เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 13529 26 มิถุนายน วันสุนทรภู่
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
 เมื่อ 26 มิ.ย. 07, 11:04

สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย      ลอยสินธุ์
ปวงปุปผะภุมรินรื่นเคล้า
สุนทรภู่ครูวิญ-ญูปราชญ์ ราชเอย
คือรัตนะประดับด้าว แหล่งหล้าพสุธากวี
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 26 มิ.ย. 07, 12:33

          กำลังร่างกระทู้รำลึกสุนทรภู่ แต่ไม่ทันคุณ CHO เสียแล้ว

         มองย้อนกลับไปในความทรงจำ จำความได้ว่ารู้จัก "มหากวี ศรีรัตนโกสินทร์" เมื่อตอนชั้นประถม
เรียนเรื่อง พระอภัยมณี จับความตั้งแต่ต้นเรื่อง จนถึงพระอภัยฯ ถูกนางผีเสื้อสมุทรลักพาตัว
         ตอนนั้นต้องท่องกลอนตอนนี้ว่า 

         ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย          ยังไม่เคยชมชิดพิสมัย
         ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย                   จะชื่นใจเหมือนสตรีไมีมีเลย

         อีกตอนหนึ่งซึ่งครูข้ามไปไม่สอน แต่นักเรียนได้อ่าน(อย่างไม่รู้เรื่อง) คือตอนนี้ที่ว่า

         เกิดกุลาคว้าว่าวปักเป้าติด                       กระแซะชิดขากบกระทบเหนียง
         กุลาส่ายย้ายหนีตีแก้เอียง                        ปักเป้าเหวี่ยงยักกะแผละกระแซะชิด
         กุลาโคลงไม่สู้คล่องกระพร่องกระแพร่ง         ปักเป้าแทงแต่ละทีไม่มีผิด
         จะแก้ไขก็ไม่หลุดสุดความคิด                   ประกบติดตกผางลงกลางดิน

        พอโตขึ้นมาก็ได้รู้จักท่านมากขึ้นจากหนังสือ ประวัติสุนทรภู่ ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช
ภาพประกอบวาดโดย เหม เวชกร  และจากสำนักพิมพ์นี้เช่นกัน ได้อ่านเรื่อง ลักษณวงศ์ เล่าโดย
นายตำรา ณ เมืองใต้ ภาพประกอบโดย จักรพันธุ์ โปษยกฤต (ยามนั้นครูเหม ท่านจากไปแล้ว)

        ประทับใจจำหนักหนาตอนฆ่าพราหมณ์

           เปิดพระโกศมิ่งมิตรพิศพักตร์                โศกสลักทรวงในฤทัยหมอง 
           สะอื้นอ้อนกรกอดพระโกศทอง               ชลเนตรตกต้องพระปรางนาง

จากการค้นหา ทำให้ได้รับทราบว่า

           และในครั้งที่พระนางเจ้าสุนันทาสิ้นพระชนม์ลง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทุกข์ระทมอย่างที่สุด
ทรงเสด็จหอธรรมสังเวชทุกวันเพื่อเยี่ยมพระศพ และทรงถึงกับเปิดพระโกศทอดพระเนตรพระศพพระนางเจ้าสุนันทาอยู่เนือง
           เล่ากันว่า "คุณแพ" (-หม่อมห้ามคู่บารมีมาแต่แรก-) อาจไม่พอใจจึงแกล้งให้ข้าหลวงในตำหนักของท่าน
เล่นละครเรื่อง ลักษณวงศ์ เลือกบทตอนพระลักษณวงศ์เปิดพระโกศนางทิพเกษร หมู่ข้าหลวงราชวังจึงร้องเพลงในตอนนั้น
บทนั้นกันลั่นไป
          พระบาทสวมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วนัก รับสั่งห้ามเด็ดขาดมิให้ผู้ใดร้องเพลงนี้อีกสืบไป

จากหนังสือ   นางอันเป็นที่รักในพระพุทธเจ้าหลวง
เรียบเรียงโดย ฉัตรเฉลิม


           ขึ้นมัธยมได้อ่านงานนิราศ
 
                                                 โอ้อาลัยใจหายไม่วายหวง         
ดังศรศักดิ์ปักซ้ำระกำทรวง                    เสียดายดวงจันทราพะงางาม
เจ้าคุมแค้นแสนโกรธพิโรธพี่                  แต่เดือนยี่จนย่างเข้าเดือนสาม
จนพระหน่อสุริยวงศ์ทรงพระนาม              จากอารามแรมร้างทางกันดาร
ด้วยเรียมรองมุลิกาเป็นข้าบาท                จำนิราศร้างนุชสุดสงสาร
ตามเสด็จโดยแดนแสนกันดาร                นมัสการรอยบาทพระศาสดา

                                                                    จากนิราศพระบาท
 
       และ เมื่อเรียนสูงขึ้นไปอีก ก็อ่านนิราศที่ท่านแต่งเมื่อท่านอาวุโสสูงขึ้น
             
ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด                    คิดถึงบาทบพิตรอดิศร
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร            แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น

                                                                      จากนิราศภูเขาทอง
   
        เมื่อก้าวพ้นจากโรงเรียน ไม่ได้เรียนงานของท่านอีก แต่ด้วยความประทับใจในนิราศของท่าน
จึงไปหาซื้อหนังสือรวมนิราศของท่านมาเก็บไว้อ่านเป็นครั้งคราว....
   
                         
บันทึกการเข้า
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 28 มิ.ย. 07, 19:30

ผมถึงจะไม่สันทัดในด้านกลอนนัก  แต่ก็มีกลอนของท่านติดอยู่ในความทรงจำมิเคยลืม  แม้วันเวลาจะผ่านไปเท่าไร  เช่น
ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง                           มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา                         ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ                            สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย                                ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป
ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก                         สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป                             แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ
                                                                             จากนิราศพระบาท
และยังมีกลอนที่แสนจะคลาสสิค  ที่ยังตราตรึงยากจะลืมเลือน  เช่นตอนที่พระอภัยมณีเกี้ยวนางละเวง  บทเพลงหลายเพลงก็เอาไปประกอบด้วย

ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร                              ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
ถึงอยู่ในใต้ฟ้าสุธาธาร                                    ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ                            พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม่เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา                                  เชยผกาโกสุมประทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่                                  เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง
จะติดตามทรามสงวนนวลละออง                       เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป

