในแนวที่สมเด็จฯ ทรงปูพื้นไว้
ตามนี้ค่ะ

"เรื่องประวัติสุนทรภู่ ตอนจะเข้ารับราชการในรัชกาลที่ ๒ นั้น  มีคำเล่ากันมาว่า  เมื่อคราวเกิดทิ้งบัตรสนเท่ห์กันชุกชุมใน พ.ศ. ๒๓๕๙ ที่กรมหมื่นศรีสุเรนทรต้องถูกชำระนั้น  สุนทรภู่ก็ถูกสงสัยว่าเป็นผู้แต่งหนังสือทิ้งด้วยคนหนึ่ง 
ความข้อนี้มีเค้าเงื่อนอยู่ในนิราศเมืองเพชรบุรี  ซึ่งสุนทรภู่แต่งเมื่อปลายรัชกาลที่ ๓  กล่าวความย้อนขึ้นไปถึงเมื่อยังเป็นหนุ่มคะนองว่า  ได้เคยหนีออกไปอยู่เมืองเพชร  ไปซุ่มซ่อนนอนอยู่ในถ้ำเขาหลวงหลายวัน
แล้วไปอาศัยอยู่กับหม่อมบุนนาคในกรมพระราชวังหลัง  ซึ่งออกไปตั้งทำนาอยู่ที่เมืองเพชรเมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคตแล้ว  บางทีจะหนีไปในคราวที่ถูกสงสัยว่าแต่งหนังสือทิ้ง"

 อีกตอนที่ทรงวินิจฉัย นิราศเมืองเพชร ก็คือ
"...สุนทรภู่ทูลรับอาสาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปหาของต้องพระประสงค์ที่เมืองเพชรบุรี  แต่จะเป็นสิ่งใดหาปรากฏไม่ 
ได้แต่งนิราศเมืองเพชรบุรีอีกเรื่องหนึ่ง  เป็นนิราศสุดท้ายของสุนทรภู่  นับถือกันว่าแต่งดีถึงนิราศภูเขาทอง  อันเป็นอย่างยอดเยี่ยมในนิราศของสุนทรภู่ 
กล่าวความไว้ในกลอนข้างตอนต้นว่า

"อนาถหนาวคราวมาอาสาเสด็จ                 ไปเมืองเพชรบุรินที่ถิ่นหวาน
 ลงนาวาหน้าวัดนมัสการ                           อธิษฐานถึงพระคุณกรุณา       
 ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ                ถึงต่างเขตของประสงค์ลงอาสา"

         เรื่องประวัติของสุนทรภู่ที่ปรากฏในนิราศเรื่องนี้  ว่ามีบุตรน้อยไปด้วยคนหนึ่งชื่อนิล  ชะรอยจะเป็นลูกมีกับภรรยาที่ชื่อม่วง 
บุตรคนใหญ่ที่พัดนั้นก็ไปด้วย  ถึงตอนนี้เป็นหนุ่มแล้ว  แต่บุตรที่ชื่อตาบไม่ปรากฏในนิราศเรื่องนี้ 
อนึ่ง ในเวลาเมื่อสุนทรภู่ไปเมืองเพชรบุรีคราวนี้  เป็นเวลาอยู่ตัวคนเดียวไม่มีภรรยา  ได้กล่าวความข้อนี้ไว้ในนิราศหลายแห่ง  มักจะว่าน่าฟัง  จะคัดมาพอเป็นตัวอย่าง

"ถึงคลองเตยเตยแตกใบแฉกงาม               คิดถึงยามปลูกรักมักเป็นเตย
  จนไม่มีที่รักเป็นเป็นหลักแหล่ง                   ต้องคว้างแคว้งคว้าหานิจจาเอ๋ย
  โอ้เปลี่ยวใจไร้รักที่จักเชย                        ชมแต่เตยแตกหนามเมื่อยามโซ"

อีกแห่งหนึ่งว่า
         "โอ้อกเอ๋ยเลยออกประตูป่า                      กำดัดดึกนึกน่าน้ำตาไหล
         จะเหลียวหลังสั่งสาราสุดาใด                     ก็จนใจด้วยไม่มีไมตรีตรึง
         ช่างเป็นไรไพร่ผู้ดีก็มิรู้                             ใครแลดูเราก็นึกรำลึกถึง
         จะปรับไหมได้หรือไม่อื้ออึง                      เป็นแต่พึ่งวาสนาพอพาใจ"

ตรงเมื่อถึงอ่าวยี่สาน  ว่าด้วยหอยจุ๊บแจง เอาคำเห่เด็กของเก่ามาแต่งเป็นกลอน  ก็ว่าดี

         "โอ้เอ็นดูหนูน้อยร้องหอยเหาะ                  ขึ้นไปเกาะกิ่งตลอดยอดพฤกษา   
         ล้วนจุ๊บแจงแผงฤทธิ์เขาปลิดมา                 กวักตรงหน้าเรียกให้มันได้ยิน
         จุ๊บแจงเอ๋ยเผยฝาหาข้าวเปียก                   แม่ยายเรียกจะให้ไปกฐิน
         ทั้งช้างงวงช้างงาออกมากิน                      ช่วยปัดริ้นปัดยุงกระทุงราย
        เขาร่ำเรียกเพรียกหูได้ดูเล่น                        มันอยากเป็นลูกเขยทำเงยหงาย
        เยี่ยมออกฟังทั้งตัวกลัวแม่ยาย                    โอ้นึกอายจุ๊บแจงแกล้งสำออย
        เหมือนจะรู้อยู่ในเล่ห์เสน่หา                        แต่หากว่าพูดยากเป็นปากหอย
        เปรียบเหมือนคนจนทุนทั้งบุญน้อย              จะกล่าวถ้อยออกไม่ได้ดังใจนึก"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 04 ก.ค. 07, 21:05

