เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 13451 26 มิถุนายน วันสุนทรภู่
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 22 ก.ค. 07, 18:29

กลุ้มใจตัวเองว่า ไม่เห็นด้วยกับอ.นิธิอีกแล้ว

ความรักแบบสุนทรภู่เป็นความรักระหว่างปัจเจกชน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถานะทางสังคมเลย เช่น พระรามกับนางสีดา
เป็นความรักที่เกิดจากการลิขิตของพระเจ้าเลยแหละ นางสีดาเกิดมาเป็นเมียพระรามทุกชาติ พระรามไม่มีทางมีเมียน้อย
เป็นความรักที่ถูกชะตาลิขิตมาแต่ต้น


ก็ไม่ใช่หรอกนะคะ    พระรามได้นางสีดาเพราะยกศรหนักมหาศาลที่ท้าวชนก พ่อบุญธรรมของนางสีดาตั้งเงื่อนไขไว้ ว่าใครยกได้ก็ได้ลูกสาวไปครอง
คนที่จะเดินเข้าวัง ไปยกศรท่ามกลางพระราชาและเหล่าเสนาอำมาตย์นั่งกันเต็มท้องพระโรงได้ก็มีแต่ลูกกษัตริย์ด้วยกันเท่านั้น    คนธรรมดาไม่มีสิทธิ์
จะเรียกว่าไม่มีสถานะทางสังคม   ก็ไม่ใช่ตามนั้น
เมื่อยกศรได้  พ่อนางเอกก็ปลื้ม ยกให้ทันที  เพราะเห็นว่าเป็นลูกกษัตริย์เช่นกัน

นอกจากนี้ในฐานะกษัตริย์ เมื่อพระรามกลับไปครองอโยธยาหลังรบชนะทศกัณฐ์แล้ว  เรื่องจะมีเมียคนเดียว ย่อมเป็นไปไม่ได้
ยังไงก็ต้องมีนางสนม"แปดหมื่นสี่พันกัลยา" ประดับเกียรติ  ตามระบบ   พวกสนมเหล่านี้ ถ้าไม่เรียกว่าเมียน้อย จะให้เรียกว่าอะไร

แต่ความรักระหว่างพระรามกับนางสีดา เกิดเมื่อตอนเดินผ่านวังจะเข้าไปยกศร นางสีดาเผอิญเปิดหน้าต่างออกมาพอดี   ก็เลยเห็นกันเข้า
พอเห็นกัน ก็เกิด "ปิ๊ง" กันในทันที   
ถ้าเรียกว่าความรักที่ถูกชะตาลิขิต  ก็เรียกได้ในส่วนนี้

แต่..พระเอกนางเอกวรรณคดีไทยทุกคู่ ก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น   สุนทรภู่ไม่ใช่กวีคนเดียวที่ให้เอกบุคคลรักเอกบุคคล
ความจริง ถ้าถามเสียใหม่ว่า พระเอกนางเอกคู่ไหนรักกันแบบคำนึงถึงสถานภาพเงื่อนไขทางสังคม  จะง่ายกว่า
เพราะตอบได้ว่า ไม่มี 

อิเหนาเจอบุษบาก็หลงรักหัวปักหัวปำในทันที    ที่เมื่อก่อนเล่นตัวไม่ไยดีที่จะแต่งด้วย เพราะนึกประมาทหน้าว่าคงงามสู้จินตะหราไม่ได้ เลยไม่ยอมทิ้งจินตะหรามาแต่งงานตามที่หมั้นหมายไว้
แต่พอเห็นหน้าบุษบาว่า "อันนางโฉมยงองค์นี้  เลิศล้ำนารีในแหล่งหล้า" เท่านั้นก็ลืมจินตะหราหมดสิ้น
พระเอกนางเอกอื่นก็เหมือนกัน   รักกันเพราะหลงในรูปโฉม  ไม่มีคู่ไหนเอาใจใส่สถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมและการเมือง
- พลายแก้วกับนางพิม   
-อุณรุทกับนางอุษา
- พระสมุทรโฆษกับนางพินทุมดี
- พระชินเสนกับนางอุษานารี
- ท้าวทุษยันต์กับนางศกุนตลา
- ท้าวชัยเสนกับมัทนา
- พระอภัยมณีกับนางเงือก
- พระอภัยมณีกับนางสุวรรณมาลี
- พระสังข์กับนางรจนา
- คาวีกับนางจันทร์สุดา