นี่กระมังคือความเป็นอมตะ  ที่เป็นสมบัติของไทยเราและของโลก  เป็นสิ่งที่ไม่มีวันตายไป  ด้วยความซาบซึ้งทุกครั้งที่ได้ขับลำนำเหล่านี้........ ยิ้ม
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 01 ก.ค. 07, 09:28

           เพลง คำมั่นสัญญา จากพระอภัยมณีที่มีต่อนางละเวง ใส่ทำนองโดยครูสุรพล แสงเอก 

       ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร             ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน

ถึงอยู่ในใต้ฟ้าสุธาธาร                         ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา

       แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ           พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา

แม่(น้อง)เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา               เชยผกาโกสุมประทุมทอง

        เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่                เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง
(เนื้อเพลงเป็น --
     แม้นเป็นถ้ำอำไพใคร่เป็นหงส์            จะร่อนลงสิงสู่เป็นคู่สอง - คล้ายกับ                                                                                           
     แม้นเป็นถ้ำน้ำใจใคร่เป็นหงส์            จะได้ลงสิงสู่ในคูหา   จาก  นิราศพระประธม)

จะ(ขอ)ติดตามทรามสงวนนวลละออง        เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป

บันทึกการเข้า
ศศิศ
พาลี
****
ตอบ: 326


อหังการ์ ล้านนาประเทศ


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 04 ก.ค. 07, 19:29

เอาสิ่งเล็กสิ่งน้อยที่มาจากงานของท่านมาฝาก

แต่เมื่อขึ้นมาถึงเมืองเหนือแล้ว กลายเป็นค่าว และธรรมชาดกนอกนิบาต เรื่อง อภัยมณีชาดก

“อภัยมณีชาดก” มีที่มาดังนี้

ในสมัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ นั้นก็มีการติดต่อกับทางราชสำนักของกรุงเทพฯมากขึ้น ก่อนจะมีการจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล การไปมาหาสู่กันก็มีมาเสมอ ครั้งหนึ่ง แม่เจ้าทิพเกสร ซึ่งเป็นเจ้าแม่ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้ลงไปทางเมืองกอก ก็นิยมชมชอบนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี ของรัตนกวีสุนทรภู่ จึงนำเรื่องนี้กลับมา และมอบหมายให้ “พญาพรหมโวหาร” แต่งเป็น “คร่าวซอ” (อ่านว่า ค่าว-ซอ) อันเป็นรูปแบบของกวีนิพนธ์ชนิดหนึ่งของล้านนา แต่งไว้เมื่อ จุลศักราช ๑๒๓๙ ปี เมืองเป้า หรือปีฉลู นพศก พุทธศักราช ๒๔๒๐ ดังคร่าวบทนำว่าไว้ว่า


“ปฐมะ มูละกถา ฟังเทอะน้อง บ่ต้องปุจฉา
…… ……… จักพรรณา แต่เค้าเบื้องเบ้า
เอากถา พระจันทราเข้า มาตกแต่งทำ ไค้ค้อน
คณะอันไหน คือไฟอันร้อน บ่เอาแต่งสร้าง เป็นมูล
คณะอันร้าย บ่หื้อมาสูน เมื่อแปงทำทูล พระคุณเหนือเกล้า
องค์เสวย ธานีบ่เศร้า เป็นเงางำ นวระ
เป็นจิกจอม เมืองพิงนพพะ ปราสาทกว้าง บวร
ทังองค์ทรงยศ ทิพพเกสร จอมธานี เทวีแม่เจ้า
บ่หื้อโสกา โรคาแฝงเฝ้า ในกาโยเงา วระ
อิทธิมันโต เตโชชนะ อำนาจป้อง บุรี
เอาคณะ จันทะเรืองศรี แปงวาทีแรกเค้า ทำสร้าง
ชุติมันโต รุ่งเรืองเอกอ้าง ตนทรงบุญ เรืองรส
วัณณวันโต มีวรรณและยศ ลือเลิศด้วย สมพาร
หื้ออยู่วุฒิ จำเริญสันฐาน รุ่งเรืองบาน บ่ผานโศกเศร้า
หื้อสุขเกษม ร่มเย็นเป็นเจ้า ตราบเนานาน เนิ่นช้า
เอาคณา พระจันทร์ส่องฟ้า มาตกแต่งสร้าง วาทา
หลอนมีผู้ทัก ผู้โจษถามหา ว่าคนใดชา ริร่ำทำสร้าง
อภัยมณี เรื่องราวคร่าวกว้าง กลอนคำวอน เรื่องนี้
อายุสังขาร ประมาณกล่าวชี้ สักมอกอั้น เพียงใด
นามประเทศ อยู่เขตแดนไหน ปัจฉิมัย ไถงฟ้าต้อง
หนบุพพา ทักษิณาห้อง ฤๅหนอุดร ฝ่ายซ้อย
จักเป็นขนาน ฤๅบัณฑิตน้อย ผู้แปงกาพย์สร้อย ซอใย
จงใฝ่รู้ ชื่อนามไฉน เป็นคนใด แน่แท้ทำสร้าง
อัตนา บ่จาอวดอ้าง การใคร่ยิน ใคร่รู้...”


ค่าวบทนำนี้ ปริวรรตโดย พระครูอดุลสีลกิตติ์ วัดธาตุคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รู้สึกว่า พญาพรหมโวหารจะแต่งไม่จบ ท่านได้สิ้นไปเสียก่อน

หลังจากนั้น ก็นำ “คร่าวซอพระอภัยมณี” ของพญาพรหมโวหารเป็นแบบอย่างในการนำมาแต่งเป็น “ชาดก” ซึ่งในใบลานก็ไม่ได้ระบุว่า ใครเป็นคนที่แต่งในรูปแบบของชาดก แต่คัดลอกกันมาอยู่สองสำนวน แต่รายละเอียดเหมือนกันทั้งหมด มีอยู่ ๑๒ – ๒๔ ผูก เช่นที่วัดบ้านเอื้อม จ.ลำปาง เป็นต้น

การแต่งเป็นชาดก ก็อาศัย รูปแบบ (Form) เดียวกับชาดกทั่วไป ที่มี สาเหตุการเล่าชาดก เนื้อความชาดก อันเป็นอดีตชาติของพระโพธิสัตว์ และสุดท้ายย่อมมีการประชุมชาดก

