
เครื่องแต่งกายขุนนางจีนราชวงศ์ชิง
โดยปกติเสื้อประดับยศนั้น ผู้แต่งต้องเป็นผู้ที่ผ่านการสอบเทียบวิทยฐานะทางการศึกษาแล้ว ซึ่งในท้องถิ่นต่างๆ มีบัณฑิตเหล่านี้อยู่ทั่วไป ดังนั้นหากพ่อค้าจีนคนใดเคยผ่านการศึกษาและสอบเทียบวิทยฐานะมาบ้างแล้วก็สามารถแต่งกายแบบราชสำนักได้แต่ มีแถบหน้าอกเสื้อ
แบบเดียวกับข้าราชการชั้นต่ำสุดคือ ระดับเก้าชั้นโท และหมวกก็จะยังไม่มีลูกแก้วประดับยอด และพู่แววมยรุาแสดงว่ายังไม่เข้าสู่ระบบราชการ
ส่วนประกอบของเครื่องยศขุนนางจีน
เครื่องยศของขุนนางในสมัยราชวงศ์ชิงนั้น ชาวแมนจูปรับปรุงแบบเครื่องแต่งกายของตนเข้ากับเครื่องแต่งกายของขุนนางในราชวงศ์หมิง โดยมีเครื่องประกอบยศตามแต่ฐานันดรศักดิ์ เครื่องยศประกอบด้วย
1.หมวกยศ แบ่งเป็นสองชนิดคือ แบบฤดูร้อนและแบบฤดูหนาว
หมวกฤดูร้อน เป็นหมวกทรงคลุ่มคล้ายงอบหรือหมวกกะโล่ มีเส้นไหมสีแดงห้อยจากยอดหมวกคลุมโดยรอบ แต่หากมีงานพระบรมศพจะเปลี่ยนเป็นหมวกขาวไม่มีเส้นไหมแดง
หมวกแบบฤดูหนาว มีลักษณะเป็นหมวกทรงกลมคว่ำพอดีศีรษะ มีกระบังขนสัตว์สีดำโดยรอบ กลางหมวกมีเส้นไหมเช่นเดียวกับหมวกฤดูร้อน
ส่วนพระมาลาขององค์พระจักรพรรดิมีทั้งสองแบบเช่นเดียวกับของขุนนาง แต่จะมีเส้นไหมแดงจะหนากว่ามาก มียอดแหลมสูงประดับด้วยอัญมณีทองและไข่มุกด์ เฉพาะพระมาลาฤดูร้อน ด้านหน้าพระมาลามีพระพุทธรูปบุทองคำ ประดับด้วยไข่มุกโดยรอบ
ส่วนพระมาลาขององค์จักรพรรดินีมีแต่แบบฤดูหนาว ยอดหมวกประดับด้วยหงส์ทองประดับไข่มุก เก้าตัว
หมวกขุนนางทั้งสองแบบมียอดลูกแก้ว เรียกว่าเติ่งไต้ 頂戴 แบ่งชั้นยศกันที่ยอดหมวก
ระดับหนึ่ง เป็น รัตนชาตสีแดง ระดับสอง เป็น กัลปังหา
ระดับสาม เป็น รัตนชาติสีน้ำเงิน ระดับสี่ เป็นรัตนชาติสีเขียว
ระดับห้า เป็นแก้วผลึก ระดับหกเป็นเปลือกหอยสังข์
ระดับเจ็ดเป็นทองเกลี้ยระดับ แปดเป็นทองสลักลาย
และระดับเก้าเป็นทองฉลุลาย ระดับต่ำกว่าระดับเก้าจะไม่มีการยอดหมวก
ด้านหลังของยอดหมวกจะมีพู่แววมยุราห้อย ไปทางด้านหลัง เรียกว่า ฮวาหลิง 花翎 แปลว่า ขนนกประดับ ขนนกประดับนี้ขุนนางระดับทั่วไปมีหนึ่งแวว เมื่อเลื่อนชั้นสูงขึ้นจะเพิ่มเป็นสองแวว และสามแววตามลำดับหลังรัชกาลจักรพรรดิเสียนเฟิง ขุนนางระดับห้าขึ้นไปสามารถถวายเงินแก่ราชการเพื่อเพิ่มแววของพู่หมวกได้1 แวว
2.เสื้อยศลายมังกร
เรียกว่า หมังเผา(หมังเพ้า)蟒袍 เป็นเสื้อที่ใช้สวมเวลาปฏิบัติงานปกติเป็นเสื้อไหมยาวตลอดตัว คอกลมปกใหญ่ติดกระดุมข้างขวา พื้นสีน้ำเงินปักไหม มีลวดลายสิริมงคลต่างๆ มีความแตกต่างกันที่เล็บมังกรที่ปักบนเสื้อ ชายเสื้อปักลายฝั่งน้ำคลื่นทะเลด้วยไหมห้าสี เสื้อของชาวแมนจูปลายแขนเสื้อทั้งสองข้างจะยื่นยาวเลยมือออกมาคล้ายรูปเกือกม้า เรียกว่า หม่าถีซิ่ว馬蹄袖 แปลว่า แขนเกือกม้า หรือ เจี้ยนซิ่ว 箭袖แปลว่า แขนเสื้อยิงธนู ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของเสื้อสมัยชิงแขนเสื้อนี้ปกติจะต้องพับขึ้นมาเพื่อความสะดวกในการใช้งาน แต่เวลาเข้าเฝ้าจะต้องปัดปลายแขนเสื้อลงทั้งสองข้าง โดยต้องสะบัดข้างซ้ายลงก่อน แล้วจึงสะบัดข้างขวาเพื่อแสดงความเคารพ การปัดแขนเสื้อนี้ถือว่าเป็นเอกลักษณ์พิเศษของการถวายความเคารพแบบแมนจู