ในกระทู้นี้  ดิฉันจะลองอ่านและตีความนิราศเมืองเพชรใหม่   โดยไม่ยึดพระวินิจฉัยดังกล่าวเป็นหลัก   เพื่อจะดูว่า เราอาจมองเห็นอะไรที่แตกต่าง หรือไม่มีในพระวินิจฉัยดังกล่าวได้บ้าง
เพราะฉะนั้น จะเริ่มต้นโดยสมมุติว่า เราไม่รู้ว่าใครเป็นคนแต่งนิราศเรื่องนี้   อ่านจากเนื้อหาล้วนๆ

ในรัชกาลที่ ๓ ประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๓ มีขุนนางวัยกลางคนคนหนึ่ง  พร้อมด้วยลูกชายวัยหนุ่มถึงวัยมีเมียได้แล้ว    เดินทางจากกรุงเทพไปธุระที่เพชรบุรี  มีผู้ร่วมทางลงเรือไปด้วยหลายคน 
ธุระนั้น บอกไว้ในนิราศว่า อาสาเจ้านายที่ขุนนางผู้นั้นสังกัดอยู่ ไปมอบหมายธุระบางอย่างให้ขุนนางที่เพชรบุรีช่วยดำเนินการให้  ท่านขุนนางตัวเอกในเรื่องทำหน้าที่คล้ายๆเมสเซนเจอร์ เท่านั้น   เป็นลักษณะคล้ายคลึงกับการไปอ.แกลง จ.ระยอง ใน"นิราศเมืองแกลง"
   
จากราชาศัพท์ที่ใช้เพียงเบาบาง   ทำให้คิดว่าเจ้านายองค์นี้อย่างมากก็พระองค์เจ้า   ไม่สูงถึงพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้าฟ้า

อนาถหนาวคราวอาสาเสด็จ           ไปเมืองเพชรบุรินที่ถิ่นสถาน
ลงนาวาหน้าวัดนมัสการ                  อธิษฐานถึงคุณกรุณา
ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ       ถึงต่างเขตของประสงค์คงอาสา
ถ้าหากว่าเป็นสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ท่านขุนนางคงไม่อาจเอื้อมเรียกว่า "เพียงชนกที่ปกเกศ"
ยิ่งกว่านี้  นอกจากคำว่า "เสด็จ" ในบทนี้ไม่มีราชาศัพท์อีกเลย

ในการเดินทางมีผู้ติดตามไปหลายคน เรียกว่า"ศิษย์" ก็ดูอุ่นหนาฝาคั่งดี  แสดงว่าบารมีของท่านขุนนางว่าจะมีคนนับถือพอสมควรทีเดียว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 04 ก.ค. 07, 21:09

ราชาศัพท์ที่ใช้กับเจ้านาย ในนิราศเมืองเพชร  เมื่อเทียบกับนิราศภูเขาทอง  จะเห็นได้ว่าแตกต่างกัน
ในนิราศภูเขาทอง ระบุจากศัพท์ชัดเจนให้รู้ว่าเป็นเจ้านายชั้นสูงสุด ระดับพระเจ้าแผ่นดิน      เจ้านายระดับในกรมไม่มีสิทธิ์ถูกเรียกถึงขั้นนี้

ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด                 คิดถึงบาทบพิตรอดิศร
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร       แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น

ถ้าเทียบกับนิราศเมืองเพชรแล้ว  เจ้านายในนิราศเมืองเพชร  ผู้แต่งใช้ราชาศัพท์น้อยกว่า


บันทึกการเข้า
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 05 ก.ค. 07, 01:50

         ดูจากคำวิเคราะห์ของอาจารย์เทาชมพูก็ยังไม่ชัดเจนครับ  นิราศเมืองเพชรที่เชื่อกันว่าเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายที่ท่านแต่ง  มีคำกล่าวอ้างถึงเจ้านายอย่างชัดเจนเพียงบทเดียวเท่านั้น
                                                              โอ้รอนรอนอ่อนแสงพระสุริย์ฉาย
ท้องฟ้าคล้ำน้ำค้างลงพร่างพราย                     พระพายชายชื่นเชยรำเพยพาน
อนาถหนาวคราวอาสาเสด็จ                           ไปเมืองเพชรบุรินที่ถิ่นสถาน
ลงนาวาหน้าวัดนมัสการ                                อธิษฐานถึงคุณกรุณา
ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ                      ถึงต่างเขตของประสงค์คงอาสา
จึงจดหมายรายทางกลางคงคา                       แต่นาวาเลี้ยวล่องเข้าคลองน้อยฯ

อาสาเสด็จ  ในที่นี่จะคิดไปได้ไหมครับว่า  เป็นคำเรียกสั้นๆที่นิยมเรียกเจ้านายชั้นสูง  เช่น  "เสด็จในกรมฯ"  อย่างเรื่องสี่แผ่นดิน  ที่ชุบเลี้ยงแม่พลอยก็เห็นเรียกกันว่า"เสด็จ"