เรื่องนี้เริ่มจากที่พระสงฆ์ต่าง ๆ พูดคุยถึงการพลัดที่นาคลาที่อยู่ ทำให้พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า พระองค์ก็เคยพลัดพรากจากบ้านจากเมืองด้วยเช่นกัน จึงเล่าเรื่อง อภัยมณีชาดกนี้ขึ้นมา

ส่วนเรื่องชื่อ ก็มีแตกต่างกันไปอีก บ้างก็ว่า อภัยมณีชาดก หรือ อภัยมณีสรีสุวัณณ์ชาดก ด้วยพระเอกของเรื่องหรือองค์โพธิสัตว์นั้น ไม่ใช่พระอภัยมณี หากแต่เป็น “สรีสุวัณณ์” ส่วนฝ่ายหญิงคือนาง เกสสรา ส่วนตัวร้ายก็คือ ท้าวอุเทน

เนื้อเรื่องก็มีการตัดทอนและปรับเปลี่ยนบ้างเล็กน้อย ด้วยเรื่องเดิมนั้นยาวและมีตัวละครมาก เมื่อนำมาเล่าเป็นชาดก จึงมีการปรับเพื่อให้เข้ากับรูปแบบของชาดกด้วย ซึ่งจะเล่าถึงต้นเรื่องจากเมืองรัตนา เหมือนของสุนทรภู่ทุกประการ จวบจนพระอภัยมณีถูกนางผีเสื้อสมุทรลักพาตัวไป จากนั้นก็จะกล่าวถึงสรีสุวัณณ์โดยเฉพาะที่ตามหาพระอภัยมณี จนเข้าไปในเมืองพบกับนางเกสสรา ซึ่งประสบปัญหาว่า ท้าวอุเทนจะมารบชิงเอาตัวไป สรีสุวัณณ์จึงเข้ารบและช่วยเหลือบ้านเมืองนางเกสสราให้รอดพ้นจากอันตรายได้ และสุดท้ายก็รับเอาพี่ชายคือพระอภัยมณีพร้อมกับหลานชื่อสิงสมุด มาอยู่ด้วย

ในเรื่อง ชื่อบางชื่อก็เปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อย อย่างลูกของพระอภัยมณีกับนางผีเสื้อสมุทร จากสินสมุทร ก็เป็น สิงสมุด เป็นต้น และมีอีกหลายชื่อที่มีการปรับเปลี่ยน (ด้วยตอนนี้หนังสือไม่ได้อยู่ใกล้มือ)

จากนี้จะเห็นว่า การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของสองดินแดน อยู่ตลอดมาทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และนับว่าเป็นการดีมากที่มีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมจากภายนอกที่รับมานั้นให้เข้ากันกับท้องถิ่น หรือที่เรียกวันว่า Localization และผมว่าปัจจุบันที่มีปัญหามากก็มาจากขาดการทำให้เป็นท้องถิ่นนี้เช่นกัน และเรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างอันดีอีกอย่างหนึ่ง
บันทึกการเข้า

- ศศิศ -
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 20 ก.ค. 07, 13:29

     ผู้ที่อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ สุนทรภู่ คงผ่านตาหรือคุ้นเคยกับนาม  อ. ล้อม เพ็งแก้ว

วันนี้เปิดหน้าเว็บ นสพ. มติชน มีข่าวอาจารย์ จึงนำมาแสดงสำหรับผู้สนใจครับ

ล้อม เพ็งแก้ว นักปราชญ์สามัญชนชาวสยาม

คอลัมน์ สยามประเทศไทย โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

               แดกด่วน เป็นคำไทยที่อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ผูกขึ้นนานหลายปีแล้ว อาจเกิน 20 ปี ต่อมาอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์
ยกย่องไปเผยแพร่เพราะถูกอกถูกใจ นับแต่นั้นก็ใช้กันทั่วไปจนแพร่หลายกว้างขวางมาก
พจนานุกรมมติชนเลยเก็บคำนี้ไว้แล้วอธิบายว่า

            (สแลง) น. อาหารสำเร็จรูปที่รับประทานได้ทันที เช่น แฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด แซนด์วิช ฯลฯ (อ. fast-food).

          คนทั่วไปเข้าใจว่าอาจารย์ล้อมเป็นคนเพชรบุรี เลยยกย่องเป็นปราชญ์เมืองเพชรบุรีไปเลยก็มี แต่แท้จริงอาจารย์ล้อม
เกิดและเติบโตที่จังหวัดพัทลุง แต่รับราชการเป็น "ครู" ไปที่ต่างๆ ตามแต่นายจะให้ย้ายไปบุกเบิกที่ไหน สถาบันที่ไปบุกเบิก
ตั้งแต่ยังไม่เป็นตัวเป็นตนคือมหาวิทยาลัยในจังหวัดมหาสารคาม แล้วถึงถูกย้ายไปอยู่สถาบันจังหวัดเพชรบุรี จนลงหลักปักฐาน
มั่นคงที่นี่แล้วกลายเป็นคนเพชรบุรีตามคำยกย่องของคนอื่นๆ ที่เคารพนับถืออาจารย์ล้อม

               แท้จริงแล้ว "ล้อม เพ็งแก้ว" คือนามที่รู้ทั่วกันว่าเป็นนักปราชญ์สามัญชนชาวสยาม และเป็นที่รู้จักของนักปราชญ์
นานาชาติชาวสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ ว่าเป็นผู้ทรงภูมิวิทยาทาง "ศิลปศาสตร์" คือความรู้ทั้งมวลที่เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์
อย่างแท้จริงของยุคนี้
              อาจารย์ล้อมมีพื้นทางคณิต-วิทยาศาสตร์ แต่ศึกษาหาความรู้จากประสบการณ์ด้วยตนเองจนเป็นปราชญ์ทางศิลปศาสตร์
ที่ระบบการศึกษาไทยไม่เอาใจใส่ ทำให้ผู้คนขาดจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ผู้ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและคนอื่น

               หนังสือเล่มล่าสุดชื่ออาจารย์เป้า วัดพระทรง (พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2548) เป็นงานของอาจารย์ล้อม รวบรวมประวัติและ
งานฝีมือช่างของอาจารย์เป้าเมืองเพชรบุรี ที่อาร์ติสต์ร่วมสมัยทั่วไปไม่รู้จักแล้ว ต้องถือว่าใช้ความพยายามสูงมาก แล้วต้อง
มีพื้นทางศิลปศาสตร์กว้างขวาง ทั้งประวัติศาสตร์โบราณคดีและช่างสิบหมู่ ถึงจะทำสำเร็จและสมบูรณ์ได้ขนาดนี้
ผู้สนใจให้ไต่ถามซื้อหาได้ที่บริษัทเพชรภูมิการพิมพ์ จังหวัดเมืองเพชรบุรี โทรศัพท์ 0-3241-7031-2, 0-3242-5310
โทรสาร 0-3242-4145