แต่ กลับตาลปัตร คู่รองๆอย่างลูกน้องสาวๆของนางละเวง หาคู่ด้วยการคำนึงถึงการเมืองทั้งนั้น คือล่อฝ่ายชายมาติดกับ เพื่อตัวเองได้ชนะศึก
จะว่าสุนทรภู่ไม่คำนึงถึงเรื่องอื่น  คำนึงแต่เอกบุคคลได้อย่างไร 
ตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำไปค่ะ   สุนทรภู่นี่แหละ เป็นคนที่แต่งให้การหาคู่เป็นเรื่องของ
สถานภาพทางสังคม   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 26 มิ.ย. 21, 10:39

จาก  facebook ของคุณ Prapas Cholsaranon

สุนทรภู่ กวีที่ข้าพเจ้ายึดเป็นครูด้านกาพย์กลอน
ครีเอทีฟที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของสยามประเทศ
ท่านเขียนเรื่องพระอภัยมณีออกมาได้พิสดารเหลือเกิน
จนผ่านมาสองร้อยปี ก็ยังทึ่งในจินตนาการ
พระอภัยฯพระเอกที่ไม่จับดาบ ไม่ยืนเท่เหมือนพระเอกคนอื่น พระเอกคนนี้เป็นนักดนตรี
พล็อตอย่างนี้หนังเกาหลีหนังญี่ปุ่นชอบนัก พระอภัยฯมีเพียงปี่เลาเดียวเป็นอาวุธ
ที่สำคัญพระเอกคนนี้ไม่ชอบความรุนแรงเลย
...
อ่านพระอภัยมณีดีๆอาจพบว่าครูสุนทรภู่ท่านซ่อนอะไรในวรรณคดีเรื่องนี้
ฝรั่งอุศเรนยกทัพเรือมาตีเมืองผลึก วรรณคดีไทยเพิ่งมีฝรั่งเป็นตัวละครก็เรื่องนี้แหละ
สมัยนั้นรัชกาลที่ ๓ ต่อด้วยรัชกาลที่ ๔ ฝรั่งตะวันตกเริ่มออกล่าอาณานิคมไปทั่ว
หรือว่าครูสุนทรภู่ท่านกำลังเขียนบอกชาวสยามว่าฝรั่งกำลังจะมายึดครองโลกแล้ว
แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ถัดมาอีกรัชสมัยเดียว
อุศเรนในโลกจริงก็รวบเขมรยึดลาวตีพม่า
ในหลวงรัชกาลที่ ๔ พระองค์เริ่มเรียนภาษาฝรั่งแล้วก็เริ่มให้ลูกหลานและเสนาบดีในวังเรียนภาษาเพื่อ"รู้เขารู้เรา"
มาถึงในหลวงรัชกาลที่ ๕ พระองค์ต้องทรงงานอย่างหนักเพื่อหาวิธีปกป้องแผ่นดินจากการมาล่าเมืองของฝรั่งอุศเรน
.................
วันนี้ ๒๖ มิถนายน วันครูของคนเขียนกลอน
ศิษย์สุนทรภู่ขอคารวะครู
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 26 มิ.ย. 21, 11:25