     ที่ท่านอาจารย์ว่าประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๓   พร้อมลูกชายวัยหนุ่ม (คงหมายถึงหนูพัด+หนูนิล)  เดินทางจากกรุงเทพไปธุระที่เพชรบุรี  นั้น  ผมเกรงว่าไม่น่าจะใช่ครับเพราะปี ๒๓๗๓  น่าจะเป็นปีที่ท่านบวชแล้วจำพรรษาอยู่ที่วัดแจ้ง  เป็นพระที่อยู่ใความอุปัฏฐากจากเจ้าฟ้าปิ๋วและเจ้าฟ้ากลาง  และได้ลาสิกขาบทหลังจากจำพรรษาที่วัดเทพธิดาราม ๓ ปี  ในปี พ.ศ.๒๓๘๕  ต่อจากนั้นท่านจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ ที่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์  ซึ่งตอนนี้ท่านน่าจะอายุ  ๕๕-๕๖ ปี แล้ว  ในช่วงนี้น่าเป็นช่วงที่ท่านแต่งนิราศพระประธม  นิราศเมืองเพชร  แม้แต่เรื่องพระอภัยมณี  ที่แต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ  คือแต่งต่อจากของเดิม
ที่ท่านจะเรียกว่า "เสด็จ"  เป็นไปได้ไหมที่จะหมายถึงพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์
ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ                ถึงต่างเขตของประสงค์คงอาสา
ผู้ที่ชุบเลี้ยงท่านหลังจากลาสิกขาบทก็เห็นจะมี แต่พระเจ้าน้องยาเธอฯ พระองค์เดียวเท่านั้น  ที่เป็นเจ้านายฝ่ายชายที่เปรียบดังพ่อ  อันนี้ผมอาจจะวิเคราะห์ผิดก็ได้  พอดีไปเที่ยววัดเทพธิดารามมา  เห็นข้อความของอาจารย์เทาชมพู  เลยขออนุญาตร่วมคิดด้วยครับ

           นิราศเมืองเพชรผมชอบตอนนี้ที่สุด  พอไปเที่ยวเขาหลวงทีไรนึกถึงบทนี้ทุกที

ดูเย็นชื่นรื่นร่มพนมมาศ                      รุกขชาติช่อดอกออกไสว
บ้างหล่นร่วงพวงผกาสุมาลัย                ต่างเด็ดได้เดินดมบ้างชมดวง
ภุมรินบินว่อนเที่ยวร่อนร้อง                  เหมือนเสียงฆ้องหึ่งหึ่งล้วนผึ้งหลวง
เวียนประเวศเกษราบุปผาพวง               ได้เชยดวงดอกไม้เหมือนใจจงฯ ......... ยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 05 ก.ค. 07, 08:03

มีเหตุผลที่จะคิดว่านิราศเรื่องนี้แต่งประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๓หรือใกล้ๆปีนี้   ค่ะ จะกล่าวในตอนต่อไป
เพื่อให้มาช่วยคิดกันว่าข้อสันนิษฐานของดิฉัน มีอะไรผิดพลาดไปบ้างได้ไหม
ดิฉันกำลังนึกอยู่เหมือนกันว่า "อาสาเสด็จ" ในที่นี้  หมายถึงเจ้านายชั้น "เสด็จในกรม" หรือเปล่า 
ถ้าใช่  เจ้านายของผู้แต่งก็เป็นพระองค์เจ้า  ไม่ใช่เจ้าฟ้า   
เจ้าฟ้าโดยกำเนิดอย่างเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศฯ หรือสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  ชาววังไม่เรียกท่านว่า "เสด็จ" แต่เรียกว่า ทูลกระหม่อม   
สมัยรัชกาลที่ ๓ พระนามลำลองคือ  ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย คู่กับเจ้าฟ้ามงกุฎ ทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่   ถ้าใครไปเรียกว่า "เสด็จ" ก็เท่ากับลดพระยศลงไปหนึ่งชั้น  ขุนนางชาววังไม่มีวันเรียกผิดพลาด 

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 ก.ค. 07, 18:55 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 05 ก.ค. 07, 08:32

ย้อนไปถึงพระนิพนํธ์สมเด็จกรมดำรงฯ เรื่องสุนทรภู่   หลายครั้งทรงใช้คำว่า " ฟังคำเขาเล่าว่า"
ก็หมายความว่า ในปลายรัชกาลที่ ๕ หรือต่อมาถึงรัชกาลที่ ๖ ที่ทรงรวมรวมเรื่องสุนทรภู่   
๑)ทรงเอาคำบอกเล่าของคนที่ทันรู้จัก หรือรู้เรื่องประวัติสุนทรภู่  เป็นตัวตั้ง
๒) เอาเนื้อความในนิราศเป็นตัวเสริม

คำบอกเล่าจากหลายคน หลายวาระ คงกะท่อนกะแท่นไม่รวมเป็นเรื่องเดียวกัน     จึงทรง"เชื่อม" เข้าติดกันเป็นเรื่องเดียว  อาศัยความในนิราศช่วยเป็นน้ำหนัก

ส่วนคุณPipat ซึ่งเล่นอยู่ในเรือนไทย   วิเคราะห์เรื่องนิราศของสุนทรภู่ โดยหาจากหลักฐานอื่นเช่นจากพระนิพนธ์สมเด็จกรมนริศฯ  จากของนายกุหลาบ    ส.ธรรมยศ และอื่นๆที่แทรกปะปนอยู่เป็นหลักฐานเรื่องโน้นบ้างเรื่องนี้บ้าง
ที่สำคัญคือตรวจสอบจากเนื้อความในนิราศ ดูความจริงที่แทรกอยู่ระหว่างบทกลอน  ดูพ.ศ. ดูเหตุการณ์
ซึ่งไม่มีใครเขาทำกันมาก่อน
ดิฉันเห็นว่าน่าสนใจ   จึงเอานิราศเมืองเพชรมาอ่านเสียใหม่   ตีโจทย์ที่อยู่ในนิราศ ว่าเราพอมองเห็นอะไรเกี่ยวกับผู้แต่งบ้าง
จึงเป็นที่มา ให้เกิดกระทู้นี้ขึ้น