          แต่ข้อเขียนล่าสุดของอาจารย์ล้อมเรื่องเรียนรู้อย่างไทย บอกเล่าการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงตั้งแต่ก่อนเกิด
จนเกิดแล้วเติบโตมาในท้องที่กันดาร จังหวัดพัทลุง ล้วนเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น, ประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมของสยามประเทศ
ที่เต็มไปด้วยความรู้ทางมานุษยวิทยา.....
               เรียนรู้อย่างไทย เป็นหัวข้อปาฐกถาเกียรติยศที่อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว จะไปแสดงเนื่องในโอกาสที่ได้รับพระราชทานปริญญา
ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปี พ.ศ. 2550

           ปาฐกถาเกียรติยศเรื่องเรียนรู้อย่างไทย โดย ล้อม เพ็งแก้ว จะมีที่ท้องพระโรงวังท่าพระ (หอศิลป์) มหาวิทยาลัยศิลปากร
ในวันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม 2550 เริ่มตั้งแต่ 13.00 น.เป็นต้นไป มีเอกสารเรียนรู้อย่างไทยฉบับเต็มพิมพ์แจกด้วย
ขอรับรองว่าอ่านอร่อย ยิ่งกว่าแดกด่วน

บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 20 ก.ค. 07, 13:44


        และได้หาพบบทความจากปาฐกถาที่ต้องการอ่านอยู่ จึงนำมาแสดงสำหรับผู้สนใจ ยังไม่ได้อ่าน ครับ

              ‘สุนทรภู่ มหากวีกระฎุมพี’

ปาฐกถาโดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในงานทอดผ้าป่าวรรณคดี สมทบทุนแต่งบ้านมหากวี ‘กระฎุมพี’ สุนทรภู่ ณ วัดเทพธิดาราม
เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายนที่ผ่านมา (๒๕๔๙)

 
                  ประเด็นที่ผมต้องการจะพูดในวันนี้มี ๒-๓ ประเด็นด้วยกัน
         ประการแรก คือ สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความแตกต่างจากกวีที่เคยมีมาก่อนในสมัยอยุธยา เราไม่สามารถนำท่าน
ไปเปรียบเทียบกับกวีในสมัยอยุธยาได้เลยสักคนเดียว
        ประเด็นที่ ๒ สุนทรภู่เป็นกวีที่เกิดในกรุงเทพฯ ซึ่งต่างจากอยุธยามากทีเดียว เพราะกรุงเทพฯ มีชนชั้นกระฎุุมพี

                   กระฎุมพี คือ พวกที่ไม่ได้มีฐานอำนาจหรือฐานผลประโยชน์จากการปกครอง หรือการเกษตรกรรม หรือล่องแพ
เป็นพวกที่ได้ประโยชน์จากการค้าซึ่งไม่ได้มีอยู่แต่ในเฉพาะกรุงเทพฯ แต่มีอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น อยุธยา
คือมีการเกี่ยวข้องกับการค้า คนพวกนี้ไม่ได้มีอาชีพทำนาปลูกข้าวกินเอง เมื่อซื้อข้าวก็ทำให้ชาวนาปลูกข้าวให้เหลือพอที่จะขาย
         พูดง่ายๆ ก็คือว่า สังคมกรุงเทพฯ มีกลุ่มคนที่ไม่ได้ผลิตข้าวเอง แต่ต้องทำการค้าขายแล้วเอาเงินไปซื้อข้าวปลามาบริโภค
ตลอดจนเสื้อผ้าอาภรณ์

          จำนวนของกระฎุมพีมีไม่มาก แต่คนเหล่านี้เข้ามาครอบงำรสนิยม ครอบงำวัฒนธรรม สุนทรภู่รับราชการอยู่ในวังระยะสั้นมาก
พอรัชกาลที่ ๒ สวรรคตแล้ว ท่านก็ออกมาอยู่ข้างนอก สุนทรภู่ไม่ใช่กวีราชสำนัก ซึ่งที่ผ่านมากวีที่ไม่ใช่กวีราชสำนักนั้นไม่มี
ที่เราใช้เรียก ก็อาจจะมีกวีชาวบ้านซึ่งไม่ได้มีชื่อเสียง
        สุนทรภู่ไม่ได้ทำงานรับใช้ราชสำนัก แต่ท่านมีตลาดของท่าน อย่างไรก็ตามคนที่อ่านงานสุนทรภู่ไม่ใช่แบบเดิม แต่เป็นกลุ่ม
ที่ทำการค้า มีการศึกษาอยู่พอสมควร ไม่มากนัก และหลังสุนทรภู่ เราก็พบกวีที่มีลักษณะรับใช้ตลาดมากขึ้น
        แต่ในฐานะที่ท่านเป็นคนแรก ผมคิดว่าท่านเป็นมหากวีคนแรก ในบรรดากวีที่รับใช้กระฎุมพีด้วยกันแล้วไม่มีใครผลิตงาน
ได้มากเท่ากับสุนทรภู่ อะไรบ้างที่เป็นความแตกต่างจากกวีคนอื่นๆ

                ประการแรก ท่านใช้รูปแบบที่ต่างจากที่เคยใช้ นั่นคือกลอนตลาด เป็นกลอนที่พบตั้งแต่ปลายอยุธยาเท่านั้น
คือเป็นคำประพันธ์ที่เพิ่งแต่งขึ้นมาในภาษาไทย เป็นการเลือกเอาคำประพันธ์ที่ค่อนข้างใหม่เป็นชาวบ้าน
        แบบฟอร์มของสิ่งที่ท่านแต่งก็ค่อนข้างใหม่ นิราศเป็นตัวอย่าง
        ถามว่าก่อนหน้าสุนทรภู่ขึ้นไปในสมัยอยุธยามีไหม มี แต่เขาไม่เรียกตัวเองว่าเป็นนิราศ สุนทรภู่เป็นคนแรกๆ ที่สร้างลักษณะ
เฉพาะของกวีนิพนธ์ที่เรียกว่าเป็นนิราศ ส่วนหนึ่งก็คือการรำพันถึงการจากไป รำพันถึงผู้หญิงที่จากไป แต่น่าประหลาดว่าเท่าที่พบ
ก็คือ สุนทรภู่รำพันถึงผู้หญิงที่มีตัวตนจริงๆ
        อย่างเกษียรสมุทรนั้นเป็นนิราศ แต่มีผู้หญิงคนที่ว่านั้นอยู่จริงๆ หรือไม่ ไม่รู้ แต่เป็นประเพณีว่า เมื่อแต่งนิราศแล้วต้องรำพัน
ถึงผู้หญิง แต่สุนทรภู่ซึ่งรำพันถึงผู้หญิงนั้นมีตัวตนจริง และบรรยายถึงลักษณะความสัมพันธ์ด้วย
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 20 ก.ค. 07, 13:59


