ถึงแม้ว่าขบวนการปลดปล่อยปาตานีเหล่านี้ มีความแตกต่างกันอยู่บ้างทั้งในแง่มุมของอุดมการณ์ ยุทธวิธี และสมาชิกของกลุ่ม ขบวนการทั้งหมดนี้ต่างมองรัฐบาลไทยว่าเป็นอำนาจอาณานิคม ขบวนการเหล่านี้จึงเน้นการถืออาวุธต่อสู้เพื่อให้บรรลุถึงความเป็นเอกราช ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1970-1975 (พ.ศ. 2513 - 2518) การปฏิบัติการแบบกองโจรของขบวนการเหล่านี้ปฏิบัติการแข็งขันมาก
กล่าวได้ว่าชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อิทธิพลของขบวนการในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา จำนวนมากเข้าร่วมกับฝ่ายขบวนการปลดปล่อยต่างๆ ไม่โดยทางตรงก็โดยทางอ้อม โดยที่ชาวบ้านเหล่านั้นจะได้รับคำเตือนจากกลุ่มขบวนการถึง "วายิบ" (ข้อผูกมัด) สำหรับพวกเขาที่ต้องเข้าร่วมในการต่อสู้ และมีการหยิบยกเอา "ฮาดิษ" (ตัวบท) ของท่านศาสดาที่เล่าโดย อาบี ซาอิด อัล-ค๊อดรี (Abi Said al-Khudri) ถ้อยความว่า "ผู้ศรัทธาที่ดีที่สุดในหมู่พวกเจ้าคือ ผู้ที่ต่อสู้ในหนทางของพระผู้เป็นเจ้าด้วยทรัพย์สินของเขาและชีวิตของเขา"
ในช่วงที่มีการต่อต้านอำนาจรัฐไทยอย่างเข้มแข็งที่สุดของชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ระหว่างปี ค.ศ.1968-1975 (พ.ศ. 2511 - 2518) รัฐบาลไทยจัดส่งหน่วยปฏิบัติการทางอาวุธที่เป็นกองทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร จำนวนมากเข้าไปในพื้นที่ ข้อมูลของทางการไทยรายงานว่ามีการปะทะกับกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ถึง 385 ครั้ง มีจำนวนชาวมาเลย์มุสลิมเสียชีวิตรวม 329 ราย ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยเสียชีวิต 165 ราย มีผู้ถูกจับกุม 1,208 ราย ยึดอาวุธชนิดต่างๆ ได้ 1,546 รายการ และทำลายหน่วยที่ตั้งหรือค่ายของฝ่ายกองโจรลงได้ 250 ค่าย
กล่าวได้ว่ารัฐบาลไทยได้ใช้หลากหลายยุทธวิธีทั้งการปราบปราม และจิตวิทยาจูงใจในการต่อสู้กับขบวนการปลดปล่อยปาตานีเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)เป็นฝ่ายดำเนินการในพื้นที่ ร่วมกับมาตรการทางอาวุธที่มีกองทัพภาคที่ 4 เป็นฝ่ายดำเนินการ เพื่อแยกภารกิจออกตามยุทธวิธีในการต่อสู้เพื่อเอาชนะขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ให้ได้ และมีการใช้วิธีการเปิดเจรจากับฝ่ายขบวนการต่างๆ ในระดับกลุ่มอย่างเป็นทางการและการเจรจาหรือชักจูงใจเป็นรายบุคคล
อาจพิจารณาได้ว่าแนวทางการเปิดเจรจาเป็นทางการประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เนื่องจากมีบางกลุ่มยอมยุติการเคลื่อนไหวไปบ้าง แต่ทว่ากลุ่มที่ยอมจำนนเหล่านั้นมักจะเป็นเพียงแนวร่วมหรือเป็นผู้หลบหนีคดีอาญา มิใช่สมาชิกระดับผู้ปฏิบัติการแต่อย่างใด ส่วนกรณีของการใช้วิธีการจูงใจนั้น เจ้าหน้าที่ทางการไทยมุ่งเป้าหมายไปที่ผู้ปฏิบัติการหรือระดับแกนนำของกลุ่ม ซึ่งไม่อาจจะประสบความสำเร็จมากนัก อันเนื่องจากกลไกภายในขบวนการ ไม่ได้รวมศูนย์อำนาจไว้ให้ระดับแกนนำเหล่านั้นสามารถชี้นำได้อย่างเบ็ดเสร็จจนเกิดผลตามที่ต้องการได้
(อ่านเพื่อเข้าใจในบางส่วนนะครับ ไม่มุ่งซีเรียสมากนัก เพื่อรู้ที่มาที่ไปจะได้ช่วยวิเคราะห์ หรือหาทางแก้ไข)