ถ้าเทียบ "พระอภัยมณี" กับ "ขุนช้างขุนแผน" ที่สุนทรภู่มีส่วนแต่งเหมือนกันในตอน "กำเนิดพลายงาม"  จะเห็นความเก่าและใหม่ของยุคสมัย
ขุนช้างชุนแผน อิงสังคมไทยยุคเก่าที่อาณาจักรอยุธยายังทำศึกกับทางเหนือ อย่างล้านนา   ในขุนช้างขุนแผนไม่มีการเอ่ยถึงศึกพม่าเลยสักครั้งเดียว  แสดงว่าเรื่องดั้งเดิมเกิดขึ้นในสมัยก่อนพระเจ้าจักรพรรดิ์  ส่วนพระอภัยมณีเกิดขึ้นเมื่อชาวตะวันตกเข้ามาตั้งหลักแหล่งในกรุงรัตนโกสินทร์กันหนาตา   ไม่ใช่เข้ามาทอดสมอกำปั่นค้าขายแล้วกลับออกไป
สุนทรภู่น่าจะมีการคบค้ากับฝรั่งอยู่ไม่น้อย ถึงกับสร้างตัวละครเป็นฝรั่ง มีบทบาทหลักอยู่ในเรื่องหลายตัวด้วยกัน   ตัวละครเป็นลูกครึ่งฝรั่งกับไทยก็มี อย่างมังคลา ลูกของพระอภัยมณีกับนางละเวง

ในวรรณคดีสมัยต้นรัตนโกสินทร์ อย่างรามเกียรติ์  ถ้าท้าวพระยามหากษัตริย์และพระโอรสธิดาอยากจะเสด็จไปเที่ยวนอกเมือง ก็เข้าป่ากันไปชมป่ากันทั้งนั้น    แต่ในพระอภัยมณี  นางสุวรรณมาลีอยากไปเที่ยวทะเล  พ่อก็ตามใจ พานั่งเรือสำเภาไปชมทะเล  ถือว่าแหวกขนบการเที่ยวกันทีเดียว
ความที่สุนทรภู่เอ่ยถึงทะเลอย่างคุ้นเคยอยู่หลายตอน ทำให้คิดว่าในบางช่วงชีวิต  ท่านก็คงท่องเที่ยวลงไปทางใต้อยู่หลายครั้ง    ไม่ใช่แค่ไปเมืองแกลงเท่านั้น  แต่อาจไปถึงทะเลอันดามัน   
การบรรยายถึงภูมิศาสตร์ทางทะล ให้รายละเอียดอยู่หลายตอน ที่สะท้อนภาพเหมือนของจริง ทำให้สงสัยว่าสุนทรภู่เคยไปเที่ยวทะเลไกลๆมาแล้ว  หรืออย่างน้อยก็คงคบค้าสมาคมกับชาวเรือฝรั่ง  ถึงสร้างภูมิศาสตร์ได้หลายตอนขนาดนั้น เช่น เกาะแก้วพิสดาร ซึ่งอยู่ในกลุ่มเกาะนิโคบาร์ (มีชื่อตามตํานานว่านาควารี ในพระอภัยมณีเรียกทะเลนาควารินทร์) ทางตอนใต้ของทะเลอันดามัน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 27 มิ.ย. 22, 08:35

เฟซบุ๊กของ คุณชมัยภร บางคมบาง (แสงกระจ่าง) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี ๒๕๕๗ ในวันสุนทรภู่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ เป็นเวทีย่อย ๆ ให้นักวิชาการ ๒ ท่านวิจารณ์เรื่อง "พระอภัยมณี"

รองศาสตราจารย์ ดร.ทิพา เทพอัครพงศ์ อดีตรองคณบดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิจารณ์อย่างสั้น ๆ ว่า

"สุนทรภู่แต่งเพราะ แต่เรื่องพระอภัยมณีเนื้อหาห่วยมาก ๆๆ"

คุณหรินทร์ สุขวัจน์ อดีตบรรณาธิการอำนวยการนิตยสาร "ถนนหนังสือ" ตอบว่า

"พระอภัยมณีไม่ใช่เรื่องอ่านเล่นหรือเป็นของสูง  แต่เป็นเสมือนคำประกาศขัดขืนต่ออำนาจจักรวรรดิอังกฤษจักรวรรดิฝรั่งเศสที่กำลังกลืนอุษาคเนย์ของกวี  เป็นการขัดขืนอย่างสันติอริยะด้วยกุศโลบายและสุนทรียรสของเพลงขลุ่ย