         อย่างหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากๆ ก็คือนิทานกลอน ก่อนหน้านั้นไม่มี สุนทรภู่ทำให้นิทานกลอนแพร่หลายมาก
วิธีเล่านิยายในวรรณคดีไทยก่อนหน้านั้นไปเล่าโดยผ่านกลอนบทละคร หรือมิฉะนั้นก็เล่าแบบสมุทรโฆษ
        ท่านไม่ได้เป็นคนแรก แต่ท่านทำให้แพร่หลาย มันแตกต่างกันอย่างไร

         เนื้อร้องเพลงไทยที่นิยมเอามาร้องกันที่เป็นบทประพันธ์สุนทรภู่นั้น มีบ้างหรือไม่ คำตอบคือมี แต่น้อยมาก
ผมนึกถึงเหตุผล ก็คือสุนทรภู่เป็นคนแรกๆ ที่เขียนกลอนโดยไม่ได้นึกถึงทำนอง ก่อนหน้านั้น มักจะมีการนึกถึงทำนอง
นึกถึงหน้าพาทย์ด้วยซ้ำไป
        กวีไทยก่อนหน้านี้จะนึกถึงเพลง นึกถึงทำนองด้วย สุนทรภู่จึงเป็นคนแรกๆ ที่ไม่มีเพลง สุนทรภู่จึงเป็นกวีคนแรกๆ
ที่เขียนหนังสือเพื่ออ่าน
        ก่อนหน้านั้น เขาเขียนเพื่อเอาไปแสดง เขียนดุษฎีกล่อมช้าง เพื่อกล่อมช้าง เป็นต้น สุนทรภู่เป็นกวีคนแรกๆ เป็นคนที่
เขียนกวีเพื่ออ่าน
        ทุกวันนี้ เราอ่านเพื่ออ่าน เราใช้ประสาทในการรับรับรู้เพื่ออ่านอย่างหนึ่ง ใช้ประสาทในการรับรู้เพื่อการแสดงอย่างหนึ่ง
สุนทรภู่เป็นผู้ที่เสนอกวีนิพนธ์ให้กับคนอ่านเพื่ออ่าน นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก
        คนอ่านกวีนิพนธ์สุนทรภู่ อาจจะมีเจ้านายหลายพระองค์อุปถัมภ์สุนทรภู่อยู่นาน บางองค์ก็โปรดมาก เช่น
กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ที่โปรดพระอภัยมณี แต่คนที่อ่านงานของสุนทรภู่มีเยอะแยะกว่า ฉะนั้น ลูกค้าของท่านไม่ใช่แค่
ผู้อุปถัมภ์เพียงอย่างเดียว แต่คือคนจำนวนมากที่เรียกว่ากระฎุมพี

                  มาดูที่เนื้อหา สุนทรภู่แตกต่างจากก่อนหน้านั้นอย่างไร ผมคิดว่า สุนทรภู่เป็นกวีที่ค่อนข้างแตกต่าง
คือท่านสร้างตัวละครในลักษณะที่สมจริง ถ้าเราอ่านพระภัยมณี ตัวพระอภัยมณีเป็นคนที่มีความเป็นมนุษย์ ถ้าเราเปลี่ยนมา
เป็นละครทีวีสมัยปัจจุบัน เราจะพบว่าพระอภัยมณีมีที่ลักษณะทั้งอ่อนแอและเข้มแข็ง มีความเป็นมนุษย์ และ
ตัวละครของสุนทรภู่ไม่เหมือนกับตัวละครก่อนหน้านั้น

        สุนทรภู่มีลักษณะของกระฎุมพี ค่อนข้างจะเหยียดหยามไสยศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไสยศาสตร์ของชาวบ้าน
แม้ท่านจะเล่นแร่แปรธาตุ แต่ก็เป็นไสยศาสตร์แบบตำรับตำรา แต่ไสยศาสตร์ฉบับชาวบ้าน เช่น เมื่อท่านไปเมืองแกลง
เกิดเจ็บมือขึ้นมา ก็มีคนบอกว่า ท่านไปเก็บดอกไม้ไม่บอกเจ้าป่าเจ้าเขา จึงให้หมอผีมาเป่า แล้วก็หาย แต่ท่านก็ไม่เชื่อ
        ในขณะเดียวกันที่ให้ความสำคัญกับศาสนา แต่ท่านค่อนข้างให้ความสำคัญกับศาสนาแบบสมัยใหม่ ให้ความสำคัญ
กับโลกนี้ เช่น ยอมรับเรื่องความสำคัญของความสุขทางเนื้อหนังมังสา เช่น ตอนพระอภัยมณีบวช หวังพระนิพพาน
พอเห็นนางสุวรรณมาลีก็สึกเลย  หรืออย่างการเล่นเครื่องดนตรี ก็นำไปสู่พระนิพพาน ดังในพระอภัยมณีที่ว่า
        “ถึงการเล่นเป็นที่ประโลมโลก ได้ดับโศกสูญหายทั้งชายหญิง”

                 ในนิราศของท่านพูดถึงความสัมพันธ์กับผู้หญิงมากเสียจนผมสงสัยว่าท่านคุย(โม้) หรือเปล่า
แต่นี่เป็นข้อที่น่าสังเกตว่า ผู้ชายสมัยสุนทรภู่เป็นเพลย์บอยหรือเปล่า แต่สุนทรภู่ไม่อายที่จะเสนอภาพของตัวเอง
ให้มีลักษณะเพลย์บอย
        ผมคิดว่า เราอย่ามองให้กวีลอยอยู่บนสังคม การที่คนนิยมสุนทรภู่ แสดงว่าบุคลิกการเป็นเพลย์บอยได้รับความนิยม
กว้างขวางขึ้นด้วย
 