3.เสื้อยศเข้าเฝ้า
เรียกว่าเฉาเผา朝袍 เป็นเสื้อคลุมชั้นนอกใช้สวมขณะเข้าเฝ้า มีลักษณะเป็นเสื้อคลุมคอกลมติดกระดุมผ่าหน้ามีความยาวเพียงหน้าแข้ง แขนเสื้อจะตรงและสั้นกว่าเสื้อลายมังกร สีดำ หรือน้ำเงิน ในฤดูร้อนจะเป็นแพรโปร่งในฤดูหนาวจะเป็นผ้าขนสัตว์ มีสัญลักษณ์บ่งบอกระดับชั้น
เรียกว่า ปู๋ฝู(โป้วฮก)補服 เป็นแผ่นผ้าไหมปักลวดลายเป็น รูป สัตว์ต่างๆ ติด ไว้กลางอกทั้งหน้าและหลัง
แผ่นผ้าไหมปักลวดลายนี้ของขุนนางทั่วไปเป็นสี่เหลี่ยม ขุนนางในราชสำนักเป็นวงกลม ส่วนของเชื้อพระวงศ์นั้นสัญลักษณ์ปักลายมังกรในวงกลม แผ่นผ้าปักหรือ ปู๋ฝู นี้ ราชวงศ์ชิงอนุโลมใช้ตามแบบราชวงศ์หมิง เพียงแต่เปลี่ยนลักษณะของเสื้อเป็นแบบแมนจูเท่านั้น
แผ่นผ้าปักหรือปู๋จื่อ ของขุนนางฝ่ายพลเรือนใช้ลายรูปสัตว์ปีก ดังนี้
ระดับหนึ่งปักรูปนกกระเรียน (เซียนเหอ) 仙鶴
ระดับสองปักรูปไก่ฟ้าทอง (จิ่นจี) 錦雞
ระดับสามปักรูปนกยูง (ข่งเชว่) 孔雀
ระดับสี่ปักรูปห่านป่า (เหยี่ยน) 雁
ระดับห้าปักรูปไก่ฟ้าขาว(ไป๋เสียน) 白鷴
ระดับหกปักรูปนกยาง (ลู่ซือ) 鷺鷥
ระดับเจ็ดปักรูปนกเป็ดน้ำแดง (ซีชือ) 鸂鶒
ระดับแปดปักรูปนกกระทา(อันฉุน) 鵪鶉
ระดับเก้าปักรูปนกหางแพน(เลี่ยนเชว่) 練雀
แผ่นผ้าปักหรือ ปู๋จื่อ ของขุนนางฝ่ายทหารใช้ลายรูปสัตว์สี่เท้า ดังนี้
ระดับหนึ่งปักรูปกิเลน(ฉีหลิน)麒麟
ระดับสองปักรูปสิงโต(ซือจื่อ)獅子
ระดับสามปักรูปเสือดาว(เป้า)豹
ระดับสี่ปักรูปเสือโคร่ง(หู่) 虎
ระดับห้าปักรูปหมี (สยง) 熊
ระดับหกปักรูปเสือดาวเหลือง (เปียว) 彪
ระดับเจ็ด และระดับแปดปักรูปแรด(ซีหนิว) 犀牛
ระดับเก้าปักรูปม้าทะเล(ไห่หม่า)海馬
4.เข็มขัด เช่นระดับหนึ่งหัวเข็มขัดเป็นทองคำฝังหยกทรงเหลี่ยม เป็นต้น
5.เครื่องปูลาด
เป็นขนสัตว์สำหรับปูลาดที่นั่งระดับหนึ่งฤดูหนาวเป็นหนังหมาป่า ฤดูร้อนเป็นสักหลาดแดง ส่วนพวกต่ำกว่าระดับเก้าใช้หนังนากบก และสักหลาดขาว เป็นต้น
6.ประคำอิสริยาภรณ์
เรียกว่าเฉาจู สวมบนเสื้อยศขณะเข้าเฝ้า จึงเรียกว่าประคำเข้าเฝ้า ชาวแมนจูดัดแปลงมาจากประคำทางพระพุทธศาสนามี108 เม็ด เนื่องจากชนเผ่าแมนจู ยึดมั่นพระพุทธศาสนามาก จึงใช้ลูกประคำมาดัดแปลงเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ ประคำทุกระดับทั้งของฮ่องเต้และขุนนาง มีความยาวเพียงกลางลำตัว แต่ผู้ที่จะสวมประคำอิสริยาภรณ์ได้ต้องเป็นขุนนางระดับห้าขึ้นไปเท่านั้นยกเว้นขุนนางในราชบัณฑิตยสถาน และสำนักราชเลขาธิการ
7.เครื่องยศพระราชทานพิเศษ
เช่น แววมยุราพู่หมวกพิเศษ เสื้อกั๊กสีเหลืองทอง เป็นของพระราชทานให้เป็นพิเศษแก่ผู้มีความชอบในราชการ
จากบทความของอาจารย์เศรษฐพงษ์ จงสงวน อยู่ในหนังสือกระเบื้องถ้วยกระลาแตก โดยพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์