ย้อนกลับมาอีกที   เรารู้อะไรเกี่ยวกับกวีผู้แต่งนิราศเมืองเพชรบ้าง
๑  เป็นคฤหัสถ์ หรือผู้ครองเรือน ธรรมดาๆนี่เอง  ไม่ได้อยู่ในเพศบรรพชิต หรือกำลังบวชเป็นพระอย่างที่อ.ล้อม เพ็งแก้ว วิเคราะห์ไว้
เพราะ พฤติกรรมหลายอย่างที่บอกไว้เกี่ยวกับตัวเอง เป็นลักษณะของผู้ครองเรือน มีการเกี่ยวข้องกับสตรี  และรำพึงรำพันถึงสตรีหลายรายที่เคยรักใคร่หรืออยู่กินด้วยกัน
ไม่ใช่สิ่งที่พระสงฆ์พึงเอ่ยถึง  โดยเฉพาะเมื่อนิราศเรื่องนี้ระบุไว้ตอนท้ายว่า มีไว้ให้หลายคนอ่าน   ก็แสดงว่าเป็นเรื่องเปิดเผย  ไม่ใช่เก็บซุกซ่อนไว้อ่านคนเดียว   ถ้าเป็นพระ เขียนแบบนี้ให้ชาวบ้านอ่าน คงจะถูกติฉินนินทาหรือไม่ก็เสื่อมเสียผ้าเหลืองไปแล้ว
ตัวท่านขุนนางกวี  บอกอะไรเกี่ยวกับตัวบ้าง พอถอดรหัสได้ไม่มากนัก
๑) ถ้าถามว่ามีเมียอยู่ทางบ้านไหม  มี     สามีออกหัวเมืองก็เอาแพรห่มอบร่ำของเธอมาห่มด้วย   กวีเอ่ยไว้ว่า
                                             เหลือแต่ผืนผ้าแพรของแม่น้อง 
ได้กันลมห่มหนาวเมื่อเช้าตรู่
แต่คงจะกำลังงอนอะไรกันสักอย่าง ทำให้ไม่ได้อยู่ด้วยกันตอนนั้น แต่คงไม่นานนัก เพราะแพรห่มยังหอมกลิ่นอบร่ำอยู่   ถ้าเลิกกันไปนานหลายปี  กลิ่นคงไม่เหลืออีกแล้ว
แพรห่มผืนนี้ กวีบอกว่า "ฝ่ายเจ้าของขาดรักสมัครสมาน" ก็เลยนำไปถวายห่มพระพุทธรูปเมื่อถึงเพชรบุรี   แต่ฝ่ายชายไม่ได้โกรธฝ่ายหญิง  จึงอธิษฐานในทำนองง้องอน  ว่ายังรักยังอยากเจอกันอยู่
 
ยังมีแต่แพรหอมถนอมชม             ได้คลี่ห่มหุ้มอุระพระประธาน
อุทิศว่าผ้านี้ของพี่น้อง                 ฝ่ายเจ้าของขาดรักสมัครสมาน
มาห่มพระจะให้ผลดลบันดาล        ได้พบพานภายหน้าสถาพร

๒) ท่านขุนนางกวีสมัยเป็นหนุ่ม   มีแฟนหลายคน   แต่แล้วก็เลิกร้างลากันไปหมด   ท่านชอบรำพันถึงแต่สาวที่หลุดมือไปเท่านั้น
                                             มาถึงคลองบางลำเจียกสำเหนียกนาม
ลำเจียกเอ๋ยเคยชื่นระรื่นรส          ต้องจำอดออมระอาด้วยหนาหนาม
ถึงคลองเตยเตยแตกใบแฉกงาม   คิดถึงยามปลูกรักมักเป็นเตย
จนไม่มีที่รักเป็นหลักแหล่ง           ต้องคว้างแคว้งคว้าหานิจจาเอ๋ย
โอ้เปลี่ยวใจไร้รักที่จักเชย           ชมแต่เตยแตกหนามเมื่อยามโซ

แม้นเดี๋ยวนี้มีหญิงไม่ทิ้งผัว        ถึงรูปชั่วฉันจะรักให้หนักหนา

แปลว่าถูกผู้หญิงตีจาก อาจจะมากกว่าหนึ่งคน   ในยุค ๒๐๐ ปีก่อนที่ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง   ผู้หญิงทิ้ง  ก็คงแปลว่าเธอเหลืออดจริงๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 05 ก.ค. 07, 08:37

๓) ท่านขุนนาง มีลูกชายหนุ่มถึงวัยแต่งงานได้แล้ว  แต่ยังไม่ได้แต่ง  พ่อก็มองๆหาลูกสะใภ้ให้อยู่   พ่อยังเรียกลูกชายว่า "หนู" ทั้งที่ความจริงโตเป็นหนุ่มเต็มตัวเกินกว่าใครจะเรียกว่าหนูได้แล้ว   เจ้าชู้เสียด้วย  คงจะเชื้อไม่ทิ้งแถว

๔) ท่านขุนนาง ตอนหนุ่มๆ เคยได้ดีกว่าตอนแก่    ถึงตำแหน่งปัจจุบันก็ไม่เลวนัก ยังไงก็ยังรับราชการกับเจ้านาย เรียกว่ามีพระยาเลี้ยง   แต่ก็ อดรู้สึกน้อยใจไม่ได้ว่าครั้งหนึ่งเคยรุ่งกว่านี้