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 20 ก.ค. 07, 14:08


            ท่านให้ความสำคัญกับกำเนิดสูงไม่เท่าไหร่
        ความสำคัญของกำเนิดถูกตั้งข้อสงสัยในงานของสุนทรภู่เสมอๆ ซึ่งก็ตรงกับรากเหง้าของกระฎุมพี พ่อค้าวาณิชย์
คนเหล่านี้ก็ไม่สามารถยอมรับโดยดุษณีในคุณค่าของกำเนิดของคนอื่นได้ ซึ่งแสดงให้เห็นโครงสร้างทางสังคมที่คลายลงไป
เช่น อาเสี่ยสมัยนั้นยกลูกสาวให้เจ้านายไป เมื่อมีลูกก็กลายเป็นพระองค์เจ้า อาเสี่ยคนนั้นก็กลายเป็นคุณตาของพระองค์เจ้าไปแล้ว
       ผู้อ่านสุนทรภู่เองก็รับทัศนคติแบบเดียวกันในเรื่องทรัพย์และกำเนิด บางครั้งก็ดูแคลนว่ามีแต่ทรัพย์ไม่มีกำเนิด แต่
บางครั้งทรัพย์สำคัญนะ
                 เวลาที่ท่านอธิบายเรื่องบุญเรื่องกรรมก็เป็นเรื่องโลกนี้มากขึ้น เช่น บทละครอภัยนุราช พระเจ้าแผ่นดินไปตัดต้นไม้
ทำให้ศาลเจ้าหรือเทพารักษ์ให้พินาศฉิบหายไป แต่แทนที่พระเจ้าแผ่นดินจะฉิบหายไปทันทีก็เล่าต่อไปว่าพระเจ้าแผ่นดินทำอะไร
ผิดพลาดบ้าง เพื่อสื่อว่า ผลกรรมเกิดจากการกระทำของตัวเอง ไม่ใช่การกระทำที่ไปตัดต้นไม้หรือรื้อศาลเจ้าแต่เพียงอย่างเดียว
แต่เป็นผลของกรรมที่ต่อเนื่องกันมา
         ก่อนหน้านี้ กวีจะเขียนถึงกรรมเป็นเรื่องชาติก่อน สุนทรภู่ทำให้กรรมอยู่ในชาตินี้

                  ถึงแม้จะอธิบายหรือยกย่องศาสนาอย่างไร แต่ท่าทีของสุนทรภู่ต่อพระสงฆ์ค่อนข้างจะผ่อนคลาย ไม่ค่อยเครียด
จะสร้างภาพกับบทอัศจรรย์ เช่น เรื่องพระชัยสุริยา บทอัศจรรย์ ท่านเอาบทอัศจรรย์ของท่าน ท่านพูดเรื่องแผ่นดินไหว ฟ้าผ่า
อะไรก็แล้วแต่ที่เกิดในวัด แล้วท่านก็พูดเรื่องหลวงชี วิธีปฏิบัติต่อพระของท่านเป็นท่าทีสบายๆ แบบชาวบ้านๆ คือนับถือด้วย
แต่ล้อเล่นได้บ้าง
                  อีกประการหนึ่งคือสุนทรภู่เป็นหนึ่งในกวีที่พูดถึงความรักแปลกประหลาดจากที่เคยมีมา ปัจจุบันเราพูดถึงความรัก
เหมือนพูดถึงความจริง มันจริงในแง่หนึ่ง แต่อีกแง่หนึ่ง ความรักเป็นเรื่องวัฒนธรรมด้วย แต่ละยุคจะสอนให้คนรักอย่างไร
แสดงออกต่อความรักอย่างไร ในแต่ละยุคสมัยต่างกัน

        ความรักแบบสุนทรภู่เป็นความรักระหว่างปัจเจกชน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถานะทางสังคมเลย เช่น พระรามกับนางสีดา
เป็นความรักที่เกิดจากการลิขิตของพระเจ้าเลยแหละ นางสีดาเกิดมาเป็นเมียพระรามทุกชาติ พระรามไม่มีทางมีเมียน้อย
เป็นความรักที่ถูกชะตาลิขิตมาแต่ต้น
        เมื่อมาถึงเรื่องอิเหนา อิเหนาเป็นวงศ์อสัญแดหวา เป็นวงศ์กษัตริย์ที่สูงกว่าระตูต่างๆ อิเหนาต้องแต่งงานกับวงศ์อสัญแดหวา
ด้วยกัน คือนางบุษบา แต่อิเหนาผ่านไปเจอนางจินตะหราเสียก่อน ก็เห็นแต่นางจินตะหรา ไม่มองนางบุษบาเลย แม้อิเหนารู้ว่า
พ่อแม่ไม่ให้แต่ง นี่เป็นความรักเป็นการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล ไม่สัมพันธ์กับสถานะทางสังคม ของอิเหนาหรือจินตะหราเลย
ความรักแบบนี้แหละที่ปรากฏในงานของสุนทรภู่
        ไม่มีการอธิบายถึงความเหมาะสมทางเศรษฐกิจทางสังคม เป็นความรักที่เอกบุคคลมีต่อเอกบุคคล
         ถ้าสุนทรภู่เขียนในสมัยอยุธยาคนอยุธยาก็คงอ่านแล้วทิ้งไปเพราะอ่านไม่รู้เรื่องพระอภัยมณีกับนางละเวง จะไปรักกันได้อย่างไร
ความรักแบบผิดฝาผิดตัวที่นั่งฟูมฟายกันอยู่ทุกวันนี้ เช่น คู่กรรม สืบสาวไปก็เริ่มมาจากสมัยของสุนทรภู่

                    สุนทรภู่เหมือนกระฎุมพีทั่วไปในแง่ที่เหยียดหยามวัฒนธรรมไพร่ กระฎุมพีของสังคมไทยไม่ได้เกิดในระบบ
แต่แทรกอยู่ในระบบพวกนี้ จึงมองไพร่หรือมองชาวบ้านธรรมดาๆ อย่างเหยียดหยาม
        เมื่อไหร่ที่เป็นผู้หญิงไพร่ชาวไร่ชาวนา จะบรรยายว่า ขี้ไคลกลบหู ต่างกับการพูดถึงเมียเจ๊ก เดินทางไปทางไหนท่านก็จะพูดถึง
อย่างสนุกสนาน เยาะเย้ยนิดๆ แต่ไม่ถึงกับเหยียดหยามแบบเวลาที่พูดถึงชาวไร่ชาวนา ทัศนคติแบบนี้เป็นรสนิยมกระฎุมพีชัดๆ เลย