สุนทรภู่เป็นปัญญาชนคนชั้นนำในกรุง ลี้ราชภัยลงใต้ครั้งพลัดแผ่นดิน ศึกษาภูมิศาสตร์และการเมืองยุคอาณานิคม แล้วจินตนาสรุปสถานการณ์และหนทาง ถ่ายทอดออกมาเป็นวรรณกรรมตามจริตและวิธีการของท่าน อย่างงดงามและแยบยล  

เสียดายที่ระบบการศึกษาไทยไม่เข้าใจและไม่ต้องการเข้าใจ  รวมทั้งคนจำนวนหนึ่งก็เข้าไม่ถึงอัจฉริยภาพของท่าน น่าเสียดายแต่ไม่เป็นไร  คนรุ่นใหม่ฉลาดพอที่จะค้นคว้าทำความเข้าใจอดีต และพวกเขา/เธอจะไม่รอจนคนรุ่นต่อไปมาชำระระบบที่ล้าหลังอีกต่อไป"


ก็เป็นไปตามที่ท่าน ฟ. ฮีแลร์ ว่าไว้

"สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม  คนหนึ่งตาแหลมคม เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย" ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
ทิพยุทธ
อสุรผัด
*
ตอบ: 28


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 09 ก.ค. 23, 18:41

ผมเคยเข้ามาในห้องนี้เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วครั้งแรก​   ด้วยความบังเอิญท่องเวบไปเรื่อยๆแล้วเข้ามา​ ด้วยความที่ไม่เคยมีความรู้อะไรเลยสักอย่าง​ สมัยเรียนก็เกเรไม่เคยอ่านหนังสือสอบ​ สอบได้ที่โหล่ตลอด​ ซึ่งสวนทางกับความวิชาการของเนื้อหาในห้องนี้​ ผมบอกเลยว่าผีผลักผมแน่ๆ​ แต่มีท่านนึง​ อ่านกลอนบทนึงให้ผมฟัง​ และผมก็จำจนขึ้นใจมาจวบจนทุกวันนี้
  
อันความรู้ๆกระจ่างแต่อย่างเดียว​ ขอให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล​ อาจจะชักเชิดชูฟูสกนธิ์  ถึงยากจนพงไพร่คงได้ดี...


ผิดถูกขออภัยนะครับ​ และขอขอบพระคุณท่านผู้นั้นที่ชี้นำให้ผมเริ่มสนใจเรื่องราวต่างๆ​ จากที่เรียนก็เรียนไปตามเขา​ แต่พอเรื่องราวประวัติใกล้ๆตัวผมกลับพยายามชอบที่จะถามพ่อแม่ปู่ย่าตายาย​ อาจไม่ตรงตำรา​ แต่ว่าพวกท่านก็เติบโตมากับเหตุการณ์สำคัญๆในแต่ละยุค​ ตั้งแต่สงครามเชียงตุงรุ่นคุณปู่คุณตา​ รุ่นพ่อแม่มาก็วิ่งหนีกระสุน​กันอยู่ตอน14ตุลา​ จากที่เป็นคนไม่เอาอะไรสักอย่าง​ กลับเหมือนได้ใกล้ชิดกับครอบครัวมากขึ้น​ จากที่เคยหนีออกจากบ้านเพราะเบื่อที่ถูกกดดันเรื่องเรียน​ ตอนนี้กลับเป็นฝ่ายวิ่งไปถามเขาตลอดเวลาที่สงสัยอะไรในเหตุการณ์ที่ผ่านๆมาตอนที่ผมยังไม่เกิด​ ขอบพระคุณครับทุกๆท่าน
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.072 วินาที กับ 20 คำสั่ง