เดิมเป็นป่ามาเป็นวังตั้งประทับ      แล้วก็กลับไปเป็นป่าไม่ฝ่าฝืน
เหมือนมียศลดลงไม่คงคืน           นึกสะอื้นอายใจมาในเรือฯ

๕)ขอปักหมุดเวลาที่เจอ   เรื่องนี้แต่งหลังจากศึกเจ้าอนุวงศ์ในรัชกาลที่ ๓     เพราะเพื่อนเก่าชื่อขุนแพ่งไปตายตอนศึกลาว    ทิ้งเมียและบ้านช่องให้หม่นหมองทรุดโทรม  ไม่คึกคักเหมือนสมัยขุนแพ่งยังอยู่

กลอนตรงนี้(มั้ง)ที่ทำให้อ.ล้อมคิดว่าคนแต่งเป็นพระ

โอ้คิดคุณขุนแพ่งเสียแรงรัก   ไม่พบพักตร์พลอยพาน้ำตาไหล
ได้สวดทั้งบังสุกุลแบ่งบุญไป    ให้ท่านได้สู่สวรรค์ชั้นวิมานฯ
บันทึกการเข้า
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 05 ก.ค. 07, 12:39

กาพย์กลอนไทยธำรงคงคุณค่า
จากศิลาจารึกบันทึุกสมัย
สะท้อนรสบทกลอนสะท้อนใจ
สะท้อนความเป็นไทยไปนิรันดร์
สะท้อนแก้วแววกลอนสุนทรภู่
พระคุณครูศักดิ์สิทธิ์คิดสร้างสรรค์
ครูสร้างคำแปดคำให้สำคัญ
อภิวันบูชาบิดากลอน
สองร้อยปีบรรจบครบถ้วนทั่ว
ถึงลับตัวแต่ชื่อลือกระฉ่อน
ทรงศักดิ์ศรีกวีไทยให้กำจร
เป็นอาภรณ์แก่แผ่นดินถิ่นไทยเอย
....เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์...
     ครับที่จริงก็สับสนอยู่ที่ท่านอาจารย์ล้อมวิเคราะห์ไว้แบบนั้น  และยังคิดว่าท่านน่าจะมีเชื้อสายพี่น้องเป็นคนเมืองเพชรอีกด้วย  แต่เท่าที่ดูหนังสือทุกเล่มจะกล่าวว่าท่านรับอาสาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ไปทำธุระที่เมืองเพชร  จึงได้แต่งนิราศเมืองเพชรขึ้น แม้แต่หนังสือที่ผมกำลังถืออยู่ในมือขณะนี้  ชื่อ "เพชรของสุนทรภู่"  โดย ตรีรัตน์ รมณีย์  จัดพิมพ์โดยแพร่พิทยา  แต่ตามเนื้อความในนิราศที่ขึ้นต้น  แน่นอนท่านต้องอาสาเจ้านายองค์ใดองค์หนึ่ง  แต่จะเป็นท่านใดก็คงต้องวิเคราะห์ดูก่อนว่า  น่าจะแต่งขึ้นประมาณพ.ศ.ใด  ถ้าเป็ฯช่วงที่หนูพัดโตเป็นหนุ่มแล้ว  ท่านก็น่าจะเกินวัย ๕๐ ปี  ถ้าอยู่ในเพศบรรพชิตก็ไม่น่าจะรำพันถึงสีกาแบบไม่สำรวมอย่างท่านอารย์เทาชมพูว่า  ควรจะเป็ฯหลังจากลาสิกขาบทมาแล้ว  แต่ผมติดใจในบาทที่ว่า

@ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ       ถึงต่างเขตของประสงค์คงอาสา

         ผู้ที่ชุบเลี้ยงท่าน  ต้องสำคัญดั่งให้ชีวิตใหม่ที่ดีกว่าตอนที่ไม่มีที่อยู่  แม้แต่วัดก็อยู่ลำบากดั่งบทกลอนท่อนหนึ่งที่ว่า

ต้องขัดเคืองเรื่องราวด้วยคราวเคราะห์
จวบจำเพาะสุริยาถึงราหู
ทั้งบ้านทั้งวัดเป็นศัตรู
แม้นขืนอยู่ยากเย็นจะเห็นใคร

        และบทที่ว่า

เมื่อยากไร้กายเราก็เท่านี้
ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย

       ธรรมดาคนเราคงเคยสบาย  เคยมีชีวิตอยู่รับราชการเป็นที่พอพระราชหฤทัย  เมื่อตกต่ำ(และในประวัติว่าติดสุราด้วย)  ผู้ที่ให้ที่พึ่งและท่านเปรียบดังชนกหรือพ่อ  ที่ได้อาสารับเอาธุระท่านมาที่เมืองเพชร  คิดยังไงที่แรกผมก็คิดว่าน่าจะเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  พอมาได้ข้อคิดจากท่านอาจารย์เทาชมพู  ที่ว่าถ้าท่านใช้คำว่า "เพียงขนกที่ปกเกศ"  กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  เป็นการไม่เหมาะ  น่าจะเป็นเจ้านายองค์ใดองค์หนึ่ง  อย่างสูงน่าจะระดับพระองค์เจ้า  ถ้าในช่วงปลายชีวิตท่านไม่รู้ว่าจะมีเจ้านายพระองค์ใดอีกที่ได้ชุบเลี้ยงท่าน  แต่ถ้าแต่งประมาณ  ๒๓๗๓   ก็น่าคิดต่อครับ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 05 ก.ค. 07, 13:27