                   สุนทรภู่ได้รับความนิยมจากชนชั้นกลางสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้อย่างไม่เสื่อมคลาย ในขณะเดียวกันงานของสุนทรภู่
ไม่ได้ถูกพิมพ์โดยเครื่องพิมพ์สมัยใหม่แต่งานของสุนทรภู่ช่วยเลี้ยงให้โรงพิมพ์แบบสมัยใหม่อยู่ได้ เพราะเอางานของสุนทรภู่มา
พิมพ์ขาย คือถ้าไม่มีงานแบบสุนทรภู่ก็ไม่รู้จะเอางานที่ไหนมาพิมพ์ขาย และส่งผลให้เกิดโรงพิมพ์ของคนจีนต่อมา

        หลังจากนั้นก็อย่างที่รู้กันอยู่ งานของสุนทรภู่ก็ถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในแบบเรียน ปฏิเสธไม่ได้เรื่องคุณภาพ แต่ที่ไม่ถูกลืม
เพราะสุนทรภู่สร้างงานที่สอดคล้องกับรสนิยมของกระฎุมพี
        เพราะนับสืบมาถึงทุกวันนี้ วัฒนธรรมที่สืบมาคือวัฒนธรรมของคนชั้นกลาง ซึ่งถูกสร้างโดยวัฒนธรรมต่างชาติ ผนวกกับ
วัฒนธรรมเจ้านาย บวกกับวัฒนธรรมชาวบ้าน กลายเป็นวัฒนธรรมแห่งชาติ
        งานของสุนทรภู่เป็นวัฒนธรรมเดียวกับวัฒนธรรมแบบนี้  ทำให้งานของท่านไม่ตาย

ประชาไท ๒๖ มิ.ย. ๔๙
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 20 ก.ค. 07, 14:45

ขอค้านอ.นิธิบางประเด็น
"เวลาที่ท่านอธิบายเรื่องบุญเรื่องกรรมก็เป็นเรื่องโลกนี้มากขึ้น เช่น บทละครอภัยนุราช พระเจ้าแผ่นดินไปตัดต้นไม้
ทำให้ศาลเจ้าหรือเทพารักษ์ให้พินาศฉิบหายไป แต่แทนที่พระเจ้าแผ่นดินจะฉิบหายไปทันทีก็เล่าต่อไปว่าพระเจ้าแผ่นดินทำอะไร
ผิดพลาดบ้าง เพื่อสื่อว่า ผลกรรมเกิดจากการกระทำของตัวเอง ไม่ใช่การกระทำที่ไปตัดต้นไม้หรือรื้อศาลเจ้าแต่เพียงอย่างเดียว
แต่เป็นผลของกรรมที่ต่อเนื่องกันมา "

อภัยนุราช เป็นเรื่องที่ได้เนื้อเรื่องมาจาก "ห้องสิน" เกร็ดพงศาวดารจีน แปลในรัชกาลที่ ๒ 
ดำเนินเรื่องเหมือนกันเลย   อภัยนุราช  ค้างอยู่กลางเรื่อง แต่งไม่จบ   จึงไม่รู้ว่าจบแฮปปี้เอนดิ้งหรือไม่    แต่เนื้อเรื่องเท่าที่แต่งมา เอามาจากเกร็ดพงศาวดารจีนยุคปลายราชวงศ์แฮ่
พระเจ้าติวอ๋องถูกเทพธิดาหนึงวาสีลงโทษที่กล่าวคำล่วงเกิน ด้วยการส่งปีศาจมาสิงในพระสนมชื่อนางขันกี  นางก็ก่อความเดือดร้อนจนเสียบัลลังก์   ส่วนท้าวอภัยนุราชไปหยาบหยามเทพารักษ์   เทพก็ส่งนางคนทรงมาล่อลวงให้พระราชาเสียผู้เสียคน เดือดร้อนไปทั้งราชสำนัก แบบเดียวกัน
ถ้าหากว่าเป็นเรื่องของผลกรรม  ก็ต้องผลกรรมแบบจีนละค่ะ ไม่ใช่ไทย
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 21 ก.ค. 07, 11:19

       เรียนถามอาจารย์เทาชมพู หรือคุณ CHO ครับ

           อ.นิธิ กล่าวว่า    ถ้าสุนทรภู่เขียนในสมัยอยุธยา คนอยุธยาก็คงอ่านแล้วทิ้งไปเพราะอ่านไม่รู้เรื่อง
                              พระอภัยมณีกับนางละเวงจะไปรักกันได้อย่างไร

           อาจารย์มีความเห็นอย่างไรครับ

           โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่า พระอภัยมณี น่าจะเป็นละครนอกที่เนื้อเรื่อง สำนวนกลอน แปลกแหวก สนุกสนาน
จนเป็นที่ติดอกติดใจคนอยุธยา(ประมาณว่าช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ หรือหลังจากนั้น) จนดังเข้าไปถึงในวัง
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 21 ก.ค. 07, 22:43

ไม่แน่ใจว่าคุณ SILA หมายความว่าอย่างไรนะครับ

ลำพังพระอภัยมณีสำนวนที่แพร่หลายอยู่ทุกวันนี้มีข้อบ่งชี้หลายประการว่าไม่เก่าไปถึงสมัยอยุธยาแน่นอนครับ

แต่ถ้าหมายถึงแค่ว่าพล็อตนี้เล่นเป็นละครนอกมาตั้งแต่สมัยปลายอยุธยา แล้วมาแต่งกลอนใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ อันนี้ไม่ทราบเหมือนกันครับ แต่เข้าใจว่าไม่มีหลักฐานอะไรที่บ่งชี้อย่างนั้นนะครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 22 ก.ค. 07, 08:37

ตอบคุณศิลา
1  พระอภัยมณีไม่ใช่ละครนอก   ไม่ใช่บทละครประเภทไหนทั้งสิ้น  เป็นนิทานคำกลอนค่ะ
ละครทุกชนิด แต่งขึ้นเพื่อเอาไว้แสดง  เอาไว้รำ   แต่พระอภัยมณีแต่งขึ้นเพื่อให้อ่าน
ในเมื่อจุดประสงค์ไม่เหมือนกัน วิธีแต่งก็ไม่เหมือนกันด้วย