เรื่องสุนทรภู่ขี้เมาผมอยากให้วางไว้ก่อนครับ

ต้นเรื่องมาจากคำบอกเล่าที่ไม่มีหลักฐานอะไรยืนยันสักอย่างเดียว ในขณะที่ในบทประพันธ์ของสุนทรภู่ ส่วนที่ยกเอามาประกอบว่าสุนทรภู่เป็นกวีขี้เมา ถ้าไม่บอกก่อนว่าท่านเป็นกวีขี้เมา อ่านแล้วก็ไม่เห็นว่าจะสรุปว่าท่านเป็นขี้เมาได้อย่างไร

เรื่องของสุนทรภู่ที่เชื่อถือกันอยู่ในปัจจุบัน จะอิงตามพระนิพนธ์สมเด็จดำรงฯอย่างที่อาจารย์เทาชมพูว่าไว้ครับ เราๆท่านๆอ่านกันแล้วอยากให้คิดอย่างที่สมเด็จดำรงฯท่านทรงว่าไว้ว่าท่านเองทรงศึกษาจากข้อมูลเท่าที่มี หากเรามีหลักฐานอื่นต้องศึกษาก้าวหน้าต่อไป อย่าได้ยึดติดกับพระนิพนธ์ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 05 ก.ค. 07, 17:22

ถ้าจะไม่ให้สับสน  ต้องวางนิราศเรื่องอื่นไว้ก่อน   รวมทั้งประวัติของสุนทรภู่เท่าที่รู้กันมาด้วย
ทุกคนที่อ้างประวัติสุนทรภู่ ก็อ้างจากพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ   ไม่เคยมีใครไปค้นคว้าข้อมูลจากที่อื่น 
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงสืบค้นและสันนิษฐานไว้เท่าที่ทรงทำได้  เท่ากับเป็นการรักษาเรื่องราวไว้มิให้สูญหายไป   แต่ก็มิได้ทรงยุติในเรื่องนี้ และไม่ได้ห้ามด้วยถ้าคนไทยรุ่นหลังจะขยายความ หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมจากที่ทรงเริ่มต้นไว้

ดิฉันอ่านนิราศเมืองเพชรอย่างเดียวแบบเชอร์ล็อคโฮล์มส์อ่าน  คือทำความรู้จักกับคนแต่งว่าท่านผู้นี้ได้กล่าวถึงตัวเองไว้มากน้อยแค่ไหน  เราพอจะแกะรอยเพื่อทำความรู้จักอะไรจากประวัติท่านได้บ้าง
แล้วอาจจะพอมองเห็นภาพคนแต่งได้ชัดเจนขึ้นกว่าที่เคยเห็นกันมาก่อน
ดิฉันคิดว่ากวีขุนนางผู้นี้ อายุสัก ๔๐ กว่าๆเท่านั้น ยังไม่น่าจะถึง ๕๐ ด้วยซ้ำ  เอ่ยถึงสาวๆยังกระชุ่มกระชวยอยู่เยอะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 05 ก.ค. 07, 18:57

ความเชื่อก่อนหน้านี้คือนิราศเมืองเพชร เป็นการไปเมืองเพชรบุรีครั้งที่ ๒ของผู้แต่ง เพราะมีการเล่าถึงเรื่องและผู้คนในอดีตอยู่หลายตอน
แต่ถ้าอ่านถึงตอนเอ่ยถึงขุนแพ่ง เพื่อนเก่าที่ล่วงลับไปแล้ว  ก็จะพบว่า ท่านขุนนางกวีต้องเคยเห็นเมืองเพชรอย่างน้อย ๓ ครั้ง  เผลอๆจะมากกว่านั้นอีก

ได้เยี่ยมเยือนเรือนบ้านท่านขุนแพ่ง          มาปลูกแปลงแปลกกว่าเมื่ออาศัย
ด้วยศึกลาวคราวนั้นเธอบรรลัย                 ไม่มีใครครอบครองจึ่งหมองมัว
แสนสงสารท่านผู้หญิงมิ่งเมียหลวง             เฝ้าข้อนทรวงเสียใจอาลัยผัว
ทั้งเมียน้อยอ้อยอิ่งหญิงคนครัว                  พากันมัวหมองคล้ำระกำตรอม
เมื่อมาเรือนเยือนศพได้พบพักตร์               ไม่หมองนักคราวนี้รูปช่างซูบผอม
เพราะครวญคร่ำกำสรดสู้อดออม                 เหมือนแก่งอมหงิมเงียบเซียบสำเนียง
โอ้อกเอ๋ยเคยสำราญอยู่บ้านนี้                    ได้ฟังปี่พาทย์เพราะเสนาะเสียง
ทั้งหญิงชายฝ่ายเพื่อนริมเรือนเรียง              เคยพร้อมเพรียงเพรางายสบายใจ

เราอ่านอะไรได้บ้างจากคำบอกเล่าเรื่องนี้

๑)โอ้อกเอ๋ยเคยสำราญอยู่บ้านนี้       ได้ฟังปี่พาทย์เพราะเสนาะเสียง
แปลว่าเคยมาพักตอนขุนแพ่งยังมีชีวิตอยู่   ถึงได้ฟังวงปี่พาทย์ของเจ้าของบ้าน เพราะพริ้ง ครึกครื้นสนุกสนาน    ก็ตัวเจ้าของบ้านยังอยู่ มีบุญบารมีพร้อม เพื่อนบ้านก็ไปมาหาสู่กันคึกคักตั้งแต่เช้า(เพรางาย=เวลาเช้า)
นี่คือครั้งหนึ่ง

๒)ด้วยศึกลาวคราวนั้นเธอบรรลัย   
ต่อมาขุนแพ่งก็ตายในศึกเจ้าอนุวงศ์ รัชกาลที่ ๓    ท่านขุนนางกวี เมื่อมาเรือนเยือนศพ   แปลว่ามาครั้งที่สอง มาไหว้ศพขุนแพ่ง     ก็เจอหน้าคุณนายแพ่ง  เห็นหน้าตา "ไม่หมองนัก" 

๓)แต่มา "คราวนี้" คือตอนที่เล่าในนิราศ  รูปช่างซูบผอม   เพราะครวญคร่ำกำสรดสู้อดออม        เหมือนแก่งอมหงิมเงียบเชียบสำเนียง
 มาคราวก่อน   คุณนายยังไม่ทรุดโทรมเท่าไร   แต่มาอีกที ครั้งที่สาม  คุณนายซูบผอมตรอมใจดูแก่ลงไปมาก   ในบ้านเหลือแต่ผู้หญิง  ก็เงียบเหงาเศร้าหมองกันไปทั้งบ้าน เพราะขาดประมุขของบ้านไปเสียแล้ว       
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 10 ก.ค. 07, 08:10

ต่อไปนี้ จะพูดถึงขุนแพ่ง ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของนิราศเมืองเพชร   
มรณกรรมของขุนแพ่งใน"ศึกลาว" ทำให้เกิดการค้นคว้าและตีความถึงปีที่กวีไปเยือนเพชรบุรีได้ ว่าเป็นในรัชกาลที่ ๓ ไม่ใช่รัชกาลที่ ๔

นอกจากนี้ เมื่อนึกว่า กว่าท่านขุนนางกวีจะสนิทกับขุนแพ่งได้  ก็ย่อมจะเจอกันมาก่อน  ถึงได้รับคำเชิญมาแวะค้างคืนที่บ้าน  ฟังปี่พาทย์กันครึกครื้น   ก็คงเคยมาเพชรบุรีกันก่อนหน้านี้ถึงมาทำความรู้จักกันได้
แสดงว่าเคยเห็นเพชรบุรีมาไม่ต่ำกว่า ๔ ครั้ง

ต่อไปคือปีที่ขุนแพ่งตาย
ศึกลาว  เชื่อว่าหมายถึงกบฎเจ้าอนุวงศ์  เพราะยังนึกไม่ออกว่ามีศึกเชียงใหม่ในรัชกาลนี้ 
ถ้าใช่ศึกเจ้าอนุวงศ์    ขุนแพ่งก็ตายเมื่อพ.ศ. 2369  ในรัชกาลที่ 3
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จสวรรคต  พ.ศ. 2394 
ระยะเวลาห่างกัน 25 ปี 
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ครองราชย์ 2394-2411  ส่วนสมเด็จพระปิ่นเกล้าครองวังหน้าอยู่ตั้งแต่ 2394-2408

ถ้าหากเชื่อว่าท่านกวีขุนนางแต่งนิราศเมืองเพชรในรัชกาลที่  ๔  ก็ต้องบวกเวลาจาก 25 ปีของการสิ้นรัชกาลที่ 3 เข้าไปอีก  ได้ถึง 15 ปี กรณีท่านเป็นขุนนางวังหน้า และ 17 ปีกรณีเป็นขุนนางวังหลวง

ที่บวกนี้บวกเพื่ออะไร เพื่อดูว่าคุณนายแพ่ง เมียน้อยจนแม่ครัว คร่ำครวญถึงท่านขุนมาแล้วอย่างน้อยก็ 25 ปีเชียวหรือ   กว่าท่านขุนนางกวีจะนั่งเรือไปหาในครั้งที่สาม   
หรือบวกกันให้สุดๆก็ต้องเอา 17 หรือ 15 บวกเข้าไปอีก  ว่าคร่ำครวญกันเกือบ 40 ปี เรื่องสามีตายจากไป 

สรุปอีกที  ขุนแพ่งตายไปเมื่อ 2369 กว่าท่านขุนนางกวีจะนั่งเรือไปเยี่ยมบ้านเก่าในรัชกาลที่ 4  เวลาผ่านมาอย่างน้อย 25 ปี หรือนานกว่านั้น ยังร้องไห้กันไม่หยุด 
ตัวเลขมันไม่ลงตัวเอาเลยนี่คะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 10 ก.ค. 07, 08:13

เมื่อมันไม่ลงตัว  ก็ต้องหวนกลับไปหาหลักฐานอื่นประกอบ  ในที่นี้ไม่มีอะไรดีไปกว่าดูคุณนายแพ่ง  ว่าเธออายุต่างกันเท่าไรในคราวที่สองและสาม

เมื่อมาเรือนเยือนศพได้พบพักตร์              ไม่หมองนักคราวนี้รูปช่างซูบผอม
เพราะครวญคร่ำกำสรดสู้อดออม                เหมือนแก่งอมหงิมเงียบเชียบสำเนียง

ท่านขุนนางกวีเห็นว่าคุณนายในคราวที่สามนี้ "เหมือนแก่งอม"   แสดงว่าคุณนายยังไม่แก่ แต่ดูเหมือนคนแก่เพราะความตรอมใจ      ถ้าหากว่าคุณนายแก่จริงก็จะไม่มีคำว่า "เหมือน"   แต่บอกว่าแก่กันตรงๆ   เช่น "ดูแก่งอมหงิมเงียบเชียบสำเนียง"