2 ไม่เห็นด้วยกับอ.นิธิ(อีกแล้ว)ถ้าอ.นิธิเขียนอย่างนี้จริง
"อ.นิธิ กล่าวว่า    ถ้าสุนทรภู่เขียนในสมัยอยุธยา คนอยุธยาก็คงอ่านแล้วทิ้งไปเพราะอ่านไม่รู้เรื่อง พระอภัยมณีกับนางละเวงจะไปรักกันได้อย่างไร  "
ทำไมชาวอยุธยาจะอ่านไม่รู้เรื่อง  ในเมื่ออยุธยาก็คบค้ากับฝรั่งมาตั้งนานแล้ว  สมัยพระนเรศวรก็มีฝรั่งโปรตุเกสมาแล้ว  สมัยพระนารายณ์ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย   
ท้าวทองกีบม้า ภรรยาของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ก็มีข่าวว่าเป็นที่หมายปองของพระเพทราชา    เรื่องนี้จริงหรือไม่ก็ตาม แต่ก็สะท้อนให้เห็นค่านิยมว่า ผู้ชายไทยเห็นหญิงฝรั่งว่าเป็นหญิงงาม
พระอภัยรักนางละเวงโดยไม่ได้คำนึงถึงเชื้อชาติศาสนา   แต่รักเพราะเห็นรูปโฉมว่างามต้องใจ    นางละเวงกำลังเป็นสาวเต็มตัวในตอนนั้น พระอภัยก็ยังหนุ่มแม้มีเมียมีลูกแล้ว
ความรักของพระเอกวรรณคดีไทยเป็นแบบนั้น  สามารถรักลูกสาวยักษ์   นางเงือก นางกินนร  และอะไรก็ได้ไม่จำกัด   ขอแต่เพียงสวยถูกใจก็พอ   เธอถือพาสปอร์ตแบบไหนไม่สำคัญ
ถ้านางละเวงอายุสัก ๕๐ พระอภัย ๒๕   หรือนางละเวงอ้วนดำ ผมหยิกปากหนาเป็นชนเผ่าแอฟริกัน    ชาวบ้านอยุธยา(และรัตนโกสินทร์)ถึงจะไม่รู้เรื่องว่าจะไปรักกันได้อย่างไร

ที่ตอบไปนี้ตีความจากประโยคสั้นๆของคุณศิลา   ถ้าอ.นิธิไม่ได้หมายความตามนี้ คำตอบพวกนี้ก็ผิดหมด

บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 22 ก.ค. 07, 09:56


        คือจากบทความของอ.นิธิ  " สุนทรภู่ มหากวีกระฎุมพี " ที่นำมาแสดงไว้น่ะครับ

        .....ความรักแบบสุนทรภู่เป็นความรักระหว่างปัจเจกชน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถานะทางสังคมเลย เช่น พระรามกับนางสีดา
เป็นความรักที่เกิดจากการลิขิตของพระเจ้าเลยแหละ นางสีดาเกิดมาเป็นเมียพระรามทุกชาติ พระรามไม่มีทางมีเมียน้อย
เป็นความรักที่ถูกชะตาลิขิตมาแต่ต้น
        เมื่อมาถึงเรื่องอิเหนา อิเหนาเป็นวงศ์อสัญแดหวา เป็นวงศ์กษัตริย์ที่สูงกว่าระตูต่างๆ อิเหนาต้องแต่งงานกับวงศ์อสัญแดหวา
ด้วยกัน คือนางบุษบา แต่อิเหนาผ่านไปเจอนางจินตะหราเสียก่อน ก็เห็นแต่นางจินตะหรา ไม่มองนางบุษบาเลย แม้อิเหนารู้ว่า
พ่อแม่ไม่ให้แต่ง นี่เป็นความรักเป็นการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล ไม่สัมพันธ์กับสถานะทางสังคม ของอิเหนาหรือจินตะหราเลย
ความรักแบบนี้แหละที่ปรากฏในงานของสุนทรภู่
        ไม่มีการอธิบายถึงความเหมาะสมทางเศรษฐกิจทางสังคม เป็นความรักที่เอกบุคคลมีต่อเอกบุคคล

         ถ้าสุนทรภู่เขียนในสมัยอยุธยา คนอยุธยาก็คงอ่านแล้วทิ้งไปเพราะอ่านไม่รู้เรื่อง
พระอภัยมณีกับนางละเวง จะไปรักกันได้อย่างไร ความรักแบบผิดฝาผิดตัวที่นั่งฟูมฟายกันอยู่ทุกวันนี้ เช่น คู่กรรม สืบสาวไป
ก็เริ่มมาจากสมัยของสุนทรภู่ ....

        ส่วนคำถามที่ถามอาจารย์ หมายความว่า ถ้าหากสุนทรภู่เกิดในอยุธยาสมัยนั้น แล้วแต่งเรื่องพระอภัยมณี
และมีครูละครนำไปทำเป็นละครนอก น่าจะดัง โดนใจชาวอยุธยา ไม่น่าโดนทิ้ง น่ะครับ

           ขอบคุณอาจารย์ที่ได้แสดงความเห็นในประเด็นนี้ ครับ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 22 ก.ค. 07, 12:12

            เมื่อวานได้อ่านบทความของคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ เล่มล่าสุด

                  " ใช้แต่ตาต่างถ้อยสุนทรวอน "

กล่าวว่า   นิราศเมืองแกลง และ นิราศพระบาทแต่งโดยสุนทรภู่เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๙ หรือ ๒๓๕๐
            เมื่อท่านอายุได้ ๒๐ ปี 
                  ปี ๒๕๕๐ นี้จึงเป็นวาระครบ ๒๐๐ ปีของนิราศทั้งสองเรื่องนี้

            ลักษณะกลอนของสุนทรภู่ เป็นข้อต่อสำคัญของการประพันธ์กลอน จากเดิมที่แต่ง
เพื่อขับ ร้อง มาเป็นเพื่ออ่าน

และ       ในตอนท้ายได้ยกสองวรรคจากนิราศเมืองแกลง -

                 จะพลัดพรากจากกันไม่ทันลา
   
                 ใช้เต่ตาต่างถ้อยสุนทรวอน 
 
             มาแสดงว่า  วรรคแรกเป็นลักษณะการแต่งเพื่ออ่าน ในขณะที่วรรคหลังมีลักษณะของการขับ ร้อง   

ป.ล. ขอบคุณ คุณ CHO สำหรับคำตอบด้วยครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.054 วินาที กับ 19 คำสั่ง