ถ้านิราศแต่งในปลายรัชกาลที่ ๓ หรือต้นรัชกาลที่ ๔  สามีต้องตายมาประมาณ ๒๐- ๒๕ ปี ยังไง คุณนายก็ต้องแก่     
ถ้ายังไม่แก่แสดงว่าระยะเวลาที่สามีตายจนถึงครั้งท่านขุนนางกวีไปเยี่ยม   ยังแค่ไม่กี่ปี     คนในบ้านจึงยังเศร้าโศกกันอยู่     ถ้าเป็นจริงใครมันจะร้องไห้  "ข้อนทรวงเสียใจอาลัยผัว" คือตีอกชกหัวคร่ำครวญอยู่ได้  ตั้ง ๒๐-๒๕ ปี ตั้งแต่สาวจนแก่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 10 ก.ค. 07, 08:19

เมื่อเสนอความคิดในเรื่องนี้ครั้งแรก  คุณ pipat บอกว่า ศึกเจ้าอนุวงศ์ กินเวลา 2369-2371
ถ้างั้นก็มาดูกันใหม่ ว่า
ขุนแพ่งตายปี 2369-71 ปีใดปีหนึ่ง     อาจจะบาดเจ็บสาหัสจากศึก หามกลับมาตายที่บ้าน  เพราะกล่าวถึงการตั้งศพที่บ้าน   ถ้าตายในสนามรบคงกลับมาได้แต่อัฐิหรือกระดูกเท่านั้น
พอตั้งศพที่บ้าน  ท่านขุนนางกวีได้ข่าวก็รีบมาเยี่ยมศพในปีนั้น    เจอคุณนายแม้เศร้าโศก  ก็ยังอวบอ้วนเป็นน้ำเป็นนวลดีอยู่   
เมื่อมาเรือนเยือนศพได้พบพักตร์              ไม่หมองนักคราวนี้รูปช่างซูบผอม


เจ้านายใช้มาอีกหน  พ.ศ.  2373   ห่างจากคราวก่อนเล็กน้อย  แค่สองสามปี  ระยะเวลาแค่นี้เมียและบริวารยังไม่หายเศร้าโศก   เป็นไปได้
คุณนายซึ่งโดยอายุ ยังไม่แก่   แต่ผ่ายผอมตรอมใจ  เลยแก่เฮือกลงไปถนัดใจเหมือนคนแก่หง่อม   พูดถึงผัวก็ยังตีอกชกหัวอยู่     ถ้าผัวตายยาวนาน 12-13 ปีคงไม่ฟูมฟายขนาดนั้น
ลักษณะปริเวทนาการของคุณนายและผู้หญิงในบ้านบอกให้รู้ว่าเป็นความทุกข์ที่เพิ่งผ่านไปไม่นานปี

จึงคิดว่า นิราศเมืองเพชรแต่งปีขาล  2373  ในรัชกาลที่ 3 
ไม่ใช่ปีขาล 2385   
และไม่ใช่ปีขาล 2397 ในรัชกาลที่ 4

ขุนนางกวีในรัชกาลที่ 3 มีเจ้านายคุ้มหัว   ตำแหน่งการงานก็มั่นคงดี  มีลูกศิษย์ลูกหาตามไปด้วยในเรือ   แสดงว่าฐานะความเป็นอยู่ก็มีหน้ามีตา ไม่อาภัพ 
เที่ยวแวะเวียนไปหาขุนนางเมืองเพชรได้ ไม่มีท่าทีกระดากกระเดื่องอย่างในนิราศภูเขาทอง
ชีวิตสมัยรัชกาลที่ 3 ท่านก็ไม่ลำบากอย่างในตำนาน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 10 ก.ค. 07, 08:23

สรุปอะไรได้บ้างจากเนื้อความใน นิราศเมืองเพชร
คำตอบ -
๑) คนแต่งเป็นขุนนาง ไม่ใช่พระ  มีเจ้านายที่ตัวเองสังกัดอยู่ ซึ่งไม่ใช่พระมหากษัตริย์
๒) อายุวัยกลางคน     มีลูกชายเป็นหนุ่มวัยมีเมียได้แล้ว  พ่อย่อมอายุไม่ต่ำกว่า ๔๐ ปี
๓) เดินทางโดยมีผู้ติดตาม ที่เรียกว่า "ศิษย์" หลายคน  ชวนให้เกิดคำถามว่า "ขุนนางประเภทไหน หรือหน้าที่การงานแบบไหน มีศิษย์บ้าง" คะ
๔) มีความหลังผูกพันกับเมืองเพชรอย่างคนคุ้นเคย  เที่ยวแวะเยี่ยมใครต่อใครหลายบ้านล้วนแต่ขุนนางและผู้ดีจากเมืองหลวง  แสดงว่าท่านขุนนางกวี มีตำแหน่งปัจจุบันกว้างขวางไม่เบา

อีกเรื่องหนึ่งที่ยังถอดรหัสไม่ได้คือท่านขุนนางกวีเคยเล่าว่าตัวเอง"บ้า" อยู่ที่เมืองเพชรในครั้งก่อน   
"บ้า" ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าเสียจริต  แต่ได้กระทำอะไรบางอย่างที่เหลวไหลหรือไม่สมควรทำ      ยังอธิบายไม่ได้ว่าอะไร คงไม่ใช่เรื่องร้ายแรง ไม่งั้นคงไม่อ้างถึงอย่างเปิดเผย
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.059 วินาที กับ 19 คำสั่ง